กัณฑ์ที่ ๒๙๐       ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

 

ความจริงที่ประเสริฐ

 

 

 

คนเราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข ก็ต้องมีปัญญาความรู้ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งต่างจากความรู้ทางโลก ที่ถึงแม้จะมีมากน้อยเพียงไร ก็ไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้ ต่างกับความรู้ทางพระพุทธศาสนา ความรู้ทางธรรม ที่ดับความทุกข์ใจได้ เพราะผู้สอนคือพระบรมศาสดาพระพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสรู้สัจจธรรมความจริงเกี่ยวกับความสุขและความทุกข์ คือพระอริยสัจ ๔ ความจริงที่ประเสริฐ ๔ ประการ เป็นความจริงที่ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลตามเวลา เป็นจริงในสมัยพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นจริงในสมัยนี้ เป็นจริงกับทุกสัตว์ทุกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ก็อยู่ภายใต้กฎความจริงนี้ด้วยกันทั้งหมด ความจริงทั้ง ๔ ประการนี้มีสองส่วนด้วยกัน แบ่งเป็นฝ่ายผูกและฝ่ายแก้ ฝ่ายผูกก็มีอยู่สองคือทุกข์และสมุทัย ฝ่ายแก้ก็มีอยู่สองคือนิโรธและมรรค สมุทัยเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ที่เกิดจากความหลงยึดติดในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเราเป็นของเรา เมื่อมีความหลงก็จะมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น มีตัณหาความอยาก ซึ่งเป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ อยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้ อยากจะเป็นอย่างนั้นอยากจะเป็นอย่างนี้ พอเกิดความอยากใจก็ไม่สงบ เมื่อได้มาก็ดีใจแล้วก็อยากมีเพิ่มขึ้นไปอีก ถ้าไม่ได้ก็เสียอกเสียใจ ซึ่งเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เวลาไม่ได้ก็เสียใจ เวลาได้มาก็ดีใจ อยากจะได้อีกก็ต้องไปหาอีก ถ้าหาไม่ได้ก็ทุกข์อีก ถ้าหาได้ก็ดีใจก็หาอีก ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็น เห็นทั้งเหตุที่ก่อทุกข์และวิธีดับทุกข์ เห็นทั้งฝ่ายผูกและฝ่ายแก้ ฝ่ายผูกก็คือสมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ คือตัณหาความอยากทั้ง ๓ ได้แก่ ๑. กามตัณหาความอยากในกาม ๒. ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น ๓. วิภวตัณหาความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

 

เมื่อมีความอยากเหล่านี้ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ใจอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องดิ้นรนกวัดแกว่งไปตามความอยาก นี่คือฝ่ายผูก ที่สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ ฝ่ายแก้เรียกว่านิโรธและมรรค มรรคเป็นผู้ดำเนินการ ผลของมรรคก็คือนิโรธความดับของทุกข์ ที่มีปรากฏอยู่เรื่อยๆภายในใจของเรา เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวสุข พอทุกข์ปรากฏขึ้นมาเดี๋ยวก็หายไป ส่วนใหญ่ไม่ได้หายไปเพราะมรรค แต่หายไปเพราะได้สมความปรารถนา แต่จะไม่หายไปนาน เดี๋ยวก็จะกลับมาอีก เพราะเวลาได้แล้วก็เกิดความดีใจ อยากจะได้อีก ก็ต้องทุกข์อีก หรืออยากได้แล้วไม่ได้ก็เกิดความทุกข์อีก แล้วก็ทนทุกข์ไปจนกว่าจะหมดแรงหายไปเอง แล้วก็ไปอยากใหม่อีก ก็ทุกข์ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใช้มรรคเป็นเครื่องดับทุกข์แล้ว ทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก เช่นถ้าเห็นว่าความอยากสูบบุหรี่เป็นความทุกข์ ทำให้อยู่เฉยๆไม่ได้ เวลาอยากสูบจะรู้สึกอึดอัดใจหงุดหงิดใจ ก็ต้องไปหามาสูบ พอสูบได้มวนหนึ่ง ความอึดอัดใจหงุดหงิดใจ ก็สงบตัวไประยะหนึ่ง แล้วเดี๋ยวความอยากก็ฟื้นกลับคืนมาใหม่ ก็ต้องหงุดหงิดใจอีก ต้องสูบอีก ก็จะเป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าใช้มรรคคือสติปัญญา พิจารณาเห็นว่าเป็นวงจรอุบาทว์ ไม่ได้ให้ความสุข ไม่ได้กำจัดความทุกข์ ก็ต้องแก้ด้วยการละสมุทัย คือความอยากที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ถ้าละความอยากได้ ก็จะไม่ทุกข์ ทุกครั้งที่อยากจะสูบบุหรี่ ก็ฝืน ก็อด ก็ทนไว้ ปล่อยให้หงุดหงิดใจไปสักระยะหนึ่ง พอผ่านไปแล้วความอยากก็จะเบาลงไปเรื่อยๆ จนหายไปหมด เวลาเห็นบุหรี่ก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะเห็นโทษและได้ฝืนความอยากสูบแล้ว เห็นว่าเป็นทุกข์ไม่ใช่เป็นสุข ก็จะสามารถดับความอยากบุหรี่ได้อย่างถาวร นี่คือวิธีดับทุกข์ด้วยมรรค  

 

มรรคมีสติปัญญาเป็นหัวหอก สนับสนุนด้วยสมาธิ ด้วยศีล ด้วยทาน ถ้าทำบุญทำทานรักษาศีลแล้วก็นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบให้นิ่งได้ เวลาเห็นอะไรเป็นโทษ เช่นเห็นการสูบบุหรี่เป็นโทษ ก็จะหยุดสูบได้ แต่ที่ยังหยุดสูบไม่ได้ ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นโทษ เพราะใจไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิ เราจึงต้องฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบให้นิ่ง ไม่ให้คิดอะไรให้ได้ ให้นิ่งอยู่เฉยๆได้นานๆ ส่วนใหญ่จะอยู่เฉยๆไม่ได้กัน ให้นั่งนิ่งๆสักห้านาทีสิบนาทีก็รู้สึกอึดอัดใจแล้ว ต้องหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาทำ ให้นั่งเฉยๆไม่ให้คิดอะไร ไม่ให้พูด ไม่ให้อ่าน ไม่ให้ดู ไม่ให้ฟังอะไร จะรู้สึกหงุดหงิดใจขึ้นมาทันที เพราะใจไม่เป็นสมาธิ ไม่ตั้งมั่น เมื่อไม่มีสมาธิแล้ว จะหยุดการกระทำของใจก็หยุดยาก จะหยุดตัณหาความอยากก็หยุดยาก เพราะตัณหาความอยากก็เป็นการกระทำของใจ จึงต้องมีทั้งสองส่วนที่จะช่วยการกำจัดความอยากต่างๆ คือต้องมีปัญญาให้รู้ว่าความอยากนั้นเป็นโทษ เป็นทุกข์ไม่ได้เป็นสุข ไม่ได้เป็นคุณเป็นประโยชน์ อยากจะได้อะไรมากน้อยเพียงไร พอได้มาแล้วก็ไม่มีความหมายอะไร ก็อยากจะได้อย่างอื่นอีกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีความอิ่ม ไม่มีความพอ ถ้าเห็นด้วยปัญญาว่าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องหยุดมันให้ได้ จะหยุดได้ก็ต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยหยุด คือปัญญาและสมาธินี้เอง เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่ยังเลิกไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังจะเลิก จึงต้องสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้น คือนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบให้นิ่ง ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ

 

วิธีฝึกในเบื้องต้นก็บริกรรมพุทโธๆไป ถ้าไม่สามารถอยู่กับการบริกรรมพุทโธๆได้ ก็สวดมนต์ไปภายในใจ ไม่ต้องออกเสียง นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง หลับตา แล้วก็สวดมนต์ไปภายในใจ สวดบทที่จำได้ จะสั้นหรือยาวก็ไม่สำคัญ บทไหนก็ได้ เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สวดซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ไปคิดเรื่องต่างๆ ถ้าเผลอไปคิดก็ต้องดึงกลับมาที่บทสวดมนต์ สวดไปเรื่อยๆจนสงบสบาย หรืออยากจะหยุดสวดก็ลองหยุดดู ว่าจะไปคิดเรื่องอะไรหรือเปล่า ถ้ายังคิดอยู่ก็บริกรรมพุทโธๆไปต่อ เพื่อจะได้ไม่คิด เป้าหมายของการทำสมาธิก็คือทำจิตให้รวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ ที่จะเป็นเหมือนกับตกหลุมตกบ่อตกเหว เวลาจิตรวมลงจะวูบลงไป แล้วก็จะนิ่งสงบ ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆที่มาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ จะตั้งอยู่ในความสงบ มีความสุข มีปีติ มีความอิ่ม มีความพอ มีอุเบกขาความวางเฉย ถ้าสามารถทำจิตให้ไปถึงจุดนั้นได้แล้ว เวลาพิจารณาอะไร แล้วเห็นว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ ไม่มีคุณ ไม่มีประโยชน์ ก็จะเลิกได้อย่างง่ายดาย เช่นเห็นการสูบบุหรี่มีแต่โทษไม่มีประโยชน์ ก็จะเลิกได้ เห็นการเสพสุรายาเมาเป็นโทษ ก็จะเลิกได้ เห็นการทำผิดศีลผิดธรรม ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ ก็จะเลิกได้ จะตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ จะรู้ว่าสุขทุกข์เกิดจากการกระทำ ถ้าทำผิดศีลผิดธรรมก็จะนำมาซึ่งความทุกข์และความเสื่อมเสีย ก็จะไม่ทำอีกต่อไป นี่คือฐานะของพระโสดาบัน เห็นหลักของกรรมอย่างชัดเจน เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  สามารถหยุดการทำชั่วทำบาปได้ ก็จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่ามีจริงหรือไม่ เพราะเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปรากฏขึ้นมาในใจแล้ว เห็นความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ในใจ ไม่ได้อยู่ที่ตรงไหน ไม่ได้อยู่ที่ภายนอก ไม่ได้อยู่กับคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่อยู่ที่ความสงบของใจ อยู่ที่การละความอยากต่างๆ นี่คือพระอริยบุคคลขั้นแรก

 

เมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ กำจัดความอยากต่างๆที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ให้หมดไป เมื่อหมดไปแล้วจิตก็จะสะอาดบริสุทธิ์ กลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา บรรลุถึงพระนิพพาน ไม่ต้องไปเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป เกิดขึ้นจากการเข้าใจในหลักสัจจธรรมความจริง ๔ ประการคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้เอง ถ้ารู้ว่าทุกข์ใจเกิดจากความอยาก การดับทุกข์หรือความสุขในใจ ก็ต้องเกิดจากการดับความอยาก ด้วยการปฏิบัติธรรม ทำบุญให้ทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนาปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าสิ่งต่างๆที่ใจไปหลงยึดติด ว่าเป็นเราเป็นของของเรา เป็นสุข จีรังถาวรนั้น ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความจริงแล้วมันไม่มีตัวไม่มีตน เป็นทุกข์ ไม่จีรังถาวร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ไม่มีอะไรอยู่กับเราไปตลอด ไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่มีอะไรให้ความสุขกับเราไปตลอด พอสูญเสียไปแล้ว ก็ให้ความทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้ามีปัญญาเราก็จะปล่อยวาง ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในบุคคลในสิ่งต่างๆ เพราะเห็นแล้วว่าไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ให้ความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่สมบัติของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เวลาเขาเป็นอะไรไปก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเรา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรอยู่คงเส้นคงวา อยู่กับเราไปตลอด ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ความสุขก็เปลี่ยน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความทุกข์ก็ตามมา แล้วก็ดับไป ความไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตามมา สลับกันไปอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ถ้ายึดติดกับความสุข เวลาความสุขหมดไป ก็จะเสียอกเสียใจ ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับความสุข เวลาความสุขหมดไป ก็จะไม่รู้สึกอะไร จะรู้สึกเฉยๆ

 

จะดับความทุกข์ได้ก็ต้องปล่อยวางเวทนาทั้งสาม ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่อง เวลาความสุขมาก็ไม่ต้องยินดี ไม่ไปยึดไปติด ไม่ไปอยากให้อยู่ไปตลอด เวลาความทุกข์ปรากฏขึ้นมา ก็ไม่รังเกียจ ไม่ขับไล่ไสส่ง เดี๋ยวก็ดับไปเอง เหมือนกับความหนาวกับความร้อน มาแล้วเดี๋ยวก็ไป ไม่ต้องไปทำอะไร เพียงแต่ดูแลรักษาใจและกายให้ดีไว้ก็พอ เวลาหนาวกายก็หาเสื้อผ้ามาห่ม ใจก็ทำให้เป็นอุเบกขา ปล่อยวาง อย่าไปอยากให้ความหนาวหายไป เพราะจะอยากอย่างไรก็ไม่ทำให้หายไปได้ ถ้าอยากให้หนาวต่อไปก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะความอยากไม่สามารถบังคับให้สิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับใจเท่านั้น ทางเดียวก็คือ ต้องรับกับทุกสภาพที่จะเกิดขึ้น เพราะใจรับได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถูกกิเลสถูกความหลงหลอกให้ไปเลือก ให้ไปยินดีสิ่งนั้น ให้ไปรังเกียจสิ่งนี้ พอต้องไปสัมผัสกับสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ ก็จะเกิดความรัก เกิดความชังขึ้นมา แล้วก็เกิดปัญหาตามมา เกิดความทุกข์ตามมา เพราะรักอะไรก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ อยากจะให้อยู่ไปตลอด แล้วก็มีความห่วงมีความกังวล กลัวว่าจะไม่อยู่ไปตลอด พอต้องจากกันไป ก็เศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ เวลาไปสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบก็เกิดความรังเกียจ เกิดความวุ่นวายใจ อยู่เฉยไม่ได้ อยากจะให้ผ่านไป อยากจะให้หายไป อยากจะให้หมดไป ดิ้นรนหาวิธีการต่างๆ ยิ่งพยายามเท่าไรก็ยิ่งวุ่นวายใจมากขึ้นไปเท่านั้น ถ้าสิ่งที่ต้องการให้หายไปไม่ยอมหายไป แต่ถ้าทำใจให้เฉยเป็นอุเบกขากับทุกสภาพแล้ว ใจก็จะผ่านทุกสิ่งทุกอย่างไปได้อย่างสบาย ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดไหน เช่นมีระเบิดนิวเคลียร์ตกลงมา ก็ไม่สามารถทำลายใจได้ ทำลายได้แต่ข้าวของต่างๆ หรือร่างกายของเราเท่านั้น แต่ใจนี้ไม่มีอะไรสามารถทำลายได้

 

ใจของเราเพียงแต่รับรู้เท่านั้นเอง รับรู้แล้วก็ผ่านไป สมมติว่าร่างกายนี้หมดไป ใจก็ไม่ได้หมดไปด้วย ถ้าระเบิดนิวเคลียร์ตกลงมา ทำให้ร่างกายแหลกสลายไป ใจก็ไม่ได้แหลกสลายไปด้วย ใจเพียงแต่รู้ว่าร่างกายดับไป ถ้ายังมีความหลง ก็จะพาให้ไปเกิดใหม่ ตามบุญตามกรรมที่ได้ทำไว้ ถ้ามีปัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ใจก็จะไม่ไปไหน จะอยู่ในพระนิพพานไปตลอด ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ไม่ไปหลงยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ ไปทุกข์กับสิ่งต่างๆอีกต่อไป เพราะใจไม่หิวไม่อยาก ใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เห็นด้วยปัญญาว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่น่ายึดติด น่ายินดี น่าเอามาเป็นสมบัติ เพราะเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตานั่นเอง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของของเรา เป็นสิ่งที่เราควรศึกษาอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ฝึกทำใจปล่อยวาง ด้วยการทำสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์เช้าเย็น ทำมากๆ ทำนานๆ ให้สงบ ให้นิ่ง ให้เย็น ให้สบาย แล้วจะปล่อยวางสิ่งต่างๆได้ ไม่ต้องออกไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปดูหนังฟังเพลง ไปหาเพื่อน ไปเล่น ไปทำอะไรต่างๆให้เสียเวลา สิ่งต่างๆที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ช่วยจิตใจให้มีความทุกข์น้อยลงเลย มีแต่สร้างความทุกข์ให้มีมากยิ่งๆขึ้นไป โดยไม่รู้สึกตัว เพราะความหลงพาไป เราจึงต้องเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งก็ควรเข้าวัดสักครั้งหนึ่ง ถ้าจะให้ดีควรจะฟังเทศน์ฟังธรรมกันทุกวันเลย ไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดก็ฟังกันที่บ้าน ใช้เวลาตอนเช้ามืด ตื่นแต่เช้าหน่อย

 

ตื่นเช้ากว่าเดิมอีกสักชั่วโมงหนึ่ง นอนก่อนสักชั่วโมงหนึ่ง อย่าไปเสียดายพวกละครทางโทรทัศน์ หรือกิจกรรมต่างๆที่ไร้สาระ เอาเวลามานอนดีกว่า เพื่อจะได้ตื่นก่อนที่เคยตื่น สักชั่วโมงหรือสองชั่วโมง เพื่อไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ เปิดธรรมะฟัง หรืออ่านหนังสือธรรมะ ถ้าทำอย่างนี้ได้ทุกวัน เวลาออกไปข้างนอก ไปทำงานทำการ จิตใจจะมีเครื่องคุ้มครองรักษา ไม่ให้ทุกข์วุ่นวายใจ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ว่าจะไปประสบกับเหตุการณ์อะไร ใจจะมีภูมิคุ้มกัน จะมีธรรมะ เพราะรู้ว่าชีวิตเป็นอย่างนี้ ไม่วุ่นวายใจกับสิ่งต่างๆ เพราะไม่ได้หวังอะไร ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว มักจะหวัง อยากจะทำอย่างนั้น อยากจะได้อย่างนี้ แล้วก็หวังว่าจะเป็นไปตามอยาก แต่พอไม่ได้เป็นก็วุ่นวายใจ แต่ถ้ามีธรรมะแล้วจะไปแบบว่างๆ ไม่ตั้งความหวัง ไม่อยาก ทำไปตามหน้าที่ ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ทำไป ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ขยันหมั่นเพียร ด้วยสติด้วยปัญญา หามาได้มากน้อยเพียงไรก็พอใจ แล้วก็ใช้ในกรอบของรายได้ ก็จะไม่วุ่นวายใจกับอะไร  แม้จะหาไม่ได้เลย ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องปกติ บางวันก็หาได้ บางวันก็หาไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ถึงจะหาไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไร อย่างมากก็แค่ตาย คนเราเกิดมาทุกคนสักวันหนึ่งก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐี เป็นมหากษัตริย์ เป็นยาจกคนขอทาน ก็เป็นเหมือนกัน สักวันหนึ่งชีวิตก็ต้องจบเหมือนกัน แต่เวลาที่อยู่จะอยู่กันอย่างไร จะอยู่ด้วยการผูกมัด สร้างความทุกข์ด้วยความอยากต่างๆ หรือจะอยู่แบบไม่ทุกข์ ด้วยการเจริญสติปัญญา ด้วยการเจริญมรรค ทำบุญทำทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญปัญญา ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ

 

นี่คือการอยู่ของคนเรา มีอยู่สองทางเลือก อยู่แบบวุ่นวายใจกับความอยากความต้องการต่างๆ หรืออยู่แบบปล่อยวาง ยินดีตามมีตามเกิด ได้อะไรมาก็พอใจกับสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะดีหรือจะชั่ว ก็รับรู้ไปเท่านั้นเอง วันนี้มีคนมาขโมยข้าวของไป เมื่อขโมยไปแล้วจะทำอย่างไรได้ จะมาร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจ ก็ไม่ได้ของคืนมา เสียของก็พอแล้ว อย่าไปเสียใจ รักษาใจไว้ ทำใจให้เป็นปกติด้วยปัญญา ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีมามีไปเป็นธรรมดา สักวันหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีก็จะต้องจากเราไป หรือเราต้องจากมันไป จะไปเสียดายอะไรกับของแค่นี้เอง นี่คือปัญญา ขอให้เจริญอยู่เรื่อยๆ ทุกเช้าก่อนที่จะออกจากบ้าน ถ้ามีเวลาปฏิบัติกิจทางจิตใจสักชั่วโมงสองชั่วโมงแล้ว จะมีเครื่องคุ้มครองจิตใจ ให้ดำเนินชีวิตไปอย่างราบรื่น มีแต่ความสุข ท่ามกลางความวุ่นวาย ท่ามกลางความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะใจไม่ได้เสียหายไม่ได้วุ่นวายกับอะไร เพราะใจไม่ได้ไม่เสียกับอะไร อย่าไปคิดว่าเราได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา เพราะใจเพียงแต่รับรู้เท่านั้น ว่ามีเท่านั้นมีเท่านี้ แต่จะให้อยู่กับใจไปตลอดได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะสักวันหนึ่งใจก็ต้องเดินทางต่อไป หรือสักวันหนึ่งสิ่งที่ได้มาก็ต้องหมดไป ขอให้ศึกษาธรรมะ ศึกษาชีวิตของเราด้วยธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า มองอะไรให้มองในมุมของไตรลักษณ์เสมอ มองความไม่เที่ยง  ความทุกข์ ความไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นของเรา

 

ถ้ามองอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ตัณหาความอยากต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นมา เมื่อไม่มีความอยาก ไม่มีอุปาทานแล้ว ความทุกข์ต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นมา เพราะความทุกข์เกิดจากความหลง ที่ทำให้เกิดอุปาทานความยึดมั่น เกิดตัณหาความอยากขึ้นมา จึงต้องเจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยก็ตอนเช้าตื่นขึ้นมา ก่อนจะออกจากบ้าน ก็ให้ระลึกถึงอนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วก็ทำจิตให้สงบนิ่ง เพื่อจะได้รับกับสภาพต่างๆที่จะเกิดขึ้น  ถ้าทำใจให้นิ่งเฉยได้แล้ว จะไม่มีปัญหาเลย ไม่มีอะไรจะมาทำให้ใจทุกข์ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อย่าใช้ไปกับเรื่องไร้สาระ เสพความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ที่จะฉุดลากให้ลงสู่กองทุกข์ ไม่ได้ฉุดให้ขึ้นมา อย่าเห็นว่าเป็นความสุข ต้องเห็นว่าการตื่นแต่เช้ามืดเพื่อนั่งสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ เจริญปัญญา ดำเนินชีวิตด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความเมตตา ด้วยความเสียสละ เป็นวิถีทางที่ถูกต้อง ที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ ไร้ความทุกข์ ขอให้นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ ไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้