กัณฑ์ที่ ๓๘     ๒๘ มกราคม ๒๕๔๔

กรรม

 

ทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่ได้กระทำกรรมกัน  การกระทำกรรมนี้กระทำกันทุกๆคน จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาก็เริ่มกระทำกรรมกันแล้ว เพราะเหตุใดจึงว่ากระทำกรรมกัน  ก็เพราะคำว่ากรรมนี้หมายถึงการกระทำ การกระทำทางกายเรียกว่ากายกรรม  การกระทำทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม   การกระทำทางใจเรียกว่ามโนกรรม  แม้แต่เวลานั่งอยู่เฉยๆ ร่างกายไม่ขยับเขยื้อน ปากไม่พูดอะไร แต่ใจกำลังกระทำกรรมอยู่ ใจยังคิดอยู่  ความนึกคิดของใจเรียกว่ามโนกรรม ตัวมโนกรรมนี้เป็นต้นเหตุของการกระทำทางกายและทางวาจา  คือใจจะเป็นผู้สั่งการออกไป กายและวาจาจึงเคลื่อนไหวได้ จจึงเป็นต้นเหตุของกรรมทั้งหลาย  อย่างวันนี้ญาติโยมมาที่วัดกัน  ก่อนจะพาร่างกายมาถึงที่วัดนี้ได้ใจต้องสั่งการก่อน ใจต้องนึกคิดไว้ก่อนว่าจะไปวัด ไปทำบุญ คิดแล้วก็ใช้จีกรรมชวนเพื่อนฝูง ถามกันว่าจะไปวัดไหม แล้วก็พากันมา  นี่คือการกระทำกรรมอย่างหนึ่ง  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราทำกรรมกันอยู่ตลอดเวลา  แม้กระทั่งเวลาหลับ ใจก็ยังทำกรรมอยู่ ความฝันก็เป็นการทำงานของใจเรียกว่ามโนกรรม

กรรมนี้ทำได้ ๓ ทางด้วยกัน   ดี   ชั่ว  ไม่ดีไม่ชั่ว     กรรมดีเรียกว่ากุศล     กุสลาธัมมา กรรมชั่วเรียกว่าอกุศล  อกุสลาธัมม กรรมไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่าอัพยากฤต  อัพยากตาธัมมา  กุศลเกิดจากความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง  เมื่อไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็รักที่จะทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นกุศล  อกุศลเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อมีความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะทำในสิ่งที่ไม่ดี  เช่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา 

เมื่อทำกรรมไปแล้วก็มีผลตามมา เรียกว่าวิบาก   ทำกรรมไปแล้วก็ต้องมีผลตามมา  เพราะกรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผล  เมื่อทำอะไรไปแล้วย่อมมีผลตามมา  ในอันดับแรกก็คือความรู้สึกในจิตใจ  คือความสุขและความทุกข์  ถ้าทำความดีจิตใจก็จะมีความสุข  ถ้าทำความชั่วทำบาป จิตใจก็จะมีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ  อันนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นในจิตใจทันที  อย่างวันนี้มาทำบุญให้ทาน มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน จิตใจสบาย จิตใจเย็น จิตใจมีความสุข จิตใจมีความสงบ  แต่ถ้าไปทำอย่างอื่น เช่นไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไปทะเลาะวิวาท ไปทุบตี ไปกลั่นแกล้งกัน ไปโกงกัน ไปลักทรัพย์ จิตใจก็มีความไม่สบายใจ เกิดความทุกข์ใจตามมา

นี่เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ทันทีทันใดในปัจจุบันชาตินี้   ในขณะที่กระทำกรรมนั้นๆอยู่ ส่วนผลอย่างอื่นที่จะตามมาภายหลังนั้นอาจจะเป็นผลที่เกิดขึ้นช้าหรือเร็วต่างกัน  เช่นกระทำความดีแล้วก่อนที่คนอื่นจะเห็นความดี ก่อนที่จะได้รับผลตอบแทนจากผู้อื่น ได้เลื่อนเงินเดือน ได้เลื่อนขั้นเลื่อนยศ ได้คำสรรเสริญ  อาจจะใช้เวลานาน  หรือทำชั่วไปแล้ว อาจจะยังไม่ถูกตำรวจจับเข้าคุกไปทันทีทันใดก็ได้ เพราะว่าผลของกรรมยังไม่ปรากฏขึ้นมา  ยังตามมาไม่ถึง ยังตามมาไม่ทัน  แต่เมื่อตามมาทันแล้วก็ต้องถูกตำรวจจับเข้าคุกเข้าตะราง  ต้องถูกคนอื่นเขาสาปแช่ง อย่างนี้เป็นต้น

ผลของกรรมมีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน  คือภายในจิตใจและภายนอกจิตใจ  ภายในจิตใจเกิดขึ้นทันทีทันใด  ส่วนภายนอกจิตใจอาจจะช้าบ้าง  อาจจะเร็วบ้าง  การกระทำในอดีตชาติที่เพิ่งเกิดผลขึ้นมาในชาตินี้ก็มี  เหตุใดคนที่ทำความดีแล้วกลับรู้สึกว่าไม่ได้รับผลของการกระทำความดีเลย  รู้สึกมีแต่สิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ  ส่วนนี้ต้องยกให้เป็นวิบากกรรม หรือผลของกรรมที่ได้ทำมาก่อนในอดีตชาติ  ผลมันถึงตามมาในชาตินี้  ส่วนความดีที่ได้กระทำในชาตินี้ผลยังตามไม่ถึง ยังไม่ปรากฏก็เลยทำให้คิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี  ทำความดีแล้วไม่ได้ผลตอบแทน เห็นคนอื่นเขาทำความชั่วกลับได้ดิบได้ดีกัน นี่เป็นเพราะยังไม่เข้าใจในเรื่องวิบากกรรม การแสดงผลของกรรมนั้นไม่เกิดขึ้นทันทีทันใดเสมอไป แล้วแต่ชนิดของการกระทำ เปรียบเหมือนกับต้นไม้ต่างๆ บางชนิดก็ออกดอกออกผลได้เร็ว บางชนิดก็ต้องใช้เวลานานถึงจะออกดอกออกผล อย่างข้าวนี้ปลูกไป ๓ เดือน ก็ออกรวงแล้ว  แต่ถ้าเป็นต้นมะม่วง ต้นส้ม ต้นทุเรียน  ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีถึงจะเกิดผลขึ้นมา

เมื่อยังไม่เห็นผลที่เกิดจากการกระทำในปัจจุบัน ก็เลยมีความคิดว่ากรรมไม่มี  วิบากไม่มี ทำไปแล้วไม่มีผลตามมา  ถ้าคิดเช่นนี้แล้วก็เป็นความคิดผิด เรียกว่ามิจฉาทิฐิ ซึ่งจะนำไปกระทำกรรมที่ไม่ดี ให้ไปทำความชั่วอยู่เสมอ เมื่อเกิดผลของกรรมชั่วตามมาที่หลัง ก็จะมีแต่ความทุกข์ความยากลำบาก   วิบากกรรมจะตามติดตัวไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า  เป็นเหตุให้ไปเกิดที่สูง ที่ต่ำ ไปสวรรค์หรือไปนรก ไปสู่สุคติหรือทุคติ  ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก หรือไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล  นี่คือผลที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อไปในภพหน้าชาติหน้า  ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมต่างๆที่กระทำกันในชาตินี้  ถ้าทำกรรมดีไว้มาก ทำบุญทำกุศลไว้มาก  โอกาสที่จะได้ไปเกิดในสุคติ บนสวรรค์ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคลก็มีมาก  แต่ถ้าทำบาปทำกรรมไว้มาก โอกาสที่จะได้ไปเกิดในอบาย ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ก็มีมากเช่นเดียวกัน

ถ้าปรารถนาที่จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความสุขใจ ตายไปก็ได้ไปสู่สุคติ ก็ขอให้กระทำแต่กรรมดี ทำบุญทำกุศลไว้  แต่ถ้าปรารถนาที่จะไปเกิดในอบาย  ไปเป็นเปรต เป็นเดรัจฉาน เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ก็ขอให้หมั่นทำบาป ทำกรรมไว้ แล้วผลของกรรมจะต้องตามมาอย่างแน่นอน  เพราะหลักของกรรมนั้นเป็นหลักธรรมชาติ เป็นของจริง  จะมีใครเข้าใจในหลักกรรมนี้หรือไม่ก็ตาม  สิ่งเหล่านี้มันก็มีอยู่ในตัวของมัน เหมือนกับเกลือที่มีรสเค็ม จะมีใครรู้ว่ามีรสเค็มหรือไม่ก็ตาม  เกลือมันก็เค็มอยู่อย่างนั้น  น้ำตาลมันก็หวานอยู่อย่างนั้น  ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงให้เกลือมันหวานได้  ให้น้ำตาลมันเค็มได้  ต้องเป็นไปตามหลักธรรมชาติของเขา  หลักกรรมและวิบากกรรมก็เช่นกัน  เป็นหลักธรรมชาติตายตัวไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าเข้าใจในหลักกรรมแล้ว ย่อมขวนขวายกระทำแต่ความดี ระงับความชั่วทั้งหลาย พยายามชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นต้นเหตุของบาปกรรมทั้งหลายให้หมดไป ตราบใดยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในจิตใจ ก็ยังต้องทำบาปกรรมกันอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด  ถ้าไม่ต้องการทำบาปทำกรรมก็ต้องชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงให้ออกไปจากจิตใจให้หมดสิ้นไป  ถ้าชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ถึงที่สุดสิ้นแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ถ้ายังไม่หมดสิ้นกิเลสก็ยังต้องไปเกิด ไปเสวยสุขเสวยทุกข์ต่อไป จึงขอให้ดูความโลภ ความโกรธ ความหลงในจิตใจเป็นหลัก  คอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา อย่าให้มันเกิดขึ้นมา  เวลามันเกิดขึ้นมาก็ทำลายมันเสียด้วยการไม่ทำตาม  เวลาโลภก็อย่าโลภตาม  เวลาโกรธก็อย่าโกรธตาม  เวลาหลงก็อย่าหลงตาม  ถ้าทำได้ ต่อไปความโลภ ความโกรธ ความหลงจะน้อยลงไป แล้วในที่สุดก็จะหมดไป กลายเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์  เมื่อจิตสะอาดบริสุทธิ์แล้วก็เป็นปรมังสุขัง เป็นบรมสุข  เป็นสุดยอดของความสุข การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้