กัณฑ์ที่ ๒๘๗ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๐
หัดขับรถชีวิต
ชีวิตของเราก็เป็นเหมือนกับการเดินทาง ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์ ใจเป็นเหมือนคนขับ จะไปสู่ทิศทางใดก็ขึ้นอยู่กับคนขับ ถ้าเป็นคนที่รู้ที่ฉลาด ก็จะพาไปในทางที่ดี มีแต่ความสุข มีแต่ความเจริญ ถ้าไม่ฉลาด ก็จะพาไปสู่ความวุ่นวาย ความล้มเหลว ความทุกข์ ปัญหาต่างๆ การเข้าวัดจึงเป็นเหมือนกับการมาหัดขับรถชีวิต เหมือนขับรถยนต์ ก่อนที่จะขับได้ ก็ต้องหัดขับก่อน ถ้าขับไม่เป็นแทนที่จะเหยียบเบรก กลับไปเหยียบคันเร่ง แทนที่จะเข้าเกียร์เดินหน้ากลับเข้าเกียร์ถอยหลัง ก็จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ จะเจอแต่อุบัติเหตุ เจอปัญหาต่างๆ จึงต้องหัดขับให้เป็นก่อน ต้องรู้ว่าพวงมาลัย คันเร่ง คันเกียร์ เบรกมีไว้ใช้ทำอะไร ถ้ารู้แล้วก็จะขับไปได้อย่างปลอดภัย ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้ว่าอะไรเป็นพวงมาลัย เป็นคันเกียร์ เป็นคันเร่ง เป็นเบรก คันเร่งของใจก็คือความอยากทำสิ่งต่างๆ อยากได้สิ่งต่างๆ คันเบรกก็คือการระงับความอยากต่างๆ พวงมาลัยก็คือปัญญา ความรู้ความฉลาด รู้ว่าควรไปทิศทางใด เมื่อมาถึงทางแยกควรเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตรงไปหรือถอยหลัง ถ้ามีปัญญาก็จะรู้จักแยกแยะว่า ทำอะไรไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีปัญญา ทำไปตามความหลง ก็จะไม่รู้ จะเป็นเหมือนกับคนขับที่ไม่มีสติ ที่มึนเมา ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ ขับรถในขณะที่มึนเมาจึงมักจะประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตพิกลพิการเสมอ ถ้ามีสติมีปัญญาจะขับด้วยความระมัดระวัง รู้ว่าควรจะขับเร็วขับช้า ควรไปทางทิศใด ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น ถ้ารู้จักคันเร่ง รู้จักคันเบรก รู้จักพวงมาลัยของใจ ก็จะสามารถพาชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ คือความสุข ความเจริญ ความเป็นสิริมงคล ปราศจากความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะ ความเจ็บปวด
การที่จะเกิดปัญญาความรู้ได้ก็ต้องอาศัยผู้รู้เป็นคนสอน เวลาขับรถยนต์ ก็ต้องให้คนที่ขับรถเป็นช่วยสอนให้ ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ต้องให้คนที่รู้การดำเนินชีวิตที่ถูกที่ดีที่งามสอน ไม่มีใครจะรู้ดีเท่ากับพระพุทธเจ้า กับพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย เป็นเหตุทำให้เราต้องมาวัด มาศึกษา มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตของเราไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม รู้จักใช้คันเร่งไปในทิศทางที่ดี เช่นอยากทำบุญ รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม ออกบวช เป็นการกระทำที่ดี พาไปสู่ความสุขความเจริญ เราก็ควรเหยียบคันเร่ง ควรหมุนพวงมาลัยให้ไปในทิศทางนั้น ส่วนเบรกเราก็ต้องใช้ให้เป็น เวลารถจะวิ่งฝ่าไฟแดง วิ่งแหกโค้งตกเหว ก็ต้องใช้เบรก เพื่อให้รถวิ่งอยู่บนถนน ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าจะวิ่งฝ่าไฟแดงแหกโค้งตกเหว เช่นไปเสพสุรายาเมา ยาเสพติด เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ยิงนกตกปลา ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ โกหกหลอกลวง ก็ต้องเหยียบเบรกกัน ต้องหยุดใจไม่ให้ไปทำ เพราะทำไปแล้วจะเกิดอุบัติเหตุ จะชนกับรถคันอื่น เวลาที่เราทำผิดศีลผิดธรรม ก็เป็นเหมือนกับทำผิดกฎจราจร วิ่งฝ่าไฟแดง ก็ต้องมีปัญหาตามมา มีโทษตามมา เวลาขับรถชีวิตก็ต้องรู้จักใช้เบรก รู้จักใช้คันเร่ง แต่ส่วนใหญ่เราจะทำกลับตาลปัตรกัน เพราะไม่มีสติปัญญา มึนเมาด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อหลงก็ทำให้เกิดความโลภ เกิดความอยากขึ้นมา แทนที่จะเหยียบเบรกไม่ให้ไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ก็กลับไปเหยียบคันเร่ง ให้วิ่งเร็วยิ่งขึ้น
เวลาโลภอยากจะได้อะไร ไม่เคยคิดเลยว่า จำเป็นหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ พอเห็นว่าถูกอกถูกใจก็ต้องเอามาให้ได้ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องมาดูแลรักษา ต้องห่วง ต้องกังวล ซึ่งเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เพราะไม่มีปัญญานั่นเอง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นความสุข อะไรเป็นความทุกข์ จึงเหยียบคันเร่งแทนที่จะเหยียบเบรก เวลาควรเหยียบคันเร่ง ก็กลับไม่เหยียบ เช่นเวลาควรทำบุญให้ทาน ควรเสียสละ ควรเอาชนะความเกียจคร้าน กลับไม่เร่งทำกัน กลับไปเหยียบเบรกกัน ไม่ทำกัน เวลาจะทำบุญให้ทานสักครั้งหนึ่ง จะเสียดายเงินทอง ไม่เหมือนเวลาไปกินเหล้าเมายา ไปเที่ยวกลางคืน ไปซื้อของฟุ่มเฟือย มีเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ เพราะเหยียบคันเร่งแทนที่จะเหยียบเบรก ถ้าเหยียบเบรกแล้ว จะไม่ใช้ในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ที่เป็นโทษ เช่นเล่นการพนัน เสพสุรายาเมา เที่ยวกลางคืน ถ้าเราสามารถเบรกการกระทำที่ไม่ดีไม่ชอบได้ ชีวิตของเราก็จะไม่วุ่นวาย ไม่ทุกข์ ไม่มีปัญหาต่างๆตามมา ถ้าเหยียบคันเร่งส่งเสริมให้ทำความดีได้ เราก็จะไปสู่ความสุขความเจริญอย่างรวดเร็ว เช่นเร่งให้ทำบุญอยู่เรื่อยๆ เร่งให้รักษาศีลให้มีมากยิ่งขึ้นไป เร่งศึกษาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญปัญญา เป็นสิ่งที่ควรจะเร่งทำกัน แต่ไม่ค่อยทำกันเลย เพราะอะไร เพราะคนขับรถชีวิตของเรามีแต่ความมึนเมา มีความหลง หลงทาง แทนที่จะขึ้นเหนือกลับลงใต้ แทนที่จะไปสู่ความเจริญความสุข กลับไปสู่ความทุกข์ความเสื่อม จึงต้องปลุกคนขับรถให้หายเมา ด้วยธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ฟังแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ ถ้าฟังอย่างเดียวแต่ไม่ปฏิบัติ ก็จะไม่เห็นผล เหมือนกับมีคนบอกให้ไปเอาของที่อยู่ตรงนั้นมา แต่เราไม่ไปเอามา เราก็จะไม่ได้ของมา
ฉันใดการฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นเช่นนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ต้องปฏิบัติต้องทำด้วย เพราะถ้าไม่ปฏิบัติไม่ทำ ก็จะไม่รู้ว่าดีหรือไม่ มีคุณหรือมีโทษอย่างไร แต่ถ้านำไปปฏิบัติก็จะเห็นผล จะมีกำลังใจทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นพระพุทธเจ้าสอนให้ทำความดี ให้เสียสละ ใจบุญสุนทาน รักษาศีล เราก็ต้องทำ เมื่อทำแล้วก็จะเห็นผล เวลาทำบุญรักษาศีล ใจจะมีความสุข ต้องมองผลที่ใจ อย่าไปมองที่อื่น อย่าไปมองว่าทำบุญแล้วจะมีหน้ามีตา มีคนให้รางวัล มีคนชื่นชมสรรเสริญเยินยอ ซึ่งไม่ใช่ผลที่เกิดจากการทำบุญโดยตรง แต่เป็นผลพลอยได้ เวลาคนอื่นเห็นเราทำความดี ก็อนุโมทนาชื่นชม ให้รางวัล ให้กำลังใจ ผลหลักที่จะได้จากการทำบุญให้ทานเสียสละ คือความอิ่มเอิบใจ สุขใจ ภูมิใจ ไม่โลภไม่อยากกับเรื่องไร้สาระต่างๆ ไปเที่ยวไปดื่ม จะรู้สึกเฉยๆ อยู่บ้านก็มีความสุข เพราะใจมีอาหารหล่อเลี้ยงนั่นเอง บุญกุศลนี่แหละคืออาหารที่หล่อเลี้ยงจิตใจ เป็นสิ่งที่พวกเราขาดกันมาก จึงทำให้ต้องไปหาความสุขจากสิ่งที่เป็นความทุกข์ จากการเที่ยวกลางคืน เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน ที่มีแต่โทษ ไม่มีความสุขเลย แต่เราก็ไม่สามารถยับยั้งหักห้ามจิตใจของเราได้ เพราะใจไม่มีเบรกนั่นเอง เราจึงต้องทำบุญกันมากๆ ทำบุญกันอยู่เรื่อยๆ เมื่อทำแล้วใจจะอิ่ม จะมีความพอ จะไม่หิว ไม่กระหายกับการกระทำเรื่องที่ไร้สาระ ดังนั้นเวลาทำความดี เช่นทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ขอให้ดูที่ใจเป็นหลัก ถ้าทำไปแล้วมีความสุข แสดงว่าเราทำถูก ถ้ายังไม่มีความสุข ความอิ่มเอิบใจ ความพอใจ ก็แสดงว่ายังทำไม่พอหรือทำไม่ถูก ถ้าทำไม่พอก็ต้องทำให้มากๆขึ้นไป เหมือนกับการรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานเพียงคำสองคำก็จะไม่อิ่ม ต้องรับประทานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอิ่ม
ถ้าทำผิดก็ต้องทำใหม่ เช่นทำแล้วหวังผลตอบแทนจากผู้รับ ต้องการให้เขาขอบอกขอบใจ ให้มีความสำนึกในบุญในคุณ อย่างนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูก เพราะถ้าเขาไม่ขอบอกขอบใจ ไม่สำนึกในบุญคุณ เราก็จะโกรธจะเสียใจ อย่างนี้ไม่ได้เป็นการทำบุญ แต่เป็นการค้าขาย เป็นการแลกเปลี่ยน เราทำสิ่งนี้ให้กับเขา แล้วเขาทำสิ่งนั้นให้กับเรา การทำบุญที่ถูกต้องนั้นต้องทำด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่หวังผลตอบแทนจากผู้รับเลย พอใจที่จะช่วยเหลือ พอใจที่จะให้ เพราะเห็นว่าเดือดร้อน ทำเพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนความทุกข์ ให้เบาบางลงไป ให้มีความสุข เพราะรู้ว่าเวลาที่เรามีความทุกข์ แล้วมีคนช่วยเหลือเรานั้นเป็นอย่างไร เราจะมีความสุข สำนึกในบุญคุณผู้ที่ช่วยเหลือเรา ไม่ว่าจะขอบอกขอบใจเขาหรือไม่ก็ตาม แต่ความสำนึกย่อมมีอยู่ในใจของคนเราทุกคน แม้แต่เดรัจฉานยังมีความสำนึกเลย แล้วมนุษย์ที่มีปัญญาอย่างพวกเรา ทำไมจะไม่มี จะไม่รู้บุญคุณได้อย่างไร จงทำไปเถิด ไม่ต้องหวังผลตอบแทนจากผู้รับ รู้อยู่แก่ใจเอง สักวันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสตอบแทน มีโอกาสช่วยเหลือ รับรองได้ว่าจะต้องคิดถึงเราก่อน จะยินดีทำอย่างยิ่งเลย ทำบุญแล้วต้องไม่หวังอะไรเป็นสิ่งตอบแทน ทำไปเพื่อความสุขใจ ภูมิใจ อิ่มเอิบใจ เมื่อทำจนเกิดผลแล้ว รับรองได้ว่าจะติดอกติดใจ จะชอบทำบุญอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับที่พวกเรามาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ มาทำกันแล้วมีความสุขใจ ขอให้ดูที่ตรงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ทำบุญให้ทานก็ดูที่ใจ รักษาศีลก็ดูที่ใจ อย่าไปดูที่อื่น
เวลารักษาศีลแล้วเห็นคนอื่นทำผิดศีลผิดธรรม ก็อาจจะเกิดอิจฉาริษยาขึ้นมา อยากจะทำเหมือนเขา จึงอย่าไปมองผู้อื่น อย่าไปทำตามเขา เช่น เราไม่พูดโกหกหลอกลวง แต่คนอื่นเขาพูด เราอย่าไปคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วจะดี ถึงแม้จะได้สิ่งต่างๆที่ปรารถนาก็ตาม แต่สิ่งที่เสียไปนั้นมีคุณค่ายิ่งกว่า คือจิตใจนั่นเอง จิตใจจะเจริญหรือเสื่อมส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรมมาก จิตใจก็จะสูงจะเจริญมาก ถ้ามีศีลธรรมน้อยจิตใจก็จะเสื่อมมาก อยู่ที่ศีลธรรมเป็นหลัก จะเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้าก็ดี ต้องมีศีลเป็นเหตุพาไป ถึงแม้จะทำบุญให้ทานมามากมายก่ายกอง บริจาคเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่ถ้ายังทำผิดศีลผิดธรรมอยู่ เวลาตายไปก็จะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพเป็นพรหม แต่จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไปตกนรก ต่างกับคนที่รักษาศีล แต่ไม่ได้ทำบุญเลยแม้แต่บาทเดียว ไม่ได้บริจาคเลย อย่างน้อยก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดเป็นเทพเป็นพรหม เพราะมีศีล ๕ เป็นเหตุ ถ้าอยากจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีฐานะการเงินที่ดี ก็ต้องทำบุญให้ทานด้วย ถ้าไม่ได้ทำบุญให้ทาน รักษาแต่ศีลอย่างเดียว กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นเหมือนที่เคยเป็นอยู่ ไม่ดีขึ้นกว่าเดิม มีรูปร่างหน้าตาอย่างไรก็จะมีอย่างนั้น มีฐานะการเงินอย่างไรก็จะมีอย่างนั้น ไม่ดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าต้องการให้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากรักษาศีลแล้วก็ต้องทำบุญให้ทานด้วย ถ้าอยากจะขึ้นไปสูงกว่านั้น ก็ต้องนั่งสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เจริญปัญญา ควบคู่ไปกับการรักษาศีล ก็จะได้ไปเกิดเป็นเทพบ้าง เป็นพรหมบ้าง เป็นพระอริยบุคคลบ้าง เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ และเป็นพระพุทธเจ้าตามลำดับ
ถ้าไม่ทำเลยก็จะไม่ได้อะไร ชีวิตนี้ก็จะสูญเปล่าไป มัวแต่หาความสุขที่ไม่มีสาระ เช่นดูหนังฟังเพลง เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เสพสุรายาเมา จึงควรหาความสุขที่มีประโยชน์ตามมาด้วย เช่นช่วยเหลือผู้อื่น เสียสละ เมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูกตเวที สำนึกในบุญคุณของผู้ที่มีพระคุณ และตอบแทนบุญคุณท่าน เป็นการกระทำที่จะทำให้เกิดความสุขและมีประโยชน์ตามมา เพราะทำให้จิตใจเจริญขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นสูงสุดได้ในที่สุด เมื่อถึงขั้นสูงสุดแล้วก็จะได้รับรางวัลที่เลิศที่ประเสริฐที่สุด คือการไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป ไม่ต้องไปทุกข์กับการแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากจากกัน เป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด เพราะถ้าตราบใดยังมีการเกิดอยู่ แม้จะเกิดอยู่ในภพที่ดีก็ตาม เช่นกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นมหาเศรษฐี เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องหมดไป ต้องตายไป แล้วก็ต้องกลับมาเกิดใหม่อีก ต้องมาทำบุญอยู่อย่างนี้อยู่เรื่อยๆ กลับไปกลับมาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึงจุดที่ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป ที่จะทำให้ถึงความอิ่มตัว ความสบาย ไม่ต้องทำบุญทำทานอีกต่อไป เพราะไม่จำเป็นแล้ว บุญกุศลที่ได้ทำมาได้พาเรามาถึงจุดหมายปลายทางที่เลิศที่วิเศษแล้ว คือพระนิพพาน บรมสุขนั่นเอง นี่คือเป้าหมายที่เราควรขับพาชีวิตของเราไป ต้องมีสติรู้อยู่กับตัวอยู่เสมอ เหมือนกับคนขับรถ ต้องรู้ว่ากำลังขับรถอยู่ ขับเร็วเท่าไหร่ มีรถรามากน้อยเพียงไร มีรถตัดหน้า มีคนตัดหน้าหรือไม่ เพื่อจะได้หยุดรถทัน
ถ้าขับแบบคนมึนเมา ก็เหมือนกับไม่มีสตินั่นเอง เวลาเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็จะไม่รู้ เวลาโกรธขึ้นมาอยากจะทำอะไรก็ทำไปแล้วก็มาเสียใจภายหลัง แต่ถ้ามีสติจะรู้อยู่ทุกขณะว่า จิตใจกำลังคิดอะไรอยู่ กำลังโกรธ กำลังโลภ กำลังหลงอยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นก็ระงับดับมันเสีย อย่าปล่อยให้หลุดออกมาทางกายทางวาจา เพราะจะสร้างความเสื่อมเสีย ถ้าไม่มีสติดูกายดูวาจา ปล่อยให้เคลื่อนไหวไปตามเรื่องของมัน พอถึงเวลาที่จะหยุดก็หยุดไม่ทัน เวลาเกิดความโกรธ จะระงับยาก ถ้ามันออกมาทางกายทางวาจาแล้ว ก็จะเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา แต่ถ้าคอยเฝ้าดูอยู่ที่ใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะคิดอะไร มีความรู้สึกอย่างไร ก็ต้องรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะถ้ารู้แล้ว จะระงับดับมันได้ ห้ามไม่ให้ออกไปทางกายทางวาจาได้ เช่นเวลาโกรธอยากจะด่าใคร ถ้ารู้ว่ากำลังโกรธ กำลังจะด่าใคร ก็จะดับมันได้ ถ้าเวลาโลภ ก็ต้องรู้ว่าโลภในสิ่งที่ดีหรือที่ไม่ดี ในสิ่งที่ดีก็ทำไปเลย อยากจะทำบุญก็ทำไปเลย อยากจะเสพสุรายาเมาก็ต้องหยุดทันทีเหมือนกัน เราหยุดได้ถ้ามีสติคอยเฝ้าดูอยู่ที่ใจ ดังนั้นตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับไป เราควรเฝ้าดูใจตลอดเวลา ดูความคิดของเรา ดูอารมณ์ของเรา อย่างขณะนี้อารมณ์ของเราเป็นอย่างไร มีความโลภไหม มีความโกรธไหม มีความหลงไหม อยู่เฉยๆได้ไหม ถ้าอยู่เฉยๆได้แสดงว่าไม่มีความโลภความโกรธความหลง แต่ถ้านั่งเฉยๆไม่ได้ แสดงว่ามีความโลภความโกรธความหลงแล้ว อยากจะไปทำสิ่งนั้น อยากจะไปทำสิ่งนี้
นี่คือการขับรถใจ ขับรถชีวิตของเรา ต้องคอยเฝ้าดูที่กายวาจาใจ เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแผนที่พาไป ขับรถชีวิตของเราตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้เสียสละ ทำบุญให้ทาน มีความเมตตากรุณา มีความกตัญญูกตเวที มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เป็นทางที่เราควรจะดำเนินไป พยายามเปิดแผนที่ดูอยู่เรื่อยๆ เพราะถ้าดูหนเดียว พอมาถึงทางแยกก็อาจจะหลงทางได้ อาจจะเลี้ยวผิดทาง ไปทางที่ไม่ถูกก็ได้ เราจึงต้องเข้าวัดอยู่เรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ลืมว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปในทางทิศทางใด ถ้าฟังอยู่เรื่อยๆ แล้วนำไปปฏิบัติ เราก็จะฉลาดขึ้น จะรู้มากขึ้น ต่อไปไม่ต้องฟังก็ได้ เพราะเข้าใจแล้ว รู้แล้วว่าจะต้องไปทางไหน เหมือนกับดูแผนที่จนจำได้ขึ้นใจแล้ว ก็ไม่ต้องดูก็ได้ นี่คือเหตุที่ทำให้พวกเราต้องมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ มาศึกษาและปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เมื่อทำแล้วก็จะเห็นผล จะมีกำลังใจที่จะทำให้มากขึ้น ชีวิตจิตใจก็จะมีความสุขมีความเจริญมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงความสุขที่สูงสุด เกิดขึ้นจากการมาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงมีศรัทธาความเชื่อ มีวิริยะความอุตสาหะ ที่จะประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพื่อความสุขความเจริญที่จะเป็นผลตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้