กัณฑ์ที่ ๓๑        มกราคม  ๒๕๔๔

อาโรคยา ปรมา ลาภา

 

อาโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ  เป็นกุญแจที่จะไขประตูไปสู่ความสุข ปัดเป่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เป็นเส้นผมบังภูเขาให้หลุดลอยไป ทำให้เห็นลาภอันประเสริฐนี้ได้  ถ้าไม่พิจารณาก็จะไม่เข้าใจ จะไม่เห็นคุณค่าของสุภาษิตบทนี้ การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า  ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนั้น ถ้ามองดูคนอื่น เช่นเวลาไปโรงพยาบาล เห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วยนอนอยู่บนเตียง มีแต่ความทุกข์ ความทรมาน ทั้งทางกายและทางจิตใจ เพราะมีโรคภัยเบียดเบียน ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ มีแต่นอนให้หมอดูแลรักษา จะหายหรือจะตายก็ไม่รู้ ถ้าเปรียบเทียบเรากับคนที่นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลนั้น เราจะเห็นว่าเรามีลาภอันประเสริฐ คือมีร่างกายที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงมีอาการครบ ๓๒ สามารถที่จะทำอะไรก็ได้ จะไปไหนมาไหนก็ได้ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

จิตใจมีเส้นผมบังตาอยู่  ทำให้ไม่สามารถมองเห็นถึงลาภอันประเสริฐที่มีอยู่ในตัวเรา  แต่กลับไปเห็นว่าถ้ามีอะไรเพิ่มขึ้นมา จะมีความสุขมากขึ้น  เรามักจะมองหาความสุขจากสิ่งภายนอก เช่นถ้าอยู่ตัวคนเดียว ก็คิดว่าถ้ามีแฟนสักคนหนึ่ง มีสามีหรือมีภรรยา เราคงจะมีความสุขมากขึ้น    เมื่อมีสามีหรือมีภรรยาแล้ว ก็คิดว่ามีลูกสักคนสองคน ก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น    แต่เมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้วถึงได้รู้ว่าแทนที่จะมีความสุขกลับมีความทุกข์ เวลามีแฟนก็ทุกข์กับแฟน มีสามีก็ทุกข์กับสามี มีภรรยาก็ทุกข์กับภรรยา มีลูกก็ต้องทุกข์กับลูก เพราะอะไร ก็เพราะความรัก ความห่วงใย  เมื่อมีความรัก ความห่วงใย ก็มีความกังวลใจ  มีความไม่สบายใจ มีความกระสับกระส่าย เวลาไม่เห็นลูก ไม่เห็นแฟน ไม่เห็นสามี ไม่เห็นภรรยา ก็เกิดอาการวิตกกังวลขึ้นมา  คิดว่าหายไปไหน เป็นอะไรไปหรือเปล่า นี่เป็นเพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้นั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชื่อก็บอกแล้วว่ามีทุกข์ ทุกขัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีครอบครองอยู่ ถ้าเราไปยึดไปติดว่าเป็นของๆเรา และอยากจะให้สิ่งเหล่านี้อยู่กับเราไปนานๆ มันก็จะสร้างความทุกข์ใจให้เกิดขึ้นกับเรา

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ว่าเราต้องรู้จักปลง รู้จักปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด อย่าไปอยากให้สิ่งเหล่านี้อยู่กับเราไปนานๆ ให้ถือสันโดษ คือเอาตามมีตามเกิด  เมื่อยังอยู่ก็ให้อยู่ไป แต่พร้อมที่จะให้สิ่งนั้นหมดไป จากไป  ถ้าไม่พร้อม จิตใจจะมีแต่ความกังวล มีความทุกข์  แต่ถ้าปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ได้ ใจก็จะไม่ทุกข์ โดยให้เห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้นั้นเป็นของชั่วคราว แม้กระทั่งชีวิตของเราก็เป็นของชั่วคราว ไม่ได้อยู่ไปตลอด เราเป็นเพียงเหมือนนักแสดงบนเวทีโรงละครโรงใหญ่เท่านั้นเอง มีกรรมเป็นผู้กำกับ กรรมพาให้มาเกิด ให้เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย เป็นพระ เป็นฆราวาส แล้วในที่สุดก็ต้องแก่ ต้องตายจากโลกนี้ไป  สังขารร่างกายก็ต้องคืนเขาไป ทรัพย์สมบัติเงินทอง ข้าวของ บุคคลต่างๆที่มีอยู่ก็ต้องคืนเขาไป สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด

พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่าถ้าจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ให้มีความพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เรามีอยู่นี้เป็นลาภอันประเสริฐแล้ว คือร่างกายที่มีอาการ ๓๒ ครบบริบูรณ์  ไม่เจ็บไม่ไข้ ไม่พิกลไม่พิการ  สิ่งนี้เป็นความสุขอย่างยิ่งแล้ว ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้จะมีมากไปกว่านี้  ต่อให้มีเงินมีทองมากมายก่ายกองแค่ไหนก็ตาม  แต่ถ้าวันใดร่างกายเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยไป เกิดพิกลพิการไปแล้ว เงินทองที่มีอยู่เป็นร้อยล้านพันล้านก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา เพราะว่าเราไม่สามารถจะใช้เงินใช้ทองเหล่านั้นได้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของเราไว้ให้ดี ด้วยการดูแลกายและดูแลจิตใจ  เพราะว่าทั้งสองสิ่งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน  ถ้าจิตใจดีสภาพร่างกายก็ดีตามไปด้วย  ถ้าจิตใจไม่ดีก็จะสร้างปัญหา สร้างโรคภัยต่างๆให้กับร่างกายได้  ร่างกายจะดีได้ก็ต้องมีอาหาร มีอากาศ มีการออกกำลังกาย  นี่คือวิชาทางการแพทย์ที่ชี้ว่าสุขภาพร่างกายจะดีได้ต้องมี ๔อ ได้แก่   . อาหาร    . อากาศ    . ออกกำลังกาย    . อารมณ์

อาหารคือการรับประทานอาหารให้ครบ ๕ หมู่  สารอาหารที่ร่างกายต้องการนั้นมีอยู่ ๕ กลุ่มด้วยกันอย่าให้ขาด  เวลารับประทานอาหารเรามักจะรับประทานที่ถูกปากถูกใจเรา แต่สิ่งที่เราชอบนั้นบางทีก็ไม่ได้สารอาหารครบ เราจึงควรรับประทานอาหารที่ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง  อย่าไปกินตามใจ ควรรับประทานให้ครบทั้ง ๕ หมู่ด้วยกัน ให้มีทั้งข้าว เนื้อ นม ปลา ไข่ ผักและผลไม้  อย่างนี้เป็นต้น  กินให้ครบร่างกายถึงจะสมบูรณ์แข็งแรง ปริมาณที่จะรับประทานก็ต้องพอประมาณ คือไม่มากจนเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป  ถ้ารับประทานมากเกินไปน้ำหนักก็จะเกิน แล้วจะไปสร้างปัญหาให้กับอวัยวะต่างๆของร่างกาย

ร่างกายก็เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง  ตามปกติรถยนต์คันหนึ่งสามารถบรรทุกคนได้ในปริมาณจำกัด อย่างรถเก๋งนี่นั่งได้ ๔ คน ๕ คน ก็กำลังสบาย แต่ถ้าบรรทุกสัก ๑๐ คนนี่ รถมันก็จะลำบากเพราะว่าต้องรับน้ำหนักมาก  ยางต้องรับน้ำหนักมาก เครื่องยนต์ก็ต้องทำงานหนักกว่าปกติฉันใดถ้าน้ำหนักตัวเกินพิกัด หัวใจก็ต้องทำงานมากขึ้น กระเพาะ ลำไส้ ตับไต อวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็ต้องทำงานหนักขึ้น  เมื่อต้องทำงานหนักขึ้นอายุการใช้งานก็จะน้อยลง และจะทำเจ็บไข้ได้ป่วยตามมา คนที่มีน้ำหนักมากนั้นมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจต่างๆ หลอดเลือดอุดตันทำให้หัวใจวาย ให้เป็นอัมพฤตอัมพาต เพราะเส้นโลหิตแตกในสมอง เพราะไม่รับประทานอาหารให้ถูกต้องตามสุขลักษณะนั่นเอง

การรับประทานอาหารจึงไม่ควรให้ลิ้นให้ใจพาไป  ให้ใช้เหตุใช้ผล รับประทานอาหารพอประมาณ พอเหมาะพอควร แต่อย่ารับประทานน้อยจนเกินไป บางคนไม่อยากอ้วน กลัวอ้วน ก็ไม่กล้ารับประทานอาหารทำให้ร่างกายซูบผอม รับประทานอาหารไม่พอเพียงทำให้ร่างกายเกิดโรคขาดสารอาหารขึ้นมาได้ ทำให้เกิดโรคภัยขึ้นมา  ดังนั้นต้องรักษามัชฌิมาทางสายกลาง คือความพอดี ไม่มากจนเกินไป ไม่น้อยจนเกินไป ให้พอประมาณ ให้พอดีแล้วร่างกายจะอยู่ดี สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง   

อากาศคืออากาศที่บริสุทธิ์ อย่าไปสูดอากาศที่เป็นพิษ  ถ้าอยู่ในสถานที่ที่อากาศไม่ดีก็ควรจะหาทางขยับขยาย อย่าไปทนอยู่ อย่าไปโลภกับเรื่องเงินเรื่องทองให้มากจนเกินไป เช่นอยู่ในสถานที่นั้นเราได้เงินมากจากงานที่ทำอยู่ แต่สุขภาพร่างกายจะชำรุดทรุดโทรมเพราะสูดควันพิษเข้าไป ถ้าสถานที่ที่อยู่ สิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ควรจะหาสถานที่ที่ดี เช่นออกไปอยู่ตามชนบท อย่างบริเวณวัดญาณสังวรารามฯนี้ เวลามาเที่ยวจะพูดกันว่าอากาศที่นี่ดี สดชื่น สูดอากาศเข้าไปแล้วรู้สึกสบายใจสบายกาย

ปัญหาของอากาศอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เกิดจากสถานที่แต่เกิดจากจิตใจ คือคนบางคนไม่ชอบสูดอากาศบริสุทธิ์ แต่กลับชอบสูดควันพิษ เช่นการสูบบุหรี่ ดมกาว สูดผงขาวไอระเหย เมื่อเสพเข้าไปแล้วก็เข้าไปทำลายอวัยวะ คือปอด ทำให้ปอดไม่สามารถขับถ่ายอากาศเสียให้ออกจากร่างกายได้ เพราะเกิดมีอาการอุดตันของปอดขึ้นมา ควันบุหรี่ที่สูดดมเข้าไป จะทำให้ถุงลมโป่งพองอุดตัน ทำให้อากาศเข้าออกไม่สดวก  นี่คืออากาศเป็นพิษที่เกิดจากการกระทำของจิตใจ ถ้าต้องการที่จะมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง    มีอายุยืนยาวนาน ก็ต้องแลดูเรื่องอากาศให้ดี

ออกกำลังกายคือการยืดเส้นยืดสาย ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายร่างกายจะไม่แข็งแรง  อ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานโรคภัยต่างๆ  ถ้าออกกำลังกายอวัยวะต่างๆ เช่นปอด หัวใจ จะได้ทำงานอย่างเต็มที่  เมื่ออวัยวะทุกส่วนทำงานอย่างเต็มที่ก็จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์  มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ คนที่ไม่ได้ออกกำลังกายมักจะเป็นโรคอยู่เสมอๆ เช่นเป็นโรคภูมิแพ้อากาศหรือเป็นหวัด  อย่าปล่อยให้ร่างกายกินและนอนอย่างเดียว  ต้องหาเวลาออกกำลังกาย  วันๆหนึ่งควรจะเดินสัก ๔ ถึง ๕ กิโลเป็นอย่างน้อย  ร่างกายถึงจะได้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง

อารมณ์คือการมีอารมณ์ที่ดี เป็นเรื่องของจิตใจ จะมีอารมณ์ดีได้ก็ต้องมีธรรมะ  คือต้องรู้จักว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้  อารมณ์ไม่ดีเกิดจากความโลภ ความโกรธ  ความหลงครอบงำจิตใจ  ทำให้ยึดมั่นถือมั่น มีความอยากในสิ่งต่างๆ อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น อยากให้สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ อยากให้สิ่งที่ชอบอยู่ไปนานๆ เมื่อไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา ก็เกิดความเครียดขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา  ทำให้อารมณ์ไม่ดี  แล้วส่งผลกระทบกับการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย โรคบางชนิด เช่นโรคความดันโลหิตมีสาเหตุเกิดจากความเครียดของจิตใจ ไม่รู้จักปล่อยวาง  ถ้าปล่อยวางได้ใจจะไม่เครียด ใจจะสบาย พยายามปล่อยวางเถิด อย่าไปยึดไปติดกับอะไรเลย เพราะว่าในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถที่จะบังคับ ไม่สามารถที่จะควบคุมสิ่งต่างๆได้  สิ่งต่างๆนั้นเราอาจจะสามารถควบคุมได้เป็นบางครั้งบางคราว  แต่ในที่สุดแล้วมันก็ต้องเป็นไปตามกระแสแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เมื่อปล่อยวางแล้วจะไม่ทุกข์ แต่ถ้ายึดติด จะมีแต่ความเครียด มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความไม่สบายใจ แล้วก็จะไปกระทบกับการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย  ทำให้มีโรคภัยเบียดเบียน ทำให้ชีวิตสั้นลงไป  สังเกตดูเวลาที่ไม่ได้มีตำแหน่งสูงๆ ไม่ต้องรับผิดชอบมากๆนั้น หน้าตาจะสดใสเบิกบาน  แต่พอมีตำแหน่งหน้าที่สูงๆแล้วจะเกิดความเครียดขึ้นมา เกิดความกังวล ร่างกายจะแก่ ผมจะหงอก จะสังเกตได้จากคนที่มาเป็นนายกฯ เวลาไม่ได้เป็นนายกฯ หน้าตาจะสดใสเบิกบาน  แต่พอเป็นนายกฯเข้าปีสองปีเท่านั้นเอง ผมก็จะหงอก หน้าตาก็คร่ำเครียด  แก่ตัวลงไปอย่างรวดเร็ว  เพราะอารมณ์ไม่ดีนั่นเอง  เพราะมีงานต่างๆ มาให้คิด ให้แก้ไข มีปัญหารอบด้านที่จิตใจจะต้องคอยกังวล เลยทำให้แก่เร็วตายเร็ว

ถ้าอยากมีอายุที่ยืนยาวนานต้องทำจิตใจให้สบายๆ ให้ปลง ให้ปล่อย ให้วาง ให้มีความมักน้อยสันโดษ  อย่าไปโลภมาก สิ่งที่มีอยู่นี้พอเพียงอยู่แล้ว  ความสุขที่มีอยู่นี้พอเพียงแล้ว ไม่มีอะไรสุขมากไปกว่านี้หรอก  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น  สุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่จิตใจ  จิตใจจะสุขได้เพราะจิตใจปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางแล้วจิตใจจะสงบ จะสุข จะเย็น นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง  ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า  สุขอื่นใดเหนือความสุขที่เกิดจากจิตที่สงบนั้นไม่มีในโลกนี้ ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่สูงสุด คือความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ  จิตจะสงบได้ จิตต้องปล่อยวาง จิตจะปล่อยวางได้ จิตต้องมีสติ มีปัญญา  มีความมักน้อยสันโดษ ไว้ตัดความโลภ ความโกรธ  ความหลงตัดความอยากต่างๆนานา  เมื่อตัดได้ก็จะมีความสุข จึงขอฝากสุภาษิตบทที่ว่า อาโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ให้กับท่านทั้งหลายเอาไปพินิจพิจารณาและนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุข เพื่อลาภอันประเสริฐที่แท้จริงต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้