กัณฑ์ที่ ๓๗๗       ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑

 

ตัวรู้กับสติ

 

 

 

ถาม  ตัวรู้กับสติเป็นตัวเดียวกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ตัวรู้เป็นเหมือนกับแก้วนี่ จะตั้งอยู่ในท่าไหน จะหงายหรือคว่ำ ก็ยังเป็นแก้วอยู่ ถ้าไม่มีสติก็เหมือนแก้วที่คว่ำอยู่ ไม่รับรู้เรื่องที่สัมผัส ถ้ามีสติก็เหมือนกับพลิกแก้วขึ้นมาให้รับรู้ ถ้าไม่มีสติตัวรู้จะลอยไปกับอารมณ์ความคิดปรุงแต่งต่างๆ นั่งอยู่ตรงนี้ แต่ไม่รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในตอนนี้ จะอยู่ในโลกของจินตนาการ อยู่กับความคิดปรุงแต่งต่างๆ อย่างนี้แสดงว่าไม่มีสติแต่มีตัวรู้ การมีสติหมายถึงการดึงจิตให้มารับรู้อยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ หรืออยู่กับเรื่องหนึ่งเรื่องใด ถ้าให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็ให้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก สติเป็นตัวดึงจิตให้อยู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน ให้อยู่กับเรื่องหนึ่งเรื่องใดในปัจจุบัน ให้อยู่กับพุทโธก็ได้ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้ ให้อยู่กับการฟังก็ได้ ให้สติดึงใจให้มารับรู้กับการฟัง ถ้าไม่มีสติตัวรู้ก็จะลอยไปรู้เรื่องอื่นแทน เช่นพูดคุยกันอยู่ตรงนี้ แต่ใจไปคิดกังวลกับเรื่องอื่น เพราะไม่มีสติ ถ้าดึงใจให้รับรู้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน หรือรับรู้กับเรื่องที่กำหนดให้รับรู้ ถึงจะเรียกว่ามีสติ

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นตัวที่เต็มไปด้วยกิเลสนั้น เป็นตัวรู้หรือเป็นสติ

 

ตอบ  ตัวที่มีกิเลสหรือไม่มีกิเลสก็คือตัวรู้ ตัวสตินี้ไม่มีกิเลส ตัวรู้เป็นตัวที่มีกิเลส ถ้าไม่มีสติตัวรู้ก็จะถูกกิเลสดึงไปทำอะไรต่างๆ ทำให้ใจฟุ้งซ่าน ห่วงกังวลวิตกกับเรื่องต่างๆ เพราะไม่มีสติคอยดึงไว้ แต่มีสติดึงไว้อย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องมีปัญญาถึงจะระงับความห่วงความกังวลได้ แต่อย่างน้อยก็ดึงให้อยู่ในปัจจุบัน เช่นเวลาห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอได้สติก็กลับมาอยู่ตรงนี้ อยู่ที่นี่ เรื่องมันอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เราอยู่ที่นี่ก็ดึงกลับมา ถ้ามันไม่ยอมอยู่ ก็ต้องใช้อุบายของสมาธิ บริกรรมพุทโธๆดึงเอาไว้ เพราะสติไม่มีกำลังพอ ดึงไม่อยู่ ได้สติแป๊บเดียวก็ขาด กลับไปคิดอีกแล้ว จึงต้องดึงด้วยพุทโธๆ พอพุทโธๆไปมันก็ไม่สามารถไปคิดเรื่องอื่นได้ พุทโธเป็นเหมือนเสา สติเป็นเหมือนเชือก จิตเป็นเหมือนลิง เอาเชือกผูกคอลิงไว้ แล้วผูกมัดไว้กับเสา ถ้าลิงกระตุกเชือกขาด ก็แสดงว่าสติยังอ่อน พุทโธๆได้ ๒ คำใจก็ลอยไปแล้ว

 

ถาม  ไม่มีสติกับใจลอยนี่เหมือนกันไหม

 

ตอบ  เหมือนกัน ลอยมากๆก็กลายเป็นคนไร้สติไป เรื่องกิเลสไม่ได้เกี่ยวกับสติ กิเลสมีอยู่ในจิตของปุถุชนทุกคน จิตของปุถุชนกับจิตของพระพุทธเจ้าต่างกันตรงที่มีกิเลสหรือไม่มีกิเลส เป้าหมายของปุถุชนก็อยู่ที่การชำระจิตให้สะอาด ไม่ให้มีกิเลสหลงเหลืออยู่ ให้เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ อวิชชาเป็นเจ้านายใหญ่ของกิเลส สุดยอดของกิเลสก็คืออวิชชา หรือโมหะความหลง คือไม่เห็นไตรลักษณ์นี่เอง ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสภาวธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่เห็นก็หลงยึดติด อยากจะอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปนานๆ อยากจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่กับตนไปนานๆ แสดงว่าไม่เห็นความจริง ถ้าคนเห็นความจริง จะรู้ว่าจะต้องจากกันไป แล้วจะอยากไปทำไม จะเห็นความทุกข์ที่ตามมาด้วย ถ้าอยากแล้วใจจะวุ่นวายกระสับกระส่ายขึ้นมาทันที อยากให้คนนั้นคนนี้อยู่ไปนานๆ ใจก็กระสับกระส่ายแล้ว นี่ก็คือความทุกข์ แล้วก็จะเห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นสิ่งที่จะควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการได้ เป็นเหมือนต้นไม้ใบหญ้า เหมือนแดดลม มาแล้วก็ไปตามเรื่องของเขา แต่เราชอบไปคว้าเอาเข้ามาว่าเป็นของเรา ให้อยู่กับเราไปนานๆ จึงเกิดปัญหาต่างๆตามมา  ต้องคอยดูแลรักษา ต้องหาวิธีต่างๆรักษาให้อยู่กับเรา แต่ในที่สุดก็ต้องหมดไป

 

        เราพยายามดูแลรักษาร่างกายแทบเป็นแทบตาย แต่เดี๋ยวก็ต้องหมดไป ทำได้แค่ให้อยู่ได้นานหรือไม่นานเท่านั้นเอง อย่างนี้พอจะทำได้ พอจะดูแลได้ ถ้าไม่กินเหล้าเมายา ไม่สำมะเลเทเมา รับประทานอาหารพอประมาณ หลับนอนพักผ่อนพอประมาณ ออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ ก็จะอยู่ได้นาน ถ้าใช้แบบสมบุกสมบันก็จะอยู่ได้ไม่นาน เหมือนกับรถยนต์ถ้าใช้แบบทะนุถนอมก็มีอายุยาวกว่าใช้แบบสมบุกสมบัน ร่างกายของคนเราก็เหมือนกัน อย่างหลวงตาท่านนั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ค่อยได้ใช้มากเท่าไหร่ จึงมีอายุยืนยาวนาน ถ้าเอาไปเที่ยวกินเหล้าเมายาดูหนังฟังเพลง อดหลับอดนอน เพราะติดหนังติดละคร พอตื่นแล้วก็ต้องไปทำงานต่อ ร่างกายก็ไม่มีเวลาพักผ่อนเท่าที่ควร ใช้ร่างกายหาเงินแล้วก็ต้องใช้มันไปเที่ยวต่ออีก จึงไม่ได้พักผ่อนอย่างพอเพียง ก็จะมีอายุสั้น

 

ถาม  แต่ท่านอดอาหารนี่คะ

 

ตอบ  ตอนที่อดอาหารนั้นเป็นช่วงที่ท่านปฏิบัติ ไม่ได้อดตลอดเวลา ช่วงระยะเวลา ๙ ปีที่ท่านปฏิบัติอย่างหนักๆ แต่หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้อดอีก ท่านก็ฉันตามปกติ ประกอบกับจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว ไม่มีความเครียดคอยกัดกร่อนจิตใจ คนที่อายุสั้นเพราะความเครียดก็มี เพราะความเครียดทำให้เกิดโรคขึ้นมา เช่นความดันและเบาหวานเป็นต้น จิตของปุถุชนต่างกับจิตของพระพุทธเจ้าตรงที่ จิตของปุถุชนยังมีความโลภความโกรธความหลงอยู่ มีอวิชชามีความหลงเป็นต้นเหตุของความโลภความโกรธ เพราะไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นไตรลักษณ์ก็จะไม่โลภ ถ้าไม่โลภก็จะไม่โกรธ สาเหตุที่เราโกรธก็เพราะเราโลภ ยังยึดยังติดกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ กับคนนั้นคนนี้ พอสิ่งนั้นสิ่งนี้คนนั้นคนนี้ไม่ทำตามที่เราต้องการ เราก็โกรธ แต่ถ้าไม่โลภกับคนนั้นคนนี้กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ใครจะทำอะไรเราก็ไม่สนใจ เราก็ไม่โกรธ ถ้าไม่อยากได้อะไร ไม่ยึดติดอะไร ก็จะไม่โกรธ ลองสังเกตดู สิ่งไหนที่เราไม่มีอุปาทานยึดติด เราจะไม่มีความไม่สบายใจความโกรธกับสิ่งนั้น ใครจะทำอะไรก็ทำไป ถ้าเป็นแฟนของเรานี่ไม่ได้ กับคนใกล้ชิดนี่ไม่ได้ ถ้าทำอะไรผิดใจหน่อยก็จะโกรธ ถ้าสังเกตดูจะเห็น คนที่ไม่ใช่แฟนเรา เขาจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขา คนที่เป็นแฟนเรา เขาต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ขึ้นมาทันที พอเขาไม่เป็นก็โกรธ ถ้ามีปัญญาก็จะคิดว่า คนนี้กับคนนั้นก็เหมือนกัน เขาก็มีความเป็นอิสรภาพของเขา อยากจะทำอะไรเขาก็ทำ อยากจะเป็นอะไรเขาก็เป็น ไม่ว่าจะเป็นแฟนเราหรือไม่ คนที่ไม่เป็นแฟน เราก็ไม่ไปหวังอะไร เราก็ไม่ทุกข์ คนที่เป็นแฟนเรา เราก็อย่าไปหวังอะไรเช่นกัน ควรยินดีตามมีตามเกิด จะพาเราไปเที่ยวก็ไป ไม่พาไปก็ไม่ไป แค่นี้ก็จบ

 

จึงควรอยู่แบบสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด ไม่ว่ากับใครก็ตาม กับคนใกล้ชิดหรือคนที่ไม่ใกล้ชิด กับคนที่รู้จักหรือไม่รู้จัก ก็เหมือนกันทั้งนั้น จะได้ไม่ทุกข์ไปกับเขา ไม่ทุกข์กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้อะไรมาก็พอใจๆ ถ้าจะให้ดีก็อย่าไปอยากได้อะไรเลยยิ่งดีใหญ่ นี่คือการเห็นด้วยปัญญา เห็นว่าความทุกข์เกิดจากความหลง ที่ไปอยากในสิ่งต่างๆ เพราะไม่เป็นไปตามความอยากเสมอไป สมใจอยากในบางเวลา เวลาเอาอกเอาใจกันนี่ ทุกอย่างหวานไปหมด ดีไปหมด เวลาขัดใจกันนี่ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่ได้ ต้องยอมรับทั้ง ๒ สภาพ เวลาที่เขาจะเอาใจเราก็ได้ เวลาเขาจะไม่เอาใจเราก็ได้ เวลาที่เขาจะขัดใจเราก็ได้ ให้เขาขัดไป ถ้าเราไม่ไปหวังอะไรจากเขาแล้ว ก็จะไม่มีปัญหา ถ้าอยากจะให้เขาพาไปเที่ยว แต่เขาไม่พาไป เราก็ไปเองก็ได้ถ้าอยากจะไป ถ้าไม่อยากไปเที่ยวเลยยิ่งดีใหญ่ อยู่บ้านเฉยๆไม่มีปัญหาอะไร ที่ต้องมีสติก็เพราะจะได้ดึงจิตให้มาแก้ปัญหา ถ้าไม่มีสติก็จะลอยไปตามอารมณ์ จะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะปัญหาต้องแก้ด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเป็นอารมณ์แล้วก็จะอยู่ในโลกของความเพ้อฝัน

 

ถาม  แสดงว่าพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มีสติต่อเนื่องตลอดเวลา

 

ตอบ  ท่านฝึกจนเป็นธรรมชาติ มีสติโดยไม่ต้องตั้ง ถ้าจิตยังกลิ้งไปกลิ้งมาตามอารมณ์ ก็ต้องใช้สติดึงไว้ให้นิ่ง พอนิ่งโดยธรรมชาติแล้ว ก็ไม่ต้องตั้งสติแล้ว เพราะจิตไม่ไปไหนแล้ว อยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา

 

ถาม  แล้วเวลาคิดอ่านเรื่องการงานละคะ

 

ตอบ  ให้คิดด้วยเหตุด้วยผล

 

ถาม  ในปัจจุบันนั้นเอง

 

ตอบ  ถ้าเป็นเหตุเป็นผลก็จะเป็นปัจจุบันเสมอ หรือจะคิดเรื่องในอดีตก็ได้  แต่จะไม่มีอารมณ์กับอดีต

 

ถาม  ไปตามสัญญา แต่ไม่ปรุงแต่ง

 

ตอบ  ไม่ไปมีอารมณ์ด้วย ไม่ได้คิดแล้วอยากจะย้อนกลับไปในอดีต เช่นคิดถึงกรุงปารีสเมื่อ ๑๐ ปีก่อน พอคิดปั๊บก็เกิดอารมณ์อยากจะไป อย่างนั้นไม่มี

 

ถาม  ท่านไปทางญาณได้นี่คะ

 

ตอบ  พิจารณาด้วยปัญญาก็รู้ว่าเหมือนกัน ที่นั่นที่นี่ก็เหมือนกัน  

 

ถาม  อย่างท่านเคยอยู่อเมริกา ท่านเคยคิดอยากกลับไปเยี่ยมไหม

 

ตอบ  ยิ่งคิดยิ่งไม่อยากกลับ ไม่เคยคิดอยากจะกลับเลย

 

ถาม  ไม่อยากกลับไปเยี่ยมเยียนเลยหรือ

 

ตอบ  ส่วนดีมันก็ไม่ดีพอกับสิ่งที่เรามีอยู่ ส่วนที่ไม่ดีมันก็ทำให้เราขยาด  ก็เลยไม่รู้จะไปไหนทุกวันนี้ ส่วนดีมันไม่ดีพอที่จะดึงให้เราไป พอคิดถึงส่วนที่ไม่ดีก็ทำให้ไม่อยากไป เพราะทุกที่ทุกแห่งมีทั้งดีไม่ดี เพียงแต่คิดว่าจะไปก็ขยาดแล้ว เพราะต้องเตรียมตัวเตรียมอะไรต่างๆ สู้อยู่เฉยๆไม่ได้

 

ถาม  ทุกวันนี้ท่านก็อยู่เฉยๆ

 

ตอบ  ทำภารกิจประจำวัน ถึงเวลาต้องทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่เบื่อ มันแปลกตรงนี้ มันไม่เบื่อ

 

ถาม  ที่พระอรหันต์มีเมตตาต่อคนทั้งหลาย ก็เพราะมีจิตที่ไม่เบื่อเลย

 

ตอบ  พระอรหันต์ไม่มีประโยชน์ส่วนตน ไม่นั่งคิดหาประโยชน์ส่วนนั้นส่วนนี้ ส่วนใหญ่ท่านจะมีเวลาว่าง พอใครเข้ามาหา ท่านก็สามารถสละเวลาให้เขาได้ ถ้าเป็นทางธรรมะ แต่ถ้าเป็นทางโลกท่านก็ตัดไปเลย ท่านไม่เอาด้วย

 

ถาม  ถึงแม้จะถามซ้ำๆซากๆ แปลกใจว่าไม่เบื่อเลย

 

ตอบ  ถ้าเป็นธรรมะไม่เบื่อ แต่ถ้าเป็นคำถามที่ไร้สาระนี่น่าเบื่อ

 

ถาม  ท่านไม่เคยคิดอยากไปไหนเลย เห็นพระบางองค์ท่านชอบไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่

 

ตอบ  ใจต่างกัน ใจยังมีความอยาก ยังอยากรู้อยากเห็นอยู่ พออารมณ์อยากปรากฏขึ้นมาปั๊บ ก็ไปเลย เหมือนอยากบุหรี่อยากเหล้า

 

ถาม  ถ้านิมนต์ท่านอาจารย์ไปเทศน์ในต่างประเทศ ท่านจะไปไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าจำเป็นจริงๆ สำคัญจริงๆ ที่ชนะเหตุผลที่ให้อยู่ก็ไป ถ้าไม่ชนะก็ไม่ไป ตอนนี้ไม่มีเหตุผลพอที่จะให้ไป เรื่องเทศน์นี้ ให้คนที่อยากฟังมาหาดีกว่า ไปหาเขาทำไม ไม่ได้ประโยชน์เท่ากับเขามาหาเรา เพราะเขามาด้วยความตั้งใจ เขาอยากจะฟัง คนที่มานิมนต์เป็นคนอยากให้ไป แต่คนที่ไปฟังนี่ ไปเพราะถูกเกณฑ์ให้ไปบ้าง ถูกชักจูงไปบ้าง ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ดีนะ คนที่สนใจธรรมะมีหลายระดับ แบบทั่วไปฟังพอเป็นเชื้อก็มี คนที่กำลังปฏิบัติแล้วต้องการคนคอยแก้ปัญหาให้ คอยบอกทางให้ก็มี  เรามุ่งมาทางนี้มากกว่า มาที่คนที่สนใจในการปฏิบัติมากกว่า ก็เพิ่งมีโอกาสสอนกลุ่มของญาติโยมนี้เอง เมื่อก่อนนี้ไม่ได้สอนให้กับนักปฏิบัติเท่าไหร่ พวกที่มาทำบุญในตอนเช้าก็จะเป็นอีกพวกหนึ่ง การสอนก็จะไม่เหมือนกัน

 

ถาม  พวกลูกก็ถามมากไป

 

ตอบ  เวลาภาวนาก็ต้องติดด้วยกันทุกคน ต้องมีปัญหา ถ้าเป็นปัญหาทางภาวนาก็ไม่เป็นไร ถึงได้ธรรมะแบบนี้ออกมา

 

ถาม  เวลาท่านอาจารย์เทศน์จะดูกลุ่มคนด้วยใช่ไหมคะ ว่าผู้ฟังเป็นอย่างไร จะเทศน์พื้นๆหรือจะเทศน์สูงใช่ไหมคะ

 

ตอบ  พอสัมผัสกันจะรู้ทันที ไม่ได้ตั้งใจดู พอเห็นกิริยาอาการก็รู้แล้วว่าอยู่ในธรรมระดับไหน เมื่อวันเสาร์ก่อนก็มากลุ่มหนึ่ง มาถึงก็นิมนต์ไปที่ศาลา ให้เทศน์ธรรมะ เราก็ถามกลับไปว่า เอาหูมาฟังหรือเปล่า เขาถามว่าทำไมถามอย่างนี้ ตอบไปว่าบางคนไม่ได้มาฟัง มาแต่ร่างกาย แต่ไม่ได้ตั้งใจฟัง เพราะตามกันมาชวนกันมา พวกนี้เป็นเพื่อนเรียนหนังสือร่วมกันมา ไปอยู่ต่างประเทศแล้วกลับมาเยี่ยมเมืองไทย คนที่อยู่เมืองไทยสนใจปฏิบัติ ก็ชวนเขามา แต่ดูกิริยาอาการแล้ว ก็รู้ว่าไม่ได้สนใจจริง เพื่อให้เขาสนใจ ก็ให้เขาบอกว่าอยากจะฟังอะไร เขาก็ไม่รู้ว่าจะฟังอะไรดี

 

ถาม  ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้จะถามอะไร ไม่เจอกับตัวเอง ก็นึกคำถามไม่ออก

 

ตอบ  คนหนึ่งก็เลยบอกว่า ขอให้เทศน์แก่นของศาสนา เราก็เลยว่าแก่นของศาสนาก็คือใจเรา เหตุที่มีศาสนาก็เพราะใจเราเป็นหลัก ใจมีปัญหา ศาสนาจึงต้องมาแก้ปัญหาใจ

 

ถาม  ถ้าเราฝึกสติได้ แล้วจิตละคะ จะฝึกอย่างไร

 

ตอบ  ฝึกจิตด้วยสติ เอาสติบังคับจิตให้อยู่ในปัจจุบัน หลักของสติก็คือให้จิตอยู่ในปัจจุบัน เพราะเหตุการณ์เกิดในปัจจุบัน ไม่เกิดในอดีต ไม่เกิดในอนาคต เพียงแต่จิตเราส่งไปในอดีตเอง ส่งไปในอนาคตเอง ขณะที่ส่งไปก็เป็นการกระทำในปัจจุบัน เราปรุงแต่งขึ้นมา ปรุงถึงอดีตปรุงถึงอนาคต เป็นตัวสังขารและตัวสัญญาที่ทำงาน พอนึกถึงเมื่อวานนี้ ก็คิดไปแล้วว่าได้ทำอะไรบ้าง ได้เจอใครบ้าง นึกคิดอยู่ในปัจจุบัน แต่จิตคิดว่าอยู่ในอดีต อะไรเกิดขึ้นในปัจจุบันก็จะไม่รู้สึกตัว เดินไปแล้วคิดไปอย่างนี้ เผลอเดินไปชนเสาโดยไม่รู้ตัว ถ้ามีสติจะรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวในปัจจุบันเสมอ เช่นการเคลื่อนไหวของร่างกาย เดินจะได้ไม่ลื่นหกล้มหรือไปชนอะไร

 

ถาม  หลวงตาท่านบอกว่า พระอริยเจ้าก็ลืมได้ แต่ไม่ลืมอริยสัจ

 

ตอบ  ความจำเป็นสัญญา เป็นนามขันธ์ แต่อริยสัจเป็นความจริงที่อยู่ในจิต ไม่เกิดไม่ดับ เป็นอกาลิโก

 

ถาม  เพราะว่ามันกระจ่างตลอด

 

ตอบ  อยู่ติดกับใจไปตลอด จึงไม่ลืม เป็นเรื่องของใจล้วนๆ พูดได้แค่นี้ เวลาทุกข์ก็ทุกข์ที่ใจ ตัวที่สร้างความทุกข์ก็อยู่ในใจ

 

ถาม  เวลาภาวนา มักจะมีสิ่งที่เราควรทำผุดขึ้นมา

 

ตอบ  เป็นสัญญาและสังขาร ซึ่งไม่ควรให้ผุดขึ้นมา ให้อยู่กับพุทโธ พระอาจารย์ทางภาคอีสานจะสอนให้พุทโธไปตลอด ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใด ให้พุทโธไปตลอด ถ้าสติไม่สามารถดึงจิตให้อยู่กับการกระทำในปัจจุบันได้ ปัดกวาดไปก็ยังอดคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ต้องใช้พุทโธกำกับไปด้วย ถ้าสติแรงพอ ไม่ต้องพุทโธก็ได้ ให้อยู่กับการก้าวเดิน ซ้ายขวา ซ้ายขวา อยู่กับการทำงาน ไม่ต้องใช้พุทโธก็ได้ ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ท่านก็ไม่ได้สอนว่าต้องใช้พุทโธกำกับ ท่านให้รู้อยู่กับอิริยาบถ ๔ ให้รู้อยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ กำลังเดินบิณฑบาต กำลังหันหน้าไปทางซ้าย หันหน้าไปทางขวา มองตรงไป ก็ให้มีสติรู้อยู่กับการกระทำนั้นๆตลอดเวลา

 

ถาม  ทำทั้ง ๒ อย่างผสมกันก็ได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ได้  ถ้าสติเรายังอ่อน หลุดไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็พุทโธไป ขนาดพุทโธแล้ว ก็ยังหลุดได้ โดยไม่รู้สึกตัวเลย พุทโธไปคิดไป ควบคู่กันไป ต้องรู้ว่ากำลังไม่พุทโธแล้วนะ

 

ถาม  เพื่อนเขาใช้วิธีระลึกรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร

 

ตอบ  การระลึกรู้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นการตั้งสติ เพื่อให้ไปสู่อีกจุดหนึ่ง คือการหยุดจิต ถ้าตามรู้อยู่เรื่อยๆ ตามจิตอยู่เรื่อยๆ ก็เหมือนตะครุบเงา เดินตามเงาอยู่เรื่อยๆ แล้วเมื่อไหร่มันจะหยุดละ เป้าหมายอยู่ที่ต้องหยุดจิตให้ได้ ถ้าคิดว่าเพียงแต่รู้ก็พอแล้ว เพราะตามรู้แล้วเวลาโลภก็หยุดมันได้ เวลาโกรธก็หยุดมันได้ อาจจะหยุดได้ในบางกรณีในบางเรื่อง แต่ยังไม่สามารถที่จะหยุดได้ในทุกกรณี ได้อย่างถาวรอย่างเต็มที่ ถ้าสามารถหยุดจิตได้แล้วต่อไปจะหยุดได้ทุกกรณี ต้องทำจิตให้รวมให้ได้

 

ถาม  ขนาดรวมแล้วยังไม่ค่อยจะทัน

 

ตอบ  แต่สติการตามรู้นี้สำคัญ ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกายก็ได้ของเวทนาก็ได้ เวลาเกิดสุขเวทนา เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ก็ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ตอนนี้กำลังสุข ตอนนี้กำลังทุกข์ รู้แล้วปล่อยวาง ไม่ให้มีอารมณ์กับสิ่งที่รู้อยู่ ทุกข์ก็ไม่ให้มีอารมณ์กับมัน สุขก็ไม่ให้มีอารมณ์กับมัน สุขก็ไม่ยึดติด ทุกข์ก็ไม่ปัด สุขก็รู้ว่าสุขทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ปล่อยมันไปตามเรื่อง เพื่อจะได้ไม่เกิดทุกข์อีกชั้นหนึ่งขึ้นมา คือทุกข์ใจ มีทุกข์ ๒ ตัวซ้อนกันอยู่ตรงนั้น เวลาทุกข์ทางกายแล้วใจจะทุกข์ด้วย แต่ถ้ามีสติก็ปล่อยให้ทุกข์ที่กาย แต่ใจไม่ต้องไปทุกข์กับมัน เพียงแต่รับรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ต้องดับไป ไม่ช้าก็เร็ว เพราะมันไม่เที่ยง ในชีวิตของเราในแต่ละวันนี้ เราสัมผัสกับทุกข์กับสุขกับไม่ทุกข์ไม่สุขอยู่เรื่อยๆ หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ข้อสำคัญอยู่ที่ใจผู้รู้นี่อย่าไปทุกข์กับมัน อย่าไปยินดียินร้ายกับมัน นี่คือสิ่งที่เราทำกันไม่ได้ พอเจอความสุขก็ดีอกดีใจ อยากจะให้สุขไปนานๆ พอมันหายไป ยังไม่ทันทุกข์เลย ใจก็ทุกข์ขึ้นมาแล้ว เสียดายอาลัยอาวรณ์คิดถึงความสุขนั้น เวลาได้เจอเพื่อนฝูงก็ดีอกดีใจ เวลาต้องแยกทางกลับบ้านกัน ก็เศร้าสร้อยหงอยเหงา เวลาดีใจก็ใจฟูขึ้นมา เวลาเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็ฟุบลงไป ถ้ามีสติก็จะคอยสอนใจว่า อย่าไปดีใจอย่าไปเสียใจกับเหตุการณ์นั้น มันก็จะเฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ จะอยู่ตรงกลาง นั่นคือเป้าหมายของการภาวนา คือการรักษาใจให้อยู่ในอุเบกขา อยู่ในความสงบ ถ้าไม่มีความสงบ จะไม่รู้ว่าอุเบกขาเป็นอย่างไร เหมือนกับตาชั่ง ก่อนที่จะชั่งของ ถ้าไม่ไปปรับให้มันอยู่ตรงศูนย์ เวลาชั่งจะไม่ได้น้ำหนักที่แท้จริง ถ้าจิตไม่สงบเป็นอุเบกขา ก็ยังยินดียินร้ายอยู่ แต่เราคิดว่าอยู่ในอุเบกขา แต่ความจริงยังยินดีอยู่ เวลาสัมผัสกับความสุข ก็คิดว่าเป็นอุเบกขาไม่ได้ยินดี พอความสุขหายไปถึงจะรู้ว่ายังติดกับมันอยู่ เพราะมีอารมณ์เศร้าสร้อยหงอยเหงาตามมา ถ้าอยากจะรู้ว่าไม่ติดกับความสุข กับเพื่อนกับฝูง กับคนนั้นคนนี้ ก็ต้องไปอยู่คนเดียวดู ดูว่าจะเศร้าสร้อยหงอยเหงาหรือเปล่า จิตฟุบไปหรือเปล่า เวลาเพื่อนฝูงมาเยี่ยมจิตฟูขึ้นมาหรือเปล่า

 

ถาม  ถ้าได้เห็นความจริงของกายจะทำให้ใจสงบใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าเห็นความจริงของกายก็จะปล่อยความยึดติดในกายได้ เห็นว่าต้องเปลี่ยนไปตามสภาพ ต้องหมดไปตามขั้นตอน จิตก็จะสงบระงับจากความกังวลจากความกระสับกระส่ายต่างๆได้หมด จะเป็นปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนกับขณะนี้จิตใจของเรารู้สึกธรรมดาๆ ถ้าเกิดหมอตรวจโรคเราแล้วบอกว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ขึ้นมา จิตใจเรายังธรรมดาได้อยู่หรือเปล่า นั่นแหละคือเป้าหมายของการภาวนา ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงสภาพต่างๆที่จะต้องมาปรากฏให้จิตใจรับรู้ เช่นสภาพของร่างกาย เกิดแก่เจ็บตาย หรือสภาพของเวทนาที่จะต้องมีความเจ็บปวดบ้างเป็นธรรมดา เวลาไปหาหมอๆต้องผ่าต้องเย็บต้องฉีดก็ต้องเจ็บบ้าง ทำใจได้หรือเปล่า ถ้าทำใจให้เฉยๆได้ก็สบายไป ถ้าทำไม่ได้ก็ทุกข์ทรมานไป เหตุการณ์อันเดียวกันคน ๒ คนจะมีปฏิกิริยาต่างกัน อยู่ที่ว่าได้ฝึกฝนอบรมมามากน้อยเพียงไร คนที่ไม่เคยได้ฝึกฝนอบรมมาเลย อะไรนิดอะไรหน่อยจะหวาดผวา จะตกใจ จะหวาดกลัว จะมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง คนที่เคยได้รับอบรมมาแล้วก็จะเฉยๆ

 

ถาม  ถ้าปฏิบัติจนไม่อยากจะไปเจอเพื่อนฝูง ไม่อยากไปเที่ยว อยากแต่จะนั่งภาวนาอย่างเดียวนี่ ถือว่าไปได้ไกลแล้วใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ความไม่อยากก็เป็นกิเลส เป็นวิภวตัณหา  

 

ถาม  แต่มันก็ดีกว่าใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ดีกว่าอยากไปหาเพื่อนฝูง

 

ถาม  ไม่อยากไปเที่ยว  อยู่บ้านภาวนาอย่างเดียว อย่างนี้ถือว่าไปในทางที่ดีใช่ไหม

 

ตอบ  ความไม่อยากมีอยู่ ๒ แบบคือ ๑. ไม่อยากแบบธรรมชาติคือเฉยๆ  ๒. ไม่อยากแบบกดไว้บังคับไว้

 

ถาม  แปลกใจที่ไม่อยากไปเที่ยว อยากภาวนาอย่างเดียว

 

ตอบ  ถ้าเห็นว่าการไปเที่ยวเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ก็จะไม่อยากไป ถ้าจำเป็นต้องไป ไปแล้วทุกข์ใจ ก็เป็นกิเลส ถ้าเฉยๆไม่อยากไป เวลาไปจะไม่ทุกข์ ไม่เป็นกิเลส ต่างกันตรงนี้

 

ถาม  การไม่มีความอยากนี้มันละเอียดมาก

 

ตอบ  เหมือนกับกรองน้ำ จะจืดลงไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่ถึงจุดที่จืดสนิทเต็มที่ก็จะยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่อยากไว้ก่อนดีกว่าอยาก ความจริงเรื่องของการปฏิบัตินี่มันไม่มีอะไรมากนะ ทำจิตให้สงบเสร็จ  แล้วก็สอนจิตเรื่องความจริงของชีวิตว่า เกิดแก่เจ็บตาย พลัดพรากจากกัน รับได้มันก็จบ

 

ถาม  แต่มันทำยากคะ มันไม่รับจริง มันเข้าไปยึด จึงเป็นทุกข์มาก

 

ตอบ  ตัดไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิไม่มีปัญญา มีปัญญาแต่ไม่มีสมาธิก็ยังไม่เป็นปัญญาจริง รู้อยู่ว่าต้องตัดแต่ตัดไม่ได้ เพราะจิตไม่มีสมาธิ หยุดจิตไม่ได้เพราะไม่มีสติ

 

ถาม  สติมันไม่ต่อเนื่องค่ะ มันเข้าใจ แต่มันตัดไม่ได้

 

ตอบ  จะมีสติได้ มันต้องอยู่คนเดียว

 

ถาม  อยู่คนเดียวมันก็ไม่ต่อเนื่องค่ะ

 

ตอบ  ดีกว่าอยู่หลายคน อยู่คนเดียวไม่มีอะไรดึงไป อยู่หลายคนจะถูกดึงไปเรื่อยๆ ต้องปลีกวิเวกบ่อยๆ จะได้เจริญสติ ตอนต้นก็ต้องมีหลุดไปบ้าง หลุดไปก็ดึงกลับมา สตินี่สำคัญมาก ดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องดับกิเลสในปัจจุบัน ขอให้เข้าใจหลักนี้ไว้ จะได้ไม่หลงทาง

 

ถาม  ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ให้คิดถึงไตรลักษณ์ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่