กัณฑ์ที่ ๓๘๕ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๑
ทานคือการให้
ทานเป็นการให้ ไม่ใช่เป็นการเอา ทานให้เอาออกไป ไม่ใช่ให้เอาเข้ามา ทานเอาเข้ามาดีตอนเอาเข้า แต่เวลาไม่ได้ก็จะเสียใจ ตอนต้นเวลาให้ทานไปจะรู้สึกไม่สบายใจ ถ้ายังหวงอยู่ พอให้ไปแล้วมันก็หมดภาระกับเราไป ไม่ต้องห่วง เราก็จะสบายใจ การให้ไม่ได้ให้เฉพาะเงินทองข้าวของอย่างเดียว ให้ลูกก็ได้ ให้สามีก็ได้ ให้ภรรยาก็ได้ ให้ไปเลย ให้แล้วจะสบายใจ เก็บไว้แล้วหนักอกหนักใจไปเปล่าๆ ให้ไปแล้วเบาใจ ตัดไปเลย ให้ไปเลย พระเวสสันดรท่านให้หมดเลย ท่านจะภาวนา ถ้ากังวลกับลูกกับเมีย ก็จะภาวนาไม่สงบ ถ้ามีใครมาขอรับผิดชอบ ขอรับไปเลี้ยงต่อก็ให้เขาไปเลย แล้วจะสบายใจ มีลูกศิษย์คนหนึ่งชอบมาคุยธรรมะอยู่เรื่อยๆ เขาบอกว่าเขามีความสุขกับครอบครัวกับภรรยา เราก็เตือนว่าไม่แน่นะ สักวันอาจจะไม่เป็นอย่างที่เป็นก็ได้ พออีกสักปีหนึ่งก็เกิดขึ้น ภรรยาบอกขอเลิก จะไปมีสามีใหม่ ใจวุ่นเลย วิ่งมาหาเรา บอกว่าอยากจะทำร้ายเขา เราก็ให้สติเขาว่า มันเป็นเรื่องที่เราไปบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา สิ่งที่เราบังคับได้ก็คือใจของเรา ให้ทำใจให้สบาย คิดว่าเป็นการทำบุญให้ทานไป ก็จะมีความสุข คิดเสียว่าถึงเวลาที่เขาต้องจากเราไป จะจากไปแบบไหนก็จากไปเหมือนกัน จากไปขณะที่เป็นก็จากกัน จากไปขณะที่ตายก็จากกัน ถ้าเตรียมตัวเตรียมใจรู้ไว้ล่วงหน้าว่า เหตุการณ์แบบนี้ต้องเกิดขึ้นแน่ ถ้าไม่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็ต้องเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เรื่องการจากกันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เพียงแต่จะจากกันแบบไหน ถ้าจากแบบที่พอใจก็มีความสุข เช่นเราอยากให้เขาไป พอเขาไปเราก็ดีใจ แต่ถ้ายังไม่อยากให้เขาไปก็จะเสียใจ ปัญหาอยู่ที่เรา เขาต้องไปแน่ๆ เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้รับได้ทั้งสองแบบ ถ้ายังอยู่ก็ให้เขาอยู่ไป ถ้าไปก็ดี เราจะได้มีอิสรภาพ จะได้เป็นตัวของเราเอง จะทำอะไรก็ไม่ต้องคอยขออนุญาต ไม่ต้องคอยกังวลว่าเขาจะคิดอย่างไร เป็นการปรับใจเท่านั้นเอง ไม่เห็นยากเย็นอะไร
ส่วนใหญ่ใจมักจะชอบยึดติดเป็นนิสัย ไม่ชอบปรับตัวเอง พอต้องปรับหน่อย ก็จะรู้สึกหงุดหงิด เช่นถ้าต้องตื่นเช้าสักชั่วโมงหนึ่งจากที่เคยตื่น ก็จะหงุดหงิด แต่ถ้าเคยปรับใจให้รับกับเหตุการณ์อยู่เรื่อยๆแล้ว ก็จะไม่หงุดหงิด ชีวิตของเราต้องปรับอยู่เรื่อย ๆ ถ้าปรับได้ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าปรับไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา จิตใจจะวุ่นวาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่ตัวเรา เพราะเราไม่ฉลาด ไม่ศึกษาสภาพความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย เราไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนเร็วบ้าง เปลี่ยนช้าบ้าง เปลี่ยนน้อยบ้าง เปลี่ยนมากบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ (มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น) นี่ก็เปลี่ยนแปลงแล้ว เมื่อสักครู่มันเงียบ แล้วก็มีเสียงดังขึ้นมา ถ้ารับกับสภาพนั้นได้ ก็ไม่หงุดหงิดใจ ถ้ารับไม่ได้ ต้องเงียบตลอดเวลา ก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา ควรทำใจให้กว้างๆ ทำใจให้สบาย พอเริ่มหงุดหงิดใจ ก็อย่าไปปรับข้างนอก ให้เข้ามาปรับข้างใน อย่าไปปรับข้างนอก อย่าไปเปลี่ยนเขา อย่าไปบอกเขาว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเขาบอกว่า ไม่ทำจะทำไม ก็จะทะเลาะกัน ถ้ารู้ว่าเขาจะทำอย่างนั้น เราก็ปรับใจ ต้องยอมรับการกระทำของเขา ถ้ารับได้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ใจของเราเอง ที่ไม่ค่อยชอบปรับให้ทันกับสภาพเหตุการณ์ เพราะไม่เคยสอนใจให้คอยปรับเปลี่ยนให้รับกับเหตุการณ์ มักจะยึดติดกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเสมอ ถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่ชอบไม่พอใจ ก็จะปรับเปลี่ยนเหตุการณ์นั้นให้ถูกใจเรา ถ้าบ้านเก่าก็ซ่อมใหม่ ทาสีใหม่ ปรับปรุงใหม่ พอทำเสร็จแล้วก็สบายใจ พอเก่าอีกก็ต้องซ่อมอีก ถ้าปรับใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่ต้องทำอะไร อยู่กับของเก่าไป สู้ปรับใจเราดีกว่า ง่ายกว่าไม่ต้องเสียแรง ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง บ้านจะเก่าดูไม่สวยก็ปล่อยมันไปตามเรื่อง ถ้ายังทำหน้าที่ได้อยู่ ให้เราหลบแดด หลบฝน หลบภัยได้ ก็ปล่อยมันไปเถิด ปรับใจของเราให้เข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่ นี่แหละคือการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข ไม่ได้อยู่ที่การปรับสิ่งภายนอกให้เราพอใจ เพราะปรับเท่าไรก็ไม่พอใจ ถ้าพอใจก็พอใจเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็อยากจะให้เป็นอย่างอื่นอีก มีความอยากอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาอีกอยู่เรื่อยๆ เพราะความอยากไม่มีขอบเขต ถ้าเอาความอยากเป็นประมาณ ก็ต้องเหนื่อย ต้องทำตามความอยากอยู่เรื่อย ๆ ถ้าเอาความพอดีหรือความพอใจเป็นหลัก ทำใจให้พอใจกับสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เป็นอยู่ ก็จะอยู่อย่างสบายใจ ทำเท่าที่จำเป็น สิ่งใดที่ต้องทำก็ทำไป สิ่งใดที่ไม่ต้องทำก็อย่าไปเสียเวลาทำ สิ่งที่เราต้องทำก็มีไม่มาก ในการดูแลชีวิต อัตภาพของเรา ให้ดำเนินไปได้ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อจะได้เอาชีวิตนี้มาดูแลรักษาใจของเรา ให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดไป นี่คืองานหลักของชีวิตเรา อยู่ตรงนี้ คือการดูแลใจของเรา
ใจของเรานี้เป็นสิ่งที่ดูแลได้ ควรจะดูแลและต้องดูแล สิ่งอื่นๆเป็นสิ่งที่เราดูแลไม่ได้ ดูแลได้เพียงในขอบเขตของมัน ดูแลเพื่อเอื้อความสะดวกต่อการดูแลใจของเราเท่านั้นเอง ถ้าจะดูแลสิ่งต่างๆเพื่อให้เราสุขใจพอใจ จะไม่สามารถทำได้ไปตลอด เพราะสิ่งที่เราทำนั้นอยู่ใต้กฎของการเปลี่ยนแปลง ทำไปสักระยะหนึ่งก็จะเปลี่ยนไป ต้องเก่า ต้องชำรุด ต้องซ่อม ต้องแก้ไข ต้องทำใหม่ ชีวิตของเราก็จะเสียเวลาไป กับการดูแลบำรุงรักษาสิ่งต่างๆอยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะเดียวกันใจก็ขาดการดูแล ใจจึงไม่มีที่พึ่ง เวลามีอะไรที่ใจไม่สามารถจัดการได้ ก็ทำใจไม่ได้ ยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้ บางทีต้องหนีจากสภาพนั้นไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง บางทีต้องย้ายบ้านย้ายช่อง เปลี่ยนสถานที่ไป บางคนไม่มีที่ไปก็กระโดดตึกไปก็มี เพราะทนรับกับสภาพความจริงของตนไม่ได้ ถ้ารู้จักปรับใจ ยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้มีได้มีเสีย มีมามีไปเป็นธรรมดา ก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าเตรียมใจให้รับกับสภาพที่จะเกิดขึ้นไว้ก่อนแล้ว พอมันเกิดขึ้นก็ทำใจได้ รับกับสภาพได้ เหมือนกับเวลาเดินทางไปกับเรือ ถ้าเตรียมชูชีพไว้ ถ้าเรือล่มไปก็อาศัยชูชีพได้ ไม่ต้องจมไปกับเรือ ถ้าไม่มีชูชีพว่ายน้ำไม่เป็น พอเรือจมก็ต้องจมไปกับเรือ ใจของเราไม่จำเป็นต้องจมไปกับสิ่งต่างๆ เขาจะมาก็ปล่อยให้เขามา เขาจะไปก็ปล่อยเขาไป เพราะใจของเรามีหลักยึด มีชูชีพเป็นที่พึ่ง ชูชีพนี้ก็คือธรรมะ ธรรมที่เป็นยอดของธรรมะ ก็คือปัญญา คือความรู้ทันกับความจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่ต้องเกิดขึ้นก็ดี เราจึงต้องศึกษาอยู่เรื่อยๆ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาอยู่เสมอว่า เราเกิดมาแล้วย่อมมีความแก่ มีความเจ็บไข้ได้ป่วย มีความตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่เราควรรู้ ควรสอน ควรเตือนใจเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่สอนไม่เตือนใจเรา ก็เหมือนกับไม่เตรียมชูชีพไว้ ไม่เตรียมที่พึ่งไว้
ชูชีพของเราก็คือปัญญา แต่ธรรมชาติของกิเลสจะคอยขัดขวางการเจริญปัญญา กิเลสจะไม่ชอบคิดถึงเรื่อง ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากกัน กิเลสชอบอยู่เป็นหนุ่มเป็นสาวไปตลอด ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย อยากมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่อยากตายไม่อยากพลัดพรากจากสิ่งต่าง ๆ แต่ความอยากของกิเลสมันฝืนความจริง ถ้าเราเชื่อกิเลสแล้วไม่พิจารณาความจริงที่จะเกิดขึ้นมา ก็เหมือนกับไม่เชื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ที่พยากรณ์อากาศ เตือนไว้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต จะมีพายุหรือไม่ น้ำจะท่วมหรือไม่ เราก็จะอยู่ของเราไปอย่างปกติ ไม่อยากจะคิดถึงน้ำที่จะท่วมบ้านเรา คิดถึงพายุที่จะถล่มทลายบ้านช่อง พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็จะไม่มีทางหนีทีไล่ กลายเป็นเหยื่อของภัยเหล่านั้นไป แต่ถ้ารู้ว่าน้ำจะท่วมบ้าน เราก็เตรียมขนของขึ้นที่สูงไว้ก่อน เตรียมเก็บอาหารไว้ พอน้ำท่วมซื้ออาหารกับข้าวไม่ได้ เราก็มีอาหารไว้รับประทาน มียารักษาโรค มีอะไรต่างๆไว้ดูแลเรา ใจของเราก็เป็นแบบนั้น ถ้ารู้ล่วงหน้าว่า ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็เตรียมรับกับเหตุการณ์ไว้ เพราะความจริงใจไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ร่างกายกับใจเป็นคนละส่วนกัน นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้กัน
เป็นความหลงที่จะหลอกให้ใจคิดว่าร่างกายนี้เป็นใจ พอร่างกายเป็นอะไรไป ใจก็เกิดความตกใจ หวาดกลัว สับสนวุ่นวายใจ ทั้งๆที่ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย เหมือนกับตัวเรากับเพื่อนเรา เพื่อนเป็นอะไรไป เราไม่ได้เป็นไปกับเขาสักหน่อย แต่เรากลับวุ่นวายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับไปกับเขา เพราะเราไปผูกตัวเราไว้กับเขา ถ้าเราต้องพึ่งเขา ต้องอาศัยเขา เราจะไม่อยากให้เขาไป เพราะไปแล้วเราจะลำบาก เช่นเราอาศัยคนใช้ไว้ซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน พอเขาบอกเขาจะออก เขาจะไป เราก็วุ่นวายใจแล้ว เพราะเราไปผูกความสุขของเราไว้กับเขานั่นเอง ความหลงจะหลอกให้ใจไปผูกตนเองไว้กับสิ่งต่างๆ แทนที่จะผูกไว้กับใจ ทั้งที่ความสุขในใจนี้มันเลิศประเสริฐกว่าความสุขอื่นใดในโลกนี้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีสัตว์โลกตัวใดรู้ มีผู้เดียวเท่านั้นที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง ก็คือพระพุทธเจ้า ที่จะค้นพบความจริงอันนี้ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ในตัวของใจ ไม่ได้อยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ที่ร่างกายที่ใจครอบครองอยู่ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกายของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา ลูก พ่อ แม่
ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ที่ไม่ไปหลงไปยึดติดกับร่างกายของคนอื่น คือต้องอยู่คนเดียวให้ได้ วิธีที่จะอยู่คนเดียวได้ก็ต้องทำใจให้สงบ อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย เพราะธรรมชาติของใจมักจะคิดออกไปข้างนอก คิดหาความสุขจากภายนอก พออยู่เฉยๆ อยู่คนเดียว ไม่ได้สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ กับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นวัตถุ ก็จะรู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อย หงอยเหงา เป็นความรู้สึกที่ถูกผลิตขึ้นมาจากความหลง ความอยาก พอเกิดความรู้สึกนี้แล้ว ก็ต้องพยายามแก้ ด้วยการไปหาวัตถุต่างๆ บุคคลต่างๆ มาให้ความสุขแก่ตน แต่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีปัญหาเช่นเดียวกัน คือไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดเสมอไป ในเบื้องต้นเราก็หาในสิ่งที่เราคิดว่าดีกับเรา พอได้แล้วก็ดีใจ แต่พอสิ่งที่ได้มาเกิดเปลี่ยนไป พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากดีเป็นไม่ดีไป เราก็เสียใจ เสียใจมากกว่าตอนที่ไม่มีเขาเสียอีก ตอนที่เราไม่มีเขา เราก็รู้สึกว้าเหว่ เศร้าสร้อยหงอยเหงา มันก็เป็นความทุกข์ แต่เป็นความทุกข์ที่ไม่รุนแรงเหมือนกับความทุกข์ที่เกิดจากการเสียใจ เนื่องจากบุคคลที่เราฝากความหวังไว้ ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการ
เราจึงต้องสอนใจอยู่เสมอว่า ต้องทำใจให้สงบ พอใจสงบแล้ว จะไม่คิดอยากได้สิ่งต่างๆ ไม่อยากมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับใคร จะมีความสุขอย่างมากในขณะที่ใจสงบ นี้เป็นธรรมชาติของใจ ใจมีความสุขเมื่อใจสงบ ใจมีความทุกข์เมื่อใจคิดปรุงแต่ง มีความอยาก จึงต้องคอยควบคุมใจให้สงบอยู่เรื่อยๆ จะทำอย่างไร ขึ้นอยู่แต่ละคนจะทำกัน เพราะมีความสามารถไม่เท่ากัน มีภาระต่างกัน บางคนกว่าจะรู้ความจริงนี้ ก็ไปติดอยู่กับสิ่งต่างๆมากมาย จนรู้สึกยากต่อการถอนตัวออกจากสิ่งต่างๆ เพราะขณะที่อยู่กับสิ่งต่างๆ กับภารกิจต่างๆ ใจต้องคิดต้องทำงานอยู่เรื่อยๆ ใจจึงไม่สงบ มีความหิวความอยากความต้องการสอดแทรกอยู่เรื่อยๆ พอทำธุระเสร็จปั๊ปก็รีบไปสนองความอยากทันที พอเงินเดือนออก ก็ไปซื้อข้าวของต่างๆ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆทันที เป็นผลที่เกิดจากใจที่ไม่สงบนั่นเอง แต่เราทำให้ใจสงบไม่ได้ ถ้าเราต้องทำงาน เวลาทำงาน ใจต้องคิด เมื่อคิดก็จะมีความอยากแทรกเข้ามา เพราะใจได้รับข้อมูลต่างๆ ตามสื่อต่างๆ ทางโทรทัศน์วิทยุ ทางหนังสือพิมพ์ ก็จะมีสิ่งคอยล่อใจให้ไปชื่นไปชม ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ มีสินค้าชนิดต่างๆ แปลกๆใหม่ๆ ออกมาท้าทายความอยากอยู่เรื่อยๆ พอมีโอกาสที่จะไปสนองความอยากได้ ก็จะรีบไปทันที
ทำให้เราติดลึกลงไปในวงจรของความอยากมากขึ้น เวลาที่จะทำความสงบแทบจะไม่มีเลย เพราะต้องไปทำกับสิ่งที่เราอยากทำ ถ้าอยากไปเที่ยวเราก็ไป ใจจึงไม่มีเวลาทำความสงบ พอได้โทรทัศน์เครื่องใหม่มา ได้ของเล่นใหม่มา ก็หมดเวลาเล่นไปกับมัน เวลาที่จะหาความสงบจึงไม่ค่อยมี เมื่อไม่มีความสงบ ความอิ่มความพอก็ไม่มี ใจจึงถูกความอยากฉุดลากและผลักดันให้ไปตอบสนองความอยากอยู่เรื่อยๆ จึงไม่มีความสุขใจ พอเวลาอยากมากๆ แล้วไม่ได้ดั่งใจ ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เวลาอยากแล้วได้ก็ยังพอทุเลาอยู่ แต่ก็ไม่วิเศษอะไร เพียงทำให้ชีวิตพอดำเนินไปได้ ถ้าอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ ก็เหมือนกับเดินไปสะดุดไปเตะตอเข้า ก็เจ็บใจเสียใจขึ้นมา ต้องนอนหยอดน้ำข้าวต้มอยู่หลายวันกว่าจะหาย พอหายแล้วก็ลืม กลับไปอยากอย่างเดิมอีก กลับไปอยาก ต้องการสิ่งนั้น สิ่งนี้ใหม่ ถ้าตราบใดชีวิตของเรายังเกี่ยวข้องกับความอยาก เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆภายนอกอยู่ เราจะไม่พบความสุขใจ ความอิ่ม ความพอ จะพบแต่ความสุขที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ ที่จะตามมา
หน้าที่หลักของเราจึงอยู่ที่การต่อสู้กับความอยากต่างๆ ด้วยการนำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มากำกับการดำเนินชีวิตของเรา ในระดับพื้นๆ ก็ให้อยู่แบบสมถะเรียบง่าย มักน้อยสันโดษ ใช้น้อยๆ ใช้เท่าที่จำเป็น ใช้เสื้อผ้าเท่าที่จำเป็นก็พอ อย่ามีมากจนเกินไป อย่าซื้อเวลาเห็นเสื้อผ้าชุดใหม่ๆขายอยู่ตามร้าน ทั้งๆที่มีเสื้อผ้าอยู่ล้นตู้ เสื้อผ้าชุดไหนที่ไม่ได้ใส่เกิน ๖ เดือนแล้ว ก็ควรเอาไปให้ทานได้แล้ว เก็บเฉพาะที่ใส่จริงๆ ทำหมันมัน อย่าให้มันเจริญเติบโต ให้มีเท่าที่จำเป็น ๑๐ ชุด หรือ ๑๕ ชุด รองเท้าก็เช่นเดียวกัน ให้มีขอบเขต ถ้าไม่มีขอบเขตแล้ว มันจะมาอยู่เรื่อยๆอย่างไม่รู้สึกตัว แล้วเราจะเสียเวลากับการหาเงินหาทอง เพื่อซื้อสิ่งของเหล่านี้ ที่ไม่มีประโยชน์กับใจเลย กลับเป็นโทษกับใจ เพราะทำให้ความอยากเจริญเติบโตมีกำลังมากขึ้น ยากต่อการปราบปรามกำจัดมัน ต้องใช้ความมักน้อยสันโดษมาปราบ ความมักน้อยก็คือเอาเท่าที่จำเป็น อย่างพระนี่บางรูปท่านถือเพียงผ้า ๓ ผืน มีผ้าห่มเรียกว่าจีวร ผ้านุ่งเรียกว่าสบง ผ้าห่มกันหนาวเรียกว่าสังฆาฏิ แล้วก็ผ้าอาบน้ำกับผ้าอังสะ เท่านี้ท่านก็อยู่ได้แล้ว ไม่ให้มีเกินนั้น ถ้ายังไม่ขาดจนใส่ไม่ได้ ก็ยังไม่เปลี่ยน ถ้าขาดแล้วปะได้ท่านก็จะปะกัน สมัยก่อนจะเห็นพระใช้ผ้าปะกันทั้งนั้น แต่ยุคนี้เป็นยุคที่กรรมฐานกำลังเจริญรุ่งเรือง มีผ้ามากมาย ล้นตู้ล้นศาลา จึงไม่ค่อยเห็นผ้าที่ปะกันแล้ว สมัยก่อนเคยเห็นอยู่ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ญาติโยมยังไม่เข้าวัดป่ากันมากเหมือนสมัยนี้
สมัยก่อนที่วัดป่าบ้านตาด วันเสาร์วันอาทิตย์จะมีรถมาสัก ๔ - ๕ คัน มาทำบุญตอนเช้า นำอาหารมาถวายพระ ในช่วงออกพรรษาก็จะมีญาติโยมที่จัดรถบัสไปกัน มีวัดของครูบาอาจารย์ค่อนข้างมาก ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงกว่าหลวงตาในสมัยนั้นก็มีหลายรูปด้วยกัน วัดของหลวงตาเป็นวัดที่เขาไม่ค่อยกล้าเข้ากัน เพราะหลวงตาไม่ค่อยเปิดโอกาสให้มากัน ถ้าจะมาก็ต้องทำใจไว้ก่อนถึงจะมาได้ พวกที่ทำใจไม่ได้ ก็จะไม่มา จะเลยไปวัดอื่นเลย สิ่งที่ต้องทำใจก็คือต้องโดนดุแน่ๆ จะได้ธรรมะจากการทำใจนี่แหละ โดยธรรมชาติกิเลสชอบการสรรเสริญ ชอบการต้อนรับขับสู้ พอถูกขับไล่ ทำใจไม่ค่อยได้ พอไปถึงแทนที่จะต้อนรับ กลับถามว่า มาวุ่นวายทำไม เป็นเพียงการแย็บดูใจของเราว่าจะเป็นอย่างไร ใจก็ล้มพับไปแล้ว พวกที่รู้ทันก็จะเฉย ๆ ท่านจะว่าอย่างไรก็ว่าไป มีหน้าที่ฟังก็ฟังไป เพราะไปก็เพื่อไปฟัง ไม่ได้ไปให้ท่านต้อนรับขับสู้ ลูบหน้าปะจมูกเรา ชมว่าดีอย่างนี้ดีอย่างนั้น ไปเพื่อฟังธรรมะ คนที่ต้องการธรรมะก็จะทำใจให้สงบ เป็นเหมือนผู้รักษาประตูฟุตบอล คอยรับลูกอย่างเดียว ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเตะแบบไหน ต้องรับได้ทุกรูปแบบ จะเตะมาแรงก็ได้ มาค่อยก็ได้ สมัยนั้นจึงไม่ค่อยมีคนไปวัดป่าบ้านตาดกัน ก็ดีไปอย่าง สงบเงียบดี ข้าวของก็มีไม่มาก มีพอใช้ ไม่เดือดร้อนอะไร
นี่ก็พูดถึงเรื่องความมักน้อยสันโดษ การดำเนินชีวิตของพวกเราควรเป็นอย่างนั้น เพราะจะตัดภาระไปได้เยอะ ถ้าใช้แบบฟุ่มเฟือย จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี ถ้ารู้จักใช้แต่ไม่รู้จักหามันก็หมดได้ หมดแล้วก็ต้องหาใหม่ ต้องเสียเวลากับการหาเงิน เพื่อเอามาบำรุงบำเรอความอยากใช้ของฟุ่มเฟือยต่างๆ เราจึงต้องตีกรอบไว้ว่า ปัจจัย ๔ นี้เราจะใช้อย่างไร จะใช้ในระดับไหน เหมือนกับเวลาเดินทาง ต้องตีตั๋วชั้น ๑ ชั้น ๒ หรือชั้น ๓ ถ้ามักน้อยก็ต้องเอาชั้น ๓ ถูกที่สุด ไปถึงเหมือนกัน ได้ยินว่าสมัยก่อนหลวงตาท่านมากรุงเทพฯ ท่านจะนั่งรถไฟชั้น ๓ เก้าอี้ไม้ไม่มีเบาะ ท่านไม่นอน ท่านนั่งมาตลอดคืน ทั้งๆที่เขาอยากถวายตู้นอนให้ท่าน แต่ท่านไม่เอา ท่านทำเพื่อให้จิตใจเข้มแข็ง ให้กิเลสอ่อนกำลังลง จะได้ไม่มาสร้างความวุ่นวายให้กับใจ ขอให้ใช้ความมักน้อยเสมอ ส่วนสันโดษนี้แปลว่ายินดีตามมีตามเกิด ถึงแม้จะได้น้อยกว่าความจำเป็น ก็ให้พอใจไว้ ถ้ายังพอถูไถอยู่ไปได้ ไม่ไปขอผู้อื่น ถ้าพอจะหาได้ก็หามา ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้อย่างนี้ไปก่อน ไม่ไปกู้หนี้ยืมสิน เพราะจะเป็นภาระทางจิตใจ จะมีความทุกข์ตามมา ต้องคอยกังวลกับการใช้หนี้ใช้สิน ถ้ามีความมักน้อยสันโดษแล้ว ความอยากต่างๆจะลดลงไปได้มาก เวลาเห็นเสื้อผ้าสวยๆงามๆ อยากจะซื้อ ก็ต้องถามตัวเองว่าของเก่ามันใช้ไม่ได้หรืออย่างไร ถ้ายังใช้ได้อยู่ก็ใช้ไปก่อน ไม่ต้องซื้อของใหม่ จะได้ประหยัดเงินประหยัดเวลา จะได้มีเวลามาทำบุญปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น
ถ้าไม่มาวัดก็จะมีเวลาอยู่ที่บ้าน ความจริงที่บ้านถ้าเป็นที่สงบเงียบ ไม่มีใครมารบกวน การภาวนาที่บ้านนี้ดีที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปวัดในแต่ละครั้ง อย่างเสาร์อาทิตย์เดินทางไปต่างจังหวัด นั่งรถไปทั้งคืนมันก็หมดเวลาไป พอไปถึงวัดกว่าจะปรับตัวได้ก็ถึงเวลาต้องกลับแล้ว ถ้าทำที่บ้านได้ ก็ภาวนาที่บ้านเลย การภาวนาของพวกเราส่วนใหญ่ในระยะเริ่มต้นนี้ ไม่ต้องไปหาที่ในป่าในเขาก็ได้ ภาวนาที่บ้านให้ได้ก่อน ทำจิตใจให้สงบ ให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหว กับการกระทำต่างๆ ควบคุมจิตใจไม่ให้คิดเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องคิด ให้คิดอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ถ้ากำลังรับประทานอาหาร ก็ให้คิดอยู่กับการรับประทานอาหาร กำลังเขียนหนังสือ กำลังอ่านหนังสือ ก็ให้คิดอยู่กับงานนั้นๆ ถ้าทำได้ ใจจะมีความสงบในระดับหนึ่ง มีสติคอยดึงใจไว้ พอมีเวลาว่างไม่ต้องทำภาระต่างๆ เราก็ทำใจให้สงบนิ่ง ด้วยการบริกรรมพุทโธก็ดี หรือการกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ดี เราจะมีสติควบคุมให้ใจอยู่กับการกระทำนั้นๆ ถ้าอยู่กับพุทโธได้อย่างต่อเนื่อง รับรองได้ว่าจิตจะต้องสงบ ต้องรวมลงได้อย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นวิธีที่จะทำให้จิตรวมลง เมื่อจิตรวมลงแล้ว จิตจะโล่งสบายใจ ได้ปล่อยวางโลกทั้งโลกไปหมดเลย โลกทั้งโลกเหมือนกับหายไปจากใจ เรื่องต่างๆที่ใจเคยวุ่นวาย เคยสับสน เคยห่วง เคยกังวล จะหายไปจากใจหมด เหมือนกับกระดานดำที่มีการเขียนการวาดรูปอะไรต่างๆไว้ พอเราลบมันออกหมด กระดานก็ว่าง ไม่มีอะไรเลย ถ้าเป็นโทรทัศน์ก็เหมือนเวลาที่เราปิดเครื่อง จอมันก็ว่าง ไม่มีอะไร
ใจของเราก็ว่างอย่างนั้น แต่ว่างแบบมีความสุข ว่างแบบเบาใจ สบายใจ ลืมเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆ ที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย ถึงแม้จะเป็นชั่วขณะหนึ่ง เหมือนกับได้เห็นโลกอีกโลกหนึ่งที่มีอยู่ในใจของเราเอง ความจริงเราไม่ต้องไปแบกตลอดเวลา ความทุกข์ก็มีอยู่ ปัญหาก็มีอยู่ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปแบก ๒๔ ชั่วโมง ด้วยการคิดถึงมันตลอดเวลา ควรจะปล่อยวางบ้าง เมื่อถึงเวลาแก้ ค่อยไปคิดถึงมัน ถ้ายังไม่ถึงเวลาหรือแก้ไม่ได้ ก็ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน ไม่ต้องแบก เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขกับปัญหาต่างๆ เพราะใจไม่ได้เสียอะไรไปกับการเสียสิ่งต่างๆ เวลาได้อะไรมา ใจก็ไม่ได้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม เวลาเสียไปก็ไม่ได้เล็กลงไปกว่าเดิม ใจก็เท่าเดิม แต่ใจหลงเท่านั้นเอง พอมีอะไรแล้วก็ยึดติดกับสิ่งนั้น หวง ไม่อยากให้มันไปจากเรา แต่ความจริงมันต้องไป มันก็ไม่ได้ทำใจให้เล็กลง เพียงแต่กิเลสหลอก ทำให้เศร้าโศกเสียใจ เสียดาย อาลัยอาวรณ์ เป็นการสร้างความทุกข์ขึ้นมาโดยใช่เหตุ ถ้าทำใจให้เฉยๆ ทำสมาธิได้ เหตุการณ์ต่างๆก็จะไม่มากระทบกับจิตใจ เหมือนกับเวลาที่มีอากาศร้อน ถ้าเข้าไปห้องปรับอากาศ ความร้อนก็ไม่ตามเข้ามา สมาธิก็เป็นเหมือนห้องปรับอากาศของใจ ถ้าเข้าสมาธิได้ ก็จะมีห้องปรับอากาศไว้หลบความทุกข์ร้อนต่างๆ ที่เราต้องเผชิญในแต่ละวัน
ถ้าต้องออกมาเผชิญกับมัน ก็ต้องใช้ปัญญา เพื่อรักษาความเย็น ความสงบของใจ ปัญญาต้องสอนใจว่า สิ่งต่างๆไม่อยู่กับเราไปตลอด ใจไม่จำเป็นต้องมีสิ่งต่างๆ ใจสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ เช่นในขณะที่อยู่ในสมาธิ ตอนนั้นก็ไม่มีอะไรเลย ใจไม่ได้อาศัยอะไรเลย ไม่ได้อาศัยสิ่งต่างๆภายนอก แต่ใจกลับมีความสุขมากกว่า เราก็เอาความรู้อันนี้มาสอนใจ เวลาจะเสียดายอะไรก็ตัดใจไปเลย เอาไปเลยไม่มีจะดีกว่า ปัญหาอยู่ตรงที่เราพร้อมจะให้มันไปหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าพร้อมแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนใหญ่เรายังไม่พร้อม ความเสียดายนี่ไม่ได้เป็นธรรม เป็นอธรรม เป็นเรื่องของกิเลสที่มันหลง เป็นสิ่งที่ถูกฝังลึกมาในใจ พอมีอะไรแล้วมักจะยึดติด จะหวงเสมอ เราต้องสอนว่าการยึดติดนี้เป็นโทษ การปล่อยวางนี้เป็นคุณ ถ้าปล่อยวางเราจะสบายใจ ถ้ายึดติดแล้วจะทุกข์ใจ ก็ต้องลองไปทำดู ทำทั้ง ๓ อย่าง ทำทั้งสมาธิ ทำทั้งปัญญา ทำทั้งสติ ปัญหาอยู่ที่เราจะมีเวลาทำหรือไม่ ถ้ามัวแต่ไปยุ่งกับการหาความสุขทางโลก เราก็จะไม่มีเวลาทำ ถ้าใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย มักน้อย สันโดษ เราก็จะมีเวลา ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการไปหาเงินหาทอง เพื่อหาความสุขทางโลก เราก็จะมีเวลาเจริญสติ ทำจิตให้สงบ มีเวลาคอยควบคุมจิตใจ สามารถตัดสิ่งต่างๆได้ เมื่อใจได้พบกับความสงบแล้ว จะเห็นว่ามีคุณค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้ จะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรถ้าจะไม่มีอะไรเลย
พระพุทธเจ้าทรงออกบวชได้ เพราะมีความสงบสุขใจในระดับฌานอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีเวลาปฏิบัติมากเท่าที่ควร ทรงเล่าว่าจิตเคยรวมสงบลงในขณะที่ทรงอยู่ตามลำพังใต้ต้นไม้ วันนั้นเป็นวันแรกนาขวัญ พวกข้าราชบริพารไปทำกิจต่างๆ ปล่อยให้พระองค์ประทับอยู่ตามลำพัง เนื่องจากจิตของพระองค์เคยมีสมาธิอยู่แล้วในอดีตชาติ พอมีเหตุมีปัจจัย คือความสงบรอบข้างปรากฏขึ้น ที่เรียกว่ากายวิเวก จิตวิเวกจึงปรากฏขึ้นมาทันที เหมือนกับน้ำในสระถ้าไม่มีใครไปกวน ไปตัก ไปกระโดดโลดเต้นในน้ำ ปล่อยให้น้ำอยู่เฉยๆ เดี๋ยวน้ำก็จะสงบนิ่ง ใสขึ้นมา จิตของผู้ที่เคยบำเพ็ญทางสมาธิมาแล้ว เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตสงบมันก็จะสงบโดยไม่ต้องกำหนดพุทโธ หรือกำหนดดูลมหายใจ เพียงให้มีความสงบภายนอกเท่านั้นเอง เหตุที่จิตไม่สงบเพราะภายนอกไม่สงบ มีเรื่องต่างๆรบกวนใจอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับสระน้ำที่ไม่นิ่ง เพราะมีคนมาคอยตักน้ำ มากระโดดน้ำเล่นน้ำว่ายน้ำ สระก็ไม่สงบ แต่สระที่ไม่มีคนไปเล่น จะนิ่งจะใส ใจก็เป็นอย่างนี้ นี่เป็นเหตุทำให้พระพุทธเจ้าตัดได้ แต่พวกเรายังตัดไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเจอความสงบแบบนี้ เราจึงไม่กล้าตัดกัน กลัวจะไปลำบาก ไปตาย ไปตกนรกกัน แต่หารู้ไม่ว่ากำลังจะไปสวรรค์กัน กำลังออกจากนรกไปสวรรค์กัน เนื่องจากเรามีมิจฉาทิฐิ เห็นว่าเรากำลังตกนรกกัน กำลังตกจากสวรรค์ สวรรค์ของพวกเราก็คือสวรรค์ที่รุ่มร้อนด้วยราคะตัณหา กามตัณหา ด้วยความวุ่นวายใจต่างๆ แต่คิดว่าเป็นสวรรค์กัน พระพุทธเจ้าเป็นพระราชโอรส ก็ยังคิดว่าเป็นนรกเลย เพราะทรงได้เห็นสวรรค์ที่แท้จริงคือ ความสงบในจิตใจ ท่านถึงมีกำลังใจที่จะสละราชสมบัติได้ สละทางโลกได้ มีใครบ้างเป็นอย่างท่านในสมัยปัจจุบัน แล้วไปทำอย่างที่ท่านทำ แทบจะไม่มีเลย เพราะไม่มีบุญเก่าติดตัวมา ไม่ได้บำเพ็ญจิตให้สงบ จึงไม่พบกับความสุข ความสว่าง มหัศจรรย์ใจ ก็เลยต้องติดอยู่กับความสุขทางโลก ซึ่งในทางธรรมมองว่าเป็นเหมือนนรก ส่วนทางโลกจะมองเห็นความสุขทางธรรมเป็นเหมือนนรก เพราะต้องอยู่แบบขอทาน อยู่ตามป่าตามเขา กินตามมีตามเกิด ไม่มีเพื่อน ไม่มีสิ่งต่างๆ ให้ความบันเทิงใจเลย หนังก็ไม่มีดู โทรทัศน์ก็ไม่มีดู วิทยุเพลงก็ไม่มีฟัง เพื่อนก็ไม่มีคุย อยู่คนเดียว ว้าเหว่
นี่คือเรื่องที่เราต้องทำ คือดูแลใจของเราให้สงบให้ได้ ด้วยการเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีสติแล้ว ก็จะทำใจให้สงบนิ่งได้ แล้วก็เจริญปัญญา พิจารณาความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ พิจารณาความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆ พิจารณาว่าสิ่งต่างๆไม่เป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด จะจากเราไปเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้ ถ้าไปหลงคิดว่าเป็นของเรา พอจากเราไป เราก็เสียอกเสียใจ ถ้าเราคอยเตือนใจว่า มันไม่ใช่ของเรา ถ้ามันจะไปเราก็พร้อมให้มันไป เราก็ไม่เดือดร้อน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ที่ใจมาครอบครองนี้ ไม่เป็นของใจเลย มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นของใจ ก็คือความสงบ ไม่มีใครสามารถเอาไปจากใจได้ ขอให้เราสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในใจของเรา อย่าไปสร้างอย่างอื่น สร้างครอบครัว สร้างทรัพย์สมบัติ สร้างอาณาจักร สร้างให้ใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม มันก็เสื่อมไปหมด กรุงโรมก็หมดไปแล้ว กรุงสุโขทัยก็หมดไปแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็หมดไปแล้ว อาณาจักรที่กำลังสร้างในวันนี้เดี๋ยวมันก็หมดไปเหมือนกัน แต่ความสงบของใจนี้ไม่หมด ความสงบของพระพุทธเจ้า ความสงบของพระอรหันต์ไม่หมด เป็นอกาลิโก ไม่เสื่อมไปกับเวลา เป็นปรมังสุขังอยู่ตลอดเวลา นี่แหละเป็นสมบัติที่ประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้พบ ได้ครอบครอง แล้วก็เอามาแบ่งให้พวกเรากัน หยิบยื่นให้พวกเรา จะเอาหรือไม่เอา ต้องเอาไปคิดดูกัน ถ้าจะเอาต้องสละทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ถ้ายังเสียดายคนนั้นคนนี้อยู่ สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ก็ยังเอาไม่ได้ อย่าไปโทษใครเลย โทษตัวเราเอง
ถาม สละทีละนิดทีละน้อยได้ไหมครับ ค่อยๆทำไป
ตอบ ค่อยๆทำไปก็จะได้น้อย กลัวเวลาจะไม่พอ จะไม่ทัน นี่อายุเท่าไรแล้ว แต่ไม่แน่ บางคน ๗ วันก่อนตายยังทำได้ ตอนนั้นสละไปหมด อย่างพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต ทางจิตใจท่านได้ตัดหมดแล้ว
ถาม เมื่อเช้าท่านพูดถึงเรื่องเกิดมาแล้ว ไม่ใช่มากอบโกยทรัพย์สมบัติ กอบโกยผู้คน แล้วทำไมปุถุชนอย่างพวกเราเกิดมาแล้วจึงกอบโกยโน่น กอบโกยนี่ พระอย่างท่านพระอาจารย์ไม่เห็นอยากรวย ไม่เห็นอยากได้อะไรเลย
ตอบ เพราะเห็นความสุขที่แท้จริงที่อยู่ในใจ ความสุขทางโลกก็ผ่านมาแล้ว เคยสัมผัสมาแล้ว พอมาสัมผัสกับความสุขทางใจแล้ว มันเป็นคนละอย่างกัน เหมือนนรกกับสวรรค์ ความสุขทางโลก เหมือนกับนรก เพราะต้องคอยวุ่นวายกับการแสวงหาอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด เขาก็ว่าเขามีความสุข แต่คนที่ไม่ติดยา รู้ว่ามันทรมานจะตายไป เวลาไม่ได้เสพ มันเหมือนกับตกนรก มันก็เป็นแบบเดียวกัน อาจจะไม่รุนแรงเท่าติดยาเสพติด ติดกามสุข กามรส ติดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พอวันไหนอยากจะดูทีวี ดูหนัง แล้วไม่ได้ดู ก็หงุดหงิดใจแล้ว อยากจะกินอาหารถูกปากถูกคอ แล้วไม่ได้กินก็หงุดหงิดใจ ก็ตกนรกแล้ว แต่เราไม่มองกัน ไม่คิดกัน คิดแต่เฉพาะเวลาได้กินได้เสพ แสนจะสุข คิดแต่ตอนนั้น ไม่คิดถึงความทุกข์ตอนที่ไม่ได้เสพ ถ้ามองด้านของความทุกข์แล้ว จะเกิดความเบื่อหน่าย สิ่งเดียวกันมันมี ๒ ด้าน เหมือนกับเหรียญ จะมองด้านไหน มองด้านบวกก็ได้ มองด้านลบก็ได้ ถ้ามองด้านลบ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ถ้ามองด้านบวกก็จะยึดติด อยากจะมี อยากจะเสพ อยากจะสัมผัสอยู่เรื่อยๆ
ถาม สมัยก่อนที่ท่านอาจารย์ยังไม่ได้บวช เรียนหนังสืออยู่ มีความคิดอยากเป็นเศรษฐี สร้างความร่ำรวย อะไรไหมครับ
ตอบ ไม่เคยคิด
ถาม คนที่ทำทานมากๆแล้ว เวลาเกิดใหม่คงได้เกิดเป็นเศรษฐี ถ้าเขาไปบวช บุญที่ทำเป็นโภคทรัพย์ เป็นทรัพย์สินเงินทอง จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไหม
ตอบ ไม่เปลี่ยน อย่างหลวงตาท่านก็มีโภคทรัพย์มาก พระสิวลีก็มีมาก เป็นอานิสงส์ของทาน แต่ท่านไม่ยึดติด ท่านทำทานต่อ ถ้าท่านกลับมาเกิดใหม่ จะได้มากกว่าเดิม เพราะชาตินี้ท่านทำมาก แต่มันไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเลยสำหรับผู้ที่ได้รับอริยทรัพย์ เพราะโลกียทรัพย์เป็นเหมือนก้อนอิฐก้อนกรวด ไม่เหมือนอริยทรัพย์ที่เป็นเหมือนเพชรนิลจินดา อริยทรัพย์ก็คือความสงบสุขของจิตใจ เป็นสิ่งที่ประเสริฐเลิศโลกที่สุด
ถาม มีลูกศิษย์มากราบท่านอาจารย์แล้ว เขาทำใจได้มากขึ้น ปรากฏว่าเขาเป็นไทรอยด์ หมอบอกว่าเกิดจากความเครียด ที่เขาคิดว่าเขาวางความเครียดนั้นได้ พอไปตรวจฟันหมอฟันบอกว่าเขานอนขบฟันตลอด เกิดจากความเครียดความกังวล ที่อยู่ลึกๆ ท่านมีวิธีอุบาย จะตัดกังวลนี้อย่างไร
ตอบ ต้องทำสมาธิให้มากขึ้น จิตคงจะลงไม่ลึกพอ ปัญญาคงจะเป็นในระดับจินตมยปัญญา ถ้าพิจารณาตอนไหน ตอนนั้นก็จะคลายเครียดได้ พอเผลอไปคิดโดยไม่รู้สึกตัว ก็เครียดขึ้นมาได้ ในขณะที่เราหลับเป็นเวลาที่ไม่มีสติควบคุมความคิด ถ้ามีเรื่องอะไรที่ยังผูกพันอยู่ ก็ยังคิดได้ ต้องทำจิตให้สงบมากกว่านี้ ถ้าจิตสงบได้มาก ก็จะตัดได้มาก ตัดได้ลึก ถ้าสงบน้อยก็ตัดได้น้อย แล้วก็ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เราทำอะไรไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไป ร่างกายรักษาได้ก็รักษาไป ถ้ารักษาไม่ได้ ก็ปล่อยไปตามเรื่องของมัน ไม่ว่าใครก็ตามสักวันก็ต้องเจอโรคที่รักษาไม่ได้กันทุกคน คือโรคขั้นสุดท้าย โรคที่รักษาก็ไม่หายไม่รักษาก็ไม่หาย ตอนนั้นก็ต้องรักษาใจ ทำใจให้สงบพิจารณาด้วยปัญญา เพื่อตัดใจไม่ให้ไปอยากกับร่างกาย อยากให้มันหาย ให้เป็นไปตามความจริงของมัน ไม่ให้ฝืนความจริงของร่างกาย มันจะเป็นอะไรก็ปล่อยมันเป็นไป มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พยายามแยกใจออกจากกาย กายเป็นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่กายไม่รู้เรื่อง ใจผู้ที่รู้ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยไปกับกาย แต่ใจถูกความหลงครอบงำ ทำให้ใจคิดว่าร่างกายเป็นใจ พอร่างกายเป็นอะไรใจก็ทุกข์ขึ้นมา ต้องพยายามสอนตนอยู่เรื่อยๆว่า ใจเราไม่ได้เป็นอะไร ที่เป็นนี่เป็นเพียงร่างกาย ร่างกายจะเป็นอะไรเราก็ดูแลมันไป เหมือนเป็นร่างกายของคนอื่น คนอื่นเขาเป็นอะไร เราดูแลช่วยเขาได้ ก็ช่วยเขาไป หายากินได้ก็กินไป หาหมอได้ก็หาไป ถ้าไม่ได้ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามความจริงของมัน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม ของปุถุชน ของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นแบบเดียวกัน มีวาระของมัน ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ถ้าใจรู้ทันแล้ว ใจก็จะเฉยๆ ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ไปเดือดร้อนทำไม เดือดร้อนแล้วได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความโง่มากขึ้น ไม่ได้ความฉลาด ถ้าได้ความฉลาดก็จะไม่เดือดร้อน แค่นี้แยกไม่ได้หรือ แยกกายออกจากใจไม่ได้หรือ นี่เป็นการแยกเชิงทฤษฎี พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เตือนสติอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นภาวนามยปัญญาไปโดยอัตโนมัติ ก็จะตัดได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีสมาธิก็ได้ เพราะใช้ปัญญาอบรมสมาธิได้เลย ได้ทั้งสมาธิได้ทั้งปัญญาในเวลาเดียวกัน พอเห็นชัดใจมันจะร้อง อ๋อ จริงนะเราไปทุกข์กับมันทำไม พอปล่อยปั๊ป มันโล่งไปเลย มันโล่งได้ทั้งๆที่ไม่เคยมีสมาธิมาก่อน แต่ต้องพิจารณา อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีช่องให้กิเลส มาหลอกให้เราไปต่อรองว่า ขออยู่ต่อไปอีกไม่ได้หรือ ไม่ต้องให้มันมาต่อรอง จะไปเมื่อไหร่ก็ไปเลย ให้มันเด็ดขาดไปเลย
ถาม ทราบว่าพระอรหันต์รับทราบความเจ็บป่วย ไม่กระเทือนเข้าไปในจิต แต่พวกเราเวลาขันธ์กระเทือน จิตมันกระเทือนด้วย เพราะสิ่งที่ท่านอาจารย์สอนยังเป็นความจำ เป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด
ตอบ ก็ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ ทำก่อนที่มันจะเป็น พอมันเป็นจะทำได้ทันที
เหมือนกับทหารถ้าซ้อมรบอยู่เรื่อยๆ พอถึงเวลาก็จะรับกับ
เหตุการณ์ได้
ถาม ท่านอาจารย์สอนว่า ถ้าหยุดคิดหยุดปรุงไม่ได้ ให้เข้าหาไตรลักษณ์ ทำไปแรกๆ จะไล่เหตุผลไปเรื่อยๆ พอสุดท้ายก็มาลงที่ไตรลักษณ์ พอทำบ่อยเข้า ขั้นตอนลดลงไปเรื่อยๆ จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ พอคิดปั๊บก็ลงไปที่ไตรลักษณ์เลย
ตอบ ถูกต้อง สติปัญญาจะเร็วขึ้นจนเหมือนฟ้าแลบ ปั๊บเดียว พออะไรเกิดขึ้นมา กำหนดปั๊บ มันปล่อยเลย รู้ว่าต้องทำอะไร เมื่อก่อนไม่รู้ พอนึกถึงไตรลักษณ์มันปล่อยทันที แต่ตอนนี้ไตรลักษณ์ยังไม่อยู่กับเราตลอดเวลา เพราะเรายังยึดติดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ยังหลงกับเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ เราจะใช้ปัญญาเวลาที่มันทุกข์เท่านั้น พอเราใช้มันแล้ว เราก็จะมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับเรื่องนั้น เรื่องนั้นจะไม่เป็นปัญหากับเราอีกต่อไป
ถาม ช่วงที่มีความสุขก็บอกตัวเองว่ามันไม่แน่ เดี๋ยวก็ต้องมีเรื่องเข้ามา พยายามทำทั้งสองช่วง ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข จะสอนตัวเองอยู่เรื่อยๆ
ตอบ อย่างนี้ก็ดี เพราะเราอยู่ในโลกที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ ตราบใดที่ยังมีร่างกายนี้อยู่ เราก็ยังต้องทุกข์กับมันอยู่ เราต้องถามตัวเองว่า พร้อมที่จะรับกับสภาพเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายหรือไม่ นี่เป็นการบ้านอันหนึ่ง ที่เราต้องซ้อมไว้ก่อน เช่นซ้อมรับกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยการนั่งสมาธิไปจนมันเจ็บปวด ไม่ต้องนั่งให้มันรวม ให้มันเจ็บให้มันปวด แล้วใช้ปัญญาวิเคราะห์ความเจ็บปวดว่า ใจรับมันได้หรือไม่ ใจปล่อยวางให้มันเป็นไปตามเรื่องของมันได้หรือไม่ ถ้ามีปัญญาเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เราบังคับมันไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องทำใจรับมันให้ได้ สักวันหนึ่งใจก็จะยอมรับมัน เมื่อยอมรับแล้ว ใจจะไม่ทุกข์ ถึงแม้ความเจ็บป่วยจะไม่หาย แต่ทุกข์ในใจจะหายไป ใจจะรู้สึกเบากว่าตอนที่รับมันไม่ได้ ตอนที่รับไม่ได้มันจะทรมานใจมาก มากกว่าความเจ็บปวดของร่างกายหลายเท่า นี่คือการบ้านหรือข้อสอบที่เราควรคำนึงถึง เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยจะเกิดขึ้นกับเราไม่ช้าก็เร็ว
ความกลัวสิ่งต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เรากลัวอะไรเราต้องแก้มันให้ได้ กลัวตายต้องแก้มันให้ได้ กลัวเจ็บปวดต้องแก้มันให้ได้ กลัวความหิวต้องแก้มันให้ได้ ด้วยการเผชิญกับมัน กลัวหิวก็ต้องอดข้าว อดอาหารให้มันหิว จะได้มีปัญญารับกับความหิว พระพุทธเจ้าทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน ท่านยังไม่ตายเลย เราอดข้าววันเดียวมันจะตายให้มันรู้ไป สิ่งที่เราจะได้คือปัญญาและ สติ ได้ธรรมะ ที่จะรักษาใจให้รับกับความหิวได้อย่างไม่เดือดร้อน เป็นเรื่องที่เราควรฝึกทำกัน อย่ารอให้มันมาหาเรา ถ้ามันเกิดขึ้นตอนที่เรายังไม่พร้อม เราจะรับกับมันไม่ได้ ในสภาพชีวิตประจำวันของเรายังเป็นสภาพที่ค่อนข้างปลอดภัย ยังไม่ท้าทายกับสติปัญญา บางทีเราต้องปรับสภาพให้มันท้าทาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดสติ ให้เกิดปัญญา จะได้มีภูมิคุ้มกันป้องกันใจ ในขณะที่เกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมา เพราะในที่สุดร่างกายจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จะมีเวลาที่กินอะไรไม่ได้ จึงต้องหัดทรมานตน ถ้าได้ฝึกแล้ว ใจจะไม่ทรมานกับความหิวของร่างกาย หรือกับการอยู่คนเดียว เป็นสิ่งที่เราควรฝึกเหมือนกัน พวกเรากลัวความเหงากัน อยู่คนเดียวแล้วมันเหงา เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ ต้องฝึกซ้อมให้เกิดความเคยชินกับมัน จะได้ไม่กลัว ถ้าสัมผัสกับมันอยู่เรื่อยๆ ใจก็จะปรับได้ อย่าประมาทนอนใจ
ต้องพิจารณาเสมอว่า เราเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา นี้ยังเป็นเชิงทฤษฎี ที่เราคอยสอนคอยเตือนใจเรา ให้รับกับสภาพความจริงของร่างกาย ต้องถามตัวเองว่าพร้อมหรือยังที่จะรับกับเหตุการณ์จริง ถ้าพร้อมก็ต้องทดสอบดู ต้องนั่งสมาธิให้นานๆ ให้มันเจ็บมันปวด คิดว่าเหมือนกับตอนเจ็บไข้ได้ป่วย มันก็เป็นอย่างนี้ เราก็ฝึกรับกับความเจ็บปวดนั้นไป ทำใจให้นิ่ง อย่าไปยุ่งกับความเจ็บปวด มันจะเจ็บปวดอย่างไรก็ปล่อยมันไป จะใช้การบริกรรมพุทโธ หรือสวดมนต์ไปก็ได้ หรือพิจารณาว่าความเจ็บปวดนี้ ไม่ได้ทำลายใคร ร่างกายก็ยังเหมือนเดิม ใจก็ยังเหมือนเดิม ทำไมใจต้องไปมีปฏิกิริยากับมัน การมีปฏิกิริยาเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับใจแต่การยอมรับมันแล้วทำใจให้สงบได้ กลับเป็นประโยชน์กับใจ เราต้องยอมรับกับเหตุการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นให้ได้ ถ้ายอมรับแล้ว ใจจะไม่ต่อต้านต่อสู้ จะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บปวด การอยู่คนเดียว การพลัดพรากจากคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้
หัดอยู่คนเดียว แล้วใช้สติใช้ปัญญารับกับเหตุการณ์ อยู่คนเดียวไม่รู้จะทำอะไรก็นั่งหลับตาพุทโธๆไป ถ้าเบื่อก็เปิดหนังสือธรรมะอ่าน หรือพิจารณาธรรมไปก็ได้ พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ของเราก็ดีของคนอื่นก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกก็ดี พิจารณาไปให้ถึงแก่นของมันเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้มันเป็นอะไรกันแน่ มันเป็นอย่างที่เราคิดหรือเปล่า หรือสิ่งที่เราคิดนี้มันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นขั้นหนึ่งของความจริงที่เราเห็น มันไม่ได้อยู่ที่ร่างกายของเราเท่านั้น ร่างกายจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ต่อไปมันจะเป็นอะไร ก่อนที่จะเป็นร่างกายนี้มันเป็นอะไร มันมีที่มามีที่ไป ถ้าพิจารณาแบบนี้ก็จะเพลิน แล้วจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมาจากธาตุทั้ง ๔ ทั้งนั้น มาจากดินน้ำลมไฟ ร่างกายนี้ถ้าไม่มีดินน้ำลมไฟ คืออาหาร มันจะไม่เป็นอย่างนี้ ที่เป็นเพราะมันแปลงอาหารมาเป็นอาการ ๓๒ จากอาการ ๓๒ ก็แปลงกลับสู่ดินน้ำลมไฟ ลองพิจารณาดูสิว่า มีอะไรบ้างที่ไม่ได้มาจากดินน้ำลมไฟ เพียงแต่สัดส่วนที่ผสมอาจจะมีมากน้อยกว่ากัน ของแข็งแสดงว่ามีธาตุดินมากกว่าธาตุอื่น ถามว่ามีธาตุไฟอยู่ในนี้ไหม ก็ลองจุดไฟดู พอจุดไฟปั๊บมันก็จะไหม้ขึ้นมาเลย ธาตุไฟก็ออกมา ธาตุลมก็ออกมา แต่มันซ่อนอยู่ในรูปแบบที่เรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง มันมีซ่อนอยู่ในส่วนต่างๆกัน ในน้ำมีธาตุดินไหม ถ้าเรามีเครื่องกรองหรือมีกล้องขยายดู เราก็จะเห็นธาตุดินในปริมาณที่ที่เล็กน้อย เช่นผงสีก็เป็นธาตุดิน พอละลายลงไปในน้ำก็กลายเป็นสีไป ทุกสิ่งทุกอย่างมีส่วนผสมของธาตุดินน้ำลมไฟในปริมาณต่างๆ แล้วเราก็มาหลงดีใจ ร้องห่มร้องไห้กับดินน้ำลมไฟ
ร่างกายของพวกเรามาจากที่ไหนกัน ก็มาจากโลกนี้ เวลาใจมา ใจก็ไม่ได้เอาอะไรมาด้วย ใจก็มาอาศัยสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ มาผลิตมาอาศัย พ่อแม่เป็นโรงงานผลิตร่างกาย พ่อแม่เป็นผู้เริ่มต้นผลิตให้เชื้อมา แล้วก็ให้อาหาร มันก็เจริญเติบโตเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เริ่มต้นจากน้ำ ๒ หยดมารวมตัวกัน ตามด้วยการปฏิสนธิ แล้วก็มีอาหารหล่อเลี้ยง มีการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ พอโตจนอยู่ในท้องแม่ไม่ได้ก็ต้องคลอดออกมา ออกมาแล้วก็มีการให้น้ำให้อาหารให้ลมต่อ จึงเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ อาหารที่เข้าไปในร่างกายก็แปลงเป็นหนัง เป็นขน เป็นผม เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก เป็นอวัยวะต่างๆ เป็นอย่างนี้ไปจนกว่าจะหยุดการเจริญ เมื่อหยุดเจริญแล้วมันก็เริ่มเสื่อม
ตอนช่วงต้นของชีวิตการเจริญจะมีมากกว่าการเสื่อม พอถึงกลางทาง ประมาณอายุ ๔๐ ปีไปแล้ว ความเจริญความเสื่อมจะเท่ากัน หลังจากนั้นความเจริญจะน้อย ความเสื่อมจะมากขึ้น ร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมลงไป พออายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี ความเสื่อมเต็มร้อย ความเจริญไม่มีเลย มันก็จบ ธาตุทั้ง ๔ ก็แยกทางกัน ถึงเวลาที่ต้องไปคนละทางกัน น้ำก็ไหลออกมาจากร่างกาย ทิ้งให้ร่างกายแห้งกรอบ ไฟก็ออกจากร่างกายตั้งแต่ขณะที่หมดลมหายใจ จับตัวดูก็รู้ว่าเย็น ไม่อุ่นเหมือนกับคนที่มีชีวิตอยู่ ลมก็ระเหยออกมา กลิ่นที่โชยออกมาก็เป็นลม ไปคนละทางกัน ลมไปทาง ไฟไปทาง น้ำไปทาง ดินไปทาง ก็เห็นชัดๆ ตัวตนอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในใจ ที่คิดว่าร่างกายเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ตัวที่คิดก็ไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกายเลย แต่ต้องมาร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เพราะหลงคิดว่าเป็นตัวเรา ของเรา
ถาม เวลาที่เกิดความหลง เกิดกิเลส เกิดความทุกข์ มีอุบายที่จะให้กลับมาสู่ธรรมะภายในใจได้อย่างไร
ตอบ อยู่ที่ว่ามีธรรมะอยู่ในใจมากน้อยเพียงใด ถ้ามีน้อยก็จะกลับเข้าหาธรรมะได้ช้า จึงอย่าไปรอตอนที่มันทุกข์แล้วค่อยหาธรรมะ ต้องสะสมธรรมะไว้ก่อนที่มันเกิดทุกข์ ถ้าไม่เคยเข้าวัดเลย ไม่เคยฟังเทศน์ ฟังธรรมเลย ก็ควรเข้าวัด ควรฟังเทศน์ฟังธรรม และปฏิบัติควบคู่ไปด้วย ต้องเจริญสติ ต้องทำสมาธิอยู่เรื่อยๆ ต้องพิจารณาความเสื่อมความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ ถึงจะมีธรรมะ พอเกิดกิเลสมันถึงจะมีธรรมะมาคอยต่อสู้ เหมือนกับสภา ถ้าฝ่ายหนึ่งมีเสียงมากกว่า อีกฝ่ายหนึ่งมีเสียงน้อยกว่า ออกกฎหมายอะไรมาก็ผ่านหมด ถ้าไม่อยากให้กฎหมายผ่าน ต้องมีเสียงมากกว่า ฝ่ายตรงข้ามก็จะสู้ไม่ได้ ตอนนี้เรามีกิเลสมากกว่าธรรมะ มันก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา ตอนที่มันไม่สร้างความทุกข์เราก็ประมาท ไม่คิดสร้างธรรมะไว้รับกับกิเลส เราไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ คนที่ไม่เข้าวัดมักจะถามว่า ไปวัดทำไม ไปฟังเทศน์ทำไม ฟังแล้วได้อะไร เขาไม่รู้คุณค่าของธรรมะว่าเป็นอย่างไร ถ้าได้สัมผัสรับรู้ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่จะแก้ความทุกข์ทางใจได้ก็คือธรรมะ เราจึงต้องสร้างธรรมะให้มากๆ ธรรมะเป็นเหมือนกับยา ถ้ารู้ว่าร่างกายต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องปวดท้อง ปวดศีรษะ ก็ต้องเตรียมยาไว้ในบ้าน พอเกิดอาการเจ็บท้องหรือปวดศีรษะขึ้นมา จะได้หยิบยาขึ้นมารับประทานได้ ถ้าไม่เตรียมยาไว้ ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร ก็ต้องทนไป ถ้าไม่สามารถไปโรงพยาลบาลได้ ก็ต้องทนกับอาการเจ็บปวดจนกว่าจะหายไปเอง
ถาม พอร่างกายดับแล้ว ดวงจิตจะไปทางไหน ถ้าทำทั้งบุญทำทั้งบาป
ตอบ เหมือนกับการจับสลาก จะได้เบอร์ไหน จับได้เบอร์นี้ ก็ต้องไปทางนี้ เราสามารถสะสมสลากเบอร์ต่างๆได้ ถ้าต้องการไปที่ดีก็สะสมสลากที่ดีให้มาก ไม่อยากไปที่ไม่ดีก็อย่าสะสมสลากที่ไม่ดี คือทำบาปให้น้อยที่สุด ทำบุญให้มากที่สุด ถึงเวลาจับสลากจะได้มีสลากบุญให้จับมาก หยิบสลากใบไหนก็เป็นสลากบุญ ก็จะได้ไปทางบุญ แต่ถ้าสะสมแต่สลากบาป หยิบใบไหนก็เป็นสลากบาป ก็ต้องไปทางบาป
ถาม เราเลือกได้ไหมคะ
ตอบ ได้ ถ้าเป็นพระโสดาบัน จะไม่ไปอบาย จะไปสุคติ ไปเกิดในสวรรค์หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพื่อปฏิบัติธรรมต่อจนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่เกิน ๗ ชาติ พระโสดาบันไม่กลัวความตาย ท่านเห็นว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ท่านไม่ทำบาปโดยเด็ดขาด ระหว่างการทำบาปกับการรักษาชีวิต ท่านยอมเสียชีวิตมากกว่าการทำบาป ถ้าไม่มีข้าวกิน ท่านจะไม่ยิงนกตกปลาเป็นอาหาร ยอมอดตายดีกว่าไปฆ่าผู้อื่น เพื่อเอาเขามาเป็นอาหาร ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีปัญญา เวลาจับสลากก็ไม่ต้องสุ่มจับ เลือกได้ เพราะมีธรรมจักษุ มีปัญญา แม้จะทำบาปมามากมายก่ายกองในอดีต จะสามารถเลือกจับแต่สลากบุญได้ เพราะมีปัญญา จะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ต้องมีปัญญา เวลาตายไปก็เลือกเอาสุคติได้ ถ้าเป็นปุถุชนเลือกไม่ได้ ถึงแม้จะได้ฌาน เวลาตายก็ไปสู่ชั้นพรหมทันที เพราะสามารถทำจิตให้สงบได้ตอนที่ตายไป เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูปที่ตายไป ก็ทรงทราบว่าไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมแล้ว เพราะสามารถควบคุมจิตใจให้อยู่ในระดับนั้นได้ ถ้าอยากไปพรหมโลก ก็ต้องทำสมาธิให้มาก สามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา ต้องการจะเข้าเมื่อไรก็เข้าได้ พอเวลาจะตายปั๊ป ก็กำหนดจิตให้สงบนิ่งให้อยู่ในสมาธิในฌานได้เลย จิตก็จะไปพรหมโลกทันทีเลย
ถาม เวลาเจ็บป่วยจนทนไม่ไหวแล้ว เราท่องพุทโธๆไปเรื่อยๆ จะใช้ได้ไหมคะ
ตอบ ต้องลองทำตั้งแต่ตอนนี้ดู เวลาเจ็บปวดแล้วพุทโธๆดู ดูว่ามันจะนิ่งหรือไม่ ถ้านิ่งก็ใช้ได้ แต่ต้องนั่งหลายชั่วโมง หลวงตาท่านเคยนั่งถึง ๘ ชั่วโมง เพราะความเจ็บปวดมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่เท่ากับตัวหนู จนถึงระดับที่เท่ากับตัวช้าง มีหลายระดับด้วยกัน ถ้าอยากรู้ว่าจะไปไหนตอนที่ตายไปแล้ว ต้องฝึกทำตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ ที่เราต้องปลงตาย ดูว่าปลงได้ไหม ถ้ายอมตายได้แล้วจิตจะนิ่งเลย เวลาตายก็จะเป็นอย่างนั้น จะนิ่งสงบ ไม่หวาดวิตก ถ้ายังตื่นเต้นตกใจ วิ่งกระเจิงไปเลย ก็จะไม่รู้แน่ว่าจะไปเกิดที่ไหน เราพิสูจน์ได้ เราฝึกได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ กลัวอะไรก็ต้องไปหาสิ่งนั้น กลัวผีก็ต้องไปหาผี กลัวความตายก็ต้องไปหาความตาย กลัวความเจ็บปวดก็ต้องไปหาความเจ็บปวด กลัวความหิวก็ต้องไปหาความหิว กลัวคนดุด่าก็ต้องไปหาคนที่ดุด่า ให้ดุด่าจนจิตนิ่งเฉย ไม่เดือดร้อน เป็นการฝึกจิต จิตมีปัญหากับเรื่องอะไร ก็ต้องแก้ให้ได้
ถาม เจ็บแล้วเราต้องทนต่อไป หรือว่าขยับตัวเพื่อไม่ให้มันเจ็บ
ตอบ ต้องทำความเข้าใจว่ามันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราต้องทน แต่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ ถ้ารับไม่ได้เราก็จะทุกข์ เวลาคนอื่นทำอะไรหรือพูดอะไรที่เราไม่ชอบ เรารับไม่ได้ เราก็จะทุกข์ แต่ถ้าเราทำความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ เราต้องยอมรับความจริง ต้องถามตัวเองว่า เราอยากจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ ถ้าอยากทุกข์ก็ไม่ต้องยอมรับ ก็จะทุกข์ แต่ถ้าเรายอมรับมัน มันก็จะไม่ทุกข์ อยู่ที่การสอนใจให้ยอมรับกับสภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ขณะที่ใจเรามีความทุกข์กับสิ่งใด เราต้องปรับใจให้รับกับสิ่งนั้นให้ได้ พอรับได้มันก็จะไม่ทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ความเจ็บปวดของร่างกายก็เป็นสภาวะที่เราต้องยอมรับให้ได้ วิธีที่จะรับได้ก็คือ ต้องเจอมันบ่อยๆ ให้มันเจ็บบ่อยๆ นั่งไปแล้วพอมันเจ็บอย่าไปลุก แต่อย่าไปทน ต้องบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ร่างกายมันเป็นอย่างนี้ มีเจ็บบ้าง ไม่เจ็บบ้าง เวลามันเจ็บเราก็บังคับให้มันหายไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราไม่ต้องไปทุกข์กับความเจ็บนั้น ถ้าใจไม่ต่อต้าน ไม่รังเกียจ ถ้าใจชอบ สิ่งนั้นจะไม่เป็นปัญหากับเรา
เช่นของเผ็ด คนที่ไม่ชอบพอต้องกินของเผ็ด จะทุกข์ทรมานใจ เพราะรับไม่ได้ แต่คนที่ชอบ ยิ่งเผ็ดยิ่งดี อยู่ที่ว่าจะทำใจให้ชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้หรือไม่ ถ้าชอบก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ชอบก็เป็นปัญหา เราไม่ชอบฟังหมอลำ แต่คนที่ชอบฟังหมอลำ พอฟังแล้วเขามีความสุข แต่เรากลับรำคาญใจเหลือเกิน ทุกข์เหลือเกิน อยู่ที่ชอบหรือไม่ชอบ เพราะฉะนั้นวิธีฝึกก็คือ ต้องหัดชอบในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราชอบอย่าไปหามัน นอกจากมันมาเองก็ไม่เป็นไร เมื่อก่อนไม่ชอบกินมะระ ต่อมาเห็นว่ามะระกินแล้วมีประโยชน์ ก็ฝืนกินไป ต่อมามันก็ชอบได้ เมื่อก่อนไม่ชอบกินผัก เดี๋ยวนี้รู้แล้ว่ากินผักช่วยให้ระบายขับถ่ายได้ดี ก็กินผักดีกว่า เห็นคุณค่า ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ความชอบและไม่ชอบ เราต้องดึงจิตให้เข้าสู่ตรงกลาง ระหว่างความชอบและไม่ชอบ คือเฉยๆ ได้ทั้งนั้น เผ็ดก็ได้ ไม่เผ็ดก็ได้ ร้อนก็ได้ เย็นก็ได้ ดื่มกาแฟร้อนๆก็ได้ เย็นชืดก็ได้
ถาม เผ็ดแล้วปวดท้อง
ตอบ ถ้าเป็นโทษก็อย่าไปกินมัน นี่พูดถึงในกรณีทั่วๆไปที่ต้องเกิดขึ้น เช่นความเจ็บปวด จะช่วยลดความทุกข์ทรมานใจลงไปได้มาก ถ้ายอมรับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานใจจะน้อยลงไป ถ้ายอมรับได้มาก ความทุกข์ทรมานใจก็จะมีน้อยมาก อย่าเอาแต่ความสุขสบาย ไปอยู่วัดบ้าง ไปอยู่ที่ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม ไม่มีฟูก ไม่มีน้ำประปา ไม่มีห้องน้ำในห้องนอน ต้องไปใช้ห้องน้ำข้างนอก ต้องไปหิ้วน้ำที่บ่อ อยู่แบบยากลำบากบ้าง อย่าเอาแต่สุขแต่สบาย เพราะมันเป็นกับดักของกิเลส จะไม่สามารถก้าวพ้นความทุกข์ไปได้ คนที่จะก้าวพ้นความทุกข์ไปได้ ต้องกล้าหาญกับความทุกข์ยากลำบาก ความเจ็บปวด ความหิวความกระหาย ความหวาดกลัวต่างๆ นี่คือขวากหนามที่ขวางกั้นระหว่างวัฏสงสารกับพระนิพพาน ไม่ว่าใครก็ตามที่จะก้าวไปสู่พระนิพพาน ต้องผ่านขวากหนามเหล่านี้ไปให้ได้
ถาม บางครั้งเวลาเจอทุกข์มากๆ สติมันก็หลุด แทนที่จะหาทางให้เจอ
ตอบ ต้องฝึกสติให้มีกำลังมากขึ้น นี่คือสาเหตุหนึ่งที่หลวงตาท่านพยายามเคี่ยวเข็ญพระเณร เวลาอยู่ต่อหน้ากับท่านนี้ความทุกข์มันมา ทำให้เราต้องผลิตสติขึ้นมาให้ทัน เพื่อรับกับความทุกข์ เพราะท่านคอยจี้ คอยกระหน่ำใส่ตลอดเวลา แต่มันดี ทำให้เราต้องปลุกสติขึ้นมา ไม่ได้ไปแก้ที่ไหน แก้ที่ตัวเราเอง ทำให้ใจเราเย็นสบาย ทำให้เรารับกับการจี้ กับการข่มขู่เข่นเขี้ยวได้ ทำให้เราได้ฝึกสติ เราจึงต้องไปอยู่กับสภาพที่บังคับให้เราสร้างสติขึ้นมา ถ้าอยู่ในที่สุขที่สบาย จะไม่มีความจำเป็นต้องใช้สติมาก เพราะไม่มีปัญหาเหมือนกับเวลาไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ก็ไม่ต้องกินยา แต่ถ้าไปอยู่ในสภาพที่บีบคั้นจิตใจ วิธีที่จะทำให้จิตใจสงบเย็นได้ก็ต้องมีสติ ต้องมีปัญญา นักปฏิบัติจึงต้องไปอยู่ที่กันดารที่ยากลำบาก จะได้บังคับให้มีสติขึ้นมา เวลาอยู่ในป่าจะเดินเอ้อระเหยลอยลมไม่ได้ จะมองอยู่ที่ข้างหน้าตลอดเวลา ว่ามีสัตว์มีอะไรที่เป็นภัยหรือไม่ เป็นการฝึกสติขึ้นมา
ถาม จิตตกภวังค์กับจิตเป็นสมาธิ ต่างกันตรงที่มีผู้รู้หรือไม่มี
ตอบ อันเดียวกัน สมาธิกับภวังค์
ถาม บางทีนั่งแล้วมันเผลอๆ
ตอบ นั่นมันภวังค์หลับ คนละภวังค์กัน ภวังค์หลับจะไม่รู้สึกตัวเคลิ้มๆ
ถาม ภวังค์ของสมาธิต้องมีผู้รู้
ตอบ มีสติ เหมือนกับเราคุยกันตอนนี้ เวลาจิตตกภวังค์ จิตจะวูบเข้าไปข้างใน มีสติสัมปชัญญะครบร้อย
ถาม ถ้าเคลิ้มๆแล้ววูบไป เป็นภวังค์หลับ
ตอบ นั่นนั่งหลับแล้ว
ถาม เวลาฟังเทศน์ ถ้าทำสมาธิไม่ได้ยินเสียงท่านอาจารย์เทศน์ นั้นเป็นภวังค์ เพราะจิตเดินอยู่ภายใน
ตอบ จิตกำลังเข้าข้างใน จึงไม่รับฟังเสียง
ถาม ภวังค์หลับจะแก้อย่างไร
ตอบ ต้องไปนั่งที่น่ากลัวๆ เช่นในป่าช้า มันจะไม่หลับ หรือไปตามวัดป่าที่มีกุฏิอยู่ในป่าคนเดียว ที่น่ากลัวจะทำให้ไม่หลับ ถ้าหาที่น่ากลัวไม่ได้ ใช้การอดอาหารก็ได้ เวลาอดอาหารจะไม่ง่วง นอนไม่ค่อยหลับ นักปฏิบัติอย่าไปกลัวความหิว เพราะความหิวจะเป็นตัวช่วยนักปฏิบัติ พระวัดป่าบ้านตาดท่านอดกันเป็นประจำ ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา ที่วัดจะไม่มีพระมาฉันครบทุกองค์ทุกวัน เป็นประโยชน์ต่อการภาวนามาก ช่วยให้มีสติต่อเนื่อง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน เวลานั่งก็จะไม่หลับ ความหิวจะกระตุ้นให้ทำสมาธิ ถ้าไม่ทำสมาธิ จิตจะเผลอคิดถึงเรื่องอาหาร ยิ่งทรมานใจใหญ่ หิวที่ร่างกายไม่พอ ไปหิวที่ใจอีก หิวที่ใจมันรุนแรงกว่าหลายเท่า พอทำสมาธิจนจิตสงบลงแล้ว ความหิวทางใจจะหายไป ความหิวทางด้านร่างกายมีเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรงเท่าความหิวทางจิตใจ ทำให้ต้องภาวนาอยู่เรื่อยๆ นั่งสมาธิเดินจงกรมควบคุมจิตใจอยู่เรื่อยๆ การปฏิบัติจึงคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว