กัณฑ์ที่ ๓๘๙      ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

 

ปฏิจจสมุปบาท

 

 

 

ที่เราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของเราทั้งนั้น ถ้าไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ก็ต้องระงับที่เหตุ คืออย่ามาเกิด ถ้าไม่เกิดแล้วก็จะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ถ้าเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ยังต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกัน ต้องใช้ปัญญาพิจารณาถึงจะฉลาด เป็นกุศลเป็นกุสลา เท่าที่ฟังดูพวกเรายังไม่ค่อยใช้ปัญญากันเท่าไร ยังใช้อวิชชา ยังใช้ตัณหาความอยาก ภวตัณหา วิภวตัณหา อยากมีอยากเป็นอยากอยู่นานๆ อยากให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บกันอยู่ มันเป็นสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ ออกมาจากความหลง ออกมาจากอวิชชา อวิชชาปัจจยาสังขารา สังขาราปัจจยาวิญญาณัง เรื่อยไปจนถึงตัณหา พิจารณาปฏิจจสมุปบาทดูออกมาจากอวิชชาไปสู่สังขารความคิดปรุงแต่ง ไปสู่วิญญาณ ไปสู่นามรูป ไปสู่อายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกาย ไปสู่ผัสสะ ไปสู่เวทนา ไปสู่ตัณหา ไปสู่อุปาทาน ไปสู่ภว ไปเกิดใหม่ ออกมาจากอวิชชาทั้งนั้น ความคิดของเราส่วนใหญ่จะออกมาจากอวิชชา มาจากโมหะความหลง ถ้าออกมาจากปัญญา ออกมาจากธรรมะก็จะต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา เป็นแล้วหายก็ได้ ไม่หายก็ได้

 

โรคก็มีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน ชนิดที่เป็นแล้วหายเอง ไม่ต้องทำอะไร โรคที่ต้องใช้ยาถึงจะหาย แล้วก็โรคที่ใช้ยาอะไรก็ไม่หาย ต้องใช้ฟืนอย่างเดียวถึงจะหาย หายไปหมด รับรองโรคจะไม่กลับคืนมาอีก จะไม่เป็นโรคอะไรอีก หายอย่างเด็ดขาด คนเราที่ทรมานกันก็ตอนที่จะตายนี่แหละ คนที่อยู่ก็ทรมานด้วย พอตายไปแล้วก็หายทรมาน เผาศพเรียบร้อยแล้ว คนอยู่ก็อยู่ต่อไป ไม่ทุกข์กับคนที่ตายไปแล้ว ท่านจึงทรงสอนให้เจริญอนิจจัง คือมรณานุสติอยู่เสมอ พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว จะมีธรรมะเป็นผู้บัญชาการ เป็นผู้สั่งความคิด พอไม่สบายก็รู้ว่ามีแค่ ๓ โรค  ถ้าเจอ ๒ โรคแรกก็ยังอยู่ต่อไปได้ ถ้าเจอโรคที่ ๓ ก็ต้องลาจากกัน ทุกคนต้องเจอโรคชนิดที่ ๓ นี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แม้แต่พระบรมศาสดา พระอรหันตสาวก ครูบาอาจารย์ผู้ที่พวกเราเคารพกราบไหว้บูชาก็ต้องจากไป ตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมา อ่านหนังสือประวัติหลวงปู่มั่นให้ได้คติ ก็ต้องอ่านแล้วเอามาเป็นคติสอนใจเตือนใจอยู่เสมอว่า พวกเราทุกคนอยู่ท่ามกลางความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความพลัดพรากจากกัน ไม่ควรฝืนความจริงนี้ ควรน้อมรับความจริงนี้เข้าสู่ใจ เพราะจะทำให้ใจเปลี่ยนจากโง่เขลาเบาปัญญา มาเป็นผู้ฉลาดรู้ทันกิเลส ที่คอยหลอกล่อให้สร้างความทุกข์ มาเบียดเบียนจิตใจ ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย แต่กลับต้องมาเดือดร้อนกับร่างกายไม่รู้จักจบจักสิ้น ร่างกายที่จะตายที่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะร่างกายไม่มีตัวรู้ ตัวที่จะเดือดร้อนได้ ร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน เหมือนต้นไม้ เหมือนวัตถุสิ่งของต่างๆ เขาไม่เดือดร้อนกับความเป็นไปต่างๆ แต่ผู้ที่เดือดร้อนก็คือผู้ที่มาครอบครอง มายึดมาติด มาถือว่าเป็นของตน แม้แต่ร่างกายของผู้อื่น พอไปยึดติดด้วยความหลง ก็ต้องไปทุกข์กับเขา ทั้งๆที่ไม่ใช่ตัวเราของเราแท้ๆ เห็นอยู่ชัดๆ แต่ก็ยังไปหลงยึดติดว่าเป็นตัวเราของเรา เป็นสามีของเรา เป็นภรรยาของเรา พอเขาเป็นอะไรไปก็ทุกข์ร้อนวุ่นวายใจขึ้นมา ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้เป็นอะไร ร่างกายก็ปกติ ใจถ้ามีธรรมะก็จะเป็นปกติ ถ้าไม่มีธรรมะก็จะทุกข์ร้อนวุ่นวาย

 

ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะเห็นว่า ปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจเท่านั้นเอง ใจที่วุ่นวาย ร่างกายไม่วุ่นวาย ไม่ว่าร่างกายจะเป็นของใครก็ตาม เขาก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของเขา มีปัจจัยทำให้เขาตั้งอยู่ได้เขาก็ตั้งอยู่ ถ้าปัจจัยบกพร่องไปก็มีการอาพาธเกิดขึ้นมา ถ้าขาดมากๆก็จะหยุดทำงาน แล้วก็แยกตัวออกจากกัน ร่างกายไม่ได้ประกอบขึ้นจากสิ่งเดียว แต่ประกอบจากธาตุ ๔ คือดินน้ำลมไฟ ที่มารวมกัน ด้วยการรับประทานอาหาร การหายใจ การดื่มน้ำ รวมตัวกันเป็นอาการ ๓๒ เช่นผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น แล้วก็อยู่กันไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเวลาแยกจากกัน น้ำก็กลับคืนสู่น้ำ ดินก็กลับคืนสู่ดิน ลมก็กลับคืนสู่ลม ไฟก็กลับคืนสู่ไฟ ใจที่มาครอบครอง ที่วุ่นวายที่ทุกข์ ก็ไปหาร่างใหม่ เพราะอวิชชาความหลงยังทำให้มีความอยากอยู่ ยังอยากมีอยากเป็น จึงต้องไปสู่ร่างใหม่สู่ภพใหม่ เพื่อตอบสนองความอยาก ถ้าใจมีธรรมะสมบรูณ์จนไม่มีความอยากหลงเหลืออยู่แล้ว เวลาร่างกายแตกสามัคคีแยกออกจากกันไป ใจก็รับรู้ตามความเป็นจริง ตั้งอยู่ในความสงบเป็นอุเบกขา เช่นขณะที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงเสด็จเข้าสู่ฌานขั้นต่างๆ ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน ก่อนที่จะเสด็จนิพพานระหว่างรูปฌานและอรูปฌาน คือทรงเข้าทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ แล้วกลับลงมาตามลำดับจนถึงจิตปกติ แล้วก็ทรงเข้ารูปฌานใหม่ ขั้นที่ ๑ ที่ ๒  ที่ ๓  ที่ ๔  พอออกจากขั้นที่ ๔  ก็ไม่ได้เข้าอรูปฌานต่อ ทรงหยุดอยู่ตรงนั้น ทรงปล่อยวางสังขารร่างกายตรงนั้น จิตของพระองค์ไม่ได้วุ่นวายเดือดร้อน ไม่ได้วิงวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยทำให้ร่างกายหายจากโรคภัยไข้เจ็บ นี่คือตายด้วยธรรมะ ตายด้วยปัญญา ตายด้วยความสงบสุข ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน ถ้าตายด้วยอวิชชา ก็จะมีแต่ความหวาดผวาหวาดกลัว มีแต่ความอยาก อยากไม่ตาย อยากอยู่ต่อ กลัวความตาย ที่จะทำให้จิตใจทุกข์อย่างมาก

 

สิ่งที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้ทำกัน เป็นสิ่งที่พวกเราทำกันได้ ถ้าฝึกอยู่เรื่อยๆ คือการเจริญจิตตภาวนา ทั้งสมถะและวิปัสสนา ทำสลับกันไป เวลาทำสมถะผลที่ต้องการก็คือความสงบ ทำให้จิตนิ่งอย่างเดียว ไม่ให้คิดปรุงแต่ง ให้สงบเย็นสบาย เหมือนกับพักผ่อนหลับนอน ไม่ให้ฝัน แต่ให้หลับสนิท ถ้าฝันจิตจะไม่ได้พักผ่อน ถ้าจิตสงบแล้วออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ จิตก็ยังทำงานอยู่ พอออกจากความสงบแบบนี้ จิตจะไม่สดชื่นเบิกบาน เพราะเหมือนกับไม่ได้พักผ่อน จะไม่มีกำลังที่จะมาเจริญวิปัสสนาเจริญปัญญา เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงถึงสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเป็นตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ว่าจะเป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ล้วนเป็นอนิจจังทั้งนั้น ไม่จีรังถาวรคงเส้นคงวาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เห็นรูปนี้แล้วเดี๋ยวก็เห็นอีกรูปหนึ่ง ได้ยินเสียงนี้แล้วก็ได้ยินอีกเสียงหนึ่ง เป็นทุกข์เวลาเห็นรูปที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ได้ยินเสียงที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เป็นอนัตตาบังคับเขาไม่ได้ ถ้ามีปัญญาเราจะฉลาด จะรับได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เพราะธรรมชาติของใจนี้สามารถรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ไม่มีอะไรที่ใจรับรู้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะรับรู้แบบไหน ถ้ารับรู้ด้วยปัญญาก็รับรู้ด้วยการปล่อยวาง รับรู้ด้วยอุเบกขา ถ้ารับรู้ด้วยอวิชชาก็จะรับรู้ด้วยตัณหา เพราะอวิชชาจะแยกแยะสิ่งที่รับรู้มาเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายที่ดีหรือที่ชอบ ถ้าชอบก็ว่าดี อยากได้ ฝ่ายที่ไม่ชอบก็ว่าไม่ดี ไม่อยากได้ เป็นตัณหาความอยาก คือภวตัณหาและวิภวตัณหาขึ้นมา ถ้าชอบก็เกิดภวตัณหาอยากได้ ถ้าไม่ชอบก็เกิดวิภวตัณหา เกิดความกลัว อยากให้สิ่งที่ไม่ชอบหายไป อยากหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบไป

 

ถ้ามีอวิชชาความหลงความไม่เข้าใจเป็นผู้บงการ ก็จะมีความรักความชัง มีความกลัว มีตัณหามีอุปาทานตามมา มีภวตามมา ถ้ามีปัญญาก็จะรับรู้เฉยๆ รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้ ตอบรับ ก็ตอบรับด้วยเหตุด้วยผลด้วยปัญญา เช่นได้ยินเขาพูดอะไรก็ฟังที่เหตุผล ไม่ได้ฟังที่กิริยาอาการว่าเขาพูดดีหรือไม่ดี เรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อย สุภาพไม่สุภาพ ฟังเอาสาระ ว่าเขากำลังสื่ออะไรกับเรา แล้วก็ตอบกลับไปด้วยสาระด้วยเหตุผล เช่นเขาพูดว่า ไปเอาน้ำมาแก้วหนึ่ง ถ้าฟังด้วยทิฐิก็จะว่าพูดไม่เพราะ เราเป็นผู้ใหญ่ ก็จะโกรธได้ ถ้าฟังด้วยเหตุผล ว่าเขาต้องการน้ำ ให้เขาได้ก็ให้เขาไป เป็นการให้ทาน ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน อยู่ที่ว่ามีตัวตนหรือไม่ ถือตัวตนหรือไม่ การถือตัวตนเป็นอวิชชา เป็นความหลง การไม่ถือตัวตนเป็นปัญญา ช่วยเหลือเขาได้ก็ช่วยเหลือเขาไป ช่วยเหลือไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ก็ปล่อยเขาไป ไม่ต้องมามีความรู้สึกไม่พอใจ ว่าพูดจาไม่ดี จึงไม่ให้ ถ้าพูดจาดีจึงจะให้ นอกจากจะเป็นการสั่งสอนกัน  สั่งสอนให้รู้ว่าพูดจาอย่างนี้ไม่ดี จะไม่ให้ เป็นการลงโทษเป็นการสั่งสอน แต่ถ้าเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ถึงแม้จะพูดไม่เพราะ เพราะไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา เช่นหมาหิวน้ำ ก็เห่าขอความช่วยเหลือ จะไปว่าพูดไม่เพราะไม่ได้ เป็นหมาก็ต้องพูดแบบหมา คนที่ไม่ได้รับการอบรมก็เหมือนหมานั่นแหละ ไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ ไม่รู้จักตน ไม่รู้จักบุคคล  คนฟังถ้ามีปัญญามีความเมตตาก็จะให้อภัยได้ ถ้าเห็นว่าพูดด้วยความไม่รู้จริงๆ ไม่ได้พูดด้วยเจตนาที่จะลบหลู่ดูหมิ่น หรือถึงแม้จะมีเจตนาก็ไม่โกรธไม่ถือโทษ แต่อาจจะไม่ทำตามที่ขอร้องก็ได้ เพราะจะได้ดัดนิสัย ไม่อย่างนั้นก็จะเสียนิสัย

 

การมีปฏิกิริยาตอบโต้นี้ มีได้หลายแง่หลายมุม แต่จะไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะเป็นไปตามเหตุตามผล ขึ้นอยู่ว่าจะเอาเหตุผลมุมไหนแง่ไหนมาใช้เป็นองค์ประกอบของการตัดสินใจ ว่าควรจะทำอย่างไรดี ควรจะให้มากควรจะให้น้อย ก็วิเคราะห์กันไปตามเรื่อง เมื่อเช้านี้เดินบิณฑบาตก็มีญาติโยมคนหนึ่งใส่บาตรประจำ บอกว่ามีชายชราคนหนึ่งอาศัยอยู่ในสวนของเศรษฐีที่ปล่อยร้างไว้ ตอนนี้ไม่สบายมาก เอาน้ำเอาข้าวไปให้รับประทาน เขาก็ไม่ยอมรับประทาน นอนกระแด่วๆอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร ลูกหลานก็ไม่มี บัตรที่จะรักษาบัตร ๓๐ บาทก็ไม่มี ก็เลยขอร้องให้ช่วย เราก็บอกว่าต้องไปคุยกับเขาดูก่อน ว่าอยากจะไปรักษาตัวไหม ถ้าอยากจะไปแต่ไม่มีเงินรักษา ก็จะดูแลให้ ที่โรงพยาบาลก็พอจะรู้จักกับหมอกับพยาบาล ถ้ามีช่องทางพอที่จะสงเคราะห์เขาได้ก็สงเคราะห์เขาไป ถ้าต้องมีค่าใช้จ่ายก็ยินดีที่จะช่วยเขา แต่ต้องให้เขาสมัครใจไป จะไม่ไปฝืนเขา เพราะเขาอาจจะมีปัญญาก็ได้ เห็นว่าถึงเวลาจะตายแล้วก็ปล่อยให้ตายไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะไม่ขัดศรัทธา เพราะไม่ได้เป็นการตายแบบกิเลส ถ้าเห็นว่าถึงวาระที่จะไป ไม่ฝืน ยอมปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรไปฝืนเขา ไม่ควรไปบังคับเขา ไม่ควรไปลากเขาให้ไปทรมานอยู่ในโรงพยาบาล ก็เลยมาบอกกับมัคนายกที่วัด ให้ช่วยสอบถามดู ว่าจะทำอะไรได้บ้าง พอทำได้ก็ทำไป แต่ไม่ได้ไปวิตกว่าจะหายหรือไม่หาย จะตายหรือไม่ตาย เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ไปกำหนดชะตากรรมของผู้อื่นไม่ได้ จะให้เขาหายหรือไม่หาย จะให้เขาตายหรือไม่ตาย สิ่งที่ทำได้ก็คือช่วยเหลือเขาในด้านปัจจัย ๔ ถ้าพร้อมที่จะรับก็ยินดีที่จะให้ ไม่รู้จักกันมาก่อน ถ้ายังไม่ถึงวาระเขาก็อาจจะหายได้ ถ้าถึงวาระก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องของธรรมะเป็นอย่างนี้ จะมีแต่เหตุแต่ผลอย่างเดียว ไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

 

ถาม  ในกรณีที่คนไข้ไม่รู้สึกตัว การตัดสินใจว่าจะอยู่จะไป จะรักษาอย่างไรนี้ขึ้นอยู่กับญาติ ๒ ฝ่ายที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ข้างหนึ่งให้ปล่อยไปตามสภาพ อีกข้างหนึ่งให้รักษา จะตัดสินอย่างไรดี

 

ตอบ  ให้ใช้หลักประชาธิปไตย ลงคะแนนเสียงดู เอาตามเสียงส่วนมาก  

 

ถาม  ถ้าใช้หลักธรรมในการพิจารณานี้ เราควรตัดสินใจเลยหรือจะอยู่ตรงกลางไปก่อน

 

ตอบ  ธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีมากน้อยต่างกัน ถ้ามีธรรมมากก็จะปล่อยไปตามความจริง ถ้ามีธรรมน้อยมีกิเลสมากก็จะมีความอยากมาก อยากจะรักษา อยากจะหน่วงเหนี่ยวไว้ อยากจะให้หาย ถ้ามีความเห็นพร้อมกันก็ง่าย เช่นพระสงฆ์ตอนที่พระพุทธเจ้าจะทรงเสด็จปรินิพพาน มีความเห็นให้ปล่อยพระองค์ไปตามอัธยาศัย ทุกคนนั่งสมาธิตั้งอยู่ในความสงบ คอยเฝ้าส่งเสด็จ ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องปรึกษากัน

 

ถาม  ถ้าผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่ไหวแล้ว ก็น่าจะปล่อยไป แต่ถ้ายังพอไหว ก็ควรหน่วงไว้ เพื่อจะได้ทำประโยชน์ต่อไปอีก

 

ตอบ  มีปัจจัยหลายส่วนเกี่ยวข้องกัน ปัจจัยสำคัญที่สุดก็ตัวผู้ป่วยเอง เป็นปัจจัยหลัก จะให้รักษาหรือไม่ ก็ต้องเคารพในความเห็นของผู้ป่วย ไม่ควรขัดขืน ยกเว้นถ้าไม่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นอยากจะตายเร็วๆ ให้หมอฉีดยาพิษให้ อย่างนี้ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นปาณาติบาต เป็นการฆ่ากัน ไม่ควรทำตาม ถ้าไม่ต้องการใช้เครื่องหายใจช่วย ใช้สายโยงสายยางเพื่อให้อาหารและยา แต่ต้องการรักษาแบบธรรมชาติ ถ้ากินยาได้ก็กิน ถ้ากินไม่ได้ก็ไม่กิน ถ้ากินอาหารได้ก็กิน ถ้ากินไม่ได้ก็ไม่กิน ก็ควรเคารพในสิทธิ์ของเขา ไม่ได้เป็นการแล้งน้ำใจแต่อย่างใด เราพร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ผู้รับการช่วยเหลือต้องยินดี เราไม่ควรยัดเยียดให้กับเขา

 

ถาม  ถ้าม้าขาหักสัตวแพทย์จำเป็นต้องยิงทิ้ง จะบาปไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าฆ่าก็บาป เป็นปาณาติบาต แต่เขาว่าเป็นการฆ่าด้วยความเมตตาสงสาร แต่ความจริงไม่ได้ฆ่าด้วยความเมตตาสงสารเลย ฆ่าเพราะทนดูสภาพไม่ได้ ทุกข์แทนเขา ถึงแม้เขาอยากจะตายก็ไม่ควรสนับสนุน ควรสอนธรรมะให้มีดวงตาเห็นธรรมจะดีกว่า เช่นพระพุทธเจ้าทรงโปรดพระราชบิดา ตอนที่ทรงพระประชวรในขั้นสุดท้าย ๗ วันก่อนจะเสด็จสวรรคต พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อย่าไปยึดอย่าไปติด ให้ปล่อยวาง ให้เป็นไปตามเรื่องของมัน รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ช่างมัน ทำใจให้สงบปล่อยวาง ถ้าปล่อยได้ก็บรรลุได้ เวลาใกล้ตายนี้เป็นเหตุการณ์ ที่อำนวยให้เกิดธรรมะ ให้หลุดพ้นได้ พระสงฆ์ท่านถึงต้องไปแสวงหาที่เสี่ยงกับความตาย เพื่อจะได้ปลง ยอมตาย พอยอมตายจิตก็จะปล่อย แยกออกจากร่างกาย เข้าสู่ความสงบ แยกเป็น ๒ ส่วนเลย เหมือนเทน้ำออกจากแก้ว น้ำก็อยู่อีกที่หนึ่ง แก้วก็อยู่อีกที่หนึ่ง ไม่กังวลกับร่างกาย จะเป็นอะไรก็ช่างมัน ใจก็อยู่ส่วนของใจ ถ้ามีธรรมะ เป็นพื้นฐานพอที่จะรับธรรมะได้แล้ว จะได้รับประโยชน์จากเวลาใกล้ตายนี้ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีธรรมะกัน จึงเห็นทำนองเดียวกันว่า ตายดีกว่า อย่าอยู่ให้ทรมานเลย รักษาไม่ได้ก็ฆ่าเลย สัตว์ต่างๆจึงถูกฆ่า จะได้ไม่ต้องเลี้ยงดู เพราะไม่มีประโยชน์แล้ว

 

ถาม  ถ้าเห็นว่าสัตว์ทุกข์ทรมานแล้ว ควรฆ่าให้ตายไปเลย อย่างนี้เมตตาแต่เต็มไปด้วยอวิชชา ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  เมตตาแบบกิเลส แบบเห็นแก่ตัว เมื่อเดือนที่แล้วมีพ่อแม่ชาวอังกฤษพาลูกชายไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ไปฆ่าตัวตาย เพราะที่ประเทศอังกฤษไม่มีกฎหมายรับรองการฆ่าตัวตาย ก็เลยไปที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีคลินิกมีหมอที่จะช่วยทำให้ตาย เด็กหนุ่มคนนี้เล่นกีฬารักบี้แล้วเกิดอุบัติเหตุ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตไป ไม่อยากอยู่ต่อไป พ่อแม่ไม่มีธรรมะ คนเจ็บก็ไม่มีธรรมะ ก็เลยคิดแบบกิเลสกัน ตายก็ดีจะได้ไม่ต้องมาคอยเลี้ยงดู คนเจ็บก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีความสุขจะอยู่ไปทำไม คิดแบบกิเลส คิดแบบกามตัณหา คนเราส่วนใหญ่มีร่างกายไว้เพื่อสนองตอบกามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้เอง ต้องมีร่างกายที่สมบรูณ์แข็งแรง พอร่างกายพิการไป ก็เลยไม่รู้จะอยู่ไปทำไม จึงไปหาหมอที่คลินิกในสวิสเซอร์แลนด์ ที่นั่นมีกฎหมายรับรอง ให้ฉีดยาให้ตายได้ พอพ่อแม่กลับมาที่ประเทศอังกฤษก็ต้องถูกสอบสวน ว่าเป็นการฆาตกรรมหรือเปล่า ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ ถ้าพ่อแม่มีธรรมะเข้าวัดเข้าวาอยู่เป็นประจำ ก็อาจจะสอนลูกว่าชีวิตยังไม่ตายยังทำประโยชน์ได้อยู่ ยังภาวนาได้อยู่ ทำบุญให้ทานรักษาศีลได้อยู่ ดีเสียอีกจะได้ทำบาปทำกรรมน้อยลง เพราะร่างกายไม่สามารถทำตามคำสั่งของกิเลสได้ เวลาโกรธจะไปทุบตีใครก็ไม่ได้ พ่อแม่ก็ยินดีที่จะดูแล เคยเลี้ยงมาตั้งแต่ในท้อง ทำไมจะเลี้ยงต่อไปไม่ได้ ถ้าพ่อแม่มีธรรมะมีความเมตตาก็ย่อมพูดอย่างนี้ ไปหาหนังสือธรรมะมาให้อ่าน หาเทปธรรมะมาให้ฟัง สอนให้ภาวนา อาจจะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเลยก็ได้ มีพระชาวต่างประเทศได้ไปโปรดคนไทยที่โดนโทษประหารที่สหรัฐฯ ไปสนทนาธรรมกัน เป็นโชคของคนนั้น ถ้ามีบุญพอที่จะรองรับธรรมะได้ ก็จะได้ประโยชน์ ตอนที่จะถูกประหารธรรมะจะเป็นประโยชน์มาก

 

ถาม  ถ้ามีญาติพี่น้องกำลังป่วยอยู่นี้ ควรใช้โอกาสนี้พิจารณาในแง่ของอรรถของธรรม อนิจจังความไม่เที่ยงแท้ ก็จะเป็นประโยชน์

 

ตอบ  เราได้ประโยชน์ ถ้ามีบุญเก่ารองรับอยู่ ถ้าได้เข้ามาในทางศาสนาแล้ว จะรู้ว่าการพิจารณาแบบนี้ มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจ ถ้าไม่มีบุญเก่า จะไม่สามารถใช้เหตุการณ์ให้เกิดประโยชน์ได้ ส่วนคนไข้ก็ต้องเป็นไปตามฐานะของเขา จะรับธรรมะจากเหตุการณ์นี้ได้หรือไม่ ถ้าเคยเข้าวัดเคยบำเพ็ญเคยภาวนามา เช่นคุณเพาพงาที่ไปขอธรรมะจากหลวงตา ตอนออกพรรษาปี ๒๕๑๘ แล้ว ไปอยู่หลายเดือน หลวงตาก็เทศน์โปรดจนปรากฏเป็นธรรมชุดเตรียมพร้อมออกมา เทศน์ ๙๐ กว่ากัณฑ์ ทุกคืนยกเว้นคืนที่ท่านมีภารกิจอื่น ต้องอบรมพระเณรหรือไปธุระ ไปเพื่อธรรมะจริงๆ ไม่ได้ไปเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ไปต่ออายุ ไปเพื่อเอาธรรมะมาดูแลรักษาใจ ให้ปล่อยวาง ให้นิ่งให้สงบ ให้รู้ทันกิเลส พวกเราก็มีธรรมะกัน แต่พอถึงเวลาจะใช้กลับไม่ทันกิเลส กิเลสเร็วกว่า เหมือนนักกีฬาที่ซ้อมอยู่ทุกวัน เวลาไปชิงเหรียญทองทีไรแพ้ทุกที พอเจอเหตุการณ์จริงจะถอยจะหนีอย่างเดียว

 

ถาม  สมัยนี้เวลามีคนไข้ป่วยหนัก ญาติพี่น้องจะเอาเทปธรรมะหรือเสียงสวดมนต์ไปให้ฟัง

 

ตอบ  หรือนิมนต์ครูบาอาจารย์ไป ถ้าคนไข้นอนไม่รู้เรื่อง ไปก็เสียเวลา ถ้าปฏิบัติธรรมอยู่ ไปก็จะได้ประโยชน์ ไปพูดเสริมธรรมให้กระจ่างขึ้น จนปล่อยวางได้ ถ้าไปเพื่อให้เขาหายนี่ อาจจะไม่หายก็ได้ อาจจะหายก็ได้ แต่ไม่ได้หายเพราะไป หายเพราะหมอเพราะยา ถ้าโรคสู้ยาสู้หมอไม่ได้ก็หายได้ ถ้าหมอกับยาสู้ไม่ได้ ต่อให้เป็นพระวิเศษขนาดไหนก็ช่วยไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยชีวิตของพระราชบิดาไม่ได้ แต่ช่วยจิตใจของพระราชบิดาได้ ให้หลุดพ้น ให้เป็นพระอรหันต์ได้ ท่านจะช่วยตรงนั้น ช่วยที่ใจ เรื่องของร่างกายก็ต้องเป็นหน้าที่ของยากับหมอ ของบุญของกรรมไป พวกเราต้องทำความเข้าใจ เวลาเกิดกับคนใกล้ชิดก็ดีหรือกับตัวเราเองก็ดี ต้องเอาธรรมะนำหน้า พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ถึงเวลาจะไปให้ไปเลย ถ้ายังไม่ไปก็ไม่ต้องผลักมัน ถ้าจะไปก็ไม่ดึงไว้ ต้องอยู่ตรงกลาง

 

ถาม  อย่างนี้ถ้าคนไข้สั่งไว้ ไม่ให้ออกซิเจน ไม่ให้อะไรทั้งนั้น ถ้าญาติไปฝืน จะเป็นบาปเป็นกรรมกันหรือไม่ครับ

 

ตอบ  เป็นการขัดเจตนารมณ์ ไม่ทำตามคำสั่ง ครูบาอาจารย์ท่านวิตกตรงนี้แหละ เวลาท่านเป็นอะไรไป กลัวลูกศิษย์จะไม่มีธรรมะ มีแต่ความอยากให้ท่านอยู่ไปนานๆ จะลากท่านเข้าโรงพยาบาล ทั้งๆที่ท่านสั่งไว้แล้ว

 

ถาม  ขัดเจตนาแล้ว เป็นบาปเป็นกรรมไหมครับ

 

ตอบ เขาคิดว่าเจตนาดี เขาก็ว่าไม่บาป ฝืนคำสั่งของครูบาอาจารย์มันบาปหรือเปล่าละ ครูบาอาจารย์ท่านรู้ดีกว่าเรา รู้ว่าอะไรดีกับตัวท่าน รู้ว่าอะไรดีกับตัวเรา เราก็ยังไปทำตามเรื่องของเรา แสดงว่าเราไม่เคารพท่าน ไม่เชื่อฟังท่าน ไม่เชื่อหรือว่าท่านหมดปัญหาแล้ว ท่านรู้ว่าอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว ไปฝืนทำไม ท่านก็พยายามประคองมาถึงขนาดนี้แล้ว มีใครอยู่ได้ถึงขนาดนี้ อายุ ๙๐ กว่าปีแล้ว ทำหน้าที่อยู่ทุกวัน ทำอย่างเต็มที่แล้ว จะให้ทำไปถึงไหน

 

ถาม  จิตของพระอริยะเวลาจะละสังขารนี้ จะดำเนินสมาธิอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้าหรือเปล่า

 

ตอบ  ไปทางเดียวกัน จิตสงบเป็นอุเบกขาปล่อยวาง ความสงบเป็นอุเบกขามีอยู่ ๒ ระดับ ระดับสมาธิกับระดับปัญญา สมาธิเพียงแต่กดกิเลสไว้ เวลาจิตแยกออกจากร่างกายแล้ว พออำนาจของสมาธิเสื่อมหมดไป กิเลสก็ยังออกมาบงการให้จิตไปเกิดในภพใหม่ได้ ขณะที่สงบนิ่งในสมาธินั้นเป็นฌาน เป็นสวรรค์ชั้นพรหม ถ้าแยกจากร่างกายตอนนั้นก็จะไปอยู่ในพรหมโลก แต่พรหมโลกที่อยู่ได้ด้วยอำนาจของสมาธินี้จะเสื่อมหมดไปได้ พออำนาจของสมาธิหมดไป กิเลสก็จะออกมาเพ่นพ่าน จะเกิดความหิวในรูปเสียงกลิ่นรส เบื้องต้นก็รูปเสียงกลิ่นรสที่ละเอียด รูปทิพย์เสียงทิพย์ ก็เลื่อนจากพรหมมาสู่ชั้นเทพ พอหมดบุญจากชั้นเทพก็ต้องการรูปเสียงกลิ่นรสชนิดหยาบ ก็ลงมาสู่ชั้นมนุษย์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มาสร้างบุญสร้างกรรมใหม่

 

        ถ้าสงบนิ่งด้วยวิปัสสนาด้วยไตรลักษณ์ด้วยปัญญา จะไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย ไม่ต้องภาวนาพุทโธๆเลย เพียงแต่มีสติรู้อยู่เฉยๆ จะว่ามีสติก็ไม่เชิง เพราะสติก็หมดไปแล้ว มรรคไม่มีแล้ว เช่นมหาสติมหาปัญญา หมดไปตั้งแต่ตอนที่กิเลสหมด เหมือนกับกินยารักษาโรค พอหายจากโรคแล้ว ก็ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป จิตไม่กระเพื่อมไม่กำเริบ จิตสงบตลอดเวลา นิพพานัง ปรมังสุขังอยู่ตลอดเวลา เวลาร่างกายตายไป จิตสงบนิ่งอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ร่างกายตายไป หรือจะเข้าฌานขึ้นๆลงๆก็ได้ จะไม่เข้าก็ได้ ทำจิตให้เป็นปกติ ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน เหมือนกับเวลาที่นั่งสมาธิแล้วเกิดอาการเจ็บปวด ไม่เดือดร้อนกับมัน ปล่อยให้เจ็บไป จิตรับรู้ความเจ็บปวด แต่ไม่ไปกลัว ไม่อยากให้มันหาย ปล่อยให้มันหายเอง อย่างนี้เป็นระดับหลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องใช้ปัญญา เมื่อหลุดพ้นแล้วจะไม่มีความอยาก อยากให้ทุกขเวทนาหายไป หรืออยากจะหนีจากทุกขเวทนานั้นไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายกับขันธ์ จิตเพียงแต่รับรู้ ยังหายใจอยู่ก็รู้ว่ายังหายใจอยู่ ทุกขเวทนาความเจ็บปวดของร่างกายยังมีอยู่ก็รู้ว่ายังมีอยู่ พอไม่หายใจก็รู้ว่าไม่หายใจ เวทนาหายไปก็รู้ว่าหายไป

 

นี่เกิดจากการฝึกฝน เจริญสมถะและวิปัสสนา จนกลายเป็นธรรมชาติของจิตไป อยู่ในอุเบกขาตลอดเวลา ไม่มีอารมณ์กับอะไรทั้งนั้น เมื่อไม่มีอารมณ์ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ก็ไม่เดือดร้อนอะไร กับความเป็นไปของร่างกายของเวทนา ที่เป็นปัญหาสำคัญก็ ๒ ตัวนี้เอง ร่างกายกับเวทนา ทุกขเวทนาความเจ็บปวด ความตาย ความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่สร้างความทุกข์ให้กับสัตว์โลกตลอดเวลา เวลาอื่นจะไม่ค่อยแสดงผลเท่าไร เวลาไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาไม่แก่ สามารถทำอะไรได้ตามความอยากของกิเลส ตอนนั้นก็จะสนุกสนานมีความสุข แต่ไม่เคยคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย สักวันหนึ่งจะต้องตาย ตอนนั้นจะมีวิชารับกับเหตุการณ์ได้หรือเปล่า เหมือนกับตอนนี้เราอยู่ในสภาวะที่ไม่มีสงคราม เป็นภาวะปกติ เราก็อยู่กันสุขสบาย แต่ถ้าเกิดมีข้าศึกบุกเข้ามา เรามีอาวุธไว้ต่อสู้หรือเปล่า ถ้าไม่มีก็จะถูกเขาทำลาย ถ้ามีก็ป้องกันได้ ที่พวกเรามาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน มาทำบุญให้ทาน มารักษาศีล มาภาวนานี้ มาเพื่อเสริมสร้างกำลังไว้ปกป้องรักษาจิตใจ ไม่ได้มารักษาร่างกาย ไม่ได้ทำบุญเพื่อให้อยู่ไปนานๆ ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้ตาย ทำบุญเพื่อให้ใจปล่อยวาง เพราะใจยึดติดกับสิ่งภายนอกอยู่มาก พอยึดติดแล้วก็จะไม่มีเวลาภาวนากัน จะหมดเวลากับการแสวงหาดูแลจัดการกับสิ่งภายนอก จึงต้องปล่อยวางภายนอกก่อน ด้วยการบริจาค ด้วยการเสียสละ ด้วยการละสิ่งของที่ฟุ่มเฟือยเหลือเฟือเกินความจำเป็น

 

ความจำเป็นก็คือปัจจัย ๔ ถ้ามีปัจจัย ๔ พอเพียงก็ถือว่าพอแล้ว มากกว่านั้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการหลุดพ้น เป็นนิวรณ์เช่นกามฉันทะ ติดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถ้ามีนิวรณ์จิตจะไม่สงบ จิตไม่สงบก็จะไม่เห็นธรรม ไม่สามารถพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็จะหลุดพ้นไม่ได้ จึงต้องตัดภายนอกก่อน เก็บสมบัติข้าวของเงินทองไว้เท่าที่จำเป็น มีไว้ดูแลจนถึงวันตายได้ก็พอแล้ว มีเงินไว้สักก้อนหนึ่ง จะได้มีเวลาไปปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นผู้ชายก็ไม่ต้องมีเลยก็ได้ ยกให้คนอื่นไปหมด รักใครชอบใครอยากจะให้ใครก็ให้ได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้พระเสมอไป ให้กับคนอื่นก็ได้ ให้กับลูกให้กับภรรยาก็ได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงทิ้งไว้ให้ลูกให้ภรรยา ไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปเลย ต้องการเวลาเท่านั้นเอง เวลาที่จะอยู่คนเดียวเพื่อจะได้บำเพ็ญ ทำทุกอย่างเพื่อจิตใจเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อร่างกาย ทำร่างกายให้ดีขนาดไหนก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตามวาระของเขา ไม่มีใครยับยั้งได้ พวกเรากำลังยืนเข้าคิวกัน เหมือนเวลาไปธนาคาร หรือหยุดรถตามสี่แยกไฟแดง เข้าคิวรอให้ไฟเขียว จะได้ขยับไปได้ จนกว่าจะพ้นสี่แยก การตายก็เหมือนสี่แยกไฟแดงนี้เอง เราก็กำลังเข้าคิวอยู่ที่สี่แยกไฟแดงรอให้รถขยับไป แต่เวลาอยู่สี่แยกไฟแดงนี้อยากให้ไฟเขียวเร็วๆ จะได้ไปเร็วๆ ทำไมกับเรื่องของความตายกลับไม่อยากให้ไฟเขียวเร็วๆ เพราะเราไม่มีธรรมะ มีแต่อวิชชามีแต่ความหลง หารู้ไม่ว่ายิ่งอยู่ไปนานเท่าไรยิ่งทุกข์นานขึ้นไปเท่านั้น

 

ถาม  เพื่อนลูกเขาภาวนา ถึงจุดหนึ่งก็มีครูบาอาจารย์มาแสดงให้เห็นแล้วเขาก็เลยยึดตรงนั้นเป็นอสุภะ ดูไปเรื่อยๆ พออีกวันหนึ่งมีแสงเข้ามา เขาเลยกลัวขึ้นมา ก็เลยอยากถาม

 

ตอบ กลัวทำไม มันไม่ได้ทำอะไรเราเลย ไปกลัวมันทำไม ให้มันทำอะไรเราก่อนสิ ให้มีเหตุผล ทำไมต้องกลัวด้วย แสงเราก็เห็นทุกวันอยู่แล้ว ลืมตาก็เห็นแสงอยู่ตลอดเวลา อยู่กับแสงมาตลอดเวลา ไม่เห็นจะน่ากลัวตรงไหนเลย น่ากลัวตอนที่ไม่มีแสงเสียมากกว่า ไม่ใช่หรือ เวลาไปอยู่ที่มืดก็กลัวกันทั้งนั้น นี่กลับมากลัวแสง ก็ยิ่งบ้าใหญ่ บ้ากว่าคนที่ไม่ได้ภาวนา ไม่มีเหตุไม่มีผลเลย

 

ถาม  หรือว่าสติยังไม่ตั้งมั่นพอ

 

ตอบ ปฏิบัติแบบไม่ใช้ปัญญา ไม่รู้จักแยกแยะว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนอยู่เรื่อยๆ เวลาภาวนาอย่าออกไปรับรู้ เพราะสิ่งที่รับรู้มีหลายรูปแบบด้วยกัน ถ้าไม่มีปัญญาจะเป็นบ้าได้ เสียสติได้ กลัวได้ เวลาภาวนาควรสังเกต ถ้าออกไปรับรู้ก็ต้องดึงกลับเข้ามาสู่องค์ภาวนา ดึงกลับเข้ามาที่ใจ มาที่ตัวรู้ มาที่พุทโธ พอเข้ามาแล้วสิ่งที่ตามรู้ก็จะหายไป พวกนี้สอนยาก อย่างคุณแม่แก้วนี่สอนยาก เป็นนิสัยที่จะออกรับรู้ ตอนต้นก็ออกไปรับรู้เรื่องที่น่าชื่นชมยินดี พอไปเจอสิ่งที่น่าหวาดกลัว ก็เลยเกิดปัญหาขึ้นมา ควรภาวนาให้เกิดปัญญาก่อน แล้วค่อยออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งเปรียบเหมือนงูพิษ ถ้ามีปัญญาก็จับงูมารีดพิษมาทำเป็นยาได้ ไม่มีปัญญาก็ถูกงูกัดตายได้ ถ้ามีนิสัยในทางนี้ในขณะที่ยังไม่มีปัญญา ก็อย่าเพิ่งออกไปรับรู้ ให้ดึงจิตเข้ามาให้สงบนิ่ง เหมือนกับนอนหลับสนิทไม่ฝัน ให้นิ่งอยู่ในอุเบกขา สักแต่ว่ารู้อยู่อย่างเดียว ถ้าจะออกไปก็ดึงกลับเข้ามา บังคับจนกว่าจะเชื่อเรา ต่อไปก็จะไม่ออกไป ทุกครั้งที่นั่งสมาธิจิตจะสงบนิ่งไม่ออกไป นิ่งได้นานมากเท่าไร ก็จะมีกำลังมากเท่านั้น ที่จะไปใช้ในการพิจารณาปัญญาต่อไป พอพิจารณาปัญญาก็จะเกิดความฉลาดรู้ทัน ต่อไปก็จะสามารถนำปัญญานี้ ไปปฏิบัติกับสิ่งที่พบเห็นในสมาธิได้ ตอนนี้ต้องเรียนวิชาทางปัญญาก่อน เจริญไตรลักษณ์ก่อน พิจารณาภาพที่เห็นในสมาธิว่าเป็นไตรลักษณ์ เหมือนกับภาพที่เห็นด้วยตา เป็นอนิจจังเหมือนกัน เกิดแล้วดับไปเหมือนกัน ไม่มีสาระ ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถบังคับควบคุม ให้เป็นไปตามความต้องการได้ แต่เราบังคับใจไม่ให้ไปยุ่งกับมันได้ เวลาเห็นภาพที่เราชอบก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่ชอบก็อยากจะให้หายไป แต่เราบังคับมันไม่ได้ สิ่งที่เราบังคับได้ก็คือใจของเรา จึงควรดึงใจกลับเข้ามาข้างใน ปิดประตูหน้าต่างเสีย ไม่มองออกไปข้างนอก ก็จะไม่เห็นอะไร แต่กิเลสมันชอบดู ชอบเปิดหน้าต่างมองออกไปข้างนอก

 

ถาม  ถ้ายังไม่มีปัญญา ลูกก็บอกเขาให้ดูเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาไป

 

ตอบ  ถ้าพิจารณาไม่เป็น ให้ดึงกลับเข้ามาก่อน ปิดประตูปิดหน้าต่างก่อน ถ้าใช้พุทโธก็กลับมาหาพุทโธ ถ้าสติมีกำลังพอ ก็ดึงให้กลับมาหาตัวรู้ ให้อยู่กับตัวรู้ สักแต่ว่ารู้ อย่าไปรับรู้ ถ้ายังรับรู้อยู่ ก็เอาพุทโธไล่ บริกรรมพุทโธๆไป หรือพิจารณาธรรมะไปเลยก็ได้ พิจารณาร่างกาย พิจารณาอสุภะ พิจารณาอาการ ๓๒ ไปก็ได้

 

ถาม  ลูกดูภาพอสุภะแล้วก็ติดอยู่ในตัว ๒ วัน พอมองตัวเองก็จะเห็นภายในตัวเอง มองศีรษะก็จะเห็นข้างในของกะโหลกศีรษะ อยู่ได้ ๒ วัน เป็นเพราะสมาธิยังไม่แข็งใช่ไหม พอวันต่อไปอยากจะดูอีกก็ทำไม่ได้

 

ตอบ  ไปอยากไม่ได้ ต้องกำหนดขึ้นมาใหม่ เคยพิจารณาอย่างไรก็ต้องพิจารณาอย่างนั้นใหม่ อยากให้มาตามความอยากไม่ได้ ถ้าพิจารณาใหม่ก็จะปรากฏขึ้นมาใหม่ อยากจะให้กลับมาก็พิจารณาอยู่เรื่อยๆ มันก็จะกลับมา

 

ถาม  ๒ วันแรกจะปรากฏขึ้นมาเอง หลังจากนั้นจะไม่ปรากฏ ต้องเรียก

 

ตอบ  พยายามเรียกกลับมา ถ้าไม่เคยกลับเข้าไปในสมาธิเลย ก็ควรกลับเข้าไปในสมาธิก่อน ไปชาร์ตแบตฯก่อน ก่อนที่จะใช้มือถือต้องชาร์ตแบตฯก่อน จะได้รับสัญญาณได้ แบตฯหมดก็รับไม่ได้ ถ้าในช่วง ๒ วันนั้นไม่เคยเข้าสมาธิเลย ก็แสดงว่าแบตฯหมด ต้องกลับไปชาร์ตใหม่ พอชาร์ตสมาธิใหม่แล้วเดี๋ยวก็จะกลับมาใหม่ พอเรียกปั๊บมันก็จะมาเลย พออยากดูปั๊บมันก็จะมาเลย ตอนนี้อยากแต่มันไม่มา ก็เหมือนเปิดมือถือแล้ว แต่ไม่มีสัญญาณเข้ามาเลย ไม่ใช่ไม่มีสัญญาณ แต่ไม่มีแรงที่จะรับสัญญาณ จึงต้องทำทั้งสมาธิทั้งปัญญาสลับกันไป อย่าทำอย่างเดียว เมื่อใช้ปัญญาไปแล้วก็เหมือนกับใช้เครื่องไปทั้งวัน แบตฯก็หมด ต้องปิดเครื่องแล้วก็มาชาร์ตแบตฯก่อน ชาร์ตจนเต็มแล้วค่อยเปิดเครื่องใหม่ ค่อยออกไปพิจารณาใหม่สลับกันไป

 

ถาม  ต้องกลับไปดูภาพนั้นอีกไหมคะ

 

ตอบ ดูจนกว่าจะตัดความอยากในเรื่องของร่างกายได้ เช่นอยากจะหลับนอนด้วย อยากจะให้มาเป็นคู่ครอง อยากจะมีเพศสัมพันธ์ ของพวกนี้ต้องตัดให้ได้ ตัดกามราคะ ตัดกามตัณหาให้ได้ จนไม่มีความรู้สึกหลงเหลืออยู่เลย เหมือนคนกามตายด้าน แต่ไม่ได้ตายด้านทางร่างกาย ตายด้วยปัญญา ตายด้านทางร่างกายคือร่างกายหมดประสิทธิภาพ ต้องหายามาเสริม ร่างกายก็เป็นเหตุปัจจัย ที่จะทำให้เกิดกามตายด้านได้ แต่ไม่ได้เป็นต้นเหตุ เป็นปลายเหตุ เป็นเครื่องมือของกิเลส ใจยังมีความอยากอยู่ เพียงแต่ว่าร่างกายไม่ตอบสนองความอยาก เหมือนกับคนอยากจะออกไปนอกบ้าน แต่รถไม่ยอมติดเครื่อง สตาร์ทอย่างไรก็ไม่ติด ก็ไปไม่ได้ ที่ว่ากามตายด้านแล้วหมดกิเลส ก็ไม่ใช่ มันด้านเพราะร่างกายไม่มีกำลังที่จะตอบสนอง แต่กามตัณหายังเต็มที่เหมือนเดิม กามตัณหาจะหมดได้ ต่อเมื่อมีอสุภะอยู่ในใจตลอดเวลา เวลาที่ต้องการจะใช้มัน มันก็มาทันทีเลย เช่นพอเกิดความอยากปั๊บ อสุภะก็มาปั๊บเลย ดับไปทั้งคู่พร้อมๆกันไปเลย เกิดปั๊บดับปั๊บ จนไม่เกิดขึ้นมาอีก ถ้าไม่มีปัญญาความหลงก็จะสั่งการให้เห็นว่าสวยงาม เห็นว่าเป็นความสุข ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่าไม่สวยงาม น่าเกลียดน่ากลัว เป็นความทุกข์ มีใครอยากจะนอนกับคนตายบ้าง เคยรักกันมาอย่างไรพอตายแล้วก็จะไม่นอนร่วมกันแล้ว  ทั้งๆที่พึ่งตายไปเพียงชั่วโมงเดียวก็ไม่เอาแล้ว ตอนนั้นเห็นขึ้นมาทันทีเลย ไม่ต้องสอนก็เห็น ต้องเจริญอสุภะจนกว่าจะรู้ว่าหมดปัญหา เป้าหมายของปัญญาก็คือความอยากทั้ง ๓ นี่แหละ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ต้องเจริญจนรู้ว่าไม่เป็นปัญหาแล้ว ตัณหาหมดแล้ว พอหมดแล้วก็ไม่ต้องเจริญอีกต่อไป เหมือนกับกินยาจนหายจากโรคแล้ว ก็ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป ยาก็หมดความจำเป็นต่อโรคนั้นไป เพราะโรคถูกทำลายหมดไปแล้ว การปฏิบัติมรรค ๘ หรือศีลสมาธิปัญญานี้ ก็เป็นเหมือนการรับประทานยา เมื่อตัณหาหมดไปแล้ว ก็ไม่ต้องรักษาศีล แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศีลนะ จิตเป็นปกติก็จะไม่ละเมิดศีลอยู่ดี ทานจะให้ก็ได้ไม่ให้ก็ได้ ไม่ยึดติดกับอะไรแล้ว จะเก็บไว้ก็ได้ จะให้ใครก็ได้

 

ถาม  การปรุงแต่งของจิต ส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารการกิน ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  กามตัณหาออกมาจากความหลง ไม่เห็นอสุภะ ไม่เห็นความไม่สวยงาม แต่มีปัจจัยอย่างอื่นเป็นตัวเสริม ตัวช่วยกระตุ้น เช่นการอยู่ดีกินดี จะทำให้กามตัณหามีกำลังมาก ในยุคข้าวยากหมากแพงจะไม่ค่อยออกลูกกัน สัตว์ก็เหมือนกัน ลิงนี้ถ้าอาหารขาดแคลนจะไม่ค่อยขยายพันธุ์กันเท่าไหร่ เพราะไม่มีอารมณ์ที่จะหาความสุขจากการเสพกาม ต้องอิ่มท้องก่อน พออิ่มท้องหลับนอนสบายแล้ว ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง กามตัณหาถึงจะออกมา พระท่านถึงต้องคอยควบคุมเรื่องอาหาร พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักประมาณในการบริโภค การอดอาหารจึงเป็นตัวสกัดได้ดี แต่ไม่ได้สกัดที่ต้นเหตุ เป็นการสกัดที่ปลายเหตุ คือที่ร่างกาย ร่างกายพออ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวมีแรง ก็จะไม่คิดถึงเรื่องกาม จะคิดถึงเรื่องข้าวก่อน เวลาอดข้าวจะคิดแต่เรื่องข้าวก่อน พอกินข้าวอิ่มแล้วก็จะคิดเรื่องหมอนก่อน เป็นปัจจัยเสริม ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ปัจจัยหลักยังมีอยู่เท่าเดิม จะออกมาเร็วมาช้า มามากมาน้อย ก็อยู่ที่ปัจจัยเสริม ถ้าต้องการให้ปัจจัยหลักนี้หมดไปก็ต้องเจริญวิปัสสนาอสุภกรรมฐาน สกัดความหลงที่จะคิดแต่ความสวยงาม พอคิดถึงความสวยงาม ก็จะมีอสุภะเข้ามาทำลายตลอดเวลา เหมือนกับมีฝ่ายค้านมาตอบโต้ ลงคะแนนทีไรก็เท่ากันมติก็ไม่ผ่าน ๕๐ : ๕๐ มตินั้นก็ตกไป เราต้องเจริญบ่อยๆ เพราะฝ่ายเสนอเสนออยู่ทุกวินาทีเลย ฝ่ายค้านนานๆจะโผล่มารับสักที มักจะมาตอนที่แพ้ไปแล้ว ไปเที่ยวมาแล้ว ไปหาความสุขมาแล้ว ตอนที่เสนอไม่มีฝ่ายค้านออกมาค้านเลย   ตอนที่กำลังเจริญอสุภะนั้นเป็นเหมือนกำลังทำการบ้าน เป็นการฝึกซ้อม ยังไม่ได้ขึ้นเวทีจริง เพราะตอนนั้นฝ่ายเสนอยังไม่ได้ออกมา เวลาที่จะขึ้นเวทีจริง ต้องตอนที่เขาเสนอมา เกิดความกระสันอยาก ตอนนั้นฝ่ายค้านจะออกมาทันหรือไม่ ถ้าฝ่ายค้านควบคุมสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งในขณะที่ยังไม่ออกมาหรือออกมาแล้ว ก็หมดปัญหาไป ไม่ต้องทำแล้ว ไม่ต้องเจริญอีกต่อไป เพราะฝังอยู่ในใจแล้ว ฝ่ายเสนอก็จะถูกฝังไว้ ไม่ให้โผล่ขึ้นมาอีก ถูกฝังด้วยอสุภะ จากนั้นก็จะมีปัญหาอื่นที่ต้องแก้อีก แก้ไปจนกว่าจะไม่มีปัญหาหลงเหลืออยู่เลย

 

ถาม  ต้องทวนกระแสทุกเรื่องไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าเป็นกระแสกิเลสก็ต้องทวน ถ้าเป็นกระแสธรรมก็ต้องตาม ไม่ใช่ทวนกระแสธรรม ต้องทวนกระแสกิเลส กระแสธรรมต้องตาม ให้เข้าสู่กระแสธรรมให้ได้เถิด แล้วจะไหลไปเอง จะมีกำลังแรงกว่ากิเลส จะช้าหรือจะเร็วก็ไม่เกิน ๗ ชาติ คำว่าโสดาบันก็มาจากคำว่าโสตะ โสตะแปลว่ากระแส กระแสสู่พระนิพพาน ถ้าได้เข้าสู่กระแสนี้แล้วก็จะไหลไปสู่พระนิพพาน เหมือนกับน้ำในแม่น้ำลำคลอง ก็จะต้องไหลไปสู่มหาสมุทร จะไม่ไหลกลับ ถ้าเป็นกระแสกิเลสก็ต้องทวนกระแส อย่าไหลตามกระแสกิเลส เพราะจะพาไปสู่วัฏสงสาร ไปสู่การเวียนว่ายตายเกิด กระแสของธรรมพาไปสู่มรรคผลนิพพาน ก็อยู่ตรงนี้ อยู่ที่เรามาทำกันนี้ อยู่ที่การทำบุญให้ทาน อยู่ที่การรักษาศีล อยู่ที่การตัดสิ่งต่างๆภายนอกให้หมดไป อย่าไปสนใจกับเรื่องลาภยศสรรเสริญสุขเลย คิดว่าเป็นหัวโขน มันไม่เที่ยง สักวันก็ต้องทิ้งมันไปหมด ไม่ได้เป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ได้ทำให้จิตพ้นจากความทุกข์ ไม่ได้ทำให้จิตสงบ แต่กลับทำให้จิตกระวนกระวายฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ ตัดมันไป ดึงจิตเข้าข้างใน ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ดึงเข้ามาด้วยสมาธิ แล้วก็เจริญปัญญา ดึงเข้ามาแล้วก็ตัดหัวมันเลย ต้องจับมันผูกไว้ก่อนที่จะฆ่ามัน สัตว์นี่จะตัดคอมันได้ต้องจับมันมามัดไว้ก่อน พอมัดไว้แล้วก็ตัดมันได้ ถ้ามันยังวิ่งหนีอยู่ จะตัดคอมันนี่ยาก การทำสมาธิก็เป็นการเหมือนการจับกิเลสมัดไว้ ไม่ให้ดิ้นหนี  แล้วก็เอาปัญญามาเชือด เอาไตรลักษณ์มาเชือด พอเชือดแล้วก็หมดปัญหาไป

 

มรรคจึงต้องมีทั้งทาน มีทั้งศีล มีทั้งภาวนา ถึงจะได้ผลเต็มที่ ถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะได้ไม่มากพอ ถ้าอยู่ขั้นปัญญาแล้วก็ถือว่ามีทานอยู่แล้ว มีศีลอยู่แล้ว มีสมาธิอยู่แล้ว ถึงจะไปขั้นปัญญาได้ เหมือนกับคนที่เรียนอยู่ชั้น ม.๘ ก็หมายความว่าได้เรียนอนุบาลมาแล้ว ได้เรียนชั้นประถมมาแล้ว ตอนนี้อยู่ชั้น ม.๘ แล้ว ถ้าสามารถเจริญไตรลักษณ์เจริญอสุภะได้ตลอดเวลา ก็ไม่ต้องมากังวลกับเรื่องการทำบุญให้ทานรักษาศีล เพราะจะไม่มีเวลามาทำบาปทำกรรม เพราะจิตจะหมุนอยู่กับเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องของการตัด เรื่องของการปล่อยวาง เมื่อไม่มีความโลภความอยากจะไปทำผิดศีลได้อย่างไร มีแต่อยากจะให้ อยากจะตัด

 

ถาม  มีน้องคนหนึ่งคุณแม่เขาเสียแล้ว เขาก็เก็บศพไว้ ถึงเวลาจะเผาก็มีความคิดไม่อยากจะเผา ถ้าเผาไปแล้วคุณแม่จะไม่กลับมาวนเวียน

 

ตอบ  บอกเขาว่าเป็นความเห็นผิด เก็บไว้ก็ไม่กลับมาอยู่ดี

 

ถาม  เขารู้สึกว่าคุณแม่ยังมาวนเวียนอยู่

 

ตอบ  เป็นความรู้สึกเท่านั้นเอง เป็นอุปาทาน ไม่ได้เป็นความจริง เก็บไว้ก็ได้ถ้าอยากจะเก็บไว้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร อยากจะเป็นภาระเฝ้าดูแลก็เก็บไป ถ้าตายไปใครจะดูแลศพคุณแม่ต่อ