กัณฑ์ที่ ๓๒๓       ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐

 

นิพพานอยู่ฟากตาย

 

         

 

วันนี้เป็นวันพระ  วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม  เป็นวันชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข  ความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติวันพระขึ้นมา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนผู้มีภารกิจการงานมาก จะได้มีเวลาปล่อยวางกิจกรรมอย่างอื่น เพื่อมาทำกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อชีวิตจิตใจของตน เพราะถ้าไม่ได้ทรงกำหนดไว้แล้ว ก็จะถูกความหลงฉุดลากให้ไปหาความสุขความเจริญความก้าวหน้า ที่ไม่จีรังถาวร ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความวุ่นวายใจ  ความเสื่อมเสีย ความหายนะ  จึงได้ทรงกำหนดวันพระไว้ เพื่อจะได้ดึงกายวาจาใจสู่ธรรมะ   เอาธรรมะซักฟอกกายวาจาใจให้สะอาด   จะได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  คือ  ภพชาติที่จะตามมาต่อไป ธรรมะที่ซักฟอกกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก็มีหลากหลายชนิดด้วยกัน  ในวันนี้จะแสดงเรื่องศรัทธาความเชื่อ     จาคะการเสียสละ   ศีลการไม่เบียดเบียดกัน ปัญญาความรู้ความฉลาด ที่จะชำระซักฟอกกายวาจาใจให้สะอาด  ให้มีความสุขความเจริญอย่างแท้จริง  

 

ศรัทธาความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  เป็นสิ่งที่เราต้องมีในเบื้องต้น เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่วอย่างแท้จริง จึงต้องเชื่อคนที่รู้เช่นพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ เพราะท่านได้ศึกษาได้ปฏิบัติจนเกิดปัญญา  เกิดดวงตาเห็นธรรม ที่สามารถมองทะลุโมหะความหลง อวิชชาความรู้ไม่จริง เห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนที่ใส่แว่นตาที่ใสสะอาด มองทะลุแว่นตา ก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง   ส่วนคนที่ใส่แว่นที่มีสีเคลือบอยู่  เช่นสีดำๆเข้มๆเคลือบอยู่ เวลามองก็จะไม่เห็นสีที่แท้จริง  ฉันใดใจของผู้ที่มีโมหะความหลง มีอวิชชาครอบงำอยู่ ก็จะไม่เห็นความเป็นจริง  จะเห็นกลับตาลปัตร   เห็นสิ่งที่เป็นสุขว่าเป็นทุกข์  สิ่งที่ทุกข์กลับเห็นว่าเป็นสุข จึงเดินผิดทาง เดินไปหาความทุกข์กัน  เพราะเห็นความทุกข์เป็นความสุข  ส่วนความสุขกลับเดินหนีกัน เพราะเห็นเป็นความทุกข์  ความทุกข์ที่พวกเราเห็นว่าเป็นความสุขนั้นได้แก่อะไร ก็คือความยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขนั่นเอง   พวกเราทุกคนมีความยินดี ชอบที่จะแสวงหาลาภคือเงินทอง  ยศคือตำแหน่ง  สรรเสริญคือคำชมเชย สุขที่เกิดจากการสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ เพราะไม่รู้ว่าไม่จีรังถาวร ไม่แน่นอน ไม่อยู่กับเราไปตลอด   เวลาที่เราขาดสิ่งเหล่านี้หรือสิ่งเหล่านี้จากเราไป ก็จะนำมาซึ่งความทุกข์เศร้าโศกเสียใจ     นี่คือความทุกข์ที่เรามองไม่เห็นกัน ในขณะที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ เราก็มีความทุกข์ที่เกิดจากความหวง  ความกังวล  ไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่  

 

มีแต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเท่านั้น ที่กำจัดโมหะอวิชชาได้จนหมดสิ้นไป จึงเห็นความทุกข์ในลาภยศสรรเสริญสุข และเห็นความสุขในความสงบของใจ  ไม่ต้องมีลาภยศสรรเสริญสุขก็มีความสุขได้ เป็นความสุขที่เลิศที่วิเศษกว่าหลายเท่า แต่พวกเรากลับเห็นเป็นความทุกข์ไป เพราะต้องเสียสละ เราต้องมีจาคะ เสียสละประโยชน์สุขของตน เช่นเงินทองอวัยวะและชีวิต  เพื่อให้ได้ธรรม ที่จะชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์   เมื่อกายวาจาใจสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้นเพียงไร  ความสงบสุขก็จะมีมากขึ้นเพียงนั้น  จึงทรงสอนให้สละทรัพย์  สละอวัยวะ  สละชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้มาเป็นสมบัติ    แต่พวกเรากลับเห็นว่าเป็นความทุกข์ยากลำบาก เพราะการบริจาคก็เป็นสิ่งที่ยาก เพราะหวงแหนยึดติดในทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง เพราะไม่มองในมุมของจิตใจ   ถ้ามีความหวงแหนยึดติดกับอะไรมากเพียงไร ก็จะมีความทุกข์กังวลเสียดายอาลัยอาวรณ์มากขึ้นเพียงนั้น  ถ้าไม่ยึดติด บริจาคอยู่เรื่อยๆ  เก็บส่วนที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไว้  ส่วนที่ไม่จำเป็นก็บริจาคไป ให้ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  จะได้คลายความยึดติดหวงแหน    ความตระหนี่  ทำให้ใจโล่งเบาสบาย  ดีกว่ายึดติดในทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ   ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมก็จะเสียสละเงินทองทั้งหมดเลย แล้วก็ออกบวช ถวายอวัยวะถวายชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ถวายจะไม่มีโอกาสได้ธรรมมาเป็นสมบัติเลย  เพราะต้องแลกกัน จะเอาทั้ง ๒ อย่างไม่ได้   จะเอาชีวิตและเอาธรรมด้วยไม่ได้ จะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ารักชีวิตก็จะไม่ได้ธรรมอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้มาเป็นสมบัติ คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นสิ่งที่ต้องแลกกัน  

 

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า  นิพพานอยู่ฟากตาย  ถ้าอยากจะได้นิพพานก็ต้องยอมตาย   ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง พบกับความสุขสุดยอด ที่เรียกว่าปรมังสุขัง ก็ต้องกล้าเสียสละชีวิต แต่ไม่ได้ให้ไปกระโดดน้ำตาย ไปฆ่าตัวตาย แต่ไม่ให้กลัวตายต่อการปฏิบัติ  ไม่ให้หวงชีวิต เพราะเป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของความหลง  ถ้ามีความหวงในชีวิตก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา  ใจก็จะหาความสงบสุขไม่ได้  แต่ถ้ากล้าเสียสละชีวิต เสียสละอวัยวะ เสียสละสมบัติข้าวของเงินทอง ก็จะได้สิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่เสียไป คือความสุขสุดยอดตลอดอนันตกาลของพระนิพพานนี่เอง ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้แลกมา ด้วยการสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง แล้วก็ออกบวชปฏิบัติธรรม ถวายกายถวายชีวิต เพื่อให้ได้ธรรมอันประเสริฐมา ถ้าทำได้ขนาดนี้แล้ว จะไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรคขวางกั้นพระธรรมอันเลิศ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้มาเป็นสมบัติได้เลย   สิ่งที่ขวางอยู่ก็คือความหวงในชีวิต   กลัวความทุกข์ยากลำบากเท่านั้นเอง  ถ้าไม่กลัวรับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็ว ความสุขที่เลิศที่ประเสริฐก็จะเป็นสมบัติของพวกเราอย่างแน่นอน    ในการปฏิบัติเบื้องต้นจึงทรงสอนให้มีจาคะ ให้เสียสละ  ดังที่ทรงตรัสสอนว่า ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ  ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม    คุณงามความดี ที่จะชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์       

 

นี่คือเรื่องของจาคะ   ดังที่พวกเราได้มากระทำกันในวันนี้  เราได้มาทำจาคะ มาสละทรัพย์ส่วนหนึ่งของเราไป  เอาไปซื้ออาหารคาวหวาน  ซื้อของใช้ที่จำเป็นมาถวายพระภิกษุสามเณร เป็นขั้นต้น ยังมีขั้นที่สูงขึ้นไปอีก เหมือนกับการเรียนหนังสือ เรียนชั้นประถมแล้วก็ต้องขึ้นชั้นมัธยม  ชั้นมัธยมก็ต้องขึ้นชั้นอุดมศึกษา ถึงจะสำเร็จได้ปริญญา  ฉันใดการปฏิบัติธรรมก็เป็นเช่นนี้   เบื้องต้นก็บริจาค  เสียสละจากน้อยไปหามาก  ตอนนี้ทำได้แค่นี้ ต่อไปก็ทำเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จะได้สัมผัสกับความสุขใจ  ความเบาอกเบาใจ ที่เกิดจากการปล่อยวางมากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของ มาให้ความสุขกับเรา   เอาความสุขที่เกิดจากการบริจาคการตัดการละดีกว่า เพราะเป็นความสุขที่สุขุมละเอียด ไม่มีความทุกข์ความกังวลใจ   ไม่เหมือนกับความสุขที่ได้จากทรัพย์ ที่ทำให้เครียดให้ทุกข์ใจ  ไหนจะต้องดูแลรักษา  ต้องคิดว่าจะเอาไปใช้อะไรดี   พอใช้หมดก็ต้องไปหามาใหม่อีก เป็นปัญหาตลอดเวลา   ถ้าไม่พึ่งทรัพย์สมบัติเงินทองได้ก็จะสบาย จะมีความสุข   ถ้าได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากการให้  เกิดจากการเสียสละแล้ว จะพอใจเสียสละมากขึ้นไปเรื่อยๆ   จึงอย่าเสียดายสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่กัน  เพราะไม่ได้เป็นสมบัติที่แท้จริง สักวันหนึ่งเมื่อเราตายไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เป็นของเราอีกต่อไป  แม้แต่ร่างกายก็ต้องกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป   ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ที่หามาได้อย่างลำบากยากเย็น ก็จะกลายเป็นสมบัติของผู้อื่นไป  ถ้าเอามาบริจาค เอามาแจกจ่าย ก็จะได้แลกกับสมบัติที่วิเศษภายในใจ  คืออริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน ความสงบสุขเย็นใจ ที่เกิดจากการเสียสละ 

 

นอกจากการเสียสละแล้วก็ทรงสอนให้มีศีล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยปกติก็ให้มีศีล ๕  ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติประเวณี ไม่พูดปดมดเท็จ ไม่เสพสุรายาเมา เพราะจะทำให้จิตใจสงบร่มเย็นขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง   ถ้ายังทำผิดศีลอยู่ จิตใจจะไม่สงบ  จะกังวลหวาดผวา กลัวว่าจะต้องไปรับใช้โทษรับใช้กรรม   ถ้ามีสติคอยดูการกระทำอยู่เสมอๆ และยับยั้งชั่งใจทุกครั้งว่า ทำผิดศีลไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่เสียไป คือความมั่นคงของจิตใจ ไม่หวาดผวา  ไม่หวาดกลัว สิ่งที่ได้มาไม่มีคุณค่าอะไรเลยกับจิตใจ  เพียงแต่ทำให้มีความสุขในขณะที่ได้มาเท่านั้นเอง จึงควรดูแลรักษากายวาจาใจให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม   ส่วนในวันพระเช่นวันนี้ ถ้ามีความสามารถที่จะรักษาเพิ่มขึ้นไปอีก ก็ควรรักษา  นอกจากศีล ๕ แล้ว ก็เพิ่มขึ้นมาอีก  ๓ ข้อ  เป็นศีล ๘ เพื่อทำให้จิตใจสงบมากยิ่งขึ้นไปอีก  ถ้าเป็นเครื่องปรับอากาศก็ปรับปุ่มควบคุมความเย็นให้สูงขึ้นไปอีก  ตัดความสุขทางกามารมณ์ ทางตาหูจมูกลิ้นกายออกไป แล้วหันเข้ามาหาความสงบสุขของจิตใจ   ถ้าสลัดกามารมณ์ออกไปได้  ความสงบสุขของจิตใจก็จะตามมา   ความสุขทั้ง ๒ ชนิดนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ความสุขทางกามารมณ์กับความสงบสุขของจิตใจอยู่ร่วมกันไม่ได้ เหมือนกับความมืดกับความสว่าง ถ้ามืดก็ไม่สว่าง ถ้าสว่างก็ไม่มืด เหมือนความร้อนกับความเย็น ถ้าร้อนก็ไม่เย็น ถ้าเย็นก็จะไม่ร้อน ความสุขทางกามารมณ์เป็นเหมือนความร้อน ความสุขทางจิตใจเป็นเหมือนความเย็น  ถ้าต้องการความสุขทางจิตใจก็ต้องสลัดความสุขทางกามารมณ์ออกไป

 

ต้องเปลี่ยนศีลข้อ ๓ จากกาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี มาเป็นอพรหมจริยาเวรมณี  ถือศีลพรหมจรรย์ ละเว้นจากการเสพสุขกับคู่ครองของตน ละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  รับประทานให้อิ่มท้องเพื่อดูแลรักษาร่างกายก็พอ ไม่ต้องรับประทานอาหารที่ถูกปากถูกใจ  ให้อิ่มท้องอยู่ได้ ไม่ต้องรับประทานหลายมื้อ   อย่างมาก ๒ มื้อก็พอ สำหรับผู้ถือศีล ๘ หลังจากเที่ยงวันไปแล้วก็จะไม่รับประทานอาหารอีกต่อไป ถ้าปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นไปอีกก็รับประทานเพียงมื้อเดียว ไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร   ไม่หาความสุขจากการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยๆงามๆ ใช้เครื่องสำอางใช้น้ำหอม ไม่หาความสุขจากการดูการฟังสื่อบันเทิงต่างๆ  เช่นดูหนังฟังเพลง  เพราะเป็นความสุขที่ไม่จีรังถาวร ประกอบไปด้วยความทุกข์ ต้องแสวงหาอยู่เรื่อยๆ  จึงต้องละเว้นจากความสุขเหล่านี้   เพื่อจะได้ความสุขที่ไม่มีความทุกข์เจือปน คือความสงบสุขของจิตใจ   ต้องนอนกับพื้นปูเสื่อปูผ้าก็พอ  ไม่นอนบนฟูกหนาๆ  ไม่หาความสุขจากการหลับการนอน  เพราะไม่ได้เป็นหมู  เป็นมนุษย์ เป็นผู้ใฝ่ธรรม ที่จะพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับของพระอริยเจ้า  ของพระอรหันต์  ไม่ยึดติดกับความสุขที่ได้จากการหลับนอน  นอนให้เพื่อพักผ่อนร่างกาย  ถ้านอนบนพื้นแข็งๆก็จะนอนไม่นาน  สัก ๔ – ๕  ชั่วโมงก็พอแล้ว   ถ้านอนบนฟูกหนาๆ ก็ต้อง ๘ หรือ ๑๐ ชั่วโมงถึงจะพอ เพราะมีความสุข แต่เป็นความสุขที่จะผูกให้ติดอยู่กับกองทุกข์ กับการเวียนว่ายตายเกิด  จึงต้องถือศีล ๘ กันในวันพระ เพื่อจะได้สัมผัสกับความสงบสุขของจิตใจ  จะไม่วุ่นวายใจ  จะเห็นประโยชน์   จะเห็นความสุขที่แท้จริง ว่าไม่ได้อยู่ที่ไหน  อยู่ที่ใจของเรา

 

ถ้าอยากจะให้มีความสุขมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้  ก็ต้องปรับปุ่มความเย็นความสงบของใจ ให้สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือปัญญา ต้องฟังธรรมกัน   จะได้รู้วิธีทำให้ใจสงบอย่างถาวร  กำจัดต้นเหตุที่ทำให้จิตใจไม่สงบ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ถ้ายังมีความโลภ ความโกรธ  ความหลงอยู่ก็จะต้องมีความทุกข์วุ่นวายใจ กับการหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ความสุขกับเรา เพราะไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ถ้าได้ฟังเทศน์ฟังธรรมเช่นวันนี้ก็จะเกิดปัญญา  รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ  อยู่ที่ความสงบที่เกิดจากการเสียสละรักษาศีลนั่นเอง ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม  ก็จะคิดว่าความสุขความเจริญอยู่ที่ลาภยศสรรเสริญสุข ก็จะไปแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข  ที่ต่อให้ได้มามากเพียงไร  มากเท่ากองภูเขา ก็ไม่ได้ทำให้พบกับความสุขความพอ  ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนแล้ว จะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความสงบของใจ อยู่ที่การปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง  ไม่ยึดไม่ติด ไม่อยากได้อะไรทั้งสิ้น อยากได้อย่างเดียวเท่านั้นคือความสงบสุขของใจ  ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้บำเพ็ญมาเป็นตัวอย่าง  ถ้าบำเพ็ญตาม ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะได้พบกับความสุขที่เลิศที่ประเสริฐนี้  จึงควรเข้าหาธรรมะอยู่เสมอๆ  ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ  จะได้รู้จักวิธีบำเพ็ญ วิธีกำจัด วิธีชำระกายวาจาใจให้สะอาด ด้วยศรัทธา จาคะ ศีล ปัญญา    ถ้าบำเพ็ญส่งเสริมให้มีศรัทธา มีจาคะ มีศีล มีปัญญาอยู่เรื่อยๆแล้ว ก็จะมีความสงบสุขทางจิตใจมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ความทุกข์ความกังวลใจ ความเดือดเนื้อร้อนใจต่างๆ ก็จะเบาลงไปและหายหมดสิ้นไป    จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะแก่จะเจ็บจะตายจะพลัดพรากจากใครก็ตาม ใจจะสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดเวลา จึงควรเห็นคุณค่าของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือศรัทธาความเชื่อ จาคะความเสียสละ  ศีลการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ปัญญาความฉลาด ให้บำเพ็ญอยู่เรื่อยๆ เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้