กัณฑ์ที่ ๒๙๘ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
เจริญสติเป็นหลัก
หลักของสติปัฏฐาน ๔ ก็คือให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย เวทนา จิต ธรรม การพิจารณาธรรมในแง่ต่างๆ เช่นพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เรียกว่ามีสติอยู่กับธรรม ถ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย เดินยืนนั่งนอน ด้วยสติไม่ส่งจิตไปที่อื่น เรียกว่ามีสติอยู่กับกาย ส่วนใหญ่เราจะทำหลายอย่างควบกันไป เวลาจะลุกก็เพียงคิดว่าจะลุก แล้วก็คิดเรื่องอื่นต่อ ในขณะที่กำลังลุก กำลังเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน แต่ในขณะเดียวกันก็คิดเรื่องอื่นไปด้วย อย่างนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าสติปัฏฐานแล้วต้องอยู่กับการยืน การเดิน การนั่ง การนอนอย่างเดียว ให้รู้อยู่ตรงนั้น ถ้าจะคิดก็ให้คิดเรื่องของร่างกายว่ามีอาการอะไรบ้าง มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก มีอาการ ๓๒ ส่วนด้วยกัน พิจารณาไปเรื่อยๆให้จิตท่องเที่ยวอยู่ในกาย จะเกิดเป็นปัญญาขึ้นมา ถ้าไม่มีสติการปฏิบัติจะไม่ได้ผล เวลาจะทำจิตให้สงบ กำหนดจิตให้อยู่กับพุทโธก็ดี อยู่กับบทสวดมนต์ก็ดี อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ดี จะอยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้เพียงแป๊บเดียว แล้วก็จะเผลอไปคิดเรื่องต่างๆ โดยไม่รู้สึกตัวว่ากำลังเผลอ ยังคิดว่าอยู่กับลมหายใจ กำลังภาวนาอยู่ แต่ความจริงกำลังนั่งคิดไปเรื่อยเปื่อย นั่งไปนานสักเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผล คือความสงบของจิต แต่ถ้ามีสติแล้วจิตจะไม่ค่อยไปไหน ถึงแม้จะไปก็จะรู้ว่าไป แล้วก็ดึงกลับมาได้ เวลาอยู่กับลมก็ควรรู้ว่า หายใจเข้าหายใจออก พอไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็รู้ว่าไปแล้ว ก็ต้องดึงกลับมาที่ลม แล้วก็ดูลมต่อไป หรือถ้าบริกรรมพุทโธ ก็อยู่กับพุทโธๆไป หรือจะท่องเที่ยวดูอาการ ๓๒ ของร่างกายแทนพุทโธก็ได้ แทนที่จะบริกรรมพุทโธๆ ก็ท่องคำว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ฯลฯ ท่องไปเรื่อยๆจนครบอาการ ๓๒
ถ้าชำนาญแล้วก็ท่องถอยหลังออกมา พิจารณาเข้าไปแล้วก็พิจารณาออกมา ถ้าท่องถอยหลังออกมาไม่ได้ก็ท่องจากข้างนอกเข้าไปก่อน ผมขนเล็บฟันเข้าไป ท่านสอนให้พิจารณาทั้งอนุโลมและปฏิโลม อนุโลมก็คือพิจารณาเข้าไป ปฏิโลมก็คือพิจารณาย้อนออกมา ทั้ง ๓๒ อาการ ในเบื้องต้นเพียงแต่ท่องให้ขึ้นใจก่อน ไม่ต้องกำหนดดูรูปลักษณะว่าเป็นอย่างไร ให้ใจอยู่กับอาการทั้ง ๓๒ เพื่อจะได้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ที่จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา ถ้าอยู่กับอาการ ๓๒ แล้ว หรืออยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจอย่างต่อเนื่อง จิตจะค่อยๆขยับเข้าไปสู่ความสงบ เวลาจิตสงบของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนก็ค่อยๆสงบ บางคนก็วูบลงไป จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจิตมีสติอย่างต่อเนื่อง อยู่กับงานที่ให้จิตทำเท่านั้น แล้วจะรู้สึกว่าการภาวนานี้ไม่ยากเลย เคล็ดลับอยู่ตรงสตินี้ตัวเดียว ในบรรดาธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบสติเป็นเหมือนรอยเท้าช้าง มีความยิ่งใหญ่กว่าธรรมทั้งหมด รอยเท้าช้างครอบรอยเท้าของสัตว์ทุกชนิด เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ธรรมที่จำเป็นต่อการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นก็คือสติ เป็นตัวสำคัญที่สุด จึงสอนให้เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าไปที่สำนักไหน ไปฟังเทศน์ครูบาอาจารย์องค์ไหน จะต้องเน้นเรื่องการเจริญสติเสมอ ที่ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธๆ ก็เรียกว่าพุทธานุสติ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้าสวดมนต์ก็เป็นธรรมานุสติ เพราะบทสวดมนต์เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าระลึกถึงครูบาอาจารย์ ระลึกถึงประวัติอันดีงามของท่าน ระลึกถึงหน้าของท่านก็เป็นสังฆานุสติ
เวลาระลึกถึงท่านจะได้อะไรหลายอย่าง จิตจะสงบ จะมีความเลื่อมใส มีศรัทธา มีความเพียร เห็นท่านปฏิบัติ เห็นท่านได้บรรลุ ก็ทำให้มีกำลังใจ รู้ว่างานที่เรากำลังทำอยู่ไม่ไร้ผล ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็จะได้เป็นเหมือนท่านอย่างแน่นอน เพราะตัวท่านเองเมื่อก่อนก็เป็นเหมือนกับเราตอนนี้ ไม่ประสีประสา ไม่มีสติสตัง แต่พอได้พบกับครูบาอาจารย์ พบกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมเอาไปปฏิบัติ ท่านก็ค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นสังฆรัตนะ ให้พวกเราได้กราบไหว้บูชา ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมของท่าน ได้ยึดท่านเป็นแบบฉบับ ได้ท่านเป็นกำลังใจ ถ้าไม่มีคนดีคนเก่งเป็นหัวหน้า เราจะรู้สึกว้าเหว่ ไม่แน่ใจในตัวเอง ไม่กล้าหาญ ไม่ขยันหมั่นเพียร ที่จะปฏิบัติ เพราะไม่รู้ว่าปฏิบัติไปแล้วจะได้ผลหรือไม่ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ได้ผ่านการปฏิบัติมาอย่างโชกโชนแล้ว เอาสิ่งต่างๆที่ท่านได้ประสบ ทั้งด้านเหตุและด้านผล เหตุก็คือการปฏิบัติแบบไม่ท้อถอย ด้วยความเข้มแข็งด้วยความอดทนด้วยความกล้าหาญ ผลก็คือธรรมขั้นต่างๆที่ปรากฏขึ้นในจิตในใจ ที่ทำให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ปลอดจากความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ก็จะทำให้เรามีกำลังใจ มีศรัทธาความเชื่อ มีฉันทะความยินดี ที่จะต่อสู้กับความทุกข์ความยากความลำบากต่างๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติ อย่างอาตมาตอนที่ยังไม่ได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ ก็ปฏิบัติไปแบบพอไปได้ แต่ไม่เข้มข้นอะไร ฉันอาหารวันละมื้อ แต่พอไปที่วัดป่าบ้านตาด เห็นพระอดอาหารกันทีละ ๕ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน ก็ทำให้มีกำลังใจ เพราะมีตัวอย่างที่ดี เพราะไม่รู้มาก่อนว่า การอดอาหารเป็นประโยชน์ แก่การปฏิบัติ แก่การภาวนา เมื่อมีโอกาสได้ทดลองดู ก็เห็นคุณค่า ก็อาศัยการอดอาหารเป็นเครื่องช่วยฉุดช่วยดึงช่วยผลักช่วยดัน ให้การภาวนาเข้มข้นขึ้น ให้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
เพราะเวลาอดอาหารจะอยู่อย่างสบายๆเฉยๆไม่ได้ เพราะท้องมันร้องอยู่ตลอดเวลา ทุกขเวทนาปรากฏตลอดเวลา ที่หนักไม่ได้อยู่ที่กายเวทนาคือการขาดอาหาร แต่อยู่ที่จิตเวทนาที่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง คิดแต่เรื่องอาหาร มันทรมานใจมาก วิธีที่จะดับความทรมานใจนี้ได้ก็คือการภาวนา ให้มีสติอยู่กับกายก็ได้ อยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้ อยู่กับกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เช่นพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารก็ช่วยได้ ถ้าพิจารณาเห็นความเป็นปฏิกูลจิตก็จะหยุดปรุง เมื่อเห็นว่าสภาพของอาหารที่ฝันถึงนั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่ฝัน เวลาเข้าไปในปากเข้าไปในท้องแล้วจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความหิวที่เกิดจากจิตคิดปรุงก็จะหายไปหมดเลย เหลือแต่ความอ่อนเพลียทางร่างกาย ซึ่งเป็นพื้นๆ ไม่ได้เป็นเหมือนฆ้อนที่ทุบจิตใจเหมือนกับความคิดปรุง เวลาคิดปรุงเรื่องอาหารจะทรมานใจมาก เหมือนเอาฆ้อนมาทุบตี ก็เลยเห็นคุณค่าของการทำความเพียร ก็เลยต้องนั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิก็ต้องเดินจงกรมต่อ ไม่ให้มีเวลาไปคิดปรุงเรื่องอาหารเลย เวลานั่งไปพอจิตสงบความหิวก็หายไป เพราะจิตไม่ได้คิดปรุงเรื่องอาหาร แต่พอสักระยะหนึ่งความสงบก็ค่อยจางไป ความคิดปรุงก็กลับเข้ามาต่อ ถ้าไม่ควบคุมจิตให้พิจารณาทางด้านธรรมะ ก็จะแวบไปคิดถึงอาหารอีก ก็จะเกิดความหิวขึ้นมาอีก ก็ต้องภาวนาอีก ไม่เช่นนั้นจะทรมานใจจะทุกข์มาก ปล่อยไว้ไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้ได้ภาวนาอย่างต่อเนื่อง เห็นความแตกต่างระหว่างเวลาอดกับไม่อด วันไหนที่ฉันจะคิดถึงหมอนก่อน ไม่ได้ภาวนา ถ้าภาวนาก็จะหลับ เวลาฉันอาหารเสร็จจะง่วงเหงาหาวนอนเป็นธรรมดา
ต้องเดินจงกรม นั่งไม่ได้ นั่งแล้วก็หลับทันที ไม่มีตัวคอยกระตุ้นให้ภาวนา คือความทุกข์ทางด้านจิตใจ เพราะได้ฉันอาหารแล้ว จิตก็ไม่คิดไม่ปรุงเรื่องอาหาร จึงไม่มีความทุกข์ทางด้านจิตใจ มาคอยกระตุ้นให้ภาวนา ให้ดับความทุกข์ใจที่เกิดจากความคิดปรุง พอกลับมาฉันสัก ๒-๓ วันก็เห็นว่าไม่ได้ท่าแล้ว ไม่ภาวนาเท่าที่ควร ก็ต้องกลับไปอดอีก สลับกันไปอยู่อย่างนี้ อด ๓ วัน ๕ วันแล้วก็กลับมาฉัน ๒-๓ วัน แล้วก็กลับไปอดใหม่ สลับกันไป แต่ละรูปก็อดไม่เหมือนกัน บางรูปจะถือเป็นธรรมเนียม พอเข้าพรรษาจะต้องอด ๓๐ วัน แต่ไม่ได้อดแบบไม่มีอะไรฉันเลย ตอนบ่ายๆก็มีพวกน้ำปานะฉัน น้ำผึ้งน้ำอ้อย ในตอนเช้าบางทีก็มีพระที่ไปบิณฑบาต จะเก็บพวกนมกล่องมาฝากบ้าง ก็พอฉันได้ถ้าฉันก่อนเพลและฉันครั้งเดียว ก็ยังถือว่าไม่ผิดกติกา แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยของครูบาอาจารย์ ท่านว่าไม่มีของพวกนี้เลย เพราะอยู่ในป่า ถ้าอดก็อดจริงๆ มีแต่น้ำอย่างเดียว หรือบ่ายๆก็อาจจะมีน้ำปานะฉันบ้าง แต่ถ้าไปธุดงค์อยู่องค์เดียวก็มีแต่น้ำอย่างเดียว สมัยก่อนไม่มีความพร้อมเพรียงเหมือนสมัยนี้ แม้แต่ภาพของโอวัลตินโกโก้นมก็ยังไม่มีให้ดูเลย แล้วจะมีของจริงมาให้ดื่มได้อย่างไร นั่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
การภาวนาจึงอยู่ที่การเจริญสติเป็นหลัก ที่จะนำไปสู่ความสงบ นำไปสู่การเจริญปัญญา ขึ้นอยู่กับกรรมฐานที่ใช้ ถ้าใช้พุทโธๆก็จะเป็นกรรมฐานเพื่อความสงบ แต่จะไม่ได้ปัญญา ถ้าพิจารณาอาการ ๓๒ ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา จะเห็นความไม่สวยงามของร่างกายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง ส่วนใหญ่เราจะเห็นเพียงแต่อาการ ๕ ส่วนคือ ผมขนเล็บฟันหนัง แล้วก็ไม่ได้เห็นแบบกรรมฐานเห็น เห็นแบบความหลงเห็น ว่าสวยว่างาม แต่ถ้าพิจารณาแต่ละชิ้นแต่ละส่วน เช่นพิจารณาผมก็เห็นว่าไม่ได้สวยอะไรเลย ถ้าหล่นลงไปบนดินก็ไม่มีใครจะหยิบขึ้นมา ถ้าหล่นลงไปในอาหารก็ทำให้ไม่น่ารับประทาน ต่อไปก็จะไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ จากสีดำก็จะกลายเป็นสีขาว ร่วงออกจากศีรษะไปเรื่อยๆ จนไม่มีผมหลงเหลืออยู่ ก็จะเห็นความไม่เที่ยงของผม หนังก็เช่นเดียวกันพิจารณาดู ก็จะเห็นว่าเป็นแผ่นบางๆที่ปกคลุมเนื้อไว้ ถ้าลอกหนังออกมาแล้วคนเราจะไม่น่าดูเลย นี่คือการพิจารณาแบบกรรมฐาน จะเห็นสิ่งที่ไม่สวยงามที่ซ่อนเร้นอยู่ การพิจารณาร่างกายก็พิจารณาได้หลายลักษณะด้วยกัน อาการ ๓๒ ก็เป็นลักษณะหนึ่ง ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่จะพิจารณาอาการ ๓๒ ก็พิจารณาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายก็ได้ พิจารณาว่าวันๆหนึ่งก็แก่ลงไปเรื่อยๆ ทุกวันทุกเวลาทุกขณะ ร่างกายจะแก่ลงไปเรื่อยๆ ถ้าดูภาพของเราเมื่อ ๕ ปีก่อนกับวันนี้ ก็จะเห็นความแตกต่างกัน ว่าแก่ลงไปจริงๆ แต่ไม่ได้แก่แบบทันทีทันใด ค่อยๆแก่ ค่อยๆขยับไปเรื่อยๆ ต้องพิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็ต้องอายุ ๖๐ ๗๐ ๘๐ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย มีโรคภัยเบียดเบียน แล้วในที่สุดก็จะต้องหยุดหายใจ เป็นซากศพไป พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะได้ปล่อยวางได้ จะได้ไม่หลงยึดติดกับร่างกายอีกต่อไป
การปล่อยวางก็คือการยอมรับความจริง ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ เวลารับความจริงได้แล้ว ความจริงจะไม่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ถ้ารู้ว่ามีคนจะมาทวงหนี้ ก็ต้องเตรียมเงินไว้ เวลาเขามาก็ให้เขาไป เราก็ไม่เสียใจเสียดายอย่างไร เพราะรู้ว่าถ้าไม่ให้เขา เขาอาจจะฆ่าเราก็ได้ เราก็ยอมเสีย เสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่เอาไว้ ถ้ายอมรับความจริงเสียอย่างแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะไม่เสียใจ จะไม่ทุกข์ใจ ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนแล้ว เมื่อรู้ว่าจะต้องถูกไล่ออกจากงาน ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน พอถึงวันที่ให้ออก ก็จะไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าจะไม่ได้อยู่แน่นอน ไปร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจ ก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงได้ แต่เมื่อยอมรับความจริงแล้วจะรู้สึกเฉยๆ จะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อได้พิจารณาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ก็รู้ว่าไม่เป็นอื่น ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับอะไรแล้ว ก็ไม่เสียอกเสียใจ เวลาคนอื่นตกงานสูญเสียอะไรไป เราก็ไม่ได้ไปเสียอกเสียใจไปกับเขา เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา แต่เป็นของเขา ของที่เขาเสียกับของที่เราเสียก็เป็นของชนิดเดียวกัน ถ้าเป็นรถก็รถเหมือนกัน เป็นเงินทองเหมือนกัน เป็นเพียงกระดาษ ถ้าไม่ได้เอาไปซื้อข้าวซื้อของเอาไปใช้ เสียกระดาษไปจะไปเสียดายทำไม ถ้าไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ ไม่อาศัยสิ่งต่างๆให้ความสุขกับเรา เพราะมีความสุขในตัวแล้ว มีความสงบในจิตแล้ว เงินทองต่างๆสิ่งของต่างๆไม่มีความหมายอะไร มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ความสุขกับจิต เพราะไม่ได้สุขเท่าที่ควร มันทุกข์มากกว่าสุข ถ้าพึ่งพาอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ความสุข มันก็ให้ความทุกข์ด้วย ต้องกังวลว่าจะให้ความสุขไปเรื่อยๆหรือเปล่า เวลาที่มันจากไปจริงๆ เช่นหมดเงินหมดทอง ไปเที่ยวไม่ได้ ซื้อของอะไรไม่ได้ ก็จะทุกข์ใจ แต่ถ้าไม่ได้อาศัยเงินทองไว้ซื้อของที่ไม่จำเป็น ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน ไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ซื้อรองเท้าใหม่ก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะมีเหลือเฟือเหลือใช้อยู่แล้ว
ปัญหาของเราจึงอยู่ที่จิตไม่สงบ เมื่อไม่สงบก็ปล่อยให้ความหลงออกทำงาน ก็จะคิดว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี น่าจะหามาให้ความสุข ก็เกิดความอยาก อยู่เฉยๆไม่ได้ ก็ต้องไปหา หาเงินหาทองไว้ซื้อความสุข แทนที่จะอาศัียธรรมะคือสติเป็นเครื่องหาความสุขให้ กลับไปพึ่งสิ่งภายนอกที่ไม่แน่นอน เช่นเงินทอง กว่าจะได้มาก็แสนจะลำบาก ได้มาแล้วเดี๋ยวเดียวก็หมด ใช้แป๊บเดียวก็หมด สู้หาความสุขที่เกิดจากการเจริญสติไม่ได้ เพราะสามารถเจริญได้ตลอดเวลา ไม่ต้องซื้อสติ ซื้อไม่ได้ด้วย มีเงินเป็นหมื่นล้านแสนล้านก็ซื้อสติไม่ได้ ธรรมะให้ความเสมอภาคกับทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน รวยก็ปฏิบัติได้ จนก็ปฏิบัติได้ เงินซื้อสติไม่ได้ ซื้อสมาธิไม่ได้ ซื้อปัญญาไม่ได้ คนรวยต้องทำบุญทำทานมากกว่าคนจน เพราะมีมากกว่า ถ้าไม่ให้ไม่สละก็จะทุกข์กับเงินทอง การทำบุญให้ทานเป็นอุบายเพื่อปล่อยวาง ไม่ได้ให้ไปหาเงินทองมามากๆเพื่อเอามาทำบุญ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปหา ทำเท่าที่มี เพราะเป็นเพียงขั้นหนึ่งของการปฏิบัติ เป็นการปลดเปลื้องให้หลุดจากการยึดติดกับเงินทอง ถ้าไม่สละไปก็จะมีแต่ความกังวล ยึดติดอยู่กับเงินทอง ก็จะต้องเสียเวลากับการดูแลรักษาเงินทอง แล้วก็หามาเพิ่มอีก จนทำให้ไม่สามารถไปรักษาศีลไปภาวนาได้ จึงควรตัดไปปล่อยไปสละไป เก็บไว้เท่าที่จำเป็น จะได้มีเวลาไปทำบุญขั้นที่สูงขึ้น คือรักษาศีลและภาวนา อย่าไปคิดว่าการมีเงินทองมากๆเป็นบุญมาก เพราะเป็นบุญขั้นต่ำ บุญที่สูงกว่าการให้ทานก็คือการรักษาศีล ไม่มีเงินก็รักษาได้ อานิสงส์ของศีลก็สูงกว่าทาน ทานทำให้เรามีเงินมีทอง มีความสุขความสบาย เวลาไปเกิดในภพต่อไปจะไม่อดอยากขาดแคลน แต่ไม่สามารถส่งให้ไปเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทพได้ ถ้าไม่รักษาศีล
ถ้าทำบุญทำทานแต่ยังทำผิดศีลผิดธรรม โกหกหลอกลวง ฉ้อโกง ประพฤติผิดประเวณี ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เวลาตายไปจะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นเทพ ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล แต่จะเกิดเป็นสัตว์ที่มีความสวยงาม เป็นนกสวยงาม เป็นสุนัขสวยงาม ที่คนมีสตางค์ซื้อเอาไปเลี้ยงเป็นลูก คนมีเงินแต่ไม่มีลูก ก็ซื้อหมามาเป็นลูกแทน เลี้ยงหมาเหมือนกับเลี้ยงลูก ถ้าทำทานมามากแต่ไม่ได้รักษาศีล ก็จะเกิดเป็นสัตว์ที่สวยงาม ถ้ารักษาศีลแต่ไม่ได้ทำทานเลย หรือทำตามมีตามเกิด ก็จะได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นเทพเป็นพรหมต่อไป ต้องมีศีลเป็นผู้พาไป สีเลนะ สุคติง ยันติ ศีลเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ คือภพของมนุษย์ ของเทพ ของพรหม ของพระอริยบุคคล ศีลเป็นปัจจัยเบื้องต้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าจะไปสูงกว่ามนุษย์กว่าเทพจะต้องมีสมาธิ จะเป็นพรหมได้ต้องมีสมาธิ จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ต้องมีวิปัสสนา มีดวงตาเห็นธรรม เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วปล่อยวางได้ เช่นพิจารณาร่างกายว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ถ้าเห็นชัดเจนแล้ว จิตก็จะปล่อยวางร่างกาย จะเห็นร่างกายเป็นเหมือนกับขวดน้ำแก้วน้ำ เป็นเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง จะไม่ยึดติดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรา จะไม่อยากให้อยู่ไปตลอด รู้ว่าสักวันหนึ่งต้องเสื่อม ต้องเสียต้องตายไป แต่เมื่อปล่อยวางแล้วก็จะไม่ทุกข์ นี่คือการเจริญวิปัสสนา เพื่อปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรา เป็นธรรมะขั้นสูงขึ้นไป จากศีลก็ต้องเข้าสู่สมาธิ จากสมาธิก็เข้าสู่วิปัสสนา เข้าสู่ปัญญา เพื่อไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ ที่เกิดจากการยึดติดกับสิ่งต่างๆ จึงไม่ควรไปกังวลกับการทำทานให้มากจนเกินไป
มีคนมาเล่าให้ฟังว่าเวลาไปกราบหลวงตา เห็นคนถวายทองกัน แต่ตนเองไม่มีปัญญาที่จะถวาย ก็น้อยอกน้อยใจ เราก็บอกเขาว่า ไม่ต้องน้อยใจหรอก ทำไปตามฐานะของเรา ถ้ามีก็ทำไป ถ้าไม่มีก็ควรทำบุญที่สูงกว่าที่ดีกว่า เช่นการรักษาศีล เขาบอกว่ารักษาศีลไม่ได้ เพราะพยายามทำงานหาเงินมาทำบุญ แสดงว่ายังติดอยู่กับการให้ทาน ก็เลยไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ธรรมที่สูงกว่าการให้ทานได้ ให้ตามฐานะของเรา มีมากน้อยเพียงไรก็ให้ไป เพราะเราทำเพื่อไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ไม่ต้องกลัวว่าจะกลับมาไม่รวย ถ้ากลับมารวยกลับไม่ดี รวยแล้วปล่อยยาก ปลงยาก ออกปฏิบัติยาก จะติดไปอีกนาน ถ้าเกิดมาแล้วจนจะดีกว่า ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ยากจนทั้งนั้น เป็นลูกชาวนาชาวไร่ ไม่มีเงินมีทองเหมือนพวกเรา จึงออกบวชกันได้ง่าย ปฏิบัติกันได้ง่าย พวกเราเกิดบนกองเงินกองทองกัน สุขสบายกัน พอจะไปอยู่วัดถือศีล ๘ ก็ทำไม่ได้ ไม่มีแอร์ ไม่มีอาหารเย็นรับประทาน ไม่มีฟูกนอน ก็เลยติดอยู่กับการทำทาน รักษาศีลได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้ารักษาได้มากก็ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์บ่อย ถ้ารักษาได้น้อยก็กลับมาไม่บ่อย ถ้าเกิดแล้วก็จะสบาย อย่างน้อยก็พอมีพอกิน ถ้าไม่เหลือกินเหลือใช้ เพราะชอบให้ทานกัน แต่ก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ จะไปไม่ถึงไหน กี่ภพกี่ชาติ เจอพระพุทธเจ้ากี่องค์ ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เจอครูบาอาจารย์กี่องค์ก็ทำบุญกับท่านไป ทำบุญกับพระพุทธเจ้าไป ไม่ขยับขึ้นไปสู่การรักษาศีล สู่การภาวนา ไม่ดูท่านเป็นตัวอย่าง ท่านภาวนากัน มีศีลกัน เรากลับไม่คิดอย่างนั้น คิดเพียงว่าอยากจะทำบุญทำทานกับท่าน เพราะได้บุญเยอะ คิดเท่านั้นเอง
การทำบุญให้ทานเป็นการปลดเปลื้องความยึดติดกับเงินทอง ที่มีเกินความจำเป็น จะได้ไม่ทุกข์ วุ่นวายใจ เสียอกเสียใจ คนที่ทำบุญอยู่เป็นประจำเวลาเงินทองหายไป หมดเนื้อหมดตัว จะไม่ค่อยทุกข์เท่าไหร่ ไม่เหมือนกับคนที่ไม่เคยให้ทานไม่เคยทำบุญ เวลาเงินหายไปสัก ๕ บาท ๑๐ บาทก็จะวุ่นวายใจ โกรธแค้นโกรธเคือง แต่ถ้าเคยทำอยู่เรื่อยๆ ก็จะคิดว่าเป็นการทำบุญทำทานไป ไม่ต้องเสียเวลาไปวัด มีคนมารับบริจาคถึงบ้านเลย เพราะไม่ได้อาศัยเงินก้อนนี้อยู่แล้ว จึงอย่าไปกังวลกับเรื่องการทำบุญให้ทาน มีก็ทำไป มีมากก็ควรทำมาก มีน้อยก็ทำน้อย ทำไปตามกำลัง แต่อย่าไปหาเงินหาทองมาทำบุญทำทาน ทำมาหากินไป ถ้าเป็นวาสนาของเราเกิดรวยขึ้นมา ก็เอาไปทำบุญได้ แต่ถ้าไม่รวย ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องอยู่ไปตามอัตภาพ มารักษาศีลกัน มาภาวนา มาเจริญสติกัน เราสามารถเจริญสติได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ไม่ต้องไปวัดก็เจริญได้ เช้าตื่นขึ้นมาก่อนจะลุกจากเตียง ก็ควรตั้งสติก่อน ทำความรู้ว่าจะทำอะไรต่อไป เฝ้าดูกับการกระทำ อย่าไปคิดอะไร พอลุกขึ้นมาจะเดินเข้าห้องน้ำ จิตก็แนบติดไปกับร่างกาย จิตเป็นเหมือนยาม ร่างกายเป็นเหมือนนักโทษ จิตต้องคอยเฝ้านักโทษไว้ นักโทษจะไปห้องน้ำก็ต้องไปกับนักโทษ นักโทษจะดื่มก็ต้องดื่มกับนักโทษ ร่างกายจะทำอะไรก็ให้จิตติดไปด้วย ต่อไปจะมีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา พอจะให้อยู่กับพุทโธๆก็จะอยู่ จะไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้ามีความจำเป็นต้องคิดอะไร ก็หยุดทำอย่างอื่นไปก่อน นั่งลงก็ได้ ยืนเฉยๆก็ได้ แล้วก็พิจารณาคิดไปให้พอ ว่าวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง เมื่อคิดเรียบร้อยแล้ว ก็หยุดคิด แล้วกลับมาทำต่อไป ถ้าต้องแต่งเนื้อแต่งตัวเตรียมตัวออกจากบ้าน ก็อยู่กับการแต่งเนื้อแต่งตัว พอออกจากบ้านก็มีสติอยู่กับการออกจากบ้าน ล็อกประตูก็มีสติรู้ ถ้าไม่มีสติออกจากบ้านไปแล้ว มาคิดทีหลังว่าเมื่อสักครู่นี้ใส่กุญแจหรือเปล่า ก็ต้องกลับมาดู แสดงว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติจะไม่ต้องกลับมาดู จะมีความมั่นใจว่าได้ทำทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว นี่คือการฝึกสติ ที่เราสามารถทำได้ในชีวิตประจำวันของเรา
ถ้ามีเวลาว่างขณะอยู่ที่ทำงาน ช่วงหยุดพักกลางวัน หลังจากรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หามุมสงบนั่งกำหนดพุทโธๆ ดูลมหายใจเข้าออกไป ก็ได้ภาวนาแล้ว ถ้าภาวนาเป็นแล้ว ทำอะไรที่ไหนก็สามารถภาวนาควบไปด้วยได้ มีโยมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เวลาทำงานเขาก็ทำอย่างนี้ มีสติอยู่กับการกระทำ เวลาเดินไปไหนมาไหนก็คิดว่าเหมือนกับเดินจงกรม มีสติอยู่กับการเดิน หรือบริกรรมพุทโธๆควบคู่ไปกับการเดิน แทนที่จะไปคิดเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ จิตก็มีความสงบอยู่ตลอด ถึงแม้จะไม่สงบแบบรวมลง แต่ก็ไม่ฟุ้งซ่าน มีความหนักแน่น มีความสงบ มีเหตุมีผล ไม่ค่อยมีอารมณ์ต่างๆ ความโลภโมโทสันจะเบาบางลงไป เวลาสัมผัสอะไร ได้ยินหรือเห็นอะไร ก็จะไม่เกิดความโมโหโทโส เกิดความหงุดหงิดใจ เพราะจิตมีสติคอยคุมอยู่ แต่ถ้าไม่มีสติแล้วจะเป็นเหมือนนุ่น เวลาลมเบาๆพัดมาก็จะปลิวตามลมไป ใครพูดอะไรนิดหนึ่งก็ไปแล้ว เสียใจ โกรธ ดีอกดีใจ ไปตามอารมณ์ แต่ถ้ามีสติแล้วจะมีเหตุมีผล ถ้ารู้จักเจริญปัญญาจะยิ่งหนักแน่น จะไม่เกิดอารมณ์ ถึงแม้จะเป็นคำดุด่าว่ากล่าวก็ตาม จะฟังที่เหตุผล ว่าเป็นความจริงไหม ถ้าสิ่งที่เขาตำหนิเป็นความจริง เราก็ต้องขอบอกขอบใจเขา เพราะเป็นเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา เป็นเหมือนกระจกส่องหน้า จะรู้ว่าหน้าตาเราเรียบร้อยหรือไม่ ก็ต้องอาศัยกระจก ถ้าแต่งหน้าโดยไม่มีกระจก จะไม่มั่นใจ ถ้าเขาบอกว่าทาคิ้วทาปากได้ไม่ดี มันเบี้ยวมันเลอะเทอะ เราไม่ควรโกรธเขา ควรไปส่องกระจกดู ถ้าเป็นตามที่เขาบอก ก็น่าจะขอบคุณเขา ถ้าเขาว่าเราขี้เกียจ เห็นแก่ตัว มักง่าย ซื่อบื้อ ก็อย่าไปโกรธเขา หันมาพิจารณาดูตัวเราก่อน ว่าเป็นอย่างที่เขาพูดหรือไม่ ถ้าเป็นเราจะได้แก้ไข เพราะเมื่อแก้ไขแล้ว ใครเล่าจะได้รับประโยชน์ ถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง คนที่ตำหนิเราไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้าไม่เป็นความจริง เราก็รู้ว่าเขาตาบอด พูดด้วยอารมณ์ พูดด้วยความโกรธความเกลียด ก็ไม่เห็นจะต้องไปฟังเลย ในเมื่อเราไม่ได้ซื่อบื้อ ไม่มักง่าย ไม่เกียจคร้านอย่างที่เขาพูด ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร
เวลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์ก็อยู่อย่างนี้ จะไม่กลัวท่าน ท่านจะพูดอะไรก็จะตั้งใจฟัง แต่คนส่วนใหญ่มักจะชอบให้ท่านรัก ให้ท่านเมตตา พอท่านด่าเข้า ก็ว่าท่านไม่เมตตาแล้ว แต่ความจริงท่านเมตตา ถึงได้ว่าเรา ถ้าไม่ว่าแสดงว่าไม่เมตตา เห็นเราทำผิดแล้วไม่ช่วยแก้ไข ไม่ช่วยตักเตือน ถ้าอยากจะปฏิบัติธรรม อยากจะมีครูบาอาจารย์ ก็ต้องกล้าหาญอดทน มีสติ มีปัญญา ครูบาอาจารย์จะดุด่าว่ากล่าวอย่างไร เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปมีปฏิกิริยาอะไรทั้งสิน ให้นิ่งเหมือนหินเลย ฟังอย่างเดียว แล้วก็เอาไปพิจารณา ถ้าสิ่งที่ท่านพูดเป็นความจริง ก็ต้องรีบแก้ไข อย่าให้ท่านว่าท่านสอนซ้ำได้เป็นดี เพราะถ้าต้องว่าซ้ำ ๒ ซ้ำ ๓ แล้ว แสดงว่าเราไม่ได้เรื่อง สั่งสอนอยาก ว่านอนสอนยาก โอกาสที่จะเจริญจะพัฒนาก็จะยาก เพราะยังมีทิฐิ ถ้าไม่มีทิฐิก็โง่จนไม่สามารถมองเห็นความผิดของตน แล้วนำเอาไปแก้ไขปรับปรุงได้ ถ้ามีสติมีปัญญาแล้ว การดำเนินชีวิตของเราจะเป็นประโยชน์ทางด้านธรรมะตลอดเวลา จะไม่สนใจกับคำสรรเสริญเยินยอ จะจริงหรือไม่จริง ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะถ้าจริงเราก็เป็นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอกเราว่า เราดีอย่างนั้นวิเศษอย่างนี้ เราก็รู้อยู่แล้ว ถ้าไม่จริง มันก็ไม่ได้ทำให้เราวิเศษขึ้นมา คำสรรเสริญเยินยอสำหรับนักปราชญ์ สำหรับคนที่มีสติปัญญาแล้ว จะไม่มีความหมายอะไร ในสังคมของนักปราชญ์จึงไม่ค่อยชมกัน มีแต่สังคมของคนโง่ที่ชอบชมกัน ยกย่องสรรเสริญกัน ให้รางวัลกัน ทั้งๆที่สงสัยกันว่าได้รางวัลได้อย่างไร จึงขอสรุปว่า ให้พยายามฝึกตั้งสติไว้ให้ดี เพราะเมื่อมีสติแล้วจะพาไปสู่การกระทำที่ดี จะรักษาศีลได้ดีขึ้น จะมีสมาธิ มีปัญญา จะคิดด้วยเหตุด้วยผล จะหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆที่เราสร้างขึ้นมา ทำไมคนอื่นเขาไม่ทุกข์แต่เราทุกข์ ครูบาอาจารย์ท่านไม่ทุกข์ แต่เราทุกข์ อยู่ในโลกเดียวกัน เจออะไรก็เจอแบบเดียวกัน ท่านไม่ทุกข์แต่เราทุกข์ เพราะเราโง่ ชอบสร้างความทุกข์ให้กับตัวเรา ท่านฉลาด มีสติ มีปัญญา มีสมาธิ จึงไม่สร้างความทุกข์ สร้างแต่ความสุข ด้วยการปล่อยวาง จึงต้องพยายามฝึกเจริญสติอยู่เรื่อยๆ เจริญได้ทุกขณะ ทุกเวลา ทุกสถานที่
ถาม ปีติที่เป็นวิปัสสนูต่างกับปีติธรรมดาอย่างไรค่ะ
ตอบ คำว่าวิปัสสนูหมายถึงความหลง คิดว่าตนเองบรรลุ ก็อาจจะเกิดปีติแบบหลอกๆได้ แต่ไม่ใช่ความจริง เป็นเพียงจินตนาการ ยังไม่ได้พบของจริง ยังไม่ได้พิสูจน์กับของจริง ถ้าไปพิสูจน์ก็อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ เมื่อเกิดความทุกข์ก็จะรู้ว่ายังไม่บรรลุ อย่างอรหันต์นกหวีดไง คิดว่าบรรลุแล้วก็เกิดปีติขึ้นมา ก็เลยเป่านกหวีดบอกเพื่อนให้รู้ พอเกิดทุกข์ขึ้นมาก็รู้ว่ายังไม่บรรลุ
ถาม พอดีมีคนถามปัญหาธรรมหลวงตา คือเขาปฏิบัติไปจนกระทั่งกระดูกหลุดค่ะ คือทำลายรูปแล้ว หลวงตาก็ตอบว่าทำลายรูปแล้ว จิตจะมีความว้าเหว่ ก่อนการพิจารณานาม ทำไมเป็นจิตว้าเหว่ค่ะ
ตอบ ท่านไม่ได้หมายถึงความว่าว้าเหว่ แต่หมายถึงเวิ้งว้างว่างเปล่า ว่างจากกาย เมื่อปล่อยกายไปแล้ว กายก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป จิตจะว่างจากกาย พิจารณาไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้เป็นปัญหาแล้ว จิตไม่มีอารมณ์อะไรกับกาย ไม่ได้ไม่เสียอะไรกับกาย เป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น จะเจ็บจะปวดจะเป็นอะไรอย่างไร ก็ไม่กระทบกับจิต ถ้ายังไม่ได้พิจารณาจนปล่อยวางร่างกายได้ ก็ยังมีความห่วง มีความกังวล มีความผูกพันกับมันอยู่ แต่ถ้าได้พิจารณาจนมันกลายเป็นดินไปแล้ว ก็ไม่รู้จะไปห่วงอะไรกับก้อนดินก้อนหนึ่ง ในที่สุดร่างกายก็ต้องเป็นอย่างนี้ ก็หมดปัญหาไป กายก็ว่างจากจิตไป
ถาม หมายความว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับกาย ก็จะไม่เป็นปัญหากระทบกับจิตใจเลย
ตอบ จิตมีความมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ถาม เปรียบเสมือนไม่ใช่ของเราไปแล้ว
ตอบ ปล่อยวางไปแล้ว หมดปัญหาไปแล้ว จะก้าวเข้าไปสู่นามธรรมต่อไป ไปพิจารณากิเลสที่ยังมีอยู่ในจิต คือสังโยชน์เบื้องบนที่มีอยู่ ๕ ประการ คือ ๑. ติดในรูปฌาน ๒. ติดในอรูปฌาน ๓. อุทธัจจะ ๔. มานะ ๕. อวิชชา เป็นธรรมขั้นละเอียดที่ต้องละให้ได้ พิจารณาควบคู่ไปกับการเกิดดับของนามขันธ์ทั้ง ๔ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะเวทนาเกิดจากการปรุงแต่งของสังขาร จากการจำได้หมายรู้ของสัญญา ทำให้เกิดทุกขเวทนา สุขเวทนา ไม่สุขไม่ทุกขเวทนาขึ้นมา มีวิญญาณเป็นผู้รับรู้ ถ้าหลงก็จะยึดติด เวลาจิตมีความสุขกับความสงบของรูปฌาน ก็จะติดอยู่ในรูปฌาน ถ้ามีความสุขที่เกิดจากความสงบของอรูปฌาน ก็จะติดอยู่กับอรูปฌาน จะไม่สนใจออกมาเจริญพิจารณา เพื่อกำจัดมานะและอวิชชา จึงยังมีการถือตนอยู่ ถือว่าตนสูงกว่าเขาบ้าง เท่าเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง ยังมีอวิชชาที่ทำให้ไม่เห็นอริยสัจ ที่ยังมีอยู่ในจิต ยังมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สลับกันไประหว่างความสุขกับทุกข์อันละเอียด เวลาทุกข์ก็พยายามกำจัดเพื่อให้สุข แสดงว่ายังติดในสุขอยู่ จะหลุดพ้นได้ก็ต้องปล่อยวางทั้งสุขและทุกข์ที่มีอยู่ในจิต
ต้องพิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นว่าสุขที่มีอยู่ เช่นสุขที่เกิดจากรูปฌานหรืออรูปฌาน ก็ยังเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เพราะยังมีความทุกข์สลับขึ้นมา แต่ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น จะคิดว่าไม่มีความทุกข์เหลืออยู่แล้ว คิดว่าสิ้นสุดแล้วแห่งการปฏิบัติ ก็ไม่ปฏิบัติต่อไป ก็จะติดอยู่ในสุขแบบนั้น พอมีความทุกข์ขึ้นมาก็ใช้สติปัญญาไปดับมัน ไปกดมันไว้ ไปหยุดมันไว้ แต่ไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นเพียงสภาวธรรม เป็นของคู่กัน ความสุขกับความทุกข์ เป็นเหมือนเหรียญที่มี ๒ ด้าน มีหัวมีก้อย จิตตอนนั้นจะละเอียดมาก มีความสุขมาก แต่ในความสุขนั้นก็ยังมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ จิตมีความผ่องใสมาก แต่ก็มีจุดมีต่อม ดังที่ปรากฏในจิตของหลวงตาว่า ตรงไหนมีจุดมีต่อมตรงนั้นจะเป็นภพชาติ เพราะจิตยังไปยึดติดอยู่ ยังมีความอยากให้สงบสุขอยู่อย่างนั้น เป็นการยึดติด มีตัณหาความอยาก ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาทุกข์ในจิต ต้องพิจารณาว่าเป็นของคู่กัน ถ้าจะปล่อยก็ต้องปล่อยทั้งคู่ จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะเอาสุขก็ต้องมีทุกข์ เพราะไม่ได้เป็นสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง ยังอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง ยังเป็นไตรลักษณ์อยู่ เมื่อรู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ ก็จะปล่อยวาง จะสุขจะทุกข์ก็ไม่ไปกังวลกับมัน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อปล่อยแล้วก็จะหลุดพ้น
ถาม ขอเมตตาท่านอธิบายอุเบกขาเวทนาด้วยค่ะ
ตอบ เวทนาแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือทางกายและก็ทางจิต
เวทนาทางกายมีกายเป็นเหตุ เช่นเวลาหิวข้าวก็เป็นทุกขเวทนา หรือเดินไปเตะก้อนหินเจ็บเท้าก็เป็นทุกขเวทนา เวลาร้อนแล้วได้อาบน้ำ ได้เข้าไปในห้องแอร์ เวลาหิวน้ำได้ดื่มน้ำ ก็เกิดสุขเวทนา ถ้าไม่ร้อนจนเกินไป ไม่หนาวจนเกินไป ไม่หิวไม่อิ่ม เฉยๆ ก็เป็นอุเบกขาเวทนาทางกาย ไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาทางจิตก็เกิดจากการคิดปรุงแต่ง ถ้าคิดถึงเรื่องที่ทำให้เรามีความสุขก็เป็นสุขเวทนา เช่นคิดว่าวันนี้เงินเดือนออกก็เกิดสุขเวทนา ถ้าคิดว่าจะมีคนมาทวงหนี้ ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ถ้าไม่ได้คิดถึงเรื่องที่จะทำให้สุขหรือทุกข์ ก็เป็นอุเบกขาเวทนา แต่ต่างจากอุเบกขาที่เกิดจากเวลาจิตรวมลงเป็นหนึ่ง ตอนนั้นจิตหยุดทำงาน สังขารไม่คิดไม่ปรุงอะไรทั้งสิ้น เป็นความสุขของจิตล้วนๆ จะเรียกว่าเป็นความสุขของพระนิพพานก็ได้ เป็นความสุขแบบเดียวกัน เพียงแต่สุขในสมาธิเป็นเพียงชั่วคราว เป็นนิพพานชั่วคราว บางทีตั้งอยู่ได้แค่วูบเดียว เป็นขณิกสมาธิ จิตรวมลงแล้วก็สงบนิ่ง มีความสุขเต็มที่ แล้วก็ถอนออกมา ถ้าอยู่ได้นาน เป็นชั่วโมงๆ เป็นวันๆ ก็เป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าเป็นความสุขของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ก็เป็นอย่างถาวรเลย ไม่ได้เกิดจากความคิดปรุงแต่ง ที่จะทำให้เกิดสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ในจิต อย่างนั้นเป็นสมมุติ ขันธ์เป็นสมมุติ แต่ความสุขของพระนิพพาน ปรมังสุขัง เป็นวิมุตติ เป็นความสุขที่มีอยู่กับจิตใจที่สงบ ถ้าจิตสงบเมื่อไหร่ ความสุขนั้นก็จะปรากฏขึ้นมา เวลาจิตสงบขันธ์ก็จะต้องระงับดับไปหมด เวทนาสัญญาสังขารก็หยุดทำงานหมด จึงจะปรากฏความสุขแบบนี้ขึ้นมา ความสุขจึงมีอยู่ ๓ แบบ คือ ๑. สุขกาย ๒. สุขใจที่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง ๓. สุขที่เกิดจากการรวมลงของจิต เป็นสุขที่เราปรารถนากัน จึงต้องมาปฏิบัติ มาเจริญสติ บริกรรมพุทโธๆ ดูลมหายใจเข้าออก พิจารณาร่างกาย พิจารณาธรรมต่างๆ เพื่อปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ที่โมหะและอวิชชาหลอกว่าเป็นความสุข สิ่งที่เราแสวงหากันทุกวันนี้ก็คือความสุข แต่แสวงผิดที่ สิ่งที่เราไปแสวงหาเป็นเหมือนกองไฟ พวกเราเป็นเหมือนแมงเม่า เวลาเห็นแสงไฟแล้วจะกระตือรือร้นยินดี ก็จะบินเข้าไปในกองไฟ แต่ไม่รู้ว่าในแสงสว่างมีความร้อนอยู่ด้วย เมื่อบินเข้าไปแล้วก็ถูกไฟเผาตาย พวกเราก็เหมือนกัน เราเห็นความสุขในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะต่างๆ เห็นความสุขในลาภยศสรรเสริญ เราก็แสวงหากัน แล้วเป็นอย่างไร นอนก่ายหน้าผากกันทุกคน มีมากมีน้อยก็ทุกข์เหมือนกัน เพราะไม่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นทุกข์ เนื่องจากไม่มีปัญญา จึงมองไม่เห็น ทุกข์ในลาภยศสรรเสริญสุขเป็นสิ่งที่เห็นยาก พวกเราเป็นเหมือนคนตาบอด เพราะยังยินดีกับสิ่งเหล่านี้อยู่ ยังโลภยังอยากอยู่
ถาม เราก็ต้องคอยเตือนสติว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป
ตอบ เตือนเฉยๆไม่พอ ต้องเห็นด้วยเหตุด้วยผล เตือนได้ แต่พอถึงเวลาปั๊บ มันก็ไปแล้ว เตือนได้แต่ไม่มีกำลังหยุดมัน ต้องมีความสุขจริงมาเปรียบเทียบ เวลาจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว จะรู้ว่าความสุขจริงเป็นอย่างนี้ ถึงขนาดนั้นก็ยังลำบากที่จะรั้งเอาไว้ พอออกจากสมาธิปั๊บ อำนาจของความหลงความอยากก็กรูกันเข้ามา พยายามฉุดลากเราออกไปหาความทุกข์อีก การเข้าสู่ความสงบสุขแต่ละครั้ง มันแสนยากลำบาก เหมือนปีนขึ้นเขา แต่เวลาไปหาความสุขทางโลก ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เหมือนวิ่งลงเขา มันง่าย มันเร็ว ที่พูดนี้ยังเป็นทฤษฎีอยู่ ยังไม่ได้เป็นของจริงในจิต เพราะยังไม่ได้เจอของจริง พอถูกของปลอมหลอกปั๊บก็ไปทันทีเลย มีใครมาบอกจะให้เงินแสนหนึ่งนี่ แทบจะไม่คิดเลยว่าถูกหลอกหรือเปล่า เป็นเหยื่อหรือเปล่า เหมือนกับปลาที่เห็นเหยื่อติดอยู่ที่ปลายเบ็ดฉันใด พวกเราก็ฉันนั้น พอมีโอกาสจะได้ลาภยศสรรเสริญสุขปุ๊บ ก็คว้าปั๊บเลย แล้วก็ติดแง็ก ทรมาน มาบ่นวุ่นวายทีหลังว่า โดนหลอกบ้าง โดนโกงบ้าง เขาเอาความโลภของเราเป็นจุดล่อ เขารู้ว่าเราโลภจึงมาหลอกเรา จะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ จะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เราก็เอากัน อย่างแชร์แม่ชม้อย ได้ดอกมากๆ ไม่ใช้ปัญญาคิดเลยว่า มันเป็นไปได้อย่างไร ถ้าดีจริงเขาจะเปิดโอกาสให้เราทำไม ตักตวงของเขาคนเดียวไม่ดีกว่าหรือ เพราะเราไม่มีปัญญา ยังมีความหลงครอบงำอยู่ ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะเกิดปัญญา พอจิตสงบแล้ว ไม่หิวกับอะไร ทีนี้ใครจะมาหลอกมาล่ออย่างไร ใจก็เย็น พิจารณาให้รอบคอบก่อนว่า เป็นจริงอย่างที่เขาพูดหรือไม่ ถ้าจริงและเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน เป็นวิธีที่ได้เงินมาอย่างไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าวิธีอื่น ก็น่าจะทำได้ ถ้ามีสมาธิบ้าง มีปัญญาบ้าง จะไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้อื่น
ถาม ที่บอกว่าผลตอบแทนดี มันก็มาพร้อมความเสี่ยงนะครับ
ตอบ ใช่ ก็ต้องใช้เหตุผล ใช้หลักวิชา ในการพิจารณา
ถาม เราโลภ
ตอบ ถ้าเราไม่โลภเสียอย่างแล้ว แค่ฝากเงินประจำไว้ก็พอแล้ว ปลอดภัยที่สุดแล้ว เพราะมีรัฐบาลเป็นผู้รับประกันอยู่แล้ว
ถาม ตอนต้นท่านพระอาจารย์พูดถึงเรื่องทำทาน ว่าไม่ต้องไปขวนขวายหาเงินมาทำ ให้ทำเท่าที่เรามี หมายความว่าเราสละความโลภที่อยู่ในใจได้มากเท่าไหร่ คือส่วนบุญที่เราได้รับใช่ไหมครับ ไม่ใช่ไปหามาเป็นก้อนโตๆ มันไม่จำเป็น
ตอบ ใช่ เป็นการสร้างความโลภเพิ่มขึ้น สร้างภพชาติให้มากขึ้น
ถาม เพราะฉะนั้นถ้าเรามีอยู่แค่นี้ เราอยากจะทำบุญมากกว่านี้ เราก็มัธยัสถ์อย่างอื่นเอา แล้วสละเพื่อทำบุญ จะได้บุญมากขึ้น
ตอบ ก็ดูพระเป็นตัวอย่าง บวชแล้วก็ไม่ได้ทำบุญให้ทาน พระไม่มีอะไรจะให้ มีแค่บริขาร ๘ เท่านั้น ท่านก็มุ่งไปที่รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ แล้วก็ภาวนาของท่านไป สมัยที่หลวงตาปฏิบัติ ท่านก็ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับทางโลกเลย ไม่ได้ไปหาเงินเพื่อสร้างวัดสร้างศาลาสร้างโบสถ์สร้างอะไร หาแต่ธรรมเพื่อการหลุดพ้น เพื่อกำจัดความโลภโกรธหลงเท่านั้น แต่เมื่อเสร็จงานนี้แล้ว ท่านจึงมาเกี่ยวข้องกับทางโลก มาช่วยเหลือทางโลก เพราะมีคนทำบุญกับท่านมาก เงินที่ได้มาท่านก็เอาไปใช้ประโยชน์ ท่านก็เลยทำบุญให้ทาน แต่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์จากการทำบุญ เพราะบุญที่ท่านต้องการนั้น มีพอเพียงแล้ว ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
ถาม จริงๆเวลาโยมทำทานนี่ ส่วนใหญ่ก็ปรารถนาสูงมาก แต่จริงๆมันได้เพียงเล็กน้อย ดังที่ท่านอาจารย์พูด
ตอบ ได้มากทางด้านทรัพย์ ถ้าทำแต่บุญทำแต่ทานไม่รักษาศีล จะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นเศรษฐีเป็นมนุษย์ แต่เป็นสัตว์เลี้ยงของเศรษฐี
ถาม เป็นการหลงบุญ ที่ทำให้เกิดตายเกิดตาย อยู่ตรงนั้นใช่ไหมครับ
ตอบ ใช่
ถาม ในกรณีที่เราทำบุญครั้งเดียว ๕๐๐ บาท กับการแบ่งทำครั้งละ ๑๐๐ บาท ๕ ครั้ง
ตอบ ได้ผลเท่ากัน ทำทีเดียวดีกว่า เพราะอาจจะไม่มีโอกาสทำหลายครั้ง อาจจะตายไปก่อนก็ได้
ถาม ก็คิดแบบนั้นค่ะ
ตอบ มีอะไรฟาดมันไปหนเดียวให้หมดเลย จะได้หมดภาระ คนออกบวช มีอะไรก็สละหมด ไม่กั๊กเอาไว้ ถ้ากั๊กไว้ก็จะบวชไม่ได้
ถาม ถ้ากั๊กไว้ ก็เหมือนกั๊กความโลภไว้ ใช่ไหมครับ
ตอบ ยังหวงอยู่ ยังอยากจะเอาหน้ากับหลวงตากับคนรอบข้าง ว่าทำบุญอยู่เรื่อยๆ ควรทำหนเดียวแล้วก็จบ มีเท่านี้ก็ทำเท่านี้
ถาม เป็นความสุขใจ อยากจะทำทุกวัน
ตอบ เป็นความสุขปลอม จากการคิดปรุงแต่งของเรา เกิดจากความหลง ความสุขจริงต้องปล่อยวางให้หมด ไม่เสียดาย ไม่คิดถึงมันอีกต่อไป ถ้ายังเสียดาย ก็ยังเก็บไว้ทำทีละเล็กทีละน้อย
ถาม เหมือนสมัยเด็กๆที่เรามีขนม เรากินทีละน้อย กลัวว่าจะกินหมด อยากอร่อยหลายวัน
ตอบ เป็นความโลภ ความหวง ความยึดติดในความสุข
ถาม เขาบอกว่าทำทุกวันแล้วมันมีปีติทุกวัน
ตอบ เป็นปีติปลอม สู้ทำทีเดียวให้หมดไปเลย จะได้ปีติจริง แต่เราไม่เคยทำกัน เลยไม่รู้กัน
ถาม มันเป็นความสุขเวลาเอาเช็คถวายหลวงตาทุกวัน แล้วท่านยิ้มด้วย
ตอบ เราไม่ได้ทำบุญจริงๆ ทำแบบเล่นละครกัน ได้ความสุขจากผู้อื่น ความจริงต้องได้จากการเสียสละ จากการปล่อยวางเงินทองที่เรามีอยู่ ทำให้มันหมดไปเลย จะได้ไม่กังวลกับมันอีกต่อไป
ถาม อยากถวายเช็คทุกวัน
ตอบ แล้วมันวุ่นวายไหม ท่านต้องมาคอยรับทุกวัน ถวายท่านหนเดียวแล้วก็จบ หลวงตาท่านก็เข้าใจดีว่ามันเป็นจิตวิทยา เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆของพวกเรา ท่านรู้ว่าเรายังยึดยังติดอยู่ ยังทำไม่ได้
ถาม อย่างนี้ถ้าเราต้องการพัฒนาจิตใจเราต้อง
ตอบ ต้องทำบุญแบบพระเวสสันดร ต้องปิดทองหลังพระ ควรจะถวายแบบหลวงตาไม่รู้ จะได้บุญมากกว่า จะมีความสุขมากกว่า
ถาม ลูกสาวเคยพูดกับลูกว่า ทำไมพระเวสสันดรต้องทำให้คนอื่นเสียใจ คือภรรยาท่านต้องเสียใจ แล้วนั่นไม่ทุกข์เหรอ
ตอบ ท่านไม่ได้ไปทำให้เขาเสียใจ เขาเสียใจเอง เพราะเขายังยึดติด ถ้ามีปัญญาเขาจะอนุโมทนากับพระเวสสันดร แต่จิตเขายังไม่อยู่ในระดับเดียวกับพระเวสสันดร เขาจึงทุกข์จึงเสียดายสิ่งที่พระเวสสันดรได้สละไป ถ้าจิตอยู่ในระดับเดียวกับท่าน เขาจะอนุโมทนา ไม่มีแสนจะสบาย ดูพระอรหันต์ ท่านมีอะไรที่ไหน เราต้องการไปถึงจุดนั้นกันไม่ใช่หรือ ก็ต้องกล้าสละทุกอย่าง เพราะมันเป็นเหมือนบ่วง อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงอุทานเวลาเสด็จออกบวช เมื่อทรงทราบว่าได้พระราชโอรสแล้ว ทรงอุทานออกมาว่าราหุล แปลว่าบ่วง มีแล้วเป็นบ่วง จะผูกให้เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น จึงต้องตัด การทำบุญให้ทานที่แท้จริง ก็เพื่อตัดอุปาทาน ความยึดติดกับสิ่งต่างๆ
ถาม ถ้าจิตไม่อยู่ในระดับเดียวกัน ลูกก็จะรู้สึกเสียใจที่พ่อทำแบบนี้ กลายเป็นเวรกรรมกัน
ตอบ ถ้าไม่มีปัญญา ก็อาจจะโกรธอาจจะเกลียดพ่อก็ได้ แต่ก็เป็นเรื่องของลูก ไม่ใช่เรื่องของพ่อ พ่อทำสิ่งที่ถูกแล้ว คือบำเพ็ญบารมี ก็ดีจะได้ไม่ต้องมาเจอกันอีก เพราะในที่สุดเราก็ต้องอยู่ตัวคนเดียว ต้องไม่มีอะไรผูกพันเลย ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง จะได้สิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่เราหลงยึดติดเป็นเหมือนก้อนอิฐก้อนกรวดก้อนทราย แต่สิ่งที่ได้จากการปล่อยสิ่งเหล่านี้คือเพชรนิลจินดา ไม่เช่นนั้นจะมีพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมาไม่ได้ ถ้ายังเสียดายในลาภยศสรรเสริญสุข ในโลกียสมบัติอยู่ แต่ท่านได้สัมผัสกับสิ่งที่ดีกว่าท่านถึงปล่อยได้ ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้บรรลุ ตอนที่จิตรวมลงเป็นสมาธิ เป็นเหมือนดูหนังตัวอย่าง การได้สัมผัสกับความสุขจากการรวมลงของจิต ก็เหมือนกับได้สัมผัสกับตัวอย่างของความสุขของพระนิพพาน ถ้าอยากได้ความสุขแบบนี้อย่างถาวร ก็ต้องสละทุกสิ่งไป ท่านถึงสละราชสมบัติออกบวชได้ เพราะเคยได้ฌานตั้งแต่สมัยที่เป็นเด็ก ตอนไปงานจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พวกข้าราชบริพารปล่อยให้ประทับตามลำพัง ไปทำกิจกรรมกัน จิตของท่านก็รวมลง ท่านจึงรำลึกถึงสภาพนี้ ตอนบำเพ็ญเพียรขั้นสุดท้าย ว่าจิตต้องสงบต้องนิ่ง อะไรก็ตามที่ทำให้จิตไม่สงบไม่นิ่ง ถือว่าเป็นกิเลสทั้งนั้น เมื่อปฏิบัติแล้วจะรู้เอง กิเลสจะเป็นอย่างนี้ เหมือนของทิ่มแทงจิตใจ จิตที่สงบนี่ พอกิเลสขยับนิดเดียวจะรู้ทันทีว่าเป็นกิเลส ถ้าไม่สงบจะไม่รู้
ถาม พระพุทธเจ้าถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบุรุษของโลก เพราะเสียสละอย่างใหญ่หลวง
ตอบ เพราะปัญญาด้วย ทรงเห็นในสิ่งที่ไม่มีใครสามารถเห็นได้ พวกเรายังต้องมีคนสอนถึงจะเห็น แต่ท่านไม่มีใครสอน ทรงเห็นด้วยปัญญาของท่านเอง จึงต้องลำบากลำบนเสียเวลามาก บำเพ็ญบารมีมาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ ถ้าทรงเกิดในสมัยที่มีพระธรรมคำสอน ก็คงจะเป็นเหมือนกับพระสารีบุตรพระโมคคัลลาน์ ไม่ต้องเสียเวลาบำเพ็ญ พอฟังปั๊บก็เข้าใจบรรลุได้ทันที แต่ในสมัยที่สมณะโคดมบำเพ็ญเพียร ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีพระธรรมคำสอน ก็เลยต้องทดลองวิธีต่างๆ ผิดบ้างถูกบ้าง จนในที่สุดก็พบทางที่ถูก พอรู้แล้วจึงมาสอนคนอื่น พวกที่มีบารมีพร้อมอยู่แล้ว ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวก็บรรลุกัน ตั้งแต่ทรงประกาศพระธรรมคำสอนครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน ๘ คือวันอาสาฬหบูชา จนถึงวันเพ็ญเดือน ๓ คือวันมาฆบูชา เป็นเวลา ๗ เดือน ก็มีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมาถึง ๑๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยไม่มีการนัดหมายกันไว้ก่อน พอได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันอย่างรวดเร็ว ภายใน ๗ เดือนมีพระอรหันต์อย่างน้อยถึง ๑๒๕๐ รูป แต่ก่อนนั้นเป็นกัปเป็นกัลป์ ไม่มีพระอรหันต์ปรากฏให้โลกได้เชยชม ได้กราบไหว้เลย เราจึงควรเห็นคุณค่าของพระพุทธเจ้าว่าสำคัญขนาดไหน ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าหรือมีแต่ไม่ประกาศสอน ดังที่ทรงมีความรู้สึกในเบื้องต้น หลังจากตรัสรู้แล้ว ก็มีความท้อพระทัย ว่าธรรมนี้สอนไปก็ไม่มีใครจะสามารถปฏิบัติตามได้ ไม่มีใครสนใจศึกษา ก็เลยไม่อยากจะขวนขวายสั่งสอนผู้อื่น ก็จะไม่มีใครสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์กันได้ ต่อมามีท้าวมหาพรหมได้มาอาราธนา ให้ทรงเมตตาโปรดสัตว์โลก
จึงทรงพิจารณาด้วยปัญญา แยกแยะสัตว์ไว้เป็น ๔ พวก เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า พวกที่สามารถรับรู้ธรรมได้ก็มี พวกที่ไม่สามารถรับรู้ได้ก็มี พวกที่รับรู้ได้เร็วก็มี รับรู้ได้ช้าก็มี ตามลำดับแห่งสติปัญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญมา จึงทรงมุ่งไปสอนพวกที่รู้เร็วก่อน ก็มีพระปัญจวัคคีย์ ที่ทรงเห็นว่ามีความพร้อม ศีลก็มีแล้ว สมาธิก็มีแล้ว ขาดแต่ปัญญา ขาดไตรลักษณ์ มองไม่เห็น เห็นแต่อนิจจังเห็นแต่ทุกข์ แต่ไม่เห็นอนัตตา มีพระพุทธเจ้าองค์แรกที่เห็นอนัตตา ทำให้เห็นไตรลักษณ์ครบทั้ง ๓ นักปฏิบัติก่อนหน้านั้นก็เห็นอนิจจังกับทุกขังกัน เราก็เห็นกัน เกิดแก่เจ็บตายก็คืออนิจจัง ทุกข์เราก็เห็นกัน แต่ไม่เห็นอนัตตา จึงปล่อยวางไม่ได้ จึงยึดติดอยู่กับกองทุกข์ ยึดติดอยู่กับขันธ์ ๕ ยึดติดอยู่กับร่างกาย ถ้าต้องการหลุดพ้นก็ต้องปล่อยวาง เพราะเป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา พอท่านสอนเท่านี้พระอัญญาโกณฑัญญะก็มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นก็ทรงแสดงธรรมให้พระปัจจวัคคีย์อีกครั้ง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทั้ง ๕ รูป บรรลุที่ปัญญา ไม่ได้บรรลุที่สมาธิ ที่ฌาน ไม่ได้บรรลุที่ศีล ต้องปัญญาเท่านั้น และต้องปัญญาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น คือต้องเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ในจิต ถ้าเห็นแล้วก็ปล่อยวางหมด ไม่ยึดติด ถ้ายึดติดก็ยังต้องทุกข์
ถ้าทรงตัดสินพระทัยไม่สอน ก็จะไม่มีพระอรหันต์ ไม่มีพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบันนี้ พวกเราก็อาจจะเป็นเหมือนพวกที่ฆ่ากันเป็นผักเป็นเบือกันทุกวันนี้ เป็นพวกที่หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จากลาภยศสรรเสริญ ถึงแม้จะอยู่ในเมืองพุทธ ก็เป็นเหมือนพวกหูหนวกตาบอด ธรรมะไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปสู่จิตใจได้เลย เหมือนบัวที่อยู่ติดก้นบ่อ ที่จะกลายเป็นอาหารของปูของปลาไป ไม่ได้รับประโยชน์จากการได้เกิดเป็นมนุษย์ ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา มีคำสอน มีการปฏิบัติ ก็เหมือนกับทัพพีในหม้อแกง ถึงแม้จะอยู่ในแกงราคาเป็นล้านก็ตาม แต่จะไม่รู้ว่าแกงมีค่าเป็นล้าน แต่พวกที่กินจะรู้ เพราะได้ลิ้มรสด้วยลิ้นของเขา พวกเราจึงอย่าเป็นเหมือนพวกทัพพี ขอให้เป็นเหมือนพวกลิ้น มีความยินดี มีความพอใจ ที่จะทำบุญ ที่จะรักษาศีล ที่จะปฏิบัติธรรม จะยากจะลำบากอย่างไรก็ไม่ท้อถอย จะต้องตัดจะต้องสละอะไร ก็ไม่เสียดาย ตัดได้มากเท่าไหร่ ก็จะเจริญมากขึ้นไปเท่านั้น
ถาม ทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดีใช่ไหมค่ะ มีพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอนให้หลุดพ้น
ตอบ ศาสนาทุกศาสนาก็สอนให้คนดีไม่เบียดกัน ให้ทำบุญ ไม่ทำบาป จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ได้ไปอยู่กับพระเจ้า ก็เป็นความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ขัดกับทางหลักพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้จบตรงนั้น สวรรค์ก็เป็นอนิจจังเหมือนกัน ถึงแม้จะไปอยู่บนสวรรค์เป็นเวลาหมื่นปีแสนปี บุญก็หมดได้ เป็นอนิจจัง เมื่อบุญหมดจิตก็ต้องตกลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
ถาม คนที่นับถือศาสนาอื่นก็ยากที่จะหลุดพ้นได้
ตอบ เขาไม่รู้เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด รู้เพียงแต่ว่าเมื่อหมดชาตินี้แล้วก็มีที่ไป ๒ จุด สวรรค์หรือนรก แล้วก็จะอยู่อย่างนั้นไปตลอด ถ้าได้ขึ้นสวรรค์ก็อยู่บนสวรรค์ไปตลอด ถ้าตกนรกก็จะอยู่ในนรกไปตลอด แต่ทางพระพุทธศาสนาไม่สอนอย่างนี้ ถ้าตกนรกก็ไม่ตกไปตลอด มีวันหมดพ้นโทษได้เหมือนกับติดคุก เมื่อหมดเวรหมดกรรมแล้ว ก็กลับมาเกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง ตามบุญตามกรรมที่ยังไม่ส่งผล เช่นมีอำมาตย์ท่านหนึ่ง เคยรับใช้พระเจ้าแผ่นดินในชาติก่อน พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้อำมาตย์ไปทำบุญ ทรงให้เงินไปซื้อของถวายพระ เขาก็กั๊กไว้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ พอตายไปก็ไปตกนรก พอพ้นจากนรกก็มาเกิดเป็นเปรต ที่ยังต้องพึ่งบุญของผู้อื่น ก็เลยมาหาพระเจ้าแผ่นดินที่ในชาติปัจจุบันก็ได้เกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก เป็นเปรตมาส่งเสียงแปลกประหลาดในวัง ทำให้พระเจ้าแผ่นดินนอนไม่หลับ ตอนเช้าก็ทรงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นอะไร ทรงตรัสว่าเป็นอำมาตย์มาขอส่วนบุญ ขอให้ทำบุญอุทิศให้กับเขา พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงทำบุญถวายทาน กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไป เพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ ไปเกิดในภพภูมิที่สูงถ้าเคยทำบุญไว้ เพราะเคยทำบุญทำบาป สลับกันไปสลับกันมาตลอดเวลา โอกาสที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมมีอยู่เสมอ เพียงแต่จะบ่อยหรือไม่บ่อยจะดีหรือจะไม่ดีเท่านั้นเอง แต่จะต้องได้กลับมาเกิด มาเกิดแล้วก็มาเติมบุญเติมบาปอีก เพราะภพของมนุษย์เป็นภพเดียวเท่านั้นที่สามารถเติมได้ทั้งบาปเติมได้ทั้งบุญ ภพอื่นๆเป็นที่เสวยบุญเสวยกรรม ถ้าไปเป็นเทพก็จะไม่ได้ทำบุญ เพราะมีแต่ความสุข เหมือนพวกไฮโซ จะไม่คอยได้ทำบุญเท่าไหร่ พวกนอนดึกตื่นสาย ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ไปวัดไม่ได้ เพราะลำบากลำบน
ถาม แล้วพวกเทพที่มาฟังธรรมล่ะค่ะ
ตอบ พวกนี้เคยได้บำเพ็ญบุญมา มีนิสัยชอบทำบุญทำทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม ไฮโซบางคนก็ชอบปฏิบัติธรรม ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม พวกที่ไม่สนใจธรรมะเลย ไม่สนใจวัดวาเลยก็มี พวกเทวดาก็เช่นเดียวกัน พวกที่สนใจก็จะไปฟังเทศน์กับพระพุทธเจ้าบ้าง กับพระอรหันต์บ้าง
ถาม เผอิญนั่งไปกับแทกซี่นะค่ะ คุยกันแล้วเขาบอกว่าอยากจะเปลี่ยนจากศาสนาพุทธไปเป็นคริสต์ ลูกเลยบอกเขาว่าพุทธนี่แหละดีที่สุดพุทธสอนให้หลุดพ้น
ตอบ ก็เหมือนกับเอาแบงก์ ๑๐๐ ไปแลกแบงก์ ๕๐ เปลี่ยนศาสนาเพราะเป็นแฟชั่นก็ได้
ถาม เขากำลังทุกข์ พอดีไปเจอศาสนาที่เอาใจ ก็เลยไม่รู้สึกว่าว้าเหว่
ตอบ ศาสนาที่สงเคราะห์พวกชาวป่าชาวเขา ที่เดือดร้อนตามชุมชนต่างๆ สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน เป็นการซื้อใจคน แต่ไม่ได้ซื้อด้วยเหตุด้วยผล ด้วยปัญญา ด้วยธรรมะ ต่อไปอาจจะเปลี่ยนใจได้ ถ้าเกิดมีใครมาให้มากกว่า
ถาม ลูกเคยไปเจอที่ทางเหนือเป็นหมู่บ้าน เขาพาเด็กๆไปเลี้ยงดู แต่ต้องนับถือ
ตอบ ศาสนาสอนให้คนรักกัน ให้มีความเมตตาต่อกัน ไม่ให้เบียดเบียนกัน ดีกว่าไปเชื่อผี เชื่ออะไรต่างๆ ถ้าเข้าถึงศาสนาพุทธได้ ก็จะได้รับประโยชน์มากที่สุด
ถาม ตอนนี้เรื่องจตุคามรามเทพกำลังฮือหา ลูกไม่เข้าใจ
ตอบ กำลังเป็นเหยื่อ
ถาม ทำบุญกับพระอริยะแล้วจะถึงใช่ไหมค่ะ ท่านเป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์ใช่ไหมค่ะ ต้องเป็นบุรุษไปรษณีย์ที่มีกำลังไหมค่ะ เวลาที่อุทิศผลทานผลบุญนี้
ตอบ เคยได้ยินว่าพระที่เราทำบุญด้วย ต้องมีศีลบริสุทธิ์
ถาม หลายครั้งที่ทำกับหลวงตาแล้ว คนตายมักจะมาเข้าฝันว่าได้รับเสมอ
ตอบ ก็ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นเวลาจะทำบุญอุทิศ ก็ให้ทำกับพระที่เรามีความมั่นใจว่ามีศีลบริสุทธิ์ ถ้าเป็นบุรุษไปรษณีย์ที่ศีลไม่บริสุทธิ์ ก็อาจจะกั๊กไว้บ้างก็ได้ แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะบุญที่อุทิศนี้ก็น้อยมาก ทำ ๑๐๐ อุทิศได้เพียงเสี้ยวเดียว ไม่ได้ไปทั้ง ๑๐๐ ไปแค่ ๑ ที่เหลือเป็นของคนทำ เป็นเหมือนค่ารถค่าอาหาร เพื่อจะได้มีกำลังเดินทางไปภพต่อไป เป็นบุญเชื่อมต่อระหว่างภพ ก็มีประโยชน์ทำให้ได้ไปเกิด
ถาม แล้วต้องทำบ่อยๆ
ตอบ อยู่ที่เขามาขอหรือเปล่า ทำบ่อยขนาดไหน ถ้าไม่ขอ เขาก็ไม่รับ
ถาม หรือบางทีเขาก็รับไม่ได้ใช่ไหมค่ะ
ตอบ บางทีไม่อยู่ในฐานะที่จะรับได้ ก็ไม่รับ อยู่ในนรกก็รับไม่ได้ ถ้าเป็นเดียรัจฉานก็หากินเองได้ เพราะได้เกิดแล้ว มีแต่เป็นเปรตเท่านั้นที่ต้องอาศัยบุญอุทิศ เพื่อจะส่งให้ไปเกิด ถ้ามาเข้าฝันก็แสดงว่าต้องการ ทำไปแล้วก็ถือว่าสำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่พอเขาก็จะกลับมาเข้าฝันอีก
ถาม ที่ว่า ๗ วันให้ทำเยอะๆ
ตอบ เป็นความเชื่อ ถ้ามีบุญพร้อมแล้ว เวลาตายปุ๊บก็ไปสวรรค์เลย ไปอยู่ในครรภ์ของมนุษย์เลย ถ้าไปใช้กรรม ก็ไปตกนรกเลย ไปอยู่ในครรภ์ของสัตว์เลย ถ้ายังมีความผูกพันอยู่ เช่นพระที่ติดจีวร พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระไม่ให้ไปแตะจีวรของท่าน ท่านยังไม่ปล่อย กลับมาเกิดเป็นตัวเลนเกาะอยู่ที่ผ้าจีวร พอตัวเลนตายไปแล้วท่านก็ว่าเขาไปแล้ว ทีนี้ใครจะเอาจีวรไปใช้ก็ได้ เป็นอุปาทานความผูกพัน รักจีวรมาก อย่างพี่น้อง ๒ คนที่หลวงปู่มั่นพบเห็นในสมาธิ วนเวียนอยู่ใกล้กับเจดีย์ที่ท่านนั่งสมาธิอยู่ ท่านก็ถามว่ามาทำอะไร เขาก็บอกว่าตอนที่มีชีวิตอยู่ได้ร่วมบริจาคสร้างเจดีย์ แต่ตายไปก่อนที่เจดีย์จะสร้างเสร็จ ก็ยังมีความผูกพัน ก็เลยวนเวียนอยู่แถวนั้น ท่านก็สอนว่าการทำบุญทำเพื่อปล่อยวาง ไม่ได้ทำเพื่อยึดติด ทำได้เท่าไหร่ก็ทำไป จะเสร็จหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่ได้เสวยบุญที่ได้ทำไว้ จะไม่ได้ไปเกิดเพราะความผูกพันความห่วงใย ทำให้ต้องเป็นสัมภเวสีวนเวียนอยู่อย่างนี้ พอเข้าใจเขาก็อนุโมทนา ปล่อยวางความห่วงความกังวล ถือว่าหมดหน้าที่ของเขาแล้ว ห่วงก็ไม่ได้ไปทำอะไรให้ดีขึ้น ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เขาได้ปัญญา ได้บุญอีกขั้นหนึ่ง ทำให้ปล่อยวางได้ ได้ไปเสวยบุญที่ได้ทำไว้
ถาม จิตนี่ตัวสำคัญเลยนะ
ตอบ จิตไม่สำคัญหรอก กิเลสนี่สิสำคัญ แต่ธรรมะสำคัญกว่า เพราะธรรมะปราบกิเลสได้ ธรรมะเป็นผู้ปลดเปลื้อง ผู้ไถ่บาปให้กับจิตศาสนาอื่นสอนว่าผู้อื่นไถ่บาปให้ได้ แต่ศาสนาพุทธสอนว่าธรรมะเท่านั้นที่จะไถ่บาปให้กับจิตได้ ปลดเปลื้องจิตให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหมดได้ หลุดพ้นจากนรกได้ พอบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ถึงแม้จะเคยทำบาปทำกรรมมามากน้อยเพียงไร ก็ไม่ต้องไปตกนรก ไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป เพราะธรรมะนี่เอง เพราะปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติดกับอะไร
ถาม ใกล้เทศกาลเช็งเม้งแล้ว เขาจะได้รับไหมค่ะ
ตอบ ไม่ได้รับหรอก เพราะของก็ไม่ได้บริจาคให้ใคร เอาไปวางไว้เฉยๆ แล้วก็เอามากินเอง ไม่ได้เป็นทาน เป็นบุญเลย
ถาม แล้วเผาบ้านกระดาษ
ตอบ เป็นกระดาษเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร
ถาม เป็นความเชื่อ
ตอบ ทำกันโดยไม่มีเหตุไม่มีผล
ถาม รวมทั้งตรุษจีนสารทจีนด้วย
ตอบ การไหว้บรรพบุรุษเป็นการแสดงความกตัญญูความเคารพ แต่ควรไหว้ควรดูแลท่านตอนที่มีชีวิตอยู่ ตายไปแล้วไม่ต้องไปไหว้ไปแสดงความกตัญญูแล้ว เพราะไม่ได้อะไร ถ้าท่านต้องการบุญอุทิศเราก็ทำบุญอุทิศไป ถ้าอยากจะแสดงความกตัญญูแสดงสัมมาคารวะ ก็กราบพ่อกราบแม่ทุกวันตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เลี้ยงดูท่านทุกวัน จึงจะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ได้บุญด้วย นี่เป็นการแสดงละคร ไปซื้อข้าวซื้อของมา ซื้อสิ่งที่ชอบกินด้วย ชอบกินเหล้าก็ซื้อเหล้าอย่างดีมาไหว้
ถาม เป็นอุบายให้ลูกหลานมาเจอกัน
ตอบ ใช่ ก็เท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เป็นบุญเป็นกุศล อาจจะมาทะเลาะกันศาสนาพุทธของเราดีที่สุด มีเหตุมีผล สามารถพิสูจน์เห็นได้ในชาตินี้ ปฏิบัติแล้วจะเห็นเอง นรกสวรรค์ เห็นจิต เห็นการเวียนว่ายตายเกิด อยู่ที่ตัวจิตตัวเดียว พวกเรามองไม่เห็นตัวจิต เห็นแต่ตัวกาย ก็เลยไม่รู้จักตัวที่เวียนว่ายตายเกิด ตัวที่ตกนรกขึ้นสวรรค์ วันไหนที่เราทุกข์เศร้าโศกเสียใจวุ่นวายใจ วันนั้นก็ตกนรกแล้ว วันไหนสุขสบายใจวันนั้นก็ขึ้นสวรรค์แล้ว วันนี้นั่งหัวเราะกันก็อยู่บนสวรรค์กันแล้ว อานิสงส์ของการฟังธรรมทำให้จิตใจมีความผ่องใส มีความสงบสุข มีปัญญา ความฉลาด รู้ทัน
ถาม ถ้าให้ขอทานได้บุญหรือเปล่าค่ะ
ตอบ ได้ความสุขเหมือนกัน บุญก็คือความสุขใจ ถ้าให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจก็จะได้มาก ถ้าไม่บริสุทธิ์ก็ได้น้อย ให้ขอทานแล้วอยากจะให้ยกมือไหว้ ถ้าไม่ยกมือไหว้ก็จะโกรธเป็นทุกข์ขึ้นมา ให้สุนัขก็ได้ ให้ปูให้ปลาก็ได้ ความสุขใจนี้ได้เหมือนกัน แต่ประโยชน์ที่ผู้รับจะไปทำนี้ต่างกัน ให้ขอทานก็คงจะไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้มาก ถ้าให้หมอให้โรงพยาบาลก็จะได้ช่วยคนเจ็บไข้ได้ป่วย ทำประโยชน์ได้มากกว่า ถ้าให้พระก็ทำให้ท่านได้ไปเผยแผ่ธรรมะ ให้คนมีดวงตาเห็นธรรม ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ บุญจึงมี ๒ ส่วน ส่วนที่ได้ในใจ จะมากจะน้อยก็อยู่ที่ความบริสุทธิ์ใจ ถ้าทำแล้วท่านไม่ยิ้มก็ไม่สุขแล้ว เวลาทำบุญจึงอย่าไปหวังผลตอบแทนจากผู้รับ ให้ปิดทองหลังพระ จะได้บุญเต็มที่เลย เพราะไม่ได้หวังอะไรจากใครทั้งสิ้น ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ