กัณฑ์ที่ ๓๐๕       ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๐

 

 

ศีล ๘ กับการภาวนา

 

 

 

วันนี้เป็นวันพระ วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มาปฏิบัติกิจที่ได้รับมอบหมายไว้ คือชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริง เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่ให้ความเจริญก้าวหน้าความสุขที่แท้จริง นอกจากการชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์เท่านั้น ความเจริญอย่างอื่น ความสุขอย่างอื่น เช่นลาภยศสรรเสริญ และกามสุขที่เกิดจากการเสพสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ ไม่ได้ให้ความสุขความเจริญที่แท้จริง เพราะไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ มีแต่สร้างความกระหายความอยากความต้องการ ให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ต่อให้ร่ำรวยมีเงินทองเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ได้ตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม มีคนสรรเสริญยกย่องเยินยอมากน้อยเพียงไรก็ตาม ได้เสพสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด มากน้อยเพียงไรก็ตาม ก็ยังไม่อิ่มไม่พอ แต่ถ้าได้ชำระกายวาจาใจจนสะอาดบริสุทธิ์แล้ว ก็จะพบกับความอิ่มความพอ จะพบกับความสุขที่เรียกว่าปรมังสุขัง ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้พบได้สัมผัสมาแล้ว และได้นำเอามาประกาศสั่งสอน ให้กับสัตว์โลกอย่างพวกเราทั้งหลาย ผู้ที่ยังมืดบอดด้วยอำนาจแห่งอวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลง ที่ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นการแสวงหาความสุขความเจริญ ทางลาภยศสรรเสริญ ทางกามสุข ว่าเป็นสิ่งที่เลิศที่ประเสริฐ แต่หารู้ไม่ว่าเป็นการฉุดลากให้ลงไปสู่ความเสื่อมความทุกข์ตามลำดับ

 

เพราะเมื่อมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะเจริญในทางลาภยศสรรเสริญสุขแล้ว ก็จะไม่คำนึงถึงการปฏิบัติการประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ที่จะคุ้มครองรักษาไม่ให้ตกไปสู่ที่ต่ำ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้กลายจากมนุษย์ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เวลาอยากจะได้อะไรมากๆแล้ว ถ้าไม่สามารถหามาด้วยวิธีที่ถูกต้อง  วิธีที่สุจริต ก็จะหามาด้วยวิธีที่ทุจริต คอรัปชั่น ฉ้อโกง ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ ฆ่าผู้อื่น เพื่อจะได้มาในสิ่งที่ต้องการ เมื่อได้ทำผิดศีลผิดธรรมไปแล้ว ความเสื่อมความทุกข์ก็จะตามมาทันที ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในปัจจุบันจิตใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน ความหวาดกลัว ความหวาดระแวง ตายไปก็จะต้องไปเกิดในอบายใดอบายหนึ่ง มีอยู่ ๔ คือ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก  เพราะหลงคิดว่าการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข เป็นเป้าหมายของชีวิต ความจริงแล้วการ แสวงหาความบริสุทธิ์ของกายวาจาใจต่างหาก ที่เป็นเป้าหมายของชีวิต แต่เราก็ต้องทำมาหากิน หาปัจจัย ๔ คืออาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ในกรอบของศีลธรรม ไม่ละเมิดศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา ถ้าไม่ละเมิดศีล ๕ ได้ ก็จะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ เพราะศีลเป็นคุณสมบัติของมนุษย์นั่นเอง การจะเกิดเป็นมนุษย์ได้ต้องมีศีลเป็นผู้พามาเกิด ดังในท้ายศีลที่ได้แสดงไว้ว่า สีเลน สุคติ ยันติ ศีลเป็นเหตุที่จะพาไปสู่สุคติ ที่เกิดที่อยู่ของมนุษย์ ของเทพ ของพรหม ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย อยู่ตรงนั้น อยู่ตรงศีลเป็นผู้พาไป

 

พวกเราเมื่อยังมีความจำเป็นต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็ให้หาในกรอบของศีลธรรม อย่าไปละเมิดศีลโดยเด็ดขาด เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าได้เงินทองมา ได้ตำแหน่งมา ได้คนสรรเสริญยกย่องมา ได้รับความสุขจากการดู การฟัง การลิ้มรส การดื่ม การรับประทาน ด้วยการละเมิดศีล ก็จะไม่คุ้มกับความเสียหายทางจิตใจ เพราะจิตใจจะกลายเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาปกรรม เพราะการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมีทั้งหนักทั้งเบา ฆ่ามดแมลงก็ไม่หนักเท่ากับฆ่ามนุษย์ ฆ่ามนุษย์ที่ไม่ใช่พ่อแม่ ก็ไม่หนักเท่ากับฆ่าพ่อฆ่าแม่ เหมือนกับกฎหมายทางโลก ที่มีโทษหนักเบา ขึ้นอยู่กับการกระทำ ฉันใดการละเมิดศีลธรรมก็เช่นเดียวกัน มีหนักมีเบา แต่ดีที่สุดถ้าไม่ละเมิดเลย ถึงแม้จะเพียงแค่ฆ่ามดฆ่าแมลง ก็ยังต้องทำให้ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ไปเป็นเปรตเป็นผีได้ อาจจะไม่ตกนรก แต่ก็ยังต้องไปเกิดในอบายเช่นเดียวกัน ท่านสอนให้คิดว่า เมื่อได้ฆ่าอะไรแล้ว ก็จะต้องไปเกิดเป็นสิ่งที่ถูกฆ่า แล้วก็จะถูกเขาฆ่าต่อไป ฆ่ามดฆ่าแมลงต่อไปก็ต้องกลับไปเกิดเป็นมดแมลง เพื่อให้เขาได้มาฆ่าเรา  ฆ่านกฆ่าปลาตาย ก็ต้องกลับไปเกิดเป็นนกเป็นปลาให้ฆ่า นี้คือหลักของกรรม เป็นความจริง ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้รู้ได้เห็น และทรงมีความกรุณาความสงสาร เห็นว่าพวกเราเป็นเหมือนคนตาบอด  ถ้าไม่มีคนนำทางไป ก็จะต้องเดินไปตกหลุมตกบ่อ เดินไปชนสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้เกิดความทุกข์ความเจ็บปวด ถ้ามีคนนำทางก็จะสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัย ฉันใดพวกเราก็ต้องมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้นำทางเช่นเดียวกัน เพราะเป็นแสงสว่างภายในใจ ทำให้เห็นผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก กงจักรเป็นกงจักร ดอกบัวเป็นดอกบัว ถ้าไม่มีธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะเห็นกลับตาลปัตร  

 

ถ้ายังอยากร่ำรวยมีตำแหน่งสูงๆ  อยากให้คนยกย่องสรรเสริญเยินยอ อยากออกไปหาความสุข จากการเที่ยว ดูนั้น ฟังนี้ กินนั้น กินนี้อยู่ ก็แสดงว่ายังตกอยู่ใต้อำนาจของความมืดบอด ยังต้องไปเผชิญกับความทุกข์ความวุ่นวายใจความเสื่อมเสีย ที่จะตามมาอย่างแน่นอน  แต่ถ้าได้ยินได้ฟังและปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้พุ่งเป้ามาที่การชำระกายวาจาใจ ให้หาความสุขความเจริญทางจิตใจ ด้วยการชำระกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ เราก็จะเดินไปสู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งจะได้พบกับพระพุทธเจ้า พบกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ได้ไปรออยู่ข้างหน้าแล้ว ด้วยการบำเพ็ญ ด้วยการปฏิบัติ ชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยศีลด้วยการภาวนา นั่งสมาธิ เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนา ศีลเป็นเครื่องชำระความสะอาดของกายและวาจา  เช่นวันนี้พวกเราได้สมาทานศีล ๕ กัน ก็เป็นการชำระกายวาจาในระดับหนึ่ง  ถ้าอยู่วัดแล้วรักษาศีล ๘  ก็เป็นการชำระกายวาจาให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นุ่งเหลืองห่มเหลืองเช่นสามเณรก็จะรักษาศีล ๑๐  พระภิกษุก็จะรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เป็นการชำระกายวาจาให้สะอาดยิ่งๆขึ้นไป  การชำระทางกายและวาจาจึงต้องมีศีลในระดับต่างๆ  ถ้ารักษาศีล ๕ เป็นปกติอยู่แล้วทุกวัน พอมาถึงวันพระก็จะเพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ ในศีลข้อที่ ๓ ก็จะละเว้นจากการหลับนอนกับสามีหรือภรรยา คือจะนอนคนเดียว ไม่แสวงหาความสุขจากการหลับนอนร่วมกับคู่ของตน เรียกว่าอพรหมจริยา   รักษาศีลพรหมจรรย์  

 

แล้วก็เพิ่มข้อที่ ๖  คือละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  รับประทานอาหารเพียงเพื่ออยู่เท่านั้น ถ้ารับประทานเพียงพอก็สามารถอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารมากถึง ๓ มื้อ รับประทานเพียงมื้อสองมื้อ ก็พอเพียงกับการดูแลรักษาร่างกาย ให้อยู่ได้อย่างปกติ  จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แล้วก็รักษาศีลข้อที่ ๗ ไม่แต่งหน้าทาปาก ไม่ใช้เครื่องสำอาง ไม่ใช้น้ำหอม ไม่สวมใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด แต่งกายแบบเรียบง่าย แล้วก็รักษาข้อที่ ๘ ไม่นอนบนฟูกหนาๆ  นอนบนพื้นไม้ปูด้วยเสื่อปูด้วยผ้า เพราะเป็นการฝึกไม่ให้แสวงหาความสุขจากการหลับนอน ถ้าร่างกายเหนื่อยต้องการพักผ่อน นอนบนพื้นไม้ก็นอนหลับได้อย่างสบาย จะตื่นเร็ว เพราะเมื่อได้พักผ่อนเพียงพอแล้วก็จะตื่น ก็ไม่อยากนอนต่อ แต่ถ้านอนบนฟูกหนาๆ พอตื่นขึ้นมาแล้ว ใจยังอยากจะนอนต่อก็จะนอนต่อไปอีก ทำให้เสียเวลา แทนที่จะไปชำระไปปฏิบัติ ก็จะไม่ได้ปฏิบัติ จะได้ชำระเพียงแต่กายและวาจา เพราะการชำระต้องมีอีกขั้นหนึ่ง คือชำระใจด้วยการภาวนา คือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเจริญปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่เป็นความสุขแต่เป็นความทุกข์ เป็นงานที่ต้องทำพร้อมกับการรักษาศีล ๘ ถ้ารักษาเพียงศีล ๕ ก็จะภาวนาไม่ค่อยสะดวก เพราะจะมาห่วงมากังวลกับเรื่องการรับประทานอาหารตอนเย็นอีกมื้อหนึ่ง อาจจะตอนก่อนนอนอีกมื้อหนึ่ง  ถ้ายังมีความห่วงมีความกังวลกับการรับประทานอาหาร เวลานั่งสมาธิก็จะนั่งไม่ได้ นั่งได้เดี๋ยวเดียวก็จะรู้สึกอึดอัดใจ อยากจะลุกไปหาอะไรมาดื่ม มารับประทาน 

 

แต่ถ้าถือศีล ๘ ตั้งใจไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว พอพ้นเที่ยงไปแล้วก็หมดปัญหากับเรื่องรับประทานอาหาร ก็เริ่มนั่งสมาธิได้เลย เวลานั่งสมาธิถึงแม้จะมีความอยากจะรับประทานอาหาร แต่ก็รู้ว่ารับประทานไม่ได้แล้ว เพราะได้ตั้งใจแล้วว่าจะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  ความอึดอัดใจก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าไม่มีทางที่จะได้รับประทานอย่างแน่นอน ก็จะทำให้นั่งสมาธิได้อย่างสบาย  การปฏิบัติก็จะเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ เพราะมีศีล ๘  เป็นเครื่องสนับสนุน  การชำระกายวาจาใจจึงจำเป็นต้องมีทั้งศีล ๘ ทั้งการภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญปัญญาอย่างต่อเนื่อง เพราะการชำระที่แท้จริงต้องชำระที่ใจ เพราะเครื่องเศร้าหมองนั้นอยู่ในใจ ไม่ได้อยู่ที่กาย ไม่ได้อยู่ที่วาจา ไหลออกมาจากใจไปสู่กายไปสู่วาจา   เพราะกิเลสเครื่องเศร้าหมอง คือความโลภความโกรธความหลงอยู่ในใจ เมื่อเกิดความโลภความโกรธความหลงขึ้นมาในใจแล้ว ก็จะระบายออกมาทางกายทางวาจา  เวลาโลภอยากจะรับประทาน ก็ต้องสั่งร่างกายให้ไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มา  ถ้ามีคนมาขัดขวาง ก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา ก็จะระบายความโกรธออกมาทางกายทางวาจา ด้วยการพูดจาหยาบคาย  ด่าว่าคนนั้นคนนี้ แล้วก็ทุบทำลายข้าวของ เป็นการไหลออกมาของกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่กำจัดด้วยศีลไม่ได้ ได้แต่เพียงกั้นไว้เท่านั้น เวลาอยากจะทำลายข้าวของ อยากจะทุบตีผู้อื่น ถ้ารู้ว่ากำลังจะทำผิดศีล ก็จะไม่ทำ แต่ความโกรธก็ยังมีอยู่ในใจ ยังไม่ดับไป จะดับได้ก็อาศัยการภาวนา นั่งทำสมาธิ ทำจิตให้สงบ เช่น สวดมนต์ไหว้พระไปเรื่อย ๆ เวลาเกิดความโกรธขึ้นมาแทนที่จะระบายออกไปทางกายทางวาจา ก็หันเข้าหามุมสงบแล้วก็นั่งหลับตา ขัดสมาธิ ตั้งตัวให้ตรง  ตั้งสติให้อยู่จำเพาะหน้า ให้รู้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ ให้ระลึกแต่พุทโธๆไปในใจ ไม่ส่งใจไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้โกรธ ให้อยู่กับพุทโธๆไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็วความโกรธก็จะหายจะดับไป

 

ถ้าไม่สามารถควบคุมจิตให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆได้ ก็ลองใช้วิธีสวดมนต์ไปก่อนก็ได้  สวดบทใดบทหนึ่งที่จำได้ สวดไปเรื่อยๆ  เช่น นโมตัสสะฯ อรหังสัมมาฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ สวดกลับไปกลับมาไปเรื่อยๆ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องหรือคนที่ทำให้เราโกรธ  ถ้าอยู่กับบทสวดมนต์ไปได้แล้ว ไม่ช้าก็เร็วความโกรธก็จะเบาบางลงไป และหายไปในที่สุด ก็จะสบายใจ ไม่อยากไปทุบตีทำลายข้าวของ ทำร้ายคนนั้นคนนี้เพราะจิตมีความสงบมีความสุข นี้คือการระงับดับกิเลสเครื่องเศร้าหมองด้วยอุบายแห่งสมาธิ   แต่เป็นการดับที่ไม่ถาวร ดับได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ต่อไปเวลามีใครพูดหรือทำอะไรให้ไม่พอใจ ก็จะเกิดความโกรธขึ้นมาอีก จะชำระกำจัดความโกรธให้หมดไปอย่างถาวร ก็ต้องเจริญวิปัสสนาภาวนาเป็นลำดับต่อไป  เมื่อทำจิตใจให้สงบได้แล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องเจริญปัญญาเจริญวิปัสสนา  ทำความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับของเรา  เราไม่สามารถไปอยากไปต้องการ ให้คนนั้นให้คนนี้ ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นไปหรือทำอะไรตามความอยากตามความต้องการของเราได้ ถ้ารู้ว่าไม่สามารถไปบังคับ ไปหวังอะไรจากใครได้ เราก็จะไม่ไปบังคับ จะไม่ไปหวัง จะไม่ไปอยาก ก็จะไม่เกิดความโกรธขึ้นมา เพราะความโกรธเกิดจากความเสียใจความผิดหวัง จากความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้  อยากให้คนนั้นคนนี้ ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้กับเรา พอไม่ทำตามก็เกิดความโกรธขึ้นมา แต่ถ้ารู้ว่าไปบังคับเขาไม่ได้ ไปหวังไปอยากอะไรจากเขาไม่ได้ เราก็ปล่อยวาง  เขาจะทำอะไรอย่างไรเราก็ไม่โกรธอีกต่อไป  นี้คือวิธีดับความโกรธอย่างถาวร ด้วยอุบายแห่งวิปัสสนาคือปัญญา 

 

พิจารณาให้เห็นว่าไม่มีอะไรอยู่ในการควบคุมบังคับของเรา  ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราไปตลอด ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง  ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีอะไรให้ความสุขกับเราไปตลอด  สักวันหนึ่งความสุขที่ได้จากคนนั้นหรือสิ่งนี้ก็จะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าสูญเสียสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ คนที่รักที่ชอบไป เราก็จะต้องทุกข์ ต้องร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ ขณะที่อยู่ก็มีความสุข เมื่อจากไปก็เศร้าโศกเสียใจ จึงต้องสอนตัวเราเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ไม่หลงไปยึดไปอยากได้อะไร เพราะมีความสุขที่ดีกว่าสิ่งต่างๆอยู่ภายในใจของเรา คือความสุขที่เกิดจากการชำระกายวาจาใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการบำเพ็ญ ด้วยการปฏิบัติ  ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม  ถ้าบำเพ็ญตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้แล้ว ก็เท่ากับได้ชำระกายวาจาใจไปตามลำดับ จากน้อยไปหามาก ในเบื้องต้นอาจจะทำบุญทำทานได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเห็นผลจากการทำบุญทำทาน ว่าทำให้จิตใจมีความสุข ก็จะทำมากขึ้น เคยรักษาศีล ๕  ได้บางวันแต่ไม่ทุกวัน เมื่อรักษาแล้วรู้สึกว่ามีความสุข ต่อไปก็จะรักษาทุกๆวัน ถ้ารักษาศีล ๘  ในวันพระได้ ก็อยากจะรักษาไปเรื่อยๆ รักษาไปตลอด ก็จะทำให้อยากปฏิบัติธรรม ไปอยู่วัด ไปบวชชีบ้าง บวชพราหมณ์บ้าง  บวชพระบ้าง เพราะเห็นคุณค่าของการชำระกายวาจาใจ ว่าทำให้เราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายไปกับเรื่องราวต่างๆ เพราะเห็นด้วยปัญญาแล้ว ว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุ เป็นข้าวของต่างๆ ไม่ได้ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง 

 

แต่ให้ความทุกข์แถมมาด้วย มีอะไรก็ต้องทุกข์กับสิ่งนั้นๆ มีสมบัติก็ต้องทุกข์กับสมบัติ มีสามีก็ต้องทุกข์กับสามี มีภรรยาก็ต้องทุกข์กับภรรยา มีบุตรมีธิดาก็ต้องทุกข์กับบุตรกับธิดา แต่มักจะมองไม่เห็นกัน เพราะความหลงครอบงำจิตใจ ทำให้เราไม่เห็น แต่ถ้าได้มาวัด ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ จะได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่กำลังได้ยินกันในวันนี้ ก็ทำให้มีหูตาสว่าง  เห็นทางสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์เห็นทางสู่ความสุขที่แท้จริงว่า ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง หาตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์  หาการสรรเสริญเยินยอ หาความสุขทางกาม คือรูปกลิ่นเสียงโผฏฐัพพะ   แต่อยู่ที่การชำระกายวาจาใจให้สะอาดให้บริสุทธิ์ เมื่อสะอาดบริสุทธิ์แล้วจิตใจก็จะสงบร่มเย็นเป็นสุข นี้แหละคือความสุขที่แท้จริง ที่จะอยู่กับเราไปตลอด ตั้งแต่บัดนี้ไปตลอดอนันตกาล ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งกาลเวลา เช่นเดียวกับจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ขอให้เชื่อมั่นในการชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้บำเพ็ญอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องจนกว่าชีวิตจะหาไม่ รับรองได้ว่าการได้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้มาเจอพระพุทธศาสนา จะไม่เป็นการเสียเปล่า จะได้กำไรอย่างแน่นอน จะได้ความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง ขอให้นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้