กัณฑ์ที่ ๓๖๙       ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐

เวทนา

 

 

 

หนังสือทางปฏิบัติจริงๆหาอ่านยาก หนังสือของนักปฏิบัติกับหนังสือของนักศึกษาไม่เหมือนกัน อ่านหนังสือของนักศึกษาแล้วปวดหัว เพราะเขียนให้จำ ไม่เขียนให้เข้าใจ ถ้าเขียนโดยนักปฏิบัติ เวลาอ่านจะเหมือนกับฟังธรรม อ่านไปแล้วจิตจะสงบไปด้วย ถ้าพิจารณาตามก็จะเกิดความเข้าใจ เกิดปัญญา ไม่ต้องจำ พอเข้าใจแล้ว ก็จะอยู่ในใจไปตลอด ตอนที่ไปอยู่กับหลวงตาใหม่ๆ ช่วงไหนไม่ได้นั่งภาวนาหรือเดินจงกรม ก็จะอ่านหนังสือของหลวงตา ไม่ต้องรอให้ท่านเรียกประชุมอบรมสั่งสอน อ่านทุกวันเลย ถือเป็นกิจวัตรประจำวัน วันละชั่วโมง อ่านเกือบทุกเล่ม ตอนนั้นมีไม่กี่เล่ม มีปฏิปทาฯ มีประวัติพระอาจารย์มั่น มีหนังสือที่ท่านไปเทศน์ที่ลอนดอน มีแว่นดวงใจที่เป็นเล่มหนาที่สุด ตอนนั้นยังไม่มีธรรมชุดเตรียมพร้อม ท่านเพิ่งจะเทศน์ในปี ๒๕๑๘ เราเข้าไปอยู่ตอนเดือนเมษายน คุณเพาพงาไปตอนออกพรรษาแล้ว ช่วงปลายตุลาคมต้นพฤศจิกายน หลังจากที่ท่านเทศน์โปรดคุณเพาพงาแล้ว  ม.ร.ว. ส่งศรีกับน้องสาวต้องขอหลวงตาพิมพ์หลายครั้ง ท่านถึงจะอนุญาต ท่านบอกว่าชุดนี้มันเผ็ดร้อน สอนให้เตรียมตัวสู้กับทุกขเวทนาตอนใกล้ตาย สำหรับคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าแรงเกินไป ท่านจึงไม่อยากให้เผยแผ่ไปสู่คนที่ไม่ได้ปฏิบัติ เกรงจะไม่ได้รับประโยชน์ เหมือนกับให้เด็กกินแกงเผ็ด กินแค่คำเดียวก็ส่ายหน้าหนี แต่ผู้ใหญ่ที่ชอบของเผ็ดๆร้อนๆอยู่แล้ว พอได้กินเพียงคำเดียวก็จะติดใจ เป็นประโยชน์มาก

 

เพราะท่านเน้นไปเรื่องธาตุขันธ์ เรื่องการต่อสู้กับทุกขเวทนา ด้วยอุบายแห่งสมาธิ ระลึกอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง จะเป็นพุทโธก็ได้ หรือพิจารณาด้วยปัญญา ให้เห็นว่าเวทนาก็สักแต่เวทนา ไม่ได้ร้ายแรงอะไร จะสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นเวทนาเหมือนกันหมด มีอวิชชามีความหลงไปแยกว่าดีหรือไม่ดี ถ้าไม่แยกก็เหมือนกันหมด สุขเวทนาก็เป็นเวทนา ทุกขเวทนาก็เป็นเวทนา ไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็เป็นเวทนาเหมือนกัน ปรากฏขึ้นมาในจิตแล้วก็ดับไป เกิดดับๆอยู่ในจิต ถ้าจิตไม่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่มีอวิชชาความหลงไปแยกว่า เวทนาแบบนี้ดี เวทนาแบบนี้ไม่ดี ก็จะไม่มีปัญหาอะไร เหมือนกับน้ำที่โยมถวายมา มีน้ำเขียวน้ำขาวน้ำแดง ถ้าไปแยกว่าชอบ ไม่ชอบเข้า ก็จะมีปัญหา คนที่ชอบน้ำสีขาวพอเจอน้ำสีแดงก็ส่ายหน้า คนที่ชอบน้ำสีแดงพอเจอน้ำสีขาวก็ส่ายหน้า คนที่ชอบกับคนที่ไม่ชอบก็มีใจเหมือนกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ต่างกันตรงที่ถูกเสี้ยมสอนมาให้ชอบไม่ชอบเท่านั้นเอง ใจของเราถูกอวิชชาถูกความหลงเสี้ยมสอนมา ไม่ให้ชอบทุกขเวทนา ให้ชอบแต่สุขเวทนา พอเจอสุขเวทนาก็ยิ้ม อยากจะได้ จึงแย่งกัน แย่งสมบัติกัน แย่งสามีภรรยากัน เพราะเป็นสุขเวทนา พอต้องไปทำงานตรากตรำลำบากลำบนก็ส่ายหน้าหนีกันหมด เพราะถูกเสี้ยมสอนมาแบบนั้น ก็เลยต้องมีปฏิกิริยาแบบนั้น แต่พวกเราไม่รู้ว่าถูกเสี้ยมสอนมา คิดว่าเป็นธรรมชาติของเรา ที่พ่อแม่ไม่ต้องสอน เรื่องสุขเวทนาทุกขเวทนานี้ พ่อแม่ไม่ต้องเสียเวลาสอน จิตมันรู้เอง พอเจอทุกขเวทนาก็ส่ายหน้าหนีเลย พอเจอสุขเวทนาก็วิ่งเข้าหาเลย

 

น้ำที่ผลิตออกมาขายก็มีสีต่างๆ ถ้ายังไม่เคยดื่มมาก่อนก็จะลองชิมดู แล้วก็ตัดสินใจว่าชอบแบบไหน ก็จะเอาแต่แบบนั้น แบบที่ไม่ชอบก็จะไม่เอา จนติดเป็นนิสัย ก็เลยเป็นปัญหา ทำให้จิตอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องกลิ้งไปกลิ้งมา เวลาสัมผัสกับเวทนา ถ้าสุขเวทนาก็วิ่งเข้าหา ถ้าทุกขเวทนาก็วิ่งหนี ถ้าไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็ไม่พอใจ อยากจะหาสุขเวทนา ต้องหาไปเรื่อยๆ ได้มาแล้วก็ไม่อยู่กับเราไปตลอด เพราะเป็นของไม่เที่ยง สุขได้สักพักหนึ่งก็เปลี่ยนไป จากสุขเวทนาก็เปลี่ยนไปเป็นไม่สุขไม่ทุกขเวทนา หรือเป็นทุกขเวทนา ก็มีอยู่ ๓ ชนิด หน้าที่ของเรา ถ้าอยากจะอยู่อย่างสบาย ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องวิ่งหนี ก็ต้องฝึกให้รับกับเวทนาทั้ง ๓ ชนิดนี้ให้ได้ ถ้าชอบอะไรก็หัดเกลียดมัน ชอบอาหารแบบไหนก็อย่าไปกินมัน กินอาหารที่ไม่ชอบ ชอบดูอะไรก็อย่าไปดูมัน ดูในสิ่งที่ไม่ชอบ เช่นดูอสุภะ ดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย เพราะเราชอบดูของสวยๆงามๆ ดูดาราภาพยนตร์ ดูนายแบบนางแบบ ถ้าเราทุกคนชอบพิจารณาอสุภะกัน ต่อไปอาจจะมีหนังสืออสุภะออกมาขายก็ได้ ตอนนี้ถ้าทำออกมาขายจะขายไม่ออก ไม่มีใครซื้อ ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ จนชำนาญแล้ว พอไปเห็นสิ่งที่ไม่ชอบ จะรู้สึกเฉยๆ พอชินกับอะไรแล้วจะรู้สึกเฉยๆ เหมือนกับพวกศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดอวัยวะต่างๆ ผ่าจนชิน จนรู้สึกเฉยๆ แต่พวกเรานี่ถ้าแหวะอวัยวะออกมาให้ดูหน่อย ก็จะอาเจียนกัน จะเป็นลมกัน เพราะไม่ชิน ปฏิกิริยาของจิตจะรุนแรงมากกับสิ่งที่ไม่ชอบ ทำให้สลบได้ สิ่งที่ชอบก็ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เห็นแล้วอยากจะอยู่ใกล้ชิด นอนไม่หลับ หลับตาก็เห็นลืมตาก็เห็น เราจึงต้องฝึกจิตด้วยอุบายวิธีต่างๆ ให้จิตเข้าสู่อุเบกขา ให้วางเฉยทางอารมณ์ให้ได้

 

คำว่าอุเบกขานี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไร คำว่าปล่อยวางบางคนคิดว่าไม่ต้องทำอะไร งานก็ไม่ต้องทำ ลูกก็ไม่ต้องเลี้ยง ปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรม นั่นไม่ใช่อุเบกขา อุเบกขาหมายถึงการปล่อยวางทางอารมณ์ ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ มีหน้าที่อะไรที่ต้องทำก็ทำไป มีหน้าที่เรียนหนังสือก็เรียนไป มีหน้าที่ทำงานก็ทำไป มีหน้าที่เลี้ยงลูกสอนลูกก็เลี้ยงไปสอนไป ทำไปตามหน้าที่ แต่อย่าไปมีอารมณ์กับสิ่งที่ทำ ไม่ต้องไปดีใจเสียใจ ได้ผลดีก็ไม่ต้องดีใจ ได้ผลไม่ดีก็ไม่ต้องเสียใจ ทำให้ดีที่สุดแล้วก็พอใจ อย่างใครถวายอะไรหลวงตา ท่านก็บอกว่าพอใจ ไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่บอกว่าน้อยไปหรือมากไป พอใจก็พอดี เป็นอุเบกขา ไม่มีปฏิกิริยาทางอารมณ์กับอะไรทั้งสิ้น จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็พอใจ จะหายก็พอใจ จะตายก็พอใจ จิตที่มีอุเบกขามีปัญญาจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างอื่นก็จะขาดทุน ถ้าดีใจก็ดีใจเพื่อจะเสียใจ เวลาได้อะไรมาจะดีใจ พอสูญเสียไปก็จะเสียใจ ถ้าเฉยๆได้ก็จะไม่เจ็บใจ เสียอะไรก็เสียไปแต่อย่าเสียใจ อย่าเสีย ๒ ต่อ เสียต่อเดียวก็พอ เสียเงินไปแล้ว เสียคนรักไปแล้วก็อย่าเสียใจ ควรจะดีใจ ถ้าดีใจก็เป็นบุญ ถ้าเสียใจก็เป็นบาป ถ้าเสียใจก็เป็นอวิชชาเป็นความโง่ ถ้าดีใจก็เป็นปัญญา เป็นความฉลาด เป็นความสุข

 

ท่านถึงสอนให้เราทำทาน เป็นการฝึกให้เสีย เวลาเสียอะไรด้วยความพอใจ ด้วยความเต็มใจ จะมีความสุขใจ อย่างวันนี้เราเสียเวลาเสียเงินเสียทอง แต่ไม่เสียใจ กลับดีใจ กลับมีความสุขใจ จึงควรหัดเสียไปเรื่อยๆ สิ่งที่ยังเสียไม่ได้ก็ต้องจินตนาการไว้เผื่อวันข้างหน้า ว่าสักวันหนึ่งต้องเสียหมดทุกอย่าง เสียทั้งสามีเสียทั้งภรรยาเสียทั้งลูก เสียทั้งสมบัติข้าวของเงินทอง เสียทั้งพ่อเสียทั้งแม่ เสียหมด ไม่มีอะไรจะอยู่ไปได้ตลอด เพียงแต่ว่าจะเสียก่อนเสียหลัง ใครจะเสียก่อน ใครจะไปก่อนไปหลังเท่านั้นเอง เป้าหมายที่แท้จริงของการให้ทานคือ การปล่อยวางข้าวของต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหยาบ เป็นส่วนที่ไกลตัว น่าจะเสียสละได้ง่าย ไม่เช่นนั้นจะเสียสละสิ่งที่ใกล้ตัวไม่ได้ คือกายและเวทนา ถ้าได้ฝึกเสียทางภายนอกได้แล้ว ต่อไปก็จะเสียทางภายในได้ ต่อไปจะไม่เสียดายสุขเวทนา จะอยู่แบบทุกข์ๆยากๆลำบากลำบนได้ จนติดเป็นนิสัย ก็กลับจะชอบเสียอีก อย่างพระมหากัสสปะนี่ ท่านชอบใช้ผ้าเก่า ผ้าจีวรของท่านปะแล้วปะอีก จนพระพุทธเจ้าต้องตรัสถามว่า ทำไมไม่ใช้ผ้าดีๆที่ศรัทธาถวายให้ใช้ ทำไมไม่โปรดญาติโยมบ้าง ท่านก็ทูลตอบว่าเป็นความถนัดของท่าน เคยฝึกมาอย่างนั้น เคยอยู่แบบประหยัดมัธยัสถ์ พอใจกับของเก่าๆ เพราะของเก่าหาง่ายกว่าของใหม่ ของใหม่หายาก ของเก่ามีแต่คนทิ้ง เก็บมาใช้ได้สบาย ไม่ต้องเหนื่อยยาก แล้วทำเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพระรุ่นหลัง พระพุทธเจ้าจึงไม่สามารถบังคับให้ท่านใช้ผ้าใหม่ได้ เพราะเหตุผลของท่านถูกต้องตามความจริง

 

เราจึงควรฝึกเสียสละ อาศัยสิ่งภายนอกให้น้อยที่สุด เอาตามมีตามเกิด จะสุขบ้างทุกข์บ้างก็ไม่เป็นไร พอใจปรับเข้ากับอะไรได้แล้ว ก็เป็นความสุขเหมือนกัน คนที่เคยอยู่แบบทุกข์ๆยากๆ แล้วให้ไปอยู่อย่างสุขสบายกลับไม่สุข กลัวจะติดกับความสุขสบาย แล้วจะลำบากทีหลัง ถ้าต่อไปเกิดหมดเนื้อหมดตัว ต้องอยู่แบบทุกข์ๆยากๆอีก ก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าเคยอยู่แบบทุกข์ยากมาแล้ว จะไม่ลืมคุณค่าของการอยู่แบบนั้น ถึงแม้จะร่ำรวยอย่างไร ก็จะไม่หลงระเริงกับความร่ำรวย ต่างกับคนที่เกิดมากับความร่ำรวย จะไม่รู้คุณประโยชน์ของการอยู่แบบทุกข์ยากลำบาก จะติดกับการอยู่แบบสุขสบาย ถ้าไม่มีปัญญาที่จะอยู่แบบนั้นได้ พอตกทุกข์ได้ยากหน่อยก็จะฆ่าตัวตาย ทนอยู่กับความทุกข์ยากลำบากไม่ได้ แต่คนที่เคยผ่านความทุกข์ยากลำบากมาแล้ว ถ้ารวยแล้วกลับมาจนใหม่ก็ไม่เดือดร้อน เพราะเคยผ่านมาแล้ว ทั้งความสุขทั้งความทุกข์ เวทนาก็แบบเดียวกัน ส่วนใหญ่เราไม่ชินกับทุกขเวทนากัน พอเจอทุกขเวทนา ใจก็ดิ้นรนกระสับกระส่ายวุ่นวายไปหมด ไม่เป็นอุเบกขา

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นความเคยชินนี้ เป็นความรู้สึกเฉยๆ จะจัดอยู่ในหมวดของอุเบกขา ซึ่งไม่น่าจะใช่ สมมติเราเคยอยู่ยังไง มันจะเกิดความเคยชินขึ้น อารมณ์ตรงนั้นจัดอยู่ในอุเบกขาไหมคะ

 

ตอบ  ก็เป็นอุเบกขาในระดับหนึ่ง อุเบกขากับอารมณ์นั้น ถ้าไปเจออารมณ์ตรงกันข้ามจะเป็นอุเบกขาได้หรือเปล่า ถ้าได้ก็แสดงว่าเป็นอุเบกขา อย่างคนที่ผ่านความทุกข์มาแล้ว พอเจอความสุขก็อุเบกขาได้ เพราะอุเบกขากับความสุขมันง่าย เคยผ่านมาแล้ว ถ้าไม่เคยผ่านอุเบกขากับความทุกข์มา พอเจอความทุกข์มันจะไม่อุเบกขา เราจึงต้องหัดอดข้าวกัน เวลากินอิ่มๆก็อุเบกขากันทุกคน ลองอดข้าวดู ว่าจะอุเบกขาเหมือนตอนกินข้าวอิ่มๆหรือเปล่า มีวิธีทำให้เป็นอุเบกขาได้ ขณะที่อดอาหารก็พยายามทำจิตให้สงบ เพราะการทำจิตให้สงบ เป็นการทำจิตให้เป็นอุเบกขานั่นเอง แทนที่จะอาศัยสิ่งภายนอกทำให้เป็นอุเบกขา เช่นการรับประทานอาหาร ก็เอาการภาวนาหรือการมีสติควบคุมจิต ไม่ให้ไปคิดปรุงถึงเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร พอไม่ได้คิดปรุงแล้วจิตสงบตัวลงเมื่อไหร่ ก็จะเกิดความอิ่มขึ้นมา ความอิ่มใจเป็นได้ ๒ แบบคือ ๑. อิ่มใจเพราะอิ่มกาย เช่นรับประทานอาหารอิ่ม ใจก็อิ่มตามไปด้วย แต่ไม่ได้เป็นความอิ่มที่แท้จริง ถ้าเกิดใครพูดอะไรไม่ดี ก็เกิดความโกรธขึ้นมาได้ ถ้าไปคิดถึงอาหารที่ชอบ ก็ยังอยากจะรับประทานอีก ๒. อิ่มใจที่เกิดจากการทำจิตให้สงบ ด้วยการบริกรรมพุทโธ ด้วยการกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้ากิเลสยอมแพ้ จิตก็จะสงบตัวลง พอจิตสงบตัวลงแล้วมันก็ไม่หิว ถึงแม้จะอดอาหารมาหลายวัน จะมีความอิ่มใจ ความหิวทางร่างกายก็ไม่รุนแรง พอที่จะไปกระทบกับความอิ่มของใจได้

 

พวกเราจึงต้องฝึกอดอาหารกัน อดข้าวเย็นกัน เพื่อให้เจอกับทุกขเวทนานั่นเอง ถ้าฝึกโดยไม่ภาวนาไปด้วยก็จะยาก ถ้าภาวนาไปด้วย พอจิตสงบลง ความหิวส่วนใหญ่คือความหิวของใจจะสงบตัวลง ปรากฏเป็นความอิ่มใจขึ้นมา ความหิวของร่างกายที่เป็นส่วนย่อย ก็ไม่มีอานุภาพที่จะไปลบล้างความอิ่มใจได้ แต่ส่วนใหญ่พวกเราจะหาความอิ่มใจจากภายนอกกัน เวลาอยากจะดูหนังก็ไปดูหนังกัน ก็อิ่มเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็หิวขึ้นมาอีก ก็ต้องไปหาอะไรมาเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ กลายเป็นความกดดันไป เพราะสิ่งต่างๆภายนอก ไม่ได้เป็นของฟรีเหมือนน้ำฝน สมัยก่อนดื่มน้ำฝนได้ เพราะน้ำสะอาด แต่เดี๋ยวนี้ไม่สะอาดแล้ว รองน้ำฝนมาดื่มไม่ได้ ต้องซื้อน้ำกัน ถ้าอาศัยสิ่งภายนอกมาให้ความสุข ก็จะต้องดิ้นรนแสวงหาอยู่ตลอดเวลา ถ้าหาความสุขภายในใจได้ ก็ไม่ต้องดิ้นรน อยู่อย่างสบาย ไม่ต้องไปทำงานทำการมาก เพราะไม่ต้องมีรายได้มาก ถ้าออกบวชได้ ก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องปัจจัย ๔ ไม่ต้องไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ต้องไปเที่ยวที่นั่นเที่ยวที่นี่ ไปดูหนังฟังเพลง ไปรับประทานอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ เพราะรับประทานอาหารได้ทุกชนิด เพราะมี ๔ รสเหมือนกันหมด มีเปรี้ยวหวานมันเค็ม อาหารจานละห้าพันหรือห้าสิบบาท ก็มีรสเหมือนกัน กินเข้าไปแล้วอิ่มเหมือนกัน ถ้าใจอิ่มอยู่แล้ว จะอดบ้างกินบ้าง ก็จะไม่เดือดร้อน เราจึงต้องฝึกวิ่งเข้าหาทุกขเวทนากัน อย่าวิ่งหนีทุกขเวทนา พยายามวิ่งหนีสุขเวทนา

 

หัดปรับตัวให้อยู่กับความทุกข์ อยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ ต่อไปจะสบาย ทุกข์ขนาดไหนก็จะไม่เดือดร้อน ที่ให้นั่งนานๆ ให้มันเจ็บให้มันปวด แล้วให้มันหายไปเอง ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องไปหนีมันให้มันหนีเรา สู้มัน ดูว่าใครจะเก่งกว่ากัน ถ้าเราเก่งกว่ามัน เดี๋ยวมันก็ยอมแพ้ มันก็หายไปเอง ถ้านั่งสู้เฉยๆจะสู้ไม่ได้ เพราะใจจะคิดอยากให้มันหาย ทำให้เกิดความทุกข์ซ้อนขึ้นมาในใจ ที่รุนแรงกว่าทุกข์ที่เกิดจากทางร่างกาย ถ้าเกิดความอยากให้มันหายเจ็บ มันก็จะทุรนทุรายดิ้นรนกระสับกระส่าย ตอนนั้นนั่งไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ปล่อยให้จิตไปคิดอยากให้มันหาย โดยให้อยู่กับพุทโธ ให้แนบสนิทไปกับพุทโธ มันก็จะไม่มีโอกาสไปคิดถึงทุกขเวทนาทางร่างกายได้ ก็เลยไม่เจ็บปวดเท่าไหร่ เจ็บบ้างนิดๆหน่อยๆ อย่าว่าแต่เจ็บเลย เวลาไม่เจ็บเช่นเวลาคัน ยังทนไม่ได้เลย เวลาคันนี้มันไม่เจ็บใช่ไหม แต่ทำไมทนไม่ได้ เพราะใจไม่ชอบความคันอยากจะให้มันหาย ถ้าไม่ไปสนใจกับมันได้ มันก็จะไม่เป็นปัญหาเลย คันก็ปล่อยให้มันคันไป เราก็อยู่ของเราไป ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องหาอะไรเกาะ เช่นเอาพุทโธมาเกาะ อย่าให้จิตอยู่เฉยๆ พออยู่เฉยๆมันจะแวบไปหาความคันทันที แล้วก็อยากจะเกา อยากให้มันหาย ก็ยิ่งเกิดความกระสับกระส่ายขึ้นมาในใจ

 

อุบายของสมาธิก็คือการมีอะไรให้ใจทำ พุทโธก็ได้ อาการ ๓๒ ของร่างกายก็ได้ ท่องไปเลย ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูก ฯลฯ ให้อยู่กับอาการทั้ง ๓๒ นี้ ไม่ต้องไปอยู่กับเวทนาทางกาย ถ้าจะใช้อุบายของปัญญาก็พิจารณาแยกไปเลยว่า ร่างกายก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เวทนาก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ใจก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนกับฟ้ากับฝน ฝนก็เป็นเวทนา ท้องฟ้าก็เป็นใจ ฝนจะตกมากน้อยเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ทำอะไรกับท้องฟ้า ท้องฟ้าก็ยังเป็นท้องฟ้าอยู่อย่างนั้น ฝนไม่ตกท้องฟ้าก็ยังเป็นท้องฟ้าอยู่ เวลาฝนตกท้องฟ้าก็ยังเป็นท้องฟ้าอยู่ ใจก็เหมือนกัน เวลามีเวทนาใจก็ยังเป็นใจอยู่ เป็นผู้รู้อยู่อย่างนั้น เวลามีเวทนาปรากฏขึ้นมา ใจก็เพียงแต่รับรู้เท่านั้นเอง ถ้าไม่รับรู้เฉยๆ นั่นแหละคือปัญหา เพราะมีกิเลสมีอวิชชาคอยหลอกใจว่าแบบนี้ไม่ดี ต้องหนี ต้องจัดการกับมัน ให้มันหายไป พอทำไม่ได้ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา กระสับกระส่าย ถ้าทำได้ก็สบายใจ เช่นเวลาร้อนมากๆ พอเปิดแอร์ปั๊บ ความกระสับกระส่ายก็หายไปหมด ถ้าไม่มีไฟก็โทรไปถามเรื่อยๆว่าเมื่อไหร่จะมาสักที ไปแก้ผิดที่ ถ้าแก้ที่ใจ ไม่มาก็ไม่มา ไม่มีก็ไม่มี ร้อนก็ร้อนไป ใจก็ยังเป็นใจอยู่อย่างนั้น ความร้อนทำลายใจไม่ได้ ถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะปล่อยให้มันร้อนไป ใจก็เฉยๆ รับรู้ไป ปัญหาก็จบ

 

ปัญหาคือใจไม่ยอมรับรู้เฉยๆ จะจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้สัมผัส อันไหนดีก็พยายามดึงไว้ ทั้งๆที่ดึงไว้ไม่ได้ เดี๋ยวก็จากไป พอไปก็เสียดาย เสียใจ ร้องห่มร้องไห้ พอสิ่งที่ไม่ดีมาก็พยายามปัดมัน ผลักมัน ไล่มันไป มันก็ไม่ยอมไป ก็วุ่นวายใจกระสับกระส่าย จนกว่ามันจะหายไป ถ้าทำใจให้เฉยๆได้ ก็จะไม่เดือดร้อน เช่นนั่งสมาธิแล้วเจ็บก็ปล่อยให้มันเจ็บไป ทำอะไรมันไม่ได้ ยอมรับความจริงนี้ จะอยู่ก็อยู่ไป ไม่อยู่ไปตลอด เดี๋ยวก็ต้องดับไป ถ้าฝึกวางเฉยไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หายไปเอง ลองนั่งดูสิ เวลามันชานี่ ชาไปสักพักหนึ่งเดี๋ยวก็หายไปเอง แต่ใจต้องวางเฉยจริงๆ ไม่มีอารมณ์อยากให้หาย ถ้ามีก็จะทุกข์ขึ้นมาในใจ ทำให้รู้สึกว่าเจ็บมากขึ้น แต่ไม่ได้เจ็บเพิ่มที่ร่างกาย แต่ไปเพิ่มที่ใจ ถ้าระงับดับความทุกข์ภายในใจได้ ความเจ็บทางร่างกายจะไม่กระทบกระเทือนใจเลย ใจสามารถตั้งอยู่เป็นอุเบกขาได้ จะอยู่ก็อยู่ไป จะดับก็ดับไป แต่ใจได้ปล่อยวางแล้ว

 

เวลาพิจารณาจะมีผลอยู่ ๒ ลักษณะคือ ๑. เวทนายังอยู่ แต่ใจเฉย ใจรับรู้เวทนา ต่างฝ่ายต่างอยู่ ร่างกายยังเจ็บก็รู้ว่าเจ็บ แต่ใจไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย ใจสงบนิ่งเย็นสบาย ๒. ทั้งเวทนาทั้งกายหายไปหมด เหลือแต่ใจอยู่อย่างเดียว สักแต่ว่ารู้ สงบเย็นสบาย เป็นผลที่เกิดจากการพิจารณาด้วยปัญญา แยกแยะกายเวทนาใจออกจากกัน ให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของเขาไป ใจมีหน้าที่รู้ก็รู้ไป เวทนามีหน้าที่แสดงก็แสดงไป กายมีหน้าที่นั่งก็นั่งไป ก็เท่านั้นเอง ถ้าต่างฝ่ายต่างจริงแล้ว ก็จะไม่ก้าวก่ายกัน ก็จะไม่มีปัญหาอะไร นี่คือการใช้ปัญญาดับความโง่ดับอวิชชา ที่ทำให้เกิดความอยาก เกิดความทุกข์ความกระสับกระส่าย ถ้าใจไม่ทุกข์ไม่กระสับกระส่ายแล้ว เวทนาจะแรงขนาดไหนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เวทนาทางกายจะมีมากเพียงไร ก็จะไม่เป็นปัญหา ในเบื้องต้นต้องฝึกขั้นพื้นฐานก่อน แก้ในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ชอบเสื้อสีนี้ก็ใส่สีนี้ดูบ้าง บุคลิกไม่ดีไม่เป็นไร เอาบุคลิกไม่ดีบ้าง อย่าไปเอาแต่บุคลิกดีอย่างเดียว คนไม่สรรเสริญก็ไม่เป็นไร ให้เขาว่าให้เขาตำหนิบ้าง ว่าไม่สวยเลย คือพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งไหนที่ชอบก็อย่าไปหามา หาสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง

 

ถ้าฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปใจจะเข้าสู่ตรงกลาง ตอนนี้ยังแกว่งไปมา แกว่งไปมาระหว่างความชอบกับความชัง ยินดียินร้าย ถ้าเราฝึกให้ชอบในสิ่งที่ไม่ชอบ ต่อไปก็จะเฉยๆกับสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วก็ฝึกไม่ชอบกับสิ่งที่ชอบ ต่อไปก็จะเฉยๆ เห็นสิ่งที่ชอบก็ไม่เกิดความโลภ ตอนเป็นพระบวชใหม่ๆ เห็นอาหารที่ชอบอยู่ข้างหน้าใจก็อยากได้ พอมาถึงตนก็เหลือแต่จาน ใจก็แป้วไป ถ้าชอบในสิ่งที่คนอื่นไม่ชอบ ก็จะสมหวังแน่ๆ ชอบข้าวเปล่าดีที่สุด เพราะมีเหลือเยอะอยู่แล้ว กินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาก็วิเศษกว่าอดอาหารแล้ว หัดอดอาหารบ้าง อย่าไปกินทุกมื้อ ไม่ตายหรอก ดีเสียอีก หุ่นจะได้ดีขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บส่วนหนึ่งก็เกิดจากการรับประทานมากจนเกินไป แต่ยังหักห้ามจิตใจไม่ได้ ไม่มีกำลังใจ ถ้าได้ฝึกสมาธิและวิปัสสนาแล้ว จะควบคุมน้ำหนักได้ ต้องการให้อยู่ระดับไหนก็คุมได้ ไม่ยากเย็นอะไรเลย อยากจะเลิกอะไรก็เลิกได้ เลิกบุหรี่ก็เลิกได้ เลิกสุราก็เลิกได้ เลิกเที่ยวก็เลิกได้ เลิกได้หมด เพราะมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่ในตัวแล้ว คืออุเบกขานี่แหละ

 

เพราะในอุเบกขามีความอิ่มมีความพออยู่ด้วย ไม่ใช่อุเบกขาทางเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่รู้สึกว่ายังขาดอะไรอยู่ ยังอยากได้อยู่ เช่นไม่เจ็บไข้ได้ป่วย หรืออยู่บ้านเฉยๆ ร่างกายก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไร แต่ไม่สุข อยากจะออกไปหาความสุข อย่างนี้เรียกว่าอุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ อุเบกขาต้องเป็นความสงบของจิต ปราศจากอารมณ์อยากต่างๆ มีความอิ่มความพอ ความอยากกับความอิ่มเป็นของตรงกันข้ามกัน เหมือนเหรียญ ๒ ด้าน ถ้าด้านหนึ่งหงายขึ้นอีกด้านหนึ่งก็ต้องคว่ำลง ถ้าหัวหงายขึ้นก้อยก็ต้องคว่ำลง เหมือนความมืดกับความสว่าง ถ้ามีความสว่างก็ไม่มีความมืด ถ้ามีความมืดก็ไม่มีความสว่าง ถ้ามีความหิวก็ไม่มีความอิ่ม ถ้ามีความอิ่มก็ไม่มีความหิว ความอิ่มที่แท้จริงต้องเกิดจากความสงบของจิต ไม่ได้อิ่มจากการรับประทานอาหาร เพราะไม่อิ่มนาน อิ่มเดี๋ยวเดียว จึงควรหันเข้าหาความอิ่มทางใจกัน ด้วยการทำบุญให้ทาน มีเงินเหลือแทนที่จะปล่อยให้กิเลสมาหลอก ให้ไปหาอาหารมากิน ไปซื้อของฟุ่มเฟือยมาใช้ ก็เอามาทำบุญซะ พอทำบุญจนเงินหมดแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสไปซื้อของฟุ่มเฟือย ไปเที่ยวที่ไหนได้ เก็บไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ดูแลรักษาอัตภาพร่างกายด้วยปัจจัย ๔ ก็พอ อย่ามีงบไว้สำหรับการท่องเที่ยว สำหรับหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 

ให้หาความสุขจากการปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไรให้ความสุข แม้ร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรก็เจ็บแค่เพียงร่างกาย จะไม่เข้าถึงใจ ใจจะสงบนิ่งสบายเหมือนเดิม เหมือนกับไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยเลย อย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ ทำได้ทุกคน แต่ต้องกล้าหาญ กล้าเสียสละ กล้าตัด ถ้ายังเสียดายอยู่ ก็ยังต้องอยู่กับความทุกข์ไปเรื่อยๆ ต้องทนสู้ต่อไป พยายามตะเกียกตะกายตามปฏิปทา ของครูบาอาจารย์ ของพระพุทธเจ้า จะไม่ผิดหวัง ให้ทุกข์ตอนต้นแล้วสุขตอนปลาย ดีกว่าสุขตอนต้นแล้วทุกข์ตอนปลาย ถ้าสุขมาก่อน พอทุกข์ตามมา สุขก็หายไปหมด ถ้าทุกข์มาก่อนพอสุขตามมา ทุกข์ก็หายไปหมด เช่นทุกข์ตอนนี้ ลำบากลำบนตะเกียกตะกาย ต่อสู้กับกิเลส จะทำบุญดีหรือว่าไปเที่ยวดี ก็เป็นความทุกข์ พอตัดสินใจว่าจะทำบุญ ก็จะสบายใจ ถ้าชำระกิเลสได้หมด ใจจะสบายไปตลอด สงบไปตลอด เย็นไปตลอด ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องเจริญวิปัสสนา เมื่อใจถึงจุดอิ่มพอ ได้ทำงานเสร็จแล้ว งานทางศาสนามีที่สิ้นสุด งานทางโลกไม่มีที่สิ้นสุด เพราะกิเลสตัณหาจะหางานใหม่มาให้ทำอยู่เรื่อย

 

ถาม  ถ้าร่างกายเรามีการเจ็บป่วย เราก็จะพิจารณาว่าจะรักษาดีหรือไม่รักษาดี ถ้าอยากจะรักษาก็มีความรู้สึกคาดหวังอยากให้มันหาย ไม่รักษาก็เกรงว่าจะไม่หาย เป็นสมุทัยทั้ง ๒ อันเลยใช่ไหม

 

ตอบ  ไม่ควรไปคาดหวัง รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ไม่ต้องรักษา รักษาแล้วไม่หายก็ต้องยอมรับความจริง แต่ก็ควรรักษา เพราะร่างกายเป็นพาหนะ เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการปลดเปลื้องความทุกข์ของจิตใจ ถ้ายังไม่ถึงที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์แล้ว เรายังต้องอาศัยร่างกายในการปฏิบัติธรรม ต้องมีร่างกายไว้เดินจงกรมนั่งสมาธิ ไว้ปฏิบัติ ถ้าไม่มีร่างกาย ก็จะปฏิบัติไม่ได้ จิตจะไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนา นอกจากอยู่ในขั้นที่ภาวนาได้โดยที่ไม่ต้องใช้ร่างกาย ก็อีกเรื่องหนึ่ง เช่นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงประชวร แล้วพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนจะทรงสวรรคต แสดงว่าตอนนั้นไม่ต้องใช้ร่างกายในการบำเพ็ญ บำเพ็ญทางจิตใจล้วนๆ พิจารณาด้วยปัญญา เพื่อปล่อยวางทุกขเวทนาที่กำลังโหมใส่ร่างกาย แยกใจให้ออกจากเวทนา ให้ออกจากกาย ปล่อยให้กายเป็นไปตามเรื่องของเขา ปล่อยให้เวทนาเป็นไปตามเรื่องของเขา ใจก็สงบนิ่งเย็นสบาย ถ้าอย่างนั้นจะรักษาก็ได้ ไม่รักษาก็ได้ ถ้ายังมีอายุน้อย รักษาได้ ก็จะได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ถ้างานของตนได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ก็ช่วยเหลือผู้อื่นต่อ ด้วยการอบรมสั่งสอนธรรมะ เช่นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านไม่ต้องอาศัยร่างกายของท่านแล้ว แต่ท่านก็ไม่ได้โยนทิ้งไป ท่านยังฉันอาหารยังรับประทานยา เพียงแต่ว่าท่านมีขอบเขตของการรักษา ท่านจะรักษาตามธรรมชาติ ไม่เหมือนพวกเราที่รักษาแบบผิดธรรมชาติ ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ท่านจะไม่นิยมทำ ท่านรักษาแบบฉันยาไป ถ้าหายก็หาย ถ้าไม่หายก็จบ

 

ถาม  วิธีคิดของคนที่บรรลุธรรมแล้วจะต่างกับคนธรรมดา

 

ตอบ  แน่นอน เพราะกิเลสกับธรรมเป็นคนละเรื่องอยู่แล้ว คนที่บรรลุธรรมไม่มีความยึดติด อยู่ที่เหตุผลว่าอยู่แล้วทำประโยชน์ได้หรือไม่ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้าจะอยู่ต่อไปอีกก็อยู่ได้ แต่อยู่แบบไหน อยู่แบบไม่ได้ทำประโยชน์ ก็ไม่อยู่

 

ถาม  ถ้าบรรลุธรรมแล้ว เรื่องผ่าท่านคงไม่เอาแล้ว มันเกินเลย แต่ปุถุชนคนธรรมดา ถ้าทำได้ก็คงต้องทำ

 

ตอบ  ใช่ มันเกินเลย ผ่าเปลี่ยนไตเปลี่ยนหัวใจ เป็นภวตัณหา ความอยากจะอยู่ต่อ เป็นวิภวตัณหา ความไม่อยากตาย สำหรับคนที่ไม่มีกิเลสแล้ว ทุกอย่างจะเป็นเหตุเป็นผลหมดเลย แต่คนที่มีกิเลสความอยากจะมาก่อนเหตุผล

 

ถาม  คือพยายามจะใช้เหตุผลเช่นเดียวกับท่าน แต่เนื่องจากเราไปไม่ถึงการใช้ก็คงไม่ได้ผล

 

ตอบ  แก้กิเลสตรงนั้นไม่ได้หรอก ถึงตรงนั้นแล้วกิเลสมันจะออกฤทธิ์ออกแรงเต็มที่ จะรักษาสิ่งที่มันรักมันหวงแหน ให้อยู่ไปนานๆ

 

ถาม  เรารู้ว่าเป็นอวิชชานะครับ แต่ฝืนมันไม่ได้

 

ตอบ  เราต้องทำในขณะที่ยังมีสุขภาพดี ยังสมบรูณ์แข็งแรง มาฝึกปล่อยมัน เช่นเอามันไปอยู่ในที่เปลี่ยวๆกลัวๆ ที่เสี่ยงภัย มีโอกาสที่จะตายได้ ดูว่าจะปล่อยได้หรือเปล่า ถ้าปล่อยได้แล้ว ต่อไปเจ็บไข้ได้ป่วยก็ปล่อยได้ จะตายก็ปล่อยได้ แต่ถ้ายังปล่อยไม่ได้ก็ยังปล่อยไม่ได้ ยิ่งเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเวลาใกล้จะตาย มันยิ่งกอดรัดใหญ่เลย เราจะไม่รู้ว่าเรารักตัวกลัวตายขนาดไหน ถ้าไม่ได้อยู่ใกล้ตาย ตอนนี้เราอาจจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ยึดติดกับร่างกาย เพราะยังไม่มีเหตุที่จะให้ยึดติด พอมีใครมาเอาปืนมาจ่อที่หัวเท่านั้นแหละ อาการจะเปลี่ยนไปทันที ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็ต้องเฉยๆเหมือนตอนนี้ ถ้าสั่นจนพูดอะไรไม่ได้นี่ แสดงว่ายังยึดติดอยู่ เราต้องซ้อมไว้ก่อนที่จะถึงขั้นนั้น ไม่เช่นนั้นแล้วพอถึงขั้นนั้นจะไม่มีกำลังต่อสู้ ต้องฝึกซ้อมไว้ก่อนให้มีกำลัง แล้วค่อยไปเจอกันในที่ๆมันจะออกมาเต็มที่ ตอนนั้นเราจะมีเครื่องมือรับกับมันได้

 

ถาม  เหมือนที่ท่านอาจารย์พูดว่าให้ฝึกซ้อมไว้ยามสงครามจะได้ใช้

 

ตอบ  ใช่ สอนให้พิจารณาความตายอยู่เสมอ เตือนตนอยู่เสมอว่าต้องตาย เพียงแต่จะเตือนแบบไหน ถ้าเตือนแบบทฤษฎี มันยังรู้สึกไกลตัว ถ้าให้เป็นจริงขึ้นมาก็ต้องนึกอยู่เรื่อยๆว่า เราต้องตายแน่ๆ ไปงานศพของเพื่อนเรา ก็ต้องคิดว่าเดี๋ยวเราก็ต้องไปเหมือนกัน คิดไปจนกว่าจะเห็นว่าการปล่อยดีกว่าการยึดติด เพราะเวลายึดติดจะทุกข์ทรมานใจมาก ถ้าปล่อยแล้วกลับเย็นสบาย ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็อยากจะไปทดสอบดู เพราะเวลาไปเจออะไรกลัวๆมากๆนี่ ใจจะสั่นวุ่นวายไปหมด พอปลงได้ว่าตายเป็นตาย ใจจะเย็นลงทันทีเลย แต่ร่างกายไม่ได้เปลี่ยน เปลี่ยนที่ใจ เปลี่ยนจากใจที่ว้าวุ่นขุ่นมัวหวาดกลัว มาเป็นใจที่วางเฉยเย็นสบาย

 

ถาม  ถ้าคนป่วยไม่อยากจะรักษาต่อ เพราะจะสิ้นเปลืองเงินทอง ทำให้ลูกหลานลำบาก อย่างนี้เป็นการทำลายตัวเองไหมคะ

 

ตอบ  เป็นกิเลสถ้าเสียดายเงินทอง

 

ถาม  แล้วลูกหลานที่เห็นว่าสมควร

 

ตอบ  กิเลสเหมือนกัน เพราะเสียดายเงินเหมือนกัน

 

ถาม  ก็ต้องปล่อยให้รักษาต่อ

 

ตอบ  ควรพูดกันก่อนจะดีกว่า จะเอาอย่างไรเวลาไม่สบาย จะให้รักษาถึงขั้นไหน จะให้จ่ายเท่าไหร่ พูดกันให้รู้เรื่องไปเลย แต่ก็ไม่กล้าพูดกัน พอพูดก็หาว่าสาปแช่งกัน พอถึงเวลาก็มีปัญหา อย่างครูบาอาจารย์ ท่านบอกไว้เลยว่า เป็นอะไรไม่ต้องเอาเข้าโรงพยาบาล ท่านสั่งไว้ล่วงหน้าก่อน อยู่ที่คนเจ็บคนที่จะตายว่าต้องการอย่างไร ถ้าต้องการรักษามีปัญญารักษาก็รักษาไป ถ้าไม่ต้องการรักษาก็ไม่ต้องรักษา ควรจะคุยกันก่อน จะให้ส่งโรงพยาบาลไหม จะให้ผ่าไหม จะรักษาถึงขั้นไหน พูดกันเลย อย่าไปคิดเรื่องเงินเรื่องทอง ส่วนใหญ่พอพูดถึงเรื่องเงินเรื่องทอง ก็เป็นกิเลสไป ถึงเวลาจริงๆเงินทองไม่น่าจะเป็นเหตุ ท่านสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ครูบาอาจารย์ท่านสละชีวิตเพื่อรักษาความสงบของจิตใจ ไม่ต้องวุ่นวาย เข้าโรงพยาบาลเหมือนเข้าโรงฆ่าสัตว์ ทั้งผ่าทั้งตัด ทั้งทิ่มทั้งแทง วุ่นไปหมด สู้นอนสงบอยู่ในกุฏิดีกว่า ให้หมดลมหายใจไป กินไม่ได้ก็ไม่ต้องกิน

 

ถาม  พูดถึงเรื่องนี้ทีไร สุดท้ายเราจะเอาตัวรอดได้หรือเปล่า

 

ตอบ  ถ้าปฏิบัติจะรู้ ถ้ายังไม่รอดก็รู้ ถ้ารอดก็รู้ พูดอย่างนี้แสดงว่าไม่รอด มีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนจะรู้เอง สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง จึงต้องปฏิบัติ ศึกษาแล้วก็เอาไปปฏิบัติ ศึกษาแล้วไม่ไปปฏิบัติก็เหมือนกับดูแผนที่แล้วไม่ได้ออกเดินทาง ดูอาหารแล้วไม่ได้ตักเข้าปาก อาหารจะวิเศษขนาดไหนก็ยังเป็นอาหารนอกท้องอยู่ ไม่เหมือนอาหารในท้อง ธรรมก็เหมือนกัน ธรรมอยู่นอกใจกับธรรมอยู่ในใจไม่เหมือนกัน ธรรมอยู่ในใจแล้วมีแต่ความอิ่มเอิบ มีแต่ความสุข มีแต่ความสบาย ธรรมอยู่นอกใจ ใจก็ยังวุ่นวาย ยังหิว ยังอยากอยู่ ฟังเทศน์ฟังธรรมกันมาไม่รู้กี่กัณฑ์แล้ว ถ้ากินอาหารก็น่าจะอิ่มไปนานแล้ว ต้องปฏิบัติให้มาก ตั้งแต่ตื่นถึงหลับเลย ก็ลองวัดดูก็แล้วกันว่า วันหนึ่งตั้งแต่ตื่นมาจนหลับไปได้ปฏิบัติกันสักเท่าไหร่ ผลก็จะบอกในตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติมากแล้วจะได้ผลมาก ถ้าปฏิบัติมากแต่ปฏิบัติไม่ถูก ก็จะไม่ได้ผลเหมือนกัน

 

หลักใหญ่อยู่ที่สติ นี่สำคัญที่สุด การปฏิบัติจิตต้องอยู่ในปัจจุบันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา ไม่อยู่ในอดีต ไม่อยู่ในอนาคต ถ้าพิจารณาทางวิปัสสนา ก็จะต้องคิดถึงอดีต คิดถึงปัจจุบัน คิดถึงอนาคต แต่ก็คิดอยู่ในปัจจุบัน มีสติรู้อยู่ว่ากำลังพิจารณาเรื่องอดีตเรื่องอนาคตเรื่องปัจจุบัน เพื่อให้เห็นชัด เช่นร่างกายนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ในอดีตเป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ ๒ หยด ที่มารวมกัน อนาคตก็จะกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟไป ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นเวลาเกิดขึ้นแล้วจะรับไม่ได้ นี่หมายถึงการพิจารณา จะต้องพิจารณาหมดเลย ทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบัน แต่การทำสมถะ ทำจิตให้สงบ ต้องอยู่ในปัจจุบันอย่างเดียว ไปอดีตไปอนาคตไม่ได้ ถ้าให้อยู่กับพุทโธก็ต้องอยู่กับพุทโธอย่างเดียว ให้อยู่กับลมก็ต้องอยู่กับลมอย่างเดียว ถ้าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงเมื่อวานนี้คิดถึงพรุ่งนี้ แสดงว่าไม่ได้ภาวนา ไม่ได้ทำจิตให้สงบแล้ว เวลาพิจารณาไม่ต้องการความสงบ ต้องการความเข้าใจ รู้แจ้งเห็นจริง ขณะนี้เราไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตา ต้องพิจารณาให้เห็นอนัตตาให้ได้ เช่นร่างกายนี้ต้องพิจารณาให้เห็นว่า เป็นแค่ดินน้ำลมไฟ มันเล่นกลหลอกเรา มาผสมกันแล้วก็กลายเป็นรูปเป็นร่าง แต่ในที่สุดเมื่อไม่หายใจแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ก็จะแยกกันไป ลมไปสู่ลม น้ำไปสู่น้ำ ดินไปสู่ดิน ไฟไปสู่ไฟ ไม่ต้องกังวลถึงความสงบ เหตุผลพาไปทางไหนก็พิจารณาไป จะพาไปสู่อนาคตก็ไปได้ อย่างนี้ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้คิดแบบเพ้อเจ้อ คิดแบบจินตนาการ ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทำไมจะไม่รู้ ก็มีแต่แก่เจ็บตายรอเราอยู่ ไม่ยอมคิดความจริง กลับไปคิดว่าลูกจะเลี้ยงเราหรือเปล่า จะรักษาเราหรือเปล่า คิดแบบนี้คิดเพ้อเจ้อ ไม่ใช่วิปัสสนา

 

ถาม  ถ้าจิตมีอะไรออกมา ก็พิจารณาตามไป

 

ตอบ  ถ้าเป็นปัญหาในขณะนั้น ก็ต้องพิจารณาแก้ไป เช่นเกิดความโกรธแล้วยังติดอยู่ในใจ เพราะคำพูดคำเดียวตั้งแต่เช้านี้ แต่ตอนนี้ก็ยังโกรธอยู่ ก็ต้องพิจารณาหาวิธีดับให้ได้ เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าไม่มีปัญหาเฉพาะหน้า ก็ต้องพิจารณาถึงปัญหาที่จะตามมาต่อไปในอนาคต เช่นเวลาแก่เวลาเจ็บเวลาตาย จะปฏิบัติอย่างไร

 

ถาม  บางครั้งรู้สึกไม่พอใจ ก็พยายามรู้ว่าไม่พอใจ ความไม่พอใจก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่

 

ตอบ  ถ้าไม่ได้ดับด้วยเหตุผล เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาใหม่ ถ้าดับด้วยเหตุผลด้วยปัญญา ก็จะไม่เกิดขึ้นมาอีก

 

ถาม  เราควรพิจารณาจนกว่าจะสุดทางของมัน

 

ตอบ  ใช่ ถ้าพิจารณาถึงที่ยุติแล้ว ก็จะไม่กลับคืนมาอีก ถ้าดับไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็เป็นการเบี่ยงเบน ไปคิดเรื่องอื่นแทน

 

ถาม  อย่างมีเรื่องอื่นซ้อนขึ้นมาใช่ไหมคะ

 

ตอบ  พอเรื่องอื่นหายไป เรื่องเก่าก็จะกลับมาแทนที่

 

ถาม  ใช่ บางครั้งมันกลับมา

 

ตอบ  เหมือนเวลาไม่สบายใจ ก็ไปชอปปิ้ง ก็ลืมเรื่องนั้นไป พอกลับมาบ้าน เรื่องนั้นก็โผล่ขึ้นมาอีก ต้องหาเหตุว่ามีปัญหาอย่างไร ก็ลงไปที่ไตรลักษณ์ ไม่ว่าเขาไม่ว่าเรา สักวันหนึ่งก็ต้องจบ เขาไม่ตายก่อนเรา เราก็ตายก่อนเขา

 

ถาม  อย่างบางเหตุการณ์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องยอมรับสภาพ

 

ตอบ  ใช่ ถ้ารับได้ใจก็จะสงบ ถ้ารับไม่ได้ก็จะแก้ให้ได้ ให้เป็นไปตามความอยากของเรา เหมือนกับรถติด พยายามแทรกไปทางซ้ายแทรกไปทางขวา เมื่อไปไม่ได้ก็ต้องจอด จนกว่าจะขยับไปได้ ก็แบบเดียวกัน คนที่แทรกไปแทรกมา เพราะไม่ยอมรับความจริง คนที่ยอมรับความจริงก็นั่งเฉยๆ นั่งฟังเพลงฟังธรรมะไป พอถึงเวลาก็ขยับไป

 

ถาม  ถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้วเรารู้สึกว่ายังค้างอยู่ เราควรจะพิจารณาจนกว่าจะแก้ได้ก่อนหรือเปล่าคะ หรือว่าจะปล่อยมันไว้ก่อน

 

ตอบ  ปัญหามีอยู่ ๒ ส่วน ภายนอกกับภายใน ภายนอกเราอาจจะแก้ไม่ได้ แต่ภายในเราแก้ได้ คือปล่อยวางปัญหาภายนอกเสีย จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ปัญหาภายในก็จบ ถ้าไปแก้ปัญหาภายนอก แล้วแก้ไม่ได้ ปัญหาภายในก็ไม่จบ ต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาภายในก่อน ปัญหาภายนอกแก้ได้ก็แก้ไป แก้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างนี้ปัญหาภายในก็จบ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้แก้ แก้ได้ก็แก้ไป แก้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าจะให้เป็นไปตามความต้องการของใจ ถ้ายังไม่ได้ดังใจปัญหาใจก็ยังไม่จบ 

 

ถาม  หมายความว่า ถ้าแก้ปัญหาภายนอกไม่ได้ ให้วางอุเบกขาภายในใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ต้องปล่อยวาง

 

ถาม  ส่วนกิจกรรมที่ทำอยู่นั้น ทำได้ก็ทำไปตามหน้าที่

 

ตอบ  ทำตามความสามารถ ตามเหตุตามปัจจัย ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น

 

ถาม  แต่สิ่งที่สำคัญคือภายใน

 

ตอบ  ใช่ ถ้าใจเป็นอุเบกขา แสดงว่าปัญหาภายในหมดแล้ว ถ้ายังหงุดหงิด ยังกินไม่ได้นอนไม่หลับ ปัญหาอยู่ที่ทำงาน ยังกลับมาทะเลาะกับแฟนที่บ้านอีก ปัญหาภายในทำให้เป็นปัญหากับผู้อื่นด้วย เป็นปัญหาซ้อนขึ้นมา เพราะใจหงุดหงิด พอเห็นอะไรก็ยิ่งหงุดหงิดเพิ่มขึ้นไปอีก ท่านถึงสอนให้ดูใจเป็นหลัก แก้ปัญหาใจเป็นหลัก ปัญหาภายนอกแก้ได้ก็แก้ไป ปัญหาทางโลกแก้ไม่หมด แก้เรื่องนี้แล้วก็มีเรื่องอื่นมาให้แก้อีก เพราะไปแก้ภายนอกกัน ถ้าทุกคนแก้ภายใน ก็จะอยู่กันอย่างสงบ พอใจสงบ ใจก็สบาย ไม่ต้องการอะไร ไม่มีปัญหากับใคร ถ้าไม่แก้ปัญหาภายในคือความอยากแล้ว ได้มาเท่าไหร่ก็ไม่พอ จึงต้องไปสร้างความเดือดร้อน ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้จักจบจักสิ้น ผู้ที่เดือดร้อนก็ต้องมาแก้แค้น ต้องต่อสู้กัน เกิดปัญหาต่างๆตามมา ถ้าทุกคนแก้ปัญหาภายในใจแล้ว จะไม่มีปัญหาในโลกนี้ จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ยินดีตามมีตามเกิด ปัญหาต่างๆก็จบหมด แต่โลกไม่เป็นอย่างนี้ ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ ปัญหาอยู่ตรงนี้ ในพระอริยสัจ ๔ ท่านก็บอกว่าสมุทัยคือตัณหานี่เอง ต้นเหตุของปัญหาของโลก ปัญหาโลกแตกก็ตัวนี้เอง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้าระงับดับตัณหาทั้ง ๓ นี้ได้ ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป ทุกข์ก็ดับ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นมาได้ก็คือมรรค พวกเรากำลังเจริญกันอยู่นี้ คือทานศีลภาวนา แต่ยังเจริญไม่เต็มที่ ถ้ากินข้าวก็ยังกินไม่อิ่ม ยังกินน้อยไป ทำไมไม่กินมากๆ เพราะมีแต่ของขมทั้งนั้น ถึงบอกให้หัดชอบของขมไว้ ถ้าชอบปฏิบัติธรรมก็จะไม่นาน พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า อย่างเร็ว ๗ วันอย่างช้า ๗ ปี ถ้ามีอิทธิบาท ๔ มีฉันทะความยินดีปฏิบัติ มีวิริยะพากเพียรปฏิบัติ มีจิตตะจดจ่อต่อการปฏิบัติ มีวิมังสาใคร่ครวญกับการปฏิบัติ ถ้ามีอิทธิบาท ๔ แล้ว ไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดเพ้อเจ้อเลย เพียงแต่พวกเรายังไม่มีอิทธิบาท ๔  ไม่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสามากพอ อาจจะมีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์

 

ถาม  ทุกวันนี้ลูกใช้วิธีการปฏิบัติอยู่ที่ทำงาน ให้มีสติตัวรู้นะคะ เวลาทำงานจะหยิบปากกาจะเก็บหนังสือทีไรให้รู้ตัว แต่แวบเดียวก็หายคะ สักพักก็ดึงกลับมาอีก ก็คือดึงทั้งวัน บางวันก็ดึงได้น้อย บางวันก็ดึงได้เยอะค่ะ

 

ตอบ  ก็ดี ได้เริ่มต้นปฏิบัติอย่างจริงจัง รู้แล้วว่าการปฏิบัติไม่ได้อยู่ตอนที่นั่งสมาธิ ตอนไปอยู่วัดเท่านั้น ความจริงเราปฏิบัติได้ตั้งแต่ตื่นจนถึงเวลาหลับเลย ต้องเริ่มต้นที่ ก.ไก่ ข.ไข่ก่อน ก็คือการฝึกสตินี่เอง เราสามารถฝึกได้ตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันยากเท่านั้นเอง เพราะมีเรื่องอื่นคอยดึงเราไปเรื่อย มีสิ่งที่อยู่ภายในใจคอยผลักไปอยู่เรื่อย นิสัยเดิมของเราชอบไหลไปกับเรื่องต่างๆ มาถูกทางแล้วพยายามทำไป แล้วจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ พยายามดูกายวาจาใจ ดูที่กายเป็นหลักก่อน ทำอะไรก็ให้อยู่กับการกระทำนั้นๆ กำลังเคลื่อนไหวก็รู้ว่ากำลังเคลื่อนไหว กำลังเดินจากที่นี่ไปที่นั่นก็ให้คิดว่ากำลังเดินจงกรมไป ให้มีสติอยู่กับการเดิน อดีตผ่านไปแล้ว เรื่องที่ผ่านไปแล้วอย่าเอามาคิด นอกจากจำเป็นจริงๆก็ต้องคิด ถ้าเกี่ยวข้องกับการงาน หยุดเดิน ยืนเฉยๆ คิดให้พอ จะได้ไม่เสียนิสัย ถ้าเดินไปคิดไปด้วยจะเสียนิสัย จะไม่อยู่กับการเดิน ถ้าจะคิดก็ให้อยู่กับการคิด อย่าไปเดิน อย่าไปทำอะไร ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดแล้ว ก็อยู่กับการกระทำต่อไป

 

ให้มีสติอยู่กับอิริยาบถทั้ง ๔ นี้ พอถึงเวลานั่งสมาธิจะสงบง่าย เพราะจิตไม่ได้ไปไหน อยู่ในปัจจุบันแล้ว ให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ จะสงบตัวได้อย่างรวดเร็ว สำคัญที่สุดก็คือสติ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบสติเหมือนรอยเท้าช้าง ใหญ่ที่สุด ครอบรอยเท้าสัตว์ทุกชนิด สติเป็นธรรมที่ครอบธรรมอย่างอื่นได้หมดในความสำคัญ ถ้าไม่มีสติ สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด วิมุตติก็ไม่เกิด คนที่ไม่มีสติก็คือคนบ้านั่นเอง ทำอะไรไม่ได้เลย ทำบุญทำทานไม่ได้ รักษาศีลไม่ได้ ภาวนาไม่ได้ พวกเรายังพอมีสติอยู่บ้าง แต่ไม่เต็ม ๑๐๐ มีแบบ ๕๐ ๕๐ หรืออาจจะไม่ถึงด้วยซ้ำไป อาจจะเผลอสติมากกว่ามีสติ ถ้าฝึกไปเรื่อยๆแล้ว จะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ในตอนต้นจะรู้สึกยาก เป็นเหมือนเปลี่ยนใช้มือ เคยใช้มือขวาแล้วมาใช้มือซ้ายจะรู้สึกว่ายาก ถ้าไม่บังคับพอเผลอก็จะกลับไปใช้มือขวาทันที ถ้าไม่ควบคุมบังคับใจด้วยสติ พอเผลอก็จะไปคิดเรื่องอื่นทันที ถ้าคอยเตือนอยู่เรื่อยๆว่า หน้าที่หลักของเราก็คือ การมีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย ไม่ใช่การงานที่ทำอยู่ นั้นเป็นงานรอง  งานหลักคือการมีสติควบคุมใจ งานนี้สำคัญกว่า

 

ต่อไปพอมีสติอยู่กับตัวแล้ว เวลานั่งจิตก็จะสงบ พอได้พบกับความสงบจริงๆเพียงหนเดียวเท่านั้น จะปล่อยงานภายนอกหมดเลย ทำมาตั้งแต่เกิดไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่เหมือนกับงานนี้ ต่างกันอย่างฟ้ากับดิน นรกกับสวรรค์เลย พอสงบแล้วก็จะอยากให้สงบไปตลอดเลย ครั้งแรกสงบได้เพียงขณะเดียวเท่านั้นเอง แล้วก็หายไป แต่อานุภาพของความสงบนี้แรงมาก ทำให้อยากได้มาเป็นสมบัติตลอดเวลา ที่นี้ก็รู้แล้วว่างานที่แท้จริงอยู่ตรงไหน งานอย่างอื่นถ้ายังมีความจำเป็นต้องทำก็ทำไป แต่จะไม่หลงเหมือนเมื่อก่อนนี้ จะทำเท่าที่จำเป็น จะพยายามตัดให้น้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่ต้องทำอีกต่อไป จะได้บำเพ็ญปฏิบัติตลอดเวลา จะบวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็ถือว่าได้บวชแล้ว บวชทางใจ ไม่ได้โกนหัวห่มผ้าเหลืองเท่านั้นเอง อาจจะปฏิบัติมากกว่าคนที่โกนหัวห่มผ้าเหลืองเสียอีก เพราะไม่รู้ว่าบวชเพื่ออะไร ถ้าบวชได้ก็ยิ่งดี

 

ต้องหาวัดที่มีการปฏิบัติเป็นหลัก วัดที่ส่งเสริมการปฏิบัติ วัดที่มีสถานที่สงบสงัดวิเวก ที่เรียกว่าสัปปายะ อาหารสัปปายะ อากาศสัปปายะ บุคคลสัปปายะ อยู่กับนักปฏิบัติด้วยกันนี่มันสัปปายะ ช่วยสนันสนุนกัน ถ้าไปอยู่กับพวกที่ไม่ปฏิบัติจะยากลำบาก เราจะนั่งสมาธิเขาจะเปิดวิทยุฟัง เราจะอดข้าวเขาจะกินข้าว อย่างนี้เรียกว่าบุคคลไม่สัปปายะ ถ้าปฏิบัติแล้วจะรู้ว่า อะไรเกื้อหนุน อะไรเหนี่ยวรั้ง จะต้องแก้ไข ถ้าอยู่ที่ไม่ดีก็ต้องหาที่ใหม่ ถ้าอาหารไม่ดียังพอถูไถไปได้ ถ้าอาหารดีแต่ที่ไม่ดีก็ควรหาที่ใหม่ บางทีต้องไปอยู่ที่ดีแต่อาหารไม่ค่อยดี เช่นที่ครูบาอาจารย์อยู่กัน อยู่ทางภาคกลางรับประทานอาหารแบบหนึ่ง ไปอยู่ทางนั้นรับประทานอีกแบบหนึ่ง จึงต้องฝึกไว้ก่อน ฝึกกินอาหารที่ไม่ชอบ กินข้าวเปล่าก็ได้ ไม่ต้องมีกับก็ได้ เวลาไปอยู่ทางนั้นถ้าไม่มีอะไรกินก็กินข้าวเปล่าไป พอหิวมากๆอะไรก็กินได้ ถ้าเลือกได้ก็จะจู้จี้จุกจิก ถ้าหิวมากๆกินข้าวคลุกน้ำปลาก็อร่อย

 

ฝึกให้มีสติอยู่กับกายตลอดเวลา ไม่คุยกัน ถ้าคุยแล้วจะถูกลากไปยาวเลย พอคุยเรื่องนั้นเสร็จ ก็มีเรื่องนี้ต่อ แสดงว่าไม่มีสติแล้ว ไม่มีสติในระดับปฏิบัติ ถ้าได้เจริญสติอย่างจริงจังแล้ว จะไม่อยากจะอยู่กับใคร ถ้าอยู่ก็ไม่อยากจะพูดคุยด้วย จะทำให้เผลอได้ ถ้าต้องพูดก็พูดให้น้อยที่สุด ถามคำตอบคำ พอตอบเสร็จก็กลับตั้งสติใหม่ อยู่ที่ตัวเราต่อ นี่เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการปฏิบัติ ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้ว นั่งสมาธิก็จะไม่สงบ เจริญวิปัสสนาไม่ได้ เพราะไม่ได้เจริญอย่างต่อเนื่อง เจริญได้แค่ครั้ง ๒ ครั้ง ๒ – ๓ วินาที ก็ไหลไปแล้ว มีอย่างอื่นมาฉุดลากไปแล้ว ควรไปอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรดู เป็นหัวใจของการปฏิบัติเลย สติปัฏฐานสูตรสอนให้เจริญสติ ให้อยู่ที่กายเวทนาจิตธรรม ขั้นเริ่มต้นให้อยู่ที่กายก่อน เพราะง่ายที่สุด เวทนาจะละเอียดเข้าไป จิตยิ่งละเอียดใหญ่ ธรรมก็ไม่ค่อยมีอยู่ในใจ จะเป็นเรื่องของโลกทั้งนั้น เบื้องต้นจึงให้อยู่ที่กายก่อน

 

ในมหาสติปัฏฐานสูตรสอนให้ไปหาที่สงบสงัด ไปนั่งตามโคนไม้ แล้วก็ตั้งสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ พอลุกขึ้นมาก็ให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย เวลายืนก็ให้มีสติอยู่กับการยืน เวลาเดินก็ให้มีสติอยู่กับการเดิน เวลาทำอะไรก็ให้มีสติอยู่กับการกระทำนั้นๆ นี่คือเบื้องต้น ถ้าไม่ได้ทำอะไร ก็ให้พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย ดูผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูก ฯลฯ ดูเข้าไปแล้วก็ดูออกมา ดูออกมาดูเข้าไป หรือจะดูซากศพชนิดต่างก็ได้ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ จนพองบวมขึ้นมา แยกเป็นส่วนๆ แขนขาไปทาง ศีรษะไปทาง มีนกมีกามาจิกมากัด พิจารณาเพื่อให้เกิดความเคยชิน สมัยนี้ไม่ได้ทิ้งศพไว้ในป่าช้าเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ก็ต้องเอาแบบปัจจุบัน พิจารณาดูพิธีรดน้ำศพเรา เสร็จแล้วเอาศพเราไปใส่โลง ๓ วัน ๗ วัน ต่อจากนั้นก็เอามาใส่ในเตาเผา แล้วก็เผาศพเรา จนกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป

 

พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จิตก็จะสงบ จะเกิดปัญญา ถ้าพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง เหมือนดูหนังชีวิตของเรา ฉายหนังในใจเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย พิจารณาอย่างนี้ เป็นทั้งวิปัสสนา เป็นทั้งการตั้งสติอยู่กับกาย แล้วก็แยกให้กลายเป็นดินน้ำลมไฟไป เพราะร่างกายเกิดจากการรวมตัวของดินน้ำลมไฟ ให้เป็นอาการ ๓๒  ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆจนติดตาติดใจ จนไม่ลืมแล้ว ก็จะไม่หวั่นไหวกับการเป็นไปของร่างกาย พอผ่านร่างกายไปแล้ว ก็จะเข้าไปสู่ธรรมขั้นละเอียดกว่า คือเวทนาจิตธรรม จะเห็นจิตสงบ จิตวุ่นวาย จิตมีความโลภ จิตมีความโกรธ จะเห็นชัด ในเบื้องต้นจะมองไม่เห็น เวลาโกรธจะไม่รู้ว่าโกรธ เวลาโลภจะไม่รู้ว่าโลภ กิเลสถึงหลอกเราได้ง่าย พอสติอยู่ในจิตแล้ว เวลาโกรธจะเห็นทันทีเลย ก็จะดับได้ทันที ถ้ายังดับไม่ได้ก็จะหาอุบายดับจนได้ เพราะเหตุที่ทำให้เกิดก็คือความหลง เหตุที่จะทำให้ดับก็คือปัญญา

 

ถ้ารู้ทันแล้วก็จะไม่หลง เช่นไปโกรธกระป๋องทำไม เคยโกรธกระป๋องกันบ้างไหม กระป๋องกับร่างกายนี้มันก็เป็นธาตุเหมือนกัน ทำไมไปโกรธร่างกายคนอื่น ทำไมไม่โกรธกระป๋อง เพราะรู้ว่าเป็นธาตุ แต่ร่างกายคนกลับไปเห็นว่าเป็นคน ไม่ได้เห็นว่าเป็นธาตุ เหมือนคนขับรถมาชนรถเรา กับรถไหลมาชนเอง จะมีความรู้สึกต่างกัน ถ้ารถไหลมาชนเองจะไม่โกรธ ถ้าคนขับมาชนจะโกรธมาก เพราะมีคนขับ เพราะคิดว่าเป็นคน ไม่ได้เป็นธาตุเหมือนกับรถ แต่ความจริงร่างกายคนก็เป็นธาตุเหมือนกับรถ ต้องพิจารณาว่าเป็นธาตุทั้งนั้น ไปโกรธดินน้ำลมไฟทำไม พิจารณาดู จะเห็นผล แต่จะเห็นเมื่อไหร่ไม่รู้นะ เพราะกว่าจะเข้าไปถึงใจได้ อาจจะใช้เวลานานกว่าการเดินทางไปเมืองนอกเสียอีก ไปเมืองนอกไปเดี๋ยวเดียว แต่ธรรมกว่าจะเข้าสู่ใจได้อาจจะเป็นเวลาหลายปี ทั้งๆที่ฟังอยู่อย่างนี้ กว่าจะร้องอ๋อได้ก็ผ่านไปหลายปี บางคนอาจจะเร็ว ๗ วันก็อ๋อได้ บางคนก็ ๗ ปี

 

ถาม  คนบางคนบอกไม่ต้องสงสัย ปฏิบัติอย่างเดียวแล้วจะหายสงสัย

 

ตอบ  ห้ามไม่ให้สงสัยไม่ได้ ถ้าสงสัยก็อย่าไปให้ความสำคัญ เพราะจะมีเรื่องให้สงสัยอยู่เรื่อย ความสงสัยเกิดจากความหลง ถ้าแก้ที่ต้นเหตุคือความหลงได้ ก็จะหายสงสัยหมด ให้สงสัยเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ แต่อย่าไปสงสัยเกี่ยวกับผล ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติ เจริญสติอย่างไร อย่างนี้ก็ควรถาม นั่งสมาธิอย่างไร รักษาศีลอย่างไร ถามได้ อย่าไปถามเรื่องผลว่าเป็นอย่างไร ไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับกินข้าว กินแล้วอิ่มอย่างไร ก็กินเข้าไปสิ กินอิ่มแล้วก็รู้เอง ให้สงสัยในมรรค แต่อย่าสงสัยในผลในนิพพาน ว่าเป็นอย่างไร

 

ถาม  ถ้าอยากจะสวดมนต์หรือนั่งสมาธิทุกวันพระ ถือว่าตั้งเงื่อนไขมากเกินไปหรือเปล่าคะ ถ้าตั้งใจแล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ ถือว่าไม่มีบุญพอหรือเปล่าคะ

 

ตอบ  ความตั้งใจภาษาพระเรียกว่าอธิษฐาน จะทำอะไรต้องอธิษฐานก่อน ต้องตั้งใจก่อน ต้องกำหนดเงื่อนไขไว้ก่อน ว่าจะทำมากน้อยเพียงไร จะทำได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับสัจจะ คือความจริงใจ เวลาตั้งใจทำอะไร ต้องมีความจริงใจด้วย ที่จะปฏิบัติตามที่ได้ตั้งใจไว้ ถ้าตั้งใจทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ ตั้งไปก็ไร้ประโยชน์ ควรตั้งใจทำในสิ่งที่สามารถทำได้ เมื่อได้ตั้งใจแล้วก็ต้องทำให้ได้ ควรทำจากน้อยไปหามาก เช่นตอนนี้ยกน้ำหนักได้ ๒๐ กิโลกรัม จะยก ๕๐ กิโลกรัมเลย ก็ยังยกไม่ได้ ลองยก ๒๒ กิโลกรัมก่อน พอยก ๒๒ ได้แล้ว ก็เพิ่มขึ้นไปเป็น ๒๔ การสร้างเงื่อนไขแบบนี้ไม่ใช่กิเลส เป็นมรรคเป็นเหตุเป็นผล ต้องสร้างเงื่อนไขกันทั้งนั้น เช่นต้องมาที่นี่ทุกเดือน ก็เป็นเงื่อนไขเหมือนกัน จะมาได้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง บางคนก็มีข้อยกเว้น ถ้ามีธุระจำเป็นก็ขอเว้น บางคนไม่มีข้อยกเว้น นอกจากเจ็บไข้ได้ป่วย นอนอยู่บนเตียง ลุกขึ้นมาไม่ได้ ก็เป็นเงื่อนไขของแต่ละคนที่จะกำหนดกัน ถ้าไม่มีเงื่อนไขเลยก็อาจจะไม่ได้ทำ

 

พระพุทธเจ้าก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐาน ตอนที่นั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ก่อนจะตรัสรู้ นั่นก็คือความตั้งใจและมีเงื่อนไขด้วย จะนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์จนกว่าจะตรัสรู้ ถ้าเลือดในร่างกายเหือดแห้งไป ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด ทรงตั้งเงื่อนไขไว้อย่างนั้น ถ้าไม่ทรงตรัสรู้ก็ตายเท่านั้น ถ้าไม่ตายก็ต้องตรัสรู้ ทรงมีความมั่นใจในเงื่อนไขที่ได้ตั้งเอาไว้ ถ้ายังไม่มั่นใจก็อย่าไปตั้ง เช่นหลวงตาท่านเล่าว่าท่านนั่งทั้งคืน ก็ต้องตั้งสัจจะไว้ก่อน ว่าคืนนี้จะนั่งทั้งคืน ยกเว้นอย่างเดียว ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นกับครูบาอาจารย์กับหมู่คณะ ท่านจึงจะลุกขึ้นมา ถ้าไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้นท่านจะไม่ลุก ถ้าไม่ถึงเวลาออกบิณฑบาตท่านจะไม่ลุกจากที่นั่ง ต้องกำหนดเงื่อนไขไว้ แต่ควรกำหนดในสิ่งที่ทำได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะสักแต่ว่าตั้ง ตั้งแล้วก็ทำไม่ได้ อย่าไปตั้งดีกว่า อย่าหลอกตัวเอง อย่างในพรรษาก็มีบางคนตั้งใจว่าจะเลิกสูบบุหรี่ทั้งพรรษา จะเลิกเหล้าทั้งพรรษา จะทำได้ทั้งพรรษาหรือไม่ ก็อยู่ที่สัจจะและความสามารถ

 

ฉะนั้นจะทำอะไรก็ต้องอธิษฐานก่อน แต่อธิษฐานไม่ใช่การขอ อธิษฐานบารมีแปลว่าความตั้งใจ แต่คนไทยเราเข้าใจผิด คิดว่าอธิษฐานคือการขอ เวลาถวายทานก็ขอให้ไปถึงนิพพานเลย ถ้าทำทานอย่างเดียวอธิษฐานจนวันตายก็ไปไม่ถึง เพราะไม่ได้เป็นเหตุที่จะให้ไปถึงนิพพาน เหมือนกับตีตั๋วไปแค่พัทยา แต่จะไปให้ถึงกรุงเทพฯได้อย่างไร ถ้าอยากจะไปนิพพาน ก็ต้องทำบุญให้ทานรักษาศีลและภาวนาด้วย ถึงจะไปถึงนิพพานได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ คิดว่าทำบุญแล้วขอให้ไปถึงนิพพานได้ ถ้าเป็นการเตือนใจว่า จุดหมายปลายทางคือนิพพาน ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร อยากจะให้หายปวดท้องแต่กินยาแก้หวัด จะหายได้อย่างไร ถ้าอยากจะหายปวดท้องก็ต้องกินยาแก้ปวดท้อง ไม่ต้องอธิษฐานก็ได้ ถ้าได้กินยาที่ถูกกับโรค ก็ต้องหายอย่างแน่นอน การจะทำอะไรต้องมีความตั้งใจก่อน อย่างมาที่นี่ก็ต้องตั้งใจไว้ก่อน เพื่อจะได้เคลียร์เรื่องต่างๆ ให้มีเวลามาที่นี่ได้ ถ้าไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน หากมีใครชวนให้ไปทำอย่างอื่น ก็จะไม่ได้มา ถ้ากำหนดไว้แล้ว ว่าเวลานี้จะต้องมาที่นี่ ก็จะไม่ไปที่อื่น

 

การตั้งใจคืออธิษฐานเป็น ๑ ในบารมี ๑๐ มีอธิษฐานบารมีแล้วก็ต้องมีสัจจะบารมี เมื่อมีทั้ง ๒ บารมีแล้ว ก็ต้องตามด้วยวิริยะบารมี เมื่อได้ตั้งใจแล้วก็ต้องมีความพากเพียร ทำแล้วเจอความทุกข์ยากลำบาก ก็ต้องมีขันติบารมีช่วยสนับสนุน ถึงจะทำได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ก็ต้องอาศัยอธิษฐานบารมี สัจจะบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมีคอยผลักดัน มันต้องมีบารมีทั้ง ๔ นี้ก่อน ต้องมีอธิษฐานมีสัจจะมีวิริยะมีขันติ ถึงจะมาทำบุญทำทานได้ ถึงจะรักษาศีลได้ ถึงจะปฏิบัติเนกขัมมะได้ เนกขัมมะก็คือการออกบวช ออกภาวนา ทำจิตใจให้สงบ เจริญปัญญา เจริญอุเบกขา เจริญเมตตา เป็นบารมีที่เกิดจากอธิษฐานบารมี สัจจะบารมี พระพุทธเจ้าก็ทรงเริ่มที่สัจจะอธิษฐาน แล้วจึงเจริญสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา จนได้ปัญญาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่บารมีเหล่านี้ไม่ได้ทรงบำเพ็ญเฉพาะในวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงบำเพ็ญมานานแล้ว เหมือนกับส่วนประกอบของอาหารที่เราไปซื้อเตรียมไว้หมดแล้ว หั่นไว้หมดแล้ว รอเวลาใส่ไปในกระทะใส่ไปในหม้อเท่านั้นเอง ถ้ายังไม่ได้พวกผักพวกเนื้อมาหั่นมาเตรียมไว้ ถึงเวลาทำกับข้าวก็มีแต่หม้อเปล่าๆ  ต้องสะสมบุญบารมีกันก่อน ถึงจะไปถึงจุดนั้นได้ จะภาวนาได้ต้องสะสมบุญบารมีมาก่อน จู่ๆจะมาภาวนาเลยไม่ได้ ต้องไล่ขึ้นมาจากทานจากศีลขึ้นมา ทานศีลแล้วก็ภาวนา อยู่ขั้นไหน ก็พยายามทำขั้นนั้นให้เต็มที่ แล้วก็ขยับขึ้นสู่ขั้นต่อไป ถ้าชอบทำบุญให้ทาน แต่ยังไม่รักษาศีลเท่าที่ควร ก็ควรรักษาศีลให้มากขึ้น ถ้ายังรักษาไม่ได้ก็ยังต้องทำทานให้มากก่อน

 

ทานสนับสนุนศีล ศีลสนับสนุนสมาธิ สมาธิสนับสนุนปัญญา ปัญญาสนับสนุนการหลุดพ้น เป็นขั้นๆไป ข้ามขั้นไม่ได้ นอกจากเคยทำมาแล้วก็ข้ามได้ ไม่ต้องเริ่มต้นที่ทาน เช่นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายนี้ก็ไม่ได้ทำบุญให้ทาน เหมือนตอนเป็นพระเวสสันดร ทรงเสวยความสุขอยู่ในวังอยู่จนอายุ ๒๙ พรรษาก็ออกบวชเลย พร้อมที่จะบวชได้เลย บางคนเกิดในชาตินี้แล้วก็บวชได้เลย เช่นครูบาอาจารย์ต่างๆ เพราะได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว เช่นทานบารมีของหลวงตา ท่านคงทำมามากในอดีต ชาตินี้จึงรับอานิสงส์ของทานบารมีอย่างมากมาย เหมือนกับพระสีวลี ไม่ได้เกิดจากชาตินี้เพราะครูบาอาจารย์ที่บรรลุธรรมเหมือนกัน อานิสงส์ของบารมีไม่เหมือนกัน บางองค์ก็เงียบๆเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง แต่จิตท่านสะอาดบริสุทธิ์หลุดพ้นเหมือนกัน การสะสมบุญบารมีของแต่ละคนจึงมีมากน้อยต่างกัน ทำให้ต้องปฏิบัติมากน้อยต่างกัน พวกเราที่เกาะกลุ่มกันได้ แสดงว่ามีบุญบารมีเท่าๆกัน ถ้ามากกว่าคงจะไม่ได้อยู่กลุ่มนี้ ถ้าน้อยกว่าก็เกาะกลุ่มนี้ไม่ติด มีคนถามว่า อยากจะพบคู่ครองของตนทุกชาติ จะต้องทำอย่างไร ท่านก็บอกว่าต้องสะสมบุญบารมีให้เท่ากัน ทำทานให้เท่ากัน รักษาศีลให้เท่ากัน ภาวนาให้เท่ากัน ชาติหน้าก็จะได้เจอกันอีก

 

ถาม  พอนั่งสมาธิแล้วกายมันโยกจะทำอย่างไร

 

ตอบ  อย่าไปสนใจ ความจริงมันไม่ควรโยก ควรจะให้มันหยุดโยก แล้วก็อย่าไปสนใจมัน ถ้าโยกก็แสดงว่าสติยังไม่ดีพอ หรือหลับใน

 

ถาม  เป็นโมหะความหลงหรือเปล่า

 

ตอบ  สติไม่แก่กล้าพอ ก็ส่ายไปส่ายมา ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างเวลานั่งคุยกันนี้ก็ไม่โยก แสดงว่ามีสติอยู่ พอโยกก็เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น ถ้าโยกแสดงว่าหลับใน ให้ลุกขึ้นมาเดิน อย่านั่งให้เสียเวลา ถ้านั่งก็ควรจะนิ่ง

 

ถาม  เวลาเราโกรธ พอสักพักมีสตินึกได้ว่า สิ่งที่เราทำมันไม่ถูก

 

ตอบ  ปัญญาช้ากว่ากิเลส ต้องพยายามทำให้ดับได้ทันที ต้องเร็วขึ้น ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เตือนตนว่าอย่าไปโกรธ ความโกรธเป็นโทษเป็นทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์กับเรา ก็จะเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ สำคัญที่สติ รู้ไม่ทัน เหมือนยามไม่ได้เฝ้าอยู่ที่ประตู ไปเดินเที่ยวที่ไหนไม่รู้ ขโมยเข้าไปในบ้านแล้ว กิเลสยังเร็วกว่าปัญญา

 

ถาม  มันเร็วมากเลย แต่ก็รู้ว่าไม่ควรทำ

 

ตอบ  เพราะว่าสติยังช้าอยู่ ก็ต้องตั้งสติให้มากขึ้น แล้วจะเร็วขึ้น

 

ถาม  การที่เราไปไหว้พระหรือสร้างกุศล หลังจากนั้นก็จะขอพร ให้กับคนใกล้ตัว ให้มีความสุขความเจริญ ความร่ำรวย ในหน้าที่การงาน อย่างนี้ถือว่าเป็นกิเลสไหมคะ

 

ตอบ  เป็นกิเลส ไม่ได้ผลด้วย ต้องเกิดจากการกระทำของแต่ละคน

 

ถาม  เราทำบุญให้ใครไม่ได้

 

ตอบ  ไม่ได้

 

ถาม  ถ้าฝากมา

 

ตอบ  ถ้าเป็นเงินของเขา เขาก็ได้

 

ถาม  แล้วอนุโมทนาละคะ

 

ตอบ  เป็นบุญอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่บุญที่เกิดจากการให้ แต่เกิดจากการยินดีในการให้ของผู้อื่น ไม่อิจฉาริษยา ไม่ขัดขวางเขา

 

ถาม  ถ้าฝากเงินมานี่ จะได้เท่าที่มาทำเองไหมคะ

 

ตอบ  ไม่เท่า ได้ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ 

 

ถาม  เวลาทำบุญแค่ตั้งจิตอธิษฐานก็พอแล้วใช่ไหมคะ ไม่จำเป็นต้องขอพรอะไรอีกแล้ว

 

ตอบ  ไม่ต้อง เพราะการกระทำเป็นเหตุให้เกิดผลขึ้นมา เหมือนกินข้าวไม่ต้องขอให้ใครบอกให้อิ่ม กินเข้าไปแล้วก็อิ่มเอง

 

ถาม  วิธีที่จะทำให้พ่อแม่ได้บุญ ต้องทำบุญให้เขาอย่างไรคะ

 

ตอบ  ต้องเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ ทำตัวให้เป็นคนดี ให้คุณพ่อคุณแม่ สบายอกสบายใจ ไม่เถียงไม่ทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่ ให้ความเคารพนับถือ ยกย่องเทิดทูนบูชาคุณพ่อคุณแม่เสมอ

 

ถาม  อย่างนี้การที่จะทำให้ท่านได้บุญ ก็คือพาท่านไปทำบุญใช่ไหมคะ

 

ตอบ  เป็นอุบายอย่างหนึ่ง ถ้าท่านยินดี ทำด้วยความสบายใจ ถ้าท่านบ่นไม่อยากไปเลย ก็จะไม่ได้

 

ถาม  ถ้าเอาเงินปัจจัยให้ลูกมาถวายพระนี่ ลูกก็ไม่ได้บุญใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ลูกก็ได้ส่วนหนึ่ง คือบุญที่เกิดจากการรับใช้ผู้อื่น ไม่ได้บุญที่เกิดจากการให้ทาน บุญมีหลายชนิด มีอานิสงส์ต่างกัน ถ้ารับใช้ผู้อื่นชาติหน้าก็มีผู้อื่นมารับใช้เรา ถ้าให้ทานแก่ผู้อื่นชาติหน้าก็มีผู้อื่นมาให้ทานเรา อานิสงส์ไม่เหมือนกัน แต่เป็นบุญเหมือนกันคือเป็นความสุขใจเหมือนกัน คนที่ให้เงินทองก็มีความสุขใจ คนที่รับเอาเงินมาให้ก็มีความสุขใจ สุขกันคนละแบบ

 

ถาม  พอดีตอนนี้คุณพ่อสุขภาพไม่ค่อยดีครับ เมื่อวานก็พาท่านไปเที่ยว ตอนขากลับอยู่ๆท่านก็นั่งร้องไห้ขึ้นมา ท่านก็บอกผมว่า ท่านมีลูกกตัญญู ผมก็บอกว่าลูกกตัญญูก็ดีแล้วนิ ทำไมต้องร้องไห้ ท่านก็ไม่พูดท่านก็ร้องไห้สักพัก ผมก็เลยปลอบใจบอกว่า ได้ลูกที่กตัญญูก็ถือว่าเป็นบุญวาสนา คุณพ่อก็บอกว่า ท่านไม่รู้จะอยู่อีกนานแค่ไหน ผมก็บอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป ต้องเกิดแก่เจ็บตาย ต้องวางใจให้เป็นกลาง อย่าไปคิดมาก ไม่ทราบว่าจะให้ท่านวางใจอย่างไรดี ให้เป็นหลัก เพราะว่าทางธรรมนี้ท่านไม่เข้าใจ

 

ตอบ  ที่พูดไปก็ดีแล้ว สิ่งที่เกิดกับท่านเป็นวิบากของท่าน ฐานะจิตของท่านต้องเป็นอย่างนั้น เราก็ทำอะไรไม่ได้ ท่านอาจจะซาบซึ้งในความกตัญญูของเรา ซาบซึ้งในบุญของท่านที่ท่านมีลูกดี แต่เสียใจที่ชีวิตของคนเราต้องจบลง เป็นเรื่องปกติที่จะคิดอย่างนี้ ถ้ามีปัญญาก็จะไม่คิดอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นสภาพจิตของคนเรา พอได้สัมผัสอะไรก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา แล้วก็ปล่อยออกมา เราก็ทำหน้าที่ของเราดีเต็มที่อยู่แล้ว เรื่องสภาพจิตของท่านเราทำอะไรไม่ได้ ท่านก็ไม่เดือดร้อนอะไรทางร่างกาย ท่านก็ได้รับการดูแลดีอยู่ เรื่องทางอารมณ์ก็พยายามช่วยท่าน เกิดมาแล้วต้องมีความทุกข์ด้วยกันทุกคน จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง ท่านอาจจะขมๆหวานๆก็ได้ หวานที่มีลูกกตัญญู ขมที่จะต้องจากกัน ยังทำใจไม่ได้ ถ้ามีดวงตาเห็นธรรมอย่างพระโสดาบันก็จะเฉยๆ ถึงแม้จะดีขนาดไหนสักวันหนึ่งก็ต้องจบ งานเลี้ยงย่อมมีการเลิกรา อย่าไปกังวล ถือเป็นเรื่องธรรมดา ทำหน้าที่ของเราให้ดีเต็มที่ก็แล้วกัน

 

ถาม  บางทีผมก็คิดล่วงหน้า ถึงเวลาที่ท่านจะจากไป จะให้ท่านรำลึกอะไรดี

 

ตอบ  บอกท่านตอนนั้นไม่ได้ เหมือนกับไปสอนมวยข้างเวที ถ้าจะสอนก็ต้องสอนตอนก่อนขึ้นเวที

 

ถาม  บอกให้ท่านระลึกถึงอะไรสักอย่าง

 

ตอบ  ต้องบอกตอนนี้ ถ้าจะตายให้พุทโธๆไป บอกกันตอนนี้เลย

 

ถาม  อย่างคุณแม่ของโยมก็สอนให้พุทโธ ต้องค่อยๆฝึกทีละนิด

 

ตอบ  ต้องฝึกไว้ก่อน

 

ถาม  แล้วก็เปิดเทปตลอดเวลา หลังจากที่ท่านยอมรับแล้ว ก็เปิดไปเรื่อยๆ คุณแม่ฝึกนับลูกประคำมานานแล้ว เป็นการภาวนาของท่าน

 

ตอบ  ต้องซ้อมก่อน ก่อนที่จะขึ้นเวที

 

ถาม  ผมก็บอกคุณพ่อว่า ว่างๆก็พุทโธนะ อย่าไปคิดมาก บางทีท่านก็คิดโน้นคิดนี่ ว่าคนนั้นก็ตายคนนี้ก็ตาย เพื่อนของท่านตายไปหลายคนแล้ว ท่านจะคิดตรงนั้น

 

ตอบ  บอกท่านว่าเวลาตายเหมือนนอนหลับไป ไปเปลี่ยนร่างใหม่ เปลี่ยนรถใหม่ รถเก่ามันพังแล้ว เอารถใหม่ดีกว่า ให้เจริญปัญญาเลย ดีกว่าสมถภาวนา ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์ คนขับไม่ได้ตายไปกับรถยนต์ ถ้าปล่อยร่างกายได้ ก็หลุดได้เลย

 

ถาม  ถ้าจะหารูปพระพุทธรูปมาติดไว้ให้ท่านดูก่อนนอน แล้วให้ท่านจำเป็นสัญญาไปเลย อย่างนี้จะช่วยได้ไหม

 

ตอบ  ถ้าทำเป็นก็ช่วยได้ เป็นการเจริญสมถภาวนา