กัณฑ์ที่ ๓๗๑      ๒๖  สิงหาคม ๒๕๕๐

 

ยินดีในธรรมะ

 

 

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า ไม่มีอะไรน่ายินดียิ่งกว่าธรรมะ สิ่งที่ควรยินดีมากที่สุดก็คือธรรมะ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับจิตใจ สิ่งอื่นๆในโลกนี้ไม่มีคุณค่ากับจิตใจเลย เพราะช่วยจิตใจไม่ได้ มีแต่ธรรมะเท่านั้นที่จะช่วยปลดเปลื้องจิตใจ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้  ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ชนิดใดก็ตาม จะไม่สามารถเข้ามาเหยียบย่ำจิตใจได้เลย ถ้ามีธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระพุทธเจ้าเป็นถึงพระโอรส มีสมบัติเงินทองข้าวของมากมาย แต่ทรงมีพระปัญญาที่เห็นว่าสมบัติต่างๆ ไม่สามารถดับความทุกข์ความวุ่นวายใจได้ ยิ่งมีมากยิ่งวุ่นวายใจมาก ทรงเห็นว่าทางเดียวที่จะหลุดพ้นได้ก็คือ ต้องสละต้องปล่อยวาง ไม่อาศัยไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้  เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าพึ่งพาอาศัยสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ก็จะต้องผิดหวังสักวันหนึ่ง วันนี้เราอาศัยเขาได้ พอพรุ่งนี้ถ้าอาศัยเขาไม่ได้ เราจะไปอาศัยใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงหาวิธีอยู่โดยไม่อาศัยสิ่งต่างๆในโลกนี้ ทรงศึกษาค้นคว้าตามสำนักต่างๆ เบื้องต้นทรงทราบว่าต้องเป็นนักบวชอยู่แบบสมถะเรียบง่าย ไม่อาศัยวัตถุเงินทอง อาศัยเพียงแต่สิ่งที่ทำให้ร่างกายอยู่ไปได้วันๆหนึ่ง  ร่างกายต้องอาศัยปัจจัย ๔ ถึงจะอยู่ได้ แต่ร่างกายไม่ใช่จิตใจ เป็นคนละส่วนกัน เป็นองค์ประกอบของชีวิต  คือกายและใจ  เราทุกคนสามารถดูแลร่างกายกันได้ มีปัจจัย ๔ ร่างกายก็อยู่ได้แล้ว จนถึงเวลาที่ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องหยุดหายใจ แต่ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจไม่เกิดดับ เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นธาตุรู้ เป็นตัวรู้ ที่มาครอบครองร่างกาย ที่เป็นเพียงบ่าว เป็นลูกน้อง เป็นสมุน เป็นเครื่องมือของใจ ใจใช้ร่างกายให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ด้วยอำนาจของอวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลง ทำให้คิดว่ามีร่างกายแล้วจะมีความสุข จึงไปหาร่ายกายมาเป็นเครื่องมือ เพื่อจะได้เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ที่ชอบอกชอบใจ ถ้าไปเจอส่วนที่ไม่ชอบ ก็เกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจขึ้นมา

 

นี่คือเรื่องของกายกับใจ กายต้องมีปัจจัย ๔ ใจต้องมีธรรมะถึงจะมีความสุข เพราะธรรมะเป็นเหมือนปัจจัย ๔ ของใจ เป็นอาหารใจ มีธรรมะแล้วจะมีความอิ่มเอิบใจ มีความปลอดภัย มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวกับภัยต่างๆ ที่จะเข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจ เหมือนกับมีบ้าน เราก็ไม่หวั่นไหวกับฝนฟ้า ฝนจะตกแดดจะออกอย่างไร เราอยู่ในบ้านก็ปลอดภัย ถ้ามีธรรมะก็เหมือนมีเรือนใจ ธรรมะเป็นยารักษาโรคใจด้วย  โรคของใจก็คือความทุกข์ความวุ่นวายใจ ถ้ามีธรรมโอสถก็จะดับความทุกข์ความวุ่นวายใจได้ พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงออกแสวงหาธรรมะ เพื่อจะได้ปัจจัย ๔ มาดูแลรักษาใจ ส่วนปัจจัย ๔ ของร่างกายก็มีตามอัตภาพ ไม่จำเป็นต้องหรูหราวิเศษ อาหารจะมีราคาเท่าไรก็ไม่สำคัญ ถ้ารับประทานเข้าไปแล้วทำให้อิ่มท้อง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ถือว่าเหมือนกัน อาหารที่ขายตามข้างถนน อาหารที่ขายในร้านหรูหรา รับประทานเข้าไปก็ได้ผลเท่ากันคือ ทำให้ร่ายกายอิ่ม อยู่ต่อได้ ปัจจัย ๔ ของนักบวช จึงไม่พิถีพิถันเหมือนกับฆราวาส  เพราะนักบวชมีปัญญา รู้ความเหมาะสม รู้ประมาณ แต่ฆราวาสเนื่องจากถูกอำนาจของกิเลสตัณหาครอบงำอยู่มาก จึงไม่รู้จักประมาณในปัจจัย ๔ จะหลงยึดติดกับความหรูหรา ความฟุ่มเฟือย  บ้านต้องราคาสัก ๑๐ ล้านจึงจะอยู่ได้ ของต่างๆต้องมีราคาแพงๆ เสื้อผ้าแทนที่จะใส่ชุดละ ๒๐๐-๓๐๐ ก็ต้องใส่ชุดละ สองพัน สามพันขึ้นไป ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเลยว่าใส่ไปเพื่ออะไร  ความจริงเสื้อผ้าก็มีไว้เพื่อปกปิดอวัยวะร่ายกาย ป้องกันแดด ป้องกันฝน ป้องกันอากาศเย็น ป้องกันแมลงต่างๆ ที่จะมากัดเท่านั้นเอง

       

นี่คือความแตกต่างของการใช้ปัจจัย ๔  ของฆราวาสกับนักบวช เพราะนักบวชมีสติปัญญาสูงกว่าฆราวาส นักบวชไม่ต้องการความสุขจากปัจจัย ๔ ของร่างกาย นักบวชมุ่งไปที่ปัจจัย ๔ ของจิตใจคือธรรมะ ที่จะทำให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่วุ่นวายไม่ทุกข์กับเรื่องต่างๆ ด้วยการอยู่แบบสมถะเรียบง่าย เพื่อตัดความกดดันที่ผลักดันให้ไปหาปัจจัย ๔ ราคาแพงๆมาใช้ ถ้าใช้ของแพงๆก็จะต้องวุ่นกับการหาเงินหาทองมาซื้อของแพงๆ จนติดเป็นนิสัย ถ้าไม่ได้ใช้ของแพงๆ จะเศร้าสร้อยหงอยเหงา เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าอยู่แบบเรียบง่ายตามมีตามเกิด ก็จะไม่มีความกดดันเกี่ยวกับปัจจัย ๔ ถ้าต้องอดอาหารบ้างเป็นครั้งคราว ก็จะไม่เดือดร้อน บางทีไม่มีคนใส่บาตร หรือใส่แต่ข้าวเปล่า ไม่มีกับข้าว  นักบวชจะไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีสิ่งที่ดีกว่าคุ้มครองใจ ถึงแม้จะไม่ได้ของถูกปากถูกใจรับประทาน แต่ใจไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว เพราะได้รับการฝึกฝนอบรมให้อยู่แบบเรียบง่าย ตัดตัณหาความอยากต่างๆ ให้เบาบางลง เมื่อไม่มีตัณหา ความทุกข์ก็ไม่มี เพราะความทุกข์เกิดจากตัณหา ความอยาก ยิ่งจู้จี้จุกจิกมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งสร้างเงื่อนไขขึ้นมาทำลายมาผูกมัดมาทิ่มแทงตนเองให้มากขึ้น เพราะฆราวาสไม่มีสติปัญญาเห็นความทุกข์ใจได้ เพราะถูกความหลงหลอกให้มองแต่ความสุขที่จะได้ตามความต้องการ พอได้อะไรมาก็จะดีใจ ตัวลอยเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ กว่าจะรู้ว่าเป็นสวรรค์เดี๋ยวเดียวเท่านั้น ก็ตกลงไปนรกอีกแล้ว เพราะสิ่งที่ได้มาไม่จีรังถาวร ไม่ให้ความสุขนาน ได้อะไรมาใหม่ๆก็ดีใจเลี้ยงฉลองกันใหญ่ เสร็จแล้วความอยากใหม่ก็โผล่ขึ้นมา ต้องตะเกียกตะกายวิ่งเต้น ดิ้นรนหาทางที่จะให้ได้มาอีก นี่คือความทุกข์ที่ฆราวาสมองไม่เห็นกัน

       

แต่นักบวชจะเห็นความทุกข์ที่เกิดจากความอยาก วิถีชีวิตของนักบวชกับฆราวาสจึงต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน ฆราวาสเหมือนอยู่บนสวรรค์ กินอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ตามความต้องการของตน  นักบวชอยู่ตามมีตามเกิด เหมือนอยู่ในนรก ใจของฆราวาสเหมือนอยู่ในนรก เพราะรุ่มร้อนกับความอยากความวุ่นวายต่างๆ ความเสียใจ ความผิดหวัง ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ใจของนักบวชกลับอยู่บนสวรรค์ เพราะใจไม่วุ่นวาย ไม่รุ่มร้อนกับสิ่งต่างๆ ยินดีตามมีตามเกิด ได้มากได้น้อยก็พอใจ ได้อะไรมาก็พอใจ นี่คือเรื่องของใจที่ฆราวาสจะไม่ค่อยเข้าใจกัน เพราะขาดการศึกษาเล่าเรียน ขาดการได้ยินได้ฟังจากผู้รู้ ก็เลยหลงอยู่ในสังคมของคนตาบอดด้วยกัน โดนสิ่งเดียวกันคอยยั่วยุ ให้แข่งขันทำลายตน สร้างความทุกข์ให้กับตน  ด้วยความพยายามแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุขมาให้มาก ถ้ามีมากก็จะได้รับคำสรรเสริญเยินยอยกย่อง ว่าเป็นคนเก่ง  เป็นคนวิเศษ  แต่หารู้ไม่ว่าใจกำลังอยู่ในนรก ไม่สงบสุข ไม่มั่นคงเลย เหมือนปีนขึ้นบนหลังเสือแล้วกลัวจะตกลงมา มีตำแหน่งสูงๆก็กลัวจะสูญเสียตำแหน่งไป ไม่มั่นใจในตัวเอง ยกเว้นคนที่มีธรรมะกำกับจิตใจเท่านั้น ที่มีปัญญามองเห็นความไม่เที่ยงของลาภยศสรรเสริญสุข รู้ว่าได้อะไรมาสักวันก็ต้องจากไป เจริญลาภก็มีการเสื่อมลาภ เจริญยศก็มีการเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ ถ้ามีปัญญาก็จะไม่วุ่นวายใจ จะไม่ทุกข์มาก ยอมรับกับสภาพได้ เวลาสูญเสียทรัพย์สมบัติ เงินทอง ก็ไม่ร้องห่มร้องไห้ เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องหมดไป เมื่อหมดวาระที่อยู่ในตำแหน่ง ก็ไม่เสียอกเสียใจ เพราะรู้ว่าเป็นสมบัติผลัดกันชม เหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรี

 

เรื่องการสรรเสริญนินทาก็เช่นกัน เป็นปากของคน เราบังคับควบคุมปากของคนอื่นไม่ได้ จะพูดดีก็ได้ จะพูดร้ายก็ได้ แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือใจของเรา ไม่ให้ไปหลงยินดี ไปเสียใจกับคำพูดของเขา ปล่อยให้พูดไป อยากจะพูดอะไรก็พูดไป ถ้าไม่ยึดติดคำพูดของเขาก็ไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก สุขกับทุกข์ก็เช่นเดียวกัน เราอยู่ในโลกที่มีความสุขกับความทุกข์สลับกันไป เพราะเหตุการณ์ต่างๆหมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ มีการเกิดการดับ เวลาเกิดก็ดีอกดีใจ เวลาตายก็เสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ นี่คือชีวิตของคนเรา ทุกคนในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส ก็ต้องสัมผัสเช่นเดียวกัน  คนที่สัมผัสแล้วไม่กระทบกระเทือนก็คือคนที่มีปัญญา คนที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ได้ควบคุมใจของตน ไม่ให้หลงมัวเมากับการเจริญของลาภยศสรรเสริญสุข ไม่ให้อยากได้ลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าไม่อยากก็ไม่เป็นปัญหา จะมามากน้อยอย่างไร ก็จะไม่กระทบกับใจเรา นี่คือการดูแลรักษาใจให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความทุกข์ความวุ่นวายต่างๆ ต้องมีปัญญา เข้าใจสภาพความเป็นจริงของโลกว่าเป็นอย่างนี้ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ได้มาไม่นานก็กลายเป็นความทุกข์ไป ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติที่แท้จริงของเรา ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ยืมมาจากธรรมชาติ เวลาเกิดก็ยืมร่างกายมาจากพ่อแม่ พอโตขึ้นทำมาหากินหาเงินได้ ก็ไปซื้อข้าวของซื้อสิ่งต่างๆมา มีคู่ครอง มีลูก มีอะไรตามมา แล้วสักวันหนึ่งก็ต้องจากกันไป ทุกคนต้องไปด้วยกันหมด เวลามาก็มาตัวเปล่าๆ เวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ ใจมาตามลำพัง มาด้วยอำนาจของบุญบาปที่ได้ทำมา

 

ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นวาระของบุญส่งผลให้มาเกิด การจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างน้อยต้องเคยรักษาศีล ๕ มา ถึงแม้จะไม่ได้รักษาทุกวันหรือตลอดเวลา ถ้าเคยมีศีล ๕ ก็ถือว่ามีสิทธิ์ ขึ้นอยู่กับว่ามีมากมีน้อย ถ้ามีมากโอกาสที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็มีมาก ถ้ามีน้อยโอกาสก็น้อย เหมือนกับการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ถ้าคะแนนสูงมาก โอกาสที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยก็มีมาก ถ้าคะแนนต่ำก็ลดหย่อนตามกันไป การได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  ก็ต้องมีศีลเป็นปัจจัยส่งไป พวกเราที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี้ แสดงว่าในชาติก่อนเราเคยมีศีลมาบ้าง ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยต้องเคยรักษา จึงส่งให้มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเคยทำบาป เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยิงนก ตกปลา ตบยุง ฆ่ามด แมลง พอเป็นวาระของบาปส่งผล ก็จะทำให้เราเกิดเป็นยุง เป็นนก เป็นแมลง เป็นสัตว์ต่างๆ ไปจนกว่าชีวิตของสัตว์นั้นจะหมดไป แล้วก็ไปเกิดใหม่อีก ตามวาระของบุญของกรรม ถ้าเป็นวาระของบาปก็ต้องกลับไปเกิดในอบายอีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยสลับกันไป ถ้าเป็นวาระของบุญ ก็ได้เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ในสกุลดี ได้เจอพระพุทธศาสนา ที่สั่งสอนให้ทำความดีละบาป มีศรัทธาปฏิบัติตาม ก็จะสะสมโอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้ามากขึ้น เหมือนกับเรียนหนังสือ ถ้าตั้งใจเรียนโอกาสที่จะได้รับปริญญาก็มีมาก ถ้าไปเกิดในสกุลที่ไม่ส่งเสริมเรื่องการทำบุญละบาป แต่ส่งเสริมให้ทำบาป ไม่ให้ทำบุญ ก็ทำตาม ก็เหมือนกับไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้สะสมบุญบารมี ชาติต่อไปก็จะไม่ดีกว่าชาตินี้

 

ถ้าได้สะสมบุญบารมีมามาก ไม่ว่าจะเกิดในสกุลใด ถ้าสอนให้ทำบาปก็จะไม่ทำ จะทำแต่บุญอย่างเดียว เพราะอำนาจของบุญที่ได้สะสมมามีพลังมาก จะพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะลงไปต่ำ ยกเว้นไปพบอุบัติเหตุทำให้จิตใจพลิกไป จากการใฝ่บุญใฝ่กุศลเป็นใฝ่บาป เช่นองคุลิมาลที่มีจิตใจใฝ่สูง ได้เป็นนักบวช แต่ถูกอาจารย์หลอกให้ไปทำบาป เพราะความอยากที่จะบรรลุธรรมชั้นสูง และมีศรัทธาเชื่อในอาจารย์ของตน ก็เลยต้องไปทำบาปฆ่าคนเกือบพันคน โชคดีที่ได้ไปเจอพระพุทธเจ้า ที่ทรงช่วยพลิกจิตขององคุลิมาลให้กลับเป็นสัมมาทิฐิ ให้เห็นว่าการฆ่าผู้อื่นไม่ได้เป็นการสร้างบุญบารมี แต่เป็นการทำบาปทำกรรมให้ตนเองต้องตกนรก จึงเกิดศรัทธายึดคำสอนของพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตาม จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้เลย หนีพ้นบ่วงกรรมที่ได้ทำไว้ ที่ไปฆ่าคนเกือบพันคนไปได้ เพราะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงไม่ต้องไปเกิดอีก กรรมจึงไม่สามารถไปทำอะไรกับจิตดวงนั้นได้ เพราะได้พ้นจากบ่วงกรรมไปแล้ว จึงควรแน่วแน่ต่อการทำบุญทำความดี แน่วแน่ต่อการละบาป แน่วแน่ต่อการกำจัดความโลภความโกรธความหลง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ในเหตุการณ์ใด อยู่ในโลกไหนภพไหนก็ตาม เพื่อจิตใจของเราจะได้พัฒนาได้เจริญสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ลิ้มรส พระธรรมอันประเสริฐคือพระนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ครอบครองเป็นสมบัติอย่างแน่นอน ไม่อยู่เหนือวิสัยของผู้มีจิตใฝ่บุญใฝ่กุศลจะไขว่คว้ามาครองได้

 

จึงควรใช้ภพชาติของมนุษย์ให้คุ้มค่า เพราะมีภพของมนุษย์เพียงภพเดียวเท่านั้น ที่จะสะสมบุญบารมีได้ ถ้าไปเกิดในภพอื่นก็จะทำไม่ได้มากนัก เกิดเป็นเดรัจฉานก็จะสะสมบุญบารมีได้น้อย อาจจะได้บ้าง เช่นลิงกับช้างที่ได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า แต่ไม่มีโอกาสสะสมบุญบารมีขั้นมรรคผลนิพพานได้ ทำได้อย่างมากก็ทำบุญทำทาน ถ้าไปเกิดเป็นเทพก็จะมีแต่ความสุข ไม่ต้องทำบุญให้ทาน เพราะบนสวรรค์มีความสุขด้วยกันทุกคน มีภพของมนุษย์เท่านั้น ที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ปนกันไป สามารถทำบุญได้ ทำบาปได้ ขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละคน ว่ามีปัญญามากน้อยเพียงไร ถ้าเป็นมนุษย์ก็ควรเข้าหาผู้รู้ ทรงสอนให้คบบัณฑิต ไม่ให้คบคนพาล บัณฑิตคือคนที่รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้บุคคล รู้สังคม รู้กาลเทศะ รู้ประมาณ รู้เหตุรู้ผล คือรู้ว่าการกระทำของเราเป็นเหตุ ที่จะทำให้เกิดความสุขความเจริญ หรือความทุกข์ความเสื่อมเสีย ถ้าทำดีก็จะได้ความสุขความเจริญเป็นผลตอบแทน ถ้าทำชั่วก็จะได้ความทุกข์ความเสื่อมเสียเป็นผล รู้ตนคือรู้สถานภาพของเรา ว่าเราเป็นใคร เป็นอะไร เป็นหญิงหรือเป็นชาย รู้บุคคล รู้คนที่เราเกี่ยวข้องด้วย ว่าเป็นใคร สูงกว่าหรือต่ำกว่าหรือเท่าเรา เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เหมาะสมกับฐานะ รู้สังคม คือรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม รู้กาลเทศะ คือรู้เวลาและสถานที่ อยู่ที่ใดเวลาใด  ควรจะทำตัวอย่างไร ควรสงบนิ่งหรือควรกระโดดโลดเต้น รู้ประมาณ คือรู้ความพอดี เช่นปัจจัย ๔ ดังที่ได้พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า ให้กินเพื่ออยู่ อย่าอยู่เพื่อกิน ถ้ากินเพื่ออยู่ก็จะลดปัญหาไปได้มาก ถ้าอยู่เพื่อกินก็จะวุ่นวายกว่าจะกินได้สักมื้อ ต้องหาร้านอาหาร ร้านนี้ก็ไม่ถูกใจ ร้านนี้ก็ไม่อร่อย ร้านนี้คนก็มาก กว่าจะได้กินหายหิวพอดี

       

ถ้ายังไม่มีปัญญาก็ควรคบบัณฑิต อย่าไปคบคนพาล คนโลภโมโทสัน ไร้เหตุไร้ผล ชอบทำอะไรตามอารมณ์ หลงระเริงกับลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าเลวไปกว่านี้ก็คือพาลแบบไร้ศีลธรรม ชอบยิงนกตกปลา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เสพสุรายาเมา เกียจคร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร ถ้าไปคบกับคนพวกนี้ ก็จะถูกชักชวนดึงให้ลงต่ำ ไม่เกิดปัญญา ภพชาตินี้จะสูญไปเปล่าๆ ไม่ได้สะสมบุญบารมี ได้แต่สะสมบาป แทนที่จะก้าวหน้ากลับถอยหลัง เสียชาติเกิด ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับจิตใจเลย ทำประโยชน์ให้กับกิเลส ความโลภความโกรธความหลง ฉุดลากให้ลงต่ำ ให้เข้าไปในกองทุกข์ จึงขอสรุปว่า การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่เลิศวิเศษมาก เป็นคุณเป็นประโยชน์มาก ให้ใช้ชีวิตของมนุษย์ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ทำตามความโลภความโกรธความหลง

       

ถาม  การปฏิบัติธรรมต้องควบไปกับการฟังธรรม คือสุตมยปัญญาด้วย อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

 

ตอบ  ถูกต้อง  การปฏิบัติธรรมมีหลายระดับด้วยกันคือ ทาน ศีล ภาวนา  ทานก็ทำไปตามกาลเวลา ถึงเวลาที่จะช่วยเหลือใครได้ ให้อะไรใครได้ก็ให้ไป ศีล ๕ ก็ต้องรักษาตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร จะพูดอะไร ก็เอาศีล ๕ มาประกบเสมอ ว่าผิดศีลหรือไม่ ถ้าผิดศีลก็อย่าทำ ส่วนภาวนาก็มี ๒ ระดับด้วยกันคือ สมถภาวนาและ วิปัสสนาภาวนา  ขั้นต้นให้เจริญสมถภาวนาด้วยการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ ไม่ต้องมาวัดก็ได้ เพราะสติอยู่ที่ตัวเรา สติคือการรู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ วิธีตั้งสติที่ง่ายที่สุด ก็คือตั้งสติที่กาย กายอยู่กับเราตลอดเวลา ให้ดูกายทุกขณะ กำลังนั่งอยู่ ก็ให้รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ พอจะลุกขึ้นมา ก็รู้ว่ากำลังจะลุก เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายเหมือนเป็นนักโทษ สติเป็นเหมือนผู้คุม ทำอย่างนี้ถึงจะเป็นการภาวนาเป็นการปฏิบัติ เป็นตัวสำคัญที่สุดที่จะทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ ให้เกิดปัญญาขึ้นมา หลังจากที่ทำจิตให้สงบแล้ว แต่ยังไม่มีปัญญา พอกิเลสปรากฏขึ้นมาก็จะสร้างความทุกข์ให้แก่จิตได้ สิ่งเดียวที่จะดับหรือทำลายกิเลสได้ก็คือปัญญา ซึ่งมีอยู่ ๓ ระดับด้วยกันคือ ๑. สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง  ๒. จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา ถ้าฟังแล้วไม่พิจารณาต่อก็จะลืม เพราะจิตต้องไปคิดเรื่องอื่น พอคิดเรื่องอื่น ก็จะไม่คิดถึงเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา ก็จะจางหายไป จึงควรคิดพิจารณาอยู่เรื่อยๆไปกับการคิดเรื่องอื่น เอาเรื่องที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปปฏิบัติ เช่นเวลารับประทานก็ต้องคิดว่า กินเพื่ออยู่ ไม่อยู่เพื่อกิน ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเป็นจินตมยปัญญา แต่ก็ยังไม่พอกับการตัดกิเลสให้ขาด กิเลสจะขาดได้ต้องเกิดจากภาวนามยปัญญา เกิดจากจิตที่สงบ พอจิตมีความสงบแล้วจะมีพลังตัดกิเลสได้ เวลาเกิดความโลภเกิดความโกรธขึ้นมาก็ตัดได้เลย ปัญญาต้องมีสมถภาวนาเป็นผู้สนับสนุน จิตสงบมากเท่าไรก็ตัดได้มากเท่านั้น เพราะกำลังตัดอยู่ที่สมาธิอยู่ที่สมถภาวนา เป็นตัวหยุดเป็นเบรก เวลากิเลสโผล่ขึ้นมาถ้าไม่มีเบรก ก็หยุดมันไม่ได้ เวลาโกรธก็หยุดไม่ได้ เพราะไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิความสงบ

 

        ต้องปฏิบัติตลอดเวลา ในเบื้องต้นอาจจะไม่ถนัด อาจจะเผลอได้ เพราะโดยนิสัยของจิตชอบเผลอ ชอบไหลไปตามกระแสอารมณ์ต่างๆที่มาสัมผัส พอเห็นอะไรปั๊บก็จะคิดตาม พอได้ยินอะไรปั๊บก็จะคิดตาม แต่ไม่มีกำลังที่จะดึงกลับมาให้ตั้งมั่นให้เป็นสมาธิ เพื่อจะได้หยุดจิตไม่ให้ไปสร้างเรื่องสร้างราวสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ให้กับตนเอง ต้องไปปลีกวิเวก ปล่อยวางภารกิจการงานต่างๆ แล้วหันมาทุ่มเทกับการสร้างสติสร้างปัญญาสร้างสมาธิอย่างจริงจัง อย่างน้อยครั้งละ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน เพื่อสร้างพลังจิต คือวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำจัดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ายังอยู่ในสังคมทำงานก็ยากหน่อย เพราะเป็นฝ่ายของกิเลสเป็นส่วนใหญ่ เพราะการงานต่างๆมีกิเลสเป็นพื้นฐาน ทำอะไรก็เพื่อจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา ไม่เป็นทางธรรม ที่ต้องสละต้องตัด ต้องไม่อยากได้ ทำเพื่อกำจัดความโลภความโกรธความหลง ถ้ายังอยู่ในสังคมจะรู้สึกว่ามันทวนกระแสกับทางธรรมะ ถ้าสามารถเจริญธรรมะได้จนมีกำลังแล้ว ธรรมะก็จะเป็นตัวฉุดให้ออกไปจากสังคมเอง อาจจะลาออกจากงานก่อนถึงเวลาเกษียณก็ได้ ถ้ามีความสุขทางด้านจิตใจ ถ้าเห็นว่าความสุขทางด้านลาภยศสรรเสริญสุข ไม่มีความหมายอะไร ถ้าได้พบกับความสงบเพียงครั้งเดียวในขณะที่นั่งสมาธิจิตรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ ก็จะพบกับความสุข ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ความสุขเหนือความสงบไม่มี ความสุขต่างๆในโลกนี้ที่เหนือกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบไม่มี ถ้าได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ก็จะสร้างกำลังใจ สร้างฉันทะวิริยะ ความพอใจความยินดีที่จะออกไปปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความสุขชนิดนี้มากขึ้น เพราะได้ลิ้มรสที่วิเศษที่ไม่เคยลิ้มรสมาก่อน ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะให้ความสุขที่วิเศษแบบนี้ได้ มีการปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะให้เราได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะเตรียมตัวออกปฏิบัติอย่างจริงจัง มีภาระหน้าที่อะไรก็ทำให้ลุล่วงไป อันไหนตัดได้ก็ตัด อันไหนมอบให้คนอื่นทำได้ก็มอบไป ไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น  สมบัติข้าวของเงินทอง สามีภรรยา บุตรธิดา ยกให้หมด ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำเป็นตัวอย่าง

 

ถาม  เวลาปฏิบัติสมาธิอยู่กับความสงบ พอไปอยู่กับความวุ่นวาย รู้สึกว่าอยากจะเลี่ยง ควรเจริญเมตตาเพื่ออยู่กับสิ่งนั้น ถูกต้องหรือไม่

 

ตอบ  ถูกต้อง นอกจากเมตตาแล้วต้องมีปัญญาด้วย พอปฏิบัติไปแล้วเรามีความสงบ ก็อย่าไปติดความสงบ เมื่อออกจากความสงบแล้วต้องเจริญปัญญา พิจารณารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พอมีปัญญาแล้ว เวลาสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จะรู้สึกเฉยๆ จะปล่อยวางได้ ถ้ายังไม่มีปัญญาจะรำคาญใจ เห็นอะไรได้ยินอะไรจะรำคาญใจ แสดงว่ายังหลงอยู่ ยังทุกข์อยู่ ยังติดอยู่ ถ้าใจอยากจะหนีก็เป็นตัณหา ต้องใช้ปัญญาสอนจิตว่า ไม่ต้องหนี อย่าไปยินดียินร้าย เขาจะทำอะไรก็ตาม  ถ้าไม่ไปยึด  ไปติดก็จะรู้สึกเฉยๆ ต้องปล่อยวาง ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา เช่นฝนฟ้าแดดลม เราบังคับเขาไม่ได้ แต่ก็อยู่กับเขาได้ เพราะไม่ยึดติดนั่นเอง เราปรับตัวเรา อย่าให้เขาปรับ  ปรับตัวเราให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง ถึงแม้จะวุ่นวายขนาดไหน ถ้ามีความจำเป็นต้องอยู่ก็ทนไปก่อน พอได้โอกาสก็ค่อยปลีกตัวไปที่สงบวิเวก ขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องเผชิญกับเรื่องต่างๆ ก็เผชิญด้วยปัญญา สอนใจให้ปล่อยวาง แต่ไม่ได้ปล่อยปละละเลยหน้าที่การงาน ทำให้ดีที่สุด แต่อย่าไปดีใจเสียใจกับผลงาน จะได้ไม่ทุกข์ ความเมตตาคือการรู้จักให้อภัย เวลาใครทำให้ไม่สบายใจไม่พอใจ ก็อย่าไปโกรธแค้น ต้องรีบระงับความโกรธทันที เพราะเป็นโทษกับเรา สิ่งที่เขาทำไม่ได้ร้ายเท่ากับความโกรธ ถ้ารับได้ใจก็จะไม่วุ่นวาย ถ้ารับไม่ได้ก็จะวุ่นวาย ต้องดับความวุ่นวายใจด้วยการให้อภัย พอดับได้แล้วก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าใจยังรุ่มร้อนก็จะกลายเป็นเรื่องขึ้นมา จึงต้องรู้จักให้อภัย ไม่จองเวรจองกรรมกัน

 

ถาม  เพิ่งเริ่มนั่งสมาธิ พอเริ่มนั่งไปจะมึนๆ ยังไม่ได้เจริญปัญญา จะแก้ไขอย่างไร

 

ตอบ  เวลานั่งสมาธิควรนั่งแบบสบายๆ อย่าไปคาดผลว่า ต้องได้อย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้ ควรใช้กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นดูลมหายใจเข้าออก หรือบริกรรมพุทโธๆ ถ้าทำหลายอย่างจะเกร็งได้ เหมือนเวลาหัดขับรถใหม่ๆ ต้องทำหลายอย่าง ก็เลยเกร็ง ไหนจะเหยียบคลัช เปลี่ยนเกียร์ เปิดไฟ เปิดที่ปัดน้ำฝน เปิดวิทยุ ถ้าต้องทำอะไรหลายอย่าง ก็จะทำให้เกร็งได้ ทำแบบง่ายๆไปก่อน เอาอย่างใดอย่างหนึ่งไปก่อน ถ้าจะดูลมก็ดูลมอย่างเดียว ไม่ต้องพุทโธก็ได้ ให้รู้ลมเข้าลมออกที่ปลายจมูก เฝ้าดูตรงจุดนั้นจุดเดียวก็พอ ไม่ต้องตามลมไปที่กลางอกหรือไปที่หน้าท้อง ให้อยู่ที่ปลายจมูก ลมเข้าก็รู้อยู่ตรงนั้น ลมออกก็รู้อยู่ตรงนั้น ทำอย่างนี้ไปก่อน ถ้าทำอะไรหลายอย่างอาจเกิดการเกร็งขึ้นมาได้ ไหนจะต้องดูลมหายใจเข้าออก ไหนต้องพุทโธอีก  ไหนจะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ทำให้มึนได้ ถ้าดูลมไม่ได้ก็สวดมนต์ไปก่อนก็ได้ แทนที่จะดูลมหรือบริกรรมพุทโธ ก็สวดอิติปิโสไป มนต์บทไหนที่สวดแล้วรู้สึกสบายใจเย็นใจ ก็สวดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอยากหยุดสวดก็หยุด แล้วดูลมต่อก็ได้

               

        ให้ทำจากง่ายไปหายาก อย่าทำจากยากไปหาง่าย เพราะจะยาก ลองทำดู อาจจะมีเหตุอย่างอื่นก็ได้ สังเกตดูว่าที่เกร็งเพราะอยากจะให้ได้ผลหรือเปล่า ถ้าอยากได้ผลมากก็จะเกร็งมาก ถ้านั่งแบบไม่หวังผล ทำตามหน้าที่ไป มีสติรู้อยู่กับงานที่กำลังทำ ถ้าดูลมก็ให้รู้อยู่กับลมอย่างเดียว อย่าไปคิดเรื่องอื่นควบไปด้วย ถ้าหายใจเข้าออกก็คิดเรื่องงานเรื่องการ อย่างนี้ก็ไม่ได้ภาวนาแล้ว หายใจออกก็คิดถึงทางบ้านก็ไม่ได้ภาวนาแล้ว ต้องดูลมหายใจอย่างเดียวเท่านั้นในขณะที่ภาวนา เพราะต้องการระงับความคิด ผลที่เกิดจากการภาวนาคือความสงบนิ่งของจิต ไม่คิดเรื่องต่างๆ ไม่รับรู้เรื่องอะไรต่างๆ นี่คือเป้าหมายของสมถภาวนา ถ้านั่งไปแล้วปรากฏเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ให้รับรู้ไว้แล้วปล่อยวาง อย่าไปยึดติดอย่าไปสนใจ ให้กลับมาหาองค์ภาวนา ถ้าใช้ลมหายใจก็กลับมาหาลมหายใจ แล้วสิ่งเหล่านั้นก็จะหายไปเอง ไม่ใช่ของวิเศษ เป็นผลพลอยได้ ไม่ได้พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น อย่าไปหลง พอนั่งเห็นอะไรแล้วก็อยากจะเห็นอีก แสดงว่าหลงทางแล้ว เพราะเป้าหมายของการนั่งสมาธิ คือความสงบนิ่งของจิตใจ มีความสุข มีความอิ่ม มีความพอ เพื่อจะได้เป็นฐานของวิปัสสนาของปัญญาต่อไป ถ้านั่งแล้วจิตไม่สงบนิ่งเห็นนั่นเห็นนี่ พอออกมาแล้วก็เหมือนกับไม่ได้นั่ง จะไม่มีกำลังเจริญปัญญา ถ้านั่งแล้วสงบนิ่ง ถึงแม้จะออกมาแล้วก็ยังนิ่งอยู่ ไม่แกว่งไปแกว่งมาตามอารมณ์ต่างๆ ก็จะสามารถเอาธรรมะมาสอนใจได้ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ ปัญญาจะค่อยซึมซับเข้าไปในจิตใจเรื่อยๆ เวลาไปประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะมีธรรมะคอยเตือนว่านี่แหละคืออนิจจัง ถ้ารู้ว่าเป็นอนิจจัง ก็ปล่อยวาง ก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้ารู้ไม่ทันก็จะร้องห่มร้องไห้ เวลาสูญเสียอะไรไป ถ้าเรามีปัญญา มีอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่ในใจ ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ ทั้งๆที่สูญเสียสิ่งที่รักไป นี่คือเครื่องวัดผลของการเจริญสมาธิและปัญญา

 

        ผลของการทำสมาธิที่เราต้องการ คือความสงบนิ่ง ความอิ่มใจ พอออกจากสมาธิแล้ว ก็ต้องเจริญอนิจจังทุกขังอนัตตาต่อ เตือนสติเตือนตนอยู่เสมอว่า เราอยู่ในโลกอนิจจัง เดี๋ยวอนิจจังก็ต้องปรากฏให้เห็นจนได้ ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว พอเกิดขึ้นมาจะรู้สึกเฉยๆ เหมือนนักฟุตบอลเฝ้าประตู ก็ต้องเฝ้าอยู่ที่ประตู เตรียมรับลูกบอล เตะเข้ามาทางไหนก็รับได้หมด เป็นนักปฏิบัติก็ต้องเตรียมรับกับลูกอนิจจังที่จะเข้ามาสู่ใจ ก็คือความแก่ความเจ็บไข้ได้ป่วยความตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา นี่คือลูกฟุตบอลที่จะพุ่งเข้าสู่ใจ ถ้ามีปัญญาคอยเฝ้า ก็จะป้องกันทุกข์ไม่ให้เข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจได้ พร้อมที่จะเผชิญไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เพราะใจไม่ได้สูญเสียอะไร ใจไม่ได้อะไร ใจเพียงไปหลงไปยึดติด ไปคิดว่าเป็นของใจ พอจะสูญเสียไปก็เศร้าโศกเสียใจ ใจสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอะไร ไม่มีร่างกายก็อยู่ได้ ถ้าไม่มีกิเลสก็อยู่อย่างสุขอย่างสบายไปตลอดอนันตกาล เช่นใจของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องอาศัยร่างกาย ไม่ต้องอาศัยสวรรค์ชั้นต่างๆให้ความสุข เพราะสวรรค์ก็ยังเสื่อมได้ เป็นมนุษย์ก็เสื่อมได้ตายได้ มีนิพพานเท่านั้นที่ไม่เสื่อม คือจิตที่บริสุทธิ์ ที่ไม่กลับไปเศร้าหมอง ไปมีกิเลสอีกต่อไป

 

ถาม  ชาตินี้เป็นชาวพุทธ มีโอกาสไปเกิดเป็นชาติที่ไม่ใช่ชาวพุทธไหม

 

ตอบ  เป็นได้ เพราะการไปเกิดใหม่นี้ไม่แน่นอน ว่าจะไปเกิดในครอบครัวไหน อาจจะไปเป็นอิสลาม เป็นยิว เป็นคริสต์ก็ได้ ถ้ามีพลังพุทธมาก ก็จะดิ้นออกมาเอง เหมือนชาวต่างประเทศที่มาศึกษามาบวชในประเทศไทย เป็นคริสต์ เป็นยิว เป็นอิสลาม หลังจากที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ จิตใจก็ใฝ่หาธรรมที่ได้ยิน พอรู้แหล่งของธรรมะว่าอยู่ตรงไหน ก็จะมุ่งไปตรงนั้น อย่างเมืองไทย ตอนนี้มีชาวต่างชาติมาบวชเป็นพระกันมาก มาจากหลายชาติหลายศาสนาด้วยกัน

 

ถาม  ถ้าศีล ๕ ยังไม่บริสุทธิ์ จะเจริญภาวนาได้ไหม

 

ตอบ  ศีลสนับสนุนการภาวนา ถ้าบริสุทธิ์มากก็ภาวนาได้ง่าย ถ้าบริสุทธิ์น้อยก็ภาวนาได้ยาก ถ้าศีลบริสุทธิ์มากความวุ่นวายใจก็จะน้อย จิตจะสงบได้ง่าย ถ้าทำผิดศีลข้อนั้นข้อนี้ ก็จะทำให้ใจวุ่นวาย เวลาภาวนาจะสงบยาก เพราะอดที่จะคิดถึงเรื่องที่ไปทำมาไม่ได้ เกิดความกังวล เกิดความทุกข์ใจ ก็เลยยากที่จะทำให้จิตสงบ แต่ไม่ได้หมายความว่าศีลจะต้องสะอาดบริสุทธิ์ก่อนถึงจะภาวนาได้ ถ้าศีลสะอาดบริสุทธิ์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะภาวนาได้ผล ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าสะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะภาวนาได้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ศีลสนับสนุนภาวนา พอภาวนาได้ผลแล้ว ก็จะช่วยให้รักษาศีลได้ดีขึ้น พอได้ความสงบมากขึ้น จิตก็มีความร่มเย็นมากขึ้น มีโทสะน้อยลง ก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง ทำให้ศีลบริสุทธิ์มากขึ้น ทานศีลสมาธิปัญญาจะสนับสนุนกันละกัน เป็นเหมือนวงกลม ช่วยดันกัน คนที่มีปัญญามากจะทำบุญทำทานมาก เสียสละมาก เพราะรู้ว่ายิ่งเสียสละยิ่งมีความสุขมากขึ้น แล้วก็ดันให้รักษาศีลมากขึ้น ให้มีสมาธิมากขึ้น เจริญปัญญามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำทีละขั้น ทำควบคู่กันไปเลย ตามระดับของธรรม ถ้าทาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็รักษาศีล ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ภาวนา ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ขยับขึ้นไปทำทาน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ รักษาศีล ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ภาวนา ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงขั้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

 

ถาม  การสวดมนต์ทำวัตรเช้าวัตรเย็น โดยเข้าใจเองว่า ๑. เป็นการส่งเสริมคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ๒. เป็นการฝึกจดจำบทสวดมนต์ ไม่ทราบว่ามีอะไรที่ต้องทราบเพิ่มเติม

 

ตอบ  เป็นอุบายแห่งสมถภาวนา เป็นการทำสมาธิไปในตัว เพราะเวลาสวดใจจะไม่ไปคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่ทำให้วุ่นวายใจ ไม่สบายใจ เป็นการภาวนา เป้าหมายหลักของการทำวัตรไหว้พระสวดมนต์ ก็คือ การทำให้จิตใจสงบ  ส่วนการระลึกถึงคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ จะทำให้เห็นความสำคัญของการศึกษา การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ระลึกถึงเยี่ยงอย่างที่ดีงาม ถ้าเข้าใจความหมาย ถ้าไม่เข้าใจก็จะเป็นแบบนกแก้ว แก้วจ๋า แก้วจ๋า แต่ไม่รู้คุณค่าของแก้ว ถ้าจะให้ได้ผลเต็มที่ต้องเข้าใจด้วย เพื่อจะได้รู้คุณค่าของพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ ที่เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติตามได้ สักวันก็จะได้เป็น สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน จะได้ธรรมที่เป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม มาครอบครอง พอมีธรรมะ ก็จะเห็นพุทธะ

 

ถาม  ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีบุตรที่มีโรคประจำตัว เป็นกรรมของลูก พ่อแม่ก็ทุกข์ไปด้วย ควรจะยึดหลักอย่างไรในการเลี้ยงดู

 

ตอบ  ต้องแยกแยะว่าบุตรกับตัวเราเป็นคนละส่วนกัน เวลาบุตรเจ็บไข้ได้ป่วยเรามีหน้าที่ดูแลรักษาหายาหาหมอก็ทำไป แต่ไม่ต้องไปทุกข์กับเขา ไม่ได้ทำให้โรคภัยไข้เจ็บของเขาหาย แต่กลับจะทำให้เราทุกข์ เป็นการทำร้ายตัวเอง เป็นอกุศลทางจิตใจ ที่เราจะต้องระงับ ลูกเป็นอะไรเราก็ดูแลอย่างเต็มที่ แต่ต้องยอมรับว่าเขามีกรรมของเขา ชาติก่อนเขาเคยไปทำบาปทำกรรมมา จึงทำให้เขาต้องประสบเคราะห์กรรม แต่ก็เป็นบุญของเขาที่ได้มาเกิดเป็นลูกของเรา ที่มีความเมตตาต่อเขา เราก็ทำได้เท่านี้ อย่าไปเสียใจ ทุกคนต้องเป็นเหมือนกัน ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็เป็น เราก็ต้องเป็น ทุกคนที่อยู่ในศาลานี้ก็ต้องเป็นกันหมด เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของการมาเกิด ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็จะหักห้ามความเศร้าโศกเสียใจได้ เพราะเห็นว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครดีหรือเลวกว่ากันในเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย

 

ถาม  มีความเชื่อว่า ถ้าได้แบ่งความทุกข์ของคนที่เรารักมา จะทำให้ความทุกข์เบาบางลงไป เช่นความทุกข์ของลูกหรือบิดามารดา ถ้าได้ร่วมทุกข์ด้วยกัน จะทำให้ทุกข์นั้นเบาบางลงไป เพราะได้ช่วยแบ่งกันทุกข์

 

ตอบ  ก็มีบางส่วน เวลาเรามีความทุกข์แล้วคนอื่นเห็นใจเรา ก็ทำให้เราทุกข์น้อยลงได้

 

ถาม  อาจจะเป็นปาฏิหาริย์ที่ทุกข์น้อยลง เพราะมีคนมาแบ่งเอาความทุกข์ไป

 

ตอบ  ความจริงเราไปแบ่งความทุกข์ของคนอื่นมาไม่ได้หรอก แต่แสดงความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจเขาได้ เขาก็อาจมีกำลังใจขึ้นมา ทำให้ความทุกข์น้อยลง ถ้าไม่มีใครเหลียวแล ไม่มีใครดูแล ก็อาจจะทำให้ทุกข์มากขึ้น ความจริงเราสามารถดับความทุกข์ใจดับได้หมดเลย ถ้ายอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องเป็นอย่างนี้ จะไม่ทุกข์ใจเลย ส่วนทุกข์ทางร่างกายนี้ไม่รุนแรงเลยเมื่อเทียบกับทุกข์ทางใจ เป็น ๑ ต่อ ๑๐ ความทุกข์ของร่างกายหนัก ๑ เท่า ทางใจหนัก ๑๐ เท่า ถ้าจิตไม่ทุกข์ร่างกายเจ็บปวดนิดเดียว พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์จึงไม่หวั่นไหวกับความตาย กับความเจ็บไข้ได้ป่วย พระปฏิบัติบางท่านไม่กินยา ไม่ไปโรงพยาบาล เพราะไม่ได้เจ็บ ๑๐ เท่า เจ็บเพียงเท่าเดียว ใจไม่ได้เจ็บ เจ็บแต่กาย ใจปล่อยกายได้ ถ้าจะตายก็ให้ตายไป จะหายก็หาย ใจไม่วุ่นวาย ไม่ได้เจ็บด้วย ใจไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยด้วย ถ้าใจเป็นทุกข์ด้วย แม้จะเป็นโรคเล็กๆน้อยๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นถือว่าเป็นบาปของดิฉันเองใช่ไหมคะ เพราะดิฉันมีความทุกข์กับคนที่ดิฉันรัก

 

ตอบ  ใช่ เป็นความโง่ ยังไม่มีปัญญา เป็นอกุศล สร้างความทุกข์ให้กับตัวเองทำไม เป็นเรื่องคนอื่น เรื่องชาวบ้าน เราไม่เกี่ยว

 

ถาม  เกี่ยวซิคะ เพราะผูกพันกัน

 

ตอบ  ความผูกพันเป็นกิเลส เป็นอุปาทาน เพราะไม่เห็นด้วยปัญญาว่า ไม่มีความผูกพันต่อกันเลย เป็นเพียงสมมติ พวกเราเป็นเหมือนตัวละคร แต่เราเล่นกันจริงกันจังเหลือเกิน

 

ถาม เธอเป็นภรรยาผมครับ คุยกันที่บ้านหลายทีไม่รู้เรื่อง อย่างที่หลวงพ่อพูดถูกมากเลย ผมก็เคยบอกว่าเราไปโง่ทำไม

 

ถาม          เวลาปฏิบัติสมาธิเกิดเวทนามาก ปวดขามากๆ ก็พยายามกำหนดว่าปวดหนอๆ ยิ่งกำหนดยิ่งเจ็บ อยากเปลี่ยนอิริยาบถ โดยการเดินจงกรมแทน

 

ตอบ  ถ้าเกิดการเจ็บขึ้นมา เป้าหมายของการปฏิบัติต้องการปล่อยวาง ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ จะปวดก็ปล่อยให้ปวดไป  วิธีที่จะปล่อยวางได้มี ๒ วิธีด้วยกันคือ ๑. อุบายแห่งสมถะคือสมาธิ  ๒. อุบายแห่งวิปัสสนาคือปัญญา อุบายแห่งสมถะคืออย่าไปสนใจกับความเจ็บปวด หันกลับเข้าหาพุทโธ  แล้วบริกรรมพุทโธๆต่อไป อย่าไปสนใจกับความเจ็บปวด ความเจ็บปวดก็จะไม่เข้ามาในใจ  ก็จะไม่กระวนกระวาย  พอใจสงบความเจ็บปวดก็จะไม่กระทบใจสามารถนั่งต่อไปได้

 

ถาม  ได้ลองปฏิบัติดู แต่เจ็บมาก

 

ตอบ  เป็นธรรมดา ตอนนั้นจิตเราเครียดด้วย นั่งสมาธิใหม่ๆใจร้อน  ต้องต่อสู้กับกิเลสจึงเครียด ถ้าสามารถเกาะติดกับพุทโธหรืออารมณ์ที่เป็นองค์ภาวนาได้ ก็จะลึกเข้าไปเรื่อยๆ เรื่องต่างๆ ภายนอกจะห่างไปเรื่อยๆ เช่นคุยกันตอนนี้ เราไม่สนใจกับเสียงอื่น เรามีสมาธิอยู่กับการคุยกัน เสียงจะดังขนาดไหน ก็ไม่รบกวนใจ ถ้าส่งไปหาเสียงอื่นก็จะคุยไม่รู้เรื่อง จะรำคาญใจ อยากให้เสียงที่รบกวนหายไป ก็ยิ่งรำคาญใหญ่ เช่นเดียวกับการนั่งสมาธิ พอเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา แสดงว่าใจไม่ได้อยู่กับพุทโธ ถ้าไปอยู่ที่ความเจ็บปวดก็จะยิ่งเจ็บ     ยิ่งอยากให้หายเจ็บ ยิ่งปวดมากขึ้น มีความปวดซ้อนขึ้นมาในใจ ปวดกายแล้ว ต้องปวดใจอีก กระวนกระวายกระสับกระส่าย เป็นทุกข์ทางใจ เพราะกลัวความเจ็บปวดทางร่างกาย ต้องดึงใจออกจากความเจ็บปวดเข้ามาหาองค์ภาวนา บริกรรมพุทโธให้ถี่ยิบ ไม่ให้จิตมีโอกาสเล็ดลอดไปหาความเจ็บปวด ถ้าทำได้จิตก็จะรวมลงได้ พอรวมลงแล้วบางทีก็หายไปหมด ทั้งความเจ็บปวด ทั้งความรับรู้ร่างกาย มันหายไป เหลือแต่จิตอยู่ตามลำพัง สงบนิ่งเย็นสบาย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คืออุบายสมาธิ เพื่อการปล่อยวางเวทนา

 

        ถ้าใช้อุบายวิปัสสนา ก็ต้องยอมรับว่าเวทนาเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป เหมือนกับลาภยศสรรเสริญสุข มีการเจริญแล้วเสื่อมเป็นธรรมดา ถ้าไม่ยึดติด อะไรจะเจริญก็ให้เจริญไป อะไรจะเสื่อมก็ปล่อยให้เสื่อมไป เวลาเกิดเจ็บปวดขึ้นมาก็บอกว่า อยากจะเจ็บก็เจ็บไป แต่ใจจะไม่เจ็บไปด้วย    ใจจะนิ่งเฉย ไม่วุ่นวาย ปล่อยให้เจ็บให้พอ เดี๋ยวก็หายไปเอง ถ้าทำใจได้ ปล่อยวางได้ ยอมรับความเจ็บปวด เหมือนกับฝนตก กำลังจะไปข้างนอก พอดีฝนตกลงมา ถ้ารับไม่ได้ ใจจะกระสับกระส่าย เพราะนัดกับคนนั้นคนนี้ไว้ จะทำอย่างไรดี ก็จะกระสับกระส่าย ถ้ารู้ว่าทำอะไรไม่ได้ ยอมรอให้ฝนหยุดก่อนแล้วค่อยไป ก็นั่งเฉยๆอยู่ในบ้าน ก็จะไม่กระสับกระส่าย ไม่ทุกข์ อยู่เฉยๆได้

 

ถาม  เคยมีประสบการณ์ เวลานั่งสมาธิเพลินๆ ก็ปวดเป็นเหน็บชาอย่างรุนแรง ก็มองมันวูบเดียวมันก็หายไป เหมือนไม่เคยเจ็บปวดเลย

 

ตอบ  ถูกแล้ว ต้องปล่อย อย่าไปอยาก พอมันเจ็บชา อยากจะให้มันหาย ก็จะสร้างความเจ็บทางใจขึ้นมา ที่มีความรุนแรงมาก จนทำให้นั่งต่อไปไม่ได้

 

ถาม  มันจะหายเจ็บถ้าดึงจิตกลับมาที่คำภาวนา ปกติเวลานั่งจะดูลม    พอถึงจุดหนึ่งลมก็จะไม่มี แต่เวทนารุนแรงมาก พอมองเฉยๆ มันก็หายไป

 

ตอบ  ใจเราไม่หวั่นไหว ไม่ได้อยากให้หาย ดูเฉยๆ ปล่อยวาง

 

ถาม  ถ้าทิ้งการภาวนาไปอาทิตย์สองอาทิตย์ พอกลับมาทำใหม่ เวทนาแรงเหน็บชากิน เหมือนฝึกหัดใหม่ รับไม่ได้

 

ตอบ  นิสัยเราชอบหนีความทุกข์ พอร้อนหน่อยรีบเปิดแอร์ แทนที่จะปล่อยให้มันร้อนไป เราพยายามหนีทุกขเวทนาตลอดเวลา พอนั่งสมาธิ เจอทุกขเวทนาหน่อย  ก็ทนไม่ได้ ควรฝึกทำใจให้เฉยๆกับทุกขเวทนา        ร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป หนาวก็หนาวไป ใจก็จะปล่อยวาง  เข้าสู่อุเบกขา  เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย

 

ถาม  ถ้าปวดมะเร็ง

 

ตอบ  เหมือนกัน ทำใจเฉยๆ ถึงแม้ความเจ็บปวดทางร่างกายจะไม่หายไป แต่จะไม่กระทบใจ  ใจไม่เจ็บ เพราะไม่ได้อยากให้มันหาย  ถ้าอยากก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ก็ยังไม่หาย ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้น จนทนไม่ได้ถึงกับอยากตาย  บางคนพอไปเจอโรคภัยไข้เจ็บ เจ็บปวดตลอดเวลา แต่ทำใจให้เป็นอุเบกขาไม่ได้ ก็อยากจะตาย คนที่ถึงขั้นสุดท้ายของโรค ก็อยากจะตาย เพราะไม่ได้ฝึกทางด้านจิตใจ ถ้าฝึกมาจะรู้ว่าใจไม่ได้ป่วย ป่วยเพียงครึ่งเดียว คือป่วยกาย ป่วยเพียงเสี้ยวเดียว        เพียง ๑ ส่วนเท่านั้นเอง แต่อีก ๑๐ ส่วนไม่ได้ป่วยด้วย ใจไม่ป่วย ป่วยแต่กาย    สามารถอยู่อย่างปกติได้  อยู่จนถึงลมหายใจสุดท้ายได้ เป็นผลจากการได้ฝึกจิต ปล่อยวางเวทนาได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ต้องมีโรงพยาบาล ไม่ต้องมีหมอ  มีตามอัตภาพ อาศัยหมอสมุนไพร มียากินก็กินไป ถ้าหายก็หาย ไม่หายก็จบ แต่ใจไม่กังวลวุ่นวาย เพราะไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย        มีปัญญาเห็นแล้วว่าใจไม่ได้เป็นอะไร ถ้าไม่มีปัญญาใจก็จะวุ่นวาย เหมือนไปวุ่นวายกับความเป็นความตายของคนอื่น  ทั้งๆที่เราไม่ได้เป็นอะไรด้วยเลย ไปวุ่นวายกับเขาทำไม เกิดประโยชน์อะไร  อาจทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยไปด้วย  ถ้าเครียดมากๆ ทุกข์มากๆ ก็จะกระทบกับร่างกาย ทำให้เกิดโรคขึ้นมา ถ้าอยากจะทุกข์ด้วยก็ไม่มีใครห้าม เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน อยากจะทุกข์ก็ทุกข์ไป

 

ถาม  ช่วยกันแบ่งทุกข์ ก็เป็นความสุขลึกๆ 

 

ตอบ  แบ่งเบาความทุกข์ทางร่างกายได้ ถ้าไม่มียารักษาโรค ก็หายามาให้เขา แต่จะแบ่งความทุกข์ทางใจไม่ได้ ได้แต่ทางกายเท่านั้น  สอนธรรมะให้เขาได้ เพื่อให้เขาดับทุกข์ของเขาเอง เช่นพระพุทธเจ้าทรงโปรดพระราชบิดา ๗ วันก่อนสวรรคต ทรงสอนจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  ดับทุกข์ในใจได้หมดเลย ถ้าแบ่งปันความทุกข์ก็ต้องแบ่งอย่างนี้  แบ่งด้วยธรรม สอนให้ปล่อยวาง  จะตายก็ตาย อย่าเสียดายร่างกายนี้ ต้องตายด้วยกันทุกคน  ยิ่งยื้อยิ่งทุกข์ 

 

ถาม  อาจจะเป็นเพราะดิฉันมีบุญทางนี้น้อย ดิฉันมีลูกน้องที่ทำความเสียหายเรื่อยๆ ดิฉันก็ปล่อยวางไม่ได้  ก็จะต้องสอนเขา   แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไร    

 

ตอบ  การปล่อยวางไม่ได้ห้ามให้สอนเขา  หมายถึงปล่อยวางทางใจ ไม่ไปทุกข์กับเขา  เขาทำอะไรผิด ก็อย่าไปหงุดหงิดรำคาญใจ โมโหโทโส ปล่อยวางทางอารมณ์ ทางใจ แต่การว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนเพื่อทำให้ถูกนี้  ต้องทำไปตามหน้าที่ถ้าทำได้  ถ้าเขาเชื่อฟังก็ดี ถ้าพูดไปแล้วทำเป็นหูทวนลม ก็อย่าไปพูดให้เสียเวลา ปล่อยวางทางอารมณ์  อย่าไปวุ่นวายกระสับกระส่ายกับเรื่องของคนอื่น เพราะเป็นโทษกับตัวเรา เวลาเรากระสับกระส่ายกับเวลาเราสบายใจมันต่างกัน