กัณฑ์ที่ ๓๐๙        ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐

 

อายุของพระศาสนา

 

 

 

การทำบุญถวายสังฆทานให้แก่พระภิกษุสามเณร เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวนาน เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งแก่พวกเรา เพราะพระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนต้นโพธิ์ต้นไทร   พวกเราเปรียบเหมือนกับนกตัวเล็กๆ  ที่อาศัยร่มโพธิ์ร่มไทรเป็นที่พึ่ง  อาศัยผลโพธิ์ผลไทรเป็นอาหาร  ถ้าต้นโพธิ์ต้นไทรเสื่อมดับไป พวกเราก็จะไร้ที่พึ่ง ไม่มีอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงเป็นหน้าที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างพวกเรา ที่มีความศรัทธา มีความเคารพในพระพุทธศาสนา จะพึงกระทำกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการถวายสังฆทาน ถือเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยตรง เพราะไม่ได้ถวายให้กับพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แต่ถวายให้กับพระศาสนา ให้กับพระภิกษุทุกรูป ที่บวชในพระพุทธศาสนา สิ่งของต่างๆที่ญาติโยมนำมาถวาย ด้วยการกล่าวคำถวายสังฆทาน ดังที่ได้กระทำไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นของที่ผู้รับไม่สามารถถือเอาเป็นของตนได้ เพราะญาติโยมตั้งใจถวายให้เป็นของส่วนรวม ให้ผู้รับนำเอาไปแจกจ่าย เอาไปแบ่งกับพระรูปอื่น  ผู้รับเป็นเพียงตัวแทนของพระเท่านั้น เมื่อรับมาแล้วก็ต้องอุปโลกน์   คือประกาศให้สงฆ์ได้รับทราบ และขอฉันทานุมัติ  ขออนุญาตจากสงฆ์ให้นำเอาของต่างๆที่ได้รับมา เอามาแจกจ่าย โดยให้พระเถรานุเถระเป็นผู้พิจารณาก่อน แล้วเลื่อนลงไปตามลำดับอาวุโสภันเต จนถึงสามเณรรูปสุดท้าย  ที่เหลือก็แจกลูกศิษย์ลูกหาศรัทธาญาติโยมต่อไป  ถ้ายังไม่ได้อุปโลกน์ แล้วเอาไปใช้ก่อน ก็จะเป็นบาปเป็นกรรม เพราะสงฆ์ยังไม่ได้อนุญาต ถ้าได้อุปโลกน์แล้ว ก็จะไม่เป็นบาปเป็นกรรมแต่อย่างใด เพราะทำถูกต้องตามพุทธบัญญัติ มีของเหลือก็ไม่ควรเก็บเอาไว้  ศาสนาไม่สอนให้พระเณรสะสมของใช้ต่างๆ มีพอเพียงเหลือใช้แล้วก็เอาไปทำบุญต่อ  ให้วัดที่กันดารขาดแคลน สงเคราะห์ผู้เดือดร้อนต่อไป 

 

ทุกครั้งที่มีการถวายสังฆทานจึงต้องอุปโลกน์ก่อน ถึงจะเอาไปจำหน่ายจ่ายแจกได้  เมื่อทำอย่างนี้แล้วก็จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่ไปยาวนาน ตามคำทำนายของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเคยตรัสไว้ในโอกาสที่เสด็จไปโปรดพระราชบิดาในพระราชวัง เนื่องจากพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้าที่ทรงเลี้ยงดูพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่มีพระชันษา ๗ วัน หลังจากที่พระพุทธมารดาได้เสด็จสวรรคตไป พระราชบิดาจึงมอบให้พระมารดาเลี้ยง ซึ่งเป็นน้องสาวของพระพุทธมารดา เลี้ยงดูจนเจริญเติบโต ได้เสด็จออกผนวชและปฏิบัติธรรมอยู่ ๖ ปี จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา  หลังจากนั้นแล้วพระราชบิดาก็ได้อาราธนาให้มาโปรดญาติพี่น้องที่อยู่ในวัง  เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จไปถึง พระมารดาเลี้ยงก็มีจิตศรัทธาถวายผ้าจีวรให้กับพระพุทธเจ้า เป็นผ้าที่พระมารดาเลี้ยงได้ตัดเย็บด้วยพระองค์เอง ให้พระพุทธเจ้าไว้นุ่งห่ม แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธไม่รับผ้าจีวร ทรงตรัสให้ถวายแก่สงฆ์ ให้ถวายเป็นสังฆทาน ไม่ให้ถวายจำเพาะเจาะจงให้กับพระองค์เอง ครั้งที่ ๒ พระมารดาเลี้ยงก็ถวายให้กับพระพุทธเจ้าอีก  พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิเสธอีก ทรงให้ถวายเป็นสังฆทาน ครั้งที่ ๓ ก็นำมาถวายอีก พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่าถ้าอยากจะให้พระพุทธศาสนาอยู่ครบ ๕,๐๐๐ ปี ก็ควรถวายเป็นสังฆทาน อย่าถวายจำเพาะเจาะจงให้กับพระรูปหนึ่งรูปใด  เพราะพระแต่ละรูปมีอายุไม่ยืนยาวนานถึง ๕,๐๐๐ ปี พระพุทธเจ้าเองก็มีอายุเพียง ๘๐ ปี ก็ต้องเสด็จดับขันธ์ไป ต้องมีพระรูปอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน  การจะบวชพระได้ก็ต้องมีพระอย่างน้อย  ๑๐ รูปขึ้นไป ถ้าถวายเฉพาะรูปหนึ่งรูปใด แล้วรูปอื่นๆไม่ได้รับการทำนุบำรุงดูแล ก็จะไม่สามารถอยู่เป็นพระได้  ก็อาจจะสึกกันไป เหลือแต่องค์ที่มีคนถวายข้าวของให้เป็นประจำ  แต่หลังจากที่องค์นั้นๆได้ตายจากไปแล้ว ก็จะไม่มีใครมาสืบทอดพระศาสนาต่อไป ศาสนาก็จะไม่อยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี 

 

เวลาถวายสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพระภิกษุสามเณร คือปัจจัย ๔  อาหารบิณฑบาต  จีวร ยารักษาโรค กุฏิ ศาลา โบสถ์ เจดีย์ วัดวาอารามให้ถวายเป็นสมบัติของพระศาสนา ไม่ให้ถวายเป็นของผู้หนึ่งผู้ใด เพราะถ้าเป็นของผู้ใดแล้วอาจจะเอาไปขายต่อได้ แต่ถ้าเป็นของศาสนาก็จะไม่สามารถเอาไปขายได้  เวลาจะทำอะไรกับสมบัติส่วนกลางจะต้องได้รับฉันทานุมัติ ได้รับอนุญาตจากสงฆ์ก่อน เพื่อถาวรวัตถุต่างๆ  สิ่งของต่างๆ ที่ญาติโยมถวายจะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจริงๆ  พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า การถวายทานให้เป็นของสงฆ์ ที่เรียกว่าสังฆทานนี้ มีบุญมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พระรูปใดรูปหนึ่ง   แต่การถวายสังฆทานไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นของที่จัดใส่ในกระแป๋งสีเหลืองๆ ที่มีขายเกลื่อนไปหมด  เป็นอะไรก็ได้ ของที่พระใช้ได้ จะถวายเพียงแต่ยาสีฟัน แปรงสีฟันก็ได้ จะถวายสบู่ จะถวายเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อของที่ใส่กระแป๋งเตรียมเอาไว้ เพราะส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่มีคุณภาพ เป็นของที่ขายไม่ออก ก็ยัดใส่ไปในกระป๋อง   ปลากระป๋องบางทีก็หมดอายุ น้ำดื่มก็มีกลิ่นแฟ๊บกลิ่นสบู่ ดื่มไม่ได้ ควรจะเลือกซื้อเองดีกว่า เพราะของที่จัดไว้ส่วนใหญ่จะซ้ำๆกัน เป็นของที่ไม่มีความจำเป็น เช่นกล่องสบู่มีเป็นร้อย  ถ้าอยากจะทำบุญถวายของที่มีประโยชน์ ก็ควรหาซื้อมาเองจะดีกว่า จะได้ของใหม่ เป็นของที่มีคุณภาพ และรู้ด้วยว่ามีอะไรบ้าง แต่ถ้าซื้อของที่ใส่มาในกระป๋อง จะไม่รู้ว่าข้างล่างมีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่จะมีกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษชำระ ขวดน้ำยัดไว้ข้างล่าง  เวลาทำบุญถวายสังฆทานควรใช้เหตุใช้ผลใช้ปัญญา  อย่าใช้ความมักง่ายความขี้เกียจ ไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรให้กับพระ ก็เลยซื้อของที่ใส่ในกระแป๋งมา

 

ถ้าไม่รู้จริงๆก็ถามได้  ว่าทางวัดขาดแคลนอะไรบ้าง  สิ่งไหนมีเหลือมากแล้วจะได้ไม่ต้องซื้อมาให้เกะกะ ไม่เกิดประโยชน์อะไร อยู่ดีๆจะให้พระบอกญาติโยมไม่ได้ ถ้าญาติโยมถามจึงจะบอกได้ ว่าต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่สามารถพูดได้ แต่ถ้าญาติโยมเปิดโอกาส ถามพระว่าขาดเหลืออะไรต้องการอะไร มีความจำเป็นอะไร ขอปวารณาตัว พระจึงจะพูดได้  การปวารณาเป็นการเปิดโอกาสให้พระบอกกับญาติโยม ในสิ่งที่มีความจำเป็น ที่ต้องการได้  โดยปกติแล้วพระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้พระภิกษุไปขอสิ่งต่างๆจากผู้อื่น ที่ไม่ใช่เป็นญาติ ที่ไม่ได้ปวารณาตัวไว้ก่อน  ต้องเป็นพ่อแม่ เป็นพี่เป็นน้องกัน ถึงจะบอกกันได้ ว่าขาดเหลืออะไรต้องการอะไร ถ้าจะบอกคนที่ไม่ใช่ญาติ เขาต้องปวารณาตัวก่อนว่า ถ้าพระเดชพระคุณท่านขาดเหลืออะไร ต้องการอะไร ขอโปรดได้บอกข้าพเจ้าด้วย  ถ้าเป็นอย่างนี้จึงจะบอกได้ ถ้าไม่ปวารณาตัวไว้ ก็จะไม่สามารถบอกได้  แต่บางองค์ถือหลักมักน้อยสันโดษ  ยินดีตามมีตามเกิด พอใจกับสิ่งที่มีอยู่  ถึงแม้จะปวารณา ก็จะไม่ขออะไรทั้งสิ้น เพราะของส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่ว่า ถ้าไม่มีแล้วจะต้องตายไป  เช่น สบู่อย่างนี้ ถึงแม้จะไม่มีสบู่ใช้ก็ไม่ตาย ไม่มีแฟ๊บใช้ก็ไม่ตาย แต่ขาดน้ำไม่ได้  น้ำต้องมีไว้ดื่ม มีไว้อาบ มีไว้ซักจีวร แต่ไม่มีสบู่ ไม่มีแฟ๊บไม่เป็นไร ไม่มีแฟ๊บก็ซักได้ ไม่มีสบู่ก็อาบได้  พระบางรูปจะถือหลักมักน้อยสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด มีอะไรก็ใช้ไปตามมีตามเกิด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องคิดด้วยปัญญาว่า  เราต้องใช้อะไรกันบ้าง พระก็เป็นคนเหมือนเรา ก็ต้องใช้ของเหมือนกับเราใช้ เช่นยาสีฟัน แปรงสีฟัน  สบู่ แฟ๊บ ของพวกนี้ท่านก็ต้องใช้เหมือนกัน แต่ของบางอย่างท่านไม่ใช้ เราก็ต้องรู้ เช่นพวกเครื่องสำอางต่างๆ พวกน้ำหอม อะไรเหล่านี้ ท่านจะไม่ใช้ นอกจะใช้เป็นยา เช่นทาแป้งเพราะมีผดมีผื่น ทาเพื่อรักษา ถ้าทาแป้งเพื่อความสุขความสบายใจก็ใช้ไม่ได้  ต้องใช้เพื่อดูแลรักษาร่างกายเท่านั้น ไม่เสริมความงาม ความสบายอกสบายใจ เพราะการทำจิตทำใจให้สบายของพระไม่เหมือนกับฆราวาสญาติโยม ที่มักจะหาความสุขความสบายใจ จากการใช้ของฟุ่มเฟือยต่างๆ ซื้อของแพงๆมาใช้กัน  

 

พระจะหาความสุขความสบายใจด้วยการตัดกิเลส ตัดของฟุ่มเฟือยต่างๆ ไม่ยินดีกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จากการทำจิตใจให้สงบ เพราะเป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากการใช้ของฟุ่มเฟือย จากการดูการฟังการดื่มการรับประทาน  เพราะไม่จีรังถาวร สุขเพียงขณะที่ได้เสพได้สัมผัส แล้วก็เกิดความหิว เกิดความอยาก เกิดความยึดติด เหมือนกับคนติดยาเสพติด เมื่อได้ดูได้ฟังได้กินได้ดื่มแล้วก็ติดเป็นนิสัย จะต้องเสพอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่ได้เสพก็หงุดหงิดใจเบื่อหน่ายเศร้าสร้อยหงอยเหงา แต่ความสุขที่ได้จากความสงบของจิตใจ จะไม่ทำให้เรายึดติดแต่อย่างใดเป็นความสุขที่เราสามารถมีได้ตลอดเวลา เพราะมีอยู่ในตัวเรา ไม่จำเป็นต้องมีเงินมีทอง มีคนนั้นคนนี้ เพียงแต่ทำใจให้สงบนิ่งปล่อยวางได้ ก็จะมีความสุขความอิ่มความพอ  ถ้าอยากจะพบกับความสุขที่แท้จริง ก็ต้องปล่อยวางความสุขปลอมทั้งหลาย เพราะไม่สามารถเอาความสุขทั้ง ๒ ชนิดมาปนกันได้ เพราะมันเป็นของตรงกันข้ามกัน เหมือนกับเหรียญถ้าจะเอาด้านหัวให้หงายขึ้น ด้านก้อยก็ต้องคว่ำลง จะให้หัวกับก้อยหงายพร้อมๆกันไม่ได้ จะให้กลางวันกลางคืนปรากฏขึ้นมาพร้อมๆกันไม่ได้ ถ้าเป็นกลางวันก็ไม่เป็นกลางคืน ถ้าเป็นกลางคืนก็ไม่เป็นกลางวัน  ถ้าอยากจะได้ความสุขสงบของจิตใจ ก็ต้องละความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ความสุขที่เกิดจากการได้กินได้ดื่มได้ดูได้ฟัง ต้องงดต้องตัดไป  เพื่อจะได้มีเวลามาหาความสุขภายในใจ เช่นเสาร์วันอาทิตย์แทนที่จะไปเที่ยวกัน ก็มาอยู่วัดกัน มาถือศีล ๘ อดข้าวเย็น นอนกับพื้น แต่งเนื้อแต่งตัวแบบเรียบง่าย ไม่ใช้น้ำหอมเครื่องสำอาง  แล้วก็สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิกัน  ควบคุมจิตใจไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องต่างๆ 

 

ถ้าสวดมนต์ก็ให้อยู่กับการสวดมนต์อย่างเดียว  สวดไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ดึงใจเอาไว้ ถ้าเผลอไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ดึงกลับมาหาบทสวดมนต์ ถ้าบริกรรมพุทโธๆ  ก็อยู่กับคำบริกรรมไปในใจ  อย่าไปคิดถึงเรื่องอะไร ดึงกลับมาเรื่อยๆ    ถ้าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ต่อให้นั่งสมาธิเป็นชั่วโมงๆ  ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  เพราะจิตจะไม่สงบ  จะสงบได้ก็ต่อเมื่อจิตไม่คิดเรื่องต่างๆ ถ้าอยู่กับบทสวดมนต์หรือการบริกรรมพุทโธๆอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเพียง ๕ นาทีจิตก็จะรวมลง  เวลารวมลงจะเหมือนกับตกหลุมตกบ่อตกเหว จะวูบลงไปแล้วก็นิ่งสงบ ตอนนั้นเรื่องอะไรต่างๆหายไปหมด ใจจะไม่รับรู้เรื่องอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเสียงเป็นรูปเป็นกลิ่นเป็นอะไรก็ตาม ขณะนั้นใจจะไม่สนใจกับสิ่งต่างๆ  จะมีความสุขอยู่กับความสงบของตน ความสุขนี้แลที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า  เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขต่างๆในโลกนี้ นัตถิ สันติ ปรังสุขัง เป็นความสุขที่พวกเราทุกคนมีสิทธิ์หาไว้เป็นสมบัติได้  ไม่ต้องเป็นคนรวย คนจนก็ได้ คนรวยก็ได้  ผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็ได้ คนแก่ก็ได้ คนหนุ่มคนสาวก็ได้ เด็กก็ได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ ถ้ารู้จักวิธีทำใจให้สงบเสียอย่างเดียว ก็จะได้รับความสุขที่ประเสริฐนี้อย่างแน่นอนทุกคน  จึงควรให้ความสนใจต่อการหาความสุขแบบนี้ ด้วยการลดละหาความสุขชนิดอื่น ตัดเรื่องการอยากดู อยากฟัง อยากกิน อยากดื่ม ให้กินให้ดื่มเท่าที่จำเป็น ถ้าเป็นพระวัดนี้ก็ฉันเพียงวันละมื้อ ก็อยู่ได้แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรับประทานถึงวันละ ๓ ครั้ง รับประทานครั้งเดียวให้พอเลยก็ได้เหมือนกับเวลาที่เติมน้ำมันรถ เติมทีเดียวให้เต็มถังไปเลย ไม่จำเป็นต้องแบ่งไว้เติมที่ละ ๓ ชั่วโมง  ๖ ชั่วโมง เติมทีเดียวให้เต็มถังไปเลย กินไปทีเดียวให้อิ่มท้องไปเลย รับรองไม่ตาย อยู่ได้จนถึงพรุ่งนี้ แล้วค่อยกลับมากินใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องมากังวลกับการรับประทาน จะได้มีเวลาปฏิบัติ นั่งสมาธิ สวดมนต์ มาวัดมารักษาศีล มาทำบุญทำทาน เพื่อความสงบร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีวิธีอื่น มีวิธีนี้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น

 

ไม่มีใครทำให้เราได้ พระพุทธเจ้าทำให้เราไม่ได้ พระอริยสงฆ์ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อมีเสียงก็ทำให้เราไม่ได้  ไม่สามารถเสกเป่าประพรมน้ำมนต์ให้เราได้พบกับความสุขแบบนี้ได้ เพราะความสุขแบบนี้ต้องทำเอง อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ต้องปฏิบัติเอง สร้างความสุขชนิดนี้เอง  ถ้ามีความตั้งใจ มีความยินดี มีความพอใจแล้ว จะไม่ยากเย็นอะไรเลย  ถ้ารู้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง ก็จะเกิดความยินดี ความพอใจ ความขยันหมั่นเพียร ที่จะสร้างความสุขแบบนี้ให้เกิดขึ้น ในเบื้องต้นจึงต้องทำให้เห็นถึงคุณค่าอันวิเศษของความสุขแบบนี้ ให้เห็นว่าความสุขต่างๆที่มีอยู่ไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ได้เป็นที่พึ่ง ยามที่ประสบเคราะห์กรรมความทุกข์ต่างๆ แต่ความสุขในใจเป็นที่พึ่งได้ในยามที่มีความทุกข์ใจเศร้าโศกเสียใจ เพียงทำจิตให้สงบเท่านั้น  ความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจต่างๆ ก็จะหายหมดไปเลย  เป็นที่พึ่งทั้งในเวลาทุกข์ยากและเวลาสุข   ในขณะที่ไม่ทุกข์ก็จะมีความสุขอิ่มหนำสำราญใจในขณะที่ทุกข์ก็สามารถทำให้ทุกข์หายไปได้ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะกำจัดความทุกข์ให้หายไปจากใจได้ เงินทองเป็นหมื่นล้านแสนล้านก็ไม่สามารถดับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งสูงขนาดไหน จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เป็นประธานาธิบดี  เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรก็ตาม ก็ไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้ มีแต่ความสงบเท่านั้นที่จะดับได้

 

เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างกันขึ้นมา ด้วยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ได้มาบำเพ็ญมาปฏิบัติกันในวันนี้  เป็นการเดินเข้าหาความสงบสุขของจิตใจ เริ่มต้นด้วยการทำบุญทำทานรักษาศีล แล้วก็มาอยู่วัด มาปฏิบัติธรรม  ไหว้พระสวดมนต์  ทำจิตใจให้สงบ บริกรรมพุทโธๆภายในใจไปเรื่อยๆ มีเวลามากน้อยเท่าไรก็ให้มุ่งมาทางนี้ ทำแต่สิ่งนี้ รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็วก็จะได้พบกับความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้พบได้สัมผัส ได้นำเอามาเผยแผ่สั่งสอนพวกเรา ขอให้น้อมเอามาปฏิบัติ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง อย่าประมาทนอนใจเพราะชีวิตเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จะมีโอกาสได้ทำบุญ ได้ปฏิบัติหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่วันนี้มีโอกาสแล้ว ควรรีบฉวยโอกาสนี้เสีย น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะไม่รู้ว่าน้ำจะลดลงไปเมื่อไร พอลดลงไปแล้วก็จะไม่มีน้ำให้ตัก  ชีวิตของเราก็เป็นอย่างนั้น  ขณะนี้เรามีเวลาทำบุญ รักษาศีล มาอยู่วัด มาปฏิบัติธรรมกันได้ ก็ให้รีบตักตวงโอกาสนี้ อย่าปล่อยให้ผ่านไป เพราะเมื่อหมดโอกาสแล้ว จะมาร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอย่างไร ก็ไม่เกิดประโยชน์  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้