กัณฑ์ที่ ๓๒๑       ๒๘ เมษายน  ๒๕๕๐

 

ทำสมาธิก่อน

 

 

 

พระพุทธศาสนาสอนว่า การกระทำทางกายวาจาใจ เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่ง ความสุขหรือความทุกข์ ความเจริญหรือความเสื่อม ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่นามสกุล ไม่ใช่ทรงผม ไม่ใช่เสื้อผ้าที่สวมใส่ อยู่ที่การกระทำเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ ให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ดีที่งาม ที่จะนำมาซึ่งผลที่เราต้องการ เพราะการกระทำมีอยู่  ๓ ชนิดด้วยกันคือ ทำดี ทำไม่ดี ทำไม่ดีไม่ชั่ว คือบุญ บาป ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ทำได้ ๓ ทางด้วยกันคือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่สำคัญที่สุดก็คือการกระทำทางใจ เพราะเป็นต้นเหตุของการกระทำทางวาจาและทางกาย เราจึงควรดูการกระทำทางใจเป็นหลัก คือความคิดของเรา เพราะก่อนที่จะพูดจะทำอะไรได้ เราต้องคิดก่อน คิดแล้วถึงค่อยพูด คิดแล้วถึงค่อยทำ ถ้าไม่มีความคิด ก็จะไม่มีการพูด ไม่มีการกระทำ เช่นเวลาคนตายไปแล้ว ไม่มีใจอยู่กับร่างกาย ก็จะไม่มีความคิด ปล่อยร่างกายไว้ตรงไหน ก็จะอยู่ตรงนั้น ไม่พูดไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่มีใจสั่งให้คิดให้พูดให้ทำนั่นเอง ความคิดก็เกิดขึ้นจากความเห็น ๒ ชนิดด้วยกันคือ ความเห็นถูกกับความเห็นผิด    ถ้ามีความเห็นถูก ก็จะทำให้คิดถูก พูดถูก ทำถูก ถ้ามีความเห็นผิด ก็จะทำให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด เมื่อทำไปแล้วก็จะมีผลตามมา ถ้าทำถูก คือคิดดี พูดดี ทำดี ผลดีคือความสุขและความเจริญก็จะตามมา ถ้าคิดผิด คือคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี  ความทุกข์และความเสื่อมก็จะตามมา ต้นเหตุของการคิดดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ทิฐิความเห็นความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ถ้ามีความเห็นผิดเรื่องที่คิดว่าดีกลับไม่ดี เรื่องที่คิดว่าไม่ดีกลับดี

 

เราจึงต้องพึ่งผู้มีความเห็นถูก ให้สอนเรา เพื่อเราจะได้ทำตาม เพราะการกระทำและผลมีอยู่ ๒ แบบคือ ความดีที่ดีจริงและความดีที่ไม่ดีจริง ความสุขที่สุขจริงและความสุขที่ไม่สุขจริง ความทุกข์ที่ทุกข์จริงและความทุกข์ที่ไม่ทุกข์จริง ความเสื่อมที่เสื่อมจริงและความเสื่อมที่ไม่เสื่อมจริง ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ยินได้ฟังจากผู้รู้ เช่นพระพุทธเจ้า เราจะไม่มีปัญญาแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นความสุขที่แท้จริง อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง เราจะเห็นตรงข้ามกับความจริง ที่จะทำให้เราคิดผิด ให้เราพูดผิด ให้เราทำผิด ทำให้เราได้รับผลที่ไม่ดีจริง คือความสุขและความเจริญที่ไม่แท้จริงนั่นเอง เราจึงควรเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะทรงได้สัมผัสความสุขความเจริญทั้ง ๒ รูปแบบมาแล้ว  ความทุกข์ความเสื่อมทั้ง ๒ รูปแบบก็ทรงสัมผัสมาแล้ว จึงเอามาสั่งสอนพวกเรา  ถ้าฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติ ก็จะได้รับประโยชน์ จะได้พบกับความสุขและความเจริญที่แท้จริง ไม่ต้องพบกับความสุขความเจริญที่ไม่แท้จริง คือความเจริญในลาภยศสรรเสริญสุข ที่ไม่ถาวร ต้องสูญต้องหมดไป เมื่อตายไปลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆก็หมดไป จึงเป็นความสุขความเจริญที่ไม่แท้จริง เพราะความสุขความเจริญที่แท้จริงต้องติดไปกับใจของเรา เมื่อเราตายไปแล้ว ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ต้องเดินทางต่อไปอีก เหมือนคนที่นั่งอยู่ในรถ เมื่อรถวิ่งไม่ได้ ก็ต้องทิ้งรถไว้แล้วก็เดินไปหารถคันใหม่ มีเงินมีทองก็เอาติดตัวไปได้ ใจก็เป็นอย่างนั้น เมื่อตายไปแล้ว ใจเอาร่างกาย เอาลาภยศสรรเสริญสุขไปไม่ได้ เอาไปได้แต่บุญกุศล ความสุขความเจริญของใจ

 

ชาตินี้เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะใจเป็นมนุษย์ ถ้าใจเสื่อมจากความเป็นมนุษย์ เวลาไปเกิดชาติต่อไปก็จะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าใจเป็นเดรัจฉาน ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ถ้าเป็นเปรต ก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต   ถ้าเป็นสัตว์นรก ก็ต้องไปตกนรก ถ้าเป็นเทพ ก็จะไปเกิดเป็นเทพ  ถ้าเป็นพรหม ก็จะไปเกิดเป็นพรหม ถ้าเป็นพระอริยเจ้า ก็จะไปเกิดเป็นพระอริยเจ้า นี่คือความสุขความเจริญที่แท้จริง ความทุกข์ความเสื่อมที่แท้จริง ที่จะติดไปกับใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะต้องเป็นไปตามความเจริญหรือความเสื่อมของใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราเข้าหาความสุขและความเจริญที่แท้จริง แต่ต้องผ่านความเสื่อมความทุกข์ที่ไม่แท้จริงก่อน เพราะต้องทำบุญให้ทาน ต้องเสียสละ ต้องปฏิบัติธรรม นั่งหลับหูหลับตา นั่งสมาธิ เข้าวัดถือศีล ๘ ถ้ามองทางโลกก็เหมือนกับการเสื่อมเดินถอยหลัง เพราะต้องเสียเงินเสียทอง เสียเวลาทำมาหากิน หาลาภยศสรรเสริญสุข ต้องทุกข์ยากลำบากกับการถือศีล ๘ อยู่วัด อดข้าวเย็น นอนกับพื้น  แต่ในสายตาของพระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่า เป็นความทุกข์ที่ไม่แท้จริง เป็นความทุกข์เพื่อความสุขในบั้นปลาย จึงเป็นความทุกข์ที่ไม่แท้จริง เป็นความเสื่อมที่ไม่แท้จริง เพราะเสื่อมจากสิ่งที่ไม่จีรังถาวร คือลาภยศสรรเสริญสุข แต่เจริญอย่างถาวรทางด้านจิตใจ ที่จะสูงขึ้นดีขึ้นไปตามลำดับ เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือเข้าวัด ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ถ้าอยู่ที่วัดได้ ก็อยู่หลายๆวันถ้าอยู่ไม่ได้หลายวัน ก็อยู่เท่าที่จะอยู่ได้ ถ้าอยู่ไปได้ตลอด ก็บวชเลยเพราะจะทำให้ได้ความสุขความเจริญที่แท้จริง มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา ไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน เราก็จะหลงติดอยู่กับความสุขความเจริญที่ไม่แท้จริง กับการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข ดังที่เป็นกันอยู่กับคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ มักจะหาความเจริญทางลาภยศสรรเสริญสุขกันทั้งนั้น แต่ในขณะเดียวก็หาความทุกข์เข้ามาใส่ตัวอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว ไม่มีใครในโลกนี้ที่บอกว่าไม่มีความทุกข์ ความกังวล ความวุ่นวาย ความห่วงใย ความเศร้าโศกเสียใจ ที่แถมมากับความสุขทางลาภยศสรรเสริญสุข จึงเรียกว่าเป็นความสุขที่ไม่แท้จริง เพราะไม่ได้สุขอย่างเดียว มีความทุกข์แถมมาด้วย ส่วนความสุขที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ก็มีความทุกข์ที่ไม่แท้จริงแถมมาด้วยเช่นเดียวกัน ที่จะค่อยๆหมดไป ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จะได้พบกับความสุขที่แท้จริงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ที่จะลบล้างความทุกข์ที่ไม่แท้จริงให้หมดไป จนไม่มีเหลืออยู่เลย เช่นจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ในเบื้องต้นก็ต้องทุกข์ทรมานกับการอยู่แบบขอทาน เคยเป็นราชโอรสอยู่ในวัง มีความสุขกับลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ เมื่อต้องสละไป แล้วไปอยู่แบบขอทาน บิณฑบาตตามมีตามเกิด อยู่ตามมีตามเกิด อยู่ตามโคนไม้บ้าง อยู่ตามถ้ำบ้าง อยู่ตามเรือนร้างบ้าง ไม่ได้มีความสุขเลย มีแต่ความทุกข์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความสุขขึ้นทางจิตใจ จากการเสียสละ ปล่อยวาง ลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆไป เมื่อปล่อยวางแล้วความทุกข์ที่ติดอยู่กับ ลาภยศสรรเสริญสุข ก็ไม่มีตามมา เหลือแต่ความสุขที่เกิดจากการรักษาศีล ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ เจริญปัญญา พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย จนเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงตัดอุปทานความยึดติดกับสภาวธรรม เช่นร่างกายไปได้

 

ถ้าไม่เจริญปัญญา จะไม่เห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์  ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ถ้าได้เจริญปัญญาหลังจากที่จิตสงบแล้วก็จะเห็น ถ้ายังไม่สงบแล้วเจริญปัญญา จะเห็นชั่วแวบเดียวเท่านั้น เพราะไม่สามารถเจริญปัญญาได้อย่างต่อเนื่อง การเจริญปัญญาเพื่อปล่อยวางอุปทานความยึดมั่นถือมั่น จะต้องเจริญอย่างต่อเนื่อง ทุกลมหายใจเข้าออกเลย ถึงจะสามารถเห็นได้อย่างต่อเนื่อง ถึงจะสามารถตัดอุปทานความยึดมั่นถือมั่นได้ ถ้าพิจารณาเป็นครั้งเป็นคราว จะไม่เห็นได้อย่างต่อเนื่อง จะไม่สามารถตัดอุปทานได้ การจะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง จิตต้องมีสมาธิสงบนิ่ง ไม่มีอารมณ์ต่างๆรบกวนใจ เพราะถ้าจิตไม่สงบนิ่ง จะมีอารมณ์ต่างๆ คอยมารบกวนใจ ทำให้ไม่สามารถคิดหรือทำอะไรได้อย่างต่อเนื่อง ดังที่เราได้ยินเสมอว่า ไม่มีสมาธิ จะทำอะไรมักจะทำเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ คิดอะไรก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้ เพราะคิดได้เดี๋ยวเดียว ก็มีเรื่องอื่นมาฉุดลากไป จึงไม่สามารถคิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ ถ้ามีสมาธิก็จะคิดได้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จลุล่วงได้   การเจริญปัญญาเพื่อตัดอุปทาน  จึงต้องมีสมาธิก่อน ถ้าไม่มีสมาธิจะตัดอุปทานไม่ได้ จะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา จะเห็นเป็นบางครั้งบางคราว ก็จะไม่มีกำลังพอที่จะตัดอุปทาน ตัดความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ถ้าตัดไม่ได้ ความกลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวความตายก็จะไม่หายไปจากใจ คนเราทุกคน ไม่มีใครไม่กลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย กลัวด้วยกันทั้งนั้น จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ขึ้นอยู่ที่ปัญญา ถ้ามีปัญญามาก เห็นไตรลักษณ์มาก ก็จะมีความกลัวน้อย ถ้ามีปัญญาน้อย เห็นไตรลักษณ์น้อย ก็จะมีความกลัวมาก

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ทำสมาธิก่อน ทำจิตใจให้สงบนิ่งเสียก่อน ให้รวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์  เป็นอุเบกขา เพราะเมื่อจิตเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขาแล้ว เวลาถอนออกมา จะไม่มีอารมณ์ต่างๆมารบกวน ความโลภความโกรธความหลง จะไม่มารบกวน ถ้ามาก็ไม่รุนแรงเหมือนกับตอนที่ไม่มีสมาธิ ความโลภความโกรธความหลง จะมีความรุนแรงมาก มีความถี่สูง จะคอยรบกวน คอยฉุดลากจิตใจ ให้ไปทำตามคำสั่งของความโลภความโกรธความหลง จนไม่มีเวลาว่าง ที่จะฟังเทศน์ฟังธรรม ที่จะเข้าวัดรักษาศีล ปฏิบัติธรรม เพราะมัวแต่ไปหาความสุขจอมปลอม ความสุขที่ไม่แท้จริง คือลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆนั่นเอง เราจึงต้องต่อสู้กับกิเลส ความโลภความโกรธความหลง ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้เข้าวัดบ่อยๆ เข้าวัดอยู่เรื่อยๆ ให้ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยๆ อย่าให้สิ่งอื่นมาเป็นข้ออ้างไม่ให้เราทำ ควรจะกำหนดเวลาแบ่งเวลาไว้เลย เพราะเราสามารถแบ่งเวลาได้ วันหนึ่งๆมีอยู่ถึง  ๒๔ ชั่วโมง เราแบ่งเวลาไปหลับไปนอนได้  แบ่งเวลาไปทำงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ เราก็ควรแบ่งเวลามาปฏิบัติกิจที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติได้  แต่เราไม่แบ่งกันเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่จะแบ่งเวลาให้กับกิเลสเสียมากกว่า แทนที่จะแบ่งเวลาให้กับธรรมะ กลับแบ่งเวลาให้กับกิเลส จึงไม่ค่อยได้พบกับสิ่งที่ดีที่ธรรมะจะให้กับเรา มักจะพบกับสิ่งที่กิเลสให้กับเรา คือความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  ความหวาดกลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากกัน

 

ต่อให้มีลาภยศสรรเสริญสุขมากเพียงไรก็ตาม ความกลัวก็จะไม่หมดไปจากจิตจากใจ กลับจะมีมากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งรักยิ่งหวงมากขึ้นไปเท่านั้น ยิ่งมีความกลัวมากขึ้นไปเท่านั้น คนที่ไม่มีอะไร มักจะไม่ค่อยกลัว เพราะไม่มีอะไรจะต้องเสีย คนจนทุกข์น้อยกว่าคนรวย ในเรื่องของความหวาดกลัว คนรวยมีความหวาดกลัวมากกว่าคนจน เพราะคนจนไม่รู้จะไปกลัวอะไร สมบัติข้าวของเงินทองก็ไม่มี ไม่ต้องกลัวขโมย ไม่ต้องกลัวไฟ ไม่ต้องกลัวเศรษฐกิจจะตกต่ำ แต่คนที่มีมาก ยิ่งมีความหวาดกลัวมาก นอกจากมีธรรมะมีปัญญา ก็จะไม่หวาดกลัว มีมากน้อยเพียงไรก็จะไม่ยึดไม่ติด มีแต่จะเอาไปทำประโยชน์ เอาไปช่วยเหลือผู้อื่น เพราะไม่มีความจำเป็นกับตนเอง ช่วยเหลือผู้อื่นก็ทำให้เกิดบุญเกิดกุศล เกิดความสุขขึ้นมาในจิตในใจ ทั้งของผู้รับและผู้ให้ เราจึงควรแบ่งเวลาให้ถูกต้อง สิ่งไหนที่จำเป็นต้องทำก็ทำ เช่นการทำมาหากินก็ต้องมีเวลาทำ การหลับนอนก็ต้องมีเวลาหลับนอน การปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องมีเวลาปฏิบัติ เพราะจำเป็นต่อจิตใจ แต่การไปเที่ยวไปดื่มไปกินไปเล่นไม่จำเป็น ไม่ได้ดื่ม ไม่ได้กิน ไม่ได้เที่ยว ไม่ได้ดู ไม่ได้เล่นอะไรต่างๆ ก็ไม่ตาย ไม่มีผลเสียกับร่างกายหรือจิตใจเลย แต่เรากลับให้ความสนใจ ให้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากจนเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างคุณสร้างประโยชน์ ไม่ได้สร้างความสุขความเจริญที่แท้จริงให้กับจิตใจ ถ้าปล่อยให้เวลาหมดไปกับการเที่ยว การเล่น การดู การฟังเรื่องบันเทิงต่างๆ ก็จะเสียเวลาไป  ชีวิตที่มีค่าก็จะหมดไป โดยไม่ได้สร้างความสุขความเจริญที่แท้จริง  ที่จะติดกับใจไปเมื่อตายจากโลกนี้ไป จะไม่ได้ไปดีกว่าเก่า แต่จะแย่กว่าเก่า

 

จึงควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินตาม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ให้แบ่งเวลาไว้สำหรับภารกิจนี้ อย่าให้สิ่งอื่นมาเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีเวลาทำบุญ รักษาศีล ปฏิบัติธรรม  เพราะจะขาดทุน ถูกกิเลสถูกความหลงหลอก เพราะความหลงจะให้ความสำคัญต่อการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข มากกว่าการหาบุญหากุศลหาธรรม เราจึงต้องกำหนดตารางเอาไว้เลย แล้วปฏิบัติตามให้ได้ คอยติดตามดูว่าได้ทำตามที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำก็ต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นแล้วชีวิตจะตกต่ำไปเรื่อยๆ จะพบกับความทุกข์มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆในโลกนี้ ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ  เพราะสังขารร่างกายจะแก่จะเจ็บไข้ได้ป่วยมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะใกล้ความตายมากเข้าไปเรื่อยๆ ความทุกข์ ความกังวล ความหวาดกลัวต่างๆ ก็จะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเข้าหาพระธรรมคำสอน ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็จะใกล้ความสุขความสบายใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะห่างไกลจากความกลัวต่างๆมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะทำให้ปล่อยวางได้ จะไม่หวาดกลัวกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจ นี่คือผลที่เราจะได้รับ จากการศึกษา ฟังเทศน์ฟังธรรม และปฏิบัติตาม ไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ ความหวาดกลัวต่างๆได้ มีแต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่มีใครทำให้เราได้ ไม่มีใครช่วยเราได้ มีเราเท่านั้นที่จะทำให้เราได้ ช่วยเราได้ อย่าไปหวังพึ่งสิ่งอื่น อย่าไปหวังพึ่งใครทั้งนั้น เพราะพึ่งไม่ได้ มีบุญกุศลหรือธรรมะเท่านั้นที่พึ่งได้ ที่เราสร้างขึ้นมาในจิตในใจ ที่จะปกป้องคุ้มครองดูแลรักษา ให้เราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ท่ามกลางความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย การพลัดพรากจากกัน จะไม่สามารถกระทบกระเทือนจิตใจได้เลย จึงควรให้ความสำคัญต่อการเข้าหาพระธรรมคำสอน ต่อการศึกษา ต่อการปฏิบัติ เพราะจะทำให้เราได้พบกับความสุขและความเจริญที่แท้จริง   การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้