กัณฑ์ที่ ๓๕๖       ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐

 

วันเข้าพรรษา

 

 

 

วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่งตลอดเวลา ๓ เดือน ไม่จาริกไม่เดินทางไปค้างแรมที่อื่น ยกเว้นถ้ามีเหตุฉุกเฉินเหตุจำเป็น ก็ทรงอนุญาตให้ไปค้างได้ไม่เกิน ๗ วัน ๗ คืน เช่นบิดามารดา อุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ไม่สบาย ไปดูแลรักษาท่านได้ ไปได้ ๗ วัน ๗ คืน ก็ต้องกลับมา ถ้ายังจำเป็นต้องไปใหม่ก็ไปได้อีก ไปไม่เกินครั้งละ ๗ วัน ๗ คืน ถ้ากุฏิวิหารเกิดชำรุดขึ้นมากะทันหัน ต้องไปหาวัสดุต่างๆมาซ่อมแซม ก็สามารถไปได้เช่นเดียวกัน ถ้าศรัทธาญาติโยมนิมนต์ไปในงานบุญก็ไปได้  ถ้ามีสหธรรมิกคือพระภิกษุด้วยกัน มีความกำหนัดอยากจะลาสิกขาลาเพศ ก็สามารถไปยับยั้งได้ นี่คือข้อยกเว้นในกรณีที่ต้องจาริกไปค้างแรมที่อื่น  ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ต้องอยู่ค้างแรมที่วัดตลอดเวลา ๓ เดือน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘  ถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ เพราะในสมัยพุทธกาลช่วงเข้าพรรษาจะเป็นฤดูฝน เป็นฤดูปลูกพืชต่างๆ  ทำไร่ไถนาถ้าพระภิกษุจาริกไปไหนมาไหน ก็จะต้องเดินเหยียบย่ำไปในนาที่ได้หว่านเมล็ดไว้แล้ว  ก็จะไปทำลายพืชที่ได้ปลูกไว้ ชาวบ้านชาวนาชาวไร่จึงได้กราบทูลขออนุญาต ให้ทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุจาริกไปในที่ต่างๆตลอดเวลา ๓ เดือน เนื่องพระภิกษุสมัยก่อนบวชเพื่อปฏิบัติธรรม บวชเพื่อมรรคผลนิพพาน จึงมีการจาริกไปมา ไปหาครูบาอาจารย์ เพื่อรับการอบรมสั่งสอน ไปธุดงค์ตามป่าตามเขา จะไม่ได้อยู่ประจำที่เหมือนที่เป็นอยู่ในสมัยนี้ 

 

ภารกิจของพระมีอยู่เพียง ๒ อย่าง คือศึกษาและปฏิบัติ  คันถธุระและวิปัสสนาธุระ  งานของพระในสมัยก่อนเป็นอย่างนี้ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเรี่ยไร ขอเงินขอทองศรัทธาญาติโยม มาสร้างกุฏิ สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์ สร้างอะไรต่างๆ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของพระ  ถ้าศรัทธาญาติโยมมีจิตศรัทธา ก็จะสร้างให้เอง มีเศรษฐีมีกษัตริย์สร้างวัดถวายให้กับพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยเสียเวลากับการสร้างวัดเลย  เพราะเป้าหมายหลักของพระพุทธเจ้าต้องการสร้างพระ สร้างคนให้เป็นพระเท่านั้น  จึงทรงทุ่มเทเวลาไปกับการสั่งสอน ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็ต้องนำเอาไปปฏิบัติ แสวงหาที่สงบสงัดวิเวกตามป่าตามเขา  เพราะถ้าปฏิบัติอยู่ตามบ้านจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไร เหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าว ถ้าดินดีเมล็ดข้าวก็จะเจริญเติบโต ออกดอกออกผลมาก  ถ้าดินไม่ดี เป็นดินทราย เป็นหิน ก็จะไม่เจริญเติบโต ไม่ออกดอกออกผล ฉันใดเมล็ดแห่งการตรัสรู้  แห่งมรรคผลนิพพาน ก็เป็นอย่างนั้น สถานที่ที่จะทำให้มรรคผลนิพพานเจริญงอกงาม ต้องเป็นที่สงบสงัดวิเวก  ห่างไกลจากกามคุณทั้ง ๕  คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ   ที่เป็นตัวล่อตัวดึงจิตใจให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ปฏิบัติที่มุ่งต่อมรรคผลนิพพาน มุ่งต่อการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  มุ่งต่อการพ้นทุกข์ ก็ต้องออกจากบ้านออกจากเรือน ไปสู่ป่าสู่เขา เพื่อบำเพ็ญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา   สมถภาวนาคือการทำจิตใจให้สงบ  ด้วยอุบายแห่งกรรมฐาน เช่นพุทโธๆเป็นต้น ถ้ากำหนดจิตให้รำลึกอยู่แต่คำว่าพุทโธๆ โดยไม่ไปคิดอะไร จิตก็จะไม่สามารถไปสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้กับตนได้ ไม่ช้าก็เร็วก็จะสงบตัวลง 

 

เมื่อสงบตัวลงก็จะมีความสุขความอิ่ม มีกำลังที่จะเจริญธรรมะขั้นต่อไป คือวิปัสสนาความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย ที่มีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกันคือ  ๑. ไม่เที่ยง ๒. เป็นทุกข์  ๓. ไม่มีตัวตน เป็นคุณสมบัติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของเงินทองก็ดี เป็นร่างกายของมนุษย์หรือของสัตว์เดรัจฉานก็ดี ย่อมตกอยู่ในลักษณะเดียวกันทั้งนั้น  คำว่าไม่เที่ยงก็หมายถึงมีการเกิดขึ้นมีการดับไปเป็นธรรมดา  ถ้าเห็นความจริงนี้แล้วก็จะไม่ยึดติด  จะไม่ทุกข์กับการเสื่อมการแตกดับของสิ่งต่างๆ  แต่ถ้ายังไม่เห็นด้วยปัญญาก็จะหลงยึดติด มีตัณหาความอยากให้สิ่งต่างๆ อยู่กับตนไปนานๆ ถ้าเป็นสิ่งที่ดีก็ไม่ให้อยากเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติไม่ได้เป็นอย่างนี้  ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดี  มีการแตกดับสูญหายไป พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เห็นความทุกข์ในสิ่งเหล่านี้  เวลาได้อะไรมาใหม่ๆ  จะมีความสุขดีใจ  แต่พอได้มาแล้ว ก็ต้องกังวล ต้องห่วง ต้องเสียดาย ต้องหึงหวง ถ้ามีความรู้สึกเหล่านี้อยู่ในใจ ก็ต้องมีความทุกข์ใจเกิดขึ้นมา จึงทรงสอนให้เห็นความทุกข์ที่จะตามมากับสิ่งต่างๆ ที่อยากจะได้มา ถ้าเห็นความทุกข์ก็จะเปลี่ยนใจได้ ไม่รู้จะเอามาทำไม อยู่คนเดียวก็มีความสุขพอสมควร  ไม่ต้องทุกข์กับสิ่งต่างๆ พอได้อะไรมาแล้ว ได้คนนั้นคนนี้มาเป็นคู่ครอง ก็จะต้องทุกข์กังวลห่วงหวง ร้องห่มร้องไห้เวลาทะเลาะกันหรือพลัดพรากจากกัน นี่คือคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ของบุคคลต่างๆ  

 

จึงทรงสอนให้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นทุกข์  จะได้ไม่หลงยึดติด จะได้ไม่อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เขาจะเป็นอย่างไรก็รับได้ เป็นเหมือนคนที่เราไม่รู้จัก  เขาจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่ได้เดือดร้อนเลย เขาจะดีเขาจะชั่วเราก็ไม่เดือดร้อน  จะเป็นจะตายเราก็ไม่เดือดร้อน  ฉันใดกับคนที่อยู่ใกล้ตัวเราใกล้ชิดกับเราก็ควรเป็นอย่างนั้น อย่าไปมีอารมณ์ อย่าไปยึดติด เขาดีก็เรื่องของเขา เขาไม่ดีก็เรื่องของเขา เขาเป็นเขาตายก็เรื่องของเขา ถ้าทำใจได้แล้วจะอยู่ในโลกนี้ด้วยความสุข จะไม่ทุกข์กับอะไร พร้อมที่จะจากทุกสิ่งทุกอย่างไป ขณะที่มีก็ใช้ไปตามความจำเป็น แต่ไม่หาความสุขจากสิ่งต่างๆ  เพราะไม่จีรังถาวร ไม่ดีเท่ากับความสุขที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้ค้นพบ แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนพวกเรา คือความสุขที่เกิดจากการดับความทุกข์นั่นเอง  เป็นความสุขที่เลิศที่สุข    ถ้าไม่มีความทุกข์แล้ว  ก็ไม่ต้องดิ้นรนหาความสุข  เพราะมีความสุขอยู่ในใจแล้ว เหมือนกับความมืดกับความสว่างจะปรากฏพร้อมกันไม่ได้ ถ้ามืดก็จะไม่สว่าง ถ้าสว่างก็จะไม่มืด  ในใจของเราก็เป็นอย่างนั้น  ถ้าทุกข์ก็จะไม่สุข ถ้าสุขก็จะไม่ทุกข์  เราจึงต้องหาความสุขที่ไม่มีความทุกข์ตามมา ด้วยการระงับดับความอยากความต้องการต่างๆ  ถ้ายังไม่สามารถดับความอยากความต้องการได้  ก็จะต้องหาความทุกข์มาใส่ใจ ไปหาคนนั้นคนนี้ หาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้เราทุกข์ ถ้าได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ทำจิตใจให้สงบได้ ก็จะไม่หิวไม่กระหาย  เวลาอยากอะไรก็พอยับยั้งได้ ถ้าไม่มีความสงบแล้วจะไม่มีกำลังยับยั้งความอยากต่างๆได้ พออยากได้อะไรก็ต้องไปหามา  ยากลำบากเพียงไรก็ต้องหามา เพราะทนสู้ความอยากไม่ได้

 

ถ้าเราฝึกจิต ทำจิตให้สงบ ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ก็ดี  ด้วยการระลึกถึงพุทโธๆก็ดี ด้วยการกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ดี ถ้าฝึกทำไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปใจจะสงบ มีความสุข มีความอิ่ม ไม่ต้องไปหาความสุขมาเพิ่มเพราะความสุขต่างๆที่หามานั้น ไม่หนักแน่นเท่ากับความสุขที่ได้จากความสงบของใจ เปรียบเหมือนก้อนหินกับปุยนุ่น  ปุยนุ่นมันเบาแต่ก้อนหินมันหนัก ฉันใดความสุขที่เกิดจากความสงบก็จะหนักแน่น จะต่อต้านอารมณ์ต่างๆได้  เวลาเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมาก็ไม่โกรธตาม เวลาเกิดอารมณ์โลภขึ้นมาก็ไม่โลภตาม  เวลาเกิดอารมณ์หลงขึ้นมาก็ไม่หลงตามไม่เหมือนกับใจที่ไม่สงบ จะเป็นเหมือนปุยนุ่น เวลาอะไรมากระทบเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เห็นอะไรไม่ถูกใจก็เสียใจ เกิดความโกรธ อยากได้อะไรก็ทนไม่ได้ ต้องหามาให้ได้ ก็เลยกลายเป็นทาสของความอยาก ทาสของความโกรธ  ทาสของอารมณ์ไป  เวลามีอารมณ์นั่งอยู่เฉยๆไม่ได้  นั่งไม่เป็นสุข ถ้าได้ฝึกทำจิตใจให้สงบแล้ว จิตใจจะหนักแน่นเหมือนกับหิน ไม่ว่าอะไรจะมากระทบ จะมีความหนักแน่น จะรับกับอารมณ์ต่างๆได้ ถึงแม้จะไม่สามารถดับอารมณ์ หรือป้องกันไม่ให้อารมณ์เกิดขึ้นมาได้ อย่างน้อยก็จะไม่ถูกอารมณ์ฉุดลากให้ไปทำความเสียหาย  เช่นคนที่ทำผิดศีล ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ฆ่าผู้อื่นหรือฆ่าตนเอง  ล้วนเกิดจากความไม่หนักแน่นของจิตใจ ไม่มีภูมิคุ้มกัน พอมีอารมณ์อะไรมากระทบก็ไหลไปตาม ถ้าอยากจะฆ่าผู้อื่นอยากจะฆ่าตนเองก็จะทำ  เพราะจิตใจไม่หนักแน่น พอที่จะต้านอารมณ์ต่างๆได้ 

 

จึงควรไหว้พระสวดมนต์อยู่เรื่อยๆ  ไม่เฉพาะขณะที่อยู่ในห้องพระหรืออยู่ในวัดเท่านั้น  แต่ทำในทุกสถานที่ทุกเวลาเลย ทำในใจ จะสวดมนต์ไปในใจในขณะขับรถก็ได้ ทำอะไรอยู่ก็ได้ เป็นการฝึกใจไม่ให้ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ ตามความคิดต่างๆ  ถ้าฝึกไปเรื่อยๆแล้วต่อไปใจจะเป็นเหมือนเรือที่ได้ทอดสมอไว้ จะไม่ไหลไปตามกระแสน้ำ ฉันใดใจที่มีสมาธิ มีความสงบ มีความตั้งมั่น ก็จะไม่ไหลไปตามกระแสของอารมณ์ต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ชีวิตก็จะดำเนินไปตามทำนองครองธรรม จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญก้าวหน้า  นี่คืออานิสงส์ของการฝึกจิตทำจิตใจให้สงบที่เรียกว่าสมถภาวนา  ถ้าต้องการกำจัดอารมณ์ต่างๆให้หมดไปเลย  กำจัดความโลภความโกรธความหลง ก็ต้องเจริญธรรมะอีกขั้นหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา พิจารณาให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา  ถ้าเห็นแล้วจะไม่มีตัณหาความอยาก จิตจะไม่แก่วงไปแกว่งมาตามอารมณ์ต่างๆ เวลาเห็นอะไรก็จะรู้สึกเฉยๆ เวลาสัมผัสอะไรก็จะรู้สึกเฉยๆ  ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว คนสรรเสริญเยินยอก็จะไม่ดีอกดีใจ  คนดุด่าว่ากล่าวตำหนิติเตียนก็จะไม่เสียใจ  ได้ข้าวของเงินทองมาก็จะไม่ดีใจ  เวลาถูกลักขโมยไปก็จะไม่เสียใจ เพราะใจไม่ได้อาศัยอะไรให้ความสุขแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นความทุกข์มากกว่า  เอาความสุขที่เกิดจากความสงบของใจดีกว่า ถ้าพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาแล้ว จะไม่วุ่นวายใจ จะไม่อยากได้อะไรเลย จะไม่มีอารมณ์กับอะไรเลย จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขไปตลอด นี่คือใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ใจของท่านเป็นอย่างนี้  เพราะบำเพ็ญปฏิบัติธรรมกัน  

 

ในสมัยพุทธกาลจึงปรากฏมีพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ได้มุ่งสร้างวัตถุเหมือนในสมัยนี้ สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์ สร้างเหรียญต่างๆ ไม่เป็นวิธีทำจิตให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้  ไม่ได้ทำให้ร่มเย็นเป็นสุขเจริญก้าวหน้า จึงควรระลึกถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าและพระสงฆสาวกบำเพ็ญอย่างไร สั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ให้ยึดตรงนั้น อย่าไปหลงกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของเงินทองหรือบุคคลต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง เวลาทุกข์ใจสิ่งเหล่านี้ช่วยไม่ได้ มีสิ่งเดียวที่จะช่วยได้ ก็คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ที่เกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ในวันเข้าพรรษานี้จึงควรตั้งจิตตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ทำอะไรได้ก็ทำไป ตักบาตรทั้งพรรษาได้ก็ตักไป  รักษาศีลได้ก็รักษาไป ละอบายมุขต่างๆได้ก็ละไป บำเพ็ญภาวนาทำจิตใจให้สงบ ด้วยการสวดมนต์ ด้วยการระลึกถึงพุทโธไปเรื่อยๆ กำหนดดูลมหายใจเข้าออกได้ ก็ทำไป พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนของสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของหรือบุคคลต่างๆได้ ก็พิจารณาไป  ถ้าทำได้แล้ว ใจจะปล่อยวาง จะมีความสุข จะไม่ทุกข์กับอะไรเลย การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้