กัณฑ์ที่ ๓๘๘ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๑
ปิดทองหลังพระ
ปิดทองหลังพระดีกว่า อย่าเอากิเลสเข้ามาเกี่ยวข้อง เพิ่งเทศน์ไปเมื่อเช้านี้เองว่า ให้ทำบุญปิดทองหลังพระ ทำบุญให้ทานด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่ต้องการผลตอบแทนจากใครทั้งนั้น ทำด้วยความเมตตา ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติดในสมบัติข้าวของเงินทอง เพราะเห็นว่าถ้ามีมากเกินความจำเป็น ก็ไม่เกิดประโยชน์กับตน กลับจะเป็นทุกข์กับจิตใจ เพราะต้องคอยกังวล หวงห่วง เสียดายเสียใจ เวลาหายไปหรือถูกขโมยไป ถ้าเอาไปทำบุญก็จะหมดปัญหาไป ได้ความสุขทางจิตใจ เพราะได้ทำประโยชน์ ได้สงเคราะห์ได้ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก นี่คือเป้าหมายของการทำบุญให้ทาน อยู่ตรงนี้ อยู่ที่การปลดเปลื้องภาระทางด้านจิตใจ ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้ทำบุญอาจจะกลับมาเกิดเป็นหมาเฝ้าสมบัติก็ได้ หวงเงินมาก ไม่ยอมทำบุญให้ทาน ไม่ยอมรักษาศีล ไม่ยอมบอกลูกหลานว่าเงินทองเก็บไว้ที่ไหน เอาไปฝังดินไว้ที่ตรงไหน ด้วยความผูกพัน ด้วยความหวง ด้วยความห่วง ตายไปก็กลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเอง จึงควรทำทานเพื่อให้มีความสุขใจ ส่วนเรื่องชื่อเสียงแล้วแต่จะเป็นไป อย่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ เวลาทำบุญเขาอยากจะรู้ชื่อก็บอกเขาไป แต่อย่าไปถือเป็นข้อแม้ ต้องมีชื่อลำดับที่ ๑ ถ้าไม่ได้ลำดับที่ ๑ ก็จะเสียใจ ลบล้างบุญที่เราควรจะได้ คือความสุขใจ ควรเห็นความสำคัญของใจเรา ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ยิ่งกว่าตัวเรา ตัวเราเป็นกิเลส เป็นอวิชชา เป็นความหลง ไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของใจ ว่าเป็นอะไรกันแน่ จึงหลงสร้างตัวตนขึ้นมาในใจ แล้วก็ยึดติดในตัวตนนั้น ทำอะไรก็อยากจะให้ตัวตนดี ถ้ายิ่งทำให้ตัวตนมาก ก็จะยิ่งทำให้ใจแย่ลงเลวลงมาก คนที่ทำด้วยความเห็นแก่ตัวมักจะล่มจม แต่คนที่ทำเพื่อผู้อื่นมักจะเจริญรุ่งเรือง ทำสำหรับตนเท่าที่จำเป็นก็พอ ทำให้พอเพียง ร่างกายถ้ามีปัจจัย ๔ พร้อมบริบูรณ์ ก็ถือว่าพอเพียงแล้ว จิตใจถ้าหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว ก็ถือว่าพอเพียงแล้ว เช่นพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีพร้อมทั้งทางกายและทางใจ ทางกายท่านก็มีปัจจัย ๔ ครบถ้วนบริบูรณ์ ทางใจท่านก็มีมรรคผลนิพพาน ท่านจึงสามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้มาก เพราะทุกบาททุกสตางค์ไม่มีตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ได้มาเท่าไรก็ออกไปเท่านั้น ถ้าจะเก็บไว้ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้นเอง นอกจากนั้นก็ไม่เคยคิดถึงประโยชน์ของตนเลย ไม่เหมือนทางโลก ที่หาวัตถุข้าวของต่างๆ มาบำรุงบำเรอกัน อย่างนี้ไม่มีในใจของผู้ที่บริสุทธิ์แล้ว
ท่านเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในทุกสิ่งทุกอย่าง ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ในตาหูจมูกลิ้นกาย ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เห็นหมดทั้งภายนอกและภายใน ว่าเป็นความทุกข์ ถ้าไปยึดติด แม้แต่ความสุขภายในใจที่มีอยู่ก็เป็นความทุกข์ เพราะยังอยู่ภายใต้กฎอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ใช่เป็นความสุขของพระนิพพาน ที่เป็นปรมังสุขัง ปฏิบัติไปแล้วมันจะเห็นหมด ส่วนหยาบส่วนกลางและส่วนละเอียด ส่วนหยาบก็ภายนอก รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แสงสีเสียงต่างๆ ไม่ได้เป็นความสุขเลย สุขเพียงเล็กน้อยแล้วก็ตามมาด้วยความทุกข์ เป็นภาระ ต้องคอยดูแลรักษา คอยหวงคอยห่วงคอยกังวล ต้องร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจเสียดาย เมื่อต้องสูญเสียไป นี่เป็นของภายนอก เป็นความสุขทางโลก เป็นความสุขหลอกๆ เป็นความทุกข์กับจิตใจ เป็นสุขกับกิเลส เวลาได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กิเลสจะดีใจ เหมือนแมงเม่าเห็นแสงไฟ จะบินเข้ากองไฟทันที แล้วก็จะถูกไฟเผาตายไป กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ที่ไปกระทบกับจิตใจอย่างรุนแรง นี้เป็นส่วนหยาบ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ส่วนกลางก็เป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เช่นเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ถ้าละเอียดเข้าไปภายใน ก็คือความสุขภายในจิต เป็นความสุขที่ละเอียดที่สุด ต้องมีมหาสติมหาปัญญา ถึงจะรู้ถึงจะเห็นว่า มันก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เปลี่ยนแปลงได้ สุขแล้วจางหายไปได้ ถ้าอยากจะให้สุขไปตลอดเวลา ก็จะต้องคอยประคับประคอง ยังต้องทำงานอยู่ ยังต้องรักษาความสุขอันนี้อยู่ ถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงจะไม่ต้องรักษา จะสุขไปตลอด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง พอรู้ทันก็จะปล่อยวาง สุขนี้ก็จะกระจายหายไป เหลือแต่ความสุขที่อยู่กับความว่าง นิพพานัง ปรมังสุญญัง นิพพานัง ปรมังสุขัง เป็นของคู่กัน ความว่างเปล่าที่แท้จริงกับความสุขที่แท้จริง มันเป็นของคู่กัน มันเป็นความสุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรในโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ หรือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นความสุขของธาตุรู้ ของธรรมธาตุ เป็นความสุขที่พวกเราต้องพยายามไปให้ถึง เราจึงต้องปล่อยความสุขภายนอก เพื่อเข้าสู่ภายใน
การเข้าสู่ภายในนี้เรียกว่ามรรค การออกสู่ภายนอกเรียกว่าสมุทัย เช่นอยากไปที่นั่นที่นี่ อยากไปดูอยากจะไปฟัง อยากจะไปลิ้มรสอยากไปรับประทานสิ่งนั้นสิ่งนี้ อย่างนี้เรียกว่าสมุทัย อยากออกข้างนอก ไม่รู้ว่าข้างนอกเป็นพิษเป็นภัย เป็นอันตราย เป็นทุกข์ ไม่ชอบเข้าข้างในกัน เพราะแรงผลักดันให้ออก แรงกว่าแรงที่จะดึงให้เข้า กำลังของกิเลสแรงมากสำหรับปุถุชนทั่วๆไป ถ้าไม่ได้บำเพ็ญบุญบารมีมามากพอสมควร จะรู้สึกว่าการเข้าข้างในเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง แต่ถ้าได้บำเพ็ญบุญบารมีมาแล้ว ได้เคยทำบุญให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนามาแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้มากมายนัก แต่พอรู้หลักของการภาวนา การเจริญสติ พอได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน ที่สอนให้ดึงจิตเข้าข้างใน ก็จะเข้าใจทันที สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ถ้าไม่เคยเลยจะไม่รู้ว่าเข้าข้างในไปทำไม หลับตาก็มีแต่ความมืด ปิดหูปิดตาปิดปากปิดลิ้นปิดจมูก ไม่ได้สัมผัสกับกามรสทั้งหลาย ก็เลยไม่เคยคิดที่อยากจะเข้าข้างใน มีแต่อยากจะไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ได้ความอิ่มความพอ ได้ความสุขชั่วขณะที่สัมผัส หลังจากนั้นแล้วก็เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ความหิวความอยาก ไปเที่ยววันนี้แล้วพรุ่งนี้ก็ต้องไปเที่ยวอีก ไปรับประทานอาหารที่ร้านนั้นร้านนี้แล้ว ก็อยากจะไปรับประทานอีก ไม่สามารถรับประทานตามมีตามเกิดได้ ไม่สามารถรับประทานเพื่อเป็นยาดูแลรักษาร่างกายได้ ต้องรับประทานเพื่อกิเลส ให้กิเลสมีความสุข จากการได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารที่ถูกอกถูกใจ ถ้ารับประทานเพื่อร่างกายจริงๆแล้ว ไม่ต้องเป็นอาหารที่ถูกปากถูกคอถูกใจก็ได้ ขอให้เป็นอาหารที่ทำให้ร่างกายอิ่มและอยู่ได้ก็พอแล้ว มีไข่ทอดกับข้าวเปล่าก็อร่อยแล้วกินได้แล้ว ไม่เชื่อลองอดข้าวดูสัก ๓ วัน ข้าวเปล่าๆคลุกพริกน้ำปลาก็อร่อย นี้คือวิธีดับกิเลสหรือต่อสู้กับกิเลส อย่าไหลไปตามกิเลส กิเลสจะปรุงแต่งคิดถึงอาหารจานโปรด อย่าไปคิดอย่างนั้น เป็นเรื่องของกิเลส ไม่ได้กินเพื่อร่างกาย ร่างกายไม่รู้ว่าอาหารจานโปรดเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าเป็นธาตุ ๔ กินเข้าไปแล้วสามารถบำรุงร่างกายได้ ไม่สำคัญว่าจะมาในรูปแบบไหน จะเป็นข้าวเปล่าคลุกกับน้ำพริกน้ำปลาก็ได้ จะเป็นอาหารในวังก็ได้ มันก็เหมือนกัน พอเข้าไปในร่างกายแล้ว มันก็ไม่น่ากินแล้ว ถ้าคายออกมา ก็จะไม่อยากกินแล้ว กิเลสไม่อยากกิน แต่ร่างกายยังกินได้ ถ้าใจมีธรรมแล้วกินเข้าไปได้ เข้าไปในร่างกายแล้วก็ยังทำประโยชน์ได้เหมือนเดิม แต่กิเลสจะไม่เอาแล้ว ถึงแม้จะเป็นอาหารวิเศษขนาดไหนก็ตาม ลองได้เคี้ยวได้คลุกกับน้ำลายแล้วคายออกมา ให้รับประทานเข้าไปใหม่ ก็ไม่เอาแล้ว นี่เป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเป็นเรื่องของเหตุผล เรื่องของร่างกายก็ต้องกินได้ เพราะออกมาจากร่างกาย เพียงแต่คายออกมาแล้วก็กินเข้าไปใหม่ จะเดือดร้อนไปทำไม ขณะที่อยู่ข้างในก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ตัวที่รับไม่ได้ก็คือกิเลสนี้เอง
ถ้าเรายังติดเรื่องอาหารอยู่ ก็ควรพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร ดูอาหารเวลาอยู่ในปาก อยู่ในท้อง อยู่ในลำไส้ อยู่ในโถ เป็นอาหารที่เข้ามาทางปาก ที่เราอุตส่าห์ขับรถเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลฯ เพื่อจะได้รับประทาน ถ้าพิจารณาแบบนี้แล้ว ต่อไปจะไม่เดือดร้อน อยู่บ้านมีอะไรรับประทานก็รับประทานได้ เหมือนกับรับประทานยา จะมาในรูปแบบไหนก็รับประทานได้ จะเป็นสีเขียวสีฟ้าสีส้ม จะเป็นเม็ดกลมเม็ดรี จะเป็นแคปซูล เป็นน้ำ ก็รับประทานได้ เพราะรับประทานเพื่อรักษาร่างกาย ไม่ได้รับประทานเพื่อความสุขของกิเลส นี่คือความสุขและความทุกข์ภายนอก ที่พวกเรายังติดกันอยู่ ยังแสวงหากันอยู่ ถ้าตัดไม่ได้ก็จะไม่มีทางเข้าสู่ความสุขภายในใจได้ จะภาวนาไม่ลง เพราะมีกามฉันทะขวางกั้นอยู่ เป็นนิวรณ์ คือความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะในรูปแบบต่างๆ ติดบุหรี่ก็เป็นกามฉันทะ สุราก็เป็นกามฉันทะ อาหารในรูปแบบต่างๆ ขนมในรูปแบบต่างๆ เครื่องนุ่งห่มในรูปแบบต่างๆ การบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นกามฉันทะทั้งนั้น ถ้ายังติดอยู่ ยังต้องมีไว้บำรุงบำเรอรักษาใจให้มีความสุขอยู่ ก็จะไม่สามารถเข้าสู่ภายในได้ ไม่สามารถบริกรรมพุทโธๆ สวดมนต์ เจริญอานาปานสติได้ ใจจึงไม่มีสงบ ความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ ที่เหนือกว่าความสุขอื่นใดในโลกนี้ จึงไม่ปรากฏขึ้นมา ถ้าสามารถตัดสิ่งภายนอกได้ ถึงแม้จะไม่ถาวร ตัดได้เป็นระยะๆ ครั้งละ ๗ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง จิตก็จะสงบตัวลงรวมเป็นหนึ่งได้ พยายามตัดไปเรื่อยๆ บำเพ็ญภาวนาทำจิตใจให้สงบ ถ้าจังหวะไหนเป็นโชคหรือเป็นบุญของเรา จิตก็จะสงบตัวลงรวมเป็นหนึ่ง เราจะเห็นความสุขที่ไม่เคยเห็นมาก่อน พอได้เห็นแล้วก็เหมือนกับได้ดูหนังตัวอย่าง จะอยากดูหนังจริงแล้วทีนี้ จะไม่สนใจเรื่องภายนอกแล้ว จะมีกำลังจิตกำลังใจที่จะถือศีล ๘ อยู่วัดอยู่วา คอยเจริญสติทำจิตใจให้สงบ แม้จะได้เห็นหนังตัวอย่างเพียงชั่วแวบเดียวก็จะคุ้มค่าแล้ว รู้แล้วว่าเป็นอย่างไร รู้แล้วว่าอะไรเป็นของแท้ อะไรเป็นของเทียม เหมือนเพชรปลอมกับเพชรจริง เพชรปลอมที่เรามีอยู่เราก็โยนทิ้งไป จะเก็บเพชรจริงไว้ แม้จะเป็นเพียงเม็ดเล็กๆ เพชรปลอมที่ใหญ่เท่าฝ่ามือ เราก็พร้อมที่จะโยนทิ้งไปหมดเลย จะพยายามหาแต่เพชรจริง ให้มีมากยิ่งขึ้นไปให้ได้ เป็นสิ่งที่เราทำกันได้และควรจะทำกัน
เราต้องรู้จักแยกแยะว่า อะไรคือคุณ อะไรคือโทษ อะไรเป็นสุข อะไรเป็นทุกข์กับเรา อย่าปล่อยให้กิเลสหลอกเราอยู่เรื่อยๆ ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดูพระอรหันตสาวกเป็นตัวอย่าง ดูครูบาอาจารย์ที่เราเคารพกราบไหว้บูชาเป็นตัวอย่าง ว่าท่านประพฤติตนอย่างไร ท่านเข้าข้างในหรือท่านออกข้างนอก ท่านไปยุ่งกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะหรือไม่ ท่านแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอกหรือไม่ หรือท่านมีแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิ ปลีกวิเวกหาความสงบภายในจิตใจ จนได้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ท่านถึงออกมาโปรดมาสงเคราะห์ญาติโยมต่อไป ถ้าท่านยังไม่ได้เต็มที่ ท่านก็จะเก็บตัวบำเพ็ญของท่านไป เพราะงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ พอเสร็จสมบูรณ์แล้วท่านถึงจะหันออกข้างนอก แต่ไม่ได้หันออกเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนหันออกข้างนอกด้วยความอยาก ด้วยความหิว ด้วยกามฉันทะ ด้วยความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่หันออกด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความสงสารสัตว์โลก เห็นสัตว์โลกยังถูกความหลงครอบงำ หลอกให้ยึดติดอยู่กับความทุกข์ ต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ทุกข์กังวลวุ่นวายไปกับเรื่องราวต่างๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น พอท่านได้พ้นจากทุกข์แล้ว ท่านก็อยากจะพาพวกเราให้ได้พ้นจากทุกข์เช่นเดียวกัน แต่พวกเราต้องศรัทธา ท่านจะไม่ลากเราไป ถ้าไม่มีศรัทธา เพราะมันยาก ถ้าไม่อยากจะไป แต่ถ้าอยากจะไปก็พอจะลากไปได้ คนที่จะไปทางนี้จึงต้องมีศรัทธาความเชื่อ ว่าเป็นทางที่ดีกว่า ต้องมีฉันทะความพอใจ ความยินดีที่จะบำเพ็ญ จะทุกข์จะยากจะลำบากอย่างไร เมื่อถึงเวลาบำเพ็ญก็ต้องบำเพ็ญ ฝนจะตกแดดจะออก อากาศจะหนาวหรือจะร้อนอย่างไร ถ้าไม่สุดวิสัยก็ต้องบำเพ็ญกันไป อย่างวันนี้ฝนตกเราก็มากัน เคยมีบางคนขับรถมาถึงข้างบน พอเห็นฝนตกก็เลี้ยวกลับลงไป ถ้าลงจากรถก็จะเปียก จะลำบาก ก็ไม่อยากจะลำบาก ยังติดอยู่กับความสุขในรถ ที่มีเครื่องปรับอากาศ มีเบาะนิ่มๆนั่ง แต่ใจกลับร้อนเป็นไฟด้วยความกังวลขุ่นมัววุ่นวายกับสิ่งต่างๆ แต่มองไม่เห็น เห็นแต่ภายนอก เพราะใจติดอยู่กับสิ่งภายนอก จึงไม่เห็นความทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ เห็นแต่ว่ากำลังได้หรือกำลังเสียสิ่งภายนอกไป เวลาได้ก็ดีอกดีใจ เวลาสูญเสียไปก็เสียอกเสียใจ แต่ก็ไม่เห็นโทษของมัน เวลาเสียไปก็อยากจะหามาใหม่ ต้องลำบากยากเย็นต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆ กว่าจะได้เงินมาสักบาท ไม่ใช่ของง่าย ไม่เหมือนกับการใช้เงิน ใช้เงิน ๑๐๐ บาทง่ายกว่าการหาเงิน ๑ บาท นี่คือเรื่องของจิตใจ เป็นอย่างนี้
ถ้ามีกิเลสมีความหลงครอบงำอยู่ ก็จะพาไปสู่ความทุกข์ตลอดเวลา ถ้ามีธรรมะก็จะพาให้ห่างจากกองทุกข์ไปเรื่อยๆตามลำดับ จนไม่มีความทุกข์เข้าไปเหยียบย่ำจิตใจได้เลย นี้คือทาง ๒ ทาง ทางของกิเลสกับทางของธรรมะ ทางของกิเลสก็ต้องโลภต้องโกรธต้องหลง ต้องแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าเป็นทางธรรมะก็ต้องตัดการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข ต้องเจริญทานศีลภาวนา ทานก็ทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมด พอหมดแล้วก็ไม่ต้องไปหามาใหม่ ถ้าหมดแล้วก็ถือว่าพอแล้ว ทำเท่าที่มีอยู่ในส่วนที่เป็นส่วนเกิน ที่ไม่ต้องอาศัย เมื่อหมดแล้วก็พอแล้ว ไม่ได้ทำแข่งเอาหน้าเอาตากัน ไม่ต้องการให้คนรับยิ้มแย้ม ตอบรับอย่างนั้นอย่างนี้ ทำเพื่อปลดเปลื้องภาระที่บีบคั้นจิตใจ เมื่อหมดแล้วก็จะหมดปัญหาไป จะทำให้รักษาศีลได้ง่าย เพราะไม่ต้องไปดิ้นรนหาเงินหาทอง เวลาที่ยังต้องหาเงินหาทองนี่ รักษาศีลก็จะยาก ทำมาค้าขายก็อดที่จะพูดปดไม่ได้ เพราะเสียดายรายได้ที่น่าจะได้ ถ้าพูดความจริงแล้วกลัวจะไม่ได้ จึงต้องพูดปดไป แต่ถ้าได้ทำบุญให้ทานจนหมดแล้ว ก็ไม่ต้องไปโกหกหลอกลวงใคร เพราะไม่ต้องการเงินแล้ว มีพอแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ต้องการก็คือเวลา ที่ว่างจากการหาเงินหาทอง เวลาที่จะได้บำเพ็ญภาวนา ได้ปลีกวิเวกในสถานที่สงบสงัด เพราะการทำใจให้สงบนั้น ต้องอาศัยความสงบสงัดทางกาย กายวิเวกจิตถึงจะวิเวก ถ้ากายยังอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย ใจจะสงบยาก เวลานั่งสมาธิตรงสี่แยกไฟแดง กับเวลานั่งในป่าในเขานี้ มีความแตกต่างกันมาก ลองไปนั่งสมาธิที่ตรงสี่แยกไฟแดงดูก็แล้วกัน แล้วจะรู้ แถวโรงแรมเอราวัณก็ได้ แถวศาลพระพรหม ลองไปนั่งแถวนั้นดู กับการนั่งสมาธิในป่าในเขา ดูซิว่าจะมีความแตกต่างกันไหม ถ้าเราอยู่ในเมืองมีห้องที่ปิดกั้นเสียงต่างๆได้ในระดับหนึ่งก็ยังดี ก็ยังถือว่าพอใช้ได้ ในเบื้องต้นอาจจะไม่จำเป็นจะต้องไปอยู่ป่าอยู่เขา เพราะยังไม่มีอินทรีย์ที่แก่กล้าพอ ที่จะทนกับความอดอยากขาดแคลนได้ ก็ภาวนาในบ้านไปก่อนก็ได้ ถ้าบ้านเป็นที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน ถ้าอยู่คนเดียวได้ยิ่งดีใหญ่ ข้างบ้านก็ไม่ส่งเสียงดังมากจนเกินไป ก็สามารถบำเพ็ญในบ้านไปได้ในระดับหนึ่ง จนกว่าจะมีอินทรีย์แก่กล้าพอ ที่จะไปอยู่ตามป่าตามเขา ที่อดอยากขาดแคลนในเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่สงบสงัด ที่จะเป็นที่ทดสอบจิตใจ เพราะสถานที่สงบสงัดจะมีภัยรอบด้าน ที่จะเป็นเครื่องทดสอบจิตใจ ว่าปล่อยวางความยึดติดในชีวิตร่างกายได้หรือไม่ เราพิจารณาความแก่ความเจ็บความตายได้แล้ว ก็ต้องไปทดสอบดูว่า ปล่อยวางได้หรือไม่
ในเบื้องต้นทำที่ไหนได้ก็ทำไป พอมีโอกาสที่จะขยับขยายไปที่ดีกว่า จึงค่อยขยับขยายไป หรือไปตามเวลาที่จะไปได้ ข้อสำคัญต้องมีสถานที่สงบสงัด สถานที่น่ากลัว สถานที่อดอยากขาดแคลน ที่เราต้องอดบ้าง เช่นอดอาหารบ้าง ต้องเผชิญกับภัยอันตรายบ้าง เผชิญกับความเจ็บปวดทางร่างกายบ้าง ต้องนั่งให้นานๆ พยายามฝ่าความเจ็บปวดไปให้ได้ อย่าลุกอย่าหนีความเจ็บปวด ให้ความเจ็บปวดมันหนีเรา เราต้องชนะมันให้ได้ ถ้าเราไม่ถอย ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องถอย ไม่เกิน ๘ ชั่วโมงมันจะต้องถอยไปหมด นี่คืองานของพวกเรา งานเข้าข้างใน มันเป็นอย่างนี้ ต้องเจอสิ่งต่างๆเหล่านี้ ถึงจะได้รางวัลที่ ๑ ไม่ได้มาอย่างง่ายดายเหมือนทางโลก เพียงแต่เสียเงินแล้วก็รอเวลา ถ้าเป็นบุญเป็นโชคก็จะได้ แต่นี่ไม่มีเรื่องของโชควาสนามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้อยู่ที่ อัตตาหิ อัตโน นาโถ อยู่ที่ความพากเพียร อยู่ที่ความอดทน อยู่ที่สติ อยู่ที่วิริยะ อยู่ที่ขันติ ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันติเป็นไฟแผดเผากิเลสที่ดีเยี่ยม จะกำจัดกิเลสต้องมีขันติเป็นไฟไว้แผดเผา ถึงจะได้นิพพานมาเป็นสมบัติ ถ้าไม่มีความอดทนแล้ว จะไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้ ผู้ที่ผ่านไปแล้วไม่ได้ต่างจากพวกเรา เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีกายมีใจเหมือนเรา ต่างกันที่เขามีวิริยะ เราไม่มี เขามีขันติเราไม่มี หรือมีน้อยกว่าเขา เราจึงต้องสร้างให้มีมากขึ้น วิริยะก็ขยันเดินจงกรมมากขึ้น ขยันนั่งสมาธิมากขึ้น ขยันฟังเทศน์ฟังธรรมมากขึ้น ขันติก็อดทนไป นั่งแล้วเจ็บก็ทนไป เดินแล้วเมื่อยก็เดินไป หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าเมื่อยก็กลับมานั่ง นั่งแล้วทนเจ็บไม่ไหวก็ลุกขึ้นไปเดินต่อ อย่าเพิ่งนอนม้วนเสื่อ อย่าเพิ่งกางเสื่อออกมา ทำต่อไป นอนให้น้อย นอนวันละ ๔ ชั่วโมงถือว่ากำลังดี หรือบางครั้งอาจจะไม่นอนเลยก็ได้ ถือเนสัชชิ ๓ อิริยาบถ เดินยืนกับนั่งไม่นอน ถ้าจะหลับก็ให้หลับใน ๓ อิริยาบถนี้ หลับในขณะที่ยืน หรือหลับในขณะที่นั่ง แต่ไม่นอน เพราะนอนแล้วจะนอนยาว จะหลับนาน ถ้าถืออิริยาบถ ๓ นี้ ก็จะหลับไม่นาน พอได้พักพอแล้วจะรู้สึกตัวขึ้นมาทันที นี้เป็นอานิสงส์ของการถือเนสัชชิ เพื่อตัดความติดอยู่กับการหลับนอน บางคนพอได้นอนแล้ว ก็จะนอนเลย ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงไป นอนเหมือนซากศพไปเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไร ชีวิตของเราไม่ได้ประโยชน์จากการหลับนอนมากเกินความจำเป็น หลับนอนพอสมควร พอเพียงต่อความต้องการของร่างกายก็พอแล้ว มากกว่านั้นก็เป็นการเสียเวลา ขาดทุน เพราะเวลาที่จะบำเพ็ญจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ เหมือนกับน้ำที่เก็บไว้ในแท็งก์ ที่ไหลไปเรื่อยๆ ถ้าไม่เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะหมดไปก่อน ถ้ารีบทำ นอนให้น้อย บำเพ็ญให้มาก ปฏิบัติให้มาก มรรคผลก็จะเกิดขึ้นง่าย บางทีน้ำยังหมดไม่ถึงครึ่งหนึ่งเลย งานก็ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว บางท่านใช้เวลาไม่กี่เดือนไม่กี่วัน ก็เสร็จงานแล้ว บางท่านก็ ๗ วัน บางท่านก็ ๗ เดือน บางท่านก็ ๗ ปี บางท่านก็ ๗ กัลป์ พวก ๗ กัลป์นี้เป็นพวกที่รักความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ รักกินรักนอนรักเที่ยวกัน จึงควรพิจารณากัน ถ้าอยากจะได้สิ่งที่เลิศที่ประเสริฐ ก็ต้องเอาสรณะ คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์มาเป็นแบบฉบับ ถ้าต้องการที่จะเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเรื่อยๆ ก็เอาความโลภความโกรธความหลงเป็นสรณะต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้
ถาม ทางสายตรงคือมรรคที่มีองค์ ๘ นี้ ใช่ไหมครับ
ตอบ ใช่
ถาม จะทำอย่างไรที่จะให้การปฏิบัติคืบหน้า เหมือนกับปรุงแกงนะครับ จะปรุงแกงให้มันกลมกล่อม
ตอบ ต้องเริ่มต้นที่สติ ให้มีสติก่อน ถ้าดื่มเหล้าเมาแล้วจะไม่สามารถทำอะไรได้ ทานศีลภาวนานี้จะทำไม่ได้เลย ควรละเว้นจากการดื่มของมึนเมาทั้งหลายก่อน ไม่เสพสุรายาเมาและของมึนเมาทั้งหลายโดยเด็ดขาด พอมีสติแล้วขั้นต่อไปก็ต้องศึกษาดูว่า จะต้องทำอะไรบ้าง เช่นฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะ พอทราบแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ
ถาม รักษาศีล ๕ ใช้ได้ไหมครับ
ตอบ ในเบื้องต้นควรรักษาศีล ๕ ไปก่อน ถ้าจะขยับสูงขึ้นไปอีกก็ต้องรักษาศีล ๘ ต้องตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เช่นไม่รับประทานอาหารเกินความจำเป็น รับประทานมื้อเดียว ไม่รับประทานหลังเที่ยงวันไปแล้วเป็นต้น เป็นการตัดกามฉันทะ ไม่ดูหนังฟังเพลง ไม่ร้องรำทำเพลง ไม่ใส่เสื้อผ้าสีสวยสดงดงาม แต่งหน้าทาปากอะไรต่างๆเหล่านี้ ที่เป็นความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
ถาม ถ้ายังต้องทำงานอยู่ จะทำอย่างไร
ตอบ ทำให้น้อยลงไป เก็บเงินให้มาก ใช้เงินให้น้อย พอมีเงินพอก็ลาออกจากงาน เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่
ถาม หมดภาระทางโลกไป
ตอบ ให้มีพอเพียงต่อการสนับสนุนการบำเพ็ญ อย่างเราตอนนั้นมีอยู่ ๖,๐๐๐ บาท คิดว่าพอจะเริ่มต้นได้ ก็เลยลาออกจากงาน จะลองปฏิบัติดูสักปีหนึ่ง ไม่ค่อยกลัวเรื่องตกงานหรือหางาน ตกได้ก็หาใหม่ได้ แต่เรื่องภาวนานี้จะได้ยากกว่าอย่างอื่นนะ ตอนนั้นไม่ทราบว่าคิดอย่างไรที่กล้าตัดสินใจ คิดแล้วก็อดอัศจรรย์ใจไม่ได้ ไม่มีใครสอน ไม่มีใครแนะนำ ใจเลือกทางของมันเอง เห็นการทำงานนี้มันวุ่นวาย ถึงแม้จะมีเวลาทำสมาธิบ้างแต่น้อยไป การทำสมาธิเป็นเหมือนเข้าไปในตู้เย็น พอทำงานก็เหมือนออกมาจากตู้เย็น ของที่แช่ในตู้เย็น พอเอาออกมาเดี๋ยวเดียวก็หายเย็น พอเอากลับเข้าไปแช่ใหม่ กว่าจะเย็นก็ต้องใช้เวลา อยากจะอยู่ในตู้เย็นไปนานๆ ไม่ต้องออกมา ไม่ต้องเข้าๆออกๆ ตอนนั้นมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งประมาณ ๖,๐๐๐ บาท คิดว่าน่าจะอยู่ได้สักปี ก็เลยลาออกจากงาน ลองปฏิบัติจริงๆจังๆสักปีหนึ่ง
ถาม สิ่งที่ได้มันก็คุ้มค่าใช่ไหมครับ
ตอบ ไม่รู้ล่ะ ก็อยู่มาจนทุกวันนี้ ถ้าจะไปเป็นเศรษฐีก็พอจะไปได้แต่ไม่ไป เคยสัมผัสชีวิตแบบเศรษฐีมาบ้าง พอรู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่ต่างกับการอยู่แบบขอทาน ต้องมีปัจจัย ๔ เหมือนกัน จะมีราคาเป็นแสนหรือเป็นพันก็ทำหน้าที่เดียวกัน ทำให้ร่างกายอยู่ต่อไปได้ นอนใต้สะพานหรือนอนในโรงแรมคืนละหมื่น ก็หลับเหมือนกัน ผ่านไปเหมือนกัน ไม่ต่างกัน เคยไปตกเครื่องบินที่โตเกียว สายการบินต้องจัดห้องพักให้ ห้องพักธรรมดาที่จัดให้ผู้โดยสารก็เต็มหมด เหลือแต่โรงแรมระดับ ๕ ดาว ชื่อโรงแรมโอกูระ ห้องเดี่ยวก็ไม่มี ต้องให้อยู่ห้องพิเศษ ตอนนั้นไปตกเครื่องบินที่โตเกียว บินจากโอซากาจะต่อเครื่องไปฮาวาย ช่วงนั้นมีพายุไต้ฝุ่นเข้ามา เครื่องบินที่จะออกจากโอซากาต้องล่าช้า ต้องรอให้พายุเบาลง พอบินไปถึงโตเกียว เครื่องที่จะไปต่อก็ขึ้นไปแล้ว ก็เลยต้องหาที่พักให้ ตอนที่อยู่ในเครื่องจากโอซากาก็ได้นั่งคู่กับแอร์โฮสเตส เพราะเธอทำหน้าที่ไม่ได้ เครื่องโคลงไปโคลงมา ต้องนั่งลงรัดเข็มขัด ก็เลยได้คุยกัน บอกเธอว่าจะไปเรียนหนังสือที่สหรัฐฯ ไม่ได้พักที่โตเกียว เธอก็บอกว่าเสียดาย ถ้าพักจะพาเที่ยวโตเกียว ได้ทิ้งที่อยู่ไว้ให้ พอไปถึงโรงแรมก็ ๔ ทุ่มแล้ว ถามพนักงานต้อนรับว่าจะติดต่อคนในโตเกียวได้อย่างไร ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ เขาบอกให้ส่งโทรเลขไป ก็เลยให้เขาช่วยส่งโทรเลขไปให้ บอกว่าพักอยู่ที่โรงแรมนี้ห้องนี้ พอประมาณ ๒ โมงเช้าเขาก็มาหา พาเที่ยวโตเกียวทั้งวันเลย เพราะเครื่องออกตอนกลางคืน ไม่ต้องเสียเงินเลย ที่พักก็ฟรีอาหารก็ฟรี เชื่อว่าเป็นอานิสงส์ของบุญของทานที่ได้ทำมา เวลาตกทุกข์ได้ยากก็จะมาดูแล
ถาม ที่นี่กับที่ต่างประเทศต่างกันอย่างไร
ตอบ เหมือนกัน ไม่ต่างกัน มีท้องฟ้าเหมือนกัน มีพระจันทร์มีพระอาทิตย์ดวงเดียวกัน มีภูเขาเหมือนกัน อากาศอาจจะต่างกันบ้าง หนาวเย็นต่างกัน ไม่มีผลกับจิตใจมากเท่ากับธรรมะ เท่ากับกิเลส ถ้ามีกิเลสมากก็ทุกข์มาก ถ้ามีธรรมะมากก็สุขมาก กิเลสจะไม่พอใจกับสถานที่ใดเลย ถ้าได้ไปต่างประเทศก็จะดีใจเดี๋ยวเดียว อยู่ไปสักพักหนึ่งก็จะเบื่อ อยากจะกลับบ้าน เป็นฝรั่งก็อยากจะมาเที่ยวภูเก็ต อยากจะมาเที่ยวเชียงใหม่ คนไทยก็อยากจะไปปารีส อยากจะไปลอนดอน เป็นเรื่องของกิเลส กิเลสไม่รู้จักคำว่าพอ อยู่ที่ไหนก็ไม่มีคำว่าพอ อย่าไปหลงกลของกิเลส ที่ไหนก็เหมือนกัน สำคัญที่ใจเป็นหลัก ทำใจให้พอแล้วที่ไหนก็ได้ อยู่ที่เดียวก็ได้ เราอยู่ที่นี่มาก็ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ไม่ได้ไปไหนเลย ไม่รู้จะไปไหน ไม่มีความคิดอยากจะไปด้วย อยู่เฉยๆแสนจะสบาย กินแล้วนอน
ถาม ถูกกิเลสมันหลอกอยู่ตลอดเวลา
ตอบ ใช่ ไม่ทันมัน
ถาม แล้วเราจะชนะมันได้อย่างไร
ตอบ ต้องบำเพ็ญ เจริญสติก่อน แล้วก็ฟังเทศน์ฟังธรรม ต่อสู้กับความอยากต่างๆที่ไม่จำเป็น
ถาม เรื่องกามฉันทะนี้ ถ้าศีลน้อยกามฉันทะก็มาก ถ้าศีลมากกามฉันทะก็น้อยลง ขึ้นอยู่กับว่าจะฆ่ากามฉันทะได้มากน้อย ก็ต้องรักษาศีลให้มากขึ้น
ตอบ ใช่ ต้องสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่จำเป็นก็อย่าไปดูสิ่งที่เป็นเครื่องบันเทิงต่างๆ ถ้าจะดูก็ดูหนังสือธรรมะ การสำรวมไม่ได้ให้ปิดหูปิดตา แต่ไม่ให้ดูในสิ่งที่จะทำให้เกิดกามฉันทะเกิดความอยากขึ้นมา ให้ดูในสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่อยากขึ้นมา มีธรรมะแล้วจิตจะสงบ แล้วก็จะไม่อยากเอง อานิสงส์ของการฟังเทศน์ฟังธรรมก็คือ จิตจะได้รับความสงบ พอจิตสงบแล้วก็จะไม่อยากไม่หิวกับสิ่งต่างๆ แต่ก็ได้ในขณะที่ฟังเท่านั้น พอหยุดฟังปั๊บความอยากก็กลับมาอีก บางคนฟังเทศน์เสร็จก็เปิดดูทีวีต่อ จึงต้องฟังทั้งวันเลย
ถาม ก่อนที่ท่านอาจารย์จะตัดสินใจออกจากงานนั้น ได้เห็นหนังตัวอย่างหรือเปล่า
ตอบ ได้เห็นแล้ว ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้หรอก จิตหลุดจากทุกขเวทนาด้วยการบริกรรม พอเจ็บก็บริกรรมไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวก็หายไปเลย เบา โล่ง สบาย ก่อนหน้านี้รู้สึกทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง พอบริกรรมอย่างต่อเนื่อง มันก็หายไปหมดเลย
ถาม การหายไปเพียงครั้งเดียวนี่ถือว่าเข้าถึงแล้ว
ตอบ ยัง เป็นเพียงตัวอย่าง เป็นเหมือนเชลล์ชวนชิม ได้ชิมได้ลิ้มรสแล้ว รู้ว่าไปถูกทางแล้ว นี่แหละคือสิ่งที่แสวงหามาตลอด แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงนี้ ตอนนี้รู้แล้ว รู้ว่าการที่จะได้มาเป็นกอบเป็นกำนี้ ต้องมีเวลาให้กับมัน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ต้องเลือกทางนี้
ถาม ในเบื้องต้นนี่ ที่สำคัญมากก็คือ ต้องได้หนังตัวอย่างก่อน
ตอบ ที่เขาฉายหนังตัวอย่างให้เราดู ก็เพื่อให้เราอยากดู
ถาม หนังตัวอย่างนานๆจึงได้ดูสักครั้งหนึ่ง
ตอบ หลวงตาท่านเล่าว่า ท่านได้ดูหนังตัวอย่างเพียง ๓ ครั้ง ตอนที่ท่านศึกษาปริยัติธรรมอยู่ ๖ ปี ตอนนั้นท่านยังไม่ได้ออกปฏิบัติ ท่านก็พยายามนั่งสมาธิไปกับการเรียนควบคู่กันไป ท่านเล่าว่าจิตรวม ๓ ครั้งในระยะเวลา ๖ ปี พอที่จะทำให้ท่านตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะต้องออกปฏิบัติ ได้เปรียญ ๓ ประโยคก็พอแล้ว ธรรมดาเขาจะเรียนถึง ๙ ประโยคกัน
ถาม จิตรวมหมายความว่าอย่างไร
ตอบ จิตคิดปรุงแต่ง ไม่มีอารมณ์ต่างๆอยู่ภายในใจ
ถาม จะมีอยู่ตลอดไป
ตอบ ไม่ เป็นชั่วคราว เรียกว่าขณิกสมาธิ ขณิกะแปลว่ารวมชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ถอนออกมา ถ้ารวมยาวเรียกว่าอัปปนาสมาธิ ส่วนอุปจารสมาธิ ในทางปริยัติแปลกันว่ากำลังเข้าสู่อัปปนา เหมือนกำลังเดินผ่านประตูเข้าไปในห้อง แต่ในทางปฏิบัติท่านว่า เข้าไปในห้องแล้ว แต่ไม่อยู่ในห้อง กลับถอยออกมาหน่อย เพื่อรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เรียกว่านิมิตต่างๆ เห็นเทพเห็นพรหมเห็นอะไรต่างๆ มีฤทธิ์มีเดช อยู่ในขั้นของอุปจารสมาธิ เหมือนหลับไม่สนิท หลับแล้วฝันไป ถ้าหลับสนิทก็จะไม่ฝันเลย จะเป็นขณิกะหรืออัปปนา ถ้านานก็เป็นอัปปนา ถ้าแป๊บเดียวก็เป็นขณิกะ ถ้าหลับแล้วฝันก็เป็นอุปจาร
ถาม ตอนที่หยิบข้อธรรมะขึ้นมาพิจารณา ให้เป็นวิปัสสนานี่ ต้องใช้สมาธิแบบไหน
ตอบ ต้องออกมาจากสมาธิก่อน มาอยู่ในจิตปกติก่อน
ถาม ไม่ใช่อยู่ในอุปจาร ออกมาเป็นปกติเลย
ตอบ ออกมาเป็นปกติ มารับรู้ภายนอกก่อน แล้วค่อยพิจารณา ต้องพิจารณาตลอดเวลาเลย ในขณะที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ แทนที่จะปล่อยให้จิตเป็นเครื่องมือของกิเลส ต้องดึงเอามาเป็นเครื่องมือของธรรมะ พอออกจากสมาธิปั๊บ ถ้าไม่เคยพิจารณา จะกลับไปคิดตามกิเลสทันที กิเลสให้คิดว่า นั่งมานานแล้ว เมื่อยแล้ว หาอะไรมาดื่มสักหน่อย หรือนอนสักหน่อย หรือเปิดวิทยุฟังสักหน่อย นี่ไปทางกิเลสแล้ว อย่าปล่อยให้มันทำอย่างนั้น ต้องดึงมาพิจารณาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายเป็นต้น
ถาม ถอยออกมาแล้วก็พิจารณา พิจารณาแล้วก็กลับไปเข้าสมาธิใหม่ ทำอย่างนี้ตลอดเวลาใช่หรือไม่
ตอบ ต้องสลับกันทำ อย่าทำอย่างเดียว ทำอย่างเดียวเหมือนกับเดินขาเดียว ปัญญากับสมาธิเป็นเหมือนเท้าทั้ง ๒ ข้างของเรา เวลาก้าวเท้าซ้าย ก็ใช้เท้าขวายัน เวลาก้าวเท้าขวา ก็ใช้เท้าซ้ายยัน สลับกันไป ถ้าพิจารณาอย่างเดียวจิตจะล้าจะเพลีย จะหมดความสงบ จะไม่เป็นเหตุเป็นผล จะฟุ้งซ่านขึ้นมา เป็นอุทธัจจะขึ้นมา ตอนนั้นต้องกลับไปทำสมาธิให้สงบตัวลง พักจิตให้ได้กำลัง เหมือนกับคนตัดไม้ เวลาตัดใหม่ๆ มีดก็คมคนตัดก็มีแรง พอตัดไปสักระยะหนึ่ง มีดก็จะทื่อ คนตัดก็จะเมื่อยล้าหมดแรง ก็ต้องหยุดพัก กินข้าว พักผ่อนหลับนอน ลับมีดให้คม แล้วค่อยออกไปตัดไม้ต่อ การพิจารณาปัญญาเพื่อตัดกิเลส ก็เป็นเหมือนกับการตัดไม้ ตอนพิจารณาใหม่ๆก็เป็นเหตุเป็นผล เพราะจิตมีความสงบ มองอะไรก็มองไปตามความจริง แต่พอความสงบหายไป ความหลงก็จะเข้ามาแทนที่ อารมณ์ก็จะเข้ามาแทนที่ พอจะให้ตัดก็จะเสียดาย ตัดไม่ลง
ถาม ถ้าไม่ได้ถอยกลับไปที่สมาธิ มันฟุ้งไปนี่ ถึงขั้นวิปลาสได้หรือไม่
ตอบ ได้ ถ้าไม่เข้าสมาธิ บางคนพอออกทางปัญญาแล้ว ก็ไม่กลับไปทำสมาธิเลย คิดว่าได้สมาธิแล้ว ก็เลยพิจารณาอย่างเดียว จนเกิดอุทธัจจะ แม้แต่ขั้นของพระอนาคามีที่บำเพ็ญเพื่อเป็นพระอรหันต์นี้ ก็ยังมีอุทธัจจะอยู่ อุทธัจจะนี้มีอยู่ ๒ ระดับคือ ของปุถุชน ๑ เป็นนิวรณ์ และของพระอนาคามี ๑ เป็นสังโยชน์ เวลาพิจารณาเพื่อทำลายอวิชชา ต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้น พิจารณาไม่หยุดไม่หย่อน จนฟุ้งซ่านขึ้นมาในใจ แต่ต่างจากความฟุ้งซ่านของขั้นปุถุชน เป็นความฟุ้งซ่านที่ละเอียด บางทีบำเพ็ญเพียรแบบไม่นอนเลย อย่างหลวงตาท่านเล่าว่า ท่านเคยพิจารณา ๓ คืน ๓ วันไม่หลับไม่นอนเลย จนเลยเถิดไป จึงต้องย้อนกลับเข้ามาทำจิตให้สงบก่อน เพราะพิจารณาไม่ได้ผลแล้ว ต้องย้อนกลับเข้ามาทำจิตให้สงบ ระงับความฟุ้งซ่าน ระงับอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นมา ทำให้ไม่เห็นความจริง พอสงบแล้วค่อยออกมาพิจารณาใหม่ จะเห็นคำตอบของปัญหาที่ติดอยู่ แม้แต่ในทางโลก เวลามีปัญหาเครียดๆมากๆ คิดอย่างไรก็แก้ไม่ได้ ก็เลยวางไว้ก่อน ไปดูหนัง ไปนอน ไปกินข้าว ไปเที่ยวไปเล่นสักพักหนึ่ง ไม่ไปคิดถึงมัน พอพักผ่อนเสร็จแล้วกลับมาดูปัญหา ก็จะเห็นช่องทางแก้ได้ เพราะบางทีจะแก้แบบนี้แบบเดียว ซึ่งแก้ไม่ได้ พอได้ปล่อยวางสักพัก ไปพักผ่อนหย่อนใจ พอกลับมาดูปัญหาใหม่ ก็จะเห็นว่าถ้าทางนี้ไปไม่ได้ ไปอีกทางก็ได้ ทำไมไม่ไปทางนั้นเล่า สมาธิกับปัญญาจึงเป็นของคู่กัน เป็นเพื่อนกัน สนับสนุนกันและกัน สมาธิสนับสนุนปัญญา เพื่อให้แหลมคมและมีพลัง ปัญญาเป็นตัวที่จะตัดกิเลส เพราะสมาธิตัดไม่ได้ ถ้าได้สมาธิแล้วไม่ออกทางปัญญาเลย กิเลสก็จะไม่ตาย เวลาทำสมาธิ กิเลสจะถูกกำลังของสมาธิกดเอาไว้ เหมือนกับไม่มีกิเลสเลยในขณะที่อยู่ในสมาธิ แต่พอออกจากสมาธิ ถ้าไม่เอาจิตมาคิดในทางปัญญา มันก็จะไปในทางกิเลสเหมือนเดิม ไปโลภไปโกรธไปหลงเหมือนเดิม ไม่ได้ตัดอุปาทาน ความผูกพันกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของภายนอกบุคคลภายนอก หรือของภายใน
ถาม การทำสมาธิสลับกับการพิจารณา ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาธิที่จิตรวมเป็นหนึ่งก่อนใช่หรือไม่ คือพิจารณาสลับไปสลับมาได้เลย ถึงแม้จิตยังไม่รวมก็ตาม
ตอบ ถ้าไม่รวมจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร การรวมของจิตนี้ เป็นเหมือนการทำตาชั่งให้อยู่ตรงศูนย์ ตรงอุเบกขา เวลาพิจารณาจะเที่ยงตรงเหมือนกับตาชั่ง ถ้าเอียงไปทางบวกหรือทางลบ เวลาเอาของไปชั่งน้ำหนัก จะไม่ได้น้ำหนักที่แท้จริง ถ้าของหนัก ๑๐ กิโลฯ แต่ตาชั่งเอียงไปทางบวก ๑ กิโลฯ เวลาชั่งจะหนัก ๑๑ กิโลฯ จะไม่ได้ ๑๐ กิโลฯ ถ้าลบ ๑ กิโลฯ เวลาชั่งจะได้ ๙ กิโลฯ ใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่รวมเป็นอุเบกขา จะมีอคติทั้ง ๔ คือรักชังกลัวหลงอยู่ เวลาพิจารณาจะถูกอคติทั้ง ๔ นี้หลอกล่อ ทำให้ไม่สามารถตัดได้
ถาม ถ้าได้เพียงขณิกสมาธิจะพอไหมครับที่จะมาพิจารณา
ตอบ ก็พอได้ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ถ้าเป็นขณิกะจะพิจารณาได้ไม่นานก็จะฟุ้ง ต่อไปเมื่อนั่งสมาธิชำนาญขึ้น ก็จะอยู่ในความสงบได้นานขึ้น เวลาพิจารณาก็พิจารณาได้นานขึ้น เหมือนเวลาพักผ่อน ถ้าพักผ่อนชั่วโมงหนึ่ง ออกมาทำงานก็อาจทำงานได้เพียงชั่วโมงเดียว ถ้าพักผ่อน ๘ ชั่วโมงก็จะทำงานได้ ๘ ชั่วโมง เวลาที่อยู่ในสมาธิจะเป็นตัวชี้ว่า จะทำงานทางด้านปัญญาให้เกิดผลได้มากน้อยเพียงไร
ถาม ถ้าเช่นนั้นเวลาพิจารณา ถ้าออกนอกไตรลักษณ์หรือร่างกาย ก็ถือว่าฟุ้งซ่านแล้ว ต้องเข้ามาข้างใน
ตอบ ถูกแล้ว หลงทางแล้ว ต้องมองให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ต้องพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจังก็ได้ เห็นว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หรือจะพิจารณาด้านของความทุกข์ก็ได้ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ แล้วก็จะเห็นว่าทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะความอยาก อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ถ้าไม่มีความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ก็จะไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย
ถาม ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว กลับไปเข้าสมาธิใหม่ แล้วกลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่าง ๒ ช่วงนี้อาจจะไม่ต่อกันก็ได้ ใช่หรือไม่คะ
ตอบ ได้ ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ ก็ต้องกลับมาแก้ให้ได้ ยังตัดคนนี้ไม่ได้ ยังรักคนนี้ยังหวงคนนี้อยู่ แต่เขาสร้างความทุกข์ให้กับเราเหลือเกิน ต้องมองให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ให้ได้ เห็นว่าเป็นทุกข์ให้ได้ พอเห็นเต็มที่แล้วก็จะตัดได้
ถาม ถ้าจิตไม่รวม เราก็จะพิจารณาไม่ได้
ตอบ ได้ แต่เป็นเหมือนมีดที่ไม่คม คนตัดก็ไม่มีแรง ตัดได้ทีละนิดทีละหน่อย แต่จะไม่ขาด ต้องทำไปเรื่อยๆ ต้องซ้อมไปก่อน ซ้อมนั่งสมาธิซ้อมใช้ปัญญา ควรบำเพ็ญสมาธิและปัญญาสลับกันไป ช่วงนี้นั่งสมาธิ ช่วงหน้าก็พิจารณา ถึงแม้ยังตัดไม่ได้ พิจารณาเพื่อให้เกิดความชำนาญ พอจิตรวมแล้วปัญญาจะไปได้อย่างรวดเร็ว ต้องทำสลับกันไป
ถาม นั่งสมาธิทุกวัน แต่เวลาออกจากสมาธิแล้วยังหงุดหงิดขี้โมโห เวลากระทบเรื่องงาน
ตอบ เพราะไม่เจริญปัญญา สมาธิอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญา ต้องเห็นไตรลักษณ์ถึงจะตัดได้ ในมรรค ๘ มีทั้งสัมมาสมาธิ มีทั้งสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโป คือปัญญานั่นเอง
ถาม ไม่รู้ว่าจะพิจารณาตรงไหน
ตอบ พิจารณาความเสื่อม ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง พิจารณาร่างกายก่อน ร่างกายของคนรอบข้าง พิจารณางานที่ทำอยู่ว่าถาวรหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ บริษัทเปิดได้ก็ปิดได้
ถาม ผู้ร้ายมีสมาธิได้ไหม
ตอบ ได้ แต่ขาดปัญญาเป็นมิจฉาทิฐิ ผู้ร้ายบางคนฉลาดมาก โกงบ้านโกงเมืองได้ แต่เป็นเครื่องมือของกิเลส นักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ก็ฉลาด แต่เป็นเครื่องมือของกิเลส ไปศึกษาสิ่งภายนอก จึงไม่ได้มรรคผลนิพพาน ถ้าได้พบพระพุทธเจ้าก็จะได้ปัญญาเห็นธรรม
ถาม ให้พิจารณาไตรลักษณ์
ตอบ พิจารณาไตรลักษณ์ของสิ่งภายนอกก่อน รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ว่ามีการเปลี่ยนแปลง ไม่อยู่กับเราไปตลอด อย่าไปยึด อย่าไปติด อย่าไปเสียดาย ได้อะไรมาแล้วสักวันก็ต้องจากเราไป คนบางคนไม่มีลูก ก็ไปซื้อหมามาเป็นลูก พอหมาตายก็ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ สักพักหนึ่งก็ลืมไป ก็ไปซื้อตัวใหม่มาเลี้ยงอีก ไม่จดจำ ไม่พิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นอนิจจังไม่เที่ยง ไม่ได้พิจารณา ถ้าพิจารณาเห็นชัดแล้ว ก็จะไม่ซื้อหมามาเลี้ยงอีก คนเราเวลาเหงาก็อยากจะมีเพื่อน มีอะไรทำ อยู่เฉยๆไม่ได้ ถ้าทำสมาธิได้ ก็ไม่ต้องมีเพื่อนแก้เหงา เพราะสมาธิเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด อยู่คนเดียวก็นั่งสมาธิไป พอจิตสงบก็มีความสุข พอมีสมาธิแล้วจะตัดง่าย จะเห็นโทษ จะเห็นทุกข์ จิตกระเพื่อมขึ้นมาก็จะเห็นชัด เวลาทุกข์กับอะไรจิตจะกระเพื่อมขึ้นมาทันที ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่เห็น เพราะกระเพื่อมตลอดเวลา จึงไม่เห็นความแตกต่าง ระหว่างความกระเพื่อมและไม่กระเพื่อม
ถาม ถ้าเราดูเราก็จะรู้ว่ามันกระเพื่อม
ตอบ เมื่อรู้ว่ามันกระเพื่อม ก็ต้องหาวิธีทำไม่ให้มันกระเพื่อม ดูว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะำไร มันก็ต้องเกิดจากการไปหลง ไปยึดติด ไปอยากอะไรสักอย่าง เพราะไม่เห็นไตรลักษณ์ ต้องพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ พอเห็นไตรลักษณ์แล้วก็จะไม่กระเพื่อม เช่นกลัวตาย ก็ดูร่างกายว่ามันจะตายหรือเปล่า พอรู้ว่าร่างกายต้องตายแล้วปล่อยมันได้ มันก็จะไม่กระเพื่อม ถ้าไม่รู้ว่าปล่อยได้หรือไม่ ก็ต้องไปหาที่บังคับให้เราปล่อย ต้องไปที่น่ากลัวๆ
ถาม เวลาเราอยู่ข้างนอก อย่างที่พระอาจารย์ว่าเป็นสี่แยก ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ เราจะทำอย่างไร
ตอบ ก็หาเท่าที่เราหาได้ มาวัดได้ก็มา ถ้าอยู่บ้านก็หาห้องที่เราพอจะอยู่ตามลำพังได้ ข้อสำคัญเราต้องใจแข็ง ต้องกำหนดเวลาไว้ ถ้าจะนั่ง ๒ ชั่วโมงก็จะต้องนั่งให้ได้ ไม่ใช่นั่งไป ๑๕ นาทีแล้วก็หาหมอนหาเตียง ก็จะไปไม่ถึงไหน
ถาม ผมฝึกไปกับการทำงาน พอได้หรือไม่ครับ
ตอบ ให้มีสติอยู่กับงานที่เราทำ อย่าไปคิดเรื่องอื่น เป็นการฝึกสติ แต่ยังไม่ได้ความสงบ จิตจะสงบได้ต้องมีสติอยู่กับเรื่องเดียว กับอารมณ์เดียว เช่นกับพุทโธๆ หรือกับลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีสติอยู่กับการทำงาน จิตก็ยังหมุนๆอยู่ หมุนอยู่กับการทำงาน ยังใช้ความคิดอยู่ แต่ถ้าอยู่กับพุทโธๆหรืออยู่กับลม จิตจะไม่แกว่งไปแกว่งมา จะอยู่กับอารมณ์เดียว ที่จะดูดจิตให้รวมลงสู่ความสงบ เช่นตอนที่เรานั่งแล้วเจ็บ ตอนนั้นถ้าอยู่กับคำบริกรรมได้ตลอด มันจะฉุดให้ทะลุเข้าไปสู่ความสงบเลย
ถาม ตอนที่อาการเจ็บหายไปใช่หรือไม่ครับ
ตอบ ใช่
ถาม ต้องพยายามเว้นการคลุกคลี
ตอบ ใช่ นักปฏิบัติต้องไม่คลุกคลี ต้องหาที่สงบสงัดวิเวก ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ต้องมีความประมาณในการบริโภค สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าต้องการจะให้จิตสงบ ต้องมีปัจจัยเหล่านี้
ถาม ได้ยินว่าอย่างหลวงตา ๖ ปีนี่ หนังตัวอย่างเกิดขึ้น ๓ ครั้ง ทำให้ได้กำลังใจหน่อย
ถาม ท่านอาจารย์ใช้เวลานานไหมกว่าหนังตัวอย่างจะเต็มเรื่อง
ตอบ เวลาไม่สำคัญ ขอใ้ห้ได้ก็แล้วกัน สั้นยาวไม่สำคัญ การเดินทางจะใช้เวลามากน้อยไม่สำคัญ ขอให้ถึงจุดหมายปลายทางก็แล้วกัน คนไปถึงก่อนกับคนไปถึงหลังนี้ ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน ถ้าจะได้เปรียบก็คือทุกข์น้อยกว่าคนที่ไปถึงทีหลัง คนไปถึงทีหลังต้องทุกข์มากกว่าทุกข์นานกว่า คนที่ไปถึงก่อนก็จะทุกข์น้อยกว่า
ถาม ติดอยู่ตรงที่จะพยายามหาทางลัดทางเร็วตลอดเวลา
ตอบ ต้องถือเนสัชชิ นี่คือทางลัด ลิฟท์ของทางมรรคผลนิพพานก็คือ เนสัชชินี่แหละ สำหรับพระเรียกว่าธุดงควัตร จึงไม่ทรงบังคับ เพราะทรงเห็นว่าไม่เหมาะกับพระที่อินทรีย์ยังไม่แก่กล้าพอ ถ้าบังคับให้ถือธุดงควัตรก็อาจจะต้องลาสิกขาไป จึงทรงบังคับเพียงศีล ๒๒๗ ข้อ ส่วนธุดงควัตรให้เป็นความสมัครใจ ถ้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ถือธุดงควัตร ก็ต้องถือตาม สายหลวงปู่มั่นจะถือข้อ ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ถ้าในพรรษาก็จะไม่รับอาหารหลังจากที่บิณฑบาตแล้วเป็นวัตร ผ้าก็ถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร ที่พักก็พักในป่าเป็นวัตร ส่วนความเพียรก็เนสัชชิเป็นวัตรบ้าง หรือไม่เช่นนั้นก็อดอาหารบ้าง แต่การอดอาหารนี่ไม่ได้อยู่ในธุดงควัตร เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีสำหรับการปฏิบัติ เช่นเดียวกับการนั่งนานๆ นั่งทั้งคืน แทนที่จะถือเนสัชชิก็ถืออิริยาบถเดียว จะเจ็บจะปวดอย่างไรก็จะไม่ลุก ปล่อยให้มันเจ็บมันปวดไป จนกว่าจะหายไปเอง
ถาม ถ้าถือธุดงควัตรแล้ว ต้องถือตลอดชีวิตหรือไม่คะ
ตอบ ไม่ มันเป็นมรรค เช่นเดียวกับการปฏิบัตินั่งสมาธิเจริญปัญญา พอเสร็จงานแล้ว ก็ไม่ต้องทำแล้ว เหมือนเครื่องบิน พอพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เราก็ลงจากเครื่อง ไม่ต้องบินอีกแล้ว ถึงบ้านแล้ว มรรคเป็นเหมือนพาหนะ เป็นยาน เช่นหินยาน มหายาน หินยานเป็นรถคันเล็ก มหายานเป็นรถคันใหญ่ พวกมหายานเขาถือว่าเป็นรถคันใหญ่ เพราะบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิ เพื่อจะได้พาสัตว์โลกไปได้เยอะๆ พระพุทธเจ้าสามารถช่วยสัตว์โลกได้มากกว่าพระอรหันตสาวก แต่การที่จะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแต่ละองค์นี้ไม่ใช่ของง่าย ใช้เวลายาวนานกว่าการเป็นพระอรหันตสาวก ถ้าเจอพระพุทธเจ้าก็ควรเปลี่ยนใจ ถ้าเคยปรารถนาพุทธภูมิ ควรรีบปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้บรรลุในชาตินี้เลย แต่กิเลสกลับไปคิดว่าเป็นพระพุทธเจ้าจะยิ่งใหญ่กว่า แต่จะต้องถูกกิเลสข่มเหงรังแกไปอีกหลายกัปหลายกัลป์ แทนที่จะหมดกิเลสภายในชาตินี้เลย
ถาม คิดว่าพระอาจารย์ทิ้งเครื่องบินแล้ว ทำอย่างไรถึงจะได้นั่งเครื่องบินของพระอาจารย์
ตอบ ของใครของมัน เครื่องบินนี้ต้องสร้างขึ้นมาเอง พอถึงที่แล้วก็ทิ้งมันไป ให้คนอื่นไม่ได้ ของพระพุทธเจ้าก็ให้คนอื่นไม่ได้ ของหลวงตาก็ให้คนอื่นไม่ได้ ของใครของมัน
ถาม ช่วงนี้ภาวนาไม่ดี
ตอบ เพราะไปวุ่นวายกับเรื่องภายนอก ต้องพิจารณาว่ามันเป็นธรรมดา อย่าไปกังวลกับมันมากเกินไป เราแก้มันไม่ได้ แก้ส่วนของเราดีกว่า ทำใจเราไม่ให้กระเพื่อม พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขึ้นก็พอใจ ลงก็พอใจ อย่าเอาแต่ขึ้นอย่างเดียว พอลงก็จะไม่พอใจ
ถาม คำว่าพึ่งตนเองได้นี้ ท่านพระอาจารย์หมายถึงจิตใจเป็นสำคัญ
ตอบ ไม่ต้องไปพึ่งผู้อื่น ทั้งกายและใจ แต่ตอนนี้ใจยังต้องพึ่งผู้อื่นอยู่ เพราะยังไม่หลุดพ้น ยังต้องพึ่งครูบาอาจารย์ ทางกายหมายถึงปัจจัย ๔ พ่อแม่เลี้ยงเรามาจนโตขนาดนี้แล้ว เราควรจะเลี้ยงตัวเราเองได้แล้ว ไม่ต้องไปรบกวนพ่อแม่อีกแล้ว