กัณฑ์ที่ ๓๕๗ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๐
กิเลสตายด้วยการปฏิบัติ
ในพรรษาเป็นเวลาที่ศรัทธาญาติโยม จะให้ความสำคัญ ต่อการบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มากกว่าปกติ มากกว่าในช่วงนอกพรรษา ตลอดระยะเวลา ๓ เดือนของพรรษา เป็นเวลาที่พุทธศาสนิกชนจะมีฉันทะความยินดี มีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร มีจิตตะจิตใจจดจ่อ มีวิมังสาใคร่ครวญในเรื่องธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นทางที่จะพาให้สัตว์โลกไปสู่การสิ้นสุดแห่งความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีอะไรที่จะพาสัตว์โลกไปได้ นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอันประเสริฐนี้เท่านั้น ดังนั้นในช่วงพรรษา จึงควรเพิ่มการประพฤติปฏิบัติ การศึกษา การเข้าวัด ให้มากกว่าในช่วงนอกพรรษา บางท่านมีจิตศรัทธาปล่อยวางภารกิจการงานตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์บ้าง เป็นแม่ชีบ้าง เพื่อที่จะได้มีเวลาเต็มที่ต่อการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเป็นเหมือนกับการทำงานอย่างหนึ่ง ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการงาน ผลถึงจะปรากฏขึ้นมา ถ้าให้เวลาน้อยผลก็จะปรากฏขึ้นมาน้อย ถ้าให้เวลามากผลก็จะปรากฏขึ้นมามาก จึงต้องดูที่เหตุคือการกระทำเป็นหลัก ไม่ได้ดูที่ผลที่ต้องการ เพราะผลไม่ได้ลอยมาเหมือนเมฆบนท้องฟ้า จุดธูป ๓ ดอกแล้วขอให้ปรากฏเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ย่อมไม่เป็นตามหลักของเหตุผล เหตุคือการกระทำ ผลเป็นสิ่งที่ตามมา ถ้าเหตุมาก ผลก็จะมาก ถ้าเหตุน้อย ผลก็จะน้อย ไม่มีใครมอบผลให้กับเราได้
แม้แต่พระบรมศาสดาที่เราเคารพนับถือ ก็มอบผลให้กับเราไม่ได้ มอบมรรคผลนิพพานอันประเสริฐให้กับเราไม่ได้ มอบพรหมสมบัติ เทวสมบัติ มนุษยสมบัติให้กับเราไม่ได้ มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะมอบให้ได้ ด้วยการศึกษาปฏิบัติ ด้วยฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา คืออิทธิบาท ๔ ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่ได้ เหตุที่เราทำกันไม่ได้ก็เพราะไม่มีอิทธิบาท ๔ นี้เอง ไม่มีฉันทะความยินดีความพอใจ ที่จะสร้างเหตุที่ทำให้เกิดผลที่เราต้องการ ไม่มีวิริยะความพากเพียรที่จะปฏิบัติให้ผลปรากฏขึ้นมา ไม่มีจิตตะจดจ่อกับภารกิจการงานที่ต้องทำ ไม่มีวิมังสาใคร่ครวญถึงงานที่ต้องทำ มัวแต่ไปคิดเรื่องอื่น ก็เลยไปทำเรื่องอื่น เมื่อไปทำเรื่องอื่น ผลที่ต้องการก็ไม่ปรากฏขึ้นมา ได้แต่ผลอื่น ถ้าอยากจะมีความสุขความเจริญ แต่ไปให้ความสนใจกับสิ่งที่จะทำให้จิตใจทุกข์และเสื่อมลง ผลก็คือความทุกข์ความวุ่นวายใจจึงตามมา จึงควรมุ่งไปที่พระธรรมคำสอน มุ่งไปที่การศึกษา มุ่งไปที่การปฏิบัติ ด้วยฉันทะความยินดีความพอใจ ทำอย่างไรจึงจะเกิดความยินดีความพอใจ ก็ไม่ยาก ต้องหมั่นเข้าหาผู้รู้ ผู้ที่รู้จริงเห็นจริง ผู้ที่ได้สิ่งที่เลิศที่ประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้มาเป็นสมบัติแล้ว ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดได้ยินได้ฟังจากท่าน ก็จะได้รู้ถึงความดีความประเสริฐของพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า พอได้ยินได้ฟังบ่อยๆเข้า ก็จะเกิดศรัทธาความเชื่อ เกิดฉันทะอยากปฏิบัติ เกิดความพอใจ
เหมือนกับเวลาที่ดูโฆษณาสินค้าต่างๆ ในเบื้องต้นเราก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ทำอะไรได้บ้าง พอเห็นโฆษณา ก็จะรู้ว่าดีอย่างไร ทำอะไรให้กับเราได้บ้าง ถ้าไม่ได้ดูโฆษณาก็จะไม่รู้ ไม่เกิดความยินดี ที่จะไปซื้อสินค้านั้นมาใช้ ให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา ฉันใดธรรมะก็ต้องอาศัยการโฆษณาเช่นกัน ต้องดูธรรมะฟังธรรมะบ่อยๆ อย่าไปดูอย่างอื่นมากจนเกินไป ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจดูธรรมะฟังธรรมะกัน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้เสนอ ไม่ได้เสนอให้เกิดศรัทธา ให้เกิดความยินดี เสนอไม่ถูกหรือเสนอไม่เป็น เสนอแบบผิดๆถูกๆ ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง เสนอไปตามจินตนาการของตน ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง เหมือนกับคนที่ไม่เคยไปสถานที่แห่งหนึ่ง เพียงแต่ได้ยินได้ฟังได้อ่าน แล้วก็ไปบอกผู้อื่น ผู้อื่นฟังแล้วก็ไม่ค่อยเชื่อ ไม่ยินดีที่จะไปที่นั้น ไม่เหมือนกับคนที่ได้ไปมาแล้ว ได้เห็นแล้ว แล้วนำมาบอกเล่าให้ฟัง ว่าสถานที่นั้นมีอะไรบ้าง ดีอย่างไร พูดด้วยความมั่นใจ ถ้าถูกซักถามก็สามารถตอบได้ด้วยความมั่นใจ เมื่อผู้ฟังผู้ถามได้รับคำตอบที่มั่นใจแล้ว ก็จะเกิดศรัทธาความเชื่อ เกิดฉันทะความยินดีขึ้นมา การที่จะมีฉันทะต่อธรรมะ ก็ต้องไปหาพระที่รู้จริงเห็นจริง พระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ใช่พระที่ศึกษาอย่างเดียว ศึกษาแล้วไม่ปฏิบัติก็ยังไม่พอ ยังไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตในใจ เพราะกิเลสไม่ตายด้วยการศึกษา กิเลสตายด้วยการปฏิบัติเท่านั้น ต้องปฏิบัติทานศีลภาวนา กิเลสถึงจะถูกทำลายไปได้
ถ้าศึกษาอย่างเดียวแต่ไม่ได้ปฏิบัติทานศีลภาวนา ก็จะไม่เห็นความแตกต่างที่จะปรากฏขึ้นมาในจิตในใจ ก็จะไม่สามารถอธิบายหรือสอนให้ผู้อื่นเห็นถึงความประเสริฐ ของการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้เหมือนกับคนที่ไม่ได้รับประทานอาหาร เพียงแต่เห็นอาหารที่ขายอยู่ตามร้าน แต่ไม่ได้ซื้อมารับประทาน ก็ไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ เอร็ดอร่อยหรือไม่ อิ่มหรือไม่ ฉันใดการศึกษาก็เป็นอย่างนั้น แต่ก็จำเป็น ถ้าไม่ศึกษาก็จะไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอะไร เหมือนกับแผนที่ ถ้าต้องการเดินทางไปที่ไม่เคยไป ถ้าไม่มีคนพาไป ก็ต้องเปิดแผนที่ดู ถ้าดูแผนที่แล้วแต่ไม่ออกเดินทาง ต่อให้ดูอีก ๑๐ ปีก็จะไปไม่ถึงไหน เพราะไม่ได้เดินทางไป เมื่อดูแผนที่แล้ว รู้ว่าจะต้องเดินไปทางทิศไหน ก็ต้องเดินไป เดินไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็วก็จะถึงจุดหมายปลายทาง นี่ก็เช่นกัน เมื่อได้ยินได้ฟังได้ศึกษาจากผู้รู้จริงเห็นจริงแล้ว ก็จะเกิดฉันทะความยินดีที่จะออกปฏิบัติ วิริยะความพากเพียรก็จะตามมา เพราะรู้ว่าจะได้อะไรจากการปฏิบัติ เหมือนกับคนทำงานที่รู้ว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ ก็จะมีกำลังจิตกำลังใจ มีวิริยะความพากเพียรทำงาน ถ้าไม่ได้ปฏิบัติเพียงแต่ศึกษาอย่างเดียว ก็จะไม่ได้สัมผัสกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ก็เหมือนกับทำงานแล้วไม่ได้เงินเดือน ก็จะไม่มีกำลังใจที่จะทำ ถ้าศึกษาแล้วนำเอาไปปฏิบัติ ก็จะได้สัมผัสกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ จิตใจจะมีความสุขอิ่มเอิบใจเพิ่มมากขึ้น มีความทุกข์ความวุ่นวายใจน้อยลงไป
พอมีฉันทะแล้ว ก็จะมีวิริยะความพากเพียรตามมา สามารถปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เคยปฏิบัติได้ เมื่อก่อนไม่ชอบทำบุญให้ทาน เสียดายเงินทอง พอได้ยินได้ฟังว่าการทำบุญให้ทาน มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจ ทำให้มีความสุขใจอิ่มใจ มีความโลภน้อยลง ไปเกิดชาติหน้าก็จะมีสมบัติข้าวของเงินทองรอเราอยู่ ในปัจจุบันก็จะเห็นผลที่เกิดจากการให้ทานบ่อยๆ จะมีความสุขใจสบายใจ ถ้าให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากผู้รับ ให้ด้วยจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ให้ด้วยความเมตตากรุณา ไม่ต้องการผลตอบแทนจากผู้รับ ไม่ต้องการให้เขาขอบใจ ให้สำนึกในบุญคุณ ให้เพราะเห็นว่าเดือดร้อนทุกข์ยากลำบาก ต้องการปลดเปลื้องผ่อนปรนความทุกข์ยากลำบากให้น้อยลงไป ถ้าทำอย่างนี้จะมีความสุขใจ มีความอิ่ม มีความพอ มีความภูมิใจ มีความพอใจที่จะทำให้มากขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปใช้กับสิ่งที่เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์กับใจ เช่นเอาไปซื้อของฟุ่มเฟือย เอาไปใช้กับพวกอบายมุขต่างๆ ไปดื่มสุรายาเมา ไปเที่ยวกลางคืน ทำไปแล้วไม่ได้ทำให้จิตใจมีความอิ่มเอิบ มีความสุข มีความภูมิใจ แต่กลับทำให้มีความอยากมากขึ้น อยากซื้อของฟุ่มเฟือยมากขึ้น อยากจะดื่มมากขึ้น อยากจะเที่ยวมากขึ้น ถ้าเอาเงินมาทำบุญให้ทาน สงเคราะห์ผู้อื่นช่วยเหลือผู้อื่น จะมีความรู้สึกที่แตกต่างเกิดขึ้นในตัวเรา จะรู้สึกว่าเป็นคนที่ดีขึ้น มีความเมตตากรุณามากขึ้น มีความภูมิใจมากขึ้น มีความสุข มีความอิ่ม มีความพอมากขึ้น มีความอยากซื้อของฟุ่มเฟือย ไปเที่ยวไปดื่มน้อยลงไป พอเห็นผลแล้ว ก็จะมีวิริยะเพิ่มมากขึ้น อยากจะทำมากขึ้น จะมีจิตตะคือใจจะจดจ่อคิดแต่เรื่องทำบุญ รักษาศีล ภาวนา เพราะทำแล้ว ใจจะมีความสุขความอิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการให้อาหารใจ
ใจก็เป็นเหมือนร่างกาย ร่างกายต้องการอาหารฉันใด ใจก็ต้องการอาหารเช่นเดียวกัน อาหารของใจก็คือการปฏิบัติทานศีลภาวนานี้เอง ถ้าให้อาหารใจได้มากเท่าไหร่ ใจจะมีความสุขมากขึ้นไปเท่านั้น จนมีความสุขเต็มที่ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้สัมผัส ก็คือบรมสุข ปรมังสุขัง ความสุขของพระนิพพาน นี่คือความอิ่มเต็มที่ของใจ ที่พวกเราทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับ มีสิทธิ์ครอบครอง ถ้ามีจิตใจจดจ่อ คิดแต่เรื่องบุญเรื่องกุศล อย่าไปคิดเรื่องทางโลก อย่าไปคิดเรื่องลาภยศสรรเสริญสุข เพราะไม่ได้เป็นอาหารของใจ แต่เป็นพิษกับใจ เพราะจะทำให้เกิดความโลภโกรธหลงมากขึ้น ยิ่งรวยยิ่งสูงเท่าไหร่ จิตใจกลับยิ่งต่ำลง ยิ่งมีความโลภมาก ยิ่งมีความโกรธมาก ยิ่งมีความหลงมาก พอได้มา ๑ แสน ก็เกิดความโลภอยากจะได้ ๑ ล้าน พอได้มา ๑๐ ล้าน ก็เกิดความโลภอยากจะได้ ๑๐๐ ล้าน ถ้าไม่ได้ก็เกิดความโกรธขึ้นมา ถ้าใครขัดขวางก็จะอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรม ทำร้ายเขา กลายเป็นคนไม่ดีไป ต่างกับทางของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้เราอยู่เรื่อยๆ ทรงสอนไม่ให้หวงสมบัติข้าวของเงินทอง ทำมาหากินด้วยความสุจริต ถ้ามีเงินทองมากเกินความจำเป็น ก็อย่าเก็บเอาไว้ เพราะตายไปเอาติดตัวไปไม่ได้ ตายไปก็กลายเป็นสมบัติของผู้อื่นไป ถ้าเอาไปทำบุญให้ทาน ก็เป็นการแปลงสินทรัพย์ จากทรัพย์ภายนอกมาเป็นทรัพย์ภายใน ที่เอาติดตัวไปได้เวลาจากโลกนี้ไป เหมือนกับเอาเงินไปฝากไว้ในธนาคาร ไปที่ไหนก็เบิกเอามาใช้ได้ สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ก็จะรอเราอยู่ข้างหน้า ได้ไปเกิดเป็นลูกของเศรษฐี ลูกของพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น หรือไม่เช่นนั้นก็จะมีลาภลอยมา โดยไม่ต้องดิ้นรนหาเหมือนผู้อื่น เพราะเป็นอานิสงส์ของการทำบุญให้ทานของเรา
ถ้ารักษาศีล ๕ ได้อย่างมั่นคง ก็จะได้ไปสู่สุคติ ไม่ต้องไปเกิดในอบาย ไปเป็นเดรัจฉาน ไปเป็นเปรต ไปตกนรก เพราะเป็นที่ไปของผู้ที่ไม่รักษาศีลนั่นเอง ถ้าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปด เสพสุรายาเมา ตายไปก็จะต้องไปเกิดในอบาย ถ้ารักษาศีลได้ ก็จะไปเกิดในภพของมนุษย์ ของเทวดา ของพรหม ของพระอริยเจ้า ขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่ได้ปฏิบัติ ถ้าทำบุญทำทานรักษาศีลเป็นหลัก ไม่ได้ภาวนา ตายไปก็ได้ไปเกิดเป็นเทพหรือเป็นมนุษย์ ถ้าอยากจะไปสูงกว่านั้นก็ต้องบำเพ็ญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาคือการทำจิตใจให้สงบ ไม่คิดปรุงเรื่องต่างๆ ด้วยอุบายกรรมฐาน เช่นอานาปานสติ กำหนดดูลมหายใจเข้าออก อาศัยลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องผูกใจ เหมือนกับเรือที่ต้องผูกไว้กับเสา จะได้ไม่ลอยไปตามกระแสน้ำ ใจก็เป็นเหมือนกับเรือ ถ้าไม่มีอะไรผูกไว้ เช่นอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ใจก็จะไหลไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ก็จะไม่สงบนิ่ง ไม่มีความสุข ถ้าผูกใจไว้กับลมหายใจ โดยมีสติคอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ไม่ให้เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้ผูกติดไว้กับลมหายใจ ใจก็จะค่อยๆสงบตัวลงไป ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวใจก็จะสงบนิ่ง ตอนนั้นก็ไม่ต้องดูลมหายใจ เพราะไม่มีความจำเป็น ใจไม่ดิ้นไปไหนแล้ว จะมีความสงบเย็นสบาย มีความสุข
เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นความสุขที่เหนือความสุขอื่นใดในโลกนี้ สุขที่ได้จากการสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ดี ได้เงินได้ทองมาก็ดี ได้รับตำแหน่งได้รับยศต่างๆก็ดี ได้รับการสรรเสริญก็ดี จะสู้กับความสุขที่ได้จากความสงบของใจไม่ได้ เมื่อได้สัมผัสกับความสงบแบบนี้แล้ว จะยินดีทุ่มเทเวลาให้กับการปฏิบัติอย่างเต็มที่เลย ถ้าไม่ได้ปฏิบัติสูงกว่านี้ ตายไปก็ได้ไปสู่พรหมโลก เพราะจิตมีฌานเป็นสมบัตินั่นเอง ความสงบนี้เรียกว่าฌาน เป็นสมบัติของพรหม แต่ถ้าอยากจะไปสูงกว่านั้น คือไม่อยากจะกลับมาเกิดอีกเลย ก็ต้องเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้ายังไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ถึงแม้ได้ไปถึงสวรรค์ชั้นพรหม ก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่อีก เมื่อบุญที่ได้ทำไว้เสื่อมหมดไป จิตก็จะหยาบลง ก็จะเคลื่อนลงจากสวรรค์ชั้นพรหมสู่สวรรค์ชั้นเทพ เมื่อบุญของสวรรค์ชั้นเทพหมดไป ก็จะเคลื่อนลงสู่มนุษยโลก มาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ มาแก่มาเจ็บมาตายใหม่ ต้องบำเพ็ญกันใหม่ ถ้าได้เจริญวิปัสสนาภาวนาแล้ว จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ภพชาติน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าได้ขั้นที่ ๑ คือโสดาบัน ด้วยการพิจารณาให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เช่นร่างกายของเราก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา มีการเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา เป็นทุกข์ ตื่นขึ้นมาก็ทุกข์แล้ว ทุกข์ด้วยความหิวอาหาร ต้องให้อาหาร ต้องอาบน้ำอาบท่า ต้องแต่งเนื้อแต่งตัว ต้องคอยดูแลรักษา นี่ก็เป็นความทุกข์ ตายไปก็กลายเป็นดินน้ำลมไฟไป เป็นธาตุ ๔ ไม่ได้เป็นตัวเป็นตน ถ้าพิจารณาจนเห็นว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จะบรรลุธรรมขั้นแรก เป็นพระโสดาบันขึ้นมา
อานิสงส์ของพระโสดาบันก็คือจะมีภพชาติเหลือไม่เกิน ๗ ชาติ ไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป ถึงแม้ในอดีตเคยทำบาปทำกรรมมามากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่เมื่อได้เป็นโสดาบันแล้ว จะเกิดในสุคติเท่านั้น ไม่เป็นเทพก็เป็นมนุษย์ ไม่เกิน ๗ ชาติ พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะบำเพ็ญต่อโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีใครบังคับ เพราะใจของพระโสดาบันมีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาอยู่กับธรรมอยู่แล้ว ได้เข้าสู่กระแสของธรรมแล้ว กระแสที่จะนำไปสู่พระนิพพาน ก็จะปฏิบัติต่อไปได้เลย ไม่ว่าจะมีอาจารย์หรือไม่ก็ตาม ถ้ามีอาจารย์ก็จะเร็วหน่อย ถ้าไม่มีอาจารย์ก็ช้าหน่อย แต่ไม่หลงทางแล้ว ไปถูกทางแล้ว จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง แต่ไม่เกิน ๗ ชาติ ถ้าขั้นไปอีกขั้นหนึ่งเรียกว่าขั้นสกิทาคามี ด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาจนเห็นความไม่สวยงามของร่างกาย เป็นเหมือนศพเดินได้ ใต้ผิวหนังมีโครงกระดูกมีอวัยวะต่างๆ ที่ไม่สวยไม่งามซ่อนเร้นอยู่ พอไม่หายใจก็กลายเป็นซากศพไป ถ้าเห็นว่าเป็นซากศพเดินได้ ซากศพที่หายใจได้ ก็จะมีความยินดีน้อยลงไป เป็นเป็นพระสกิทาคามีขึ้นมา ทำกามตัณหาให้เบาบางลงไป แต่ยังไม่หมดสิ้นไป ก็จะมีภพชาติเหลืออีกเพียง ๑ ชาติเท่านั้น ถ้าเจริญอสุภกรรมฐาน จนตัดกามตัณหาจนหมดสิ้นไปได้ ไม่อยากมีคู่ครองอีกต่อไป ก็จะกลายเป็นพระอนาคามี เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามโลกกามภพ คือภพของมนุษย์ภพของเทพอีกต่อไป จะไปเกิดอยู่บนสวรรค์ชั้นพรหม ชั้นสุทธาวาส มีอยู่ ๕ ชั้นด้วยกัน และจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด ถ้าบำเพ็ญต่อไปในขณะที่เป็นมนุษย์จนกำจัดอวิชชาได้ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป นี่คือวิปัสสนาภาวนา
เป็นธรรมขั้นสูงสุด เป็นธรรมที่จะตัดภพตัดชาติ ตัดการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างราบคาบ ธรรมขั้นทานศีลกับสมถภาวนา ไม่สามารถตัดภพชาติได้ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ถ้าอยากจะให้หลุดพ้นก็ต้องเจริญขั้นวิปัสสนาด้วย แต่ก่อนจะไปถึงขั้นวิปัสสนาได้ ก็ต้องไต่เต้าจากขั้นต่ำขึ้นไป จากการให้ทาน ไปสู่การรักษาศีล สู่การบำเพ็ญสมถภาวนา จนจิตใจมีความสงบแล้ว ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จะข้ามขั้นไปไม่ได้ เหมือนกับอยู่ชั้นอนุบาลจะเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยเลยไม่ได้ ต้องเข้าสู่ชั้นประถมก่อน แล้วก้าวเข้าสู่ชั้นมัธยม แล้วจึงจะเข้าสู่ชั้นอุดมศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย การบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาก็เป็นเช่นนั้น ต้องก้าวไปตามขั้นของตน อยู่ขั้นไหนก็ก้าวจากขั้นนั้นไป ถ้าอยู่ขั้นศีลแล้ว ก็ก้าวสู่ขั้นภาวนาได้เลย ถ้ายังอยู่ขั้นทาน ก็ต้องเข้าสู่ขั้นศีลก่อน ไม่เช่นนั้นจะภาวนาไม่ได้ ถ้ายังรักษาศีลไม่ได้ เวลาภาวนาจะมีนิวรณ์ มีความวิตกกังวลต่างๆ จะไม่สามารถทำใจให้สงบได้ ถ้ายังรักษาศีลไม่ได้ ก็ต้องทำบุญให้ทานให้มากๆก่อน ถ้าทำบุญให้ทานด้วยจิตที่เมตตากรุณาแล้ว ก็ไม่อยากจะเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะมีศีลขึ้นมา นี่คือสิ่งที่พุทธศาสนิกชนจะตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญกันในพรรษานี้ จะให้เวลามากต่อการปฏิบัติ เพราะชีวิตของเราไม่แน่นอน จะไปเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครกำหนดได้ว่าจะไปวันนั้นหรือไปวันนี้ จะไปอายุเท่านั้นอายุเท่านี้ เรากำหนดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของบุญของกรรม เป็นเรื่องของอนิจจังทุกขังอนัตตา เราจึงไม่ควรประมาท เมื่อมีเวลามีโอกาสที่จะบำเพ็ญได้ เข้าวัดได้ ก็ขอให้มุ่งไปที่วัดกัน ไปบำเพ็ญกัน อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะวันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีสำหรับเราก็ได้ ดังที่ท่านทั้งหลายได้มาบำเพ็ญกันในวันนี้ แสดงว่าไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ที่จะนำพาไปสู่ความสุขและความเจริญ สู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอน การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้