กัณฑ์ที่ ๓๗๓       ๒๓  กันยายน ๒๕๕๐

 

อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 

 

 

          ที่นี่สอนเรื่องใจอย่างเดียว เพราะสำคัญที่ใจ  ใจคือตัวรู้ แต่ใจกลับไม่รู้ใจ  ปัญหาอยู่ตรงนี้ เพราะถูกตัวหลงครอบงำอยู่ เลยรู้ไม่จริง รู้ผิดเป็นชอบ จึงสร้างปัญหาให้กับตน ไม่มีใครรู้ว่าความหลงเกิดขึ้นมาได้เมื่อไร ได้อย่างไร แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงทราบ มีติดมากับจิตทุกดวง  มีความหลงมีอวิชชาเป็นเจ้านาย อวิชชา ปัจจยา สังขารา  อวิชชาเป็นผู้ครอบงำจิต เป็นผู้สั่งให้จิตคิดไปในทางที่ไม่ถูก   คิดไปในทางที่ไม่เป็นจริง   เคยทรงย้อนกลับไปในอดีตชาติ เพื่อหาต้นตอของอวิชชาว่าโผล่ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ไม่มีต้นตอ ย้อนไปเท่าไหร่ก็มีอวิชชาอยู่กับใจเสมอ เป็นเรื่องแปลกที่มีคนอย่างพระพุทธเจ้า ที่มีสติปัญญาความฉลาด พอที่จะมองทะลุความหลงนี้ได้ เพราะความหลงก็ครอบงำจิตของพระพุทธเจ้าด้วย แต่ทรงสามารถเห็นว่าอวิชชานี้เองที่เป็นปัญหา มีคนน้อยมากที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตนเอง ว่าจิตนี้ถูกอวิชชาความหลงความไม่รู้จริงครอบงำอยู่ ถ้าเป็นคนอื่นก็ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟัง พระพุทธเจ้าจึงมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพระอรหันตสาวก มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว แต่มีพระอรหันตสาวกเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน เพราะคนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องเป็นหัวกะทิจริงๆ    เป็นสุดยอดของสติปัญญา

 

          จึงเป็นวาสนาเป็นบุญของพวกเรา ที่ได้มาเกิดในช่วงที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ ที่จะพาให้เราหลุดพ้นจากความหลงนี้ได้  ถ้ามาเกิดในยุคในสมัยที่ไม่มีพระธรรมคำสอน ก็จะไม่มีโอกาสที่จะโงหัวขึ้นมา จากการครอบงำของอวิชชาของโมหะความหลงนี้ได้เลย ทำได้อย่างมากก็แค่ฌานแค่สมาธิ  เช่นพระอาจารย์สองรูปของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตายไปก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรากฏขึ้นมา จึงไม่มีใครสั่งสอนให้รู้เรื่องอวิชชา รู้วิธีดับอวิชชาความหลง จึงได้เพียงฌานสมาบัติ ได้รูปฌาน ได้อรูปฌาน ที่อยู่ในระดับสมาธิ แต่ยังไม่ได้ปัญญาหรือโลกุตรธรรมหรือวิปัสสนาญาณ ที่จะเห็นต้นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดของความทุกข์ ว่าเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลงที่ครอบงำจิตใจ  พระพุทธเจ้าทรงเสียดายที่พระอาจารย์สองรูปได้จากไปก่อน  ก่อนที่จะได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  จึงไม่ได้รับประโยชน์    ถ้าอยู่ต่ออีกเพียง ๗ วันหรือเพียงอีกวันเดียว แล้วได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าหลุดพ้นได้อย่างไร ก็จะสามารถหลุดพ้นได้   เพราะมีบารมีพอ มีศีล มีสมาธิ แต่ขาดปัญญาเท่านั้นเอง  การเจริญปัญญาจะไม่ยากเลย ถ้ามีศีลมีสมาธิคอยสนับสนุน  พอพูดคำเดียวก็จะเข้าใจทันที  

 

          ดังที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์แสดงเพียงกัณฑ์เดียว พระอัญญาโกณฑัญญะก็มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา   เห็นการเกิดการดับของสิ่งทั้งหลายว่าเป็นธรรมดา   ธรรมอันใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา  เข้าใจว่านี่คือหลักความจริง ก็จะไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ ไม่เศร้าโศกเสียใจเวลาที่สิ่งต่างๆจากไปดับไป  เวลาร่างกายตายไป  เพราะรู้แล้วว่าเป็นธรรมดา เหมือนกับการขึ้นกับการตกของพระอาทิตย์ว่าเป็นธรรมดา   พวกเราก็เห็นก็เข้าใจกัน  จึงไม่ยึดติดกับการขึ้นการตกของพระอาทิตย์  ไม่ดีใจเวลาพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมา ไม่เสียใจเวลาพระอาทิตย์ตกลงไป   แต่เรายังหลงอยู่กับเรื่องของร่างกาย  เวลาได้ลูกก็ดีอกดีใจกัน เวลาเสียลูกไปก็ร้องห่มร้องไห้   เพราะยังไม่เห็นด้วยปัญญา ว่ามีการเกิดมีการดับเป็นธรรมดา  เป็นของคู่กัน  เห็นแต่สิ่งที่ไกลตัว  เช่นพระอาทิตย์  แต่เรื่องของร่างกายกลับไม่เห็น ร่างกายก็เหมือนกับพระอาทิตย์ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  พอร่างกายนี้ตายไป  จิตก็ไปหาร่างกายใหม่  กลับมาเกิดใหม่ ได้ร่างกายใหม่  แต่เป็นจิตดวงเดิม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิต    ก็จะเสียอกเสียใจ  ว่าเสียพ่อเสียแม่ เสียพี่เสียน้อง เสียสามี เสียภรรยา เสียลูกไป  แต่ความจริงไม่ได้เสีย เดี๋ยวก็กลับมาอีก ถ้ามีบุญบารมีพอ ก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก  แต่อาจจะไม่ได้มาเกิดใกล้กับเรา อาจไปเกิดอยู่อีกทวีปหนึ่ง อยู่อีกฟากหนึ่ง อยู่อีกจังหวัดหนึ่ง อยู่อีกหลายร้อยปีข้างหน้าก็ได้  แต่เขาก็ไม่ได้ไปไหน เพราะใจเป็นของไม่ตาย

 

          ร่างกายเป็นเหมือนเสื้อผ้าของใจ พอขาดแล้วก็ทิ้งมันไป หาชุดใหม่มาใส่ จะได้ร่างกายแบบไหน ก็อยู่ที่บุญที่บาปที่ได้ทำไว้       ถ้าทำบาปไว้มากพอถึงเวลาต้องใช้หนี้ ก็ได้ร่างกายของเดรัจฉานมาใส่ ของสุนัขของแมวมาใส่   ถ้าถึงวาระของบุญที่ได้ทำไว้ส่งผลก็ได้ร่างมนุษย์มาใส่ หรือไม่เช่นนั้นก็ได้กายทิพย์  เป็นเทพ เป็นพรหม  จนกว่าจะหมดบุญของเทพของพรหม ก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าถึงวาระของบาปส่งผลก็ต้องไปเป็นเดรัจฉาน ไปเป็นกายทิพย์ฝ่ายต่ำ เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นกายทิพย์ที่มีแต่ความรุ่มร้อน  มีแต่ความทุกข์   มีแต่ความหิวความกระหาย ต่างกับกายทิพย์ของเทพของพรหม ที่มีแต่ความสุข ความเย็น ความสบาย เป็นอานิสงส์ของทานของศีลของสมาธิ  ส่วนเปรตอสุรกายและสัตว์นรก เป็นอานิสงส์ของบาปกรรม   ไม่ได้เป็นใครที่ไหนที่เป็นกายทิพย์ชนิดต่างๆ นอกจากใจนี่เอง แม้ขณะนี้ที่เป็นมนุษย์อยู่นี้ ใจก็เป็นกายทิพย์ จะเป็นในระดับไหนก็ขึ้นอยู่ว่ากำลังทำอะไรอยู่  ถ้าทำบุญก็มีกายทิพย์ระดับของมนุษย์บ้างของเทพบ้างของพรหมบ้าง  ถ้าทำบาปก็มีกายทิพย์ของเดรัจฉาน  ของเปรต ของอสุรกาย ของสัตว์นรกบ้าง  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีร่างกายมนุษย์แล้ว กายทิพย์จะเป็นมนุษย์อยู่ตลอดเวลา แต่จะเปลี่ยนไปตามบุญตามกรรม ที่กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน   เวลาที่โกรธเครียดกินไม่ได้นอนไม่หลับ ตอนนั้นกายทิพย์ก็เป็นนรกไป   ถ้ามีความเย็นมีความสุขมีความสบายก็เป็นเทพไป    ถ้าสงบนิ่งอยู่ในสมาธิก็เป็นพรหมไป    ถ้ามีปัญญาเห็นไตรลักษณ์  เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติดกับอะไร ก็เป็นกายทิพย์ของพระอริยเจ้าไป

 

          ทั้งหมดนี้คือใจทั้งนั้น ที่เรียกว่ากายทิพย์ ก็คือใจนี้เอง เป็นกายทิพย์ชนิดต่างๆ   มีบุญกรรมเป็นผู้ปรุงแต่ง เหมือนกับน้ำเปล่า เราสามารถปรุงแต่งให้เป็นน้ำชนิดต่างๆได้    เป็นน้ำอัดลมมีฟอง มีลมอยู่ในน้ำ  มีกลิ่นมีสีมีรส เป็นได้หลากหลาย  เป็นน้ำทั้งนั้น  เพียงแต่มีส่วนอื่นมาผสมปรุงแต่งกัน  ใจก็เป็นเหมือนน้ำที่ได้รับการปรุงแต่งจากกรรมที่เราทำกัน   จากการกระทำทางกายวาจาใจ   กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม   ทำไปแล้วก็ทำให้ใจเป็นกายทิพย์ชนิดต่างๆ     ถ้าอยากจะรู้ว่าในปัจจุบันกายทิพย์ของเราเป็นชนิดใด  ก็ดูตอนที่นอนหลับ   ถ้าฝันดีก็เป็นเทพ    ถ้าหลับนิ่งไม่ฝันเลยก็เป็นพรหม    ถ้าหิวโหยกระหายอยากก็เป็นเปรต ถ้าหวาดกลัวก็เป็นอสุรกาย บางคนต้องตื่นขึ้นมาเปิดตู้เย็นหาของกิน นั่นแหละเปรตกำลังออกมา แต่เป็นเพียงชั่วคราว  ไม่ถาวร เป็นเหมือนหนังตัวอย่าง     ขณะที่ร่างกายยังเป็นมนุษย์อยู่นี้     ใจจะได้เสพสัมผัสกับหนังตัวอย่าง   ของเทพ ของพรหม ของเดรัจฉาน ของเปรต ของนรก    พอร่างกายตายไป จะเป็นกายทิพย์แบบไหน   ก็อยู่ที่กรรมที่เป็นเหมือนวัวปากคอก     ถ้าเป็นกรรมดีก็จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์  ถ้าเป็นกรรมไม่ดีก็ไปตกนรก   ไปเป็นเปรต  เป็นอสุรกาย เป็นเดรัจฉาน

 

         

          นี่คือเรื่องของใจ   เป็นต่างๆกันไป เพราะกรรมเป็นเครื่องจำแนกแยกสัตว์  กรรมนี่แหละที่ทำให้เป็นกายทิพย์ชนิดต่างๆ  ถ้าเป็นกุศลกรรม    ก็ได้เป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า เช่นทานศีลภาวนา  เป็นกุศลกรรมที่จะทำให้กายทิพย์บริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ   เหมือนเอาน้ำที่มีสีมีกลิ่นมีรสเทใส่เครื่องกรองน้ำ   เพื่อกรองเอาสีออก เอากลิ่นออก เอารสออก จนเหลือแต่น้ำสะอาดบริสุทธิ์   ใจของเราก็เหมือนกัน  ถ้าผ่านการกรองด้วยทานด้วยศีลด้วยภาวนา ก็จะบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับ  กิเลสคือความโลภความโกรธความหลง ก็จะถูกแยกออกจากใจ เหลือแต่ใจที่สะอาดบริสุทธิ์  ไม่มีเชื้อที่จะพาให้ไปเกิด เช่นใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันต์ ได้รับการกรองด้วยธรรมะ  ด้วยบารมีทั้ง ๑๐   สรุปลงสั้นๆคือทานศีลภาวนา เป็นธรรมอันเดียวกัน      มรรค ๘  ทานศีลภาวนา บารมี ๑๐  พละ ๕ อิทธิบาท ๔ เป็นธรรมอันเดียวกัน  มีรูปลักษณ์ที่ต่างกันเล็กน้อย เน้นบางอย่าง ไม่เน้นบางอย่างเท่านั้นเอง   มหาสติปัฏฐานสูตรก็เช่นเดียวกัน  เป็นตัวกรองเหมือนกัน    เพียงแต่ในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้เน้นเรื่องสติเป็นหลัก       ในบารมี ๑๐ ก็เน้นเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องเนกขัมมะ เรื่องปัญญา เรื่องเมตตา    แล้วแต่จะทรงแสดงเพื่อความหลากหลาย   เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป    แต่ก็เป็นมรรคทั้งนั้น    เป็นตัวกรองจิตกรองใจ   แยกกิเลสให้ออกจากใจ   กิเลสไม่ได้ออกจากใจด้วยการอธิษฐานอยากได้ เช่นทำบุญใส่บาตรก็อธิษฐานขอให้ไปถึงพระนิพพาน  ไปไม่ถึงหรอก ถ้าทำบุญอย่างเดียวไม่รักษาศีล   ต้องกรองหลายชั้น    ไม่ใช่กรองเพียงชั้นเดียว  ถ้ากรองชั้นเดียวก็กรองได้เพียงบางส่วน ทำบุญอย่างเดียวก็กรองได้เพียงบางส่วน  จะไม่ทำให้กิเลสหมดไป ไม่ทำให้จิตสะอาดบริสุทธิ์   ต้องกรองทั้งทานทั้งศีลทั้งภาวนา   ภาวนาเป็นตัวกรองส่วนที่ละเอียด  ทานเป็นตัวกรองส่วนที่หยาบ   กรองส่วนหยาบไปก่อน      ศีลก็กรองส่วนที่ละเอียดขึ้นไป   สมาธิก็ยิ่งละเอียดเข้าไปอีก   ปัญญาก็ยิ่งละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ    เพราะกิเลสมีหลายขนาด มีขนาดหยาบ ขนาดกลาง ขนาดละเอียด     เครื่องกรองก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

 

          ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน   พวกเราไม่มีทางหรอก     ขนาดสั่งสอนก็ยังไม่ทำกันเลย   ถ้าไม่มีก็อย่าไปฝันเลย  แต่บางคนอาจจะดีใจเสียด้วยซ้ำไป ไม่มีจะดีกว่า จะได้อยู่ไปตามประสากิเลส  สุขบ้างทุกข์บ้าง   มีพระอยู่รูปหนึ่งเห็นพระรูปอื่นร้องห่มร้องไห้ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ไป ก็บอกว่าร้องไปทำไม  ดีเสียอีกไม่มีใครมาสอนมาว่ากล่าวตักเตือน    เป็นเหตุทำให้พระมหากัสสปะเกิดความวิตกว่า พระพุทธเจ้าเพิ่งดับขันธ์ไปได้ไม่นาน ก็มีความรู้สึกอย่างนี้ปรากฏขึ้นในหมู่สงฆ์แล้ว  กลัวจะขยายไปเรื่อยๆ   จึงต้องจัดการสังคายนา   รวบรวมพระธรรมคำสั่งสอนต่างๆ  ให้เป็นกิจจะลักษณะ   มีพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปเป็นผู้สังคายนา    เพื่อจะได้กันความสงสัย ว่าสิ่งนี้ทรงสอนหรือไม่อย่างไร     เพราะรู้แล้วว่าพอไม่มีพระศาสดาแล้ว  จิตของคนก็จะเริ่มห่างจากธรรมะ    เหมือนลูกศิษย์ที่ครูบาอาจารย์ตายจากไป   ก็จะแตกกระจายกัน   ถ้ามีอะไรไว้ยึดเกาะได้ก็ยังพอไปได้ จึงต้องรวบรวมพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ให้เป็นกิจจะลักษณะ  เพื่อผู้ที่มาปฏิบัติภายหลังจะได้ไม่สงสัย ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่  จะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ได้ประโยชน์

 

          จึงมีการสังคายนาครั้งแรก สามเดือนหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว  โดยมีพระอานนท์เป็นผู้แสดงพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้  เพราะพระอานนท์ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามาก มีความจำดี จำพระสูตรต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ได้มาก   ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ฟัง เพราะไม่ได้ตามเสด็จไป ก็ยังมีข้อแม้ให้พระพุทธเจ้ากลับมาแสดงให้พระอานนท์ฟัง  พระอานนท์จึงเป็นผู้แสดงในท่ามกลางสงฆ์ที่ทำการสังคายนา คือพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ที่กลายมาเป็นพระไตรปิฎก เป็นธรรมวินัยที่ปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน  ของสายเถรวาท    ถ้าเป็นสายมหายาน  ก็มีการตัดมีการปรับปรุง เพื่อให้เข้ากับสังคม  ไปอยู่ทางเหนืออากาศหนาวมาก ก็เลยไม่ได้ห่มจีวรอย่างที่เคยห่มกัน  กลับใส่กางเกงใส่เสื้อแทน   พระวินัยบางข้อก็ไม่รักษา เพื่อให้คล่องตัว แต่ทางสายเถรวาทถือว่าเคยรักษามาได้ในสมัยพระพุทธกาล   ก็น่าจะรักษาต่อไปได้  จึงไม่ลบล้างพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้  พยายามรักษากันมาทุกข้อจนถึงปัจจุบัน   มีบางพวกบางฝ่ายก็ยกเลิกข้อนั้นข้อนี้บ้าง  ก็เลยทำให้แยกเป็นสายต่างๆไป      แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของพระธรรมวินัย   เป็นเรื่องของกิเลสของคนที่มาเกี่ยวข้องกับธรรมวินัย  กิเลสชอบปรับธรรมวินัยให้เข้ากับกิเลส แทนที่จะปรับกิเลสให้เข้ากับธรรมวินัย   ก็เลยหย่อนยานลงไปเรื่อยๆ

 

          ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยครูบาอาจารย์รุ่นหลวงปู่มั่น  ลูกหลานของหลวงปู่มั่นก็มีความแตกต่างกัน ความเคร่งครัดความเข้มข้นจะแตกต่างกัน แต่ก็จะมีพระรูปอื่นมาฟื้นฟูความเคร่งครัดความเข้มข้นอีก  ปรากฏเป็นปฏิปทาสายใหม่ของพระองค์นั้นไป  มีอย่างนี้มาอยู่เรื่อยๆ  หลวงปู่มั่นท่านก็มีบุญบารมีมาก ได้ฟื้นฟูความเข้มข้นความเคร่งครัดในพระธรรมพระวินัย  จนปรากฏเป็นปฏิปทาสายพระอาจารย์มั่นขึ้นมา  มีลูกศิษย์ลูกหา มีครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสุปฏิปันโน  ให้เรากราบไหว้บูชากันเป็นจำนวนมาก  มีรุ่นลูกหลานปรากฏตามกันมา ความเข้มข้นก็ค่อยๆจางไป เหมือนกับกะทิที่คั้นจากมะพร้าว   น้ำแรกก็ข้นดี   พอน้ำที่สองก็จางลงไป   กะทิก็น้อยลงไป    น้ำก็มากขึ้น  จนกว่าจะได้มะพร้าวลูกใหม่มาคั้นใหม่     ก็จะได้ความเข้มข้นใหม่     คงจะเป็นอย่างนี้ไปจนกว่าจะหมดยุคของศาสนาคือประมาณ ๕๐๐๐ ปี    หลังจากนั้นแล้วคงไม่มีมะพร้าวลูกใหม่มาให้คั้น   ก็จะกลายเป็นน้ำกะทิที่มีแต่กลิ่น มีแต่รูปภาพให้ดู   แต่ไม่มีเนื้อมีหนังของกะทิเหลืออยู่     ก็ต้องรอให้มีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาปรากฏ    มาประกาศสั่งสอนพระธรรมคำสอนใหม่  เป็นรอบใหม่    เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้วในอดีต   พระพุทธเจ้าทรงเล่าถึงพระพุทธเจ้าที่ได้ปรากฏก่อนพระพุทธองค์อยู่ ๓ พระองค์   มีชื่อต่างๆ  พระองค์เป็นองค์ที่ ๔   และทรงกล่าวถึงองค์ที่  ๕  ที่จะมาต่อไป  คือพระศรีอารย์ พระศรีอารยเมตไตรย   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากพระศรีอารย์แล้ว จะไม่มีพระพุทธเจ้ามาปรากฏอีก   จะมีต่อไปอีกเรื่อยๆ   พระศรีอารย์ก็คงจะเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีต   และพระพุทธเจ้าที่จะมาในอนาคตอีก    จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ในจิตใจของสัตว์โลก   ถึงจะไม่มีการปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้า

 

          พวกเราจึงถือว่าโชคดี ที่ได้มาเกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนา มีโอกาสที่จะตักตวงประโยชน์จากพระศาสนา  คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด   ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้ตักตวง   ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด  ที่เหมือนกับการเดินทางในทะเลทราย  ไม่มีความสุขเลย  มีแต่ความร้อนแห้งผาก   ความหิวกระหาย      นานๆจะได้ไปเจอเกาะกลางทะเลทราย  ที่มีบ่อน้ำมีต้นไม้อยู่นิดหน่อย  ให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ   ไม่นานก็ต้องออกเดินทางต่อไปอีก    เพราะใจไม่มีความสุข    อยู่ที่ไหนก็ไม่พอใจ   ต้องหาอะไรมาเพิ่มอยู่เรื่อยๆ    อยู่ที่นี่ก็อยากจะไปที่โน่น   พอไปที่โน่นก็อยากจะกลับมาที่นี่   เพราะธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนี้  จะหลอกให้ไปหาสิ่งต่างๆอยู่เรื่อยๆ    พอถึงเกาะนี้แล้วแทนที่จะพักไปนานๆ     อยู่ได้เดี๋ยวเดียวก็เบื่อ    ต้องหาเกาะใหม่อีก    ต้องไปลุยกลางทะเลทรายอีก  จนกว่าจะไปถึงเกาะ ใหม่   แล้วก็ไปต่ออีก    เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ     มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วตายไป  ก็ต้องไปเกิดเป็นอย่างอื่นอีก   ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด   ถ้าตราบใดยังไม่ได้กำจัดต้นเหตุที่พาให้ไปเกิด  คือความโลภ ความโกรธความหลง   ที่หลอกให้ไปหาความสุขภายนอก  เพราะความหลงคือการไม่เห็นความสุขที่แท้จริง  ที่มีอยู่ในใจ   ที่เกิดจากความสงบระงับของความโกรธความโลภความหลง

 

          มันยากตรงนี้ ความหลงไม่เห็นโทษของตัวมันเอง  จึงไม่ทำลายตัวมันเอง  จะหลงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยการไปหาความสุขจากภายนอก  ที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่มีความทุกข์เจือปนอยู่ด้วย  เป็นความสุขที่ไม่ให้ความอิ่มความพอ   ได้เท่าไหร่ก็ต้องหาใหม่อยู่เรื่อยๆ     มีความสุขชนิดหนึ่งที่ให้ความอิ่มความพอ   ไม่มีความทุกข์เจือปน   แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน   ต้องมีพระพุทธเจ้ามาชี้บอก ว่าอยู่ในใจเรานี้เอง   จะเกิดขึ้นเมื่อได้ทำลายความโลภความโกรธความหลงให้หมดไปจากใจ  ด้วยการปฏิบัติธรรม ทำบุญทำทานรักษาศีลภาวนา   จึงอย่าไปรอพระพุทธเจ้าองค์ใหม่  ที่จะสอนวิธีปฏิบัติที่ง่ายกว่านี้   ไม่มี  เพราะทรงสอนเหมือนกันทุกพระองค์  สอนอย่างเดียวกัน  อย่าไปหวังว่าองค์หน้าจะสอนให้กดปุ่มเดียว  แล้วกิเลสจะหายวับไปเลย  อย่าไปหวัง    ต้องบำเพ็ญทานศีลภาวนา   ต้องอดข้าวเย็น   ต้องนอนบนพื้นแข็งๆ  ไม่มีห้องแอร์   ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะให้เสพ    สิ่งที่จะกำจัดกิเลสได้ต้องเป็นเนกขัมมะ   ต้องปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  อย่าไปหาการหลุดพ้นจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  เพราะไม่ทำให้หลุดพ้นได้   เพราะเป็นกับดักที่จะทำให้สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดไปไม่รู้จักจบจักสิ้น  จึงต้องเจริญเนกขัมมะบารมีกัน   ไม่ดูไม่ฟัง ไม่หาความสุขจากตาหูจมูกลิ้นกาย   แต่หาความสุขจากความสงบของใจ    ด้วยการทำทานรักษาศีลภาวนา  ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา   เพื่อวิมุตติความหลุดพ้นที่จะตามมาต่อไป

 

          จึงไม่ควรปล่อยโอกาสอันดีงามนี้ให้ผ่านไป ควรทุ่มเทชีวิตจิตใจเวลา ที่พอจะเบียดมาจากภารกิจต่างๆ  มาใช้ในทางนี้ให้มาก   เพราะทางนี้เป็นของจริง  ภารกิจทางโลกเป็นของปลอม เป็นของชั่วคราว ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว  แก้แต่ปัญหาระยะสั้น   ทำให้มีความสุขความเพลิดเพลิน  ไม่ต้องทุกข์ยากลำบาก  แต่เป็นเพียงชั่วคราว   ไม่เหมือนกับการแก้ปัญหาที่ถาวร  แก้อย่างถาวรต้องแก้ที่ใจ  ด้วยการกำจัดความโลภความโกรธความหลง   กำจัดอวิชชาที่เป็นต้นเหตุพาให้สัตว์โลกไปเวียนว่ายตายเกิด    ดังในปฏิจจสมุปบาทที่แสดงไว้ว่า อวิชชาปัจจยาสังขารา  สังขาราปัจจยา วิญญาณัง   วิญญาณังปัจจยานามรูปัง   ปัจจยาอายตนะ ผัสสะ เวทนา  ตัณหา อุปาทาน ภพชาติตามลำดับ   ถ้าดับอวิชชาตัวเดียว  สังขารวิญญาณและอื่นๆก็ดับตามไปหมด  ภพชาติก็ไม่มีอีกต่อไป  ต้องดับอวิชชาด้วยทานศีลภาวนา  ไม่ดับด้วยทานอย่างเดียว   ทานอย่างเดียวไม่พอ   ศีลก็ไม่พอ   สมถะก็ไม่พอ   ต้องวิปัสสนาด้วย    จึงควรแน่วแน่มั่นคงเชื่อมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ทำอย่างจริงจัง เพื่อจะได้เห็นผลอย่างจริงจัง  จะได้ทำให้ภารกิจนี้เสร็จสิ้นไปในชาตินี้เลย   ไม่เกิน ๗ ปี    ดังที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระมหาสติปัฏฐานสูตร

 

ถาม   จะทำภาวะจิตอย่างไรถึงจะได้เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ไปเสียเวลาเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นร้อยเป็นพันปี เสวยสุข ไม่เห็นทุกข์  จะทำอย่างไรให้เป็น วัวปากคอกที่จะออกมาเป็นมนุษย์

 

ตอบ   การไปเสียเวลาบนสวรรค์ ไม่เป็นการเสียเวลา เป็นการไปรับรางวัล ได้โบนัสไปเที่ยว   รอบโลก แล้วไปทำงานต่อ ดีกว่าไปใช้กรรม ไปติดคุก ติดตะราง เพราะถึงแม้จะเกิดเป็นมนุษย์ จะมีสักกี่คน ที่สนใจปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงๆ จังๆ เรื่องนี้ไม่ต้องไปกังวล ขอให้ได้เกิดอยู่ในสุคติก็         แล้วกัน ไปเป็นพรหมก็มีความสุข พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะบำเพ็ญต่อได้

 

ถาม   เทวดามี ๒ กลุ่ม กลุ่มที่ติดสุข กับกลุ่มที่ใฝ่ธรรม

 

ตอบ   อยู่ที่อุปนิสัยเดิม บุญบารมีมีหลายอย่างด้วยกัน ถ้าไม่เจริญทางด้านปัญญาบารมี ก็จะไม่ใฝ่ธรรม  ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะไม่ค่อยเข้าวัด จะไปทำงานทางด้านสาธารณกุศล อย่างพวกไฮโซ จัดงานหาเงินช่วยคน  อีกพวกใฝ่ธรรมเข้าวัด

                  

ถาม   ช่วงพุทธันดรยาวนานเท่าไร ช่วงรอยต่อระหว่างพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

 

ตอบ   ยาวกว่าช่วงที่มีศาสนา เพราะยาวเป็นกัป ช่วงที่มีพระพุทธศาสนา อาจจะยาว ๕๐๐๐ ปีบ้าง ๑๐๐๐๐ ปีบ้าง ขึ้นอยู่กับบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์  มนุษย์ในแต่ละยุคมีอายุยาวต่างกัน พวกเราเกิดในยุคที่มนุษย์มีอายุเพียง ๘๐ ปี  ๑๐๐ ปี  บางยุคมนุษย์มีอายุยาวเป็น ๑๐๐๐ ปีก็มี ก็ยังไม่ยาวเท่ากัป  กัปนี้ยาวจนนับไม่ได้ เท่ากับเวลาที่จะทำให้ภูเขาหิมาลัย ราบลงมาเป็นหน้ากลอง ด้วยการเอาผ้ามาลูบทุก ๑๐๐ ปี ลูบ ๑ ครั้ง ลูบไปเรื่อยๆทุก ๑๐๐ ปี จนกว่าภูเขาหิมาลัยจะราบลงมาเป็นหน้ากลอง  ก็จะได้ ๑ กัป

 

ถาม   อายุของพระพุทธศาสนาสั้นมาก

 

ตอบ   โอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนานี้ ยากยิ่งกว่าถูกรางวัลที่ ๑  ยากกว่าเป็นล้านเท่า เราได้โอกาสนี้แล้ว ถ้าไม่ตักตวงก็ช่วยไม่ได้

 

ถาม   ในสมัยพุทธันดร ถ้าเรามีอุปนิสัยในการปฏิบัติภาวนา เราก็ยังทำได้

 

ตอบ   สามารถทำบุญให้ทาน รักษาศีล นั่งสมาธิได้ เหมือนกับพวกปฏิบัติธรรมก่อนที่ พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้  ก็มีทำกันอยู่ แต่จะปฏิบัติไม่ถึงพระนิพพาน

 

ถาม   เป็นกลุ่มย่อย

 

ตอบ   มีเยอะ  พวกนี้พร้อมแล้ว เพียงแต่รอคนมาสอนขั้นสุดท้ายเท่านั้นเอง  พอพระพุทธเจ้าทรงเทศน์สอน  ก็จะหลุดพ้นทันทีเลย เช่นสำนักหนึ่งที่มีนักปฏิบัติอยู่  ๕๐๐  รูป  มีความเชื่อผิดๆ เช่นการบูชาไฟ ก็ทรงแสดงว่าไฟร้อนเหมือนกิเลส  ต้องกำจัดความร้อนของใจคือกิเลส  พอเขาหันมากำจัดความโลภโกรธหลง ก็บรรลุได้ทันที  เป็นพระอรหันต์พร้อมกัน ๕๐๐ รูปเลย  ในระยะเวลาเพียง  ๗ เดือนก็มีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมาถึง ๑๒๕๐  รูป ที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญ เดือน ๓    เจ็ดเดือนหลังจากที่ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน ๘  แสดงว่าพวกนี้ได้สะสมบุญบารมีมาเรื่อยๆ แต่มาติดตรงคอขวด ไม่มีใครมากระแทกให้คอขวดแตก  จะได้ออกไปกันได้    ติดอยู่ตรงนี้   ต้องรอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาทำลายคอขวดนี้ พอคอขวดแตก พระอรหันต์ก็ทะลักออกมาเป็น    พันเป็นหมื่น ขอให้ทำไปเรื่อยๆ อยู่ในระดับไหนก็ทำไป รักษาศีลไป ทำบุญทำทานไป ปฏิบัติไป ได้มากได้น้อยก็ทำไป ถ้าอยากจะได้มาก ต้องอดทนมาก ต้องกล้าหาญมาก ไม่กลัวความทุกข์ยากลำบาก ก็จะได้มากหน่อย เหมือนชาวนาชาวไร่ ถ้าขยันก็จะถางป่าได้มากปลูกต้นไม้ได้มาก ถ้าขี้เกียจเอาแต่พอกินไปวันๆก็จะได้น้อย พวกเราจะเอาแบบไหน  เอาแต่พอกินไปวันๆ   ทำไปตามกำลังตามสบาย  ถ้ายากหน่อยก็ไม่เอาแล้ว ก็จะไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนา

 

ถาม   ถ้าจะให้ได้ใน ๗ ปี ต้องออกจากเรือนหรือไม่

 

ตอบ   ไม่ออกจากเรือนก็ได้  แต่ต้องไม่หาความสุขจากรูปเสียง กลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องมักน้อยสันโดษ        ต้องภาวนาทั้งวันทั้งคืน ยกเว้นเวลานอนหลับเท่านั้น  ถ้าไม่เดินจงกรมก็นั่งสมาธิสลับกันไป      ทำอยู่สองอย่างนี้ แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรมะสลับกันไป

 

ถาม   พยายามทำให้เวลา ๒๔  ชั่วโมง เป็นสิ่งที่นอกธรรมะน้อยที่สุด

 

ตอบ   อยู่แบบพระ ถึงแม้ต้องทำมาหากิน ก็ไม่ห่างไกลจากธรรมะ เวลาพระบิณฑบาต ท่านก็สอนให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหว กับการบิณฑบาต หรือจะบริกรรมพุทโธไปก็ได้  เป็นฆราวาสก็ทำ      ได้แต่ก็ยากหน่อย  เพราะต้องคุยกัน  พอคุยสติก็หลุดไปเลย ไหลไปกับเรื่องราวต่างๆ  ถ้าเคยฝึกมาแล้วก็สามารถปฏิบัติได้ ถึงแม้จะคุยก็คุยด้วยสติ รู้ว่ากำลังคุยเรื่องอะไร  เช่นคุยเรื่องงานเรื่องการ วันนี้จะทำอะไร  พอคุยเสร็จก็กลับมาที่ธรรมะต่อ  ทำงานก็ให้มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำ อย่างนี้ถือว่าอยู่ใกล้ธรรมะ   ถ้าทำอย่างนี้จริงๆ ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า  ไม่รู้จะทำไปทำไม เอาเงินไปทำไม   เที่ยวก็ไม่เที่ยว  ถ้าต้องการธรรมะ   ก็ไม่ต้องใช้เงินแล้ว ที่ยังต้องการเงิน เพราะต้องเอาไปเลี้ยงกิเลส   ซื้อของที่กิเลสชอบ ไปดูไปฟังสุขภาพ ยังสมบูรณ์อยู่ ก็จะเฉยๆ  ไม่รู้ว่ายึดติดหรือไม่  พอเวลาใกล้จะตายถึงรู้ว่ายึดติดหรือไม่ยึดติด  ถ้ายึดติดก็จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย  กินไม่ได้นอนไม่หลับ  พอปล่อยวางได้ ตัดได้ จะตายก็ตาย ก็จะเบาสบาย  การปฏิบัติจึงต้องอาศัยเหตุการณ์และสถานที่ ที่จะกระตุ้นให้เลือกระหว่างการปล่อยวางกับการยึดติด  ถ้าไม่แน่ใจว่าปล่อยวางได้จริง หรือไม่  ก็ต้องไปอยู่ตามป่าตามเขา  ที่พระปฏิบัติต้องไปอยู่ตามป่าตามเขา เพราะต้องการพิสูจน์ว่าปล่อยร่างกายได้จริงหรือไม่  ต้องไปอยู่ใกล้เสือ  พอเสือร้องขึ้นมาใจยังเฉยอยู่หรือไม่   ถ้าใจสั่นแสดงว่ายังไม่ปล่อย ถ้าปล่อยแล้วต้องเฉย

 

ถาม   ขออุบายเวลาทำงาน บางทีเกิดโทสะให้อภัยยาก โดยเฉพาะทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานที่คุ้นเคยสนิทกันมา พอเกิดความไม่ชอบ  เขาจะทำอะไร เราจะคอยจับผิดเขา หรือโมโหเขา

 

ตอบ   ต้องโทษตัวเราว่าเรากำลังผิด ไม่ใช่เขาผิด ถึงแม้เขาผิดแต่เราผิดมากกว่าเขา  ที่ไม่ให้อภัยเขา ที่ไปจ้องจับผิดไปโกรธไปเกลียดเขา ซึ่งร้ายแรงกว่าสิ่งที่เขาทำผิด เหตุที่ทำให้เราโกรธ  ก็เพราะเราไปยึดติดกับงานของเรามากเกินไป  พอเาไม่ได้ทำตามที่เราต้องการ เราเลยโกรธ เพราะทำให้งานเสีย ถ้ามีความเมตตาแล้ว จะเลือกความเมตตามากกว่างาน  งานได้ก็ได้ไป  ไม่ได้ก็ช่างมัน ทำวันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ทำใหม่ก็ได้ คนนี้ทำไม่ได้ก็หาคนใหม่มาทำแทน แต่ไม่ต้องไปโกรธไปเกลียดเขา เพราะความโกรธความเกลียดเป็นโทษ เป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่า  ต้องเห็นความผิดที่อยู่ในตัวเรา        เห็นว่าความโกรธความเกลียดเป็นโทษ เป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่าการกระทำผิดพลาด      ของเขา  เขาอาจจะไม่ตั้งใจก็ได้ หรืออาจจะตั้งใจก็ได้ ไม่เป็นไร ข้อสำคัญคืองานนี้ไม่สำคัญอะไร เมื่อเปรียบเทียบกับงานภายในใจของเรา

 

ถาม   ความยึดติดในงานกับความรับผิดชอบในงาน เหมือนจะใกล้ๆกัน

 

ตอบ   ต่างกันตรงที่อารมณ์  ถ้าเป็นความรับผิดชอบก็ทำไปด้วยเหตุด้วยผล  ไม่มีอารมณ์ ไม่กังวล ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เสร็จก็เสร็จ ไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ  ทำเต็มที่แล้ว

 

ถาม   ถ้าสมมติว่างานนี้ต้องเสร็จ ถ้าไม่เสร็จแสดงว่าเราไม่รับผิดชอบ

 

ตอบ   ไม่ใช่  เราอาจจะไม่มีความสามารถพอ หรือมีอุปสรรคที่เราไม่สามารถแก้ได้  ถ้าเจ้านายไม่พอใจ อย่างมากก็ให้เราหางานใหม่  ถ้าเราทำเต็มความสามารถของเราแล้ว  แสดงว่าเรารับผิดชอบเต็มที่แล้ว 

 

ถาม   หมายความว่า ถ้าเราทำตามหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว  ผลจะเป็นอย่างไร อย่าได้เป็นอารมณ์กับผลอย่างนั้นใช่ไหม

 

ตอบ   ผลก็ต้องเป็นผลอย่างนั้น จะดีใจก็ได้เท่านั้น  จะเสียใจก็ได้เท่านั้น จะเฉยๆ ก็ได้เท่านั้น

 

ถาม   อย่าให้เป็นอารมณ์กับผลที่เกิดขึ้น

 

ตอบ   เฉยๆ แล้วจะสบายใจ ดีใจก็เกิดกิเลสอีก ต้องทำดีกว่านี้  หางานที่ยากกว่านี้ทำ ต้องเครียดไปเรื่อยๆ เพราะมีเป้าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ถาม   หมายความว่า ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว

 

ตอบ   ทำเต็มความสามารถของเรา

 

ถาม   โดนใครว่าอะไรก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว

 

ตอบ   ฟังได้  ถ้าฟังด้วยเหตุด้วยผล บางทีเขาอาจจะแนะนำอะไรบางอย่าง  ให้เราทำได้ผลดีขึ้น      อย่างนี้ไม่ควรปฏิเสธ ถ้าพูดไม่มีเหตุผล พูดด่าว่าไปตามอารมณ์  ก็กรวดน้ำให้เขาไป อย่าไปถือสาถือโทษ

 

ถาม   ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผลจะเป็นอย่างไรแล้วแต่เขาจะคิด

 

ตอบ   เราก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา อาจจะได้ขึ้นเงินเดือน อาจจะถูกตัดเงินเดือน อาจจะถูกย้ายงานหรือออกจากงาน อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น  ถ้าเราไม่ยึดไม่ติดก็ไม่เป็นไร คนที่ไม่ยึดไม่ติดได้ ต้องอยู่อย่างสมถะ ต้องไม่อาศัยเงินมากเกินไป ได้เงินเดือนมากก็ไม่ใช้มาก เก็บสำรองไว้  เวลาตกงานก็ไม่เดือดร้อน มีเงินสำรองไว้ สัก ๒ ปี ๓ ปี ไม่เดือดร้อนถ้าไม่ใช้มาก ใช้เฉพาะค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายจำเป็นเล็กๆน้อยๆ  เงินเดือนที่เราได้ปีหนึ่ง ควรอยู่ได้ ๑๐ ปี

 

ถาม   บางคนต้องมีภาระต้องดูแล

 

ตอบ   มีก็มีไป ถ้าไม่มีก็จะเก็บเงินได้ถ้าจะเก็บ  แต่กิเลสจะหลอกว่า ทำมาแทบเป็นแทบตาย เก็บไปทำไม ตายไปก็ไม่ได้ใช้  ใช้แล้วมีความสุข แต่ไม่รู้ว่ามีความเครียดตามมาด้วย  ต้องเป็นเบี้ยล่างของคนอื่น  เป็นทาสของเงิน จะเครียดเวลาเกิดปัญหาในการทำงาน  ไม่มีความสุข  ถ้ามีเงินสำรองไว้แล้วใจจะเย็น จะถูกไล่ออกก็อยู่ได้ ๖ เดือน ๗ เดือน ๑ ปี   ๒ ปี  ก็อยู่ได้ ไม่เป็นปัญหาอย่างไร ถ้าอยู่แบบสมถะ แบบเศรษฐกิจพอเพียง

 

ถาม   ที่ทำงานมีเด็กคนหนึ่ง ซึ่งลูกรังเกียจเขามาก  เคยเมตตาเขา ตอนหลังเมตตาไม่ลง     เพราะพฤติกรรมเขาน่ารังเกียจ รู้สึกหดหู่ ว่าเราทำถูกหรือไม่ 

 

ตอบ   ถ้ารังเกียจก็ผิด ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา คือเฉยๆ เขาจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา ถ้าเจอเขายิ้มได้ก็ยิ้ม ถ้ายิ้มไม่ได้ก็ต่างคนต่างเฉย ไม่ต้องทักทายกันก็ได้

 

ถาม   บางทีต้องสงเคราะห์เขา ให้เขากลับบ้านด้วย แต่ใจรับไม่ได้

 

ตอบ   แผ่เมตตาให้คนที่เรารักมันง่าย  แผ่ให้คนที่เราไม่รักมันยาก  ถ้าแผ่ได้แสดงว่าจิตเราสูง  มีเมตตาสูง มีเมตตาจริงๆ  ต้องแผ่ให้ได้ นี่คือข้อสอบของเรา

 

ถาม   ต้องไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง

 

ตอบ   ถ้าเลือกได้ก็เลือก หมายถึงเลือกคบคน ถ้าคนไม่ดีหลีกได้ก็หลีก ไม่ต้องคบ ไม่ใกล้ชิดสนิทสนม  แต่ไม่ควรมีอารมณ์เกลียดรังเกียจ  ถ้าไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิด ก็ต่างคนต่างอยู่ ถ้าจำเป็นก็ต้องเมตตา  อย่าให้ความรังเกียจมา      เป็นตัวนำก็แล้วกัน  คนเรามีทั้งดีและไม่ดี  ควรแยกแยะ  เลือกคบได้ แต่ไม่เลือกที่รักมักที่ชังด้านอารมณ์   เลือกที่รักมักที่ชังด้านเหตุผล พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า อเสวนา จ พาลานัง  ไม่ให้คบคนพาล ให้คบบัณฑิต คบคนพาลจะทำให้เรามีแต่เรื่องแต่ราว  คบบัณฑิตทำให้เราไปสู่ความเจริญ  ชวนให้เราทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม  ถ้ามีความจำเป็นไม่มีทางเลือก  ทำงานในบริษัทต้องอยู่ร่วมกัน  ก็คบกันไป ไม่มีอารมณ์ต่อกัน ทำไปตามหน้าที่ ถ้าเขาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีใครช่วย ก็ควรช่วยเขา เพราะเป็นเรื่องของความเมตตา  พระพุทธเจ้าเองเคยต้องดูแลรักษาพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่มีแผลเป็นฝีเป็นหนองเต็มตัวไปหมด พระรูปอื่นรังเกียจ ไม่มีใครดูแล  อาจจะเป็นพระนิสัยไม่ดีก็ได้ พระอื่นยังมีกิเลสอยู่ก็มีความรังเกียจ เลยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย พระพุทธเจ้าผ่านมาเห็นเข้า  จึงให้พระอานนท์หาน้ำอุ่นมาเช็ดตัวมาพยาบาล ต้องดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง อย่าให้ความรังเกียจหรือความน่าเกลียดทำให้เราไร้เมตตา ความเมตตาควรเป็นตัวนำอยู่เสมอ  ถ้าช่วยได้สงเคราะห์ได้ก็ควรทำ ถ้าเขาไม่ยินดีก็ต้องทำใจเป็นอุเบกขา เผื่อเขาลองใจเราเราก็กลับไปใหม่สัก ๓ ครั้ง           ถ้ายังปฏิเสธก็ไม่ได้เป็นความไร้เมตตาแล้ว ก็ต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรม  อย่ารังเกียจ ความรังเกียจเป็นกิเลส เป็นฝ่ายโทสะ ความรักความยินดีเป็นฝ่ายโลภะ ความเมตตาไม่ได้เป็นโลภะ เป็นเหตุเป็นผล เป็นธรรมชาติของจิตที่ไม่มีกิเลส จะมีความเมตตากับทุกคน มองคนอื่นเป็นเหมือนตัวเรา เขาเดือดร้อนก็เหมือนเราเดือดร้อน ถ้าเขาได้รับการช่วยเหลือก็เหมือนกับเราได้รับการช่วยเหลือมองด้วยความเมตตากรุณา จะมองอย่างนี้

                  

แต่ยากสำหรับคนที่มีกิเลสอย่างพวกเรา พอโกรธเกลียดอะไรแล้ว จะไม่อยากยุ่งด้วย ไม่อยาก เกี่ยวข้อง ถ้าเอาชนะได้ด้วยความเมตตาจิตจะสูงขึ้น การเจริญเมตตาไม่ได้หมายถึง ให้สวดสัพเพสัตตา ฯลฯ  นั่นเป็นเพียงการเตือนสติเท่านั้นเอง การเมตตาต้องเกิดจากการปฏิบัติจริง  ในเหตุการณ์จริง เวลาโกรธใครแล้ว ให้อภัยเขาได้ นั่นแหละเรียกว่าเมตตา ใครทำให้เราเสียใจก็ให้อภัยเขา เราได้ประโยชน์เพราะใจเราสงบ ใจเราเย็น เราได้ประโยชน์มากกว่าคนที่เราให้อภัยเสียอีก คนที่เราให้อภัยก็ปลอดภัยจากพิษของเรา เราไม่ไปทำร้ายเขา ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆคือตัวเรา เพราะเวลาโกรธเหมือนมีไฟนรกเผาใจ พอให้อภัยปั๊บ ไฟนรกก็ดับ ใจก็เย็น  แทนที่คนอื่นจะได้   ประโยชน์ เรากลับได้ประโยชน์มากกว่า ได้ดับไฟนรก ได้รักษาความเป็นมนุษย์เป็นเทพเป็นพระไว้ได้   ถ้าปล่อยให้ความโกรธฉุดลากให้ไปพูดไปทำ ก็จะกลายเป็นยักษ์เป็นมารไป เพราะจะต้องไปทำร้ายเขา เราน่าจะขอบใจคนที่ทำให้เราโกรธ  เป็นเหมือนมาทดสอบเรา ว่ายังมีกิเลสอยู่หรือไม่ มีความโกรธอยู่หรือไม่ ให้อภัยได้หรือไม่

 

การมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ดีตรงนี้  มีข้อสอบให้ต้องสอบอยู่เรื่อยๆ ถ้าเป็นเทพเป็นพรหม  ไม่มีข้อสอบ ทุกคนอยู่อย่างสุขสบายไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีใครมาทำให้เจ็บเนื้อเจ็บใจ มนุษย์มีเรื่องราวต่างๆมาทดสอบใจอยู่เรื่อยๆ มากระตุ้นให้สร้างธรรมขึ้นมา สร้างเมตตาจริงๆ ไม่ได้สร้างจากการสวดสัพเพสัตตา นั่นยังไม่ได้      แผ่เป็นเพียงการศึกษา เป็นการเตือนสติว่า นี่คือธรรมะที่ต้องเจริญ ต้องมีให้ได้ในตัวเรา จะปรากฏขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์จริงๆ ที่ทำให้ต้องเลือกระหว่างความเมตตาหรือไม่เมตตา ถึงจะเป็นการปฏิบัติจริงๆ ถ้าผ่านไปได้ก็ได้ขยับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง  จิตก็สูงขึ้น ขั้นต่อไปถึงแม้จะทุกข์จะโกรธบ้าง ก็จะเบาลงไป  ไม่รุนแรง ต่อไปก็จะไม่โกรธเลย เพราะชำนาญขึ้นเรื่อยๆ   เห็นคุณของการให้อภัย เห็นโทษของความโกรธ  ทั้งหมดนี้จะเห็นชัดเมื่อจิตมีความสงบ  ถ้าไม่สงบจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง เวลาสงบจะเย็นสบาย พอโกรธขึ้นมา  เหมือนแผ่นดินไหว จะสะเทือนใจทันที จะรู้ว่าต้องระงับ เป็นเหมือนภูเขาไฟปะทุขึ้นมา ร้อนไปหมดเลย ต้องดับตรงนี้ให้ได้

                  

ถ้าไม่มีสมาธิ  ไม่มีความสงบจะไม่รู้สึกเพราะมันร้อนอยู่ตลอดเวลา พอโกรธขึ้นมาก็จะไม่เห็นความแตกต่างมากนัก ขณะที่จิตไม่สงบ ความโลภความโกรธความหลงก็ทำงานของมันไป เหมือนกับเสียงดังรอบตัวเรา ตอนนี้ไม่มีเสียงดังรบกวน  ได้ยินเสียงนกร้อง ถ้าไปอยู่ในเมืองก็จะไม่ได้ยินเสียงนกร้อง จะเห็นความแตกต่างเวลาที่เกิดอารมณ์ขึ้นมา พอมีสมาธิแล้วเวลามีอารมณ์เกิดขึ้นมาจะรู้เลย เป็นเหมือนแผ่นดินไหว เหมือนภูเขาไฟระเบิด  ไม่ต้องรู้จักชื่อ ก็รู้ว่าเป็นตัวที่ต้องกำจัด ส่วนใหญ่จะรู้จักชื่อแต่ไม่รู้จักตัว รู้หมดว่ากิเลสมีอะไรบ้าง  มีความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่เวลาปรากฏตัวขึ้นมาก็ไหลตามมันไป สมาธิจึงสำคัญมากที่สุดในการปฏิบัติ ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆจังๆ เป็นเนื้อเป็นหนังจริงๆ ต้องมีสมาธิก่อน ปัญญาจะไม่เป็นภาวนามยปัญญา  จะเป็นจินตมยปัญญา  เป็นสุตมยปัญญา รู้จักชื่อแต่ไม่รู้จักตัว พอเจอตัวก็ทำอะไรมันไม่ได้ ไม่มีกำลังต่อสู้ ถ้ามีสมาธิก็จะหยุดมันได้ ดับมันได้ บางทีมีสมาธิแล้วแต่ไม่รู้ว่าเป็นกิเลสก็มี เพราะกิเลสจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ อย่างหยาบๆนี้เรารู้  ส่วนที่ละเอียดเข้าไปจะยังไม่รู้  เช่นความสว่างไสวในจิต ไม่รู้ว่าเป็นกิเลส  ถ้ามีผู้ที่ผ่านมาแล้วคอย          เตือนไว้ ก็จะผ่านไปได้ ถ้าไม่มีก็จะติดไปนาน อาจจะหลงคิดว่าสำเร็จแล้ว ว่านี่แหละคือผลที่ต้องการ แทนที่จะทำลายมันกลับไปรักษามัน

 

ปฏิบัติไปกิเลสจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะหลุดพ้นจากสายตาของสติของปัญญาไปได้ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่นอนใจเสียอย่าง ถึงแม้จะไม่มีครูไม่มีอาจารย์  ถ้าถึงจุดนั้น  ไม่นานก็จะต้องเห็นโทษของมัน   ถ้าหลุดพ้นจริง  ทำไมต้องคอยพะวักพะวง ต้องดูแลรักษา จะเอะใจขึ้นมา  จะรู้ว่าตัวนี้เป็นปัญหา ต้องหาวิธีแก้ ต้องมีสติปัญญา ไม่ประมาทนอนใจ ถ้าประมาทนอนใจคิดว่าสำเร็จแล้ว รู้แล้ว พอแล้ว  ก็กลายเป็นเหยื่อกิเลสไป  เป็นอรหันต์นกหวีด พิจารณาแล้ว เข้าใจแล้ว พอ ๒ ชั่วโมงต่อมาก็โผล่ขึ้นมาอีก ต้องคอยดูใจเป็นหลัก ถึงแม้จะสงบแล้วก็อย่านอนใจ คอยสังเกตคอยดูไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแน่ใจจริงๆ ทดสอบด้วยวิธีต่างๆ ทุกรูปแบบ

 

ถาม   บังคับไม่ได้ เกิดขึ้นมาเอง

 

ตอบ   ถ้าเป็นกิเลสก็มีเหตุให้เกิด คือความหลง ถ้าดับความหลงได้ ก็จะไม่เกิดอีก ความหลงเป็น      ต้นเหตุของความโลภความโกรธ ความหลงทำให้ไม่รู้ว่าเป็นกิเลส  จะทำอย่างไรให้รู้ว่าเป็นกิเลส ก็ต้องมีมาตรฐานวัดในใจ  ก็คือความสงบนิ่งของใจ ถ้าใจกระเพื่อมเมื่อไร  แสดงว่าถูกความหลงทำให้กระเพื่อม ต้องพิจารณาหาเหตุว่า กระเพื่อมเพราะอะไร เพราะไปหลงยึดติด อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  พิจารณาจนรู้ว่าไปหลงไปยึดติด ก็ปล่อยวาง ปล่อยให้เป็นไป ใจก็ไม่กระเพื่อม 

 

ถาม   มีเหตุการณ์ทำใจกระเพื่อม พิจารณาไปจนกว่าจิตจะยอมรับสภาพ

 

ตอบ   ถ้าจิตกระเพื่อมต้องหาวิธีระงับ ต้องพิจารณาว่ากระเพื่อมเพราะอะไร  เราบังคับสิ่งต่างๆไม่ได้  บังคับได้เป็นครั้งเป็นคราว  จิตกระเพื่อมเพราะไปยินดียินร้ายกับเขาเอง ต้องพิจารณาว่าความยินดียินร้ายไม่ถูก เพราะสิ่งต่างๆในโลกนี้ ทั้งภายนอกและภายใน ไม่มีอะไรน่ายินดียินร้าย ต้องปล่อยวาง เวลาเขาจะมาถ้าบังคับเขาไม่ได้ ก็ปล่อยเขามา เวลาเขาจะไปถ้าบังคับให้เขาอยู่ไม่ได้   ก็ต้องปล่อยเขาไป ต้องปล่อยถึงจะหายกระเพื่อม ถ้ามีความอยากปั๊บก็จะกระเพื่อมขึ้นมา ต้องดูในจิต เป็นเรื่องละเอียด ไม่ได้เป็นเรื่องข้างนอก เป็นเรื่องข้างในจิตล้วนๆ  ต้องมีสมาธิ ต้องสนใจศึกษาคอยดูอยู่เรื่อยๆ คอยแก้ไปเรื่อยๆ ผิดบ้างถูกบ้าง จนกว่าจะแก้ได้หมด ถ้าดูที่ใจแล้วจะเดินไม่ผิดทาง จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าไปดูที่อื่นแล้วผิดทันที ถ้าไปแก้ที่อื่นก็ผิด  อย่าไปแก้คนอื่น ต้องแก้ที่ตัวเรา แก้ที่ใจ      

 

ถาม   ตัวที่กระเพื่อมอยู่ในใจ ยึดตัวกูของกู ใครมาแตะต้องไม่ได้ กระเพื่อมเอาๆ

 

ตอบ   ต้องปล่อย ต้องไม่เห็นว่าเป็นของเรา เป็นของชั่วคราว เป็นหัวโขน เป็นตัวละคร อาจจะถูกเปลี่ยนให้เล่นบทอื่นบ้างก็ได้ ถ้ายอมรับก็ไม่เป็นปัญหา เล่นหัวบ้างก็ได้ เล่นหางบ้างก็ได้ เมื่อกรรมเป็นผู้กำกับ จะไปฝืนกรรมได้อย่างไร เมื่อถึงเวลากรรมจะทำให้ตกต่ำ ก็ต้องตกต่ำ ถึงเวลาจะผลักให้ขึ้นสูงก็ขึ้นสูง แต่ใจไม่ต้องไปขึ้นสูงไปลงต่ำด้วย ใจเฉยๆไม่ได้เอาจริงเอาจัง เป็นแค่บทละครบทหนึ่งเท่านั้นเอง ก็เล่นไป จะได้ไม่ทุกข์ ไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เล่นได้ทุกบท

 

ถาม   ทดสอบอย่างไรบ้าง

 

ตอบ   จะอยู่เหนือความทุกข์ได้ ต้องไม่จริงจังกับอะไรในโลกนี้ ไม่ยึดติดกับอะไร แต่เอาจริงเอาจังในการกระทำหน้าที่การงานต่างๆ แต่ใจไม่มีอารมณ์จริงจังด้วย ทำไปตามหน้าที่ งานที่ต้องทำจริงจัง คืองานในใจ ถ้าทำงานในใจเสร็จแล้ว งานภายนอกจะทำก็ได้  ไม่ทำก็ได้  ให้ทำอะไรถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ทำ  ไม่มีใครบังคับเราได้

 

ถาม   ช่วงนี้ทำไมขี้เกียจภาวนา

 

ตอบ   มีขยันบ้าง มีขี้เกียจบ้าง เวลาขี้เกียจก็พยายามแก้ พยายามทำไป ขี้เกียจก็ทำไม่ขี้เกียจก็ทำ เวลาขี้เกียจก็ทำยากหน่อย ถึงเวลาต้องทำอะไรก็ทำไป ขี้เกียจหรือไม่ขี้เกียจ เหมือนกับรับประทานอาหาร ถึงเวลาก็รับประทานไป จะขี้เกียจหรือไม่ก็ตาม เพราะรู้ว่ารับประทานดีกว่าไม่รับประทาน การภาวนาก็เช่นกัน เป็นการให้อาหารกับใจ ถึงแม้จะขี้เกียจก็ต้องภาวนา เพราะภาวนาแล้วใจจะดีกว่าไม่ได้ภาวนา ถ้าคิดอย่างนี้ ก็จะฝ่าความขี้เกียจไปได้ พอทำเป็นนิสัยแล้ว ก็จะทำง่าย ความขี้เกียจก็จะหายไป จะก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว ต้องพยายามฟันฝ่าความขี้เกียจให้ได้ เป็นอุปสรรค เหมือนกับรั้วที่ต้องปีนข้าม ไม่ง่ายเหมือนกับเดินทางราบ ไม่มีรั้วต้องปีนข้าม แต่ก็ปีนข้ามไปได้ ช้าหน่อย ลำบากหน่อยก็ทำไป ทำไปเรื่อยๆก็เกิดความชำนาญ พอเห็นรั้วก็ปีนข้ามไปเลย ความขี้เกียจเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ไม่ต้องสนใจ ถึงเวลานั่งก็นั่งไป ถึงเวลาทำอะไรก็ทำไป ก็จะชนะความขี้เกียจได้ ถ้าท้อแท้ยิ่งไปใหญ่เลย ควรมีความเคร่งครัดกับหน้าที่การงาน ถึงเวลาทำ จะขี้เกียจหรือไม่ขี้เกียจ ก็ทำไป จนติดเป็นนิสัย ต่อไปจะไม่มีคำว่าขี้เกียจอยู่ในใจ