กัณฑ์ที่ ๓๓๖       ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐

 

ประเด็นสำคัญของชีวิต

 

 

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระโมคคัลลานะไม่ให้ชูงวง ไม่ให้ทำตัวกร่าง ว่าตัวเองใหญ่โต จะต้องปฏิบัติกับตนอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติก็จะเสียใจ จึงควรทำตัวให้ต่ำที่สุด เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดเท้า ใครจะเหยียบ ใครจะเอาไปเช็ดเท้า เอาไปเช็ดอะไร ก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าคิดว่าเป็นผ้าขาวผ้าสะอาด เวลาใครเอาไปเช็ดอะไรเปื้อนหน่อย ก็จะเกิดโทสะ ใจของเราจะมีความสุขมีความสบายถ้าไม่ถือตัว ไม่มีมานะ เพราะการถือตัวเป็นโมหะ เป็นอวิชชา เป็นความหลง เป็นเหตุทำให้ทุกข์ใจ ทำให้ใจต้องทะเยอทะยาน ดิ้นรนอยู่เรื่อยๆ อยู่เฉยๆไม่ได้ เรื่องของใจเป็นเรื่องแปลก ถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะไม่รู้ จะปฏิบัติไม่ถูก จะปฏิบัติสวนกับความจริงของใจ เพราะมีตัวคอยจูงให้ไปในทางที่ผิด ก็คือโมหะอวิชชานี่เอง ที่ทำให้ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ใจทุกข์ มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่รู้ จึงนำเอามาสั่งสอนผู้อื่นต่อ สิ่งที่ทรงตรัสรู้ก็คือพระอริยสัจ ๔ ทรงเห็นว่าความทุกข์เกิดจากสมุทัย คือตัณหาความอยาก ๓ ประการคือ ๑. กามตัณหาความอยากในกาม ๒. ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น  ๓. วิภวตัณหาความอยากไม่มีอยากไม่เป็น คือใจนี้จะหิวกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้นั่งหลับตาเฉยๆจะรู้สึกอึดอัด นั่งไม่ได้นาน ถ้านั่งดูหนัง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็นั่งดูได้ ไม่อึดอัด เวลานั่งอยู่ในรถ ถ้ารถวิ่งก็จะไม่รู้สึกอึดอัด ถ้ารถจอดนิ่งก็จะรู้สึกอึดอัด ต้องลงไปเดิน ไปทำอะไร เพราะกามตัณหาความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทำให้อยากสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่แปลกๆใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ถ้าเป็นของเก่าก็จะเบื่อหน่าย คนถึงเปลี่ยนคู่กันอยู่เรื่อย เวลาเจอคนใหม่ๆก็รู้สึกว่าดีไปหมด น่าชื่นชมน่ารักน่ายินดี พออยู่ด้วยกันไปจนจำเจชินชาก็เบื่อหน่าย ก็อยากจะหาใหม่ ทำให้ใจต้องดิ้นรนกวัดแกว่ง ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ

 

ใจจะสุขได้ใจต้องสงบ ระงับดับตัณหาความอยากในใจ แต่เราไม่รู้กัน กลับคิดว่ายิ่งอยากยิ่งมีความสุข พออยากดูภาพยนตร์ก็ได้ออกไปดู ตอนออกจากบ้านก็เหมือนไก่บิน ดีใจได้ไปดูหนัง พอกลับมาบ้านก็เหมือนห่ากิน  เป็นธรรมชาติของกิเลส จะหลอกล่อใจอยู่เรื่อยๆ เมื่อใจไปยินดีกับกิเลสก็เลยทุกข์ ถ้าไม่ยินดีกับกิเลสก็จะเฉยๆ จะสงบนิ่ง มีความสุข นี่คือประเด็นสำคัญของชีวิตเรา อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงพระอริยสัจ ๔ อยู่ตรงที่มีสมุทัยหรือไม่มีสมุทัย ถ้าสมุทัยดับนิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา ความทุกข์ก็ดับไป การจะตัดสมุทัยให้หมดไปได้ ก็ต้องใช้เครื่องมือ ก็คือมรรค มรรคที่มีองค์ ๘ มัชฌิมาปฏิปทา ย่อเข้ามาก็คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ปฏิบัติ ถ้าเป็นฆราวาสญาติโยมก็ทานศีลภาวนา ในภาวนาก็มีทั้งสมาธิและปัญญา ถ้าเป็นบรรพชิตเป็นนักบวชก็ศีลสมาธิปัญญา เพราะทานก็ได้ทำไปหมดแล้ว สละหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ ถ้าได้บรรลุแล้วมาเกี่ยวข้องกับทางโลก มีผู้ถวายข้าวของเงินทอง ก็เอาไปทำทานต่อ แต่ไม่ได้ทำทานแบบฆราวาสญาติโยมทำกัน ที่ทำเพื่อกำจัดกิเลส ความโลภความตระหนี่ความหวงแหน สำหรับจิตที่บริสุทธิ์แล้วจะไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ จะทำไปด้วยปัญญาด้วยเหตุผล เมื่อมีเงินจะเก็บไว้ทำไม เอาไปสงเคราะห์โลกจะดีกว่า แต่ไม่ได้อะไรจากการสงเคราะห์โลก เมื่อยังมีชีวิตอยู่ มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ทำไป ถ้าไม่มีข้าวของเงินทองแจก ก็แจกทรัพย์ภายในคือธรรมะ ที่จะทำให้ผู้ที่ยังไม่ฉลาดได้ฉลาดขึ้น ได้หลุดพ้นจากบ่วงของมาร บ่วงของอวิชชาโมหะ ที่ผูกมัดจิตของปุถุชนทั้งหลาย ให้เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ให้มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ก็แจกเป็นธรรมทานไป แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากการให้ทานนี้ เพราะมีประโยชน์อยู่เต็มหัวใจแล้ว

 

ถ้าเป็นน้ำก็เต็มแก้วแล้ว จะเติมเข้าไปอีกก็ไม่ได้มีมากขึ้น ต้องไหลล้นออกมา แต่ทำด้วยความเมตตากรุณา หนึ่งในพระพุทธคุณก็คือพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อสัตว์โลก ทรงสละเวลา ๔๕ พรรษาที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงทำภารกิจของพระศาสดาซึ่งมีอยู่ ๕ ประการด้วยกันที่เรียกว่าพุทธกิจ ๕ ที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกวันคือ ๑. ตอนบ่ายอบรมสั่งสอนฆราวาสญาติโยม ๒. ตอนค่ำอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ๓. ตอนดึกตอบปัญหาและอบรมสั่งสอนเทวดา ๔. ตอนก่อนสว่างทรงเล็งญาณดูว่าจะไปโปรดผู้ใดดี ผู้ที่มีความพร้อมที่จะรับพระธรรมได้อย่างรวดเร็ว ก็จะมุ่งไปโปรดคนนั้น ๕. พอสว่างก็ทรงออกบิณฑบาต เป็นภารกิจประจำของพระพุทธเจ้า เรื่องบิณฑบาตทรงถือเป็นภารกิจที่สำคัญพอๆกับการอบรมสั่งสอนเลย เป็นภารกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำ แม้แต่พระบวชใหม่ก็ทรงสอนให้บิณฑบาต ให้บิณฑบาตไปตลอดชีวิต เป็นสามีจิกรรม เป็นกิจที่เหมาะกับนักบวช ในธุดงควัตรก็ทรงสอนให้บิณฑบาตเช่นเดียวกัน แต่พระภิกษุสามเณรที่บวชกันสมัยนี้ ไม่ทราบว่าได้ยินได้ฟังกันบ้างหรือเปล่า รู้สึกว่าเรื่องบิณฑบาตจะไม่ค่อยสนใจกันสักเท่าไหร่ จะสนใจเรื่องกิจนิมนต์กันมากกว่า ถ้านิมนต์ไปฉันที่บ้านจะแย่งกันขึ้นรถแทบไม่ทัน ถ้าไปบิณฑบาตจะไม่ค่อยไปกัน อาจจะเป็นเพราะว่า ๑. ชอบนอนดึกตื่นสาย บิณฑบาตต้องตื่นแต่เช้า  ๒. ลำบาก ฝนฟ้าตกก็ต้องไป ต้องแบกบาตรที่หนัก ไม่เหมือนกับการไปกิจนิมนต์ นอนตื่นสายๆก็ได้ มีรถเก๋งมารับไปถึงบ้าน อาหารก็ถูกจัดใส่ภาชนะต่างๆไว้อย่างสวยงาม เพียงแต่ไปนั่งสวดหน่อยเท่านั้นเอง แล้วยังมีของแถมติดย่ามกลับวัดอีก

 

ถ้ามองในทางโลก ในทางกิเลสมันก็ดี แต่ถ้ามองในทางขัดเกลากิเลสมันก็ไม่ดี เพราะกิเลสไม่เบาบางลงไป มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ใจก็จะรุ่มร้อน ได้เงินทองมาก็อยากจะซื้อสิ่งนั้นซื้อสิ่งนี้ ไปเดินชอปปิ้งแถวพันธ์ทิพย์ฯกันเต็มไปหมด อ้างว่าไปซื้ออุปกรณ์การเรียนการเผยแผ่ธรรม ความจริงบวชแล้วน่าจะเข้าป่าเข้าเขาจะดีกว่า เรียนกับครูบาอาจารย์ตามวัดป่าวัดเขาเลย ไม่ต้องเรียนเอาประกาศนียบัตรเหมือนสมัยนี้ สมัยพุทธกาล ก็ไม่มีประกาศนียบัตร บวชแล้วก็อยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้าหรือสำนักของครูบาอาจารย์ ทุกค่ำก็ได้ยินได้ฟังเทศน์อบรมสั่งสอนอยู่เป็นประจำ เมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรก็ปลีกวิเวกไป ในเบื้องต้นถ้าจิตใจยังไม่แข็งแรงพอก็อยู่ในสำนักไปก่อน ฝึกให้มีความแข็งแรงกล้าหาญ เพราะการจะกำจัดกิเลสคือความกลัวได้ จะต้องไปอยู่ที่กลัวๆ เพื่อให้เกิดความกลัวขึ้นมา จะได้หาวิธีต่อสู้กำจัดความกลัวให้หมดไป ถ้าอยู่ในที่ปลอดภัยความกลัวก็ยังหลบซ่อนอยู่ ก็อาจจะคิดว่าไม่กลัวแล้ว แต่พอไปอยู่ที่กลัวๆจริงๆก็จะผุดขึ้นมาโผล่ขึ้นมา ก็จะไม่มีทางที่จะต่อสู้กับมันได้ เพราะไม่ได้ฝึกไว้ก่อน เป็นเพียงจินตนาการของใจว่าไม่กลัวแล้ว จะกลัวหรือไม่กลัวจริงๆก็ต้องไปเจอของจริงเสียก่อน เหมือนกับทหารที่ฝึกซ้อมรบกันอยู่เป็นประจำ ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาออกรบจริงๆจะกลัวหรือไม่ จะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้หรือไม่ จนกว่าได้ออกสนามจริง

 

หน้าที่หลักของพระพุทธเจ้าก็คืออบรมสั่งสอนสัตว์โลก ไม่มีอะไรที่ทรงต้องทำอีกแล้ว ทรงบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว กิจในพรหมจรรย์ก็เสร็จหมดแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาอีกต่อไป จะเดินจงกรมนั่งสมาธิอีกมากน้อยเพียงไร ก็ไม่ได้ไปทำให้จิตสะอาดขึ้นไปกว่านั้นบริสุทธิ์ขึ้นไปกว่านั้น ทำไปเพื่อความสบายระหว่างธาตุขันธ์กับจิตเท่านั้น ที่ยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ขันธ์ยังมีการทำงานอยู่ ร่างกายยังทำงานอยู่ ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย มีแต่นอนอย่างเดียวก็จะปวดเมื่อย ก็ต้องลุกขึ้นมานั่งบ้าง ลุกขึ้นมาเดินบ้าง ถ้าเอาร่างกายมาใช้งาน เอามาเทศนาว่ากล่าวสั่งสอน ก็เหนื่อยได้ ก็ต้องมีเวลาพักจิตพักกายสงบจิต หรือเดินจงกรมเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลาย แต่ไม่ได้ทำเพื่อชำระกิเลสเพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องชำระ ทำเพื่อดูแลธาตุขันธ์เท่านั้นเอง ให้อยู่ใช้งานไปได้นานๆ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น หัวใจของพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่พระอริยสัจ ๔ ให้เข้าใจธรรมชาติของใจ ว่าอะไรทำให้ใจมีความสุข อะไรทำให้ใจมีความทุกข์ ถ้าเข้าถึงพระอริยสัจ ๔ และสามารถปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔ ได้ ก็จะไม่ทุกข์กับอะไรอีกต่อไป จะละความอยากต่างๆได้หมด เช่นกามตัณหาความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เราต้องละอย่าไปยินดี อย่าไปอยากดูอยากฟังอะไรทั้งนั้น นั่งหลับหูหลับตาดีกว่า ทำจิตให้สงบไม่ให้ไปคิดเรื่องอะไร ถ้าจิตรวมลงเป็นหนึ่งได้เมื่อไหร่ ก็จะเห็นความมหัศจรรย์ของความสงบ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ไม่มีความสุขอื่นใดในโลกนี้ ที่จะเสมอเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ ถ้าได้สัมผัสความสงบแบบนี้เพียงครั้งเดียวแล้ว  ก็จะปล่อยได้หมดเรื่องความสุขทางโลก ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย จะมุ่งไปที่สงบสงัดวิเวกตามป่าตามเขา ทุ่มเทชีวิตจิตใจกับการบำเพ็ญ ทำจิตให้สงบมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับความสงบ เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง แต่มีอานุภาพมาก เหมือนกับได้ดูโฆษณาสินค้าที่ประทับใจมาก จะไม่อยากทำอย่างอื่น ถ้ามีภาระอะไรก็จะเคลียร์ให้หมด จะได้มีเวลาบำเพ็ญปฏิบัติธรรมอย่างเดียว คือการทำจิตให้สงบ ซึ่งเป็นงานขั้นแรก เพราะจิตที่สงบด้วยสมาธิยังไม่ได้กำจัด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่เพียงแต่สงบตัวลงตามความสงบของจิต พอจิตออกจากความสงบก็จะคิดปรุง ความอยากต่างๆก็จะแทรกเข้ามาอีก ถึงตอนนั้นก็ต้องปฏิบัติธรรมอีกขั้นหนึ่ง ที่เรียกว่าปัญญาหรือวิปัสสนา เวลาอยากได้อะไรอยากทำอะไร ต้องสอนใจว่ามันไม่ได้ให้ความสุข ให้ก็เพียงนิดเดียวในขณะที่ได้มา แต่จะให้ความทุกข์มากกว่า ทุกข์ที่เกิดจากการดูแลรักษา เป็นห่วงเป็นใยเป็นกังวล ทุกข์ที่เกิดจากการเสียอกเสียใจ เมื่อต้องพลัดพรากจากกันไป ถ้าไม่มีก็จะไม่ทุกข์ อยู่คนเดียวไม่มีสามีไม่มีภรรยา ก็ไม่ต้องทุกข์กับสามีทุกข์กับภรรยา ไม่ต้องทุกข์กับลูกกับหลาน ยาวเป็นลูกโซ่ไปเลย เลี้ยงลูกแล้วก็ต้องเลี้ยงหลานต่ออีก ถ้ามีความผูกพันก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้น ถ้าไม่มีความผูกพันก็จะไม่ทุกข์ ไม่อยากได้ ถ้ามาก็รับเอาไว้ ถ้ายังเอาไปทำประโยชน์ไม่ได้ก็ปล่อยไว้อย่างนั้นไปก่อน ถ้ามีอย่างนี้ก็จะไม่ทุกข์ ถ้ามีใครเอาข้าวของอาหารมาถวาย ก็รับประทานไปฉันไป แต่ไม่ได้อยากรับประทานแต่อย่างใด รับประทานไปตามเวลา ตอนเช้าไปบิณฑบาตก็ไม่ได้คิดฝันว่า วันนี้จะได้อาหารอย่างนั้นอย่างนี้มา ได้อะไรมาพอถึงเวลารับประทานก็รับประทานไป เสร็จแล้วก็ผ่านไป ไม่มีอะไรหลงเหลือติดอยู่ในใจ แต่ถ้ารับประทานด้วยความอยาก ก่อนจะรับประทานก็คิดอยากไปก่อนแล้ว อยากจะรับประทานอาหารอย่างนั้นเหลือเกิน ก็ต้องไปหามารับประทาน รับประทานเสร็จแล้วก็ยังคิดถึงอาหารนั้นอยู่ พอหิวก็อยากจะรับประทานอีก ถ้าไม่ได้รับประทานก็จะรู้สึกทรมานในจิตใจ

 

เราจึงควรศึกษาพระอริยสัจ ๔ ให้ดี จะได้รู้จักวิธีดูแลรักษาใจ ถ้าใจมีความสุข ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นปัญหากับใจ โลกจะเจริญหรือเสื่อมก็จะไม่กระทบกระเทือนใจ ถ้าใจไม่มีความสุข ต่อให้สิ่งอื่นๆมีความเจริญ ใจก็ไม่ได้เจริญ ไม่ได้มีความสุขตามไปด้วย ให้ดูที่ใจเป็นหลัก เพราะใจเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์ ต้องรู้ว่าอะไรเป็นตัวสร้างความสุขสร้างความทุกข์ให้กับใจ สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ก็ต้องกำจัด สิ่งที่ทำให้เกิดความสุขก็ต้องเสริมสร้างขึ้นมา สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ก็คือตัณหาทั้ง ๓ ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ส่วนที่สร้างความสุขให้กับใจก็คือมรรค ๘ เพราะจะเป็นผู้ทำลายความอยากทั้ง ๓  เมื่อไม่มีความอยากทั้ง ๓ แล้ว ทุกข์ก็ไม่มี จิตก็สงบ มีแต่ความสุข แต่ไม่ได้เป็นสุขเวทนา ที่เกิดจากการได้เห็นได้ยินสิ่งที่ชอบที่ยินดี เป็นความสุขที่เกิดจากการไม่คิดไม่ปรุงแต่ง สงบนิ่งเป็นเหมือนน้ำนิ่งใส เป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของเวทนา เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต สุขเวทนาเกิดจากการได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ ที่ชอบอกชอบใจ ก็ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา ทุกขเวทนาก็เช่นเดียวกัน เกิดจากการสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ที่ไม่ชอบใจ แต่นี่เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบของจิต เกิดจากการบำเพ็ญมรรค ๘ ทานศีลภาวนา

 

ก่อนที่จะทำจิตให้สงบได้ ก็ต้องมีศีลเป็นเครื่องสนับสนุน เพราะถ้ายังไม่มีศีล ยังทำบาปทำกรรมอยู่ ใจก็จะวุ่นวาย เวลานั่งทำสมาธิก็จะทำไม่ได้ ถ้าไปนั่งตามที่เปลี่ยวๆ ก็จะมีความหวาดระแวง จะทำไม่ได้เลย นั่งหลับตาก็กลัวคนนั้นคนนี้มาตามล้างผลาญมาตามฆ่า ถ้าไม่ได้ทำผิดศีล ใจจะไม่วุ่นวาย เวลาทำสมาธิก็จะทำได้ง่าย การที่จะมีศีลได้ก็ต้องอาศัยทานเป็นเครื่องสนับสนุน เพราะคนที่ไม่ให้ทานเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ อยากจะเอาอย่างเดียว เมื่ออยากได้อะไร ก็จะพยายามหามาทุกวิถีทาง จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ถ้าต้องไปฉ้อโกง ไปขโมย ไปโกหกหลอกลวง ก็จะทำ หรือไปฆ่าผู้อื่นก็จะทำ เมื่อทำไปแล้วก็จะมีความวุ่นวายใจ มีความวิตกกังวล ถ้าชอบทำบุญให้ทานก็จะไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น เพราะมีความเมตตากรุณา เห็นผู้อื่นลำบากลำบน ก็อยากจะแบ่งความสุขความสบายให้กับเขา เวลาที่อยากได้อะไร ก็จะไม่ทำด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง จะไม่ไปทำบาปทำกรรม เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ก็จะมีศีลขึ้นมาโดยปริยาย เป็นอานิสงส์ที่ตามมาจากการทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ ที่ไม่ได้ทำด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่ออยากจะได้ผลตอบแทน ไม่ได้ทำเพื่อจะได้มีหน้ามีตา ให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นคนใจกว้าง ทำบุญมาก อย่างนี้ก็ยังเป็นความโลภอยู่ ไม่ได้ทำด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เวลาทำบุญให้ทานก็ต้องสังเกตดูว่าทำด้วยความถูกต้องหรือไม่ ต้องไม่ต้องการอะไรจากใครทั้งนั้นเวลาทำบุญให้ทาน ยิ่งไม่ต้องการมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับความสุขใจความอิ่มใจมาก ถ้าต้องการผลตอบแทนแล้วไม่ได้ก็จะห่อเหี่ยวใจ ไม่มีกำลังใจที่จะทำอีก ก็เลยไม่ได้ทำ เพราะทำไม่ถูก จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากการให้ทาน ใจยังหิวยังอยากอยู่

 

เมื่อให้ทานแล้วไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็จะไปทำอย่างอื่นแทน ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่อยากได้ อยากจะมีหน้ามีตา เมื่อทำบุญให้ทานแล้วไม่ได้มีหน้ามีตา ก็ไปสมัครเป็นส.ส. ก็ต้องไปซื้อเสียง เพื่อจะได้มีหน้ามีตา ก็จะไปในทางที่ผิด ไปตามภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น การทำทานจึงเป็นการลดละตัณหาไปในตัว แต่ยังละไม่ได้ทั้งหมด เป็นการตัดกิ่งก้านของความอยาก ถ้าจะตัดให้หมดก็ต้องถอนรากถอนโคน ต้องปฏิบัติในขั้นวิปัสสนาในขั้นปัญญา ให้เห็นว่าความอยากเป็นทุกข์เป็นโทษ สิ่งที่ได้มาก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับจิตใจ มีแต่ภาระทางจิตใจ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะตัดได้ แต่ต้องมีความสุขที่เกิดจากความสงบอยู่ก่อนแล้ว จะไม่หิวกับอะไร ถ้ากิเลสตัณหายังไม่ได้ถูกทำลายไปหมด มันก็ยังหลอกจิตได้ ในขณะที่ไม่ได้อยู่ในความสงบมันก็จะหลอกให้หิวให้อยาก เมื่อเกิดความหิวความต้องการ ก็ต้องสอนใจว่าไม่มีอะไรดีกว่าความสงบ สิ่งที่อยากได้เป็นความทุกข์เป็นภาระ เป็นเรื่องเป็นปัญหา เมื่อสอนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้นมาก็จะถูกระงับดับไปเรื่อยๆ จนไม่มีความอยากโผล่ขึ้นมาปรากฏขึ้นมาให้เห็นอีก ก็จะไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจ จะอยู่อย่างสุขสบายไปตลอดอนันตกาล ไม่มีความหิว ความต้องการ ความอยาก มีแต่ความอิ่ม ความสุข ความพออยู่ตลอดเวลา

 

จึงควรมองที่ใจเป็นหลัก เพราะเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์ที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่อื่น สิ่งอื่นๆได้แต่ดูแลร่างกายของเราเท่านั้น ร่างกายต้องมีปัจจัยไว้ดูแล แต่ต่างกับปัจจัยที่ดูแลใจ อย่าไปหลงคิดว่ามีปัจจัยดูแลร่างกายมากๆแล้ว จะทำให้ใจมีความสุขตามไปด้วย มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต่อให้สร้างพระราชวังขึ้นมา ใจก็ยังร้อนเป็นไฟได้ ถ้ายังมีตัณหาทั้ง ๓ อยู่ ถ้าอยากจะสร้างเรือนใจ สร้างวังของใจขึ้นมา ก็ต้องสร้างด้วยทานศีลภาวนา ถ้าได้สร้างปัจจัย ๔ ของร่างกายไว้พอเพียงแล้ว ก็ให้เอาเวลาที่มีอยู่มาสร้างปัจจัย ๔ ให้กับใจ ด้วยการบำเพ็ญด้วยการเจริญมรรค เจริญสัมมาทิฐิความเห็นชอบ เจริญสัมมาสังกัปโปความดำริชอบ ด้วยการฟังธรรม ที่ออกมาจากความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ เป็นการถ่ายทอดจากใจสู่ใจ จากใจของพระพุทธเจ้า ผ่านใจของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มาสู่ใจของพวกเราอีกต่อหนึ่ง ถ้ารับไว้เรื่อยๆ ต่อไปใจก็จะมีความเห็นที่ถูกต้อง ที่จะพาไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง สู่การทำทาน เช่นวันนี้เราก็มาทำบุญทำทานกัน เอาข้าวเอาของมาถวาย สู่การรักษาศีล  ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘  สู่การบำเพ็ญสมาธิและปัญญาตามลำดับ พอออกจากสมาธิ ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องคิดเรื่องภาระกิจการงาน ก็ให้มาคิดทางด้านธรรมะ คิดเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อจะได้กำจัดความอยากต่างๆ พอเห็นว่าสิ่งที่อยากได้ไม่เที่ยง เวลาจากไปก็ต้องเสียอกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็จะไม่อยากได้อะไร เพราะเป็นความทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่กับเราไปตลอด พิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้วก็จะเกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฐิที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ เกิดความเห็นที่ถูกต้อง จนมีอยู่ทุกขณะจิต ถึงจะเกิดประโยชน์ ถ้าไม่อยู่คู่กับใจ เวลาตัณหาโผล่ออกมา ก็จะสู้ไม่ได้ ดีไปหมด ไอ้นั้นก็ดีไอ้นี่ก็ดี ถ้ามีไตรลักษณ์อยู่กับใจอยู่ตลอดเวลา ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาทั้งนั้น

 

ใครจะยกลูกสาวให้ ก็จะเห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ให้เป็นนายกฯก็เหมือนกัน ปวดหัวจะตายไป มีแต่เรื่องวุ่นวาย แต่มองไม่เห็นกัน เหมือนถูกสะกดจิต พอมีอะไรที่ถูกใจมาล่อก็จะเห็นดีไปหมดเลย พ่อแม่อุตส่าห์อบรมสั่งสอนไว้แทบเป็นแทบตาย พอมีหนุ่มมีสาวมาจีบหน่อยก็หนีตามกันไปเลย แล้วก็มาน้ำตาตกทีหลัง พอความสุขหมดไปเหลือแต่ความทุกข์ จะมีลูกแล้วสิ จะทำอย่างไร เงินก็ไม่มี ตัวเองยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ แล้วยังต้องมาเลี้ยงเมียเลี้ยงลูกอีก ความทุกข์ก็ตามมา เพราะไม่มีวิปัสสนา ไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่มีปัญญาอยู่คู่ใจ ถ้าเป็นทหารก็ไม่มีอาวุธอยู่ติดกาย ทหารเวลาออกรบต้องมีอาวุธติดตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องกอดปืนนอนเลย เพราะไม่รู้ว่าศัตรูจะบุกมาเมื่อไหร่ ถ้าเอาปืนไปเก็บไว้ในตู้ พอข้าศึกบุกเข้ามาจะไม่มีเวลาไปหาปืน ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ก็เป็นเหมือนอาวุธที่พระพุทธเจ้ามอบให้เราไว้ ถ้ารับมาแล้วเอาไปวางไว้ พอออกจากที่นี่ไปก็ไม่นึกถึงธรรมเลย คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้กัน จะไปเที่ยวที่ไหนดี จะไปทำอะไรดี พอกิเลสโผล่ออกมาก็ทำตามมันเลย ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในกองทุกข์อยู่เรื่อยๆ หลังจากที่ได้ฟังแล้ว ต้องเอาไปเจริญต่อ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ต้องเจริญมรณานุสติทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเกิดประโยชน์ ถึงจะดับตัณหาได้ มรณานุสติก็คืออนิจจังนั่นเอง จะอยากไปทำไม เดี๋ยวก็ตายแล้ว ได้เป็นนายกฯเพียง ๒ ชั่วโมงก็อาจจะตายก็ได้ ไปเที่ยวก็อาจจะไปประสบอุบัติเหตุก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะไม่อยากไป แต่เวลาไปเที่ยวจะไม่กลัวเรื่องอุบัติเหตุเลย เวลาจะทำความดีกลับกลัวไปหมด

 

ถาม  ท่านพระอาจารย์พูดถึงภารกิจของพระพุทธเจ้าว่า ตอนดึกจะแสดงธรรมกับเทพเทวดา แม้ท่านปรินิพพานไปแล้ว ท่านยังคงทำหน้าที่นี้อยู่เหมือนเดิมใช่ไหมครับ ในการสั่งสอนเทพเทวดา

 

ตอบ  ท่านไม่สอนแล้ว ถ้าท่านนิพพานไปแล้วท่านก็ผ่านไปแล้ว ทรงสอนได้แต่เฉพาะเวลาที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ยกเว้นกรณีของผู้ปฏิบัติที่เข้าสมาธิแล้วมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่มีกระแสจิต ที่สามารถติดต่อกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ได้ เช่นหลวงปู่มั่นเป็นต้น ในประวัติท่านพระอาจารย์มั่นได้เขียนไว้ว่า มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มาแสดงธรรม มาสนทนาธรรมกับท่านอยู่เป็นประจำ แต่นี่ก็เป็นกรณีพิเศษ เฉพาะบุคคลที่ติดต่อกับจิตของผู้อื่นได้ ถ้าไม่มีความสามารถทางด้านนี้ก็จะติดต่อไม่ได้ ก็เหมือนกับคนที่มีโทรศัพท์มือถือกับคนที่ไม่มี คนที่มีก็สามารถติดต่อกับผู้ที่มีได้ ถึงแม้จะอยู่ต่างประเทศก็ยังติดต่อกันได้ แต่เรื่องนี้ไม่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก คนที่ศึกษาพระไตรปิฎกจนเป็นหนอน ก็จะค้านหัวชนฝา หาว่าหลวงปู่มั่นอุตริ อย่างที่ปรากฏอยู่ในท้ายหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ของม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ที่วิจารณ์หลวงปู่มั่น ว่าเป็นหลวงตาเพ้อเจ้อหรือเปล่า พูดในสิ่งที่ไม่มีในพระไตรปิฎก ม.ร.ว.คึกฤทธ์ถือว่าตนเป็นเอกในด้านพระไตรปิฎก ยืนยันว่าสิ่งที่หลวงปู่มั่นพูด ไม่มีในพระไตรปิฎก หลวงตาท่านก็ตอบไปว่า ความรู้ในพระไตรปิฎกเป็นเหมือนน้ำในตุ่มในไห แต่ความรู้ที่ปรากฏขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติเป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร กว้างใหญ่ไพศาลมาก ความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ไม่ได้บรรจุไว้ในพระไตรปิฎก เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร เหมือนใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า ทรงถามภิกษุว่าส่วนไหนจะมากกว่ากัน พระภิกษุก็ตอบว่าใบไม้ในกำมือมีไม่กี่ใบ นับได้เลย แต่ใบไม้ในป่านับไม่ถ้วน พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ความรู้ที่ตถาคตรู้อยู่ในใจเหมือนกับใบไม้ในป่า แต่ความรู้ที่ตถาคตสอนพวกเธอเป็นเหมือนใบไม้ในกำมือ สอนเท่าที่จำเป็น เพื่อให้พวกเธอเอาไปปฏิบัติ แล้วจะได้เห็นความรู้ที่ตถาคตไม่ได้เอามาสอน ถ้าพวกเธอเพียงแต่ศึกษาพระไตรปิฎก ก็จงอย่าไปอุตริว่ารู้มาก จะกลายเป็นใบลานเปล่าไป ต้องไปปฏิบัติก่อน แล้วความรู้ต่างๆที่ปรากฏขึ้นมาในจิตจะมีมากมายก่ายกอง แล้วจะไม่ปฏิเสธความรู้ที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก

 

ถาม  ขออนุญาตถามต่อเนื่อง คือภารกิจสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนสว่างนี้ ไม่ทราบปัจจุบันนี้มีใครทำหน้าที่นั้นอยู่หรือเปล่าครับ

 

ตอบ  ครูบาอาจารย์บางท่านก็คงทำอยู่ แต่คงไม่เหมือนพระพุทธเจ้า ในบรรดาผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ มีไม่ทุกองค์ที่มีความสามารถส่งกระแสจิตไปดูว่า ผู้ใดพร้อมที่จะรับธรรม เป็นคุณธรรมความสามารถพิเศษของพระพุทธเจ้า ที่ไม่เกี่ยวกับการบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ คืออิทธิฤทธิ์ต่างๆ เช่นการอ่านวาระจิตของผู้อื่นได้ ถ้าอ่านไม่ได้ ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่า จิตของผู้อื่นอยู่ในระดับใด สมควรได้รับการสั่งสอนหรือยัง พระพุทธเจ้านอกจากเป็นพระพุทธเจ้าและเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังมีอิทธิฤทธิ์ มีความรู้ความสามารถพิเศษ ที่ไม่จำเป็นต่อการตรัสรู้ต่อการบรรลุเป็นพระอรหันต์อีกด้วย จึงไม่ทรงเน้นทางด้านนี้ แต่ไม่ทรงปฏิเสธ เช่นคุณแม่ชีแก้ว ก็มีความรู้ความสามารถพิเศษตั้งแต่ยังไม่บรรลุ รู้เรื่องจิตวิญญาณของผู้อื่น เวลานั่งสมาธิจะมีวิญญาณของผู้ตายเข้าไปสนทนากับท่าน มีหมูป่าถูกพรานยิงตาย ก็เข้าไปในสมาธิ ไปเล่าเรื่องของตนว่าเพิ่งถูกพรานยิงตาย ถ้าพรานเอาเนื้อหมูป่ามาถวายคุณแม่ชีในวันรุ่งขึ้น ก็ขอให้รับไว้รับประทานด้วย เพื่อเขาจะได้รับอานิสงส์จากการถวายเนื้อของเขา จะได้ไปสู่สุคติ พอรุ่งเช้าก็เป็นอย่างที่เห็นในสมาธิ มีคนเอาเนื้อหมูป่ามาถวาย หรืออย่างในคืนที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ หลวงปู่ก็มาปรากฏในสมาธิ เพราะคืนนั้นได้ตั้งใจไว้ว่า ตอนเช้าจะไปกราบหลวงปู่มั่น เพราะไม่ได้ไปกราบท่านนานแล้ว จะไปทีไรก็ติดเรื่องนั้นติดเรื่องนี้ทุกที จนกะว่าพรุ่งนี้เช้าจะไป ได้เตรียมตัวไว้แล้ว พอตอนดึกหลวงปู่มั่นก็มาเข้าในสมาธิ บอกว่าไม่ต้องไปแล้ว เราตายแล้ว พอตื่นเช้าขึ้นมาก็นั่งร้องห่มร้องไห้ พวกแม่ชีก็ถามว่าร้องทำไม ก็ตอบว่าหลวงปู่มั่นเสียแล้ว แต่ยังไม่มีใครรู้ พอสายๆก็มีคนที่อำเภอมาแจ้งข่าว ว่าหลวงปู่มั่นเสียแล้ว

 

        แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ไม่ได้เกี่ยวกับมรรค ที่จะทำให้กิเลสตัณหาดับไปหมดไป ถ้าเริ่มปฏิบัติใหม่ๆแล้วไปรู้เรื่องเหล่านี้ ไปสนใจไปให้เวลากับมัน ก็จะไม่ได้ทำงานสำคัญ เป็นเหมือนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แทนที่จะเข้าห้องเรียน ก็ไปทำแต่กิจกรรมนอกห้องเรียน พอถึงเวลาสอบก็สอบไม่ผ่าน ก็จะต้องลาออกหรือถูกไล่ออก ตอนที่หลวงตาสอนคุณแม่แก้ว จึงห้ามไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนิมิตต่างๆที่ปรากฏในสมาธิ ให้ปิดเครื่องไว้ก่อน อย่าเพิ่งเปิดเครื่องรับ อย่ารับสายตอนนี้ ทำงานวิปัสสนาให้เสร็จก่อน พิจารณาอสุภ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ตัดความอยากให้หมดไปเสียก่อน แล้วค่อยไปรับรู้นิมิตต่างๆ ที่มีอยู่ในตัว จะไม่หายไปไหน เป็นคุณธรรมพิเศษ ก็ถึงกับขั้นที่จะต้องตัดลูกศิษย์กับอาจารย์กันถึงจะยอม ตอนต้นก็ยังดื้ออยู่ ภาวนาเห็นทีไรก็จะมาเล่า ว่าเห็นนั่นเห็นนี่ให้ท่านฟัง

 

ถาม  ถ้านิมิตที่ได้พบได้เห็นนี้ เราเอามาพิจารณาเป็นข้ออรรถข้อธรรม น้อมเข้าหาตัวเอง จะใช้ได้ไหมครับ จะถือว่าติดนิมิตหรือไม่ครับ

 

ตอบ  ถ้าน้อมเข้ามาได้ก็ดี เช่นเห็นเรานอนตาย เห็นคนไปงานศพเรา เห็นตัวเราอยู่ในโลง ถูกเผาในเมรุ เอามาระลึกอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ก็จะเป็นมรณานุสติ จะทำให้กล้าหาญ ไม่หวั่นไหวต่อการฌาปนกิจของร่างกาย เพราะใจไม่ได้ถูกเผาไปด้วย เพียงแต่หลงคิดว่าใจเป็นร่างกาย พอร่างกายต้องถูกเผาใจก็วุ่นวาย ทั้งๆที่ตัวที่จะถูกเผาไม่ได้วุ่นวายเลย แต่ตัวที่ไม่ถูกเผากลับวุ่นวาย เพราะไม่มีวิปัสสนา ไม่เห็นความจริง ว่าร่างกายจะต้องถูกเผาหรือฝังดินสักวันหนึ่ง ต้องตายแน่ๆ ให้พยายามนึกถึงภาพนี้อยู่เรื่อยๆ ให้ใจชินกับความตาย จะได้ไม่กลัว ไม่หวั่นไหว ตัดวิภวตัณหาได้ คือความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เมื่อรู้ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่มีทางที่จะฝืนได้ เหมือนกับว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เรายืมเขามา เดี๋ยวยมบาลก็จะมาขอเอาคืน ก็เอาไปซิ เหมือนรถบริษัท เวลาเขามาเอาคืนก็คืนเขาไป เพราะรู้ว่าไม่ใช่ของเรา ร่างกายก็ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ พอถึงเวลาธาตุก็มาเอาคืนไป ไม่เป็นอย่างอื่น จะพิจารณาหรือไม่พิจารณาก็ต้องคืนเขาไป ถ้าพิจารณาก็จะสบายใจ ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่พิจารณาก็จะกินไม่ได้นอนไม่หลับ แม้แต่ร่างกายของคนอื่น ของพ่อของแม่ก็วุ่นวายได้เหมือนกัน

 

ถาม  บางคนคิดว่าเป็นลางไม่ดีหรือเปล่าคะ

 

ตอบ  กิเลสของคนก็เป็นอย่างนี้แหละ จะคิดอย่างนี้ พวกเราโชคดีที่มีพระพุทธเจ้า มีครูบาอาจารย์สอน ถ้าไม่มีคนที่เราเคารพนับถือสอนก็จะไม่กล้าคิด เพราะทางโลกคิดว่าเป็นเรื่องอัปมงคล คิดเรื่องความตายไม่ได้เลย

 

ถาม  สังขารใน อนิจจา วต สังขารา...เตสัง วูปสโม สุโข เป็นความคิดปรุงใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ เป็นความคิดปรุง

 

ถาม  คนละอันกับสังขารร่างกาย ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ สังขารความคิดปรุง เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ที่เราต้องรู้ทันและปล่อยวางให้ได้ ไม่หลงเชื่อ สังขารจะดับไปพร้อมกับร่างกาย  ถ้ายังมีชีวิตอยู่สังขารก็ยังทำงานอยู่ แต่จะไม่สามารถหลอกจิตที่มีปัญญาได้ จิตจะรู้ทันสังขาร เช่นจะหลอกให้ไปเที่ยว ก็จะไม่ไป หลอกให้ไปยึดไปติดกับคนนั้นคนนี้ ว่าเป็นของเรา ก็จะไม่เชื่อ เพราะมีปัญญา ปัญญาก็เกิดจากสังขารเหมือนกัน ถ้าคิดไปในทางสมุทัยก็จะยึดติด จะอยากมีอยากเป็น ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ต้องรู้ทันความคิดแบบนี้ แล้วอย่าไปหลงตาม แต่ความคิดในทางธรรมะ คิดไปเท่าไหร่ก็ไม่เป็นโทษกับจิตใจ เพราะจะคิดปล่อยวาง คิดตามความจริง

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้น พระอรหันต์ก็ใช้สังขารที่ไม่มีกิเลสแล้ว

 

ตอบ  เวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ก็ต้องใช้สังขารสัญญาและวิญญาณ ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ จึงกลายเป็นเครื่องมือของธรรมไป แต่ขันธ์ ๕ ของปุถุชนยังเป็นเครื่องมือของกิเลสอยู่ กิเลสเอาขันธ์ ๕ มาใช้ ให้อยากมีอยากเป็น อยากเที่ยวอยากได้อะไรต่างๆ แล้วก็ต้องแบกความทุกข์ที่ตามมา พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า การไม่มีสังขารนี้ดีที่สุดเลย เช่นเวลาจิตรวมลงเป็นหนึ่ง จะไม่มีสังขารเลย เป็นเอกัคตารมณ์ ตอนนั้นขันธ์หยุดพักชั่วคราว เป็นเหมือนพระนิพพานชั่วคราว พระนิพพานจริงๆมีอยู่ ๒ แบบ คือ ๑. สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานในขณะที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ เช่นในวันเพ็ญเดือน ๖ ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญอยู่ใต้ต้นโพธิ์ จนบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ทรงบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว แต่ยังทรงครองขันธ์ ๕ อยู่  ๒. อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ตอนที่เสด็จดับขันธปรินิพพานในอายุ ๘๐ พรรษา ตอนนั้นร่างกายดับไป นามขันธ์ก็ดับตามไปหมด เหลือแต่จิตล้วนๆ ที่เป็นพระนิพพาน ตอนนั้นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณไม่ทำงาน ถ้าจิตรวมลงเป็นหนึ่งจะเข้าใจ แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง ช่วงนั้นจะว่างไปหมดเลย ท่านถึงเรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง แต่สมาธิจะเป็นสุญญังชั่วคราวไม่ถาวร เป็นในขณะที่รวมลง อย่างนิโรธสมาบัติ  ไม่มีการทำงานของขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 

ถาม  ระหว่างเข้านิโรธสมาบัตินี้ นามขันธ์ไม่ทำงานเลย

 

ตอบ  ไม่ทำเลย แต่อยู่ได้ไม่นาน ต้องออกมาสักวันหนึ่ง บางคนอยู่ได้เป็นเดือน เป็นอาทิตย์ เป็นวัน แต่ไม่ช้าก็เร็วจิตก็ต้องออกมา ขณะที่จิตอยู่ในนิโรธสมาบัติ ร่างกายก็แทบจะไม่ได้ทำงานเลย คือแทนที่จะหายใจทุกวินาที ก็จะหายใจนาทีละครั้งหนึ่ง เพื่อเอาลมเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่ไม่ต้องใช้ลมมาก เพราะร่างกายไม่ได้ทำอะไร 

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องเป็นพระสุปฏิปันโนหรือเปล่า

 

ตอบ  ไม่จำเป็นต้องเป็นอริยะ เพราะก่อนที่จะมีพระพุทธเจ้า ก็มีผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ เป็นเรื่องของสมาธิ แต่เรื่องวิมุตตินิพพานนี้ ต้องเจริญวิปัสสนา ต้องเข้าถึงไตรลักษณ์

 

ถาม  ถ้าอย่างนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวหรือเปล่า

 

ตอบ  ใช่ เคยฝึกมาจนเข้านิโรธสมาบัติได้ ถ้าไม่เคยฝึกมาก็จะเข้าไม่ได้ แต่การปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น ไม่จำเป็นต้องเข้านิโรธสมาบัติ ขั้นรูปฌาน ๔ ก็พอ ทำจิตให้สงบรวมลงเป็นหนึ่ง พอจิตถอนออกมาก็ให้เจริญวิปัสสนาต่อเลย เบื้องต้นให้พิจารณาร่างกาย เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ให้เห็นความจริงนี้ให้ได้ จะได้ปล่อยวางได้ ขั้นที่ ๒ ก็พิจารณาอสุภะ ความไม่สวยงามของร่างกาย เพื่อตัดราคะตัณหาความอยากในกาม เสร็จแล้วก็พิจารณานามขันธ์ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ให้รู้ทันแล้วปล่อยวาง เวลาเกิดเวทนาขึ้นมาก็รู้ว่าเป็นแค่เวทนา เป็นอนิจจัง เกิดแล้วเดี๋ยวก็ดับไปเอง เป็นอนัตตา ไปบังคับไม่ได้ อยากจะให้เป็นสุขเวทนาไปตลอดไม่ได้ ต้องสลับกันไป สุขบ้างทุกข์บ้าง เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นมา ร่างกายก็เป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสุขเวทนาทุกขเวทนาทางกายขึ้นมา สังขารความคิดปรุงก็เป็นเหตุปัจจัยอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสุขเวทนาทุกขเวทนาทางใจ เวทนาทางกายก็เกิดจากร่างกาย นั่งไปนานๆก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ ก็เป็นทุกขเวทนา ถ้าร้อนแล้วได้ไปอาบน้ำอาบท่าเย็นสบายก็เกิดสุขเวทนาทางกายขึ้นมา เวลาหิวก็เกิดทุกขเวทนาทางกาย เวลาได้รับประทานอาหารอิ่มก็เกิดสุขเวทนาทางกายขึ้นมา เวทนาทางใจก็เกิดจากความคิดปรุง คิดห่วงคนนั้นคนนี้ ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าคิดปลงได้ว่าช่างมันเถอะทุกอย่างต้องจบ เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่มีใครอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าคิดว่าจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา ก็เกิดความสุขขึ้นมาทางใจ จึงควรรู้จักคิด ถ้าควบคุมความคิดไม่ได้ ก็จะคิดเรื่องที่ไม่อยากจะคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ เรื่องที่ควรคิดกลับไม่คิด เพราะใจมีอำนาจเหนือเรา เราจึงควบคุมความคิดของเราไม่ได้ จึงต้องมาฝึกสมาธิกัน ให้คิดแต่พุทโธๆอย่างเดียว หรือสวดมนต์อย่างเดียว ทำไปเรื่อยๆต่อไปจะควบคุมความคิดได้ พอจะไปคิดเรื่องที่ทำให้เกิดความทุกข์ ก็พุทโธๆเข้าไป ความคิดนั้นก็จะหายไป ต่อไปจะหยุดความคิดโดยไม่ต้องใช้พุทโธๆเลย พอคิดไม่ดีก็หยุดได้เลย ถ้าฝึกจนชำนาญ ก็จะควบคุมจิตได้ จิตเป็นเหมือนกับรถยนต์ ขณะนี้มีแต่คันเร่ง เรารู้จักคันเร่งของใจ แต่ไม่รู้จักเบรกของใจว่าอยู่ตรงไหน เวลาจะเบรกใจจึงเบรกไม่ได้ เคยแต่เหยียบคันเร่ง การฝึกสมาธิจึงสำคัญมาก อย่าไปหลงตามคนที่สอนว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ ถ้าตามดูจิตก็จะได้แต่ดู แต่ทำอะไรจิตไม่ได้ เวลาโกรธเวลาโลภขึ้นมาก็หยุดไม่ได้ 

 

ถาม  ถ้าคิดอะไรไม่ดี พอเราเบรกแล้ว ตำหนิต่อ ก็เลยรู้สึกเครียดมาก

 

ตอบ  นั่นไม่ได้เป็นการเบรก เป็นการเหยียบคันเร่งโดยที่คิดว่าเป็นการเบรก ต้องเบรกด้วยเหตุผล เวลาคิดเรื่องไม่ดีก็ควรคิดว่า คิดแล้วทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่เกิดประโยชน์อะไร เช่นเวลาโกรธ ใครทุกข์ละ คนที่ถูกโกรธหรือคนที่กำลังโกรธ คนที่กำลังโกรธจะร้อนเป็นไฟ แต่คนที่ถูกโกรธไม่รู้เรื่องเลย นอนหลับสบาย โมโหสามีนอนไม่หลับทั้งคืน แต่สามีนอนหลับสบาย ต้องให้อภัยสามี จะได้นอนหลับ วิธีดับความโกรธก็คือการให้อภัย ไม่จองเวร ถ้ายังให้อภัยไม่ได้ ก็อย่าไปคิดเรื่องที่ทำให้โกรธ ให้คิดพุทโธๆไปเรื่อยๆจนหลับไป พอตื่นขึ้นมาก็จะลืม

 

ถาม  ถ้าเราวางมัน ก็ต้องทำให้เราเบา ไม่ใช่วางแล้วหนัก

 

ตอบ  ใช่  ถ้าวางแล้วหนัก ก็ไม่ได้วาง

 

ถาม  คือมีความรู้สึกว่า พอเราหยุดแล้ว เหมือนไปบังคับมันให้มันหยุด ถึงใช้เหตุผลก็ยังรู้สึกบังคับนะคะ แล้วก็จะเครียด

 

ตอบ  กิเลสยังต่อต้านเราอยู่ เบรกของเรายังไม่แรงพอ เป็นการชักคะเย่อกัน ยังมีแรงฝืนเราอยู่ ก็เลยเกิดความเครียดขึ้นมา ยังต่อสู้กันอยู่ พอเขายอมเขาหยุด ก็จะเบาจะโล่งขึ้นมา ในเบื้องต้นก็ต้องสู้กันก่อน เรายังไม่เชื่อมั่นในเหตุผล เมื่อเราไม่เชื่อ กิเลสก็จะไม่เชื่อตาม ถ้าเราเชื่อ กิเลสก็จะยอมแพ้เรา ท่านจึงสอนว่าการให้อภัยดีที่สุด ดีจริงๆด้วย แต่เราให้อภัยได้จริงๆหรือเปล่า ถ้าให้อภัยได้จริงๆก็ต้องสงบ ถ้ายังให้อภัยไม่ได้ แสดงว่ายังมีอะไรค้างคาอยู่ในใจ ก็ต้องฝืนทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอำนาจของธรรมหรือสติปัญญา จะสามารถกำจัดกิเลสได้เต็มที่ ถ้าทำได้แล้วจะรู้เอง ถ้ายังฝืนยังต่อสู้กันอยู่ ก็จะรู้สึกอย่างที่พูด ยังบังคับกันอยู่ เพราะยังไม่เห็นเหตุผลได้อย่างชัดเจน ว่าการระงับปัญหาด้วยการเลิกรากันไป ดีกว่าการต่อกรกัน จะดีกว่าการโต้ตอบกัน จะไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเขาทำอะไรเรา แล้วเราเฉยเสีย ปล่อยให้เขาทำให้พอ พอเขาเบื่อแล้วเขาก็หยุดไปเอง จะไม่กลับมาทำเราอีก เขาได้ระบายอารมณ์ของเขาเต็มที่แล้ว เขาอยากจะว่าอะไร ก็ปล่อยให้เขาว่าให้เต็มที่เลย พูดไปเลย นั่งฟังอย่างเดียว ไม่ตอบโต้ไม่เถียงเลย เป็นเหมือนต้นเสา ลองไปพูดกับต้นเสาดูสิ เดี๋ยวก็เหนื่อยไปเอง ถ้าเห็นความจริงแล้ว เราก็จะนิ่งเฉยได้ ให้อภัยได้ ต่างฝ่ายก็จะอยู่อย่างสุขสบาย เขาก็สบายที่ได้ระบาย เราก็สบายเพราะไม่มีใครมารบกวนเราอีก

 

        เช่นพระโมคคัลลานะที่มีฤทธิ์ มีคนตามฆ่าท่าน แต่ท่านไม่ใช้ฤทธิ์ป้องกันตัว ท่านให้เหตุผลว่าป้องกันวันนี้ พรุ่งนี้ก็มาใหม่ เพราะความอาฆาตพยาบาทยังไม่หมด จะหมดได้ต่อเมื่อได้ทำในสิ่งที่ต้องการทำ ต้องคิดว่ามันเป็นกรรมของเรา ที่ไปทำให้เขาอาฆาตพยาบาท วิธีเดียวที่จะจบได้ ก็ต้องยอมรับใช้กรรมไปเท่านั้น ต้องนิ่งเฉยเท่านั้น เขาจะฟันจะแทงก็ปล่อยเขาทำไป ถ้าจะตายไปก็ถือว่าเป็นเวลาของเราแล้ว คนเราทุกคนก็มีเวลานี้ด้วยกันทุกคน ต่างกันว่าจะเป็นตอนไหน ตอนเช้าตอนกลางวันตอนเย็นหรือตอนกลางคืน ถ้ายอมรับแล้วก็ไม่เป็นปัญหา ปัญหาต่างๆก็จบ ใจก็สงบเย็นสบาย ไม่ทุกข์ไม่หวาดกลัว อะไรที่ทำให้เราหวาดกลัวก็พยายามนึกและจินตนาการในใจไปเรื่อยๆ ถ้าหวาดกลัวกับการถูกทิ่มแทง ก็นึกภาพอยู่ในใจว่า กำลังถูกแทง ปล่อยให้แทงไปเรื่อยๆ จนชินไปเอง แล้วก็จะหายกลัว เวลาจะไปให้หมอฉีดยา ก็นึกถึงภาพหมอเอาเข็มมาทิ่ม นึกอยู่เรื่อยๆ พอชินแล้วก็จะไม่กลัว  ผู้ที่กลัวก็คือใจ ร่างกายไม่รู้เรื่องอะไร เหมือนแก้วน้ำนี้ มันไม่รู้หรอกว่าเราเทน้ำอะไรเข้าไป มันไม่รังเกียจไม่ยินดี เทน้ำปัสสาวะลงไป มันก็ไม่รังเกียจ คนดื่มต่างหากที่รังเกียจ จึงต้องฝึกไว้ก่อน สิ่งใดที่ทำให้เราขยะแขยงแต่ต้องเผชิญกับมัน เราก็ต้องจินตนาการไปในใจ จนกว่าจะหายขยะแขยง นี่แหละคือวิปัสสนา ต้องระลึกถึงเรื่องเหล่านี้ คนเราไม่ชอบนึกถึงความตาย ท่านจึงสอนให้นึกถึงอยู่เรื่อยๆ พิจารณารูปแบบของการตายต่างๆ มีตายแบบไหนได้บ้าง ตายด้วยยาพิษ ตายด้วยไฟไหม้ ให้นึกไปเรื่อยๆ ต้องโดนแบบไหนสักแบบหนึ่ง เมื่อรับได้แล้วจะสบายใจ

 

ถาม  บางทีนึกไปแล้ว กลับฟุ้งขึ้นมา

 

ตอบ  ถ้าฟุ้งก็แสดงว่าเลยเถิดไป เพราะให้ยามากเกินไป แสดงว่าแพ้ยาอย่างในสมัยพุทธกาล พระที่เจริญมรณานุสติมากๆ ถึงกับฆ่าตัวตายไปก็มี พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ถ้าอยากจะฆ่าตัวตาย แสดงว่ามากไปแล้ว ก็ให้เจริญเมตตาภาวนาแทน สลับกับการเจริญมรณานุสติ สัพเพสัตตา ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข ทั้งตัวเราและผู้อื่น อหังสุขิโตโหมิ ขอให้เรามีความสุข ปราศจากเวร  เวลาพิจารณาทางมรณานุสติมากเกินไป ก็เหมือนกับการให้ยามากเกินไป แรงเกินไป ทำให้แพ้ยาได้ พอรู้ว่าอยากจะฆ่าตัวตาย ก็แสดงว่ามากเกินไปแล้ว เอาแค่ไม่กลัวตายก็พอ  ไม่ต้องไปฆ่าตัวตาย  ได้ตายแน่ๆอยู่แล้ว ไม่ต้องไปฆ่าให้เหนื่อย ถึงเวลาได้ตายแน่ๆ 

 

ถาม  ถ้าอย่างนี้พิจารณาเรื่องตาย ก็ต้องลงที่อนิจจัง

 

ตอบ  อนิจจังคือความตาย ไม่ถาวร มีที่สิ้นสุด มีการเกิดขึ้นมีการดับไปเป็นธรรมดา ถ้ารับได้แล้วใจก็สบายไประดับหนึ่ง ตัดความกลัวตายไปได้

 

ถาม  ถ้าพิจารณาลงที่อนิจจังแล้ว จะเลยเถิดไปถึงฆ่าตัวตายไหมครับ

 

ตอบ  ถ้าไม่มีคนสอนก็เลยเถิดได้ ในสมัยพระพุทธกาลมีพระพุทธเจ้าคอยเบรกพระไว้ ถ้าไม่มีคนสอนก็อาจจะกลายเป็นลัทธิฆ่าตัวตายไป บางคนปฏิบัติโดยไม่มีครูอาจารย์ คิดว่าถึงนิพพานแล้ว ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ ฆ่ากันทั้งครอบครัวเลยคิดว่าถึงนิพพานแล้ว ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็แขวนคอฆ่าตัวตายไป ทำอย่างนี้ก็หลงแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ต้องฆ่าตัวตายตั้งแต่วันที่ได้บรรลุแล้ว ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนาปรากฏเป็นที่พึ่งของพวกเรา ถ้าบรรลุด้วยปัญญาจะรู้ทันกิเลสหมด ไม่ว่าจะมาในรูปไหน ถ้าอยากจะตายก็รู้แล้วว่าเป็นวิภวตัณหา เบื่อหน่ายในชีวิตก็อยากจะตาย อยากจะหนีปัญหา คิดว่าบรรลุแล้ว แต่ความจริงเบื่อการทำมาหากินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ถ้าบรรลุจริงๆจะมีความสุขตลอดเวลา ไม่มีปัญหาที่ต้องคอยแก้คอยหนีเลย อยู่ก็ได้ ไปก็ได้ เท่ากัน ถ้าอยู่ก็จะได้ทำประโยชน์ให้กับโลก ถ้าคิดถึงประโยชน์ที่เราได้รับจากผู้อื่นมา ก็ทำให้คิดว่าควรอยู่ทำประโยชน์ต่อ ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องอาศัยผู้ที่ผ่านมาก่อน ถ้าเขาไม่อยู่สั่งสอน เราจะเป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร ก็ต้องคิดถึงคนที่มาทีหลัง คิดถึงรุ่นน้อง เหมือนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มีรุ่นพี่รุ่นน้องคอยดูแลกัน จิตที่มีกิเลสจะคิดแบบสุดโต่งเสมอ ไม่คิดตามเหตุตามผล จะไปสุดโต่งในด้านใดด้านหนึ่งเสมอ การปฏิบัติจึงต้องมีครูบาอาจารย์ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะสุดโต่งไปได้ เวลาทำบุญก็จะทำบุญแบบสุดโต่ง แย่งกันทำ แข่งกันทำ โดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร เงินไม่พอก็ไปหาเงินมาทำ อย่างนี้ก็สุดโต่งแล้ว ความจริงทำเพื่อปลดเปลื้องสมบัติข้าวของเงินทองส่วนที่เกินไป ไม่ใช่ไปหามาใหม่ ถ้ารักษาศีลก็จะให้บริสุทธิ์จนพูดและทำอะไรไม่ได้เลย เดินไปไหนไม่ได้เลย กลัวไปเหยียบมด ถ้าขับรถเปิดไฟก็กลัวแมลงจะชนกระจกตาย ทำอะไรไม่ได้เลย

 

ถาม  ได้ยินหลวงตาว่าอวิชชาคือความผ่องใส

 

ตอบ ตอนต้นท่านเล่าว่า ตอนที่ยังไม่ถึงตัวอวิชชา จะคิดว่าอวิชชาเป็นเหมือนเสือ ที่จะคอยกระโดดกัด แต่พอปฏิบัติไปถึงอวิชชาแล้วกลับเป็นเหมือนนางบังเงา รู้จักนางบังเงาไหม คือพวกผู้หญิงที่ยืนอยู่ข้างเสาไฟฟ้าตอนกลางคืน มันสวยงามมันน่ารัก เลยทำให้หลงไปรักษาไปปกป้องอวิชชา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยเตือนตรงจุดนี้ ก็จะหลงติดไปอีกนาน เพราะมันละเอียดมันสุขอย่างสุดยอด ก็จะคิดว่านี่แหละคือพระนิพพาน ความจริงยังไม่ใช่พระนิพพานมันคือตัวอวิชชา ไอ้ตัวที่สว่างไสวนี่แหละ ในความสว่างไสวนี้ถ้าสังเกตดู จะมีจุดมีต่อม มีการเสื่อม ไม่ได้สว่างไสวไปตลอดเวลา มันไม่เที่ยง ตอนที่ได้มาใหม่ๆเหมือนกับได้แก้ววิเศษ จะหวงมาก เหมือนกับได้รถยนต์คันใหม่มา ใครจะมาแตะมาต้องไม่ได้เลย หวงมากรักมาก ใครจะขอขับก็ไม่ให้ขับ ใครจะจับหน่อยก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอได้มาใหม่ๆ มันตื่นเต้นมหัศจรรย์ใจ สว่างไสว สงบสุขอย่างยิ่ง ก็คิดว่านี่แหละคือของวิเศษนะ ก็เลยเกิดอุปาทาน ไปยึดไปติดมันเข้า ถ้ายังมีอุปาทานอยู่ก็ยังไม่หลุดพ้น แต่มองไม่เห็นว่าเป็นกิเลส จึงต้องพิจารณาให้เห็นว่าไม่เที่ยง ความสว่างไสวนี้ ถ้าสังเกตดูดีๆก็จะเห็นว่าเฉาได้ ถ้าไม่ได้พิจารณาก็จะไม่รู้ พอมันเฉาก็จะรีบทำให้มันสว่างขึ้นมาใหม่ ความสว่างนี้เกิดจากการบำเพ็ญปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจอยู่เรื่อยๆ ยิ่งขัดก็ยิ่งสว่าง พอหยุดขัดก็จะเฉาลงไป พอเฉาก็รีับขัดมันขึ้นมาใหม่ รีบพิจารณาใหม่ ทำให้มันสว่างขึ้นมาใหม่ ก็ยังต้องทำงานอยู่เรื่อยๆ ถึงตอนนั้นต้องพิจารณาให้รู้ทันแล้วปล่อยวาง พอปล่อยแล้วมันก็จะหายไปหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่มีอะไรต้องไปรักษาไปดูแล ไม่ต้องไปยึดไปติด มันหมดแล้ว มันสูญ ปรมํ สุญญํ ไม่มีอะไรเลย ถ้าเป็นท้องฟ้าก็ไม่มีเมฆ ไม่มีดาว ไม่มีเดือน ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความสบายอย่างเดียว ไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้ายังต้องรักษาความสว่างไสวอยู่ ก็ยังไม่เสร็จภารกิจ

 

ถาม  เวลาเราทำบุญกับพระอริยสงฆ์แล้วท่านไปทำต่อ ผลจะสะท้อนมาถึงเราไหม

 

ตอบ  เราก็ได้ผลแล้วในส่วนที่เราให้ไป ผลที่สะท้อนกลับมาหาเราก็คือ ทำให้สังคมมีความเมตตามากขึ้น ทำให้โจรผู้ร้ายน้อยลงไป เบียดเบียนกันน้อยลงไป มีความสงบสุขความปลอดภัยมากขึ้น  ถ้าสังคมขาดความเมตตา ไม่มีการให้ ไม่มีการช่วยเหลือกัน ก็จะเป็นสังคมที่แร้นแค้น มีแต่การต่อสู้กัน จะไปไหนมาไหนก็ต้องห่วงกังวลว่าจะถูกปล้นจี้หรือเปล่า คนไม่มีกิน จะให้ทำอย่างไร เมื่อไม่มีกินไม่มีงานทำ ไม่มีใครช่วยเหลือ ก็ต้องหาด้วยวิธีทุจริต ก็จะกลายเป็นสังคมของเดียรฉานไป ถ้ามีการทำบุญ มีการให้ทาน มีการสงเคราะห์กัน ก็จะเป็นสังคมของมนุษย์ มีความเกรงใจกัน ไม่เบียดเบียนกัน เมื่อคนที่เดือดร้อนได้รับการดูแล ก็ไม่ต้องไปทำบาปทำกรรมกับผู้อื่น เป็นผลที่สะท้อนกลับมาหาเรา

 

ถาม  ผมเข้าใจว่าญาติโยมส่วนมากจะมีความเชื่อเกี่ยวกับการให้ทานว่า ถ้าให้หนังสือธรรมะจะทำให้เกิดปัญญา ให้กับโรงพยาบาลจะทำให้สุขภาพแข็งแรง ปล่อยปลาปล่อยนกจะทำให้อายุยืน

 

ตอบ  เป็นความเข้าใจผิด อย่างถวายเทียนพรรษาจะทำให้มีปัญญา เป็นความเข้าใจผิด ไม่ได้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย

 

ถาม  สร้างเจดีย์เป็นกุศลที่สุดเลย ไม่ใช่หรือเจ้าคะ ลูกก็อ่านมา ให้ธรรมทานก็เป็นบุญมาก

 

ตอบ  เป็นบุญในระดับของทาน ที่มีอานิสงส์ต่างกัน การให้ทานมีอยู่ ๔ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. วัตถุทาน ๒. วิทยาทาน ๓. อภัยทาน ๔. ธรรมทาน ในการให้ทั้ง ๔ ชนิดนี้ ธรรมทานเป็นเลิศที่สุดของการให้ ถ้าให้วัตถุก็ให้เพียงช่วยให้ร่างกายหลุดพ้น จากความหิวความเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าให้ธรรมะเท่ากับให้อาหารทางใจ ทำให้ใจหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ จึงมีคุณค่ากว่า ถ้าให้อภัยก็ทำให้ใจสบายเป็นสุข ดีกว่าให้เงินเป็นร้อยล้าน เสียเงินเป็นล้านได้ แต่เสียสามีเสียภรรยาไม่ได้ ถ้าให้อภัยได้ ใครอยากจะได้ก็ให้เขาไปเลย เช่นพระเวสสันดรที่สละได้หมดเลย จะมีความสุข หมดภาระไป ไม่ต้องไปทุกข์กับเขาอีกต่อไป การสร้างเจดีย์เป็นการสร้างปูชนียสถาน เพื่อผู้ที่มาภายหลังจะได้รู้ว่า มีผู้มีวาสนาบารมีเช่นพระพุทธเจ้ามาเกิด มาทำประโยชน์ให้กับโลก ถ้าสนใจก็จะศึกษา ก็จะรู้ว่าเป็นที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ถ้าอยากจะรู้ว่าพระอรหันต์พระพุทธเจ้าเป็นใคร ก็จะศึกษาไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ทำให้อยากจะปฏิบัติตาม อยากเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ นี่คือความหมายของการสร้างพระเจดีย์ไว้บรรจุพระธาตุ ในสมัยพุทธกาลไม่นิยมสร้างพระพุทธรูปกัน นิยมสร้างเจดีย์ไว้บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ สมัยก่อนเรียกว่าสถูป สร้างเพื่อบรรจุอัฐิของบุคคล ๔ ประเภทคือ ๑. พระมหาจักรพรรดิ ๒. พระพุทธเจ้า ๓. พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔. พระอรหันต์ เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในทางโลกหรือในทางธรรม ในสมัยนี้ใครตายไป ลูกเล็กเด็กแดงตายไป ก็สร้างเจดีย์ในวัดเกลื่อนไปหมดเลย จนไม่มีความหมายเดิมหลงเหลืออยู่เลย คือให้เป็นพุทธานุสติ ให้คิดถึงพระพุทธเจ้า ถ้าไม่รู้จักพระพุทธเจ้า จะได้ศึกษาทำความรู้จัก เพื่อนำไปสู่พระธรรมคำสอน ไปสู่พระอริยสงฆ์ต่อไป เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว ก็จะได้เป็นสุปฏิปันโน บรรลุเป็นอริยสงฆ์ขึ้นมา ต่อไปจะไม่มีพระพุทธศาสนาหลงเหลืออยู่ในโลก พอถึงพ.ศ. ๕๐๐๐ ศาสนาก็จะหายไปหมด อาจจะมีซากของเจดีย์หลงเหลืออยู่ แต่จะไม่มีใครรู้ความหมาย ว่าสร้างไว้ทำไม ดูประเทศที่มีศาสนาพุทธเจริญมาก่อน ตอนนี้ก็เสื่อมหายไป เช่นประเทศอินเดียเป็นต้น เป็นแดนพุทธภูมิแท้ๆ ตอนนี้แทบจะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ ช่วงพุทธันดรนี้ยาวนานไหมคะ

 

ตอบ  หมายถึงช่วงเวลาที่ไม่มีพระพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่านานเป็นกัป เคยได้ยินการเปรียบเทียบของระยะเวลาของกัปว่า ทุกๆ ๑๐๐ ปีให้เอาผ้าไปลูบภูเขาหิมาลัย ๑ ครั้ง ทำอย่างนี้ไปจนกว่าภูเขาจะสึกหายไปหมด ก็จะเป็นเวลา ๑ กัป

 

ถาม  ปฏิบัติไปแล้วกลัวว่าจะไปเกิดในยุคที่มืดมิด

 

ตอบ  ไม่มีพระพุทธเจ้าไม่มีพระพุทธศาสนา เหมือนสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ สมัยนั้นไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีพระพุทธศาสนา มีแต่ลัทธิต่างๆที่ไม่สามารถสอนให้ไปถึงพระนิพพานได้ พระพุทธเจ้าทรงศึกษาทั้งทางโลกทั้งทางธรรม ก็ได้แค่ขั้นฌานสมาบัติเท่านั้นเอง ก็ยังไม่ทรงพอพระทัย เพราะใจยังมีกิเลสมีตัณหา มีความโลภ มีความอยาก มีความทุกข์อยู่ ก็เลยต้องบำเพ็ญไปตามลำพัง ก็คิดว่าต้องเอาชนะร่างกายให้ได้ ต้องไม่กินอาหาร คิดว่าไม่กินอาหารแล้วกิเลสก็จะตายไป ความอยากต่างๆจะตายไป ทรงอดถึง ๔๙ วัน จนร่างกายจะตายอยู่แล้ว แต่กิเลสก็ยังมีเต็มอยู่ในใจเหมือนเดิม ทรงมีสติปัญญาเห็นว่าใจก็ยังเหมือนเดิม ตอนก่อนที่จะอดกับตอนที่อดไป ๔๙ วันแล้ว ใจก็ยังเหมือนเดิม ยังมีความอยากมีความทุกข์อยู่ ทรงรู้ว่าได้มาผิดทาง จึงต้องย้อนกลับไปฉันอาหาร พวกพระปัญจวัคคีย์ก็คิดว่าทรงตระบัดสัจ ยอมแพ้ สู้ไม่ได้ ไม่ยอมตาย เพราะคิดว่าถ้าไม่ตายก็ต้องบรรลุเท่านั้น ถ้ากลับมาฉันอาหาร ก็แสดงว่ายอมแพ้ เพราะกลัวตาย ก็เลยหนีจากไป ปล่อยให้ทรงอยู่ตามลำพัง ทรงนั่งบำเพ็ญอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ถ้ายังมีความทุกข์อยู่ในใจ ยังมีกิเลสอยู่ในใจ จะไม่ลุกจากที่นี้ไปเป็นอันขาด ถึงแม้เลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไปหมด ก็จะไม่ลุก ถ้ากิเลสไม่ตายเราก็ต้องตาย ทรงรู้แล้วว่าปัญหาอยู่ในใจ ทรงระลึกถึงสมัยที่เป็นเด็ก ไปงานแรกนาขวัญ พวกข้าราชบริพารต้องไปทำกิจอื่น ปล่อยให้นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ตามลำพัง พอไม่มีใครรบกวน จิตที่เคยสงบอยู่ก่อนแล้วก็รวมลง ทำให้ทรงเห็นว่านั่นคือความสุขที่แท้จริง จึงทรงเจริญสมถะภาวนาในเบื้องต้นทำจิตให้สงบ พอจิตถอนออกมาจากความสงบ มีสังขารความคิดปรุงขึ้นมา ก็ดูว่าคิดไปในทางไหน ถ้าคิดไปในทางกิเลสก็ต้องตัด ตัดไปเรื่อยๆ ทรงจับประเด็นได้ว่าเป้าหมายของการปฏิบัติก็คือความสงบของจิต

 

        ดังนั้นเวลาปฏิบัติ เราจึงต้องดูจิตอยู่ตลอดเวลา ดูว่าจิตกำลังทุกข์กับเรื่องอะไรหรือเปล่า ในขณะที่อยู่ในสมาธิจะไม่ทุกข์กับอะไร เพราะไม่ได้คิดถึงเรื่องอะไรเลย แต่พอออกจากสมาธิก็จะเริ่มคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงลูกก็เริ่มกังวล ก็ต้องตัด ว่าไม่ใช่ลูกของเรา จะเป็นจะตายก็ห้ามไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดูแล เราก็ดูแลไปตามหน้าที่ สอนเขาได้ก็สอนไป แต่อย่าไปทุกข์กับเขา นักปฏิบัติจะต้องไม่ทุกข์กับใครกับอะไรทั้งนั้น แต่ไม่ได้ทิ้งความรับผิดชอบไป มีความรับผิดชอบอะไรก็ทำไป มีหน้าที่เลี้ยงดูเขาก็เลี้ยงดูไป แต่ไม่ไปทุกข์กับเขา ไม่ไปกินไม่ได้นอนไม่หลับกับเรื่องของเขา นี่คือวิธีดับทุกข์ ต้องดับที่ใจ ดับที่ความคิดของเราที่คิดไปในทางที่ผิด คิดไปในทางอุปาทาน คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเรา ถ้าคิดว่าไม่ใช่เป็นของเราแล้วจะสบายใจ สังเกตดูของอะไรที่ไม่ได้เป็นของเรานี่ เราจะไม่เดือดร้อน อย่างศาลาหลังนี้จะพังไป ญาติโยมก็ไม่เดือดร้อนไม่กังวล แต่ถ้าบ้านของญาติโยมเป็นอะไรขึ้นมาหน่อย ก็จะเดือดร้อนจะกังวล เพราะคิดว่าเป็นของเรา จึงต้องตัดอุปทานคือความยึดติด ว่าเป็นเราเป็นของเรา ต้องให้เห็นว่าเป็น สัพเพ ธรรมมา อนัตตา ไม่มีอะไรเป็นของเราเป็นตัวเรา เป็นเพียงสมบัติผลัดกันชม เหมือนกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็จะไม่ทุกข์ ถ้ายึดติดพอจะถูกย้าย ก็วิ่งกันให้วุ่น ถ้าทุกข์กับอะไรแสดงว่ายังยึดติดอยู่ ยังไม่เห็นอนัตตา ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นความทุกข์จากการยึดติด

 

ถาม  เวลาฟังซีดีที่อัดไว้ ฟังแต่ละครั้งก็ได้ไม่เหมือนกัน

 

ตอบ  เวลาฟังก็เหมือนกับเอาแก้วมารองรับน้ำ ถ้ามือส่ายไปมาน้ำก็จะหกเรี่ยราด ถ้าใจไม่นิ่งใจก็จะรับธรรมะไม่ได้หมด เพราะไม่ได้ฟังตลอดเวลา เผลอไปคิดเรื่องอื่น ก็จะไม่ได้ฟัง การฟังธรรมจึงต้องฟังอยู่เรื่อยๆ เวลาฟังแต่ละครั้งอาจจะรับไปได้เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสมาธิ ถ้ามีสมาธิมากก็จะรับได้มาก การบรรลุธรรมในขณะที่ฟังก็ขึ้นอยู่กับสมาธิส่วนหนึ่ง  ดูพระปัญจวัคคีย์เป็นตัวอย่าง ฟังพร้อมกันแต่มีรูปเดียวที่บรรลุได้ก่อน เพราะสมาธิของท่านหนักแน่นกว่าองค์อื่น ติดตามฟังได้ทุกขณะ ปัญญาของท่านก็อาจจะไวกว่าด้วย จึงพิจารณาและปฏิบัติตามได้ทันทีเลย จึงมี ๒ ส่วนที่สำคัญ คือสมาธิและปัญญาที่มีอยู่เดิม เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการบรรลุ

 

        จึงต้องฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ จะได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ธรรมะก็เป็นเหมือนจิกซอ เวลาฟังครั้งหนึ่งก็ได้มาชิ้นหนึ่ง พอฟังอีกก็ได้มาอีก เอามาต่อกัน ก็จะเห็นภาพชัดขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าจะให้ชัดจริงๆก็ต้องเอาไปปฏิบัติ เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นสัญญาที่ลืมได้ จึงต้องเอาไปใคร่ครวญต่อ เอาไปภาวนาต่อ เจริญอยู่เรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา จนฝังอยู่ในใจ กลายเป็นสัจจะความจริงขึ้นมาภายในใจ ก็จะไม่ลืมแล้ว มีคนถามว่าพระอรหันต์ลืมได้หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าลืมได้ เพราะขันธ์ของพระอรหันต์กับของปุถุชนเหมือนกัน สัญญาก็เป็นอนิจจาไม่เที่ยง จำได้ก็ลืมได้ เช่นวันที่เดือนปี แล้วก็ถามต่อว่า มีอะไรที่ท่านไม่ลืม ตอบว่าสัจธรรม คือพระอริยสัจ ๔ ถ้าได้ปฏิบัติแล้วจะไม่ลืม จะรู้อยู่เสมอว่าทุกข์เกิดจากตัณหา เวลาทุกข์จะไม่โทษใคร จะโทษตัณหาทั้ง ๓ เท่านั้น เพราะไปยึดไปติดไปอยาก ถ้าไม่ยึดติดไม่อยากแล้ว รับรองได้ว่าจะไม่ทุกข์

 

        จึงต้องทำให้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้เป็นสัจจะ ให้เป็นของเรา ให้เป็นธรรมของเรา ตอนนี้ยังเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ ต้องน้อมเอาธรรมของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ใจของเรา ด้วยการปฏิบัติเท่านั้น ถึงจะอยู่กับใจเราไปตลอด จึงอย่าหาข้ออ้างเพื่อจะไม่ต้องปฏิบัติ เพราะสอนทั้งปริยัติปฏิบัติและปฏิเวธ ต้องได้ยินได้ฟังก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็ต้องเอาไปทำ  ทำแล้วผลก็จะปรากฏขึ้นมา จะข้ามขั้นตอนไม่ได้ ปริยัติแล้วข้ามไปปฏิเวธเลยไม่ได้ ซึ่งสมัยนี้เขาทำกัน พอเรียนจบเปรียญ ๙ ก็ได้รับปริญญาได้รับพัดยศ ได้ผลแล้ว ไม่ต้องไปปฏิบัติ สอนต่อได้เลย ถ้าเป็นพระป่าจะเรียนและก็ปฏิบัติควบคู่กันไป อยู่กับครูบาอาจารย์เวลาท่านอบรมก็เป็นปริยัติ พอตอนเช้าก็พาออกบิณฑบาต ฉันมื้อเดียว พานั่งสมาธิ เดินจงกรม พิจารณาธรรมต่างๆ ก็เป็นการปฏิบัติ

 

ถาม  เวลาพิจารณาความตายนี้ พิจารณาทั้งตัวเราและคนอื่น

 

ตอบ  ทุกคนเลย กายในก็คือตัวเรา กายนอกก็คือกายของผู้อื่น พอพิจารณาแล้วจะได้เห็นว่าเหมือนกัน ถ้าพิจารณาเราคนเดียว ก็จะคิดว่าเราอาภัพเหลือเกิน ทำไมเราต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าพิจารณาแต่คนอื่นก็จะคิดว่าเราจะอยู่ไปตลอด จึงต้องพิจารณาทั้งเขาและเรา

 

ถาม  พิจารณาอสุภะก็เหมือนกัน

 

ตอบ  เหมือนกัน ไม่มีใครแตกต่างกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกันไม่ว่าหญิงไม่ว่าชาย ถ้าผู้ชายก็ต้องพิจารณาผู้หญิง ผู้หญิงก็ต้องพิจารณาผู้ชาย เพื่อจะได้คลายความกำหนัดยินดี ถ้าเป็นผู้หญิงชอบผู้หญิงก็ต้องพิจารณาผู้หญิง ถ้าเป็นผู้ชายชอบผู้ชายก็ต้องพิจารณาผู้ชาย

 

ถาม  พิจารณาอสุภะของคนที่หน้าตาดีๆ แบบดารา

 

ตอบ  คนที่เราหลงใหล คนนั้นแหละที่เราต้องพิจารณา ว่าเป็นซากศพ เวลายังหายใจอยู่ก็อยู่ด้วยกันได้ พอไม่หายใจก็ไม่กล้าเข้าใกล้แล้ว ทั้งๆที่ร่างกายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ยังมีอาการ ๓๒ เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ได้หายใจเท่านั้นเอง

 

ถาม  กลัวผีคะ

 

ตอบ  เวลาไม่ตาย ไม่ได้เป็นผีหรือ