กัณฑ์ที่ ๓๒๔       ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐

 

น้ำขึ้นให้รีบตัก

       

 

 

พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐ  ผู้รู้จริงเห็นจริง ได้ทรงเตือนพวกเราให้หมั่นทำประโยชน์ ทั้งของตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เนื่องจากชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่รู้จะหมดไปเมื่อไร เมื่อหมดไปแล้วโอกาสที่จะทำประโยชน์ก็จะหมดไปด้วย  ทรงเห็นว่ามนุษย์เท่านั้น ที่จะทำความเจริญรุ่งเรือง ความสุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์ก็จะไม่สามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ ถ้าเกิดเป็นเดรัจฉานก็จะไม่สามารถทำบุญทำกุศลได้ ถ้าเป็นเทพเป็นพรหมก็มีโอกาสน้อยมาก ที่จะได้ทำบุญทำกุศล ถ้าไปตกนรกก็จะไม่มีโอกาสได้ทำบุญทำกุศลเลย มีภพของมนุษย์เท่านั้นที่มีโอกาส มีสมรรถภาพ มีผู้สอน ให้ทำบุญทำกุศล แต่ชีวิตของคนเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่รู้จะหมดไปเมื่อไร  จึงไม่ควรประมาท  ควรรีบทำเสียในขณะที่มีเวลา วันที่ไม่ต้องไปทำภารกิจการงาน ไปเรียนหนังสือ แทนที่จะใช้เวลาให้หมดไปกับเรื่องไร้สาระ เรื่องที่ไม่สร้างคุณสร้างประโยชน์  สร้างความเจริญให้กับจิตใจ  เช่นการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจ เพียงแต่ให้ความเพลิดเพลิน ให้ความสุขในขณะที่ได้สัมผัสเท่านั้น หลังจากนั้นก็ปล่อยให้จิตใจอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว มีความอยาก มีความต้องการเพิ่มขึ้นไปอีก ไม่ได้สร้างความอิ่มพอให้กับจิตใจเลย พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ลดละ การหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วหันมาหาความสุขจากการทำบุญทำกุศล เพราะจะทำให้จิตใจสูงขึ้นดีขึ้น ให้มีความอิ่มมีความพอ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ จากความวุ่นวายใจต่างๆ  

 

ถ้าไปทำอย่างอื่น  ก็จะต้องวนเวียนอยู่กับความทุกข์ ความรุ่มร้อน ความวุ่นวายใจ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ต่อให้มีเงินทองมากเพียงไรก็ตาม ก็ยังต้องวนเวียนอยู่กับความทุกข์ ความรุ่มร้อน ความวุ่นวายของจิตใจอยู่เสมอ   ถ้าได้ทำบุญทำกุศล ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ใจจะมีความร่มเย็น มีความสุข  มีความสบายมากขึ้น  มีความทุกข์ มีความรุ่มร้อน มีความวุ่นวายใจ น้อยลงไปตามลำดับ จนไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจเลย เช่นเดียวกับใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญบุญและกุศลอย่างต่อเนื่อง อย่างไม่หยุดยั้ง จนหลุดพ้นจากความทุกข์ ความรุ่มร้อน ความวุ่นวายใจ เหลือแต่ความสุข ความอิ่ม ความพอ  เพราะใจได้รับการดูแลอย่างถูกต้องนั่นเอง ได้รับอาหาร ได้รับสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์ แทนที่จะได้รับยาพิษ เหมือนที่พวกเรากำลังให้ใจของเราอยู่ ด้วยการแสวงหาเงินหาทอง หาตำแหน่ง หาสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ที่ไม่ได้เป็นอาหารเป็นประโยชน์กับใจเลย แต่เป็นยาพิษที่จะทำให้ใจมีความทุกข์ ความรุ่มร้อน ความวุ่นวายใจ อย่างที่พวกเราเป็นกันอยู่ เพราะยังไม่หยุดการให้ยาพิษ ยังอยากจะร่ำรวย อยากจะมีตำแหน่งสูงๆ มียศสูงๆ อยากจะให้คนสรรเสริญยกย่อง อยากจะได้ความสุขจากการไปดู ไปฟัง ไปลิ้มรส ไปดมกลิ่น ไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆทางร่างกาย ที่ไม่ได้เป็นอาหาร ไม่ได้เป็นคุณประโยชน์กับจิตใจ แต่เป็นโทษ เป็นยาพิษ ความทุกข์ของพวกเราจึงไม่หมดไปสักที  หมดจากความทุกข์เรื่องนี้ ก็มีความทุกข์เรื่องใหม่ตามมาอยู่เรื่อยๆ

 

เราจึงควรสร้างบุญสร้างกุศลให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้  เพราะเป็นสิ่งที่เราพึ่งพาอาศัยได้  เป็นที่หลบทุกข์หลบภัยทางด้านจิตใจได้ ที่จะปกป้องคุ้มครองรักษาใจ ไม่ให้ถูกความทุกข์ความวุ่นวายใจมาเหยียบย่ำทำลาย จึงควรให้ความสนใจต่อการทำบุญทำกุศลอยู่เสมอ  ซึ่งมีอยู่หลายขั้นด้วยกัน  ขั้นแรกท่านสอนให้ทำทาน คือการให้  ที่มีหลายชนิดด้วยกัน ทานที่ให้กันอยู่เป็นประจำ  คือกับข้าวกับปลาอาหารคาวหวาน เครื่องใช้ไม้สอย เงินทอง เรียกว่า วัตถุทาน  ทานแปลว่าการให้ วัตถุคือ สิ่งที่เราให้  วัตถุทานคือการให้วัตถุนั่นเอง แล้วเราก็มีวิทยาทาน คือการให้ความรู้แก่ผู้อื่น  เรามีความรู้ความสามารถอะไร พอจะแบ่งให้ผู้อื่น สอนผู้อื่นได้ ก็สอนไป โดยไม่คิดเงินทอง ไม่เรียกค่าตอบแทน การให้ต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เรียกร้อง ไม่เอาอะไรเป็นเครื่องตอบแทน  ถ้ามีสิ่งตอบแทนจากการเรียกร้องก็ไม่เป็นทาน แต่เป็นพาณิชย์ เป็นการค้าขาย เวลาให้อะไรจึงต้องไม่หวังสิ่งตอบแทนจากผู้รับ  แล้วก็มีอภัยทาน  คือการให้อภัย ยกโทษ ไม่จองเวรจองกรรม ต่อผู้สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน ความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเรา และประการสุดท้าย คือธรรมทาน  การให้ธรรมะ  ถ้าเรารู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  พอที่จะแบ่งให้กับผู้อื่นได้ สอนให้กับผู้อื่นได้ ถ้ามีโอกาสก็สอนไป แต่ต้องระวัง อย่ายัดเยียดให้กับผู้อื่น ให้เขาต้องการก่อนถึงจะเกิดประโยชน์ ถ้าไม่ต้องการ ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เหมือนกับเทน้ำใส่ภาชนะที่ไม่ได้หงายขึ้น เทลงไปมากน้อยเพียงไร น้ำก็จะไม่อยู่ในภาชนะเลย ฉันใดใจถ้าไม่สนใจรับฟังคำสอน ก็ไม่สอนให้เสียเวลา จะทำให้เขาเบื่อหน่ายและต่อต้าน

 

นี่คือทานมีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกัน คือ วัตถุทาน วิทยาทาน อภัยทาน ธรรมทาน ทำไปแล้วจะทำให้ใจมีความร่มเย็นเป็นสุข สูงขึ้นเจริญขึ้น ผู้ให้ความสุขแก่ผู้อื่น ย่อมสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ให้ สูงกว่าผู้ที่ให้ความทุกข์กับผู้อื่น ความสูงส่งของคนเราวัดกันตรงนี้ ตรงที่ให้ความสุขกับผู้อื่นได้มากน้อยเพียงไร เช่นเราถือพ่อแม่สูงกว่าเรา เพราะให้ความสุขกับเรามากกว่าเราให้กับท่าน พ่อแม่จึงสูงกว่าเรา เรามีแต่ให้ความทุกข์กับพ่อแม่ เพราะเรามักจะทำตามความหลงตามความอยากที่เป็นโทษ พ่อแม่เคยผ่านมาก่อนแล้ว จึงคอยสอน คอยเตือน คอยบอกให้เรารู้ไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ต่างๆ แต่เราก็จะไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่เท่าไร เพราะชอบฟังตามความอยาก ตามความหลง เมื่อทำแล้วก็เกิดโทษ เกิดความเสียหายขึ้นมา ก็สร้างความทุกข์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าอยากจะให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข เราก็ต้องเชื่อฟังท่าน ถ้าสิ่งที่ท่านสอนเป็นสิ่งที่ดีที่งามที่ถูกต้อง ที่จะป้องกันไม่ให้ไปตกทุกข์ได้ยาก ที่จะพาไปสู่ความสุขและความเจริญ เราก็ควรเชื่อฟัง อย่างนี้ก็เป็นการให้เหมือนกัน คือให้ความเคารพ เชื่อฟัง  แล้วความสุขก็จะเกิดขึ้นกับตัวเราและผู้อื่น นี่ก็เป็นหนึ่งในบุญที่เราสามารถทำกันได้  

 

บุญประการที่ ๒  ที่เราสามารถทำกันได้ก็คือศีล คือการตั้งอยู่ในความเรียบร้อยดีงามของกายและวาจา ไม่เบียดเบียน สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ด้วยการละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี  พูดปดมดเท็จ  เสพสุรายาเมา ถ้าเราสามารถรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ได้ เราจะอยู่อย่างปลอดภัย ไม่มีปัญหาต่างๆตามมา อยู่อย่างสบายอกสบายใจ เพราะไม่มีใครมาจับเราไปลงโทษ  ไม่มีใครจะประณามเราได้ มีแต่จะยกย่องสรรเสริญ ว่าเราเป็นคนดี  เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำให้เรามีความสุขใจ 

 

บุญประการที่ ๓ ท่านสอนให้เราภาวนา คือพัฒนาจิตใจให้สงบมากขึ้น นอกจากให้ทานรักษาศีลแล้ว ยังมีความสงบที่มากกว่านี้ คือ ความสงบจากการภาวนา  ที่มีอยู่  ๒  ขั้นด้วยกัน ขั้นแรกเรียกว่าสมถภาวนา  ทำจิตใจให้สงบ  ขั้นที่ ๒ เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา ทำจิตใจให้ฉลาดรู้ทันความหลง ที่คอยหลอกให้ไปสร้างความทุกข์ การทำสมถภาวนาก็คือ การกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพื่อให้จิตสงบนิ่ง   ไม่ให้ไปคิดอะไร ผูกจิตไว้กับอารมณ์นั้น  ถ้าจิตเป็นลิง อารมณ์ที่ใช้ผูกจิตก็เป็นเสา ถ้ามีเชือกผูกลิงไว้กับเสา ลิงก็จะไปเพ่นพาน ไปเที่ยว ไปเล่น ไปสร้างปัญหาอะไรต่างๆไม่ได้ เมื่อมันไม่สามารถไปไหนได้ ก็จะสงบนิ่ง จะอยู่เฉยๆ  ในเบื้องต้นมันจะต่อสู้ เพราะมันไม่เคย มันชอบไปไหนมาไหน  พอผูกมันไว้ มันก็พยายามดิ้น ถ้าเชือกที่ผูกไว้แข็งแรงกว่า กำลังของลิง พอดิ้นไปสักระยะหนึ่งก็จะเหนื่อยหมดแรง แล้วก็จะอยู่เฉยๆ ไม่ดิ้นอีกต่อไป ใจของเราก็เป็นเหมือนลิง ปกติแล้วจะไม่อยู่เฉยๆ  ชอบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เกิดความรุ่มร้อน เกิดความอยาก เกิดความต้องการ แล้วก็ต้องไปทำสิ่งต่างๆ ไปมีเรื่องมีราวมีปัญหาต่างๆ อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ถ้าจิตสงบนิ่งอยู่เฉยๆได้ เช่นในขณะนี้ จิตของพวกเราก็สงบอยู่ในระดับหนึ่ง สามารถนั่งอยู่เฉยๆ  ฟังธรรมะได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น นั่งอยู่เฉยๆเราก็มีความสุข ถ้าจะทำให้นิ่งอย่างเต็มที่ โดยไม่คิดอะไรเลย ต้องมีอารมณ์คือ เสา มีเชือกคือสติที่จะผูกจิตไว้กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่นบทสวดมนต์ สวดอรหังสัมมาฯ ก็ต้องมีสติรู้อยู่กับการสวด รู้ว่าเรากำลังสวดอรหังสัมมาฯอยู่ ไม่ได้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะถ้าไปคิดแล้ว ต่อให้สวดไปนานแสนนาน จิตก็จะไม่สงบ เหมือนกับไม่ได้สวด 

 

ถ้าจะให้สงบ ต้องสวดไปโดยไม่คิดอะไรเลย  อย่าปล่อยให้จิตดิ้นหนีจากการสวดมนต์  ไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ต้องมีสติ ต้องรู้ ต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ขณะที่สวดต้องรู้ว่ากำลังสวดอย่างเดียว ไม่ได้ไปคิดถึงเรื่องนั้นคิดถึงเรื่องนี้ ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว จิตจะค่อยสงบตัวลงไปเรื่อยๆ จนสงบเต็มที่ จิตก็จะนิ่งเฉย ไม่คิดอะไร ถึงตอนนั้นการสวดมนต์ก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป จะหยุดสวดไปโดยปริยาย เหมือนกับการรับประทานอาหาร ขณะที่รับประทานยังไม่อิ่ม ก็รับประทานไปเรื่อยๆ พออิ่มแล้วก็หยุดรับประทาน ฉันใดพอจิตสงบแล้ว จิตก็อิ่ม จิตก็พอ จิตก็หยุดคิดหยุดปรุง ก็จะหยุดสวดมนต์ไปเอง จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องถามว่าจะหยุดได้เมื่อไร  ถ้าจิตยังไม่หยุดก็ต้องสวดไปเรื่อยๆก่อน  พอนิ่งแล้วจะหยุดไปเอง จะวูบลงไปแล้วก็สงบ เกิดความสุขความสบายขึ้นมา นี่คือสมถภาวนา การทำจิตใจให้สงบ ต้องไม่ไปคิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น  พอออกจากความสงบแล้ว จิตจะเริ่มคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อีก ท่านก็สอนให้ภาวนาขั้นต่อไป คือวิปัสสนาภาวนา แทนที่จะปล่อยให้ใจไปคิดเรื่อยเปื่อยเหมือนที่เคยคิดมา เราต้องบังคับให้คิดในเรื่องที่จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ทำให้เราฉลาดให้รู้ทันโลก  รู้ทันความหลง ที่คอยหลอกให้เราไปหาความทุกข์มาใส่ใจ  สิ่งที่เราต้องสอนใจอยู่เสมอ  ก็คือให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นสุข เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ลาภยศสรรเสริญสุขก็เป็นอนิจจัง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีได้มามีเสียไป มีเจริญมีเสื่อม 

 

ถ้าไม่รู้ว่าเป็นอนิจจัง  เวลาได้มาก็จะดีอกดีใจ จะหลงยึดติด  ไม่อยากให้จากเราไป  พอถึงเวลาที่ต้องจากไป เพราะเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ก็ร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้ารู้ล่วงหน้าก่อนว่า สักวันหนึ่งต้องจากเราไป เราก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้ พอจากไปก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะไม่ได้ยึดติด เหมือนกับสิ่งที่ยืมมา ต้องคืนเจ้าของไป พอถึงเวลาคืน ก็ไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่เศร้าโศกเสียใจ  ฉันใดสิ่งต่างๆในโลกนี้ก็เป็นเหมือนของที่เรายืมมา สักวันหนึ่งต้องคืนเขาไป แม้แต่ร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน ต้องกลับคืนสู่เจ้าของเดิม กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป สักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว  จึงต้องตัดความยึดติดให้ได้  เหมือนที่เราไม่ยึดติดกับร่างกายของคนอื่น ร่างกายของเราก็อย่าไปยึดติด  ถ้าไม่ยึดติดแล้ว เวลาเป็นอะไรไป ใจจะไม่เดือดร้อน  เป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา ถ้าคิดอย่างนี้แล้วเวลาอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย เราจะไม่ทุกข์  ไม่วุ่นวายใจ จะรู้สึกเฉยๆ สบายใจ  นี่คือวิปัสสนาภาวนา ศึกษาสอนใจให้รู้ทันความจริงของสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่ใจไปสัมผัสไปเกี่ยวข้องด้วย  เช่นร่างกายของเรา ลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ ล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยงทั้งนั้น  ไม่เป็นความสุขที่แท้จริง เพราะสร้างความทุกข์ให้กับเรา ถ้าไปหลงยึดติด  จึงอย่าไปหวังหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้  ให้มาหาความสุขจากการปล่อยวาง หาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ เพราะเป็นความสุขที่แท้จริง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีความทุกข์ตามมา  ถ้ามีอยู่เต็มในหัวใจแล้ว จะไม่เสื่อม จะไม่หมด ไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกข์ เป็นของเรา อยู่กับใจเราไปตลอด 

 

จึงต้องสอนใจอยู่เรื่อยๆ พอออกจากสมาธิก็ต้องคอยสอนใจว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรเป็นความสุขที่แท้จริง  ไม่มีอะไรเป็นตัวเราเป็นของเรา สอนไปอย่างนี้เรื่อยๆ จะได้ไม่หลงอยากได้สิ่งต่างๆ  เพราะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอะไร ยกเว้นปัจจัย ๔ ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ  เราก็หามาเท่าที่จำเป็น แต่ไม่หาสิ่งอื่นมา เพราะจะสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้กับเรา นี่คือวิปัสสนาภาวนา ต้องทำสลับกับสมถภาวนา เวลาทำสมถภาวนาก็ไม่คิดอะไรเลย พยายามทำจิตให้นิ่งอย่างเดียว แต่เวลาเจริญวิปัสสนาก็ต้องคิด แต่คิดในสิ่งที่ถูก  คิดในเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่เรื่อยๆ สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรานี้ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น  สิ่งที่เราเห็นเราได้ยินก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา สิ่งที่เรามีอยู่ก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าปล่อยวางได้จะสบายใจ ไม่ทุกข์เดือดร้อนเลย  มีแต่ความสุขความสบายใจตลอดเวลา นี่คือ บุญกุศลที่ทำกันได้ เรียกว่าภาวนา

 

นอกจากนั้นท่านก็สอนให้ทำบุญด้วยการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เวลาทำบุญแล้วเราก็มีบุญ ที่จะอุทิศให้กับผู้ล่วงลับไปแล้วได้ เราก็อุทิศไป  อุทิศได้ ๒ แบบ  คือกรวดน้ำรำลึกถึงบุคคลที่เราต้องการอุทิศให้ หรือไม่ต้องกรวดน้ำก็ได้ เพียงรำลึกอยู่ในใจ ขออุทิศบุญส่วนนี้ให้แก่ผู้นั้นผู้นี้ไป ก็จะได้รับเหมือนกัน อุทิศแบบเปียกหรืออุทิศแบบแห้งก็ได้  การอุทิศที่แท้จริงไม่ต้องใช้น้ำ อยู่ที่ใจของเรา  อยู่ที่การตั้งจิตอธิษฐานรำลึกถึงคนที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้ารอรับอยู่เขาก็จะได้รับ  ทุกครั้งที่ทำบุญก็ควรอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไป บุญอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า บุญที่เกิดจากการรับใช้ผู้อื่น  ทำให้เรามีความสุข ทำให้ผู้ที่เรารับใช้มีความสุข เพราะคนที่เดือดร้อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยคนอื่นคอยช่วยเหลือ เช่น เวลาที่บิดามารดาของเราเจ็บไข้ได้ป่วย เวลามีอายุมาก ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ลูกๆก็ต้องเลี้ยงดูท่านรับใช้ท่าน การรับใช้บิดามารดาก็เท่ากับรับใช้พระอรหันต์  เพราะมีคุณกับเรามาก  ถ้าไม่มีบิดามารดาเราก็ไม่สามารถเกิดมาเป็นตัวเป็นตน อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้  บุญคุณของคุณพ่อคุณแม่จึงมีมาก ชดใช้ไม่ได้หมด การรับใช้ท่านทำให้เราได้บุญมาก ไม่ต้องไปหาพระอรหันต์นอกบ้าน  มีพระอรหันต์อยู่ในบ้านแล้ว ก่อนที่จะไปทำบุญกับพระอรหันต์นอกบ้าน  ให้ทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้านก่อน ดูแลพระอรหันต์ในบ้าน คือพ่อแม่ให้เรียบร้อยก่อน แล้วเราค่อยไปทำบุญกับพระอรหันต์นอกบ้าน ประการต่อมาคือบุญที่เกิดจากการมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เป็นคนน่ารัก ผู้อื่นมีความสุขเวลาได้เจอเรา เราก็มีความสุข  เพราะมีคนชื่นชมยินดี ต่างกับคนที่ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีใครชื่นชมยินดี มีแต่คนรังเกียจ ไม่มีความสุข ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน จะได้มีความสุข

 

ประการต่อมาคือบุญที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างวันนี้เราได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ความรู้  จิตใจสงบร่มเย็นเป็นสุข เพราะเมื่อรู้แล้วก็จะไม่หลงไม่อยาก ไม่ฟุ้งซ่านไม่เครียด เพราะรู้แล้วว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความสงบ อยู่ที่การทำความดี อยู่ที่การทำบุญ อยู่ที่การฟังเทศน์ฟังธรรม อย่างที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้  ฟังไปเรื่อยๆแล้วใจจะสุข เพราะมีธรรมะชโลมจิตใจ ให้เย็นให้สุขให้สบาย ประการต่อมาคือบุญที่เกิดจากการให้ธรรมะกับผู้อื่น  ถ้ามีใครถามว่า  วันนี้ไปฟังธรรมะ ได้อะไรมาบ้าง เราก็บอกเขาไป ก็จะได้รับประโยชน์จากการฟังธรรมะจากเราอีกต่อหนึ่ง จะได้ความสุข ทำให้ฉลาดขึ้น มีความสุขมากขึ้น  ประการสุดท้ายคือบุญที่เกิดจากการมีความเห็นที่ถูกต้อง เราก็จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ได้รับประโยชน์ ได้รับความสุข ไม่มีโทษตามมา  ถ้ามีความเห็นผิดก็จะทำผิด สร้างความทุกข์ สร้างโทษให้กับเรา อย่างวันนี้เราเห็นแล้วว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การสร้างบุญสร้างกุศล อยู่ที่การทำความดี ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าทำตามที่ได้ยินได้ฟังมา ก็จะได้รับความสุขความเจริญ ความอิ่มความพอ ความสุขที่ประเสริฐที่สุด เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก จึงควรให้ความสำคัญต่อการทำบุญทำกุศลอย่างสม่ำเสมอ  มีเวลาว่างตอนไหนก็รีบทำเสีย เพราะชีวิตของเราไม่แน่นอน จะหมดไปเมื่อไรก็ไม่รู้  เหมือนสุภาษิตที่ว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนน้ำกำลังขึ้น  มีโอกาสทำบุญทำกุศล อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะอาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้สำหรับเราก็ได้   ถ้าไม่ประมาทก็จะรีบทำเสียแต่วันนี้ ไม่ช้าก็เร็วก็จะได้รับประโยชน์เต็มที่ ถ้ายังไม่เต็มที่ บุญกุศลจะดูแลเราไปเรื่อยๆ ส่งเสริมเราไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะได้อย่างเต็มที่  การทำบุญตั้งแต่วันนี้ไปจึงไม่เสียประโยชน์ มีแต่ได้อย่างเดียว  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้