กัณฑ์ที่ ๓๘๗ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๑
ความสุขทางใจ
วันนี้ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจมาวัด เพื่อมาสร้างความสุขให้แก่ใจ เพราะเห็นว่าความสุขทางด้านอื่น เช่นทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ไม่เหมือนกับความสุขทางใจ เพราะความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นความสุขที่ร้อน เต็มไปด้วยความกระหายความอยาก ตรงข้ามกับความสุขทางใจที่เต็มไปด้วยความเย็น ความสบาย ความอิ่ม ความพอ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็นว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ อยู่ที่การกระทำของใจ และส่งต่อไปทางกายทางวาจา จึงทรงสอนให้สาธุชนพุทธบริษัทให้หมั่นสร้างความสุขทางใจกัน ให้ละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพราะเป็นทางที่พาไปสู่ความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ ส่วนความสุขทางใจ จะพาไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข ห่างไกลจากความทุกข์ทั้งหลาย วิธีสร้างความสุขก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน วิธีที่เราทำกันอยู่เป็นประจำก็คือทานการให้ มีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกันคือ ๑. วัตถุทาน ให้วัตถุข้าวของเงินทอง ๒. วิทยาทาน ให้ความรู้ ๓. อภัยทาน ให้อภัย ๔. ธรรมทาน ให้ธรรมะ นี่คือสิ่งที่เราสามารถให้ได้ตามฐานะของเรา มีอะไรก็ให้สิ่งนั้นไป ถ้าไม่มีวัตถุข้าวของเงินทอง ก็ให้วิทยาทานถ้ามีวิทยาความรู้ ถ้าไม่มีวิทยาความรู้ก็ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่จองเวรจองกรรม ไม่ว่าผู้ใดจะทำอะไรกับเรา เกิดความเสียหายอย่างไร ก็จะไม่เอาโทษ จะให้อภัย ถ้าให้อภัยได้ใจจะเย็น ใจจะสงบ ถ้าให้อภัยไม่ได้ ใจจะรุ่มร้อน จะเป็นเหมือนตกนรก เพราะความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทเป็นเหมือนไฟนรก ในบรรดาทานทั้งหลายนี้ ธรรมทานเป็นทานที่สูงเลิศที่สุด การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง แต่ผู้ที่จะให้ธรรมได้ต้องมีธรรม ถ้าไม่มีธรรมก็ไม่สามารถที่จะให้ได้ ให้ได้ก็เป็นหนังสือธรรมะแทน ก็ยังดี แต่ก็ยังสู้ธรรมที่ออกมาจากใจไม่ได้ เพราะธรรมะที่อยู่ในหนังสือ เป็นเหมือนตำรับตำราของยารักษาโรค ส่วนธรรมะที่ออกจากใจนี้เป็นเหมือนยารักษาโรคเลย เวลาไปหาหมอเราก็ต้องการยาจากหมอ ไม่ต้องการตำรับตำรา เพราะไม่มีเวลาพอที่จะไปศึกษาค้นหาตำรับตำรายา มารักษาโรคของเราได้ ถ้ามีหมอให้ยาก็จะช่วยรักษาโรคให้หายได้เลย
การให้ธรรมะจึงมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ๑. ให้จากใจ ๒. ให้จากตำรา อย่างที่พวกเราพิมพ์หนังสือธรรมะดีๆแจกกัน จะเป็นหนังสือที่คัดมาจากพระไตรปิฎกก็ดี หนังสือที่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้แสดงไว้ตามสถานที่ต่างๆ แก่บุคคลต่างๆก็ดี ที่เราเห็นว่ามีคุณค่ามีประโยชน์ เราก็ช่วยกันบริจาคทรัพย์พิมพ์แจกให้แก่ผู้อื่น ก็พอจะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในความทุกข์ ได้มีความสุขบ้าง หลุดพ้นจากความทุกข์บ้าง เมื่อ ๒ วันก่อนก็ได้รับจดหมายจากนักโทษคนหนึ่ง เขาอยู่ในแดนประหาร กำลังรออุทธรณ์อยู่ เขาบอกว่าได้อ่านหนังสือกำลังใจเล่มที่ ๑๕ และ ๑๖ ของเพื่อนนักโทษด้วยกัน อ่านแล้วมีความสุขมีความสบายใจ มีแสงสว่าง ถึงแม้จะอยู่ในคุกในตะราง เขาก็สามารถมีความสุขได้ เพราะมีธรรมะสอนใจให้เขาอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ระงับดับความอยากต่างๆได้ เพราะความทุกข์ไม่ได้เกิดจากสถานที่ๆเราอยู่ ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์รอบตัวเรา แต่เกิดจากความอยากต่างๆ ถ้าไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ อยากจะให้เป็นอย่างอื่น ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา แต่ถ้ายอมรับสภาพความจริง เราอยู่ตรงนี้ เราเป็นอย่างนี้ เรามีอย่างนี้ เราพอใจกับมัน เราก็จะไม่ทุกข์ คนที่อยู่ในคุกหลังจากที่ได้อ่านหนังสือแล้ว เข้าใจในหลักธรรมนี้ ก็สามารถทำใจให้มีความสุขได้ เหมือนกับคนที่อยู่นอกคุกอย่างพวกเรา ที่มาสร้างความสุขให้กับใจของเราในวันนี้ ด้วยการมาทำทาน ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามีความสุข
นอกจากนั้นก็ยังมีการรักษาศีลไม่เบียดเบียนผู้อื่น เวลาที่เราไม่เบียดเบียน กับเวลาที่เราเบียดเบียนผู้อื่นนั้น ใจของเราจะมีความรู้สึกต่างกัน เวลาเราเบียดเบียนผู้อื่น สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นแล้ว ในเบื้องต้นเราอาจจะมีความรู้สึกดีใจพอใจ เพราะเรามีความโกรธแค้นพยาบาท เมื่อเราได้ทำสิ่งที่เราต้องการจะทำแล้ว ทำความเดือดร้อนให้กับเขาแล้ว เราก็รู้สึกสบายใจ แต่หลังจากนั้นไม่นานเราก็จะมีความหวาดวิตก เสียใจ ไม่สบายใจ ที่ไปเบียดเบียนเขา แต่ถ้าเราไม่ไปเบียดเบียนเขา ถึงแม้จะมีความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท เราก็ให้อภัย ถือเสียว่าเป็นการใช้หนี้เก่า ใช้เวรใช้กรรม เราก็ไม่ได้เสียอะไรไปมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่เขาพูดหรือสิ่งที่เขาทำนั้น มันก็เกิดขึ้นแล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถถอยเวลากลับไป ไม่ให้สิ่งที่เขาพูดหรือกระทำนั้น ไม่ให้เกิดขึ้นได้ มันเกิดขึ้นแล้ว มันผ่านไปแล้ว ถ้าเราลืมมันเสีย ใจของเราก็จะเย็นสบาย สิ่งที่เสียหายมันก็เสียหายไปแล้ว เช่นแก้วมันแตกไปแล้ว ไม่มีทางที่จะทำให้มันเป็นเหมือนเดิมได้ ถ้าเราฉลาดเราก็จะคิดว่า จะได้แก้วใหม่มาใช้ คิดอย่างนี้เราก็จะมีความสุข นี่คือการสร้างความสุขให้กับใจ ด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการรักษาศีล ละเว้นจากการฆ่า พูดปดมดเท็จ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี และอบายมุขต่างๆ เช่นเสพสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้าน ถ้าละได้จะทำให้เรามีความสุขใจ มีความกล้าหาญ ไม่หวาดกลัวต่อคำครหานินทา เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่เขาพูดเขานินทานั้น ไม่ได้เป็นความจริงนั่นเอง
การทำจิตใจให้สงบระงับ ดับความคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็เป็นการสร้างความสุขใจอีกวิธีหนึ่ง ถ้าใจสงบนิ่งไม่คิดอะไร ใจจะว่าง มีความสุขมาก เพราะนี่คือความสุขที่แท้จริง อยู่ที่การระงับดับความคิดต่างๆ เวลาคิดอะไรแล้วก็จะเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ดีใจบ้างเสียใจบ้าง วุ่นวายใจบ้างสับสนบ้าง ถ้าไม่คิดแล้วสิ่งต่างๆเหล่านี้ก็จะหายไป ถึงแม้ว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้นยังมีอยู่ภายนอก แต่มันไม่เข้ามาในใจเรา ไม่มารบกวนใจเรา เหมือนกับความร้อนที่อยู่ข้างนอกห้องปรับอากาศ เราอยู่ในห้องปรับอากาศเย็นสบาย ความร้อนไม่เข้ามาสร้างความร้อนให้กับเรา ฉันใด เรื่องราวต่างๆที่อยู่ภายนอกใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าใจไม่ไปคิดถึงมันๆก็ไม่เข้ามารบกวนใจ ถ้าใจไปคิดมันก็จะเข้ามารบกวนใจ แต่เราไม่รู้จักวิธีทำใจให้นิ่งกัน เกิดมาก็ไม่มีใครสอนให้หยุดคิดกัน มีแต่ปล่อยให้คิดกันไปเรื่อยเปื่อย แบบรถที่วิ่งลงเขา ไม่มีเบรก วิ่งไปแล้วก็แหกโค้งตกเหว ชนสิ่งนั้นสิ่งนี้ โชคดีที่ใจไม่ได้เป็นเหมือนรถ ไม่พังทลาย เพียงแต่ถลอกปอกเปิกทางจิตใจ คือว้าวุ่นมีความขุ่นมัว เศร้าโศกเสียใจ สักระยะหนึ่งแล้วก็หายไป แล้วก็วิ่งลงไปอีก ไปชนสิ่งนั้นสิ่งนี้อีก ไปแหกโค้งอีกไปทุกข์อีก นี่คือเรื่องของใจ ที่ปล่อยให้คิดไปเรื่อยๆไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ไม่รู้จักพักผ่อน เราจึงต้องมาฝึกทำจิตใจให้สงบกัน ไม่ให้คิดเรื่องอะไร แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง จะทำให้เราเห็นความสุขที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน ความสุขที่เกิดจากความหยุดคิดปรุงแต่งของจิตใจอย่างเต็มที่ จะทำให้จิตใจว่าง เบา สบาย เย็น มีความสุขอย่างยิ่ง นี่คือความสุขที่เกิดจากการทำใจให้สงบ เราต้องฝึกทำใจให้สงบด้วยวิธีต่างๆ เช่นสวดมนต์ ถ้าสวดมนต์ก็ต้องสวดด้วยสติ ไม่ได้สวดด้วยความเผลอ สวดไปแล้วอย่าไปคิดเรื่องอะไร ให้อยู่กับการสวดมนต์ สวดไปเรื่อยๆ แล้วใจจะค่อยสงบลงไป ถ้ารู้สึกว่าอยากจะหยุดสวด จะบริกรรมพุทโธๆไปเพียงคำเดียวแทนก็ได้ หรือถ้าอยากจะอยู่เฉยๆ ไม่อยากจะสวด ไม่อยากจะบริกรรม ก็ดูลมหายใจเข้าออกไปก็ได้ ถ้าไม่อยากดูลมหายใจเข้าออกก็ดูความคิดไปก็ได้ ดูว่ากำลังคิดอะไรอยู่หรือเปล่า ถ้ากำลังคิด ดูว่าหยุดความคิดนั้นได้หรือเปล่า ถ้าจิตไปถึงขั้นนั้นแล้วย่อมมีกำลังพอ มีสติพอ พอเห็นจิตกำลังคิดอะไรก็บอกให้หยุดคิดได้ พยายามทำใจให้ว่างไปเรื่อยๆ แล้วใจจะมีความสุข มีความเย็นสบาย
อีกวิธีหนึ่งก็คือ เอาความคิดที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มาคิดในสิ่งที่เป็นความจริง สร้างความรู้ สร้างความฉลาด สร้างปัญญาให้กับเรา เพราะในชีวิตของเราๆไม่สามารถทำจิตใจให้สงบนิ่งได้ตลอดเวลา ไม่ให้คิดอะไรได้ตลอดเวลา เพราะเราต้องใช้ความคิดไปกับภารกิจต่างๆ ทำมาหากิน ทำธุระต่างๆ ก็ให้คิดไปในทางที่ทำให้ใจสบาย คือให้ใจคิดปล่อยวาง ไม่ให้ยึดติดกับสิ่งต่างๆ เพราะการยึดติดกับสิ่งต่างๆ เหมือนเอาสิ่งต่างๆมาแบกไว้บนบ่า ทำให้หนักอกหนักใจ ถ้าคิดแบบปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด จะเป็นอย่างไรก็ได้ ก็เหมือนกับได้วางสิ่งต่างๆไว้ ไม่เอามาแบก คืออย่าไปอยากกับสิ่งต่างๆ ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริงของเขา เราต้องพอใจกับความจริงของเขา เช่นตอนนี้อากาศเป็นอย่างนี้ ก็ให้มันเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปอยากให้เป็นอย่างอื่น ถ้าอยากจะให้ร้อนกว่านี้ เราก็จะทุกข์ ไม่สบายใจ อยากให้เย็นกว่านี้ก็จะทุกข์ใจเช่นเดียวกัน ถ้าพอใจ เป็นอย่างนี้ก็เอาอย่างนี้แหละ ก็จะไม่ทุกข์ จะสบายใจ นี้คือการปรับใจของเรา ให้รับกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ในแต่ละวัน ในแต่ละวินาที ในแต่ละขณะ เห็นอะไรก็สักแต่ว่ารู้ รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง อย่าเอามาแบกให้หนักอกหนักใจ เห็นอะไรแล้วอย่าไปปรุงแต่ง ให้เกิดความไม่พอใจ หรือเกิดความพอใจ อย่าไปปรุงแต่งให้เกิดความชอบ หรือความไม่ชอบขึ้นมา เพราะเมื่อปรุงแต่งไปแล้วก็จะทำให้เกิดความอยากขึ้นมา ถ้าชอบก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่ชอบก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ ถ้ามีความอยากขึ้นมาเมื่อไร ใจก็จะร้อนขึ้นมาทันที หนักอกหนักใจขึ้นมาทันที เศร้าโศกเสียใจ ว้าเหว่ วุ่นวายขุ่นมัวขึ้นมาทันที เกิดจากใจที่คิดไม่เป็น ไม่รู้ไม่เข้าใจถึงการรักษาใจให้เย็นให้สบาย ว่าทำอย่างไร รู้แต่วิธีที่จะทำให้ใจว้าวุ่นขุ่นมัวรุ่มร้อนไปกับเรื่องราวต่างๆ เพราะไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องการรักษาใจระดับนี้นั่นเอง ระดับนี้เรียกว่าระดับปัญญา ระดับที่สูงสุดของธรรมะ
ถ้าสามารถใช้ปัญญารักษาใจได้แล้ว ใจจะไม่ทุกข์วุ่นวายกับอะไรเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม จะเกิดขึ้นกับคนนั้นคนนี้ เกิดขึ้นกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเกิดขึ้นกับตัวเราเอง จะไม่มากระทบกับใจ เพราะใจไม่แบก ไม่เอาเข้ามาในใจ ปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง นี่คือความรู้แจ้งเห็นจริง เป็นอย่างนี้ เห็นตามความเป็นจริง เห็นแล้วก็ไม่ปรุงแต่ง ไม่หลอกตัวเองว่า ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ วิเศษอย่างนั้นไม่วิเศษอย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายอะไรกับใจ ถ้าใจไม่ได้ไปให้ความหมาย ถ้าใจหลงไปให้ความหมาย ว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้แพงสิ่งนี้ไม่แพง ก็จะไปวุ่นวายไปอยาก ไปยึดไปติด ไปเสียอกเสียใจ เวลาที่ต้องจากมันไป หรือมันจากไป ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับใจของทุกๆคน ใจมาด้วยใจเปล่าๆ ไม่ได้เอาอะไรมา เวลาไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป ร่างกายก็ทิ้งให้สัปเหร่อดูแลไป ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองก็ปล่อยให้ผู้อื่นดูแลต่อไป ใจก็ไปตามประสาของใจต่อ ถ้าได้ศึกษาร่ำเรียน รู้จักวิธีรักษาใจให้มีความสุข ก็ไปสู่สุคติ ไปสู่ที่ดี ที่สบาย ถ้าไม่รู้จักรักษาใจ มัวแต่แบกปัญหาแบกโลกแบกเรื่องราวต่างๆ ก็จะไปด้วยความรุ่มร้อน ไปด้วยความทุกข์ ไปด้วยความว้าวุ่นขุ่นมัว ก็จะไปไม่ดี ไปสู่อบาย ไปสู่ทุคติ นี่คือวิธีรักษาใจให้มีความสุข ต้องยอมรับสภาพต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราทำไม่ได้ เราทำได้ถ้าเราอยากจะทำ แต่เราไม่รู้เท่านั้นว่ามันเป็นประโยชน์ เราถูกความหลงหลอกว่า สิ่งที่เรามีอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นอยู่ในขณะนี้ มันไม่ดีพอ ต้องมีสิ่งนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น ถึงจะดีกว่านี้ นี่คือความหลง มันหลอกเราแล้ว ทุกครั้งที่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ขอให้เตือนตัวเองได้เลยว่ากำลังถูกหลอก เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ ชีวิตของเราในปัจจุบันนี้ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มันดีอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่รู้มันเองว่ามันดี เราถูกความหลงหลอกให้คิดว่า เป็นอย่างอื่นจะดีกว่านี้ มีอย่างอื่นจะดีกว่านี้ เพราะความจริงแล้วในที่สุดเราก็จะต้องเสียมันไปหมด มันจะดีได้อย่างไร สิ่งที่เราคิดว่า ถ้าได้มาแล้วจะทำให้เราดีกว่านี้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่อยู่กับเราไปตลอด สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป เมื่อจากเราไปแล้ว จะดีกว่าตอนนี้ได้อย่างไร ตอนนี้เราอยู่อย่างนี้เราสบายแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายใจ เรากำลังฟังเทศน์ฟังธรรม กำลังมีสัมมาทิฐิ กำลังคิดไปในทางที่ถูกต้อง คือคิดเพื่อปล่อยวาง คิดเพื่อไม่ยึดไม่ติด คิดเพื่อไม่อยากไม่ต้องการอะไร พอใจกับสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ ถ้าสามารถรักษาความรู้สึกนี้ได้ รักษาความคิดแบบนี้ได้ตลอดเวลา เราจะมีความสุขไปตลอดเวลา
นี่คือสิ่งที่เราควรฝึกฝนกัน สอนใจให้คิดปล่อยวาง ให้เข้าใจถึงความจริงว่า ใจมาตัวเปล่าๆ จะไปตัวเปล่าๆ ไม่ได้เอาอะไรไปเลย ไม่ว่าจะเป็นสมบัติเงินทองข้าวของ มากน้อยเพียงไรก็ตาม เอาติดตัวไปไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ ก็ไม่สามารถเอาไปได้ เอาไปได้ก็คือความฉลาดหรือความโง่เท่านั้น ถ้าเอาความโง่ไปก็จะสร้างแต่ความทุกข์ให้กับใจ ถ้าเอาความฉลาดไปก็จะสร้างแต่ความสุข พวกเราจึงควรสวดกุสลาให้แก่พวกเราก่อนที่จะตายไป อย่ารอให้พระไปสวดตอนที่เรานอนอยู่ในโลง แล้วให้คนไปเคาะโลงศพให้ฟังกุสลาธัมมา คำว่ากุสลานี้แปลว่ากุศลความฉลาด อกุสลาแปลว่าความโง่ ตอนนี้พวกเราฉลาดหรือโง่ ถ้ายังคิดอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ แสดงว่ายังโง่อยู่ ถ้าคิดว่าพอแล้ว ไม่มีอะไรต้องการมากไปกว่านี้ แสดงว่าฉลาดแล้ว เพราะได้อะไรมาก็ต้องกลายเป็นความทุกข์ไปในที่สุด สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในวันนี้สักวันหนึ่งก็ต้องทิ้งมันไปอยู่ดี แต่ตอนนี้เรายังต้องอยู่กับมันไปก่อน เพราะยังไม่จากเราไป เช่นร่างกายของเรา มันยังไม่จากเราไป เราก็ต้องอยู่กับมันไปก่อน ถ้าอยากให้มันจากไป เราก็จะทุกข์ เช่นคนที่ฆ่าตัวตายก็เพราะอยากจะให้ร่างกายตายไป เมื่อยังไม่ตายก็ต้องอยู่กับมัน ต้องพอใจอยู่กับมัน เวลาอยู่ก็พอใจ เวลาไปก็พอใจ เคล็ดลับก็คือทำใจให้พออยู่ตลอดเวลา ต้องสอนใจว่าไม่มีอะไรดีกว่านี้ ไม่มีอะไรเลวกว่านี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเท่ากัน มันเป็นศูนย์ ถ้าไม่ไปให้ความหมาย ถ้าไม่ไปปรุงแต่ง ว่าดีหรือไม่ดี มันก็เท่ากับศูนย์ มันอยู่กับเราก็ให้มันอยู่ไป เมื่อมันไปก็ปล่อยให้มันไป ถ้าใจไม่ผูกพัน ไม่ยึดติด เวลาอยู่เราก็ไม่เดือดร้อน เวลาไปเราก็ไม่เดือดร้อน นี่คือวิธีสร้างความสุขให้กับใจ ด้วยการคิดให้ถูกต้องตามหลักธรรมชาติ ให้พอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ให้ยินดีกับสิ่งที่ได้รับ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้นไป ฝนตกก็ปล่อยมันตกไป แดดออกก็ปล่อยมันออกไป ไม่ต้องไปวุ่นวายกับอะไร ดูแลรักษาใจเพียงอย่างเดียวก็พอ เมื่อดูแลรักษาใจได้แล้ว ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป มีแต่ความสุข มีแต่ความสบาย ถึงแม้จะต้องไปติดคุกติดตะราง ก็จะไม่ทุกข์กับสถานภาพที่อยู่ในตะราง เพราะยินดีที่จะอยู่กับสภาพนั้น อยู่ตรงไหนก็พอใจกับสภาพนั้น มีอะไรก็พอใจกับสภาพนั้น ตอนนี้เป็นหนุ่มเป็นสาวก็พอใจกับความเป็นหนุ่มเป็นสาว ต่อไปเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็พอใจกับความเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาแก่ก็พอใจกับความแก่ เวลาตายก็พอใจกับความตาย นี่คือวิธีรักษาใจให้สงบ ให้มีความสุขอยู่ตลอดเวลา ต้องรู้จักคำว่าพอ ถ้าพอแล้วก็จะไม่อยาก ถ้าอยากก็แสดงว่ายังไม่พอ
เราจึงต้องคอยควบคุมความอยากของเรา อย่าปล่อยให้มันอยาก เวลามันอยากก็ดับมันด้วยสติด้วยปัญญา อย่าไปคิดถึงสิ่งที่เราอยาก ความอยากมันก็หายไปได้ อย่าไปทำตามที่เราอยาก ถ้าปล่อยใจให้คิดอยากอยู่เรื่อยๆ ความอยากจะรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถที่จะหยุดมันได้ แต่ถ้าเราดับมันตอนที่มันเริ่มเกิดขึ้น เราก็จะดับมันได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับไฟที่เริ่มลุกใหม่ๆ ถ้ารีบเอาน้ำมาดับ ใช้น้ำเพียงนิดเดียวก็ดับมันได้ ถ้าปล่อยให้ลุกลามไหม้บ้านไปทั้งหลังแล้ว ตอนนั้นน้ำขัน ๒ ขันก็จะไม่พอดับไฟ เราต้องคอยเฝ้าดูใจอยู่ตลอดเวลา ดูความคิดอยู่ตลอดเวลา ว่ากำลังคิดไปในทางไหน ถ้าคิดไปในทางอยากก็ต้องดับทันที ถ้าคิดไปในทางปล่อยวาง ก็ปล่อยให้คิดไป อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะเป็นก็เป็น ไม่วิตกไม่กังวล ทำได้ก็ทำไป รักษาได้ก็รักษาไป ป้องกันได้ก็ป้องกันไป ถ้าคิดอย่างนี้ก็ปล่อยให้มันคิดไป คิดอย่างนี้แล้วใจจะสบาย ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์ นี้คือสร้างความสุขด้วยวิธีต่างๆ ที่ได้แสดงมาก็มีอยู่ ๓ หรือ ๔ วิธี คือ ๑. การให้ทาน ๒. การไม่เบียดเบียน ๓. การทำจิตใจให้สงบ ๔. การสอนใจให้คิดปล่อยวาง ให้รู้จักพอ ให้ละความอยากต่างๆ ให้มีความพอใจกับสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ การที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องอาศัยการฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะเราไม่สามารถสอนเราได้ ต้องฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ทำให้เรามีความสุข เย็นสบาย ไม่วุ่นวาย ถ้าฟังแล้วคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วย อย่างนี้ก็จะไม่สงบ ไม่เย็น ไม่สบาย จึงอย่าไปโทษว่าฟังธรรมแล้วไม่ได้ผล โทษตัวเราเองที่ฟังไม่เป็น การฟังธรรมต้องฟังด้วยสติ คอยฟังเสียงที่เข้ามาสัมผัสกับหู จะพิจารณาตามไปก็ได้ จะเกิดความเข้าอกเข้าใจ จะทำให้ปล่อยวางได้ ถ้าพิจารณาไม่ทัน ก็ให้มีสติเกาะอยู่กับเสียงไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดเรื่องอื่น ใจก็จะสงบเย็นได้
การทำสมาธิหรือทำใจให้สงบ ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เป็นวิธีอีกวิธีหนึ่ง บางทีเราสวดมนต์ไปแล้วเราก็คิดไปด้วย ไม่สามารถทำใจให้สงบได้ หรือบริกรรมพุทโธไปแล้วก็ยังไม่ยอมหยุดคิด ก็ลองเปิดเทปธรรมะของครูบาอาจารย์ฟังดู ฟังแล้วก็ตั้งใจฟังเหมือนกับเราสนทนากัน เวลาใครเขาพูดอะไรเราก็ตั้งใจฟัง ทำไมเวลาคนด่าเราทำไมเราจำได้ พูดเพียงคำเดียวจำได้ทั้งวันทั้งคืน แต่เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมทำไมจำไม่ได้ ทำไมต้องไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พอใครด่าเรานี้ ใจจะจดจ่ออยู่กับคำพูดของเขาทันทีเลย เพราะเป็นเรื่องของความหลง จึงควรหมั่นฟังเทศน์ฟังธรรม จะทำให้ใจสงบเย็น มีความสุข มีความเห็นที่ถูกต้อง จะขจัดความลังเลสงสัยต่างๆไปได้ ทำให้เชื่อมั่นต่อการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแน่นอน นี้คือวิธีการสร้างความสุขต่างๆ ที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก อาศัยการกระทำทางกายวาจาใจนี้เท่านั้น เป็นความสุขที่แท้จริง เพราะจะติดไปกับใจ ไม่เหมือนกับความสุขที่ได้จาก การเห็นการได้ยินได้สัมผัส รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ที่ได้ความสุขในขณะที่สัมผัส แล้วก็จางหายไป เหลือไว้แต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ความอยากความต้องการ ขอให้พวกเราพยายามหาความสุขที่แท้จริงกัน พยายามลดละความสุขที่ไม่แท้จริงเสีย อย่าไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายเลย ให้หันเข้ามาหาความสุขทางใจ ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ทำจิตใจให้สงบ เจริญปัญญา ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงความสุขที่เรียกว่าปรมังสุขัง ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ไว้เป็นสมบัติ ก็จะเป็นสมบัติของพวกเราเช่นเดียวกัน จึงขอฝากเรื่องของการสร้างความสุขทางใจนี้ ให้ท่านได้นำไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ เพื่อความสุขและความพ้นทุกข์ที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้