กัณฑ์ที่ ๓๒๕ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐
เกียร์ของใจ
การมาวัด มาทำบุญ สร้างกุศล สร้างบารมี ศึกษาหาความรู้ เป็นการพาชีวิตจิตใจของเราไปสู่ความก้าวหน้า ความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข เพราะใจเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง มีการเดินหน้าถอยหลัง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา วิ่งเร็ววิ่งช้า ต้องเปลี่ยนเกียร์อยู่เรื่อยๆ เกียร์เดินหน้า เกียร์ถอยหลัง เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ ถึงเกียร์ ๕ ใจของเราก็มีเกียร์เหมือนกัน เพราะต้องพบกับเหตุการณ์ พบกับบุคคลที่ต่างกัน จะใช้เกียร์เดียวไม่ได้ เวลาออกรถก็ต้องใช้เกียร์ต่ำ พอรถวิ่งเร็วขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเกียร์สูง ชีวิตจิตใจของเราก็ต้องเปลี่ยนเกียร์เหมือนกัน ซึ่งมีอยู่ ๔ เกียร์ด้วยกันคือ ๑. เมตตา ๒. กรุณา ๓. มุทิตา ๔. อุเบกขา เป็นเกียร์ของใจ ที่ต้องใช้ในวาระที่พบกับคนและเหตุการณ์ที่ต่างกัน เวลาจะออกรถก็ต้องใช้เกียร์ต่ำ เกียร์ต่ำของใจก็คือความเมตตา เวลาพบเจอใครก็ให้แผ่เมตตา ให้มีไมตรีจิต ให้มองว่าเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนร่วมโลก เพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ไม่เป็นศัตรูกัน ถึงแม้จะแข่งขันกันเวลาทำมาหากิน ก็แข่งอย่างมิตร จะมีความสุขทั้ง ๒ ฝ่าย เวลาเพื่อนชนะ เราก็แสดงมุทิตาจิต แสดงความยินดี เวลาเพื่อนได้ดิบได้ดี มีความสุข มีความเจริญ เราก็แสดงมุทิตาจิต เพราะจะทำให้เรามีความสุขด้วย แต่ถ้าเราอิจฉาริษยาไม่พอใจ ก็จะสร้างความทุกข์ความรุ่มร้อนให้กับจิตใจ ให้ไปทำในสิ่งที่เสื่อมเสีย เราจึงต้องรู้จักใช้เกียร์ของใจให้ถูกกับสถานการณ์ เกียร์พื้นๆก็คือให้แผ่เมตตาอยู่เสมอ ไม่ว่ากับใครก็ตาม กับผู้ใหญ่กับเด็ก กับคนใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิด ให้แผ่เมตตาให้เท่าๆกัน ดังที่ทรงสอนไว้ว่า สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หมายถึงคนทุกคน สัตว์เดรัจฉานทุกตัว ที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน อยากมีเพื่อน มีความสุข ไม่อยากมีศัตรู ไม่อยากมีความทุกข์
ถ้าเราแผ่เมตตาให้กับเขา เขาก็มีความสุข ยินดีที่จะแผ่เมตตาให้กับเรา เราก็มีความสุข ต่างฝ่ายต่างอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่ฆ่ากัน ทำลายกัน เพราะความต้องการของการดำรงชีพมีไม่มากเลย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่กิเลสภายในใจ ที่โลภไม่รู้จักพอ มีมากมีน้อยเท่าไหร่ ก็ไม่พอ พอใครขัดขวางความโลภ ก็เกิดความโกรธ อาฆาตพยาบาทไร้ความเมตตา พระพุทธเจ้าจึงสอนไม่ให้จองเวรกัน อเวรา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีเวรกันเถิด เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร ด้วยการให้อภัย ถ้าให้อภัยได้ก็จะดับไฟนรกที่เผาจิตใจ คือความโกรธความแค้นที่เหมือนไฟนรกได้ ไม่เช่นนั้นจะอยู่เฉยๆไม่ได้เลย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้ามีธรรมะ มีความเมตตาให้อภัย ก็เหมือนกับมีน้ำดับไฟนรก ถ้าแผ่เมตตาอยู่เรื่อยๆ ให้อภัยอยู่เรื่อยๆ พอเกิดความโกรธแค้นขึ้นมา ก็จะดับไฟนรก ดับความแค้นได้ ทำให้ใจสงบเย็นเป็นสวรรค์ คนเราจะเป็นเทพหรือเป็นมาร ก็อยู่ตอนที่เกิดความโกรธ ถ้ามีน้ำของธรรมมาดับ คือการให้อภัยไม่จองเวรกัน ใจก็จะสงบเย็นสบาย เป็นพระเป็นเทพได้ เพราะไม่ไปทำอะไรเสื่อมเสียหาย ถ้าไม่มีน้ำของธรรมมาดับความโกรธ ใจก็จะร้อนมากๆ ต้องไประบายในทางที่เสื่อมเสีย ไปทำร้ายร่างกายทำร้ายชีวิต ของผู้ที่ทำให้โกรธ ใจก็เลยกลายเป็นมารเป็นยักษ์เป็นสัตว์นรกไป เพราะขาดความเมตตา ไม่แผ่เมตตาอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้หมั่นแผ่เมตตาอยู่เรื่อยๆ ด้วยการระลึกอยู่เสมอว่า สัพเพสัตตา อเวรา โหนตุ ไม่จองเวรกัน สัพเพสัพตา อัพยาปัชฌา โหนตุ ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา เพราะสร้างความเดือดร้อน ความทุกข์ ความเสียหายให้กับผู้อื่น แล้วก็จะย้อนกลับมาหาเรา
เมื่อทำร้ายใครแล้ว ก็จะหวาดวิตก กลัวจะต้องใช้เวรใช้กรรม ถูกจับไปลงโทษ เข้าคุกเข้าตะราง ก็จะไม่มีความสุขเลย แต่ถ้ามีธรรมะ คือมีความเมตตาไว้ดับความโกรธ ก็จะรักษาความสงบสุขของใจได้ รักษาความเป็นพระ ความเป็นเทพ ความเป็นมนุษย์ไว้ได้ ถ้าฝึกแผ่เมตตาอยู่เรื่อยๆ สอนใจอยู่เรื่อยๆ ทุกวันทุกเวลา ทุกขณะที่มีเวลาว่าง ให้ฝึกแผ่เมตตาอยู่เรื่อยๆ ฝึกให้อภัยอยู่เรื่อยๆ สมมติขึ้นมาในใจว่า ถ้าใครมาพูดมาทำอะไรให้เราโกรธ เราต้องให้อภัยให้ได้ ไม่ยากเลยการให้อภัย ถ้าไม่คิดถึง ก็ให้อภัยได้แล้ว พอลืมแล้วความโกรธก็หายไปเอง จึงอย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เราโกรธ เพราะยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้เราโกรธ ต้องคิดเสมอว่า เราควบคุมบังคับคนอื่นไม่ได้ ให้เขาดีกับเราเสมอไปไม่ได้ ให้เขาทำตามความต้องการของเราเสมอไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เราบังคับได้ก็คือใจของเรา ให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ถ้าไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการกระทำของคนอื่น ใครจะทำอะไร ก็คิดว่าเป็นลมเป็นแดดก็แล้วกัน แดดลมจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย ฝนจะตกแดดจะออก ก็ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา ฉันใดใครจะพูดอะไรทำอะไร ก็ถือว่าเป็นเรื่องของเขา ถ้าเราต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ที่เกิดจากการกระทำของเขา ก็คิดเสียว่าเป็นเคราะห์กรรมของเราก็แล้วกัน ส่วนหนึ่งของการมาเกิด ก็เพื่อมาใช้กรรมนี้เอง หรือคิดว่าสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนิจจัง จะไม่อยู่กับเราไปตลอด สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป ถ้าเราไม่ยึด ไม่ติด ไม่หลงแล้ว เวลาจากเราไป เราจะรู้สึกเฉยๆ สบายใจ ไม่ต้องดูแลรักษา หมดแล้วก็หมดไป แม้แต่ชีวิตถึงแม้จะหมดไป ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะใจไม่ได้หมดไปกับการตายของร่างกาย ไม่มีใครทำลายใจได้ ให้หมดไปได้ แต่ความโง่คือความหลง จะทำให้ใจทุกข์ได้ ถ้าขาดความเมตตา
ถ้าอยากจะมีความสุขตลอดเวลา ท่ามกลางการสูญเสีย การเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทั้งหลาย ให้มีเมตตาเสมอ ให้อภัยเสมอ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นี่คือเกียร์ ๑ ของใจที่เราควรใช้ตลอดเวลา เกียร์ที่ ๒ ของใจก็คือกรุณาความสงสาร เวลาเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก ลำบากลำบน เช่นเวลามีภัยต่างๆ น้ำท่วม ไฟไหม้ ข้าวยากหมากแพง แห้งแล้ง ไม่มีอาหารจะกิน ไม่มีปัจจัย ๔ ถ้าเรามีเหลือก็ควรดูแลกัน ช่วยเหลือกัน คิดว่าอยู่ในเรือลำเดียวกัน วันนี้เราสุข เขาทุกข์ พรุ่งนี้อาจจะกลับกันก็ได้ พรุ่งนี้เขาสุข เราอาจจะทุกข์ก็ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างดูแลกัน ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ก็จะไม่หนักหนาสาหัสสากัน ก็จะอยู่ได้ พอถูไถไปได้ ไม่แร้นแค้นจนเกินไป ถ้ามีกรุณาความสงสาร ต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่ตกทุกข์ได้ยาก เราจะมีความสุข พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ให้ความสุขแก่ผู้อื่น ความสุขก็จะย้อนกลับมาหาเรา เช่นเดียวกับการให้ความทุกข์กับผู้อื่น ความทุกข์ก็จะย้อนกลับมาหาเรา ถ้าเราไม่ต้องการความทุกข์ ต้องการแต่ความสุข ก็อย่าไปเบียดเบียนผู้อื่น มีความสงสาร ดูแลช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก จะไม่มีภัยมาคุกคาม เพราะทำแต่ความดี ไม่มีใครเกลียด ไม่มีใครอยากจะทำลาย อยากจะฆ่าให้ตาย เพราะเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม เกียร์ที่ ๓ ก็คือมุทิตา ความยินดีกับความสุขความเจริญของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนที่เรารักหรือไม่รัก รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ถ้ามีความสุขมีความเจริญ เราก็ควรแสดงความชื่นชมยินดี ทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย
ไม่ว่าจะแข่งขันอะไรกับใคร ถ้าเราแพ้เขาชนะ ก็ให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีแพ้มีชนะเป็นธรรมดา ถ้าเขาชนะเราก็แสดงความยินดี เรื่องก็จบ ไม่มีปัญหาตามมา ถ้าไม่ยอมแพ้ เรื่องก็จะบานปลาย จะกลายเป็นศัตรูกัน แทนที่จะเป็นเพื่อน ก็กลายเป็นศัตรู ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของเรามาก คนที่ไม่เป็นศัตรูกับเรา เขาจะไม่ทำอะไรเรา ถ้าเขาเป็นศัตรูแล้ว เขาก็จะจ้องทำร้ายเราอยู่เสมอ จึงอย่าไปสร้างศัตรู ถ้าสร้างมิตรไม่ได้ อย่างน้อยก็อย่าไปสร้างศัตรู ให้ใช้เกียร์ ๔ คืออุเบกขา ทำใจให้วางเฉย ทำใจให้สงบ ให้นิ่ง ไม่โกรธ ไม่เสียใจ เวลาแพ้ถ้าแสดงความยินดี แสดงมุทิตาจิตไม่ได้ ก็ทำใจให้นิ่งสงบ ให้เฉยๆ ให้ปล่อยวาง วันพระไม่มีหนเดียว คิดอย่างนี้ก็ได้ โอกาสหน้าค่อยแข่งกันใหม่ ถ้าเราขยันฝึกซ้อม เราก็อาจจะชนะได้ คิดอย่างนี้จะได้ไม่จองเวรจองกรรมกัน ไม่สร้างศัตรู จะไม่มีปัญหาตามมา ปัญหาของพวกเราอยู่ที่หักห้ามจิตใจไม่ได้ เวลาเราแพ้ก็จะรู้สึกไม่ดี โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็พยายามจะเอาชนะให้ได้ บางทีก็ใช้วิธีที่ไม่ดี ไม่ถูกกฎกติกา ถ้าเป็นนักมวยก็ต่อยใต้เข็มขัด การชนะของเราก็จะไม่น่าภูมิใจ ไม่ได้ชนะจริงๆ รู้จักแพ้ดีกว่าไม่รู้จักแพ้ แพ้เป็นพระ แพ้ไม่เป็นก็จะเป็นมาร นี่คือเรื่องที่เราควรสั่งสอนใจอยู่เสมอๆ ต้องเฝ้าดูความคิด ดูอารมณ์ของเรา ด้วยสติอยู่เสมอ ว่าขณะนี้กำลังมีอารมณ์อะไร กำลังคิดจะทำอะไร ถ้ามีอารมณ์ไม่ดี จะพูดอะไรจะทำอะไร ต้องระมัดระวัง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็อย่าพูดอย่าทำ รอให้สงบสติอารมณ์เสียก่อน เพราะเวลาอารมณ์เสีย จะพูดไม่ดีทำไม่ดี ถ้าสงบสติอารมณ์แล้ว จิตใจจะเป็นปกติ การพูดการกระทำก็จะเป็นปกติ
ถ้าพูดหรือทำในขณะที่มีอารมณ์ไม่ดี ก็จะพูดไม่ดีทำไม่ดี จะเกิดโทษตามมา ทำให้เสียอกเสียใจในภายหลัง รู้อย่างนี้ไม่ทำดีกว่า รู้อย่างนี้ไม่พูดดีกว่า เป็นเพราะใจไม่มีเบรกนั่นเอง ไม่เคยติดเบรกไว้ จึงต้องหัดติดเบรกให้กับใจ นอกจากมีเกียร์แล้ว ยังต้องมีเบรกด้วย เบรกก็คือการหยุดใจ ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด ไม่ให้ทำ เช่นเวลาโกรธแล้วอยากจะด่าและทำร้ายผู้อื่น ก็ต้องหยุดใจ ด้วยการสวดมนต์ไปภายในใจก็ได้ สวดไปเรื่อยๆ สวดอรหังสัมมาฯ อย่าไปคิดถึงเรื่องถึงคนที่ทำให้เราโกรธ เบี่ยงเบนใจไปหาธรรมะ สวดมนต์ไปเรื่อยๆ พอสวดไปสักระยะหนึ่งแล้ว ใจก็จะเบาจะสบาย ความโกรธความแค้น ก็จะหายไป จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง เพราะไม่ได้ไปพูดไปทำอะไรที่ไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ชาวพุทธฝึกจิตอยู่เรื่อยๆ ทำจิตใจให้สงบอยู่เรื่อยๆ หัดหยุดจิต หยุดใจ อย่าปล่อยให้คิดไปเรื่อยเปื่อยตลอดเวลา ควรหาเวลาว่างหามุมสงบ นั่งทำจิตใจให้นิ่ง ด้วยการสวดมนต์ไปภายในใจ หรือจะบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆก็ได้ ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ช้าก็เร็ว ใจก็จะรวมลงสู่ความสงบ จะนิ่ง จะสบาย จะมีความสุขมาก จะไม่หิว ไม่อยาก ไม่ต้องการอะไรเลย แม้จะไม่นานก็ตาม เมื่อถอนออกจากความสงบแล้ว ก็จะรู้จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ความสงบของใจนี้เอง หลังจากนั้นจะมีความยินดีความพอใจ ทำใจให้สงบอยู่เรื่อยๆ ด้วยการสวดมนต์ก็ดี ด้วยการระลึกถึงพุทโธๆไปเรื่อยๆก็ดี จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะมีความสุขโดยไม่ต้องมีอะไรเลย ไม่ต้องแข่งกับใคร เพราะพอมีพอกินพอใช้อยู่แล้ว
ถ้าไม่โลภก็ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่ต้องมีเรื่องมีราวมีปัญหากับใคร จะมีแต่ความสุขความสบายตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม จะหักห้ามจิตใจได้ เวลาสูญเสียอะไรไป ก็หักห้ามความเศร้าโศกเสียใจได้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดความทุกข์ทรมานใจ ก็ดับความทุกข์ทรมานใจได้ ด้วยการสวดมนต์ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆนี่แหละ ดีกว่ายาอะไรทั้งสิ้นในโลกนี้ ยาที่วิเศษที่สุดก็คือธรรมโอสถ คือการภาวนา ทำจิตใจให้สงบ ด้วยการสวดมนต์ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ด้วยการปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา ยอมรับว่าร่างกายนี้เกิดมาแล้ว ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้ารับความจริงนี้ได้ เวลาเกิดความแก่ความเจ็บความตาย เกิดการพลัดพรากจากกัน จะรู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวายใจ เพราะใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ที่เป็นเหมือนเก้าอี้ตัวหนึ่ง เมื่อมันเก่ามันพังไป ใจก็ไม่ได้เก่าไม่ได้พังไปกับเก้าอี้แต่อย่างใด จะไปหาเก้าอี้ตัวใหม่ก็ได้ หรือไม่หาอีกเลยก็ได้ ถ้าไม่นั่งเก้าอี้ นั่งกับพื้นก็ได้ ใจก็เป็นอย่างนั้น เวลาร่างกายแก่เจ็บตายไป ใจก็ไม่ได้แก่เจ็บตายตามร่างกายไป ก็ปล่อยให้ตายไป ให้หมดไป ใจก็ยังอยู่ได้ ถ้าไม่อยากจะได้ร่างกายใหม่ ก็ไม่ต้องมีก็ได้ เช่น พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านไม่ต้องการร่างกายใหม่อีกแล้ว เพราะมีทีไรก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน มีร่างกายก็เท่ากับมีความทุกข์ ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ ก็อย่าไปมีร่างกายดีกว่า เพราะจิตมีความสุขอยู่แล้ว อยู่กับความสงบนั่นแหละ เป็นความสุขที่เลิศที่ประเสริฐที่สุด ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้มาเป็นสมบัติ จะเป็นสมบัติของพวกเราเช่นเดียวกัน ถ้าดำเนินตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีการภาวนา ทำจิตใจให้สงบ ด้วยการสวดมนต์ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ด้วยการปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าทำได้แล้ว รับรองได้ว่าจะอยู่เหนือความทุกข์ทั้งหลาย จะมีแต่ความสุขไปตลอดอนันตกาล การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้