กัณฑ์ที่ ๓๑๖       ๑๔ เมษายน ๒๕๕๐

 

เรื่องที่ควรรู้

 

 

 

วันนี้เป็นวันที่ ๒ ของเทศกาลสงกรานต์ พวกเราจึงมาวัดกัน มาทำบุญสร้างกุศล ฟังเทศน์ฟังธรรม ให้เกิดปัญญาความรู้ความฉลาด ให้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน ให้จิตใจสงบผ่องใส มีความเห็นที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตไปอย่างราบรื่นดีงามและเจริญรุ่งเรือง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า การฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้รู้เรื่องที่ควรรู้ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขกับตนและผู้อื่น ถ้าไม่รู้ก็จะทำในสิ่งที่ผิดไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายให้กับตนและผู้อื่น เช่นการรู้กาลเทศะ รู้กาลและสถานที่ ว่าควรจะทำอย่างไร เช่นเวลามาวัดก็ต้องรู้ว่า เวลาไหนเป็นเวลาประเคนของ เวลาไหนไม่ควรประเคน เช่นในขณะที่ทำพิธีกรรมกล่าวคำถวายสังฆทานก็ดี กำลังฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี เป็นเวลาที่ไม่ควรทำกิจอย่างอื่น เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เกิดความรำคาญใจ จะฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ไม่สามารถฟังได้อย่างสงบ เพราะมัวแต่ประเคนของกัน มัวแต่คุยกัน ส่งเสียงดังรบกวนสมาธิ ถ้ารู้จักกาลเทศะก็จะไม่ทำ เวลาที่พระกำลังเทศน์ ควรสงบกายสงบวาจาให้เป็นศีล สงบใจให้เป็นสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา คือความเข้าอกเข้าใจ ถ้ามัวแต่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ กระแสธรรมที่มาสัมผัสกับหูจะไม่เข้าไปในใจ จะไม่รู้ว่าพระเทศน์อะไร ประโยชน์ที่เกิดจากการฟังธรรม เช่นความเห็นที่ถูกต้อง ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา แล้วก็จะไปโทษว่าฟังเทศน์ฟังธรรมไม่เห็นได้อะไรเลย เสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะฟังไม่เป็นนั่นเอง ไม่ได้ฟังด้วยความตั้งใจ ถึงแม้จะตั้งใจฟัง ถ้าฟังเพื่อจดจำก็จะไม่เป็นประโยชน์นัก สู้ฟังเพื่อความเข้าใจไม่ได้ ถ้าจดจำก็จะได้แต่คำพูด แต่จะไม่เข้าใจความหมาย จะไม่สามารถนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

 

อย่างวันนี้เรารู้แล้วว่า เวลาทำพิธีกรรมต่างๆ ต้องหยุดการกระทำต่างๆไว้หมด ต้องร่วมทำพิธีกรรม เขาตั้งนะโมเราก็ต้องตั้งนะโมตาม กล่าวคำถวายก็กล่าวตาม จนกว่าจะถึงเวลาที่จะถวายของได้ จึงค่อยถวายพร้อมๆกัน เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ต้องไม่ทำอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ถ้ามีความจำเป็นต้องทำอะไร ก็ควรออกไปข้างนอก จะได้ไม่รบกวนผู้อื่น ถึงแม้จะไม่ได้ยินได้ฟังไม่ได้รับประโยชน์ อย่างน้อยก็จะไม่ไปสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังธรรมเนื่องจากการกระทำของเรา ควรฟังให้เข้าใจ ไม่ต้องจดจำ ถ้าเข้าใจแล้วจะจำได้ จะสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ถ้าจดจำเดี๋ยวก็ลืมได้ พอไปทำอะไรอย่างอื่น ไปคิดเรื่องอย่างอื่น ก็จะลืม การฟังธรรมจึงไม่ฟังเพื่อจดจำ แต่ฟังให้เข้าใจ จึงต้องมีสมาธิ จดจ่ออยู่กับการฟัง ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ต้องมีศีล ไม่พูดไม่ทำอะไร ต้องสงบกายวาจาใจ เพื่อจะได้เกิดปัญญา วันนี้เราฟังแล้วเราเข้าใจแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักกาลเทศะ เวลาทำอะไรต้องสังเกตดูก่อนว่า เขากำลังทำอะไรกันอยู่ สิ่งที่เราจะทำนั้นควรหรือไม่ควร ถ้าไม่ควรก็รอไว้ก่อน ไม่เสียหายอะไร ทำไปแล้วจะเสียหาย อย่างน้อยก็จะต้องปล่อยไก่ ประจานตัวเราว่าไม่รู้จักกาลเทศะ เป็นคนโง่ ไม่ใช่คนฉลาด นี่คือประโยชน์ที่จะได้รับจาก  การฟังธรรม ทำให้รู้จักกาลเทศะ

 

นอกจากนั้นก็ทรงสอนให้รู้จักสังคม คือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม เขาถืออะไรกันก็ไม่ควรลบหลู่ ดังที่มีข่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า มีชาวต่างประเทศไปกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น ด้วยการเอาสีไปป้ายภาพในหลวง ก็เลยถูกตำรวจจับขึ้นศาล ถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี เพราะไปลบหลู่ดูหมิ่นในสิ่งที่คนไทยให้ความเคารพนับถือ แต่เนื่องจากในหลวงทรงมีพระเมตตา ทรงพระราชทานอภัยโทษ จึงไม่ต้องติดคุกติดตะรางเพราะการไม่รู้สังคมนั่นเอง เวลาไปอยู่ในสังคมใดก็ตาม ต้องศึกษาให้รู้ว่าต้องปฏิบัติตนอย่างไร ไม่ใช่ถือว่าเคยทำอย่างนี้ที่บ้าน ก็จะไปทำที่อื่นได้ อยู่เมืองไทยเราสามารถขับรถผิดกฎจราจรกันได้อย่างสบาย ตำรวจไม่จับ ฝ่าไฟแดงก็ได้ วิ่งย้อนศรก็ได้ ไม่ต้องเข้าคิวก็ได้ แซงซ้ายแซงขวาปาดหน้ากันได้อย่างสบาย แต่ถ้าไปทำในต่างประเทศ ก็จะถูกตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะราง โดนปรับอย่างหนัก ถูกยึดใบขับขี่ด้วย เพราะที่ต่างประเทศเขาเคารพกฎระเบียบ เคารพกฎหมายมาก จะอ้างว่าอยู่เมืองไทยทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร ตำรวจจะไม่สน อยู่บ้านเขาก็ต้องทำตามกฎของเขา อยู่ในสังคมใดก็ต้องศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมนั้น แล้วก็ปฏิบัติตาม ถึงแม้จะไม่เชื่อไม่ศรัทธาก็ตาม แต่ไม่ควรลบหลู่ เพราะจะเป็นโทษกับเราได้ ถ้ารู้แล้วปฏิบัติตามก็จะอยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข ไม่ถูกตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะราง

 

ให้รู้จักบุคคล รู้จักคนที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย ว่ามีฐานะไม่เหมือนกัน พ่อแม่ก็มีฐานะอย่างหนึ่ง พี่น้องก็มีฐานะอีกอย่างหนึ่ง เพื่อนก็มีฐานะต่างไปอีก ลูกหลานก็เช่นกัน จึงต้องรู้จักปฏิบัติต่อบุคคลแต่ละชนิดให้ถูกต้อง บิดามารดาก็ต้องให้ความเคารพนับถือยกย่องเชื่อฟัง ลูกก็ต้องให้ความเมตตาอบรมสั่งสอนดูแลช่วยเหลือ เพื่อนฝูงก็ปฏิบัติไปอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็จะเกิดความเสียหาย เช่นปฏิบัติกับพ่อแม่เหมือนกับปฏิบัติกับเพื่อนๆ อย่างนี้ก็ไม่เหมาะ ลูบหัวพ่อลูบหัวแม่ไม่ได้ แต่ในบางสังคมเขาไม่ถือกัน พ่อกับลูกเล่นหัวกันได้ แต่ในสังคมของเราไม่ทำอย่างนั้น ต้องรู้จักที่สูงที่ต่ำ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม

 

ให้รู้จักตน เพราะคนเรามีฐานะแตกต่างกัน เป็นหญิงก็ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่ง เป็นชายก็ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่ง เป็นฆราวาสก็ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่ง เป็นพระภิกษุเป็นสามเณรเป็นแม่ชีก็ต้องปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง การปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับฐานะเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าปฏิบัติไม่เหมาะสมแล้ว คนอื่นก็จะว่าเราเสียสติ ว่าเราบ้า

 

ให้รู้จักประมาณ ความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เหมือนกับใส่เสื้อผ้าก็ต้องขนาดที่พอดี ใหญ่เกินไปก็หลวม ดูไม่สวยงาม เล็กเกินไปก็คับ ดูไม่สวยงามเช่นเดียวกัน ต้องให้พอดี พอดีในการบริโภคปัจจัย ๔ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ให้มีความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป บ้านมีหลังเดียวก็พอแล้ว ราคาก็ให้สมกับฐานะ ถ้าไม่มีฐานะที่จะซื้อบ้านได้ ก็เช่าอยู่ก็ได้ เป็นที่อยู่อาศัยเหมือนกัน ไม่ต้องกังวลว่าไม่มีบ้านตนเองอยู่ ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ อาหารก็รับประทานพอประมาณ ไม่มากจนเกินไปไม่น้อยจนเกินไป ถ้ามากไปก็จะน้ำหนักเกิน มีโรคภัยเบียดเบียน ถ้าไม่พอเพียง ร่างกายก็จะซูบผอมเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องรับประทานพอประมาณ เสื้อผ้าก็เช่นเดียวกัน ให้มีพอเพียงกับการใช้ ไม่ต้องมีจนล้นตู้ สำหรับพระภิกษุทรงสอนให้มีผ้าเพียง ๓ ผืน ก็อยู่ได้แล้ว มีผ้านุ่ง ๑ ผืน เรียกว่าสบง มีผ้าห่ม ๑ ผืน เรียกว่าจีวร มีผ้าห่มกันหนาวอีก ๑ ผืน เรียกว่าสังฆาฏิ ก็พอเพียงแล้วสำหรับนักบวช ส่วนฆราวาสก็อาจจะมีมากหน่อย เพราะมีความจำเป็นที่ต้องแต่งตัวในฐานะต่างๆ เวลาทำงานก็ต้องแต่งแบบหนึ่ง ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็แต่งอีกแบบหนึ่ง อยู่กับบ้านก็แต่งตัวอีกแบบหนึ่ง แต่งให้พอประมาณ อย่าซื้อเสื้อผ้าตามความอยาก เพราะถ้าไม่รู้จักพอ พอเห็นชุดใหม่ก็อยากจะได้อีก จะทำให้ต้องเสียเงินเสียทองไปโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะเอามาทำประโยชน์ เช่นทำบุญทำทาน ก็จะไม่ได้ทำ หรือเอาเก็บไว้เผื่อวันข้างหน้า เวลาตกทุกข์ได้ยาก อาจจะตกงาน อาจจะพิกลพิการ ไม่สามารถทำงานทำการได้ ก็จะได้อาศัยเงินที่เก็บไว้ดูแลเราได้ ถ้าเอาไปซื้อเสื้อผ้าหมด เวลาต้องการใช้จะไม่มีใช้ เอาเสื้อผ้าไปขายก็ไม่ได้ราคา ไม่มีใครอยากจะได้ของเก่ากัน

 

อย่าใช้แบบฟุ่มเฟือย ต้องใช้ด้วยเหตุด้วยผล แล้วเราจะไม่ถูกกดดันในเรื่องเงินทอง จะมีเหลือใช้อยู่เสมอ ส่วนใหญ่ที่ไม่พอใช้กันก็เพราะใช้อย่างไม่รู้จักประมาณนั่นเอง ใช้กันแบบฟุ่มเฟือย เปิดน้ำไฟทิ้งไว้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ต่อไปโลกเราจะมีปัญหาเรื่องน้ำกัน เพราะมีคนมากขึ้นก็ต้องใช้น้ำกันมากขึ้น น้ำเสียก็จะมีมากขึ้น ทำให้น้ำดีที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งมีน้อยมากขึ้นไปอีก แต่ถ้ารู้จักประมาณกันกับการใช้ของต่างๆ ไม่ให้เกิดโทษ ไม่ให้เกิดความเสียหาย เราก็จะมีสิ่งต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไว้ใช้อย่างมากมาย แต่ถ้าไม่รู้จักประมาณ ใช้กันไปแบบไม่มีสติไม่มีปัญญาแล้ว ต่อไปโลกเราจะวุ่นวายเดือดร้อน ต้องแก่งแย่งกัน ต้องฆ่าฟันกัน เพื่อการดำรงชีพ ทั้งๆที่โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาล มีอะไรมากมาย แต่กลับถูกพวกเราทำลายไป ด้วยการไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประมาณ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้รู้จักประมาณ นี่คือเรื่องที่ควรจะรู้กัน จะทำให้เราฉลาด ให้เราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  มีอยู่ ๗ ประการด้วยกันคือ ๑. รู้จักกาลเทศะ  ๒. รู้จักสังคม  ๓. รู้จักตน  ๔. รู้จักบุคคล  ๕. รู้จักประมาณ และอีก ๒ เรื่องที่ควรจะรู้ก็คือ  ๖. รู้จักเหตุ  ๗. รู้จักผล เพราะเหตุและผลเกี่ยวข้องกับความสุขความเจริญ ความทุกข์และความเสื่อมเสีย ที่เกิดจากเหตุคือการกระทำทางกายวาจาใจ คิดอะไรพูดอะไรทำอะไร ก็จะทำให้เกิดผลดีบ้าง เสียบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง จึงต้องรู้ทั้งเหตุและผล ว่าเกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน ส่วนใหญ่เราอยากจะได้ผลกัน อยากจะมีความสุขความเจริญ ปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลาย แต่ไม่รู้เหตุกัน ถ้าไม่รู้แล้วต่อให้อยากได้มากน้อยเพียงไร ก็จะไม่เกิดขึ้นมา

 

เพราะผลดีเกิดจากการคิดดีพูดดีทำดี เช่นวันนี้เราคิดดีกัน คิดจะมาวัดมาทำบุญ ก็ชวนเพื่อนฝูงชวนญาติพี่น้องให้มากัน แล้วก็ออกเดินทางมาวัด มาทำบุญถวายทาน ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ที่ทำให้เรามีความสุข เป็นคนดี ไม่มีใครประณาม เพราะไม่ได้ไปทำในสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าไปกินเหล้าเมายา แล้วไปขับรถชนคนตาย ก็จะต้องถูกว่าเป็นคนไม่ดี ถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง เพราะคิดไม่ดี คิดอยากจะกินเหล้า กินแล้วก็อยากจะไปเที่ยวต่อ จึงต้องขับรถในขณะที่มึนเมาไม่มีสติ ไม่รู้จักหยุดรถในเวลาที่ต้องหยุดอย่างกะทันหัน ก็ต้องไปชนคนตาย แล้วก็มาร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจ ว่าเป็นความซวย ความจริงไม่ได้เป็นความซวย เป็นเพราะไม่รู้จักเหตุรู้จักผล ถ้ารู้ก็จะไม่กินเหล้า ผลเสียก็ไม่มีตามมา เมื่อไม่กินเหล้าก็จะไม่เมา จะขับด้วยความระมัดระวัง ก็จะไม่มีอุบัติเหตุไม่มีโทษตามมา โทษส่วนใหญ่ปัญหาส่วนใหญ่ เกิดจากการกระทำของเราทั้งนั้น การที่เราไม่เจริญรุ่งเรืองส่วนหนึ่งก็เพราะเราขี้เกียจ ขี้เกียจเรียนหนังสือ ขี้เกียจหาความรู้เพิ่มเติม ก็จะไม่สามารถแข่งกับคนที่รู้มากกว่าเราฉลาดกว่าเราได้

 

ต้องมีความรู้มีปัญญาจึงจะเจริญได้ ถ้ามีแล้วจะไม่มีทางยากจนได้เลย ถ้ามีเงินทองแต่ไม่มีปัญญา เงินทองก็จะหมดได้ เช่นพ่อแม่ทิ้งสมบัติให้กับเรา แต่เราไม่รู้จักเหตุไม่รู้จักผล พอได้เงินมาก็ใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย เอาไปเที่ยวไปกินไปดื่ม ไม่เคยคิดที่จะเก็บ ไม่เคยคิดที่จะหามาเพิ่ม มีแต่ใช้อย่างเดียว ต่อให้มีมากมายเพียงไร สักวันหนึ่งก็ต้องหมด แต่ถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่าเงินทองเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งที่หายาก รักษาไว้ให้ดี เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร อาจจะต้องอาศัยเงินทองเพื่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ ถ้าไม่มีแล้วต่อไปก็จะลำบาก จึงต้องรู้จักหามาเพิ่มด้วย ไม่ใช้อย่างเดียว คนที่มีปัญญาจะคิดอย่างนี้ จะไม่จนตรอกไม่จนมุม ไม่ลำบาก ถ้าอยากจะเป็นคนฉลาดก็ต้องใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา พยายามเรียนอยู่เรื่อยๆ ไม่เฉพาะแต่เด็กเท่านั้นที่ต้องเรียน ผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็ยังต้องเรียนกัน เพราะมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้ ที่ยังสร้างความทุกข์สร้างความกังวลใจให้กับเรา ถ้าหมั่นศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆแล้ว ต่อไปเราจะอยู่เหนือความทุกข์ความวุ่นวายใจได้ เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เป็นเครื่องดับทุกข์นั่นเอง ถ้าได้ยินได้ฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติ จิตใจของเราจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข จึงควรเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ แล้วนำเอาไปปฏิบัติ รับรองได้ว่าจะมีแต่ความสุขความเจริญ การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้