กัณฑ์ที่ ๓๐๒       ๓ มีนาคม ๒๕๕๐

 

 

วันมาฆบูชา

 

 

 

วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เป็นวันมาฆบูชา วันที่มีเหตุการณ์มหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาล คือมีพระภิกษุสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปจากทุกสารทิศ มาเฝ้าพระพุทธเจ้า  โดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน ต่างคนต่างมาด้วยความศรัทธา เลื่อมใส เคารพรักพระบรมศาสดา พระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๑,๒๕๐  รูปที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันนั้นก็ล้วนเป็นพระอรหันตสาวกทั้งหมด  เป็นผู้เสร็จภารกิจของพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ชำระจิตใจจนสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิด ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินไปถึง และประกาศให้สัตว์โลกทั้งหลายปฏิบัติกัน  ถ้าปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็หมดทุกข์ หมดภัย หมดความเศร้าโศก ไม่มีความทุกข์ ที่เกิดจากความแก่ก็ดี ความเจ็บไข้ก็ดี ความตายก็ดี  การพลัดพรากจากกันก็ดี อยู่ในจิตของพระอรหันต์ พระอรหันต์ที่มาเฝ้าพระบรมศาสดาก็เป็นเอหิภิกขุด้วย เป็นผู้ที่พระบรมศาสดาอุปสมบทให้ เป็นผู้บวชให้  ในสมัยแรกๆนั้นพระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชพระ   ใครมีจิตศรัทธาอยากจะบวช ก็ไปกราบขออนุญาตจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็จะทรงบวชให้  แต่ต่อมาเนื่องจากมีผู้มีจิตศรัทธาเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าไม่สามารถบวชให้ทุกคนได้ จึงทรงมอบให้สงฆ์เป็นผู้บวชแทน เช่นในการบวชสมัยนี้ต้องมีพระภิกษุสงฆ์  ๑๐ รูปขึ้นไปทำการบวช  เหตุการณ์มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นจึงมีอยู่  ๔ ประการคือ ๑. มีพระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน  ๒. ผู้ที่มาล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น  ๓. เป็นเอหิภิกขุ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บวชให้ ๔. พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหัวใจของพระศาสนา ของพระธรรมคำสอนแก่ผู้เข้าเฝ้า

 

ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตาม  เมื่อได้ตรัสรู้และประกาศคำสอนแล้ว ก็จะประกาศหัวใจของศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งมีหัวข้อสำคัญอยู่ ๓ หัวข้อด้วยกันคือ ๑. ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง  ๒. ทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม  ๓. ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  นี่คือหัวใจของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ที่อุบัติขึ้นมาในอดีตก็ดีหรือจะมาตรัสรู้ในภายภาคหน้าก็ดี ก็จะสอนเหมือนกันทั้งนั้น เพราะคำสอนนี้เป็นเหตุที่จะนำสัตว์โลกไปสู่ความสุขความเจริญ แคล้วคลาดปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง เพราะสัตว์โลกทั้งหลายตั้งแต่ท้าวมหาพรหมลงมาจนถึงสัตว์นรก ก็ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมทั้งสิ้น คือ กฎของเหตุและผล เหตุก็คือการกระทำ ผลก็คือความสุขความเจริญ หรือความทุกข์ความเสื่อม ก็จะตามมา ไม่ยกเว้นใครทั้งสิ้น ถ้าทำเหตุที่ดีตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำทั้ง ๓ ประการ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด  ถ้ายังไม่ได้บรรลุก็จะได้เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นมนุษย์ไปก่อน จนกว่าจะทำภารกิจให้เสร็จสิ้นไป ก็จะได้กลายเป็นพระอรหันต์กลายเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ถ้ายังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ก็จะเวียนว่ายอยู่ในภพที่ดี อยู่ในสุคติ เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพบ้าง เป็นพรหมบ้าง แล้วในที่สุดก็จะได้เป็นพระอรหันต์  ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป ได้ไปอยู่ในพระนิพพาน อันเป็นดินแดนที่มีแต่ความสุขมีแต่ความเจริญโดยฝ่ายเดียว ปราศจากความทุกข์ต่างๆ 

 

วันนี้พวกเราก็ได้มาละบาปกัน ด้วยการสมาทานศีล ๕ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา  เพื่อป้องกันไม่ให้เราตกไปสู่ที่ต่ำ ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ไปตกนรก ไปเป็นเปรตเป็นผี นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเรารักษากันไว้ให้ได้ คือศีล ๕ เพราะจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ไม่เช่นนั้นก็จะได้เกิดเป็นเทพเป็นพรหมเป็นพระอรหันต์ในลำดับต่อไป แต่ถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่รักษาศีล ๕ กัน ก็จะไปอบายทั้ง ๔ กัน เป็นเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก  เป็นหลักตายตัว จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ไม่สำคัญ ถ้าทำไปแล้วต้องได้รับผลอย่างแน่นอน ถ้าไม่ได้ทำก็จะไม่ได้รับผล   แต่เชื่อไว้จะดีกว่า เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะพระพุทธเจ้าไม่โกหกหลอกลวงใคร คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกคำล้วนเป็นความจริงทั้งนั้น ไม่มีใครที่ปฏิบัติแล้วจะว่าเป็นคำสอนที่ไม่ตรงกับความจริง  พระอรหันต์ทุกรูปล้วนรับรองคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ว่าเป็นความจริง ถ้าสามารถปฏิบัติตามได้ก็จะได้รับผลที่ดี ได้ความเจริญ ได้ความสุข ได้พ้นทุกข์  หน้าที่ของพวกเราจึงไม่ได้อยู่ที่เชื่ออย่างเดียว ความเชื่อเป็นเพียงจุดเริ่มต้น คือต้องเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คือให้ละบาป ให้ทำบุญ ให้ทำแต่ความดี ให้ชำระจิตใจ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดไปจากจิตจากใจให้ได้ เชื่อแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้าทำได้ผลที่ดีก็จะตามมาทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ถ้าไม่ไปทำบาปทำกรรม ก็จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่มีใครมาทำร้าย ถ้าทำร้ายผู้อื่นฆ่าผู้อื่น ก็จะต้องถูกเขาฆ่า  ถ้าลักทรัพย์ก็ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง ถ้าประพฤติผิดประเวณีก็จะมีปัญหากับผู้อื่น มีการต่อสู้มีทำลายกัน ถ้าโกหกหลอกลวงก็จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ เพราะจะไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่พูด  เพราะไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริง ถ้าเสพสุรายาเมาก็จะเป็นคนพาล คนเกเร ไม่เรียบร้อย ไม่มีใครอยากจะคบค้าสมาคมด้วย

 

เป็นผลที่เราเห็นกันในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายไปผลเป็นอย่างไร เราจะไม่เห็นกัน แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็น ว่าจะต้องไปเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง ไปตกนรกบ้าง ขึ้นอยู่กับบาปกรรมที่ทำไว้ว่ามีมากน้อยเพียงไร หนักเบาเพียงไร เพราะบาปกรรมมีน้ำหนักต่างกัน เหมือนกับเงินที่มีค่าต่างกัน  มีแบงก์สิบ แบงก์ร้อย แบงก์ห้าร้อย แบงก์พัน เป็นเงินเหมือนกัน แต่มีคุณค่าต่างกัน ฉันใดการทำบาปทำกรรมก็มีน้ำหนักต่างกันไป เช่นการยิงนกตกปลา  บาปไม่หนักเท่ากับการฆ่ามนุษย์  ถ้าฆ่าคนอื่นก็ไม่หนักเท่ากับฆ่าพ่อฆ่าแม่ฆ่าพระอรหันต์บาปกรรจึงมีน้ำหนักต่างกัน แต่เมื่อได้ใช้กรรมแล้ว ก็มีวันหมดได้เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตกนรกไปตลอด  เมื่ออยู่ในนรกจนหมดกรรมแล้ว ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มาสร้างบุญสร้างบาปใหม่อีก ถ้าได้ไปเกิดเป็นเทวดา ไปเกิดเป็นพรหม ก็เสื่อมได้เหมือนกัน เมื่อหมดบุญแล้วก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก มาเจอพระพุทธศาสนาที่สอนให้ละบาป ทำดี ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงอีก  ชีวิตของเราก็จะเวียนว่ายไปแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ขึ้นๆลงๆ ถ้าทำบาปก็ไปใช้กรรมในอบาย พอพ้นจากกรรมก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์  ถ้าทำความดีก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก วนไปเวียนมาอย่างนี้  ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพราะความไม่บริสุทธิ์จากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุพาให้ใจไปเกิดใหม่  ถ้าไม่อยากไปเกิดใหม่ ไม่อยากไปทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ  เช่นการเจ็บไข้ได้ป่วย การแก่ การตาย การพลัดพรากจากกัน ก็ต้องหยุดยั้งจิตใจไม่ให้ไปเกิดใหม่ ด้วยการชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดไปจากจิตจากใจ 

 

เวลาเกิดความโลภก็อย่าไปโลภตาม เช่นอยากจะได้อะไรที่ไม่จำเป็น  ถ้าไม่ได้มาไม่ตายก็อย่าไปเอามา  เวลาโกรธก็ระงับดับด้วยการให้อภัยไม่จองเวรกัน  ใครทำอะไรให้เราโกรธก็คิดเสียว่า เขาทำไปแล้ว โกรธไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้ไปลบสิ่งที่ทำไว้ ทำไปแล้วก็แล้วกันไป  ถ้ามีสติเราก็จะไม่โกรธ จะสบายใจ ถ้าโกรธเราก็จะวุ่นวายใจ อาจจะต้องไปทำในสิ่งที่เสียหายขึ้นมา  ทำให้กลายเป็นยักษ์เป็นมารไป  แต่ถ้าไม่โกรธก็จะกลายเป็นพระไป   พระและมารก็อยู่ตรงที่โกรธหรือไม่โกรธนี้เอง ถ้าโกรธก็จะกลายเป็นยักษ์เป็นมารไป  ถ้าไม่โกรธก็กลายเป็นพระเป็นเทพเป็นพรหมไป   เราอยากจะเป็นอะไรก็ต้องเฝ้าดูที่ใจของเรา กำจัดสิ่งที่จะทำให้เราไม่ดี  ไม่มีใครอยากจะเป็นยักษ์เป็นมารเป็นเดรัจฉานกัน ก็ต้องระงับความโลภความโกรธความหลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลง ที่เป็นต้นเหตุของความโลภและความโกรธ  เราหลงเพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่เราอยากได้ไม่มีคุณค่าอะไร คิดว่าเป็นเพชรนิลจินดา แต่ความจริงเป็นก้อนอิฐก้อนกรวดก้อนทราย เพราะใจเรามืดบอด ไม่มีปัญญา มองเห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข  สิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยงแท้แน่นอน  สิ่งที่ไม่มีตัวตนว่าเป็นตัวตน เป็นเราเป็นของเรา เมื่อมีความหลงก็จะเกิดความโลภ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่ได้ดังใจก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา  เวลามีใครมาแย่งสิ่งที่อยากได้ไป เราก็จะโกรธ ถ้าไม่หลงเพราะรู้ด้วยปัญญาว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะให้ความสุขกับเรา  ที่จะเป็นของเราได้อย่างแท้จริง ที่จะอยู่กับเราไปตลอด  มีแต่จะให้ความทุกข์กับเรา เวลาจากเราไป ก็จะไม่โลภไม่อยากได้อะไร ก็จะไม่มีความโกรธตามมา เพราะไม่มีใครทำให้เราโกรธได้นั่นเอง ใครจะทำอะไรเราก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ต้องการอะไรจากใครทั้งนั้น 

 

นี้คือการกำจัดความโลภความโกรธความหลง  ด้วยการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น  สอนตนเองว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เที่ยงแท้แน่นอน ที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ที่จะอยู่กับเราไปตลอด ที่จะให้ความสุขไร้ความทุกข์ เมื่อต้องพลัดพรากจากกัน ก็จะปล่อยวาง เตรียมตัวเตรียมใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องจากกันไป  จะได้รู้สึกเฉยๆ  ไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์ เพราะเดือดร้อนไปทุกข์ไป ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อถึงเวลาจะต้องตายจากกันก็ต้องตายจากกัน จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็ต้องตายจากกันเหมือนกัน แต่คนที่ไม่ทุกข์เป็นคนฉลาด เพราะสบายใจ คนที่ทุกข์เป็นคนโง่ ต้องแบกความทุกข์เศร้าโศกเสียใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไม่สร้างปัญญามาทำลายความหลงนั่นเอง  นี้คือการกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงในจิตในใจ เพื่อจะทำให้ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป จะได้เป็นเหมือนกับของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์  ถ้าชำระในสมัยที่ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า ชำระตนเอง สอนตนเอง โดยไม่มีใครสั่งสอน ก็จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ถ้าชำระในสมัยที่มีคำสอน เช่น ในสมัยนี้ ก็จะเป็นพระอรหันตสาวก มีความบริสุทธิ์เท่ากันกับพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นเสื้อผ้าที่เอาไปซักก็จะสะอาดเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าของใครก็ตาม ต่างแต่ชื่อ ต่างแต่ฐานะ ต่างที่สมมุติเท่านั้นเอง แต่ความบริสุทธิ์ของจิตใจเหมือนกัน ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปเหมือนกัน  นี่คือความสำคัญของวันมาฆบูชา ทุกครั้งที่วันนี้มาถึงเราก็จะได้ยินได้ฟังเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา  ที่จะพาเราไปสู่ความสุขความเจริญ สู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง  ขอให้น้อมเอาพระธรรมคำสอนอันประเสริฐทั้ง ๓ ประการนี้ไปปฏิบัติคือ ๑. ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง  ๒. ทำกุศลทำบุญทั้งหลายให้ถึงพร้อม  ๓. ชำระจิตใจ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ เพื่อความดีงาม ความสุขความเจริญ ที่จะเป็นผลตามมาต่อไป  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้