กัณฑ์ที่ ๓๔๕ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๐
ความหลง
พระพุทธเจ้าทรงสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยการยังประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทหมายถึงไม่ให้ผัดวันประกันพรุ่ง ทำวันหน้าก็ได้ เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะมีโอกาสหรือไม่ อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยพิกลพิการ ไม่สามารถมาวัดก็ได้ อาจจะตายไปก็ได้ จึงไม่ควรประมาท ให้เตือนตนอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ จึงควรเร่งสร้างบุญสร้างกุศล เพราะจะทำให้ร่มเย็นเป็นสุข เป็นเกราะคุ้มกันภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้น ภัยที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย การพลัดพรากจากกัน ไม่ให้เข้ามาสู่ใจ มาเหยียบย่ำทำลาย ให้ต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ให้หวาดกลัวได้เลย จะทำได้ก็กับใจที่ไม่ฉลาด ไม่มีบุญไม่มีกุศลเท่านั้น ที่พอมีเหตุการณ์ไม่ถูกใจ ก็จะหวาดกลัว มีความทุกข์วุ่นวายใจ แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรทำให้ใจเป็นอะไรไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความแก่ความเจ็บความตาย ก็เป็นเพียงแต่ร่างกายเท่านั้น แต่ใจกลับไปวุ่นวายแทนร่างกาย ทั้งๆที่ร่างกายไม่รู้เรื่องอะไรเลย ร่างกายเป็นเหมือนนาฬิกาข้อมือ เวลานาฬิกาเดิน มันก็ไม่รู้ว่ามันมีชีวิต เวลามันหยุดเดิน มันก็ไม่รู้ว่ามันตาย คนที่รู้คือใจ ที่วุ่นวายไปกับนาฬิกา เวลานาฬิกาไม่เดินก็ต้องเอาไปซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็ต้องโยนทิ้งไป ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ความจริงแล้วใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับนาฬิกาเลย ฉันใดร่างกายก็เป็นเหมือนนาฬิกา ร่างกายไม่รู้ว่ามันเป็นหรือมันตาย หายใจเข้าหายใจออก มันก็ไม่รู้ มันก็เพียงทำตามหน้าที่ เหมือนกับนาฬิกา นาฬิกามีหน้าที่หมุน มันก็หมุนไปเรื่อยๆ มันไม่รู้ว่ามันหมุนหรือไม่หมุน ผู้ที่รู้ก็คือใจ ถ้าใจไม่หลงคิดว่านาฬิกาเป็นใจแล้ว เวลานาฬิกาเป็นอะไรไป ใจก็จะไม่เดือดร้อน จะรู้สึกเฉยๆ นาฬิกาเสียก็เอาไปซ่อม ซ่อมได้ก็ซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็โยนทิ้งไป มีเงินก็ซื้อนาฬิกาใหม่ ก็เท่านั้นเอง
ใจกับร่างกายก็เป็นอย่างนั้น ร่างกายก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เหมือนกับนาฬิกาเสีย เมื่อเสียก็ต้องส่งเข้าโรงซ่อม เข้าโรงพยาบาล ให้หมอตรวจดูว่าเป็นอะไร หมอก็ให้ยามารับประทาน หรือทำการผ่าตัด หลังจากนั้นก็หายเป็นปกติ ใช้ร่างกายต่อไปได้อีก จนกว่าจะซ่อมไม่ได้ ก็ต้องโยนทิ้งไป ส่งไปให้สัปเหร่อเอาไปเผา แต่เผาได้เพียงแต่ร่างกายเท่านั้น ใจเผาไม่ได้ ใจไม่ได้อยู่กับร่างกายหลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว เอาอะไรไปทิ่มไปแทงซากศพ ก็จะไม่รู้สึกอะไร จะไม่สะดุ้งไม่ผวา ถ้ายังมีชีวิตอยู่เอาเข็มฉีดยาไปทิ่มก็จะสะดุ้ง ผู้ที่สะดุ้งไม่ใช่ร่างกาย ผู้ที่สะดุ้งคือใจ ที่เป็นเหมือนคลื่นวิทยุที่เรามองไม่เห็น มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น คลื่นวิทยุก็เหมือนกัน แต่รู้ว่ามันมีอยู่หรือไม่มี ถ้าเปิดวิทยุมีเสียงก็แสดงว่ามีคลื่น แต่เรามองไม่เห็นคลื่น ฉันใดใจเราก็มองไม่เห็น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีใจ ถ้าไม่มีใจในขณะนี้จะฟังไม่รู้เรื่อง เอาคนตายมานอนฟัง ต่อให้เทศน์ดังขนาดไหน ก็จะฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีผู้รับรู้คือใจ เวลาเสียงเข้าไปกระทบกับหูแล้ว ก็จะส่งเข้าไปสู่ใจ ถ้าไม่มีใจก็เหมือนกับพูดกับท่อนไม้ท่อนฟืน พูดกับนาฬิกา พูดกับรถยนต์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใจ ไม่มีวิญญาณ ไม่รู้เรื่องเลย ฉันใดร่างกายก็เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งเท่านั่นเอง ในขณะที่มีใจครอบครองอยู่ก็ทำให้รู้สึกว่า มีตัวมีตน เป็นเราเป็นของเรา ความรู้สึกนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็นความหลง เห็นผิดเป็นชอบ ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง ใจไม่ได้เป็นร่างกาย แต่ใจไปหลงคิดว่าร่างกายเป็นตน ความจริงร่างกายเป็นเหมือนนาฬิกา เหมือนรถยนต์ ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมา มีชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบกันขึ้นมา ทำให้เป็นนาฬิกา เป็นรถยนต์
ร่างกายก็เหมือนกัน ประกอบจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ถ้าไม่รับประทานอาหารร่างกายก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาไม่ได้ ออกจากท้องพ่อท้องแม่แล้วต้องมีอาหารหล่อเลี้ยง แม่ต้องให้นม ให้ข้าว ให้อาหารต่างๆ ร่างกายจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้ อาหารคือตัวที่ทำให้มีร่างกายขึ้นมา ร่างกายกับอาหารจึงเป็นสิ่งเดียวกัน ร่างกายมาจากอาหาร อาหารก็มาจากดินน้ำลมไฟ เวลาตายไปน้ำก็ไหลออกมาหมด อากาศก็ระเหยออกไปหมด ไฟคือความร้อนก็หายไปหมด เหลือแต่โครงกระดูก ที่กลายเป็นดินไป ถ้าเอาไปเผาก็กลายเป็นขี้เถ้าไป พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มีใจมาครอบครองเป็นเจ้าของ มีความหลงมาหลอกให้ยึดติด ให้คิดว่าร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเรา พอร่างกายเป็นอะไรขึ้นมาก็เกิดความวิตกกังวล หวั่นไหวหวาดกลัว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะกังวลว่าจะตายหรือเปล่า เวลาเห็นคนอื่นตายก็กังวล ว่าเมื่อไรเราจะตาย นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อจะได้ปล่อยวาง ถ้าปล่อยวางได้แล้ว เวลาร่างกายเป็นอะไรเราจะไม่เดือดร้อน เหมือนกับสิ่งต่างๆที่เราปล่อยวาง ไม่ยึดติดว่าเป็นของเรา เราจะไม่เดือดร้อน เวลาไฟไหม้บ้านของคนอื่น เราจะไม่เดือดร้อน รถยนต์ของคนอื่นเสียหรือพังไป เราก็ไม่เดือดร้อน ร่างกายของคนอื่นเป็นอะไรไป เราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าหลงยึดติดว่าเป็นพ่อแม่ เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นลูกของเรา พอเป็นอะไรขึ้นมาเราก็วิตกกังวลห่วงใย เศร้าโศกเสียใจเวลาที่เขาจากเราไป เพราะหลงยึดติดว่าเป็นของเรา
ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งใดหรือบุคคลใด จะไม่วุ่นวายเดือดร้อน คนที่เราไม่รู้จัก เขาจะเป็นอย่างไร เราจะรู้สึกเฉยๆ แต่คนที่เราหลงคิดว่าเป็นสามี เป็นภรรยา เป็นลูกของเรา พอเขาเป็นอะไรไป เราก็เดือดร้อนใจขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงสอนให้แยกแยะความจริง ซึ่งมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. ความจริงที่เป็นความจริงตายตัว ไม่มีชื่อ ไม่มีเสียง ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เป็นอยู่อย่างนั้น คือดินน้ำลมไฟ ๒. ความจริงที่เราสมมุติกันขึ้นมา สมมุติว่าเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นลูกของเรา ที่จริงเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อรวมตัวกันก็เป็นรูปร่างต่างๆ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ เป็นคนเป็น เป็นคนตาย เมื่อตายแล้วดินน้ำลมไฟก็แยกกันไป นี่คือความจริงของร่างกายที่มีอยู่ ๒ ลักษณะ ความจริงที่เป็นสมมติและความจริงที่ตายตัว ความจริงที่ตายตัวก็คือ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มีใจมาครอบครองเป็นเจ้าของ พอร่างกายหยุดหายใจก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป ใจก็ไปหาร่างใหม่ ตามบุญตามกรรมที่ได้ทำมา ถ้าทำบุญก็จะได้ร่างกายที่ดีกว่าเดิม มีรูปร่างหน้าตาสวยงามกว่าเดิม มีฐานะที่ดีกว่าเดิม มีความร่ำรวยกว่าเดิม ถ้าทำบาปก็ต้องไปเกิดในที่เลวกว่าเดิม ได้ร่างกายที่ไม่ดี เช่นได้ร่างกายของสุนัข ของแมว ของวัว ของควายเป็นต้น ต้องใช้กรรมจนกว่าจะหมด ถึงจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ก็จะวนไปเวียนมาอย่างนี้จนกว่าจะปล่อยวางได้ ไม่อยากจะเกิดอีกต่อไป จิตก็จะสะอาดบริสุทธิ์ เป็นจิตของพระพุทธเจ้าและจิตของพระอรหันต์ ที่มีความสุขความพออยู่ตลอดเวลา
มีปัญญารู้ทันความหลงที่จะหลอกให้ไปเกิดอีก เพราะคิดว่าเกิดแล้วจะมีความสุข แต่หารู้ไม่ว่า ความสุขที่ได้จากการเกิดนั้น มีความทุกข์เป็นเงาตามตัว เกิดแล้วก็ต้องแก่ พอแก่ก็ทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์ ตายก็ทุกข์ พลัดพรากจากคนนั้นจากคนนี้ไปก็ทุกข์ ผู้ที่มีปัญญาจะไม่อยากจะเกิด เพราะรู้ว่าเกิดแล้วมีแต่ความทุกข์ เกิดไปทำไม ไม่เกิดมีความสุขมากกว่าเกิด จิตของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ได้ทำความดีจนถึงจุดสูงสุดแล้ว ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ได้ ไม่อยากได้อะไรเลย ไม่อยากเป็นอะไรเลย ไม่อยากจะไปเกิดอีกเลย เพราะจิตมีความดีมีบุญมีกุศลหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้มีความอิ่มความพออยู่ตลอดเวลา ส่วนจิตของพวกเรายังมีความหิวความอยากความต้องการอยู่ เพราะยังไม่ได้ทำความดีให้ถึงพร้อม ยังสร้างความอยากให้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ความอยากจะไม่หมดไปถ้าทำตามความอยาก อยากได้อะไร พอได้มาแล้ว เดี๋ยวก็อยากจะได้อีก เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เกิด และจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เวลาตายไป ถ้าใจยังมีความอยากอยู่ ก็จะไปหาร่างกายใหม่ ไปเกิดใหม่ เพื่อจะได้ไปทำตามความอยากต่อ ทำไปเรื่อยๆ ทำมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว นับไม่ถ้วน และจะทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เจอพระพุทธเจ้า เจอพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนว่าต้นเหตุของความทุกข์ใจก็คือ ความอยากนี้เอง ถ้าไม่อยากทุกข์กับการแก่เจ็บตาย กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องไม่เกิด ต้องทำความดีให้มาก ทำบุญทำทานให้มาก รักษาศีลให้มาก ปฏิบัติธรรมให้มาก ฟังเทศน์ฟังธรรมให้มาก จะได้กำจัดความอยากให้หมดไป จะได้ไม่ทุกข์อีกต่อไป
ถ้าไม่อยากได้อะไร จะไม่ทุกข์เวลาที่ไม่ได้ ถ้าอยากได้ เวลาไม่ได้ก็จะทุกข์ พอได้มาก็ดีใจเดี๋ยวเดียว แล้วก็อยากได้อีก เพราะความอยากไม่มีขอบไม่มีเขต ไม่มีที่สิ้นสุด ความอยากไม่ได้ดับด้วยการทำตามความอยาก จะดับต่อเมื่อฝืนความอยาก เวลาอยากได้อะไรให้ใช้เหตุผล ให้ถามตัวเองว่าจำเป็นต่อการดำรงชีพหรือไม่ ถ้าไม่มีจะตายหรือไม่ ถ้าตายก็แสดงว่าจำเป็น อย่างนี้ไม่เป็นความอยาก เป็นความจำเป็น เอามาได้ เช่นต้องมีอาหารรับประทาน ถ้าไม่มีร่างกายก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่มีร่างกายก็จะไม่สามารถทำความดีทำกุศล ต่อสู้กับความอยาก เพื่อหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ ยังต้องอาศัยร่างกายอยู่ เพื่อมากำจัดความอยาก แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ความจำเป็นของร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดความอยากขึ้นมา ต้องเอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อาหารก็ต้องรับประทานพอสมควร พอให้อิ่มก็พอ ไม่ให้รับประทานตามความอยาก เวลาท้องอิ่มแล้วยังอยากรับประทานอีก ต้องหยุดรับประทาน อย่าไปรับประทาน ถ้ารับประทานต่อ จะรับประทานไปเรื่อยๆ จนมีน้ำหนักเกิน กลายเป็นคนอ้วนไป เกินความจำเป็น กินตามความอยาก ถึงลดน้ำหนักได้ยาก คนที่กินตามความอยาก รู้ว่าอ้วนแต่ไม่มีกำลังจิตกำลังใจต่อสู้กับความอยาก ถ้าใช้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาต่อสู้ก็จะสู้ได้ ต้องแน่วแน่ต่อเหตุผล อย่าทำตามอารมณ์ พอร่างกายได้รับอาหารพอเพียงแล้วก็หยุดรับประทาน เหมือนกับเวลาเติมน้ำมันรถ พอล้นถังแล้ว ก็อย่าใส่เข้าไปอีก ไม่เกิดประโยชน์อะไร พอรับประทานอาหารอิ่มแล้วก็ควรจะหยุด ถ้ามีน้ำหนักเกินความจำเป็น ก็อย่ารับประทานมาก พยายามลดน้ำหนักให้อยู่ระดับปกติ เราทำได้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากเย็นอะไร ถ้ามีความตั้งใจที่จะต่อสู้กับความอยาก
ให้มีสติเตือนตนเสมอว่า ความอยากเป็นตัวสร้างความทุกข์ ความวุ่นวาย เป็นตัวผลักดันให้ไปผุดไปเกิด ไปเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ใช้เหตุผล ให้ทำจิตใจให้สงบนิ่ง เพราะเวลาจิตใจสงบนิ่งความอยากจะทำงานไม่ได้ เหมือนกับรถยนต์ ถ้าจอดอยู่เฉยๆ คนที่นั่งอยู่ในรถจะไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องให้รถยนต์วิ่งถึงจะไปได้ ฉันใดความอยากก็อาศัยการทำงานของใจ เวลาใจคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ความอยากก็ตามมาได้ พอคิดถึงขนมก็น้ำลายหก พอคิดถึงอาหารก็อยากจะรับประทาน ถ้าไม่คิดถึงเรื่องอะไรเลย ก็จะไม่อยากกับอะไรเลย เช่นในขณะนี้เรากำลังฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ ไม่มีโอกาสไปคิดถึงเรื่องอาหาร เรื่องขนม ก็ไม่รู้สึกอยากจะกินอะไร ถ้าไม่ควบคุมจิตใจ ปล่อยให้ไหลไปเรื่อยๆ พอคิดถึงขนมคิดถึงอาหาร ก็จะหยุดมันไม่ได้ จึงต้องหยุดใจให้ได้ ด้วยการทำสมาธิ ควบคุมใจไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ บังคับให้คิดอยู่เรื่องเดียว เช่นพุทโธๆ คิดไปเรื่อยๆ ถ้าอยู่กับพุทโธ ก็จะไม่สามารถไปคิดเรื่องอื่นได้ ถ้าเผลอก็จะไปคิด จะไม่สามารถนั่งทำสมาธิต่อไปได้ พอพุทโธไปได้คำสองคำก็นึกถึงอาหาร นึกถึงขนม สักพักหนึ่งก็ทนนั่งอยู่ไม่ได้ อยากลุกขึ้นไปรับประทานอาหาร ไปรับประทานขนม ถ้าควบคุมใจด้วยสติ บังคับให้อยู่กับพุทโธๆอย่างเดียว เวลาไปคิดเรื่องอะไรก็รีบดึงกลับมาที่พุทโธๆ ไม่นานจิตจะสงบนิ่ง เหมือนกับรถยนต์ที่เราคอยเหยียบเบรกอยู่เรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็วรถก็จะหยุดนิ่ง ฉันใดใจของเราก็เป็นอย่างนั้น พุทโธก็เป็นเหมือนเบรกใจ ถ้าบริกรรมพุทโธอยู่เรื่อยๆ ก็เหมือนคอยเหยียบเบรกอยู่เรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะหยุดนิ่ง จะเกิดความอิ่มความสุขขึ้นมา เพราะความอยากได้หยุดทำงานไปชั่วคราว
พอออกจากความสงบ ความอยากก็จะปรากฏขึ้นมาอีก ก็ต้องใช้เหตุผลต่อสู้ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปเอามา ก็จะชนะความอยากได้ พอไม่มีความอยากแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายใจความหวาดกลัว ร่างกายจะเป็นอย่างไร จะไม่หวาดกลัวเลย เพราะได้พิจารณาจนเห็นแล้วว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตายไปไม่ได้ นี่คือความจริง เป็นเหตุผล ถ้าเอาเหตุผลมายืนยันก็จะไม่กลัว เพราะความกลัวสู้ความจริงไม่ได้ ความจริงลบล้างไม่ได้ เมื่อกลัวแล้ว เวลาแก่เจ็บตาย จะรู้สึกเฉย ๆ ไม่ทุกข์ไม่หวั่นไหว ความกลัวก็เป็นความอยากอย่างหนึ่ง คือความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ที่ทำให้กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย พอเอาเหตุผล เอาความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน มาต่อสู้ความกลัวก็จะหายไป กลัวไปทำไม กลัวแล้วก็ต้องตายเหมือนกัน ถ้าไม่กลัวจะไม่ทุกข์ ไม่หวั่นไหว จะอยู่อย่างสุขสบาย ทั้งในขณะที่ยังไม่แก่ ยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ยังไม่ตาย ทั้งในขณะที่แก่ ขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย และขณะที่ตายไป จะไม่เดือดร้อนเลย ถ้าไม่เอาเหตุผลเอาความจริงมาสอนใจ เอามาต่อสู้กับความกลัวแล้ว ก็จะกลัวไปเรื่อยๆ ขณะที่ยังไม่แก่ก็กลัวแล้ว พอคิดถึงความแก่ คิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย คิดถึงความตายก็กลัวแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ได้แก่เจ็บตายเลย เพราะไม่มีความจริงอยู่ในใจ ไม่มีเหตุผล มีแต่ความหลง ความหลงที่อยากจะอยู่ไปนานๆ อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ให้ตาย นี่คือสิ่งที่เราต้องทำลายด้วยความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความจริงทำให้พระพุทธเจ้าหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
พอมีเหตุผลอยู่ในใจแล้ว ความหลงก็จะถูกทำลายไป ความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ก็จะถูกทำลายไป จะอยู่อย่างสุขสบายใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายของเขาของเราเป็นเหมือนกันหมด เวลาร่างกายของเขาเป็นอะไรเราไม่เดือดร้อน เวลาร่างกายของเราเป็นอะไรเราก็ไม่เดือดร้อนเหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งเดียวกันเหมือนกัน ถ้ามีความจริง มีเหตุผล มีปัญญาก็จะเห็นอย่างนี้ ถ้ามีความหลงก็จะแยกว่าเป็นของเราเป็นของเขา ถ้าเป็นของเขาก็ไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นของเราก็เดือดร้อน นี่คือความหลงที่ต้องกำจัดให้ได้ ต้องเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นของเราเลย เป็นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น สักวันหนึ่งเขาก็ต้องมาเอาคืนไป ดินน้ำลมไฟจะต้องมาเอากลับคืนไป แต่ใจจะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่ไปเกิดอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เราจะได้รับจากการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ที่ทรงสอนให้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท จึงขอให้นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขและความสิ้นทุกข์ที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้