กัณฑ์ที่ ๓๘๐ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑
ไปถูกทาง
จากการที่พวกเราได้มาฟังธรรมกันอยู่เรื่อยๆนี้ คิดว่าคงจะได้ความเข้าอกเข้าใจ ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น สามารถนำเอาไปปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตจิตใจ ถ้าได้ก็จะไม่เสียเวลากับ ๓ ปีที่ผ่านมา ถ้ามีความทุกข์ความวุ่นวายความหลงน้อยลง มีความอยากความต้องการต่างๆน้อยลง มีความสุขสบายใจมากขึ้น ก็แสดงว่าได้ไปถูกทางแล้ว เพราะความจริงแล้ว ชีวิตของเรานี่ ไม่ต้องการอะไรจากภายนอกเลย สิ่งต่างๆภายนอกไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงกับเรา ถ้าเรายังมีความต้องการในสิ่งต่างๆอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือเป็นบุคคล ก็แสดงว่าเรายังหลงทางอยู่ ยังไม่ได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้ายังคิดว่าความสุขอยู่ที่การได้การงานที่ดี ได้ตำแหน่งที่ดี ได้สิ่งต่างๆที่ดี แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ดีจริงๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีสิ่งที่ไม่ดีติดมาด้วย แถมมาด้วย เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งต่างๆนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่คงเส้นคงวา ไม่ดีเสมอไป มีขึ้นมีลง มีเจริญมีเสื่อม โดยเฉพาะตัวที่ไปรับเอาสิ่งต่างๆมานั้น ก็มีการเสื่อมไปเช่นเดียวกัน ก็คือร่างกายของเรา ถ้าไม่มีร่างกายเราก็จะไม่สามารถหาสิ่งต่างๆ มาให้ความสุขกับเราได้ ต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เพื่อจะได้ดูภาพ ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งต่างๆ แต่ร่างกายและสิ่งต่างๆที่ได้สัมผัสผ่านทางอายตนะทั้ง ๕ ก็ไม่ถาวร ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเจริญ มีการเสื่อม มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เพราะความไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ จึงทำให้ความสุขเปลี่ยนไปด้วย สิ่งที่เราชอบเมื่อเปลี่ยนไปเป็นอีกสภาพหนึ่ง ก็จะไม่สุขเหมือนเดิม ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้
ถ้ามองด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ดีจริงๆ ที่ให้ความสุขจริงๆ ให้ความสุขไปตลอด ให้ความสุขอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างมีความทุกข์ มีความกังวลใจ มีความวุ่นวายใจ มีความเสียอกเสียใจตามมาด้วย เพราะเมื่อใจได้สิ่งที่ชอบก็จะยึดติด และอยากจะให้เป็นเหมือนตอนที่ได้มาใหม่ๆ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เราได้มาแล้ว มันก็ค่อยๆเปลี่ยนไป ความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้มาก็เปลี่ยนไปด้วย เวลาได้มาใหม่ๆจะพิศวาสยินดี แต่พอได้เห็นได้สัมผัสอยู่บ่อยๆ ก็เกิดความจำเจชินชา ความยินดีก็จางหายไป แต่ความผูกพันความหวงแหนกลับไม่ได้จางหายไปด้วย ถ้าต้องสูญเสียไปก็จะเสียใจทุกข์ใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง แต่เป็นความทุกข์ เพราะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นของเราหรือตัวเรา เช่นร่างกายนี้พวกเราทุกคนก็คิดว่าเป็นตัวเรา แต่ตอนก่อนที่พ่อแม่จะมาเจอกัน มาทำให้เราเกิดได้นี้ เราอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นตัวเรา ก็ต้องมีอยู่ตลอดเวลา ต้องมีตั้งแต่ก่อนที่จะมีพ่อแม่เสียด้วยซ้ำไป แต่ร่างกายของเรามาปรากฏขึ้น หลังจากที่พ่อแม่ได้อยู่ร่วมกัน จึงปรากฏเป็นร่างกายขึ้นมาในท้องแม่ มีใจที่เป็นตัวเรานี้ ซึ่งตอนนั้นเป็นดวงวิญญาณ ที่กำลังหาร่างกายอยู่ มารับร่างกายจากพ่อจากแม่ จึงเกิดการปฏิสนธิ เจริญเติบโตในท้องแม่อยู่ ๙ เดือน ก็คลอดออกมา พอเริ่มรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา ก็รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา
ดวงวิญญาณนี้เป็นเหมือนใจตอนที่เรานอนหลับ จะไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย จะรู้แต่เรื่องราวต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในขณะที่หลับ เช่นฝันว่าไปเจอสิ่งนั้นเจอสิ่งนี้ ไปทำสิ่งนั้นไปทำสิ่งนี้ ตอนนั้นร่างกายไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในฝัน เป็นเรื่องของจิตใจหรือดวงวิญญาณโดยลำพัง ตอนนั้นร่างกายนอนอยู่เฉยๆ พอตื่นขึ้นมาปั๊บจิตใจก็กลับมารับรู้ร่างกาย ว่ากำลังนอนอยู่ อยู่ที่ไหน เป็นใคร ซึ่งเป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นหญิงเป็นชาย เป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่คนนั้นคนนี้ มีชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พอตื่นขึ้นมาแล้ว เราก็ลุกไปทำกิจกรรมต่างๆ ทำอย่างนี้ไปทุกวันทุกวัน ทำบุญบ้าง ทำบาปบ้าง ทำทั้งที่ไม่ใช่บุญและไม่ใช่บาปบ้าง ถ้าทำบุญก็จะส่งเสริมพัฒนาจิตใจ ให้มีความสุขมีความเจริญมากขึ้น ถ้าทำบาปก็จะทำจิตใจให้ดิ่งลง ให้มีความทุกข์มากขึ้น พอตายไปก็เหมือนกับหลับไป หลับแบบไม่ตื่น พอตื่นอีกทีก็ไม่ได้ร่างกายเดิม เป็นร่างกายของทารกใหม่ ที่คลอดออกมาจากท้องแม่ใหม่ เป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นนกเป็นสุนัขก็ได้ เป็นสมมุติใหม่ เป็นมนุษย์คนใหม่ เป็นเชื้อชาติใหม่ เป็นฝรั่ง เป็นแขก ไม่แน่นอน เรื่องของบุญของกรรม ที่จะผลักดันให้ดวงวิญญาณหรือดวงจิตดวงใจของเรานี้ ไปสู่ภพใหม่ชาติใหม่
เพราะมีความหลงผลักดันให้ใจมีความอยาก มีความต้องการ ที่จะสัมผัสรับรู้กับกามคุณทั้ง ๕ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ซึ่งต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ ในขณะที่ไม่มีร่างกายเช่นตอนที่เรานอนหลับไป ก็ยังมีความต้องการในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ แต่ตอนนั้นจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่เป็นทิพย์ รูปทิพย์เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์ ตอนที่ฝันนั้นจะสัมผัสกับของทิพย์ทั้งนั้น ฝันว่าได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านนั้น มีความสุขกับสิ่งนั้นกับสิ่งนี้ กับคนนั้นกับคนนี้ ตอนนั้นไม่ได้ใช้ร่างกาย ใจไปด้วยจินตนาการ ไปพบกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีความสุขกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีความทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะใจยังมีกามฉันทะ ความยินดีในกามอยู่ จึงฝันถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ กามฉันทะนี้จะเป็นตัวผลักดัน ให้ดวงจิตดวงใจดวงวิญญาณนี้ หลังจากที่ร่างกายในปัจจุบันได้สูญสลายไปแล้ว ไปหาร่างใหม่ ในขณะที่ยังไม่ได้ร่างกายหยาบ ก็จะอยู่ในสภาพของกายทิพย์ไปก่อน ถ้ามีความสุขมากกว่าความทุกข์ก็เป็นพวกเทพ ถ้ามีความทุกข์มากกว่าความสุขก็เป็นพวกเปรตพวกนรกไป นี่เป็นเรื่องของจิตใจของพวกเรา เรียกว่าใจในขณะที่มีร่างกาย เรียกว่าดวงวิญญาณถ้าไม่มีร่างกาย เรียกว่าเทพถ้ามีความสุข เรียกว่าเปรตถ้ามีแต่ความหิวความกระหาย เรียกว่านรกถ้ามีแต่ความทุกข์ความรุ่มร้อนเผาผลาญจิตใจ ด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้นอาฆาตพยาบาทต่างๆ เป็นการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของสภาพจิตใจ ตามบุญกรรมที่ได้ทำไว้ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่ได้ชำระความหลง ที่เป็นต้นเหตุผลักดันให้จิตใจต้องไปทำบาปทำบุญ ไปแสวงหาความสุขจากภายนอก
พวกเราได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ที่สอนให้เห็นว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่กับสิ่งต่างๆภายนอก ไม่ได้อยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ได้อยู่กับวัตถุข้าวของเงินทอง ไม่ได้อยู่กับบุคคลนั้นกับบุคคลนี้ แต่อยู่ในใจที่ทำความดี ละบาป ชำระความโลภความโกรธความหลงจนหมดสิ้นไป ทำให้ใจมีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง จนหมดไปในที่สุด การทำความดีและการละบาปเป็นผลที่ออกมาจากปัญญา คือความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาทิฐิ เห็นว่าการทำความดีเท่านั้น การไม่ทำบาปเท่านั้น ที่จะทำให้เรามีความสุข ทำให้เราไม่มีความทุกข์ เราจึงต้องสร้างปัญญา เพราะถ้าเราเพียงแต่ทำความดีละบาป แต่ไม่สร้างปัญญาเครื่องกำจัดความหลง พอตายจากชาตินี้ไปก็จะลืมได้ พอไปเกิดใหม่ถ้าไปอยู่ในสังคมที่มีแต่การทำบาป ไม่ทำความดีกัน เราก็จะทำตาม เพราะถูกอิทธิพลของสังคมชักจูงไป แต่ถ้าได้เสริมสร้างสติปัญญาไว้แล้ว ให้เห็นว่าเหตุที่ต้องทำความดีไม่ทำบาปนั้น เพราะทำให้เรามีความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่ต้องไปหาความสุขภายนอก เราก็จะทำแต่ความดีและละบาปเสมอ ถ้ามีความหลงมันก็จะหลอกให้เราออกไปหาความสุขจากภายนอก เราก็จะทำความดีได้ยาก ทำความชั่วทำบาปได้ง่าย จึงต้องสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นมา จะได้ไม่ไปแสวงหาความสุขจากภายนอก จากสิ่งต่างๆบุคคลต่างๆ แต่จะแสวงหาความสุขภายในใจ ด้วยการทำใจให้สงบ เพื่อระงับความหลง ที่ทำให้เกิดความโลภความต้องการ เมื่อไม่มีความโลภก็จะไม่เกิดความโกรธ เพราะความโกรธเกิดขึ้นเวลาไม่ได้ตามที่ปรารถนา เวลาอยากได้อะไรแล้วมีผู้อื่นมาขัดขวาง เราก็จะโกรธ
รากเหง้าของปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ความหลงนี้เอง ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เห็นว่าความสุขอยู่ภายนอก อยู่กับสิ่งต่างๆ อยู่กับเรื่องต่างๆภายนอก เราจึงวิ่งหากัน ปัญญาไม่ทันความหลงความโง่ของเรา ที่ฉลาดกว่าปัญญาของพระพุทธเจ้า มันจึงทำหน้าที่นำทาง แทนที่จะเข้าวัดบ่อย เรากลับเข้าวัดน้อย ไปเที่ยวบ่อย เป้าหมายหลักของการเข้าหาพระพุทธศาสนาก็เพื่อให้เกิดสัมมาทิฐิ ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ภายในใจ เพราะสิ่งต่างๆภายนอกไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่เป็นความทุกข์ ที่เราทุกข์กัน วุ่นวายกันทุกวันนี้ ก็เพราะสิ่งต่างๆภายนอกทั้งนั้น ร่างกายก็เป็นทุกข์ ต้องดูแลรักษา ต้องหวาดกลัว ต้องกังวลกับความเป็นไปของร่างกาย มีทุกข์กองหนึ่งยังไม่พอ ยังไปหาทุกข์มาเพิ่มอีก หาคู่ครองมาเป็นกองทุกข์เพิ่มอีกกองหนึ่ง แล้วก็ได้ลูกเป็นกองทุกข์ตามมาอีก มันทุกข์ทั้งนั้น ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา จะเห็นว่ามีแต่ความทุกข์ ความหลงมันหลอกให้เราอยากได้อยากมีสิ่งต่างๆ ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ วนเวียนอยู่ในกามภพเป็นส่วนใหญ่ เพราะติดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็จะวนเวียนอยู่กับการแสวงหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มาเสพมาสัมผัสมาให้ความสุข เพราะถ้าให้อยู่บ้านเฉยๆก็จะเบื่อหน่าย เห็นภาพซ้ำซากจำเจก็เบื่อหน่าย ต้องออกไปสัมผัสภาพแปลกๆใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ พอใครชวนให้ไปเที่ยว จะรู้สึกเหมือนปลาได้น้ำ กระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันที แต่ถ้าใครชวนเข้าวัดนี่ จะต้องฉุดหลายหน ต้องมีกิจกรรมมีงานบุญงานกุศลถึงจะไป ถ้าให้ไปนั่งหลับตาไปนั่งภาวนา จะไม่ค่อยอยากไปกัน ให้ไปหาความสุขภายในใจ กลับไปไม่ได้ เพราะไม่ถนัด ถนัดแต่หาความสุขจากภายนอก
เวลาทำอะไรที่ไม่ถนัดจะรู้สึกลำบากยากเย็น ไม่มีความสุขเหมือนกับทำสิ่งที่ถนัดที่ชอบ เราจึงต้องฝืน ถ้าไม่ฝืนจะไม่มีทางได้พบกับความสุขที่แท้จริง ต้องมีกำหนดการ ว่าปีนี้จะเข้าวัดกี่ครั้ง จะปฏิบัติมากน้อยเพียงไร จะถือศีลมากน้อยเพียงไร เงินที่ได้มาจะแบ่งเอาไว้ทำบุญมากน้อยเพียงไร กำหนดไว้ให้เป็นกรอบไว้เดิน แล้วก็พยายามเพิ่มให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เข้ามาทางธรรมให้มากขึ้น ให้ออกไปทางโลกน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเข้ามาหมดตัวเลย ทางโลกไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวเลย ไปอยู่วัดตลอดเลย อยู่ในฐานะนักบวช โกนหัวก็ได้ ไม่โกนหัวก็ได้ ไม่สำคัญ เพราะเป็นเพียงรูปธรรม เป็นเครื่องแบบเท่านั้นเอง การเข้าวัดที่แท้จริงต้องเข้าด้วยใจ ที่ทุ่มเทให้กับการหาความสงบสุขภายในใจ หาปัญญาเพื่อทำลายความหลง ที่จะคอยหลอกล่อให้ไปหาความสุขภายนอก ถ้าไม่กำหนดจะไม่มีหลัก อย่างสมัยที่อาตมาเคยปฏิบัติมา ตอนต้นก็นั่งไปตามอัธยาศัย นั่งไปแล้วรู้สึกว่าดีก็อยากจะนั่งมากขึ้น แต่ช่วงนั้นยังทำงานอยู่ ก็เลยตัดสินใจว่า อีกเดือนหนึ่งสิ้นปีพอดี ก็จะขอลาออกจากงาน จะขอใช้เวลา ๑ ปีทุ่มเทกับการปฏิบัติอย่างเดียว จะไม่ทำอย่างอื่น จะรับประทานอาหารมื้อเดียวก่อนเที่ยง ตลอดวันจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะเป็นส่วนใหญ่ จะไม่ออกไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก เหมือนกับสมัยที่ไม่ได้ปฏิบัติ พอตื่นเช้าขึ้นมาปั๊บก็ต้องออกจากบ้าน ไปชายทะเล ไปที่ไหนก็ได้ ขอให้ได้ไป แต่ตอนนี้จะไม่ไปแล้ว จะภาวนาปฏิบัติอยู่ในบ้าน ถ้าไปข้างนอกก็จะไปหาที่สงบที่เงียบ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ไปหามุมสงบแถวชายทะเล บางทีก็ไปภาวนานอนค้างที่เกาะ กำหนดว่าจะลองทำสักปีหนึ่ง ต้องมีเป้าหมาย กำหนดการไว้ ถ้าปีนี้ปฏิบัติได้ร้อยละสิบ ปีหน้าจะเพิ่มเป็นร้อยละยี่สิบ เคยเข้าวัดเพียง ๒ ถึง ๓ ครั้งต่อปี ก็จะเพิ่มเป็นเดือนละครั้งเป็นต้น
ให้มีกำหนดการแล้วพยายามปฏิบัติตามให้ได้ ถ้าไม่กำหนดไว้ ปล่อยไปตามความรู้สึกความพอใจ หรือรอให้มีเหตุการณ์ชักจูงไป จะไปไม่ถึงไหน เพราะเหตุการณ์ที่จะจูงไปมีน้อย ความรู้สึกอยากจะไปก็มีน้อย อยากจะไปที่อื่นมากกว่า ถ้าไม่วางแผนไว้ แล้วฝืนลากใจไปนี่ ปล่อยให้ไปตามความรู้สึก จะไปไม่ถึงไหน จะเสียเวลามาก เวลาจะไม่พอต่อการปฏิบัติ เพราะชีวิตของเรามันสั้น ไม่ยาวนาน จะสั้นลงไปเรื่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆทุกวัน แต่ถ้ากำหนดเวลาไว้ ว่าจะปฏิบัติมากน้อย แล้วเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จะมีเวลาเพียงพอ ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมาได้ เบื้องต้นเราต้องพยายามศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรม จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าความสุขในโลกนี้ไม่มี ไม่อยู่กับสิ่งต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าความสุขที่แท้จริงต้องอยู่ในใจ ต้องเข้าข้างใน ต้องปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปล่อยวางความสุขภายนอก อยู่คนเดียว ทำจิตให้สงบให้ได้ แล้วก็เจริญปัญญา ให้รู้ทันความหลง ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะปัญญาหรือความเข้าใจที่ได้ยินได้ฟังนี้ไม่พอเพียง พอไม่คิดถึงมันปั๊บ ความหลงก็จะมาหลอกเราได้ทันที เช่นขณะที่เราฟังนี้ เราเข้าใจแล้วว่า ความสุขในโลกนี้ไม่มี แต่พอออกจากสถานที่นี้ไปไม่นาน เดี๋ยวมันจะหลอกให้ไปหาอะไรกินหาอะไรดื่ม ชวนไปที่นั่นไปที่นี่ ชวนคุยกันเรื่องนั้น คุยกันเรื่องนี้ พอเริ่มไปทางนั้น แสดงว่าปัญญาที่ได้ยินได้ฟังเมื่อสักครู่นี้ ถูกกลบไปหมดแล้ว ต้องไปอยู่ที่สงบเงียบ ทำจิตใจให้สงบ เจริญความเข้าใจนี้อยู่เสมอ เตือนตนอยู่เสมอว่า ความสุขต่างๆในโลกนี้ไม่มี อยู่ที่ใจของเราเท่านั้น อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ในวัด อยู่ที่สงบสงัดวิเวก โดดเดี่ยวเดียวดาย นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง อย่าไปคิดถึงเพื่อนคนนั้น คิดถึงเพื่อนคนนี้ อย่าไปหาคนนั้นหาคนนี้ อย่าไปอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ มันเป็นความหลงทั้งนั้น นี่คือเป้าหมายที่เราต้องทำให้ได้
เรารู้โดยสังเขปแล้วว่า ความสุขอยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่ภายนอก ทีนี้เราต้องนำเอาไปปฏิบัติให้ได้ พอเราเผลอปั๊บ ความหลงจะหลอกให้ไปหาความสุขภายนอกทันที เพราะว่าชีวิตของเราส่วนหนึ่ง ก็มีความจำเป็น ต่อการแสวงหาบางสิ่งบางอย่างจากภายนอก เพื่อมาดูแลรักษาอัตภาพร่างกายของเรา ต้องหาอาหารมารับประทาน หาที่อยู่อาศัย หายารักษาโรค หาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ แต่การแสวงหานี้ก็อาจจะถูกความหลงหลอก ให้หาแบบเลยเถิดไปก็ได้ คือไม่รู้จักประมาณ หาแบบหรูหราฟุ่มเฟือย ก็จะถูกกิเลสถูกความหลงหลอกไปแล้ว ต้องใช้ความมักน้อยสันโดษเสมอ เวลาแสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา อย่างของพระนี่ท่านก็มีเวลา มีกำหนดการ อาหารก็ตอนเช้าออกไปบิณฑบาต ได้อะไรมาก็ฉันไปตามมีตามเกิด ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ว่าวันนี้จะรับประทานอาหารชนิดไหน อย่างไร แบบไหน เพราะจะกลายเป็นความหลงไปแล้ว ถ้าปรุงแต่งก็จะปรุงแต่งเพื่อความสุข ต้องรับประทานอาหารที่ถูกอกถูกใจ จะได้มีความสุข แต่นักปฏิบัติต้องรับประทานอาหารเหมือนกับเติมน้ำมัน เหมือนกับรับประทานยา ยาจะมีรูปร่างอย่างไร สีอะไร ไม่สำคัญ หมอให้มารับประทาน ก็รับประทานเข้าไป อาหารจะเป็นชนิดไหนก็ไม่สำคัญ จะมีรสชาติอย่างไรก็ไม่สำคัญ ถ้าเป็นประโยชน์ รับประทานแล้วไม่เกิดโทษ ไม่เจ็บท้อง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็รับประทานเข้าไป เพื่อให้มันอิ่ม เพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน จะได้อยู่ต่อไปได้ เท่านี้ก็พอ ต้องมักน้อยสันโดษ รู้จักประมาณในการบริโภคปัจจัย ๔ เสื้อผ้าก็พอปกปิดร่างกายได้ก็พอ ไม่ต้องหรูหรา ไม่ต้องสวยสดงดงาม ไม่ต้องพิสดาร ติดเพชรติดทอง ติดขนไก่ ติดอะไรต่างๆให้ยุ่งไปหมด ที่อยู่อาศัยก็พอหลบแดดหลบฝนได้ ปลอดภัยจากภัยต่างๆ ทางธรรมชาติและจากคนที่ไม่ดีทั้งหลายก็พอ ก็มีเท่านี้ สิ่งที่เราต้องแสวงหาจากภายนอก แต่ไม่ได้แสวงหาเพื่อความสุข เป็นเหมือนเติมน้ำมันให้กับรถ
ร่างกายของเรานี้เป็นเหมือนรถ ที่จะพาให้เราไปสู่จุดหมายปลายทาง คือความสุขภายในที่วิเศษ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้สัมผัสได้มาครอบครอง คือใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ที่เกิดจากการทำความดี ละบาป และชำระความโลภความโกรธความหลงจนหมดสิ้นไป ด้วยการบำเพ็ญภาวนา รักษาศีล ทำบุญให้ทาน นี่คือข่าวสารจากพระพุทธเจ้า นี่คือคำสอนที่จะพาให้พวกเรา ได้ไปพบกับความสุขที่แท้จริง เมื่อเราได้รับข่าวสารนี้แล้ว ก็ต้องนำเข้ามาสู่ใจ โอปนยิโก นำเข้ามาเตือนสติเตือนใจเราอยู่เรื่อยๆว่า ขณะนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ วันเวลาผ่านไป กำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำตามความหลง หรือกำลังทำตามพระพุทธเจ้า ถ้าทำตามพระพุทธเจ้า ก็ต้องทำบุญให้ทานรักษาศีลหรือภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปสนุกสนานเฮฮา ก็ไม่ได้ทำตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เคยอยู่ในวัง ท่านก็เคยสนุกสนานเฮฮา แต่ท่านเบื่อเร็ว ท่านเห็นโทษของมันเร็ว พออายุ ๒๙ ท่านก็กระโดดหนีแล้ว เข้าป่าแล้ว พวกเรานี่ ๔๐ ๕๐ เข้าไปแล้ว ยังไม่เห็นอีกหรือ แล้วเมื่อไหร่จะเห็นล่ะ
ถาม ท่านอาจารย์เมตตาสอนถึงเรื่องความสุขเวลามาวัด ทีนี้มันยังติดเที่ยวอยู่บ้าง มันก็เป็นความสุขคนละแบบ มาวัดก็อยากมา ไปเที่ยวก็ยังอยากไปเที่ยว เราจะจัดสมดุลตรงนี้ได้หรือไม่คะ
ตอบ ได้ ให้เห็นว่าความสุขที่เกิดจากการไปเที่ยว เป็นเหมือนกับความสุขที่ได้จากยาเสพติด จริงๆมันเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง เพียงแต่สังคมยอมรับกัน แต่การเที่ยวทำให้คนฉิบหายวายวอดมาก็มากเหมือนกัน ถ้าเที่ยวแบบไม่มีประมาณ หาเงินหาทองมาได้เท่าไหร่ ก็จะหมดไปกับการไปเที่ยวไปกินไปเล่น เหมือนกับความสุขที่ได้จากการเสพสุรายาเมาหรือสูบบุหรี่ เป็นความสุขที่มันเผาผลาญทำลายชีวิต ไม่ได้ฉุดไม่ได้ส่งเสริมให้ชีวิตดีขึ้นสูงขึ้น ถ้าเที่ยวพอประมาณ มีสมดุล ไม่ถึงกับต้องไปทำบาปทำกรรม ไปทุจริตประพฤติมิชอบ ก็จะไม่ขาดทุน แต่ไม่ได้กำไร จากการได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ที่เป็นเหมือนกับเพชรน้ำหนึ่ง ที่เราสามารถเป็นเจ้าของได้ เป็นสมบัติของเราได้ แต่เราก็เป็นเหมือนกับไก่ที่ได้พลอย เห็นไส้เดือนดีกว่าพลอย เพราะไก่กินพลอยไม่ได้ ไก่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าเอาพลอยไปขายได้ จะได้ไส้เดือนเป็นกิโลเก็บไว้กิน ไม่ต้องไปคุ้ยไปค้นหาให้เหนื่อยยากทุกวัน เราไม่เห็นคุณค่าของความสงบของจิตใจ ที่จะให้ความสุขกับเราไปตลอด ไม่ต้องไปขวนขวายดิ้นรนวุ่นวาย กับการหาความสุข จากการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอเลย แต่ความสุขที่ได้จากความสงบจะอิ่มมันจะพอไปตลอด อยู่ที่ไหนก็มีความสุข มีความอิ่ม มีความพอตลอดเวลา อันนี้เราไม่เห็นกัน เรายังเป็นเหมือนไก่ได้พลอยอยู่ เห็นพลอยก็เขี่ยทิ้งไป หาแต่ตัวหนอนตัวไส้เดือนกินไปวันๆหนึ่ง ถ้าไม่เห็นเราก็จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้ายังเสียดายเรื่องเที่ยวอยู่ ก็แสดงว่ายังห่างไกลมาก
ถาม เวลาไปเที่ยวก็มีความสุขสดชื่น แต่เวลานั่งภาวนาก็ยังไม่ค่อยสงบ ยังไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่
ตอบ ของดีก็ต้องยากหน่อย
ถาม เวลาพิจารณาดูจิตนี่ เวลาทุกข์เกิดขึ้น เราเข้าใจปั๊บ จะระงับได้ทันที แต่ในบางเรื่องจะไม่ยอมรับ ต้องจนตรอกถึงจะยอมรับ แต่จะเหนื่อยมาก
ตอบ กิเลสบางตัวมันดื้อ มันฉลาด มันก็จะดิ้น ตะแบงไปเรื่อยๆ ปัญญาต้องตามประกบอยู่เรื่อยๆจนกว่าจะทัน จนกว่าจะจนมุม
ถาม แต่การจนมุมตรงนั้นเป็นการเห็นด้วย
ตอบ ถ้าปัญญาสกัดจนมันจนมุม มันก็ต้องยอม บางเรื่องไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น เพราะปัญญามีกำลังมากกว่ากิเลส พอกิเลสได้รับหมัดเด็ดของปัญญาหมัดเดียวมันก็สลบ แต่บางตัวได้กี่หมัดก็ยังไม่ยอมสลบ ต้องใช้หลายหมัด ขึ้นอยู่ว่ามันฝังลึกในนิสัยสันดานมากน้อยเพียงไร เหมือนกับเสาที่ปักไว้ในดิน ถ้าไม่ลงลึกมากถอนขึ้นมาก็ง่าย ถ้าลงลึกมากก็ต้องใช้แรงมากถึงจะถอนขึ้นมาได้ ไม่สำคัญว่าจะช้าหรือจะเร็ว สำคัญอยู่ที่ว่าจะกำจัดมันได้หรือเปล่า จะถอนรากถอนโคนมันได้หรือเปล่า ถ้าเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เห็นว่าเป็นทุกข์ ก็จะถอนมันได้
ถาม สังเกตว่าพอมันจนตรอก จะมีอาการเหนื่อย ถึงทำให้วางลง ทำให้สงสัยว่าการวางลงตรงนี้ มันต่างกับการวางลงในตอนที่เราเข้าใจเหตุของมันเลยไหม
ตอบ จะยอมอย่างไรก็ได้ ขอให้ยอมก็แล้วกัน จะยอมอย่างง่ายหรือยากก็แล้วแต่ บางอย่างก็ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความกลัวตายนี่ ลองไปพิสูจน์ดู ถ้าไม่เห็นว่าความรักตัวกลัวตายมันเป็นโทษมากกว่าความตาย เราก็จะไม่ปล่อย แต่ถ้าเห็นว่า ขณะนี้เราทุกข์เหลือเกิน เราทรมานเหลือเกิน เพราะความกลัวสิ่งต่างๆ เราก็จะปล่อย เวลาไปอยู่ในที่มีภัยรอบด้าน ถึงแม้ภัยจริงๆยังมาไม่ถึงตัว แต่ความกลัวมาถึงตัวก่อนแล้ว เราจะเห็นว่าความกลัวนี่มีโทษมากกว่าภัยรอบด้าน ถ้ายอมตายความกลัวที่มีอยู่ในใจจะหายไปหมดเลย จะเกิดความสงบความสบายความสุขขึ้นมา ท่ามกลางภัยต่างๆที่ล้อมรอบ ที่กลับไม่เป็นภัย เหมือนกับภัยที่อยู่ในใจ คือความรักตัวกลัวตายนี่เอง
เราจะไม่เห็นความรักตัวกลัวตายนี้ ถ้าไม่ไปอยู่ในสถานที่ที่มีภัยรอบด้าน เพราะมันจะไม่ออกมา อย่างที่เราอยู่ตรงนี้ ความรักตัวกลัวตายมันไม่ออกมา แต่ถ้าเกิดมีใครโยนงูพิษเข้ามาใส่ในศาลาสักตัว ดูใครจะกระโดดหนีก่อนใคร มันถึงจะออกมา ถ้ากระโดดหนีไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าถูกผูกมัดไว้ให้นั่งอยู่เฉยๆ จิตใจจะดิ้นอย่างไร ถ้าจิตใจปลงได้มันก็ไม่ดิ้น เพราะเห็นว่ามันทุกข์เหลือเกินที่ไปกลัวความตาย ยอมตายดีกว่า ยอมตายแล้วกลับไม่ทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะสามารถทำลายความรักตัวกลัวตายได้ เป็นความหลงอย่างหนึ่ง ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็จะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วร่างกายก็ต้องตายอยู่ดี ร่างกายเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งที่เราได้มาครอบครอง แต่เราไปหลงว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะมันติดอยู่กับใจ ตั้งแต่วันที่คลอดออกจากท้องแม่ ตั้งแต่วันที่จิตใจเริ่มตื่นขึ้นมารับรู้มาเห็นร่างกาย ก็ถูกความหลงหลอกว่าเป็นตัวเราของเรา แล้วก็ไม่มีใครบอกว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้าสมมุติว่าพ่อแม่เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นี่ ท่านก็จะสามารถสอนตั้งแต่ลูกเริ่มรู้เดียงสาว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของลูกนะ ตัวลูกที่แท้จริงไม่ใช่ร่างกายนี้ ตัวลูกก็คือดวงวิญญาณที่มาครอบครองร่างกายนี้ คือตัวรู้ คือตัวใจ ร่างกายนี้จะเป็นอะไรไปก็ไม่ต้องไปเสียดาย มันจะแก่จะเจ็บจะตายก็ให้มันเป็นไป มันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันต้องไปอยู่ดี ถ้าเรายอมให้มันไป ไม่ยึดไม่ติดกับมัน เราจะอยู่อย่างมีความสุขไปตลอด จะไม่มีความทุกข์กับความเป็นไปของร่างกาย ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะแก่จะเจ็บไข้ได้ป่วย จะมีพิษภัยอะไรต่างๆมาทำลาย จะรู้สึกเฉยๆ จะสามารถไปได้ทุกแห่งทุกหนที่คนทั่วไปจะไม่กล้าไปกัน เช่นไปในป่าช้า ไปในป่าลึก
ถ้ามีคนสอนตั้งแต่เริ่มเป็นเด็กมานี่ มันก็จะซึมซาบเข้าไปในใจ ทีนี้เด็กจะรับได้ไม่ได้ก็อยู่ที่กิเลสของเด็ก ว่ามีแรงมากหรือน้อย ถ้าน้อยมันรับได้ง่าย ปัญหาก็จบได้ง่าย ถ้ารับได้ยากก็ต้องคอยสอนอยู่เรื่อยๆ ต้องให้ไปประสบกับเหตุการณ์จริงๆ ให้เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ที่ไปหลงยึดติดว่าเป็นตัวเราของเรา มันมีโทษมากกว่าการปล่อยวาง ยอมรับความจริงว่ามันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ถ้ามันจะจากไป จะเป็นอะไรไป ก็ให้มันไป ให้มันเป็นไป แล้วจะเห็นความสุขความสงบที่เกิดจากการยอมรับนี้ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ต่อไปก็จะสามารถใช้การปล่อยวางนี้ไปใช้กับสิ่งอื่นได้ ถ้าปล่อยร่างกายนี้ได้แล้ว ส่วนอื่นๆภายนอกก็ต้องปล่อยได้หมด เพราะมีความสำคัญรองลงมาจากร่างกาย เพราะไม่มีอะไรจะมีค่ายิ่งกว่าร่างกาย ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียงลำดับความสำคัญไว้ดังต่อไปนี้คือ ทรัพย์ อวัยวะ แล้วก็ชีวิต ชีวิตเราให้น้ำหนักมากที่สุด มากกว่าอวัยวะ ถ้าต้องตัดแขนตัดขาก็ยอม ถ้ายังอยู่ได้ ต้องผ่าตัดก็ยอมผ่า เพื่อรักษาชีวิตไว้ เพราะเรารักชีวิตมากกว่า แล้วก็ทรงสอนให้รักธรรมมากกว่าชีวิต ธรรมก็คือความสงบของใจ ถ้าอยากจะให้ใจสงบ ให้มีความสุขใจ ก็ต้องละได้แม้กระทั่งชีวิต เพราะชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ละไม่ได้ มันละได้เพียงแต่เราไปหลงยึดติดมันเอง แต่ใจนี่เราละไม่ได้ ต่อให้เราอยากจะละมัน ก็ละไม่ได้ เพราะมันเป็นของเรา มันเป็นตัวเราที่แท้จริง มันอยู่กับเราไปตลอด แต่เราไม่รู้ใจของเรา เราไปหลงว่าเราคือร่างกาย เราก็เลยทุกข์วุ่นวายกับร่างกาย ที่จะต้องจากเราไป ส่วนที่ไม่จากเราไปก็คือใจ มันอยู่กับเราไปตลอด ตัวรู้มันอยู่กับเราไปตลอด แต่เราไม่รู้ใจ ไม่มีใครสอนว่าใจของเราเป็นอย่างไร ถ้าไม่ภาวนาเราจะไม่เห็นใจ เพราะถูกความหลงหลอก ให้ไปดูสิ่งต่างๆภายนอก ไม่ให้กลับมาดูตัวใจ
ตัวใจก็เป็นเหมือนอีกจักรวาลหนึ่ง จักรวาลภายนอกก็คือที่เราเห็นด้วยตาของเรานี้ เช่นดวงดาวต่างๆ หลับตาดูซิเราจะเห็นอีกจักรวาลหนึ่ง จักรวาลภายใน เวลานั่งภาวนา ถ้าไม่รับรู้ทางอายตนะเลย แม้กระทั่งร่างกายก็ไม่รับรู้ เราจะเห็นว่าใจนี้เป็นอีกจักรวาลหนึ่ง อันนี้แหละที่เป็นไตรภพ มันอยู่ในนี้ นรกสวรรค์ก็อยู่ในจักรวาลภายในนี้ แต่เรามองไม่เห็นกัน ที่เขาว่านั่งภาวนาแล้วไปเห็นนรกเห็นสวรรค์ ก็เห็นอย่างนี้ เวลาที่ใจรุ่มร้อนเราก็ไปนรกแล้ว เวลาที่ใจสงบเย็นเราก็ไปสวรรค์แล้ว มีความสุขเราก็ไปสวรรค์แล้ว แต่เป็นความสุขที่เกิดจากทำความดี ไม่ใช่ความสุขจากการไปเที่ยว นั่นเป็นนรกที่เคลือบด้วยสวรรค์ มันเป็นสวรรค์เดี๋ยวเดียว พอกลับมาบ้านก็กลายเป็นนรกทันที บ้านจึงเป็นสถานที่ไม่น่าอยู่เลย ทั้งๆที่บ้านควรจะเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ที่สุด กลับเป็นสถานที่ที่น่าเบื่อ ที่จะต้องหนีออกไปอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ เพื่อให้เข้าสู่จักรวาลภายใน ให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าสวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ พระอริยเจ้าพระพุทธเจ้าก็อยู่ในใจของเรานี่ เป็นของเราอย่างแท้จริง สวรรค์ก็เป็นของเรา นรกก็เป็นของเรา เราสร้างมันขึ้นมาเอง ถ้าทำบาปทำกรรมทำสิ่งที่ไม่ดี เราก็สร้างนรกขึ้นมาภายในใจของเรา ทำความดีเราก็สร้างสวรรค์ขึ้นมาในใจ ภาวนาเราก็สร้างนิพพานขึ้นมาภายในใจ อยู่ในใจนี้ ใจเป็นจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่มองไม่เห็นเพราะไม่หลับตากัน เวลาหลับตาก็หลับแบบไม่มีสติกัน ถ้าหลับแบบมีสติก็ต้องหลับแบบภาวนา จะได้เห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นเทพเห็นอะไรต่างๆ เห็นมรรคผลนิพพาน อยู่ในใจนี้ทั้งหมด ไม่ได้อยู่ที่ไหน ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องไปอินเดีย ไม่ต้องไปหาพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ที่ไหน ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต
ถาม ภาวนานี่สะสมไปได้เรื่อยๆไหมคะ
ตอบ สะสมไปได้เรื่อยๆ ต้องทำเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำหนเดียว เหมือนฝากเงินในธนาคาร ๑๐ บาท แล้วจะให้กลายเป็นล้านบาทขึ้นมาไม่ได้ ได้แค่ ๑๐ บาท
ถาม ถ้าพิจารณาจนเข้าใจด้วยเหตุผล ธรรมะหรือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นนี่ น้ำหนักเท่ากันหรือต่างกัน
ตอบ ถ้าพิจารณาในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มันเข้าใจ แต่ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา คือยังไม่อยู่ในเหตุการณ์จริง ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จริงแล้วพิจารณา จะเห็นสุขกับทุกข์ที่จะสับเปลี่ยนกัน ถ้าเราทุกข์วุ่นวายกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าพิจารณาว่าต้องปล่อยวาง พอตัดได้ปล่อยได้ความทุกข์ความรุ่มร้อนใจก็จะหายไป ความสุขความสบายใจก็จะปรากฏขึ้นมา เช่นห่วงว่าจะติดคุกหรือไม่ติดคุก พอยอมติดเท่านั้น ความทุกข์ในใจก็หายไป แต่ถ้ายังไม่ยอมติด ไม่ยอมรับความจริง ก็ยังทุกข์อยู่ ถ้าเป็นโรคหมอบอกจะตายภายใน ๓ วัน ๗ วัน เราก็พิจารณาดู ถ้ายังทุกข์อยู่ก็แสดงว่ายังไม่ยอมรับความจริง ยังไม่เห็นอนิจจังในร่างกาย ว่ามันต้องตาย แต่ถ้าเราพิจารณาจนเห็นความจริงว่า ตายก็ตาย ตายก็จบ ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไร ตายด้วยกันทุกคน พอยอมตายเท่านั้นมันก็หายทุกข์ พอถึงเวลามันอาจจะไม่ตายก็ได้ หมออาจจะวินิจฉัยผิดก็ได้ แต่ก็ไม่รู้สึกดีใจอย่างไร เพราะรู้ว่าไม่ตายวันนี้ก็ต้องตายพรุ่งนี้อยู่ดี ไม่ตายใน ๗ วันก็ตายใน ๗ เดือน ไม่ตายใน ๗ เดือนก็ตายใน ๗ ปี จะไม่เดือดร้อน พิจารณาเพื่อดับทุกข์ภายในใจเท่านั้น
ปัญหาใหญ่ไม่ใช่การเกิดแก่เจ็บตาย แต่ใจที่ไปทุกข์กับการเกิดแก่เจ็บตาย ถ้าไม่ทุกข์แล้วก็ไม่เป็นปัญหา จะแก่ก็ไม่เป็นปัญหา จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เป็นปัญหา จะตายก็ไม่เป็นปัญหา จะเป็นอะไรก็ดูแลมันไป รักษาได้ก็รักษาไป หายก็หาย ไม่หายก็ตาย หายแล้วเดี๋ยวก็ต้องเป็นอีก ไม่ใช่หายแล้วจะไม่เป็นอีก ถ้าหายแล้วหายขาดไปเลย ไม่ต้องตายเลย ก็น่าจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับมัน แต่รักษาหายแล้วเดี๋ยวก็เป็นอีก หายจากโรคนี้ก็เป็นโรคอื่นแทน ถ้าไม่มีโรคก็มีความชราที่จะทำให้ตาย ใจไม่ได้ตายไปด้วย กลับไปวุ่นวายกับการตายของร่างกาย จึงต้องพยายามแยกแยะให้ออกว่า เราไม่ได้ตายนะ ร่างกายตาย เราไม่ได้ตาย เราไปวุ่นวายกับมันทำไม เราเป็นเพียงคนขับรถ เราเพียงมาครอบครองร่างกายนี้ ที่เป็นเหมือนสมบัติชิ้นหนึ่ง เหมือนเครื่องอัดเสียงนี้ ใช้ไปเรื่อยๆเราก็รู้ว่าสักวันหนึ่งมันจะต้องเสีย เสียก็เสียไป ซ่อมได้ก็ซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็ทิ้งไป ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน แต่เราที่เป็นเจ้าของร่างกายนี้ ที่คอยดูแลรักษาร่างกายนี้ ไม่ได้เป็นอะไรไปกับมัน ถ้าฉลาดรู้ทัน ตัดความหลงได้หมด ก็จะไม่ไปหาร่างกายใหม่อีก ถ้ายังรู้ไม่ทัน พอร่างกายนี้แตกไป ก็ไปหาร่างกายใหม่มาเป็นกองทุกข์กองใหม่อีก ให้เราแบกอีก แต่ร่างกายก็มีประโยชน์อยู่ ถ้าเอามาปฏิบัติธรรม ถ้าบรรลุขั้นแรกแล้วแต่ยังเหลืออีก ๓ ขั้น จบเพียงขั้นปริญญาตรียังไม่จบปริญญาเอก ถ้าเกิดต้องตายไปก่อน ก็ยังต้องกลับมาหาร่างกายใหม่อีก เพื่อจะได้เรียนต่อ พอเรียนจบแล้วก็ไม่ต้องมีร่างกายใหม่อีกแล้ว
อย่างพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเรียนจบแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ยังต้องอาศัยร่างกาย กลับมาเกิดใหม่มาปฏิบัติธรรมต่อ มีอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ท่านก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าเป็นพระสกิทาคามีก็เพียงชาติเดียวบรรลุได้ ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไม่ต้องอาศัยร่างกาย เพราะงานที่ต้องใช้ร่างกายนี้สำเร็จหมดแล้ว งานที่เกี่ยวกับราคะตัณหาเกี่ยวกับกามฉันทะนี้ ได้ทำสำเร็จแล้ว เรียนจบวิชานี้แล้ว เหลือแต่ภวตัณหาวิภวตัณหา ที่มีอยู่ภายในจิต ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกาย ที่อยู่ในระดับของพระอนาคามี ไม่ต้องอาศัยร่างกาย ก็สามารถเรียนจบได้ ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ แต่เกิดเป็นพรหม อยู่ในชั้นพรหมภาวนาต่อไป บำเพ็ญวิปัสสนาขั้นต่อไป จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด ร่างกายยังมีคุณค่าอยู่ ถ้ารู้จักใช้มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักใช้มันก็เป็นโทษ ทำให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ ได้ร่างกายมาแทนที่จะเอามาบำเพ็ญ ก็เอามาเที่ยว มันก็จะผูกให้ติดอยู่กับการเที่ยวไปเรื่อยๆ พอตายไปก็ต้องไปหาร่างกายใหม่ไปเที่ยวต่อ เวลาเที่ยวมันก็ดีหรอก แต่เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยมันเป็นอย่างไร เวลามันหิวข้าว เวลามันอดอยากขาดแคลนอะไรต่างๆ มันไม่ดีหรอก มันทรมาน ชาตินี้อาจจะเป็นบุญของเรา ที่ได้ร่างกายที่ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ อยากจะได้อะไรก็ได้ สิ่งจำเป็นต่างๆ เช่นเครื่องใช้ไม้สอยปัจจัย ๔ ก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเกิดไปอยู่ในประเทศที่แห้งแล้งกันดารอดมื้อกินมื้อ จะไม่อยากเกิดเลย
ถาม ถ้าจะไปถึงขั้นที่ ๑ จะต้องมีอะไรที่จะทำให้เราไปถึงได้
ตอบ ในขั้นต้น จิตต้องสงบก่อน จิตสงบเป็นสมาธิ แล้วก็เริ่มพิจารณาร่างกาย ว่าแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา แล้วก็ทดสอบดูว่าปล่อยวางได้หรือเปล่า เช่นไปอยู่ในป่าคนเดียว ไปอยู่ในป่าช้า ไปอยู่แถวที่มีภัยอันตราย มีเสือมีงู แล้วก็ยอมตาย อะไรจะมากัดมากินก็ไม่เสียดาย ถ้าปล่อยได้มันก็จะหลุด ก็จะปล่อยวางได้ในระดับหนึ่ง นี่ก็ขั้นหนึ่ง ขั้นไม่กลัวตายนี่ก็ขั้นหนึ่ง ขั้นต่อไปก็ความยินดีในความสวยงามของร่างกาย เห็นคนนั้นคนนี้ว่าสวยว่างาม ให้ความสุขกับเรา ก็อยากจะได้เขามาเป็นคู่ครอง ขั้นนี้ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเขาน่าเกลียดน่ากลัว มีสิ่งที่ไม่น่ามองอยู่ภายใต้ผิวหนัง มีอวัยวะต่างๆที่น่ารังเกียจถูกหุ้มห่ออยู่ ต้องมองให้เห็นมองทะลุเข้าไป ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ที่จะหาความสุขจากร่างกายของคนอื่น ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง แล้วก็ยังมีขั้นอื่นอีก ถ้าเรายังคิดว่าเราดีกว่าเขา เลวกว่าเขา ต่ำกว่าเขา สูงกว่าเขา ก็จะรู้สึกต่ำต้อยเวลาเจอคนที่ดีกว่าเรา เวลาเจอคนที่ต่ำกว่าก็จะรังเกียจเขา เป็นทุกข์ภายในใจ ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเพียงสมมุติเท่านั้นเอง เรื่องความรวยความฉลาด เป็นเรื่องของบุญของกรรมของแต่ละคนที่ได้สะสมมา แต่ใจนี่เหมือนกัน ธรรมชาติของใจของทุกคนเหมือนกันหมด เป็นธาตุรู้เหมือนกันหมด เหมือนกับร่างกายของทุกคน มาจากธาตุ ๔ ด้วยกันทั้งนั้น แต่เนื่องจากบุญกรรมปรุงแต่ง เลยทำให้ร่างกายของแต่ละคน มีความสวยงาม มีความน่าเกลียด ไม่เหมือนกัน มีผิวพรรณสดใสผ่องใสไม่เท่าเทียมกัน แต่มาจากวัตถุอันเดียวกัน มาจากดินน้ำลมไฟ
ถ้ามองทางรากฐานของร่างกาย ก็จะเห็นว่าเหมือนกัน เป็นแค่ดินน้ำลมไฟ รากฐานของใจก็คือธาตุรู้เหมือนกัน เพียงแต่จะรู้มากรู้น้อย จะฉลาดมากฉลาดน้อย แต่ก็เป็นธาตุรู้เหมือนกัน มีความสุขมีความทุกข์มากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับบุญกับกรรม เวลาที่เห็นอะไรแล้วเกิดความทุกข์ ก็ต้องมองไปที่ความจริง ที่ไม่แตกต่างกัน ไม่สูงไม่ต่ำกว่ากัน เท่ากันหมด เพียงแต่หลงติดอยู่ในภาพของสมมุติ ที่ทำให้แตกต่างกัน มีสูงมีต่ำ เมื่อรู้แล้ว ต่อไปจะรู้สึกเฉยๆกับคนที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าหรือเท่าเรา รู้ว่าเหมือนกัน เป็นธาตุรู้เหมือนกัน เป็นใจเหมือนกัน ก็จะไม่ยึดติดในตัวตน ต้องพิจารณาไปปฏิบัติไป อะไรที่ทำให้ทุกข์ภายในใจ ก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งความสุขอันละเอียด ที่มีอยู่ภายในใจ ก็ไม่ได้เป็นความสุขที่ถาวร ถ้าไม่รู้ก็จะคิดว่านี่คือความสุขที่แท้จริง ก็จะพยายามรักษามัน ยิ่งรักษามันยิ่งเกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ เพราะความที่อยากจะรักษามัน ต้องเข้าใจว่าความสุขแบบนี้ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่อยู่ภายใต้ไตรลักษณ์อยู่ เป็นความสุขขั้นละเอียดในจิตใจ ที่เกิดจากการชำระกิเลสส่วนหยาบหมดไป แต่ยังมีกิเลสส่วนละเอียดเหลืออยู่ ที่ทำให้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีความสุขทุกข์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ ก็ต้องพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นว่า เป็นสมมุติ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ยึดไม่ติด ปล่อยได้ ก็จะผ่านไปได้ ถึงจะเจอความสุขที่แท้จริง ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงที่นั่นแล้ว ก็รู้ว่าถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
ถาม พิจารณาปล่อยวางมันจะเกิดขึ้นมาเองเลยใช่ไหมคะ ไม่ใช่เกิดจากการที่เราคิดว่าเราปล่อยวางได้
ตอบ มันจะเห็นว่า ถ้าไม่ปล่อยมันจะทุกข์ เหมือนกับร่างกายนี้ ถ้าเราไม่ปล่อยมันก็จะทุกข์ ลูกเราสามีเราถ้าไม่ปล่อยเราก็จะทุกข์กับเขา ถ้าเราปล่อย เขาจะเป็นอะไรก็เรื่องของเขา เราก็จะไม่ทุกข์กับเขา แต่เราไม่เห็นความทุกข์ นี่คือปัญหาของเรา ทุกข์แทบเป็นแทบตาย ก็ยังยึดยังติดอยู่ กินไม่ได้นอนไม่หลับ สอนอย่างไรก็ไม่เห็น มีอยู่มากคนที่ทุกข์กับเรื่องต่างๆ เพราะความยึดติด แต่ไม่รู้ว่าตนทุกข์ จากการยึดติดของตน ไปทุกข์กับเรื่องที่จะไปแก้เขา ให้เขาเป็นไปตามที่อยากให้เขาเป็น ไม่อยากให้เขาไปเที่ยวก็วุ่นวาย ไปเที่ยวทีไรก็ไม่สบายใจทุกที ถ้าปล่อยได้ จะไปเที่ยวไหนก็ไป ไม่ใช่เรื่องของเรา ก็จะไม่ทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์ตัวนี้ ทุกข์เพราะอยากให้เขาทำตามใจเรา แต่ไม่รู้ว่าความอยากเป็นตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่เข้าใจว่าที่ทุกข์ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเขานะ เพราะเราต่างหาก ไปอยากให้เขาทำตามใจเรา พอเขาไม่ทำตามใจเราๆก็ทุกข์ ถ้าเขาทำตามใจเราๆก็ไม่ทุกข์
ถ้าไม่ไปอยากอะไรกับเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ ไม่สนใจ นี่คือการปล่อยวาง ไปเที่ยวก็ได้ ไปโรงเรียนก็ได้ เรื่องของเขา เราก็จะไม่ทุกข์กับเขา ปัญหาของพวกเราคือไม่เห็นทุกข์ตัวนี้ ทุกข์แทบเป็นแทบตาย แต่เราไม่รู้ กลับพยายามไปแก้เขาอยู่เรื่อย ให้เขาทำตามใจเรา ถ้าแก้ได้ก็เบาใจไปวันหนึ่ง พรุ่งนี้ก็มีเรื่องใหม่มาให้แก้อีก ทำไม่ถูกใจอีกแล้ว ถ้ายอมรับว่าเขาทำอะไรก็ได้ พอใจทุกเรื่อง เขาเป็นคนรับผล ส่วนที่จะมากระทบกับเรา ก็พยายามป้องกันไว้ อย่าให้มากระทบ ถ้าป้องกันไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นการใช้กรรมไป
ถาม เหมือนเป็นการทดสอบว่า สามารถปล่อยวางได้
ตอบ ใช่ เขาเป็นอะไร เราก็ยิ้มได้ เขาทำอะไรเราก็ยิ้มได้ อยู่ร่วมกันได้ เขาจะทำอะไรก็ไม่รังเกียจ ไม่อิดหนาระอาใจเบื่อหน่าย กังวลวิตกห่วงใย เหมือนเป็นคนที่เราไม่รู้จัก
ถาม ข้อนี้เป็นข้อที่ทำยากที่สุด
ตอบ เราไปผูกพันกับเขามาก มีความหวังในตัวเขามาก อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อยากให้เป็นคนดี อยากให้เขามีความสุข แต่มันตัวเขา ไม่ใช่ตัวเรา ทำไมเราไม่อยากในตัวเราแทน อยากในตัวเรา จะได้ประโยชน์ กลับไม่อยาก อยากให้เราดี อยากให้เราภาวนา อยากให้เราปฏิบัติธรรม เราทำได้ กลับไม่ทำ กลับไปอยากในเรื่องของคนอื่น ซึ่งเราบังคับเขาไม่ได้ แม้แต่ตัวเขาเองบางทีเขาก็บังคับตัวเขาไม่ได้ เพราะเขามีบุญกรรมที่ติดตัวมา จนเป็นนิสัย เขาชอบเที่ยว ติดเป็นนิสัยมา เราไปห้ามไม่ให้เที่ยว ต่อหน้าเขาก็อาจจะไม่เที่ยว พอเราเผลอเขาก็ไปเที่ยวแล้ว
ถาม ถ้าอย่างนั้นคนโสดมีโอกาสได้ดีมากกว่า
ตอบ คนโสดบวชได้ง่ายกว่า คนที่มีครอบครัวบวชได้ยากกว่า
ถาม หมายถึงผู้หญิง
ตอบ ไม่ว่าหญิงว่าชายเหมือนกัน พระพุทธเจ้าถึงออกบวชยาก ท่านรอถึงอายุ ๒๙ ถึงจะออกบวชได้ เพราะถูกอิทธิพลของพ่อครอบงำอยู่ เกิดอยู่ในวัง พ่อก็คอยห้อมล้อมให้อยู่กับสิ่งต่างๆ แต่ใจที่แสวงหาความสุขที่แท้จริง ก็จะแหวกว่ายออกจากความสุขเหล่านี้ ใหม่ๆก็จะเพลิดเพลินอยู่หน่อย พอชินแล้วก็เบื่อหน่าย เหมือนกับกินอาหารรสวิเศษ ถ้ากินซ้ำๆซากๆสักเดือนหนึ่ง ก็จะเบื่อ จะมีราคาแพงขนาดไหนก็ตาม ดีขนาดไหนก็ตาม มันไม่วิเศษหรอก อะไรที่ซ้ำๆซากๆใจจะเบื่อ พอเบื่อก็หาทางออก จนในที่สุดก็ได้ออก เพราะได้ทรงสะสมบุญมามาก คอยผลักดันอยู่เรื่อยๆ แต่พวกเรานี้บุญเก่าไม่มากพอ ต้องอาศัยบุญใหม่ ต้องอาศัยบุญจากการไปหาครูบาอาจารย์ ไปได้ยินได้ฟัง เมื่อไม่มีบุญเก่าผลักดัน ก็ต้องใช้บุญใหม่ดึงไป ไม่มีบุญภายในผลัก ต้องหาบุญภายนอกลากไป ถ้าฟังแล้วยังไม่ไป ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ถาม ไม่กลัวตายแต่กลัวเจ็บ กลัวว่าถ้าไม่ตายแต่ช่วยตัวเองไม่ได้ จะเป็นภาระกับคนอื่น จะพิจารณาอย่างไร
ตอบ พิจารณาว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย อย่างมากก็แค่ตาย ไม่ต้องไปกังวล ถ้าไม่มีใครช่วยเรา ก็ไม่เป็นไร
ถาม อย่างคุณพ่อคุณแม่ที่เขาจะต้องมาดูแลเรา
ตอบ เป็นกรรมของเขา เราไม่ได้บังคับเขา เขาจะดูแลเราก็เรื่องของเขา เขาได้บุญจากการดูแลเรา ถ้ามองในแง่ดี เรากลับเป็นเหตุที่ทำให้เขาได้ทำบุญ ส่วนเรื่องความเจ็บก็ต้องเจ็บด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะเจ็บมากเจ็บน้อย แต่ความเจ็บนี้เราสามารถจะรับมันได้ ด้วยการฝึกนั่งสมาธิไปนานๆ เวลาเจ็บก็พยายามทำใจให้นิ่งให้สงบ อย่าไปวุ่นวายกับความเจ็บ จะไม่เจ็บมาก จะเจ็บเพียงครึ่งเดียว คือเจ็บที่ร่างกาย แต่ไม่เจ็บที่ใจ ถ้าใจไม่เจ็บแล้ว ร่างกายจะเจ็บมากขนาดไหน ก็ไม่สำคัญ ความเจ็บที่ใจรุนแรงกว่าเจ็บที่ร่างกาย เวลาใจกลัวความเจ็บนี่ จะทรมานมากกว่าร่างกายเจ็บ ถ้าไม่กลัวความเจ็บเสียอย่าง จะไม่ทรมานใจ ความเจ็บนี่เราสามารถแก้ได้ ด้วยการฝึกนั่งสมาธิ แล้วก็ปล่อยให้มันเจ็บไป อย่าไปสนใจ ยอมรับมันเหมือนกับยอมรับเสียงที่กำลังดังอยู่นี้ ถ้าไม่ไปรำคาญกับเสียงนั้น มันก็จะไม่สร้างความทุกข์ใจให้กับเรา ความเจ็บของร่างกายก็เป็นเหมือนกับเสียงนี้ จะเจ็บอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ไปรำคาญกับมัน ไม่ไปกลัวมัน ไม่ไปอยากให้มันหาย มันก็จะไม่ทำให้เราทุกข์ใจทรมานใจ ถ้ารู้จักวิธีปฏิบัติกับความเจ็บของร่างกายได้แล้ว จะไม่กลัวความเจ็บที่จะเกิดขึ้นในขณะที่จะตาย เพราะเคยผ่านมาแล้ว รู้จักวิธีปฏิบัติกับมันแล้ว เราบังคับให้ความเจ็บทางร่างกายหายไม่ได้ แต่เราห้ามความทุกข์ทรมานใจไม่ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าทำใจให้สงบนิ่ง ให้ยอมรับความเจ็บของร่างกาย ไม่ปฏิเสธ ไม่รังเกียจ ไม่อยากให้ความเจ็บหายไป ความทุกข์ทรมานใจ ที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายอีกหลายเท่า ก็จะไม่เกิดขึ้น จะตายได้อย่างสบาย ถ้าเห็นด้วยปัญญาว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเหมือนสมบัติชิ้นหนึ่ง เป็นเหมือนเสื้อผ้าชุดหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่ต้องโยนทิ้งไป ก็ทิ้งมันไป ร่างกายเป็นเหมือนเสื้อผ้าชุดหนึ่งเท่านั้นเอง เมื่อมันเก่าแล้วมันจะขาดก็ทิ้งมันไป ใจเราไม่ได้ตายไปกับร่างกาย แล้วเราจะไปกลัวทำไม ไปทุกข์ทำไม นี่คือปัญญา เห็นว่าร่างกายกับใจเป็นคนละส่วนกัน
ต้องแยกใจกับร่างกายให้ออกจากกันให้ได้ ต้องรู้ว่าเราไม่ใช่ร่างกาย เราเป็นใจ เป็นผู้ดูแลรักษา เป็นผู้ปกครองของร่างกาย เราพามันไปทำกิจต่างๆ พาไปอาบน้ำ ไปกินข้าว พาไปหลับนอน ทำอย่างนี้อยู่ทุกวันทุกวัน แต่เราไม่รู้ว่าเราพามันไป เรากลับไปคิดว่าเราเป็นมัน ปัญหาอยู่ตรงนี้ ต้องแยกให้ออกมาว่า มันไม่ใช่เรา เราคือใจ เป็นผู้สั่งการ เป็นผู้ปกครอง ร่างกายเป็นเหมือนลูกเรา สักวันหนึ่งก็ต้องตายจากเราไป แต่เราไม่ได้ตายไปกับมัน ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้วจะไม่กลัวตาย แต่เราไม่มีใครสอน เกิดมาก็คิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สอน แต่ขนาดสอนแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ต้องปฏิบัติถึงจะเข้าใจ สามารถอธิบายให้ผู้อื่นได้ ไม่อย่างนั้นก็เป็นการพูดที่ไม่มีน้ำหนัก สัพเพ ธัมมา อนัตตา รูปัง อนัตตา เป็นคำพูดที่ว่างเปล่า ฟังอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ร่างกายไม่ใช่ของเราได้อย่างไร เป็นของเราตั้งแต่เกิดมา มีร่างกายอยู่กับเรามาตลอด เพราะไม่เห็นใจของเรา ไม่รู้ว่าใจเป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นเหมือนน้ำที่อยู่ในขวด เป็นคนละส่วนกัน
ใจนี้มันละเอียดจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าไม่มีใจจะไม่มีความคิด ไม่มีผู้สั่งการให้ทำอะไรต่างๆกับร่างกาย ที่เราไปไหนมาไหนได้ เพราะมีใจเป็นผู้พาไป เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้สั่งการ สั่งผ่านทางร่างกาย พูดออกมาทางปาก นัดกันไว้ว่าจะมาที่นี่วันนี้ พอถึงเวลาใจก็พาร่างกายขึ้นรถมา ก่อนจะมาก็ตื่นอาบน้ำอาบท่า ล้างหน้าล้างตาแปรงฟัน แต่งเนื้อแต่งตัว แล้วก็ออกเดินทางมา ใจเป็นผู้พามา เป็นผู้ปกครอง ใจไม่ได้เป็นร่างกาย แต่ใจไม่รู้ ไปหลงคิดว่าร่างกายเป็นใจ เป็นตัวเป็นตน พอร่างกายเป็นอะไรไป ใจก็วุ่นวาย เพียงแต่คิดว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ใจก็วุ่นวายแล้ว ยังไม่ทันเป็นเลย เพียงแต่คิดเท่านั้น พอได้ยินพระเทศน์ว่าเกิดมาต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเท่านั้น ใจก็ไม่สบายแล้ว กระสับกระส่าย จะกระสับกระส่ายทำไม ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกายเลย แต่ไม่มีใครไปพูดอย่างนี้ให้ฟัง ให้แยกแยะ ให้เห็นว่าใจกับกายเป็นคนละส่วนกัน
ถาม ใจนี่ไม่มีอายุใช่ไหมคะ
ตอบ มีอายุเท่ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่เกิดไม่ดับ เป็นหนึ่งในหกของธาตุเดิมคือ ธาตุรู้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ
ถาม ลูกหมายความว่า ที่เกิดมาก็มีใจที่โตที่แก่
ตอบ ก็อย่างที่บอกนี้ ใจมีควบคู่มากับจักรวาล กับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ มีควบคู่กันมาตลอด ไม่เกิดไม่ดับ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่เกิดไม่ดับ ดินน้ำลมไฟไม่เกิดไม่ดับ มันเพียงแต่เปลี่ยนสภาพไป เปลี่ยนกลับไปกลับมา
ถาม สมมุติว่าเราฝึกตัวรู้ไปถึงระดับหนึ่ง แล้วพลาดไปทำบาป กลับไปเกิดเป็นสัตว์ ไปเสวยกรรมตรงนั้น ไอ้ตัวรู้ที่สิงอยู่ในใจเรานี้ มันจะมีการพัฒนาต่อหรือไม่ หรือต้องรอจนกว่าจะพ้นกรรม
ตอบ จะเป็นสัตว์ที่ต่างกับสัตว์อื่น อย่างพระโพธิสัตว์ ที่เกิดเป็นราชสีห์ มีพวกสัตว์ต่างๆเกิดความตื่นตระหนก เพราะมีกระต่ายนอนอยู่ใต้ต้นตาล แล้วลูกตาลหล่นลงมา ก็ตกใจ คิดว่าแผ่นดินถล่มทลาย ก็วิ่งพล่าน สัตว์อื่นเห็นเข้าก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็บอกว่าแผ่นดินกำลังถล่ม ก็ตื่นตาม ไปเจอราชสีห์ มีปัญญา เคยบำเพ็ญฌานและปัญญามาก่อน มีความหนักแน่นทางเหตุผล ก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น วิ่งแตกตื่นกัน ตอบว่าแผ่นดินถล่ม ก็ถามว่าถล่มตรงไหน ก็พาไปดูที่สถานที่ เพราะราชสีห์ไม่กลัว แต่ตัวอื่นกลัวพอบอกว่าแผ่นดินถล่มก็หนีกัน พอไปดูก็เห็นว่ามีลูกตาลหล่นอยู่ตรงนั้น จึงบอกว่าลูกตาลหล่นลงมาเท่านั้นเอง ราชสีห์เป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญความดีมา มีปัญญา แต่ก็พลาดไปทำบาปทำกรรม ก็เลยต้องไปเกิดเป็นเดียรฉาน หรืออย่างพวกช้างกับลิงที่ไปอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ก็เคยทำบุญมาก่อน ถ้าไม่เคยทำบุญมาจะชอบทำบุญได้อย่างไร ทำไมช้างตัวอื่นลิงตัวอื่นไม่ทำกัน เพราะได้สะสมบุญบาปมาต่างกัน ถึงแม้จะไปเกิดเป็นสัตว์ก็มีความแตกต่างกัน ถ้าสะสมบาปมาก็เป็นสัตว์ที่โหดร้ายเหี้ยมโหด เอารัดเอาเปรียบเห็นแก่ตัว สัตว์ที่มีความเมตตาก็มี ที่ฆ่าเพื่อปากท้องเท่านั้น แต่ไม่ฆ่าเพื่ออำนาจบาตรใหญ่ปกครองสัตว์อื่น พวกนี้จะต่อสู้กัน เพราะมีอัตตาตัวตนมาก นี่ก็ธาตุรู้ทั้งนั้น ที่เอาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟมาเป็นสมบัติ สัตว์ต่างๆก็มาจากดินน้ำลมไฟ คนก็มาจากดินน้ำลมไฟ ของพวกนี้มีอยู่แต่ดั่งเดิม พระพุทธศาสนาสอนว่าไม่มีใครสร้าง มีอยู่อย่างนั้น เป็นอจินไตย
ถาม ภาวนาไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแยกกายกับใจได้โดยเด็ดขาดแล้ว ก็ ใช้ได้แล้ว
ตอบ ตอนต้นต้องไม่เสียดายสมบัติภายนอกก่อน ละภายนอกมันง่ายกว่าละภายใน ถ้าสามารถปล่อยวางร่างกายได้ ก็จะปล่อยวางสมบัติภายนอกทั้งหมดได้ แต่มันยากกว่า ถ้าให้เลือกระหว่างเสียสมบัติกับเสียชีวิตนี้ จะเสียอะไร ระหว่างเสียเงินกับเสียแขนจะยอมเสียอะไร เราก็ต้องเสียสมบัติภายนอกก่อน เสียลูกกับเสียตัวเรา จะเสียอะไรไปก่อน ให้ลูกไปก่อนดีกว่า พอถึงเวลาจริงๆเราก็รักตัวกลัวตาย ขออยู่ก่อน ให้ลูกไปก่อน นอกจากแม่ที่มีความเสียสละมากจริงๆ ยอมตายแทนลูกก็มี แม่ให้ลูกตายก่อนก็มี คลอดออกมาแล้วก็จับใส่ถุงพลาสติกมัดทิ้งไว้ ถ้าอยู่ก็ต้องลำบากเลี้ยงดูเหนื่อยยาก เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองยังไม่ไหวเลย แล้วยังต้องเลี้ยงลูกอีก ต้องตัดสินใจเลือก ก็ต้องเอาตัวรอดก่อน บางทีก็เอาลูกไปทิ้งไว้ตามห้องน้ำสาธารณะ เพราะตัวเองไม่มีปัญญาที่จะเลี้ยงได้ แต่ก็ยังดีที่ทิ้งไว้ บางคนจับใส่ถุงพลาสติกมัดโยนลงน้ำก็มี อยู่ที่จิตใจของแม่ มีบุญมีบาปติดมามากน้อยเพียงไร ถ้าทำบาปมามากก็คิดว่าการฆ่าเป็นเรื่องธรรมดา ฆ่าเพื่ออยู่รอด ถ้ามีจิตใจสูงก็จะฆ่าไม่ลง ยอมอดทนเลี้ยงลูกไป ถ้าจะตายก็ขอให้ตายด้วยกัน ถ้าอดก็อดด้วยกัน แต่จะไม่เอาตัวรอด ถ้าจิตสูงกว่านั้นก็ยอมตายเพื่อลูก ยอมลำบากเพื่อลูก จิตใจของคนมีหลายระดับ
ถาม เด็กที่ถูกผูกในถุงนี่ เมื่อเขาทำดังนั้นนี่จิตตรงนั้นมีความโกรธความพยาบาทได้เช่นกันใช่ไหมคะ
ตอบ ถ้าไม่รู้เดียงสา ก็ไม่มี
ถาม เป็นกรรมที่แม่สร้างขึ้น
ตอบ เป็นกรรมที่แม่จะต้องไปใช้ ส่วนลูกเป็นการใช้กรรมเก่าของตน ที่เคยทำมาในอดีต แต่คงไม่เป็นเวรเป็นกรรมกัน ถ้ารู้ก็อาจจะเป็นเวรเป็นกรรมกัน อยู่ที่รู้หรือไม่รู้ ถ้ารู้ก็จะเกิดเจตนา เกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมา ว่าจะรักหรือจะชังคนนั้นคนนี้ ถ้าไม่รู้ก็จะไม่มี
ถาม มันเกี่ยวกันไหม ที่ได้ภาวนาได้ทำความเพียรมา ถึงจะรู้ว่าต้องพิจารณาอย่างไรแล้วก็วางมันได้ หรือว่ามันผุดขึ้นมาเอง
ตอบ แล้วแต่ว่าเคยทำมาหรือไม่ ถ้าเคยทำมาในอดีตพอได้ฟังปุ๊บก็เข้าใจ จะทำได้ง่าย ทำได้เร็ว ถ้าไม่เคยทำมาก่อน ก็ต้องเริ่มฝึกใหม่ ก็ยาก บางคนฟังเทศน์ครั้งเดียวก็บรรลุได้ เหมือนกับได้ไฟมาจุดเชื้อเก่า ที่มีอยู่แล้วให้ลุกขึ้นมา ถ้าไม่มีเชื้อเก่าจุดอย่างไรก็ไม่ลุก ต้องสร้างเชื้อใหม่ขึ้นมา ต้องเริ่มต้นที่พุทโธๆไปก่อนจนกว่าจิตจะสงบ แล้วค่อยพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาไปเรื่อยๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆตามลำดับ ถ้าตายไปก่อนที่จะสำเร็จ ไปเกิดชาติหน้า ก็ไปทำต่อ ถ้ามีคนมาสอนต่อก็จะจุดเชื้อไฟเก่าให้ลุกขึ้นมา ถ้าไม่มีใครสอนก็ต้องรอไปก่อน เช่นไปเกิดในสมัยที่ไม่มีพระพุทธศาสนา หรือไม่ได้พบเหตุการณ์ที่ทำให้เชื้อไฟเก่าลุกขึ้นมา เช่นเห็นคนตาย ที่ไปกระตุ้นสัญญาเก่า ที่เคยพิจารณามาก่อน ให้ตื่นขึ้นมา อย่างเราตอนที่เป็นเด็กเรียนหนังสือ ตอนนั้นอายุสัก ๑๒ ขวบ มีเพื่อนนักเรียนตายไป ไปงานศพเขา ที่เปิดโลงศพให้คารวะ ก็มีความคิดผุดขึ้นมาในใจว่า ต่อไปเราก็ต้องตายเหมือนเขา ต้องตายหมดทุกคน พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ก็เลยพิจารณาไปเรื่อยๆ เหมือนกับได้ไฟ จนรู้สึกเฉยๆกับความตาย ถึงแม้ยังไม่หายจากความกลัวตาย เพราะยังไม่ได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ปลง แต่อย่างน้อยก็ปลงในทางทฤษฎี ว่าเราต้องตาย เพราะมีเชื้อที่จะรับกับเหตุการณ์นี้ แต่ยังปลงไม่ได้หมด
ถาม เป็นสัญญาใช่ไหมคะ สัญญาในทางทฤษฎี
ตอบ ถ้ายังปล่อยวางไม่ได้ ก็ยังเป็นสัญญาอยู่ เป็นจินตมยปัญญา ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา จะไม่รู้สึกอะไรเลย จะตายเมื่อไหร่ จะไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่สะทกสะท้านกับความเป็นความตายเลย ก็ต้องพิจารณาทางด้านอสุภต่อไป เพื่อตัดความยินดีในกาม คือกามราคะ
ถาม ปกติตั้งแต่เด็ก กลางคืนมักจะตื่นขึ้นมา แล้วรู้สึกกลัวว่าจะตาย จนได้มากราบท่านอาจารย์ก็ไม่ค่อยเกิด แล้วมีอยู่คืนหนึ่งก็เกิดขึ้นมาอีก รู้สึกกลัวจนเจ็บร้าวข้างในไปหมด แล้วก็บอกตัวเองว่า ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนมีความเห็นที่ถูกต้อง มันก็จะหายไป ก็พยายามยกมาเป็นข้อพิจารณา
ตอบ ควรพิจารณาว่าใจที่กำลังกลัวอยู่นี้ไม่ตาย ใจเป็นธรรมชาติที่ไม่ตาย ไม่เกิดไม่ดับ ส่วนสิ่งที่เกิดที่ดับนั้นไม่รู้เรื่อง ร่างกายเป็นเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไรอย่างไร แต่ใจที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ไปยึดไปติดกับเขาต่างหาก ที่วุ่นวายไปเอง ร่างกายจะแตกจะดับ จะแก่ จะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เป็นไปตามปกติของเขา เขาไม่รู้เรื่อง ไม่มีธาตุรู้ที่จะรับรู้ความเป็นไปของเขา แต่ธาตุรู้คือใจนี่ไปหลงยึดติดกับร่างกาย แล้วเกิดความอยาก ไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย จึงเกิดความกลัวขึ้นมา
ถ้ายอมรับว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ห้ามไม่ได้ ไม่ฝืน ไม่อยากไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตายได้ ก็จะไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวกับการแก่การเจ็บการตาย พิจารณาแยกแยะทั้ง ๒ ส่วน ร่างกายต้องเป็นอย่างนี้ แต่ใจที่วุ่นวายอยู่ขณะนี้ ไม่ได้เป็นอะไรกับเขาเลย ร่างกายร่างนี้เป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น เขาเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร เราไม่รู้สึกเดือดร้อนฉันใด กับร่างกายนี้เราก็ต้องไม่เดือดร้อนฉันนั้น ต้องพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายของเรากับของเขา เป็นเหมือนกัน ไม่ได้เป็นของเรา ร่างกายของคนนั้นก็ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่เราไปหลงไปยึดไปติดว่าเป็นของเราเท่านั้นเอง เหมือนกับที่ดิน ๒ ผืน ผืนที่เป็นของคนอื่น จะเป็นอย่างไร เราก็ไม่เดือดร้อน แต่ผืนที่เป็นของเรา เราเดือดร้อน ถ้าเกิดมีใครมาแย่งจากเราไป แต่มันก็เป็นเพียงที่ดิน ๒ แปลง แปลงหนึ่งเราไม่ไปถือว่าเป็นของเรา อีกแปลงหนึ่งเราถือว่าเป็นของเรา แปลงที่เราถือเป็นของเราก็เป็นปัญหาทันทีถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับแปลงนั้น ร่างกาย ๒ ร่างนี้ก็เหมือนกัน ร่างกายของเขาเราไม่ได้ไปถือว่าเป็นของเรา จะเป็นอะไรไปเราก็ไม่เดือดร้อน แต่ร่างกายที่เราถือว่าเป็นของเรา พอเป็นอะไรไป เราก็เดือดร้อน เพียงแต่คิดว่ามันจะต้องเป็นอะไรไปก็เดือดร้อนแล้ว คิดว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เราก็เดือดร้อน ต้องมองให้เห็นว่ามันไม่ใช่ของเรา เหมือนกับร่างกายของคนอื่น มาจากดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ถ้าไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนกับร่างกายของคนอื่น เราก็ไม่ควรเดือดร้อนกับร่างกายที่เรียกว่าเป็นของเรา เพราะความจริงมันก็ไม่ใช่เป็นของเราเหมือนกัน
ถาม มีอีกส่วนหนึ่งคะ คือกลัวที่ใจจะต้องท่องเที่ยวไปข้างหน้าอีก
ตอบ รีบหยุดการท่องเที่ยวเสีย เราหยุดได้ ภาวนาทำจิตให้สงบ ปล่อยวางสิ่งต่างๆได้ ก็หยุดได้ เราทำได้ ไปกลัวทำไม การกลัวเฉยๆก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราโดยเปล่าประโยชน์ อย่าปล่อยให้อารมณ์ลากพาเราไป ต้องมีสติ พอจิตเริ่มคิดเรื่องเพ้อเจ้อ ก็หยุดมันเสีย ดึงกลับมา หยุดความคิดนั้นก่อน ด้วยการมีสติ ถ้ายังไม่หยุดคิด ก็บริกรรมพุทโธๆ หรือสวดมนต์ไป หรือพิจารณาธรรมไปก็ได้ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีแค่ธาตุ ๖ ชนิดเท่านั้นเอง มีดินน้ำลมไฟ มีใจมาผสมกัน เป็นมนุษย์เป็นสัตว์เป็นอะไรต่างๆ มารวมกันแล้วก็แยกออกจากกัน แล้วก็กลับมารวมกันใหม่ มีอยู่แค่นี้ พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะระงับความคิดเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านไม่มีเหตุมีผลได้ เหมือนกับเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ ดูช่องนี้ไม่มีสาระ มีแต่เรื่องเพ้อเจ้อ ก็กดรีโมทเปลี่ยนไปช่องอื่น ไปดูช่องข่าวช่องสารคดีที่มีประโยชน์ ใจเราก็เหมือนกับโทรทัศน์ มีหลายช่อง ถ้าไปดูช่องท่องเที่ยว ก็จะคิดว่าที่นั่นดี ที่นั่นน่าเที่ยว ที่นั่นน่าไป ถ้าชอบกินก็จะไปดูช่องอาหาร คิดว่าอาหารที่นั่นที่นี่น่ารับประทาน ถ้าเป็นพวกธรรมะ ก็คิดถึงวัดนั้นวัดนี้ มีครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ เราเปลี่ยนช่องได้ เปลี่ยนความคิดได้
ถ้าฝึกบังคับใจได้ จะควบคุมความคิดได้ พอเริ่มคิดเพ้อเจ้อก็บอกให้หยุดคิดได้ คิดเรื่องที่มีสาระดีกว่า เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตาดีกว่า เรื่องอริยสัจ ทุกข์เกิดได้อย่างไร ทุกข์เกิดจากความอยากต่างๆ จากความหลง ทุกข์จะดับได้อย่างไร ทุกข์จะดับได้ด้วยปัญญา เห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่น่าหลงน่ายินดี มีสิ่งเดียวที่น่ายินดีก็คือความสงบระงับของจิตใจ พอคิดอย่างนี้ก็ตัดได้ หยุดความคิดต่างๆที่ไม่มีเหตุไม่มีผลได้ ไปกังวลทำไมกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไปเสียดายอดีตที่ผ่านไปแล้วทำไม ทำอะไรไม่ได้ทั้ง ๒ ส่วน อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตยังไม่เกิด ไม่เป็นตามที่เราคิดเสมอไป เราสามารถเปลี่ยนอนาคตได้ในปัจจุบันนี้ อนาคตนี้เราควบคุมได้ ด้วยการกระทำในปัจจุบันนี้ เพราะผลในอนาคตเกิดจากการกระทำในปัจจุบันเป็นหลัก ถ้าอยากจะให้อนาคตดีก็ทำดี ภาวนาไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมรรคผลนิพพานก็มาเอง ถ้านั่งคิดนั่งกังวลอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มาหรอก มีแต่ไตรภพที่จะมาหาเรา เวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ
ถาม ขออนุญาตถามนะเจ้าคะ คือพอเริ่มปฏิบัติพุทโธๆ พอถึงเวลาหนึ่งแล้วเกิดเหตุ จอดรถอยู่เฉยๆนะแล้วมีรถมันวิ่งเข้ามาหา แล้วเรารู้สึกว่า เราต้องทำอย่างไรคะ คือเราก็เห็นรถวิ่งเข้ามาเฉยๆ โดยที่เขาบังคับรถพุ่งเข้ามาหาเราเหมือนกับตั้งหน้าจะชนเรา เราจอดไฟแดงแล้วฝั่งตรงข้ามมีที่ว่าง เขาก็เลยเบ้มาแล้วเขาก็เบ้ออก ในขณะนั้นเราควรจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความกลัว
ตอบ ชนก็ชน ไม่ต้องกลัว ต้องกล้า อะไรจะเกิดก็เกิด เรานิ่งไว้ก็แล้วกัน
ถาม ไม่ต้องกำหนด แต่ให้รู้ตัวว่ากำลังจะชน
ตอบ ให้มีสติอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูปฏิกิริยาของจิต ถ้านิ่งเฉยได้ก็ไม่เป็นปัญหา ร่างกายจะเจ็บปวดจะหยุดหายใจ ก็ให้มีสติรู้อยู่ ถ้าไม่หวั่นไหวจะไปดี ไปนิพพานเลยก็ได้ อยู่ที่ใจตัวเดียว รักษาใจตัวเดียว ด้วยสติ ด้วยปัญญา อย่าให้ใจตื่นตระหนกวุ่นวาย ให้นิ่งเฉย เหมือนดูหนัง ชีวิตของเรานี้เป็นเหมือนหนัง ใจเป็นเพียงผู้ดู แต่กลับหลงคิดว่าเป็นผู้เล่น
ถาม ภาพนั้นมันติดอยู่ที่หนู เป็นสัญญา
ตอบ ก็ดี ก็เอามาเป็นสัญญาเตือนสติว่า เวลาจะตายจะเป็นอย่างนี้ ฝึกใจให้รับภาพนั้น นึกถึงภาพนั้นแล้วทำใจให้นิ่งเฉยไม่หวั่นไหว เป็นมรณานุสติ เป็นภาพที่มีคุณประโยชน์ในทางวิปัสสนา เพราะเป็นภาพเหตุการณ์จริงที่ผ่านมาแล้ว ควรเอามาเจริญอยู่เรื่อยๆ เหมือนคนที่ผ่านอุบัติเหตุแล้วรอดตาย จะมีทัศนคติชีวิตที่ต่างกับคนที่ไม่ได้ผ่านมา เหมือนเกิดใหม่ ถ้ามีปัญญามีธรรมะเป็นพื้นฐาน ก็จะปล่อยวางได้ เพราะในที่สุดชีวิตก็มีแค่นี้ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะคิดว่าได้โอกาสใหม่ ต้องรีบหาความสุข ไปเที่ยวไปกินไปเล่นให้เต็มที่ ก็เป็นได้ ๒ ทาง อยู่ที่เราจะใช้เหตุการณ์นั้นให้เกิดประโยชน์หรือเกิดโทษ ถ้าให้เกิดประโยชน์ในทางธรรมะก็ปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้หลงระเริงกับชีวิต ไม่ให้หลงระเริงกับการหาความสุข ที่ต้องสิ้นสุดลงในวันใดวันหนึ่ง คอยเตือนสติคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า จะต้องเป็นอย่างนี้อีก ต้องทำใจให้นิ่งให้สงบ ไม่หวั่นไหวหวาดกลัว จะผ่านไปได้อย่างสบาย มีความสุข เวลาอยู่ก็มีความสุข ไม่หวาดกลัวกับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น เพราะรู้แล้วว่าเมื่อมันเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร
เหมือนกับซ้อมดับเพลิงหนีไฟ ถ้าไม่เตรียมการณ์ไว้ก่อน พอไฟไหม้จะโกลาหลอลหม่าน ไม่รู้ว่าจะขึ้นข้างบนหรือลงข้างล่างดี แต่ถ้าได้ฝึกหนีไฟไว้ก่อนแล้ว พอถึงเวลาก็จะรู้ว่าต้องไปทางนี้ ทำอย่างนี้ ก็จะปลอดภัย ใจเราก็ต้องฝึกซ้อมวิธี ที่จะเผชิญกับความตายให้ได้ก่อน ก่อนที่จะตายจริง ท่านจึงสอนให้ตายก่อนตาย ถ้าตายก่อนตายได้แล้ว พอตายจริงก็เป็นเรื่องธรรมดา เราพร้อมแล้ว ได้ผ่านมาแล้ว หลักสำคัญอยู่ตรงที่รู้ว่าใจไม่ตาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจครอบครองอยู่นี้ ต้องตายจากกันไป อย่าไปเสียดาย เมื่อถึงเวลาจะไปก็ให้เขาไป จะได้ไม่วุ่นวาย อยู่ที่การเจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่เจริญไม่นึกถึงอยู่เรื่อยๆ จะเผลอ จะถูกความหลงทำหน้าที่แทน ทำให้กลัวให้หวงให้ห่วงให้เสียดาย