กัณฑ์ที่ ๓๕     ๑๕ มกราคม พ..๒๕๔๔

เกิด แก่ เจ็บ ตาย

 

สถานที่สงบสงัดวิเวกตามป่าตามเขานั้น เป็นสถานที่เหมาะสมกับการเจริญจิตตภาวนา คือการทำจิตให้สงบ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพความเป็นจริงของโลกที่มาสัมผัสกับจิตผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เรียกว่าโลกธรรม คือเป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้  เมื่อจิตได้มาเกิด มาอาศัยร่างกายอันนี้แล้วก็ได้อายตนะภายในทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย  ใช้เป็นเครื่องมือรับกับอายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ที่เข้ามาทางทวารเหล่านี้ เมื่อเข้ามาแล้วจิตก็มีความรู้สึกนึกคิดกับสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิดอารมณ์ เกิดความสุขบ้าง เกิดความทุกข์บ้าง เกิดความไม่สุขความไม่ทุกข์บ้างกับสิ่งนั้นๆ  สิ่งไหนที่ให้ความสุขก็เกิดตัณหา ความอยากที่จะให้สิ่งนั้นมีอยู่นานๆ ได้สัมผัสกับสิ่งนั้นอยู่เรื่อยๆ  สิ่งไหนเป็นของไม่ถูกอกถูกใจก็มีความอยากตรงกันข้าม คืออยากให้สิ่งเหล่านั้นหายไปหมดไปโดยเร็ว  ไม่อยากจะเข้าใกล้ ก็เลยทำให้จิตต้องแกว่งไปแกว่งมาเมื่อถูกสิ่งเหล่านั้นมากระทบ ทำให้จิตไม่สงบไม่นิ่ง เมื่อจิตไม่สงบไม่นิ่ง จิตก็มีแต่ความหิว มีแต่ความกระหาย กระทบกันไปกระทบกันมา ส่งเสริมกันไปส่งเสริมกันมา  ความไม่สงบทำให้จิตหิว จิตหิวก็ยิ่งทำให้จิตไม่สงบมากขึ้นไป ทำให้เกิดความอยาก ความขวนขวาย ความคิดความปรุงที่จะหาสิ่งต่างๆมาให้จิตนั้นเกิดความอิ่ม  เกิดความพอ

ความหลงของจิตที่เรียกว่าโมหะอวิชชา เป็นเหตุทำให้จิตออกไปแสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง คือรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสที่จิตชอบจิตปรารถนา  แต่ไม่ทราบหรอกว่าได้มาเท่าไรก็ไม่มีความอิ่ม ไม่มีความพอ เพราะว่าความสุขที่แท้จริงของจิตนั้นต้องเกิดจากการสงบระงับความคิดปรุงแต่งต่างๆของจิต แต่จิตจะไม่หยุดความคิดความปรุงแต่งของจิตเอง เพราะมีตัวคอยกระตุ้นให้จิตคอยคิดคอยปรุงอยู่เสมอ  เช่นรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสที่ถูกอกถูกใจนั้น จะทำให้จิตมีความอยาก ความขวนขวาย ความกระตือรือร้น ที่จะไปแสวงหานำมารักษาไว้   เมื่อต้องทำสิ่งนั้นจิตก็ต้องทำงาน  จิตก็ต้องหมุนไปเรื่อยๆ หมุนไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมะคำสั่งสอนของนักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าแล้ว จะเกิดความเข้าใจว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ใช่อยู่กับการได้สัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆนานา  ที่เป็นที่ถูกอกถูกใจ  แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดจากความสงบของจิต  จิตจะสงบได้จิตต้องอยู่ห่างไกลจาก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆนานา  เพราะว่าถ้าได้เห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะกระตุ้นให้จิตมีความดิ้นรนทะยานอยาก   พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้ผู้ปฏิบัติแสวงหาที่สงบสงัดวิเวก เพราะสถานที่สงบสงัดวิเวกจะไม่กระตุ้นให้จิตเกิดความดิ้นรนทะยานอยาก แต่กลับจะช่วยให้จิตนั้นค่อยๆสงบตัวลง เพราะฉะนั้นต้องนำตา หู จมูก ลิ้น กาย  ให้ห่างจาก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ที่เป็นเครื่องยั่วยวนกวนใจ เช่น ให้แสวงหาที่สงบสงัดตามป่าตามเขา เพราะว่ารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตามป่าตามเขานั้นไม่เป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นยั่วยวนกวนใจให้เกิดความทะยานอยากตามสิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย   เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วการทำความสงบจะง่ายกว่าขณะที่อยู่ท่ามกลางรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสที่ยั่วยวนกวนใจทั้งหลาย

ในป่าในเขานั้น รูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆก็ดี ไม่ได้เป็นสิ่งยั่วยวนกวนใจให้เกิดตัณหาความทะยานอยาก  แต่ภายในใจยังมีตัณหาที่ฝังลึกอยู่ในจิต  จะเรียกว่าวิบากก็ได้  คือกิเลสตัณหาที่ได้ถูกสะสมมาเป็นเวลานานหลายภพหลายชาติ  ถึงแม้จะไม่ได้เห็นรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ มันก็ยังสามารถกระตุ้นให้จิตมีจินตนาการ ให้คิดไปถึงสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้  การที่จะระงับกิเลสตัณหาเหล่านี้ได้นั้นต้องอาศัยการเจริญจิตตภาวนา คือต้องมีการควบคุมจิต ไม่ปล่อยให้จิตคิดไปตามกำลังของกิเลสตัณหาทั้งหลายที่ยังมีอยู่ภายในจิต  ต้องอาศัยสติ สตินี่เป็นเหมือนเบรกที่จะยับยั้งจิตไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆนานาตามจินตนาการของความคิดของกิเลสตัณหาทั้งหลายได้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ผู้ปฏิบัติจิตตภาวนาพัฒนาสติเป็นเบื้องต้น 

สติแปลว่าความระลึกรู้  ให้ระลึกรู้อยู่ที่ตรงไหน  พระพุทธองค์ทรงสอนให้ระลึกอยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อย่าให้จิตไปในอดีต  อย่าให้จิตไปที่อนาคต  อย่าให้จิตไปที่โน่นที่นั่น  ให้ดึงจิตมาอยู่ที่นี่  ที่นี่มีอะไร ก็มีร่างกาย  มีเวทนา มีความรู้สึกนึกคิด  มีอารมณ์ต่างๆ  อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง  อารมณ์ดีใจ อารมณ์เสียใจ อารมณ์พอใจ อารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์เหล่านี้มีอยู่ภายในจิต อยู่ในปัจจุบัน แล้วก็ยังมีธรรมะต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในจิต เช่น ความคิดความปรุงต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องบุญเรื่องบาปที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจ เหล่านี้คือที่ตั้งของสติ ให้ระลึกรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในปัจจุบัน  ขึ้นอยู่กับว่าจะมีสติมองเห็นหรือไม่เท่านั้นเอง

ตัวเราประกอบขึ้นด้วย ๒ ส่วนใหญ่ๆ   คือรูปกับนาม   รูปประกอบด้วยร่างกายมีอาการ ๓๒ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น  หรือลมหายใจเข้าออก ส่วนนี้เป็นส่วนของรูป  ส่วนนามได้แก่เวทนา คือความรู้สึกต่างๆ เช่นสุขทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์  จิต คืออารมณ์ต่างๆ ธรรม คือความคิดปรุงต่างๆเกี่ยวกับเรื่องบาปเรื่องบุญต่างๆ  ที่มีอยู่ในใจ พระพุทธองค์จึงสอนให้ผู้ปฏิบัติตั้งสติให้อยู่กับรูปนามเหล่านี้เพราะถ้าอยู่กับสิ่งเหล่านี้แล้วจิตจะไม่ลอยไปไหน จิตจะไม่ไปสร้างอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา   จิตจะไม่ฟุ้งซ่าน  จิตจะน้อมเข้าสู่ความสงบ 

ควรควบคุมจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกขณะ   เราหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่วันเกิดมาเราไม่ได้หยุดหายใจเลย   แต่จิตของเราหรือสติของเราได้ระลึกรู้อยู่กับลมหายใจของเรามากน้อยสักแค่ไหน  แทบจะไม่มีเลย  แทบจะไม่รู้เลยว่าเรากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก   เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่มีสติควบคุม ปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยๆ  ส่วนใหญ่ก็จะออกไปภายนอกสู่เรื่องราวต่างๆ  เรื่องราวที่ปรากฏขึ้นตามรูปเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสนั่นแหละ เป็นเรื่องของบุคคลบ้าง เรื่องงานบ้าง เรื่องการทำมาหากินบ้าง เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์บ้าง เรื่องการแสวงหาความสุขบ้าง ด้วยการเที่ยวเตร่ไปตามสถานที่ต่างๆ ออกไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา โมหะ อวิชชา แล้วก็วุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้ไปไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงวันตาย ก็วุ่นวายอยู่กับเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ไม่เคยพบกับความสุขที่แท้จริงจนกระทั่งวันตาย ตายไปก็ไปเกิดใหม่ แล้วก็ไปทำแบบนี้อีก ซ้ำๆซากๆไม่มีที่สิ้นสุด 

ทางที่ถูกควรดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือให้มีสติดึงใจไว้ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก  พยายามควบคุมให้จิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก   เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า  เวลาหายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก  ให้รู้แค่นั้นแหละไม่ต้องไปรู้เรื่องอื่น  ในสายตาของชาวโลกก็อาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ  ดูลมหายใจเข้าออกเท่านั้นมันจะฉลาดขึ้นมาได้อย่างไร  มันจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาได้อย่างไร  นั่นเป็นความคิด ความเห็นของคนที่มีกิเลสครอบงำจิตใจ  เป็นคนคิดที่จะแสวงหาสิ่งต่างๆจากภายนอก  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่เห็นคุณค่าของการดูลมหายใจเข้าออก หารู้ไม่ว่าวิธีการดูลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นอุบายวิธีเพื่อที่จะดึงจิตให้เข้าสู่ความสงบ  ถ้าจิตสามารถเพ่งรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ส่งจิตใจไปทางไหน  ไม่ช้าก็เร็วจิตจะรวมลงเข้าสู่ความสงบ  เมื่อจิตรวมลงสู่ความสงบแล้วจิตจะมีความสุข มีความเย็น มีความสบาย  จิตตั้งมั่นอยู่นิ่ง  ในขณะนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยควบคุมจิต เพราะจิตไม่ไปไหน  เปรียบเหมือนกับลูกฟุตบอล ในขณะที่มีการเล่นกัน นักเล่นฟุตบอลก็ต้องแย่งกันเตะลูกฟุตบอลเพื่อที่จะเอาลูกฟุตบอลนั้นเข้าไปตุงอยู่ในตาข่าย   แต่เมื่อลูกฟุตบอลเข้าไปตุงอยู่ในตาข่ายแล้ว ก็ไม่มีใครไปตามเตะมันอีก ก็ปล่อยให้มันนิ่งอยู่อย่างนั้น   ฉันใด จิตก็เหมือนกัน  ถ้ายังไม่ได้รวมลงสู่ความสงบ จิตก็จะถูกกิเลสกับธรรมแย่งกัน ถูกสติกับการเผลอสติแย่งกัน  ขณะที่มีสติ สติก็จะดึงจิตให้เข้าสู่ตาข่ายของธรรมะ  แต่ถ้าถูกกิเลส ความโลภ ความอยากดึงไป มันก็จะพาไปสู่เรื่องราวต่างๆภายนอก ไปสู่ความวุ่นวาย ไปสู่ความทุกข์   แต่ถ้าสติดึงจิตเข้ามาสู่ความสงบได้ ก็ดึงจิตเข้าสู่ความสุข ความอิ่ม ความพอ

นี่คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องพยายามกระทำ ต้องเข้าใจวิธีการ ต้องรู้จักแสวงหาสถานที่ที่เอื้ออำนวย เช่นตามป่าตามเขาเป็นสถานที่ที่สงบสงัด ไม่มีรูป เสียง กลิ่นต่างๆ ที่จะมาคอยยั่วยวนกวนใจ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปฏิบัติสามารถที่จะบังคับตัวเอง บังคับใจให้อยู่กับสถานที่อย่างนั้นได้หรือไม่  เพราะว่าเมื่อมาอยู่ในสถานที่เหล่านี้แล้ว จะถูกความกดดันจากกิเลสภายในจิตให้ออกไปหิว ออกไปอยากเห็นรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ที่เคยได้สัมผัสมา แต่เมื่อมาอยู่ในสถานที่ที่จะต้องเห็นรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆที่ไม่ถูกอกถูกใจก็ทนอยู่ไม่ได้ มันก็ต้องพยามยามกดดันให้จิตรู้สึกอึดอัด เกิดความทุกข์ เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความรู้สึกอยากจะออกไปทำอะไรสักอย่าง  ถ้าอยากทราบว่าเป็นอย่างไร  ท่านผู้ปฏิบัติลองทำดู  ลองไปอยู่ตามสถานที่สงบสงัดตามป่าตามเขา เช่นตามวัดป่าวัดเขาต่างๆ ลองดูว่าจะอยู่ได้สักกี่วัน แล้วจะเห็นการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรมเกิดขึ้นมาทันที   ธรรมะก็คือสติและความเห็นที่ว่าการที่ได้อยู่ในสถานที่สงบสงัดนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อจิตใจ แต่จะสู้กับเล่ห์เพทุบายของกิเลสตัณหาได้หรือเปล่านั้นก็ต้องดูกันต่อไป 

เวลาเริ่มต้นปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนจะมีความกระตือรือร้น มีศรัทธามาก  แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้ว เริ่มถูกความกดดันที่ไม่เคยเจอมาก่อนในจิตที่ทำให้เกิดความทุกข์มาก ก็จะทำให้ไม่สามารถทนอยู่ได้ถ้าไปอยู่เฉยๆ จะอยู่ได้นั้นต้องขยันหมั่นตั้งสติอยู่เสมอ  คือพยายามเจริญสติอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงเวลาหลับ   พอตื่นขึ้นมาสิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือตั้งสติ  ให้บอกกับตัวเองว่าต่อไปนี้เราต้องรู้อยู่ทุกอิริยาบถ รู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่  พอตื่นขึ้นมาจะลุกก็รู้ว่ากำลังจะลุก  พอลุกขึ้นมาแล้วก็ต้องรู้ว่าลุกขึ้นมาแล้ว  เมื่อกำลังจะยืนจะเดินจะทำอะไรก็ต้องมีสติควบคุมร่างกายนั้นอยู่ตลอดเวลา  และต้องคอยมั่นดึงใจไว้ไม่ให้ไปสนใจ ไปคิดกับเรื่องราวต่างๆ นานา ที่ผ่านไปแล้ว เช่นชีวิตนอกวัดเป็นต้น 

เมื่อก่อนนี้เวลาอยู่ในบ้านในเมืองมีภารกิจการงาน ทำโน่นทำนี่  สัมผัสสิ่งโน้นสิ่งนี้  แต่ตอนนี้มาอยู่ในสถานที่สงบสงัดตามป่าตามเขาแล้ว ตอนนี้ต้องตัดสิ่งนั้นออกไป อย่าไปคิดถึงมัน เพราะเมื่อคิดถึงมันแล้วจะทำให้อยากกลับไปหาสิ่งเหล่านั้นอีก ซึ่งผิดเจตนารมณ์ที่อุตส่าห์ออกมาปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะให้จิตเข้าสู่ความสงบ ต้องพยายามต่อสู้กับความคิดความอยากต่างๆ ที่จะดึงให้เราออกไปข้างนอก  ต้องพยายามผูกดึงจิตไว้ให้อยู่กับลมหายใจก็ได้  อยู่กับอิริยาบถสี่ของร่างกายก็ได้  หรือจะท่องเที่ยวดูอวัยวะต่างๆของร่างกายก็ได้ เช่นดู ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก หัวใจ ปอด ตับ ไต เป็นต้น  ถ้าได้เจริญอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ  จะทำให้จิตมีความสงบ  ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา  ทำให้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนั้นว่าเป็นอย่างไร  ว่าเป็นสิ่งที่สวยงามหรือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม  เป็นสุภหรือเป็นอสุภ  

คนทั่วไปในโลกนี้ส่วนใหญ่จะมองเห็นร่างกายแต่เพียงผิวเผิน คือเห็นแต่อาการห้าอย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้นเอง แล้วก็ไม่ได้เห็นในลักษณะที่ให้เกิดปัญญา  แต่เห็นในลักษณะที่เกิดความลุ่มหลง เช่นเห็นว่าผมสวย เห็นว่าหนังสวย เห็นว่าเล็บสวย ฟันสวยเป็นต้น แทนที่จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เป็นปฏิกูล  เป็นสิ่งที่สกปรก  เช่นผมก็ต้องคอยสระคอยล้างอยู่เสมอ มิฉะนั้นก็จะมีกลิ่นเหม็นเพราะมีเหงื่อออกมาตามหนังศีรษะ หนังก็ต้องคอยดูแลรักษาต้องคอยอาบน้ำ ถ้าไม่ได้อาบน้ำสักสองสามวันก็จะส่งกลิ่นเหม็นออกมา ถ้ามองด้วยธรรมะมองด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ายินดี  ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าลุ่มหลงรักชอบเลย กลับเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย น่าถอยห่าง น่าปล่อยวาง

เคยได้ยินคำว่าขี้ไคลไหม ขี้มูกไหม ของเหล่านี้มันก็ออกมาจากร่างกายของเรา  มันไม่ได้มาจากที่ไหน มันเป็นของสกปรก  แต่เราไม่เคยพิจารณาอย่างนี้ เพราะขาดปัญญา ขาดการใคร่ครวญ ขาดโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาด้วยความรอบคอบให้เห็นตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นปฏิกูลเป็นของสกปรก  จิตกลับมองในลักษณะลุ่มหลงแล้วเสริมด้วยการปรุงแต่งต่างๆ มีการเสริมสวย แต่งผม แต่งหน้าแต่งเล็บ แม้กระทั่งการแต่งฟัน คือการฟอกฟันให้ขาว  ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้มันไม่สวยไม่งาม   ถ้าไม่ได้แปรงฟันสักวันสองวัน กลิ่นปากก็จะเหม็น  ถ้าได้พิจารณาอยู่อย่างต่อเนื่องก็จะเข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริงของร่างกาย แล้วจะเกิดความเบื่อหน่าย ปล่อยวาง คลายความกำหนัดยินดีกับสิ่งเหล่านี้  จิตก็จะเข้าสู่ความสงบ 

จิตไม่สงบเพราะถูกราคะตัณหากิเลสทั้งหลายคอยผลักดันให้เกิดความอยาก ความยินดี ความห่วง ความอาลัยกับสิ่งต่างๆ   ก็เลยทำให้จิตไม่สงบ   แต่ถ้าได้เจริญกายคตาสติปัฏฐาน คือการมีสติอยู่ที่กาย ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของร่างกายว่าเป็นปฏิกูลของสกปรก  เป็นอสุภไม่สวยไม่งาม   จิตก็จะค่อยๆ คลายความกำหนัด คลายความยินดี เพราะเริ่มเห็นความเป็นจริงของร่างกายว่าเป็นอย่างไร  เมื่อเห็นแล้วไม่มีใครจะหลงยึดติดอยู่กับร่างกายนี้ไปหรอก  เพราะไม่มีใครชอบสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม  ดังนั้นความสวยงามของร่างกายจึงไม่มี มันมีเพราะจิตหลงไปต่างหาก  เพราะขาดความพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญานั่นเอง แต่เมื่อได้รับการอบรมด้วยปัญญาอย่างสม่ำเสมอ จิตจะค่อยๆเกิดความเข้าอกเข้าใจในสภาพที่แท้จริงของร่างกาย  จิตก็จะปล่อยวางร่างกาย จะไม่มีความยินดียินร้ายกับร่างกาย ในเรื่องของความสวยงามหรือไม่สวยงามอีกต่อไป เข้าใจแล้วก็ปล่อยวาง 

เมื่อปล่อยวางร่างกายได้แล้ว การที่จะต้องพิจารณาดูความไม่สวยงามของร่างกายนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป  เพราะการพิจารณานั้นเปรียบเหมือนการรับประทานยาแก้โรคความหลง  เมื่อยาได้ทำลายความหลงหมดไปแล้ว  จิตตาสว่างขึ้นมา จิตปล่อยวาง จิตไม่ยึดไม่ติด ไม่ยินดียินร้ายกับร่างกายแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอสุภความไม่สวยไม่งาม ปฏิกูลความสกปรกของร่างกายอีกต่อไป เพราะจิตหมดความกำหนัดยินดี ได้ระงับดับราคะตัณหาอย่างแท้จริงแล้ว  การพิจารณาร่างกายก็หมดไป เพราะจิตไม่ไขว่คว้าหาร่างกายอีกต่อไป  ไม่คิดที่จะหาร่างกายของบุคคลนั้นหรือบุคคลนี้ มาเป็นเครื่องให้ความสุขกับจิตอีกต่อไป  เพราะรู้อย่างแท้จริงแล้วว่ามันไม่ใช่เป็นของสวยงามเลย  นี่คือการเจริญวิปัสสนา การเจริญปัญญา 

การเจริญวิปัสสนาเจริญปัญญาทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง ทำให้ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง อุปาทานได้อย่างถาวร  แต่ถ้าใช้การบริกรรมพุทโธ หรือการกำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อทำให้จิตสงบ จิตจะสงบเป็นระยะๆไป แต่ไม่ได้ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง อุปาทานออกไปจากจิต เวลาถอนออกมาก็จะเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมาได้อีก  เมื่อไปเห็นรูปที่ชอบ ที่ยินดี ก็จะเกิดการกระตุ้นให้เกิดราคะ เกิดตัณหา เกิดความกำหนัดยินดีขึ้นมา  แต่ถ้าใช้วิธีเจริญด้วยวิปัสสนาปัญญา ให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของร่างกายว่าเป็นปฏิกูล เป็นของไม่สวยไม่งามแล้ว จิตจะปล่อยวางร่างกายนี้  จะสงบสงัดจากความยินดียินร้ายกับเรื่องของร่างกาย หมดความใคร่ ความอยากกับร่างกายนี้อย่างถาวร

นอกจากการพิจารณาดูอสุภความไม่สวยงาม ปฏิกูลความสกปรกของร่างกายแล้ว ก็ยังต้องพิจารณาดูความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความแตกสลายของร่างกายด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้คลายความวิตกเกี่ยวกับความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความตาย  ทุกครั้งที่ระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ และความตายนั้น จิตจะมีความรู้สึกหดหู่   ความหดหู่นี้เกิดจากอะไร  เกิดจากอวิชชาโมหะความหลง  ความหลงที่คิดว่าร่างกายนี้ควรจะอยู่ไปตลอดไม่มีที่สิ้นสุด  คือเกิดมาแล้วต้องไม่แก่ ต้องไม่เจ็บ และต้องไม่ตาย  แต่หารู้ไม่ว่าความเป็นจริงนั้นมันตรงกันข้ามกัน  เป็นธรรมดาของร่างกายนี้ที่เกิดมาแล้ว ต้องมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา   แต่ถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้พิจารณา ให้มองร่างกายในลักษณะนี้ ก็จะคิดอยากให้ร่างกายนี้ต้องไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอยู่เสมอไป  ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าทุกคนเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกัน แต่ไม่ชอบคิดถึงเรื่องเหล่านี้  เพราะถือว่าการคิดถึงเรื่องเหล่านี้เป็นอัปมงคล  คิดไปแล้วสร้างความไม่สบายใจให้เกิดขึ้น แต่หารู้ไม่ว่าความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดจากโมหะความหลง เกิดจากวิภวตัณหาความกลัว  กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย ซึ่งขัดกับความปรารถนาของจิตที่อยากให้ร่างกายนี้ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนความจริง เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ความไม่สบายใจ ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องของความแก่ ความเจ็บ ความตาย  

ผู้ปฏิบัติที่แสวงหาความจริง เพื่อที่จะเอาความจริงนี้มาตัด มาช่วยทำให้จิตหลุดพ้นจากความกลัวสิ่งเหล่านี้  ผู้ปฏิบัติก็ต้องใจกล้า ต้องไม่กลัวเรื่องการพิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตาย เมื่อเริ่มพิจารณาอาจจะมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยอยากจะคิด  แต่ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆ แล้ว ต่อไปจิตจะเริ่มยอมรับ ค่อยๆเกิดความชินกับสิ่งเหล่านี้  และในที่สุดก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียอีก  เพราะว่าเมื่อจิตยอมรับแล้วจิตจะไม่กลัวสิ่งเหล่านี้  จิตก็จะดับวิภวตัณหาได้  ความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายจะถูกขจัดให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ ด้วยอำนาจของวิปัสสนาปัญญาคือความจริง  คนเราฝืนความจริงไปไม่ได้หรอก  ความจริงเป็นสิ่งที่ทุกคนในที่สุดต้องยอมรับ  อยู่ที่ว่าจะรับช้าหรือรับเร็วเท่านั้นเอง  ถ้ารับเร็วแล้วก็สบายเร็ว ถ้ารับช้าก็สบายช้า ถ้าไม่รับไม่อยากรับความเป็นจริงเหล่านี้ก็จะทุกข์ไปไม่มีที่สิ้นสุด  ตายจากชาตินี้แล้วไปเกิดใหม่ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็ต้องไปกลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตายต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ถ้ายอมรับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องกลัว  ต้องรังเกียจ   ถ้ายอมรับความเป็นจริง ก็จะดับความกลัวความรังเกียจนี้ได้  ดับวิภวตัณหาได้  จิตก็จะไม่ทุกข์กับความ แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป 

นี่คือผลที่จะเกิดจากการที่เราพิจารณาร่างกาย ธรรมชาติของร่างกายอยู่อย่างสม่ำเสมอ อยู่อย่างต่อเนื่อง  ไม่ช้าก็เร็วจิตจะปลงได้จะวางได้  พยายามรับความเป็นจริง  เมื่อยอมรับความเป็นจริงแล้ว ความแก่ความเจ็บความตายมันก็ยังเหมือนเดิมอีกของร่างกาย  มันก็ยังต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย  แต่คนที่ยอมรับความเป็นจริงแล้วจะอยู่ไปจนกระทั่งถึงวันแก่ วันเจ็บวันตายโดยไม่มีความทุกข์ใจ  สบายใจ ก็อยู่ไปเป็นปกติ  แต่เมื่อ ยอมรับแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปคิดอีกต่อไปเรื่องของความแก่ความเจ็บความตาย  เพราะเรื่องของความแก่ความเจ็บความตายนั้นมันไม่ได้เป็นปัญหาต่อไปกับจิตใจ   ที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นอยู่เรื่อย ๆ ก็เพื่อที่จะให้จิตเกิดความคุ้นเคย ให้ยอมรับในความเป็นจริงของสภาพของร่างกายอันนี้เท่านั้นเอง  เมื่อยอมรับได้แล้ว ปลงได้แล้ว วางได้แล้ว ปัญหามันก็หมดไป   ผู้พิจารณาไม่ต้องไปคิดพิจารณาเรื่องเหล่านี้อีกต่อไป  เพราะการพิจารณาดังที่ได้แสดงไว้ว่า มันเป็นเหมือนกับยามาแก้โรคความหลง โรคของความกลัว แก้ตัณหานั่นเอง 

เมื่อพิจารณาไปจนกระทั่งถึงจุดที่จิตยอมรับความเป็นจริง ยอมรับความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วมันก็จบกัน   ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันก็เป็นเหมือนกันทุกคน ไม่ว่าคนที่จะได้พิจารณาหรือคนที่ไม่ได้พิจารณา ต่างกันตรงที่ว่าคนที่ได้พิจารณาแล้วปลงได้ วางได้ คนนั้นสบาย อยู่สบาย แก่ก็สบาย เจ็บก็สบาย ตายก็สบาย ไม่เดือดร้อนกับสิ่งเหล่านี้  ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้พิจารณาเรื่องเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ปล่อยให้มีแต่ความกลัว ความไม่ต้องการ ความรังเกียจในเรื่องของความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาครอบงำอยู่ มันก็จะสร้างความทุกข์ใจอยู่ไปเรื่อยๆ  ไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ถ้าคิดพิจารณาให้ยอมรับให้ได้ว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ท่องมันอยู่อย่างนั้น คิดมันอยู่อย่างนั้น ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอนจนกว่าจิตจะยอมรับ ยอมปล่อย เมื่อปล่อยแล้วจะเกิดความโล่งอก เบาใจขึ้นมา  นี่คือสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะรู้เองเห็นเอง ขอให้ทำไปตามแนวนี้เถิด พยายามเจริญไปเรื่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย มีใครบ้างที่เกิดมาแล้ว ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ให้พิจารณาทั้งกายในและกายนอก  

กายในคือกายของเรา กายนอกคือกายของบุคคลอื่น พิจารณาคนใกล้ชิดก่อนก็ได้ เช่นบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง  ญาติสนิทมิตรสหาย แล้วค่อยพิจารณาไปถึงกายของบุคคลอื่นๆที่เราไม่รู้จัก รวมไปถึงสัตว์เดียรัจฉาน ทั้งหมดนี้เป็นกายเหมือนกันหมด  เป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเหมือนกัน  เราไม่ได้ตายคนเดียว  เวลาพิจารณาเรื่องกายนี้เราอาจจะคิดว่า โอ๊ยเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายคนเดียว  แต่หารู้ไม่ว่าทุกๆคนเป็นเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น ควรพิจารณาทั้งกายในและกายนอก  ถ้าคิดพิจารณาแต่กายในอย่างเดียว จะทำให้หลงเผลอไป คิดว่าเราเป็นคนที่จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปคนเดียว  ก็สร้างความหดหู่ความทุกข์ใจ  ถ้าพิจารณากายนอกอย่างเดียวว่าเขาต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็จะเกิดความหดหู่ใจ เกิดความเสียดาย อาลัยอาวรณ์ในบุคคลเหล่านั้น   แต่ถ้าได้พิจารณากายในและกายนอกสลับกันไปและควบคู่กันไป จะเห็นว่าทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกันหมด  อีกร้อยปีคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกในวันนี้ก็จะไม่มีเหลืออยู่ในโลกนี้ จะมีแต่ผู้ที่เกิดมาทีหลัง พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องเดินตามรอยของผู้ที่มาก่อน คือต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปด้วยกันทั้งนั้น 

เรื่องแก่เจ็บตายจึงเป็นเรื่องธรรมดา  เป็นเรื่องปกติ  การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณาเพื่อสาปแช่งตัวเอง หรือสาปแช่งผู้อื่นให้แก่ ให้เจ็บ ให้ตาย  แต่มันเป็นยารักษาโรคจิต กินมันเข้าไปเถิด พิจารณามันเข้าไปเถิด พิจารณาอยู่เนืองๆ พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่เนืองๆ คำว่าเนืองๆหมายถึงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พิจารณาไปจนกระทั่งปล่อยวางนั่นเอง  เมื่อปลงได้แล้ว ยอมรับได้แล้ว ปัญหาก็หมดไป จิตจะเย็น จิตจะสบาย ร่างกายจะเป็นอะไรไป ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราหรือของคนอื่นก็ตาม เราก็จะไม่เดือดร้อนใจ  ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ  ทุกๆ คนในที่สุดก็ต้องพลัดพรากจากกัน  ในที่สุดก็ต้องไปคนละทิศคนละทาง 

ผู้ที่พิจารณาและปล่อยวางได้เป็นผู้ที่จะไปดี  เพราะบุคคลที่สามารถปล่อยวางกายได้นี่ เป็นผู้ที่ได้เข้าสู่อริยมรรค สู่อริยผล เป็นอริยบุคคลคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามีตามลำดับ  ท่านเหล่านี้ใช้การพิจารณากายเป็นมรรควิถี ทางดำเนินสู่อริยผลทั้ง ๓ ขั้นนี้  ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามีนั้น จะต้องพิจารณากายไปตามสัดส่วนต่างๆของธรรม แต่ละลำดับไปจนกระทั่งถึงลำดับสุดท้าย พระโสดาบันได้ละสักกายทิฏฐิ การเห็นว่ามีตัวมีตนอยู่ในร่างกายนี้ ท่านเห็นว่าไม่มีตัวตนในร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ตัวตน  ร่างกายนี้เป็นเพียงแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา  ดังที่พระอัญญาโกณฑัณญะได้ทรงอุทานไว้หลังจากได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ธรรมอันใดมีการเกิดขึ้นมาเป็นธรรมดา ธรรมอันนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา นั่นก็คือร่างกายนี้เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตายไปเป็นธรรมดา  นี่เป็นเรื่องที่พระโสดาบันท่านยอมรับ ท่านปลงได้ ท่านเข้าใจแล้วท่านก็ปล่อยวาง  เมื่อท่านปล่อยวางแล้วท่านก็เจริญธรรมะขั้นต่อไป คือการพิจารณาให้เห็นอสุภความไม่สวยงาม ความเป็นปฏิกูลของร่างกายนี้ เพื่อจะได้ระงับดับราคะตัณหาความกำหนัดยินดี ในร่างกายนี้ 

เมื่อได้ทำให้ราคะตัณหาความกำหนัดยินดีเบาบางลงไป ก็จะบรรลุเป็นพระสกิทาคามี ผู้ได้ทำให้กามราคะและปฏิฆะเบาบางลงไป คือละกามราคะและปฏิฆะได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้ราคะตัณหานั้นเบาบางลงไป  แต่ยังไม่สามารถทำให้มันหมดไปได้ เมื่อได้เจริญธรรมต่อไปเรื่อยๆ พิจารณาเรื่องความเป็นอสุภ ความไม่สวยงาม  เรื่องความเป็นปฏิกูลของร่างกายต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดเห็นว่าร่างกายนี้เป็นอสุภไม่สวยงาม เป็นปฏิกูล เป็นสิ่งสกปรก ไม่น่ายินดี ไม่น่ารักใคร่ ก็จะสามารถตัดราคะตัณหาในร่างกายนี้ได้ ถ้าตัดได้แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอนาคามี   

พระอนาคามีเป็นผู้ที่หมดเยื่อใยต่อเรื่องของร่างกาย ไม่ว่าเรื่องราคะตัณหาก็ดี เรื่องวิภวตัณหา คือความกลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตายก็ดี  สิ่งเหล่านี้พระอนาคามีตัดได้หมด  ถ้าต้องมรณภาพหรือเสียชีวิตไปก่อน ที่ท่านจะปฏิบัติถึงธรรมขั้นสูงสุด ท่านก็จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก  เรียกว่าสุทธาวาสมีอยู่ ๕ ชั้นด้วยกัน จากนั้นท่านก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์พรหมโลกนั้นต่อไป  ท่านจะไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในกามโลกอีกต่อไป   กามโลกนั้นเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ยังมีความยินดีในกาม  แต่พระอนาคามีนั้นท่านสิ้นแล้วในเรื่องความยินดีในร่างกาย เรื่องราคะตัณหา เรื่องกามราคะ สิ่งนี้ไม่มีในจิตของท่าน  ท่านจะเป็นผู้ที่ไม่กลับมาเกิดในกามภพอีกต่อไป 

พระโสดาบันกับพระสกิทาคามียังต้องกลับมาเกิดในกามภพอีก  ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ยังจะกลับมาเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก  ถ้าเป็นพระสกิทาคามีก็จะกลับมาเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น   ถ้าเป็นพระอนาคามีก็จะไม่กลับมาเกิดอีกเลย ท่านหมดปัญหา หมดความยินดีเกี่ยวกับเรื่องของร่างกายนี้แล้ว  เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านก็ไม่จำเป็นต้องมาเกิดมีร่างกายนี้  เพราะผู้ที่เกิดเพื่อมีร่างกายนี้ ก็เพื่อที่จะอาศัยร่างกายนี้เป็นเครื่องมือในการหากามสุขนั่นเอง  คือความสุขที่เกิดจากการเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสความรู้สึก หนาว เย็น ร้อน อุ่น แข็ง นิ่ม อย่างนี้เป็นต้น   นี่เรียกว่ากามคุณห้า  ผู้ที่ยังมีความยินดีในสิ่งเหล่านี้อยู่ ยังเป็นผู้ที่ยังมีกามราคะ กามตัณหาอยู่ 

พระอริยบุคคลที่ได้พิจารณาร่างกายนี้อย่างถ่องแท้แล้วด้วยอสุภกรรมฐานก็ดี  ด้วยปฏิกูลกรรมฐานก็ดี  คือมองให้เห็นร่างกายนี้เป็นสิ่งที่มีแต่ความสกปรกโสโครก เป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม เป็นอสุภ เช่นพิจารณาดูคนตาย ดูคนเป็น ว่าเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกันดู   คนตายก็มีรูปลักษณะหนึ่ง  คนเป็นก็มีรูปลักษณะหนึ่ง  ทั้งๆที่เป็นคนๆเดียวกัน   คนที่ยังเป็นอยู่นี้ ก็เป็นเหมือนกับเป็นผีดิบ ผีที่ยังไม่ตาย  ส่วนคนที่ตายก็เป็นผีตายที่ตายไปแล้ว ร่างกายก็จะต้องเน่าเปื่อยไปเรื่อยๆ ความสวยงามต่างๆ ความน่าดูต่างๆ มันก็หมดไป

ถ้าพิจารณาดูสิ่งเหล่านี้อยู่เรื่อยๆแล้ว  จิตจะค่อยๆ เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกาย  แล้วในที่สุดก็จะเห็นเต็มที่   เมื่อเห็นเต็มที่แล้วก็ไม่มีใครจะทนที่จะไปยินดีกับซากศพนั้นได้   ขณะที่มีลมหายใจอยู่ก็ยังถือว่าเป็นซากศพเดินได้เท่านั้นเอง   เมื่อไม่มีลมหายใจแล้วก็เป็นซากศพที่เดินไม่ได้  มีแต่จะสลาย มีแต่จะส่งกลิ่นเหม็นออกมา งานศพก็ไม่มีใครอยากจะไปกัน ทั้งๆที่คนๆนั้นเมื่อยังไม่ตายก็เป็นบุคคลที่ชอบไปหา ไปพบอยู่   แต่พอตายแล้วบุคคลนั้นกลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งไปเลย  แล้วเราทำไมถึงไม่เห็นขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ว่าร่างกายก็เป็นอย่างนี้แหละ จะไปหลงยินดีกับสิ่งนี้ทำไม เพราะอะไรเป็นเหตุให้ไปหลงยินดี เพราะว่าจิตมีโมหะ อวิชชา ความหลงครอบงำจิตอยู่ ทำให้ไม่คิดไม่มองในความเป็นอสุภของร่างกายนั่นเอง  ให้มองแต่เรื่องสวยเรื่องงาม ก็เลยทำให้เกิดความยินดี เกิดความกำหนัดความชอบขึ้นมา แต่ถ้าได้เจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาไปเรื่อยๆแล้ว  ความจริงของร่างกายก็จะต้องปรากฎขึ้นมาให้เห็น  เมื่อเห็นอย่างเต็มที่แล้วอวิชชาโมหะที่เกี่ยวกับร่างกายย่อมถูกทำลายไป  เมื่อถูกทำลายไปกามตัณหาก็หมดไป   เมื่อหมดไปแล้วความจำเป็นที่ต้องพิจารณาร่างกายนี้ก็หมดไป  กายคตาสติปัฏฐานก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

แต่มันยังมีตัณหาอื่นอยู่อีก นี่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของการปฏิบัติธรรมเท่านั้นเอง  เพราะว่าผลของการพิจารณากายได้อย่างสูงสุดก็แค่ขั้นพระอนาคามีเท่านั้นเอง   ถ้าจะไปสู่ขั้นพระอรหันต์จะต้องพิจารณานามธรรมต่อไปอีก   คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และ จิต  นี่เป็นสิ่งที่ยังต้องพิจารณา  เพราะว่ากิเลสตัณหายังมีความยึดมั่น ยังหลงติดอยู่กับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และ จิต  จะต้องอาศัยวิปัสสนาปัญญาเข้าไปพิจารณาให้เห็นว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และ จิตนั้นก็เป็นไตรลักษณ์   คือเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง แปรปรวน  เป็นทุกข์ ถ้าไปยึด ไปติด ไปยินดี  เป็นอนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นธรรมชาติ อาศัยเหตุปัจจัยทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา เหมือนกับฟ้าแลบในท้องฟ้า   เวลาฟ้าแลบมีใครไปทำให้ฟ้ามันแลบหรือเปล่า  มีบุคคลอยู่ในสายฟ้านั้นหรือเปล่า มันไม่มี  มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

ฉันใด  เวทนา สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี มันก็เป็นเหมือนกับฟ้าแลบ มันแลบขึ้นมาแล้วมันก็หายไป  สุขแปล๊บแล้วมันก็หายไป  ทุกข์แปล๊บแล้วก็หายไป ไม่สุขไม่ทุกข์แปล๊บแล้วก็หายไป สลับผลัดเปลี่ยนกันไป  สัญญาความจำก็เช่นกัน  เวลาได้ยินเสียงก็เกิดความจำขึ้นมาว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร เห็นรูปก็เกิดสัญญาความจำขึ้นมาว่ารูปนั้นคือรูปอะไร   เสียง กลิ่น รส ก็เช่นกัน  นี่เป็นเรื่องของสัญญา  เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปเหมือนกับฟ้าแลบ วิญญาณรับทราบสิ่งเหล่านี้ก็เช่นกัน  เมื่อมีรูปมาสัมผัสกับตา ก็รับทราบว่ามีรูปเกิดขึ้นมาในมโนภาพแล้วก็หายไป   เมื่อรูปนั้นผ่านไป หรือหลับตารูปนั้นก็หายไป  วิญญาณที่รับทราบรูปนั้นก็หายไปด้วย เมื่อมีรูปใหม่ขึ้นมาแทนที่   มันก็มีวิญญาณตัวอื่นขึ้นมารับทราบแทนต่อเนื่องกันไป เมื่อมีการเกิดดับๆของรูปเหล่านี้  วิญญาณก็เกิดดับๆตามไปด้วย เช่นเดียวกับ เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ สังขารคือความคิดต่างๆในจิตที่คิดเรื่องนั้นแล้วก็คิดเรื่องนี้  คิดขึ้นมาแล้วก็หายไป เท่ากับเกิดดับไปเรื่องหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องใหม่เกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป  คิดไปก็หายไป  เกิดดับ เกิดดับ เรียกว่าสังขารความคิดปรุงแต่ง  จิตคืออารมณ์ต่างๆ เช่น ดีใจ เสียใจ ยินดี ยินร้าย รัก ชัง โลภ โกรธ หลง เป็นต้น

นามธรรมทั้งสี่นี้คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอารมณ์ต่างๆในจิต เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้แล้วปล่อยวาง อย่าไปยึดไปติด  ถ้าไปยึดไปติดแล้วมันจะทุกข์ เช่นไปติดกับสุขเวทนา  พอสุขเวทนานั้นหายไปก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความหิวความกระหายที่อยากจะสัมผัสกับสุขเวทนานั้นอีก หรือเมื่อได้สัมผัสกับทุกข์เวทนาแล้วก็ไม่ชอบ เกิดวิภวตัณหาอยากจะหนีจากทุกข์เวทนานี้ไป ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาอีก  เพราะไม่อยากจะเจอกับทุกขเวทนา ต้องฝึกทำใจให้เป็นกลางๆ คือสุขก็ได้ทุกข์ก็ได้  ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ได้ เหมือนกับฟ้าแลบ ใครจะไปห้ามฟ้าแลบได้  ไม่ต้องไปยินดีกับฟ้าแลบ  มันจะแลบก็ให้มันแลบไป  มันจะไม่แลบก็เรื่องของมัน  เวทนาก็เหมือนกัน มันจะสุขก็ให้มันสุขไป  มันจะทุกข์ก็ให้มันทุกข์ไป มันจะไม่สุขไม่ทุกข์ก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน ไม่ต้องไปยินดีอะไรกับมัน

พยายามพิจารณาปล่อยวางนามธรรมทั้งสี่นี้และอารมณ์ต่างๆในจิต พิจารณาปล่อยวางเวทนา ปล่อยวางสัญญา  ปล่อยวางสังขาร  ปล่อยวางวิญญาณ  ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆในจิต รู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ปล่อยวาง  ถ้าปล่อยวางไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เป็นปัญหากับจิต   จิตก็จะปล่อยวางไปเรื่อยๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดมั่นถือมั่น  ก็ถือว่าจิตได้หลุดพ้นจากขันธ์ทั้งห้าและอารมณ์ต่างๆในจิต  ตอนต้นได้พิจารณากายแล้วปล่อยวางกาย  แล้วมาพิจารณาและปล่อยวางนามขันธ์ทั้งสี่และอารมณ์ต่างๆในจิต  ก็ถือได้ว่าปล่อยวางอุปทานในขันธ์ห้าและอารมณ์ต่างๆในจิตนั่นเอง 

พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระอริยสัจสี่ว่า ทุกข์คืออุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้านั่นเอง ผู้ต้องการความพ้นทุกข์จะต้องปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ให้พิจารณาให้เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปราศจากตัวตน  ถ้าพิจารณาสิ่งเหล่านี้แล้วปล่อยวางได้หมดสิ้น  จิตก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ในพระอริยสัจสี่ 

ทุกข์คือความเกิดแก่เจ็บตาย การได้สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบ การพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง ความยึดมั่นในขันธ์ห้า  พิจารณาให้รู้ กำหนดให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์  เหตุที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์คือตัณหาความอยาก  มีกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เป็นต้น  ต้องละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เครื่องมือที่จะใช้ละตัณหาก็คือมรรค  มรรคคือการเจริญจิตตภาวนา สมาธ และปัญญาเป็นตัวหลักโดยมีศีลเป็นเครื่องสนับสนุน รวมกันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขยายความออกไปก็เป็นมรรคที่มีองค์แปด เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลาง นี่คือสิ่งที่ต้องเจริญให้มาก ต้องพัฒนาให้มาก ต้องรักษาศีล ต้องเจริญสมาธิ ต้องเจริญวิปัสสนา ตามแนวที่ได้แสดงไว้ คือพิจารณากาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอารมณ์ต่างๆในจิต ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์แล้วก็จะปล่อยวาง เพราะไปยึดไปติดกับของไม่เที่ยงไม่ได้  จะบังคับมันได้อย่างไร เหมือนกับฟ้าแลบ บังคับให้มันแลบได้หรือเปล่า  เวลามันจะไม่แลบมันก็ไม่แลบ  เวลามันจะแลบมันก็แลบ   แลบแล้วมันก็หายไป 

ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายในตัวเราคือนามกับรูปนั้นก็เช่นกัน  กายมันก็เป็นเหมือนกับฟ้าแลบ เดี๋ยวมันก็สูญเดี๋ยวมันก็สลาย กลับคืนสู่ธาตุเดิมคือธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ   ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็ผลัดกันเกิด ผลัดกันดับ สลับกันไปอยู่ตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด  แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป  จากสุขเป็นทุกข์ จากทุกข์เป็นไม่สุขไม่ทุกข์  หมุนเวียนกันไปอยู่อย่างนั้น  สุดแท้แต่เหตุปัจจัยที่จะมาทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น  ใจผู้รู้ไม่สามารถที่จะบังคับมันได้  ใจต้องยอมรับความเป็นจริง  ใจต้องยอมต้องปล่อยวางสิ่งเหล่านี้  ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้ มันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไป ไม่มีปัญหาอะไร  ถ้าทำใจอย่างนี้ได้แล้วใจก็จะเข้าสู่ความสงบที่แท้จริง  ใจจะไม่มีความวุ่นวายกับสิ่งเหล่านี้ต่อไป  มันจะเป็นอย่างไรก็ไม่เดือดร้อน 

นี่คือเรื่องของการประพฤติปฏิบัติธรรม เรียกว่าเจริญมรรค  มรรคนี่ต้องเจริญให้มาก  ในพระริยสัจสี่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ว่า ทุกขต้องกำหนดรู้  สมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ต้องละให้ได้  นิโรธความดับทุกข์ต้องทำให้แจ้ง  มรรคต้องเจริญให้มาก  การที่จะกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้งได้นั้น จะต้องอาศัยการเจริญมรรคให้มากนั่นเอง  จะต้องเจริญมรรคให้สมบูรณ์  ถ้ามรรคสมบูรณ์แล้ว ก็เท่ากับได้กำหนดรู้ทุกข์ ได้ละตัณหา ได้ทำนิโรธความดับทุกข์ให้แจ้งนั่นเอง เพราะมรรคจะต้องกำหนดดูความเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาเรื่องความเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา พิจารณาให้เห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อพิจารณาได้อย่างเต็มที่แล้วก็จะปล่อย แล้วก็จะละตัณหาได้ ละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้   เมื่อละกามตัณหา  ภวตัณหา วิภวตัณหาได้แล้ว นิโรธความดับทุกข์ก็จะปรากฏขึ้น  

เรื่องของพระอริยสัจสี่เป็นเรื่องของกิริยา  คือผู้ปฏิบัติจะต้องดำเนินตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงดำเนินไปก่อน  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้  เราได้กำหนดรู้แล้ว  สมุทัยที่จะต้องละเราได้ละแล้ว  นิโรธที่ต้องทำให้แจ้งเราได้ทำให้แจ้งแล้ว  มรรคที่ต้องเจริญเราได้เจริญแล้ว   เมื่อได้กระทำในกิจทั้งสี่นี้แล้ว ก็ถือได้ว่าได้บรรลุพระอริยสัจสี่  ผู้ที่ได้บรรลุพระอริยสัจสี่ ย่อมเป็นผู้ที่อยู่เหนือความทุกข์   เพราะได้บรรลุถึงนิโรธการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงด้วยการเจริญมรรคนั่นเอง  

ชาวพุทธเราจึงต้องเจริญมรรคให้มากนั่นเอง  เจริญมรรคด้วยการรักษาศีล ด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนา นั่งสมาธิ กำหนดดูลมหายใจเข้า ออก ทำจิตให้สงบ  เมื่อจิตมีความสงบแล้วก็ให้เจริญวิปัสสนา พิจารณาดูร่างกาย พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ให้เห็นว่าเป็นธรรมดา  พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นปฏิกูล เป็นของสกปรก เป็นอสุภ เป็นของไม่สวยไม่งาม  พิจารณาดูเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเหมือนกับฟ้าแลบ เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในความควบคุมของใจ  ใจควบคุมสิ่งเหล่านี้ไม่ได้  ใจไม่สามารถบังคับให้มีสุขเวทนาไปได้ตลอด  ไม่สามารถขับไล่ทุกขเวทนาเมื่อมันเกิดขึ้นให้มันหายไปได้  เพราะสิ่งเหล่านี้มีเหตุมีปัจจัย บางทีก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมาที่ร่างกาย  เวลาเดินไปเตะหินก็เกิดการเจ็บปวดขึ้นมา ใจก็ต้องรับทราบ ใจก็ต้องรับรู้ว่านี่คือเวทนาทางกาย หรือว่าได้ยินเสียงที่คนเขาพูดแล้ว เกิดความไม่พอใจขึ้นมา ก็ต้องยอมรับว่าเราบังคับเสียงนั้นไม่ได้  จะเป็นสรรเสริญหรือนินทา เราต้องยอมรับ แล้วปล่อยวาง  รับรู้แล้วปล่อยวาง อย่าไปมีอารมณ์กับมัน  อย่าไปมีความยินดียินร้าย  เพราะความยินดียินร้ายก็คือตัณหานั่นเอง 

ถ้าไม่มีตัณหา ไม่มีความยินดียินร้ายแล้ว เราก็สามารถควบคุมทุกข์ทางด้านจิตใจได้  แต่เราควบคุมคนที่พูดไม่ได้   ควบคุมเสียงไม่ได้  ยังไงๆเสียงมันก็ต้องมาสัมผัสกับหู  แต่ใจเราควบคุมได้  ควบคุมด้วยการใช้สติใช้ปัญญา อย่าไปยินดียินร้ายกับเสียง ต้องยอมรับความจริงว่าเราบังคับเสียงนั้นไม่ได้  เมื่อสามารถควบคุมใจไม่ให้ไปยินดียินร้ายได้ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นในใจ นี่เป็นเรื่องที่นักปฏิบัติจะต้องพยายามประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ  และการที่จะปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอนั้นก็ต้องมีสถานที่ๆ สงบเงียบ เช่นตามป่าตามเขา  พยายามขวนขวายให้มีความยินดีในสถานที่เหล่านี้เถิด   สถานที่เหล่านี้เป็นที่เกิดของพระอริยบุคคลทั้งหลาย พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ส่วนใหญ่บรรลุธรรมในป่าในเขาทั้งนั้น น้อยมากที่จะบรรลุในบ้านในเมืองกัน  ส่วนใหญ่จะอยู่ตามป่าตามเขากัน จะประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็บรรลุธรรมตามป่าตามเขากันทั้งนั้น  แม้ในปัจจุบันนี้พระต่างๆที่เป็นพระสุปฏิปันโน ที่เรามีความศรัทธาเคารพเลื่อมใส ก็มักจะเป็นพระป่าทั้งนั้น ท่านอยู่ตามป่าตามเขา ประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่าในเขา แล้วก็บรรลุธรรมในป่าในเขากันทั้งนั้น  มีน้อยมากที่จะบรรลุธรรมในบ้านในเมือง แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ วิธีหนึ่งก็คือการดูอัฐิของท่าน  ถ้าอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุก็ถือว่าท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้