กัณฑ์ที่ ๒๗๔ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
สมถะ วิปัสสนา
เวลาฟังธรรมให้ตั้งจิตอยู่เฉพาะหน้า ไม่ต้องส่งจิตไปหาผู้แสดง ให้ตั้งรับเหมือนกับผู้รักษาประตู ให้อยู่แถวหน้าประตูรอรับลูกฟุตบอล อย่าวิ่งออกไปไล่จับลูกฟุตบอล ไม่เช่นนั้นจะถูกยิงเสียประตูได้ง่าย เพราะไม่ได้เฝ้าอยู่ตรงหน้าประตู ฉันใดเวลาฟังธรรมก็ต้องตั้งจิตไว้ที่ใจ เพราะเป็นจุดที่รับความรู้ต่างๆ เสียงที่มาสัมผัสกับหูก็ต้องเข้ามาที่ใจ เวลาฟังธรรมก็ฟังได้ ๒ ลักษณะคือ ๑. ฟังให้เกิดปัญญา ๒. ฟังให้เกิดความสงบ การฟังเพื่อให้เกิดความสงบก็คือให้จิตเกาะติดอยู่กับเสียงธรรม เกาะติดอยู่กับกระแสธรรมที่ผ่านเข้ามาทางหู จะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ฟังไป ให้เกาะติดอยู่กับเสียง เพื่อไม่ให้จิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เหมือนกับการบริกรรมพุทโธๆ แต่การฟังธรรมจะสบายกว่า ไม่ต้องบริกรรมให้เหนื่อย เพียงอาศัยเสียงธรรมะเป็นตัวผูกใจไว้ อย่าปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องอื่นก็แล้วกัน ฟังไปเรื่อยๆ ถ้าเกาะติดอยู่กับกระแสธรรมได้อย่างต่อเนื่อง จิตก็จะค่อยๆสงบตัวลงจนเป็นสมถะเป็นสมาธิไป ถ้าฟังให้เกิดปัญญา ก็ต้องพิจารณาตามธรรมที่แสดงด้วยเหตุด้วยผล ว่าเป็นอย่างนี้ เพราะอย่างนี้ ก็พิจารณาตามไป พอเข้าใจก็จะร้องอ๋อ เข้าใจแล้วรู้แล้ว ว่าจะต้องตัดอย่างไรปล่อยอย่างไร นักปฏิบัติส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องปัญญากัน คิดว่าสมถะกับวิปัสสนาเป็นเรื่องเดียวกัน คิดว่าให้กำหนดรู้เฉยๆ ซึ่งเป็นการเจริญสติเท่านั้นเอง คือให้มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่กับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกายเข้ามาสู่ใจ ให้มีสติรับรู้อยู่ในอิริยาบถ ๔ เดินก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ทำอะไรก็ดี ให้มีสติตามรู้อยู่เสมอๆ แต่นี้เป็นเพียงการสร้างสติเรียกว่าสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำจิตให้สงบ ให้เป็นสมถะ เป็นสมาธิ เป็นบาทเป็นฐานของการเจริญปัญญา เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริง ที่เรียกว่าวิปัสสนา
การภาวนาจึงแยกออกเป็น ๒ ภาค ๒ เวลา คือ ๑. สมถะ ๒. วิปัสสนา เวลาเจริญสมถภาวนาเพื่อความสงบก็ไม่ต้องพิจารณา ภาวนาเพื่อให้จิตนิ่งไม่ให้คิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น นอกจากมีนิสัยชอบคิด หยุดคิดไม่ได้ ก็ต้องบังคับให้คิดไปทางปัญญา เพื่อเป็นแนวแห่งปัญญาอบรมสมาธิ คิดด้วยเหตุด้วยผลเพื่อกล่อมจิตใจให้เข้าสู่ความสงบ ให้เป็นสมาธิ แต่ถ้าไม่ชอบคิดก็บังคับจิตให้อยู่กับพุทโธๆ หรืออยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็กำหนดรู้ไปจนจิตสงบตัวลงรวมเป็นเอกัคคตารมณ์ ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ตอนนั้นการบริกรรมหรือการกำหนดดูลมหายใจก็หยุดไปโดยปริยาย เพราะได้ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการแล้ว การดูลมหายใจเข้าออกหรือการบริกรรมเป็นเพียงทางเดินเท่านั้น เป็นตัวพาไปสู่จุดหมายปลายทาง เหมือนกับรถยนต์ที่นั่งมาเพื่อให้มาถึงสถานที่นี้ พอมาถึงก็ลงจากรถแล้วก็ขึ้นมานั่งอยู่ที่ศาลานี้ รถยนต์ก็จอดทิ้งไว้ ฉันใดการภาวนาเมื่อจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบจนนิ่งเฉยแล้ว การบริกรรมพุทโธๆ ก็จะหยุดไปโดยปริยาย การกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็จะหยุดไปโดยปริยาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญเพื่อความสงบ ขณะที่จิตรวมอยู่นั้น จะนานหรือไม่นาน ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าไปดึงอย่าไปถอนจิตออกมา เหมือนกับการทอดสมอเรือ พอสมอติดดินแล้ว เราก็ไม่ถอนมันขึ้นมา ถ้าถอนเรือก็จะไม่จอดนิ่ง
จิตที่รวมอยู่ในความสงบก็เช่นเดียวกัน ควรปล่อยให้นิ่งจนกว่าจะถอนออกมาเอง เพราะนี่คือเป้าหมายของการทำสมถภาวนา ทำเพื่อให้จิตนิ่งสงบ จะสงบนิ่งได้นานเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะเสริมสร้างกำลังให้กับจิตไว้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาต่างๆ ยิ่งสงบนิ่งได้นานเท่าไหร่ ก็จะมีกำลังต่อสู้กับกิเลสตัณหาได้มากขึ้นตามลำดับ ในเบื้องต้นจึงต้องสร้างฐานของสมาธิคือความสงบให้มีให้มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำแต่สมถภาวนาเพียงอย่างเดียว ก็ยังสามารถเจริญวิปัสสนาไปได้ด้วย สลับกันไป เมื่อออกจากสมาธิความสงบแล้ว ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่มีภารกิจการงานอย่างอื่นหรือมีก็ตาม ก็ควรเจริญปัญญาต่อ ด้วยการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในสังขารร่างกาย เช่นเป็นพระก็ต้องออกไปบิณฑบาต ก็สามารถเจริญธรรมขั้นวิปัสสนาได้ ด้วยการพิจารณาร่างกายในขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกายไปก็ได้ พิจารณาดูความแก่ความเจ็บความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็พิจารณาไปได้เรื่อยๆอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าวิปัสสนา ถ้าตามรู้นามรูปรู้ว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แต่ไม่ควบคุม ไม่ดับมัน ก็จะไม่ทันการณ์ เช่นเวลาเกิดกิเลสขึ้นมา แล้วดูเฉยๆ รอให้มันดับเอง แต่มันไม่ดับ เช่นเวลาโกรธก็จะโกรธไปเรื่อยๆ เกลียดก็เกลียดไปเรื่อยๆจนวันตาย ถ้าจะให้มันดับก็ต้องใช้ปัญญาใช้วิปัสสนาเข้าไปดับมัน
เช่นใช้ความเมตตา เวลาโกรธก็ต้องเห็นว่าความโกรธนี่เป็นเหมือนไฟเผาจิตใจ คนที่ถูกโกรธไม่รู้เรื่องหรอก เขาสบาย แต่คนที่โกรธจะตายเอา เพราะความรุ่มร้อนของจิตใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาฆาตพยาบาท ก็เพราะความโกรธกำลังเผาผลาญใจ กำลังสร้างความทุกข์ให้กับใจ จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ พอเห็นปั๊บก็จะดับความโกรธได้ เอ๊ะเรากำลังบ้า ไปโกรธเขาทำไม โกรธแล้วเหมือนเอาฆ้อนมาทุบศีรษะเรา ไม่เกิดประโยชน์อะไร นี้คือวิปัสสนา ต้องพิจารณาดับมันให้ได้ ไม่ใช่รอให้มันดับเอง พิจารณาดูนามรูปว่า มันเกิดแล้วเดี๋ยวมันดับ เกิดแล้วเดี๋ยวมันดับ แล้วถ้าเกิดมันไม่ดับจะทำอย่างไร บางสิ่งบางอย่างเราดับมันได้ถ้ารู้เหตุว่าเกิดจากอะไร เช่นความทุกข์ใจนี่มีเหตุทำให้มันเกิดขึ้นมา เหตุของความทุกข์ใจก็คือตัณหา ที่ท่านแสดงไว้ในอริยสัจสี่ มี กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาทั้ง ๓ นี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากความหลง เห็นอะไรแล้วก็อยากได้ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่อยากได้นั้นเป็นความทุกข์ คิดว่าเป็นความสุข เหมือนกับคิดว่างูพิษเป็นปลาไหล เพราะมีรูปร่างเหมือนกัน ปลาไหลกับงูพิษ ถ้าดูไม่เป็นก็จะคิดว่างูพิษเป็นปลาไหลไป ก็อยากจะจับมากิน โดยไม่รู้จักวิธีจับที่ถูกต้อง ก็จะถูกงูกัดตายได้ ฉันใดความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ที่เกิดจากตัณหาทั้ง ๓ ที่มีโมหะความหลงมีอวิชชาความไม่รู้เป็นผู้ผลักดัน ทำให้ไม่เห็นว่าสิ่งที่อยากได้อยากสัมผัสนั้นเป็นโทษ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
เหมือนกับยาเสพติด ถ้าไม่รู้ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่วิเศษ เสพแล้วทำให้ขึ้นสวรรค์ แต่ไม่คิดถึงเวลาที่ไม่ได้เสพ ว่าจะทุกข์ทรมานขนาดไหน จึงต้องพิจารณาสอนใจให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น สัพเพสังขาราอนิจจา สัพเพสังขาราทุกขา สัพเพธัมมาอนัตตา นี่คือวิปัสสนา ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสิ่งต่างๆ ที่อยากได้อยากสัมผัสอยากมีไว้เป็นสมบัติ ถ้าดูเฉยๆรู้เฉยๆก็จะไม่สามารถดับความอยากได้ เมื่อดับความอยากไม่ได้ ก็ดับความทุกข์ไม่ได้ จึงต้องสอนใจให้เกิดปัญญา ให้เห็นว่าทุกสิ่งในโลกนี้ที่อยากจะได้กัน อยากจะมีกัน อยากจะเสพ อยากจะสัมผัสกันนั้น ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น สัพเพสังขาราทุกขา เพราะเป็นอนิจจา เป็นของไม่เที่ยง เวลาได้อะไรมาใหม่ๆก็ดีอกดีใจ แล้วอีกสักพักหนึ่งก็เบื่อ ของยังไม่ทันเปลี่ยนไปเลย แต่อารมณ์เราเปลี่ยนไปก่อนแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนต่อไปมันก็เปลี่ยน จากของใหม่เป็นของเก่าไป ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความสุขก็หายไป ความทุกข์ก็มาแทนที่ นี่คือการเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เข้าใจ ให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราหรือร่างกายของคนอื่น หรือนามขันธ์ที่อยู่ในจิต ได้แก่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน
เวทนาก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ วนไปเวียนมา เหมือนกับฝนตกแดดออกที่สลับกันไป ถ้าเข้าใจแล้วก็จะไม่ยึดไม่ติด จะได้ไม่เดือดร้อน แต่เราถูกความหลงครอบงำจึงไม่รู้กัน จึงยึดติดกับสุขเวทนา ส่วนทุกขเวทนากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนาจะไม่อยากเจอเลย ทุกขเวทนาเป็นตัวที่เราเกลียดมากที่สุด รองลงมาก็คือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา คือเฉยๆ ที่ทำให้เบื่อทำให้เซ็ง เพราะอยากจะให้สุขตลอดเวลา จึงอยากสัมผัสอยากได้ยินได้ฟังสิ่งที่ทำให้เกิดสุขเวทนา แต่เราไม่สามารถบังคับสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ เราจึงต้องสัมผัสกับเวทนาทั้ง ๓ นี้อยู่เสมอ สัมผัสทุกข์บ้าง สัมผัสสุขบ้าง สัมผัสไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ปัญหาของเราจึงอยู่ตรงที่ต้องทำใจให้รับกับเวทนาทั้ง ๓ นี้ให้ได้ คืออย่าไปจงเกลียดจงชังทุกขเวทนา อย่าไปจงเกลียดจงชังไม่ทุกข์ไม่สุขเวทนา อย่าไปรักษาอย่าไปยินดีแต่กับสุขเวทนา ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา ด้วยการเจริญสมาธิทำจิตให้สงบให้เป็นอุเบกขา เพราะหลังจากนั้นแล้วจะสัมผัสกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น ร้อนก็ได้เย็นก็ได้ สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้ ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะตัวที่สร้างความอยาก สร้างความรัก สร้างความชังนี้ ถูกกำลังของสมาธิกดไว้ เพราะเวลาจิตสงบกิเลสก็ต้องสงบตามไปด้วย จะออกมาเพ่นพ่านแสดงอาการต่างๆไม่ได้
ถ้าสามารถเจริญสมถภาวนาได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง จนจิตสงบนิ่งอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้ง ๔ แล้ว กิเลสตัณหาต่างๆจะไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนตอนที่จิตยังไม่สงบ จะออกมาบ้างก็เป็นช่วงๆ ในเวลาที่ได้สัมผัสกับบางสิ่งบางอย่างบางเหตุการณ์ กิเลสตัณหาก็จะผุดขึ้นมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด จะแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน เช่นเกิดความไม่พอใจก็จะเกิดความร้อนใจขึ้นมาทันที ตอนนั้นเป็นเวลาที่ต้องใช้วิปัสสนาเข้าไปดับ พอโกรธขึ้นมาปั๊บก็ต้องรีบดับทันที ต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่รู้ก็จะโกรธไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดแรงไปเอง จะทดสอบการปฏิบัติกันก็ทดสอบกันตรงนี้ เวลาที่กิเลสเกิดขึ้นมา ว่าจะดับมันได้หรือไม่ จะดับได้ช้าหรือเร็ว เพราะกิเลสไม่ได้ตายด้วยอำนาจของสมาธิ เพียงแต่ถูกกดไว้ ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านเหมือนในขณะที่ไม่มีสมาธิ คนที่ไม่มีสมาธิจะแสดงความโลภโมโทสันออกมามากกว่าคนที่มีสมาธิ คนที่มีสมาธิจะเป็นคนสมถะสงบเสงี่ยมเจียมตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ้นกิเลสแล้ว เพียงแต่กิเลสไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนเมื่อก่อนนี้ จะออกมาก็ต่อเมื่อมีอะไรไปกระตุ้น เช่นไปเห็นอะไรที่รักจริงๆอยากได้จริงๆ ถึงจะโผล่ออกมา หรือโกรธจริงๆ เกลียดจริงๆ ถึงจะโผล่ออกมา เวลาโผล่ออกมาก็เหมือนกับบอกให้รู้ว่าฉันยังไม่ตายนะ ฉันยังอยู่ บางทีผู้ปฏิบัติเองก็ไม่รู้ คิดว่าสิ้นกิเลสแล้ว ถึงต้องไปหาคนเก่งๆอย่างหลวงตาคอยช่วยกระทุ้งให้ กิเลสมีเท่าไหร่เดี๋ยวก็ออกมาหมด
เพราะท่านรู้วิธีกระทุ้งกิเลส ท่านมีเทคนิคมีอุบายมีลีลาต่างๆเยอะแยะไปหมด มีทั้งลูกล่อลูกไล่ การไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ผ่านกิเลสมาอย่างโชกโชนแล้วจะมีประโยชน์มาก เพราะท่านจะช่วยทดสอบจิตใจของเรา ให้รู้ว่าสิ้นกิเลสหรือยัง หรือมีแต่ตัวโลภโกรธหลงชนิดหยาบๆที่ได้ถูกทำลายลงไปแล้ว แต่ตัวขนาดกลางและขนาดละเอียดยังหลบซ่อนอยู่ เวลาเจริญปัญญาใหม่ๆจะพบกับกิเลสได้อย่างง่ายดายเพราะมีเต็มไปหมด ไม่ต้องไปตามหา เพราะกิเลสเพ่นพ่านอยู่ตลอดเวลา แต่พอพวกกิเลสส่วนหยาบถูกทำลายไปหมดแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องขุดคุ้ยหากิเลส เพราะจะหลบซ่อน ไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนกิเลสหยาบๆทั้งหลาย การปฏิบัติก็จะเป็นขั้นๆไป จากรูปขันธ์ก็ขยับเข้าไปสู่นามขันธ์ ในเบื้องต้นก็พิจารณารูปขันธ์ก่อน พิจาณาร่างกายให้เข้าอกเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่าเป็นอย่างไร ก็มีอยู่สองสามลักษณะด้วยกันคือ ๑. อนิจจัง เห็นว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย ทั้งของเราและของผู้อื่น ต้องมีการพลัดพลาดจากกันเป็นธรรมดา ต้องพิจารณาจนปล่อยวางร่างกายได้ จะแก่ก็ไม่เดือดร้อน จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เดือดร้อน จะตายก็ไม่เดือดร้อน จะพลัดพรากจากกันก็ไม่เดือดร้อนอะไร จะรู้สึกเฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา ๒. พิจารณาดูความเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ให้เห็นว่าร่างกายประกอบขึ้นมาจากดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มีการไหลเข้าออกของดินน้ำลมไฟอย่างต่อเนื่อง
ได้แก่อาหารชนิดต่างๆ อาหารก็มาจากดินน้ำลมไฟ ข้าวก็ต้องออกมาจากดิน ผักก็ต้องออกมาจากดิน สัตว์ก็ต้องกินผักกินหญ้า ก็มาจากดินน้ำลมไฟ เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็แปลงจากผักจากข้าวจากเนื้อสัตว์ มาเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเอ็น เป็นกระดูก เป็นอวัยวะต่างๆ เมื่อร่างกายแตกสลายดับไป ก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่ได้ไปไหน ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาจนช่ำชอง คิดถึงปั๊บก็รู้เลย จนปล่อยวางได้เหมือนกับถือก้อนดินไว้ก้อนหนึ่ง จะเสียดายทำไม จะคิดว่าเป็นของเราได้อย่างไร เมื่อรู้ว่าเป็นดิน ถ้าเอามาใช้ประโยชน์ได้ก็ใช้ไป เอามาปั้นเป็นลูกเล็กๆไว้ใช้กับหนังสติ๊ก ไว้ยิงสัตว์ที่มารบกวน ก็ใช้ไป แต่ไม่ยึด ไม่ติด ไม่คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ร่างกายก็เป็นเหมือนก้อนดินก้อนหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิม ก็ต้องกลับคืนไป นี่คือการพิจารณาให้เกิดปัญญาในส่วนของร่างกาย เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่างๆให้หมดสิ้นไป ๓. การพิจารณาอสุภะความไม่สวยงาม เพราะถ้าไม่พิจารณา ก็จะเห็นแต่ความสวยงาม ทำให้เกิดราคะตัณหาความกำหนัดยินดีในกาม ก็ต้องพิจารณาจนเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เพราะถูกซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง ถ้ามีตาเอ็กซเรย์ก็สามารถมองทะลุเข้าไปได้ ก็จะเห็นอาการต่างๆ เช่นโครงกระดูก ตับไตไส้พุงต่างๆ เป็นส่วนที่ไม่สวยงามเลย เหมือนกับตับไตไส้พุงของหมูของวัวที่ขายในตลาด
แต่ถูกหุ้มห่อไว้ด้วยหนัง จึงมองไม่เห็นความไม่สวยไม่งามนี้ จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ จนติดตาติดใจ หรือจะพิจารณาดูตอนที่ตายไปแล้วว่าเป็นอย่างไรก็ได้ เวลาขึ้นอืดเป็นอย่างไร เช่นเวลาไปงานศพควรไปปลงอนิจจังกัน คือความตาย ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ควรพิจารณาอสุภะกัน ว่าร่างกายนี้ไม่สวยไม่งามเลย ต้องพิจารณาจนกำจัดราคะตัณหาความกำหนัดยินดีให้หมดไป เมื่อหมดไปแล้วการพิจารณาร่างกายก็ไม่ต้องทำอีกต่อไป เพราะไม่มีปัญหาแล้ว กลัวตายก็ไม่กลัวแล้ว กลัวแก่ก็ไม่กลัวแล้ว กลัวเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่กลัวแล้ว ไม่ยึดไม่ติดแล้ว รู้แล้วว่าเป็นเีพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง จะไปหลงไปชอบ ว่าสวยว่างามได้อย่างไร การพิจารณาร่างกายก็จบลงโดยปริยาย เพราะไม่เป็นปัญหากับจิตใจอีกต่อไป ต่อจากนั้นก็มีงานที่ละเอียดกว่านั้นอีกที่ต้องทำต่อ คือการพิจารณานามขันธ์ที่อยู่ในจิต ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่จิตยังหลงยึดติดอยู่ ยังติดอยู่กับสังขารความคิดปรุงแต่ง ยังชอบคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดแล้วก็มีความสุขบ้างมีความทุกข์บ้าง แต่พอมีความทุกข์ก็ไม่รู้จักระงับดับมัน เพราะติดสังขาร ไม่รู้จักหยุดคิด จึงต้องพิจารณาแยกจิตผู้รู้ออกจากสังขารความคิดปรุง แยกจิตออกจากเวทนา แยกจิตออกจากสัญญา แยกจิตออกจากวิญญาณ ให้เห็นว่าจิตกับขันธ์เป็นคนละส่วนกัน ขันธ์ออกมาจากจิต เป็นอาการของจิต เหมือนกับฟองน้ำกับคลื่นที่ต้องอาศัยน้ำทำให้เกิดขึ้นมา เช่นเดียวกับเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ต้องมีจิตถึงจะเกิดขึ้นมาได้
ท่านจึงเรียกว่าอาการของจิต แต่ไม่ใช่ตัวจิต ตัวจิตเป็นตัวที่ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ตายไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บ แต่ตัวขันธ์มีการเกิดดับๆอยู่เสมอ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ดังที่ได้แสดงไว้ เช่นเวทนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสุขเป็นทุกข์ จากทุกข์เป็นสุข เป็นไม่สุขไม่ทุกข์ วิญญาณที่รับรู้เรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็รับรู้ไปแล้วก็ดับไป เกิดดับๆตลอดเวลา เห็นรูปนี้แล้วก็รับรู้ พอรูปนี้ดับไปความรับรู้รูปนี้ก็ดับไปด้วย เช่นเห็นรูปของนาย ก. พอนาย ก. เดินผ่านไป ความรับรู้รูปของนาย ก. ก็หายไป พอเห็นนาย ข. ก็รับรู้นาย ข. ต่อ ก็เกิดดับๆ รับรู้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปตามสิ่งที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย เรียกว่าวิญญาณผู้รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต่อจากนั้นสัญญาก็ทำงานต่อ รูปนี้เป็นใครหนอ อ๋อเป็นคุณนั่นคุณนี่ เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้ รู้ว่าคนนี้น่ารักไม่น่าชังเพราะเคยให้เงินให้ทอง จึงน่ารัก ก็ดีอกดีใจ แต่คนนี้เคยมาทวงหนี้ทวงสิน ก็น่าเบื่อน่ารังเกียจ เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้ แล้วก็ทำให้เกิดเวทนาตามมา เวลาเห็นภาพที่ถูกใจก็เกิดสุขเวทนา เห็นภาพที่ไม่ถูกใจก็เกิดทุกขเวทนา เห็นภาพที่เฉยๆก็เกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนาขึ้นมา ต่อจากนั้นก็เกิดสังขารความคิดปรุงแต่งตามมา ว่าจะทำอย่างไรดี
ถ้าเห็นคนน่ารักน่ายินดีก็ต้อนรับขับสู้ เป็นอย่างไร สบายดีหรือ เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง ถ้าเจอเจ้าหนี้ก็เตรียมทางหนีทีไล่มองซ้ายมองขวา เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง คิดว่าจะไปทางไหนดี ถ้าหลบไม่ได้หลีกไม่ได้ก็ทำใจดีสู้เสือ เป็นหน้าที่ของสังขาร แล้วก็ทำให้เกิดทุกข์สุขขึ้นมา ถ้ามีปัญญาสังขารก็จะอยู่ในกระแสของธรรม ของเหตุของผล โดยคิดไปว่าเกิดมาแล้วก็ต้องใช้กรรมที่สร้างเอาไว้ เมื่อผลปรากฏขึ้นมาก็ไม่ต้องไปกลัวมัน เจ้าหนี้มาทวงหนี้ก็คุยกันไป มีอะไรให้เขาได้ก็ให้เขาไป ไม่มีอะไรก็ให้เขาด่าให้เขาบ่นไป หรือจะจับเข้าคุกเข้าตะรางก็ยอมให้จับไป ไม่หนี ไม่หวั่นไหว พร้อมที่จะชดใช้กรรม นี้คือคิดด้วยธรรมะ คิดไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา คือความอยากจะหนี วิภวตัณหาคือความไม่อยากเจอคนนี้ อยากจะหนีจากคนนี้ไป หรือเวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หมอก็บอกว่ามีเวลาอยู่ได้อีกหกเดือนเท่านั้น ถ้าคิดไปทางธรรมะ ก็จะยอมรับความจริง จะไม่กลัว อะไรจะเกิดก็เกิด หนีไม่พ้น เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายด้วยกันทุกคน แต่ถ้าไม่มีธรรมะเลย พอหมอบอกว่าอยู่ได้อีกหกเดือน หัวใจก็หล่นลงไปอยู่ที่เท้าเลย หมดกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป ไม่รู้จะทำอย่างไรดี นี่คือสังขารความคิดปรุงแต่ง การที่เรามาเจริญวิปัสสนาภาวนากันนี้ ก็เพื่อสร้างสังขารให้คิดปรุงแต่งไปในทางธรรมะ เพื่อรับกับการทำงานของเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เวลาสัมผัสกับเหตุการณ์ต่างๆ
เวลาไปอยู่ต่างประเทศ ถ้าไม่รู้ภาษาที่เขาพูดกัน เราก็จะไม่รู้เรื่อง เพราะสัญญาไม่สามารถสื่อความหมายได้ ถ้าหมอบอกว่าคุณจะตายภายในหกเดือน ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น นี่คือการทำหน้าที่ของสัญญา เราสามารถปรับเปลี่ยนสัญญาได้ ถ้าเราถูกสอนมาให้เห็นผิดเป็นชอบ เช่นสอนว่าร่างกายนี้เป็นเรา ถูกสอนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ถูกอวิชชาโมหะสอนมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดแล้ว ว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา นี่ก็เป็นสัญญาที่ไม่ถูก การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นการแก้สัญญาที่ผิดให้ถูก แก้อวิชชาที่เป็นสัญญาที่ผิด ให้เป็นธรรมะที่เป็นสัญญาที่ถูกตรงตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา รู้ตามความเป็นจริง รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามอวิชชาก็จะหลงผิด ไม่เห็นตามความเป็นจริง แต่เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เห็นกลับตาลปัตร เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน เห็นความถาวรในสิ่งที่ไม่ถาวร เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นความทุกข์ นี่คืออวิชชาความไม่รู้จริง โมหะความหลง ซึ่งมีอยู่ในใจของเราทุกคน เพราะยังวิ่งเข้าหาความทุกข์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว เหมือนกับแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ ไม่รู้ว่าไฟมันร้อน เห็นแสงสว่างก็คิดว่ามันสวยงาม น่าจะสนุกเพลิดเพลินดี พอได้มาแล้วก็ได้ความทุกข์มาแบกด้วย พอได้สามีได้ภรรยามา ก็ต้องแบกความทุกข์กับสามีกับภรรยา พอได้ลูกมาก็ต้องแบกเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะถูกโมหะอวิชชาหลอกให้แบก
เราจึงต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกัน เพื่อให้เกิดปัญญา แล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ มันยากตรงที่ต้องปฏิบัติ เวลาฟังมันง่าย เหมือนคนติดยาเสพติด ที่รู้ว่ายาเสพติดมีโทษมากกว่ามีคุณ แต่ก็เลิกไม่ได้ พอถึงเวลาเสพใจจะสั่น ต้องมีความกล้าหาญ ต้องกล้าทิ้งมันไป หนีมันไป ถ้าอยู่ใกล้จะเลิกไม่ได้ ถ้ารู้ว่ากำลังติดอะไรอยู่ ก็ต้องตัดใจเลิกให้ได้ เช่นพระพุทธเจ้าทรงรู้ว่ายังทรงติดในพระราชฐานอยู่ ได้ทรงประทับอยู่จนถึงอายุ ๒๙ พรรษา ทั้งๆที่รู้อยู่ว่ามันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง แล้วในที่สุดก็ได้โอกาส เมื่อเกิดมีบ่วงเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ตอนนั้นจึงต้องตัดสินพระทัยแล้ว เมื่อก่อนนี้ความทุกข์แค่ ๑ เท่า ตอนนี้มันเพิ่มเป็น ๒ เท่าแล้ว ตอนนั้นทรงมีพระทัยที่เด็ดเดี่ยว จึงทรงเสด็จหนีออกจากวังไปได้
เพราะไปมันลำบากนะ การที่จะตัดเพศฆราวาสไปได้ ไม่ใช่ของง่าย อาตมาก็ผ่านมาก็รู้อยู่ หลวงตาท่านก็พูดอยู่ว่า เวลาจะไปบวชนี่ เหมือนจะไปตายอย่างนั้นนะ แต่ท่านก็บอกว่า ถ้าจะตายเพราะการบวชก็ยอมตายว่ะ พอดีได้อ่านประวัติของท่านโดยสังเขป ท่านก็เล่าถึงตอนที่ท่านจะออกบวช ถ้าจะตายเพราะการบวชก็ยอมตาย ยอมเสียสละเพื่อทดแทนพระคุณของบิดามารดา การสละการตัดสิ่งต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นของง่ายๆ ไม่ใช่ของเล่น แต่ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ควรคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่ควรพยายามทำให้ได้ ไม่สุดวิสัยของพวกเรา เพียงแต่ว่าเรากล้าจะทำหรือไม่ ถ้ายังไม่มีกำลังพอก็พยายามบ่มไปก่อน พยายามสะสมกำลังไปเรื่อยๆ สะสมบุญบารมีให้พอเพียง ตอนนี้ยังไม่แก่กล้าพอ เหมือนกับผลไม้ที่ยังไม่สุกเต็มที่ ก็ยังไม่หลุดออกจากขั้ว จนกว่าจะสุกเต็มที่แล้ว ก็จะหลุดออกมาเอง พวกเราก็เป็นเหมือนผลไม้ การที่จะให้สุกเต็มที่ ก็ต้องหมั่นสะสมบุญบารมีต่างๆ เช่นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี เมตตาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี อธิษฐานบารมีความตั้งใจ อย่างที่พวกเราตั้งใจกันทำบุญทุกๆเดือนๆละ ๑ ครั้ง เรียกว่าอธิษฐานบารมี ควรจะเพิ่ิ่มให้มากขึ้นเป็นเดือนละ ๒ ครั้ง เดือนละ ๓ ครั้งก็ยิ่งดีใหญ่ ควรทำให้มากขึ้น แต่ไม่ต้องเป็นรูปแบบนี้ก็ได้ เดือนหนึ่งมาแบบนี้ แต่อีกช่วงหนึ่งก็ไปฉายเดียวบ้าง ไม่ต้องเกาะกลุ่มกันมาอย่างนี้ ว่างวันไหนก็ไปวัด ไปอยู่วัด ไปบำเพ็ญ ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่ช้าก็เร็ว ก็จะได้ออกบวชอย่างแน่นอน อุบาสกและอุบาสิกาที่ได้ออกบวชกัน ก็ทำอย่างนี้กัน ค่อยๆขยับไปทีละก้าว ไม่ได้ทำอย่างทันทีทันใด ยกเว้นบางท่านที่ได้สะสมบุญบารมีมามากพอแล้ว
อย่างคุณแม่แก้วรู้สึกว่าท่านมีบุญบารมีเดิมอยู่มาก นั่งสมาธิครั้งแรกภาวนาครั้งแรกจิตก็รวมลง ท่านก็ไม่รู้ว่าเป็นจิตรวมลง คิดว่านอนหลับฝันไป พอสงบแล้วจิตของท่านไม่อยู่นิ่งเฉยๆ แต่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็โชคดีที่ตอนนั้นมีหลวงปู่มั่นคอยแนะสั่งสอนอยู่ หลวงปู่เห็นว่าจิตของคุณแม่แก้วเป็นจิตที่ผาดโผน เวลาสงบแล้วไม่อยู่นิ่งเฉยๆ จะออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งคุณและโทษ ถ้าไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อมัน เปรียบเหมือนงูพิษ ถ้ารู้จักวิธีจับมัน ก็จับมารีดพิษไปทำเป็นยาได้ แต่ถ้าจับไม่เป็นก็จะถูกงูกัดตายได้ เวลาจิตสงบแล้วออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆที่เรียกว่านิมิตนั้น ต้องรู้จักวิธีปฏิบัติต่อนิมิตต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดโทษตามมา คุณแม่แก้วส่วนใหญ่จะเจอนิมิตเกี่ยวคนตายหรือสัตว์ที่ตายไปแล้ว จะมาปรากฏแล้วเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง อย่างตอนที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่แก้วก็รู้ก่อนที่ข่าวจะมาถึงหมู่บ้าน เพราะวันนั้นก็เตรียมตัวจะไปกราบหลวงปู่มั่นพอดี คืนนั้นก่อนจะออกเดินทาง หลวงปู่มั่นก็มาปรากฏในนิมิต มาบอกคุณแม่แก้วว่าไม่ต้องไปแล้ว เพราะเราได้ตายไปแล้ว พอตื่นขึ้นมาก็ร้องห่มร้องไห้อยู่คนเดียว แม่ชีรูปอื่นก็ไม่เข้าใจ ท่านก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้หลวงปู่มั่นได้มาบอกว่าท่านได้มรณภาพไปแล้ว พอสายๆคนทางอำเภอก็มาแจ้งข่าวให้ทราบ แต่นิมิตเหล่านี้ไม่เป็นมรรค ไม่เป็นปัญญา ที่จะกำจัดความโลภความโกรธความหลงให้หมดสิ้นไป ถ้าไปยุ่งเกี่ยวแล้ว เวลานั่งสมาธิก็อยากจะเห็นอีก ก็เหมือนกับดูละครโทรทัศน์ พอหมดเรื่องนี้ก็อยากดูเรื่องอื่นต่อ ก็จะไปไม่ถึงไหน ไม่เกิดปัญญาเพื่อการดับทุกข์ ถ้าไปติดนิมิตต่างๆ นั่งทีไรก็อยากจะรู้อยากจะเห็นทุกครั้งไป ไม่สนใจที่จะพิจารณาอสุภะอสุภัง พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย ก็จะไม่ได้ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ความทุกข์ก็จะไม่มีทางหมดสิ้นไปได้ เวลาแก่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจะตาย จิตใจจะสับสนวุ่นวาย ถึงแม้จะมีสมาธิ ก็ทำให้จิตสงบได้เป็นครั้งเป็นคราว ในขณะที่จิตไม่สงบ ก็จะคิดฟุ้งซ่าน สร้างความทุกข์ขึ้นมา
คนที่มีจิตแบบนี้ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยสอนก็อาจจะหลงทางได้ เพราะจะไม่ออกไปทางปัญญา เหมือนไปถึงหน้าร้านแล้ว แทนที่จะเข้าไปในร้านซื้อข้าวของที่จำเป็นมาใช้สอย กลับไปดูไปเล่นของเล่นที่วางขายอยู่ที่หน้าร้าน ไม่เข้าไปในร้านซื้อข้าวของที่จำเป็นมาใช้ พอตายไปแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ก็อาจจะไม่ได้เจอศาสนาพุทธก็ได้ อย่างพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูปของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตายไปก่อนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ถ้ายังอยู่แล้วได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ยินได้ฟังวิปัสสนา ก็จะได้บรรลุถึงการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด จึงเป็นบุญของพระปัญจวัคคีย์ที่ยังไม่ตาย ถึงแม้จะหนีจากพระพุทธเจ้าไป แต่ก็ยังทรงมีความเมตตา มีเยื่อใย ไม่โกรธไม่เกลียดที่หนีจากไป ถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดา ถ้าลูกน้องหนีจากไป ก็คงไม่กลับไปหาลูกน้องแน่ แต่ทรงเห็นว่าธรรมที่ได้ตรัสรู้เห็นนั้น มีคุณประโยชน์มาก ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง จึงทรงสั่งสอนให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ถ้าพระพุทธเจ้าทรงประสูติในสมัยที่มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์อื่นอยู่ ก็คงจะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า คงจะบรรลุเป็นอรหันตสาวกไป เพราะการจะเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมีมาก ส่วนผลคือความบริสุทธิ์ก็เท่ากัน เป็นพระอรหันต์จิตก็บริสุทธิ์เท่ากับจิตของพระพุทธเจ้า
เหมือนกับหลวงปู่มั่น ท่านก็มีความปรารถนาในพุทธภูมิ แต่เมื่อได้พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คิดว่าเรื่องอะไรที่จะต้องเสียเวลาไปค้นหาทางเอง เมื่อมีทางเดินอยู่แล้ว ท่านจึงตัดความปรารถนาในพุทธภูมิไป พอตัดได้แล้วก็บำเพ็ญไป ไม่นานก็ได้บรรลุถึงความบริสุทธิ์ของจิตใจ จะเป็นของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันตสาวก ก็บริสุทธิ์เหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน เหมือนเสื้อ ๒ ตัวที่เอาไปซักในเครื่องเดียวกัน เวลาเอาออกมาก็สะอาดเหมือนกัน แต่ในทางโลกคำว่าเป็นพระพุทธเจ้าคงจะขลังกว่าเป็นพระอรหันตสาวก ที่เป็นเพียงลูกศิษย์เท่านั้นเอง แต่เรียนจบปริญญาเอกเหมือนกัน เพียงแต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครสอน ส่วนพระอรหันตสาวกต้องมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนถึงจะรู้ได้ ต้องมีโรงเรียนคือต้องมีพระพุทธศาสนา มีพระธรรมคำสอน พวกเราก็โชคดีที่ได้มาพบโรงเรียนที่สอนถึงระดับปริญญาเอกแล้ว จะเรียนหรือไม่ อยู่ที่ตัวเรา ขอให้เราศึกษาไปตามกำลังของเราก็แล้วกัน อย่ามองสูงกว่าที่เอื้อมได้ เพราะจะทำให้ท้อแท้ เอาแค่ที่เอื้อมได้ก่อน ตอนนี้ทำอะไรได้ก็ทำไป แล้วก็พยายามเอื้อมให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเอื้อมไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่าพอใจกับระดับที่ปฏิบัติอยู่ ต้องพยายามขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ถ้ายังไม่เคยรักษาศีล ๕ เลย ก็ลองรักษาดูบ้าง ถ้ารักษาได้บ้างแล้วแต่ไม่ครบทุกวัน ก็พยายามรักษาให้ครบทุกวัน พยายามเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเคยทำบุญครั้งละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อไปก็เพิ่มเป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ของทรัพย์สินของเรา อย่างนี้ถึงจะไปได้ ไม่อย่างนั้นก็ยังอยู่กับที่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย เพราะเหมือนกับเดินถอยหลัง ถ้าทำเท่าที่เคยทำได้ก็เท่ากับรักษาฐานไว้ รักษาสถานภาพเอาไว้ แต่ถ้าอยากจะเลื่อนชั้นขึ้นไปก็ต้องเพิ่มให้มากขึ้น ให้ทานมากขึ้น รักษาศีลมากขึ้น ภาวนามากขึ้น ตัดสิ่งไม่จำเป็นทั้งหลายให้น้อยลง ของฟุ่มเฟือยทั้งหลายก็ตัดไป กามสุขในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ตัดไป โทรทัศน์เคยดูหลายๆเรื่องก็ลดลงไป ต้องทำทั้ง ๒ อย่างควบคู่กันไป ทั้งเสริมสร้างทั้งลดละ ถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ พอเริ่มเห็นผล เริ่มสัมผัสกับความสุขในใจ จะรู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อก่อนนี้ติดโน่นติดนี่รุงรังไปหมด เดี๋ยวนี้แสนจะสบาย ถึงเวลาไม่ได้ดูละครก็ไม่เดือดร้อนอะไร อ่านหนังสือธรรมะฟังเทศน์ครูบาอาจารย์กลับมีความสุขกว่า มีกำลังจิตกำลังใจที่จะไปในทางธรรมมากขึ้น ไม่ช้าก็เร็วก็จะได้ออกบวชแน่ๆ
ถาม ท่านอาจารย์ครับ ผมมีความรู้สึกว่า ทุกขเวทนาควรพยายามขจัดออก แต่สุขเวทนาที่หลงติดอยู่นี่ ไม่ยอมปล่อย
ตอบ ก็เหมือนกับถนัดมือซ้ายมือขวา ถนัดมือขวาก็ชอบใช้มือขวา มันเป็นนิสัย ชอบสุขเวทนาไม่ชอบทุกขเวทนา ก็เป็นนิสัยเหมือนกัน แต่เวลาเจอทุกขเวทนา ก็ผ่านมาได้ เจ็บไข้ได้ป่วยแสนสาหัสอย่างไร ก็ผ่านมาได้ นอนซมอยู่ในบ้านสักพักหนึ่ง แล้วก็ผ่านไป แต่ผ่านแบบทุกข์ทรมานใจ แต่ถ้าชอบทุกขเวทนา ชอบเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะผ่านไปด้วยความสุข เพราะจะคิดว่าช่วงนี้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ มีแต่กินกับนอนอย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไร ถ้าไม่ชอบก็จะทุกข์ ถ้าชอบก็จะสุข
ถาม คิดกลับกันใช่ไหมครับ
ตอบ ต้องพยายามหัดชอบในสิ่งที่เราจะต้องเจอ แล้วจะมีความสุข ชอบความเจ็บไข้ได้ป่วย ชอบแก่ ชอบตายอย่างนี้ เพียงแต่ไม่ต้องไปวิ่งไปหามัน ให้มันมาหาเรา แล้วก็ไม่ต้องวิ่งหนีมัน
ถาม เวลาเกิดสุขเวทนา ก็ต้องดูอีกด้านหนึ่งใช่ไหมครับ
ตอบ เวลาสุขก็ต้องคิดว่าสุขเพื่อทุกข์ เพราะไม่สุขไปตลอด สุขแล้วเดี๋ยวก็ทุกข์ เวลาทุกข์เดี๋ยวก็สุข ถ้าไม่มีทุกข์จะสุขได้อย่างไร ถ้าไม่มีสุขจะทุกข์ได้อย่างไร ต้องสลับกันไป ให้มองในแง่ดีไว้ มีทุกข์ก็ดีเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวจะได้สุข มีสุขก็ไม่ดีเพราะเดี๋ยวจะต้องทุกข์
ถาม ท่านอาจารย์พูดถึงท่านแม่ชีแก้วที่มีจิตโลดโผนนั้น ทั่วๆไปทุกคนจะต้องมีจิตโลดโผนอย่างนั้นไหม
ตอบ มีร้อยละ ๕ เท่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีอะไร สงบเฉยๆ ไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมา
ถาม เห็นบางคนมีนิมิตปรากฏเกิดขึ้นเยอะเวลาภาวนา แต่บางคนไม่เกิดเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
ตอบ ท่านว่ามันเป็นเหมือนนิสัย เคยสะสมมา จิตแต่ละดวงได้เคยฝึกเคยเรียนอะไรมาต่างกัน ต่างลัทธิต่างครูต่างอาจารย์กัน ชาตินี้เราเกิดมาได้เจอพระพุทธศาสนา เราก็เรียนทางพุทธศาสนา ชาติก่อนอาจเจอศาสนาที่สอนให้บำเพ็ญเพื่อนิมิตก็ได้ เมื่อเช้านี้มีคนมาเล่าว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งสอนให้นั่งตัวลอย ก็ทำได้ นั่งสมาธิทำให้ตัวลอยได้ก็มี หลวงปู่เสาร์ท่านนั่งแล้ว ตัวท่านก็ลอยขึ้นมา เพราะเคยฝึกมาก่อนในอดีต แต่คงจะเป็นคนส่วนน้อยที่สนใจเรื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่คงไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เวลานั่งสมาธิจึงไม่ค่อยมีอะไรพิเศษปรากฏขึ้นมา นั่งแล้วก็สงบนิ่งไปเท่านั้น
เราจึงไม่ควรเอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละคนมีวาสนาไม่เหมือนกัน บางคนมีตาทิพย์ ติดต่อกับพวกกายทิพย์ได้ อย่างคุณแม่แก้วเป็นต้น บางคนระลึกชาติได้ บางคนอ่านจิตใจของผู้อื่นได้ เช่นหลวงปู่มั่น ท่านได้หลายอย่าง สนทนากับพวกเทวดาก็ได้ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นพวกปัญญาอบรมสมาธิมักจะไม่ค่อยมีเรื่องเหล่านี้ พวกปัญญาวิมุตติจะไม่ค่อยมีอิทธิฤทธิ์เท่าไหร่ ไม่เหมือนพวกเจโตวิมุตติที่เก่งทางฌานทางสมาธิ ที่มักจะได้อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ถ้าเป็นพวกปัญญาวิมุตติ ก็จะไม่ค่อยได้อิทธิฤทธิ์กัน เช่นพระสารีบุตร ไม่เคยได้ยินว่าท่านมีอิทธิฤทธิ์อะไรเลย แต่ท่านเก่งมากทางด้านปัญญา คือรองจากพระพุทธเจ้าเลย เรื่องการแสดงธรรมไม่มีใครฉลาดแหลมคม มีความสามารถแสดงได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะเป็นจริตนิสัยของแต่ละคน เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ ก็เป็นเหมือนมือซ้ายกับมือขวา การปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีทั้งเจโตฯคือมีสมาธิ และปัญญาฯคือวิปัสสนา ถึงจะหลุดพ้นได้ เช่นเดียวกับเวลาที่เราทำอะไร ก็ต้องใช้ทั้งมือขวาและมือซ้าย แต่เราอาจจะถนัดมือขวามากกว่ามือซ้าย หรือมือซ้ายมากกว่ามือขวา เราเก่งทางด้านหนึ่ง แต่อีกท่านอาจจะเก่งในอีกด้านหนึ่ง
ถ้าเก่งทางด้านสมาธิกว่าทางด้านปัญญา ก็จะได้สมาธิง่ายแต่จะได้ปัญญาช้า ถ้าเก่งทางด้านปัญญา ก็อาจจะทำจิตให้สงบนิ่งด้วยการบริกรรมพุทโธๆไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาทำจิตให้สงบ พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล จนปล่อยวางเรื่องราวต่างๆได้ จิตจึงจะสงบตัวลง พอสงบแล้วก็ก้าวขึ้นสู่การพิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณารูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนาโดยตรง แต่ช่วงที่พยายามทำให้จิตสงบ ก็ต้องตัดความผูกพันกับเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความสงบก่อน เช่นคิดเรื่องลูก เรื่องภรรยา เรื่องสามี เรื่องงานเรื่องการต่างๆ ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปสกัดจนปล่อยวางได้ เมื่อปล่อยวางแล้วจิตก็สงบตัวลง พอออกจากความสงบแล้ว เราก็บังคับจิตให้คิดไปทางที่เราต้องการให้มันคิด คือพิจารณาการเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายเป็นต้น นี่เป็นแนวทางของพวกปัญญาวิมุตติ จะใช้ปัญญาไปตลอดสาย แต่พวกที่เป็นเจโตวิมุตติ ในเบื้องต้นจะบริกรรมพุทโธๆจนจิตรวมลง อย่างคุณแม่แก้วพอรวมลงแล้วไม่อยู่นิ่ง แต่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็จะติดอยู่ตรงนั้น จะไปไม่ถึงไหน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาสอน ให้เลิกสนใจกับเรื่องต่างๆที่เกิดจากการนั่งสมาธิ ให้จิตสงบนิ่งจนกว่าจะถอนออกมาเองแล้วค่อยออกพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในขันธ์ ๕ ต่อไป
ในหนังสือมุตโตทัยของหลวงปู่มั่นก็แสดงไว้ว่า เจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติเป็นของคู่กัน ไม่ได้แยกกันอย่างที่คนบางคนเข้าใจ บางคนคิดว่าสามารถบรรลุวิมุตติได้ด้วยเจโตวิมุตติเพียงอย่างเดียว ก็เหมือนพวกฤๅษีชีไพรที่ได้ฌานสมาบัติแต่ยังไม่ได้วิปัสสนา บางคนก็คิดว่าสามารถบรรลุวิมุตติความหลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุตติเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีสมาธิก็ได้ อย่างนี้ก็ไม่ถูก เป็นการใช้ปัญญาทำจิตให้มีสมาธิก่อน ให้สงบให้ตั้งมั่นก่อน แล้วถึงค่อยไปพิจารณาขันธ์ ๕ ในลำดับต่อไป เจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติต้องไปด้วยกัน ศีลสมาธิปัญญาแยกกันไม่ได้ เพียงแต่การดำเนินอาจจะมีหนักเบาต่างกันไปตามวาสนาบารมี ตามความถนัดของแต่ละคน บางคนไม่เข้าใจ คิดว่ากำหนดรู้ไปเรื่อยๆแล้วก็ใช้ได้ ไม่เคยทำจิตให้สงบเลย ก็ได้แต่การเจริญสติ ให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ แต่เวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความโลภขึ้นมา ความโกรธขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร รู้อยู่แต่ก็ดับไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาเข้าไปดับ ต้องเห็นไตรลักษณ์ในสิ่งที่ทำให้โลภ ทำให้โกรธ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์หมด แต่เราไม่เห็นมัน พอเห็นเงินกองหนึ่งใจก็ร้อนไปหมด คิดว่าจะได้ความสุข ได้เงินมาแล้วจะมีความสุข แต่ไม่เห็นว่าเป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะกระวนกระวาย ถ้าตัดใจได้ ไม่อยากได้แล้ว ความกระวนกระวายกระสับกระส่ายก็จะหายไป อยู่เฉยๆได้ จะได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ได้มาก็เท่านั้น ความสุขไม่เพิ่มขึ้น มีแต่ความทุกข์ที่เพิ่มขึ้น
เพราะถ้ายังหลงก็จะไปยึดไปติด ไปรักไปหวงไปห่วง เวลาจากกันก็ร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจ เป็นผลที่ได้จากการได้สิ่งต่างๆมา แต่ไม่คิดกันไม่พิจารณากัน ไม่เห็นกัน ทางของการหลุดพ้นจึงหนีไม่พ้น ศีลสมาธิปัญญา ซึ่งย่อส่วนมาจากมรรค ๘ นั่นเอง ศีลคืออะไร ก็คือ สัมมากัมมันตะ การการกระทำชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมาอาชีโว อาชีพที่ชอบ สมาธิก็คือ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ การตั้งสติชอบ สัมมาสมาธิ การทำจิตให้ตั้งมั่นให้สงบให้นิ่ง ไม่ให้ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ถ้าจิตรวมลงแล้วออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ เรียกว่ามิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิต้องอยู่ในองค์ฌาน ที่มีวิตกวิจารณ์ปีติสุข แล้วก็ขยับลึกเข้าไปจนเหลือแต่อุเบกขา ไม่ใช่พอจิตรวมลงแล้วก็ออกไปเที่ยว ไปเห็นคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอออกมาจากสมาธิแบบนี้จิตจะไม่มีกำลัง เหมือนกับเวลานอนหลับไม่สนิทแล้วฝันไป พอตื่นขึ้นมาจะไม่สดชื่น ไม่มีกำลัง เหมือนกับไม่ได้พักผ่อน จิตก็เช่นเดียวกัน เวลาเข้าสมาธิแล้วไม่นิ่ง ก็จะไม่ได้พัก ไม่ได้ชาร์จร์แบตเตอร์รี่ หมดแรงไปกับการรับรู้เรื่องราวต่างๆ เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ จิตต้องสงบนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา ถ้าเวลานั่งแล้วจิตออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็ต้องดึงจิตกลับมา อย่าปล่อยให้จิตออกไป ดึงกลับมาสู่ตัวเรา ดึงกลับมาหาพุทโธๆ ไม่เช่นนั้นจะติดเป็นนิสัย พอสงบปั๊บก็จะออกไปรับรู้ จะติดอยู่ในสมาธิแบบนี้
ไม่ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นปัญญา คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโปความคิดความดำริชอบ เห็นอย่างไรจึงเรียกว่าเห็นชอบ ก็เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา นี้ก็เห็นชอบแล้ว เวลาเห็นอะไรเป็นอนิจจังเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ก็เห็นชอบ พอเห็นชอบแล้วก็มีความดำริชอบ เมื่อเป็นอนิจจังเป็นทุกข์เป็นอนัตตา จะไปเอามันมาทำไม ไปอยากได้มันมาทำไม ไปยึดไปติดมันทำไม ก็จะปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางแล้วจิตก็หลุดพ้น ไม่ว่าจะเรียกว่ามรรค ๘ หรือศีลสมาธิปัญญา หรือทานศีลภาวนา ก็เป็นมรรคเหมือนกัน ต่างที่ฐานะของผู้ปฏิบัติ เรื่องทานศีลภาวนาจะเหมาะกับญาติโยม เพราะยังมีทรัพย์สมบัติเงินทองอยู่ ต้องทำให้จนก่อน แต่พระนี่จนแล้วก็เลยไม่ต้องมีทาน พระมีแต่ศีลสมาธิปัญญา เพราะในทานศีลภาวนาก็มีสมาธิปัญญาอยู่ในองค์ภาวนาอยู่แล้ว จึงเหมือนกันหมด เพียงแต่เวลาแสดงธรรมทรงแสดงให้เหมาะกับกาลเทศะ เหมาะกับบุคคลที่ฟัง เหมือนกับหมอที่ให้ยาคนไข้ คนไข้เป็นโรคเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเด็กก็ให้ยาน้ำหวานๆ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ฉีดยาเลย ก็เป็นยาที่เข้าไปรักษาโรคชนิดเดียวกัน แต่วิธีให้ยาแตกต่างกัน ตอนที่พระพุทธเจ้าให้ยาฆราวาสญาติโยม กับให้ยาบรรพชิตนักบวช จึงไม่เหมือนกัน เวลาที่หลวงตาเทศน์ให้ญาติโยมฟัง กับเทศน์ให้พระฟังก็ไม่เหมือนกัน ลองไปฟังเทศน์ที่ท่านเทศน์ให้พระฟังดู เหมือนกับท่านเคี่ยวเข็ญ ทุบตี เตะต่อยพระเณร แต่กับญาติโยมจะเทศน์แบบเบาๆ เพราะเป็นเพศที่อ่อนไหวง่าย พูดอะไรแรงๆแล้วเดี๋ยวจะหนีกระเจิงไปหมด การหลุดพ้นจึงอยู่ตรงมรรคเป็นหลัก มรรคต้องเจริญให้มาก สรุปแล้วก็ต้องกลับมาปฏิบัติอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่นี้แหละ ไม่มีข้อแก้ตัว ถ้าแก้ตัวก็แสดงว่าโง่เต็มที่ มีทางหลุดพ้นแล้วยังจะดิ้นหนีไปอีก ถ้าเป็นปลาก็เหมือนกับจะปล่อยลงทะเลอยู่แล้ว แต่ก็ยังอุตส่าห์ดิ้นกลับเข้าไปอยู่ในหม้อแกงอีก
ถาม ดีที่ท่านอาจารย์บอกว่าพยายามเอื้อมให้มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ที่เดิม แต่มันไม่ไหว เลื่อนขึ้นให้สูงเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์พูดมันเหมือนง่าย แต่มันยากจริงๆ
ตอบ ของดีมันต้องยาก แต่คุ้มเหนื่อย คุ้มกับการบำเพ็ญ
ถาม วันนี้อัศจรรย์ใจมาก เพราะเมื่อเช้าไปกราบพระองค์หนึ่ง ท่านก็อธิบาย แล้วท่านพระอาจารย์ก็มาอธิบายละเอียดเพิ่มขึ้นค่ะ เรื่องรูปกับนามนี่ค่ะ แต่ว่าท่านอาจารย์ได้อธิบายให้ละเอียดเข้าไปอีก ทำให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น
ถาม ผมอ่านหนังสือกำลังใจของท่านอาจารย์ ว่ามีโยมมาใส่บาตร ๒ คนแล้วทะเลาะกัน
ตอบ อยู่คนละฟากถนนกัน พอเจอหน้ากันแล้วอดไม่ได้ ขนาดกำลังใส่บาตรยังด่ากันเลย
ถาม ขนาดอยู่ต่อหน้าพระ
ตอบ กิเลสมันแรง เวลาเจอคู่กรณีแล้วมันกระโดดผึงเลย เรานั่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าเจออะไรแรงๆเข้า มันก็ไปเหมือนกัน แต่ถ้าเคยฝึกมาแล้ว จะสามารถคุมใจได้
ถาม คุมได้แต่รู้สึกว่ามันกรุ่นอยู่ข้างใน
ตอบ เราก็คุมได้ในระดับที่เราได้ฝึกมาแล้ว แต่ในระดับที่ยังไม่ได้ฝึกก็จะคุมไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ไปเผชิญกับมัน
ถาม สองคนที่ทะเลาะกันคงไม่รู้ตัวนะเจ้าค่ะ
ตอบ ไม่รู้สึกตัวหรอก รู้แบบคนเมารู้ ควบคุมไม่ได้ ไม่สนใจแล้วเรื่องกาลเทศะ เรื่องหิริโอตตัปปะ โยนทิ้งไปหมดแล้ว
ถาม ท่านอาจารย์ค่ะ มีผู้สงสัยฝากมาถาม บอกว่านั่งอยู่ในป่าช้านานๆแล้วบางทีเกิดความกลัว ตรงนี้ท่านอาจารย์แก้อย่างไร บางทีพุทโธก็เอาไม่อยู่
ตอบ ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้ความจริงว่าเกิดมาแล้วต้องตายสักวันหนึ่ง
ถาม ยอมเสี่ยงตาย
ตอบ เกิดมาแล้วก็ต้องตาย ตายแบบไม่กลัวกับตายแบบกลัว มันต่างกันนะ ตายแบบไม่กลัวนี้สบาย
ถาม กลัวนะค่ะ
ตอบ ความกลัวนี่แหละคือตัวทุกข์ ที่ต้องดับให้ได้ ความกลัวก็คือวิภวตัณหา ความไม่อยากเจอกับสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวทั้งหลาย แต่เราก็ห้ามไม่ได้ ชีวิตคนเราก็ต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ ทั้งที่น่ารักและน่ากลัว พระท่านจึงต้องไปอยู่ในป่าในเขา ไปอยู่ใกล้เสือใกล้สัตว์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นกระทุ้งความกลัวให้ออกมา เพื่อจะได้ใช้ธรรมะคือวิปัสสนาปัญญาไปดับมัน ในเบื้องต้นถ้ายังคิดพิจารณาไม่เป็น ก็ให้บริกรรมพุทโธๆไปก่อน เวลากลัวมากๆก็ฝากเป็นฝากตายไว้กับพุทโธๆเลย ไม่ส่งใจไปหาสิ่งที่กลัว ถ้าเห็นงูจะเลื้อยเข้ามากัด ก็หลับตาแล้วก็บริกรรมพุทโธๆไป เป็นการใช้อุบายของสมาธิ ถ้าใช้อุบายทางปัญญาก็ต้องปลง เกิดมาแล้วต้องตาย คิดเสียว่าวันนี้เป็นวันที่ต้องใช้หนี้ เมื่อก่อนเราเคยฆ่าเขามาก่อน วันนี้เขาจะมาฆ่าเราบ้าง เราก็เคยพิจารณาอยู่เสมอว่า เกิดมาแล้วต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเวลาจะตายเราก็ยอม พอยอมแล้วจิตก็จะหายกลัว จะสงบนิ่ง ความกลัวหายไปหมดเลย กลายเป็นความเมตตา คุยได้สบายเลย มันก็ไม่ได้ทำอะไรเรา แต่เพราะความกลัวของเรา ทำให้สังขารคิดปรุงไปต่างๆนานา ความจริงมันอาจจะมาขอความเมตตา หรือมาทำความรู้จักกับเราก็ได้ เวลาจะเข้าไปใกล้สัตว์ ต้องทำใจให้นิ่งให้เฉย ค่อยๆก้าวเข้าไปทีละก้าวๆ ไม่ให้เขาเกิดอาการตกใจกลัวขึ้นมา พอเขารู้ว่าเราไม่เป็นพิษเป็นภัยกับเขา เขาก็ไม่ทำอะไรเรา บางทีเราเดินไปตามทางเจองูก็ยืนเฉยๆ มันเห็นเรามันก็นิ่งอยู่เฉยๆ ต่างฝ่ายต่างมองกัน พอสักครู่หนึ่งมันก็ไป
ถาม ท่านอาจารย์เคยถูกงูกัดไหมค่ะ
ตอบ เคย แต่เป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะอยู่ในที่มืด ไม่ได้ฉายไฟ เป็นตอนเช้ามืด เดินลงเขาจะไปบิณฑบาต พอออกจากแนวป่า เดินอยู่บนถนนโล่งๆแล้ว ไม่คิดว่าจะมีงู ก็เลยไม่ได้ฉายไฟ อาศัยแสงดาวแสงเดือน พอเห็นลางๆ เดินมาตั้งสิบกว่าปี ก็ไม่เคยเจออะไร พอวันนั้นเดินไปเจอ ก็ไม่ทราบว่าโดนงูกัด คิดว่าไปเตะหนามเข้า ก็เลยฉายไฟดู ก็เห็นงูกะปะตัวเล็กๆไม่ยาว รอยที่มันกัดก็เหมือนถูกเข็มเล็กๆแทง มีเลือดออกมาเป็นจุดเล็กๆ ตอนนั้นอยู่ใกล้ๆกับบ้านพักของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในเบื้องต้นก็บีบเลือดออกมาก่อน แล้วก็เดินไปที่บ้านพักปลุกคนให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล เพราะเริ่มเจ็บแล้ว เริ่มเดินไม่ค่อยได้ เขาก็เอามะนาวมาโปะที่แผลไว้ก่อน ช่วยดูดพิษได้ แล้วรีบพาไปโรงพยาบาล พอไปถึงโรงพยาบาล เราก็คิดว่าหมอจะรีบเอายามาฉีด แต่กลับไม่ได้ฉีด ปล่อยให้นอนอยู่เฉยๆ เอาสายน้ำเกลือมาใส่ เลยถามว่าไม่ทำอะไรหรือ พยาบาลบอกว่าเพียงแต่ตรวจเลือดดูก็พอ เพราะพิษงูนี้มันไม่ตายทันที ที่ยังไม่ให้ยาทันทีเพราะกลัวจะแพ้ยา พิษของงูชนิดนี้ไม่ได้ไปทำลายประสาท ไม่ได้ทำให้หัวใจหยุดเต้น แต่จะทำลายเลือด คือจะทำให้เลือดไม่แข็งตัว เลือดจะไหลไม่หยุดถ้ามีเลือดไหลออกมา เขาบอกว่าหมอสั่งให้เช็คดูก่อนว่าเลือดยังแข็งตัวอยู่หรือเปล่า ถ้าโดนงูพิษกัดตอนเช้ามืด พิษจะไม่แรง เพราะมันออกหากินทั้งคืนแล้วคงได้ไปกัดสัตว์อื่นบ้างแล้ว อาจจะมีพิษเหลืออยู่น้อย พอที่ร่างกายจะกำจัดมันได้เอง แต่เขาไม่ได้อธิบายในตอนนั้น เราก็กระสับกระส่ายอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมไม่ทำอะไร ใจหนึ่งก็ปลงว่าถึงคราวแล้วมั้ง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
ถาม มองเห็นว่าเป็นงูกะปะเลยหรือค่ะ
ตอบ ตั้งใจดูเลยว่าเป็นงูชนิดไหน จะได้บอกหมอถูก พอถึงที่โรงพยาบาลเขาก็เอารูปงูชนิดต่างๆมาให้ดู ตอนต้นเอาเลือดไปตรวจดู เลือดก็ยังเป็นปกติอยู่ เพราะพิษงูเพิ่งเข้าไปได้ไม่นาน ได้เพียงครึ่งชั่วโมง ยังไม่กระจายไปทั่ว ต้องรออีก ๖ ชั่วโมงถึงจะตรวจเลือดอีกครั้งหนึ่ง ตอนที่ไปถึงโรงพยาบาลก็เกือบจะ ๖ โมงเช้า พอใกล้ๆเที่ยงเขาก็มาเจาะเลือดดูอีกที ตอนนั้นเลือดไม่แข็งตัวแล้ว ธรรมดาเลือดจะแข็งตัวประมาณ ๑๐ กว่านาที แต่นี่ ๓๐ กว่านาทีก็ยังไม่แข็งตัว ก็เลยต้องให้ยาเซรุ่ม ถ้าแพ้ยาก็อาจจะทำให้ช็อคได้ ก็เลยให้พยาบาลผู้ชายมาเฝ้าดูอาการ ตรวจชีพจรกับความดันอยู่ทุกชั่วโมง เราก็ไม่รู้สึกอะไร ยาที่ให้ขวดแรกก็ขนาดนมกล่องเล็กๆ ผ่านทางสายยาง ใช้เวลาประมาณสัก ๔๕ นาที พออีก ๖ ชั่วโมงก็มาตรวจเลือดอีก ก็ยังไม่แข็งตัว ต้องให้เพิ่มอีกหนึ่งขวด พออีก ๖ ชั่วโมงก็มาตรวจอีกที ตอนนี้เลือดแข็งตัวเป็นปกติแล้ว แต่แผลที่ถูกงูกัดเริ่มดำคล้ำ เส้นเลือดที่พิษงูวิ่งผ่านไปจะเป็นสีดำคล้ำไปหมด หมอบอกรอดูอีกวันสองวัน อาจจะต้องเฉือนเนื้อออกไปบ้างเพราะมันจะเน่า แต่สองวันต่อมาอาการก็ดีขึ้น เริ่มกลับเป็นสีชมพู ก็เลยไม่ต้องเฉือนออกไป อาจจะเป็นเพราะมะนาวที่ช่วยทำให้ไม่เน่า หรือการบีบเลือดออกตอนที่ถูกกัดใหม่ๆช่วยลดพิษงูให้น้อยลง เกิดมาก็ไม่เคยคิดว่าจะถูกงูกัด ทำอย่างไรได้ในเมื่อมันเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแล้ว ก็คอยประคับประคองสติรักษาใจไว้เท่านั้นเอง ไม่ไปวุ่นวายจนเกินเหตุเกินผล ก็ไม่ได้ถึงกับปล่อยเลย ยอมตายล่ะ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ ถ้าหาหมอได้ก็ไปหาหมอ
ถาม บนเขานี้แสดงว่ามีงูเยอะเหมือนกัน
ตอบ ก็มีพอสมควร มันก็เป็นธรรมดาของป่า แต่ไม่เคยสำรวจประชากรของงูดู
ถาม บนนี้มีพวกกวางมาหาท่านเยอะ
ตอบ ป่าไม้เขาเลี้ยงไว้ มันออกมาหากินตอนค่ำๆ เป็นโครงการในพระราชดำริที่จะขยายพันธุ์สัตว์ป่า เอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาผสมกัน
ถาม แล้วกลางวันมันอยู่ที่ไหนค่ะ
ตอบ มีอยู่ ๒ พวก พวกที่เลี้ยงอยู่ในคอก กับพวกที่ปล่อยให้อยู่ในป่าตามธรรมชาติ
ถาม ถ้าเผอิญผ่านมาฟังธรรมตอนหัวค่ำจะได้ไหมค่ะ
ตอบ ไม่สะดวก เพราะเป็นสถานที่ราชการ โดยปกติหลัง ๕ โมงเย็นแล้วจะไม่ให้ใครเข้ามา เป็นเวลาที่ควรจะอยู่อย่างวิเวกมากกว่า ก็ไปฟังธรรมที่อื่นบ้าง ฟังครูบาอาจารย์องค์อื่นบ้าง จะได้มีอะไรมาเปรียบเทียบ
ถาม อยากจะเรียนถามเกี่ยวกับเรื่องทานนะครับ เวลาที่เราทำทาน สังเกตดูมีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นโมหะ อีกอย่างเป็นกำลังของจิตใจ จริงๆเวลาเราทำทานเราต้องกำหนดจิตอย่างไร ทำอย่างไรจึงไม่เป็นโมหะ
ตอบ ทานเป็นการให้ เวลาให้ก็อย่าไปยึดติดกับสิ่งที่เราให้ ต้องไม่ถือว่าเป็นของๆเราแล้ว ต้องไม่หวังสิ่งตอบแทนจากผู้รับ ก่อนจะให้ก็พิจารณาด้วยเหตุผล เห็นเขาเดือดร้อนก็ให้เขาไป ช่วยเหลือเขาไป ให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน เราก็มีความสุขใจ มีความภูมิใจ นั่นเป็นผลที่เราได้รับ ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ควรหวังให้เขามาขอบคุณยกมือไหว้เรา ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้นจากผู้รับ อย่างนี้เป็นการให้ที่บริสุทธิ์ ที่ไม่มีโมหะความหลง แต่บางคนให้แล้วก็อยากให้ประกาศชื่อของตน ว่าได้ให้เท่านั้นเท่านี้ อย่างนี้มีโมหะเข้ามาเกี่ยวข้อง ยังอยากจะให้คนอื่นรู้ว่าได้ทำบุญทำทาน เป็นการปิดทองหน้าพระ ถ้าปิดทองหลังพระก็ไม่ต้องให้ใครรู้ ทำเพื่อประโยชน์ทางจิตใจ ให้มีความสุข ทำเพื่อชนะความตระหนี่ ความหวง ความโลภ ความเห็นแก่ตัว นี่คือเป้าหมายของการทำทานที่แท้จริง ทำเพื่อชำระจิตใจ ชำระสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ คนที่มีความตระหนี่ มีความโลภ มีความหวง จะมีแต่ความไม่สบายใจ แต่คนที่ไม่มี จะมีแต่ความสบายใจ เวลาเสียอะไรไปจะไม่เสียดายไม่เสียใจ คิดว่าเป็นการทำบุญทำทานไป ถ้าเคยให้อยู่เป็นประจำ พอมีขโมยขึ้นบ้าน ก็จะคิดว่าเป็นการทำบุญให้ทานไป เป็นการดีเสียอีกที่เราไม่ต้องขนของไปให้เขา เขามารับถึงบ้านเลย เป็นการมองโลกในแง่ดี คิดว่าดีแล้วเราจะได้ของใหม่มาใช้ เมื่อเรามีเงินพอที่จะซื้อหามาใหม่ เราเป็นคนสมถะ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็จะไม่ซื้อของใหม่ เพราะของเก่ายังใช้ได้อยู่ แต่ตอนนี้มีคนมาให้โอกาส มาขโมยเอาของเก่าไป เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ เราก็ได้ของใหม่มาใช้ ถ้ามองอย่างนี้ แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจกลับมีความสุขใจ
ถาม พอดีมีน้องคนหนึ่ง เขาบอกว่าไปทำสังฆทานดีกว่า ที่เขาอ่านมา ทำสังฆทานต้องไม่เลือกพระ เป็นการทำทานที่สูงสุด ที่นี้โยมไม่เห็นด้วยตรงนี้ เพราะมีความรู้สึกว่า ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่าการทำบุญกับพระอริยสงฆ์จะเป็นบุญสูงกว่า โยมก็ไม่รู้จะอธิบายให้เขาฟังอย่างไร
ตอบ ความหมายที่แท้จริงของสังฆทาน หมายถึงถวายให้องค์กร ไม่ได้ถวายให้กับบุคคล เช่นวัดอย่างนี้ เวลาญาติโยมสร้างศาลาหลังนี้ก็ถวายเป็นสังฆทาน ไม่ได้ถวายให้เจ้าอาวาส ไม่ได้ถวายให้พระรูปหนึ่งรูปใดเป็นเจ้าของ แต่เป็นของวัด เป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม นี่คือความหมายของสังฆทาน แต่คนไม่เข้าใจความหมาย คิดว่าถวายองค์ไหนก็ได้ ไม่จำเพาะเจาะจงองค์ อย่างนี้ไม่ใช่ ถึงแม้จะเป็นกระแป๋งสังฆทาน แล้วทางวัดจัดพระรูปใดรูปหนึ่งให้มารับ ก็ยังไม่ใช่สังฆทานอยู่ดี ถ้าพระรูปนั้นเอาไปเป็นสมบัติของตนเอง เป็นเหมือนกับการจับฉลากมากกว่า เป็นการสุ่มเอา เอาพระองค์ไหนก็ได้มาสักองค์หนึ่งก็แล้วกัน ยังเป็นทานเพื่อบุคคลอยู่
ท่านแยกทานไว้เป็น ๒ ชนิดด้วยกันคือ ๑. ปาฏิบุคลิกทาน ทานที่ให้กับบุคคล เป็นสมบัติของบุคคลนั้น ๒. ทานที่ให้กับองค์กร เป็นสมบัติของส่วนรวม เรียกว่าสังฆทาน ความเป็นมามีอยู่ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงไปโปรดพระราชบิดาเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้วได้รับนิมนต์ให้ไปโปรดในวัง พระนางมหาปชาบดีมีความปรารถนาที่จะถวายผ้าจีวร ให้พระพุทธเจ้าไว้ครอง อุตส่าห์ตัดเย็บด้วยพระองค์เอง แล้วก็นำไปถวายให้พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ ทรงตรัสให้ถวายเป็นสังฆทาน ถวายกี่ครั้งก็ทรงปฏิเสธทุกครั้งไป ทรงเห็นว่าผ้าหายาก จึงวางแบบฉบับไม่ให้ถวายเจาะจงกับพระที่รักที่ชอบ เพราะมีพระหลายรูปที่มีผ้าไม่พอใช้ ให้ถวายเป็นของสงฆ์ เป็นของส่วนรวม แล้วให้สงฆ์พิจารณากันเองว่าควรจะให้พระรูปไหนดี เช่นเวลาถวายผ้ากฐิน เราจะกล่าวถวายให้หลวงตาโดยตรงไม่ได้ ต้องให้พระ ๔ รูปทำการอุปโลกน์ เหมือนกับในรัฐสภา ที่ต้องมีผู้ตั้งญัตติ มีผู้รับรองญัตติ มีผู้ลงคะแนนเสียง เพื่อให้มีมติเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ก็แบบเดียวกัน เพียงแต่ของสงฆ์ไม่ใช้วิธีนับคะแนน แต่ใช้วิธียกมือขึ้นถ้าไม่เห็นด้วย ถ้านิ่งเฉยก็เห็นด้วย เมื่อสงฆ์ทำอุปโลกน์เสร็จแล้ว ก็เอาผ้าไปตัดเย็บซักย้อมตากให้แห้ง แล้วนำไปถวายให้กับพระรูปที่ได้รับฉันทานุมัติตามมติของสงฆ์ ไม่ตามมติของญาติโยมผู้ถวาย เพราะสงฆ์จะรู้ดีว่าใครควรจะได้รับ ให้สงฆ์ตัดสิน เหมือนกับคณะของโยม จะให้เราชี้ว่าคนไหนควรจะรับของชิ้นนี้ เราก็ไม่รู้ ให้ญาติโยมตกลงกันเองดีกว่า ว่าใครสมควร การให้เป็นสังฆทานก็ดี ช่วยกระจายปัจจัย ๔ ที่ญาติโยมถวายให้ทั่วถึงพระทุกรูป เพราะพระบางรูปอาจจะไม่ค่อยมีใครศรัทธาก็ได้ เป็นพระดีปฏิบัติดีแต่เงียบเฉย ไม่ค่อยปฏิสันถารกับใคร ญาติโยมเลยไม่ชอบ เพราะไม่ยิ้มแย้ม ไม่ทักทาย ไม่เอาอกเอาใจ จึงไม่มีใครถวายข้าวของเลย พระพุทธเจ้าจึงทรงเห็นว่าควรถวายให้เป็นส่วนกลาง ที่วัดป่าบ้านตาดของทุกอย่างที่ถวาย หลวงตาเป็นผู้รับแทนสงฆ์ เวลาพระต้องการใช้ก็เอามาใช้ได้เลย โดยถือว่าของทุกอย่างที่ได้มาเป็นสมบัติของวัด ที่พระที่อยู่ในวัดทุกรูปเอาไปใช้ได้ ต้องการสบู่ต้องการยาสีฟัน ก็หยิบไปใช้ได้เลย ไม่ต้องขอใคร
ถาม เวลารับไม่จำเป็นต้องมีพระ ๔ รูปใช่ไหมครับ มีตัวแทนก็ได้
ตอบ พิธีกรรมที่ถูกกำหนดขึ้นมา โดยอ้างตามพระวินัยที่กำหนดไว้ว่า จะให้ครบองค์สงฆ์ต้องมีพระ ๔ รูปขึ้นไป เช่นสำนักนี้มีพระอยู่ ๓ รูป จะถวายสังฆทานก็ถวายไม่ได้ ถ้าจะทำตามรูปแบบ ทำไม่ได้ แต่ถ้าทำในเชิงปฏิบัติก็ทำได้ ถวายให้เป็นส่วนกลางโดยไม่กล่าวคำถวาย เพราะเชื่อว่าผู้รับจะเอาไปแจกจ่ายให้กับพระรูปอื่น
ถาม เพื่อนที่ทำงานผม เขาชอบทำสังฆทาน แต่นิมนต์พระมาแค่ ๒ รูป ก็เลยดูแปลกๆ
ตอบ ๒ หรือ ๔ ก็เหมือนกัน ไม่เป็นสังฆทานอยู่ดี เพราะเป็นของพระที่รับไป ไม่ได้เอาไปแจกจ่ายให้กับพระรูปอื่น จะเป็นสังฆทานต้องเป็นของวัด ของส่วนรวม พระที่อยู่ในวัดต้องมีสิทธิ์ใช้ได้ จึงจะเป็นสังฆทาน แต่ทางพระป่าไม่ได้พิถีพิถันกับเรื่องพิธีกรรมเท่าไหร่ แต่ปฏิบัติกันเลย ของทุกอย่างที่หัวหน้าสงฆ์รับมาจะไม่ถือว่าเป็นของๆตนเลย เป็นของส่วนรวม ท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นเหมือนพ่อแม่ เป็นหัวหน้าครอบครัว จะรู้ดีว่าควรเอาไปทำอะไรอย่างไรมากน้อยเพียงไร ผู้ที่ไปอยู่ศึกษากับท่านก็มีฉันทานุมัติ มอบอำนาจให้กับท่านโดยปริยาย เพราะไปตัดไปละ ไม่ได้ไปเพื่อสมบัติข้าวของเงินทอง ไปเพื่อธรรม แต่ที่ต้องทำตามพิธีเพราะเป็นเรื่องของกฎระเบียบขององค์กร ต้องมีกฏกติกา เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมาสร้างความเสียหาย เช่นได้หัวหน้าที่เห็นแก่ตัว ได้อะไรมาก็ถือเป็นของตนหมด
ถาม วิธีปฏิบัติสำคัญมากกว่าพิธีกรรม
ตอบ เหมือนเอาเนื้อทอดใส่จาน ไม่ต้องใส่ผักชี ไม่ต้องใส่แตงกวา เอาแต่เนื้อล้วนๆนี่แหละ
ถาม ถ้าถวายให้พระรูปใดรูปหนึ่งโดยไม่เจาะจง ก็ไม่เป็นสังฆทาน
ตอบ เป็นปาฏิบุคลิกทาน ไม่ใช่สังฆทาน เพราะไม่ได้สนับสนุนทำนุบำรุงส่วนรวม เป็นการทำนุบำรุงบุคคล ทางวัดในเมืองส่วนใหญ่จะอยู่แบบตัวใครตัวมัน ใครได้อะไรมาก็เป็นของคนนั้นไป ไม่เหมือนธรรมเนียมของวัดป่า เป็นกองกลางหมด เงินเข้ามาเท่าไหร่ก็เป็นของกองกลางหมด มีความจำเป็นก็ไปกราบเรียนกับหัวหน้าสงฆ์ แล้วท่านจะพิจารณาให้ตามความจำเป็น
ถาม ถ้าท่านยังอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด แล้วลูกถวายปัจจัยเฉพาะท่าน ท่านต้องเอาไปใส่กองกลางไหม
ตอบ ขึ้นอยู่กับผู้รับ ถ้าไม่อยากยุ่งกับเรื่องเงินทอง ก็ร่วมทำบุญกับหลวงตาไป ถ้ามีความจำเป็นจะเก็บไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นของที่มาในลักษณะทั่วๆไป ก็เข้ากองกลางไป แต่ถ้าญาติโยมพี่น้องเป็นห่วงพระของตน นานๆมาเยี่ยมที ก็อยากจะถวายให้เป็นของส่วนตน เช่นพระชาวต่างประเทศ เวลาบิดามารดามาเยี่ยม ก็ถวายให้กับพระโดยตรง ก็ไม่เสียหายอะไร แต่ไม่เป็นสังฆทาน เป็นการดูแลบุคคล แต่ถ้าต้องการให้ศาสนาพุทธเจริญไปเรื่อยๆ ก็ต้องดูแลส่วนรวมไว้ก่อน เพราะเวลาจะบวชพระต้องมีพระ ๑๐ รูปขึ้นไป ถ้าอยู่ในที่กันดารหาพระได้ยาก ก็อนุโลมให้มีพระ ๕ รูป มีพระรูปเดียวบวชไม่ได้ การจะสืบทอดพระศาสนาให้อยู่ต่อไป จึงต้องมีพระอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป เหมือนกับการสืบสกุล ต้องมีลูกหลาน แล้วก็ต้องเลี้ยงดูลูกหลานให้ดี ไม่ปล่อยปละละเลย ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี วงศ์สกุลจะได้ใหญ่ขึ้น
ถาม การใส่บาตรทุกวัน แต่พระไม่ซ้ำกัน เปลี่ยนไปเรื่อยๆทุกวัน ใช่การถวายสังฆทานไหม
ตอบ ถ้าเป็นวัดป่าก็ใช่ เพราะท่านจะเอาไปแบ่งกัน บิณฑบาตได้อะไรมาก็จะไม่เก็บเอาไว้เลย จะเอามารวมกันแล้วให้พระหัวหน้าพิจารณาก่อน อย่างนี้เป็นสังฆทาน แต่ถ้าเป็นบาตรใครบาตรมัน ก็ไม่ใช่สังฆทาน ทางวัดป่าถือมากเรื่องบิณฑบาต ไม่ให้เก็บอะไรไว้เลย ให้เอามารวมกันหมด เพราะสมัยก่อนพระป่ายากจนมาก เวลาบิณฑบาตจะไม่ค่อยได้อาหารเท่าไหร่ ถ้าต่างคนต่างเก็บไว้ในบาตร ก็จะขาดความรักสามัคคีกัน ต่างคนต่างเอาตัวรอด ไม่มีความเสียสละ
ถาม ถ้าในกรณีที่เราใส่บาตรไปแล้ว พระองค์นั้นท่านเอามาแบ่งก็ถือเป็นสังฆทาน ถ้าไม่เอามาแบ่งก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเราตั้งจิตอธิษฐานว่าเราถวายแบบสังฆทานจะได้ไหมค่ะ
ตอบ มันไม่เกี่ยวกับเรา เราได้บุญเท่ากัน ถ้าเป็นสังฆทานก็จะทำให้ศาสนามีอายุยืนยาวนานขึ้น พระสงฆ์มีความสามัคคี มีความรักปรองดอง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ไม่เอาตัวใครตัวมัน สังฆทานทำให้สงฆ์อยู่ด้วยความปรองดอง มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว มีงานก็ช่วยกันทำ มีอะไรก็แบ่งกัน เคารพในอาวุโสภันเต ไม่ก้าวก่าย ไม่ข้ามหน้าข้ามตาผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านบวชก่อนเราก็ให้ท่านพิจารณาก่อน ถึงแม้จะไม่มีอะไรเหลือให้เรากิน แต่เราจะได้บุญมาก
ถาม สมมุติว่าเราตั้งเจตนาขอถวายพระภิกษุหมู่ใหญ่ คือน้อมจิตเลย ถือว่าสำเร็จเป็นสังฆทานไหมค่ะ คือมีเจตนาถวายแบบน้อมจิต แต่หาพระไม่ได้ แต่น้อมจิตถวายให้สงฆ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ตอบ ถ้าต้องการถวายสังฆทาน ก็ไปถวายวัดที่เป็นสังฆทานจริงๆ
ถาม แต่ไม่มีโอกาสที่จะไป
ตอบ ก็เก็บเงินไว้ก่อน รวบรวมไว้ พอมีโอกาสก็ไปถวายวัดที่เป็นสังฆทานจริงๆ ทุกอย่างเข้ากองกลางหมด อย่างวัดของหลวงปู่ชาได้ยินว่าทุกอย่างเข้ากองกลางหมด เราก็เก็บรวบรวมไว้ แล้วก็ส่งไปก็ได้ ถ้ายังติดในการทำสังฆทานอยู่ ผู้ให้ได้บุญเท่ากัน สำคัญอยู่ตรงที่จิตของผู้ให้มากกว่า ว่ามีความบริสุทธิ์มากน้อยเพียงไร ถ้าให้แล้วยังต้องการอะไรหรือไม่ ถ้ายังต้องการอยู่ ก็เป็นเงื่อนไข แต่ถ้าให้โดยไม่ต้องการอะไรตอบแทนเลย จะได้บุญมากกว่า แต่สังฆทานเป็นเรื่องของการอุปถัมภ์องค์กร ของศาสนา ช่วยทำให้ศาสนามีอายุยืนยาวขึ้น ไม่เกี่ยวกับผู้ให้
ถาม ถ้าทำไปแล้วยังไปกังวลว่า พระจะเอาเข้ากองกลางหรือไม่ ก็ยังไม่ได้ละความละโมบของเรา
ตอบ ยังอยากจะได้บุญมากๆ ความจริงแล้วมันไม่ได้มากกว่ากันหรอก จะถวายให้พระองค์เดียวหรือถวายให้เป็นส่วนกลาง ถ้าไปเจอพระรูปเดียว เป็นพระที่ดีเป็นพระอริยะ ก็ได้บุญเหมือนกัน เป็นการสนับสนุนให้ท่านได้ทำประโยชน์ แต่บุญคือความสุขใจที่ได้จะเท่ากัน ถึงแม้จะให้กับสุนัข ก็ได้บุญคือความสุขใจเท่ากัน ถ้าเป็นของชิ้นเดียวกัน จะให้กับพระก็ดีให้กับสุนัขก็ดี ถ้าให้ด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีความปรารถนาที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือ บุญในใจคือความสุขใจก็เท่ากัน
ถาม ถ้าผู้รับเป็นอริยสงฆ์
ตอบ จะเป็นพระอริยสงฆ์หรือเป็นสุนัข ก็เหมือนกันในใจของเรา คือเป็นความสุขใจ
ถาม แต่ที่สำคัญคือมันทำใจยาก ว่าสุนัขจะเสมอพระสงฆ์
ตอบ ไม่ได้ว่าสุนัขเสมอพระสงฆ์ แต่ว่าบุญคือความสุขใจมันเท่ากันพวกเราไม่เข้าใจกัน เรื่องการถวายทานกับพระอริยสงฆ์ มีประโยชน์เพิ่มขึ้นตรงที่ท่านจะสอนธรรมะให้กับเรา เป็นประโยชน์อีกกระทงหนึ่ง ถ้าให้สุนัข อย่างมากมันก็เห่าให้เราเฝ้าบ้านให้เรา แต่ใจที่ชนะความตระหนี่ ชนะความโลภ ใจที่เกิดความเมตตาสงสาร เกิดจากการที่เราได้ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ก็เหมือนกัน มีความสุขใจเหมือนกัน คนบางคนถึงเลี้ยงหมาได้ ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงคน การเลือกบุคคลเราเล็งไปที่การทำประโยชน์ของบุคคลนั้น ถ้าสนับสนุนโจร ก็จะไปฆ่าผู้อื่นต่อ ถ้าสนับสนุนพระพุทธเจ้าก็จะทำให้ท่านมีกำลังเผยแผ่ธรรม ถ้าสนับสนุนสงฆ์ก็จะทำให้ศาสนาอยู่ได้ยาวนาน ทำให้ผู้มีศรัทธามีกำลังใจบวช เพราะเมื่อบวชแล้วไม่อดอยากขาดแคลน มีอาหารกินทั่วถึงกัน ไม่ว่าจะพึ่งบวชวันนี้หรือบวชมา ๑๐ ปีแล้ว ก็แบ่งอาหารเท่าๆกัน ทำให้องค์กรคือศาสนาอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าเลือกเฉพาะถวายแต่องค์หัวหน้า พระบวชใหม่ไม่สนใจ พอบวชได้ ๓ วัน ไม่มีอะไรกิน ก็จะสึกไป ทำให้ไม่มีใครอยากจะบวช
ถาม ถ้าจิตเรายังเลือกที่รักมักที่ชัง เลือกที่จะให้แต่พระอริยสงฆ์ เพราะเราหวังบุญมาก อย่างนี้ถือว่าเป็นมลทินกับใจเราใช่ไหมครับ
ตอบ ไม่แน่เสมอไป ถ้าเลือกด้วยปัญญา ก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าเลือกพระอริยสงฆ์เพราะอยากจะฟังธรรมะจากท่าน ก็ไม่ได้เป็นการเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะคงจะไม่ได้ธรรมะจากสุนัข แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุนัขกับพระอริยสงฆ์ก็ต้องการอาหารเหมือนกัน เราก็ให้ทั้งคู่เลย พระอริยะก็ถวาย สุนัขที่มากับท่านก็ให้ ดังบทเมตตาที่ว่า สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เราสวดกันทุกวัน ท่านสอนไม่ให้เลือกที่รักมักที่ชังในการให้ความเมตตากรุณา เพราะความจำเป็นมีเท่ากันหมด เรื่องปัจจัย ๔ มีความจำเป็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่ามนุษย์ เรื่องความรักความเมตตาสงสาร ทุกคนต้องการด้วยกันทั้งนั้น ไม่ควรเลือก เช่นให้ความเมตตากับพระอริยะ ส่วนสุนัขช่างหัวมัน อย่างนี้ก็ไม่ถูก แต่ที่เราเลือกทำบุญกับพระอริยะ ถ้ามีโอกาสเลือกได้ เพราะเราจะได้ยินได้ฟังธรรมะจากท่าน ถ้าให้ทานสุนัข ให้ข้าวมันกิน เราก็ยังจะไม่สามารถขจัดความสงสัยที่มีอยู่ในใจเราได้
ถาม กลางวันนี้เพิ่งให้ข้าวสุนัขไป ให้อ้อยกับช้าง
ตอบ ควรจะให้ หลวงตาท่านก็เลี้ยงสุนัขเลี้ยงนกเลี้ยงแมว ไม่ว่าพระป่าจะอยู่ที่ไหน จะให้อาหารสัตว์เสมอ นี้คือความเมตตา ผู้มีความเมตตาย่อมมีความสุขใจ ความสุขใจก็คือบุญ
ถาม หลวงพ่อลูกก็ยังไม่เข้าใจคำที่กล่าวว่า ถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง ก็สู้ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งหนึ่งไม่ได้ ที่ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง ก็สู้ถวายแก่พระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งไม่ได้
ตอบ ความสามารถของท่านแตกต่างกัน พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนจบปริญญาเอก พระปัจเจกจบปริญญาโท พระอรหันต์จบปริญญาตรี นี้ถ้าเรียนกับพระอรหันต์ ก็ได้ความรู้ระดับปริญญาตรี ถ้าเรียนกับพระปัจเจกก็ได้ระดับปริญญาโท ถ้าเรียนกับพระพุทธเจ้าก็ได้ระดับปริญญาเอก ประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าทำ กับพระอรหันต์ทำก็แตกต่างกันมาก
ถาม หมายถึงอานิสงส์ที่ได้รับจะต่างกัน ตัวบุญนะค่ะ
ตอบ หมายถึงประโยชน์ที่ท่านจะทำให้กับโลกและกับตัวเรา
ถาม แล้วทำไมมีคำกล่าวว่า ถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง สู้ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งหนึ่งไม่ได้ แสดงว่าผลทานนี้ได้อานิสงส์ต่างกันซิค่ะ
ตอบ คือพระพุทธเจ้ามีความสามารถสอนให้บรรลุธรรมได้เก่งกว่าพระอรหันต์
ถาม หมายถึงประโยชน์ที่คนทำจะได้รับ
ตอบ ได้ความรู้จากพระพุทธเจ้า ทำให้หลุดพ้นง่ายกว่าฟังเทศน์จากพระอรหันต์
ถาม อย่างนี้เราเหวี่ยงเมล็ดข้าวลงไปที่พื้นคอนกรีต กับเหวี่ยงลงไปที่ลุ่ม ผลมันก็เท่ากันซิ
ตอบ ไม่เท่า
ถาม ถ้าไม่เท่า แล้วอย่างนี้มันจะเท่ากันได้อย่างไร
ตอบ ก็ไม่เท่า พระพุทธเจ้าทรงมีความสามารถแก้กิเลส แก้ความทุกข์ของเรา มากกว่าพระอรหันต์
ถาม ไม่ หนูกำลังจะเปรียบเทียบที่ท่านบอกว่า ให้ทานกับคนกับให้ทานกับสุนัขมันเท่ากัน หนูรับไม่ได้
ตอบ มันเท่ากันในความเมตตากรุณา แต่ผลประโยชน์ที่จะได้จากสุนัขกับพระอริยะมันต่างกัน เหมือนกันในความเมตตากรุณาที่ออกจากจิตใจเรา เราเมตตาสุนัข เราเมตตาพระอริยะ ก็เป็นความเมตตา เป็นความสุขใจเหมือนกัน
ถาม หมายความว่าเราต้องยกระดับจิต ทำให้เสมอกันตรงนั้น ใช่ไหม
ตอบ ไม่เห็นต้องยกระดับจิตตรงไหนเลย
ถาม คือปุถุชนทั่วไปมีความรู้สึกว่า ให้กับพระอริยะจะดีกว่าให้กับสัตว์
ตอบ สุนัขหิวข้าว คนหิวข้าว ก็หิวเหมือนกัน สุนัขได้กินข้าว คนได้กินข้าว ก็อิ่มเหมือนกัน ไม่เห็นต้องยกระดับตรงไหนเลย ให้ดูด้วยเหตุผล แต่ประโยชน์ที่สุนัขกับคนทำจะต่างกัน สุนัขทำได้แค่เห่า แต่คนสอนให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ นี่เป็นความต่างระหว่างสุนัขกับคน ประโยชน์ที่สุนัขจะทำให้กับเราก็คือเฝ้าบ้านเห่าไล่ขโมย แต่พระอริยบุคคลสอนให้เราเป็นพระอริยบุคคล เช่นเป็นพระโสดาบันขึ้นมาได้
ถาม ถ้าตามที่ธรรมชาติจัดสรรให้ เราควรจะได้บุญจากใครมากกว่ากัน
ตอบ มันมี ๒ ส่วน บุญที่เกิดจากความเมตตากรุณานี้เท่ากัน เมตตาสัตว์เมตตาคนนี้เท่ากัน แต่บุญที่เกิดจากปัญญาต้องได้จากพระอริยะมากกว่าจากสุนัข เพราะสุนัขไม่มีปัญญาความรู้ที่จะสอนเราได้ แต่พระอริยะมีปัญญาความรู้ที่จะสอนเราได้ ปัญญาเป็นบุญอีกระดับหนึ่ง แต่เราไม่เข้าใจ คิดว่าบุญคือการให้ทานอย่างเดียว แต่ไม่คิดถึงบุญที่เหนือกว่าการให้ทานคือปัญญา เพราะบุญเกิดจากทาน ศีล ภาวนา เกิดจาก ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าถามว่าทำอะไรจะได้บุญสูงสุด ก็ฟังธรรมให้เกิดปัญญานี่แหละ จะได้บุญมากที่สุด ถึงให้ทำบุญกับพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นมหาเศรษฐีปัญญา ทำบุญกับพระพุทธเจ้าปุ๊บ ท่านให้ปัญญาเราปั๊บ ท่านพูดเพียงคำเดียว ก็บรรลุแล้ว กับองคุลิมาลทรงตรัสเพียงประโยคเดียวว่า เราหยุดแล้ว เธอต่างหากที่ยังไม่หยุด ก็บรรลุธรรมแล้ว แต่ถ้าไปเจอพระอรหันต์ ท่านอาจจะไม่สามารถแสดงธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าแสดงได้ ก็อาจจะยังไม่หยุดฆ่าคน พระอรหันต์องค์นั้นอาจจะถูกฆ่าตายไปก็ได้ ต่างกันตรงนี้ ต้องแยกแยะ ไม่ใช่ว่าทำกับสุนัขกับทำกับพระอริยะจะได้บุญเท่ากันหมด ไม่ใช่ ส่วนที่เท่ากันก็คือบุญที่เกิดจากความเมตตากรุณาที่เกิดขึ้นในใจเรา แต่บุญเช่นปัญญาที่ผู้รับจะให้เรานั้นมันต่างกัน
ถาม อานิสงส์ผลบุญของการให้ทานนี้ จะทำให้ร่ำรวยมีโภคทรัพย์ในภพชาติต่อไป ถ้าเราทำกับพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้านี้ จะได้ผลทันตาใช่ไหมค่ะ
ตอบ อานิสงส์ทางด้านโภคทรัพย์ จะหมายถึงภพหน้าชาติหน้ามากกว่า ส่วนในภพนี้ชาตินี้อานิสงส์ที่จะได้คือปัญญา ได้ฟังธรรม ได้หลุดพ้น ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าเงินกองเท่าภูเขา พวกเรายังไม่หลุดพ้นกัน การได้ปัญญาจึงเป็นบุญที่ดีที่สุด ถ้าถามว่าทำบุญชนิดไหนได้บุญมากที่สุด ก็คือทำบุญให้เกิดปัญญา ก็ต้องไปหาแหล่งของปัญญา แหล่งที่มีปัญญามากที่สุด ดีที่สุด วิเศษที่สุด ก็คือพระพุทธเจ้า รองลงมาก็คือพระปัจเจก รองลงมาก็คือพระอรหันต์ รองลงมาก็คือพระอนาคามี พระสกิทาคามี ลงมาเรื่อยๆ จนถึงพระปุถุชนธรรมดาผู้ทรงศีลทรงธรรม ท่านก็มีปัญญาในระดับของท่าน ระหว่างพระผู้ทรงศีลกับพระไม่ทรงศีลก็ต่างกัน พระผู้ทรงศีลทรงธรรมยังรู้ ยังเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะไม่พาให้เราหลง ถ้าพระที่ไม่รู้เลย เดี๋ยวก็หลอกให้เราไปอาบน้ำมนต์ ไปสักยันต์ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าทำบุญกับคนโง่เขาก็พาให้เราโง่ตาม ถ้าทำบุญกับคนฉลาดเขาก็พาให้ฉลาดตาม ทำบุญกับหลวงตามีไหมที่ท่านสอนให้เจิม ให้เอาวัตถุมงคลต่างๆมาห้อยคอ ไปเอาน้ำมนต์จากที่นั่นที่นี่ ไม่มีหรอก ท่านสอนแต่ทานศีลภาวนา สอนให้เกิดปัญญา แต่เราฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ก็เลยคิดว่าทำบุญแล้วเมื่อไหร่จะรวยสักที ไอ้นั่นมันเป็นผลพลอยได้ ผลที่ได้ในปัจจุบันคือ จิตใจได้รับการชำระ เวลาให้ทานก็ได้ชำระความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความหวงแหน ความเสียดาย ความโลภ
ถาม ถ้าเราฆ่าความตระหนี่ในปัจจุบันนี้ได้ ก็เท่ากับว่าบุญได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันนี้ใช่ไหมค่ะ
ตอบ ทำตอนนี้ก็ได้ชนะแล้ว เพราะการให้เป็นการเดินสวนทางกับความตระหนี่ ถ้าความตระหนี่ชนะก็จะไม่ได้ให้ เพราะเสียดาย ไม่ทำดีกว่า ก็อาจจะคิดไปว่า มีคนทำกับหลวงตามากมายแล้ว ได้เงินมากแล้ว ไปทำทำไม คิดอย่างนี้ก็ไม่ได้ทำ ความตระหนี่ก็ชนะเราแล้ว แต่เราไม่มองที่ใจเรา ที่หิวโหยขาดความสุข เหมือนกับเวลาเราหิวข้าวแล้วเลือกร้านอาหาร ร้านนี้อร่อยแต่คนเยอะต้องรอนานก็ไม่เอา ร้านนี้คนน้อยแต่ไม่อร่อยก็ไม่กิน ก็อดตายพอดี อย่างเราอยากจะไปทำบุญกับวัดที่ไม่มีใครไปทำ พอไปเห็นวัดเข้า ไม่น่าศรัทธาเลย ก็ไม่ทำ ส่วนวัดที่น่าศรัทธา ก็มีคนทำกันเยอะ ก็ไม่ทำอีก
ถาม สรุปแล้วไม่ได้ทำสักที
ตอบ ไม่ได้ชนะความตระหนี่ แพ้ความหลง แพ้ความตระหนี่ ที่อ้างสารพัดเหตุผล ไม่ให้ทำบุญทำทาน ให้หวงรักษาเงินไว้ แล้วก็มาเสียใจเวลาถูกขโมยไป ร้องห่มร้องไห้กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ถ้าเคยให้อยู่เรื่อยๆ ก็จะคิดว่าเป็นการทำบุญทำทาน เป็นการใช้หนี้ไป จึงไม่เดือดร้อน
เป้าหมายหลักของศาสนาอยู่ที่การทำจิตใจให้พ้นทุกข์เท่านั้นเอง ปัญหาของพวกเราคือชอบสร้างความทุกข์ที่เกิดจากความหลงกัน หลงยึดติดในวัตถุข้าวของเงินทอง ยึดติดในบุคคล ยึดติดในความสุขต่างๆ ทำให้เรามีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น ที่ทรงสอนให้เราให้ทานกัน ก็เพื่อเราจะได้ไม่ทุกข์ เมื่อไม่มีสมบัติเราก็สบายใจ ไม่มีเงินก็ไม่ต้องไปกังวลว่าดอกจะขึ้นหรือจะลง จะเอาเงินไปฝากดีหรือไปซื้อหุ้นดี วุ่นวายกินไม่ได้นอนไม่หลับ คนที่ไม่มีไม่เห็นเขาเดือดร้อนเลย ก็ขอให้ปฏิบัติด้วยนะ ไม่ใช่ฟังอย่างเดียว
ถาม อย่างที่ท่านบอกว่าให้กำจัดกิเลสที่หยาบๆ เช่นความโกรธนี่ เวลาออกไปแล้วมันเหมือนไม่โกรธ แต่มันก็ยังติดอยู่ในใจ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้
ตอบ ยังตัดไม่ขาด ยังไม่ปล่อยวาง
ถาม คือน้องเขารู้สึกว่าไม่โกรธ แต่ก็ไม่อยากเจอแบบนั้นอีก
ตอบ ความไม่โกรธนี่ดี แต่ความไม่อยากเจอนี่ไม่ดี ความไม่อยากเจอเป็นสมุทัย ถ้าผ่านมาได้แล้วจะไปกลัวทำไม ผ่านมาได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ผ่านไปได้ตลอด เวลาเกิดขึ้นอีกก็ปฏิบัติเหมือนกับที่เคยปฏิบัติ เราก็นิ่งเฉย ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย ก็ไม่มีปัญหาอะไร สิ่งต่างๆในโลกนี้เราห้ามมันไม่ได้ มันจะเกิดมันก็ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่เกิด
ถาม เลี่ยงได้ไหมเจ้าค่ะ
ตอบ บางทีก็เลี่ยงได้ บางทีก็เลี่ยงไม่ได้ ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน
ถาม อย่างกรณีที่คนเขาทำให้เราโกรธ แต่เราก็ตัดได้ พอเราหนีไป เขากลับโกรธเรามากยิ่งขึ้น อย่างนี้เราบาปไหมค่ะ
ตอบ ไม่บาป เป็นกรรมของเขา ที่ไม่รู้จักระงับความโกรธ ถ้าเราไม่ได้ไปทำให้เขาโกรธ เขาโกรธขึ้นมาเองก็ช่วยไม่ได้ อย่างเขาด่าเราแล้วเราไม่เดือดร้อน แล้วเขากลับโมโหใหญ่ เราไม่ได้ทำอะไร เราเป็นเหมือนกับต้นเสานี้ ไปด่าต้นเสาแต่ต้นเสามันเฉยๆ แล้วเราก็ไปโกรธมัน เป็นความโง่ของใคร
ถาม เราก็ปล่อยเขาไป
ตอบ เป็นกรรมของเขา เป็นความโลภโมโทสันของเขา ที่เขาจะต้องแก้ ถ้าเขาไม่แก้เขาก็ต้องทุกข์ทรมานไปกับมัน เป็นวิบากกรรมของเขา เราแก้ได้แล้ว เหมือนเรากินยา เราหายจากโรคแล้ว แต่เขาไม่กินจะไปโทษใครล่ะ ไปโทษคนที่กิน คนที่หายแล้ว จะไปโทษกันไม่ได้ อย่างเป็นหวัดด้วยกัน ๒ คนนี่ คนหนึ่งกินยาแล้วหายก่อน อีกคนไม่กินยังไม่หาย คนไม่หายกลับไปโกรธคนที่กินยา แสดงว่าเป็นคนบ้า ไม่มีเหตุไม่มีผล อาจจะเป็นเพราะมีความอิจฉาริษยา มีความเกลียดชัง อยากจะให้เราทุกข์แต่เราไม่ทุกข์ เขาก็เลยทุกข์ใหญ่ ท่านถึงสอนว่าให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นจะกลับมาหาตน ทำไมไปคิดอยากให้เขาทุกข์ ทำไมไม่คิดอยากให้เขาสุขล่ะ คิดให้เขาสุขแล้วเราก็สุขตามไปด้วย
ถาม ถ้าไม่พอใจหรือไม่ชอบนี่ จะเช็คกลับไปว่าเราชอบหรือไม่ชอบ จริงหรือไม่จริง เหมือนกับจะสอบตัวเอง อย่างนี้เราไม่ควรจะสอบใช่ไหมค่ะ
ตอบ ถ้าสงสัยก็ควรจะสอบ
ถาม ว่าหลงทางหรือเปล่า
ตอบ มันอาจจะหลอกเรา ใจบอกว่าไม่ชอบ แต่ยังเก็บเอาไว้
ถาม บอกไม่ชอบแต่ก็ยังคิดถึงอยู่
ตอบ ถ้าไม่ชอบ ทำไมยังคิดถึงอยู่
ถาม พอดีมีคนมาปรึกษาว่าเวลาเจอหน้าคนนี้ เขาจะไม่ชอบโดยที่ไม่รู้สาเหตุ เพราะอะไรค่ะ
ตอบ กรรมเก่า พอเจอหน้ากันก็รู้เลยว่าไม่ถูกชะตากัน
ถาม อยากทราบว่าต้องแก้อย่างไร
ตอบ ทำใจให้เป็นอุเบกขา เราบังคับเขาไม่ได้ แต่บังคับเราได้ ถ้าเราไม่ชอบเขา ไม่สามารถทำใจให้รักเขาได้ ก็ทำใจเฉยๆไปก่อน แต่ถ้าเขาจะทำอะไรเรา ก็อย่าไปโกรธเขา อย่าไปมีอะไรกับเขา คิดเสียว่าเป็นวิบาก ถ้าทำใจได้ก็ยิ้มให้เขา มีอะไรก็แบ่งให้เขา บางทีมีเหตุการณ์ทำให้เราทำได้ก็มี เช่นต่างคนต่างจะไปใช้โทรศัพท์เครื่องเดียวกัน เราก็ให้เขาใช้ก่อน เป็นการสร้างไมตรีจิต เปลี่ยนจากความไม่ชอบมาเป็นความชอบกัน บางทีมันอาจจะไม่ใช่วิบากก็ได้ อาจจะเป็นเพราะเราไม่ชอบคนขี้หน้าแบบนี้ ไม่ชอบคนลักษณะนี้ก็ได้ แต่เมื่อมีโอกาสได้ทำบุญร่วมกัน ได้ช่วยเหลือกันแล้ว ความไม่ชอบกันก็หายไปได้
ถาม เราต้องมีเมตตาก่อน
ตอบ เสมอเลย ต้องยิ้ม ต้องมีไมตรีจิต ต้องปรารถนาดีเสมอ
ถาม เขาก็พยายามทำ คือพยายามเมตตา แต่ว่าเขาค้นพบว่าในความเมตตานั้นมีความรู้สึกกระวนกระวายอยู่ข้างใน มีความรู้สึกไม่ชอบอยู่ลึกๆ มีความไม่สบายใจอยู่ลึกๆ เขาอยากแก้ตรงนี้ค่ะ
ตอบ ต้องพยายามทำไปเรื่อยๆ เป็นการต่อสู้กันระหว่างธรรมกับอธรรม ระหว่างธรรมกับกิเลส กิเลสความเห็นแก่ตัว ความอยากที่จะทำอะไรตามใจตัวเอง กับทำสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ ต้องพยายามฝืนทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับถนัดมือขวา พยายามหัดใช้มือซ้ายก็ยัง เผลอไปใช้มือขวาได้ ต้องมีสติ อย่าไปปฏิเสธ อย่าไปรังเกียจเวลาที่ต่อสู้กัน เชื้อเก่ายังไม่ถูกทำลายไปหมด ถ้ามีสติรู้ แล้วไม่ไปกังวลกับมัน ก็จะไม่เป็นปัญหา ทำไปเรื่อยๆแล้วจะหมดไปเอง
ถาม ก็แสดงว่าจิตเรายังไม่เข้มแข็งพอ
ตอบ ยังไม่มีธรรมมากพอ กิเลสมันยังมีแรงต่อต้านอยู่ เมื่อธรรมมีแรงมากกว่า ก็จะน็อกกิเลสได้ พอกิเลสถูกน็อกแล้ว ก็จะไม่มีแรงต้าน ถ้าเป็นมวยก็ยังไม่นับ ๑๐ ยังผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ แต่ถ้าลงไปนับ ๑๐ แล้วก็จบ