กัณฑ์ที่ ๓๘๑ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๑
พระปาฏิโมกข์
เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุทุกรูป ที่จะต้องประชุมฟังพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน พระปาฏิโมกข์คือศีล ๒๒๗ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติขึ้นตามเหตุการณ์ต่างๆ ในระยะเริ่มต้นไม่มีพระปาฏิโมกข์ เพราะผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนามีศีลกันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักบวชจากลัทธิต่างๆ เช่นพระปัญจวัคคีย์ หรือพระนักบวชที่พระพุทธเจ้าทรงไปเทศน์สอนตามสำนักต่างๆ พอทรงแสดงธรรมเสร็จก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กัน ก็ขอบวชเป็นพระภิกษุ การประพฤติของพระอรหันต์แต่ละรูปนั้น สวยงามเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสตลอดเวลา จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีข้อห้ามต่างๆ ต่อมามีการบวชมากขึ้น คนที่บวชก็มาจากฆราวาส ไม่เคยบวชมาก่อน จึงไม่รู้ว่านักบวชควรประพฤติตนอย่างไร ให้เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใส ก็เลยมีความประพฤติที่ไม่สวยงาม ไม่ส่งเสริมศรัทธาและการปฏิบัติ แต่ทำให้ศรัทธาและการปฏิบัติเสื่อมลง จึงมีคนไปกราบทูลฟ้องพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์นั้นองค์นี้ประพฤติไม่เหมาะสม พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกพระที่ถูกกล่าวหามาสอบสวน พอท่านรับว่าท่านทำอย่างนั้นจริง พระองค์ก็ทรงตรัสห้ามไม่ให้กระทำต่อไป แต่ความผิดครั้งแรกไม่ถือเป็นโทษ เพราะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงปรากฏเป็นข้อห้ามต่างๆขึ้นมาเรื่อยๆ ถึง ๒๒๗ ข้อด้วยกัน ถ้าทรงอยู่ถึงวันนี้ก็ไม่ทราบว่าจะถึงข้อที่เท่าไหร่ เพราะญาติโยมคงจะไปฟ้องกันมาก
ก่อนที่จะมีพระปาฏิโมกข์นี้ ก็มีเรื่องกล่าวถึงอยู่ในพระไตรปิฎกว่า พระสารีบุตรมีความซาบซึ้ง ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก เห็นว่ามีคุณค่าแก่สัตว์โลกอย่างยิ่ง จึงอยากจะให้พระศาสนาอยู่คู่กับโลกไปนานๆ ให้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก จึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำอย่างไรให้พระศาสนาอยู่ไปนานๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสตอบว่า ต้องบัญญัติพระปาฏิโมกข์ บัญญัติข้อห้ามต่างๆ พระสารีบุตรจึงกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติข้อห้ามต่างๆ แต่ทรงตรัสว่าตอนนี้ยังไม่มีเหตุ เพราะ ๑. ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว ๒. ลาภสักการะที่เป็นเหตุของความเสื่อมของพระภิกษุก็ยังไม่มี เพราะลาภสักการะจะไปกระตุ้นกิเลสในใจของพระ ที่ยังไม่ได้บรรลุให้กิเลสออกมาเพ่นพ่าน ทะเลาะวิวาทแก่งแย่งชิงดีกัน ทำอะไรต่างๆที่ไม่เหมาะสม ตอนนั้นจึงยังไม่ได้ทรงบัญญัติพระปาฏิโมกข์ขึ้นมา ต่อมามีกุลบุตรที่ศรัทธา ที่ไม่เคยบวชมาก่อน มาบวชกัน แต่ไม่รู้จักวิถีชีวิตของพระ ว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไร ให้เป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใส จึงมีการประพฤตินอกลู่นอกทาง จึงทรงบัญญัติข้อห้ามต่างๆขึ้นมา เรียกว่าพระปาฏิโมกข์ มีอยู่ ๒๒๗ ข้อ ทรงแบ่งข้อห้ามต่างๆตามโทษหนักเบา ข้อห้ามที่หนักที่สุดก็มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือปาราชิก ๔ ถ้าภิกษุรูปหนึ่งรูปใดละเมิดข้อห้ามนี้แล้ว จะถือว่าขาดจากการเป็นพระภิกษุ ผู้อื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม โดยหลักธรรมถือว่าได้ขาดจากความเป็นพระไปแล้ว
ข้อที่ ๑ คือการเสพเมถุน นักบวชไม่ควรเสพเมถุน ไม่ร่วมหลับนอนกับผู้อื่น ไม่หาความสุขทางโลกิยะ ๒. ฆ่ามนุษย์ ถ้าฆ่าสัตว์ยังไม่เป็นปาราชิก ๓. ลักทรัพย์ ๔. อุตริมนุสธรรม อวดธรรมวิเศษที่ไม่มีในตน เช่นอวดว่ามีฌานขั้นนั้นขั้นนี้ บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ โดยที่ไม่มีในตน ถ้ามีถ้าเป็นความจริงก็ไม่ผิด ถ้าไม่เป็นความจริงจึงจะผิด แต่ในสมัยนี้ถึงแม้มี ถ้าพูดไปก็จะถูกปรับปาราชิกได้ ถ้าไม่มีใครเชื่อ ในสมัยพุทธกาลมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตัดสินว่า พระรูปนั้นรูปนี้มีธรรมวิเศษหรือไม่ เวลาที่พระบางรูปถูกฟ้องว่าอุตริ เพราะมีความประพฤติที่ไม่น่าเลื่อมใส ไม่น่าจะบรรลุธรรมวิเศษได้ ในสมัยปัจจุบันไม่ค่อยมีผู้รู้ที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป นอกจากในวงปฏิบัติ ที่มีพระเถระครูบาอาจารย์ ที่น่าเคารพเลื่อมใสศรัทธา ถ้าท่านพูดว่าองค์นั้นองค์นี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เชื่อท่านได้ ไม่อย่างนั้นแล้วคงจะไม่รู้กัน วิธีที่จะรู้ว่าท่านบรรลุหรือไม่นั้นอยู่ที่ ๑. การสนทนาธรรมกัน ผู้ร่วมสนทนาก็ต้องบรรลุแล้วถึงจะรู้ แต่จะรู้เพียงระดับที่ตนได้บรรลุ ถ้าสูงกว่าตนก็จะไม่รู้ว่าอยู่ขั้นไหน ถ้าต่ำกว่าตนก็จะรู้ ๒. จะรู้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ตอนที่ท่านมรณภาพ แล้วอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ ๓. เวลานำเอาคำสอนของท่านไปปฏิบัติ จนได้บรรลุธรรม ถ้าท่านไม่บรรลุ คงจะสอนให้เราบรรลุไม่ได้
นี่คือเรื่องของพระปาฏิโมกข์ ที่ต้องให้ประชุมกันทุกกึ่งเดือน เพราะจะได้ไม่หลงลืม ถ้าไม่มีการทบทวนกันเลย จะไม่รู้ว่ามีข้อห้ามอะไรบ้าง แต่ความจริงเวลาสวดจะสวดเป็นภาษาบาลี ถ้าไม่ได้เรียนบาลีมาก็จะไม่เข้าใจ แต่มีหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทย ที่พระทุกรูปต้องเรียนต้องอ่านกัน ต้องรู้ทั้ง ๒๒๗ ข้อว่ามีอะไรบ้าง มีบรรจุอยู่ในนักธรรมตรี การสวดพระปาฏิโมกข์เป็นประจำนี้จะสวดในบางสำนักเท่านั้น บางสำนักจะสวดเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา พอออกพรรษาแล้วก็หยุด พระปฏิบัติจะถือเป็นภารกิจที่สำคัญ ไม่ควรขาด ถ้ามีพระตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปต้องสวดพระปาฏิโมกข์ ถ้าต่ำกว่า ๔ ก็ไม่ต้องสวด ให้แสดงอาบัติแล้วก็แสดงความบริสุทธิ์ ให้รู้ว่าวันนี้เป็นวันสวดพระปาฏิโมกข์ ข้อห้ามต่างๆที่นักบวชต้องปฏิบัติตาม เพราะความเป็นพระอยู่ที่ศีลนี้เอง ถ้าไม่มีศีลแล้วก็เป็นเหมือนฆราวาส เหมือนจับเอาลิงมาแต่งตัวใส่เสื้อผ้าให้เป็นคน แต่งอย่างไรก็ไม่เป็นคน เพราะลิงมันซนมันดื้อ ไม่เรียบร้อย จะให้นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างที่พวกเราทำกันอยู่นี้ก็ทำไม่ได้ ฉันใดจะให้คนห่มผ้าเหลืองโกนหัวแต่ไม่มีศีลมาเป็นพระก็เป็นไม่ได้ เพราะกายวาจาใจ ไม่สงบ เป็นพระต้องสงบกายวาจาใจ ในเบื้องต้นต้องสงบกายสงบวาจา สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ประพฤติอยู่ในกรอบของพระปาฏิโมกข์ ถึงแม้ใจจะดิ้นรนกวัดแกว่ง อยากจะทำอย่างนั้น อยากจะพูดอย่างนี้ ก็ให้มีสติรู้ว่าทำไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในกรอบของพระปาฏิโมกข์ อย่างวันนี้ที่หมู่บ้านที่ไปบิณฑบาตมีการสรงน้ำพระเล่นสาดน้ำกัน เป็นพระอยากจะไปเล่นน้ำกับเขา ก็ทำไม่ได้ ถ้าอยากจะทำก็ต้องลาสิกขาไปก่อน แล้วค่อยทำ
คนเรามีความแตกต่างกันที่ศีลธรรม วัดความสูงต่ำของคนด้วยศีลธรรม ผู้ที่มีศีลมากกว่าเป็นผู้ที่สูงกว่า ผู้ที่มีศีลน้อยกว่าก็ให้ความเคารพ แม้จะเป็นพ่อแม่ ถ้าลูกบวชเป็นพระพ่อแม่ก็จะกราบลูก กราบเพราะศีล ความสูงความประเสริฐของคนไม่ได้อยู่ที่ฐานะ ไม่ได้อยู่ที่อายุ ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง แต่ก็ให้เกียรติกันตามสมมุติ มีหัวหน้ามีลูกน้อง ลูกน้องก็ต้องเคารพหัวหน้า เพราะหัวหน้าเป็นคนให้เงินเดือน ไม่ได้เคารพเพราะมีศีลมากกว่า เพราะไม่รู้ว่าใครมีศีลมากน้อยกว่ากัน ถ้าหัวหน้าชอบกินเหล้าแต่ลูกน้องไม่ชอบ หัวหน้าชอบพูดปดมดเท็จแต่ลูกน้องไม่ชอบ ถ้าวัดตามหลักศีลธรรมแล้ว ลูกน้องก็ต้องสูงกว่าหัวหน้า แต่ในโลกสมมุติจะไม่ถือหลักนี้ จะถือหลักว่าใครมีตำแหน่งสูงกว่า ก็ต้องให้ความเคารพ เช่นทหารตำรวจ จ่าก็ต้องเคารพนายร้อย นายร้อยก็ต้องเคารพนายพัน นายพันก็ต้องเคารพนายพล แต่คนที่มียศสูงๆแต่ไม่มีศีลธรรมก็มีเยอะแยะไป ไม่น่าเคารพเลื่อมใส แต่ก็ต้องเคารพกันไปตามกฎของสมมุติ เป็นเหมือนโรงละคร โลกเรานี้เป็นเหมือนโรงละครโรงใหญ่ แต่ละคนก็มีบทบาทของตน เราจึงต้องแยกแยะความสูงต่ำไว้เป็น ๒ ส่วนคือส่วนของสมมุติและส่วนของศีลธรรม ส่วนของสมมุติก็แบ่งตามตำแหน่งตามยศต่างๆ ส่วนของศีลธรรม ก็แบ่งตามศีลตามคุณธรรมที่มากน้อยต่างกัน เช่นพระโสดาบันก็ต่ำกว่าพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีก็ต่ำกว่าพระอนาคามี พระอนาคามีก็ต่ำกว่าพระอรหันต์ ทางธรรมจะวัดกันอย่างนี้ ความสูงต่ำของทางโลกไม่จีรังถาวร ไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริง คุณค่าที่แท้จริงอยู่ที่ความสูงต่ำในคุณธรรม ผู้ที่สูงในทางธรรมจะไม่ถือว่าตนสูง ไม่ได้อยากให้ผู้อื่นแสดงความเคารพนับถือ ยิ่งสูงยิ่งไม่อยาก จนไม่มีความอยากเลย ต่างกับทางโลก ยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งอยากให้แสดงความเคารพนับถือมากยิ่งขึ้น เพราะทางโลกเป็นทางของกิเลส ของความหลงในอัตตาตัวตน หารู้ไม่ว่าไม่มีตัวตน
ในทางธรรมนี้เมื่อปฏิบัติไป ก็จะเข้าใจความเป็นตัวตนมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะรู้ว่าตัวตนเป็นความหลงที่ติดมากับความรู้สึกนึกคิด คิดว่าตัวรู้คือจิตนี้เป็นตัวเป็นตน แต่ความจริงจิตก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เหมือนกับดินน้ำลมไฟ เมื่อมารวมกันก็ปรากฏเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา สัตว์ก็มีธาตุ ๔ และธาตุรู้มารวมกัน มนุษย์ก็มีธาตุ ๔ และธาตุรู้มารวมกัน มนุษย์และสัตว์ต่างกันก็ตรงที่ศีลธรรม สัตว์แทบจะไม่มีศีลธรรมเลยคือศีล ๕ มนุษย์มีวิสัยที่จะรักษาศีล ๕ ได้ เพราะมีสติปัญญาที่จะรู้ว่าศีล ๕ มีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร แต่สัตว์เดรัจฉานไม่มีสติปัญญาที่จะรู้คุณค่าของศีล ๕ จึงต้องทำผิดศีล เพราะคิดว่าเป็นการอยู่รอดของเขา เช่นเวลาหิวก็ต้องกินสัตว์เล็กสัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ก็กินสัตว์ที่เล็กกว่าเป็นอาหาร แต่มนุษย์สามารถแยกแยะได้ ว่าสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องฆ่าผู้อื่น อาหารของมนุษย์นี้ถ้าไม่ใช่เป็นสัตว์ที่ตายแล้ว ก็มีอย่างอื่นที่รับประทานได้ พวกผักพวกข้าวต่างก็เป็นอาหารได้ เรื่องทั้งหมดนี้อยู่ในธาตุรู้คือจิต ถ้ามีความหลงก็จะไม่รู้ว่าเป็นอะไร จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภของความอยาก อยากจะได้อะไรอยากจะทำอะไรอยากจะมีอะไร ก็จะแสวงหามาด้วยวิธีการต่างๆ ถ้าหามาโดยวิธีที่สุจริตไม่ได้ ก็จะหามาโดยวิธีที่ทุจริต จิตที่มีความรู้สึกสำนึกคิด ว่าการที่จะอยู่อย่างมีความสุขอยู่อย่างเจริญก้าวหน้านั้น ต้องตั้งอยู่ในศีลในธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็จะบำเพ็ญรักษาศีล มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงสารผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ถ้าพอจะช่วยเหลือกันได้ก็จะช่วย เพราะทำแล้วมีความสุข จะพัฒนาตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า
ในบางภพบางชาติ ถ้าเป็นบุญเป็นกุศลเป็นโชควาสนา ก็จะได้พบกับพระพุทธเจ้าหรือได้พบกับพระพุทธศาสนา อย่างพวกเรา ชาตินี้เราก็โชคดี ที่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ได้พบกับพระสาวกของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ไปในทางที่ถูกที่ชอบที่ควร ซึ่งเป็นทางที่เรากำลังไปอยู่แล้ว เราชอบเรายินดีที่จะไปทางนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไปไม่ได้ไกล และยังไม่รู้วิธีที่จะพาให้ไปให้ไกลที่สุด พอได้เจอพระสาวกเจอพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ก็ช่วยให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดีกว่าปฏิบัติไปตามความรู้ที่มีอยู่ ที่ต้องค่อยๆคลำทางไปทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับมีคนขับรถผ่านมาแล้วจอดรับเรา ขึ้นมาซิ ไปด้วยกัน นั่งรถไปจะเร็วกว่าเดินไปเอง การได้พบกับพระพุทธศาสนาก็เหมือนได้พบคนที่ขับรถ ที่มีความเมตตาสงสาร เห็นเราเดินแบกข้าวของ เดินกลางแดดกลางฝน เหนื่อยยากลำบากลำบน ก็ชวนให้นั่งรถไปกับเขา นี่คือความเมตตาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเป็นเหมือนเจ้าของรถ เห็นพวกเราเดินอยู่กลางแดด ก็สงสาร ไม่ใจแคบ ก็จอดรถรับ แต่พวกเราไม่ค่อยชอบขึ้นกัน กลัวจะต้องเสียค่ารถ เพราะต้องถือศีล ๘ ต้องไปอยู่วัด ต้องจากสามีจากภรรยา ไม่ได้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่ได้ทำตามใจชอบ ต้องปรับตัวปรับใจ ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงควรตักตวงโอกาสที่ดีนี้ ไม่มีโอกาสอย่างนี้อีกแล้ว นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ผ่านไปแล้วก็ต้องคลำทางไปเอง พอโอกาสหน้าได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก พระศาสนาก็อาจจะหมดไปแล้ว จะไม่มีใครรู้เรื่องพระศาสนา อาจจะมีแต่คัมภีร์เก็บไว้ในตู้ แต่ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครอธิบาย ต้องคลำทางไปเอง
ตอนนี้ยังมีโอกาสที่จะศึกษา จึงควรฟังเทศน์ฟังธรรมไปเรื่อยๆ ฟังแล้วก็นำเอาไปใคร่ครวญพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพราะนี่คือบ่อเกิดของปัญญา ที่จะพาเราไปสู่มรรคผลนิพพาน ในมรรค ๘ ก็เริ่มต้นที่สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ความเห็นชอบกับความดำริชอบ นี่แหละเป็นตัวปัญญา ใจของเราคิดอยู่ตลอดเวลา แต่มักจะไม่คิดไปในทางสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโป มักจะคิดไปในทางมิจฉาทิฐิมิจฉาสังกัปโป คือคิดผิดมีความเห็นผิด ถ้าคิดหาความสุขทางโลกก็คิดผิดแล้ว เพราะความสุขที่แท้จริงอยู่ในทางธรรม ต้องคิดว่าในโลกนี้ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ เพราะในโลกนี้มีแต่ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรเป็นของเรา ถ้าคิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้เราเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลก ทำให้เรามีความยินดีที่จะไปในทางธรรม เราก็จะมุ่งไปในทางธรรม จะพยายามนั่งสมาธิเจริญสติอยู่เรื่อยๆ พอนั่งสมาธิได้ มีสติอย่างต่อเนื่องแล้ว จิตจะมีความสุขมีความสงบมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องไปหาความสุขจากภายนอก ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินหาทอง เพื่อเอามาซื้อความสุข ก็จะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินทองไว้มากมาย ก็จะแบ่งปันให้ผู้อื่น เอาไปทำบุญ เก็บไว้เท่าที่จำเป็น จะเข้าหาความสุขภายในให้มากขึ้น ถ้าลองได้เข้าข้างในแล้ว การใช้เงินใช้ทองจะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ ใช้เฉพาะดูแลอัตภาพร่างกายเท่านั้น คือซื้ออาหารมารับประทาน เสื้อผ้าก็แทบจะไม่ต้องซื้อ เพราะมีอยู่มากแล้ว ยารักษาโรคนานๆจะใช้สักครั้งหนึ่ง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ที่อยู่อาศัยก็มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปทำงานให้เหนื่อยยาก มีเวลาอยู่บ้านปฏิบัติธรรม ถ้าไม่อยู่บ้านก็ไปอยู่วัด
ทั้งหมดนี้เกิดจากการคิดไปในทางธรรม คิดว่าโลกนี้ไม่มีอะไรน่ายินดี ไม่มีอะไรเป็นความสุขที่แท้จริง มีอะไรก็ต้องทุกข์กับสิ่งนั้น เพราะไม่อยู่คงเส้นคงวา ไม่เป็นเหมือนเดิมไปตลอด มีการเปลี่ยนแปลง มีการพลัดพรากจากกัน นี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆในโลกนี้ เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ให้ความสุขที่ถาวร มีโทษมีทุกข์ตามมาด้วย เมื่อมีแล้วก็หวงก็ห่วง เสียดายเวลาที่จากไป ไม่มีอะไรเลยจะดีกว่า มีเท่าที่จำเป็นก็พอ มีลมไว้หายใจ มีน้ำไว้ดื่ม มีข้าวไว้รับประทาน พยายามคิดทางปัญญาอยู่เรื่อยๆ คิดทางอนิจจังทุกขังอนัตตา คิดว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา สิ่งที่เราเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู ดมด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น สัมผัสด้วยร่างกาย ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น แล้วจะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา จะเกิดความยินดีที่จะเจริญธรรมะ ที่จะปฏิบัติทำจิตใจให้สงบ พอตั้งหน้าตั้งตาทำกันจริงจัง ไม่นานก็จะเห็นผล ที่ไม่ได้ผลกันส่วนใหญ่เพราะไม่เอาจริงเอาจังกัน ทำไปพอหอมปากหอมคอ พอนั่งปั๊บก็ง่วงหลับไปแล้ว ถ้าไม่หลับก็ฟุ้งซ่าน ไม่เช่นนั้นก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ เพราะไม่มีสติ ไม่ได้จดจ่ออยู่กับพุทโธ ไม่ได้อยู่กับลมหายใจเข้าออก มัวแต่คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะไม่ได้ผล จะท้อแท้หมดกำลังใจ กิเลสก็จะมาอ้างว่าปฏิบัติไปก็ไม่ได้ประโยชน์ วาสนาไม่พอบุญไม่พอ เอาไว้ชาติหน้าค่อยทำใหม่ ชาตินี้เอาความสุขทางโลกไปก่อน ถึงแม้มันจะทุกข์ แต่ก็ยังสุขบ้าง เวลาสุขก็ดีอยู่หรอก แต่เวลาทุกข์ก็อย่าไปโทษใครก็แล้วกัน โทษตนเองเวลาร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจ ปวดใจช้ำใจ อยู่ที่เราทั้งนั้น ไปหลงเขาเอง ไปหลงกับสิ่งต่างๆเอง พอสิ่งต่างๆไม่ตอบสนองตามที่ต้องการก็อย่าไปโทษใคร โทษความหลงของเราเอง สิ่งที่จะสนองตอบเราตลอดเวลาด้วยความซื่อสัตย์ก็ไม่เอากัน คือความสงบของจิตใจ มันซื่อสัตย์กับเรามาก พอทำให้สงบแล้วมันก็จะสงบไปเรื่อยๆ จะไม่มีการปฏิวัติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะสงบอยู่เรื่อยๆ
ให้เข้าหาธรรมะภายในจิตใจ เข้าข้างใน อย่าออกข้างนอก หลวงปู่ดุลย์ท่านก็พูดไว้แล้วว่า จิตออกข้างนอกเป็นสมุทัย ถ้าจิตคิดถึงเรื่องลาภยศสรรเสริญสุข คิดถึงคนนั้นคนนี้ ก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าเข้าข้างในแล้วก็จะเย็นสบาย เข้าหาพุทโธ เข้าหาลมหายใจ เข้าหาการพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย ให้อยู่ในวงนี้ แล้วรับรองได้ว่าความสงบจะไม่อยู่ห่างไกล เมื่อมีความสงบก็จะมีความสุข เป็นความสุขที่ไม่มีใครสามารถพรากจากเราไปได้ เป็นเงาตามตัวเราไป ตอนนี้ก็ต้องพยายามผลักดันตัวเองไปเรื่อยๆ ให้มีความพากเพียร ไม่มีใครทำแทนเราได้ ตนเป็นที่พึ่งของตน อัตตาหิ อัตโน นาโถ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ เป็นเพียงผู้ชี้ทาง แต่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าไม่มีผู้ชี้ทาง ถึงแม้จะมีความเพียรมากน้อยเพียงไรก็ตาม ถ้าเพียรไปในทางที่ผิดก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย เช่นองคุลิมาลที่เพียรฆ่าคนถึง ๙๙๙ คน แต่เพียรไปในทิศทางที่ผิด เพราะไม่มีผู้สอนผู้ชี้ทางที่ถูก พอได้พบกับพระพุทธเจ้าที่ทรงบอกว่าไปผิดทางแล้ว ต้องไปทางนี้ ไม่ใช่ไปทางโน้น พอได้ยินได้ฟังก็เข้าใจ ก็เลยพลิกใจกลับมาบำเพ็ญใหม่ ย้อนเข้าข้างในไม่ออกไปข้างนอก ไม่หาความวิเศษจากข้างนอก จากการไปทำร้ายผู้อื่น จากการไปเหยียบย่ำทำลายผู้อื่น จากการยกตนข่มท่าน ที่ไม่ได้ทำให้ตนเองประเสริฐ ผู้ประเสริฐจะต้องกดตัวเอง กดกิเลสของตน ข่มตนเอง ยกย่องผู้อื่นแต่ข่มตนเอง ถึงจะทำให้ตนเองประเสริฐ แต่กิเลสจะชอบทำตรงกันข้าม ชอบข่มผู้อื่น ชอบยกตนเอง จึงไม่ประเสริฐกัน
ต้องพึ่งตนเอง ต้องปฏิบัติเอง ต้องมีสติเตือนตนอยู่เรื่อยๆ พิจารณาไปในทางธรรม คิดไปในทางปัญญาไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเกิดความรู้ความฉลาดขึ้นมา แล้วมันจะเป็นตัวคอยดึงเราไป ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้เจริญมรณานุสติอยู่เสมอ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จีรังถาวร ที่จะให้ความสุขกับเราไปตลอด เมื่อคิดอย่างนี้แล้วก็จะคลายความหลง จะไม่เสียเวลากับการหาความสุขทางโลก จะหันมาหาความสุขทางธรรม คิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ต้องบังคับให้คิดไปในทางนี้ ในเบื้องต้นก็คิดไปเรื่อยๆว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ไม่มีอะไรที่จะเป็นความสุขที่ถาวร เป็นเหมือนงานเลี้ยงที่มีการสิ้นสุด เวลาไปงานเลี้ยงใหม่ๆก็มีความสนุกสนานเฮฮา พอดึกเข้าดึกเข้าก็ต้องเลิกลากันไป ความสุขทางโลกมันเป็นอย่างนี้ ไม่ถาวร แต่ความสุขทางธรรม จากการปฏิบัติธรรมจนได้พบกับความสงบ จะถาวร จะอยู่กับใจไปเรื่อยๆ ในเบื้องต้นก็มีเป็นพักๆไปก่อน พอปฏิบัติมากขึ้นมากขึ้นไปเรื่อยๆ ปฏิบัติทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว ความสุขความสงบก็จะต่อเนื่อง จนเป็นธรรมชาติอยู่ติดกับใจตลอดเวลา เมื่อพบกับความสุขแบบนี้แล้ว จะไม่หิวไม่อยากกับอะไรทั้งนั้น ไม่เห็นอะไรที่จะวิเศษ ไม่เห็นว่าใครจะวิเศษ ไม่เห็นว่าจะมีอะไรในโลกที่วิเศษเลย เราสมมุติมันขึ้นมาทั้งนั้น ของทุกอย่างก็ผลิตมาจากธาตุ ๔ ทั้งนั้น มาจากดินน้ำลมไฟ ดินก็คือของแข็ง น้ำก็คือของเหลว ไฟก็คือของร้อน ลมก็คืออากาศ พวกก๊าซต่างๆ เอามาผสมรวมกัน ถ้าศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็จะรู้ว่า การผลิตข้าวของต่างๆต้องมีธาตุทั้ง ๔ เป็นองค์ประกอบ ทำให้เป็นกระดาษ ทำให้เป็นกล่อง ทำให้เป็นแก้ว ทำให้เป็นเสื้อ ทำให้เป็นอะไรต่างๆ มาจากธาตุ ๔ ทั้งนั้น ไม่ได้วิเศษอะไร แม้แต่เพชรที่มีราคาแพงมาก หรือทองคำ ก็เป็นโลหะเท่านั้นเอง แต่ความหลงหลอกให้เราคิดว่าวิเศษ
เราวัดกันด้วยวัตถุข้าวของเงินทอง ถ้ามีมากก็ถือว่าวิเศษมาก ถ้ามีน้อยก็วิเศษน้อย โลกสมมุติเขาวัดกันอย่างนั้น แต่ในสายตาของธรรมะ ของผู้ที่มีปัญญา ไม่ได้วัดกันที่วัตถุ แต่วัดที่คุณธรรม วัดที่น้ำใจ ว่ามีมากน้อยเพียงใด มีความซื่อตรงมากน้อยเพียงใด อยู่ตรงนั้นมากกว่า คุณค่าของคนอยู่ตรงนั้น ไม่ได้อยู่ที่วัตถุข้าวของเงินทอง จึงอย่าหลงประเด็น อย่าหลงกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ แต่ก็ต้องมีไว้บ้าง เพราะยังต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่ มีไว้เพื่อสนับสนุนการดำรงชีพ เพราะยังต้องอาศัยชีวิตนี้บำเพ็ญปฏิบัติธรรม เพื่อให้ได้ไปถึงจุดที่ไม่ต้องอาศัยมันอีกต่อไป เมื่อถึงจุดนั้นแล้วจะเป็นจะตายก็เท่ากัน ไม่เดือดร้อนอะไร ตอนนี้เรายังต้องอาศัยมัน เหมือนกับเรือ จะข้ามฟากก็ต้องอาศัยเรือ เมื่อยังไม่ถึงฝั่งโน้นก็อย่าพึ่งไปจมเรือ ถ้าจมเรือก็ต้องว่ายเอง ร่างกายก็เป็นเหมือนเรือที่จะพาเราข้ามฟาก จากโลกนี้ไปสู่ฟากของพระนิพพาน ยังต้องอาศัยมัน ต้องดูแลมัน จึงต้องมีบ้าน มีทรัพย์ มีข้าวของเงินทองไว้สนับสนุน แต่ให้มีพอประมาณ พออยู่พอกิน อย่าหมดเวลาไปกับการหาสิ่งเหล่านี้ เพราะจะไม่มีเวลาปฏิบัติกัน หาพอสมควร ใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเวลามากในการปฏิบัติ ถ้าหามามาก มีเงินมากเกินไป ก็จะคิดไปในทางกิเลส แทนที่จะเอาเงินไปทำบุญหรือเข้าวัดปฏิบัติธรรม ก็จะคิดเอาเงินไปเที่ยวดีกว่า ไปซื้อของฟุ่มเฟือยดีกว่า แล้วก็จะติดเหมือนติดยาเสพติด เที่ยวแล้วก็อยากจะเที่ยวอีก ซื้อของฟุ่มเฟือยแล้วก็อยากจะซื้ออีก ต้องกลับมาหาเงินใหม่ ก็เลยไม่ได้ไปวัดเสียที ไม่ได้ไปปฏิบัติกันเสียที ต้องพยายามขจัดความสุขทางโลกให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ หรือการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ มันเป็นเหมือนยาเสพติด ไม่ได้ทำให้เราวิเศษขึ้นมา แต่จะทำให้ติดอย่างงอมแงม ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายภพหลายชาติ ต้องผลักตัวเราเอง ให้ฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อให้ได้ข้อคิดที่ให้กำลังใจ ให้คิดไปในทางที่ถูก ที่จะพาไปสู่การปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วก็จะได้พบกับผล ได้พบกับความสุข จะมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจะไม่สนใจกับโลกนี้ จะสนใจกับการปฏิบัติอย่างเดียว ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว ไม่นานก็ถึงจุดหมายปลายทาง ถึงปรมังสุขัง ถึงบรมสุข ถึงจุดที่ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด ให้ทุกข์ยากลำบาก จึงขอสรุปให้พยายามผลักดันตัวเอง อย่าไปฝันว่าครูบาอาจารย์หรือพระศรีอาริย์ จะช่วยเราได้ในการปฏิบัติ ท่านช่วยเราด้วยการบอกทาง แต่การปฏิบัติเราต้องทำกันเอง
ถาม ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนา แล้วคนที่ยังปฏิบัติอย่างพวกเรานี่ มีโอกาสได้เจอหรือไม่ครับ
ตอบ ได้เจอแน่ โอกาสที่จะเจอมีมากกว่าไม่เจอ เพราะยุคของพระพุทธศาสนาแต่ละยุคนี่สั้นมาก เปรียบเทียบเวลาที่จุดไม้ขีดนี่ วูบหนึ่งมันก็ดับแล้ว เวลา ๕๐๐๐ ปีเมื่อเทียบกับหนึ่งกัป ก็เป็นเสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้น แสงสว่างของพระพุทธศาสนาจึงเปรียบเหมือนแสงสว่างของก้านไม้ขีดที่สั้นมาก
ถาม แต่ในขณะนั้นผู้รู้ยังพอมีอยู่ไหมคะ
ตอบ จะเป็นเหมือนช่วงก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ไม่มีใครรู้เรื่องมรรคผลนิพพาน
ถาม ที่ท่านอาจารย์บอกว่าให้ตนเป็นที่พึ่งของตน มีอะไรที่ช่วยกระตุ้นให้เราปฏิบัติ เวลาเรามาฟังท่านอาจารย์ก็เป็นเครื่องกระตุ้นอย่างหนึ่ง แต่มันกระตุ้นชั่วคราว
ตอบ ต้องเอาไปคิดต่อ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้ต้องเอาติดไปกับใจ เอาไปทบทวน เอาไปใคร่ครวญ ให้คิดถึงความแก่ความเจ็บความตายอยู่เรื่อยๆ ถ้าทำได้ก็เหมือนกับได้ฟังธรรมตลอดเวลา ที่พูดมาตลอดทั้งหมดนี้ สรุปใจความลงตรงนี้ ตรงที่ให้คิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าระลึกถึงความตายแล้ว ก็จะเบื่อหน่ายชีวิต เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง จะหายหลง เป็นยาแก้ความหลง มรณานุสติเป็นยาแก้ความหลง พอได้คิดว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามัวแต่หาความสุข ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องไปเจอความตาย แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่หามาแทบเป็นแทบตาย ก็จะหมดความหมายไป จะไปแบบไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวไป ก็จะทำให้หันมาสนใจในการศึกษาและปฏิบัติ เจริญสติมากขึ้น ทำจิตให้สงบมากขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น อยู่ที่เราจะคิดกัน ถ้าคิดอยู่เรื่อยๆทั้งวันทั้งคืน ก็จะไปทางนี้ แต่เราไม่คิดกัน พอไปจากที่นี่แล้ว ก็จะคุยกัน จะไปไหนดี หรือคิดถึงงานการที่จะต้องทำ มันก็จะฉุดลากไปทางนี้ พอออกจากที่นี่ไปแล้วก็ลืมหมด ถูกเรื่องอื่นเข้ามากลบหมด ที่ต้องช่วยตัวเองก็ตรงนี้ ต้องคิดอยู่เรื่อยๆ คนอื่นคิดแทนเราไม่ได้ ความคิดของเราเหมือนกับดูโทรทัศน์ มีหลายช่อง เปิดไปช่องหนึ่งก็เป็นอย่างหนึ่ง เปิดไปอีกช่องก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง พอคิดเรื่องนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง คิดอีกเรื่องหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ถ้าคิดไปในทางธรรมก็จะดึงไปในทางธรรม ถ้าคิดไปในทางโลกก็จะดึงไปในทางโลก คิดเรื่องทำงานก็จะคิดถึงตำแหน่งที่จะก้าวขึ้นไป คิดในทางค้าขายก็จะคิดขยายกิจการ มีเรื่องให้คิดไปเรื่อยๆ ถ้าคิดว่าจะทำไปถึงไหนกัน ทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วมีความสุขมากขึ้นหรือเปล่า หรือมีความทุกข์มากขึ้น มีความกังวลมากขึ้น มีความกดดันมากขึ้น ก็จะเกิดปัญญา แต่เราไม่คิดกัน ปล่อยให้ความรู้สึกพาไป ความรู้สึกจะหลอกเราเสมอว่าดี ยิ่งมากยิ่งดี ยิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่ไม่คิดว่าปวดหัวมากขึ้นหรือเปล่า ทุกข์วุ่นวายใจมากขึ้นหรือเปล่า ไม่ค่อยดูใจกัน เวลามีมากใจจะว้าวุ่นปั่นป่วนมากขึ้น เวลามีน้อยจะไม่ปั่นป่วนเท่าไหร่ ใจจะสงบ เพราะไม่มีอะไรต้องคอยกังวล ต้องคอยดูแลรักษา แต่พวกเรามองไม่เห็นใจกัน ไม่เคยดูใจกัน ส่วนใหญ่จะมองไปข้างนอก ถูกความหลงหลอกให้มองไปข้างนอก เมื่อมองไปข้างนอกก็เห็นว่ามีมากยิ่งดี มีตำแหน่งสูงขึ้นยิ่งดี เพราะมีคนเคารพนับถือมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น แต่ไม่เห็นความปั่นป่วนวุ่นวายใจที่มีมากขึ้น ใจไม่มั่นคงมากขึ้น ยิ่งขึ้นสูงเท่าไหร่เวลาตกลงมาก็จะเจ็บมากขึ้น เราไม่คิดทางด้านจิตใจกัน จึงไม่รู้ว่าจิตใจไม่มีความสุขเลย มีแต่ความเครียด ดูพวกที่เป็นผู้บริหารนี่ ผมจะขาวกันทั้งนั้น พวกลูกน้องผมจะไม่ค่อยขาว เพราะไม่ต้องแบกความรับผิดชอบ
ถาม บางครั้งคิดว่าจะทำงานให้มีเงินเยอะๆ จะได้ทำบุญเยอะๆ
ตอบ คิดอย่างนั้นก็ดี แต่ส่วนใหญ่พอมีแล้วมักจะลืมกัน มักจะถูกกิเลสแย่งไปก่อน ตอนแรกก็คิดจะทำบุญเยอะๆ แต่พอมีเงินแล้ว ไอ้นั่นก็สวย ไอ้นี่ก็ดี ที่นั่นก็น่าไปเที่ยว ขอแบ่งเงินไปหน่อย ความจริงแล้วไม่ควรทำงานเพื่อเอาเงินมาทำบุญ ทำงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อให้มีเวลาไปปฏิบัติธรรมจะดีกว่า เพราะบุญที่ได้จากการให้ มันน้อยกว่าบุญที่ได้จากการปฏิบัติธรรม เกิดจากการรักษาศีล ที่ให้ทำบุญให้ทาน เพราะมีเหลือกินเหลือใช้ เป็นวาสนาที่ทำมาหากินเก่ง ทำได้มากเกินความจำเป็น ก็ให้เอาไปทำบุญเสีย แต่อย่าไปตั้งเป้าทำเพื่อเอาเงินมาทำบุญ ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เป็นการหลอกตัวเอง จะได้ทำงาน จะได้ไม่ต้องไปรักษาศีล จะได้ไม่ต้องไปปฏิบัติธรรม เพราะไม่มีเวลา
ถาม เห็นคนถวายทองหลวงตาเยอะๆ ก็อยากถวายบ้าง
ตอบ ที่ถวายเพราะมีอยู่แล้ว เราไม่มีก็ไม่ต้องถวาย พระไม่มีก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่มีก็ไม่มี แต่พระที่มีคนไปถวายท่าน ท่านก็นำเอาไปถวายต่อ แต่ไม่ได้ไปเรี่ยไร ไปเสียเวลากับการหาทอง ได้มาเพราะบุญบารมี เพราะคุณงามความดี เพราะความขยันหมั่นเพียร คนเราต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ถ้าหามาได้เกินความจำเป็น ก็เอาไปทำบุญเสีย ไม่ให้หวง ไม่ให้เก็บไว้ แต่ไม่ได้ให้หาเงินหาทองเพื่อเอามาทำบุญ แต่ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่ทำบุญเลย ยิ่งไม่ได้อะไรเลย ถ้าทำบุญอย่างน้อยก็ได้สะสมบุญบารมี ไปภพหน้าชาติหน้า จะได้สุขสบาย แต่ยังไม่พอ เพราะยังวนเวียนอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ผลที่ต้องการให้ได้ก็คือการหลุดออกจากวงจรอุบาทว์นี้ คือวงจรแห่งการเกิดแก่เจ็บตาย จะไปได้ก็ต้องละความสุขทางโลก เพื่อเข้าสู่ความสุขทางธรรม เข้าสู่ความสงบของจิตใจ
ถาม คนในสังคมพอหาเงินได้ ก็คิดว่าจะเก็บเอาไว้ใช้ในภายภาคหน้าบ้าง เก็บไว้ให้ลูกหลานบ้าง
ตอบ คิดได้ ควรแบ่งเก็บไว้บ้าง แต่ไม่ควรเก็บไว้ทั้งหมด เก็บไว้เท่าที่จำเป็น ให้อยู่อย่างสบาย ไม่เดือดร้อน ควรคิดถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นบ้าง เช่นคนที่บริจาคเงินสร้างตึกโรงพยาบาล ก็เพื่อช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย
ถาม ถ้าโยมยังมีความจำเป็นต้องทำงานภายนอกอยู่ ทำอย่างไรจะได้ไม่ทุกข์มาก
ตอบ ต้องไม่ยึดติดกับงาน พร้อมที่จะออกเมื่อไหร่ก็ได้ ทำหน้าที่ให้ดีให้ถูกก็แล้วกัน ถ้านายจ้างไม่พอใจจะให้เราออก ออกก็ออก ก็จะไม่ทุกข์ จะทำได้ก็ต้องมักน้อยสันโดษ ไม่ใช้เงินมาก จะได้มีเงินเก็บสำรองไว้ ถ้าต้องออกจากงานก็ยังมีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ถ้าไม่ใช้เงินซื้อของฟุ่มเฟือยเที่ยวเตร่ ก็จะเก็บไว้ได้เยอะ จะได้ไม่กังวลกับการตกงาน ที่กังวลเพราะกลัวจะตกงาน กลัวจะถูกปลดออกจากงาน กลัวจะไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง กลัวจะน้อยหน้าเพื่อนฝูง เราอย่าไปแข่งทางนั้นเลย ให้คิดว่าการทำงานเป็นการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เรื่องตำแหน่งเป็นของแถม อย่าไปหลงยึดติดกับตำแหน่ง เวลาเป็นหัวหน้าก็อย่าไปคิดว่าเขาเป็นลูกน้องเราเป็นหัวหน้า ให้คิดว่าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน เพียงแต่มีหน้าที่นำเขา ก็นำด้วยความเมตตา ไม่ถือว่าวิเศษกว่าเขา คิดว่าเป็นลูกจ้างเหมือนกัน ถ้าไม่หลงตัวเองก็จะไม่ยึดติดกับตำแหน่งต่างๆ พอถูกเปลี่ยนให้เป็นลูกน้องบ้างจะไม่รู้สึกเสียหน้า เพราะไม่ได้หลงยึดติดกับตำแหน่ง คิดว่าเราก็เป็นลูกจ้างคนหนึ่ง แต่โชคดีมีความรู้ความสามารถทำให้ได้เป็นหัวหน้า ถ้ามีคนอื่นขึ้นมาทำแทน ก็พร้อมให้ทำ กลับไปเป็นลูกน้องก็ได้
ถาม เวลาที่ท่านอาจารย์พูดธรรมะเราก็คิดตามไป พอท่านอาจารย์พูดต่อไป เราฟังไม่ทัน มัวแต่คิดในเรื่องที่ท่านอาจารย์สอน อย่างนี้ไม่สมควรทำใช่ไหมคะ
ตอบ สมควรนะ เวลาฟังนี่ฟังได้ ๒ ลักษณะ ฟังให้เกิดปัญญาหรือให้เกิดสมาธิ การฟังแล้วพิจารณาตามนี้ เป็นการฟังเพื่อให้เกิดปัญญา พอท่านพูดอะไรเราก็พิจารณาตาม ตามเหตุตามผล ถ้าเข้าใจก็เป็นปัญญา นำเอาไปปฏิบัติได้ อย่างที่ถามเรื่องการทำงานที่ไม่ให้เครียดจะให้ทำอย่างไร เราก็บอกว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้าพิจารณาตามแล้วเข้าใจ ก็จะนำไปปฏิบัติได้ ก็เป็นปัญญา ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องผ่านไปก่อน ปัญญาเรายังตามไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร เพราะการฟังแต่ละครั้งอาจจะตามไม่ได้หมดทุกเรื่อง เพราะสติปัญญาของเราพิจารณาตามไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร ไว้คราวหน้าค่อยตามใหม่ เพราะการแสดงธรรมจะเริ่มต้นจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ พอมาถึงขั้นที่เรารออยู่ก็จะฟังต่อ ขั้นที่ได้ผ่านมาแล้วก็ทบทวนดูว่า ความคิดของเรากับความคิดของท่านมันตรงกันหรือไม่ เหตุผลของท่านกับเหตุผลของเรามันตรงกันหรือไม่ เป็นการตอกย้ำความเข้าใจ ฟังอย่างนี้เป็นการฟังเพื่อปัญญา ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจเลย เพราะพิจารณาตามไม่ทัน มีปัญญาน้อยมาก ก็ให้ฟังแต่เสียงไปเรื่อยๆ จดจ่ออยู่กับเสียงไป เสียงนั้นก็จะเป็นเหมือนพุทโธๆให้เราเกาะ ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่นก็จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้ ก็จะเป็นสมาธิ นี่คือการฟังโดยไม่พิจารณาตาม อาจจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะเกิดความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมา ฟังแล้วไม่รู้เรื่องไม่รู้จะฟังไปทำไม ก็อย่าไปคิดอย่างนี้ พอถึงจุดที่ไม่เข้าใจก็ฟังแต่เสียงไป อย่าไปคิดอะไร ก็จะเป็นสมาธิ
เวลาฟังจึงไม่จำเป็นต้องพุทโธๆไปหรือดูลมหายใจไป ใช้พุทโธๆหรือลมหายใจในขณะที่เราภาวนาอยู่คนเดียว แต่ขณะที่ฟังต้องถือเสียงที่มากระทบกับหูเป็นองค์ภาวนา เกาะอยู่กับเสียงนั้นเฉยๆ ไม่คิดพิจารณาตามก็ได้ ผลก็จะได้ต่างกัน ถ้าพิจารณาตามก็จะเกิดปัญญา ก็จะบรรลุได้ จะบรรลุได้ต้องพิจารณาตาม แต่ถ้าฟังแล้วเกาะกับเสียงนั้นไป ไม่ไปคิดเรื่องอื่นมันก็จะสงบเป็นสมาธิ สมาธิดับกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสเกิดจากความหลง ความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจผิด ต้องฟังให้เกิดปัญญา เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดความเห็นที่ถูกต้อง มาระงับดับความหลงได้ เช่นเมื่อก่อนนี้เราหลงว่าโลกนี้แบน เพราะมองไปทางไหนก็แบนหมด แต่มีนักปราชญ์มาสอนว่าโลกนี้มันกลม พิสูจน์ได้ด้วยการดูว่าเรือที่วิ่งเข้ามาจากทะเล ตอนต้นมันอยู่ไกลมากเราก็มองไม่เห็น พอใกล้เข้ามาเรื่อยๆก็จะเริ่มเห็นเรือ แต่เราจะเห็นส่วนไหนของเรือก่อน ถ้าโลกแบนราบก็จะต้องเห็นทุกส่วนพร้อมกัน เห็นตัวเรือเห็นเสากระโดง เห็นธงที่ปักบนยอดเสาพร้อมๆกัน แต่ถ้าเป็นโลกกลมก็ต้องเห็นส่วนที่สูงสุดก่อน ต้องเห็นยอดธงก่อน เหมือนคนขี่ม้าข้ามเขามา เราจะไม่เห็นคนก่อน เราจะเห็นธงที่เขาชูมาก่อน เห็นคนขี่ก่อนที่จะเห็นตัวม้า เพราะคนอยู่สูงกว่า เพราะข้ามพื้นที่โค้งขึ้นมา อย่างนี่ก็เป็นเหตุผล ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
เหตุผลที่ท่านแสดงในทางธรรมเพื่อให้หายหลง ก็คือให้เรามองความไม่เที่ยง เพราะไม่มีอะไรเที่ยง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่มองกัน เราไปคิดว่าหน้าตาของเราเป็นเหมือนเดิมทุกวัน แต่ความจริงมันเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ถ้าไปดูรูปที่ถ่ายไว้เมื่อ ๑๐ ปีก่อน กับดูหน้าตาเราวันนี้ จะเป็นคนละคนกัน ถ้าดูหน้าตาทุกวันในกระจกก็จะเหมือนเดิม เพราะมันเปลี่ยนช้า ดูไม่ออก ความหลงจะทำให้เราไม่คิด จะให้คิดว่าเป็นอย่างนี้ไปตลอด พอมารู้สึกตัวก็สายไปแล้ว คิดว่าตัวเองสาวอยู่เรื่อยๆ พอมาดูหน้าตาอีกที ทำไมมันย่นไปหมด ผิวเหี่ยวผมขาว ก็จะเกิดความวิตกขึ้นมาเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา เพราะไม่อยากแก่กัน แต่ถ้าพิจารณาสอนใจอยู่เรื่อยๆให้รับความจริงนี้ พอเวลาเกิดขึ้นจะรู้สึกเฉยๆ ดับความทุกข์ได้ เหตุที่พวกเรายังทุกข์กัน หวาดกลัวกับความตายกัน ก็เพราะยังไม่ได้สอนใจให้รับความจริงนี้เท่านั้นเอง กลัวมากจนไม่กล้าคิดถึงมัน พอคิดถึงความตายแล้วใจมันสั่นไปหมด ความสุขหายไปหมด กิเลสพยายามต่อต้าน ไม่ให้เราคิดถึงเรื่องนี้ ให้ลืมๆไป เพื่อจะได้หลงไปกับการหาความสนุกสนานเฮฮาไปเรื่อยๆ ใจจึงไม่พร้อมที่จะรับความตาย เวลาความตายมากระทบกับใจ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างมาก แต่ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆว่าร่างกายนี้จะต้องไปแน่ๆ เราก็ซ้อมเอาไว้ มันจะไปแบบไหน จะตกเครื่องบินตายหรือจะถูกรถชนตาย จะจมน้ำตาย จะถูกยิงตาย ถูกฟันตาย เป็นโรคตายไป ก็ซ้อมคิดไปเรื่อยๆ ทดลองว่าจะตายแบบไหนดี วันนี้ลองตายแบบนี้พรุ่งนี้ตายแบบนั้นดู คิดไปเรื่อยๆให้มันชิน แล้วก็ยอมรับกับความตายแบบต่างๆ พอถึงเวลาที่มันเกิดขึ้นเราก็จะไม่ทุกข์ เหมือนกับซ้อมเล่นละคร ซ้อมบทนี้ไว้แล้ว พอถึงเวลาจะต้องเล่นบทนี้ก็เล่นไป เพราะผู้เล่นคือใจไม่ได้ตาย ผู้ที่ตายคือร่างกายไม่รู้เรื่อง แต่ผู้เล่นวุ่นวายไปเอง เพราะไม่รู้ว่าเป็นการเล่นละคร
ถาม แต่พอเวลาเล่นจริงมันเหนื่อยนะคะ
ตอบ เพราะยังยึดติดอยู่ ขณะที่ซ้อมยังไม่ได้เจอกับเหตุการณ์จริง ก็จะไม่รู้สึกกลัว แต่พอไปอยู่ที่เปลี่ยวๆกลัวๆ ตอนนั้นใจจะสั่นไปหมด ระส่ำระสาย ถ้าฝึกซ้อมอยู่เรื่อยๆจนจับเคล็ดได้ว่า ต้องยอมต้องปล่อย ถ้ายอมรับความจริงนี้แล้ว ก็จะดับความวุ่นวายใจได้
ถาม จะขัดกับทางโลกไหมคะ ที่นึกถึงความตายว่าเป็นลางไม่ดี
ตอบ ทางโลกกับทางธรรมอยู่กันคนละทางอยู่แล้ว ความหลงจะคิดอย่างนี้ ให้อยากอยู่ไปนานๆ ความอยากเป็นกิเลสเป็นตัณหา เพราะขัดกับความจริง มีใครอยู่ไปนานๆได้บ้าง จะคิดหรือไม่คิดถึงความตาย ก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริง ความจริงก็ยังจริงเหมือนเดิม ต่อให้ไม่คิดถึงความตายก็ตายกันทั้งนั้น แต่คนที่คิดจะตายอย่างสบาย อยู่อย่างสบาย ไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายกับการตาย สิ่งที่ทำให้จิตวุ่นวาย ก็คือความยึดติดในร่างกาย ไม่ปล่อยมัน พอปล่อยได้แล้วก็จะสบาย พอถึงเวลาไปก็จะไม่วุ่นวาย เวลายังอยู่ก็ไม่ห่วงไม่กังวล ถ้าไม่คิดพิจารณาความตายเลย พอมีเหตุการณ์ก็เป็นห่วงเป็นใยกัน เป็นอะไรหรือเปล่า วุ่นวายไปหมด ถ้าพิจารณาจนปล่อยได้แล้ว ก็จะรู้สึกเฉยๆ เป็นก็เป็น ไม่เป็นก็ไม่เป็น ใครไปห้ามได้เวลาจะเป็น ที่สอนทั้งหมดนี้ก็เพื่อแก้ความทุกข์ใจ ไม่ได้แก้ความเป็นความตาย ที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อถึงเวลาไปต่อให้ช้างมาฉุดก็ฉุดไม่อยู่ เมื่อถึงเวลายังไม่ไปต่อให้ช้างผลักดันอย่างไรก็ไม่ไป ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ที่ต้องแก้ก็คือใจ แก้ความวุ่นวายใจ ความหวาดกลัว ที่ยังมีอยู่ในใจ อันนี้แก้ได้ แก้ด้วยปัญญา ด้วยการสอนใจว่าต้องเกิดแน่ๆ ต้องยอมรับต้องปล่อยให้ได้ อย่าไปยึดไปติด เป็นเหมือนของที่ยืมมา เรารู้ว่าต้องคืนเจ้าของ จะไม่วุ่นวายใจเวลาถูกทวงคืนไป เพราะไม่ยึดติด ถ้าคิดว่าเป็นของเรา พอเจ้าของมาทวงคืนเราจะวุ่นวาย
ความจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง มีโอกาสที่จะจากเราไปได้เสมอในเวลาใดเวลาหนึ่ง เราต้องเตรียมพร้อมที่จะให้มันจากไป ถ้าพร้อมก็จะไม่ทุกข์ ถ้าไม่พร้อมก็จะวุ่นวาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นห่วงเป็นกังวล ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงสอนว่าไม่ควรมีอะไรดีที่สุด แม้แต่ร่างกายนี้ไม่มีได้ก็ยิ่งดี ถ้ายังมีภาระที่ต้องทำ คือปลดปล่อยจิตใจจากการยึดติด ก็ยังต้องอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ เมื่อได้ทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ร่างกายจะเป็นอะไรเราจะไม่เดือดร้อน เพราะได้ปล่อยวางแล้ว จิตใจจะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายถ้าปล่อยวาง พอปล่อยแล้วถึงรู้ว่าโง่มาตั้งนาน แบกไว้ตั้งนาน ไม่รู้จะแบกไปทำไม พอปล่อยแล้วมันเบาไปหมดเลย โล่งไปหมดเลย โล่งอกโล่งใจไปหมด เพราะความหลงมันหลอกให้เราแบก มันมีอำนาจมากจนเราไม่กล้าปล่อย กลัวว่าปล่อยแล้วจะตาย
ถาม พวกลูกๆอยากทำได้เหมือนท่านอาจารย์ แต่คิดว่าวาสนาน้อย
ตอบ ทำได้ อย่าให้ความคิดว่าวาสนาน้อยเข้ามาขัดขวาง มาเป็นอุปสรรค ต้องคิดว่าทำได้ เป็นคนเหมือนกันมีใจเหมือนกัน มีอินทรีย์เหมือนกัน มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเหมือนกัน เพียงแต่ต้องทำให้มากขึ้นเท่านั้น
ถาม แต่ไม่มีบารมี
ตอบ บารมีก็เกิดจากการปฏิบัตินี่เอง เมื่อก่อนก็ไม่มีเหมือนกัน เหมือนกับต้นไม้ ถ้าเราปลูกแล้ว ไม่รดน้ำพรวนดิน ไม่ใส่ปุ๋ย มันก็ไม่โต แต่ถ้าขยันรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย คอยกำจัดวัชพืชที่จะมาขัดขวางการเจริญ มันก็โตเร็ว ไม่ได้อยู่ตรงไหน อยู่ที่การบำเพ็ญ เราเอาเวลาไปบำเพ็ญเรื่องอื่นเสียมากกว่า วันๆหนึ่งไม่เคยถามตัวเองเลยว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังบำเพ็ญบารมีหรือเปล่า
ถาม เวลาปฏิบัติแล้วเกิดปรากฏการณ์อะไรกับตัวเอง จะเกิดความสงสัยว่ามันคืออะไร ทำถูกหรือทำผิด ก็ต้องไปถามผู้ที่รู้มากกว่าไม่แน่ใจว่าจริงๆควรพักความสงสัยไว้ ไม่ต้องไปสอบถามแล้วทำไปเรื่อยๆ ให้รู้เอง หรือว่าควรสอบถามว่าผิดหรือเปล่าคะ
ตอบ ถ้าผลที่เกิดจากการปฏิบัติเป็นความสงบนิ่งเย็นสบาย มันก็ถูก แต่ถ้าปรากฏเป็นภาพเป็นอะไรต่างๆก็ไม่ถูก ไม่ได้เป็นประโยชน์กับการกำจัดความโลภความโกรธความหลง บางทีนั่งไปแล้วอาจจะมีนิมิต เห็นกายทิพย์ต่างๆ เหมือนกับคุณแม่แก้ว แล้วท่านก็ไปหลงยึดติดว่าเป็นมรรคเป็นผล ที่พึงได้รับและพึงพัฒนาให้มีอยู่เรื่อยๆ แต่พอไปเล่าให้หลวงตาท่านฟัง ท่านก็บอกว่ามันไม่ได้เป็นมรรคเป็นผล มันไม่มีคุณค่าทางกำจัดกิเลส ไม่ได้ทำให้จิตหลุดพ้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาก็เพียงแต่ให้รู้ว่ามันเกิดแล้ว อย่าไปสนใจมัน คิดเสียว่าเป็นของแถมมาก็แล้วกัน เวลาเราไปซื้อของเดี๋ยวนี้เขาชอบแจกของแถมกัน แต่อย่าไปดีใจกับของแถมจนลืมของที่เราตั้งใจจะไปซื้อ ไปซื้อข้าวแล้วแจกสบู่ ก็เลยเอาแต่สบู่ ข้าวไม่เอามา อย่างนี้ก็แสดงว่าหลงแล้ว เวลานั่งทีไรก็อยากจะเห็นนั่นเห็นนี่ทุกที ถ้าไม่เห็นแล้วจะรู้สึกว่าทำไม่ถูก ไม่ได้ผล ความจริงผลที่เราต้องการ ก็คือความสงบนิ่งเย็นของจิต ความสบายใจ นี่เป็นส่วนที่ ๑ ของการปฏิบัติ
ส่วนที่ ๒ ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งต่างจากการบริกรรมพุทโธๆ หรือดูลมหายใจเข้าออก การเจริญปัญญาต้องคิดพิจารณา พิจารณาร่างกายในเบื้องต้น พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่าเกิดมาต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนา ทำเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความจริง ของสิ่งที่ใจมาสัมผัสมาเกี่ยวข้องด้วย ก็คือขันธ์ ๕ ส่วนแรกก็คือร่างกาย เป็นส่วนหยาบมองเห็นได้ง่าย ที่ต้องพิจารณาเพราะใจหลงยึดติดอยู่กับขันธ์ ๕ ว่าเป็นเราเป็นของเรา แล้วเกิดความอยากให้อยู่ไปนานๆ ให้ความสุขกับเราไปนานๆ ซึ่งมันขัดกับความจริง ความจริงแล้วมันไม่อยู่กับเราไปนานๆ มันไม่ให้ความสุขกับเราไปนานๆ มันไม่ใช่เป็นตัวเรา มันไม่ใช่เป็นของเรา ต้องสอนใจ ให้พิจารณาแก้ความหลง ขันธ์ ๕ นี้มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันไม่อยู่กับเราไปตลอด เช่นร่างกายของเรามันเกิดมาแล้ว มันก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ให้พิจารณาไปเรื่อยๆ นี่เป็นธรรมอีกขั้นหนึ่ง
การปฏิบัติมี ๒ ขั้น ขั้นแรกนั่งหลับตาทำจิตใจให้นิ่ง พอจิตใจนิ่งบางทีจะมีผลพลอยได้ตามมา บางคนก็ปรากฏเห็นสิ่งต่างๆภายในนั้น ที่เรียกว่านิมิตต่างๆ นิมิตนี้มีทั้งนิมิตภายนอกคือพวกกายทิพย์ ที่มาสนทนากับเรา และนิมิตภายในที่เกิดจากภายในใจ เป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตในใจ เช่นภพก่อนชาติก่อน พอจิตสงบก็โผล่ขึ้นมาให้เราได้เห็นว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เคยรู้จักคนนั้นคนนี้ เคยไปทำอย่างนั้นทำอย่างนี้มา มันก็โผล่ขึ้นมาให้เรารับรู้ได้ แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่มีคุณมีประโยชน์ในการเสริมสติปัญญา ไม่ได้ทำให้จิตสงบอย่างมั่นคง เหมือนนอนหลับแล้วฝันไป ซึ่งต่างกับนอนหลับแล้วไม่ฝัน เวลาตื่นขึ้นมามีความต่างกัน เวลาฝันไปพอตื่นขึ้นมาจะไม่รู้สึกสดชื่น ไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่เหมือนกับเวลานอนหลับแล้วไม่ฝันเลย พอตื่นขึ้นมาแล้วจะรู้สึกว่าได้พักอย่างเต็มที่ มีความอิ่มมีความสบาย มีกำลังวังชาที่จะไปทำงานทำการต่อ การนั่งทำจิตให้สงบนิ่ง ไม่คิดอะไรเลย ไม่มีอะไรมาปรากฏเลย สักแต่ว่ารู้ อยู่ในอุเบกขาได้นานเท่าไหร่ได้ยิ่งดี จะทำให้จิตมีพลังที่จะเจริญวิปัสสนาต่อไป
ถ้านั่งแล้วไปรับรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอออกมาจากสมาธิแล้วเหมือนกับไม่มีสมาธิ ไม่มีกำลังที่จะไปพินิจพิจารณาทางด้านปัญญา พิจารณาขันธ์ ๕ คือกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพื่อให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่ได้พิจารณา จะไม่ก้าวหน้า จะติดอยู่ตรงนั้น นั่งทีไรก็อยากจะเห็นนั่นเห็นนี่ ติดต่อกับกายทิพย์องค์นั้นองค์นี้ไปทุกครั้ง ถ้าวันไหนนั่งแล้วไม่เห็นอะไร จะรู้สึกว่าไม่ได้ผล ก็จะติดอยู่กับสมาธิแบบนั้น บางคนอาจจะได้ฤทธิ์เดช ได้ตาทิพย์หูทิพย์ ก็จะหลงยึดติดอยู่กับฤทธิ์เดชเหล่านั้น คิดว่าตนเองวิเศษแล้ว บรรลุมรรคผลแล้ว เช่นพระเทวทัต ท่านก็มีฤทธิ์เดชเหมือนกัน ท่านก็ได้แค่นั้นไม่เคยเจริญวิปัสสนา ไม่ได้บรรลุแม้แต่ขั้นโสดาบัน เป็นพระปุถุชนธรรมดา มีแต่ฤทธิ์เดช แต่ไม่มีปัญญาที่จะกำจัดความหลงความมักใหญ่ใฝ่สูง ความหลงตน คิดว่าตนวิเศษ ถึงกับกล้าขออนุญาตจากพระพุทธเจ้า ให้เป็นผู้ปกครองสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า พอไม่ได้ดังใจก็โกรธ พอโลภแล้วไม่ได้ดังใจก็โกรธ พอโกรธแล้วก็ไปทำบาปทำกรรม แล้วก็ต้องไปตกนรก ถึงแม้จะได้ฤทธิ์เดช ได้บวชเป็นพระมานานแสนนาน ก็ยังต้องไปตกนรก เพราะไม่รู้ว่านั่งสมาธิเพื่ออะไร ผลที่ควรจะพึงได้นั้นเป็นอย่างไร พอได้ฤทธิ์เดชก็หลงยึดติดว่าเป็นมรรคเป็นผลไป หลงคิดว่าตนได้บรรลุแล้ว
เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการทำสมาธิก็คือ ให้จิตเป็นอุเบกขา รวมลงเป็นหนึ่ง สักแต่ว่ารู้ ถ้ามีอะไรมาปรากฏให้รู้ให้เห็น เช่นมีแสงสว่าง มีความรู้สึกขนลุกซ่า ก็ให้ถือว่าเป็นของแถมมา ให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจัง เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ไม่ได้เป็นมรรคเป็นผล ไม่ได้ทำให้เราวิเศษขึ้นมา สิ่งที่จะทำให้เราวิเศษจริงๆนั้นต้องธรรมอีกขั้นหนึ่ง คือพอออกจากสมาธินี้แล้วก็ต้องเจริญปัญญา พิจารณากายนี้แหละ เบื้องต้นพิจารณากายให้เข้าใจทุกสัดทุกส่วน เรื่องความแก่ความเจ็บความตาย เรื่องอสุภความไม่สวยไม่งาม เรื่องปฏิกูลความสกปรกของร่างกาย พิจารณาจนเกิดความเบื่อหน่ายทั้งกายของเราและของผู้อื่น ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด ไม่อยากได้ใครมาเป็นคู่ครอง อย่างนี้จึงจะเป็นผู้วิเศษ เป็นมรรคผล ถ้ายอมรับความตายปล่อยวางได้ก็เป็นโสดาบันแล้ว ดังที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้เปล่งวาจาว่า ธรรมใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ร่างกายนี้เกิดแล้วก็ต้องตายเป็นธรรมดา ยอมรับได้ไม่กังวล ถ้าพิจารณาจนเห็นว่าร่างกายนี้ไม่สวยงาม มีแต่โครงกระดูก มีแต่ตับไตไส้พุง มีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูล ไม่อยากจะเข้าใกล้ ไม่อยากจะได้มาเป็นคู่ครอง ไม่อยากจะหาความสุขด้วย ก็จะหลุดจากกามตัณหา กลายเป็นพระอนาคามีไป นี่เพียงขั้นพิจารณาร่างกาย ก็ได้ถึงขั้นอนาคามีแล้ว ส่วนขั้นพระอรหันต์ก็ต้องพิจารณาเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณและจิตต่อไป
ถาม เรื่องเกี่ยวกับว่าทุกอย่างเป็นธาตุ ๔ นี้ ก็พอดีเมื่อวันศุกร์ไปงานศพ แล้วก็ไปดูโลงศพ จากการที่ได้ฟังเรื่องนี้มาก่อน ก็พิจารณาตาม เสร็จแล้วเหมือนกับว่าจิตมันไหลไปเอง ความคิดเราไหลไปเอง ว่าเป็นธาตุดินเป็นธาตุน้ำฯลฯ ต้องทำอย่างไรดีคะ
ตอบ ก็ควรเจริญต่อไป ให้ปรากฏอยู่กับเราอยู่เรื่อยๆ
ถาม แต่ตอนนั้นไม่ได้บังคับให้พิจารณานะ
ตอบ ตอนนั้นมันไปโดยอำนาจของบุญบารมีที่ได้บำเพ็ญมา เป็นปัญญาเก่าที่เคยพิจารณามาก่อน เหมือนถ่านไฟเก่าที่ได้ไฟใหม่ ไฟเก่ามอดไปแต่ไม่ดับ พอได้สะเก็ดไฟก็ลุกขึ้นมาใหม่ พอเราถอนออกมามันก็หยุด พอมันไหม้หมดมันก็หยุด เราก็ต้องเติมเชื้อเพลิงใหม่ ตอนนี้มีกำลังพิจารณาได้ในระดับหนึ่ง ถ้าพิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกเวลานาที เวลากำหนดดูทีไรก็จะกลายเป็นธาตุไปทันที กลายเป็นซากศพไปทันที
ถาม มันเหมือนกับเราไม่ได้บังคับมันนะคะ
ตอบ ถ้าพิจารณาไปในทางนี้ก็แสดงว่าไปในทางปัญญาแล้ว พิจารณาอะไรเป็นธาตุไปหมด เป็นซากศพไปหมด ก็เป็นปัญญาแล้ว
ถาม ถ้าความเคลื่อนไหวออกมาลักษณะอย่างนี้ แสดงว่าสติก็ไม่มีความหมายแล้วตอนนั้น
ตอบ ยังมีสติ ถ้าไม่มีจะไปรู้ได้อย่างไร แต่ไม่ได้บังคับมัน มันไปเอง เพราะมีเชื้อเก่าอยู่ พอได้รับสะเก็ดไฟก็ลุกขึ้นมาเลย เพียงแต่ว่าลุกไม่ได้นาน เพราะมีเชื้อแค่นั้น ก็ต้องมาทำต่อ มาต่อยอดพิจารณาทุกขณะทุกเวลาเลย ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องไปคิดเรื่องอื่น ก็ให้คิดพิจารณาไตรลักษณ์ในกายอยู่เรื่อยๆ จนมันไหลไปเอง ไม่ต้องบังคับ เห็นใครเห็นอะไรก็กลายเป็นธาตุไปหมด เป็นขี้เถ้าไปหมด เป็นซากศพไปหมด ถ้าพิจารณาจนชำนาญแล้ว ก็ไม่ต้องบังคับ พอเห็นปั๊บมันจะไหลไปเองเลย เหมือนกับตอนต้นหัดท่องสูตรคูณ ต้องท่องสองคูณสองเป็นสี่ สองคูณสามเป็นหก ต้องท่องไปก่อน พอชำนาญแล้วก็ไม่ต้องท่อง พอเห็นเลขสองกากบาทเลขสามปั๊บ เลขหกก็จะตามมาเอง เป็นไปโดยอัตโนมัติเพราะความชำนาญ ถ้าพิจารณาจนชำนาญแล้วมันจะมาเอง ถ้าไม่ชำนาญมันจะไม่มา พอหลงปั๊บก็ตามไปเลย จะรู้ว่าปัญญาทันไม่ทันก็อยู่ตรงนี้ เวลาเห็นปั๊บจะไปทางไหน ถ้าไปทางความอยากได้ ก็ไปทางกิเลสแล้ว พอไปก็สายไปเสียแล้ว ตามไม่ทันแล้ว ไปแต่งงานกันแล้ว ไปเที่ยวที่ไหนกันแล้ว ถ้าทันก็จะเข้าวัดเลย บวชเลย
ถาม ในหนังสือนี้หลวงปู่มั่นพิจารณากระดูกอย่างเดียวตั้ง ๕๐๐ ชาติ
ตอบ เพราะไม่ได้พิจารณาบ่อย เกิดมาชาติหนึ่งก็พิจารณานิดๆหน่อยๆแล้วก็ไปทำอย่างอื่น ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ถ้าชาตินี้พิจารณาอยู่ทุกวัน ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว จะไม่หลายชาติ ชาตินี้ก็สำเร็จได้ ถ้าไม่ ๗ วัน ก็ไม่เกิน ๗ ปี ก็ได้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า ถ้าเร็วก็ ๗ วัน ถ้าช้าก็ ๗ ปี พิจารณาไปเรื่อยๆ ดังที่ทรงสอนพระอานนท์ให้พิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก จนเป็นอัตโนมัติไป เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกนึกคิด พอเห็นคนจะเห็นอาการ ๓๒ ทันที ร่างกายเป็นเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง มีจิตมาครอบครองเป็นเจ้าของ เป็นผู้สั่งให้เดินให้พูดให้วิ่งให้เล่นให้ทำอะไรต่างๆ แต่จิตไปหลงว่าเป็นตัวมัน พอร่างกายเป็นอะไรไป จิตก็วุ่นวายตกใจหวาดกลัว พอสอนให้รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง ไม่ได้เป็นจิต จิตก็จะฉลาดรู้ทัน ปล่อยวางได้ ก็จะไม่ทุกข์กับร่างกาย
ถาม ถ้าไม่เห็นอะไรเลย จะผิดปรกติหรือไม่
ตอบ ไม่ผิด เป้าหมายของสมาธิก็คือจิตสงบนิ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ซึ่งคนส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๕ จะเป็นอย่างนี้ สงบนิ่งแล้วไม่รู้ไม่เห็นอะไร แต่มีพวกส่วนน้อยร้อยละ ๕ จะเป็นพวกจิตโลดโผน มักจะไปรู้อะไรพิเศษ แต่ไม่วิเศษอย่างไรเลย ถ้าจะวิเศษต้องเห็นเรานอนตาย อย่างนี้ถึงจะวิเศษ ถ้าเห็นไตรลักษณ์จึงจะถือว่าวิเศษ เห็นเรานอนตาย มีคนมารดน้ำศพเรา เห็นศพเราถูกจับใส่โลง เอาเข้าไปเผาในเมรุ จนกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป จนติดตาติดใจ ออกมาจากสมาธิก็ยังอยู่ อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา เป็นคุณเป็นประโยชน์ ทำให้ปล่อยวางร่างกายได้
ถาม ถ้ามีลูกมีหลานเล็กๆ จะฝึกเขาให้คิดให้เห็นความจริงได้อย่างไร
ตอบ สอนเราก่อนเถิด ถ้าเราเก่งแล้วจะสอนง่าย เพราะจะดูว่าเขาพร้อมหรือไม่พร้อมก่อน รับได้หรือรับไม่ได้ ไม่ใช่จะสอนไปหมดเลย
ถาม แมวมันมีเห็บนะค่ะ ทีนี้มีหลานเล็ก ก็เลยให้ยานอนหลับแมว แล้วก็เอาทั้งแม่ทั้งลูกไปปล่อย จะบาปไหมคะ
ตอบ ถ้าไม่ทำให้เขาตายก็ไม่บาป ถ้าอยากจะได้บุญก็เอาไปฝากไว้กับคนที่รับเลี้ยงดู ถ้าเอาไปปล่อยให้เขาอยู่ตามมีตามเกิด ก็ไม่บาป แต่ไม่ได้บุญ
ถาม สมมุติว่ามีผู้ป่วย ที่ถึงเวลาของเขาแล้ว แต่ญาติยังไม่อยากให้เขาจากไป ก็จะให้หมอช่วย หมอก็พยายามจะช่วยเต็มที่ แต่บางทีก็ลำบาก เพราะถึงเวลาของเขาแล้ว
ตอบ ทำเท่าที่เราจะทำได้ก็แล้วกัน
ถาม ก็ช่วยเต็มที่ บางครั้งก็รู้สึกว่าเขายังไม่เข้าใจ
ตอบ เขาอาจจะคิดไม่ดีกับเราก็ได้ หาว่าไม่ทำเต็มที่ อย่างนั้นอย่างนี้ ก็อย่าไปกังวล ถ้าเราทำตามหน้าที่ของเรา ทำตามหลักวิชาชีพที่เราเรียนมา ไม่ต้องไปกังวล ถ้ารักใครก็มักจะมีอารมณ์ บางทีเขาก็จะพาลใส่เรา หาว่าไม่ทำเต็มที่ หรือทำผิด ก็ต้องทำใจ ความรู้สึกและ การวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น เราห้ามไม่ได้ ข้อสำคัญขอให้เรามีความมั่นใจต่อวิชาชีพของเรา ต่อการกระทำของเรา ว่าเราทำถูกต้องแล้ว
ถาม ถ้าเราคิดปรุงแต่งขึ้นมา เราก็กลับน้อมคิดให้เป็นไตรลักษณ์ได้ไหมคะ
ตอบ ใช่ ต้องคิดไปในทางไตรลักษณ์ทันที ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร เราต้องดึงมันเข้าไปในไตรลักษณ์เสมอ คิดว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าไปยุ่งกับเขาแล้ว เราก็จะทุกข์วุ่นวายกับเขา
ถาม เราน้อมนิมิตที่เกิดขึ้นเข้ามาในไตรลักษณ์ จะเป็นประโยชน์ ใช่ไหมครับ
ตอบ คำว่าไตรลักษณ์นี่มีหลายลักษณะ เช่นตัวนิมิตเอง เมื่อปรากฏแล้วก็หมดไป ผ่านไปแล้ว ก็ควรปล่อยให้ผ่านไป เป็นอนิจจังแล้ว หรือว่าภายในนิมิตเอง มีภาพหรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นถึงความเป็นอนิจจัง เช่นเห็นว่าเรากำลังจะจมน้ำตาย กำลังต่อสู้ ไม่ยอมให้จม พยายามรักษาชีวิตไว้ให้ได้ ยิ่งต่อสู้ก็ยิ่งทุกข์ยิ่งวุ่นวายทรมานใจ พอรู้ว่าไม่ไหวแล้วยอมดีกว่า ปล่อยให้มันไป พอปล่อยปั๊บร่างกายก็ดิ่งจมลงไปในน้ำ ใจก็ดิ่งเข้าสู่ความสงบ อย่างนี้ก็เป็นไตรลักษณ์อีกแบบหนึ่ง เอาเหตุการณ์ในนิมิตนั้นมาใช้กับเหตุการณ์จริงในชีวิตได้ ถ้าเราพยายามเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ แล้วมันทำให้วุ่นวายใจ ก็ปล่อยมันไป งานก็ปล่อยมันไป ตำแหน่งก็ปล่อยมันไป อย่าไปรั้งมันไว้ พอปล่อยแล้วก็จะโล่งอกโล่งใจสบายใจ ทุกข์เพราะความเหนี่ยวรั้งยึดติดอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยิ่งเป็นสิ่งที่เรารักเราหวงมาก พอจะจากเราไป เราก็พยายามต่อสู้ทุกวิถีทาง ที่จะดึงให้อยู่กับเราให้ได้ ตอนนั้นจะทุกข์ทรมานใจมาก แต่ถ้าเห็นว่าความวุ่นวายใจนี้มันไม่ดี ควรปล่อยไปดีกว่า พอปล่อยได้ใจก็จะนิ่งสงบ เขาจะไปหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยใจของเราสบายแล้ว อยู่ก็ดี ไม่อยู่ก็ดี นี่ก็เป็นการเห็นอนิจจัง เห็นไตรลักษณ์อีกลักษณะหนึ่ง
ถาม รู้สึกว่าจิตจะวิ่งออกจากกาย ก็เกิดความกลัวว่าจิตกับกายมันจะทิ้งกัน ก็เลยดึงไว้ ก็จะดึงไปดึงมา เสร็จแล้วสักพักหนึ่งก็เลยบอกตัวเองว่า ถ้ามันจะแยกกันก็ให้มันแยก เพราะมันก็ต้องแยกกันอยู่แล้ว ก็ปล่อยมันไป
ตอบ ถ้าคิดอย่างนั้นได้ก็ดี อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ต้องไปกังวล ถ้ามันจะแยกออกจากกันก็ให้มันแยก เพราะกายกับใจเป็นคนละส่วน สักวันหนึ่งก็ต้องแยกออกจากกัน ให้มีสติปัญญารู้ทัน ให้สักแต่ว่ารู้ ให้ผู้รู้ดูเฉยๆ
ถาม เหมือนกับฟังเทศน์ แล้วจิตจะจับอยู่กับคำเทศน์ จับอยู่แน่นจนไหลตามคำเทศน์นั้นไป ก็เลยเกิดความรู้สึกกลัวว่ามันจะหลุดออกไป
ตอบ ไม่หลุด เป็นเพียงความรู้สึกที่เราคิดไปเอง กายกับจิตจะแยกกันก็ตอนตายเท่านั้น ถ้ายังมีลมหายใจอยู่มันยังไม่ไปหรอก
ถาม เวลาภาวนาจะมีคำถามคำตอบเกิดขึ้นตลอดเวลา บางคำตอบมันก็กระจ่าง เพราะมันกระจ่างที่ใจเลย แต่ในบางคำตอบมันไม่กระจ่าง แล้วมันจะติดออกมาให้พิจารณาในภายหลังอยู่เสมอ
ตอบ เป็นการพัฒนาจิตใจ ความคิดความสงสัยต่างๆ พอมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาคำตอบ ถ้าปัญญายังไม่ทันก็ยังหาคำตอบมาไม่ได้ แต่พอพิจารณาไปสักระยะหนึ่งก็ได้คำตอบ คำตอบอยู่ในไตรลักษณ์ ถ้าใช้ไตรลักษณ์แล้วจะพบคำตอบ
ถาม จิตไม่เป็นสมาธิเลยคะ พอนั่งไปสักพักหนึ่งคำถามคำตอบต่างๆจะขึ้นมาทันที
ตอบ จิตจะไปในทางปัญญาอบรมสมาธิ ก็ให้อยู่ในวงของขันธ์ ๕ ในวงของไตรลักษณ์ ถ้าไปในวงของลาภยศสรรเสริญสุข ก็แสดงว่าหลงทางแล้ว
ถาม บางทีไปค้นหาคำตอบในหนังสือ
ตอบ ค้นในใจเรานี่แหละ บางทีหนังสือก็ให้คำตอบกับเราได้ บางทีไปอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์ก็ได้คำตอบ บางทีมีโอกาสได้พบกับครูบาอาจารย์ แล้วแย้มออกไปให้ท่านทราบ ท่านก็จะช่วยเราได้
ถาม บางทีมันอัดอั้นตันใจ มันคิดซ้ำๆซากๆไปตลอด
ตอบ การปฏิบัติโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์กับมีก็ต่างกันตรงนี้ เวลามีปัญหาครูบาอาจารย์ช่วยเราได้ ท่านปฏิบัติผ่านมาแล้ว ท่านรู้แล้ว พอเราติดตรงนี้ปั๊บท่านก็จะบอกเราได้ ถ้าไม่มีก็ต้องพึ่งตนเองไปก่อน เปิดหนังสือดูก็ได้ ขอให้เป็นหนังสือที่เป็นธรรมะจริงๆก็แล้วกัน ถ้าไปเจอหนังสือธรรมะที่ไม่จริง ก็จะทำให้เราเขวได้
ถาม บางทีหยิบเทปธรรมะของหลวงตาฟังก็ได้คำตอบ
ตอบ ท่านได้ตอบเราไว้นานแล้ว ท่านได้เทศน์ไว้ก่อนแล้ว ท่านเคยผ่านมาแล้ว ท่านรู้แต่ละจุดจะมีปัญหาอะไรบ้าง จะติดอยู่ตรงไหน ท่านจะเตือนไว้ก่อน เหมือนตอนที่หลวงตาติดสมาธิ หลวงปู่มั่นก็บอกว่าสมาธิเป็นเหมือนเศษเนื้อติดฟัน พอท่านออกไปพิจารณาทางปัญญา ท่านก็พิจารณาจนไม่หลับไม่นอน หลวงปู่มั่นก็บอกว่าหลงสังขาร จิตจะไปสุดโต่งเสมอ พออยู่ขั้นสมาธิมันก็จะติดสมาธิ ไม่ยอมออกทางปัญญา พอออกพิจารณาทางปัญญา เกิดความรู้ความฉลาด ก็จะติดการพิจารณาจนไม่ยอมหยุดพักเลย ก็เลยฟุ้งซ่าน พิจารณาจนเลยเถิดไป หลวงปู่มั่นก็บอกว่าหลงสังขาร ต้องกลับมาพักในสมาธิ ต้องพักจิตบ้าง สลับกับการพิจารณา เหมือนกับมีดถ้าใช้ไปเรื่อยๆมันก็จะทื่อ ปัญญาถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆมันก็จะทื่อเหมือนกัน จะตอบคำถามไม่ได้เหมือนตอนพิจารณาใหม่ๆ ตอนออกจากสมาธิใหม่ๆ สงสัยอะไร จะมีคำตอบมารับปั๊บ พอพิจารณาไปสักระยะหนึ่ง มีคำถามออกมาแต่คำตอบไม่ออกมา มันหมดกำลังแล้ว ต้องหยุดพิจารณา กลับเข้าไปพักในสมาธิ เคยทำจิตให้สงบอย่างไรก็ทำไป พอจิตได้พักพอแล้ว อิ่มสบาย พอถอนออกมา พอคำถามเดิมโผล่ออกมาปั๊บ คำตอบก็จะตามมาทันที คำถามที่ไม่มีคำตอบเพราะจิตไม่มีสมาธิ ต้องพักจิตให้สงบก่อน อย่าพิจารณามากจนเกินไป จะหลงสังขาร
ถาม บางทีคิดทั้งวัน
ตอบ แต่หาคำตอบไม่เจอ
ถาม บางคำตอบนี่ พอคิดแล้วมันก็กระจ่าง
ตอบ พอกระจ่างแล้วมันก็จะสงบ เดี๋ยวก็มีปัญหาใหม่มาอีก
ถาม ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ขณะที่เริ่มทำสมาธิเสมอ
ตอบ แสดงว่าจริตของเราจะเป็นแบบปัญญาอบรมสมาธิ ต้องพิจารณาถึงจะสงบ ให้อยู่กับพุทโธๆ จะไม่สงบ
ถาม เคยพิจารณาเรื่องธาตุ ๔ แล้ววันหนึ่งตอนทานข้าว ทันทีที่ทานก็จะเห็นอาหารเป็นธาตุ ๔ แล้วรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับร่างกาย แล้วก็มีคำบอกว่า อันนี้ก็ไปเสริมธาตุ ๔
ตอบ เมื่อรู้ว่าเป็นธาตุ ๔ ก็ต้องไม่ยึดไม่ติด เป็นเหมือนขวดน้ำเหมือนกับวัตถุอื่นๆ เป็นธาตุเหมือนกัน จะเป็นอะไรก็ไม่วุ่นวาย
ถาม รู้สึกเฉยๆไม่มีความรู้สึกอะไร
ตอบ ถ้าจิตไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน ไม่กังวล ไม่วิตก ไม่หวาดกลัว กับการเป็นอะไรของร่างกาย ก็ใช้ได้ มันจะเป็นอะไร ถ้ามันสุดวิสัยที่จะรักษามันไว้ได้ ก็ต้องให้เป็นไปตามเรื่อง จิตจะรู้สึกเฉยๆ มีก็ดูแลรักษาไป เมื่อมันจะไปก็ให้มันไป มันก็ไม่ได้ไปไหน มันก็กลับคืนสู่ธาตุเดิม เผาแล้วก็เหลือแต่ขี้เถ้า เหลือแต่เศษกระดูก น้ำก็เหือดแห้งไปหมด อากาศก็หายไปหมด เหลือแต่ดิน ร่างกายก็มีเท่านี้ ถ้าพิจารณาอย่างนี้จิตจะสงบเย็นสบาย มีความสุข
ถาม จะทำรายงานโน้มน้าวใจคนไม่ให้ฆ่าสัตว์ เพราะคนชอบฆ่ายุงฆ่ามดกัน แต่จะไม่เอาเรื่องยุงเรื่องมดอย่างเดียว
ตอบ ต้องมองว่ามนุษย์และสัตว์ทุกชนิด มีคุณค่าเท่ากัน รักชีวิตเท่ากัน ต่อให้ใครให้เงินมามากเท่าไหร่เพื่อแลกกับชีวิต ก็ไม่มีใครเอา เพียงแต่ว่าสัตว์ไม่สามารถสื่อให้เรารู้ว่า เขาก็รักชีวิตของเขาเท่ากับเรารักชีวิตของเรา ธรรมชาติของกิเลสจะเห็นแก่ตัว เห็นว่าชีวิตของตนมีค่ากว่าชีวิตของผู้อื่น จึงไม่มีความเมตตากรุณา ถ้าต้องการอะไรสำหรับตนเองแล้ว จะทำได้ทุกอย่าง เช่นจะอ้างว่าถ้าไม่ได้ฆ่าสัตว์ ก็จะไม่มีอาหารรับประทาน ก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไปอยู่ในป่าอยู่ในดงเสือ เสือก็ต้องคิดว่าถ้าไม่ได้เรากินเขาก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ถ้าคิดแบบนี้ก็ถือว่าเป็นเดียรฉานด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เดียรฉานก็คือผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าสัตว์ทุกชนิดมีความรักตัวกลัวตายเหมือนกันหมด เห็นคุณค่าของชีวิตของตนมากกว่าของผู้อื่น ถ้ามีปัญญาก็จะเคารพชีวิตของกันและกัน มนุษย์ถึงอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน เพราะมนุษย์ถูกสอนไม่ให้ฆ่าผู้อื่น ฆ่าแล้วจะมีโทษตามมา
ถาม เวลาเพื่อนสั่งอาหารทะเล เราก็บอกอย่าสั่งเลย เขาก็บอกว่าสัตว์พวกนั้นเกิดมาให้เรากินนะ ก็เลยไม่อยากจะพูดอะไรต่อ
ตอบ โดยธรรมชาติของกิเลสย่อมเห็นแก่ตัว ย่อมน้อมเหตุผลเพื่อตนเองเสมอ มนุษย์เรานี่มีทั้งที่ฉลาดและไม่ฉลาด มนุษย์ที่ฉลาดก็เช่นพระพุทธเจ้า ทรงสอนว่าชีวิตของเราและผู้อื่นมีคุณค่าเท่ากัน ไม่จำเป็นต้องฆ่าผู้อื่นเป็นอาหาร กินผักกินข้าวก็อยู่ได้เหมือนกัน
ถาม มนุษย์ต้องกินผักกินผลไม้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ
ตอบ กินผักกินผลไม้จะมีอายุยืนยาวนาน ที่มีอายุสั้นมีโรคกันก็เพราะกินเนื้อสัตว์กัน ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้จะเป็นเนื้อสัตว์สังเคราะห์ ไม่ได้เป็นเนื้อสัตว์ธรรมชาติ เลี้ยงด้วยสารต่างๆเพื่อเร่งให้สัตว์เจริญเติบโตรวดเร็วและใหญ่ ยิ่งตัวใหญ่มากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ราคามากขึ้น ได้เงินมากขึ้นเท่านั้น สารที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ก็ย้ายเข้ามาสู่ในร่างกายของคนที่กิน คนก็เลยเป็นโรคมะเร็งกัน ถ้าเห็นโทษเห็นภัยของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้วก็จะไม่กล้าฆ่า นี่พูดถึงหลักของวิทยาศาสตร์หรือตรรกะที่เราเห็นได้ด้วยตา แต่ยังมีตรรกะที่ไม่ได้เห็นด้วยตาอีกด้วย เป็นเรื่องของศรัทธาที่ศาสนาสอนว่า ทำเขาแล้วก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ให้เขาทำเราคืน ฆ่าปลา ๑๐๐ ตัวก็ต้องกลับมาเกิดเป็นปลา ๑๐๐ ครั้ง ฆ่าช้าง ๑๐๐ ครั้ง ฆ่าอะไรกี่ครั้ง ก็ต้องกลับมาเกิดเป็นสิ่งนั้นๆเพื่อให้เขาฆ่าเราคืน นี่คือหลักเหตุผลที่ว่าทำไมเราไม่ควรที่จะฆ่ากัน แต่ก็มีข้อยกเว้นถ้าเขาตายแล้วจะเอาซากศพไปทำอะไร ก็ไม่เป็นบาปเป็นกรรม เอาไปฝังดิน เอาไปเผา เอาไปย่างกินก็ไม่เสียหายอะไร เอามาต้มกินก็ไม่เป็นไร เอามากินเอามาแกงได้ ถ้าเขาตายโดยธรรมชาติ ถ้าอยากจะกินเนื้อสัตว์ก็ให้กินสัตว์ที่ตายแล้ว ถ้าคนอื่นฆ่าให้แทนก็เป็นกรรมของคนฆ่าไป คนกินไม่บาป ถ้าไม่ไปสั่งเขาให้ฆ่าแทน เช่นซื้อเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วในตลาด อย่างนี้ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เขาฆ่า ถ้าเราไม่ได้สั่ง เขาทำด้วยความโลภของเขาเอง เขาต้องการเงิน เขาก็ฆ่าแล้วเอามาขายที่ตลาด แต่ถ้าเราอยากให้โลกนี้ไม่มีการฆ่ากันเลย ก็อย่าไปซื้อเนื้อสัตว์กินกันเลย
ถาม ถ้าเถียงกลับมาว่าที่เราไปฆ่าเขานี่ก็เป็นกรรมของเขา
ตอบ คนที่ฆ่าก็มีกรรมตามมาด้วยเหมือนกัน เป็นกงกรรมกงเกวียน ล้างแค้นกันไปล้างแค้นกันมา เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
ถาม คนที่มีปัญญาในความหมายของศาสนาเป็นอย่างไร
ตอบ มีความสามารถแยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ ถ้าถูกความหลงครอบงำก็จะไม่สามารถแยกแยะได้ คนที่ไม่มีปัญญาแยกแยะจึงเป็นคนครึ่งคนเท่านั้น เป็นคนทางกายแต่ใจเป็นสัตว์ สัตว์ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีไม่ดี คนเท่านั้นที่ทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต่างจากสัตว์ ศาสนาคริสต์ก็สอนให้ทำในสิ่งที่อยากให้ผู้อื่นทำกับเรา ถ้าเราอยากให้ผู้อื่นดีกับเรา เราก็ต้องดีกับเขา
ถาม แต่ในกรณีของสัตว์จะไม่ชัด
ตอบ ทางพุทธศาสนาถือว่า สัตว์และมนุษย์มีความรักตัวกลัวตายเหมือนกัน เพราะเป็นจิตเหมือนกัน เพียงแต่จิตต้องไปใช้กรรม จึงได้ร่างของสัตว์ที่ต่ำต้อยกว่า เพราะจิตมีสติปัญญาต่ำ ก็เลยต้องไปเกิดในระดับต่ำ แต่ความรักตัวกลัวตายนี่เท่ากันหมดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นสัตว์ สัตว์ทุกตัวต้องการให้ผู้อื่นรักและดีกับตนทั้งนั้น ไม่มีใครต้องการให้ผู้อื่นฆ่าตนหรือทำร้ายตน ถ้าอยากให้สังคมสงบสุข ก็ต้องไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน นี่คือหลักของการอยู่ร่วมกันในสังคม สังคมของมนุษย์จึงเป็นสังคมที่สงบปลอดภัยกว่าสังคมของสัตว์ สัตว์จะต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลาเผลอเมื่อไหร่จะถูกฆ่าทันที ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
ถาม พวกสัตว์เองก็มีการจองเวรกัน
ตอบ จองเวรเพราะไม่มีปัญญา จองเวรด้วยการกินกันเป็นอาหาร จองเวรด้วยการแย่งคู่ครองกัน เหมือนกับมนุษย์ที่ทำสงครามกัน เหมือนกันไม่มีผิด มนุษย์ที่ทำสงครามกันก็ไม่ต่างไปจากสัตว์ มนุษย์ที่ไม่ทำสงครามกันถึงจะถือว่าเป็นมนุษย์ที่แท้จริง
ถาม ถ้าทำเพื่อที่ป้องกันตัว
ตอบ บาปน้อยกว่าผู้ที่ไปบุกรุกผู้อื่น
ถาม อย่างสมัยก่อนเวลากษัตริย์ทำสงครามแล้ว ก็ต้องมาสร้างโบสถ์ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย
ตอบ อุทิศบุญได้ แต่ล้างบาปไม่ได้ บาปต้องล้างด้วยการไม่ทำบาป ถ้าไม่ทำบาปก็ไม่มีบาปต้องล้าง ถ้าทำแล้วก็ล้างไม่ออก
ถาม มาใช้กรรมในชาตินี้กัน
ตอบ เป็นเวรเป็นกรรมกันมา ผลัดกันฆ่ากัน จนกว่าจะหยุด ไม่ตอบโต้ พระพุทธเจ้าทรงไม่ตอบโต้พระเทวทัตเลย แต่ทรงใช้สติปัญญาใช้ความเมตตาป้องกันตัว
ถาม ถ้าพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นก็จะดีขึ้น
ตอบ พวกที่ไปเกิดเป็นสัตว์ก็เพราะฆ่าผู้อื่น เมื่อหมดกรรมก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ยังติดนิสัยฆ่าผู้อื่น จึงฆ่าผู้อื่นเป็นอาหารอีก แต่พวกที่ลงมาจากสวรรค์ จะติดนิสัยไม่ฆ่าสัตว์มา ก็จะไม่ฆ่ากินผู้อื่นคนในโลกมนุษย์นี้มีอยู่ ๒ พวก พวกที่มาจากเบื้องบนกับพวกที่มาจากเบื้องล่าง พวกที่มาจากเบื้องล่างก็จะทำผิดศีล ๕ เป็นประจำ พวกที่มาจากเบื้องบนก็จะรักษาศีล ๕ เป็นประจำ วงจรของเขาจึงต่างกัน พวกที่มีศีลก็จะวนอยู่กับมนุษย์กับสวรรค์ พวกที่ทำผิดศีลก็จะวนอยู่กับมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานกับสัตว์นรก พวกที่ฉลาดกว่านั้น ก็จะรักษาศีลทำบุญให้ทานและภาวนา กำจัดความโลภความโกรธความหลง พวกนี้ก็จะไปนิพพาน ตัดภพตัดชาติ ตัดการเวียนว่ายตายเกิด ตัดเวรตัดกรรมได้อย่างแท้จริง เมื่อถึงนิพพานแล้วก็ไม่ไปเกิดอีกแล้ว ไม่มีอะไรที่จะตามมาจองเวรจองกรรมได้อีก เหมือนกับอยู่บ้านไม่ออกนอกบ้าน ไม่ขึ้นรถลงเรือขึ้นเครื่องบิน ก็ไม่ตายเพราะรถคว่ำเรือล่มหรือเครื่องบินตก แต่ถ้ายังต้องออกไปนอกบ้าน ยังต้องขึ้นรถลงเรือขึ้นเครื่องบินอยู่ ก็ต้องไปเสี่ยงกับภัยเหล่านั้น ถ้าถึงนิพพานแล้วก็ไม่มีการเกิดอีก เมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มีการแก่การเจ็บการตาย ไม่ถูกผู้อื่นฆ่าทำร้าย
ถาม ท่านไปเจอกันบ้างไหม
ตอบ ไม่เจอหรอก ไม่ต้องเจอ เพราะเป็นเหมือนกันหมด จิตบริสุทธิ์เหมือนกันหมด
ถาม แล้วที่บอกว่านั่งปฏิบัติแล้วมีครูบาอาจารย์ลงมาสอน
ตอบ เป็นกรณีพิเศษ อาจจะมีความผูกพันกันมาในอดีตก็ได้ เช่นพระพุทธเจ้าส่งกระแสไปหาพระมารดา เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล พระพุทธเจ้าทรงสอนพระมารดาอยู่ ๑ พรรษาจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็ไปทางกระแสจิต ไม่ได้ไปทางร่างกาย เพราะร่างกายของพระมารดาไม่มีแล้ว จิตของพระมารดาอยู่บนสวรรค์แล้ว แต่จิตของพระพุทธเจ้ายังอยู่กับร่างกาย ไปด้วยกระแสจิต เหมือนกับส่งกระแสคลื่นโทรศัพท์ไปหาอีกเครื่องหนึ่ง ถ้าเปิดเครื่องอยู่ก็ติดต่อกันได้ จิตแต่ละดวงก็ติดต่อกันแบบโทรศัพท์มือถือ ต่างคนต่างมีเครื่อง ถ้ารู้เบอร์ก็กดหากันได้ ถ้าไม่รู้ก็กดไม่ได้