กัณฑ์ที่ ๒๗     ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๓

พระอริยบุคคล

 

พุทธศาสนิกชนคือบุคคลที่มีความเชื่อและความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ประกอบด้วยพุทธบริษัท ๔ คือ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี  รวมทั้งสามเณรและญาติโยมทั่วๆไป ตามหลักพระธรรมคำสอน ทุกๆคนที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน มีสิทธิ์ที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล  เป็นพระอรหันต์ได้ด้วยกันทุกๆคน  เราคงเคยได้ยินว่าในสมัยพุทธกาล  มีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลกันเป็นจำนวนมาก   มีทั้งหญิง ชาย  ฆราวาส  นักบวช  เด็ก  ผู้ใหญ่  เพราะว่า การบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาได้นั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เพศ  ที่วัย ที่อายุ  ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้นถึงจะเป็นพระอริยบุคคลได้ ทุกๆคนที่ประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  คือ  ทำบุญให้ทาน  รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา  ไหว้พระสวดมนต์  นั่งทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา  ทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง  ในสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นของที่ไม่มีตัวตน   ย่อมบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งได้ด้วยกันทุกๆคน 

มีคนทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อไหร่พระอรหันต์จึงจะหมดไปจากโลกนี้  พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบไปว่า  ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม  ตราบนั้น พระอรหันต์ จะยังไม่หมดสิ้นไปจากโลกนี้    พระพุทธองค์ไม่ได้มอบความเป็นพระอริยบุคคล   ความเป็นพระอรหันต์ไว้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด  ไม่ได้มอบไว้ให้กับพระภิกษุสามเณร  ภิกษุณี  ไม่ได้มอบไว้ให้แก่ฆราวาส  ไม่ได้มอบไว้ให้กับผู้ชายหรือผู้หญิง  ผู้ใหญ่หรือเด็ก  แต่ท่านทรงมอบไว้ให้กับผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งเป็นได้ทุกเพศทุกวัย   อย่างในสมัยพุทธกาลสุภาพสตรีที่เป็นพระอริยบุคคลก็มี  อย่างนางวิสาขานี่ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เธอเป็นผู้มีจิตศรัทธาสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าไว้อยู่จำพรรษา  เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มี   อย่างพระเจ้าสุทโธทนะซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า   ก็ทรงบรรลุเป็นพระอริยบุคคลเหมือนกัน  หรือแม้กระทั่งเทวดา  อย่างพระพุทธมารดาก็บรรลุเป็นพระอริยบุคคลเช่นกัน   เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ทรงโปรดแสดงธรรมให้กับพระพุทธมารดาตลอดเวลาหนึ่งพรรษา จนกระทั่งพระพุทธมารดาได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา 

หรือแม้กระทั่งฆราวาสผู้ชายก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ดังที่มีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง  คือมีชายคนหนึ่ง  ได้เข้ามากราบทูลถามธรรมะกับพระพุทธเจ้าในขณะที่พระพุทธองค์ทรงบิณฑบาต  ให้พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรมะที่เป็นแก่นของธรรม   พระองค์จึงแสดงธรรมโปรดชายคนนั้นว่า  เธอจงประพฤติปฏิบัติดังต่อไปนี้   ในสิ่งที่เธอเห็นนั้น   จงสักแต่ว่าเห็น   ในสิ่งที่เธอได้ยิน  จงสักแต่ว่าได้ยิน   ในสิ่งที่เธอได้ดมกลิ่น  จงสักแต่ว่าดมกลิ่น   ในสิ่งที่เธอได้ลิ้มรส  จงสักแต่ว่าได้ลิ้มรส  และในสิ่งต่าง ๆที่เธอได้สัมผัสนั้น  จงสักแต่ว่าได้สัมผัส  อย่าได้มีตัวตนของเธอเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้  ให้เป็นสักแต่ว่า  ให้เห็นว่าเป็นสิ่ง ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป   เสียงมากระทบหู  รับรู้  แล้วก็ดับไป  อย่าเอาตัวตนไปรับรู้  ว่าเราได้ยิน   เราได้ฟัง  เราได้เห็น  ให้เอาตัวรู้เป็นผู้รับรู้  คือ เวลาเห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น   ให้รู้ว่าได้เห็น  แล้วก็ปล่อยวางตามความเป็นจริงไม่ไปยึดไปถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ว่าเป็นหญิง  เป็นชาย   เป็นเขา  เป็นเรา   ว่าดีหรือชั่ว  คือให้สักแต่ว่าเห็นเฉยๆ   ได้ยินเฉยๆ   ได้ฟังเฉยๆ    ได้ดมกลิ่นเฉยๆ   ได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้เฉยๆ  ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง  เกิดขึ้น ตั้งอยู่  แล้วก็ดับไป   ผ่านไป

หลังจากได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงสั่งสอนแล้ว ก็กราบทูลลาพระพุทธเจ้าไป  พระพุทธองค์ก็ทรงดำเนินบิณฑบาตต่อไป  จนกระทั่งเสร็จการบิณฑบาต ขณะที่พระพุทธองค์ทรงดำเนินกลับสู่ที่ประทับ   ก็พบชายคนนั้นนอนตายอยู่ข้างถนน  ถูกวัวขวิดตาย   พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้นำศพชายคนนี้ไปทำการฌาปนกิจ  เสร็จแล้วทรงรับสั่งให้สร้างสถูปเพื่อบรรจุอัฐิของชายคนนี้ไว้ ในสมัยพุทธกาลนั้น         ผู้ที่จะได้รับการบรรจุอัฐิเก็บไว้ในพระสถูปนั้น มีบุคคลเพียง ๔  ประเภทเท่านั้น    คือ   . พระมหาจักรพรรดิ์     . พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า    .พระปัจเจกพุทธเจ้า    . พระอรหันต์    พระพุทธองค์ได้ทรงรับสั่งว่า ชายคนนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว  เพราะเธอสามารถปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสั่งสอนได้  ชายคนนั้นก็เลยได้บรรลุธรรมขึ้น   เพียงได้ฟังธรรมะสั้นๆเท่านั้น   คือ  ทรงสอนไม่ให้ยึด ไม่ให้ติด  ไม่ให้หลงว่ามีตัวตนนั่นเอง

ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวตน  ร่างกายของเราก็ไม่ใช่ตัวตน    ร่างกายของเราเป็นมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป   อาหารก็มาจากธาตุ    ดิน   น้ำ   ลม   ไฟ   เมื่อมารวมตัวขึ้นก็เป็นรูปร่าง  มีอาการ ๓๒  มีผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ   เอ็น   กระดูก  เป็นต้น  อยู่ได้สักระยะหนึ่ง  ก็เกิดการเสื่อม  เกิดการแตกสลาย   กลับไปสู่ธาตุ ๔   ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ     นี่คือธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้   เป็นธาตุทั้งสิ้น  สิ่งต่างๆที่เรารับรู้ผ่านมาทางตาก็ดี   ทางหูก็ดี   ทางจมูกก็ดี   ทางลิ้นก็ดี  ทางร่างกายก็ดี   ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น  ไม่มีตัวตน   เป็นสิ่งที่ไม่จีรังถาวร   ไม่เป็นสิ่งที่ควรไปยึดไปติด  ว่าเป็นเรา   เป็นของๆเรา    ถ้าสามารถปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนสั้นๆนี้ได้แล้ว  จิตใจจะมีแต่ความสุข  มีแต่ความสบายใจ  เพราะจิตใจไม่ติดไม่ยึดกับสิ่งเหล่านี้

ทุกวันนี้พวกเราทุกข์กับอะไร  ก็ทุกข์กับสิ่งของที่เป็นของๆเรา  ถ้าเป็นของคนอื่นเราก็ไม่เดือดร้อน  เช่นเวลาบ้านคนอื่นไฟไหม้  เราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นบ้านของเราเกิดไฟไหม้ขึ้นมา  เราก็ร้องห่มร้องไห้ ถ้ารถของเราหายไป  เราก็เศร้าโศกเสียใจ  ถ้าเป็นรถของคนอื่นหายไป  เราก็ไม่เศร้าโศกเสียใจ   ทั้งๆที่บ้านก็เป็นบ้านเหมือนกัน   รถก็เป็นรถเหมือนกัน หายไปเหมือนกัน  แต่ทำไมบ้านของคนอื่นเราไม่เดือดร้อน  บ้านของเรา เราเดือดร้อน  เวลาร่างกายของเราเจ็บไข้ได้ป่วย  เราทำไมถึงทุกข์ใจ  แต่เวลาคนอื่นเขาเจ็บไข้ได้ป่วย  เราถึงไม่ทุกข์ใจ ก็เพราะว่า  ใจของเราไม่ยึดไม่ติดกับร่างกายของเขา  แต่ไปยึดไปติดกับร่างกายของเรา  เมื่อร่างกายนี้ไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา  เราก็เกิดทุกข์ใจขึ้นมา  เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา เพราะความหลง เพราะความไม่เข้าใจ  ในสภาวะธรรมทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า สัพเพธัมมาอนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่มีตัวตน  ไม่มีอะไรที่เป็นของๆเรา ที่เรายึดว่าร่างกายนั้นเป็นของๆเรา  ก็เพราะว่าเรามีความหลง  มีความมืดบอด เหมือนคนตาบอดที่ไปคลำท้องช้างก็ว่าเป็นกำแพง  ไปคลำหางช้าง  ก็ว่าเป็นเชือก  ไปคลำที่งวง   ก็ว่าเป็นงู   

พวกเราเมื่อตายไปจากภพก่อนชาติก่อนก็มาเกิดในชาตินี้  โดยดวงวิญญาณของพวกเราเข้าไปครอบครองร่างกายที่อยู่ในท้องแม่ซึ่งไม่ได้เป็นของๆเรา แต่เป็นของพ่อของแม่ที่มาผสมกัน แล้วก็ยึดว่าเป็นร่างกายของเรา  เหมือนกับการซื้อรถยนต์มาคันหนึ่ง  เมื่อก่อนมันไม่ใช่ของๆเรา แต่หลังจากที่ซื้อมาแล้วก็กลายเป็นของๆเรา  และเมื่อได้มาเป็นของๆเราปั๊บ   เราก็ไปยึด  ไปติด  ไปหวง  ไปห่วง  เวลามันเกิดเป็นอะไรขึ้นมา ก็เกิดความทุกข์ใจ  เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา   นี่คือการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้พวกเรา ให้รู้เห็นสภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ให้ปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้ว  จะไม่ทุกข์กับสิ่งนั้นๆ  แล้วจะมีแต่ความสบายใจ มีความสุขกับข้าวของเงินทอง กับบุคคลต่างๆที่มีอยู่  เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ บุคคลเหล่านี้ไป จะไม่เดือดร้อน จะไม่ทุกข์ใจ  เพราะไม่ได้ยึดว่าเป็นของๆเรานั่นเอง 

พระพุทธองค์จึงสอนให้พวกเรา ศึกษาสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและปฏิบัติ  เพื่อปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ โดย ๑. การทำบุญให้ทาน   . การรักษาศีล  . การเจริญจิตตภาวนา ทำสมาธิและเจริญวิปัสสนา  พยายามปฏิบัติ เพราะการกระทำเหล่านี้เป็นเครื่องมือ   ที่จะช่วยให้เราปล่อยวางได้  เหมือนเวลาขับรถไปแล้วเกิดยางแตกขึ้นมา ต้องเปลี่ยนยาง  ถ้าไม่มีเครื่องมือเราก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนยางได้  เพราะว่าการจะยกล้อขึ้นมา  เพื่อถอดล้อออกโดยลำพังย่อมเป็นไปไม่ได้  แต่ถ้ามีเครื่องมือที่ติดมากับรถ  เช่นมีแม่แรง  มีเครื่องมือที่จะมาขันน๊อตออก  เราก็สามารถที่จะใช้แม่แรงนี้ยกล้อรถให้ลอยขึ้นมา  แล้วใช้กุญแจขันน๊อตต่างๆออกมา  เราก็สามารถที่จะเปลี่ยนยางได้  โดยอาศัยเครื่องมือที่ติดมาในรถ  ฉันใด   ถ้าเราต้องการที่จะปล่อยวาง  ความยึดมั่น  ถือมั่น   ความเป็นตัวเป็นตน  ความเป็นเรา  เป็นของๆเรานั้น  เราก็ต้องอาศัยเครื่องมือ  ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้กับพวกเรา  เครื่องมือนั้นก็คือ ทาน ศีล ภาวนานั้นเอง

ขอให้ทำบุญทำทานอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ไม่ได้ทำบุญเพื่อหวังร่ำหวังรวย  หวังให้ได้อะไร  แต่ทำบุญเพื่อตัดความยึดติดในวัตถุ  ข้าวของ  เงินทอง ว่าเป็นของๆเรา สิ่งไหนที่เป็นส่วนเกิน ก็เอาไปแจกจ่ายผู้อื่น   ช่วยเหลือผู้อื่น โดยถือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของๆเราอย่างแท้จริง  ตายไปก็เอาไปไม่ได้สักอย่างเดียว  แต่ถ้าเราเอาไปให้ผู้อื่น  เอาไปแจกจ่ายให้ผู้อื่น  เราจะได้ตัดกิเลส  ตัดความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ที่อยู่ภายในจิตใจของเรา  เช่นเดียวกับการรักษาศีล  ก็เป็นการตัดความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  และการทำให้จิตเป็นสมาธิ  ทำจิตให้สงบนั้น  ก็เป็นการทำให้ความโลภ  ความโกรธ  และความหลงนั้น  สงบตัวลง  ทำให้มันเบาบางลง  ทำให้มันน้อยลง  แล้วการเจริญวิปัสสนาปัญญา  ก็เหมือนกับเอามีด  มาตัด  มาฟัน  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ เมื่อเราดำเนินตามทางแห่ง ทาน  ศีล  ภาวนา อย่างต่อเนื่อง  ในที่สุดเราก็จะสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้

ต่อไปเวลาได้สัมผัสรับรู้อะไร ก็สักแต่ว่าได้เห็น  สักแต่ว่าได้ยิน  สักแต่ว่าได้ดมกลิ่น  สักแต่ว่าได้ลิ้มรส  สักแต่ว่าได้สัมผัส  จะไม่มีความยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้ จะปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ได้  ถ้าปล่อยวางได้แล้ว  จิตใจก็จะมีแต่ความสุข  ความสบายใจ จึงขอฝากธรรมะเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ว่าการเป็นอริยบุคคลนั้น  ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น  ขอให้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เรียกว่าสุปฏิปันโน   ผู้นั้นแหละจะเป็นพระอริยบุคคล  ผู้นั้นแหละคือ   สังฆรัตนะ  คือพระสงฆ์ที่เป็นสรณังคัจฉามิ  เป็นที่พึ่งของเรานั่นเอง  ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้นุ่งเหลืองห่มเหลืองโดยถ่ายเดียว  แต่ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติดี ที่เรียกว่าสุปฏิปันโน จะเป็นหญิง เป็นชายก็ได้  เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ มันขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้