กัณฑ์ที่ ๓๓๗ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐
พระศาสนาไม่เป็นหมัน
พระศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่เป็นหมัน เป็นความจริง ที่เราต้องพิสูจน์ให้เป็นจริงกับเรา ความจริงที่ปรากฏนี้ คือพระอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์ เป็นความจริงของท่าน ไม่ได้ทำให้เราเป็นตามท่านไปด้วย เรายังเป็นเหมือนเดิมอยู่ พระอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์มีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างศรัทธาความเชื่อ และกำลังจิตกำลังใจของเราให้มีมากขึ้น ให้มั่นคงมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเรายังต้องทำความจริงให้ปรากฏขึ้นมาในใจของเรา ด้วยการปฏิบัติ ถ้าเห็นผลแล้วก็จะไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อีกต่อไป ร่างกายเราจะเป็นอะไรต่อไป จะเป็นพระธาตุหรือเป็นธาตุดิน ไม่ได้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สำคัญที่ใจ ทำใจให้ผ่องใสสะอาด ปราศจากความโลภความโกรธความหลง จะสำคัญกว่า เพราะจะฟอกให้ร่างกายสะอาดตาม จิตที่สะอาดจะซักฟอกธาตุขันธ์ไปในตัว ถ้าจิตได้บรรลุเป็นเวลานาน จะมีเวลาฟอกร่างกายให้สะอาดมาก พอตายไปก็จะกลายเป็นพระธาตุขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ถ้ามีเวลาไม่มาก เช่นบรรลุแล้วต้องเสียชีวิตไปทันที ก็จะไม่มีเวลาซักฟอกร่างกาย ให้กลายเป็นพระธาตุได้ ก็อาจจะไม่กลายเป็นพระธาตุก็ได้ ผู้ที่ตายไปแล้วแต่กระดูกไม่ได้เป็นพระธาตุ ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าไม่ได้บรรลุ อาจจะบรรลุตอนช่วงปลายชีวิต ก็จะไม่มีเวลามากพอที่จะฟอกธาตุขันธ์ ฟอกร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้กลายเป็นพระธาตุขึ้นมา เรื่องนี้ตัวผู้ปฏิบัติเองจะไม่กังวลว่าจะกลายเป็นพระธาตุหรือไม่ ถ้ารู้อยู่แก่ใจว่าใจของตนสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จะไม่เป็นปัญหา แต่เรื่องของคนอื่น ก็อาจจะเป็นปัญหาว่า จริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ จึงอย่าไปดูที่พระธาตุเพียงอย่างเดียว ให้รู้ว่าบางองค์กลายเป็นพระธาตุเร็ว บางองค์ก็เป็นช้า บางองค์ก็อาจจะไม่เป็นเลยก็ได้ ท่านเป็นเพียงผู้ชี้ทาง เป็นแบบฉบับ เป็นเยี่ยงอย่างเท่านั้นเอง ถึงแม้ร่างกายของท่านจะกลายเป็นพระธาตุไป ก็ไม่ได้ทำอะไรให้เราดีขึ้นกว่าที่เราเป็นอยู่
เราเท่านั้นที่จะทำตัวเราให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติให้มากขึ้น ด้วยการตัดด้วยการละสิ่งต่างๆในโลกนี้ให้มากขึ้น ปล่อยวางให้มากขึ้น ไม่ไปยึดไปติด ไปแสวงหาความสุข ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย แต่หาความสุขทางใจ ด้วยการทำใจให้สงบ เป็นวิธีที่จะพิสูจน์ความจริงที่ยังสงสัยกันอยู่ ที่ยังไม่แน่ใจ จะได้เห็นอย่างชัดเจน ถ้าเห็นในตัวเราแล้ว ร่างกายของคนอื่นจะกลายเป็นพระธาตุหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ สำคัญที่ตัวเราได้ทำกิจของเราให้สมบรูณ์ ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้วหรือยัง ตรงนี้สำคัญที่สุด ถ้าเรายังเดินทางกันอยู่ เราก็ต้องอาศัยคนตาดีนำทาง โดยเฉพาะคนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ประโยชน์มากกว่า ได้พระธาตุของผู้ที่ตายไปแล้วมาเก็บไว้บูชาที่บ้าน ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้นไปกว่าเดิมแต่อย่างไร อาจจะทำให้เราขี้เกียจมากขึ้นก็ได้ คิดว่ามีพระธาตุมีของดีแล้วไม่ต้องปฏิบัติ เดี๋ยวท่านจะช่วยเราเอง ซึ่งขัดกับหลักธรรมที่ทรงตรัสสอนว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ท่านเป็นเพียงเหมือนหนังตัวอย่าง พอเราได้ดูหนังตัวอย่างแล้ว เราก็อยากจะดูหนังจริง เวลาไปดูภาพยนตร์ในโรง เขาจะฉายหนังตัวอย่างให้ดู เพื่อหลอกล่อให้เรากลับไปดูอีก เวลาที่เราได้เห็นครูบาอาจารย์ ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมรณภาพไปแล้ว ร่างกายของท่านได้กลายเป็นพระธาตุ ก็จะทำให้เรามีฉันทะวิริยะ อยากจะเห็นของจริงในตัวเราบ้าง เพราะดูของคนอื่นก็เหมือนดูหนังตัวอย่าง ไม่ได้ดูหนังจริง ถ้าอยากจะดูของจริงก็ต้องดูในตัวเรา
พอดีเมื่อวานนี้เป็นวันวิสาขอัฏฐมีบูชา เป็นวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า เป็นวันถวายพระเพลิงหลวงปู่ทาพอดี พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปเมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็เก็บพระศพไว้บูชา ๗ วัน ๗ คืน มีมัลละกษัตริย์เป็นเจ้าภาพ จากนั้นก็มีพิธีถวายพระเพลิง เสร็จแล้วมัลละกษัตริย์ก็จะเก็บพระธาตุไว้ทั้งหมด ไม่แจกจ่ายให้ใคร พระมหากัสสปเถระจึงได้กราบทูลให้แบ่งปันกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดสงครามแย่งพระธาตุกัน จึงทรงแบ่งให้กับกษัตริย์แคว้นต่างๆ ที่มาร่วมงานถวายพระเพลิงไป สมัยก่อนกับสมัยนี้ก็เหมือนกัน ยังแย่งพระธาตุกัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีพระอรหันต์แย่งพระธาตุกันเลย มีแต่บอกให้แบ่งกัน เพราะไม่ได้เห็นว่าวิเศษวิโสอย่างไร วิเศษสำหรับพวกเรา แต่สำหรับท่านจะรู้สึกเฉยๆ เพราะมีของที่วิเศษอยู่ในใจแล้ว ของแท้อยู่ในใจ ของนอกเป็นของปลอม ถึงแม้จะเป็นพระธาตุก็ตาม ก็ยังไม่วิเศษอย่างแท้จริง สิ่งที่วิเศษที่แท้จริงก็คือความบริสุทธิ์ของจิตใจ ที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลภาวนา อย่างที่เราทำกันอยู่นี่ เรากำลังซักฟอกใจของเราให้สะอาด เวลาเราทำบุญให้ทานเราก็ซักฟอก ความตระหนี่ความโลภความเห็นแก่ตัวให้ออกไปจากใจ ความเห็นแก่ตัวก็คือโมหะนี่เอง ความตระหนี่ก็คือความโลภ เมื่อเราตระหนี่เราก็หวง และอยากจะได้มากขึ้น ความโลภทำให้เราอยากได้มาก ก็เลยไม่อยากจะเสียสิ่งที่เรามีอยู่ ความตระหนี่ก็มาจากความโลภ ความเห็นแก่ตัวก็มาจากความหลง ว่ามีตัวมีตนมีเรามีของเรา
ความจริงของทุกอย่างที่เราบริจาคไม่ได้เป็นของเราเลย เป็นเพียงของที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เวลาเรามาเกิดเราก็ไม่ได้มีอะไรติดตัวมาเลย เวลาตายไปก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปเช่นกัน ตอนเกิดก็ได้ร่างกายที่พ่อแม่สร้างไว้ แล้วก็อาศัยร่างกายหาสิ่งของต่างๆอีกต่อหนึ่ง เมื่อมีมากเกินความจำเป็น ก็เอามาแบ่งมาแจกมาจ่าย ไม่เก็บไว้ เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นภาระทางด้านจิตใจ ต้องห่วงต้องดูแลรักษาต้องกังวล ไม่ได้ทำให้จิตใจเบาขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่กลับกดดันให้มีความทุกข์มากขึ้น เพราะความหลงทำให้เราเห็นว่าเป็นของเรา เมื่อเป็นของเราๆก็หวง แต่ถ้าเราศึกษาพิจารณาตามหลักความจริง เราก็เห็นว่าไม่มีตัวตน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่าดวงวิญญาณที่มาเกิดนี้ เป็นเพียงธาตุรู้คือใจ มารวมกับธาตุดินน้ำลมไฟกับอากาศธาตุ ปรากฏเป็นร่างกายขึ้นมา แล้วก็ไปหาธาตุต่างๆอีก สิ่งต่างๆที่เราได้มาก็ล้วนเป็น ธาตุดินน้ำลมไฟ ที่ผสมกันด้วยสูตรต่างๆ ปรากฏเป็นข้าวของชนิดต่างๆขึ้นมา เพื่อให้เราใช้ ถ้าเราใช้ด้วยความหลงก็จะยึดติด จะเป็นเหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด เมื่อใช้แล้วก็ติด เวลาไม่มีเวลาขาดแคลนก็เกิดอาการหงุดหงิด ต้องไปหามาเสพอยู่เรื่อยๆ ถ้าใช้ด้วยปัญญา ก็ใช้เพื่อดำรงชีพ เพื่อจะได้เอาร่างกายมาทำงานที่แท้จริง คือการปลดเปลื้องความโลภความโกรธความหลง ให้ออกไปจากใจ นี่คือการใช้สิ่งต่างๆที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ เอามาบำรุงรักษาร่างกายให้มีกำลังวังชา เพื่อจะได้ทำบุญทำทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงความทุกข์ความไม่มีตัวตน ในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ จะได้ปล่อยวาง หลุดพ้นจากความทุกข์
การทำบุญทำทานการเสียสละ เป็นการปล่อยวางในระดับหนึ่ง ปล่อยวางวัตถุข้าวของเงินทอง ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆใจจะมีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะยินดีมากที่ได้เสียสละ ได้ตัดความยึดติดในวัตถุข้าวของต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการปฏิบัติธรรม ก็ตัดไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเสียเวลาหามาเพิ่ม จะมีเวลาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีความหลงเห็นว่าวัตถุต่างๆให้ความสุขกับเรา ก็จะเสียเวลากับการหาวัตถุข้าวของเงินทอง จะติดวัตถุต่างๆเหมือนกับคนติดยาเสพติด ต้องเสพอยู่เรื่อยๆ ต้องหามาอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่อยากเอาไปแจกจ่าย เอาไปทำบุญทำทาน อยากจะเก็บไว้เพื่อให้ความสุขกับตน เป็นความสุขแบบยาเสพติดไม่แตกต่างกันเลย เวลาได้เสพได้สัมผัสก็มีความสุขมีความเพลิดเพลิน พอไม่ได้เสพก็เกิดอาการหงุดหงิดทุรนทุราย ไม่เคยพอ เสพวันนี้แล้วพรุ่งนี้ก็ต้องเสพอีก เสพไปเรื่อยๆจนวันตาย พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตัดให้ละ อย่าไปยึดอย่าไปติด อย่าไปหาความสุขจากวัตถุข้าวของเงินทอง ให้เอามาใช้ในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ถ้าทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆแล้ว ความโลภอยากได้วัตถุข้าวของเงินทองก็จะน้อยลงไป เวลาที่จะเสียไปกับการหาวัตถุต่างๆ ก็จะน้อยลงไป ก็จะมีเวลามากขึ้นสำหรับการปฏิบัติธรรม พอปฏิบัติธรรมมากขึ้น ก็จะเกิดความก้าวหน้าทางด้านจิตใจมากขึ้น จิตใจจะสงบมากขึ้นไปเรื่อยๆ มีความอิ่มความพอมากขึ้นไปเรื่อยๆ มีความทุกข์ความวุ่นวายใจน้อยลงไปเรื่อยๆ เบาลงไปเรื่อยๆ จนเห็นว่ามีเพียงปัจจัย ๔ เท่านั้นก็พอ ก็จะออกบวชได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้สงบเงียบก็แล้วกัน
จึงควรคิดพิจารณาอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา เป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้แล้ว เราเพียงได้สิทธิ์ใช้มันเท่านั้นเอง เมื่อถึงเวลาไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ เอาความหนักหรือความเบาทางด้านจิตใจไป เอาความสว่างหรือเอาความมืดไปเท่านั้น ถ้าปฏิบัติรักษาสิ่งที่ดีไว้ได้ก็จะเอาความเบาอกเบาใจไป ถ้ามัวคร่ำเคร่งอยู่กับการหาลาภยศสรรเสริญสุข ไม่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรม แม้จะต้องทำผิดศีลผิดธรรมก็ยินดีทำ ก็จะไปด้วยความมืดไปด้วยความหนัก ภพชาติก็จะมีมากขึ้น การเวียนว่ายตายเกิดก็จะมีมากขึ้น ความทุกข์ที่เกิดจากการแก่การเจ็บการตาย การพลัดพรากจากกันก็จะมีมากขึ้น ถ้าไปทางธรรมะก็จะไปเบาไปสว่าง ภพชาติก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด อาจจะหมดในชาตินี้ก็ได้ ถ้าตั้งใจปฏิบัติกัน ไม่ท้อถอย ไม่หยุดยั้ง ทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ปีนี้ทำเท่านี้ ปีหน้าก็ต้องทำเพิ่ม เหมือนกับทางโลก ปีนี้มีกำไรเท่านี้ มีรายได้เท่านี้ ปีหน้าก็ต้องเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างน้อยร้อยละสิบ เพิ่มไปเรื่อยๆ ปีนี้ให้ทานระดับนี้ ปีหน้าก็ต้องเพิ่มอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ศีลก็ต้องรักษามากขึ้นอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้ารักษา ๑๕ วัน ก็เพิ่มเป็น ๑๘ วัน เพิ่มไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงเอง ถ้าปฏิบัติโดยไม่หยุดยั้ง ไม่ท้อถอย ทำได้ ทำไมจะทำไม่ได้ เราทุกคนมี ๒๔ ชั่วโมงเท่ากันหมด อยู่ที่ว่าจะเอาเวลาไปใช้กับอะไร คนบางคนก็บ่นว่า ไม่มีเวลาทำบุญ ไม่มีเวลามาวัด ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ก็จะมีได้อย่างไร ในเมื่อไม่จัดตารางให้มาวัด ก็เลยไม่มา
อย่างในหลวงนี่ท่านก็ทรงแบ่งเวลาไว้ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติของท่าน ทรงแบ่งเวลาไว้ภาวนาทุกวัน ก่อนจะทรงงานจะนั่งสมาธิก่อน เวลาทำงานจะได้ผลดี มีเหตุมีผล พวกเราทำไมจะทำกันไม่ได้ ลองกำหนดดูสิ จัดตารางไว้ ตื่นเช้าขึ้นมาชั่วโมงแรกก็ให้เป็นเวลาทำจิตใจให้สงบ จะนั่งสมาธิเลยก็ได้ จะสวดมนต์ไปก่อนก็ได้ ส่วนช่วงเวลาอื่นที่พอที่จะสอดเข้าไปได้ ก็สอดเข้าไป หรือจะภาวนาไปทั้งวันเลยก็ได้ ด้วยการควบคุมจิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ส่งไปในอดีต ไม่ส่งไปในอนาคต ให้อยู่ที่นี่ ไม่ให้ไปที่อื่น กำลังทำอะไรก็ให้อยู่กับการกระทำนั้นๆ ไม่ให้ไปกรุงเทพฯ ไม่ให้ไปฮ่องกงยุโรป ให้อยู่ตรงนี้ ไม่คิดถึงคนนั้นคนนี้ ถ้าทำอย่างนี้ก็จะภาวนาได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่จำเป็นต้องไปวัด การภาวนามีอยู่หลายระดับด้วยกัน ระดับพื้นๆนี้ทำได้ทุกแห่งหนทุกเวลา คือการสร้างสตินั่นเอง ให้จิตอยู่ภายใต้การควบคุมของสติ อย่าปล่อยให้ลอยไปตามกระแสอารมณ์ความคิดต่างๆ ถ้าไม่มีสติเวลาคิดเรื่องอะไรก็จะคิดยาวไปเลย คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆตามมา ถ้าเกิดอารมณ์อยาก ก็ต้องไปทำสิ่งที่อยากทำ ถ้าเกิดความกังวลก็เครียดขึ้นมา ทั้งๆที่เหตูการณ์ก็ยังไม่เกิด หรือเกิดที่อื่น พอไปคิดถึงก็เครียดขึ้นมา ถ้าดึงจิตไว้ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่นั่นที่นี่ ให้อยู่ที่นี่ ตอนนี้ไม่มีอะไร ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะว่าง ถ้าอยู่คนเดียวจะไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย แต่เราไม่เคยควบคุมใจของเราเลย ปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย คิดว่าการภาวนาการปฏิบัติจะต้องมีเวลา ต้องไปอยู่ที่วัด อยู่ตรงนั้นตรงนี้ ต้องนั่งขัดสมาธิต้องมีห้องพระ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด
การปฏิบัติที่แท้จริงต้องปฏิบัติที่กายวาจาใจ เริ่มที่ใจแล้วก็ขยายมาที่กายกับวาจา จึงต้องดู ๓ ตัวนี้ ถ้าดูที่ใจได้ กายกับวาจาก็ไม่เป็นปัญหา ครูบาอาจารย์จึงสอนเรื่องรักษาศีลว่า ให้รักษาเพียงข้อเดียวก็พอ คือรักษาใจ ถ้ารักษาใจให้สงบระงับแล้วก็จะไม่ไปละเมิดศีล ถ้าไม่สามารถระงับความโลภความอยากได้ ก็ต้องละเมิดจนได้ เช่นถือศีล ๘ แต่ไม่สามารถระงับความอยากรับประทานอาหารเย็นได้ เดี๋ยวก็ต้องไปหามารับประทาน ถ้าคอยเฝ้าดูอยู่ที่ใจ ควบคุมที่ใจ พอคิดอยากขึ้นมาก็หาวิธีดับมัน จะด้วยอุบายแห่งสมาธิก็ได้ หรืออุบายแห่งปัญญาก็ได้ ถ้าอุบายแห่งสมาธิก็สวดมนต์ไปหรือบริกรรมพุทโธๆไป แข่งกับความคิดที่อยากจะรับประทานอาหาร เพราะความคิดจะปรากฏขึ้นมาทีเดียวพร้อมกัน ๒ อย่างไม่ได้ ต้องสลับกัน คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ให้มาคิดพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ บริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ยอมแพ้เราก็จะชนะ ความคิดอยากรับประทานอาหารก็หายไป ความหิวก็หายไป ความอิ่มใจก็เข้ามาแทนที่ นี่คือหลักของการทำจิตให้สงบระงับด้วยอุบายแห่งสมาธิ เอาอารมณ์อื่นมาแทนความคิดอยาก ถ้าเคยใช้บริกรรมพุทโธๆ ก็พุทโธๆไปเรื่อยๆ เหมือนเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ ไปเจอช่องที่กำลังทำอาหารเห็นก็เกิดความหิวความอยาก ก็เปลี่ยนไปช่องธรรมะ ถ้าจะดิ้นกลับไปก็ต้องดึงกลับมา ดึงกลับมาช่องธรรมะอยู่เรื่อยๆ บริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ ก็จะหยุดคิดถึงเรื่องอาหารไป ก็จะหายอยาก เป็นอุบายของสมาธิ
ถ้าจะใช้อุบายแห่งวิปัสสนาหรือปัญญา ก็ต้องใช้เหตุผลพิจารณาว่า ไม่กินก็ไม่ตาย ไม่กินดีกว่า เพราะจะได้ชนะตัณหาความอยาก ดับความทุกข์ได้ ถ้าแพ้ตัณหาก็ต้องเจอความทุกข์ เพราะตัณหาเป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนเห็นด้วยเหตุด้วยผลแล้วว่า กินแล้วแพ้ จะต้องทุกข์ จะต้องกินไปเรื่อยๆ กินวันนี้แล้วเพรุ่งนี้ก็ต้องกินอีก ก็จะไม่มีทางรักษาศีล ๘ ได้ ไม่มีทางนั่งทำสมาธิได้นาน พอคิดถึงเรื่องอาหารก็ต้องไปกิน กินเสร็จแล้วก็ง่วงนอน พออิ่มแล้วหนังท้องก็ตึงหนังตาก็หย่อน นั่งสมาธิก็สัปหงก ควรใช้ปัญญาใคร่ครวญว่าเราเกิดมาหาความสุขแบบไหนกันแน่ แบบหมูแบบสุนัข ที่หาความสุขจากการกินการนอนหรือ ไม่ใช่ เรามาหาความสุขทางด้านจิตใจ หาความสุขจากความสงบ ก็ต้องระงับความอยาก รับประทานอาหารพอประมาณ พอให้ร่างกายอยู่ได้ก็พอแล้ว เหมือนรับประทานยา ให้ร่างกายอยู่ได้ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ได้รับประทานเพื่อความสุข ให้หาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ ถ้าสามารถกล่อมจิตใจด้วยเหตุด้วยผลได้ พอจิตรับได้ ก็จะไม่ไปรับประทาน ก็จะภาวนาต่อได้ เมื่อสงบก็มีความสุขขึ้นมา
ต้องคอยดูใจอยู่เสมอ ถ้าดูใจแล้ว ก็จะมีศีลเป็นปกติ ไม่สร้างปัญหาให้กับตนและผู้อื่น จะมีความสุขสบายใจ ให้เฝ้าดูที่ใจเสมอ ดูได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย ดูว่ากำลังคิดอะไร พอลืมตาขึ้นมาก็ต้องรู้แล้วว่าคิดอะไรอยู่ ถ้าคิดไปในทางไม่ดีก็พุทโธๆไปเรื่อยๆก็ได้ ถ้ากำลังอยู่กับธรรมบทไหน ก็อยู่กับธรรมบทนั้นไป ถ้ากำลังเพลิดเพลินกับการพิจารณามรณานุสติ ก็พิจารณาต่อไป ถ้าพิจารณาอสุภะอยู่ก็พิจารณาต่อไป พิจารณาไปเรื่อยๆจนเป็นนิสัยติดไปกับใจ ก็จะไม่คิดเรื่องอื่น คิดเรื่องธรรมะแล้วทำให้จิตสงบ ทำให้จิตสบาย สำหรับผู้เริ่มพิจารณาใหม่ๆก็อาจจะเห็นว่าพิจารณาความตายมันน่ากลัว พิจารณาอสุภะก็น่าขยะแขยง เป็นเพราะกิเลสยังต่อต้านอยู่ กิเลสก็คือกามตัณหา ชอบดูของสวยๆงามๆ วิภวตัณหาก็อยากอยู่ไปนานๆ ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย พอพิจารณาความตาย ก็จะรู้สึกไม่ดี มีปฏิกิริยาตอบโต้จากวิภวตัณหา แต่อย่าไปถือเป็นอารมณ์ ถือว่าเป็นเพียงอุปสรรคเล็กๆน้อยๆ ที่จะข้ามไปได้ เหมือนกับเวลาฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด เช่นโรคอหิวาต์ เวลาฉีดวัคซีนร่างกายจะมีปฏิกิริยา ตอบโต้กับวัคซีนที่ฉีดเข้าไป จะเกิดอาการไข้ขึ้นมา แต่ก็เป็นเพียงแค่วันสองวัน หลังจากนั้นก็จะมีภูมิคุ้มกัน ต่อไปเวลาติดเชื้ออหิวาต์ ภูมิคุ้มกันก็จะป้องกันไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามีมรณานุสติมีอสุภกรรมฐานอยู่ในใจอยู่เรื่อยๆ ต่อไปจะไม่กลัวตาย จะเห็นความตายเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา จะไม่ทุกข์กับการตาย จะไม่หลงกับความสวยความงามของรูปร่างหน้าตา ไม่ต้องทุกข์หรือกังวลกับใครอีกต่อไป เขาจะไปมีใหม่ เขาจะไปนอนกับใคร ก็เรื่องของเขา สำหรับเราหมดปัญหาไปแล้ว เราไม่ต้องการความสุขจากเขาแล้ว เพราะเห็นความจริงของเขาแล้วว่า ไม่ได้สวยไม่ได้งามเลย มีแต่ของสกปรกออกมาตลอดเวลา ของที่ออกมาจากทวารต่างๆก็เรียกว่าขี้ทั้งนั้น ขี้หูขี้ตาขี้มูก มีของสกปรกออกมาตลอดเวลา แต่เนื่องจากความหลงทำให้มองไม่เห็น ทำให้มืดบอด ความรักทำให้เรามืดบอด จึงต้องทุกข์ไปจนวันตาย
เราปฏิบัติได้ทุกที่ทุกเวลา ให้ดูใจเป็นหลัก แต่ก็ต้องอาศัยที่สงบ พิจารณาให้มากๆ เพื่อจะได้สร้างฐานของความสงบด้วยการทำสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิก็จะไม่มีกำลังที่จะต่อสู้กับกิเลสตัณหา ฟังดูมันก็ง่าย แต่พอเวลาทำจริงๆถ้าไม่มีสมาธิจะทำไม่ได้ พออยากอะไรปั๊บ ใจก็เป็นเหมือนกับเทียนลนไฟ มันอ่อนไปหมด ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง คิดไม่ออกเลย ธรรมะข้อไหนๆไม่รู้หายไปไหนหมด เพราะไม่มีฐานของความสงบ เราจึงต้องฝึกทำสมาธิให้ได้ก่อน ต้องหาที่สงบวิเวก อยู่ตามลำพัง ตามป่าตามเขา ตามวัดป่าวัดเขา เพื่อสร้างฐานขึ้นมา ถ้ายังไม่ได้ไป ก็ดูใจไปเรื่อยๆก่อน ถึงแม้จะยังต่อสู้กับกิเลสตัณหาไม่ค่อยได้ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ไหลตามความคิดต่างๆไป อย่างน้อยก็ทำให้หนักเป็นเบา ทำให้พอมีกำลังที่จะดึงใจ ไม่ให้ไปวุ่นวายกับเรื่องต่างๆได้บ้าง ถ้ามีสติคอยเฝ้าดูอยู่ ถ้าไม่มีใจจะเป็นเหมือนปุยนุ่น อารมณ์อะไรมากระทบหน่อยก็จะลอยไปเลย เห็นใครทำอะไรไม่ถูกอกถูกใจหน่อย ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาเลย ได้ยินใครพูดอะไรไม่ดีหน่อยก็ไปเลย แต่ถ้ามีสติคอยดูใจไว้ อย่างน้อยพอจะไปก็รู้แล้ว จะได้พยายามดึงไว้ พยายามพุทโธๆไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องอะไร ในชีวิตประจำวันของเรา รับประทานอาหารไปก็พุทโธไป ดีกว่าคุยกัน ขับรถไปนั่งรถไปทำงานก็พุทโธๆไป ดีกว่าดูคนนั้นดูคนนี้ แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ให้เป็นเรื่องหนักอกหนักใจขึ้นมาเปล่าๆ เวลาไปที่สงบสงัดวิเวก จะทำสมาธิได้ง่าย ไม่ต้องไปตั้งหลักใหม่ ไม่ต้องไปเริ่มต้นที่ศูนย์ เพราะได้เริ่มมาแล้วในชีวิตประจำวันของเรา ไปต่อยอดได้เลย ถ้าไม่ได้ทำไว้เลย พอไปอยู่ที่สงบสงัดก็ต้องไปเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ พอถึงจุดเข้าได้เข้าเข็มก็ถึงเวลากลับบ้าน ก็จะไม่ได้ผลอะไร ทำไปจนวันตายก็ได้เท่านี้ ถ้าทำอย่างที่พูดนี้รับรองได้ว่าจะได้ผล จะเกิดกำลังใจ จะกล้าตัดมากยิ่งขึ้น จะปฏิบัติธรรมมากขึ้น จะไปเร็วขึ้น จะทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ
พอเริ่มไหลไปทางธรรมะแล้วก็จะไหลเร็วขึ้นๆ แรงขึ้นๆ จนไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ ที่ท่านบอกว่าจิตเป็นมหาสติมหาปัญญา ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญแล้ว ไม่ต้องบังคับให้ภาวนา ไม่ต้องบังคับให้บริกรรม บังคับให้เจริญมรณานุสติ เจริญอสุภะ มันไปของมันเอง อยู่กับเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา แล้วแต่ความเหมาะสม ที่จะต้องใช้กรรมฐานแบบไหน ก็จะไปของมันเอง เพราะรู้แล้วว่าอะไรเป็นตัณหา รู้แล้วว่าอะไรเป็นเครื่องแก้ตัณหา อยู่ในใจนี้ ทั้งธรรมและกิเลส เมื่อก่อนมีแต่กิเลสอย่างเดียว เลยไม่รู้ว่าเป็นตัณหา พอมีธรรมมาคอยต่อต้านมาคอยดับมันแล้ว เห็นความสงบเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเห็นว่าตัวที่สร้างความวุ่นวายสร้างความทุกข์ให้กับเราก็คือกิเลสตัณหานี่เอง ตัวที่จะทำให้สงบร่มเย็นเป็นสุขก็คือธรรมะ คือสมาธิปัญญานี่เอง จะไม่ต้องไปถามใครว่าปฏิบัติอย่างไร ไม่ต้องไปฟังเทศน์จากใคร ตอนนั้นจะฟังเทศน์อยู่ตลอดเวลา อย่างที่หลวงปู่มั่นเคยตอบปัญหาของพระเถระรูปหนึ่งว่า เวลาอยู่ในป่าองค์เดียว ถ้าอยากจะสนทนาธรรม อยากจะฟังธรรม จะไปฟังกับใครที่ไหน หลวงปู่ท่านตอบว่า ท่านฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตของท่านหมุนไปทางธรรมตลอดเวลา หมุนด้วยสติด้วยปัญญา ธรรมที่หลวงปู่หลวงตาแสดงให้เราฟัง ก็ออกมาจากสติปัญญาของท่าน ที่คิดไปในทางธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจากพระทัยของพระองค์ เป็นสติปัญญาในทางธรรมะ เมื่อมีธรรมอยู่ในใจแล้ว ก็มีสรณะ มีที่พึ่ง มีครูมีอาจารย์ มีศาสดา ที่จะพาจิตใจให้ก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้ามีอาจารย์ภายนอกก็ช่วยได้มาก เพราะทางปฏิบัตินี้ ถ้าไม่มีผู้ที่ผ่านไปแล้วมาบอกทาง เราก็จะหลงทางได้ เพราะเป็นทางที่มีทางแยกที่จะต้องเลือก ถ้าเลือกเองก็มักจะเลือกผิดทางกันทั้งนั้น อยู่ขั้นทานก็จะหลงติดในทาน อยู่ขั้นศีลก็จะหลงติดในศีล ขั้นสมาธิก็จะหลงติดในสมาธิ ขั้นปัญญาก็จะหลงติดในปัญญา
ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยสอน ก็เหมือนกับมีป้ายบอกไว้ตามทางแยกต่างๆ ถ้ามาถึงตรงนี้ก็ต้องไปทางนี้ อย่าไปทางนั้น นี่คือคุณค่าของครูบาอาจารย์ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปเดินผิดทาง ถ้าเดินผิดทางก็ต้องย้อนกลับมา เช่นพระพุทธเจ้าที่ไม่มีใครสอน ทรงเดินผิดทางไปอด พระกระยาหาร ๔๙ วัน คิดว่ากิเลสอยู่ที่ร่างกาย ก็จะทรงตัดด้วยการไม่เสวยพระกระยาหาร อดไป ๔๙ วันจนเกือบจะตายอยู่แล้ว กิเลสก็ยังไม่ตาย จึงทรงพิจารณาเห็นว่ามันไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย อยู่ที่ใจ ทรงระลึกถึงสมัยที่ทรงพระชนม์เยาว์วัย เคยนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งตามลำพัง แล้วจิตรวมลงสู่ความสงบมีความสุข ระงับจากความโลภความโกรธความหลง จึงนึกได้ว่านั่นคือจุดที่จะต้องไปให้ได้ คือความสงบของจิตใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย อดมา ๔๙ วันจิตใจก็ยังไม่สงบ ยังไม่ระงับดับความโลภความโกรธความหลง ความอยากต่างๆ จึงต้องถอยกลับมา จะภาวนาตอนนั้นก็ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง จึงต้องเสวยพระกระยาหาร เพื่อให้มีกำลังวังชาที่จะปฏิบัติ ทรงตั้งเป้าไปที่จิตใจเป็นหลัก รู้แล้วว่าปัญหาอยู่ที่ใจ คือความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆอยู่ภายในใจ ต้องกำจัดความโลภความหลงให้หมดไปให้ได้ ก็ทรงเจริญสมถภาวนา จิตสงบแล้วก็ทรงเจริญวิปัสสนาภาวนา หาสาเหตุของความโลภความอยากว่าเกิดมาจากอะไร ก็ทรงเห็นว่าเกิดจากความหลง เกิดจากอวิชชา ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ความสงบระงับของจิตใจ จึงต้องทำลายโมหะอวิชชาที่มีอยู่ในพระทัยให้หมดสิ้นไป จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น อยู่ในพระทัยของพระองค์ ไม่ได้อยู่ที่กาย
ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน ก็จะไม่ต้องทรมานร่างกายให้เสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่ใจ ดังที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรว่า ให้หลีกเลี่ยงความสุดโต่งของทั้ง ๒ ทาง คือการทรมานร่างกายโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร เช่นอดอาหารเป็นต้น เพราะไม่ได้ทำให้กิเลสตาย หรือหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ไม่ได้ทำให้กิเลสตายเช่นเดียวกัน ไม่ได้ทำให้ความอยากหมดไป ถ้าเกิดความอยากทางรูปเสียงกลิ่นรส ก็ไปกินเหล้าเมายา ไปเที่ยวต่างประเทศ ไปกินอาหารไปนอนโรงแรมที่หรูหรา ทำไปแล้วก็กลับมาเหมือนเดิม เดี๋ยวก็หิวก็อยากเหมือนเดิม จึงทรงสอนให้หลีกเลี่ยงทั้ง ๒ ทางนี้ ให้ไปทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทางแห่งทานศีลภาวนาหรือศีลสมาธิปัญญา ทางแห่งมรรค ๘ คือทางที่จะพาไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ สุดยอดของทางนี้ก็คือสติปัญญา ที่ทรงสอนให้เจริญทุกวันทุกเวลา เจริญสติให้เฝ้าดูและควบคุมกายวาจาใจ ไม่ให้ไหลไปตามอารมณ์ความคิดต่างๆ ให้สงบระงับให้ได้ เวลาเกิดความโลภความอยากก็ต้องระงับให้ได้ ฝึกไปเรื่อยๆ มีเวลาว่างก็ให้หาที่สงบทำจิตให้สงบให้ว่าง สงบมากก็จะมีกำลังเบรกใจเบรกกิเลสได้มาก ไม่ช้าก็เร็วก็จะถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน เพราะทางนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ ไม่ได้สงวนไว้สำหรับใคร เป็นของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทุกคน ขอให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น แล้วผลที่เราต้องการก็จะตามมาอย่างแน่นอน กลัวอย่างเดียวก็คือกลัวไม่อยากจะได้ผล พอคิดถึงงานที่ต้องทำก็ท้อถอยไปเสียก่อน เลยไม่อยากจะได้ ขอแค่เทวสมบัติก็พอ ขอแค่ความสุขจากความร่ำรวยก็พอ
ถาม ลูกรู้สึกว่าเราอยู่ในครอบครัวสังคมการงาน ทำไปแล้วมันก็ก.ไก่ ข.ไข่อยู่อย่างนี้ ไม่ไปค.ควายง.งูเสียที นานๆก็ไปอยู่วัดเสียที แต่จะหมดเวลาเสียก่อนที่จะได้ผล ไม่คืบหน้า เป็นอยู่อย่างนี้
ตอบ เราไม่ปลีกตัวเอง เปลี่ยนกลุ่มสิ ไปเกาะกลุ่มที่ฉลาดกว่าเรา เก่งกว่าเรา ปฏิบัติมากกว่าเรา เขาก็จะดึงเราไปเอง ไปเกาะอยู่กับกลุ่มที่ชอบกินชอบเล่นชอบเที่ยว ก็จะกินเที่ยวเล่นอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ถ้าหาคนที่ฉลาดกว่าเราเก่งกว่าเราเป็นเพื่อนไม่ได้ ก็อยู่คนเดียวไปดีกว่า อย่าไปคบคนที่โง่กว่าเราแย่กว่าเรา เพราะจะฉุดเราลงต่ำ ฉุดเราถอยหลัง อยู่ที่ตัวเราที่จะต้องสร้างความอยากจะปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าให้ได้ ด้วยการเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม จะเกิดศรัทธาขึ้นมา เกิดฉันทะเกิดวิริยะขึ้นมา เวลาฟังก็ตั้งใจฟัง แล้วก็เอาไปปฏิบัติต่อ หรืออ่านหนังสือธรรมะที่คัดมาจากพระไตรปิฎกก็ได้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ช่วยทำให้เกิดศรัทธาเกิดฉันทะวิริยะ อ่านศึกษาประวัติพระพุทธเจ้าก็ได้ มีหนังสือที่คัดมาจากพระไตรปิฎก ที่เล่าประวัติของพระพุทธเจ้า อ่านไปแล้วก็จะทำให้เกิดประกายขึ้นมาในใจ ถ้าไม่มีเชื้อเลยไฟก็ไม่ติด ก็ต้องบ่มเชื้อเพาะเชื้อไปก่อน อย่างที่เราทำกันอยู่นี้ ก็ต้องทำไป เราก็ได้ธรรมะจากครูบาอาจารย์ไปมากแล้ว ถ้าไฟแห่งฉันทะวิริยะยังไม่ลุกขึ้นมา ก็แสดงว่าไม่ค่อยมีเชื้อไฟ ก็ต้องบำเพ็ญไปก่อน ก็ยังดีกว่าไม่เอาเลย ไม่ทำเลย แต่อย่าบ่น ไม่เกิดประโยชน์อะไร มันอยู่ที่ตัวเรา
ถาม บางทีมีความรู้สึกอยากจะรู้ว่าที่เราได้ทำมา มีมากแค่ไหน
ตอบ ถ้ามีมาก ฟังหนเดียวไฟก็จะติดเลย ไปบวชได้เลย
ถาม ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังถึงตัวพระอาจารย์เองว่า ตอนที่ทำงานอยู่แล้วในที่สุดก็ออกจากงาน
ถาม มันไม่เหมือนกันนี่คะ ท่านพระอาจารย์ตัวคนเดียว แต่พี่มีครอบครัว
ตอบ ของเรามันเหมือนมีเชื้อพยายามวิ่งหาไฟอยู่ พอเรียนจบจึงไม่ได้กระตือรือร้นกับเรื่องการไปหางานหาเงินหาทอง หาอย่างเดียวคือความสุขใจ มันมีเชื้ออยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำให้เราสุขใจอยู่ที่ไหน แต่รู้ว่าการไปทำมาหากิน มีครอบครัว มีเงินมีทองไม่ใช่ทาง ก็เลยหาหนังสืออ่าน ตอนต้นก็อ่านหนังสือทางปรัชญา แล้วก็คุยกับคนนั้นคนนี้ แล้วก็มีคนเอาหนังสือธรรมะเล่มเล็กๆมาให้อ่าน ก็เกิดประกายขึ้นมา จึงเขียนจดหมายไปขอหนังสือธรรมะมาอ่านเพิ่ม แล้วก็ปฏิบัติตาม ก็เลยลุกไหม้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ได้ออกบวช ไปหาที่ปฏิบัติ ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ มันไปของมันเอง ไม่ได้กำหนดเป็นขั้นเป็นตอนไว้ มันไปของมันเอง พอเราจุดแล้วมีเชื้ออยู่ ก็จะไหม้ไปเรื่อยๆจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่ แต่ถ้าไม่มีเชื้ออยู่เลยต่อให้จุดเท่าไหร่ก็ไม่ติด ไม่ได้บ่มบารมีมา ไม่ได้บำเพ็ญทานบารมีศีลบารมีปัญญาบารมีมา จึงถูกความหลงครอบงำ ให้เห็นดีเห็นชอบ กับการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุขกัน ได้งานได้การดีอกดีใจกัน แต่สำหรับเราเวลาได้งานกลับคิดว่า ต้องไปเป็นทาสไปรับใช้เขา แต่บางทีก็ต้องทำเพราะจำเป็น มีค่าครองชีพต้องดูแล ก็ทำอยู่ ๖ เดือนช่วงก่อนจะบวช ตอนที่จบมาใหม่ๆมีเงินเหลือติดตัวมา ก็เลยสบาย อยู่ไปได้ปีหนึ่ง ไม่ต้องทำงาน แต่ก็หางานไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้งานที่ถูกใจก็ไม่เอา จนเงินเกือบจะหมด ก็พอดีมีเพื่อนมาออกแบบร้านขายไอศกรีมที่พัทยา ถามเขาว่ามีผู้จัดการหรือยัง เขาบอกว่าไม่มี เราบอกเขาว่าเคยทำงานที่ร้านไอศกรีมที่เมืองนอก เขาก็เลยให้ไปคุยกับฝรั่งที่เป็นเจ้าของ เขาก็ตกลง ก็เลยได้งานทำ ตอนนั้นยังไม่ได้หนังสือธรรมะมาอ่าน
ทำได้สักสองเดือนจึงได้หนังสือธรรมะมา อ่านแล้วก็ปฏิบัติ ทำงานได้ ๖ เดือนก็ขอลาออก ตอนนั้นเก็บเงินได้สี่ห้าพัน พอใช้ได้ปีหนึ่ง เพราะปฏิบัติกินข้าววันละมื้อเดียว สมัยก่อนใช้วันไม่ถึง ๑๐ บาทก็ยู่ได้แล้ว ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๒ บาท ข้าวมันไก่ข้าวหมูแดงจานละ ๓ บาท ถ้ากิน ๒ จานก็อยู่ได้แล้ว ความจำเป็นของร่างกายไม่มากเลย ตอนนั้นไม่ได้คิดอยากหาความสุขจากสิ่งอื่นเลย การดูแลรักษาร่างกายด้วยปัจจัย ๔ นี้ ไม่ต้องใช้เงินมาก พอดีที่บ้านมีห้องแถวอยู่ห้องหนึ่ง ไม่มีใครอยู่ด้วย อยู่คนเดียว เป็นเหมือนวัดไปในตัว ปฏิบัติอยู่ในบ้านคนเดียว ห้องแถวก็ยาวพอเดินจงกรมได้ เดินจากหน้าบ้านไปถึงหลังบ้าน เดินเหนื่อยก็นั่ง นั่งเหนื่อยก็อ่านหนังสือธรรมะ สลับกันไป นานๆก็ออกไปข้างนอกบ้าง ไปเดินดูนั่นดูนี่ พอเบื่อก็กลับมา ส่วนใหญ่จะไปที่ชายทะเล ไปแช่น้ำไปอาบน้ำ แล้วก็ขึ้นมานั่งสมาธิกลางแดด พอร้อนก็ลงไปแช่น้ำใหม่ มีความสุขดี พอเงินหมดก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อ ถ้าไม่บวชก็ต้องไปทำงาน ถ้าไปทำงานก็จะไม่ได้ปฏิบัติเต็มที่ จะบวชกิเลสก็ต่อต้านอยู่ภายในใจ เหมือนถูกจับเข้ากรง เวลาไม่บวชจะทำอะไรจะไปไหนก็ได้ คิดไปคิดมาก็ไม่มีทางเลือกอื่น ก็เลยต้องบวช จะได้มีเวลาปฏิบัติ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องทำมาหากิน ถ้าบวช ก็จะหาวัดที่สงบ ไม่ต้องเรียนทางปริยัติ วัดที่มีการสวด มีกิจนิมนต์ต่างๆ มีงานศพงานบุญก็จะไม่เอา พอดีได้พบพระรูปหนึ่งเพิ่งไปกราบหลวงปู่ฝั้นมา ท่านก็บอกว่าต้องไปทางภาคอีสาน ให้ไปบวชกับสมเด็จพระญาณฯที่วัดบวรฯ ท่านจะอนุญาตให้ไปอยู่ศึกษาปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ ถ้าจะบวชกับพระท่านก็ต้องอยู่กับท่าน ๕ ปีตามหลักพระวินัย เมื่อบวชแล้วจะต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์ ๕ ปี
เราก็ไม่เคยไปวัดบวรฯ ไม่รู้จักใครที่นั่น เราก็ไป บุญก็พาไปพบสมเด็จฯจนได้ ท่านก็เมตตาบวชให้ บุญก็พาให้รู้จักวัดป่าต่างๆ เพราะที่วัดบวรฯมีชาวต่างประเทศ ที่บวชแล้วจะไปอยู่ตามวัดป่าของครูบาอาจารย์กัน เช่นวัดของหลวงปู่ขาว หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ฝั้น หลวงตามหาบัว เราก็เลือกไปวัดหลวงตาก่อน กะว่าจะแวะไปเรื่อยๆ ไปดูหลายๆวัด พอไปถึงวัดหลวงตาก็ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่ประมาณเกือบ ๙ ปี อยู่ ๙ พรรษา ๘ ปีกว่า พอลาท่านออกมาแล้วก็ไม่เคยกลับไปเลย ไปปี ๒๕๑๘ ออกมาปลายปี ๒๕๒๖ เพราะโยมพ่อไม่สบาย ไม่กี่เดือนท่านก็เสีย พอออกพรรษาก็มาอยู่ที่วัดญาณฯตอนปลายปี ๒๕๒๗ ถึงวันนี้ก็ ๒๓ ปีแล้ว หลวงตาท่านก็เมตตามาอยู่เรื่อยๆ ใหม่ๆท่านจะมาเกือบทุกปี ตอนนั้นท่านยังไม่ได้ไปที่สวนแสงธรรม ท่านจะมาที่พัทยา อยู่สวนป่ากรรมฐาน เวลาที่ท่านแวะมาก็ไม่เคยส่งข่าวมาก่อน แต่เราก็ไม่ได้ไปไหน ไม่รู้เป็นอย่างไรตั้งแต่บวชแล้วไม่เคยคิดอยากจะไปไหนเลย ตอนเรียนจบก็แวะเที่ยวยุโรป มีเป้อยู่ใบหนึ่ง นอนตามหอพักนักเรียนคืนละเหรียญ อาหารมื้อละเหรียญ วันหนึ่งใช้ไม่เกิน ๕ เหรียญ พอบวชแล้วก็ไม่คิดอยากไปไหนเลย คิดแต่จะเข้าข้างใน ให้ถึงขั้วถึงแก่นของหัวใจเลย ที่อยากจะไปมันอยู่ข้างใน ไม่อยู่ข้างนอก ไปข้างนอกไม่ได้อะไร ได้แต่สนุกเพลิดเพลิน แล้วก็ผ่านไป เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ความอยากความหิว ไม่ได้ทำให้อิ่มทำให้พอเลย ถ้าเข้าไปในจิตในใจยิ่งลึกเท่าไหร่ ก็ยิ่งสงบ ยิ่งมั่นคงยิ่งปลอดภัยมากขึ้นไปเท่านั้น
ถาม ตอนที่ภาวนาใหม่ๆนี่ เวลานั่งแล้วสงบส่วนใหญ่เลยใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ตอนนั่งก็สงบ แต่ไม่ถึงกับรวมลง รู้สึกสงบสงัด เสียงอะไรต่างๆรู้สึกอยู่ไกลออกไปๆ อยู่มาวันหนึ่งพอนั่งแล้วมันเจ็บมันปวด ก็เกิดฮึดสู้ขึ้นมา ไม่ลุก ก็ภาวนาต่อ บริกรรมอนิจจังๆไปในใจ ไม่เที่ยงๆไป สัก ๒ ๓ นาทีเท่านั้นมันดับไปหมดเลย ความเจ็บปวดอะไรต่างๆหายไปหมดเลย แปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ใจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไปได้ จากความทุรนทุราย จากความเจ็บปวด กลายเป็นสงบนิ่งไป แต่ไม่ได้รวมอยู่นาน เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง ทำให้เห็นว่าต้องไปทางนี้ ต้องผ่านทุกขเวทนาไปให้ได้ เป็นด่านสกัดไม่ให้จิตรวมลงสู่ความสงบ หลังจากนั้นก็นั่งไปได้ยาวขึ้นๆ ก็ทำไปเรื่อยๆ ก็ไปได้เรื่อยๆ นั่งสมาธิสลับกับเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมก็จะพิจารณาร่างกาย เกิดแก่เจ็บตาย อาการ ๓๒ คิดพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พออยากจะสงบก็นั่งทำสมาธิ ทำสลับกันไป จิตก็จะได้ทั้งปัญญาทั้งสมาธิควบคู่กันไป อย่าทำแต่สมาธิอย่างเดียว หรือทำแต่ปัญญาอย่างเดียว หลวงตาท่านสอนว่าสมาธิกับปัญญาเป็นเหมือนเท้าซ้ายกับเท้าขวา ต้องสลับกันเดิน ถ้ามีขาเดียวก็ต้องเขย่งกระโดดไป ถ้ามี ๒ ขาเดินก็จะก้าวไปอย่างรวดเร็ว ก้าวเท้าซ้ายแล้วก็ก้าวเท้าขวา ก้าวสลับกันไป จะช่วยสนับสนุนกัน สมาธิจะช่วยส่งเสริมปัญญาให้แหลมคม ปัญญาจะช่วยส่งเสริมสมาธิให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น
ถาม ตอนที่นั่งทำสมาธิแล้วเริ่มง่วง ก็ไปเดินจงกรม ก็เบื่ออีก ยังไม่อยากนั่ง ก็เปลี่ยนมาพิจารณาทางด้านวิปัสสนา พิจารณาร่างกายได้ใช่ไหมคะ ถึงแม้ยังมีความง่วงอยู่ ก็คิดไปเรื่อยๆหรือคะ
ตอบ ส่วนใหญ่จะสู้ความง่วงไม่ได้ สักพักหนึ่งก็จะดึงไปนอนจนได้ ต้องไปอยู่ที่กลัวๆ
ถาม การสู้กับทุกขเวทนาความเจ็บปวด บางทีก็ชนะบางทีก็แพ้ สู้กันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวไปเดี๋ยวมา ไม่หมดไปเสียที ของท่านอาจารย์ดับไปอย่างนี้แล้วตอนหลังมาอีกไหมครับ
ตอบ ยังมาอยู่ เพราะเวทนาเป็นนามขันธ์ที่เกิดดับๆ ถ้าจิตยังเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ อยู่ ก็ยังต้องมีเวทนา ถ้าจะไม่ให้หวั่นไหวกับทุกขเวทนา ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่าเวทนามีอยู่ ๒ ชนิด คือเวทนาทางกายกับเวทนาทางใจ ตัวที่รุนแรงก็คือทุกขเวทนาทางใจ ที่เกิดจากความดิ้นรนกวัดแกว่งของจิตใจ เวลาที่เจอกับความเจ็บปวดของร่างกาย ถ้าระงับดับความดิ้นรนกวัดแกว่งของใจได้ ร่างกายจะเจ็บขนาดไหนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร นั่งได้สบาย ต้องดับทุกขเวทนาทางใจให้ได้ ด้วยการปล่อยวางเวทนาทางกาย ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา สัพเพ ธัมมา อนัตตา เวทนาก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป อย่าไปยินดียินร้ายกับเขา ส่วนใหญ่จะยินดีกับสุขเวทนา แล้วก็รังเกียจทุกขเวทนา พอเกิดทุกขเวทนาก็เกิดอาการทุรนทุรายดิ้นรนกวัดแกว่ง เวลาเกิดสุขเวทนาก็เกิดอาการรักอยากจะกอดให้อยู่ไปนานๆ พอจากไปก็เสียใจ พอเปลี่ยนจากสุขเวทนามาเป็นไม่สุขไม่ทุกขเวทนา ก็รู้สึกจืดชืด ไม่มีความสุข ก็จะดิ้นไปหาความสุขใหม่ จึงต้องหัดทำใจให้เฉยๆ ปล่อยให้เวทนาทั้ง ๓ เป็นไปตามเรื่องของเขา เหมือนกับลม จะพัดมาก็ให้พัดมา จะหยุดพัดก็ปล่อยให้หยุดไป ไม่ต้องไปวุ่นวายกับเรื่องของลม ถ้าร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป พอลมพัดมาทำให้เย็นก็เย็นไป ที่สำคัญก็คือให้ใจเย็นก็แล้วกัน ถ้าใจเย็นแล้วจะร้อนขนาดไหน จะหนาวขนาดไหน จะไม่เป็นปัญหากับใจเลย ถ้าสามารถรักษาใจให้เป็นอุเบกขาได้ ด้วยการพิจารณาจนเห็นแล้วว่า โทษอยู่ที่ไปยึดติดกับเวทนาทางกาย ก็ต้องปล่อยมัน จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป พอปล่อยได้แล้วก็เบาใจ สงบเย็นสบาย
ถาม หมายความว่า เราจะไม่สามารถทำจิตรวมเป็นหนึ่งได้ ถ้าไม่สามารถผ่านเวทนาไปได้ใช่ไหมคะ
ตอบ ไม่จำเป็นเสมอไป ถ้ามีสติดี นั่งบริกรรมพุทโธเพียง ๕ นาทีก็รวมลงได้ อย่างคุณแม่แก้วนี้เป็นต้น ไม่ต้องผ่านเวทนา แต่ไม่เกิดปัญญา เกิดเพียงสมาธิ เหมือนพวกฤาษีเข้าฌาน เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ องค์ ก็มีสติดี สามารถกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แล้วก็รวมลงสู่ฌานได้ แต่ก็ทำได้แค่นี้ พอออกมาแล้วก็เป็นเหมือนไม่เคยนั่ง พอไปสัมผัสอารมณ์ต่างๆ ก็เกิดความโลภความโกรธความหลงขึ้นมา ยังอยู่ในขั้นของสมถะ ยังไม่ได้เข้าขั้นวิปัสสนา ถ้าจะเข้าขั้นวิปัสสนาก็ต้องเจริญไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วปล่อยเขาไป ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายก็ปล่อยไป แต่ไม่ได้ปล่อยปละละเลย เมื่อถึงวาระที่จะต้องแก่ก็ปล่อยให้แก่ไป ไม่แก้ไขด้วยการไปทำศัลยกรรมต่างๆ แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ รักษาได้ก็รักษาไป ดูแลกันไป ตายก็ตายไป ถ้าปล่อยวางได้แล้ว เวทนาความเจ็บของร่างกายจะมีมากขนาดไหนก็ตาม จะไม่กระทบกระเทือนใจเลย
ถาม เวลาเจ็บปวดนี่ บางคนก็ใช้วิธีที่หาเบาะนุ่มๆมานั่งให้สบาย อย่างนี้ก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา
ตอบ แก้ความเจ็บที่ใจไม่ได้ ใจดิ้นรนกวัดแกว่ง อยากจะให้หายเจ็บ ก็จะเกิดความเครียดขึ้นมาในใจ แล้วก็ไปกระทบกับร่างกาย ทำให้ร่างกายตายเร็วขึ้น ตายเพราะความเครียดได้ ถ้าภาวนาเป็น ทำใจให้สงบเป็น จะใช้ธรรมโอสถ ไม่เครียดกับร่างกาย เดี๋ยวร่างกายก็ฟื้นเอง อย่างหลวงปู่มั่นตอนที่ท่านไปอยู่ที่ถ้ำสาลิกา ท่านปวดท้องมาก ก็หายากิน กินแล้วกินอีกก็ไม่หายปวดเสียที จนในที่สุดก็ตัดยาทิ้งไปเลย หันมาภาวนาทำจิตให้สงบ ปล่อยให้เวทนาเป็นไปตามเรื่องของมัน พอท่านปล่อยเวทนาได้ จิตก็รวมลงเข้าสู่ความสงบ พอถอนออกมาโรคก็หายไป แสดงว่าเกิดจากความเครียด ความกังวล ความวุ่นวายใจส่วนหนึ่ง ที่ไปกดไม่ให้ร่างกายทำหน้าที่ของเขา คือต่อสู้หรือรักษาตัวเขาเองโดยธรรมชาติ เพราะความเครียดจะทำให้เป็นมากขึ้น พอไม่เครียดแล้วจิตก็สงบนิ่งเฉย ร่างกายก็ฟื้นกลับขึ้นมาโดยธรรมชาติ พอถอนออกมาก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเลย โรคบางอย่างมาจากความเครียดเป็นหลัก มีหมอคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีพระไปหา บอกปวดหัว เป็นอะไรก็ไม่รู้ หมอก็เช็คทั้งร่างกาย ก็ไม่เห็นมีอะไร แต่ก็ไม่หายเสียที พอพระองค์นั้นสึกไปแล้ว ท่านบอกว่าอาการปวดหัวหายไปหมดเลย ตอนบวชเครียด พอสึกไปแล้ว ทำอะไรได้ตามใจ จึงไม่เครียด
ถาม รู้สึกว่าเวลาปฏิบัติกิเลสมันดึงกันนะคะ คือปกติทำงานนี่ เรามีความติดในสรรเสริญ เขาบอกว่าเราทำงานดี เราก็ยิ่งอยากทำให้มันดี แล้วมันก็ดี เราก็ได้สรรเสริญกลับมา พอเริ่มมาฟังธรรมก็รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์จริงๆกับชีวิต ก็ตั้งใจจะปฏิบัติธรรมมากขึ้น พอกลับไปที่ทำงานก็มีความรู้สึกว่าเรามานั่งทำอะไร แล้วจะทำให้ดีอย่างเดิมได้อย่างไร ก็จะดึงกันไปดึงกันมา ก็เลยถอยการปฏิบัติออกมานิดหนึ่ง โลกก็เข้ามามากเกินไป ก็ถอยโลก ก็ยังถอยไปถอยมาอยู่คะ
ตอบ ถ้ายังอยู่ทางโลกก็ทำให้ดีที่สุด แต่ไม่ได้ทำเพื่อการสรรเสริญ ไม่ได้ทำเพื่อผลตอบแทนจากใคร ทำเพื่อพัฒนาจิตใจ เพราะการทำด้วยความตั้งใจด้วยสติด้วยปัญญา แม้ว่าทำทางโลกก็ใช้เครื่องมืออันเดียวกันกับทางธรรม ใช้สติปัญญาความตั้งใจตัวเดียวกัน ซึ่งมีความสำคัญต่อการปฏิบัติธรรม ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ผลตอบแทน ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม จะไม่หวังผลตอบแทนจากใคร ไม่ต้องการสรรเสริญ ไม่ต้องการเงินเดือนเพิ่ม ต้องการเพียงความสุขใจภูมิใจ ที่ได้ทำผลงานที่ดี
ถาม แต่ความภูมิใจก็ยังเป็นความยึดติดกับความดีหรือเปล่าคะ
ตอบ ไม่หรอก เป็นผลที่เกิดจากการทำความดี อย่างที่เราเสียสละกันวันนี้ เราก็มีความภูมิใจ เป็นผลที่เกิดจากการทำความดี ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้นมาเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร รับประทานแล้วก็เกิดความอิ่มหนำสำราญใจตามมา
ถาม ผลคือความสรรเสริญที่เกิดขึ้นนี้ ถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันจะผลักดันให้เรามีกำลังใจ อยากทำอีก
ตอบ พยายามตั้งสติไว้ เวลาใครสรรเสริญก็ให้ถือว่าเป็นผลพลอยได้ แต่เราทำโดยไม่หวังการสรรเสริญจากใคร ทำไปตามหน้าที่เพื่อให้ผลงานออกมาดีถูกต้อง ใครจะสรรเสริญหรือไม่ก็สุดแท้แต่ เพราะคนที่ไม่สรรเสริญก็มี คนที่อิจฉาริษยาก็มี อย่าไปให้ความสำคัญ อย่าถือเป็นอารมณ์ ให้ถือว่าเมื่อยังมีหน้าที่ในการทำงาน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อตอบแทนเงินเดือนค่าจ้าง ไม่ได้หวังรางวัลเช่นใบประกาศนียบัตรเป็นต้น แต่ถ้าให้เรา ก็รับไว้เพื่อไม่ให้เสียมารยาท ไม่ให้เสียน้ำใจ เมื่อยังอยู่ในโลกที่ถือเรื่องลาภยศสรรเสริญสุขกันอยู่ มีการตอบแทนการทำความดีกันอยู่ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องรับ แต่ไม่ได้รับด้วยความยินดี รับมาแล้วก็วางไว้ก็จบ เพื่อไม่ให้ผู้ให้เสียใจ อย่างของที่ญาติโยมถวายมา เรากินหมดที่ไหนละ ถ้าไม่รับคนที่ถวายก็ไม่ได้บุญไม่ได้ความสุข ก็รับไว้เพื่อให้เขามีความสุข แต่เราอย่าไปสุขกับสิ่งที่เรารับก็แล้วกัน ถ้าสุขก็แสดงว่ายึดติดแล้ว คราวหน้าไม่ได้รับก็จะเสียใจ
ถาม ตอนนี้ยังหัดๆอยู่ คอยมองว่าเรารู้สึกยินดีหรือไม่
ตอบ ให้ดูว่าดีใจกับสิ่งที่ได้มาหรือไม่ เสียใจไปกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ เราไม่ควรมีปฏิกิริยาทั้ง ๒ อย่าง ไม่ยินดี ไม่เสียใจ เวลาได้มาก็ไม่ดีใจ เตือนใจว่ามันมาเพื่อจากเราไป จากไปก็ดี จะได้ไม่ต้องเป็นภาระ เป้าหมายของการปฏิบัติอยู่ตรงนี้ ให้ใจเป็นอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย สงบนิ่งแต่ไม่เฉยเมย ถ้าเฉยเมยแต่ข้างในร้อนเป็นไฟก็ไม่ดี ถ้าเป็นอุเบกขาจริงๆ จะโล่ง จะว่าง จะเบา จะหัวเราะได้
ถาม ไม่ไปกังวลกับผลที่ออกมา ไม่จำเป็นต้องออกหน้า
ตอบ เฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดาของโลกแห่งลาภยศสรรเสริญสุข ที่ทุกคนต้องสัมผัสด้วยกันทั้งนั้น ทั้งส่วนที่เจริญและส่วนที่เสื่อม คนฉลาดเป็นเหมือนกับปลาฉลาด ที่ไม่ฮุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด เพียงแทะเล็มเท่านั้น แต่จะไม่ฮุบเข้าไปให้เบ็ดเกี่ยวคอ ได้ลาภยศสรรเสริญสุขมาก็รับไว้ แต่ไม่พึ่งพาอาศัยมัน ไม่ได้มีความสุขกับการได้มา ถ้าไม่มีความสุขความยินดีแล้ว เวลาจากไปก็จะไม่ทุกข์ไม่เสียใจ นี่คือการปฏิบัติต่อโลกธรรม ๘ ถ้าไม่ฉลาดก็จะเป็นเหมือนปลาที่ฮุบเหยื่อ พอลาภยศสรรเสริญสุขจากไป ก็ร้องห่มร้องไห้โวยวาย บ้านเมืองจึงวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น คนชนะก็ดีใจ คนแพ้ก็โวยวาย
ถาม ต้องดูว่าใจว่าเป็นปกติหรือไม่ ใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ ต้องดูด้วยปัญญา ให้รู้ทัน ให้เห็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วก็ปล่อยวาง ให้เห็นว่าของทุกอย่างที่ได้มาไม่ใช่ของๆเรา เดี๋ยวก็จากกันไป มาตัวเปล่าๆไปตัวเปล่าๆ ท่องคาถานี้ไว้
ถาม บางทีก็พยายามทำอุเบกขานะครับ แต่ข้างในมันก็ร้อนอยู่ ไม่ใช่อุเบกขาที่แท้จริง
ตอบ ใช่ มันเป็นการคิดไปในใจเท่านั้นเอง ไม่ได้เห็นด้วยปัญญา
ถาม พยายามละวาง
ตอบ ไปข่มใจเฉยๆไม่ได้ ต้องใช้อุบายแห่งสมาธิหรือปัญญา เพียงพูดว่าต่อไปนี้จะไม่ยินดีไม่ยินร้ายแล้ว พูดไปเถอะ มันไม่ตายหรอก
ถาม เวลาทุกข์เราก็รู้ว่ามันทุกข์ แต่ยังแก้ไม่ได้
ตอบ ไม่ทันกิเลส มันเร็วกว่าเรา มันทำงานแล้ว แต่เรายังไม่ได้เอาเครื่องไม้เครื่องมืออกมาเลย ถ้าเป็นมหาสติมหาปัญญา จะอยู่คู่กับใจตลอดเวลา พอกิเลสเกิดมาปั๊บก็ชนมันเลย ดับตรงนั้นได้เลย ถ้าเราทุกข์ก็แสดงว่าถูกมันยิงแล้ว
ถาม ก็ต้องฝึกสมาธิปัญญาเพื่อไปข่มมันให้ได้ ฝึกเครื่องมือตัวนี้
ตอบ การเจริญสติสามารถเจริญได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นจะต้องไปวัด อยู่ที่ไหนก็เจริญได้ เพียงแต่ไม่ชอบเจริญกัน ก็เลยติดเป็นนิสัยไป พอตื่นขึ้นมาก็ไหลไปตามอารมณ์ความคิดต่างๆ วันนี้วันอะไร จะต้องทำอะไรบ้าง คิดไปแล้ว คิดไปก็ล้างหน้าล้างตาไป แปรงฟันไป แต่งเนื้อแต่งตัวไป คิดไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเลย
ถาม อยู่ที่วัดป่าบ้านตาดเหมือนกับติดคุก อย่างที่ท่านอาจารย์เกรงไว้ก่อนหรือเปล่าครับ
ตอบ ไม่เลย พอบวชแล้วจึงเห็นว่าไม่ได้เป็นการติดคุกเลย เป็นการบำเพ็ญเป็นการปฏิบัติเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ต่างหาก ก่อนหน้านั้นก็เคยคิดอยู่ว่าการบวชเป็นเหมือนติดคุก ตอนที่เริ่มปฏิบัติก็ไม่เคยคิดว่าจะบวช คิดว่าเป็นฆราวาสปฏิบัติไปก็จะอยู่อย่างมีความสุข แต่พอปฏิบัติไปจริงๆแล้วก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันขัดกัน ชีวิตของฆราวาสกับความสงบของจิตใจไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อเห็นสัจธรรมนี้แล้ว ก็จะไม่เห็นว่าการไปบวชเป็นเหมือนติดคุก แต่ก็ยังมีกิเลสลึกๆที่ทำให้ไม่อยากบวชอยู่ ถ้าช่วงนั้นมีเงินพอ ไม่ต้องไปทำงาน ก็อาจจะไม่บวชก็ได้ อาจจะปฏิบัติเป็นฆราวาสไปเรื่อยๆ แต่จะเป็นผลเสียมากกว่าเป็นผลดี เพราะจะขาดครูบาอาจารย์ขาดหมู่คณะ ยังไม่เก่งพอที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยลำพังได้ อาจจะหลงผิดติดอยู่กับเพศฆราวาส คนที่คิดว่าปฏิบัติธรรมเก่งแต่ยังเป็นฆราวาสอยู่ แสดงว่ายังหลงผิดอยู่มาก เราก็เคยคิดอย่างนี้มาก่อน พอบวชแล้วจึงเห็นคุณค่าของการบวช ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ที่เลิศวิเศษ อยู่กับหมู่คณะที่ดี ได้สถานที่ดีมันช่วยได้มาก
ถาม พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงเรียนรู้ด้วยตนเอง
ตอบ เหมือนกับพระพุทธเจ้าของเรานี้ เพียงแต่ท่านไม่ได้ประกาศสอนพระศาสนา บำเพ็ญเองปฏิบัติเองบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเอง พอตรัสรู้แล้วก็ไม่ทรงประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่ผู้อื่น เช่นพระพุทธเจ้าของพวกเรา ก็เกือบจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป ทรงท้อพระทัย แต่มีท้าวมหาพรหมมาอาราธนาให้โปรดเมตตาสัตว์โลก ให้โปรดคนที่สามารถรับพระธรรมคำสอนได้ ตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆทรงคิดว่า ธรรมนี้ยากกว่าความสามารถของสัตว์โลกที่จะนำไปปฏิบัติได้ แต่พอได้พิจารณาแยกแยะก็ทรงเห็นว่า คนมี ๔ จำพวก เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า ผู้ที่จะมีศรัทธาและสามารถรับประโยชน์ได้เต็มที่ก็มี พวกที่ไม่สามารถรับได้เลยก็มี เป็นบัวอยู่ติดดิน พวกนี้ไม่ทรงสอน ทรงสอนพวกที่รู้เร็ว ฟังครั้งสองครั้งก็บรรลุได้ แล้วก็สอนพวกที่ต้องสอนหลายๆครั้งหน่อยจึงจะบรรลุได้ แล้วก็สอนพวกที่ต้องบำเพ็ญบารมีไปก่อน เวลาเจอพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปจะได้มีบารมีพอที่จะบรรลุได้ แต่พวกที่ปฏิเสธนรกสวรรค์ ปฏิเสธการเวียนว่ายตายเกิด ปฏิเสธมรรคผลนิพพาน ไม่ทรงสอนให้เสียเวลา ไม่ได้ทรงสอนเพราะอยากดังทรงสอนเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังเพียงอย่างเดียว ถ้าผู้ฟังไม่ต้องการประโยชน์ ก็ไม่ทรงบังคับยัดเยียด ตอนที่พระองค์เดินทางไปโปรดปัญจวัคคีย์ ก็สวนทางกับพราหมณ์รูปหนึ่ง พราหมณ์ก็ถามว่าเป็นใครมาจากไหนจะไปไหน ทรงตอบว่าเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สิ้นกิเลสหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้ว จะไปโปรดพวกปัญจวัคคีย์ เขาก็บอกว่าไปก็ดี ไม่ได้แสดงความยินดีตื่นเต้นด้วยเลย แสดงว่ายังไม่มีศรัทธา
ถาม พระพุทธเจ้าจุดไฟให้แล้ว
ตอบ จุดให้แล้ว แต่ไม่มีเชื้อไฟ ไม่มีบารมี
ถาม ผู้ที่จะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ท่านต้องตั้งจิตอธิษฐานมาก่อนไหมคะ
ตอบ ถ้าอธิษฐานหมายถึงการตั้งเป้าก็ต้องอธิษฐาน เหมือนกับอยากจะได้ปริญญาเอก ก็ต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่าจะเอาปริญญาเอกให้ได้ จากนั้นก็เรียนไปเรื่อยๆ พอจบมัธยมก็เรียนปริญญาตรีปริญญาโทปริญญาเอกต่อ จนได้ปริญญาเอกจึงจะหยุดเรียน นี่คือความหมายของอธิษฐาน คือการตั้งเป้า ถ้าอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องบำเพ็ญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เป็น ถ้ายังไม่ได้เป็นก็ไม่หยุด เช่นได้เป็นเทพเป็นพรหมก็ยังไม่พอ ต้องบำเพ็ญต่อไป พระอาจารย์ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ รูป บำเพ็ญจนได้เป็นพรหม ได้รูปฌานอรูปฌานแล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้น อาจจะไม่มีปัญญารู้ว่ามีพระนิพพานที่สูงกว่าดีกว่า หรือไม่ได้อธิษฐานว่าจะไปสูงกว่านั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงมีความปรารถนาที่จะไปสูงกว่านั้น สิ่งที่ทรงต้องการก็คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง จะหลุดพ้นได้ก็ต้องเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าหลุดพ้นเองโดยไม่มีใครสอนก็เป็นพระพุทธเจ้า ถ้ามีคนสอนก็เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังมีความทุกข์อยู่ในใจก็แสดงว่ายังไปไม่ถึง ก็ต้องปฏิบัติต่อไปจนกว่าไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ภายในใจ ถ้าอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ ก็ต้องตั้งจิตอธิษฐานให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง จะชัดเจนกว่า ถ้ารู้ว่าการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เราจะได้มีมาตรวัด เหมือนกับเวลาขับรถ มีมาตรวัดความเร็ว ถ้าอยากจะขับรถไม่ให้เกิน ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ดูที่มาตรวัดความเร็ว พอถึง ๑๒๐ ก็รักษาความเร็วไม่ให้เร็วไปกว่านั้น แต่ถ้าไม่มีมาตรวัดความเร็ว จะไม่รู้ว่ากำลังวิ่ง ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือยัง นี่ก็เหมือนกันถ้าอยากเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า ก็ต้องไม่มีความทุกข์ในใจเหลืออยู่เลย นี่คือความหมายของการอธิษฐาน ถ้าเพียงแต่ทำบุญตักบาตรแล้วก็ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า คงจะไม่พอ เพราะบำเพ็ญทานบารมีเพียงบารมีเดียว ต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ จนครบถ้วนบริบูรณ์ ถึงจะเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ได้
ถาม ถ้าบริสุทธิ์โดยได้รับคำสั่งสอนก็เป็นพระอรหันตสาวก
ตอบ ใช่ ถ้าบริสุทธิ์ด้วยตนเองก็เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าสั่งสอนผู้อื่นก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่สั่งสอนก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ถาม จะว่างจากพระพุทธศาสนาใช่ไหมคะช่วงนั้น
ตอบ ถ้าไม่สอนก็จะว่าง ถ้าสอนก็จะมีพระพุทธศาสนาไประยะหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า พระศาสนาของพระองค์จะมีอายุประมาณ ๕๐๐๐ ปี หลังจากนั้นแล้วคำสอนก็จะหายไป ไม่มีใครศึกษาต่อ ไม่มีใครนำมาปฏิบัติต่อ ก็เลยไม่มีใครรู้เรื่องคำสอน ไม่รู้เรื่องการหลุดพ้นจากความทุกข์ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องบุญเรื่องสวรรค์ จะไม่มีการปฏิบัติ จะเชื่องมงายไปตามกระแส ถ้ากระแสให้เชื่อเหรียญห้อยคอ ก็จะห้อยกันเกลื่อนไปหมด
ถาม ในระหว่างนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้ามีอุบัติขึ้นไหมคะ
ตอบ มี
ถาม ในช่วงพุทธันดรนี้นะคะ
ตอบ มี แต่ไม่มีใครรู้
ถาม บารมีของท่านจะเท่ากันไหมคะ
ตอบ ไม่เท่ากัน บารมีสำหรับกำจัดกิเลสนี้เท่ากัน บารมีสำหรับการประกาศพระศาสนาจะไม่เท่ากัน ถ้ามีไม่พอก็จะไม่สามารถประกาศพระศาสนาได้ พระศาสนาของแต่ละองค์ก็ยาวไม่เท่ากัน บางองค์ก็ยาวเป็นหมื่นปี บางองค์ก็ห้าพันปี
ถาม สมัยพุทธันดรช่วงที่ไม่มีพุทธศาสนา ผู้คนก็ยังอาจจะมีบางคนที่มีศีลเหมือนกันใช่ไหมคะ
ตอบ คนที่อยู่ในประเทศที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปไม่ถึง ก็เหมือนกับอยู่ในโลกที่ไม่มีศาสนา แต่ใจยังใฝ่หาอยู่ เพราะมีเชื้ออยู่ พอได้สัมผัสกับพระศาสนา ได้รับประกายไฟ ก็มาบวชเลย
ถาม โลกในช่วงนั้นก็ยังมีความร่มเย็นบ้างเหมือนกัน
ตอบ เป็นหย่อมๆ เฉพาะคนที่มีบุญเก่าติดตัวมา คนที่ชอบทำบุญไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่นก็จะอยู่อย่างร่มเย็น คนที่ไม่ชอบทำบุญแต่ชอบเบียดเบียนผู้อื่นก็จะอยู่อย่างรุ่มร้อนวุ่นวาย เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นหย่อมๆ บางหย่อมก็เหมือนกับไม่มีศาสนา อย่างแถวตะวันออกกลางก็เหมือนไม่มีศาสนา หรือในแอฟริกา ฆ่าฟันกันเป็นผักเป็นปลา อาจจะมีคนบางกลุ่มบางพวกที่รักสันติ ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ถ้ามีบุญได้พบหนังสือธรรมะ ก็อาจจะบินมาประเทศไทย หรือประเทศที่มีพระพุทธศาสนา มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปประเทศต่างๆมากขึ้นแล้ว มีทั้งพระไทยและพระชาวต่างประเทศที่เคยมาศึกษาที่เมืองไทย ตอนนี้ก็กลับไปเผยแผ่ที่บ้านเขา เหมือนจุดเทียนต่อกัน ศาสนาพุทธก็เลยไหลไปไหลมารอบโลกนี้ เมื่อก่อนอยู่ที่ประเทศอินเดีย แล้วก็ไหลมาทางประเทศศรีลังกา มาพม่า มาไทย ไปจีน ไปญี่ปุ่น ทางจีนกับญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีเหลืออยู่แล้ว ทางไทยเราก็จะเริ่มจางไป ตอนนี้ก็เริ่มไปทางอเมริกายุโรปแล้ว วนไปเวียนมาอย่างนี้ จะค่อยๆจางลงไป พอถึง ๕๐๐๐ ปีแล้วก็จะหายไปหมดเลย พวกเราอยู่ในยุคทอง เป็นยุคฟื้นฟู เพราะมีครูบาอาจารย์มาปรากฏเป็นจำนวนมาก เริ่มต้นตั้งแต่หลวงปู่มั่นมาจนถึงลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น โดยเฉพาะหลวงตานี้ ที่มีความสามารถในการเผยแผ่ธรรมะได้อย่างกว้างขวาง ครูบาอาจารย์องค์อื่นก็ไม่ค่อยได้เผยแผ่เท่าไหร่ หลวงปู่แหวนหลวงปู่ขาวก็พอจะรู้จักท่าน แต่จะไม่ค่อยได้ยินคำสั่งสอนของท่านเท่าไหร่ ที่มีมากจริงๆก็มีของหลวงตานี่แหละ มากจริงๆ
ถาม ถ้าเราปฏิบัติไปนะคะ จะทราบไหมคะว่าปฏิบัติไปถึงขั้นไหน
ตอบ ทราบ ความทุกข์จะน้อยลงไปเท่าไหร่เราจะรู้เอง แต่จะไม่รู้ว่าตอนนี้เป็นโสดาฯ ตอนนี้เป็นสกิทาคาฯ ถ้าไม่ได้ศึกษามาก่อน
ถาม ทางโลกเราเรียนเราก็รู้ว่าเราจบปริญญาตรีแล้ว แต่พอเราปฏิบัติธรรมนี่ เราจะรู้ไหมคะว่าเราถึงขั้นไหนแล้ว
ตอบ ถ้าได้จริงๆ แล้วได้อ่านหนังสือธรรมะก็พอที่จะประเมินได้ แต่การปฏิบัติจริงๆจะไม่นิยมประเมินกัน ดูที่ใจเป็นหลัก ใจสงบมากน้อยเพียงไรก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าสงบระดับนี้ก็จะยังไม่รู้ว่าความสงบที่มากกว่านี้ละเอียดกว่านี้เป็นอย่างไร จนกว่าจะได้ปฏิบัติถึงความสงบนั้น ก็จะรู้ว่าเมื่อกี้อยู่ขั้นนั้น เดี๋ยวนี้อยู่ขั้นนี้ เหมือนกับขับรถเปลี่ยนเกียร์ไปเรื่อยๆ ตอนนี้อยู่เกียร์หนึ่งอยู่เกียร์สอง
ถาม ไม่รู้ว่าระยะเวลาอีกกี่กิโลเมตร ถึงจะถึงจุดหมายปลายทาง
ตอบ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็จะรู้ เช่นทรงประเมินไว้ว่า พระอานนท์จะบรรลุ ๓ เดือนหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ไปแล้ว ครูบาอาจารย์ที่ได้รับฟังรายงานการปฏิบัติของลูกศิษย์ ก็จะประเมินได้ว่า ถึงขั้นนี้ขั้นนั้นแล้ว
ถาม เราอาจจะวัดเป็นรูปธรรมไม่ได้ว่าใครอยู่ในระดับไหน แต่ในสายตาของครูบาอาจารย์ที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้วนี่ พอจะมองออกไหมคะว่าจะมีแววไปทางไหน
ตอบ ครูบาอาจารย์เป็นเหมือนสารถีที่ฝึกม้า พอเห็นม้าก็จะรู้ว่าม้าตัวไหนมีแววตัวไหนไม่มีแวว เหมือนอาจารย์ที่สอนเด็กนักเรียน จะรู้ว่าเด็กคนไหนมีแวว คนไหนไม่มีแวว เพราะกิริยาอาการออกมาจากจิตใจ จิตใจเป็นอย่างไรก็ดูที่กิริยาอาการได้ในระดับหนึ่ง
ถาม ถ้าหากว่าทำบุญทำกุศลทุกครั้งแล้วเราอธิษฐานขอบรรลุธรรม จะมีผลบ้างไหมคะ
ตอบ ไม่มี อยู่ที่การกระทำ
ถาม เรากระทำด้วย
ตอบ ถ้าทำแล้วไม่ต้องขอก็ได้ อยู่ที่การกระทำอย่างเดียว ทำแล้วพระจะให้พรหรือไม่ให้พร ก็ได้ผลอยู่แล้ว ได้พรอยู่แล้ว พรที่พระให้เป็นธรรมะ ให้กำลังใจ ยุยงส่งเสริมว่าทำอย่างนี้ถูกแล้ว ทำต่อไปให้มากๆ จะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป
ถาม ขอให้ท่านช่วยให้เรากระทำ
ตอบ ท่านช่วยได้ด้วยการสอนเรา ให้มีกำลังใจ เวลาได้ยินได้ฟังธรรมของท่านแล้วเราก็จะมีกำลังจิตกำลังใจ ได้ประกายจากท่าน
ถาม ถ้าอย่างนั้นอธิษฐานบารมีหมายถึงอะไร
ตอบ ความตั้งใจ เช่นวันนี้ตั้งใจจะมาวัดกัน ถ้าตั้งใจแล้วไม่มาก็แสดงว่าขาดสัจจะบารมี ถ้าตั้งใจแล้วมาก็แสดงว่ามีทั้งอธิษฐานมีทั้งสัจจะ ถ้าตั้งใจแล้ว พอถึงเวลามีธุระอย่างอื่นต้องทำ ก็เลยไม่มา แสดงว่ามีอธิษฐานความตั้งใจแต่ไม่มีสัจจะ ตั้งใจแล้วแต่ไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้ อธิษฐานไม่ใช่การขอ เป็นการตั้งใจ จะทำอะไรก็ต้องตั้งใจก่อน เช่นมาที่นี่ เราก็ตั้งใจกำหนดวันไว้ ตั้งแต่เดือนที่แล้ว ว่าวันที่ ๑๐ จะมาที่นี่กัน ถ้าตั้งใจจะมาก็จดจำไว้ในใจ ไม่ให้มีงานอื่น ยกเว้นถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ บางคนมีสัจจะอธิษฐานแรง จะสุดวิสัยหรือไม่ เมื่อตั้งใจแล้วต้องมาให้ได้ ถ้าต้องคลานมาก็จะคลานมา ต้องหามมาก็จะหามมา เช่นพระพุทธเจ้าขณะที่ทรงนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ก่อนที่จะทรงตรัสรู้ ก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐาน ว่าจะนั่งอยู่ที่นี้จนกว่าจะบรรลุ ถ้ายังไม่บรรลุถึงแม้เลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไปก็จะไม่ลุก ถ้าไม่ตายก็ต้องบรรลุ ถ้าไม่บรรลุก็ต้องตายเท่านั้น อธิษฐานเป็นการตั้งใจ ไม่ได้เป็นการขอ ทำบุญแล้วขอให้ไปพระนิพพาน ไม่เป็นเหตุเป็นผล ผลการทำบุญในวันนี้ทำให้เรามีความสุขใจ คลายความตระหนี่ความเห็นแก่ตัว เป็นบุญสะสมไว้ใช้ในภพหน้าชาติหน้า ถ้ายังไม่สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไปเกิดภพหน้าชาติหน้า ก็จะมีอานิสงส์ของบุญที่ทำไว้ในชาตินี้ดูแลเรา ถึงแม้จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ก็ได้ไปเกิดเป็นหมาราคาแพงๆ มีคนเอาไปเลี้ยงดูแบบลูก มีเศรษฐีเอาไปเลี้ยงอยู่ห้องแอร์ เป็นอานิสงส์ของทาน แต่ไม่ได้รักษาศีล เลยต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ถ้าทำบุญด้วยรักษาศีลด้วยก็จะไปเกิดเป็นเทพ เมื่อหมดบุญจากเทพก็ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เกิดบนกองเงินกองทอง ถ้าทำบุญให้ทานอย่างเดียวไม่ได้รักษาศีล ตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉานที่สวยงาม มีคนคอยดูแลเลี้ยงดู
ถาม ผมมักจะมีปัญหาถามก่อนที่จะมาฟังท่านเทศน์ แต่เมื่อได้ฟังเทศน์จบลงผมมักจะลืมคำถามหมด
ตอบ คำถามออกมาจากใจเรา คำตอบก็อยู่ในใจเรา เราต้องเป็นคนหาคำตอบเอง ด้วยปัญญา เพราะคำถามออกมาจากอวิชชาความไม่รู้หรือความหลง คำตอบที่แท้จริงต้องออกมาจากใจเรา ผู้อื่นเพียงแต่แนะวิธีสร้างปัญญา แต่เราจะต้องเป็นผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมเอง ถึงจะพบคำตอบที่แท้จริง ถ้าเจอคำตอบแบบนี้แล้วจะไม่มีคำถามอีกต่อไป ถ้าไม่มีอวิชชาไม่มีความหลง ก็จะไม่มีคำถาม ไม่อยากจะรู้อะไร รู้หมดแล้วว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ไม่สงสัย ไม่มีอะไรคาอยู่ในใจเลย สิ่งที่คาอยู่ในใจก็คือความหลงนี่เอง ที่ทำให้ไม่เข้าใจกับเรื่องราวต่างๆ พอมีปัญญามีแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว ก็จะเข้าใจหมดทุกอย่าง พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จึงไม่ไปถามใคร รู้แล้วจะถามไปทำไม
ถาม คราวหน้าจะไม่กล้าถามเลยคะ
ตอบ ถ้าไม่เป็นพระอรหันต์ยังถามได้ แต่คำตอบที่แท้จริงเราต้องหาเอง ที่จะตอบก็เฉพาะคำถามที่เกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้เกิดปัญญา วิธีการปฏิบัติ จึงเน้นไปทางนี้ ไม่ค่อยได้พูดเรื่องอื่น สอนวิธีลืมตา พอลืมตาเป็นแล้วก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเอง ตอนนี้เราเป็นแต่หลับตา ลืมตาไม่เป็น ก็เดาไป ลองลืมตาดูสิ จะได้ไม่ต้องไปถามใคร ตาใจเรามันบอด บอดด้วยอวิชชา บอดด้วยโมหะ จึงต้องสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น เพื่อจะได้มีดวงตาเห็นธรรม มีตาใน มีธรรมจักษุ จะได้สว่างไสวภายในใจ จะเข้าใจหมดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ จะไม่สงสัยเรื่องอะไรทั้งสิ้น
ถาม ธรรมะนี้ผุดขึ้นมาทีละช่วงๆใช่ไหมคะ
ตอบ เหมือนพระจันทร์ที่ค่อยๆสว่างขึ้นมาเรื่อยๆ จนสว่างเต็มดวง เวลาพระจันทร์เต็มดวงจะเห็นทั่วไปหมด ถ้ายังไม่เต็มดวงก็ยังเห็นไม่ชัดเจน เวลาที่พระจันทร์เต็มดวงก็เหมือนกับจิตที่สว่างไสวเต็มที่ ไม่มีอวิชชาหลงเหลืออยู่เลย ถ้าพระจันทร์ยังไม่เต็มดวงยังแหว่งอยู่ ก็มีบางส่วนที่ยังมืดอยู่ ก็จะมองไม่เห็นส่วนนั้น พระอริยะแต่ละขั้นจึงเห็นไม่เท่ากัน พระโสดาบันเห็นได้ระดับหนึ่ง พระสกิทาคามีพระอนาคามีก็จะเห็นอีกระดับหนึ่ง พระอรหันต์ถึงจะเห็นเต็มที่ คำว่าไม่เห็นคือยังหลงยึดติดอยู่กับบางสิ่งบางอย่าง พระโสดาบันยังยึดติดในกามสุข ยังอยากมีครอบครัวมีสามีภรรยา แต่พระสกิทาคามีเริ่มถอยแล้ว เริ่มเบื่อๆอยากๆ แต่ยังไม่เบื่อเต็มที่ พอถึงขั้นอนาคามีก็จะเบื่อเต็มที่ ไม่อยากมีความสุขทางร่างกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเลย เห็นทีไรก็จะเห็นแต่ความไม่สวยงาม ธรรมดาเวลาเห็นแฟนจะเห็นว่าสวยงาม แต่พระอนาคามีจะเห็นทะลุเข้าไปทุกส่วนของร่างกาย จะเบื่อหน่ายไม่ยินดี พระอรหันต์จะเห็นกิเลสภายในจิต ไม่ว่าจะเป็นรูปราคะการยึดติดในรูปฌาน อรูปราคะการยึดติดในอรูปฌาน อุทธัจจะความฟุ้งซ่านของจิต มานะการถือตน อวิชชาไม่รู้พระอริยสัจในจิต เป็นส่วนที่พระอนาคามียังติดอยู่ ละความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสได้ แต่ยังติดอยู่กับความสุขในรูปฌานอรูปฌาน ยังถือตัว ติดความสุขในจิต
ต้องบำเพ็ญต่อไปเรื่อยๆพิจารณาไปเรื่อยๆ เป้าหมายของการบำเพ็ญไม่ได้อยู่ข้างนอกแล้ว ไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะแล้ว แต่อยู่ที่จิตกับการทำงานของนามขันธ์ ที่ทำให้เกิดสุขทุกข์ในจิต เกิดความสว่างความเฉาของจิต จะต้องรู้จักวิธีปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ถึงจะผ่านไปได้ ต้องพิจารณาลงไปที่ไตรลักษณ์ สัพเพ ธัมมา อนัตตา เพื่อปล่อยวางสภาวธรรมต่างๆที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาภายในจิต จะต้องไม่ยึดติดกับสุข ถ้ายึดก็จะพยายามรักษาไว้ จิตที่ยังไม่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง ก็ยังเฉาได้ ยังทุกข์ได้ พอทุกข์ก็รีบแก้ให้สุข ก็ยังยึดติดอยู่ ยังไม่เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เหมือนกับยึดติดกับสุขเวทนาทางร่างกาย พอเจ็บปวดก็เปลี่ยนอิริยาบถ พอเปลี่ยนก็เจ็บอีก หนีไม่พ้นความเจ็บ ความทุกข์ที่ละเอียดในจิตก็จะเป็นอย่างนั้น พอเกิดทุกข์เกิดขึ้นมาก็พยายามทำให้มันดับ พอดับไปแล้วเดี๋ยวก็กลับมาอีก ไม่จบ จนกว่าจะเห็นว่าเป็นเหมือนกับเวทนาทางกาย เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนัตตา ทำอะไรไม่ได้ พอปล่อยไป ก็จะไม่มายุ่งเกี่ยวกับจิตอีกต่อไป
ถาม อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคคือทางพ้นทุกข์ ที่เชื่อมไปสู่การปฏิบัติภาวนาใช่ไหมคะ
ตอบ มรรคคือศีลสมาธิปัญญา ในมรรค ๘ ปัญญาก็คือสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ความเห็นชอบความคิดชอบ สมาธิก็คือสัมมาสติสัมมาสมาธิ ศีลก็คือสัมมากัมมันโตสัมมาวาจา ทำดีพูดดี
ถาม แนวทางพ้นทุกข์ก็คือปฏิบัติไปตามแนวนี้ใช่ไหมคะ
ตอบ มรรค ๘ เป็นเครื่องมือให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เวลาปฏิบัติก็จะต้องกำหนดรู้ทุกข์ว่ามีอยู่ที่ร่างกายและจิตใจ เป็นสภาวธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง ที่เราควบคุมบังคับไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา จะทุกข์ก็ทุกข์ไป เดี๋ยวทุกข์ได้เดี๋ยวก็หายได้ เช่นนั่งแล้วร่างกายเจ็บ ก็ปล่อยให้เจ็บไป เดี๋ยวก็หาย ข้อสำคัญก็คือใจอย่าไปทุกข์กับมัน
ถาม ใจต้องยอมรับใช่ไหมคะ
ตอบ ถ้าเข้าใจแล้วจะปล่อยวาง จะว่ายอมรับก็ได้ จะไม่รังเกียจมัน เป็นเหมือนลมเหมือนแดดเหมือนฝน ปฏิเสธเขาไม่ได้ ต้องปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา ฝนจะตกแดดจะออกลมจะพัดทำอย่างไรได้ สมมติว่ามีพายุมา เราหนีไม่พ้น ถูกพัดไปกระแทกกับหินตาย ก็ต้องเป็นไป แต่ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ไม่ต้องไปทุกข์กับมัน ต้องมองให้เห็นว่าทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนัตตาไปหมด ไม่สามารถไปจัดการกับมันได้ เวลาจัดการกับมันได้ก็ดีใจ วันไหนร้อนแล้วเปิดแอร์ได้ก็ดีใจมีความสุข ถ้าวันไหนไฟดับเปิดแอร์ไม่ได้ก็หงุดหงิด ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ร้อนก็ร้อนไป ไม่ต้องเปิดแอร์ ทนมันไป ใจอย่าไปร้อนก็แล้วกัน นี่คือวิธีแก้ปัญหาที่ถูกทาง แก้ที่ใจด้วยการปล่อยวางทุกอย่าง ไม่ต้องไปจัดการกับเขา มนุษย์เราชอบแก้ธรรมชาติกัน จึงทุกข์วุ่นวายกันตลอดเวลา ถ้าอยู่กับธรรมชาติได้ อยู่อย่างมักน้อยสันโดษ อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงสอน ก็จะไม่ทุกข์วุ่นวายกัน ให้เราเข้ากับธรรมชาติดีกว่าปรับธรรมชาติให้เข้ากับเรา เพราะความอยากของเราไม่มีที่สิ้นสุด ปรับเท่าไหร่ก็ไม่พอใจเสียที ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้องย้อนกลับมาปรับที่ใจเรา ทำใจให้เป็นอุเบกขา รับกับทุกสภาพได้ สุขก็รับได้ ทุกข์ก็รับได้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รับได้ แล้วเราจะมีความสุขไปตลอด อยู่ตรงนี้ อยู่ที่ใจเรา จึงต้อนย้อนกลับมาดูใจเราด้วยสติ อย่าปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ตามความคิด ต้องจัดการใจเรา สิ่งที่เราควรจัดการไม่ใช่ธรรมชาติ เราควรจัดการใจเรา ให้อยู่ในทำนองครองธรรม ให้อยู่ในอุเบกขาธรรม ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ให้พิจารณาว่าเราอยู่ชั่วคราวเท่านั้น อย่าไปเสียดายชีวิต อย่าไปเสียดายสิ่งที่ได้มา เพราะสักวันหนึ่งเราต้องทิ้งมันไปหมด ต่อให้ได้มามากน้อยเพียงไร มีเงินเป็นหมื่นล้านแสนล้าน เดี๋ยวก็ต้องจากกันไป ถ้าเราดูแลจัดการกับจิตใจของเราได้ จนเป็นเหมือนจิตของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์แล้ว ก็จะสุขไปตลอด พอไปตลอด ไม่ต้องจัดการอะไรอีกต่อไป สุขไปตลอด เป็น ปรมัง สุขัง คือสุขแบบไม่มีที่สิ้นสุด สุขไปตลอดอนัตกาล ต้องเป็น ปรมัง สุญญัง ต้องว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยึดไม่ติดกับอะไร จิตว่าง สักแต่ว่ารู้ อยู่ที่การปฏิบัติเท่านั้น
เป้าหมายของการปฏิบัติของพวกเราอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การบรรลุธรรม อยู่ที่การหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่ได้อยู่ที่การเวียนว่ายตายเกิด แม้จะได้เกิดอยู่บนสวรรค์ หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มีความร่ำรวยสวยงาม ก็ยังต้องพบกับความทุกข์อีก จึงไม่มีอะไรดีเท่ากับการหลุดพ้นจากความทุกข์ จึงอย่าทำเพียงบุญอย่างเดียว อย่ารักษาศีลเพียงอย่างเดียว ต้องภาวนาด้วย เพราะการภาวนาเท่านั้นที่จะทำให้บรรลุธรรมได้ ต้องเป็นวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนายังเป็นโลกียธรรม มีสอนอยู่ในศาสนาอื่น ทานศีลสมถภาวนาศาสนาอื่นก็มีสอน ที่ไม่มีสอนก็คือวิปัสสนาภาวนา มีศาสนาพุทธเท่านั้นที่สอนไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นกุญแจสู่การหลุดพ้น สู่การตรัสรู้ อยู่ที่ไตรลักษณ์นี้ ถ้าเห็นทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด ถ้ายึดติดก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นสภาวธรรมภายนอกหรือภายในใจ ก็เป็นเช่นเดียวกัน ภายนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ภายในก็คือธรรมารมณ์ต่างๆความสุขความทุกข์ต่างๆที่มีอยู่ในจิตในใจ ต้องปล่อยวางหมด ให้จิตอยู่ในความสงบ อยู่ในอุเบกขา เป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุด จะไปถึงได้ก็ต้องปล่อยวางทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นก็ไปไม่ถึง พอยึดติดก็จะห่วง ไม่เป็นอุเบกขา ถ้าปล่อยเขาไป เขาจะเป็นอย่างไร เขาจะอยู่ก็อยู่เขาจะไป ก็ปล่อยไป เขาจะดี เขาจะชั่ว ก็เรื่องของเขา ใจก็จะเข้าสู่อุเบกขาได้ ถ้าห่วงกังวลอยากจะให้เขาดี ก็จะไม่เป็นอุเบกขา ก็จะทุกข์ไปเรื่อยๆ ต้องทำใจให้ว่าง ปรมัง สุญญัง ว่างจากเรื่องทั้งหลาย ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง