กัณฑ์ที่ ๓๖๖       ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๐

 

ธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

       

 

การชำระรักษากายวาจาใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ความร่มเย็นเป็นสุข  กายวาจาใจสะอาดมากน้อยเพียงไร ความสุขความเจริญก็จะมีมากน้อยเพียงนั้น การรักษากายและวาจาให้สะอาดต้องใช้ศีลเป็นเครื่องรักษา  รักษาใจให้สะอาดต้องใช้ภาวนาเป็นเครื่องรักษา ศีล ๕ คือการละเว้้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ  เสพสุรายาเมา จะรักษากายกับวาจาให้สะอาด ถ้าฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา จะทำใ้ห้จิตใจเศร้าหมอง มีความทุกข์ ความกังวลใจ ความเสื่อมเสีย เราจึงต้องรักษาศีลกัน ส่วนใจก็ต้องรักษาด้วยการภาวนา เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาให้มีสติรู้อยู่กับใจ  ให้รู้ว่าใจกำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร กำลังจะอยู่กับการกระทำของกายหรือไม่ เวลาล้างหน้า ใจก็ต้องอยู่กับการล้างหน้า เวลารับประทานอาหารก็ต้องอยู่กับการรับประทานอาหาร ทำภารกิจใดก็ต้องอยู่กับภารกิจนั้น ถึงจะเรียกว่ามีสติ  ที่เป็นเหมือนยามคอยเฝ้าดูใจ   ถ้ามียามก็จะรู้ว่าใจกำลังคิดไปทางไหน ทางดีหรือไม่ ถ้าไม่มียามก็จะไม่รู้  จะคิดไปเรื่อยเปื่อย  แล้วก็จะสั่งให้กายกับวาจาทำสิ่ิงต่างๆ ตัวอย่างของคนที่ไม่มีสติก็คือคนเสพสุรายาเมา พอเกิดอาการมึนเมาแล้ว ก็ไม่มียามเฝ้าดูใจ ก็จะคิดไปต่างๆนานา แล้วก็สั่งให้ไปทำทางกายทางวาจา เกิดความเสียหายความเดือดร้อนขึ้น เพราะไม่ได้ไตร่ตรองก่อนว่า ทำไปแล้วจะเสียหายหรือไม่ จะผิดศีลหรือไม่ เพราะขาดสติคอยเฝ้าดู  การจะรักษาใจให้อยู่ใน ทำนองครองธรรมจึงต้องมีสติ  เราจึงต้องฝึกเจริญสติอยู่เรื่อยๆ 

 

สติี้เป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในบรรดาธรรมทั้งหลาย  พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเหมือนกับรอยเท้าช้าง สามารถครอบรอยเท้าของสัตว์อื่นๆได้หมด ไม่ว่าจะเป็นวัวเป็นควายเป็นสิงสาราสัตว์ต่างๆ ฉันใดธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาก็ดี ก็ไม่สำคัญเท่ากับสติ ถ้าไม่มีสติจะไม่สามารถทำทานได้ ไม่สามารถรักษาศีลได้ ไม่สามารถนั่งสมาธิได้ ไม่สามารถพิจารณาธรรม ให้เกิดเป็นปัญญา เป็นดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาได้ สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ิง ถ้าต้องการจะรักษาสติ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องละเว้นจากการเสพสุรายาเมา  ถ้าเสพเข้าไปแล้วจะทำให้มึนเมาขาดสติ จะไม่สามารถควบคุมใจได้   ไม่สามารถควบคุมกายและวาจาได้ ก็จะไปทำไปพูดในสิ่งที่เกิดความเสียหายขึ้นมา ต้องไปใช้เวรใช้กรรมต่อไป ทั้งในปัจจุบันคือในโลกนี้และในอนาคตคือชาติหน้า เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว  ก็ต้องไปเกิดในอบาย ไปตกนรก ไปเกิดเป็นเดรัจฉานเป็นต้น ในบรรดาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ ข้อเสพสุรายาเมาจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาศีลข้ออื่นๆ ถ้าเสพสุรายาเมาแล้ว จะรักษาศีลไม่ได้สักข้อหนึ่ง  ถ้าไม่เสพสุรายาเมา ก็จะควบคุมบังคับกายวาจาใจให้อยู่ในศีลในธรรมได้   ในเบื้องต้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้ตั้งสติอยู่เรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ใจลอยไปคิดกับเรื่องต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ที่ไม่เกิดประโยชน์ ให้ดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้  เราอยู่ตรงไหนใจก็ต้องอยู่ตรงนั้น ใจอย่าไปอยู่ที่อื่น วันนี้เป็นวันอังคาร ก็ต้องอยู่ในวันอังคาร อย่าไปอยู่ในวันพุธหรืออยู่ในวันจันทร์ วันจันทร์ก็ผ่านไปแล้ว วันพุธก็ยังมาไม่ถึง คิดไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  นอกจากมีความจำเป็น เช่นต้องวางแผนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร ก็ให้คิดด้วยสติ  ให้เป็นเรื่องเป็นราวไป เสร็จแล้วก็หยุดคิด รู้แล้วว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไร ก็เตรียมตัวเตรียมข้าวเตรียมของเตรียมสิ่งต่างๆไว้  เมื่อเตรียมเสร็จแล้วก็ไม่ต้องไปคิดถึงมันอีก ให้กลับมาอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ ให้อยู่กับปัจจุบัน

 

กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้อยู่กับการกระทำนั้นๆ  กำลังเดินก็ให้อยู่กับการเดิน กำลังนั่งก็ให้อยู่กับการนั่ง กำลังพูดก็ให้อยู่กับการพูด ถ้าทำอย่างนี้ก็จะมีสติ จะรู้อยู่ทุกขณะว่าเรากำลังคิดอะไร กำลังพูดอะไร กำลังทำอะไร จะได้แยกแยะว่าพูดดี คิดดี ทำดีหรือไม่ ถ้าคิดไม่ดีก็รีบระังับดับความคิดนั้นเสีย จะได้ไม่พูดไม่ทำ ถ้าปล่อยให้ออกมาทางวาจาทางกาย ก็จะเกิดความเสียหายต่อไปได้  เช่นมีความโกรธ อยากจะด่าคนนั้นคนนี้ อยากจะทุบข้าวของ อยากจะทำลายสิ่งนั้นสิ่งนี้  ถ้าไม่มีสติก็จะระบายออกมา จะพูดสิ่งที่เสียหาย จะทำลายข้าวของต่างๆ พอได้สติทีหลังก็จะเสียอกเสียใจ ว่าพูดไปทำไม ทำไปทำไม มีแต่ความเสียหาย คนที่ถูกเราด่า ก็จะโกรธจะเกลียดเรา สิ่งของที่ถูกทำลายไป ก็ไม่สามารถเอากลับคืนมาให้เป็นเหมือนเดิมได้ ถ้ามีสติคอยเฝ้าดูใจดูความคิดของเรา พอรู้ว่ากำลังโกรธ ก็ต้องบอกตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังมีอารมณ์ กำลังไม่ปกติ  ความโกรธจะหลอกให้พูดให้ทำในสิ่งที่ไม่ดี  ถ้าจำเป็นต้องพูดก็พูดด้วยสติ ด้วยความระมัดระวัง  ถ้าไม่จำเป็นต้องพูดต้องทำ ก็อย่าไปพูดอย่าไปทำ จะได้ไม่เกิดความเสียหายตามมาในภายหลัง  นี่คือการรักษาใจด้วยสติ แต่มีสติเพียงอย่างเีดียวยังไม่พอ ต้องมีปัญญามีสมาธิด้วย ปัญญาจะแยกแยะให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรพูดควรทำ  อะไรไม่ควรพูดไม่ควรทำ  ถ้ามีสติแต่ไม่มีปัญญา ก็รู้ว่ากำลังพูดอะไรทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร  ถ้าได้ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะมีปัญญา  รู้ว่าการฆ่าสัตว์  พูดปด  ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี เสพสุรายาเมา เป็นการกระทำที่ไม่ดี เวลาใจคิดจะทำผิดศีล จะมีปัญญาบอกให้รู้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ดี  ผิดศีลผิดธรรม จะได้ไม่ทำ 

 

ถ้าไม่มีปัญญา จะไม่รู้ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีิิวิต มีโทษทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ต้องไปใช้เวรใช้กรรมต่อ ถ้าได้ศึกษาได้ยินพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว จึงควรให้ความสนใจ ต่อการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ  อย่างน้อยที่สุดในวันพระก็ควรฟังเทศน์ฟังธรรมกันสักครั้งหนึ่ง  ถ้าไม่สามารถเข้าวัดได้ก็เอาธรรมะไปที่บ้าน เปิดเทปฟัง เปิดโทรทัศน์ดู เปิดหนังสืออ่าน เพื่อจะได้เสริมสติปัญญา ความรู้ความฉลาด จะได้แยกแยะความคิดว่าดีหรือไม่ ถ้าคิดไปในทางโลภโกรธหลง ถือว่่าไม่ดีทั้งนั้น ความโลภหมายถึงอยากได้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ถือว่าเป็นความโลภ เช่นอยากจะรับประทานอาหารอย่างนี้ ไม่เรียกว่าเป็นความโลภ เพราะร่างกายต้องมีอาหารหล่อเลี้ยง ถ้าอยากรับประทานอาหารมากๆ  เกินความต้องการของร่างกาย อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นความโลภ หรืออยากกินอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ จะต้องขับรถไปถึงที่ร้านโน้นร้านนี้ อย่างนี้เป็นความโลภเป็นกิเลส ถ้ากินตามความต้องการของร่างกาย ก็กินไปตามมีตามเกิด ถึงจะไม่เป็นกิเลส ความโกรธก็คือ เวลาที่เรามีความรุ่มร้อนใจ เวลาใครพูดอะไรทำอะไร ที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็ต้องรู้ว่าความโกรธนี้ไม่ดี ต้องรู้จักระงับความโกรธ สิ่งที่จะระงับความโกรธได้ก็คือธรรมะ การให้อภัย ไม่จองเวรจองกรรมกัน เป็นการใช้หนี้เก่า ใช้เวรใช้กรรมไป เราเคยทำเขามาก่อน เขาถึงต้องมาทำเรา แต่เราจะไม่ตอบโต้ เพราะจะทำให้เรื่องยาว ไม่มีที่สิ้นสุด  ถ้าตอบโต้กลับไป เ่ขาก็จะตอบโต้กลับมา  น้ำผึ้งหยดเดียวก็จะกลายเป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์ได้  ถ้าให้อภัยได้ ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น  เรื่องต่างๆจะไม่เกิดขึ้น ใจก็จะสงบเย็น มีความสุข ถ้าตอบโต้กันไปตอบโต้กันมา ใจก็จะร้อนขึ้นไปเรื่อยๆ มีความทุกข์ทรมานใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เห็นโทษของความโกรธ ว่าเป็นฝืนเป็นไฟ เป็นนรกในจิตใจ อย่าส่งเสริมความโกรธอาฆาตพยาบาท  ต้องระงับด้วยการไม่จองเวรจองกรรม ด้วยการให้อภัย เมื่อให้อภัยได้แล้วใจจะสงบเย็นเป็นสวรรค์  นี่คืออานิสงส์ของการให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ทำให้ขึ้นสวรรค์  ถ้าอาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรมกัน ก็จะทำให้ตกนรก ให้คิดว่าอะไรที่เกิดขึ้นก็ผ่านไปแล้ว ย้อนกลับไปไม่ได้  ถ้วยแตกแล้วจะทำให้เป็นเหมือนเดิมไม่ได้ เสียของแล้วอย่าเสียใจ เสียอย่างเดียวก็พอ อย่าเสียสองอย่าง จะขาดทุน เราสามารถรักษาใจไม่ให้เสียได้ เมื่อไม่เสียใจแล้วจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น มันเกิดขึ้นแล้วมันผ่านไปแล้ว เราย้อนกลับไปในอดีตไม่ได้  กลับไปเมื่อวานไม่ได้ แต่เราอยู่เหมือนเมื่อวานนี้ได้ อยู่อย่างมีความสุขได้  ถ้าลืมเรื่องต่างๆที่เิกิดขึ้นได้  ตั้งหน้าตั้งตาดูแลรักษาใจ ให้สงบ ให้เย็น ให้สบาย ถ้ายังทำไม่ได้ก็เพราะยังไม่มีสมาธิ  คือความสงบใจ  เวลาที่เราโกรธ  รู้ว่าความโกรธไม่ดี  แต่ระงับความโกรธไม่ได้ ก็เป็นเพราะว่าใจไม่มีเบรก  ถ้าเป็นรถยนต์ ขับรถไปถึงสี่แยกไฟแดงต้องหยุดรถ แต่ไม่มีเบรก ก็ต้องไปชนกับคันอื่น เพราะไม่มีเบรก ฉันใดใจก็ต้องมีเบรกเหมือนกัน ต้องมีสมาธิ ที่เป็นตัวเบรกใจ ถ้ามีสมาธิแล้ว เวลาโกรธจะระงับความโกรธได้  เวลาโลภก็จะระงับความโลภได้  ดังนั้นนอกจากมีสติมีปัญญาแล้ว ก็ยังต้องมีสมาธิด้วย ต้องฝึกทำจิตใจให้สงบนิ่ง  หยุดความคิดให้ได้ 

 

เพราะความคิดนี่แลเป็นตัวที่สร้างความทุกข์ใจ พอคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าหยุดคิดได้ ไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้น ก็จะลืมเรื่องนั้นไป  ก็จะไม่มีความทุกข์ใจ  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้หัดทำสมาธิ ด้วยการรำลึกหรือคิดแต่พุทโธๆไปในใจ  เวลารู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็อย่าไปสนใจ อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้กลับเข้ามาหาพุทโธ  ให้คิดแต่พุทโธๆไปเรื่อยๆ  คิดไปเรื่อยๆ อย่ากลับไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ถ้าดึงใจให้อยู่กับพุทโธได้  ไม่นานก็จะลืมเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ใจก็จะสงบตัวลง จะเย็นสบาย จะเห็นโทษของความคิด ว่าความทุกข์ใจเกิดจากความคิดทั้งนั้น  ไม่ได้เกิดจากอะไรเลย สิ่งต่างๆในโลกนี้ เขาก็มีเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่ไปคิดถึงก็จะไม่มีปัญหาอะไรกับใจ  เช่่นเราอยู่ที่นี่ไม่ได้คิดถึงเรื่องที่อยู่ที่บ้าน ไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่บ้าน เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร ถ้าอดกังวลไม่ได้ว่า ตอนนี้ที่บ้านปลอดภัยหรือเปล่า  ขโมยขึ้นบ้านหรือเปล่่า ไฟไหม้บ้านหรือเปล่่า  พอคิดอย่างนี้แล้ว ทั้งๆที่ยังไม่่มีเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นเลย ก็ทำให้ไม่สบายใจแล้ว นี่แลคือความทุกข์ใจ เป็นอย่างนี้ ความทุกข์ใจเกิดจากความคิดของเรา แต่เราไม่มีปัญญาความสามารถที่จะหยุดความคิดได้ ก็เลยต้องทุกข์ทรมานใจไปเรื่อยๆ ถ้าเคยฝึกทำสมาธิ   เคยฝึกคิดอยู่กับพุทโธๆอย่างเดียว เวลาไม่สบายใจ ก็คิดแต่คำว่าพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ก็จะลืมเรื่องต่างๆที่ทำให้ไม่สบายใจ จะรู้สึกเฉยๆ  อะไรจะเกิดก็เกิดไป จะมีปัญญารู้ว่า เราไม่มีอำนาจไปห้ามสิ่งต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้  เราอยู่ตรงนี้ ถ้าตรงโน้นจะมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไปหยุดยั้งไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป  อะไรที่เราป้องกันได้ดูแลได้  ก็ทำกันไป ไม่ได้ให้ปล่อยทั้งหมดเลย อันไหนดูแลรักษาได้ ก็ดูแลรักษาไป

 

ถ้าเราดูแลรักษาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป เช่นตอนนี้เราอยู่ตรงนี้ เราดูแลรักษาบ้านไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไป อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด  ถ้าคิดอย่างนี้ได้แล้ว จะไม่มีความทุกข์กับเรื่องอะไรเลย   เพราะความทุกข์เกิดจากใจไปคิดถึงมันเอง  พอคิดแล้วก็สร้างความทุกข์ขึ้นมา  ถ้ามีมีสมาธิ ก็จะหยุดใจได้ ยับยั้งใจได้  เวลาโกรธก็ให้อภัยได้  ไม่จองเวรจองกรรมได้  เวลาโลภก็ไม่เอาก็ได้ เพราะรู้ว่าเอามาก็เท่านั้น มีเหลือกินเหลือใช้แล้ว เอามาทำไม ก็จะควบคุมดูแลใจใ้ห้เป็นปกติได้ ให้สงบนิ่งได้ เมื่อใจได้รับการดูแลแล้ว ก็ไม่ต้องดูแลกายวาจา  ถ้าใจดีแล้ว กายกับวาจาก็จะดีตาม เวลาใจคิดดีการพูดการกระทำก็จะดีตาม ถ้าใจคิดไม่ดี การพูดการกระทำก็ไม่ดี จึงต้องดูแลใจเป็นหลัก ถ้ายังไม่สามารถดูแลใจได้ เพราะยังไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ก็ต้องดูกายดูวาจาไปก่อน ด้วยการรักษาศีล เช่นวันนี้เราก็รักษาศีล ๕ กัน ไม่เสพสุรา ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ  ถึงแม้จะมีความโลภ ความโกรธอยู่ ก็ให้อยู่ในกรอบของศีล อยากได้อะไรก็จะไม่ไปทำผิดศีล  โกรธใครอย่างไรก็จะไม่ไปทำผิดศีล  ก็จะไม่มีผลเสียหายตามมา  ถ้ารักษาใจได้ก็จะมีศีลโดยอัตโนมัติ เพราะใจนี้แลเป็นศีลที่แท้จริง พระอริยเจ้าทั้งหลายรักษาใจเพียงตัวเดียว ก็สามารถรักษาศีลทุกข้อได้ เพราะใจเป็นผู้พูดและผู้กระทำ ถ้าใจดีแล้วก็ถือว่ามีศีลอยู่ในตัว ถ้ามีความสามารถเจริญสติได้ มีปัญญาแยกแยะได้ ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว มีสมาธิยับยั้งใจให้สงบ ไม่ให้วุ่นวาย ไม่ให้ไปพูดไปทำในสิ่งที่ไม่ดีได้  ก็จะมีศีลครบถ้วนบริบูรณ์  เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีศีลครบถ้วนบริบูรณ์ตลอดเวลา เพราะใจของท่านมีความสะอาดบริสุทธิ์ตลอดเวลา ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่มีเหตุที่จะให้ไปทำผิดศีลผิดธรรม  ถ้าชำระรักษาใจได้แล้ว ก็จะรักษากายกับวาจาได้ด้วย  ถ้ายังรักษาใจไม่ได้ ก็ต้องรักษาชำระกายวาจาไปก่อน จนกว่าใจจะมีกำลังพัฒนาสติสมาธิและปัญญาขึ้นมา  จนสามารถรักษาใจได้  ถ้ารักษาใจได้แล้วจะสมาทานศีลหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะใจจะไม่ไปทำผิดศีลอยู่แล้ว 

 

รักษาใจแล้วกายกับวาจาก็จะได้ัรับการดูแลรักษาด้วย ถ้ายังไม่สามารถรักษาใจได้ ก็ต้องรักษากายกับวาจาไปก่อน  ปล่อยให้ใจวุ่นวายไปก่อน ให้โลภ ให้โกรธ ให้หลงไปก่อน แต่จะไม่ให้ไปทำผิดศีลผิดธรรม จะได้ไม่เกิดโทษเกิดปัญหาตามมา ถ้ายังอยากร่ำอยากรวย อยากมีสมบัติข้าวของเงินทอง ก็ให้มันโลภไป แต่ไม่ให้ไปทำผิดศีลผิดธรรม  ถ้ารวยแบบนี้ก็จะไม่มีโทษตามมา  ถ้ารวยด้วยการทำผิดศีลผิดธรรม ก็จะมีโทษตามมา ตายไปก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรม ต้องไปตกนรก ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ถ้ายังไม่สามารถรักษาใจไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลงได้ ก็ต้องรักษากายกับวาจาให้ได้ ด้วยการรักษาศีล จะได้รักษาความเป็นมนุษย์ไว้ จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ได้เกิดเป็นเทวดา ถ้าไม่รักษาศีล ก็จะต้องไปเกิดในอบาย ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มาเลย สมบัติข้าวของเงินทองได้มามากน้อยเพียงไร พอเราตายไป ก็กลายเป็นของคนอื่นไป ไม่สามารถเอาติดตัวไปได้ สิ่งที่เอาติดตัวไปได้ก็ืคือบุญกรรม  กรรมก็คือบาป การละเมิดศีล บุญก็คือการรักษาศีลนี่เอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จึงควรให้ความสำคัญต่อการดูแล ชำระกายวาจาใจให้สะอาด พยายามทำทุกวัน ไม่แต่เฉพาะวันพระ วันพระเป็นวันพิเศษ ควรทำให้มากกว่าปกติ เพราะเราทำให้ใจสกปรกเศร้าหมองอยู่ทุกๆวัน ถ้าชำระในวันพระเพียงวันเดียว ก็จะไม่พอเพียง ต้องชำระดูแลกายวาจาใจทุกๆวันเลย ใจจะได้สะอาด เป็นใจที่ดี คิดดีพูดดีทำดี มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญ การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้