กัณฑ์ที่ ๓๖๓ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐
ที่พึ่งที่แท้จริง
สรณะที่พึ่งของคนเรามีอยู่ ๒ ส่วนด้วยกันคือ ๑. ที่พึ่งทางกาย ๒. ที่พึ่งทางใจ ที่พึ่งทางกายพวกเราก็มีครบกันทุกคนอยู่แล้ว คือปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ถ้าไม่มีปัจจัย ๔ ร่างกายของเราคงตายไปแล้ว ที่พึ่งทางใจก็คือพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เรากราบไหว้บูชานับถือเทิดทูนกัน แต่ยังเป็นสรณะที่พึ่งภายนอกอยู่ ยังไม่เป็นที่พึ่งที่แท้จริง ถ้าเป็นอาหารก็ยังไม่ได้รับประทาน ก็ยังไม่อิ่ม เช่นพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้บูชา ที่เรารำลึกถึง ยังเป็นพระพุทธรัตนะภายนอกอยู่ พระธรรมคำสอนที่เราได้ยินได้ฟัง ได้อ่านได้ศึกษา ก็ยังเป็นพระธรรมรัตนะภายนอกอยู่ พระสงฆ์องค์เจ้าที่เรากราบไหว้บูชา ก็ยังเป็นพระสังฆรัตนะภายนอกอยู่ ยังไม่สามารถระงับดับความทุกข์ต่างๆในใจของเราได้ เหมือนกับอาหารที่ตั้งไว้บนโต๊ะ ที่ไม่สามารถระงับดับความหิวของร่างกายได้ เราจึงต้องน้อมเอาพระรัตนตรัยภายนอกเข้ามาสู่ใจของเรา ให้เป็นพระรัตนตรัยภายใน เป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ใจก็จะมีที่พึ่งจากความทุกข์ความวุ่นวายทั้งหลาย ดังนั้นหน้าที่ของเราก็คือ การน้อมเอาสรณะภายนอกเข้ามาสู่ภายในใจ เหมือนกับเอาที่พึ่งทางกายคือปัจจัย ๔ เข้าสู่ร่างกาย ด้วยการรับประทานอาหาร เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็รับประทานยา เวลาหนาวก็เอาผ้ามาห่ม เวลามีฝนมีพายุมีแดดร้อนก็หลบเข้ามาอยู่ในบ้าน เราก็ต้องสร้างที่พึ่งทางใจเช่นเดียวกัน ด้วยการศึกษาฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมเอามาปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำอยู่ ๓ ประการด้วยกันคือ ๑. ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ๒. ละการกระทำบาปทั้งปวง ๓. ชำระใจให้บริสุทธิ์ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองให้หมดไป ถ้าน้อมเอาเข้ามาปฏิบัติที่กายวาจาใจแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสร้างสรณะภายในให้เกิดขึ้น เมื่อปรากฏมีสรณะภายในมากน้อยเพียงไร ความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ก็จะเบาบางลงไปเพียงนั้น ถ้าอยากจะมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีความทุกข์ ความเดือดร้อน ความวุ่นวายมารุมเร้าจิตใจ ก็ต้องสร้างสรณะภายใน น้อมเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติ ข้อแรกท่านสอนให้ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม หมายถึงการกระทำทางกายทางวาจาและทางใจ ที่ไม่มีโทษ มีแต่คุณมีแต่ประโยชน์ กับเราเองก็ดี กับผู้อื่นก็ดี หรือทั้งกับตัวเราเองและกับผู้อื่นก็ดี ส่วนบาปนั้นทรงให้ความหมายว่า เป็นการกระทำทางกายวาจาและใจ ที่มีโทษ ปราศจากคุณประโยชน์ กับตัวเราก็ดี กับผู้อื่นก็ดี หรือทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่นก็ดี เราจึงต้องคอยดูการกระทำของเราเสมอ ว่าเกิดคุณเกิดประโยชน์และไม่เกิดโทษหรือเปล่า ถ้าทำไปแล้วเกิดโทษก็ต้องระงับทันที การกระทำที่มีแต่คุณประโยชน์ ไม่มีโทษ ก็มีหลายอย่างด้วยกัน เช่นความกตัญญูกตเวที เราควรสำนึกในบุญคุณของบุคคลที่มีพระคุณกับเราเสมอ เช่นบิดามารดาเป็นต้น ท่านให้กำเนิดกับเรา เลี้ยงดูเรามา ให้เรามีชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ เราต้องเคารพเชื่อฟังท่าน ไม่ต่อล้อต่อเถียง มีหน้าที่ฟังอย่างเดียว จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ไม่ควรแสดงกิริยาไม่ดีต่อคุณพ่อคุณแม่ เมื่อท่านอยู่ในวัยที่ต้องอาศัยผู้อื่นดูแล เลี้ยงดู เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด จะทำให้เราเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุข
นอกจากความกตัญญูกตเวทีแล้ว ก็ให้เสียสละให้ทานแก่ผู้อื่น อย่าคิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยถ่ายเดียว ต้องคิดถึงผู้อื่นด้วย ที่ปรารถนาความสุขความเจริญ ไม่ปรารถนาความทุกข์ความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน ถ้าเห็นผู้อื่นเดือดร้อนมีความทุกข์ พอที่จะช่วยได้ ก็ควรช่วยไป ถ้าขาดอาหาร มีอาหารพอแบ่งปันกันได้ ก็แบ่งปันกันไป แบ่งปันประโยชน์สุขให้กับผู้อื่น จะทำให้อิ่มเอิบใจสุขใจ เป็นการให้อาหารกับจิตใจ เป็นการสร้างสรณะที่พึ่งให้กับจิตใจ ซึ่งมีอีกหลายอย่างด้วยกัน เช่นการรับใช้ผู้อื่น เป็นอาสาสมัครทำงานในองค์กรการกุศลต่างๆ เวลาเกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำท่วม ก็ออกไปช่วยเหลือ พยายามทำให้มาก อย่าคิดแต่กอบโกยเอาสมบัติข้าวของเงินทอง ให้กับเราโดยถ่ายเดียว เพราะไม่ได้ทำให้สุขมากขึ้น เจริญมากขึ้น อิ่มพอมากขึ้น สมบัติต่างๆที่หามาแทบเป็นแทบตาย เมื่อตายไปก็เอาติดตัวไปไม่ได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว สิ่งที่เอาติดตัวไปได้ก็คือความดีและบาปกรรมที่ได้ทำไว้เท่านั้นเอง ถ้าทำความดีไว้มากเราก็จะไปเกิดที่ดี ไปสุคติ ได้ไปเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก การทำความดีต่างๆจึงไม่เป็นการสูญเสียแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับการสะสมข้าวของเงินทองต่างๆ มากเกินความจำเป็น ที่เป็นการสูญเสียจริงๆ เพราะไม่มีประโยชน์กับจิตใจเลย หลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว จิตใจยังต้องไปต่อ ต้องอาศัยบุญกุศลความดีที่ได้กระทำไว้เป็นที่พึ่ง เป็นอาหารหล่อเลี้ยง ถ้ามัวแต่สะสมเงินทอง มัวแต่หวงสมบัติเงินทอง ไม่แจกจ่ายไม่ช่วยเหลือผู้อื่นเลย จิตใจก็จะเป็นเหมือนกับคนผอมแห้งแรงน้อย ที่ไม่ได้รับประทานอาหาร เมื่อตายไปก็จะไปแบบขอทาน ไม่มีที่พึ่ง ถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะยากจน ถ้าไม่ได้รักษาศีลก็จะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่เกิดเป็นสุนัข เป็นตุ๊กแก เป็นจิ้งจกในบ้านของตน เพราะยังห่วงสมบัติ
การทำความดีจึงมีความสำคัญต่อจิตใจอย่างมาก ไม่มีใครรู้ใครเห็นได้นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น เพราะมีดวงตาเห็นธรรม ได้ศึกษาและได้ปฏิบัติจนเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดของใจ เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องอานิสงส์ของบุญและบาป คือนรกและสวรรค์ จึงนำเอามาสั่งสอนให้พวกเรา เพราะเห็นว่าพวกเราตาบอด มองไม่เห็น บอดทางใจ ขาดสติปัญญา ขาดดวงตาเห็นธรรม จึงเห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ ว่ามีคุณมีประโยชน์ เช่นข้าวของเงินทองต่างๆ ไม่มีคุณกับจิตใจเลย มีแต่โทษ พอมีเงินทองก็ต้องหวง ห่วง กังวล เสียดาย เสียใจเวลาที่สูญไป ไม่มีประโยชน์กับจิตใจเลย มีประโยชน์เพียงแต่ดูแลร่างกายให้อยู่ไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง เราจึงต้องทำความดีให้มาก เพื่อเป็นสรณะที่พึ่งของใจ ส่วนบาปพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ระงับ ไม่ให้ทำ เพราะจะทำให้ทุกข์ใจ เป็นการลงโทษใจ ให้วุ่นวายเดือดร้อน ถ้าไปฆ่าผู้อื่น ไปลักทรัพย์ ไปประพฤติผิดประเวณี ไปพูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง ไปเสพสุรายาเมา ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขต่างๆ เช่นเล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เกียจคร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร นอกจากนั้นก็ทรงสอนให้ชำระใจให้สะอาด ใจของพวกเรากับของพระพุทธเจ้านี้ต่างกัน ใจของพระพุทธเจ้าสะอาด ใจของพวกเรายังสกปรกอยู่ เหมือนกับเสื้อผ้าที่ซักแล้วกับที่ยังไม่ได้ซัก ผ้าที่ซักแล้วย่อมสะอาดไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่เปรอะเปื้อน ผ้าที่ยังไม่ได้ซักจะเปรอะเปื้อนมีกลิ่นเหม็น จิตใจที่ยังไม่ได้รับการชำระ ก็ยังมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่ ที่จะสร้างความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ ความกังวล ความหวาดกลัวให้กับจิตใจ
ถ้ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในใจ ต่อให้เป็นอะไรก็ตาม เป็นประธานาธิบดี เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนธรรมดา เป็นขอทานข้างถนน เป็นสุนัข เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังหนีไม่พ้นความทุกข์ เพราะความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เพศที่วัย แต่อยู่ที่กิเลสคือความโลภความโกรธความหลงเท่านั้น ถ้ามีความโลภความโกรธความหลงมาก ก็จะมีความทุกข์ความวุ่นวายมาก ถ้ามีความโลภความโกรธความหลงน้อย ก็จะมีความทุกข์ความวุ่นวายน้อย วิธีที่จะทำให้ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ต้องไม่โลภไม่หลงกับเงินทอง ว่าเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพราะไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง ดับความทุกข์ใจไม่ได้ มีเงินทองไว้ดูแลรักษากายเท่านั้น แต่ใจอย่าไปหลงยึดติด ว่าดีวิเศษ ถ้าหลงยึดติดก็จะทำให้ทุกข์ ถ้าเอาไปเที่ยว กินเหล้าเมายา เล่นการพนัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร เพียงแต่ให้ความเพลิดเพลินไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดี พอเงินทองหมดก็จะเดือดร้อน ถ้าเคยเสพสุราอยู่ทุกวัน พอไม่มีเงินซื้อสุรา ก็จะต้องทุกข์เป็นอย่างมาก ถ้าเคยเล่นการพนันเคยเที่ยวก็เช่นเดียวกัน ถ้าอาศัยเงินทองมาบำรุงบำเรอ พอเงินทองหมดก็จะเดือดร้อน ไม่มีปัญญาไปหามาได้อย่างถูกต้อง ก็ต้องไปทำบาปทำกรรม ไปปล้นธนาคาร ไปฆ่าไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น เพื่อเอาเงินมาบำรุงบำเรออีก พระพุทธเจ้าจึงสอนไม่ให้หลงยึดติดกับเงินทอง อย่าใช้เงินทองซื้อความสุข เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ให้เอาเงินทองไปแจกจ่าย ไปทำบุญทำทานเท่านั้นแล ที่จะทำให้เกิดความสุขที่แท้จริง อย่าทำเพื่อตัวเราเพียงอย่างเดียว ต้องทำเพื่อผู้อื่นด้วย มีเงินทองก็เอาไปช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวเรา เช่นบิดามารดาญาติพี่น้องก็ดี หรือคนไกลตัว คนที่ไม่รู้จักก็ดี จะทำให้มีความสุขสบายใจ เพราะได้กำจัดความโลภความโกรธความหลงไปในระดับหนึ่ง
นี่คือการสร้างสรณะทางใจ ถ้าทำไปเรื่อยๆแล้ว จะสุขใจอิ่มใจพอใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าการทำความดี เป็นการนำมาซึ่งความสุขและความเจริญ การระงับการกระทำบาปทั้งหลาย เป็นการป้องกันสิ่งเลวร้ายทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเรา การกำจัดความโลภความโกรธความหลงที่มีอยู่ในใจ จะทำให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข อย่างดีอย่างวิเศษ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นตรงนี่แล เป็นที่จิตใจที่ปราศจากความโลภความโกรธความหลง จึงควรน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ข้อนี้ คือทำดี ละบาป ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ กำจัดความโลภความโกรธความหลง ด้วยการเสียสละ ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ละเว้นอบายมุขต่างๆ บำเพ็ญจิตตภาวนา ทำจิตใจให้สงบด้วยสมถภาวนา ทำจิตใจให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง เพื่อกำจัดความหลง ด้วยวิปัสสนาภาวนา ถ้าปฏิบัติได้แล้ว จะมีธรรมะปรากฏขึ้นมาในใจ จะปรากฏพุทธะหรือสังฆะขึ้นมาภายในใจ ถ้าศึกษาสร้างธรรมะให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง ไม่มีใครสั่งสอนก็จะเป็นพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีใครสั่งสอน ต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้เอง เมื่อนำเอามาปฏิบัติก็ปรากฏเป็นธรรมะขึ้นมา คือความสงบสุขความสว่างไสว ความรู้แจ้งเห็นจริงภายในใจ เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา มีพุทธะมีธรรมะเป็นที่พึ่ง ส่วนผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างพวกเรา เมื่อนำเอามาประพฤติปฏิบัติจนปรากฏมีธรรมะขึ้นมาในใจแล้ว ก็จะเป็นสังฆะ ก็จะมีพระรัตนตรัย เพราะว่าพุทธะ ธรรมะ สังฆะเป็นองค์เดียวกัน ต่างแต่กิริยา ต่างแต่อาการเท่านั้น แต่มีเนื้อหาสาระเหมือนกัน
มีธรรมะแล้วก็จะมีพุทธะ มีสังฆะ เพราะทรงตรัสไว้ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ตถาคตก็คือพระพุทธเจ้า หรือพุทธะนี่เอง ถ้าปฏิบัติธรรมจนมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา ก็จะมีธรรมะ เมื่อมีธรรมะก็จะรู้ว่านี่แลคือพุทธะ ผู้ที่รู้ธรรมะ รู้พุทธะ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือสังฆะนี่เอง ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นี่คือการสร้างพระรัตนตรัย ให้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง เมื่อมีพุทธะธรรมะสังฆะอยู่ในใจแล้ว จะไม่มีความทุกข์ไปตลอดอนันตกาล จะไม่ไปเกิดอีกต่อไป เมื่อไม่ไปเกิด ย่อมไม่มีความแก่ ไม่มีความเจ็บ ไม่มีความตาย ไม่มีการพลัดพรากจากกัน ไม่มีความทุกข์ ดังที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิดเท่านั้น ตราบใดยังมีการเกิดอยู่ ก็ยังต้องมีความทุกข์ ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากกันอยู่ ถ้าได้ชำระกิเลสจนหมดสิ้นไปแล้ว ไม่มีความโลภความโกรธความหลงแล้ว ใจก็ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป เป็นปรมังสุขัง เป็นความสุขที่เต็มเปี่ยม ไปตลอดอนันตกาล ไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือผลที่จะเกิดขึ้น จากการน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ใจ เพื่อให้เป็นสรณะที่พึ่งทางใจ จึงขอให้ท่านทั้งหลายมีความเชื่อมั่น ต่อการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ขอให้หมั่นเข้าวัด หมั่นศึกษา หมั่นฟังเทศน์ฟังธรรม หมั่นปฏิบัติ เพื่อความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ที่จะเป็นผลตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้