กัณฑ์ที่ ๓๗๘       ๒๐ มกราคม ๒๕๕๑

 

เชื่อบุญกรรม

 

 

 

ถ้าเชื่อบุญกรรมก็จะสบายใจ เชื่อว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเชื่ออย่างนี้ก็จะมีธรรมโอสถรักษาจิตใจ โรคจะหายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย ไม่เป็นไร ใจที่มีธรรมโอสถรับได้ทั้ง ๒ ทาง ในที่สุดโรคก็จะไม่หาย ร่างกายจะต้องกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป จะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ ต้องเสื่อมไปเรื่อยๆตามกาลเวลา สำคัญอยู่ที่ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงไร ควรให้ความสนใจในเรื่องนี้มากกว่า อย่ามัวแต่กังวลกับการรักษา พอหายแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์เลย ก็ไม่รู้จะรักษาไปทำไม ถ้ากำลังปฏิบัติธรรม ก็ควรรักษา ถ้าไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ทำบุญ ไม่ทำประโยชน์อะไรเลย อยู่หาความสุขไปกับกิเลส ไปกับความโลภความโกรธความหลง ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจเลย ถ้าได้สร้างบุญสร้างกุศล ได้ปฏิบัติธรรม ก็จะได้กำไร เพราะทำเพื่อใจ ถ้าทำทางธรรมก็ทำเพื่อใจ ถ้าทำทางโลกก็ทำเพื่อกิเลส ทำไปตามอำนาจของความหลง ที่เห็นความสุขในลาภยศสรรเสริญ ในการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่ในสายตาของผู้รู้เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านกลับเห็นว่าเป็นความทุกข์ เพราะไม่ให้ความอิ่มความพอ ได้เสพมากเพียงไรก็จะมีความอยากเสพมากขึ้นไปอีก ได้มามากเพียงไรก็อยากจะได้เพิ่มขึ้นไปอีก ถ้าเป็นทางธรรมก็จะอิ่มพอ เพราะธรรมมีเหตุมีผล เช่นการดูแลรักษาร่างกายด้วยปัจจัย ๔ พอมีปัจจัย ๔ พร้อมเพรียงแล้วก็พอ ไม่จำเป็นต้องมีมากไปกว่านั้น มีมากไปกว่านั้นก็ใช้ไม่ได้ มีอาหารมากกว่าที่ท้องจะรับได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะเกิดโทษ ทำให้ร่างกายมีน้ำหนักเกิน มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

 

ความสุขทางโลกจึงไม่ใช่เป็นทางที่ถูกที่ควรไปกัน เพราะไม่ได้สร้างความสุขที่แท้จริง มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้มีมากขึ้นไปตามลำดับ เพราะความสุขทางโลกเป็นเหมือนยาเสพติด เวลาที่ไม่ได้เสพไม่ได้สัมผัสก็หงุดหงิดใจ อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว เคยมีความสุขกับใครสักคนหนึ่ง พอไม่ได้อยู่ใกล้ก็อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจ เคยออกไปเที่ยวนอกบ้านอยู่เป็นประจำ ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พอไม่ได้ออกไปก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ อยู่ไม่ติดบ้าน แต่กลับไม่เห็นโทษกัน ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์กัน กลับเห็นว่าเป็นธรรมดา สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นธรรมดา นักปราชญ์เช่นพระพุทธเจ้า กลับเห็นว่าเป็นทุกข์ สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นทุกข์ นักปราชญ์กลับเห็นว่าเป็นธรรมดา เราเห็นความแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ แต่ท่านกลับเห็นว่าเป็นธรรมดา เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ท่านจึงไม่คิดที่จะหนีมัน พวกเรากลับเห็นมันเหมือนเป็นไฟ เราจึงพยายามหนีความแก่ หนีความเจ็บไข้ได้ป่วย หนีความตายกัน แต่หนีเท่าไหร่ก็หนีไม่พ้น เพราะวิธีหนีของเราไม่ได้เป็นการหนี แต่เป็นการวิ่งเข้าหามัน พอตายจากชาตินี้ไปก็ไปเกิดใหม่อีก ก็ต้องไปเจออีกโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่พาให้เราไปเกิดใหม่ก็คือความอยากต่างๆของเรานั่นเอง อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ที่เป็นตัวฉุดลากเราเข้าหา การเกิดแก่เจ็บตายโดยไม่รู้ตัว พอเกิดมาแล้ว เราก็พยายามหนีความแก่ความเจ็บความตาย ด้วยวิธีต่างๆกัน จนกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตขึ้นมา เรื่องการรักษาความหนุ่มสาวความสวยงามนี้ เป็นอุตสาหกรรมยิ่งใหญ่ของโลก มีเมืองหลวงของแฟชั่นเต็มไปหมด เพื่อสร้างความสวยความงาม เพื่อรักษาความสวยความงาม แต่ก็ขัดกับหลักความจริงของร่างกาย ที่ต้องร่วงโรยไปตามกาลเวลา เพราะใจขาดปัญญา ถูกความมืดบอดคือโมหะความหลง อวิชชาความไม่รู้ความจริงครอบงำ

 

สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือใจ เราไม่รู้ว่าเรามีใจ เรารู้ว่าเรามีร่างกาย เราคิดว่าร่างกายเป็นตัวตนของเรา แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตน มีใจอีกตัวหนึ่ง ใจที่หลงคิดว่าร่างกายเป็นตัวตน แต่ใจไม่ใช่ร่างกาย ใจเป็นผู้รู้ เป็นผู้คิดผู้สั่งการ แต่ใจถูกอำนาจของความมืดบอดครอบงำอยู่ ทำให้ไม่เห็นใจ ไม่เห็นว่าสิ่งที่ทำให้ใจมีความสุขคืออะไร ไม่มีใครรู้ ต้องอาศัยนักปราชญ์เช่นพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่จะสามารถศึกษาธรรมชาติของใจได้ด้วยพระองค์เอง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาศึกษา ก็จะไม่มีใครมาสอนให้รู้ให้เห็นตามได้ เพราะไม่มีใครมีความรู้ความสามารถ มีสติปัญญามากเท่าพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนกับสมัยก่อนที่ไม่มีกล้องจุลทรรศน์ ไม่สามารถศึกษาเรื่องเชื้อโรคต่างๆได้ เพราะต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ดูถึงจะเห็น พระพุทธเจ้าทรงมีกล้องจุลทรรศน์ ทรงมีพระปัญญาบารมี ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลาอันยาวนาน เมื่อถึงเวลาที่จะได้บรรลุผล ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ทรงเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเพียงภาชนะ เป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง เป็นเครื่องมือของใจ ผู้ที่จะสุขจะทุกข์นั้นคือใจ และเหตุที่จะทำให้ทุกข์ก็คือความอยากต่างๆ เหตุที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ความอยากก็คือธรรมะ การปฏิบัติมรรคที่มีองค์ ๘ เริ่มจาก สัมมาทิฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโปความดำริชอบ สัมมากัมมันโตการกระทำชอบ สัมมาวาจาวาจาชอบ สัมมาอาชีโวอาชีพชอบ สัมมาวายาโมความเพียรชอบ สัมมาสติสติชอบ สัมมาสมาธิจิตตั้งมั่นชอบ  

 

ผู้ที่ปรารถนาการหลุดพ้นจากความทุกข์ ผู้ที่ต้องการสร้างความสุขที่แท้จริงให้แก่ใจ จึงต้องบำเพ็ญมรรคที่มีองค์ ๘ นี้ ถ้าย่อลงมาก็เป็น ๓  คือทานศีลภาวนา หรือศีลสมาธิปัญญา เป็นมรรค เหมือนกัน เพียงแต่ย่อรวมกันเข้ามาเป็นหมวด สำหรับฆราวาสก็ให้บำเพ็ญทานก่อน มีสัมมาทิฐิเห็นว่า การมีสมบัติข้าวของเงินทองมากเกินความจำเป็นเป็นโทษเป็นภัย ทำให้ใจถูกผูกติดไว้กับการเวียนว่ายตายเกิด ถ้ายังพึ่งพาอาศัยวัตถุข้าวของเงินทองเพื่อให้ความมั่งคงให้ความสุข ก็จะพยายามหาเงินทองอยู่เรื่อยๆ แต่เงินทองไม่ได้เป็นที่พึ่งของใจ แม้แต่กายก็พึ่งไม่ได้ ถึงเวลาที่กายจะต้องเป็นอะไรไป ต่อให้มีเงินทองมากมายขนาดไหน มียาวิเศษขนาดไหน มีหมอที่เก่งขนาดไหน ก็ต้องตาย ไม่สามารถยับยั้งการดับของร่างกายได้ จึงทรงสอนไม่ให้ยึดติดกับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองมากจนเกินไป มีไว้เพื่อเลี้ยงดูอัตภาพ เพื่อจะได้มีเวลามาปฏิบัติธรรม ถ้ามัวแต่ไปยุ่งหาเงินใช้เงินก็จะหมดเวลาไปเปล่าๆ หาได้มาก็ไปซื้อข้าวซื้อของ ไปเที่ยวไปทำอะไรตามความอยากต่างๆ พอหมดก็ไปหามาใหม่ ก็วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ไปจนวันตาย จะไม่มีทางที่จะโงหัวขึ้นไปสู่การตรัสรู้ การหลุดพ้นได้เลย ถ้าเป็นบัวก็เป็นบัวใต้น้ำ ที่เป็นอาหารของปูของปลา จึงทรงสอนให้ปล่อยวางวัตถุข้าวของเงินทองต่างๆ อย่าอาศัยเกินความจำเป็น ให้มีปัจจัย ๔ คือที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ก็พอแล้ว ถ้ามีเหลือก็อย่าเอาไปใช้ซื้อความสุข ไปดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จะเสียเวลาไปเปล่าๆ จะสนุกเพลิดเพลินกับความสุขที่เหมือนกับการเสพยาเสพติด สุขเพียงชั่วขณะที่ได้เสพได้สัมผัส หลังจากนั้นก็อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวอยากเสพอยู่เรื่อยๆ จนไม่มีกำลังที่จะตัดมันได้ ยิ่งเสพมากก็ยิ่งติดมาก ยิ่งยากที่จะเลิกมัน

 

สำหรับฆราวาสจึงทรงสอนให้ทำทานก่อน เพื่อลดการเกี่ยวข้องกับข้าวของเงินทองต่างๆ บุคคลต่างๆ แต่ถ้าได้บวชแล้วก็ได้สละหมดเลย มีสมบัติข้าวของเงินทองมากน้อยก็สละให้ผู้อื่นไปหมด สามีภรรยาก็สละให้ผู้อื่นไป ถ้าเป็นสามีภรรยาคู่บุญบารมีกันมา ก็ออกบวชพร้อมๆกันไป สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆที่มีอยู่ให้กับคนอื่นไป ไม่ทราบว่าเคยได้ยินประวัติของหลวงปู่พรหมหรือไม่ ท่านเป็นสามีภรรยากัน มีฐานะดีมีทรัพย์สมบัติมาก มีใจใฝ่ธรรมอยู่เสมอ จนวันหนึ่งจิตใจของท่านกับภรรยา ถึงความพร้อมที่จะออกบวช จึงแจกจ่ายทรัพย์สมบัติให้กับผู้อื่นไปหมด แล้วก็ออกบวช สามีก็ติดตามหลวงปู่มั่น ไปศึกษาปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นจนในที่สุดก็ได้บรรลุ มีบรรจุอยู่ในปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐานที่หลวงตาเรียบเรียงไว้ ในเบื้องต้นทานจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ครองเรือน แต่สำหรับนักบวชเรื่องของการให้ทานเป็นเรื่องของเหตุที่ทำให้ต้องทำ เพราะบวชไปนานๆ มีชื่อเสียงมีฐานะมีคนเคารพนับถือ มีคนอยากจะทำบุญมาก สำหรับท่านเองก็ไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไร เพราะเป็นนักบวช ไม่ได้อาศัยเงินทองเป็นที่พึ่ง ท่านพึ่งธรรมะ พึ่งการปฏิบัติ เงินทองที่ได้มามากน้อยเพียงไรท่านก็พิจารณาไปตามความเหมาะสม ว่าจะสงเคราะห์โลกไปในทางไหน แล้วแต่จะเหมาะกับสภาพเหตุการณ์ในตอนนั้น เช่นตอนที่หลวงตาออกมาสงเคราะห์โลก ทางด้านทองคำช่วยชาตินี้ ก็ช่วยคนทั้งประเทศ แต่ก่อนหน้านั้นท่านก็ช่วยอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เริ่มต้นก็ช่วยชาวบ้านแถวๆวัดก่อน สร้างโรงเรียน ทำถนน ทำอะไรต่างๆที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ต่อมาก็มีที่ไกลหน่อยได้ทราบกิตติศัพท์ ก็เข้ามาขอพึ่งบารมี อยากจะได้ตึกโรงพยาบาลบ้าง อยากจะได้รถพยาบาลบ้าง อยากจะได้เครื่องมือแพทย์บ้าง ก็มาขอความเมตตาจากท่าน ท่านได้มาเท่าไหร่ท่านก็สงเคราะห์ไป แต่ท่านไม่ได้ไปขวนขวาย ไม่ได้ทำเป็นงานหลัก

 

นักบวชบางท่านไม่ทราบงานหลัก พอบวชแล้วแทนที่จะมุ่งเข้าป่าปฏิบัติ หาธรรมะ หาทางหลุดพ้น ก็มาหาเงินหาทอง มาเรี่ยไรญาติพี่น้อง สร้างความรำคาญใจให้กับผู้อื่น เพราะขอเท่าไหร่ก็ไม่พอเพราะในใจมีแต่ความโลภ ถึงแม้จะเป็นความโลภในทางบุญกุศลก็ยังเป็นความโลภอยู่ ทำให้คนเบื่อหน่ายได้ เจอหน้าทีไรก็พูดเรี่ยไรขอเงินทุกที จนไม่มีใครอยากจะเข้าวัด เพราะเข้าทีไรไม่เคยได้ธรรมะ ได้แต่กิเลส เห็นกิเลสของคนที่สอนให้ละกิเลส ก็เลยหมดกำลังใจ ถ้ายังเกี่ยวข้องกับเงินทองอยู่ก็ให้บริจาคตามฐานะ แต่อย่าไปอยากบริจาคมากกว่า หรือเท่ากับคนที่บริจาคมากกว่าตน ถ้ามีฐานะด้อยกว่า ก็จะทำให้ต้องพยายามไปหาเงินมาทำบุญ ถ้ามีอุปสรรคเพราะการหาเงินไม่คล่องแคล้ว ก็ต้องพูดบิดไปบิดมา ถ้าพูดตรงๆจะไม่ได้ ทำให้มีปัญหาขึ้นมาว่า อยากจะทำบุญ แต่ต้องทำบาป ต้องพูดปดบ้าง อย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำบุญแล้ว เป็นเรื่องของการทำบาปโดยไม่รู้ตัว ถูกกิเลสความหลงหลอกและความโลภหลอกไป โลภอยากจะทำบุญให้มาก แล้วก็หลอกให้ไปทำบาปโดยไม่รู้ตัว

 

การทำบุญให้ทานมีอานิสงส์ด้อยกว่าการรักษาศีล ที่ทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้ไปสู่สุคติ ชั้นเทพชั้นพรหม ชั้นอริยบุคคล ต้องมีศีลเป็นปัจจัยแรก ถ้าไม่มีศีลแล้ว ต่อให้ทำทานเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ก็ไม่ได้ไปสู่สุคติ ต้องไปเป็นเปรตบ้าง ไปตกนรกบ้าง ไปเป็นเดรัจฉานบ้าง ที่ทรงสอนให้ทำบุญนี้ หมายความว่าให้ทำตามฐานะ ทำในส่วนที่เหลือกินเหลือใช้ เก็บไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์ ก็อย่าไปหวง ส่วนที่จำเป็นต้องเก็บก็ต้องเก็บ เผื่อในวันข้างหน้า ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย ตกทุกข์ได้ยาก จะได้มีอะไรไว้รองรับ แต่ก็ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะเก็บไว้เท่าที่จำเป็น อย่าไปกลัวจนต้องเก็บไว้หมด แล้วก็อ้างว่าต้องเก็บไว้เผื่อวันพรุ่งนี้ ก็จะไม่ได้ทำบุญ เพราะยังติดอยู่กับเงินทอง ทำให้ไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นที่สูงกว่าได้ คือขั้นศีลและขั้นภาวนา จะรักษาศีล ๕ ได้ต้องเป็นคนใจกว้าง ไม่ใช่ใจแคบ ตระหนี่ จะรักษาศีลยาก เพราะจะมีความโลภอยากได้ จะมีความเมตตาน้อย เวลาทำอะไรจะไม่คำนึงถึงผู้อื่น จะคำนึงถึงตนเองเป็นหลัก อยากได้มากๆก็ต้องไปหามา บางทีก็ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น จะไม่คิดว่าเป็นเรื่องเสียหาย คิดว่าเป็นความจำเป็น เป็นการต่อสู้ของสัตว์ที่อยู่ในโลกนี้ ต้องต่อสู้แก่งแย่งชิงดีกัน เป็นความคิดของกิเลส ความคิดของความหลง คนที่มีมิจฉาชีพจะคิดว่าถ้าไม่ทำก็จะอยู่ไม่ได้ เช่นอาชีพฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นต้น หรืออาชีพค้าสุรายาเมา ทางศาสนาถือว่าเป็นอาชีพที่มิชอบ ไม่จำเป็นต้องทำอาชีพนี้ มีอาชีพอื่นที่ทำได้ เงินทองอาจจะไม่ไหลมาเทมา แต่ก็พอเพียงต่อการดำรงชีพ ทานจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังครองเรือนอยู่

 

ผู้ที่ยังไม่สามารถรักษาศีลได้ดีเท่าที่ควร ควรมองมาตรงจุดนี้ เพราะใจยังขาดความเมตตา ยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่มาก ยังคิดถึงตนเองอยู่มาก จนมองไม่เห็นความเดือดร้อนของผู้อื่น ถ้าเห็นความเดือดร้อนของผู้อื่นเป็นหลักแล้ว ก็จะมีความเมตตาอยากช่วยเหลือผู้อื่น บรรเทาความเดือดร้อนให้เบาบางลงไป ก็จะทำให้มีศีลขึ้นมา จะไม่อยากเบียดเบียนผู้อื่น เวลาจะทำอะไรจะพูดอะไร ก็จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่น ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะทำให้มีศีลขึ้นมา ทำไปแล้วจะไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือเปล่า เช่นไม่มีข้าวกินแล้วไปตกปลา สัตว์ที่ต้องตายไปเขาเดือดร้อนขนาดไหน ถ้าเราเป็นปลาแล้วเขาเป็นเราบ้าง เวลาเขาหิวเขาไปตกเราขึ้นมากิน เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จะมีศีลขึ้นมาโดยธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติไป ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ เพราะเป็นศีลที่มีปัญญารองรับ ถ้ามีปัญญาแล้วจะเป็นไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทานก็ต้องมีปัญญา ทำทานเพราะมีมากเกินไป เหมือนแบกของมากๆไว้ทำไม สู้แบ่งให้คนอื่นเขาแบกไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเดินทางไกล จะแบกของที่ไม่ต้องใช้ไปทำไม ลองไปเดินป่าดูซิ มีอะไรติดตัวอยู่มากน้อย ต้องคิดแล้วว่าอันไหนจำเป็น อันไหนไม่จำเป็น ไม่จำเป็นก็ทิ้งไป เพราะต้องเดินไกล แบกมันทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร คนที่มีความหลงจะไม่คิดแบบนี้ คิดว่ามีมากๆดี มีไว้ก่อนดี แต่ตัวเองต้องลำบากลำบน ต้องคอยกังวลกับการดูแลรักษา ต้องห่วงต้องหวง ถ้ามีปัญญาจะรู้จักความพอดี

 

ไม่ว่าจะทำทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ถ้าเข้าใจถึงหลักของการทำทาน ของการรักษาศีลแล้ว ก็จะไม่ยาก ถ้าทำไปโดยไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม ก็จะไปลบล้างความหลงไม่ได้ ความหลงจะต่อต้าน ให้เสียดาย หามาแทบเป็นแทบตาย ให้ไปทำไม ทำไมต้องซื่อสัตย์ ในเมื่อผู้อื่นโกงอยู่ตลอดเวลา จะคิดอย่างนี้ ไม่คิดถึงผลที่เกิดกับจิตใจว่าเป็นอย่างไร เวลาให้แล้วใจมันโล่งมันสบายมันสุข เวลารักษาศีลได้แล้วมันมีความมั่นคง ไม่หวาดวิตกกังวล มีความภูมิใจในความบริสุทธิ์ของตน ถ้าทำผิดแล้วจะไม่มั่นใจ ถึงแม้ใครจะชมจะยกย่องอย่างไรก็ยิ้มไม่ออก เพราะรู้อยู่ในใจว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ชมอย่างที่ยกย่อง เพราะไม่เห็นธาตุแท้ของเรา เห็นส่วนที่เราจัดฉาก เราจึงต้องทำทานรักษาศีลบำเพ็ญภาวนา เพราะชีวิตนี้มีไว้เพื่อทำสิ่งเหล่านี้เท่านั้นเอง ถ้าทำแล้วไม่ช้าก็เร็วก็จะได้ถึงจุดหมายปลายทาง หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ก็ต้องอาศัยชีวิตร่างกายนี้

 

ถ้าทุ่มเทเวลาได้มากก็จะไปได้เร็ว เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติก็จะไม่ยาว ถ้าปฏิบัติทีละนิดทีละหน่อย เวลาที่ต้องปฏิบัติก็จะยาว แทนที่จะเป็น ๗ วันก็เป็น ๗ เดือน เป็น ๗ ปี เป็น ๗ ชาติไป แต่จะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อยู่เรื่อยๆ ตายจากชาตินี้ไปแล้ว ไม่มีใครรับรองได้ว่าชาติหน้าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ทันที อาจจะต้องไปใช้กรรมที่ไหนก่อน หรืออาจจะไปรับผลบุญที่ไหนก่อน ช่วงนั้นก็จะไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้สร้างบุญสร้างกุศล มากเท่ากับการได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เวลาก็จะหมดไปหมดไป ในขณะเดียวกันก็จะติดนิสัยเชื่องช้าเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น ทำให้การเดินทางยาวนาน ความทุกข์ก็มากขึ้นไปเรื่อยๆ แทนที่จะทุกข์กับภพนี้เพียงภพเดียว ก็ต้องไปทุกข์อีกไม่รู้กี่ภพ เกิดแต่ละครั้งก็ต้องเจอปัญหานี้ เจ็บไข้ได้ป่วย จะผ่าดีหรือไม่ผ่าดี แต่ถ้าคิดว่าร่างกายนี้มีไว้เพื่อปฏิบัติธรรม ควรใช้มันให้เต็มที่ ถ้าต้องผ่าเพื่อกลับมาทำงานต่อก็ผ่า

 

อาจจะใช้โอกาสของการเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ เป็นเหตุทำให้หลุดพ้นเลยก็ได้ ถ้าพิจารณาปล่อยวางร่างกายนี้ได้อย่างแท้จริง ปล่อยให้มันตายไปตามธรรมชาติ ดูแลรักษาไปตามปกติ หายใจไป ดื่มน้ำไป กินข้าวไป กินยาไป ถ้าอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ตาย ก็จะได้บรรลุ เช่นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า รายละเอียดไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงไปโปรด ตอนที่ใกล้จะสวรรคต ตอนที่ประชวรหนัก ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส วิกฤตก็คือความใกล้ตาย คนเราบางทีจะปล่อยได้ จะเห็นธรรมะได้ ก็ตอนที่ใกล้ตายนี่เอง พอมีคนมาคอยแนะคอยสอนวิธีปล่อยให้เท่านั้นเอง พอเข้าใจ พอปล่อยได้ จิตก็หลุด จิตมันติดกับร่างกาย เหมือนมีกาวตราช้างยึดติดไว้ ต้องเอาธรรมะมาละลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เพราะในขณะนั้นต้องปล่อยทั้งหมด ทั้งรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ รูปก็ต้องปล่อย พิจารณาว่าเป็นแค่ดินน้ำลมไฟ เวทนาก็ต้องปล่อย จะทุกข์ขนาดไหนก็ปล่อยให้ทุกข์ไป อย่าไปอยากให้มันหาย จะเป็นทุกขเวทนาก็ให้เป็นไป จะเป็นสุขเวทนาก็ให้เป็นไป จะเป็นไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน

 

อย่าไปอยากให้มันสุขไปตลอด ถ้าอยากก็จะสร้างความทุกข์ซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ที่เกิดจากสมุทัยความอยากหรือไม่อยาก อยากให้ทุกข์หายไป หรือไม่อยากจะเจอทุกข์ ที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียร่างกายไป ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก เกิดจากอุปาทานความยึดติด ถ้าไม่มีธรรมะจะมีทุกข์นี้ซ้อนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เป็นทุกข์ที่ทรมานรุนแรง มากกว่าทุกข์ที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ทุกข์ที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เหมือนกับตอนที่นั่งสมาธิ เจ็บปวดตามร่างกาย แต่ที่รู้สึกทุกข์มากกว่านั้น ก็เพราะใจอยากให้มันหาย อยากจะหนีจากความทุกข์นั้นไป ก็เกิดความทุกข์ทรมานขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรุนแรงกว่าความเจ็บปวดของร่างกาย เพราะบางเวลาเราก็ทนนั่งได้ เช่นเวลานั่งดูหนัง นั่งเล่นไพ่นี้ นั่งได้ทั้งคืน ไม่อยากจะลุก มันก็เจ็บเหมือนกัน แต่ใจไม่มีความอยากลุก ไม่มีความอยากให้ความเจ็บหายไป เพราะมีสิ่งอื่นมาล่อใจอยู่ เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่กำลังดูกำลังสัมผัสอยู่ ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากความอยาก จึงไม่เกิด  ทำให้นั่งได้ทั้งคืนทั้งวัน หรือเวลานั่งรถนี่ ถ้ารถวิ่งอยู่นั่งเท่าไหร่ก็นั่งได้ พอรถจอดนี่นั่งได้เดี๋ยวเดียว จะรู้สึกหงุดหงิดกระสับกระส่าย เพราะไม่มีอะไรให้ดู เวลารถวิ่งไปมีอะไรให้ดูอยู่เรื่อยๆ มีรูปต่างๆเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เพลิดเพลินไป ความอยากคือสมุทัยจึงไม่เกิดขึ้นมา ก็นั่งได้อย่างสบาย

 

ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ความทุกข์ใจนี่เอง ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกาย เราจึงต้องมาฝึกทำใจให้รับกับความทุกข์ทางร่างกายให้ได้ เวลานั่งสมาธิแล้วเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็อย่าไปขยับมัน ปล่อยให้มันเจ็บไปตามเรื่องของมัน มันเจ็บของมันเองได้ก็ให้มันหายของมันเองได้ ไม่ต้องไปทำอะไร เชื่อในหลักของไตรลักษณ์คืออนิจจัง ไม่ว่าอะไรก็ตาม มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นธรรมดา เมื่อสักครู่นี้ไม่มีทุกขเวทนา ตอนนี้มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว เดี๋ยวทุกขเวทนาก็ต้องดับไปเอง ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา พิจารณาให้เห็นว่าการปล่อยวางดีกว่าการไปยุ่งกับมัน เพราะเวลาเราไปยุ่งไปอยากให้มันหาย จะเพิ่มความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง นี่คือความทุกข์ที่เราต้องการที่จะดับ ซึ่งเราดับได้ด้วยปัญญา เมื่อเห็นชัดแล้วว่า อยู่เฉยๆปล่อยให้เป็นตามเรื่องของเขา ความทุกข์กลับไม่รุนแรงเท่ากับเวลาที่อยากให้มันหายไป ต้องพยายามหาอุบายทำไม่ให้ใจอยาก จะบริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ อย่าให้ใจคิดถึงความเจ็บของร่างกาย ให้อยู่กับพุทโธ เหมือนกับเวลาเราดูหนัง ก็อยู่กับการดูหนัง ความเจ็บปวดของร่างกายจะไม่มารบกวนใจ เราก็อย่าให้ความเจ็บปวดของร่างกายมารบกวนใจ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป หรือสวดมนต์ไป เพื่อไม่ให้ใจไปคิดถึงความเจ็บปวดของร่างกาย จะพิจารณาดูร่างกายแยกออกมาเป็นส่วนๆ แยกกายออกจากเวทนาจากจิตก็ได้ ให้เห็นว่าเป็นคนละส่วนกัน ให้เห็นว่าร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง เป็นเหมือนศาลาหลังนี้ มันก็ตั้งอยู่ของมันได้มาหลายปีแล้ว ไม่เห็นมันเดือดร้อนอะไร ร่างกายเป็นเหมือนศาลา นั่งเพียงชั่วโมง ๒ ชั่วโมงเท่านั้น จะไปเดือดร้อนอะไร มันไม่เดือดร้อน ผู้ที่เดือดร้อนไม่ใช่กาย ผู้ที่เดือดร้อนคือใจ ใจไปเดือดร้อนกับความเจ็บปวด ที่เกิดขึ้นจากการนั่งเท่านั้นเอง

 

ต้องแยกว่าหน้าที่นี้ไม่ใช่หน้าที่ของใจ ใจไม่มีหน้าที่มายุ่งกับร่างกาย ใจมีหน้าที่รับรู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนี้ แล้วปล่อยวางตามความเป็นจริง เหมือนกับปล่อยวางศาลาหลังนี้ เราไม่ยุ่งกับศาลาหลังนี้ เราก็ไม่วุ่นวาย ถ้านั่งคิดว่ามันจะพัง ใจก็จะวุ่นวายขึ้นมา ถ้าไม่คิดไม่กังวลกับมันเราก็นั่งได้อย่างสบาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน มันจะเจ็บจะปวดอย่างไร ก็ปล่อยให้มันเจ็บไป ร่างกายไม่รู้เรื่องความเจ็บปวด เป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนซุง ถ้ามันรู้ เวลาตายไปเอาไปเผา มันคงดิ้นน่าดู แต่มันไม่ดิ้น ตัวที่ดิ้นก็คือใจ เมื่อไม่มีใจอยู่ในร่างกายแล้วมันก็ไม่ดิ้น จะเอาไปสับเอาไปฟัน มันก็ไม่รู้เรื่อง เราต้องปล่อยวางร่างกาย คิดว่าเป็นเหมือนซากศพแล้ว จะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป ทุกขเวทนาที่เกิดจากร่างกาย ก็ปล่อยให้มันเป็นไป เราไปบังคับให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้ เราก็คือใจ เพียงแต่ให้รู้ไว้เท่านั้นเอง ใจเป็นผู้รู้ หน้าที่ของผู้รู้ก็คือรู้อย่างเดียว อย่าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นเขา ที่มีปัญหามีความทุกข์กันทุกวันนี้ เพราะไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นกัน อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น อยากให้เขาเป็นอย่างนี้ อยากจะได้สิ่งนั้นอยากจะได้สิ่งนี้ เป็นเรื่องของใจทั้งนั้น ที่ไปสร้างปัญหาให้กับตัวเอง ใจไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องยุ่งกับอะไร จะมีความสุขมากกว่า เพียงแต่สักแต่ว่ารู้เท่านั้นเอง ให้รับรู้ตามความเป็นจริง  

 

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนชายคนหนึ่ง ที่ไปกราบขอฟังเทศน์ฟังธรรม ตอนที่ทรงบิณฑบาตอยู่ ทรงตรัสว่าไม่ใช่เวลาที่จะสอนธรรมะ เขาก็ขอร้องให้พูดสั้นๆ เพราะอยากจะรู้เหลือเกินว่าแก่นของคำสอนเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่ว่าจะเห็นอะไร จะสัมผัสกับอะไร ก็ให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น ให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปคิดปรุงแต่ง ไม่ต้องไปว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เขาก็รับไปปฏิบัติ เกิดศรัทธาอยากจะบวช ก็เลยลาไปเตรียมบริขาร ระหว่างทางก็ถูกวัวขวิดตาย พระพุทธเจ้าทรงทราบก็ทรงให้จัดการฌาปนกิจ แล้วก็ให้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิของชายคนนั้น ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐินั้น บุคคลนั้นจะต้องเป็นพระอรหันต์ เขาเข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ ปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามความเป็นจริง โดยไม่ไปยุ่งไปเกี่ยวข้องด้วย ร่างกายจะตายก็ให้ตายไป เวทนาจะเจ็บอย่างไรก็ให้เจ็บไป จะสุขก็สุขไป แล้วแต่มันจะเป็น

 

บางทีต้องอาศัยเวลาใกล้ตาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะปรากฏขึ้นมาให้เราต้องพิจารณา ถ้าพิจารณาจนเกิดปัญญาขึ้นมา ก็จะปล่อยวางได้ เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ว่าเป็นสิ่งที่ไปบังคับไม่ได้ เหมือนกับลม จะพัดหรือไม่พัดก็บังคับไม่ได้ ฉันใดขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จะเกิดจะดับเราก็บังคับมันไม่ได้ มันเกิดมันดับไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่ตลอดเวลา ใจเพียงแต่รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง ใจก็จะสบาย อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่หวั่นไหว เพราะไม่ยึดไม่ติด ไม่ไปอยากกับสิ่งต่างๆ ทุกอย่างดีหมด อะไรก็ได้ สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้ อยู่ก็ได้ตายก็ได้ ถ้าอยู่อย่างนี้ได้ จะสบายกว่าอยู่แบบมหาเศรษฐี ต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ อาหารต้องเป็นชนิดนั้นต้องเป็นชนิดนี้ ที่อยู่อาศัยต้องเป็นชนิดนั้นชนิดนี้ คนที่เกี่ยวข้องด้วยจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะมีอำนาจทางการเงิน คิดว่าสามารถสั่งซื้อได้ทุกอย่าง พอไปเจอเวลาที่สั่งซื้อไม่ได้ ตอนนั้นจะทรมานใจมาก เพราะไม่รู้จักปล่อยวาง จึงต้องพิจารณาขันธ์ ๕ ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป อย่าไปยึดอย่าไปติดมัน จะทำให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา เพราะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นเหมือนกับแดดลม เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา ร่างกายของเราก็เป็นไปตามเรื่องของเขา เราเพียงแต่รับรู้ เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด จะมีความสุขตลอดเวลา ไม่มีความทุกข์เข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจเลย นี่คือที่พึ่งที่แท้จริง ก็คือมรรคที่มีองค์ ๘ ชีวิตของเราเกิดมาก็เพื่อมาสร้างที่พึ่งนี้ จึงต้องปฏิบัติมรรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นทานศีลภาวนาหรือศีลสมาธิปัญญา นี่คืองานที่แท้จริงของเรา งานทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นเพียงงานสนับสนุน เพื่อให้เราได้มาปฏิบัติกัน ให้ยึดติดกับการปฏิบัตินี้ ไม่นานก็จะได้พบกับสิ่งที่ปรารถนากันทุกคน

 

ถาม  มีเพื่อนนั่งสมาธิได้ ๒ ชั่วโมง เสร็จปั๊บเปิดทีวีดู

 

ตอบ  ยังไม่มีปัญญา นั่งเพื่อทำจิตให้สงบเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าดูทีวีไปทำไม เหมือนคนที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ยังไม่มีปัญญา ตอนต้นดื่มเพราะสังคม เห็นคนอื่นดื่มก็ดื่มตาม พอดื่มแล้วก็ติดเป็นนิสัย มันก็เลยเลิกยาก ก็เหมือนกับดูทีวี พอดูแล้วก็ติดเป็นนิสัย ว่างๆไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดทีวีดู ไม่มีเหตุผลว่าดูไปทำไม แต่อยู่เฉยๆไม่มีอะไรดูไม่ได้ ต้องมีอะไรดู ทีนี้เรารู้แล้วว่ามันเป็นเหมือนยาเสพติด มันเป็นโทษที่ละเอียด ในทางโลกไม่ถือว่าเป็นโทษ แต่ในทางธรรมถือว่าเป็นโทษ เพราะไม่ทำให้จิตใจก้าวหน้า ไม่หลุดพ้นจากการติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องถือศีล ๘ จะได้ปิดทีวีได้

 

ถาม  ขอเอาแค่ศีล ๕ ให้ครบถ้วนก่อน ค่อยเป็นค่อยไป

 

ตอบ  ทำไมมักน้อยเหลือเกิน ทีเงินทองไม่มักน้อยเลย

 

ถาม  น้องไปภาวนามา ๔ วัน ยังไม่ผ่าน ติดเวทนาค่ะ

 

ตอบ  ไม่เป็นไร พยายามไปเรื่อยๆ เป็นนิสัยของเรา พอเจอความเจ็บจะหนีทันที เราต้องฝืนบังคับมัน ทำไปเรื่อยๆ จะได้ทีละนิดทีละหน่อย ขยับไปเรื่อยๆ อีกหน่อยก็นั่งได้นาน จะเจ็บจะปวดอย่างไรก็จะรู้สึกเฉยๆ ขอให้ทำไปเถิด อย่าท้อแท้ ใหม่ๆก็เป็นเหมือนมวยอ่อนหัด ขึ้นเวทีชกได้หมัด ๒ หมัดก็โดนนับ ๘ ต้องเอาประสบการณ์มาเป็นครูสอนเรา แล้วก็ทำต่อไป ทำได้ เพราะทุกคนเวลาเริ่มต้น ก็เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ล้มลุกคลุกคลานกันไปก่อน

 

ถาม  การเจริญสติอยู่ตลอดเวลา หมายถึงรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ไม่คิดฟุ้งซ่านไปที่ไหน คือรู้อยู่ในปัจจุบัน ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ แต่ยังไม่พอ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำจิตให้สงบ เบื้องต้นเราต้องดึงให้มันมาอยู่ใกล้ตัวเรา เมื่ออยู่ใกล้ตัวแล้ว ถ้ายังคิดอยู่ ก็ต้องทำไม่ให้มันคิด พระท่านบางรูปท่านก็ใช้การบริกรรมพุทโธควบคู่ไปกับการมีสติรู้อยู่กับการกระทำต่างๆ ไม่ว่ากำลังปัดกวาดกำลังบิณฑบาต กำลังฉัน ท่านก็พุทโธไป แทนที่จะไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าอยู่กับปัจจุบันแต่ยังแวบไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้อยู่ ก็จะไม่นิ่ง แต่ถ้าให้อยู่กับพุทโธไปด้วยในขณะเดียวกัน ก็จะนิ่งได้ ในขณะที่กำลังทำกิจกรรมก็นิ่งได้ ในขณะที่เดินจงกรมก็นิ่งได้ แต่จะไม่เหมือนกับการหลับใน คนที่มีสติอ่อนพอบริกรรมพุทโธไปแล้วคิดว่าจิตสงบ แต่ความจริงจิตไม่สงบ จิตมันหลับใน มันต่างกัน เวลาจิตที่สงบด้วยสติจะมีความตื่นตัว มีความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มีความสุขสบายเบาใจ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ แสดงว่าไม่ใช่ความสงบแล้ว เป็นการเผลอสติ เป็นการหลับในหรือเข้าภวังค์หลับเสีย ถ้าเป็นความสงบของสมาธิ จะเย็นสบายจะมหัศจรรย์ใจ

 

ข้อสำคัญของสติก็คือการให้จิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปในอดีตไม่ให้ไปในอนาคตไม่ให้ไปที่อื่น ให้อยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่กายอยู่ กายอยู่ตรงไหน ก็ให้สติอยู่ตรงนั้น เรียกว่ากายคตาสติปัฏฐาน ที่ตั้งของสติมีอยู่ ๔ ที่คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าตั้งอยู่ที่จิต ก็ให้ดูความคิดปรุงแต่งของจิต ดูว่ากำลังคิดเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ถ้าตั้งอยู่ที่ธรรม ก็ให้คิดถึงธรรมบทใดบทหนึ่ง เช่นพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าจิตตั้งอยู่กับเรื่องเหล่านี้ก็จะไม่ไปไกล จะอยู่ใกล้กับความสงบ อยู่ใกล้กับความรู้ พิจารณาธรรมก็จะเป็นปัญญาขึ้นมา อย่าไปอยู่กับเรื่องสามี เรื่องภรรยา เรื่องลูก เรื่องธุรกิจการงาน ซึ่งยากสำหรับฆราวาส ที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้อยู่ ก็ควรคิดเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องไปคิดวิพากษ์วิจารณ์บ่นว่า ไปห่วงไปกังวล ถ้าไม่จำเป็นต้องคิดก็อย่าไปคิด เรื่องที่จำเป็นต้องคิดเมื่อคิดเสร็จแล้วก็หยุดคิด หันกลับเข้ามาอยู่ที่ตัว อยู่กับพุทโธ อยู่กับธรรมะ  พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาร่างกาย เกิดแก่เจ็บตายอยู่เรื่อยๆ ทั้งของเราและของคนอื่น ถ้าคิดในทางไตรลักษณ์ก็เป็นธรรมะ ถ้าไปห่วงไปกังวล ไปอิจฉาริษยา ก็เป็นทางโลกทางกิเลสไป

 

นี่คือจุดที่จิตควรเกาะติดไว้อยู่ตลอดเวลา คือกายเวทนาจิตธรรม ถ้าตั้งอยู่ที่เวทนาก็ดูว่าเวทนาตอนนี้เป็นอย่างไร ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ เวลาเหนื่อยก็รู้ว่าเหนื่อย หรือเวลานั่งนานๆแล้ว เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็รู้ตามความจริง รู้เฉยๆ ไม่ต้องยุ่งกับมันปล่อยมันไป ส่วนไหนที่ต้องดูแลก็ดูแลไป เช่นหิวน้ำก็ดื่มน้ำ หิวข้าวก็กินข้าว แต่ให้มีประมาณ ให้มีเวล่ำเวลา ไม่ใช่กินเสร็จใหม่ๆก็หิวอีก ก็กินอีก อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ต้องให้มีเวล่ำเวลา กินแล้วยังหิวอีก ก็ปล่อยมันหิวไป ให้สักแต่รู้ว่าเป็นทุกขเวทนา แต่ยังไม่ถึงเวลาไปเยียวยามัน ถ้าได้กินอาหารอย่างพอเพียงแล้ว ก็ยังไม่ต้องกิน มันหิวอีกก็ให้รู้ว่ามันหิวก็แล้วกัน หิวได้มันก็หายหิวได้ มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ นี่คือการเจริญสติที่เวทนา แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว วิธีง่ายที่สุด ก็คือให้มีสติอยู่กับการกระทำ กำลังทำอะไรก็ให้อยู่กับการกระทำนั้นๆ จะใช้อุบายวิธีท่องไปในใจก็ได้ ถ้ากำลังกินก็ว่ากินๆ เคี้ยวๆ กลืนๆไป เวลาอาบน้ำถูสบู่ก็ถูๆไป แปรงฟันก็แปรงๆไป คอยเตือนให้อยู่กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน จิตก็จะไม่ไปคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน ไม่ลอยไปไกล พอให้อยู่กับพุทโธ มันก็จะอยู่กับพุทโธๆ ไม่นานก็จะรวมลง หรือจะอยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้

 

การเจริญสติเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เป้าหมายก็คือให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ ให้เข้าสู่ความสงบ พอจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบแล้ว จิตจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่หิวโซซัดโซเซ จะกลายเป็นคนมีความอิ่ม มีความสุข จะช่วยตัดช่วยลดความรุนแรงของความอยาก ของความโลภ ของความโกรธ ของความหลงไปได้มาก แต่ยังไม่สามารถทำลายได้อย่างสิ้นเชิง หน้าที่นี้ต้องเป็นหน้าที่ของปัญญา เพราะความโลภความโกรธความอยากเกิดจากความหลง จะแก้ความหลงได้ก็ต้องใช้ความรู้ คือใช้ความจริง เราหลงเพราะไม่เห็นในไตรลักษณ์ หลงรักใครก็อยากให้เขาอยู่ไปนานๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เพราะไม่มีใครอยู่ไปได้ตลอด เราจะไม่หลงรักใครถ้ามีปัญญา รู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องจากกัน ไม่รู้จะไปหลงรักเขาทำไม หลงรักเขาแล้วเดี๋ยวก็ต้องมาเสียอกเสียใจ เพราะต้องจากเราไป หรือไม่เช่นนั้นเราก็ต้องจากเขาไป นี่คือปัญญาความรู้ในไตรลักษณ์ ร่างกายของทุกคนก็เป็นไตรลักษณ์ สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆก็เป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา จะสกัดความโลภความอยากได้ ปัญหาคือเห็นแต่ไม่เห็นตลอดเวลา เวลาไหนที่เราเผลอ ความโลภความอยากก็จะหลอกให้ไปคว้ามา ไปอยากได้มาเป็นของเรา แล้วก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ การปฏิบัติที่ถึงรากถึงโคนก็ต้องเจริญปัญญาอย่างต่อเนื่อง

 

จะเจริญปัญญาอย่างต่อเนื่องได้ ก็ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีสมาธิใจไม่ตั้งมั่น ไม่อยู่กับที่ ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ให้พิจารณาอะไร ก็ได้สักแป๊บเดียว ก็ลอยไปแล้ว พิจารณาได้แค่ ๒ – ๓ วินาที ก็ลอยไปเรื่องอื่นแล้ว ไปอยู่เรื่อยๆ เป็นเหมือนเรือที่ไม่ได้ทอดสมอ เวลาจอดเรือเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือ เรือต้องจอดนิ่ง ต้องทอดสมอหรือผูกเรือไว้กับท่าเรือ พอเรือจอดนิ่งแล้ว ขนถ่ายสินค้าขนถ่ายคนขึ้นลงก็สบาย ฉันใดการขนถ่ายกิเลสออกจากใจ ขนถ่ายธรรมะเข้าสู่ใจ ใจก็ต้องนิ่ง เหมือนกับเรือที่จอดนิ่ง จึงต้องมีสมาธิ ถ้าใครมาพูดว่าไม่ต้องมีสมาธิ แสดงว่าเขาไม่เคยปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ให้มีสติตามรู้  ก็เหมือนกับตะครุบเงา เงามันอยู่ข้างหน้า เราก็ตามมันไป มันก็ขยับไปข้างหน้าอีก เราก็ต้องตามมันไปอีก ต้องตามกันไปอยู่เรื่อยๆ ใจของเราก็เหมือนกัน เราตามรู้มัน มันก็ขยับไปเรื่อยๆ หยุดมันไม่ได้ เวลามันโลภก็หยุดมันไม่ได้ เวลาโกรธก็หยุดมันไม่ได้ อาจจะหยุดได้เป็นครั้งเป็นคราว ถ้าอยู่ในวิสัยที่จะหยุดมันได้

 

แต่ความโลภความโกรธบางชนิด มันก็แรงกว่าที่เราจะหยุดมันได้ ขึ้นอยู่กับอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ มีมากน้อยเพียงไร ถ้าไม่ยึดมากก็ไม่โกรธมาก ไม่รักมากก็ไม่หวงมาก ไม่โกรธมาก ไม่เสียใจมาก ถ้ารักมากก็หวงมาก โกรธมาก เสียใจมาก ก็จะหยุดยาก ถ้ามีสมาธิสนับสนุนก็จะหยุดได้ มีปัญญาเห็นโทษของความโกรธ เห็นโทษของความหลง เห็นโทษของความโลภ ว่าทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ ก็จะหยุดได้ จะตัดอะไรได้นั้นต้องเห็นโทษของมัน คือเห็นความทุกข์ใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าทุกข์มากๆแล้ว ไม่รู้จะมีมันไว้ทำไม ให้มันไปดีกว่า มันจะไปก็ไป อยู่แบบไม่มีดีกว่า จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ต้องเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ถ้าเห็นทุกข์ก็จะเห็นต้นเหตุของความทุกข์ คือสมุทัยความอยาก เมื่อเห็นว่าความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ก็ตัดความอยากนั้นไป ไม่เอาก็ได้ ใครอยากจะได้ก็เอาไป เช่นรักสามีมากแต่ทุกข์กับเขาเหลือเกิน คนนั้นก็มาจีบคนนี้ก็มาหลอกมาล่อ ก็ยกให้เขาไปเลย จะได้หายทุกข์เลย

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิในท่าที่สบายๆจะนั่งได้ จิตนิ่งเร็ว แล้วก็นั่งได้นานเป็นชั่วโมง สามารถพิจารณาถึงไตรลักษณ์ได้ แต่ถ้านั่งท่าขัดสมาธิเมื่อไหร่ จะนั่งได้ไม่นาน จะเลือกวิธีนั่งนี่ได้ไหมคะ

 

ตอบ แรกๆนั่งท่าไหนก็ได้ ในฐานะที่เริ่มปฏิบัติ คำว่านานของโยมนั้นมันไม่นานสำหรับนักปฏิบัติอาชีพ ท่านั่งขัดสมาธิเป็นท่าที่นั่งได้หลายๆชั่วโมง นั่งแล้วสบาย ถ้านั่งห้อยเท้านั่งเก้าอี้ นั่งไปสักพักแล้วจะโยกไปโยกมาง่าย อาจจะล้มไปก็ได้ ไม่เหมือนกับท่าขัดสมาธิ ร่างกายมีฐานที่มั่นคง จะนั่งได้นานกว่า ในเบื้องต้นก็นั่งท่าสบายไปก่อน พอมีความชำนาญในการทำจิตใจให้สงบได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ลองนั่งขัดสมาธิดู ใหม่ๆจะรู้สึกขัดบ้าง เพราะไม่เคยชิน ต้องงอเท้างอเข่าเข้ามา จะรู้สึกตึงๆแข็งๆ

 

ถาม  เมื่อ ๒ – ๓ วันขับรถไปทำงาน มีคนบ้าหกคะเมนตีลังกามาตามถนน แต่แปลกพอมาเจอศาลพระภูมิเขาก็นั่งไหว้ได้ ตรงนั้นเป็นสัญญาความจำหรือเป็นอนุสติ

 

ตอบ  ถ้าเห็นอะไรจำได้ก็เป็นสัญญา พอมาเจอศาลพระภูมิก็จำได้ว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องแสดงความเคารพ เขามีสติอยู่ในระดับที่จะรับรู้สัญญานั้น ถ้าเขาไปเห็นในสิ่งที่เขาไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เขาก็ปล่อยไปตามความสบายใจ อยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป อยากจะกระโดดโลดเต้น อยากจะร้องห่มร้องไห้ ก็ทำไป สตินี้มีอยู่ด้วยกันทุกคน จะมีมากหรือมีน้อยเท่านั้นเอง คนที่เสียสตินี่มีสติน้อยมาก ใจลอยไปตามความคิดปรุงต่างๆ ไม่ได้อยู่กับเหตุการณ์รอบด้าน ไม่มีสัญญาความจำที่จะแยกแยะว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นใครเป็นอะไร ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร สติเป็นตัวดึงใจไว้ ให้รู้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ถ้าไม่รู้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ก็แสดงว่าไม่มีสติ ใจเหม่อลอย เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ แต่ไปคิดถึงเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เช่นคนที่เสียอกเสียใจสูญเสียคนรักไป มักจะเหม่อลอยเพราะจะคิดถึงอดีต คิดถึงความทรงจำในอดีตต่างๆ อยู่ตรงไหนก็ต้องคิดถึง ก็เหม่อลอยไป เพราะเป็นความสุขของเขา เขายึดติดอยู่กับความสุขนั้น แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว จึงต้องไปหาความสุขในอดีต ใจก็เลยเหม่อลอยไป คิดถึงในเรื่องอดีตที่ผ่านมา

 

        พอคิดแล้วก็จะเกิดความทุกข์ เพราะเป็นแค่ความฝัน อยากจะให้เป็นในปัจจุบัน มันก็ไม่เป็น ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทุกครั้งที่อยู่กับปัจจุบันก็จะรับไม่ได้ ก็พยายามหนีปัจจุบันอยู่เรื่อยๆ ไปเปิดดูรูปเก่าๆ เสื้อผ้าเก่าๆ แสดงว่าไม่มีสติแล้ว ถ้ามีสติต้องตัดแล้ว อดีตผ่านไปแล้ว ตายไปแล้ว จบแล้ว เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้เกิดในอดีต ไม่ได้เกิดในอนาคต เกิดในปัจจุบัน จึงต้องตั้งจิตให้อยู่ในปัจจุบัน แล้วใจจะไม่วุ่นวาย จะไม่ทุกข์ จะไม่สับสน ถ้าไม่มีสติก็จะมีอุปาทานยึดติดกับอดีตกับอนาคต ถ้าปัจจุบันไม่ดี ก็จะฝันถึงอนาคตฝันถึงอดีต  ถ้าอยู่ในปัจจุบันก็จะปล่อยวางกิเลสได้ จะไม่พึ่งพาสิ่งต่างๆ แต่เราไม่อยู่ในปัจจุบันกัน ชอบฝันชอบคิดถึงความสุขที่จะได้รับหรือที่เคยมีอยู่ เราเลยมองข้ามความสุขที่แท้จริง ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ไป ก็เลยไม่เคยเจอของจริงเสียที เราอยู่ในโลกของความฝันอยู่ตลอดเวลา เพราะใจเราไม่นิ่ง เราจึงต้องดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ไม่มีอะไร ก็สักแต่ว่ารู้ตามความจริงเท่านั้นเอง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าใจเรานิ่ง เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างขยับอยู่ตลอดเวลา

 

ถาม  จะให้เกิดปัญญา ใจต้องตั้งมั่นด้วยใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ ถ้าใจไม่ตั้งมั่นก็เหมือนกับเวลาที่เทน้ำลงไปในแก้ว ถ้าแก้วเลื่อนไปเลื่อนมาน้ำก็จะไม่เข้าไปในแก้ว เหมือนคนเมาสุรา จะทำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีสติประคับประคองใจให้ตั้งมั่น ให้อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การพิจารณาปัญญาต้องใช้เวลาใคร่ครวญนาน มีเหตุมีผลที่เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าคิดได้เพียงแวบเดียวแล้วเปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่น ก็จะไม่ได้ข้อสรุป พิจารณาได้เดี๋ยวเดียวก็ไปแล้ว เพราะมีอารมณ์อย่างอื่นมาดึงมาผลักไป ถ้ามีสมาธิจะไม่มีอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่ามีสมาธิมากน้อยเพียงไร ถ้ามีมากอารมณ์ก็น้อย ถ้ามีน้อยอารมณ์ก็มาก สมาธิในแต่ละระดับก็รองรับการพิจารณาปัญญาตามระดับของสมาธินั้นๆ ถ้ามีสมาธิอยู่ ๕ นาทีก็พิจารณาปัญญาได้ ๕ นาที ถ้ามีสมาธิได้ ๓๐ นาทีก็จะพิจารณาได้ ๓๐ นาที แต่การพิจารณาปัญญานี้ต้องพิจารณาทั้งวันเลย แทบทุกลมหายใจเข้าออกเลย

 

        ปัญญาทางธรรมนี้ต่างกับปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกคิดแล้วได้ข้อสรุปก็จบ แต่ปัญญาทางธรรมต้องมีอยู่กับใจตลอดเวลา พอเผลอปั๊บกิเลสก็เข้ามาแทรกทันที ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้พิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก เผลอปั๊บเดียวกิเลสจะเข้ามาแทรก ให้อยากอยู่ไปนานๆ ถ้าคิดว่าจะต้องตายทุกลมหายใจเข้าออก ความคิดที่อยากจะอยู่ไปนานๆก็จะไม่มี พอสามารถควบคุม ไม่ให้ความคิดของกิเลสเข้ามาแทรกได้แล้ว ต่อไปไม่ต้องคิดพิจารณาก็ได้ เพราะมีไว้เพียงเพื่อสกัดความคิดของกิเลสเท่านั้นเอง เมื่อมีปัญญาความจริงคอยสกัดความคิดของกิเลสได้ทุกขณะแล้ว กิเลสก็จะไม่โผล่ขึ้นมา เราก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องนี้อีกต่อไป เรารู้แล้วว่าหมดปัญหา สำหรับเรื่องความกลัวตาย นี่คือการพิจารณาทางปัญญา ต่างกับทางโลก ทางโลกเราพิจารณาว่าจะต้องทำอะไร จะต้องแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อรู้แล้วเราก็ไปแก้ แต่ปัญญาทางธรรมนี้ต้องมีอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา ตราบใดที่ยังมีกิเลสคอยบุกมาทำลายใจ ก็ยังต้องมีปัญญา เหมือนกับทหารที่ยังต้องคอยรักษาประตูเมือง ถ้ามีข้าศึกศัตรูจะบุกเข้ามา ก็ต้องมีทหารเฝ้าอยู่ตลอดเวลา พอไม่มีข้าศึกศัตรูมาแล้ว ทหารก็กลับเข้ากรมเข้ากองได้

 

        ปัญญาทางศาสนาเป็นอย่างนี้ ต้องเจริญทุกลมหายใจเข้าออก จนทันกับกิเลสทุกชนิด ที่จะมาหลอกใจให้ไปโลภไปโกรธไปอยาก ไปทุกข์กับเรื่องต่างๆ พอรู้ว่ามีปัญญาอยู่กับใจตลอดเวลาแล้ว รู้ทันกับกิเลสทุกชนิดแล้ว ก็หมดปัญหา เมื่อกิเลสไม่โผล่ออกมาแล้ว ปัญญาก็ไม่ต้องทำงาน จะมีแต่สักแต่ว่ารู้ อยู่เฉยๆไปเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดไม่ต้องพิจารณา พิจารณาตอนที่ยังไม่เข้าใจตอนที่ยังหลงอยู่ เพื่อแก้ความหลง ความหลงทำงานตลอดเวลา ปัญญาก็ต้องทำงานตลอดเวลา จึงต้องอาศัยสมาธิชนิดที่มีอยู่ตลอดเวลา ถ้าปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่งแล้ว สมาธิจะมีอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้ง ๔ ไม่ใช่สมาธิตอนที่นั่งหลับตาอย่างเดียว แต่จะสงบนิ่งตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่คุยกันอยู่นี้ก็สงบตั้งมั่น มีความตื่นตัวรับรู้การเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจตลอดเวลา จะแวบไปทางไหนจะรู้ทันที เป็นสันทิฏฐิโก ต้องปฏิบัติถึงจะเข้าใจ

 

ถาม  คนที่พึ่งเริ่มนั่งสมาธินี่ ควรกำหนดจิตไว้ที่ไหนคะ ที่ปลายจมูกหรือที่ท้อง

 

ตอบ  ที่ถนัดกับเรา การนั่งทำสมาธิมีถึง ๔๐ วิธีด้วยกัน มีกรรมฐาน ๔๐ ชนิด แต่ส่วนใหญ่จะใช้พุทโธ หรือใช้ลมหายใจเข้าออก หรือในเบื้องต้นก็ใช้การสวดมนต์ไปก่อน ข้อสำคัญให้อยู่กับกรรมฐานนั้น ถ้าจะสวดมนต์ก็อยู่กับการสวด อย่าไปคิดเรื่องอื่น ถ้าชอบพุทโธก็อยู่กับพุทโธ ไม่ต้องดูลมหายใจ ถ้าต้องการดูลมอย่างเดียว ก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ ให้รู้ลมว่าเข้าออกตรงไหน ถ้าชัดที่ปลายจมูกก็ดูตรงที่ปลายจมูก ถ้าชัดที่หน้าท้องที่กลางอกก็ให้รู้อยู่ตรงหน้าท้องที่กลางอก ที่เรียกว่าหยุบหนอพองหนอ จะพูดตามก็ได้ ไม่พูดก็ได้ ให้รู้ว่าเข้ารู้ว่าออก ให้รู้อยู่ตรงนั้น ข้อสำคัญให้มีจุดใดจุดหนึ่งเป็นที่เกาะของจิต ไม่ให้ลอยไปคิดถึงเรื่องอื่น ถ้าดูลมแล้วยังคิดอยู่ ก็ต้องใช้บริกรรมพุทโธควบคู่ไปด้วย ลมเข้าก็ว่าพุท ลมออกก็ว่าโธ หรือลมเข้าก็พุทโธ ลมออกก็พุทโธ ถ้ายังคิดอยู่ก็บริกรรมพุทโธอย่างเดียวไปเลย แล้วแต่ความถนัดและระดับจิตของแต่ละคน

 

การปฏิบัติของแต่ละคนจึงมีคุณสมบัติจำเพาะ เวลาคนอื่นใช้วิธีนี้แล้วมาเล่าว่าดี แต่เราไปใช้ดูกลับไม่ดี ก็ต้องใช้วิธีอื่น อาจจะเป็นเพราะสติเราไม่ดีก็ได้ สติไม่มีกำลังมากพอ ไม่สามารถบังคับใจให้อยู่กับกรรมฐานได้ ให้อยู่กับพุทโธก็อยู่ได้แวบเดียว แล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าอย่างนี้ปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่พุทโธ แต่อยู่ที่สติ ก็ต้องพยายามฝึกสติอยู่เรื่อยๆ อย่าฝึกสติเฉพาะเวลานั่งเท่านั้น ควรจะเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับเลย ให้มีความรู้สึกอยู่ใกล้ตัวเสมอ ให้จิตอยู่ใกล้ตัว ให้อยู่ในปัจจุบันเสมอ อย่าปล่อยให้ลอยไปในอดีตในอนาคต ไปที่อื่น ให้อยู่ตรงนี้ ถ้าทำได้เวลาให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ เพราะเหมือนมีเชือกคือสติคอยดึงจิตไว้ ไม่ให้ลอยไป การเจริญสติจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่สอนให้ตามรู้ก็หมายความว่า ให้มีสติรู้อยู่กับความคิด ให้รู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่  เวลามีอารมณ์เกิดขึ้น ก็ให้รู้ พอรู้แล้วมันจะไม่ต่อเนื่อง พอคิดถึงเรื่องคนนั้น พอรู้ปั๊บก็จะหยุดคิดทันที อารมณ์ต่างๆก็ดับตามไป พอเผลอปั๊บ ก็คิดอีก ต้องดึงไว้อยู่เรื่อยๆ อุบายวิธีที่จะทำให้มีสติของแต่ละคนนี้ ก็ต้องไปคิดค้นกันเอาเอง

 

หลักใหญ่ๆอยู่ตรงที่ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ ต้องอยู่คนเดียว ถ้าอยู่กันหลายคนแล้ว ต่างคนก็ต่างดึงกันไป คนนั้นก็ชวนคุย คนนี้ก็ชวนคุย เราก็ชวนคุย ใจก็เลยลอยไปลอยมา ถ้าอยู่คนเดียว ก็จะไม่มีอะไรมาดึงไป แต่ยังมีอารมณ์ภายในมาดึงไปอยู่ แต่มีน้อยลง ท่านจึงสอนให้ปลีกวิเวก ไม่คลุกคลีกัน ให้อยู่คนเดียว ถึงแม้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็ไม่ให้สนทนากัน พระปฏิบัติเวลาทำกิจวัตรร่วมกัน จะไม่คุยกัน ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป ไม่คุยกัน มีสติอยู่กับงานที่ทำ พระปฏิบัติจึงดูเหมือนทะเลาะกัน ไม่คุยกัน ในพระไตรปิฎกมีเรื่องที่ชาวบ้านเห็นพระไม่คุยกันเลย เวลาทำกิจวัตร ต่างคนต่างทำ จนชาวบ้านสงสัยว่า พระโกรธกันหรือเปล่า ท่านไม่ได้โกรธกันหรอก ท่านพยายามควบคุมใจ ดึงใจให้อยู่ใกล้ตัว ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ

 

ในการภาวนาถ้าอยากจะให้ได้ผลดี ก็ต้องมีคุณธรรมอื่นมาสนับสนุน คุณธรรมพื้นฐานก็คือทานกับศีล ทำทานแล้วก็รักษาศีล ควรเป็นศีล ๘ รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร คือถ้ารับประทานวันละ ๓ มื้อ ก็งดรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ถ้ารับประทานวันละ ๒ มื้อ ก็ตัดให้เหลือมื้อเดียว ถ้ารับประทานมื้อเดียวแล้ว กิเลสยังมีกำลังมาก ก็อดอาหารดูบ้าง อด ๓ วัน ๕ วัน กิเลสจะอ่อนกำลังลง จะว่านอนสอนง่าย เป็นเครื่องช่วยภาวนาอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือการสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย อย่าไปดู อย่าไปฟัง อย่าไปสนใจกับเรื่องอื่นๆ สำรวมไว้ ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดทวารทั้งห้า เหลือไว้เพียงทวารเดียวคือใจ ให้มีสติคอยเฝ้าดูอยู่ตรงนั้น ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ธรรมดากิเลสจะเข้าออกทั้ง ๖ ทวาร ออกทางใจทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปสู่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถ้าสำรวมอินทรีย์ก็ปิด ๕ ประตู ปิดตาหูจมูกลิ้นกาย คำว่าปิดนี่ไม่ได้หมายความว่า ปิดตาปิดหู เพียงแต่อย่าไปฟัง อย่าไปดู ไปดื่ม ไปกิน ไปลิ้มรสกับสิ่งที่ไม่จำเป็น จะได้เห็นกิเลสชัด เพราะจะออกมาทางใจ ถ้าเฝ้าดูที่ใจด้วยสติ เวลาโลภขึ้นมาก็จะเห็น เวลาโกรธขึ้นมาก็จะเห็น เวลาจะควบคุมจิตให้สงบก็ง่าย

 

ทำไมถึงต้องไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขากัน ทำไมต้องถือศีลแปดกัน ทำไมต้องไม่ดูหนังฟังเพลง ไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพราะมันเป็นนิวรณ์เป็นอุปสรรค ต่อการเจริญสมาธิและปัญญา ถ้านั่งดูโทรทัศน์ไป ๒ ชั่วโมง ก็เสียเวลาไป ๒ ชั่วโมงแล้ว เอาเวลา ๒ ชั่วโมงมานั่งสมาธิเดินจงกรมจะได้ประโยชน์กว่า ที่เรานั่งไม่ได้เพราะมีกามฉันทะ ความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรส ยังอยากจะเสพอยากจะดู อยากจะฟัง นิวรณ์มีอยู่ ๕ ตัวด้วยกัน กามฉันทะนี่ก็ตัวหนึ่ง ที่ชอบดูโทรทัศน์ดูหนังฟังเพลง ไปกินอาหารเย็น กินเลี้ยงอะไรต่างๆ เรียกว่ากามฉันทะ ชอบไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แล้วก็มีอีกตัวหนึ่งก็คือความลังเลสงสัย สงสัยว่าปฏิบัติแล้วจะได้ผลหรือเปล่า มรรคผลนิพพานมีจริงหรือเปล่า สงสัยในความสามารถของตนเองว่า ชาตินี้เกิดมาไม่มีวาสนาที่จะได้ผลอย่างคนอื่น ก็อย่าไปปฏิบัติให้เสียเวลาเลย นี่คือความลังเลสงสัย ก็ต้องแก้ด้วยการเข้าหาผู้รู้ ได้ยินได้ฟังจากผู้ที่สำเร็จแล้ว เหมือนกับคนที่เล่นหุ้นแล้วไม่รวยสักที ก็ต้องไปหาคนที่เล่นหุ้นแล้วรวย ว่าทำอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอยากจะไปถึงมรรคผลนิพพาน ก็ต้องไปหาพระหรือใครก็ได้ ที่บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ให้ท่านเล่าให้ฟัง จะได้หายลังเลสงสัย

 

นิวรณ์ตัวที่ ๓ ก็คือความง่วงเหงาหาวนอน ต้องแก้ด้วยการรับประทานอาหารพอประมาณ ต้องอดอาหาร เพราะอดอาหารแล้วทำให้ไม่ง่วง แต่จะหิว จะทำให้ฟุ้งซ่านได้ แทนที่จะง่วงเหงาหาวนอนก็จะฟุ้งซ่าน คนที่จะอดอาหารได้ก็ต้องมีสติอยู่ในระดับหนึ่ง มีกำลังที่จะระงับความฟุ้งซ่านได้ ถ้าระงับไม่ได้ การอดอาหารก็ช่วยไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีอื่น ถ้าไม่อดอาหาร เวลานั่งแล้วง่วงก็ต้องลุกขึ้นมาเดิน อย่านั่ง นั่งหลับไม่เกิดประโยชน์อะไร ถึงแม้จะนั่งได้หลายชั่วโมงก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะนั่งหลับ ไม่ได้นั่งภาวนา ควรลุกขึ้นมาเดิน หรือไปอยู่ที่น่ากลัว ที่เปลี่ยวๆ เดี๋ยวหายง่วงเอง ไปนั่งในป่าช้านี่ รับรองนอนไม่หลับทั้งคืนเลย นี่คือวิธีแก้ความง่วง นิวรณ์ตัวที่ ๔ คือความฟุ้งซ่าน ก็ต้องใช้สติใช้ปัญญาคอยระงับ ฟุ้งซ่านกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็พิจารณาด้วยปัญญาว่า ทุกคนเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับใครก็ตาม ก็ต้องหมดไปเอง ไม่ช้าก็เร็ว ตายแล้วก็จบ  

 

นิวรณ์ตัวที่ ๕ คือความโกรธ ความไม่พอใจ ก็ต้องเจริญเมตตาให้อภัย ให้เห็นโทษของความโกรธ ถ้าโกรธแล้วจิตจะร้อน จิตจะขุ่นมัวไม่สงบ สวนทางกับเป้าหมาย คือการทำจิตให้สงบ ถ้ามีใครมาทำให้เรารำคาญใจ ก็อย่าไปสนใจ ดึงใจกลับมาหาพุทโธ ใครจะทำอะไรก็ปล่อยเขาทำไป ถ้าไปสนใจจะเกิดอารมณ์เกิดความโกรธ จะทำให้เสียสมาธิ นั่งไม่ได้ ต้องเปลี่ยนที่ ไปหาที่ๆสงบห่างไกลผู้คน ต้องระงับความโกรธ ด้วยการให้อภัย ไม่จองเวรกัน ให้เห็นโทษของความโกรธว่าเป็นเหมือนไฟ ทุกครั้งที่โกรธก็เหมือนกับเอาค้อนมาทุบศีรษะ ไม่มีใครทำให้เราโกรธได้ เราโกรธเอง ถ้ามีสติรู้ทันว่าความโกรธเป็นพิษเป็นภัย เป็นเหมือนงูพิษ ก็จะระงับดับมันได้ จะได้บำเพ็ญภาวนาต่อไปได้ ถ้าไปโกรธใครมานี่ จะนั่งสมาธิไม่ได้ กว่าจะหายโกรธได้ บางทีก็วัน ๒ วัน เป็นนิวรณ์อย่างหนึ่ง นิวรณ์แปลว่าอุปสรรคที่ขวางกั้นความเจริญ ในการบำเพ็ญจิตตภาวนา นี่คือเหตุปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญภาวนา คือทานกับศีล การรับประทานอาหารพอประมาณ การสำรวมอินทรีย์ทางตาหูจมูกลิ้นกาย การอยู่ในที่สงบสงัด ปลีกวิเวก ไม่คลุกคลีกัน และการเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีเหตุปัจจัยเหล่านี้แล้วการภาวนาจะไม่ยากเลย ปัญหาของพวกเราส่วนใหญ่อยู่ที่เราไม่รู้กัน หรือรู้แล้วก็ไม่สนใจที่จะบำเพ็ญกัน เพราะมีเรื่องอื่นที่เราคิดว่าสำคัญกว่า คอยขวางทางอยู่ เรื่องครอบครัว เรื่องสมบัติข้าวของเงินทอง เรื่องความสุขเล็กๆน้อยๆ จากการได้ไปที่นั่นมาที่นี่ ไปดูไปฟังไปดื่มไปรับประทาน หมดเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้ การภาวนาจึงย่ำอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้าเลย เป็นเรื่องของเรา ไม่มีใครผลักดันเราได้ เราต้องผลักดันเราเอง

 

ถาม ที่ลูกไปปฏิบัตินั่งสมาธิแล้วไม่ผ่านเวทนานี้ มีความรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีขันติ ก็คงจะโกรธ ทำต่อยิ่งไม่ดีใหญ่เลย ทีนี้เท่าที่ได้ฟังพระอาจารย์ ก็เลยมีความรู้สึกว่า จริงๆไม่ใช่ว่าเราไม่มีขันติ แต่ว่าเราไปเข้าใจผิด คือเราคิดว่า เราจะบังคับมันด้วยพุทโธได้ แต่จริงๆที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ คือความไม่อยากจะเจ็บ เพราะฉะนั้นต่อให้มีขันติหรือไม่มีขันติ ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะมันเข้าใจผิด

 

ตอบ ใช่ ประเด็นอยู่ที่ความไม่ชอบความเจ็บ ถ้าชอบแล้วก็จะทนได้ เวลาไปยืนรออะไรบางอย่างเป็นชั่วโมงๆ ก็ยืนรอได้ ยืนจองหุ้นกันเป็นชั่วโมงก็ยืนรอได้ เราต้องหัดชอบในสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่นการรับประทานอาหาร ลองรับประทานในสิ่งที่เราไม่ชอบบ้าง สิ่งที่เราชอบอย่าไปรับประทานมัน อาหารอย่างเดียวกัน คนอื่นทำไมเขากินได้ ทำไมเขาชอบ ทำไมเราไม่ชอบ เขามีความสุข ทำไมเรามีความทุกข์ เพราะเรามีกิเลสมากนั่นเอง เรามีความชอบไม่ชอบมาก ถ้ามีความชอบไม่ชอบน้อย ปัญหาก็น้อย ถ้าไม่มีความชอบไม่ชอบเลยก็สบาย ทุกอย่างได้หมด อะไรก็ได้  เจ็บก็ได้ไม่เจ็บก็ได้ แต่นี่พูดถึงในขณะที่ปฏิบัตินะ เกี่ยวกับเรื่องความเจ็บ พอผ่านเรื่องการปฏิบัติแล้ว ถ้าไม่จำเป็นจะต้องเจ็บก็อย่าไปเจ็บ ถ้านั่งแล้วเจ็บมันปวดก็ขยับได้ แต่การที่เรานั่งแล้วไม่ขยับนั้น ก็เพื่อฝึกให้ใจยอมรับกับความเจ็บ เมื่อรับได้แล้ว ต่อไปไม่ต้องทนเจ็บก็ได้ เพราะต้องดูแลรักษาร่างกาย ให้มีความสมดุลในอิริยาบถทั้งสี่ ไม่ใช่ปล่อยให้เจ็บตลอดเวลา ที่ปฏิบัตินั่งทั้งวันทั้งคืนก็ไม่ได้นั่งไปตลอด พอรู้ว่าผ่านแล้วในเรื่องความเจ็บปวดของร่างกายขนาดไหนก็รับได้ ไม่มีปัญหาแล้ว ก็ไม่ต้องนานๆอีกต่อไป

 

        เหมือนกับหัดรับประทานอาหารที่ไม่ชอบ พอรู้ว่ารับประทานได้แล้ว จะไม่รับประทานอีกก็ได้ แต่รู้ว่าเวลาตกทุกข์ได้ยาก ต้องกินต้องรับประทานอย่างนั้น ก็รับประทานได้ ไม่มีปัญหาอะไร สิ่งที่ต้องแก้ก็คือปัญหาทางจิตใจ ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านกับบางสิ่งบางอย่าง สิ่งที่ต่อต้าน ก็ต้องเลิกต่อต้าน สิ่งที่ยึดติด ที่อยากได้ ก็ต้องเลิกยึดติด เลิกอยากได้ ต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบทำ เช่นนั่งสมาธิ สิ่งที่ชอบทำก็เลิกทำ เช่นนั่งดูโทรทัศน์ ก็เลิกดู จิตจะได้เข้าสู่ตรงกลาง ตอนนี้ยังเอียงไปด้านความชอบ พอชอบทางนี้ก็ไปชังทางนั้น ต้องให้มันอยู่ตรงกลาง ไม่ชอบไม่ชัง ถึงเวลานั้นแล้ว ดูก็ได้ไม่ดูก็ได้ ถึงเวลานั่งสมาธิ นั่งก็ได้ไม่นั่งก็ได้ ถ้าจิตอยู่ตรงกลาง เพราะการนั่งสมาธิเป็นเพียงเครื่องมือ ที่จะปรับใจให้เข้าสู่อุเบกขา ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อไม่เอียงไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ถ้าหายไป เป็นอะไรไป ก็ไม่เดือดร้อน ถ้าชอบดูโทรทัศน์ แล้วโทรทัศน์เสียขึ้นมาก็จะหงุดหงิดใจ แต่ถ้าไม่สนใจตามดูแล้ว จะวิเศษขนาดไหน ก็วิเศษตามสมมุติเท่านั้นเอง ความจริงมันไม่ได้วิเศษอะไร เราไปให้ความสำคัญกับมันเอง

 

ถาม  ถ้าเกิดต้องพูดเท็จเพื่อความสบายใจของผู้อื่น ถือว่าผิดหรือไม่

 

ตอบ ทำไมชอบคิดถึงผู้อื่น ทำไมไม่คิดถึงตัวเราบ้าง

 

ถาม ถ้าผู้อื่นเป็นบิดามารดา พูดเพื่อให้ท่านสบายใจ

 

ตอบ ไม่พูดก็ได้

 

ถาม ถ้าเราไม่สบายเป็นโรคร้าย แล้วท่านถามว่าเป็นอะไร ถ้าเกิดตอบไปท่านก็จะไม่สบายใจ

 

ตอบ ไม่อยากจะส่งเสริมการพูดปด แต่การใช้กุศโลบายพูดก็มีอยู่ คนที่จะสามารถแยกแยะ การพูดปดจากกุศโลบายได้นั้นต่างหากที่เป็นปัญหา ถ้านิ่งเฉยได้ก็จะดี หรือเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่น ถ้าคิดว่าเป็นกุศโลบายก็พูดไป โทษตกอยู่กับตัวเรา ถ้าพูดปดเรื่อยๆก็จะติดเป็นนิสัยไป จะอ้างเป็นกุศโลบายไปเรื่อยๆ ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆไป

 

ถาม  ช่วงที่เกิดเวทนา เราไม่ไปใส่ใจ ให้รู้ว่ามันเจ็บ ก็ปล่อยให้มันเจ็บไป ใช้วิธีนี้ได้เหมือนกันใช่ไหมคะ แล้วก็พุทโธไปแทน เพราะจะได้ไม่อยู่ว่างๆ

 

ตอบ  อย่าปล่อยให้จิตอยู่เฉยๆ เพราะจะอดคิดอยากให้หายไม่ได้ ต้องมีอะไรให้มันทำ ให้มันเพลิน ให้ลืมเรื่องความเจ็บของร่างกาย ถ้าพุทธโธๆไปเรื่อยๆก็เป็นอุบายของสมาธิ เป็นการดึงใจไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของความอยากให้ความเจ็บหายไป  ถ้าความอยากหายไปจิตก็จะสงบ ความทุกข์ก็หายไป บางทีหายทั้งสองส่วนเลย ความทุกข์ทางใจก็หายไป ความทุกข์ทางร่างกายก็หายไปด้วย จิตสงบตัวลง ปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางเวทนา เป็นการปล่อยวางแบบสมาธิ พอคราวหน้าเจอความเจ็บก็จะเป็นแบบเดิมอีก คืออยากให้ความเจ็บหายไป ถ้าปล่อยวางแบบปัญญา รู้ว่ายังไงๆก็ต้องเจอมันอยู่เรื่อยๆ ก็ชอบมันเลย ยินดีต้อนรับ มาเลย จะเจ็บก็เจ็บไป ใจเป็นเพียงผู้รับรู้ ก็รู้ไป เหมือนกับทำงานโรงแรม ใครจะมาพัก จะชอบหรือไม่ชอบ ก็ให้เขาเข้าพัก มีหน้าที่รับแขกเข้าพัก ก็ทำไป เวทนาก็เหมือนกัน จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา เวลาเกิดขึ้นก็รับรู้ตามความจริง เจ็บก็เจ็บ ไม่ต้องไปกลัว ไม่ต้องไปอยากให้หาย ไม่ต้องพุทโธ เพราะปล่อยวางด้วยปัญญา เห็นว่าเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ จะห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดก็ยินดีให้เกิด จะไม่วุ่นวายใจ ถ้าอย่างนี้ต่อไปจะเจอความเจ็บกี่ครั้งก็ไม่หวั่นไหว เป็นการใช้ปัญญา ให้ปล่อยวางเวทนา

 

        ถ้าใช้วิธีพุทโธๆ เพื่อลืมเวทนาที่ปรากฏอยู่ ก็เป็นการเบี่ยงเบนจิต เป็นการหลอกล่อให้จิตเข้าสู่ความสงบ เป็นการปล่อยด้วยสมาธิ ก็จะต้องทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะลึกๆใจยังรังเกียจเวทนาอยู่ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาว่า ทุกขเวทนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเหมือนเงาตามตัว ถ้าไม่รังเกียจ ก็จะไม่วุ่นวายไปกับเขา จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เวลาใด ก็จะไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่ต้องพุทโธ ปล่อยให้เป็นไป เหมือนยอมรับดินฟ้าอากาศ ฝนตกก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หน้าหนาวก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หน้าร้อนก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่รังเกียจ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา อย่างนี้เรียกว่าปัญญา อยู่กับเวทนาชนิดต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา ก็จะไม่กระทบกับจิตใจ จิตใจจะเป็นปกติตลอดเวลา

 

ถาม วางจิตอยู่ตรงกลาง

 

ตอบ ใช่ ไม่ยินดียินร้าย ไม่รังเกียจ เวลามีสุขเวทนา ก็ไม่ได้อยากให้สุขไปนานๆ เวลามีทุกขเวทนาก็ไม่ได้อยากจะให้หายไปเร็วๆ อย่างที่กำลังเป็นกันอยู่ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา จะอยู่นานก็อยู่ไป จะอยู่สั้นก็อยู่ไป ได้ทั้งนั้น ถ้ามีปัญญาก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้รังเกียจไม่ได้ยินดี ถ้ายอมรับแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ยอมรับก็จะเป็นปัญหาตลอดเวลา ที่เราฝึกปฏิบัติกัน ก็เพื่อให้จิตพอใจกับความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอะไร ในรูปแบบไหน ก็พอใจทั้งนั้น นั่นล่ะคือเป้าหมายที่แท้จริง

 

ถาม  คุณพ่อของเพื่อนเพิ่งเสียไป คุณแม่ทำใจไม่ได้ ไม่รู้จะช่วยอย่างไร

 

ตอบ บางอย่างเราก็ช่วยเขาไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำของเขาเอง ถูกความมืดบอด ความหลงครอบงำจิตใจ ทำให้มองไม่เห็นความจริงของชีวิต ว่ามีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา จิตไม่อยู่ในปัจจุบัน ไม่เริ่มต้นชีวิตใหม่ ยังไขว่คว้าอดีตที่หอมหวานอยู่ อยากจะให้เป็นอย่างนั้นอีก ถ้าตัดอดีตได้ ทำใจให้อยู่ในปัจจุบันได้ ก็จะดำเนินชีวิตไปตามปกติอย่างที่เคยได้ อย่าไปคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว เราอยากจะช่วยเขา แต่เขาไม่คิดหาความช่วยเหลือจากผู้อื่น มันก็ยาก ถ้าเขาอยากจะหาความช่วยเหลือ มันก็ง่าย ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไรให้เขาอยากจะหาความช่วยเหลือ มีนิทานในสมัยพุทธกาล ที่มีแม่ที่สูญเสียลูกทารกไป ก็อยากจะให้ลูกฟื้น ไม่ยอมเอาไปเผา ไม่ยอมเอาไปฝัง เก็บไว้ในบ้าน ร้องห่มร้องไห้ เพื่อนบ้านก็สงสาร ก็เลยแนะนำว่ามีคนที่จะช่วยเขาได้ ก็คือพระพุทธเจ้า เพื่อนบ้านมีอุบายหลอกให้เขาหาความช่วยเหลือ เขาก็ไปหาพระพุทธเจ้า เพราะคิดว่าพระพุทธเจ้าจะทำให้ลูกเขาฟื้น แต่ความจริงจะทรงช่วยให้เขาหายทุกข์ ทรงตรัสว่าถ้าอยากจะให้ลูกฟื้น ก็ไปหาเมล็ดงามาสักกำมือหนึ่ง แต่ต้องมาจากบ้านที่ไม่มีคนตาย ไม่มีญาติพี่น้องตาย ไม่มีปู่ย่าตายายตาย ไม่มีพี่ป้าน้าอาตาย ไม่มีลูกหลานตาย ถึงจะใช้ได้ เอามาทำพิธีปลุกให้ลูกฟื้นจากความตาย

 

        เขาก็ดีใจมีความหวัง รีบวิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน ไปเคาะประตูบ้าน ถามว่ามีเมล็ดงาไหม ทุกบ้านก็ตอบว่ามี แต่ทุกบ้านก็มีคนแก่คนเจ็บคนตายเหมือนกัน เคาะทุกประตูบ้านเลย ก็ไม่มีบ้านไหนที่ไม่มีคนตาย ก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาว่า ไม่เฉพาะแต่ลูกเขาเท่านั้นที่ตาย คนตายมีทุกแห่งหน รวมทั้งตัวเขาเองด้วย สักวันหนึ่งก็ต้องตาย ทุกคนต้องตายหมด ถ้าตายแล้วก็ไม่มีการฟื้นขึ้นมา ตายแล้วก็ต้องตายเลย ก็เลยได้สัจธรรมความจริง ได้ปัญญา ก็หายเศร้าโศกเสียใจ ยอมรับความจริง ยอมเอาลูกไปฝังไปเผา เรื่องก็จบ ปัญหาอยู่ตรงที่คนที่เดือดร้อน เขาต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า เห็นเขาสงสารเขา ถ้าเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องปลงอนิจจัง ทำใจให้เป็นอุเบกขา ว่าเป็นกรรมของเขา ถ้าเขามีปัญญามีธรรมะ ก็จะไม่เป็นแบบนี้ ก็จะผ่านไปได้อย่างสบาย ไม่รู้สึกอะไรเลย ตายก็เอาไปเผา ชีวิตก็ดำเนินต่อไป

 

ถาม เขาก็พยายาม แต่ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้นเลย

 

ตอบ เป็นชีวิตของเขา อย่าไปยุ่งกับเขา จะไปสร้างความทุกข์ให้มากขึ้นไปอีก บางทีความปรารถนาดีของเรา กลับเป็นโทษกับเขาก็ได้ เวลาจะช่วยใครต้องดูกาลเทศะ ดูความหนักเบา ดูความสามารถว่าช่วยเขาได้หรือไม่ ถ้าช่วยไม่ได้ก็เฉยๆดีกว่า ปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา แทนที่จะช่วยให้ดีขึ้น กลับทำให้เลวลงไปก็ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เขา ปัญหาอยู่ที่เรา อยู่ที่เราทำใจไม่ได้ เห็นคนอื่นทุกข์ ก็ทุกข์ตามไปด้วย มองในแง่หนึ่งก็ดี เพราะมีความเมตตาสงสาร แต่มองอีกแง่หนึ่งก็ไม่ดี เพราะเมตตาสงสารเกินขอบเขต จนเราทุกข์ไปด้วย เมตตาสงสารแล้วไม่ทุกข์ถึงจะถูก ถ้าช่วยได้ก็ช่วย แต่จะไม่ทุกข์ถ้าช่วยไม่ได้ ต้องดูแลทั้ง ๒ ส่วน ดูแลคนอื่นและดูแลใจของเราด้วย บางทีเราห่วงคนอื่น จนลืมดูแลใจเรา ใจเราจึงทุกข์มากกว่าคนที่เราห่วง

 

ถาม  มีกรณีที่คล้ายๆอย่างนี้ สามีเสียแล้วทำใจไม่ได้ แต่อีก ๓ เดือนก็แต่งงานใหม่

 

ตอบ แผลใจก็เหมือนแผลกาย เวลาไปสะกิดมันเข้า มันก็เจ็บ แผลใจก็เหมือนกัน เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาใหม่ๆ ก็ทำใจไม่ได้ พอเวลาผ่านไปก็หายไปตามกาลเวลา ถ้ามีธรรมโอสถรักษาแผลใจก็จะหายเร็ว แทนที่จะ ๓ เดือน ๓ วันก็แต่งงานใหม่ได้

 

ถาม  เขาคงเสียใจ แต่จริงๆแล้วเขาอยากมีเพื่อนมากกว่า

 

ตอบ  เพราะเหงา พอมีคนอื่นมาแทนที่ก็หายเหงา ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ที่มีคู่ครองกัน ก็เพราะอยู่คนเดียวไม่ได้ พอคนนี้ตายไป ถ้าหาใหม่ได้ ก็ลืมคนเก่าไปแล้วเรื่องความเจ็บปวดแล้ เป็ เป็น