กัณฑ์ที่ ๒๖๕ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
ดับทุกข์ด้วยธรรมโอสถ
การมาวัดเพื่อมาทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นเหมือนกับการให้ยาป้องกันโรคภัยไข้เจ็บทางด้านจิตใจ คือความทุกข์ ความเศร้าหมอง ความเสียใจ ความกังวล ความวุ่นวายใจต่างๆ ไม่มีอะไรในโลกนี้จะระงับหรือป้องกันความทุกข์ใจได้ นอกจากบุญและกุศลเท่านั้น การมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเหมือนกับการมารับยาไปรับประทาน เหมือนกับไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะท่านผู้ที่มีอายุมากแล้ว จะต้องไปโรงพยาบาลอยู่เสมอๆ เพราะแพทย์จะต้องนัดให้ไปตรวจไปรับยา เมื่อมีอายุมากแล้วก็จะมีโรคภัยเบียดเบียนอยู่เรื่อยๆ จำเป็นต้องไปหาหมอ ต้องมียารับประทานเพื่อจะได้ควบคุมโรคภัยต่างๆ ไม่ให้กำเริบจนทำลายชีวิตได้ ฉันใดการมาวัด มาทำบุญทำทาน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรม ก็เป็นการมารับยา คือธรรมโอสถของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหมือนกับหมอที่เคยได้รับประโยชน์จากยาธรรมโอสถแล้ว ได้เห็นคุณอันวิเศษที่สามารถยกจิตใจของท่านให้อยู่เหนือความทุกข์ต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากกันก็ดี ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาทั้งหลายก็ดี จะไม่สามารถเข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจได้เลย เพราะธรรมโอสถเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันจิตใจ ไม่ให้ความทุกข์ต่างๆ เข้ามาเบียดเบียน
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ได้พิสูจน์ได้สัมผัสธรรมโอสถที่วิเศษนี้แล้ว จึงได้นำเอามาเผยแผ่ เอามาแจกจ่ายให้กับพวกเรา ซึ่งเปรียบเหมือนกับคนไข้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อถูกโรคภัยของจิตใจเข้ามากระทบ ก็จะต้องทุกข์ต้องทรมานใจ แต่ถ้าได้รับการดูแลด้วยธรรมโอสถ ที่เป็นเหมือนกับการรับประทานยาหรือการฉีดยาป้องกันโรคภัยต่างๆแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกัน ทำให้สามารถต่อสู้กับทุกข์ชนิดต่างๆได้ ใจก็เป็นเหมือนกับร่างกาย ที่ต้องมีภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกัน ยาที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจก็คือ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้หมั่นทำความดี ละการกระทำบาปและชำระกายวาจาใจให้สะอาดหมดจด ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ปีหนึ่งจะมากันสักครั้งหนึ่ง แล้วก็ไม่รับยาไปให้ครบด้วย ส่วนใหญ่จะมีแต่ทำบุญตักบาตรถวายทาน แล้วก็กลับบ้านไป ไม่สนใจที่จะรักษาศีล ไม่สนใจที่จะภาวนา ไม่สนใจที่จะฟังเทศน์ฟังธรรม ที่เป็นเหมือนกับยาชนิดต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อการปกป้องคุ้มครองรักษาจิตใจไม่ให้ความทุกข์ต่างๆ เข้ามาเหยียบย่ำทำลายนั่นเอง ถ้ารับประทานยาเพียงตัวเดียวคือการให้ทาน ก็จะไม่เพียงพอต่อการต่อต้านความทุกข์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องรับประทานยาให้ครบ
เหมือนกับเวลาเป็นไข้หวัดไปหาหมอ หมอก็จะให้ยามาสามสี่ชนิด ถ้ารับยามาแล้วแต่รับประทานเพียงชนิดเดียว โรคก็จะไม่หาย ถ้าหายก็ช้า ต้องทรมานไปนาน แต่ถ้ารับประทานยาให้ครบ เพียงไม่กี่วันโรคภัยไข้เจ็บก็จะหายไป ฉันใดธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหยิบยื่นให้กับพวกเราก็เป็นเช่นนั้น เป็นเหมือนยาหลายขนานหลายชนิด ที่ต้องเอาเข้ามาสู่จิตสู่ใจด้วยการศึกษาในเบื้องต้น ต้องได้ยินได้ฟัง เหมือนกับหมอที่ต้องบอกให้รับประทานยาครั้งละกี่เม็ด รับประทานตอนไหน ยาบางชนิดก็รับประทานตอนก่อนอาหาร บางชนิดก็รับประทานหลังอาหาร บางชนิดก็รับประทานวันละเม็ด บางชนิดก็ต้องรับประทานวันละสี่เวลาหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ ถ้ารับยามาแล้วไม่รู้ว่าจะรับประทานอย่างไร กินผิดกินถูกเข้าไป โรคภัยแทนที่จะหายกลับมีเพิ่มมากขึ้น เพราะแพ้ฤทธิ์ยา ฉันใดธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะมารักษาโรคใจ ก็ต้องศึกษาเสียก่อน คือฟังเทศน์ฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรมะ เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ถึงจะเอาธรรมโอสถที่วิเศษเข้ามาสู่ใจได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ถูกทาง ก็จะไม่สามารถนำเอาธรรมโอสถที่วิเศษเข้าสู่จิตใจได้ ต่อให้ยาจะวิเศษขนาดไหนก็ตาม หมอจะวิเศษจะเก่งขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่เกิดประโยชน์กับคนไข้ เพราะไม่สามารถนำเอายาเข้าสู่ร่างกายได้
ฉันใดธรรมโอสถ ยารักษาใจก็เช่นเดียวกัน ต้องเอาเข้าสู่ใจด้วยการได้ยินได้ฟังธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับการอ่านฉลากยา ที่จะบอกสรรพคุณและวิธีรับประทาน และจะบอกว่าถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นมาควรจะทำอย่างไร ฉันใดการศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นเหมือนกับการศึกษาถึงสรรพคุณของธรรมโอสถ ศึกษาวิธีที่จะนำเอาธรรมโอสถเข้าไปสู่ใจ และถ้าเกิดมีปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการนำเอาธรรมโอสถเข้าสู่ใจ ก็จะได้รู้จักวิธีแก้ไข เพราะธรรมโอสถก็เป็นเหมือนยาที่ต้องรับประทานให้ถูกวิธี ให้ถูกเวลา ถึงจะเกิดประโยชน์เกิดผลอย่างสูงสุด ถ้ารับประทานแบบสุ่มสี่สุ่มห้า อยากจะรับประทานก็รับประทาน ไม่อยากรับประทานก็ไม่รับประทาน หรืออยากจะให้หายเร็วๆ ก็รับประทานไปทั้งกำมือ อย่างนี้โรคแทนที่จะหายกลับทำให้ตายได้ เพราะกินยาเกินขนาด ฉันใดการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นเช่นนั้น ต้องมีความพอดี เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ไม่เคร่งจนเกินไป ไม่หย่อนจนเกินไป ให้พอดีกับกำลังความสามารถ ถ้ายังไม่สามารถปฏิบัติขั้นที่สูงกว่าที่จะปฏิบัติได้ พอปฏิบัติไปก็จะเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากจะปฏิบัติ เพราะไม่เห็นผล จึงต้องรู้จักกำลังของตน เหมือนกับเวลายกของหนัก ต้องรู้ว่ายกได้มากน้อยเพียงไร ถ้ายกมากกว่าที่จะยกได้ ก็จะยกไม่ไหว ถ้ายกน้อยกว่าที่ยกได้ก็จะเสียเวลา แทนที่จะยกได้มากๆ กลับไปยกทีละเล็กทีละน้อย งานก็เลยไม่คืบหน้า
การดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก็เป็นเช่นนั้น เราต้องดูความสามารถของเรา ว่าสามารถทำอะไรได้มากน้อยเพียงไร ก็พยายามทำไปตามความสามารถก่อน แล้วค่อยขยับขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเคยยกน้ำหนักได้ ๒๐ กิโลกรัมก็ขยับขึ้นไปเป็น ๒๒, ๒๔, ๒๖ ค่อยๆขยับขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วก็หยุดก่อน เมื่อร่างกายได้พักผ่อนจนมีกำลังวังชาแล้ว ก็จะยกได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงร้อยกิโลกรัมก็ได้ แต่เวลาเริ่มต้นถ้าคิดว่าต้องยกร้อยกิโลกรัมก็คงบอกว่าไม่ไหวแน่ ก็จะไม่อยากยกเลย ไม่อยากฝึกเลย ก็จะไม่ได้พัฒนาร่างกายให้แข็งแรง ให้สามารถยกร้อยกิโลกรัมได้ แต่ถ้าค่อยๆทำจากกำลังที่มีอยู่ มีมากน้อยเพียงไรก็ยกไปก่อน แล้วค่อยขยับขึ้นไปทีละโลสองโล จนในที่สุดก็จะสามารถยกได้ถึงร้อยกิโล ถ้าคนอื่นยกได้เราก็ควรจะยกได้เหมือนกัน ฉันใดการปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก็เป็นเช่นนั้น เป็นขั้นเป็นตอนไป ตั้งแต่อนุบาลจนถึงขั้นปริญญาเอก ต้องขยับขึ้นไปตามความสามารถ ไม่ใช่ว่าพอเขาบอกว่าต้องเรียนให้จบปริญญาเอก เรายังไม่ทันเริ่มต้นเลย พอคิดถึงปริญญาเอกก็คิดว่าไม่ไหวแล้ว จะเรียนอย่างไรไหว แต่ถ้าเขาบอกว่าไม่ได้ให้ไปเรียนปริญญาเอกเลย ตอนต้นก็เรียนอนุบาลก่อน แล้วค่อยขยับขึ้นประถม ขึ้นมัธยม ขึ้นมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรีก่อน แล้วค่อยเรียนต่อโท แล้วค่อยเรียนปริญญาเอก
ฉันใดการบำเพ็ญเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ในทางพระพุทธศาสนาก็ต้องปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนไป ไม่ใช่จะให้ออกบวชกันทุกคนเลย ให้สละทุกสิ่งทุกอย่าง สามีภรรยาบุตรธิดา ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง แล้วก็มาถือศีล ๒๒๗ ข้อ ถือธุดงควัตร รับประทานอาหารวันละหนึ่งมื้อ อย่างนี้ไม่ใช่ฐานะที่ทุกคนจะทำกันได้ เพราะได้ศึกษาได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน มามากน้อยต่างกันในแต่ละภพในแต่ละชาติ เหมือนกับเรียนหนังสือ ที่แต่ละคนก็ได้เรียนมามากน้อยต่างกัน บางคนก็เรียนจบแค่มัธยม บางคนจบแค่ประถม บางคนจบแค่ปริญญาตรี เวลาไปเรียนต่อจึงต่างกัน คนที่จบประถมแล้วก็ไปเรียนชั้นมัธยมต่อ คนที่จบมัธยมก็ไปเรียนมหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีก็ไปเรียนปริญญาโท ปริญญาโทก็ไปต่อปริญญาเอก เป็นขั้นๆไป ตามความสามารถของแต่ละคน คนเราเกิดมาในชาตินี้จึงมีความแตกต่างกัน บางคนทำได้แต่ทำบุญให้ทานเท่านั้น ยังไม่สามารถรักษาศีลได้ บางคนก็ทำได้ทั้งทานและรักษาศีลควบคู่กันไปด้วย แต่รักษาได้เพียงศีล ๕ เท่านั้น บางคนก็รักษาได้ทั้งศีล ๕ และศีล ๘ วันธรรมดาก็รักษาศีล ๕ วันพระก็รักษาศีล ๘ บางคนก็สามารถรักษาศีล ๘ ได้ตลอดเวลา บางคนก็สามารถออกบวชได้เลยไม่ต้องอยู่บ้านต่อไป บางคนสามารถนั่งสมาธิเป็นชั่วโมงๆ ปฏิบัติธรรมเดินจงกรมได้เป็นชั่วโมงๆ
วันทั้งวันไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากนั่งสมาธิกับเดินจงกรม ทำจิตใจให้สงบให้เกิดปัญญา ให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต ว่าเกิดมาแล้วต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา เกิดมาแล้วต้องเจอกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ปรารถนากันเป็นธรรมดา เพราะชีวิตเป็นอย่างนี้ ถ้ารู้ธรรม ได้เตรียมตัวเตรียมใจแล้ว เวลาเกิดการพลัดพรากจากกัน เวลาต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ใจจะไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน เพราะสามารถทำใจให้นิ่งเฉยได้ เพราะรู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมา จึงเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน เมื่อเตรียมตัวเตรียมใจแล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้ายังเตรียมตัวยังทำใจไม่ได้ทั้งๆที่รู้ว่าต้องจากกัน ทั้งๆที่รู้ว่าจะต้องเจอสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ก็เป็นเพราะว่ายังไม่เคยทำใจให้นิ่งให้สงบให้วางเฉย จึงต้องฝึกทำสมาธิ ในเบื้องต้นก็ไหว้พระสวดมนต์ไปก่อน สวดไปภายในใจก็ได้ ข้อสำคัญต้องมีสติ รู้อยู่กับบทสวดมนต์ สวดไปนานๆ สวดสักครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง แล้วใจจะนิ่งเฉย วางเฉยได้ มีกำลังทำใจได้ ถ้ายังทำใจให้นิ่งให้เฉยไม่ได้ เวลาไปเจอกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เวลาที่ต้องสูญเสียสิ่งที่รักไป จะทำใจไม่ได้ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าเป็นธรรมดา แต่ก็หักห้ามจิตใจ ไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้วุ่นวายไม่ได้ เพราะไม่เคยทำใจให้นิ่ง ให้วางเฉย มีแต่ปล่อยให้ใจไปไขว่คว้าสิ่งต่างๆที่ต้องการอยู่เรื่อยๆ พอไม่ต้องการสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หนีไปทางไหนก็หนีไม่พ้น เพราะมันฝังอยู่ในใจ
เรื่องราวต่างๆถึงแม้จะเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ก็ยังติดใจฝังใจอยู่ สร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายใจให้กับเราอยู่ เพราะไม่รู้จักหยุดคิด ถึงเรื่องราวที่สร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายใจ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ ทั้งๆที่ไม่อยากจะคิด แต่ก็ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ เพราะไม่เคยฝึกทำใจให้นิ่ง ให้หยุด ไม่ให้คิดเรื่องราวต่างๆนั่นเอง การฝึกทำสมาธิจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ไม่ควรมองข้ามไป อย่าไปคิดว่ามีปัญญาแล้วจะสามารถทำใจได้ ขณะนี้เราทำใจได้ว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องจากกัน ต้องสูญเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป แต่พอถึงเวลาที่เกิดขึ้นจริงๆ ยังจะทำใจสบายๆแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็จะสบายใจ ถ้าทำไม่ได้ก็จะลำบากจะทุกข์มาก จึงควรหัดทำสมาธิให้มากๆ ให้สามารถควบคุมใจให้นิ่งเฉยได้ ถ้าไม่อยากจะคิดเรื่องอะไรก็สามารถระงับได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่นสวดมนต์ไปก็ได้ เวลามีเรื่องมาสร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา แทนที่จะไปคิดถึงอยู่เรื่อยๆ ก็หันมาสวดมนต์ไปเรื่อยๆแทน พอสวดมนต์ไปเรื่อยๆแล้ว เรื่องที่สร้างความวุ่นวายใจก็จะไม่สามารถเข้ามาสู่ใจได้ เมื่อไม่เข้ามาสู่ใจก็จะไม่รบกวนใจ ไม่สร้างความวุ่นวายใจ ถึงแม้เรื่องจะใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม ก็เป็นเรื่องภายนอกใจ ก็เหมือนกับอยู่ในห้องปรับอากาศ ถึงแม้ข้างนอกจะร้อนขนาดไหนก็ตาม ความร้อนก็ไม่สามารถเข้ามาสู่ภายในห้องได้ ภายในห้องจะมีแต่ความเย็นสบาย
ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำสมาธิจนใจสงบ ก็เป็นเหมือนกับติดเครื่องปรับอากาศให้กับใจ ถึงแม้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ จะร้อนแรงขนาดไหน จะรุนแรงขนาดไหน ก็อยู่ภายนอก จะไม่เข้ามาสู่ภายในใจ อย่างมากเหตุการณ์ต่างๆจะทำได้ก็คือ ทำลายทรัพย์สินสมบัติข้าวของและชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเราหรือชีวิตของคนที่เรารัก แต่จะไม่สามารถทำลายความสุขในใจได้เลย ถ้ามีสมาธิ มีความมั่นคงอยู่ในความสงบ จะเกิดอะไรขึ้นกับใครก็ตาม กับเราก็ดี กับคนอื่นก็ดี กับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆก็ดี ก็ปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างสบายใจ ในเมื่อไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว จะไปเดือดร้อนไปวุ่นวายใจไปทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร เสียของแล้ว เสียคนแล้ว อย่าไปเสียใจ อย่าไปเจ็บใจ เพราะเราสามารถรักษาใจไม่ให้เจ็บ ไม่ให้เสียใจได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม ด้วยการฝึกทำสมาธิอยู่เรื่อยๆ แล้วก็เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ สอนตนอยู่เรื่อยๆ ว่าสักวันหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องจบ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหมดไป ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีพระนิพพานกับการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่มีที่สิ้นสุด เป็น ๒ ทางเลือกคือ ๑. ไปทางธรรมะก็จะไปสู่พระนิพพาน ไปสู่ความสุขตลอดอนันตกาล ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่ความสุขไปตลอด ไม่มีการสิ้นสุด ๒. ไปทางโลกอย่างที่พวกเราไปกันอยู่ในขณะนี้ ก็ไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น ไปสู่ความทุกข์ที่เกิดจากความเกิดแก่เจ็บตาย จากการพลัดพรากจากกัน ก็ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน เป็นความทุกข์ที่พวกเราได้ผ่านมาแล้วนับไม่ถ้วนและจะเป็นความทุกข์ต่อไปแบบนับไม่ถ้วน แบบไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน
เราจึงต้องเลือกทางเดินว่าจะไปทางไหนดี ทางไปสู่ความสุขตลอดอนันตกาล หรือทางไปสู่ความทุกข์ตลอดอนันตกาล ก็เป็นทางเลือกของเรา เราต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าต้องการความสุขตลอดอนันตกาล ก็ต้องไปทางที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้ดำเนินไป ท่านเป็นเพียงผู้สอนเรา ชี้ทางให้กับเรา เขียนแผนที่ให้เรา บอกเราว่าวิธีที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางนี้ไปอย่างไร เรามีทางเลือกแล้ว ไม่เหมือนกับคนที่ไม่รู้จักพระศาสนา ไม่เคยเจอพระพุทธศาสนา หรือเจอแต่ก็ไม่รู้ว่าศาสนามีไว้ทำไม เป็นเหมือนกับคนที่ไม่มีแผนที่นำทาง ไม่มีคนชี้ทาง เป็นคนด้อยโอกาส สู้พวกเราไม่ได้ที่ได้เจอแผนที่ ได้เจอคนชี้ทางแล้ว ตอนนี้ก็อยู่ที่ตัวเราว่าจะเดินไปได้มากน้อยเพียงไร หรือว่ายังมีความรัก มีความยินดีกับทางโลกอยู่ ทางแห่งความทุกข์อยู่ จึงยังไม่กล้ามาทางนี้กัน เพราะยังรักกับความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะได้รับความทุกข์ ความสุขที่เราได้สัมผัสเมื่อจางหายไป ก็จะมีความทุกข์ตามมาแทนที่ เช่นเรารักใครสักคนหนึ่งมากๆ แล้วเกิดต้องจากเราไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราจะสูญเสียความสุขที่ได้รับจากคนนั้น มีแต่ความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจตามมา ถ้าไม่เคยฝึกทำใจเลย ดีไม่ดีอาจจะไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ อาจจะต้องทำลายชีวิตของเราไป เพราะทนกับความทุกข์ใจความว้าเหว่ใจไม่ได้นั่นเอง
นี้คือสิ่งที่เราต้องคำนึงต้องพินิจพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันความทุกข์ เริ่มตั้งแต่การทำบุญให้ทาน ที่จะพาให้เราเข้าสู่การรักษาศีลต่อไป เมื่อรักษาศีลได้แล้วก็อยากจะทำจิตใจให้สงบ ทำสมาธิ เพราะเห็นคุณค่าของความสงบที่เกิดจากการรักษาศีล ที่เกิดจากการทำบุญให้ทาน ว่าเป็นความสุขที่แท้จริง และอยากจะได้มากเพิ่มขึ้นไปอีก ก็ต้องภาวนา นั่งทำสมาธิและเจริญปัญญา เพราะเป็นวิธีสร้างความสงบให้กับจิตใจได้เต็มร้อย แต่ต้องเริ่มต้นจากชั้นประถมขึ้นไปก่อน ทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ อย่าเสียดายเงินเสียดายทองที่เหลือกินเหลือใช้ ไม่มีความจำเป็นกับเรา ก็เอามาทำบุญทำทาน แล้วก็รักษาศีล ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่เบียดเบียน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เพราะจะย้อนกลับมาหาเรา เป็นเหมือนเงา หรือเป็นเหมือนกับกระจกที่สะท้อนการกระทำของเรา เวลาเรายืนที่หน้ากระจกทำหน้าบึ้งตึง คนที่อยู่ในกระจกก็ทำหน้าบึ้งตึง เวลายิ้มคนที่ยืนอยู่ในกระจกก็ยิ้ม ฉันใดถ้าเราไม่เบียดเบียน ไม่สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น ทุกข์นั้นก็จะไม่กลับมาหาเรา เมื่อไม่มีทุกข์ที่เกิดจากการกระทำบาป การกระทำผิดศีลผิดธรรม ใจก็สงบ ใจก็สบาย ก็ทำให้ทำสมาธิได้ง่ายขึ้น เวลานั่งทำสมาธิจะง่ายกว่าคนที่มีความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ที่เกิดจากการทำผิดศีลผิดธรรม เมื่อทำจิตให้สงบแล้ว ก็จะมีกำลังที่จะปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา พร้อมที่จะรับกับสภาพต่างๆที่จะเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสีย หรือการเผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายขนาดไหนก็ตาม จะสามารถเผชิญกับมันได้อย่างสบาย เหมือนกับมีเครื่องปรับอากาศอยู่ในใจของเรา ข้างนอกจะวุ่นวาย จะร้อนขนาดไหน ก็ไม่สามารถเข้ามาในใจได้ ใจจะเย็นจะสบาย นี้คืออานิสงส์ของธรรมโอสถที่พวกเรามารับกันในวันนี้ เรามารับธรรมโอสถเพื่อนำเอาไปปฏิบัติ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แล้วความทุกข์ต่างๆ ทั้งหลายก็จะค่อยหมดไป จะห่างไกลจากใจไปจนไม่มีหลงเหลืออยู่เลย นี้คืออานิสงส์ของธรรมโอสถ ของการรับประทานยาของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จึงขอให้ท่านมีความเชื่อมั่นในยานี้และนำไปรับประทานอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการมาวัดอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็อาทิตย์ละครั้งหนึ่ง หรือถ้ามากกว่านั้นได้ยิ่งดี ถ้ามาอยู่วัดปฏิบัติธรรม รักษาศีล ๘ ได้ก็ยิ่งดี หรือถ้าจะบวชได้ก็ยิ่งดีใหญ่ เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถขยับขึ้นไปได้ จากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง ถ้ามีความพยายามแล้วความสำเร็จย่อมเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอน จึงขอฝากเรื่องการมารับยาธรรมโอสถอย่างสม่ำเสมอ ให้ท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้