กัณฑ์ที่ ๓๗๕ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
ทางสู่ความยิ่งใหญ่
จะเริ่มพูดธรรมะให้ญาติโยมได้ฟังกัน เพื่อเสริมสร้างศรัทธาความเชื่อ ให้แน่นหนามั่นคง เพื่อให้เกิดฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ฉันทะคือความยินดี ที่จะศึกษาและปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน วิริยะคือความพากเพียรอุตสาหะที่จะศึกษาและปฏิบัติตาม จิตตะคือจิตใจที่จดจ่อกับการศึกษาและการปฏิบัติ วิมังสาคือการใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผลกับเรื่องของการศึกษาและปฏิบัติ ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ผลต่างๆที่พระศาสนาจะมอบให้กับผู้ปฏิบัติ ก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับอย่างแน่นอน ไม่ได้อยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง ที่จะปลูกฝังศรัทธาความเชื่อ ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา หรืออิทธิบาท ๔ ให้มีอยู่ในจิตในใจของตน เพราะอิทธิบาท ๔ เป็นเหตุเป็นทาง ดังชื่อของอิทธิบาท บาทแปลว่าทาง อิทธิแปลว่าความยิ่งใหญ่ อิทธิบาทจึงแปลว่าทางสู่ความยิ่งใหญ่ เป็นเหตุที่จะพาให้เราไปสู่ความยิ่งใหญ่ ก็คือมรรคผลนิพพาน ความยิ่งใหญ่ต่างๆในโลกนี้ ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่เท่ากับมรรคผลนิพพาน ต่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี เป็นมหากษัตริย์ มหาจักรพรรดิ ก็ยังไม่ดีเท่ากับการได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้าย เพราะการได้เป็นพระอริยะบุคคล เป็นการหลุดพ้นจากความทุกข์ ที่คอยข่มเหงรังแกจิตใจมาตลอด เป็นอย่างอื่นถึงแม้จะยิ่งใหญ่ขนาดไหนในสายตาของโลก ก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการเหยียบย่ำทำลายข่มเหงรังแก ของความทุกข์ชนิดต่างๆได้ เป็นมหาเศรษฐีมีเงินเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ก็ยังทุกข์ยังวุ่นวายใจอยู่ เป็นประธานาธิบดีเป็นมหากษัตริย์ก็เช่นเดียวกัน เพราะการเป็นสิ่งเหล่านี้ การมีทรัพย์สมบัติข้าวของต่างๆ ไม่ได้เป็นเหตุกำจัดความทุกข์ที่มีอยู่ภายในจิตใจของสัตว์โลก มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นก็คือธรรมะ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะกำจัดความทุกข์ต่างๆให้หมดไปจากจิตจากใจได้
ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. ธรรมะที่ปรากฏอยู่ภายนอก ที่เราได้ยินได้ฟัง ๒. ธรรมะภายในที่เกิดจากการบำเพ็ญปฏิบัติตามคำสอนของธรรมะภายนอก ธรรมะภายนอกถึงแม้จะวิเศษขนาดไหนก็ตาม จะออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าก็ตาม หรือออกจากปากของพระอรหันต์ก็ตาม ถ้าผู้ฟังไม่น้อมเอาเข้ามาในจิตในใจ ไม่ได้โอปนยิโก น้อมเอาเข้ามาใคร่ครวญศึกษา สอนจิตสอนใจและปฏิบัติกับใจแล้ว ธรรมะเหล่านั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับยาที่หมอให้กับคนไข้ ถ้าคนไข้ไม่นำยาไปรับประทาน ยาจะวิเศษขนาดไหนก็ตาม โรคภัยไข้เจ็บของคนไข้ก็จะไม่หาย เพราะไม่ได้นำยาที่วิเศษเข้าไปสู่ร่างกาย พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นเหมือนยาวิเศษ เรียกว่าธรรมโอสถ ถ้าไม่รับประทานธรรมโอสถด้วยการปฏิบัติ ธรรมโอสถที่แสนวิเศษนี้ก็ไม่สามารถช่วยจิตใจได้ ไม่สามารถกำจัดความทุกข์ต่างๆที่มีอยู่ในใจได้ แต่ถ้านำเอาเข้ามาสู่ใจด้วยการปฏิบัติ โดยอาศัยอิทธิบาท ๔ คือฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาเป็นเครื่องมือ ธรรมะก็จะทำหน้าที่ทันที ด้วยการกำจัดความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไปตามลำดับ จนหมดสิ้นไปในที่สุด ดังที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้บำเพ็ญมาในอดีต ตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมเทศนาครั้งแรก ก็มีผู้ฟังน้อมเอาพระธรรมคำสอนเข้าสู่ใจของตน ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆตามลำดับเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นจากการมีอิทธิบาท ๔ นี้เอง ธรรมะที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่ง ต่อการปรากฏขึ้นของมรรคผลนิพพาน ก็คืออิทธิบาท ๔
จึงควรมีฉันทะความยินดีกับธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อมีความยินดีแล้วก็จะมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะยากเย็นอย่างไรเพียงไร ก็จะไม่เป็นอุปสรรค ถ้ามีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ไม่ช้าก็เร็วผลที่ปรารถนาก็จะต้องปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน ดังในสุภาษิตที่พูดไว้ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ถ้าไม่มีความพยายามแล้ว ต่อให้มีความปรารถนามากเพียงไรก็ตาม ต่อให้อธิษฐานจิตมากเพียงไรก็ตาม ก็ไม่เกิดประโยชน์อย่างใด เช่นคนไข้ที่อยากจะหายจากไข้ ก็อธิษฐานขอให้หายจากไข้ แต่ไม่ยอมรับประทานยาที่หมอให้มา อธิษฐานไปจนวันตายโรคก็ไม่หาย เพราะโรคไม่ได้หายจากการอธิษฐาน โรคหายจากยา ฉันใดความทุกข์ก็จะไม่หายไปจากใจ จากการปรารถนา จากการอธิษฐาน แต่จะหายจากการรับประทานธรรมโอสถ จากการนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไปสู่ในใจ ด้วยการปฏิบัติอย่างไม่ท้อถอย อย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง พอมีวิริยะแล้วก็จะมีจิตตะ คือใจจดจ่ออยู่กับธรรมะเป็นหลัก เรื่องอย่างอื่นไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องทำหรือให้ความสนใจ ก็ให้เท่าที่จำเป็น เช่นการดำรงชีพก็ต้องมีการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ไม่ถือเป็นงานหลัก ใจจะไม่จดจ่ออยู่กับการทำมาหากินมากจนเกินไป หรือการหาความสุขจากสิ่งต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะไม่ให้ความสำคัญ ถ้าตัดได้ก็จะพยายามตัด จะไม่ไปยุ่งเกี่ยว เพราะไม่ช่วยทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ มีแต่จะผูกจิตใจให้ติดอยู่กับความทุกข์ไปเรื่อยๆ
ผู้ปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จากความทุกข์ทั้งหลาย จึงต้องมีจิตตะ ใจจดจ่ออยู่กับธรรมะ ที่มีหลายชนิดดังที่ได้พูดไว้ ธรรมะภายนอกคือการได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ การอ่านหนังสือธรรมะ ใจอยู่กับธรรมะแบบนี้ก็ได้ หรือจะอยู่กับการเจริญธรรมะภายในใจก็ได้ เช่นพิจารณาธรรมชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี เป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ดี พิจารณาให้เป็นธรรมด้วยไตรลักษณ์ ต้องพิจารณาเสมอว่า ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน ถ้าเห็นด้วยไตรลักษณ์แล้วจะปล่อยวางได้ ถ้าไม่เห็นด้วยไตรลักษณ์ก็จะยึดติด คิดถึงร่างกายก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ อยากจะให้หน้าตาดีไปนานๆ อยากจะให้สุขภาพสมบรูณ์ไปนานๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อย่างนี้ไม่เห็นแบบธรรมะ ไม่จดจ่ออยู่กับธรรมะ เพราะเห็นแบบกิเลส เห็นแบบหลง เห็นแบบทางโลก เห็นเพื่อสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ พอเห็นร่างกายว่าหนุ่มแน่นสาวสวยรูปร่างหน้าตาดี ก็อยากจะให้เป็นไปนานๆ พอความจริงของอนิจจังปรากฏขึ้นมา ก็จะทำให้มีความทุกข์ มีความระส่ำระสายขึ้นมาภายในจิตใจ ก็จะไปแก้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะแก้ที่ใจ สอนใจให้รับความจริง ก็พยายามตกแต่งหน้าตาร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ใช้เครื่องสำอางก็ดี ใช้ศัลยกรรมก็ดี ซึ่งเป็นการสร้างความทุกข์ให้มีมากขึ้น แสดงว่าไม่มีธรรมะอยู่ภายในใจ มีแต่ความหลง ไม่เห็นความจริงของอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะติดอยู่กับกองทุกข์ไปเรื่อยๆ
ตายไปก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เจอสิ่งที่วิเศษอย่างยิ่ง คือพระพุทธศาสนา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่นานๆจะปรากฏให้แก่สัตว์โลกได้เป็นที่พึ่งสักครั้งหนึ่ง มัวแต่ไปหลงอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่คิดว่าจะให้ความสุขกับตน แทนที่จะคิดว่าไม่ได้ให้ความสุข มีแต่จะให้ความทุกข์ ก็เลยต้องอยู่กับกองทุกข์ไปเรื่อยๆ ถ้าจะคิดก็ควรคิดไปในทางธรรม คิดไปในทางอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร จะมีอะไร จะได้อะไรมา จะเสียอะไรไป ถ้ามีอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่ในใจแล้ว ใจจะไม่วุ่นวาย จะไม่ทุกข์ ถ้ายังปล่อยวางไม่ได้หมดก็จะไม่ทุกข์นาน ไม่ทุกข์มาก พอทุกข์ก็จะได้สติ เตือนให้รีบพิจารณาไตรลักษณ์ทันที พอเห็นไตรลักษณ์แล้วก็จะปล่อยวาง ไม่ฝืนความจริง ยอมรับความจริง เวลาสูญเสียอะไรไป ถ้าไม่ได้พิจารณาไว้ล่วงหน้าก่อน พอสูญเสียไปก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที พอได้สติว่ากำลังหลง เพราะความทุกข์เป็นผลที่เกิดจากความหลง ยึดติดในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน พอได้สติก็พิจารณาดูความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งนั้นๆ พอเห็นชัดว่าต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าไม่จากวันนี้ก็ต้องจากในวันหน้า ไม่แตกต่างกัน จากวันนี้ก็เหมือนจากวันพรุ่งนี้ พอรู้ทันแล้วปล่อยวางได้ ความทุกข์ก็จะหายไปทันที
วิมังสาคือการใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผล ใคร่ครวญด้วยอนิจจังทุกขังอนัตตา จิตตะจดจ่ออยู่กับเรื่องของธรรมะ เรื่องของอนิจจังทุกขังอนัตตา เรื่องของการปฏิบัติธรรมขั้นต่างๆ ตั้งแต่ทานศีลภาวนาขึ้นไป ดังที่ท่านทั้งหลายวันนี้มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการบำเพ็ญทาน ได้ไปถวายผ้าพระกฐินก็เป็นทานอย่างหนึ่ง เป็นสังฆทาน ก่อนจะไปทำก็ต้องมีใจจดจ่อ เตรียมเนื้อเตรียมตัว เตรียมปัจจัยต่างๆ เพื่อนำเอาไปถวายวัด ถ้าจิตจดจ่ออยู่กับเรื่องเหล่านี้ ก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นการนำเอาธรรมโอสถเข้าสู่ใจ ด้วยการปฏิบัติ ถ้าฟังแล้วไม่นำเอาไปปฏิบัติกับใจ ผลก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา มีบางท่านเวลาฟังแล้วสามารถบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟังเลย เพราะสามารถน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไปในใจ กำจัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆได้ทันที โดยไม่ต้องรอไปทำบุญทำทาน ไปรักษาศีล ไปภาวนา เพราะใจมีธรรมเหล่านี้อยู่แล้ว ใจเป็นทานอยู่แล้ว เป็นศีลอยู่แล้ว เป็นสมาธิมีความสงบนิ่งอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดปัญญา ถ้าเป็นใจแบบนี้ก็จะบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟังธรรม แต่ถ้าใจยังไม่เป็นทาน ยังมีความตระหนี่ ยังมีความหวงแหน ยังมีความอยากได้ในสิ่งต่างๆอยู่ ยังไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ยังเสียดายเพื่อนฝูง เสียดายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็เลยต้องพูดปดบ้าง ต้องทำอะไรที่ไม่ถูกศีลถูกธรรมบ้าง อย่างนี้ถือว่าใจยังไม่เป็นศีล ใจไม่สงบ เวลาฟังก็วอกแวก ไม่ได้อยู่กับการฟังอย่างต่อเนื่อง ฟังแล้วก็ถูกความคิดอย่างอื่นฉุดลากไป ถ้าฟังแบบนี้แล้วปัญญาก็จะไม่ปรากฏขึ้นมาเท่าที่ควร ไม่พอเพียงต่อการบรรลุธรรม แต่ถ้าใจเป็นทาน ไม่กังวลไม่ห่วงไม่ยึดไม่ติด กับสิ่งของต่างๆ บุคคลต่างๆ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น บริสุทธิ์ทางกายทางวาจา มีความนิ่งสงบในขณะที่ฟัง ขณะที่ฟังก็ใคร่ครวญพิจารณาตาม ก็จะบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟัง
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่ในสมัยพระพุทธกาล มีผู้ฟังเทศน์ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง บรรลุธรรมขั้นต่างๆกันเป็นจำนวนมาก เพราะใจเป็นทาน เป็นศีล เป็นสมาธิอยู่แล้ว คือนักบวชในลัทธิต่างๆ ที่มุ่งมั่นปรารถนาความหลุดพ้น จากความทุกข์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระปัญจวัคคีย์ที่ติดตามรับใช้พระพุทธเจ้า หวังพึ่งพระพุทธเจ้า เพราะเห็นว่าทรงมีพระปัญญาบารมีมาก รู้ว่าพวกเขาไม่สามารถหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เอง ต้องอาศัยเอกบุรุษอย่างพระพุทธเจ้า ซึ่งในสมัยที่ทรงประสูติใหม่ๆ ก็มีโหรได้พยากรณ์ไว้แล้วว่า จะต้องได้เป็นพระศาสดาอย่างแน่นอน จึงมีผู้ฝากความหวังไว้กับพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก อย่างน้อยก็พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แต่พอมาถึงบั้นปลายของการปฏิบัติก็เสื่อมศรัทธาในตัวพระพุทธเจ้า เนื่องจากในตอนนั้นทรงคิดว่าการที่จะหลุดพ้นได้ ต้องทรมานร่างกาย ต้องตัดความอยากต่างๆ เช่นความอยากในการรับประทานอาหาร ทรงคิดว่าเมื่อไม่อยากเสวยอาหารแล้ว ความอยากต่างๆก็จะหมดไป ความทุกข์ต่างๆก็จะหมดไป แต่พอได้ทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน ก็ยังเห็นว่าพระทัยของพระองค์ยังมีความอยาก ยังมีความดิ้นรนอยู่ เหมือนกับตอนที่ไม่ได้อดพระกระยาหารเลย ก็ทรงพิจารณาว่ามาผิดทางเสียแล้ว ถ้าเดินทางนี้ต่อไปก็จะต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน จะไม่ได้ผลที่ทรงปรารถนา ยอมเลิกอดอาหาร พอพระปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธเจ้าทรงเลิกอดอาหาร ก็เลยคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงยอมแพ้แล้ว ยอมแพ้กิเลสมาร สู้กิเลสมารไม่ได้ ก็เลยเสื่อมศรัทธาในพระองค์ จึงหนีจากไป
แต่หลังจากที่ได้ทรงพิจารณา ก็ทรงเห็นว่าความอยากนั้นอยู่ในใจ ถ้าทำจิตให้สงบนิ่ง ก็หยุดอยากได้ แต่เป็นการหยุดชั่วคราว ในขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่ พอถอนออกจากความสงบจิตก็จะเริ่มคิด ก็จะมีความอยากขึ้นมาอีก จึงทรงพิจารณาดูว่าอะไรที่ทำให้เกิดความอยาก ก็ทรงเห็นว่า ความเห็นว่าสิ่งต่างๆดีวิเศษ ให้ความสุขกับตน ก็ทรงพิจารณาดูต่อว่า เป็นอย่างที่คิดหรือไม่ ดีจริงหรือไม่ วิเศษจริงหรือไม่ สุขจริงหรือไม่ พอพิจารณาก็ทรงเห็นว่าไม่มีอะไรให้ความสุขได้อย่างแท้จริง ทรงพิจารณาดูว่าแล้วจะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่ เป็นของเราจริงๆหรือไม่ ก็ทรงเห็นว่าไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสมบัติผลัดกันชม เป็นสมบัติชั่วคราว แม้แต่สังขารร่างกายก็เช่นเดียวกัน เป็นสมบัติผลัดกันชม เป็นของเราในขณะที่มีชีวิตอยู่ พอหยุดหายใจก็กลายเป็นของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟไป ทรงพิจารณาจนเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน ก็สามารถบรรลุหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ด้วยการปล่อยวางอุปาทาน ด้วยการกำจัดความหลง ที่เห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ให้ความสุขกับเรา เป็นสมบัติของเรา อยู่กับเราไปตลอด เพราะทรงเห็นแล้วว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เป็นตรงกันข้ามกัน เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกก็คือสิ่งต่างๆที่เห็นกันอยู่ ได้ยินกันอยู่ ได้สัมผัสกันอยู่ ด้วยทวารทั้ง ๕ ภายในคือธรรมต่างๆที่ปรากฏภายในใจ ที่สัมผัสได้ด้วยใจ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ต่างๆ ความสุขต่างๆ ความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจ ก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน ไม่ให้ยินดีกับความสุขภายในใจ พอความสุขหายไป ปรากฏเป็นความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา หรือกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าเห็นแล้วปล่อยวาง ไม่ยินดียินร้ายกับความสุขความทุกข์ ทั้งภายนอกและภายใน ใจก็จะอยู่ในอุเบกขา ไม่วุ่นวายกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส ไม่ทุกข์อีกต่อไป
เมื่อได้ทรงรู้ทรงเห็นแล้ว ก็ทรงนำเอามาเผยแผ่ให้กับสัตว์โลก ทำให้สัตว์โลกที่อยู่แบบไม่มีความหวัง ไม่มีทางเลือก ได้มีทางเลือกแล้ว เมื่อก่อนนี้มีอยู่ทางเดียว คือเกิดแก่เจ็บตาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น ในภพน้อยภพใหญ่ สูงบ้างต่ำบ้าง ขึ้นอยู่กับบุญกับกรรมที่ได้ทำไว้ แต่พอมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏ มาประกาศพระธรรมคำสอน สัตว์โลกก็มีทางเลือก เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ยังมีอีกทางหนึ่งที่ไปได้ ทางที่ไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ไม่ทุกข์กับอะไรทั้งสิ้น พอมีทางเลือกแล้วก็ขึ้นอยู่กับพวกเราแต่ละคน ที่จะต้องตัดสินใจเลือกเอาว่าจะไปทางไหน เพราะไม่มีใครเดินแทนเราได้ ไม่มีใครปฏิบัติแทนเราได้ ไม่มีใครเลือกแทนเราได้ ไม่เหมือนในสมัยเด็กๆ พ่อแม่เลือกโรงเรียนให้เราได้ เลือกเสื้อผ้าให้เราใส่ได้ แต่เรื่องของทางเดินสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือเดินเข้าสู่ความทุกข์นี้ ไม่มีใครเลือกให้เราได้ ถึงแม้เลือกให้ถ้าไม่รับเสียอย่าง ก็เหมือนกับไม่ได้เลือกให้ เช่นพ่อแม่อยากจะให้บวช ถ้าไม่บวชเสียอย่าง จะทำอย่างไรได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าอยากจะบวชแต่พ่อแม่ไม่อยากให้บวช ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน เช่นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า ไม่อยากให้พระพุทธเจ้าบวช แต่พระพุทธเจ้าจะบวชเสียอย่าง จะทำอย่างไรได้ จะไปห้ามได้อย่างไร อุตส่าห์สร้างปราสาท ๓ ฤดูให้ประทับ พยายามไม่ให้ออกไปเที่ยวภายนอกปราสาทพระราชวัง เพราะกลัวจะไปเห็นความแก่ความเจ็บความตาย กลัวจะไปเห็นนักบวช ที่จะกระตุ้นเชื้อที่มีอยู่ในจิตใจของพระองค์ให้ลุกขึ้นมา คือบุญบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญไว้ เปรียบเหมือนกับเชื้อไฟ ที่จะเผาผลาญกิเลสต่างๆให้หมดไปจากจิตจากใจ แต่ขาดประกายไฟที่จะจุดให้เชื้อลุกขึ้นมา ประกายไฟนี้ก็คือพระอริยสัจ ๔ สัจธรรมข้อแรกก็คือทุกข์นี้เอง พระราชบิดาจึงพยายามห้อมล้อมเจ้าชายสิทธัตถะด้วยความสุข ไม่ให้เห็นความทุกข์ คือความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน กลัวว่าจะเป็นประกายไฟจุดเชื้อให้ลุกขึ้นมาเพื่อเผาผลาญกิเลส ความโลภความโกรธความหลงต่างๆ แต่จะห้ามได้อย่างไร เมื่อถึงเวลาก็ห้ามไม่อยู่ พระองค์ก็ทรงเล็ดลอดออกไปประพาสนอกพระราชวัง ไปเห็นสิ่งต่างๆ เห็นคนแก่คนเจ็บคนตาย เห็นนักบวช เห็นคนแก่คนเจ็บคนตาย ก็รู้ว่าจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เห็นนักบวชก็รู้ว่าเป็นทางที่จะไปสู่การหลุดพ้น จากการเกิดแก่เจ็บตาย
เมื่อเห็นดังนั้นแล้วก็ต้องไปทางนั้น เพราะทางอื่นไม่ได้เป็นทางออก ทางอื่นเป็นทางที่จะเข้าสู่ความทุกข์ อยู่ในปราสาทราชวังก็ต้องไปทำสงครามให้ได้เป็นพระมหาจักพรรดิ ก็สร้างความทุกข์ให้มากขึ้นภายในใจ เพราะจะต้องระมัดระวัง ต้องหวาดระแวง ว่าจะมีใครมาปลงพระชนม์ มายึดอำนาจหรือไม่ มาล้มล้างพระราชบัลลังก์หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของความทุกข์ พอออกบวชถึงแม้จะทุกข์แบบขอทาน แต่ทุกข์เพียงภายนอก จากการที่เคยอยู่ในวังแล้วต้องไปอยู่แบบขอทาน เรื่องการกินอยู่หลับนอนคงจะไม่ต้องพูดถึง คงจะนึกภาพออก ว่าคนที่อยู่ในวังกับคนที่อยู่แบบขอทานนั้นกินอยู่กันแบบไหน ก็เหมือนนรกกับสวรรค์ แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับนรกสวรรค์ที่มีอยู่ในใจ อยู่ในวังก็เป็นสวรรค์ทางกายแต่ตกนรกทางใจ เพราะใจมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความกังวลห่วงใยหวาดระแวง แต่คนที่ตกนรกทางกาย อยู่แบบอดอยากขาดแคลน แต่กลับอยู่บนสวรรค์ทางใจ สบายใจไม่กังวลกับอะไรทั้งสิ้น ใครอยากจะเอาอะไรก็เอาไป ก็มีแค่ผ้าที่ห่มที่นุ่งอยู่เท่านั้นเอง สมบัติอย่างอื่นก็ไม่มีอะไร บ้านก็ไม่มีอยู่ อยู่ตามโคนไม้ อยู่ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา อยู่ที่ไม่มีใครอยากจะไปอยู่แล้ว ขโมยก็ไม่อยากจะไป เพราะไปแล้วไม่ได้อะไร สู้ไปอยู่ในวังไม่ได้ ขโมยชอบเข้าวัง เพราะมีสมบัติเยอะ มีข้าวของเยอะ จึงทรงสละราชสมบัติ เพราะบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้ได้รับไฟแล้ว เชื้อเริ่มติดแล้ว ไฟเริ่มไหม้แล้ว กิเลสเริ่มถูกทำลายแล้ว ไหม้ไปเรื่อยๆจนในที่สุดหลังจาก ๖ ปีที่ได้ทรงเสด็จออกผนวช เชื้อของกิเลสต่างๆก็ถูกทำลายไปหมด
เมื่อเชื้อถูกไหม้หมดแล้ว ไฟแห่งปัญญาก็ดับไป เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องทำลายอีกต่อไป เหมือนกับยาที่รับประทานเข้าไปจนหายจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยาได้ทำลายเชื้อโรคหมดแล้ว จะกินยาเข้าไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่รู้จะไปฆ่าอะไร ไม่มีเชื้อโรคให้ฆ่าอีกแล้ว ปัญญาก็มีไว้เพื่อที่จะทำลายกิเลสเท่านั้น พอกิเลสต่างๆถูกทำลายไปหมดแล้ว ปัญญาที่เป็นเครื่องมืออันวิเศษก็หยุดทำงาน หมายถึงปัญญาที่ใช้ในการทำลายกิเลส ความโลภความโกรธความหลง เพื่อมรรคผลนิพพาน แต่หลังจากนั้น เมื่อยังมีสังขารร่างกายอยู่ มีขันธ์ ๕ มีความคิดปรุงแต่งอยู่ ยังต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆเรื่องราวต่างๆ ก็ยังต้องใช้ปัญญาเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นปัญญาแบบที่จะเอาไปทำลายกิเลส แต่เป็นปัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่การงานต่างๆ ถ้าอยู่เฉยๆคนเดียวไม่ได้ทำอะไร ก็ไม่ต้องมีปัญญาเลยก็ได้ ไม่ต้องคิดอะไร นั่งอยู่เฉยๆก็ได้ เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่จำเป็นจะต้องไปวิเคราะห์ด้วยปัญญาว่า เป็นเสียงอะไร เป็นรูปอะไร เป็นใครมาจากไหน ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ อยู่เฉยๆไปวันๆหนึ่ง จิตใจไม่มีอะไรที่จะต้องกังวล มีความสุขมีความอิ่มพออยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันเสื่อมคลาย เป็นเหมือนน้ำที่เต็มแก้วอยู่ตลอดเวลา ไม่มีพร่อง จะเติมเข้าไปมากเพียงไรก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้ทำให้แก้วนั้นโตขึ้นใหญ่ขึ้น เพื่อจะรับน้ำได้มากขึ้น ไม่เหมือนกับลูกโป่งที่ใส่น้ำเข้าไปก็โป่งออกมา แต่ใจที่เต็มเปี่ยมแล้ว ใจที่ถึงพระนิพพานแล้ว ไม่สามารถรับความสุขเพิ่มมากกว่าที่มีอยู่ได้ เต็มพิกัดแล้ว กิจของนักบวชจึงจบสิ้นลง ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์นี้ได้สิ้นสุดแล้ว กิจอื่นที่จะตามมาไม่มีอีกแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว นอนกับกินอย่างเดียว รอวันตายไปเท่านั้นเอง แต่เนื่องจากความเมตตากรุณา เห็นผู้อื่นยังทุกข์อยู่ อยากให้เขาพ้นทุกข์ เหมือนกับคนที่รู้จักวิธีแหกคุกออกมา เห็นเพื่อนที่อยู่ในคุกก็สงสาร อยากจะให้หลุดออกมา ก็กลับไปบอกวิธีออกมาจากคุก อยู่ที่ว่าจะอยากออกมาหรือไม่ บางคนก็ชอบติดคุก ขี้เกียจ ไม่ชอบปีนกำแพง ไม่ชอบขุดหลุมขุดอุโมงค์ เพื่อเล็ดลอดใต้กำแพงออกมา ขออยู่ในคุกดีกว่า กินข้าวของคนคุก นอนแบบคนคุก ก็มีความสุข พอใจอย่างนั้น ก็ไม่มีใครไปห้ามได้
เมื่อก่อนนี้ไม่มีทางเลือก จะต้องอยู่ในคุกอย่างเดียว เพราะไม่รู้วิธีที่จะเล็ดลอดออกจากคุก แต่พอมีคนหนึ่งเล็ดลอดออกมาได้แล้ว ก็ส่งสารกลับไปบอกวิธี ว่าทำอย่างนี้ๆ ถ้าอยากจะออกจากคุกก็ทำตามนี้ ก็จะได้ออกอย่างแน่นอน แต่ถ้าอยากจะอยู่ในคุกก็ไม่ว่าอะไร อย่างน้อยก็ได้ทำหน้าที่ของผู้ที่ได้เล็ดลอดออกมาแล้ว ได้บอกช่องให้แล้ว ชี้โพรงให้แล้ว จะออกหรือไม่ก็สุดแท้แต่ พวกเราก็เช่นเดียวกัน โชคดีที่ได้เกิดในสมัยที่มีพระพุทธศาสนา มีผู้ชี้โพรงให้ ชี้ทางสู่ความหลุดพ้น สู่ความสุขอันเลิศอันประเสริฐ อยู่ที่เราจะเอาหรือไม่ จะเลือกทางไหน จะเอาความสุขแบบสุกๆดิบๆ หรือจะเอาความสุขแบบถาวร ไม่มีความทุกข์มีแต่ความสุขตลอดเวลา ไม่มีความทุกข์เจือปนอยู่กับความสุขของพระนิพพานเลย ก็อยู่ที่ตัวเรา ถ้าอยากจะไปทางนี้ก็ต้องปลูกฝังศรัทธา สร้างฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ให้เกิดขึ้นมาในใจ พอมีอิทธิบาท ๔ ในใจแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะได้บรรลุธรรม ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้บรรลุอย่างแน่นอน จึงควรแน่วแน่ต่อการเข้าหาพระศาสนาด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเทศน์ฟังธรรม ทำบุญตักบาตร รักษาศีล หรือภาวนา พยายามทำไปเรื่อยๆ ทำให้มากยิ่งขึ้น รับรองได้ว่าสักวันหนึ่ง จะได้ลิ้มรสผลของการปฏิบัติอันวิเศษนี้อย่างแน่นอน
ถาม เพื่อนฝากกราบเรียนถามว่า ได้พยายามพิจารณาเวทนาอย่างที่พระอาจารย์สอน ใช้เวลานานและเลื่อนจำนวนชั่งโมงออกไปได้ แต่ว่าหลังจากผ่านไปแล้วมันจะปวดที่หัวมาก ควรจะทำต่อไปหรือหยุดคะ
ตอบ ถ้าปวดหัวแสดงว่าเครียดกับการปฏิบัติ ลึกๆคงอยากจะให้ความทุกขเวทนาหายไป ก็จะทำให้เครียดปวดหัวขึ้นมาได้ ถ้าทุกขเวทนาหายไปเอง โดยที่เราไม่ได้อยากให้หายไป จะเบาจะโล่งจะสบาย จะไม่รู้สึกปวดศีรษะหรือปวดอะไรเลย ในขณะที่นั่งคงจะทนไปพร้อมกับอยากให้มันหาย พอยังไม่หายก็ทำให้เครียด
ถาม แต่เขาว่าอาการปวดขามันหายนะคะ
ตอบ ใช่ นั่งไปสักระยะหนึ่งก็จะหายไปเอง ธรรมชาติของกายเวทนาเป็นอย่างนั้น พอนั่งแล้วชา ก็ปล่อยให้ชาไป สักพักหนึ่งก็หายไปเอง เรื่องกายเวทนาไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เรื่องใจสำคัญกว่า ว่าใจเป็นอุเบกขาจริงๆได้หรือไม่ ไม่ได้อยากให้ทุกขเวทนาหายได้หรือไม่ ถ้าลึกๆยังอยากอยู่ ถึงแม้จะหายไปเอง แต่ใจยังมีความอยากให้หายอยู่ ก็จะเครียดปวดศีรษะได้ จึงต้องสอนใจอย่าไปอยากให้มันหาย ปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ถ้าใช้อุบายของสมาธิก็บริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ อย่าไปสนใจทุกขเวทนา ถ้านั่งฟังธรรมแล้วเจ็บปวด ก็อย่าไปสนใจกับอาการเจ็บปวด ตั้งใจฟังไปเรื่อยๆ เดี๋ยวความเจ็บปวดก็หายไปเอง เป้าหมายของการปฏิบัติคือ ใจสงบเป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา ไม่ต้องการควบคุมบังคับเวทนาทางกาย ต้องปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน จะนานหรือไม่นาน ปล่อยไปตามเรื่อง เป้าหมายของการปฏิบัติ คืออุเบกขาทางใจ ใจต้องวางเฉย ต้องไม่มีอารมณ์กับมัน มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป ครูบาอาจารย์ใช้การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นอุบายสอนลูกศิษย์ เวลาที่ท่านแสดงธรรม จะไม่มีใครขยับร่างกายถึงแม้จะเจ็บจะปวดอย่างไร พยายามนั่งฟัง ให้ใจจดจ่ออยู่กับการฟัง เพื่อจะได้เป็นอุเบกขา นิ่งเฉยได้ ปล่อยวางเวทนาทางกายได้
สำหรับคนที่นั่งสมาธิยังไม่เป็น ก็ให้ใช้การนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถจนกว่าจะยุติ เป็นการฝึกทำสมาธิ ฝึกทำจิตให้เป็นอุเบกขา ถ้าอยู่ตามลำพังอาจจะไม่ได้นั่ง หรือนั่งได้เดี๋ยวเดียว พอเจ็บก็จะเปลี่ยนอิริยาบถ พอต้องไปฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ต้องนั่งไปจนกว่าท่านจะหยุด ท่านไม่ขยับเราก็ไม่ขยับ ท่านเทศน์เราก็ฟังท่าน ท่านก็เพลินอยู่กับการเทศน์ ท่านก็เจ็บเหมือนเรา แต่ใจของท่านไม่ได้อยู่กับความเจ็บ อยู่กับการแสดงธรรม ก็เลยไม่รู้สึกเจ็บ ถ้ามีสมาธิอยู่กับการฟังเราก็จะไม่รู้สึกเจ็บ มันเจ็บแต่เราไม่รู้สึกเจ็บ เพราะไม่ไปให้ความสำคัญกับมัน ถ้าอยู่คนเดียวก็ต้องมีอะไรเกาะแทนเสียงธรรม ก็ต้องสร้างเสียงธรรมขึ้นมาภายในใจ ด้วยการสวดมนต์ก็ดี ด้วยการบริกรรมพุทโธก็ดี ด้วยการดูลมหายใจเข้าออกก็ดี ให้ใจเกาะติดอยู่กับกรรมฐานนั้น แล้วความเจ็บปวดทางร่างกายก็จะหายไปเอง ใจก็เป็นอุเบกขา
ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา จนเห็นโทษของความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ว่าเป็นเหตุของความทุกข์ใจ ก็จะปล่อยวางความอยาก ทุกขเวทนาจะอยู่ก็อยู่ไป ใจก็จะดิ่งลงสู่ความสงบ ใจจะเบาโล่งขึ้นมาเลย เป็นอุเบกขาที่ลึกกว่าขณะที่กำลังบริกรรมอยู่ หรือกำลังสวดอยู่ รู้แล้วเห็นแล้วว่าปล่อยได้จริงๆ ใจจะโล่งใจจะเบา ไม่เครียดกับอะไรทั้งสิ้น จะมีความสุขมาก เป็นอุบายของปัญญา พิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายก็ดี เวทนาก็ดี ใจก็ดี ล้วนเป็นสภาวธรรม ที่มีหน้าที่ต่างกัน ร่างกายก็เป็นเหมือนกับวัตถุอื่นๆ เหมือนกับพื้นไม้ที่เรานั่งอยู่นี้ กระดูกก็เหมือนกับไม้ เวลาคนตายไปแล้วหรือสัตว์ตายไปแล้ว เอากระดูกไปต้มในหม้อ ไม่เห็นเจ็บปวดอย่างไร เพราะเป็นวัตถุ ร่างกายก็เป็นวัตถุเหมือนกัน เพียงแต่มีใจมาครอบครอง ก็เลยทำให้มีความรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสุขเป็นทุกข์ จากทุกข์เป็นไม่สุขไม่ทุกข์ วนเวียนไปอย่างนี้ ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นสภาวธรรม ที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับได้ เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา เราต้องปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา กายก็ปล่อยให้เขานั่งไป เวทนาจะเป็นชนิดใดก็ปล่อยให้เป็นไป ส่วนใจผู้รู้ก็ให้รู้เฉยๆ
อย่ารู้ด้วยกิเลส เพราะจะเกิดความอยาก ก็จะเป็นสมุทัย เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ ที่รุนแรงกว่าทุกขเวทนาทางกายเป็น ๑๐๐ เท่า จะทนนั่งอยู่ไม่ได้ ถ้ากำจัดความอยากได้ ก็จะดับความทุกข์ใจได้ ใจจะไม่วุ่นวายกับกายและเวทนา จะแยกออกได้ ปล่อยวางได้ ท่านแสดงไว้ ๒ ลักษณะคือ ๑. จิตจะดิ่งลงไปแล้วปล่อยทั้งกายทั้งเวทนา เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ ไม่รับรู้เรื่องกายเรื่องเวทนา เหมือนกับหมอฉีดยาชาให้เวลาที่จะผ่าตัด จะไม่รู้สึกอะไร ๒. เวทนาไม่หาย กายไม่หายไปจากใจ แต่ใจไม่วุ่นวาย ใจเฉย ต่างฝ่ายต่างอยู่ ใจไม่ได้อยากให้เขาหายไปหรือตั้งอยู่ อยู่ก็อยู่ไป ต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่เบียดเบียนกัน ไม่กระทบกัน เป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการใช้อุบายของวิปัสสนาหรือปัญญา เป็นวิธีก้าวข้ามทุกขเวทนาทางกาย
ถาม เวลาทำบุญต้องอธิษฐานหรือเปล่า
ตอบ อธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องตั้งใจก่อน อยากจะเป็นส.ส. ก็ต้องตั้งใจเป็นส.ส.ก่อน ถึงจะไปหาเสียงได้ อยากจะมาวัดก็ต้องตั้งใจก่อน ถ้าเข้าใจว่าอธิษฐานเป็นการขอพรให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ขอไปจนวันตายก็ไม่ได้
ถาม มีคนสมัยพุทธกาลที่ฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า แล้วก็สามารถบรรลุธรรมได้ ผ่านมา ๒ พันกว่าปี บุคคลเหล่านี้คงไม่มีในโลกนี้แล้ว
ตอบ มี คนที่บำเพ็ญบารมีก็มีมาเกิดอยู่เรื่อยๆ อาจจะมีน้อย ไม่ปรากฏให้เราได้รู้เห็น ไม่อย่างนั้นจะมีพระปฏิบัติมาสั่งมาสอนพวกเราอยู่เรื่อยๆได้อย่างไร เพียงแต่ว่าคนที่มีบารมีไม่ปากโป้ง ไม่โฆษณา
ถาม จริงๆแล้วอาจจะเกิดขึ้นกับครูบาอาจารย์ แต่ท่านไม่พูดเท่านั้นเอง
ตอบ เกิดกับพวกเราบางคนก็ได้ ใครจะไปรู้ พวกนี้ยิ่งรู้ยิ่งเงียบ
ถาม ได้สังเกตจากตัวเองกับหมู่คณะที่มาฟังธรรมนี้ว่า พอได้ฟังธรรมคำที่คมของอาจารย์แล้ว ก็เกิดความปลื้มปีติยินดี ใจเย็นฉ่ำ น้ำตาจะไหลพราก
ตอบ เป็นอารมณ์ที่ปรากฏในขณะที่ได้สัมผัสกับธรรม เป็นเชื้อ เป็นหนังตัวอย่าง ทำให้มีกำลังใจ
ถาม ก็เลยมาดูหนังเรื่องนี้ติดต่อกันเป็นเวลา ๒-๓ ปีแล้ว
ตอบ หนังนี้จะทำให้มีฉันทะวิริยะ ที่จะทำบุญมากขึ้น รักษาศีลมากขึ้น ภาวนามากขึ้น พอได้สัมผัสกับความรู้สึกแบบนี้แล้วมันอัศจรรย์ใจ เกิดจากการได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง คือความปีติซาบซึ้งภายในใจ เหมือนกับได้ทำความดีที่ไม่คาดคิดว่าจะทำได้ เช่นเสียสละสิ่งที่รักไปเพื่อให้คนอื่นมีความสุข จิตใจมีความปลื้มปีติ หรือเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ แทนที่จะไปเที่ยวก็ไม่ไป มีความปีติมีความสุขภายในใจ ดีกว่าการไปเที่ยวหลายเท่า เพียงแต่ยังไม่ต่อเนื่อง เพราะยังอยู่ใต้อิทธิพลของกิเลสอยู่
ถาม รู้สึกว่าพอปฏิบัติเข้าๆแล้ว มันก็หยุดอยู่ตรงจุดที่สู้กับเวทนา สู้กันไปๆอยู่อย่างนั้น แพ้บ้างชนะบ้าง
ตอบ อย่าไปสู้มัน ต้องเข้าใจมัน เพราะสู้มันไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน คำว่าสู้นี้ก็หมายถึงว่าอยากจะให้มันหาย
ถาม ใช้ขันติสู้กับมัน แต่ว่าขาดปัญญา
ตอบ อดทนเฉยๆมันทนไม่ได้หรอก ขณะที่เราทนอยู่นั้นกิเลสมันไม่หยุด กิเลสมันอยากจะให้หาย ต้องเอาใจมาทำงาน มาบริกรรมพุทโธๆ มาสวดมนต์ เพื่อไม่ให้มีเวลาคิดอยากให้มันหาย หรือแยกกาย แยกเวทนา แยกใจให้ออกเป็น ๓ ส่วน ให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่อย่างไร ต่างฝ่ายเป็นอย่างไร แล้วปล่อยให้เขาเป็นไปตามความจริงของเขา เช่นร่างกายนี้ก็เป็นเหมือนศาลา ก็ปล่อยร่างกายเหมือนกับเราปล่อยศาลา ศาลานี้เราไม่ไปกังวลกับเขา แดดจะออกฝนจะตกอย่างไร เราก็ไม่ได้ไปมีอะไรกับเขา ปล่อยเขาไป ร่างกายนี้เมื่อนั่งอยู่เฉยๆก็ดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ก็ปล่อยเขานั่งไป เวทนาจะแสดงอาการอย่างไร ก็ปล่อยให้แสดงไป ใจมีหน้าที่รู้ก็รู้ไปอย่างเดียว อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าทำได้ก็จะไม่มีเวลาคิดอยาก หรือถ้ามันอยาก ก็ถามว่าที่เป็นอยู่นี้มันจะตายหรือ ก็รับรู้มันได้ไม่ใช่หรือ มันเจ็บมันปวดขนาดไหน ก็ยังรู้มันได้ แล้วทำไมจะรู้ต่อไปไม่ได้ ปล่อยให้มันเป็นไป ปัญหาอยู่ที่กิเลสที่ไม่อยากจะรู้ อยากจะให้หายไป อยากจะหนีจากไป ต้องกำจัดตัวนี้ ต้องย้อนมัน เมื่อมันไม่อยากเราก็อยากมันดู ท้าให้มันเจ็บกว่านี้อีก เจ็บเพิ่มขึ้นไปอีก แค่นี้ยังไม่พอ จะได้ไม่กลัว จะได้ไม่อยากให้มันหายไป หรืออยากจะหนีมันไป พร้อมที่จะปล่อยให้มันเป็นไป เป็นมากกว่านี้ก็ได้ เป็นน้อยกว่านี้ก็ได้ เป็นอย่างไรก็ได้ เป็นไปเถิด เราไม่กลัวแล้ว รู้แล้วว่ารับเธอได้ทุกรูปแบบ มาแรงขนาดไหนหรือเบาขนาดไหน ไม่สามารถทำลายใจได้
ถาม กิเลสมันบอกว่า ถ้าไม่ขยับเดี๋ยวฟังเทศน์ไม่รู้เรื่อง
ตอบ อย่าไปเชื่อกิเลส ต้องเชื่อธรรม ตั้งใจฟังธรรมให้มากยิ่งขึ้น ถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็ผลิตธรรมขึ้นมาภายในใจแทน ไม่ต้องฟัง พุทโธๆไปเลย บริกรรมพุทโธให้ถี่ เกาะอยู่กับพุทโธไป เพราะไม่มีสมาธิฟังแล้ว ก็สร้างธรรมะขึ้นมาภายในใจแทน ไม่ยากหรอก ทำไปเรื่อยๆ ต้องผ่านไปได้ทุกคน ขอให้พยายามเท่านั้นเอง อย่าเลิก เพราะเป็นทางผ่าน ต้องผ่านด่านนี้ทุกคน เหลืออีกนิดเดียว พยายามดันมันไป ดันมันไป อีกเฮือก ๒ เฮือกก็ทะลุแล้ว
ถาม ถ้าไม่ผ่านเวทนา จิตยากที่จะรวมลงได้ ใช่ไหมครับ
ตอบ รวมได้ รวมแบบพุทโธๆ ถ้าไม่ผ่านเวทนาก็จะไม่ได้ปัญญา จะได้ธรรมขั้นสมาธิ ยังเป็นโลกิยธรรม เช่นฤๅษีต่างๆ อาจารย์ของพระพุทธเจ้าก็ได้สมาธิ ด้วยการเพ่งหรือบริกรรมกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง มีสติจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับคำบริกรรม ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ก็รวมลงได้ แต่ไม่เกิดปัญญา พอเจอเวทนาก็เป็นเหมือนกับที่หลวงตาท่านเล่า ว่าเหมือนหมาเจอเสือ กลัวไปหมด สั่นไปหมดเลย
ถาม เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด
ตอบ ถ้าใช้ปัญญาได้แล้ว หมาก็จะกลายเป็นเสือขึ้นมา จะไม่กลัวอีกต่อไป เพราะผ่านทุกขเวทนาไปได้แล้ว เกิดมาก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยกันทุกคน จะต้องเจ็บกับเรื่องต่างๆ ที่เราแสวงหาเครื่องอำนวยความสะดวกความสุขกัน ก็เพื่อหนีความทุกข์ทางกายกัน ไม่ว่าจะเป็นพัดลม เครื่องปรับอากาศ ฟูกหนาๆ อะไรต่างๆเหล่านี้เป็นการหนีความทุกข์กายทั้งนั้น ถ้าไม่หนีเสียอย่างก็อยู่ได้ ไม่มีเครื่องปรับอากาศก็อยู่ได้ ไม่มีเครื่องทำน้ำร้อนก็อาบน้ำได้ ใจถ้าได้ฝึกแล้วก็จะรับได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรง พอผ่านทุกขเวทนาไปได้แล้ว จะไม่กลัวเรื่องเจ็บปวด ไม่กลัวเรื่องความตาย พอไม่กลัวความเจ็บแล้วก็ไม่กลัวความตาย ต้องผ่านขั้นนี้ถึงจะปล่อยวางเรื่องแก่เจ็บตายของกายได้อย่างเต็มที่
แต่เรื่องของความสวยงามของกายยังต้องพิจารณาอีก ต้องพิจารณาอสุภะ เพื่อปล่อยวางความหลงยินดีในรูปร่างหน้าตาของคน ไม่ว่าหญิงว่าชาย ว่าเป็นเพียงหนังหุ้มห่อกระดูก หุ้มห่ออวัยวะต่างๆ มีสิ่งปฏิกูลไหลออกมาตลอดเวลา ถ้าไม่ได้ชำระก็จะส่งกลิ่นเหม็น ทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่ และเวลาที่ตายไป เน่าเปื่อยลงไป ยิ่งส่งกลิ่นเหม็นใหญ่ พิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความรังเกียจ จะได้ไม่แสวงหาคู่ครอง เพราะถึงแม้จิตจะมีสมาธิมีธรรมอยู่แล้วก็ตาม ถ้ายังไม่ได้พิจารณาอสุภะ พอเห็นทีไรก็เกิดความยินดีขึ้นมาได้ทันที เป็นอีกขั้นหนึ่งของการพิจารณากาย ถ้าพิจารณาผ่าน ปล่อยวางความสวยงามของกายได้ เห็นว่าเป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งามได้ ก็จะหมดปัญหากับร่างกายโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรจะให้พิจารณาอีกต่อไป
จะมีแต่เรื่องที่ยังมีปรากฏอยู่ภายในใจ เป็นกิเลสที่ละเอียด เช่นความยินดีในความสงบ คือรูปราคะและอรูปราคะ ที่ติดสมาธิก็ติดตรงนี้ เพราะมีความสุขมาก แต่ก็ยังมีความทุกข์ปรากฏขึ้นมา ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้ จนกว่าจะได้ยินได้ฟังจากผู้ที่ผ่านไปแล้ว หรือเห็นเองว่ายังมีงานที่ต้องทำต่อ ยังมีอารมณ์ต่างๆที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจอยู่ ก็ต้องออกจากสมาธิมาพิจารณาเพื่อกำจัดมัน พอพิจารณาก็เห็นคุณค่าของการพิจารณา ที่กำจัดความไม่สบายใจได้ก็ติดใจ จึงพิจารณาอยู่เรื่อยไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ยอมพักจิต ก็กลายเป็นความฟุ้งซ่านขึ้นมา ก็เลยเถิดไป จึงควรหยุดการพิจารณา ให้กลับเข้ามาพักในความสงบก่อน พอพักได้เต็มที่แล้ว ก็จะมีพลัง มีกำลัง ที่จะพิจารณาขุดคุ้ยหากิเลสที่ละเอียด ที่ซ่อนอยู่ในใจต่อ คือมานะความถือตัว อวิชชาความไม่รู้พระอริยสัจ ๔ ที่ละเอียด ก็ทำอย่างนี้ไป สลับไปสลับมา ระหว่างการขุดคุ้ยค้นหากิเลสกับการพักอยู่ในฌาน จะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ดี พอถอนออกมาแล้วก็พิจารณาต่อ จนกว่าจะทำลายมานะและอวิชชาให้หมดไป เมื่อหมดแล้วก็ไม่มีอะไรให้พิจารณา เพราะไม่มีอะไรสร้างความไม่สบายใจให้อีกต่อไป
ถาม ในการพิจารณานี่ไม่จำเป็นต้องหลับตาหรือนั่งตลอด
ตอบ ไม่จำเป็น ดูในใจ ดูการทำงานของกิเลส ที่สร้างความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เช่นคิดว่าเราดีกว่าเขา สูงกว่าเขา ต่ำกว่าเขา ด้อยกว่าเขา พอด้อยกว่าก็น้อยเนื้อต่ำใจ เวลาสูงกว่าก็หยิ่งผยอง ภูมิอกภูมิใจ หลงระเริง ซึ่งเป็นกิเลสทั้งนั้น ต้องพิจารณาให้เห็นชัดแล้วตัดมันไป ส่วนอวิชชาก็คือการไม่เห็นความทุกข์อันละเอียด ที่มีซ่อนอยู่ในใจ เพราะใจในขณะนั้นมีความสุขมาก จนคิดว่าไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย แต่ความสุขนั้นยังเปลี่ยนได้ ยังหายไปได้ มีความทุกข์ขึ้นมาแทนได้ แต่เป็นแบบที่ละเอียดมาก ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็น ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจและปล่อยวางได้
ถาม การพิจารณานามขันธ์นี้ ต้องพิจารณารูปให้แตกไปหมดก่อนหรือเปล่า หรือทำควบคู่ไปได้
ตอบ การพิจารณามีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ๑. พิจารณาเชิงทฤษฎี ก็คือพิจารณาดูว่า ร่างกายมันเกิดแก่เจ็บตาย เวทนามีสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สังขารก็คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ วิญญาณก็รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสแล้วก็หายไปแล้วก็ปรากฏขึ้นมาใหม่ สลับเปลี่ยนไป ๒. พิจารณาเชิงปฏิบัติ พอเสียงมากระทบกับหู สัญญาก็แปลเสียงว่าเป็นเสียงอะไร ดีหรือชั่ว น่ายินดีหรือน่ารังเกียจ ถ้าเสียงชมเชยก็ยินดี สุขเวทนาก็ปรากฏขึ้นมา ถ้าเสียงด่าว่าก็ไม่ยินดี ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ต้องรู้ทันตรงนี้แล้วดับให้ได้ รู้ว่าเป็นสักแต่ว่าเสียง สรรเสริญก็เสียง นินทาก็เสียง มีคุณค่าเท่ากัน แต่ใจไปให้น้ำหนักต่างกัน ถ้าสรรเสริญก็ดีอกดีใจ ถ้าดุด่าว่ากล่าวก็เสียอกเสียใจ นี่คือการพิจารณานามขันธ์ในเชิงปฏิบัติ ถ้าสติปัญญายังไม่ทัน ก็ต้องพิจารณาในเชิงทฤษฎีไปก่อน พิจารณาว่านามขันธ์มีหน้าที่อย่างนี้ๆ มันเกิดมันดับ เพื่อเตรียมไว้รับกับเหตุการณ์จริงๆ พอใครด่าเราปั๊บต้องพิจารณาแล้ว ดูซิว่าจะทันไหม ถ้าด่าแล้วดีใจก็แสดงว่าทัน เป็นการแข่งขันกัน ระหว่างกิเลสกับธรรม เหมือนกับเป็นการดวลปืนกัน ถ้าธรรมเร็วกว่าก็ไม่ทุกข์ ถ้ากิเลสเร็วกว่าก็ทุกข์ จึงต้องเสริมกำลังธรรมให้มีมากขึ้น ด้วยการพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เช่นเวลาเดินจงกรมอยู่ในป่าคนเดียว มีแต่เสียงนกเสียงกา ก็พิจารณาถึงคนที่เกลียดเรา ชอบด่าเรา หรือคนที่เรากลัวมากๆ พิจารณาให้หายกลัว พอไปเจอตัวจริงก็ดูซิว่าไม่กลัวอย่างที่ได้พิจารณาหรือไม่ เหมือนกับนักมวยที่ซ้อมชกกับกระสอบทราย ซ้อมชกกับคู่ซ้อมไปก่อน พอถึงเวลาก็ต้องขึ้นเวที ขึ้นไปลองของจริงดู ถ้าชนะก็ได้เข็มขัด ถ้าแพ้ก็ต้องกลับไปซ้อมใหม่หรือแขวนนวม แต่ในทางธรรมไม่ต้องแขวน แพ้กี่ครั้งไม่เป็นไร เพราะชนะเพียงครั้งเดียวก็จะชนะไปตลอด จึงไม่ต้องกลัวแพ้ แพ้ร้อยครั้งแสนครั้งก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้แพ้ไปก่อน เวลาแพ้ให้เป็นบทเรียนว่าพลาดตรงไหน จะได้แก้ไข พอครั้งหน้าเจอกันปั๊บ ถ้าทันก็ชนะ พอชนะแล้วก็จะชนะไปตลอด แพ้ทางธรรมไม่ต้องไปท้อ เพราะต้องการชนะเพียงครั้งเดียว
ถาม ลูกสาวฝากมาถามคะ เกี่ยวกับเรื่องอุ้มบุญคะ ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจค้ามนุษย์หรือเปล่า กลัวจะผิดศีล
ตอบ อุ้มบุญนี้เป็นอย่างไร
โยม อุ้มท้องแทน
ตอบ แล้วทำไมหรือ
ถาม รับจ้างท้องแทนคนที่มีบุตรยาก
ตอบ มันเรื่องของกิเลส การเกิดมันดีที่ไหน คิดอยากจะมีลูกก็เป็นทุกข์แล้ว
ถาม เป็นบาปไหม เหมือนเป็นการค้ามนุษย์
ตอบ ก็ไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตรงไหน ไม่บาป ก็เหมือนกับรับลูกเขามาเลี้ยง อย่างแม่ที่ต้องไปทำงาน ก็ฝากลูกไว้ที่โรงเลี้ยงเด็ก ตอนเย็นๆก็ไปรับกลับบ้าน นี่ก็ฝากลูกไว้ในท้องเขา ให้เขาเลี้ยงแทนไม่ต่างกัน เป็นธุรกิจการค้า ถ้าทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งครรภ์ให้ โดยไม่เรียกผลตอบแทน ก็เป็นการทำบุญ แต่มักจะมีปัญหาตามมา เพราะความผูกพัน พอคลอดออกมาแล้วจะไม่ยอมคืนให้แม่ ปัญหาก็จะตามมา พอคลอดลูกแล้วก็พาลูกเขาหนีไป เพราะเป็นลูกของเราแล้ว
ถาม พ่อแม่ปกปิดไว้ ไม่บอกความจริงว่าไปอุ้มบุญมา พอเด็กโตขึ้นก็ไม่ทราบว่าคนนี้คือแม่เขา ถ้าไปปรามาสแม่คนนี้ จะเป็นบาปไหม
ตอบ ถ้าไม่รู้ก็ไม่บาป เพราะไม่มีเจตนา ถ้ารู้ก็บาป รู้ว่าเป็นแม่แล้วก็ไปเนรคุณก็บาป แต่ถึงแม้จะไม่ใช่แม่ เป็นคนอื่น ถ้าไปทำไม่ดีกับเขาก็บาปเหมือนกัน แต่บาปไม่หนักเหมือนทำกับพ่อแม่ เช่นอนันตริยกรรมเป็นบาปที่หนักที่สุด ได้แก่การฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าคนอื่นไม่บาปเท่าฆ่าพ่อฆ่าแม่ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ไม่ได้เป็นอนันตริยกรรม เพราะคิดว่าเป็นคนอื่น ต้องรู้ว่าคนที่ถูกฆ่าเป็นใคร ถ้าเป็นอุบัติเหตุเผลอไปเหนี่ยวไกปืน ยิงพ่อแม่ตายไป ก็ไม่เป็นอนันตริยกรรม เป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้เจตนา ในนิทานที่ฆ่าแม่เพราะเอาข้าวไปส่งช้าไปหน่อย อย่างนี้เป็นอนันตริยกรรม เพราะรู้ว่าเป็นแม่
ถาม เจ้าของไข่กับคนอุ้มไข่ คนไหนเป็นแม่คะ
ตอบ ถ้าพูดตามสมมุตินิยม ใครเป็นเจ้าของไข่คนนั้นก็เป็นแม่ แต่ในทางธรรม พ่อแม่ที่แท้จริงไม่ใช่พ่อแม่ทางร่างกาย แต่พ่อแม่ทางใจ ที่ท่านตรัสสอนว่า เรามีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมคือการกระทำทางกายวาจาใจ ทำดีหรือทำไม่ดี นี้แหละเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงของเรา เป็นผู้ส่งให้ไปอยู่ในครรภ์ของมนุษย์หรือเดรัจฉาน ไปตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ นี่แหละคือพ่อแม่ที่แท้จริงของพวกเรา คือกรรม ส่วนพ่อแม่ทางร่างกายเป็นเพียงพ่อแม่ของร่างกาย ซึ่งเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง ที่ใจมาอาศัยร่างกายนี้เป็นพาหนะ ไปทำภารกิจต่างๆ จึงไม่สำคัญอะไร อย่างที่คลอดออกมาแล้วสลับคู่กัน เด็กคนหนึ่งไปอยู่กับครอบครัวหนึ่ง เด็กอีกคนไปอยู่อีกครอบครัวหนึ่ง พอโตขึ้นแล้วมารู้ทีหลัง ดังที่ตกเป็นข่าว ก็ทำใจไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็คิดว่าเด็กที่ได้มาเป็นลูกของตน เด็กก็คิดว่าเป็นพ่อแม่ของตน ก็ไม่อยากจะไปอยู่กับพ่อแม่จริง เพราะไม่มีความผูกพันกัน ความรู้สึกความผูกพันนี้เกิดจากการได้อยู่ใกล้ชิดกัน เช่นสามีภรรยา เมื่อก่อนไม่เคยอยู่ด้วยกันไม่รู้จักกัน ก็ไม่มีความผูกพัน พอมาอยู่ร่วมกันนานๆก็มีความผูกพัน เป็นเรื่องของกิเลสเรื่องของอุปาทานทั้งนั้น ถ้ามีปัญญาก็จะไม่มีความผูกพันมาก เพราะรู้ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงก็คือกรรม
แต่ความเคารพและความรับผิดชอบ ก็ยังมีเหมือนเดิม รักเหมือนเดิม แต่รู้ว่าเป็นเหมือนตัวละคร เขาแสดงเป็นพ่อเป็นแม่เราแสดงเป็นลูก ในละครเรื่องนี้ในชาตินี้ พอเขาตายจากเราไป เราตายจากเขาไป ก็ไปเล่นละครเรื่องใหม่ต่อ ได้พ่อได้แม่คนใหม่ ก็เล่นกันมานับไม่ถ้วนแล้ว เพียงแต่จำไม่ได้ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็จะเข้าใจ ความผูกพันแบบเดิมก็จะหายไป อุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงก็จะหายไป จะไม่คิดว่าตายจากกันแล้วจะไม่ได้เจอกันอีก เพราะอาจจะกลับมาเจอกันในบทบาทที่ต่างกัน สลับบทบาทกันก็ได้ เคยเป็นพ่อแม่เรา ก็อาจจะมาเป็นลูกเราก็ได้ เคยสร้างเวรสร้างกรรมให้กับพ่อแม่มาก ต่อไปพ่อแม่อาจจะมาเอาคืน กงกรรมกงเกวียน ตายไปแล้วไม่รู้จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเมื่อไหร่ ไม่แน่นอน ตายแล้วไปอยู่บนสวรรค์ ไปตกนรกหลายพันปี กว่าจะกลับมาเกิดใหม่ มาสลับบทบาทกันได้
ถาม ถ้าคนที่ถูกเลี้ยงดูฆ่าคนที่อุ้มบุญ คือคนที่อุ้มท้องตัวเองมา อย่างนี้ถือเป็นอนันตริยกรรมหรือเปล่าคะ
ตอบ ถ้ารู้ว่าคนนี้เป็นแม่เขาก็เป็น ถ้าไม่รู้ ก็ไม่เป็น
ถาม สำคัญที่ใจ
ตอบ สำคัญที่ใจเป็นหลัก เพราะรู้ว่ามีแม่จริงเพียงคนเดียว จะมีแม่จริงๆ ๒ คนไม่ได้ คนที่อุ้มท้องก็เป็นเหมือนแม่เลี้ยง แม่จริงก็เป็นเจ้าของไข่ บางทีแม่เลี้ยงมีพระคุณมากกว่าแม่จริงก็ได้ จึงอยู่ที่จะคิดว่าใครเป็นแม่จริง ถ้าคิดว่าเป็นทั้ง ๒ คนก็ได้ เพราะทั้ง ๒ คนก็มีส่วนทำให้ได้เกิดมา ถ้าฆ่าทั้ง ๒ คนก็เป็นอนันตริยกรรม ไม่ว่าจะฆ่าแม่เจ้าของไข่หรือแม่ที่อุ้มท้อง ทางที่ดีก็อย่าไปฆ่า ไม่ว่าจะเป็นใคร แม้แต่มดยังไม่ให้ฆ่าเลย แล้วคนที่เลี้ยงดูเรามา ถึงแม้จะไม่ได้เป็นแม่จริง ก็มีพระคุณเท่ากับพ่อแม่ ท่านให้ดูที่พระคุณเป็นหลัก ถึงแม้จะไม่เป็นพ่อแม่จริง แต่มีบุญคุณเท่ากับพ่อแม่จริง ฆ่าเขาก็เป็นอนันตริยกรรมเหมือนกัน เราอยู่ในโลกที่มีมาตรฐานใหม่ๆเกิดขึ้นมา ก็ต้องวิเคราะห์กันไป ก็ต้องถือแม่ทั้ง ๒ คนว่าเป็นแม่ทั้งคู่ ฆ่าคนใดคนหนึ่งก็เป็นอนันตริยกรรมเหมือนกัน เพราะขาดคนใดคนหนึ่งก็เกิดไม่ได้ เช่นพ่อไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มท้องเลย แต่ถ้าไม่มีพ่อก็ตั้งครรภ์ไม่ได้ ต้องดูพระคุณเป็นหลัก ถ้าพระคุณเท่าพ่อกับแม่ก็เป็นเหมือนพ่อแม่ ฆ่าเขาก็เป็นอนันตริยกรรมเหมือนกัน
ถาม เวลาจะพิจารณาอสุภะต้องเริ่มอย่างไร เพราะว่าหนูเคยดูรูปมูลนิธิปอเต็กตึ้ง ร่วมกตัญญูแล้วหนูกลัว
ตอบ ให้กำหนดดูอาการ ๓๒ ไปในใจก่อน ไม่ต้องดูรูปจริง
ถาม ดูชีพจรเต้นได้ไหม
ตอบ ก็ได้ แต่ชีพจรเต้นไม่ได้ช่วยอะไรมาก ต้องการให้นึกถึงภาพที่ไม่สวยงาม เช่นเห็นโครงกระดูกที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นปอดเห็นหัวใจเห็นลำไส้ ถ้าเห็นภาพจริงแล้วรู้สึกว่ามันรุนแรงเกินไปก็อย่าเพิ่งไปดู นึกภาพไปในใจก่อน ถ้ารับไม่ได้ก็หยุดก่อน แสดงว่ากำลังทางปัญญาและความสงบยังน้อยไป ก็ต้องทำสมาธิก่อน ทำจิตให้สงบมากขึ้นก่อน ต่อไปก็จะรับได้ เพราะแรงต้านของกิเลสจะน้อยลง ต้องดูกำลังของเราว่าเราอยู่ขั้นไหน ยังไม่ได้สมาธิแล้วข้ามไปที่ปัญญาเลย ก็จะไม่เกิดประโยชน์
ถ้าเป็นเรื่องธรรมะจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันเท่าไหร่ ดังในอานิสงส์ของการฟังเทศน์ฟังธรรมที่แสดงไว้ว่า ๑. จะได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ๒. สิ่งที่เคยได้ฟังแล้วจะเข้าใจดีขึ้น ๓. จะช่วยกำจัดความสงสัยต่างๆให้เบาบางลงไป ๔. ทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ๕. ทำให้จิตใจผ่องใสมีความสงบร่มเย็น แต่ความสงบร่มเย็นนี้เป็นเพียงชั่วขณะที่ฟังเท่านั้น หลังจากที่ออกจากที่นี่ไปแล้ว พอไปสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆ ความสุขความร่มเย็นเป็นสุขนี้ก็จะถูกกลบไป ถ้าอยากจะให้ร่มเย็นเป็นสุขอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องหมั่นฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ฝึกให้เป็นนิสัย เช่นตื่นเช้าขึ้นมาก่อนจะทำอะไร ก็ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็นั่งฟังเทศน์สักกัณฑ์หนึ่ง ก่อนที่จะไปทำภารกิจการงานต่างๆ เป็นการชาร์จแบตเตอรี่ของจิตใจ ของสติปัญญา พอออกไปข้างนอกจะมีอาวุธคุ้มครองจิตใจ ใช้ตัดความโลภความโกรธความหลง ที่จะหลอกให้ไปสร้างความทุกข์ให้กับตัวเราและผู้อื่น การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก พยายามฟังอยู่เรื่อยๆ ฟังบ่อยๆ จะเกิดศรัทธาที่จะปฏิบัติตาม จะเห็นผลมากขึ้น มีความสงบร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น จะพึ่งความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอกน้อยลงไปตามลำดับ เพราะมีความสุขที่ดีกว่า ที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม จากการปฏิบัติธรรม ใหม่ๆอาจจะต้องบังคับใจให้ฟัง ให้เอาแผ่นซีดีธรรมะนี้ไปฟัง เป็นตัวจุดประกายศรัทธา ที่เรามาได้ถึงตรงนี้ ก็เพราะได้อ่านหนังสือธรรมะ พอไปสัมผัสกับสิ่งที่มีอยู่ในใจ มันรับกันได้ ก็เลยช่วยปลุกเชื้อของธรรมะที่ถูกเรื่องอื่นๆกลบให้ฟื้นขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความโลภโกรธหลง เพราะเราอยู่กับคนที่มีความโลภโกรธหลง
พอได้อ่านหนังสือธรรมะ ก็เหมือนกับได้สิ่งที่เคยมีอยู่แต่ถูกกลบไปคืนมา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจ ให้มีความสุขมีความสบายมากขึ้น ความทุกข์ความวุ่นวายใจจะมีน้อยลงไปตามลำดับ ความสงสัย ความไม่มั่นใจในตนเอง ความหวาดกลัวหวาดระแวงต่างๆ จะค่อยๆหายไป เพราะธรรมะจะให้ความมั่นคงกับจิตใจ จึงไม่ควรมองข้ามธรรมะไป เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆในโลกนี้ แต่ไม่เห็นคุณค่ากัน จึงต้องเอามาแจกกัน ของอย่างอื่นที่ไม่มีคุณค่ากลับต้องซื้อกัน เพราะหลงไปเห็นว่ามีคุณค่า เช่นเพชรนี่ก็เป็นก้อนหินเท่านั้น เพชรกับธรรมะอย่างไหนมีคุณค่ากว่ากัน คนที่ไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ จึงต้องเสียเงินเสียทองซื้อเพชรกัน แล้วได้อะไร ก็เอามาห้อยคอเอามาสวมไว้ในนิ้วเท่านั้นเอง แล้วก็ดีอกดีใจปลื้มอกปลื้มใจ แต่ความทุกข์ต่างๆก็ยังมีอยู่เต็มหัวใจ
ถาม หลวงพ่อครับ เด็กๆที่สนใจธรรมะนี้ จะทำอย่างไรให้เขาเริ่มภาวนาอย่างง่ายๆ แนะนำอย่างไรดีครับ
ตอบ แนะนำให้ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน ต้องเป็นขั้นเป็นตอน ไปจับยัดเข้าไปไม่ได้ ต้องให้เข้าไปเอง ถ้ายังไม่พร้อมไปบอกให้เขาภาวนาก็จะเสียได้ จะเกิดความท้อแท้หรือต่อต้านได้ ให้เกิดศรัทธาฉันทะวิริยะขึ้นมาก่อน แล้วจะทำเอง
ถาม แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าพร้อมหรือไม่พร้อม
ตอบ ฟังไปเถิด ยังไม่ ก.ไก่ ข.ไข่เลย จะไปทำเรื่องของ ป.๒ แล้ว ต้องเข้าอนุบาลไปก่อน ก.ไก่ ข.ไข่ไปก่อน ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน พอเข้าใจแล้วจะทำเอง จะเดินทางก็ต้องมีคนบอกทางก่อน ไปทางนี้แล้วจะมีอะไร เหมือนกับโฆษณาสินค้าในโทรทัศน์ จะบอกว่าใช้แล้วจะทำให้เราวิเศษอย่างไร จะมีประโยชน์อย่างไร พอได้เห็นโฆษณาก็อยากจะไปซื้อแล้ว ถ้าไม่เคยเห็นโฆษณาก็จะไม่รู้ว่าวิเศษอย่างไร การแสดงธรรมก็เป็นการโฆษณาธรรม แสดงคุณค่าของธรรมะ พอได้ยินได้ฟังแล้วก็จะเกิดความยินดีเอง ถ้าไม่เกิดก็ช่วยไม่ได้
ถาม ที่เกิดหรือไม่เกิดนี่ มันขึ้นอยู่กับบุญไหมคะ
ตอบ เหมือนบัว ๔ เหล่า มีกิเลสมากหรือกิเลสน้อย ถ้ากิเลสน้อยก็เกิดง่าย พอได้อ่านได้ยินได้ฟังธรรมก็เกิดศรัทธา ถ้ากิเลสหนามากจนแสงสว่างแห่งธรรมไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้เลย ก็เป็นบัวเหล่าที่ ๔ เป็นบัวที่อยู่ติดดิน ที่จะกลายเป็นอาหารของปูของปลาไป ไม่มีโอกาสที่จะโผล่เหนือน้ำขึ้นมาบานได้ แต่บัวอีก ๓ เหล่านี้ยังพอมีโอกาส พวกที่อยู่กลางน้ำ พวกที่อยู่ใต้ผิวน้ำ พวกที่โผล่เหนือน้ำขึ้นมาแล้ว พอได้สัมผัสกับธรรมจะรับได้ทันที จะเข้าใจจะเกิดศรัทธาเกิดความยินดีทันที เหมือนศรัทธาญาติโยมที่มาที่นี่กัน เมื่อก่อนก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่พอได้สัมผัสกับธรรม ได้ศึกษาได้ยินได้ฟัง ก็เกิดศรัทธาขึ้นมา ถ้ายังไม่เกิดก็ต้องบังคับฟังไปเรื่อยๆ พยายามเกาะติดกับคนที่มีศรัทธา เขาไปวัดก็ไปกับเขา ถึงแม้จะยังไม่เข้าใจยังไม่สนใจ ก็ขอให้ได้ไปก็ยังดี ไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งแสงสว่างแห่งธรรม จะต้องเล็ดลอดเข้าไปได้อย่างแน่นอน ขอให้เกาะติดกันไว้ ท่านจึงสอนให้มีกัลยาณมิตร ให้คบคนดีคบคนฉลาด อเสวนา จ พาลานัง ปณฺฑิตา นญฺจ เสวนา ให้คบบัณฑิตคบคนดีคนฉลาด อย่าคบคนพาลคนโง่ คบคนโง่เขาก็ชวนเราไปเที่ยว ไปยิงนกตกปลา ไปเข้าผับ ไปดูหนังฟังเพลง ไปเต้นแร้งเต้นกา
ถาม เป็นคนกลัวผีมากเลยคะ รู้สึกทรมานมาก อยากหายกลัวคะ
ตอบ ใช้วิธีสวดมนต์ไป เวลาเกิดความกลัว
ถาม แต่ไม่เคยเจอคะ
ตอบ ไม่มีใครเจอ เพราะมันไม่มี เรากลัวในสิ่งที่ไม่มีกัน ผีจริงไม่หลอก มีแต่ผีปลอมที่หลอก เราสร้างขึ้นมาในใจเราเอง
ถาม ใช้สวดมนต์จะช่วยได้
ตอบ จะระงับผีปลอมไม่ให้โผล่ออกมา พอคิดถึงมัน มันก็โผล่ออกมา พอสวดมนต์ไปก็ไม่มีโอกาสไปคิดถึงมัน พอจิตหยุดคิด ก็รู้ว่าผีไม่มี มันเกิดจากความคิดของเรา ที่สร้างมันขึ้นมาเอง ผีจริงเขาก็อยู่ตามเรื่องของเขา ดวงวิญญาณต่างๆก็เหมือนกับของเรา ดวงวิญญาณทุกดวงก็กลัวผีด้วยกันทั้งนั้น แล้วเรื่องอะไรจะมาหลอกคน เขาก็มีบุญมีกรรมมีที่ๆเขาจะต้องไปรับผล พอตายไปก็เป็นดวงวิญญาณในระดับต่างๆ ตามบุญตามกรรม คนที่มีสมาธิก็จะมีพลังจิตที่จะติดต่อกับเขาได้ ก็เหมือนคุยกันอย่างนี้ เพียงแต่ไม่มีร่างกาย คนมีพลังจิตพอส่งกระแสจิตไป ก็รับรู้ดวงวิญญาณต่างๆได้ สนทนาคุยกันได้ เหมือนกับที่เราคุยกันอยู่นี้ ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวก็คือกิเลสที่คอยหลอกเรา ถ้าเกิดความกลัวพระพุทธเจ้าจึงทรงสอน ให้ระลึกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ด้วยการเจริญพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ สวดอรหังสัมมา สวากขาโต สุปฏิปนฺโนไป สวดไปเรื่อยๆ อย่าส่งใจไปคิดถึงเรื่องที่กลัว สวดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายกลัว แล้วมันจะหายไปเอง แต่อย่าไปอยากให้มันหายตอนที่สวด อย่าไปคิดถึงว่าเมื่อไรจะหาย สวดอย่างเดียว บริกรรมพุทโธคำเดียวก็ได้ เวลากลัวมากๆ ถ้าสวดไม่ได้ก็พุทโธๆไป จนจิตนิ่งสงบ ความกลัวก็จะหายไป ก็จะรู้ว่าความกลัวเกิดจากใจไปคิดปรุงแต่งขึ้นมา บางทีต้องไปอยู่ที่กลัวๆ ถ้าอยู่ที่ไม่กลัวมันก็ไม่ออกมา เวลาอยู่กับเพื่อนกับฝูง อยู่ตอนกลางวัน มันไม่ค่อยออกมา พอมาอยู่ที่นี่คนเดียว ก็จะโผล่ออกมา มันอยู่ที่ใจเรา วิธีแก้ก็คือสวดมนต์ไปอย่างเดียว หรือบริกรรมพุทโธๆไปอย่างเดียว รับรองได้ว่าจะแก้ได้
ถาม อย่างในชีวิตประจำวันนี้ ในชีวิตการทำงาน ที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับผู้คนเยอะแยะหลากหลายรูปแบบ บางทีเข้ามาโดยที่เราตั้งตัวไม่ทัน บางครั้งเราจะมีอารมณ์
ตอบ ก็ต้องเรียนรู้แล้วแก้ไขไป ทุกอย่างเป็นเหมือนฝนกับแดด ฝนกับแดดเราก็รู้จักวิธีปฏิบัติกับเขาใช่ไหม ถ้าวันไหนฝนจะตกเราก็เตรียมร่มเตรียมเสื้อฝนไว้ เตรียมที่หลบฝนไว้ คนก็เหมือนกัน พอเจอเขาก็ต้องรู้จักปล่อยวาง ปล่อยเขาไปตามเรื่อง จะแสดงกิริยาอาการอย่างไร ก็อย่าเอาเข้ามาใส่ใจ ต้องยอมรับว่าเราบังคับเขาไม่ได้ เหมือนกับบังคับแดดลมฝนไม่ได้ คนที่เราเกี่ยวข้องด้วย เราก็บังคับให้เขาทำตามใจเราไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง อย่าไปหวังอะไรจากใคร เขาจะเป็นอย่างไร จะเต้นแร้งเต้นกา จะเอาศีรษะเดินแทนเท้าก็เรื่องของเขา เขาจะด่าจะชมเราก็เรื่องของเขา เราก็ห้ามเขาไม่ได้ แต่เราห้ามใจเราได้ เราต้องฝึกห้ามใจเรา จะห้ามใจได้ก็ต้องทำสมาธิ นั่งหลับตาแล้วก็พุทโธๆไป ไม่ให้ใจไปคิดอะไร ผูกใจไว้กับพุทโธๆ เวลาใจจะไปวุ่นวายกับเรื่องของใคร ก็ดึงกลับมาหาพุทโธๆ ก็จะไม่เดือดร้อน จึงต้องพยายามฝึก สิ่งที่เราขาดกันก็คือสมาธิ ขาดการบริกรรมพุทโธ เราดึงใจไว้ไม่เป็น ผูกใจให้นิ่งอยู่กับที่ไม่เป็น พออะไรมาสัมผัสก็ลอยตามไป เหมือนกับปุยนุ่น พอลมเบาๆพัดมาก็ลอยตามไปเลย พอมีอะไรมากระทบทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนิดเดียวก็ไปแล้ว โกรธก็โกรธแบบไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ยับไม่ยั้ง เพราะไม่มีสมาธิ ไม่มีเบรก
สมาธินี้ไม่มีใครทำให้เราได้ เราต้องฝึกทำกันเอง ทุกเช้าก่อนไปทำงานก็นั่งสมาธิก่อน ฟังเทศน์ฟังธรรมก่อน จะได้มีเครื่องมือไว้ใช้ปฏิบัติกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ธรรมะจะสอนให้เราปล่อยวาง ให้ยอมรับความจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนลมฟ้า เราไปหวังให้แดดออกหรือฝนตกไม่ได้ฉันใด ก็ไปหวังให้คนโน้นคนนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้ฉันนั้น เราต้องยอมรับความจริงของเขา เขาด่าเราก็ยอมรับความจริง เขาชมเราๆก็รับ แต่เราอย่าไปยินดีกับคำชม อย่าไปเสียใจกับคำด่า ต้องทำเฉยๆ ชมก็ได้ ด่าก็ได้ มีน้ำหนักเท่ากัน แล้วเราจะไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งนั้น ไม่หวังไม่อยากกับอะไรทั้งนั้น ถ้าผิดหวังก็เสียใจ สมหวังก็อยากจะได้อีก ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่หวังไม่อยากก็จะสบาย มาในรูปแบบไหนก็รับได้หมด
ถาม ไม่ทราบว่าที่เคยได้ยินมาถูกหรือผิด ตรงที่ว่าในการทำสมาธินี่ ถ้าหากภาวนาด้วยพุทธานุสติ จิตจะรวมลงแค่อุปจารสมาธิ แต่ถ้าใช้อานาปานสตินี่ จิตสามารถรวมลงถึงอัปนาสมาธิ
ตอบ ไม่จริง อยู่ที่กำลังของสติ ถ้ามีสติมากก็จะลงลึก ถ้ามีสติน้อยก็ลงไม่ลึก อีกส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าอยู่ในบ้านในเมืองภาวนาจะลงไม่ค่อยลึก แต่ถ้าไปอยู่ในป่าในเขาจะลงลึก หรือไปเจอเหตุการณ์ที่ไล่จิตให้ลง เช่นหลวงปู่ชอบ ท่านเดินจงกรมตอนกลางคืน แล้วไปจ๊ะเอ๋กับเสือ พอเห็นปั๊บจิตก็ลงไปสุดก้นบ่อเลย ตอนนั้นท่านบอกว่าเสือก็หายไป ร่างกายก็หายไป เหลือแต่จิตอยู่ตามลำพัง ไม่รู้อยู่นานสักแค่ไหน พอถอนออกมาเทียนที่ใช้เป็นแสงสว่าง ได้ไหม้หมดไปแล้ว แต่กิริยาที่ยืนอยู่ในขณะที่เจอเสือก็ยังยืนอยู่อย่างนั้น ยืนนิ่งเหมือนกับหุ่นขี้ผึ้ง พระธุดงค์จึงนิยมไปอยู่ที่เปลี่ยวๆ ที่น่ากลัวๆ ที่จะช่วยกระแทกใจให้ลงไปสู่ความสงบที่ลึกที่สุด ถ้าอยู่ในที่ปลอดภัย ที่มีเรื่องมีราวต่างๆมาคอยดึงใจไว้ ก็จะลงไม่ลึก ลงพอหอมปากหอมคอ
ส่วนใหญ่ฆราวาสจะไม่เจอแบบลงลึกๆเต็มที่ถึงก้นเหว มีน้อยคน แต่คนที่ไปอยู่ในป่าในเขานี่จะได้เจอแบบลึกๆ ไม่ได้อยู่ที่กรรมฐาน กรรมฐานทั้ง ๔๐ นี้มีคุณค่าเท่ากัน ขอให้ถูกกับจริตเท่านั้น เหมือนกับอาหารที่กินแล้วอิ่มเหมือนกัน คนหนึ่งชอบกินอาหารชนิดหนึ่ง อีกคนชอบอีกชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ชอบแต่ฝืนกินไปก็อิ่มเหมือนกัน ถ้าชอบก็มีความสุขด้วยอิ่มด้วย ถ้าใช้กรรมฐานที่ถูกจริต ก็จะสุขกับการภาวนา แล้วก็รวมลงได้เหมือนกัน ถ้าไปใช้กรรมฐานที่ไม่ถูกกับจริต อย่างที่เมื่อสักครู่นี้เล่าว่า พิจารณาร่างกายกำหนดดูภาพอสุภแล้ว รู้สึกว่าแสลงใจ รับไม่ได้ ปวดหัว แสดงว่าไม่ถูกจริต หรือจิตยังไม่ถึงธรรมขั้นนั้น ก็อย่าเพิ่งไปใช้ ให้เลือกใช้กรรมฐานที่ถูกกับจริต