กัณฑ์ที่ ๓๗๙       ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

 

ต้องเลือกเอาธรรมะ

 

 

 

ถ้าเราเห็นธรรมะดีกว่าสิ่งอื่นๆในโลกนี้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกก็ต้องเลือกเอาธรรมะก่อน ระหว่างการเป็นพระมหาจักรพรรดิกับเป็นพระศาสดา พระพุทธเจ้าก็ทรงเลือกเป็นพระศาสดา ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าเลือกเป็นพระมหาจักรพรรดิ ก็ต้องอยู่ในวัง ก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ แต่จะไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การตัดสินใจของเราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เหมือนกับเดินไปถึงทางแยก จะตรงไปเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาดี ถ้าเลือกถูกทางก็จะไปถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเลือกไม่ถูกทางก็จะวนไปวนมา วนอยู่ในวัฏฏะสงสาร วนอยู่ใน ๓ ภพ วนอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ อย่างที่พวกเรากำลังวนกันอยู่ จึงควรให้น้ำหนักกับธรรมะมากกว่าสิ่งอื่น ดังที่ทรงตรัสสอนไว้ว่า ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ แม้แต่ชีวิตก็ทรงตรัสว่าไม่สำคัญเท่ากับธรรมะ ชีวิตนี่เหมือนหัวโขน หมดอันนี้ก็ได้อันใหม่ได้อยู่เรื่อยๆ แต่ธรรมะได้มายากมาก ไม่ง่ายเหมือนกับได้ชีวิต เพราะชีวิตเกิดได้อยู่เรื่อยๆ ตายปั๊บก็ได้เกิดอีกแล้ว จึงไม่ต้องเสียดายชีวิต เพราะธรรมะได้มายากมาก ไม่มีธรรมะชีวิตก็ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ ถ้ามีธรรมะแล้วชีวิตก็มีความสุข เหตุของความสุขก็คือธรรมะนี่เอง เหตุของความทุกข์ก็คือการขาดธรรมะ จึงควรให้ความสำคัญกับธรรมะมากกว่าอย่างอื่น เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างธรรมะกับอะไรก็ตาม ก็ต้องเลือกธรรมะก่อน

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆไว้ดังนี้ สิ่งแรกที่ทรงให้สละคือสมบัติข้าวของเงินทอง รองลงมาก็อวัยวะ รองลงมาก็ชีวิต เพื่อรักษาธรรมะ ที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ ธรรมะก็อย่างที่พวกเราทำกันอยู่นี้แหละ ทาน ศีล ภาวนา เวลาทำบุญให้ทานเราก็สละทรัพย์เพื่อให้ได้ธรรมะมา เวลารักษาศีลเราจะไม่พูดปด ไม่หวังร่ำรวยจากการทำมาหากินที่ทุจริต เราก็เสียทรัพย์ไปส่วนหนึ่ง เสียประโยชน์ไปส่วนหนึ่ง แต่เราได้ศีลธรรมมา เราไม่ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ไปหาที่วิเวกสงบสงัด ทำจิตใจให้สงบ เราก็ได้ธรรมะ คือสมาธิความสงบใจ เราเจริญปัญญาเราก็จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ มีคุณค่าทั้งนั้น ถ้าเราพิจารณาดูแล้ว มีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เราเสียไป การเสียสละก็คือให้สละประโยชน์สุขส่วนย่อย เพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่กว่า ในสายตาของคนที่มีความหลงอย่างพวกเรานี้ จะรู้สึกว่าทรัพย์มีคุณค่ามาก แต่ในสายตาของนักปราชญ์เช่นพระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่าไม่มีคุณค่าเลยกับจิตใจ ท่านถึงสละราชสมบัติออกบวชได้ ทรัพย์ไม่ได้ทำให้จิตใจหลุดพ้นได้ แต่เป็นเหมือนบ่วง เป็นเหมือนกับตะขอ ที่เกี่ยวให้จิตใจต้องเวียนว่ายอยู่ในภพในชาติต่างๆ มีความต่างกันมากคุณกับโทษ ถ้าไม่พิจารณาจะมองไม่เห็น เพราะความหลงจะหลอกให้เห็นคุณค่าของทรัพย์มากกว่าอย่างอื่น

 

แต่ธรรมะนี่เห็นคุณค่ายาก ถ้าไม่ได้สัมผัสกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ เช่นให้ทานนี่เราก็ได้ผล แต่เราไม่รู้ เพราะไปเล็งผลผิดที่ ไม่ได้เล็งที่ใจเรา ไปเล็งที่คนรับคนที่เราทำบุญด้วย ถ้าเล็งผลที่ใจแล้ว ไม่ว่าคนรับจะเป็นใคร ไม่สำคัญ สำคัญที่ความบริสุทธิ์ใจของเรา ความเมตตากรุณาของเรา ความเสียสละของเรา ที่จะช่วยคนนั้นให้ได้รับประโยชน์ โดยไม่สำคัญว่าจะต้องเป็นสัตว์หรือเป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำไป ถ้าอยู่ในสภาพที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ เราช่วยเหลือเขาได้ ก็ช่วยไปโดยไม่หวังผลตอบแทนจากการช่วยเหลือนี้เลย อย่างนี้แหละจะปรากฏเป็นผลขึ้นมาในใจเรา ใจจะมีความภูมิใจ มีความสุขใจ มีความอิ่มเอิบใจ มีความพอใจ แต่เรามักจะไปมองผลที่ชาติหน้าโน้น หรือผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ มันก็เลยไม่ได้เป็นการให้ทาน แต่เป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการซื้อขาย ให้เงินเขาแล้ว เขาก็ให้สิ่งที่เราต้องการมา ไม่ได้เป็นการให้ทาน จึงไม่มีความรู้สึกวิเศษวิโสปรากฏขึ้นมาในใจ แต่ถ้าให้โดยไม่รับผลตอบแทน เห็นความทุกข์ของผู้อื่นแล้ว ก็ช่วยบรรเทาทุกข์ให้เบาบางลงไป หรือทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวมเพื่อประเทศชาติ ทำไปแล้วเราก็มีความสุขแล้ว แต่เรามักจะไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำ ว่าได้ปรากฏขึ้นมาแล้วในใจของเรา เพราะใจมีกิเลสมาปิดบัง ยังอยากจะได้ผลตอบแทน อย่างน้อยก็อยากจะให้เขารู้ว่าเราได้ทำ ต้องประกาศชื่อจึงจะมีความสุข เป็นกิเลสไป ไม่ได้เป็นธรรมแล้ว เป็นความสุขแบบกิเลสที่ไม่มีน้ำหนัก

 

ไม่เหมือนกับความสุขแบบธรรมะ ที่มีความหนักแน่น เหมือนกับรับประทานอาหารหนัก ส่วนความสุขของกิเลสเหมือนกับรับประทานขนม รับประทานของเบา อิ่มได้เดี๋ยวเดียวก็จะหิวอีกแล้ว อยากจะกินอีก แต่ความสุขความอิ่มของธรรมะนี้ พออิ่มแล้วจะไม่อยากจะได้อะไรเลย มันมีความสบายใจ มีความสุขใจ ทุกครั้งที่คิดถึงการเสียสละแล้ว จะมีความสบายใจ มีความภูมิใจเสมอ เพราะฉะนั้นการทำอะไรขอให้ดูใจเป็นหลัก ผลมันเกิดขึ้นทันทีในใจ แล้วก็ส่งผลต่อไปในอนาคต ในภพชาติต่างๆ ปฏิบัติไปแล้วจิตมีความสุข กิเลสเบาบางลงไป ทุกข์เบาบางลงไป ภพชาติก็เบาบางลงไป ภพชาติที่เหลืออยู่ก็เป็นภพชาติที่ดี เป็นสุคติเป็นส่วนใหญ่ เพราะทำแต่เหตุที่ดีไว้ เป็นผลพลอยได้มากกว่า ที่ต่อจากผลในปัจจุบัน คือใจที่มีความสงบ มีความเย็นสบาย มีความเบา มีความพอใจ ไม่หิวไม่อยากไม่กระหาย กับเรื่องลาภยศสรรเสริญสุข ใครจะสรรเสริญยกย่องหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ใครจะตำหนิติเตียนดุด่าว่ากล่าวอย่างไรก็ไม่สนใจ ไม่สำคัญ แต่รับฟังเสมอ ไม่ว่าจะสรรเสริญหรือนินทาตำหนิติเตียน ฟังเพื่อก่อ ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์ดีใจหรือไม่พอใจ ฟังหาเหตุหาผล เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา เพราะบางทีเรามองไม่เห็นโทษของเรา บางทีต้องอาศัยคนอื่น ที่มีธรรมะสูงกว่าช่วยชี้บอก เช่นเวลาเข้าหาครูบาอาจารย์ ท่านก็จะชี้บอกโทษของเราเป็นส่วนใหญ่ ท่านไม่ค่อยพูดเรื่องคุณของเราเท่าไหร่ เพราะมันมีน้อย แล้วก็ไม่มีประโยชน์  พูดถึงเรื่องโทษของเรา เราจะได้แก้ไข เป็นคุณกับเรา

 

เวลาไปหานักปราชญ์จึงอย่าไปหวังให้ท่านยกย่องสรรเสริญ เตรียมรับคำดุด่าไว้ ถ้าวันไหนท่านไม่ด่า แสดงว่าท่านไม่โปรดเรา ท่านไม่เมตตา ถ้าวันไหนท่านด่า แสดงว่าท่านเป็นห่วงเป็นใยเรา เหมือนกับพ่อแม่ที่คอยสอนลูก อยากจะให้ลูกได้ดิบได้ดี เห็นลูกประพฤติตนเองไม่เหมาะสมต่างๆ ก็คอยดุด่าว่ากล่าวตักเตือน แต่ลูกก็มีกิเลส พอโดนว่ากล่าวตักเตือนหน่อย แทนที่จะฟังด้วยเหตุด้วยผล ฟังเพื่อก่อก็กลับฟังเพื่อทำลาย เกิดอารมณ์ โกรธเกลียดชังคุณพ่อคุณแม่ขึ้นมา บางทีก็โต้เถียงกันอย่างรุนแรง จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ การฟังธรรมะนั้น ฟังเพื่อจะได้มีหลัก ต่อไปเวลาใครพูดอะไรว่าอะไร จะฟังด้วยเหตุด้วยผลจริงๆ ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์ ไม่ต้องการคำสรรเสริญที่เป็นเหมือนขนมหวาน ไม่เหมือนของขมๆที่เป็นเหมือนยา กินแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง ฟังการว่ากล่าวตักเตือนแล้วได้ประโยชน์ เหมือนกับเอากระจกมาส่องหน้าให้เห็นว่าหน้าของเราเป็นอย่างไร มีตำหนิตรงไหน เปื้อนตรงไหน ผมหวีเรียบร้อยหรือยัง ล้างหน้าล้างตาสะอาดหรือยัง ถ้าไม่มีกระจกให้ดูบางทีก็ไม่รู้ คนที่บอกความผิดก็เป็นเหมือนกับกระจกส่องหน้าเรา จึงควรดีใจ เพราะเป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา เขาชี้ความผิดของเรานี้ ก็เท่ากับชี้ขุมทรัพย์ให้เราแล้ว ขุดลงไปตรงนี้จะได้ทรัพย์อันวิเศษขึ้นมา ยึดติดกับสิ่งต่างๆไม่ดี รีบชำระเสีย โลภโมโทสันไม่ดี รีบชำระเสีย อย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ให้มีเหตุมีผล มีสติคอยควบคุมใจไว้

 

อย่าปล่อยให้ดีใจ ถ้าดีใจแล้วเดี๋ยวจะต้องเสียใจ ความดีใจก็เป็นความหลงอย่างหนึ่ง เช่นเวลาคนสรรเสริญแล้วดีใจอย่างนี้ พอคนไม่สรรเสริญก็จะเสียใจ ถ้าเขาดุด่าว่ากล่าวเรา ก็จะเดือดร้อนใจขึ้นมา ถ้ามีเหตุมีผลมีสติแล้ว ใจจะตั้งอยู่ในอุเบกขา จะไม่มีอารมณ์กับอะไร เพียงแต่รับรู้ สักแต่ว่ารู้ แล้วก็พิจารณาด้วยปัญญา ถ้าสิ่งที่พูดนั้นถูกต้อง ก็แสดงว่าเขาเป็นคนตาดี ถึงแม้จะเป็นการตำหนิ ก็ตำหนิด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริง เวลาสรรเสริญเขา ก็สรรเสริญด้วยความจริงเหมือนกัน แต่คนที่พูดไม่ตรงกับความจริง ถึงแม้จะสรรเสริญเยินยอ ก็รู้ว่าเป็นการโกหก เป็นการหลอกให้เราดีใจ ถ้าตำหนิเราในสิ่งที่ไม่จริง ก็แสดงว่าเขาตาไม่ดีหรือมีอารมณ์ไม่ดี ชอบแต่จะตำหนิผู้อื่น ชอบที่จะทำให้ผู้อื่นเสียอกเสียใจ เดือดเนื้อร้อนใจ แต่ทำได้กับคนที่ยังติดอยู่กับการสรรเสริญนินทาอยู่เท่านั้น คนที่ไม่ติดอยู่กับการสรรเสริญนินทานี้ จะไม่ถูกกระทบทั้ง ๒ อย่าง ไม่ว่าจะสรรเสริญหรือนินทา ก็เท่าเดิม มีอยู่ ๑๐๐ ก็มีอยู่ ๑๐๐ เท่าเดิม เขาไม่สามารถหัก ๑๐๐ ให้เหลือ ๙๕ ได้ หรือเพิ่มให้เป็น ๑๐๕ ขึ้นมาได้จากคำพูดของเขา เราจะมีเพิ่มมากขึ้นหรือมีน้อยลงไม่ได้อยู่ที่การกระทำของผู้อื่น แต่อยู่ที่การกระทำของเราทำดีมากขึ้นก็ได้เกิน ๑๐๐  ทำดีน้อยลงก็ลดลงมา มันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การกระทำของเรา เพียงแต่ว่าเราต้องอาศัยผู้ที่ฉลาดกว่าเรา คอยช่วยบอกทางให้กับเรา

 

การไปอยู่กับครูบาอาจารย์ก็จะได้ประโยชน์อย่างนี้ เราทำเองตามลำพังก็ไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จะหยุดอยู่ตรงนั้น เพราะคิดว่าเราดีพอแล้ว แต่ครูบาอาจารย์ท่านดีกว่า ท่านรู้ว่ายังดีไม่พอ ดังสุภาษิตที่ว่า คนที่เห็นว่าตนยังโง่อยู่ คนนั้นแหละจะเป็นคนที่ฉลาดได้ แต่คนที่คิดว่าตนฉลาดแล้ว คนนั้นแหละคือคนโง่ที่แท้จริง เพราะเมื่อคิดว่าตนฉลาดแล้ว ก็ไม่คิดที่จะแสวงหาความรู้ความฉลาดเพิ่มเติม ก็จะโง่ไปเรื่อยๆ แต่คนที่คิดว่าตนเองยังโง่อยู่ ยังต้องเข้าหาผู้รู้อยู่ ต้องอาศัยผู้อื่นคอยชี้บอกอยู่ ก็จะมีโอกาสที่จะฉลาดได้ แต่จะมีอยู่จุดหนึ่งที่จะรู้แก่ใจว่าพอตัวแล้ว พอดับกิเลสได้หมดแล้ว ก็รู้ว่าพอแล้ว ถึงแม้จะไม่รู้วิชาการต่างๆ วิชาวิศวะฯวิทยาศาสตร์ชีวะฯการบัญชีหรือวิชาอะไรก็ตาม บวกลบคูณหารไม่เป็นอ่านหนังสือ ก.ไก่ ข.ไข่ไม่ออก ก็ไม่สำคัญ ขอให้รู้ทันกิเลส ปราบกิเลสได้ก็พอแล้ว ความรู้นี้เป็นสันทิฏฐิโก รู้อยู่ในใจ ไม่หลงกับอะไรแล้ว ไม่ยินดียินร้ายกับอะไรแล้ว คนสรรเสริญก็ไม่ได้ดีใจ คนนินทาก็ไม่ได้เสียใจ ได้อะไรมาก็ไม่ได้ดีใจ เสียอะไรไปก็ไม่ได้เสียใจ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้ตกใจ แก่ก็ไม่เดือดร้อน ตายก็ไม่เดือดร้อน นี่แหละคือการรู้ทันกิเลส รู้แบบนี้ ถ้ารู้แบบนี้แล้ว มันรู้อยู่แก่ใจ ความรู้แบบนี้ไม่ต้องให้คนมาบอก ว่าถึงที่หรือยัง อิ่มตัวหรือยัง เหมือนกับกินข้าว ไม่ต้องไปถามคนอื่นว่าอิ่มหรือยัง มันรู้อยู่แก่ใจ กายอิ่มเมื่อไหร่ก็รู้เอง ใจไม่วุ่นวายเดือดร้อนกับอะไร ก็รู้ของมันเอง ไม่ต้องไปถามใคร

 

ถ้ารู้แบบนี้แสดงว่าฉลาดแล้ว มีความรู้พอเพียงแล้ว ไม่กังวลกับความรู้อย่างอื่น ไม่อับอายขายหน้า ถ้าเขียนหนังสือไม่เป็น อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ พระอาจารย์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ยังมีลูกศิษย์เป็นชาวต่างประเทศเยอะแยะเลย ถามว่าท่านสอนอย่างไร ท่านก็ตอบว่าใช้ภาษาธรรมะ พยักหน้าไปมา ชี้โน้นชี้นี่ สัตว์มันอยู่ด้วยกัน มันก็ไม่ได้พูดกัน ก็ยังอยู่ด้วยกันได้ สัตว์บางชนิดก็พูดได้บ้าง เช่นนก แต่ก็ไม่ได้เป็นศัพท์แสงเหมือนกับที่เราพูดกัน พอสื่อกันได้ ด้วยสายตา ด้วยกิริยาอาการต่างๆ กับเด็กเล็กๆพูดกันไม่รู้เรื่อง เราก็ทำให้กลัวได้ พอยกมือจะตีก็รู้แล้ว จึงอย่าไปหลงกับวิชาต่างๆ อย่าไปคิดว่าต้องเรียนรู้ทางโลก จบปริญญาตรีโทเอกก่อน แล้วจะมีปัญญามาปฏิบัติธรรม อาจกลับเป็นปัญญาขวางธรรมเสียอีก ทำให้มีทิฐิถือตน คิดว่าตนฉลาด ครูบาอาจารย์สั่งสอนก็จะต่อต้านคัดค้าน เถียงอยู่ภายในใจ ไม่ยอมรับ เพราะความรู้ของทางโลกกับทางธรรมนี้ มันคนละเรื่องกัน ความรู้ทางโลกรู้มากเท่าไหร่กิเลสยิ่งกลับมีมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งหลงตนเองมากขึ้นเท่านั้น แต่ความรู้ทางธรรมนี้ ยิ่งมีมากเท่าไหร่ กิเลสยิ่งเล็กลงยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ อัตตาตัวตนจะน้อยลงไปน้อยลงไป จนเหลือศูนย์ เป็นสุญตาไป ปราศจากตัวตน ทิฐิมานะ การถือตน ไม่ถือว่าตนสูงตนวิเศษอย่างไร

 

ไม่เหมือนคนที่มีความรู้ทางโลกมาก จะคิดว่าตนวิเศษ เหมือนกับวิศวกรกลุ่มหนึ่ง ที่ไปทดสอบภูมิปัญญาของพระป่ารูปหนึ่ง ถามท่านว่า หลวงพ่อเครื่องบินบินได้อย่างไร ท่านตอบว่าจิต จิตทำให้มันบินได้ ถ้าไม่มีจิตแล้วมันจะบินได้อย่างไร คนเราถ้าไม่มีจิตก็เป็นซากศพ เครื่องบินจะบินขึ้นได้ ก็ต้องมีคนที่มีชีวิตคิดสร้างมันขึ้นมา ผลิตมันขึ้นมา แล้วก็ขับมัน ต้องมีจิต จิตถึงเป็นใหญ่  มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนมยา มโนเศรษฐา ธรรมทั้งปวงมีจิตเป็นเหตุ เป็นประธาน ถ้าไม่มีจิตก็จะไม่มีสิ่งต่างๆ ศาลาหลังนี้ก็เกิดมาจากจิตใจ ร่างกายนี้ก็เกิดมาจากจิตใจ ยกเว้นสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ไม่มีจิตเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นต้นไม้ภูเขาแดดลมต่างๆ จิตเป็นต้นเหตุที่ให้ความสุขความทุกข์กับเรา เพราะในจิตของแต่ละคนนี้มีอริยสัจ ๔ ทำงานอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุและผล ๒ คู่ ทุกข์กับสมุทัยก็เป็นคู่หนึ่ง มรรคกับนิโรธก็อีกคู่หนึ่ง อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะมีกำลังมากกว่า ถ้าสมุทัยมีกำลังมากกว่า กิเลสตัณหามีมากกว่าธรรมะ ทุกข์ก็จะมีมากกว่าสุข ถ้าธรรมะมีมากกว่า คือมีมรรคมากกว่าสมุทัย มากกว่าตัณหา มีทานศีลภาวนามากกว่า ความทุกข์ก็จะน้อยกว่าความสุข ถ้าไม่มีสมุทัยเลย ก็จะไม่มีความทุกข์เลย จึงไม่ต้องไปหาอริยสัจ ๔ ที่ไหน มันมีอยู่ในใจเราตลอดเวลา จะมองเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง ส่วนใหญ่จะไม่เห็นกัน เพราะไม่ได้ศึกษา หรือศึกษาเพียงตัวอักษรที่อยู่ในหนังสือ ทุกข์สมุทัยนิโรธ ทุกข์เป็นอย่างนั้น สมุทัยเป็นอย่างนั้น แต่เวลามันทำงานอยู่ตลอดเวลานี้ กลับไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่ามันกำลังทำงานอยู่

 

ถ้าภาวนาแล้วสติปัญญาจะพุ่งเข้าไปตรงจุดนั้น ไปดูการทำงานของอริยสัจ ๔ เหมือนไปดูมวยชิงแชมป์โลก ระหว่างธรรมะกับกิเลส ที่ต่อสู้อยู่ในใจ ใจเป็นเหมือนเวที แต่ส่วนใหญ่มักจะไปเชียร์กิเลสกัน จึงมีทุกข์มาก พอกิเลสแย็บออกมาปั๊บ ก็รีบตอบรับทันที ไปเที่ยวไหม ไปเลย ไปวัดไหม ยังไม่ว่าง นี่แสดงว่ากำลังเชียร์กิเลส กิเลสจึงคว้าแชมป์โลกไปครอง อวิชชานี่แหละคือแชมป์โลก ถ้าธรรมเป็นแชมป์ก็จะได้มรรคผลนิพพาน ที่เกิดจากทานศีลภาวนา เกิดจากธรรมะ ไม่ได้เกิดจากอย่างอื่น ไม่ได้เกิดจากพระพุทธเจ้า ไม่ได้เกิดจากครูบาอาจารย์ เกิดจากมรรคที่เราจะต้องผลิตขึ้นมาเอง ครูบาอาจารย์เพียงสอนวิธีผลิต ว่าทำอย่างไรให้มีมรรคขึ้นมา เช่นให้มีความขวนขวาย ให้ใฝ่รู้สนใจศึกษา ฟังเทศน์ฟังธรรม เข้าหาผู้รู้ หาครูบาอาจารย์ หาพระสงฆ์องค์เจ้า ที่รู้จริงเห็นจริงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วน้อมเอาคำสอนมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่สักแต่ว่าฟัง เข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวาไป ไม่มีหลงเหลืออยู่ในใจไว้เป็นเชื้อเพื่อนำไปปฏิบัติเลย ถ้าฟังอย่างนี้ก็ยังไม่เกิดประโยชน์ ถ้าฟัง ๑๐๐ แล้วเอาไปปฏิบัติได้ทั้ง ๑๐๐ จึงจะเกิดประโยชน์ อย่างในสมัยพุทธกาลที่บรรลุกันตอนที่กำลังฟังเทศน์เลย สดๆร้อนๆ เรียกว่าฟังทั้ง ๑๐๐ เก็บไว้ทั้ง ๑๐๐ เอาไปปฏิบัติทั้ง ๑๐๐ ในปัจจุบันทันทีเลย เอาไปพิจารณาในจิตในใจ เห็นอริยสัจ ๔ ที่กำลังปรากฏอยู่ในจิตในใจ เห็นสมุทัย เห็นอวิชชาเห็นโมหะ ด้วยสติปัญญา ที่ทะลุทะลวงเข้าไปทำลายในขณะที่ฟังเลย คือเห็นด้วยไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ในทุกสัดส่วนของสภาวธรรมทั้งหลาย อวิชชาโมหะก็จะไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป

 

อวิชชาโมหะเป็นเหมือนความมืด พอแสงสว่างของพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาตอนเช้า ความมืดก็อยู่ไม่ได้ แสงอาทิตย์มีอานุภาพมากกว่าความมืด พอพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาปั๊บ ความมืดก็หายไป สว่างจ้า เห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สติปัญญาหรือมรรคของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เราปฏิบัติกันนี้ ก็เป็นเหมือนแสงสว่าง ที่จะไปทำลายความมืดของโมหะอวิชชา จึงไม่เป็นเรื่องแปลกเลย ที่ฟังเทศน์แล้วสามารถบรรลุธรรมได้ขณะที่ฟังเลย เพราะฟังด้วยสติด้วยปัญญาจริงๆ ฟังทุกคำพูด ฟังหมดเลย ใจไม่ได้ไปที่อื่นเลย ไม่ได้ไปที่อดีต ไม่ได้ไปที่อนาคต ไม่ได้ไปที่นั่นที่นี่ อยู่ที่ตรงนี้อยู่ที่เสียงธรรมที่กำลังฟังตลอดเวลา แล้วก็พิจารณาในขณะนั้นเลย ถ้าธรรมแสดงถึงจุดที่ต้องการแสงสว่าง ก็สามารถดึงแสงสว่างเข้าไปในใจได้เลย การแสดงธรรมท่านจะแสดงจากต่ำไปสูง เพราะคนฟังมีหลายระดับด้วยกัน ต้องไล่จากอนุบาลขึ้นไป ไล่จากทานขึ้นไปสู่ศีล สู่ภาวนา สู่สมาธิ สู่ปัญญา สู่วิมุตติการหลุดพ้น คนฟังก็อาศัยการแสดงธรรมพาไป เดินตามไปเลย เหมือนหลงอยู่ในป่าตอนกลางคืน พอมีคนถือไฟเดินผ่านมา ก็เดินตามเขาไปเลย ถ้าเดินไปในความมืดก็จะมองไม่เห็นทาง  

 

การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงต้องฟังแบบนี้ อาศัยแสงสว่างของครูบาอาจารย์ของผู้แสดงนำทางไป คนฟังก็เดินตามไป อย่าให้ห่าง ถ้าตามไม่ทันก็ต้องหยุด ต้องรอฟังเทศน์รอบหน้า เช่นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนธรรมครั้งแรกให้กับปัญจวัคคีย์ ก็มีองค์เดียวที่สามารถตามไปได้ แต่ตามไปได้แค่ขั้นแรกเท่านั้นเอง คือขั้นโสดาบัน ยังไม่ถึงขั้นอรหันต์ พอทรงแสดงธรรมอีกครั้ง ๒ ครั้ง ก็ตามทันทั้ง ๕ รูป ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมๆกันเลย หลังจากที่ได้ทรงแสดงพระอนัตตลักขณสูตร ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ฟังตามทัน จึงหลุดพ้นจากความมืด เข้าสู่แสงสว่างเลย หลุดพ้นจากการหลงอยู่ในป่าแห่งสังสารวัฏ สว่างอยู่ตลอดเวลา จึงนำเอาไปสอนผู้อื่นต่อ ภายในเวลา ๗ เดือน มีพระอรหันตสาวกปรากฏขึ้นมาอย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูป ๗ เดือนหลังจากที่ได้ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในวันเพ็ญเดือน ๘ พอถึงวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ก็ ๗ เดือน มีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน พระอรหันต์ที่ได้บรรลุแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงบัญชาให้แยกให้กระจายไปคนละทิศคนละทาง ไม่ให้ไปด้วยกัน เพื่อเผยแผ่ธรรมะให้ได้อย่างกว้างขวาง ไปสั่งสอนคนนั้นคนนี้ เขาก็ฟัง เขาก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมากันอย่างรวดเร็ว ภายใน ๗ เดือนสามารถผลิตพระอรหันต์ขึ้นมาอย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูป เพราะมีคนสอนมีคนนำทาง คนฟังก็ให้ความสำคัญต่อธรรมะมากกว่าอย่างอื่น สละหมดทุกอย่าง

 

พวกที่บรรลุนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักบวชทั้งนั้น ในขั้นแรกได้สละทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของออกบวช รักษาศีลบำเพ็ญสมาธิอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาขาดก็คือปัญญาในอริยสัจ ๔ ไม่มีใครรู้ว่าทำงานอยู่ในจิตในใจของสัตว์โลกอยู่ตลอดเวลา มีพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้เห็นเป็นองค์แรก นี่แหละคือปัญญาสู่การตรัสรู้ ต้องผ่านพระอริยสัจ ๔ ที่เป็นเหมือนด่าน เป็นที่ผลิตปัญญาเพื่อการหลุดพ้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์พระอรหันต์ทุกองค์ต้องผ่านพระอริยสัจ ๔ ด้วยกันทุกองค์ เพราะเป็นด่านที่ปิดกั้นสัตว์โลก ไม่ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นี่ก็เลยโยงมาถึงเรื่องวันมาฆบูชา เรื่องของการให้ความสำคัญต่อธรรมะยิ่งกว่าอย่างอื่น อย่างอื่นถ้ามีความจำเป็นก็ต้องทำ ไม่ใช่ว่าไม่ให้ทำ กุฏิรั่วก็ต้องซ่อม ไม่มีกุฏิอยู่ก็ต้องสร้าง ไม่มีศาลาใช้ในการบำเพ็ญก็ต้องสร้าง แต่ให้มีขอบมีเขต มีประมาณ ทำเท่าที่จำเป็น อย่าไปหลงสร้างแบบหรูหรา เหนื่อยกับการไปเรี่ยไรหาเงินหาทองมาสร้าง สร้างเสร็จแล้วก็ต้องมาเหนื่อยกับการดูแลรักษาเก็บกวาด จนวัดวามีแต่วัตถุเต็มไปหมด แต่หามรรคผลนิพพานไม่เจอ เพราะใจไม่ได้ให้ความสำคัญกับธรรมะ ใจให้ความสำคัญกับวัตถุต่างๆ จึงขอสรุป ให้เห็นความสำคัญของธรรมะยิ่งกว่าอย่างอื่นใด ให้สละสิ่งอื่นถ้าต้องเลือกระหว่างธรรมะกับสิ่งอื่น แล้วมรรคผลนิพพานก็จะอยู่แค่เอื้อม

 

ถาม  ที่ท่านพระอาจารย์พูดถึงเรื่องของการติดในคำสรรเสริญ ก็คงเข้ากับสถานการณ์ของตัวเองว่า ทำความดีแต่ได้รับผลที่ไม่ดี ก็พิจารณาเห็นว่า เป็นเพราะตัณหาที่เรามีคาดมีหวัง พอเวลามันเกิดขึ้นนี่ ก็พยายามใช้สติที่จะวางมัน ให้เป็นอุเบกขา แต่ไม่มีความสามารถที่จะใช้ปัญญาไปฆ่ามันได้ รู้อย่างเดียวว่ามีสติรู้อยู่แล้วก็วางเฉย

 

ตอบ  ต้องคอยเตือนตนอยู่เรื่อยๆ ต่อไปจะซึมทราบเข้าไป แล้วจะเห็นว่า การหวังผลตอบแทนในรูปแบบของการสรรเสริญก็ดี หรือสิ่งของต่างๆก็ดีนั้น มันทำให้เราพะวักพะวนกังวล ไม่เป็นบุญเป็นกุศล ใจไม่สงบ ไม่เย็น ไม่มีความสุข ความภูมิใจ

 

ถาม  จริงๆก่อนหน้านี้ ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมีตัณหาความคาดหวังตรงนี้ พอท่านอาจารย์เทศน์ตรงนี้ ก็เลยร้องอ๋อ ว่าจริงๆลึกๆใจเรามันมี เพราะว่าพอมันผุดขึ้นมา ถึงจะรู้ว่ามันคาดมันหวังนั่นเอง

 

ตอบ  ถ้าไม่มีเราก็ทำเพื่อเงินเดือนเท่านั้น เขาจ้างเรามาทำงานชิ้นนี้เราก็ทำไป เราพอใจแค่เงินเดือนนี้แหละ เขาจะให้ตำแหน่งหรืออะไรอย่างอื่นเพิ่มหรือไม่ ไม่สำคัญ อย่างมาเทศน์นี่ ก็ไม่ได้หวังว่าญาติโยมจะถวายข้าวของหรืออะไรต่างๆ เทศน์ไปตามหน้าที่ เขาไม่ให้อะไรเลย ก็ไม่ว่าอะไร ไม่เดือดร้อน

 

ถาม  ถ้าเป็นเจ้าของกิจการละคะ บางทีมันก็ลำบากเหมือนกัน

 

ตอบ  เป็นการค้า ไม่ใช่เป็นการทำบุญ ถ้าอยากจะทำบุญ เจ๊งก็เจ๊งไป ไม่รวย ไม่ได้กำไร ก็ไม่เป็นไร อย่างนี้ถึงจะเป็นบุญ มันสบายใจ มันไม่เครียด เจ๊งก็เจ๊งได้นี่มันไม่เครียด ถ้ายังกลัวเจ๊งอยู่นี้มันก็เครียดขึ้นมา ทำได้ ทำไมจะทำใจไม่ได้ ถ้ามันจะเจ๊ง มันก็ต้องเจ๊งอยู่ดี แล้วทำไมต้องไปเครียดกับมันด้วย แต่เราก็ต้องทำให้มันดีที่สุด เมื่อดีที่สุดของเรานี้มันทำให้เจ๊ง ก็ช่วยไม่ได้ แต่เราอย่าไปเสีย ๒ ต่อ เสียทรัพย์แล้วอย่าไปเสียใจ ต้องยิ้มได้ ต้องหัวเราะได้ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พูดคำนี้ได้มันก็ยิ้มได้ เราไปเอาจริงเอาจังมากไป ไม่รู้ว่าเป็นการเล่นละคร เป็นของเล่นทั้งนั้นนะ ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของต่างๆ ได้มากองเท่าภูเขา ตายไปต้องให้คนอื่นหมด ไม่ติดตัวไปแม้แต่สตางค์เดียว เอาใส่ไว้ในปากสัปเหร่อก็เอาออกไป เอาเท่าที่พอ เอาเท่าที่จำเป็น เอามาเพื่อสนับสนุนงานหลักของเรา คือการปฏิบัติธรรม ร่างกายต้องมีข้าวกิน มันถึงภาวนาได้ มีอาหาร มีปัจจัย ๔ เอาเท่านี้แหละ พอแล้ว

 

มีปัจจัย ๔ แล้วอย่าไปเสียเวลากับการหาเงินหาทองเลย ป่วยการ ไม่เกิดประโยชน์อะไร หาธรรมะดีกว่า สิ่งที่เราขาดมากๆก็คือธรรมะ สิ่งที่เรามีมากเกินไปก็คือเงินทอง มีแล้วก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสไป ซื้อของที่ไม่จำเป็นนั้นแหละ เรียกว่าเอาไปเลี้ยงกิเลสแล้ว เอาไปสร้างสมุทัยให้มีกำลังมากขึ้น ซึ่งฝืนกับหน้าที่หลักของเรา งานหลักของเราก็เพื่อที่จะทำลายสมุทัย ให้มันเบาบางลงไป สมุทัยเป็นเหมือนเชื้อโรค ที่ทำให้เกิดโรค เรากินยาเพื่อทำลายเชื้อโรค ไม่ใช่กินยาเพื่อเสริมกำลังของเชื้อโรคให้มีมากขึ้น ถ้ากินผิดยาก็ทำให้เชื้อโรคมีกำลังมากขึ้น โรคยิ่งกำเริบใหญ่ ใจก็เหมือนกัน ความทุกข์ของเราเกิดจากสมุทัย ความอยากต่างๆ อยากในสิ่งที่ไม่จำเป็น ถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่นปัจจัย ๔ โดยประมาณ อย่างนี้ไม่เป็นตัณหา เป็นความจำเป็น เป็นเหตุเป็นผล ถ้าให้ปัจจัย ๔ แก่ร่างกายพอประมาณ ตามความจำเป็น ตามความต้องการของร่างกายแล้ว ก็พอแล้ว อย่าไปเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่พอประมาณ บ้านต้องราคา ๑๐๐ ล้าน รถต้อง ๒๐ ล้าน ๔๐ ล้าน เอาไปทำไม รถ ๔๐ ล้านกับรถ ๔ แสน ก็วิ่งถึงที่หมายเหมือนกัน แต่ความหลงมันหลอกให้เราสร้างตัณหาให้มีมากยิ่งขึ้น ไม่มีความสุขหรอก เราอาจจะคิดว่าเขามีความสุข มีรถ ๔๐ ล้าน ก็ต้องห่วงกังวลว่าจะไปจอดที่ไหนดี เสียทีก็ซ่อมไม่ใช่ถูกๆ ค่าซ่อมอาจจะไปซื้อรถใหม่ได้อีกคันหนึ่ง

 

ความหลงจะหลอกให้ไปเลี้ยงตัณหา ให้มีกำลังมากขึ้น ให้ใหญ่ขึ้น เราจึงต้องมีความหนักแน่น ต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่นสอนให้มักน้อยสันโดษ มักน้อยก็คือไม่มักมาก เอาพอดี เอาเท่าที่จำเป็น เช่าบ้านอยู่ก็ได้ ไม่ต้องไปซื้อก็ได้ เอาที่หลบแดดหลบฝนได้ ก็อยู่ได้ อาหารอยู่ใกล้ตรงไหน สะอาด กินแล้วอิ่มท้องไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็กินมันไปเถิด ไม่ต้องขับรถไป ๑๐๐ กิโล เพื่อไปกินอาหารอันโอชะ ไปแบบนั้นมันกิเลสพาไป สันโดษคืออยู่ตามมีตามเกิด มีอะไรกินก็กินไป ถึงเวลากินอยู่ใกล้ตรงไหน มีอะไรพอกินได้ ก็กินมันไป กินอิ่มแล้วก็จบ อย่าไปกินมาก ถ้างดกินหลังเที่ยงวันไปแล้วได้ ยิ่งดีใหญ่ ถ้ากินวันละมื้อได้ยิ่งดีขึ้นไปใหญ่ บางวันไม่กินได้ ยิ่งดีใหญ่ เวลากินมากจนเกินไป ทำให้เวลาภาวนานี่ เหมือนกับลากเรือลากรถที่บรรทุกของหนักๆ ไปไม่ถึงไหน ถ้ากินน้อยร่างกายจะเบา นั่งภาวนาไม่ง่วงเหงาหาวนอน เดินจงกรมก็มีกำลังกระฉับกระเฉง ถ้ากินมากๆจะคิดแต่หาหมอนอย่างเดียว หมอนอยู่ตรงไหน หมอนอยู่ตรงไหน ท่านจึงสอนให้มีประมาณในการรับประทานอาหาร ซึ่งมีหลายขั้น ไม่รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้วก็ขั้นแรก ขั้นที่ ๒ ก็รับประทานมื้อเดียวครั้งเดียวต่อวัน ขั้นที่ ๓ ก็อดบ้าง อดทีละ ๓ วัน ๕ วันบ้าง ถ้าถูกกับจริตจะช่วยการภาวนาให้ไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะอยู่เฉยๆไม่ได้เวลาอดอาหารนี่ จะทุกข์ทางใจมาก จิตจะคิดแต่เรื่องอาหาร ต้องภาวนาเพื่อดับความคิดนี้ พอความคิดหยุดปั๊บ ความหิวก็หายไป ความอิ่มใจก็เข้ามาแทนที่ ความอิ่มใจนี่มีอานุภาพมากกว่าความหิวของร่างกาย ทำให้รู้สึกไม่ค่อยหิว รู้สึกเพลียๆบ้าง เหมือนกับวันที่เรามีความสุขใจ แล้วลืมกินข้าวไป จะไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะความสุขใจความอิ่มใจ มีอานุภาพมากกว่าความหิวของร่างกาย ดับความหิวของร่างกายได้ แต่ถ้าไม่มีความสุขใจอิ่มใจ ต่อให้กินอิ่มใหม่ๆ พอเห็นขนมเห็นของโปรด ก็หิวขึ้นมาอีกทันที นี่คือด่านแรกที่เราต้องพยายามทำให้ได้ คือการรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร

 

การภาวนาต้องมีปัจจัยเสริมสนับสนุน การรู้จักประมาณในการรับประทานอาหารนี้ ก็เป็นข้อหนึ่ง ข้อที่ ๒ ก็คือการสำรวมอินทรีย์ตาหูจมูกลิ้นกาย อย่าไปดูอย่าไปฟังเรื่องที่ไร้สาระต่างๆ เรื่องบันเทิงที่ให้ความเพลิดเพลิน ปิดโทรทัศน์ ปิดวิทยุ ปิดเพลง ไม่ดูไม่ฟัง หนังสือนิยายต่างๆไม่อ่าน ถ้าจะฟังก็ฟังเทศน์ฟังธรรม วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือให้ไปปลีกวิเวก ไปอยู่ที่ห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ ไปอยู่ในป่า อยู่ในที่ห่างไกลจากความเจริญ เพื่อจะได้ปิดทวารทั้ง ๕ เสียกิเลสมีทางเข้าออกอยู่ ๖ ทางด้วยกัน ทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ก็ ๕ แล้ว ทางใจนี้ก็ ๖ ถ้าปิดเสีย ๕ ทาง ก็เหลือทางเดียว เวลาจะจับกิเลสจับโจรผู้ร้ายมันก็ง่าย เราคนเดียวไปอยู่ ๖ จุดไม่ได้ โจรมีทางเข้าออกถึง ๖ ทาง เราก็ปิด ๕ ทาง แล้วก็เฝ้าดูทางที่เปิดไว้ เดี๋ยวมันก็ต้องออกมาทางนั้น เราปิดตาหูจมูกลิ้นกายไม่ให้กิเลสออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกายแล้ว ก็จะเหลือใจที่จะคิดฟุ้งซ่าน คิดอยากมีอะไรต่างๆ ก็เฝ้าดูมันด้วยสติ พอคิดอยากก็ดับมัน ดับมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หมดเอง กิเลสหมดเพราะเราไม่ทำตามคำสั่งของมัน กิเลสมีมากขึ้นเพราะทำตามคำสั่งของมัน สั่งให้ไปเปิดโทรทัศน์นี่ ก็มากขึ้นอีกตัวหนึ่ง สั่งให้ไปเปิดตู้เย็นก็เพิ่มขึ้นอีกตัวหนึ่ง ถ้ามันสั่งแล้วเราไม่ทำตาม ตัวนั้นก็จะหายไป เพราะสั่งทีไรก็ไม่ได้ผล ต่อไปมันก็ไม่สั่ง

 

เหมือนกับอยากจะเลิกสูบบุหรี่ พอกิเลสสั่งให้เอาบุหรี่มาสูบ เราก็ต้องไม่สูบ ไม่สูบ สู้มันไปอย่างนี้ มันสั่งกี่ครั้งเราก็ไม่ทำตาม ในที่สุดมันก็ยอมแพ้เอง เราอย่าไปยอมแพ้มันก่อนก็แล้วกัน แต่อย่าไปสู้แบบเฉยๆ ต้องสู้ด้วยการทำสมาธิไปด้วย อย่าให้มันมีโอกาสได้คิดเลย อย่าให้มันมีโอกาสสั่ง ปิดปากมันไว้ มันใช้ใจนี่แหละเป็นตัวสั่งการ เราก็ต้องหยุดใจไม่ให้ทำงาน ไม่ให้คิดปรุง มันก็ทำงานไม่ได้ เมื่อหยุดใจได้บ่อยๆเข้า มันก็ไม่มีทางที่จะมาสั่งเราได้ เพราะใจที่เป็นเครื่องมือของมันเราคุมไว้อยู่ เหมือนเราถือกุญแจรถไว้ ลูกจะขโมยรถไปขับไม่ได้ เพราะเราถือกุญแจไว้ แต่ถ้าเราทิ้งกุญแจไว้ในรถ พอเราเผลอนอนหลับ ลูกก็เอารถไปขับเที่ยวได้ เราต้องข่มใจให้ได้ ให้สงบ ในขณะที่ไม่สงบก็ต้องเฝ้าดูมัน เพราะไม่สามารถทำให้สงบได้ตลอดเวลา ตอนที่จิตสงบเราก็สบาย ไม่ต้องไปดูมัน แต่พอมันออกจากความสงบ มันเริ่มคิดปรุงแล้ว เราก็ต้องดูมัน มันจะคิดไปในทางไหน คิดไปในทางกิเลสหรือคิดไปในทางธรรม ถ้าคิดไปในทางกิเลสก็รีบเอามาคิดในทางธรรม เช่นออกจากสมาธิแล้วก็พิจารณาอาการ ๓๒ ไปเลย อย่าให้มันอยู่เฉยๆ พออยู่เฉยๆมันจะคิดไปในทางกิเลสทันที เช่นออกจากสมาธิก็เปิดโทรทัศน์ดูเลย

 

พอออกจากสมาธิปั๊บต้องให้มันดูหนังกายคตาสติเลย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เปิดโทรทัศน์ภายในใจ ดูอาการ ๓๒ ดูผมขนเล็บฟัน ดูอนิจจังเกิดแก่เจ็บตาย ดูอสุภะตายแล้วเป็นอย่างไร กล้าดูไหม มีใครอยากจะดูคนตายบ้าง เวลาไปงานศพนี่ ไม่มีใครเห็นคนตายเลย เขาปิดไว้มิดชิดหมด ไม่ให้เห็น ปิดทำไม ของดีแท้ๆ ปัญญาแท้ๆอยู่ตรงนั้น แต่กิเลสไม่อนุญาตให้เปิด ไปกลัวอะไร ก็ร่างกายของเรา ตายไปมันก็เป็นร่างกายนี้ เพียงแต่มันเน่าลงไปเท่านั้นเอง ไปดูของคนอื่นแล้ว จะได้เอามาเปรียบเทียบกับของเรา มันก็เหมือนกัน ร่างกายของใครก็เหมือนกันทั้งนั้น อยู่ในสภาพเดียวกันทั้งนั้น พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วจะเกิดปัญญาขึ้นมา จะปล่อยวางกายได้ แล้วก็กลับไปนั่งสมาธิต่อ พอพิจารณามากๆก็เหนื่อย ก็กลับไปนั่งสมาธิภาวนาต่อ เมื่อเกิดทุกขเวทนาก็พิจารณาทุกขเวทนาต่อ ทุกขเวทนาก็อนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ไม่ต้องไปยินดียินร้าย ไม่ต้องไปรังเกียจ เพราะความรังเกียจก็คือสมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ใจ ที่เจ็บปวดมากกว่าทางร่างกาย เราต้องการดับตัวนี้ ตัวสมุทัยที่สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจ ความเจ็บปวดทางร่างกายเราอย่าไปยุ่งกับมัน ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันเกิดขึ้นได้เดี๋ยวมันก็หายไปได้ มันดับของมันเอง มันไม่เป็นโทษ ไม่เป็นพิษเป็นภัย

 

ตัวที่เป็นพิษเป็นภัยก็คือความทุกข์ใจ ความเจ็บปวดทางใจ ที่เกิดจากสมุทัย ความอยากให้เวทนาทางกายดับไปหายไป ความรังเกียจ ความกลัว ตัวนี้ต่างหากที่สร้างความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ ตัวนี้เราดับได้ ด้วยการทำใจให้เป็นอุเบกขา ยอมรับความจริงของเวทนา ว่าเป็นเหมือนกับดินฟ้าอากาศ ที่เรารับได้กันทุกคน มันหนาวเราก็รับได้ มันร้อนเราก็รับได้ ฝนตกเราก็รับได้ เราไม่ได้เดือดร้อนกับเรื่องดินฟ้าอากาศ ฝนตกถ้าออกไปข้างนอกก็กางร่มเสีย ถ้าออกไปไม่ได้ ก็นั่งรอให้ฝนหยุดก่อน แล้วค่อยไป เวทนาก็แบบเดียวกัน ถ้ามันทุกข์ก็ปล่อยให้มันทุกข์ไป เดี๋ยวมันก็หายเอง ถ้าอย่างนี้แล้วใจจะไม่ทุกข์ ใจได้กินยาแก้ปวดคือธรรมโอสถ  ทำใจให้เป็นอุเบกขาด้วยปัญญา ปล่อยวางเวทนาทางกาย ทุกขเวทนาก็มีทั้ง ๕ ทวาร เห็นสิ่งที่ไม่ชอบก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เห็นคนที่เราเกลียดขี้หน้าก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา กินอาหารที่ไม่ชอบก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ทุกข์ทางอายตนะ ไม่ใช่ทางใจ ถ้าทำใจให้เฉยๆ ชอบไม่ชอบก็กินมันไป ไม่ยินดียินร้าย คิดว่าเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ร่างกายไม่รู้หรอกว่าอาหารที่กินนี้ดีชั่วอย่างไร ตัวรู้มันไม่ได้กิน เพียงแต่รู้ว่าอาหารอร่อยหรือไม่อร่อย ตัวที่กินนี้ไม่รู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ร่างกายไม่รู้เรื่อง ไม่มีตัวรู้อยู่ในร่างกาย ตัวรู้ไม่ได้กิน ตัวรู้เหมือนคนนั่งข้างๆกาย แล้วบอกให้กายกินนั้นกินนี่ แล้วก็ดีใจเสียใจกับการกินของร่างกาย เพียงแต่ได้สัมผัสรับรู้เรื่องรสชาติเท่านั้นเอง แต่ร่างกายตัวที่กินนี้มันไม่รู้หรอก พอผ่านลำคอเข้าไปแล้วก็ไม่มีรสชาติแล้ว สัมผัสได้ไม่กี่วินาที สัมผัสตรงลิ้น ตรงตา ตรงจมูก พอผ่านเข้าไปในลำคอแล้วก็จบ

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นทุกข์เพราะความปรุงเท่านั้นเองใช่ไหมคะ

 

ตอบ ทุกข์เพราะสมุทัย พอเห็นภาพที่ไม่ชอบใจก็เป็นสมุทัยแล้ว ปรุงแต่งแล้ว มีปฏิกิริยาแล้ว เกิดความรังเกียจ เกิดวิภวตัณหา ไม่อยากเจอ ไม่อยากพบ ถ้าไม่มีวิภวตัณหาก็จะเฉยๆ ถึงแม้ในอดีตเคยไม่ชอบ แต่ตอนนี้ทำใจได้แล้ว เราก็ไม่ทุกข์ เคยเกลียดขี้หน้าคนนี้ เจอทีไรใจจะร้อนขึ้นมาทันที พอไปปฏิบัติธรรม ภาวนาทำใจเป็นอุเบกขาได้ เห็นใครก็ได้ ใครจะมาก็ได้ ใจเฉยแล้ว

 

ถาม  คือรู้อยู่แต่ไม่ปรุงต่อ

 

ตอบ ไม่ปรุงต่อ มีปัญญาระงับ สักแต่ว่ารู้ รู้ว่าเป็นเพียงรูป อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่า สักแต่ว่า เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดดับ มาแล้วเดี๋ยวก็ไป บังคับเขาไม่ได้ ห้ามเขาไม่ได้ เขาจะมาเราก็ห้ามเขาไม่ได้ เขาจะไปเราก็ดึงเขาไว้ไม่ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว เราจะไม่ดึง เราจะไม่ห้าม เราจะไม่ทุกข์ แต่ถ้าเรายังดึงอยู่หรือยังห้ามอยู่ เราก็จะทุกข์ ทุกข์เพราะเห็นคนที่ไม่ต้องการ ไม่เอา ไม่ต้องการ อย่ามา  คนที่เรารักเวลาเขาจะไป ก็อย่าไป อย่าไป อยู่ก่อน นี่คือสมุทัยที่เกิดจากสัญญา เห็นภาพแล้วก็มีสัญญาเดิมอยู่ สัญญาเดิมว่าภาพนี้น่ายินดี ภาพนี้น่ารังเกียจ จึงไม่อยากจะดูอสุภกัน ชอบดูแฟชั่น

 

ถาม  เราเห็นแล้วความยินดียินร้ายมันเกิดแล้ว พอเรารู้สึกตัวก็หยุดมัน มันหยุดเพราะเราไปหยุดมัน แต่ไม่ได้หยุดไปเองนะคะ

 

ตอบ ยังไม่ได้หยุดด้วยปัญญา หยุดด้วยสติ เป็นจุดเริ่มต้น เราต้องฝึกใจให้ชอบในสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่เราชอบ เพื่อทำให้มันสมดุล ให้มันอยู่ตรงกลาง มันแกว่งไปทางชอบเราก็ดึงมันกลับมา มันแกว่งไปในทางไม่ชอบเราก็ดึงมันกลับมา ให้มันอยู่ตรงกลาง เราจึงต้องฝึกดูภาพที่เราไม่ชอบ เช่นดูภาพอสุภอย่างนี้ ดูไปเรื่อยๆจนชินตา ต่อไปก็จะไม่เกิดรังเกียจ เช่นนักศึกษาแพทย์ที่ต้องผ่าศพ หรือสัปเหร่อที่ต้องเจอซากศพอยู่ทุกวัน เขาก็เห็นจนจำเจ จนใจของเขาด้านไปกับภาพเหล่านี้ ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ต้องพิจารณาซ้ำๆซากๆ จนติดตาติดใจ จนใจนิ่งสงบ ตอนพิจารณาใหม่ๆจะรังเกียจขยะแขยง ก็ต้องบังคับพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายขยะแขยง หายเมื่อไหร่ก็แสดงว่ารับได้แล้ว ตอนต้นก็เป็นธรรมดา กิเลสมีกำลัง ให้ดูภาพที่มันไม่ชอบ ก็มีปฏิกิริยาทันที ดูภาพที่มันชอบก็มีปฏิกิริยาทันที ถ้าพิจารณาไปถึงฐานของภาพเหล่านี้ ว่ามาจากอะไร มันก็มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ของต่างๆในโลกนี้ไม่ได้มาจากอย่างอื่นเลย ต้นไม้ภูเขาใบหญ้า ร่างของมนุษย์ ร่างของสัตว์เดรัจฉาน ก็มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ไม่เห็นจะต้องไปรังเกียจหรือไปยินดีกับดินน้ำลมไฟเลย

 

        เราเห็นดินเห็นน้ำทำไมเฉยๆได้ เห็นน้ำนี้เรารังเกียจไหม ไม่รังเกียจหรอก เรายินดีไหม เราก็ไม่ยินดี แต่พอปรุงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ไปยินดีไปรังเกียจ ชอบคนนั้นเกลียดคนนี้ เพราะไม่มีปัญญา มองด้วยอารมณ์ มองด้วยสัญญาที่ถูกปลูกฝังมาในแต่ละภพแต่ละชาติ ของพวกนี้ไม่ต้องสอนกัน เรื่องชอบเรื่องชังของแต่ละคนนี้ มันติดมากับใจ บางคนก็ชอบสีแดง บางคนก็ชอบสีเขียว บางคนก็ชอบคนรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ บางคนก็ชอบคนผิวขาวบางคนก็ชอบคนผิวดำ เป็นสิ่งที่ปลูกฝังมากับใจ นี่คือสิ่งที่เราต้องมาแก้ พิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นว่ามาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น เหมือนกับขนมนี่ ก็มาจากแป้งน้ำตาลไข่ แล้วก็มาทำให้เป็นขนมชนิดต่างๆ ทองหยิบ ฝอยทอง เค้ก ก็มาจาก ๔ อย่างนี้ เวลาเห็นแป้งเห็นน้ำตาลนี้ ไม่เห็นอยากกินเลย เพราะไม่ใช้ปัญญา กินเข้าไปแล้วพอออกมาก็รังเกียจมัน มันก็ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ต้องเข้าใจว่าดินน้ำลมไฟกำลังเล่นกลให้เราดู อย่าไปหลงมัน มันหลอกเรา ยินดีก็หลงแล้ว รังเกียจก็หลงแล้ว ให้รู้ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ในรูปแบบต่างๆ มีรูปกลิ่นรสสีสันต่างๆ

 

ถาม  เวลาพระท่านฉันอาหารท่านพิจารณาแบบนี้

 

ตอบ พิจารณาแบบนี้ท่านถึงคลุกมันได้ ใส่ไปในบาตรหมด ทองหยิบฝอยทองแกงเขียวหวานเค้ก คลุกมันเหมือนกับข้าวผัดเลย อร่อยจะตายไป ลองทำดูสิ มันก็ต้องไปรวมกันอยู่ในท้องอยู่ดี มันจะไปไหนละ ไม่คลุกในบาตร มันก็ไปคลุกกันในท้อง ยิ่งคลุกในท้องยิ่งน่าเกลียดใหญ่ เอาไปปฏิบัติดูซิ ทำได้ก็ได้ประโยชน์ ทำเพื่อชนะกิเลสเท่านั้นเอง พอชนะแล้วก็กินแบบปกติได้ ไม่ต้องคลุกไปตลอด ทำเพื่อตัดความจู้จี้จุกจิก เกี่ยวกับเรื่องอาหารเท่านั้นเอง รู้ว่ามันมีแค่ ๔ รสเท่านั้นเอง เปรี้ยวหวานมันเค็ม ในรูปแบบต่างๆ ลองหลับตาดูแล้วตักของที่คลุกกินเข้าไป มันก็เปรี้ยวหวานมันเค็ม เพียงแต่จัดให้ตอนนี้เปรี้ยวก่อน แล้วค่อยเค็ม แล้วค่อยหวาน

 

ถาม  สัตว์ทั้งหลายที่ติดภพติดชาติกัน เพราะไม่มีโอกาสพิจารณาอย่างนี้ แล้วเขาจะมีโอกาสเลื่อนขั้นขึ้นไปได้อย่างไร

 

ตอบ  ไม่มีทาง ถ้าไม่เป็นมนุษย์และไม่เจอพระพุทธศาสนาแล้ว ใครจะมาสอนเรื่องเหล่านี้ มีพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอนทางปัญญา ศาสนาอื่นก็ยังสอนให้หลงติดอยู่ทั้งนั้น สอนได้ก็แค่ขั้นสมาธิเท่านั้นเอง ให้สวดมนต์นั่งนับลูกประคำไป สวดมนต์สรรเสริญพระเจ้า เป็นการทำสมาธิภาวนา แต่ไม่มีใครสอนเรื่องดินน้ำลมไฟ สัพเพ ธัมมา อนัตตา มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่จะสอนเรื่องเหล่านี้ได้ พวกเราโชคดีที่ได้เจอศาสตราจารย์ ที่สามารถสอนถึงระดับปริญญาเอก ศาสนาอื่นสอนได้แค่ระดับปริญญาโทเท่านั้น เหมือนกับมหาวิทยาลัยที่เราไปเรียน บางแห่งก็สอนได้แค่ระดับปริญญาโท บางแห่งก็ได้ถึงปริญญาเอก ศาสนาก็เป็นเหมือนกับมหาวิทยาลัย สอนได้ระดับต่างกัน บางศาสนาก็สอนแค่ระดับทาน ระดับศีล ระดับภาวนา ระดับสมาธิ มีศาสนาพุทธนี่ไปถึงปัญญาเลย ไปถึง สัพเพ ธัมมา อนัตตา เลย อนัตตาก็คือดินน้ำลมไฟกับใจ ธาตุทั้ง ๕ ที่ลอยอยู่ในธาตุที่ ๖ คืออากาศธาตุ

 

ถาม  เวลาที่ฟังอะไรหรือดูอะไร จิตมันจะคอยแย้งอยู่เรื่อยๆ

 

ตอบ  มันติดเป็นนิสัยมา ก็ต้องแก้มัน เวลาฟังก็ฟังอย่างเดียว อย่าไปคิดปรุง ให้มีสติจดจ่อกับเสียง พิจารณาไป จะแย้งก็รู้ว่ากำลังแย้ง แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาแย้ง ตอนนี้เป็นเวลาฟัง ไว้รอให้ฟังเสร็จแล้วไปพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังมา ให้แย้งด้วยเหตุผล บางทีคนแสดงอาจจะแสดงไม่ถูกเหตุถูกผลก็ได้ เราอาจจะถูกก็ได้ คนแสดงอาจจะไม่ถูกก็ได้ เพราะคนแสดงก็มีหลายระดับตั้งแต่ปุถุชนขึ้นไปถึงพระอรหันต์ ถ้าไปฟังปุถุชนแสดง เขาก็บอกให้ไปสะเดาะเคราะห์ ให้ไปนอนในโลงศพอย่างนี้ เราก็แย้งได้ในใจ ว่าจะสะเดาะเคราะห์ได้หรือ อย่างนี้เราก็แย้งได้ ยิ่งถ้า่เรามีธรรมเหนือกว่าคนแสดง เราก็รู้ว่าเขาแสดงผิดแล้ว เขาหลงแล้ว

 

ถาม  มันไม่ได้เจตนาจะแย้งนะคะท่านอาจารย์ ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร มันจะขัดไปเรื่อยเปื่อย

 

ตอบ  เป็นกิเลสของเรา เป็นสันดานของเรา ก็อย่าไปส่งเสริมมัน พยายามแก้มัน ฟังอย่างเดียว ไม่ต้องไปแย้ง

 

ถาม  คือสมัยก่อนก็เป็น แต่เมื่อก่อนนี้แย้งออกมาข้างนอกเลยหมายความว่าใครพูดอะไรผิดนี่เราก็แย้ง แย้งตลอด ระยะหลังพอควบคุมได้  ถึงแม้จะไม่ออกมา ก็ยังแย้งอยู่ในใจ

 

ตอบ  ถ้าจะแย้งต้องแย้งอย่างมีเหตุมีผล มีข้อสรุป มันจะได้สงบ ถ้าแย้งแบบทิฐิ มันก็แบบเอาแพ้เอาชนะกัน ก็เลยไม่รู้ว่าใครถูกใครผิดกัน เพราะวิชาความรู้ทางโลก บางทีก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง เป็นการสันนิษฐาน ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ไม่เหมือนวิชาทางธรรมที่ได้รับการพิสูจน์จากพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ต้องแย้งธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีสิทธิ์ที่จะแย้ง มีสิทธิ์ที่จะรับอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความรู้ทางโลกยังเถียงกันได้ วันนี้ว่าเป็นอย่างนี้ อีก ๑๐ ปีข้างหน้ามีทฤษฎีใหม่ เหมือนสมัยก่อนเขาว่าโลกนี้มันแบน ก็มีคนมาแย้งจนได้ ว่ามันไม่แบน มันกลม อีกพวกหนึ่งก็บอกว่าโลกนี้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกอย่างหมุนรอบโลก ก็มีการแย้งว่าไม่ใช่ ความรู้ทางโลกเป็นอย่างนี้ จึงอย่าไปยึดติดมากเกินไป เมื่อเราเชื่ออย่างนี้ ก็เชื่อไปก่อนก็ได้ คนอื่นเขาไม่เชื่อ ก็อย่าไปโกรธ เขาไม่เชื่อตามเราก็ช่างเขา เขาจะให้เราไปเชื่อตามเขา เราไม่เชื่อตามเขาก็ได้ จะถูกจะผิดก็ต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

 

        ทุกวันนี้ก็เถียงกันในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง กับเศรษฐกิจแบบใช้อย่างฉิบหายวายวอด อันไหนจะดีกว่ากัน ก็ยังไม่มีข้อสรุป พวกหนึ่งบอกต้องใช้ให้มาก จะได้ผลิตมาก จะได้มีงานทำ อีกพวกบอกว่ายิ่งใช้ก็ยิ่งหิวยิ่งอยากใช้ใหญ่ ยิ่งทำลายทรัพยากรต่างๆให้หมดไป จะยิ่งลำบากใหญ่ เมื่อก่อนเราอยู่กับธรรมชาติ เราใช้ใบตอง ไม่มีถุงพลาสติก ไม่มีปัญหาเหมือนทุกวันนี้ เราใช้เชือกกล้วย ขวดที่ใช้แล้วก็เอามาใช้ใหม่ เอามาบรรจุน้ำปลา เอามาใส่น้ำ ทุกวันนี้เรากินทิ้งกินขว้างกัน ขวดพลาสติกราคาแพงกว่าน้ำดื่ม แต่พอใช้แล้วเอาไปขายได้แค่ ๑๐ สตางค์เท่านั้น นี่คือเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยม ที่ถูกต้องเป็นธรรมานิยม คือมักน้อยสันโดษ ใช้เท่าที่จำเป็น เศรษฐกิจพอเพียง แต่ของอย่างนี้สอนกันไม่ได้ เพราะกิเลสมีอำนาจมาก ทุกคนอยากจะมีมากกันทั้งนั้น มักมากทั้งนั้น โลภมากทั้งนั้น

 

ถาม  จะพูดถึงเรื่องอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งนั้น เรื่องนี้เรื่องเดียว

 

ตอบ  ข้อสรุปก็คือใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา ตามพระพุทธเจ้าแล้วจะปลอดภัย อยู่แบบมักน้อยสันโดษ อยู่แบบพระ กินข้าววันละมื้อ มีบ้านพอหลบแดดหลบฝนได้ก็ดีแล้ว รับรองจะไม่ทุกข์ จะมีเงินเหลือใช้ ใช้ไม่มากก็เหลือใช้ ที่ไม่พอใช้ เพราะใช้มากกว่าหามาได้ ถ้าใช้น้อยกว่าหามาได้ก็มีเหลือ เหมือนกับทำงบประมาณ จะทำสมดุลก็ได้ จะทำเกินดุลก็ได้ จะทำขาดดุลก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ชอบเกินดุลกันทั้งนั้น เพราะตัดไม่ได้ ลดไม่ได้ ตัดเงินเดือนไม่ได้ ตัดรายจ่ายต่างๆไม่ได้ แต่หารายได้ไม่พอ มนุษย์สร้างปัญหาให้กับตัวเองทั้งนั้น เพราะความโลภมากนี่เอง น่าจะจับพวกผู้นำประเทศเข้าวัดถือศีล ๘ กัน ใครจะเป็นรัฐมนตรีต้องถือศีล ๘ เสาร์อาทิตย์ต้องเข้าอยู่วัด รับรองประเทศจะดีขึ้น วิธีแก้ปัญหาง่ายนิดเดียว แต่ทำยาก

 

ถาม  มีคนอธิษฐานขอใบโพธิที่พุทธคยา เขาไม่ได้ถือศีล ๘ เลย แล้วทำไมเขาถึงได้ตามที่ขอ

 

ตอบ ขอไม่ได้ ถ้าจะได้มันก็ได้ ไม่ได้อยู่ที่ขอหรือไม่ขอ ถ้าขอได้ก็ขอกันทุกคนเลย อยากจะได้อะไรก็ขอได้หมด มันก็สบาย แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นเหตุเป็นผล เป็นความบังเอิญ ขอแล้วมีเหตุที่ทำให้ได้ มันก็ได้ ไม่ขอก็ได้ ไม่ได้อยู่ที่การขอ

 

ถาม  แม้แต่จะขอในสิ่งที่ถูกที่ควร ขอให้มีดวงตาเห็นธรรม ไม่ทำมันก็ไม่ได้

 

ตอบ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องอดอาหาร ๔๙ วัน ไม่ต้องออกจากวัง นั่งขออยู่ในวัง ขอให้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า มันขอไม่ได้หรอก คำว่าเหตุผลไม่เข้าใจหรือ ต้องมีเหตุ ผลถึงจะตามมา การขอไม่ได้เป็นเหตุ เป็นลมๆแล้งๆ

 

ถาม  ขอให้มีความอดทนอดกลั้นอย่างนี้

 

ตอบ  ไม่ได้หรอก ต้องอดทนอดกลั้นเอง มันถึงจะได้ ถ้าขอได้ป่านนี้ก็บรรลุไปแล้ว

 

ถาม  ต้องตั้งใจทำเอง

 

ตอบ ต้องทำเอง การกระทำเท่านั้น เรียกว่ากรรม กรรมนี่แหละเป็นตัวที่จะทำให้สิ่งต่างๆคือผลปรากฏขึ้นมา การทำความดีต้องอาศัยขันติ ความพากเพียร เพราะโดยธรรมชาติใจเรามันไม่ชอบทำความดีกัน มันถึงทำความดียาก ทำความชั่วง่าย เพราะในใจเรามีกระแสดึงให้ไปทำความชั่วอยู่แล้ว ทำความชั่วจึงเป็นเหมือนกับว่ายตามน้ำ ทำความดีเหมือนกับว่ายทวนน้ำ อันไหนจะยากจะง่ายกว่ากัน ว่ายทวนน้ำก็ต้องยากกว่า ๒ เท่า ต้องมีความอดทนมากกว่า ว่ายตามน้ำไม่ต้องมีความอดทนเลย ไม่ต้องว่ายเลย เพียงทำให้ตัวลอยเท่านั้น กระแสน้ำก็พาไปแล้ว ปัญหาของพวกเราอยู่ตรงนี้ กระแสของพวกเรามันทวนกระแสของพระนิพพาน ของสวรรค์ มันจึงยากกัน ครูบาอาจารย์ท่านจึงสอนให้ทวนกระแส อย่างวันนี้มาที่นี่ก็ต้องทวนกระแสมากัน ถ้าตามกระแสก็ไปที่อื่นแล้ว เวลาทำตามกิเลสมันง่ายจริงๆ ไม่ต้องให้คนชวน ไปชวนเขามากกว่า แต่เวลามาวัดมาหาธรรมะนี่ ต้องให้คนชวน บางทีต้องลากมาถึงจะมาได้ การมีกัลยาณมิตรก็ดีตรงนี้ เราว่ายไปเองไม่ได้ก็ต้องอาศัยเพื่อนที่ดีพยายามฉุดลากเราไป จัดวันมาวัดกัน ถ้าไม่มีคนจัดก็จะไม่ได้มากัน เกาะกลุ่มติดกันไว้ ถ้ายังเป็นเรือพ่วงอยู่ ยังไม่ได้เป็นเรือเครื่อง ต้องคอยติดเรือที่มีเครื่อง จะได้ลากเราไปด้วย ถ้าเป็นเรือเครื่องแล้วก็ไม่ต้อง ไม่ต้องรอใครแล้ว ไปของเราเองได้แล้ว มีขันติแล้ว มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาแล้ว

 

        นี่แหละคือเครื่องที่จะผลักจิตใจให้ไปสู่มรรคผลนิพพาน ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่แล้วก็จะสบาย เพียงแต่ว่าจะถึงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง จะช้าหรือจะเร็ว แต่มันไปแน่ๆ ถึงแน่ๆ ถ้าขยันมากแรงมากก็ไม่เกิน ๗ วัน ถ้าแรงน้อยหน่อยก็ ๗ ปีเป็นอย่างมาก แต่ถึงแน่ๆ ถ้ามีเครื่องแล้ว ถ้าไม่มีเครื่องก็ต้องรอให้เขามาฉุด แต่ฉุดให้เริ่มวิ่งได้เท่านั้นเอง พอหยุดฉุดก็จะหยุด เพราะกระแสน้ำไหลแรงกว่า เบื้องต้นก็อาศัยคนอื่นช่วยลากเราไปก่อน แต่อย่าคิดว่าจะลากเราได้เสมอ ลากเพื่อให้เรามีกำลังที่จะไปของเราเอง เช่นมาฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ ก็เป็นเหมือนกับการมาติดเครื่อง เอาเรือเข้าอู่ติดเครื่อง เรือจะได้วิ่งไปเองได้ ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ วันนี้ที่สอนให้รู้จักประมาณในอาหารนี่ อย่าให้เป็นคำพูดที่ว่างๆเข้าหูซ้ายออกหูขวา ขอให้นำเอาไปปฏิบัติ การสำรวมอินทรีย์ตาหูจมูกลิ้นกาย ปิดทั้ง ๕ ทวารให้เหลือเพียงทวารเดียว มีสติดูอยู่ที่ใจอย่างเดียว ทำแล้วจะได้ผลอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ทำกลับมาคราวหน้าก็เหมือนเดิม ทำแทนกันไม่ได้ ทำไปแล้วมันก็จะง่ายเอง อย่าให้ความรู้สึกว่ามันยากเป็นอุปสรรค ต้องคิดว่ามันง่าย พระพุทธเจ้าทำได้ เราก็ต้องทำได้ ครูบาอาจารย์ท่านทำได้ เราก็ทำได้ เพราะก่อนที่ท่านจะเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครูบาอาจารย์ ท่านก็เป็นเหมือนเรา มีอุปสรรคแบบเดียวกัน มีความรู้สึกยากเหมือนกัน แต่ท่านไม่ให้ความรู้สึกนั้นมาเป็นอุปสรรค

 

        จึงควรกำหนดกฎเกณฑ์ไว้เลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง จะต้องรับประทานอาหารวันละกี่มื้อกี่ครั้ง ให้เป็นกฎเป็นเกณฑ์ไป ทำไป จะต้องนั่งภาวนาเวลาไหน จะเดินจงกรมเวลาไหน มากน้อยเพียงไร ก็ต้องกำหนด แล้วทำมัน อย่าปล่อยให้มันลอยมาเอง มันไม่มาหรอก เราต้องกำหนด มันถึงจะมา เช่นต่อไปนี้ทุกเช้าเย็นจะต้องไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เจริญปัญญา ก่อนนอนและหลังจากตื่นนอน วันหยุดวันว่างก็ไม่ไปเที่ยวไหน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ออกไปข้างนอก อยู่บ้านเดินจงกรม นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรมไปทั้งวัน สลับกันไป ต้องมีตารางกำหนดการ เวลาจัดงานก็มีกำหนดการกัน เช่นเวลานี้ประธานจุดธูปเทียน นี่ไม่มีอะไรเลย ไปอยู่วัดก็มีตาราง ตี ๔ ตื่นขึ้นมาเดินจงกรมนั่งสมาธิ เวลานั้นออกไปบิณฑบาต ถ้าเป็นฆราวาสก็ทำธุระส่วนตัว เตรียมกับข้าวกับปลาอาหารถวายพระ การไปอยู่วัดก็ได้ประโยชน์อย่างนี้ แต่พออยู่บ้านไม่มีเลย มีก็เป็นเรื่องอื่นไปเลย เวลานี้เปิดดูเรื่องนี้ เวลานั้นเปิดดูเรื่องนั้น ชีวิตของเราก็มีอยู่แค่นี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า อนิจจา วะตะ สังขารา สังขารเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด เป็นพระปัจฉิมโอวาท คำสอนคำสุดท้าย พวกเราต้องหนักแน่น เอาไปคิดแล้วก็เอาไปทำ ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดประโยชน์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสด้วยความจริงใจ เราต้องพยายามปฏิบัติตามให้ได้

ถาม  เวลาเห็นคนตายหรือสัตว์ตายตามท้องถนน แล้วเราแผ่เมตตา เขาจะได้รับหรือไม่คะ

ตอบ  ไม่ได้หรอก ความจริงการแผ่เมตตานี้ เป็นการทำเพื่อเรามากกว่า เพื่อไม่ให้เราอาฆาตพยาบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราโกรธ ตอนนั้นแหละต้องรีบแผ่  ต้องฝึกแผ่ไปก่อน ตอนที่ยังไม่โกรธ ถ้าไม่ฝึกเวลาโกรธจะแผ่ไม่ออก ถ้าฝึกไว้ก่อนเวลาโกรธก็จะแผ่ได้เลย อย่าไปโกรธ ต้องให้อภัย โกรธแล้วเราเสียหาย เราทุกข์ เราร้อน ถ้าให้อภัยแล้ว เราเย็น เราสบาย ความโกรธดับไป คิดเสียว่าเป็นการใช้หนี้ ใชเวรใช้กรรมไปก็แล้วกัน อย่าไปสร้างเวรกรรมใหม่ขึ้นมาอีก ด้วยการต่อว่ากัน ทะเลาะเบาะแว้ง ทุบทำร้ายกัน ที่เป็นการสร้างเวรไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงแผ่เมตตา เวลาจะมาทำร้ายท่าน เช่นส่งช้างให้มาเหยียบ ท่านก็แผ่เมตตา ช้างเห็นท่านมีความเมตตา ไม่เป็นพิษเป็นภัย ก็ไม่ทำท่าน ส่งคนมาฆ่าท่าน ท่านก็สอนธรรมะ ให้เห็นโทษของการฆ่า แล้วก็ช่วยชีวิตเขาด้วย บอกว่าอย่ากลับไปทางเดิม เพราะเขาจะส่งคนมาฆ่าปิดปาก พอพวกที่รอฆ่าไม่เห็นชุดแรกกลับมา ก็ไปหาพระพุทธเจ้า ถามท่านว่าเห็นพวกนั้นไหม ท่านก็บอกว่าเห็น และบอกไม่ให้กลับไปทางนั้น ถ้ากลับไปพวกคุณก็จะฆ่าเขา แล้วก็บอกโทษของการฆ่า ว่าทำให้ตกนรก ทรงสอนไม่ให้ฆ่า และบอกว่าอย่ากลับไปทางนั้น เพราะจะมีอีกพวกหนึ่งรอฆ่าอยู่ นี่คือปัญญา บทพาหุงที่เราสวดนี้ ก็เกี่ยวกับเรื่องปองร้ายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ใช้ปัญญาบ้าง ใช้เมตตาบ้าง ใช้อุเบกขาบ้าง แล้วแต่กรณี อย่างคนที่จะมาฆ่าท่าน ท่านก็ใช้ปัญญาสอนให้เห็นโทษของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จนเขาไม่กล้าฆ่า ส่งช้างมาเหยียบ ท่านก็แผ่เมตตา ช้างก็ไม่ทำร้ายท่าน ส่วนพระเทวทัตกลิ้งก้อนหินลงมาจากเขา จนทำให้พระบาทห้อเลือด ก็ทรงตั้งอยู่ในอุเบกขา ไม่ถือโทษโกรธเคือง ทรงคิดว่ากรรมต้องตามมาเอง แล้วไม่นานกรรมก็ตามมา พระเทวทัตเกิดความสำนึกผิด ก็ไปกราบขอขมาลาโทษ ก่อนที่จะถูกธรณีสูบไป

การขอขมาลาโทษนี้ ไม่ใช่เพื่อให้เขาให้อภัยเรา แต่ให้เราสำนึกถึงความผิดของเรา ให้เห็นโทษของการกระทำของเรา เพื่อจะได้จดจำไว้ จะได้ไม่ทำอีก ไม่ได้ขอให้เขาไม่โกรธเรา ถ้าเขาจะโกรธ เราจะไปห้ามเขาได้อย่างไร ถ้าไม่อยากให้เขาโกรธ ก็อย่าไปทำเขา ถ้าเราไม่ทำเขา เขาจะโกรธเราได้อย่างไร คนเราถ้าไม่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจกัน จะไม่โกรธกันหรอก ถ้ามีความสำนึกผิด ก็จะไม่ทำบาปอีก พระเทวทัตหลังจากพ้นโทษแล้ว จะไม่กลับมาทำบาปแบบเดิมอีก ก็จะได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะท่านก็บำเพ็ญบุญมามาก มีศีล มีสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาพอที่จะดับความหลง ความอยาก มักใหญ่ใฝ่สูง อยากจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้แต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เรายังไม่ตั้งเลย แล้วคุณเป็นใคร ตรัสแค่นี้ก็โกรธ แต่ก็มาสำนึกผิดทีหลัง ถ้าทำผิดแล้วก็ควรรับผิด ไปขอขมาลาโทษ ถ้าไม่ขอขมาลาโทษเลย แสดงว่าไม่สำนึกเลย ยังโหดร้ายอยู่ ถ้าทำอะไรผิดควรขอขมาลาโทษ แต่อย่าทำบ่อย อย่างพระบางรูปที่คิดว่าทำผิดศีลได้ เพราะปลงอาบัติได้ ไม่เป็นไร อย่างนี้ไม่ใช่ความหมายของการปลงอาบัติ การปลงอาบัติก็เป็นแบบเดียวกันกับการขอขมาลาโทษ ให้สำนึกผิดเพื่อที่จะไม่ทำอีกต่อไป แต่ถ้าทำซ้ำๆซากๆ แล้วก็ปลงซ้ำๆซากๆ ก็ไม่ใช่เป็นการปลงอาบัติแล้ว ผิดครั้งหนึ่งแล้ว อย่าไปผิดซ้ำซาก