กัณฑ์ที่ ๓๙๓ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
ความคิดปรุงแต่ง
สังขารคือความคิดปรุงแต่ง ในขณะหนึ่งจะคิดได้เรื่องเดียว จะคิดทางกิเลสก็ได้ ทางธรรมะก็ได้ ทางที่ไม่ใช่กิเลสหรือธรรมะก็ได้ ดังที่พระท่านสวดในงานศพว่า กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา ท่านหมายถึงสังขาร ความคิดปรุงแต่ง ที่คิดปรุงแต่งไปทางกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ หรือไม่ใช่กุศลหรืออกุศลก็ได้ ครูบาอาจารย์พยายามสั่งสอนพวกเราให้คิดไปทางกุศล เช่นให้คิดแต่คำว่าพุทโธๆ เพราะคิดแล้วใจไม่ร้อน คิดแล้วเย็นสงบ ถ้าปล่อยให้คิดตามประสาของพวกเรา จะชอบคิดไปทางกิเลส เช่นพอเกิดความเจ็บปวด ก็เกิดความกลัว เกิดความอยากให้ความเจ็บปวดหายไป หรืออยากจะหนีจากมันไป เราจึงต้องมาฝึกสร้างกุศล ฝึกสอนจิตให้คิดไปในทางที่เป็นกุศล ควบคุมบังคับสังขารให้ไปในทางกุศล เริ่มต้นก็บริกรรมไปก่อน หรือที่นิยมทำกันทั่วไปก็คือสวดมนต์ เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพียงแต่เวลาสวดมักจะสวดโดยไม่มีสติ หรือบริกรรมโดยไม่มีสติ สวดไปตามความเชื่อ ไม่รู้จักวิธีสวดอย่างถูกต้อง หรือบริกรรมอย่างถูกต้อง สวดไปแล้วก็คิดเรื่องอื่นไปด้วย ผลคือความสงบนิ่งจึงไม่ปรากฏ ถ้าสวดหรือบริกรรมโดยมีสติควบคุมใจ ควบคุมความคิด ให้อยู่กับการสวดหรือการบริกรรม จิตจะสงบอย่างรวดเร็ว เช่นคุณแม่แก้วที่หลวงตาเขียนไว้ในหนังสือปฏิปทาฯ ครั้งแรกที่คุณแม่แก้วลองภาวนา ก็บริกรรมพุทโธๆไปประมาณสัก ๕ นาที จิตก็รวมลงเข้าสู่ความสงบ ถ้าไม่เคยปฏิบัติจนเห็นผลก็จะคิดว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะสวดมาเป็นปีๆ บริกรรมมาเป็นปีๆ ไม่ได้ผลอย่างที่ท่านเขียนไว้เลย เพราะการบริกรรมของพวกเราไม่เหมือนกับการบริกรรมของท่าน ท่านบริกรรมแบบมีสติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นสุราก็แบบไม่ผสมน้ำแข็งไม่ผสมโซดา มีแต่สุราเพียวๆ การบริกรรมของท่านมีแต่พุทโธล้วนๆ ไม่ได้ส่งจิตไปคิดเรื่องอื่นเลย เพราะได้เจริญสติมามากในอดีต สติติดมากับใจ พอสั่งให้ทำงานก็จะทำทันที เหตุที่ภาวนาแล้วสงบหรือไม่นี้ อยู่ที่สติเป็นสำคัญ จึงอย่าไปสงสัย ว่าทำไมท่านทำได้ แต่เราทำไม่ได้ เพราะในอดีตสะสมสติมาไม่เท่ากัน ถ้ามีสติแล้วสมาธิปัญญาและวิมุตติหลุดพ้นถึงจะตามมาได้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าสติเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าธรรมทั้งปวง เปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง ที่ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งปวง ครอบรอยเท้าของสัตว์ทุกชนิด สติเป็นธรรมที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีสติแล้วธรรมอย่างอื่นก็ปรากฏขึ้นมาไม่ได้ ในศีล ๕ ก็ให้รักษาสติด้วยการไม่เสพสุรายาเมา ความจริงการเสพสุรายาเมาไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่เหมือนกับการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤตผิดประเวณี หรือพูดปดมดเท็จ แต่จะขวางกั้นการเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติ ถ้าเสพสุรายาเมาแล้วจะขาดสติ ทำให้ทำบาปทำกรรมได้ ทำดีไม่ได้ ภาวนาไม่ได้ บริกรรมพุทโธๆไม่ได้ มีแต่จะนอนอย่างเดียว สติจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในธรรมต่างๆจะมีสติอยู่เสมอ มรรค ๘ ก็มีสัมมาสติ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ก็มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สติปัฏฐาน ๔ ก็เกี่ยวกับสติ พวกเราจึงควรให้ความสำคัญต่อการเจริญสติ พยายามสร้างสติขึ้นมาก่อน เมื่อได้สติแล้ว สมาธิปัญญาจะตามมาตามลำดับ สติปัญญาเป็นธรรมคู่กัน เช่นสติปัญญา มหาสติมหาปัญญา อยู่ที่สติเป็นหลัก สติเป็นเหมือนเชือก เริ่มต้นก็จะเป็นเหมือนเชือกกล้วย ผูกไว้กับคอสุนัขและผูกไว้กับเสา มันกระตุกทีเดียวก็ขาด เพราะสติยังอ่อนอยู่ สู้กำลังของกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าฝึกตั้งสติไปเรื่อยๆ ดึงใจไว้อยู่เรื่อยๆ ให้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ พยายามฝึกไปเรื่อยๆ ใหม่ๆก็จะหลุด ทำได้ ๔ หรือ ๕ วินาทีก็หลุด พอได้สติก็ดึงกลับมาใหม่ ดึงกลับมาเรื่อยๆ เป็นเหมือนการชักเย่อกัน ตอนต้นเขาจะมีแรงมากกว่า จะดึงไปได้เรื่อยๆ ต่อไปพอสติมีกำลังมากขึ้น ก็จะดึงไปยาก ต่อไปจะไม่ไป จะอยู่กับงานที่ให้ทำ ไม่นานก็จะสงบ สามารถหยุดความคิดได้เลย ไม่ต้องใช้คำบริกรรมก็ได้ สั่งให้หยุดคิดได้เลย เมื่อมีสติขนาดนี้แล้วก็จะมีสมาธิ จะสงบนิ่งเย็นสบาย มีความสุข เวลาออกจากสมาธิ สังขารยังจะคิดไปตามอำนาจของกิเลส ต้องใช้ปัญญาเข้ามาแก้ต่อไป ต้องใช้ไตรลักษณ์ คิดไปในเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นอะไรก็พิจารณาว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นดินน้ำลมไฟ เราอยู่ในโลกของธาตุ ๔ ร่างกายก็เป็นธาตุ ๔ กุฏิก็เป็นธาตุ ๔ ต้นไม้ก็เป็นธาตุ ๔ ไม่มีอะไรไม่ใช่ธาตุ ๔ เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากเมล็ดก็เป็นต้น จากต้นเล็กก็เป็นต้นใหญ่ แก่ลงตายไป กลายเป็นดินไป ร่างกายก็เช่นเดียวกัน ไหลไปเหมือนกระแสน้ำ ไหลมาจากภูเขา ไหลลงมาเรื่อยๆ ตามห้วยตามลำธารตามแม่น้ำ ลงไปสู่ทะเลมหาสมุทร ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา จิตผู้รู้หรือธาตุรู้นี้ เป็นเพียงผู้ที่มาครอบครอง มาเป็นเจ้าของชั่วคราว แต่มากับความหลง มากับอวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาเป็นปัจจัยให้สังขารปรุงแต่ง ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรา แล้วก็เกิดตัณหาความอยาก เกิดอุปาทานความยึดติด เกิดภพ เกิดชาติตามมาต่อไป หลุดจากภพนี้ก็ไปต่อภพใหม่ เพราะจิตเป็นอกุสลา ธัมมา เป็นอวิชชา ปัจจยา สังขารา ถ้าเป็นไตรลักษณ์ ก็จะเป็นกุสลา ธัมมา จะเห็นตามความจริง ก็จะตัดตัณหาตัดอุปาทานได้ ตัดภพตัดชาติได้ ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวเรา ตัวที่จะทำให้เห็นก็คือสติ สติจะดึงใจให้กลับเข้ามาดูภายใน ถ้าไม่มีสติก็จะถูกอวิชชา ปัจจยา สังขารา ผลักให้ไปดูภายนอก ให้ไปดูรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็เกิดเวทนา สุขทุกข์กับสิ่งที่ได้สัมผัส เกิดอุปาทาน เกิดตัณหา เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทุกวันนี้เราก็อยู่กับพวกนี้ อยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะในรูปแบบต่างๆ ดีใจเสียใจกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ดีใจเสียใจกับธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ
จึงต้องสอนใจ ต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ พอได้ศึกษาได้ยินได้ฟังแล้ว จะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็พยายามทำให้มาก ตัดภารกิจอื่นออกไป ทำเท่าที่จำเป็น เป็นภารกิจที่สนับสนุนการปฏิบัติ อย่าไปเสียเวลากับการสนุกสนาน กับพวกรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญขึ้นฉลาดขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ทำให้หลงมากขึ้น ทุกข์มากขึ้น ทำงานเพื่อเอาปัจจัย ๔ มาสนับสนุนจุนเจืออัตภาพร่างกาย พอว่างจากการทำงาน ก็อย่าไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้าหาธรรมะ ให้เจริญสติ แม้แต่ในขณะที่ทำงานทำมาหากิน ก็สามารถเจริญสติได้ ดึงใจให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น กำลังเดินก็ให้รู้อยู่กับการเดิน กำลังพูดก็ให้รู้อยู่กับการพูด กำลังรับประทานอาหารก็ให้รู้อยู่กับการรับประทานอาหาร กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้รู้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ให้คิดอยู่กับเรื่องที่กำลังทำอยู่ ส่วนเรื่องอื่นถ้าจำเป็นจะต้องคิด ก็หยุดการทำอย่างอื่นเสียก่อน หยุดเคี้ยวหยุดรับประทานแล้วก็คิดให้พอ มีความจำเป็นจะต้องคิดเรื่องอะไรก็คิดไป เมื่อคิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หยุดคิด เก็บเอาเข้าลิ้นชัก แล้วก็มาคิดอยู่กับเรื่องที่กำลังทำอยู่ ต่อไปจะมีสติมากขึ้นไปเรื่อยๆ พอให้จิตบริกรรมแต่คำว่าพุทโธๆ ก็จะสงบ ให้สวดมนต์ก็สงบ ให้ดูลมหายใจเข้าออกก็สงบ กรรมฐาน ๔๐ เป็นเสาผูกจิต แต่ต้องมีเชือกสำหรับผูกจิตไว้กับเสา ก็คือสติ ใช้กรรมฐานชนิดไหนก็ได้ที่เราชอบ เป็นเหมือนอาหารที่เรารับประทาน ชอบรับประทานอาหารแบบไหน ก็รับประทานแบบนั้นไป ผลคือความอิ่มก็จะตามมา กรรมฐาน ๔๐ นี้เราเลือกได้ จะใช้อานาปานสติ รู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้ บริกรรมพุทโธๆ คือพุทธานุสติก็ได้ พิจารณาร่างกาย คือกายคตาสติก็ได้ ตัวสำคัญคือสติ ถ้ามีสติแล้วจิตจะไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับกรรมฐาน เมื่ออยู่อย่างต่อเนื่องไม่นานก็จะสงบสบาย สงบมากสงบน้อยอยู่ที่กำลังของสติ
ถ้าจิตไม่สงบจะสับสน ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร พอสงบแล้วจะเห็นว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหน พอรู้แล้วก็จะพยายามรักษาความสุขนี้ สร้างความสุขนี้ ให้มีมากขึ้นไป ให้มีอย่างต่อเนื่อง จนมีอยู่ตลอดเวลา เวลาอยู่ในสมาธิก็สงบได้ชั่วระยะหนึ่ง พอถอนออกมาจะคิดปรุงแต่ง กิเลสก็ออกมาทำงานต่อ เพราะสมาธิไม่ได้ตัดกิเลสให้ขาดให้ตาย เพียงแต่กดไว้เหมือนหินทับหญ้า พอออกจากสมาธิก็เหมือนยกหินออกจากหญ้า หญ้าก็เจริญงอกงามต่อไปได้ กิเลสก็ทำงานต่อไปได้ กิเลสจะตายได้ก็ต้องถอนรากถอนโคน คือโมหะความหลง ที่ทำให้โลภทำให้โกรธ ความหลงก็คือเห็นผิดเป็นชอบ ไม่เห็นไตรลักษณ์ เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะว่าเป็นสุข แต่ความจริงเป็นทุกข์ เป็นไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ความหลงจะเห็นว่าเป็นนิจจังสุขังอัตตา เห็นร่างกายเป็นตัวเป็นตน ให้ความสุขกับเรา ต้องอยู่ไปนานๆ แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่กิเลสเห็น เพราะเป็นความหลง จึงต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาเรื่อยๆ เพราะขณะที่ไม่วิเคราะห์พิจารณาด้วยปัญญา ก็จะไปทางกิเลสทันที ฝังลึกเป็นนิสัย เป็นเหมือนกับสีย้อมที่ติดอยู่ในผ้า ต้องเอาน้ำยาซักฟอกมาฟอกให้ออกไป เอาปัญญามาฟอกอาสวะที่มีอยู่ในจิต อาสวะเป็นเหมือนสีที่ละลายอยู่ในน้ำ ต้องเอาปัญญามากรองออกไป ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ทุกขณะที่กำลังคิดเรื่องอะไรก็ตาม ต้องมีไตรลักษณ์เข้ามาประกบอยู่เรื่อยๆ จะหยุดพิจารณาก็ตอนที่เข้าสมาธิเพื่อพักจิตเท่านั้น เพราะจะพิจารณาไปตลอดเวลาไม่ได้
คนเราทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมงไม่ได้ ต้องหยุดพักผ่อนรับประทานอาหาร จิตก็เช่นเดียวกัน พอพิจารณาไปนานๆ ก็เหนื่อยล้า ไม่แหลมคม มีอารมณ์ของกิเลสเข้ามาแทรก ควรหยุดพิจารณา กลับเข้าสู่สมาธิ พักจิตให้สบาย พอถอนออกมาจะสดชื่นมีกำลัง จิตว่างปราศจากอารมณ์ พิจารณาต่อได้ พิจารณาอะไรอยู่ก็พิจารณาต่อไป จนเป็นนิสัย มองอะไรก็จะมองว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นดินน้ำลมไฟ ทีนี้ก็ไปเข้าสนามสอบดู ไปทดสอบดู ไปดูคนตายดู คนอื่นตายไม่เป็นไร ดูคนของเราตายดูว่าเป็นอย่างไร ดูคนของเราเจ็บไข้ได้ป่วยว่าเป็นอย่างไร จิตวุ่นวายสับสนอลหม่านหรือเปล่า หรือดูแล้วปลงสังเวช ว่าเป็นธรรมดา ต่อไปเราก็ต้องเป็นเช่นกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะเขา ต่อไปเราก็เป็น ห้องสอบก็มีหลายห้อง ห้องของคนอื่นก็ห้องหนึ่ง ต่อไปก็เป็นห้องของเรา เป็นความจริงที่จะต้องปรากฏขึ้นมา ถ้าผ่านก็จะสบาย รู้แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นเวลาใดก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ไม่ทุกข์แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ต้องพิจารณา รู้ว่าผ่านแล้ว งานก็เสร็จสิ้นได้ งานภาวนามีที่สิ้นสุด วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์ได้เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อได้เข้าห้องสอบจนสอบผ่านแล้ว ปล่อยวางหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายแล้ว หลังจากนั้นก็สบาย ไม่ต้องทำอะไร ถ้าจะทำก็ทำให้กับคนอื่น กับตัวเองไม่ต้องทำอะไรแล้ว สอนคนอื่นต่อ เพื่อจะได้หลุดพ้น รางวัลที่ได้รับนี้ดีกว่ารางวัลที่คนอื่นจะให้เรา ลาภยศสรรเสริญสุขไม่มีความหมายเลย เมื่อเปรียบกับรางวัลที่เราได้คือ ปรมัง สุญญัง ปรมัง สุขัง สุขสุดยอด ที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่เลย สุขที่ถาวร เกิดจากจิตที่ว่าง ปราศจากโลภโกรธหลง นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ เริ่มต้นที่สติ ไม่ว่าจะทำอะไร ให้มีสติเสมอ ทำบุญให้ทานด้วยสติ รักษาศีลด้วยสติ ภาวนาด้วยสติ หลุดพ้นด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา
ถาม ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ไม่ใช่ทุกสิ่งดับหรือ ทำไมดับเฉพาะทุกข์
ตอบ เวลาพิจารณาไตรลักษณ์ ท่านเน้นที่ทุกข์ ตัวปัญหาก็คือตัวทุกข์นี้ มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ก็มีเท่านั้น ทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์หมด ทุกข์เกิดจากใจไปยุ่งกับสิ่งต่างๆ ความจริงสิ่งต่างไม่ได้เป็นทุกข์หรอก เป็นเพียงอนิจจัง เป็นเพียงอนัตตา ต้นไม้ใบหญ้าร่างกายนี่เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ แต่ใจไปทุกข์กับเขาเอง ทุกข์เพราะหลง เพราะอยาก เพราะยึดติด จึงทรงสรุปว่า มีแต่ทุกข์ที่เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์ที่ดับไปในจิต
ถาม มีเพื่อนคนหนึ่งใช้การพิจารณาคุณงามความดีของพ่อแม่ แทนที่จะใช้พุทโธหรือลมหายใจ อย่างนี้อยู่ในกรรมฐาน ๔๐ หรือไม่
ตอบ ไม่
ถาม เขาว่าง่ายกว่าพุทโธ
ตอบ บริกรรมแม่ๆหรือพ่อๆไปเรื่อยๆก็ได้
ถาม เขาคิดว่าแก้กรรมได้
ตอบ กรรมที่ทำไปแล้วเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ด่าใครไปแล้วจะไปถอนคืนอย่างในรัฐสภาไม่ได้ นั่นมันหลอกกัน หลอกด่าแล้วก็ไปถอนคืนทีหลัง มันเกิดขึ้นแล้ว ฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดแล้ว เขาก็ต้องโกรธเกลียดเรา มีโอกาสก็จะด่ากลับ อะไรที่เกิดขึ้นแล้วเราไปลบมันไม่ได้
ถาม ตอนสาวๆว่าคุณแม่มาก ตอนนี้อยากให้คุณแม่อโหสิกรรม
ตอบ เป็นการคิดที่ดี คุณพ่อคุณแม่มีพระคุณกับเรามาก ระลึกถึงพระคุณของท่านได้ก็ดี เป็นความกตัญญูกตเวที คิดแล้วทำให้สบายใจ ใจสงบ แต่จะสงบเหมือนกับการบริกรรมพุทโธหรือไม่ ต้องลองทำดู แต่หลักของการทำสมาธินี้ นอกจากกรรมฐาน ๔๐ นี้แล้ว อย่างอื่นก็ใช้ได้ ศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่นก็ใช้คำอื่น เช่นใช้โอม เป็นสังขารความคิดปรุงอย่างหนึ่ง ที่ทำให้จิตไม่กระเพื่อม ไม่ปรุงแต่งไปในทางกิเลส ให้เป็นกลาง
ถาม ตามหลักของทางวัดป่า จะสอนให้ทำสมาธิให้จิตตั้งมั่น แต่ของเขาเป็นแบบปัญญาอบรมสมาธิ ให้คิดแต่ในทางดีตลอด ลูกก็บอกว่าจะทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่ได้สมาธิ ทำอะไรก็ตามให้คิดดีตลอดเวลา อย่างนี้ลูกว่าไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิ
ตอบ ถ้าคิดในทางไตรลักษณ์ก็ใช้ได้ แต่จะเป็นสมาธิหรือไม่นั้น อยู่ที่สติจะควบคุมให้คิดไตรลักษณ์ไปตลอดเวลาหรือไม่ คิดจนถึงแก่นมันหรือไม่ เช่นฟุ้งซ่านสามีจะจากไป ไปมีแฟนใหม่ แล้วคิดว่าในที่สุดก็ต้องจากกัน ขณะนี้ใครกำลังทุกข์อยู่ เรากำลังทุกข์ใช่ไหม ทุกข์เพราะอะไร เพราะหวงยึดติดว่าเป็นของเราใช่ไหม ความจริงเขาเป็นของเราหรือไม่ ถ้าพิจารณาจนเห็นชัดแล้วว่า ไม่ใช่ของเรา ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องปล่อยเขาไป พอยอมรับความจริง แล้วก็จะไม่ทุกข์ ระหว่างความทุกข์กับเขาจะเอาอะไรดี ถ้าเอาเขาก็ต้องทุกข์ ถ้ายังอยากให้เขาอยู่ก็ต้องทุกข์ เพราะเขาจะไม่อยู่ เขาจะต้องไปแน่ๆ ถ้าปล่อยเขาไปเราก็ไม่ทุกข์ ยอมรับความจริงว่าเขาไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงสมบัติชั่วคราว ก็จะหายทุกข์ อย่างนี้ถึงเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลมีแม่คนหนึ่ง คลอดลูกออกมาได้ไม่นานลูกก็ตายไป ทุกข์มาก อยากให้ลูกฟื้น ชาวบ้านสงสาร เห็นนั่งกอดลูกร้องห่มร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน ก็เลยแนะให้ไปหาพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าจะช่วยทำให้ฟื้นได้ ก็ดีใจ มีความหวัง รีบอุ้มลูกไปกราบพระพุทธเจ้า ทรงเมตตาถามว่าต้องการอะไร ทราบว่าจะช่วยทำให้ลูกฟื้นได้ ทรงตรัสว่า ได้ ง่ายนิดเดียว ให้ไปเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาให้พระองค์ แต่ต้องเอามาจากบ้านที่ไม่มีคนตายเลย ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มีพี่น้องตาย แกก็ดีใจรีบไปทันที ไปเคาะตามประตูบ้าน ทุกบ้านก็มีเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่ทุกบ้านก็มีคนตาย จนเหนื่อยใจเห็นสัจธรรมความจริง ว่าความตายเป็นธรรมดา เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นว่าที่กำลังทุกข์อยู่เพราะไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตา พอเห็นอนิจจังว่าความตายเป็นธรรมดา ตายไปแล้วก็กลับมาไม่ได้ ก็ยอมรับความจริง ก็หายทุกข์ ก็เลยเอาศพลูกชายไปทิ้งไว้ในป่าช้า นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ
ถาม ปัญญาอบรมสมาธินี้ กับปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาธรรม หลังจากที่จิตออกจากสมาธิแล้ว ไม่เหมือนกันหรือ
ตอบ ยังเป็นการทำการบ้านอยู่ เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่นร่างกายของเรา เป็นการฝึกฝนเตรียมใจรับกับเหตุการณ์ พอรู้วิธีรับกับเหตุการณ์ รู้วิธีรักษาใจด้วยปัญญาแล้ว ก็ไปเข้าห้องสอบดู กลัวอะไรก็ไปที่นั่น กลัวผีก็ไปป่าช้า กลัวตายก็เข้าไปในป่า ไปอยู่ในสถานที่ที่น่ากลัว ที่น่ามีภัยถึงแก่ชีวิตได้ ไม่ได้ไปรักษาร่างกาย แต่ไปรักษาใจด้วยปัญญา รักษาใจไม่ให้ทุกข์ เพราะเมื่ออยู่ในที่น่ากลัว ความทุกข์จะเกิดขึ้น อวิชชา ปัจจยา สังขารา จะออกมา เราจะตายแล้ว เดี๋ยวเสือจะมากัดกิน หมีจะมากัดกิน ตอนนั้นต้องใช้ปัญญาที่ได้เจริญมาดับความกลัว เหมือนกับนักมวย ตอนต้นก็ซ้อมกับคู่ซ้อม ชกกับกระสอบทรายไปก่อน พอขึ้นเวทีจริง ดูซิว่าจะผ่านจะชนะหรือไม่ ถ้าไม่ชนะก็แสดงว่ายังไม่ทันกิเลส อวิชชา ปัจจยา สังขารา ยังเร็วกว่า ไตรลักษณ์ปัจจยา สังขารา ยังช้ากว่า ธรรมะ ปัจจยา สังขารา ยังช้ากว่า ก็ต้องกลับมาฝึกใหม่ พิจารณาให้มากขึ้น ให้ต่อเนื่องจนเร็วกว่ากิเลส แล้วค่อยไปสอบใหม่
ถาม ถ้าผ่านไปได้ครั้งหนึ่งแล้ว
ตอบ ก็ผ่านได้ตลอด เฉพาะเรื่องนั้น
ถาม ถ้ากลัวอีก
ตอบ เพราะข่มใจด้วยสมาธิ ถ้าข่มด้วยปัญญา จะไม่กลัวอีก ต้องปลงว่า จะเป็นอะไรก็เป็น จะตายก็ตาย ต้องปล่อยร่างกายให้ได้
ถาม ถ้าปลงได้แล้วจะปล่อยวางอย่างถาวร ถ้าข่มด้วยสมาธิจะปล่อยได้ชั่วคราว
ตอบ ถูกต้อง
ถาม แต่ก่อนกลัวผีมาก ตอนนี้ก็คิดว่ากล้าขึ้น ตอนนี้ทดสอบด้วยการไปรดน้ำศพ รู้สึกว่าได้ผลดี กลับมาบ้านแล้วก็จะเฉยๆ ไม่กลัวอะไรเลย อยู่คนเดียว รู้สึกว่าเข้มแข็งขึ้น อย่างนี้ถือว่าก้าวหน้าหรือไม่
ตอบ ถ้าไม่กลัวก็ก้าวหน้า ความกลัวเป็นกิเลส ขั้นต่อไปก็ไปดูการผ่าศพ เพื่อปลงสังเวช ร่างกายของเขากับของเราก็เหมือนกัน ต่อไปร่างกายของเราก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน
ถาม ท่านอาจารย์สอนให้ไปอยู่ป่าช้า
ตอบ ถ้ากลัวผีก็ต้องไป เราเองก็ไม่เคยอยู่ป่าช้า เคยไปนั่งอยู่คืนหนึ่ง แต่ไม่ได้ไปองค์เดียว ไปด้วยกัน ๓ องค์ แต่แยกนั่งกันคนละมุม ภาวนาอยู่ ๒ ชั่วโมง ไม่เห็นมีอะไร
ถาม ท่านอาจารย์เคยพูดว่า ให้นั่งจนสงบแล้วค่อยพิจารณา ถ้าไม่สงบก็จะไม่ได้พิจารณาสักที ลูกก็กลับมานั่งคิด คิดไปคิดมามันก็ว่าง จิตว่างเลย นี่สงบหรือเปล่า สักพักหนึ่งก็สงสัยว่าบรมสุขที่ท่านอาจารย์พูดถึงเป็นอย่างไร อย่างนี้ใช่หรือเปล่า ไม่เห็นจะสุขเลยมันแค่ว่างเฉยๆ บรมสุขน่าจะเหมือนถูกลอตเตอรี่ แต่นี่แค่ว่าง ไม่สุขแบบที่ว่าเลย
ตอบ ยังไม่ใช่ จิตยังไม่รวมลงถึงฐาน
ถาม ถ้าสุขจริงๆแล้ว มันเป็นอย่างไร
ตอบ เหมือนตกหลุมตกบ่อตกเหว วูบลงไปแล้วก็นิ่ง เย็นสบาย โล่งอกโล่งใจ เบาอกเบาใจ ที่ให้พิจารณาหลังจากออกมาจากความสงบ เพราะจะได้ผลจริงๆ ถ้าพิจารณาโดยที่จิตยังไม่สงบ จะพิจารณาไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ เพราะกิเลสจะคอยรบกวนอยู่เรื่อย พิจารณาได้ไม่นานเดี๋ยวมันก็มาเถียงมาค้าน แต่ถ้าจิตสงบแล้ว พอออกมาจากความสงบ กิเลสยังงัวเงียอยู่ ยังไม่มีแรง ตอนนั้นจิตจะมีเหตุมีผล ไม่มีอารมณ์ พิจารณาความตายก็ยอมรับว่าต้องตายจริงๆ
ถาม พอลงถึงฐานได้แล้ว แต่เรายังอยู่ในทางโลก เวลาไม่มากพอ เราควรใช้เวลาพิจารณามากเพียงไร
ตอบ เวลาขึ้นเวทีชกมวย เราต้องชกตลอดเวลาเลย ใช่ไหม เพราะคู่ต่อสู้ชกเราตลอดเวลา กิเลสเขาทำงานตลอดเวลา เราจะพิจารณามากน้อยเพียงไรดีล่ะ ถ้าเป็นมวยสมัครเล่นก็อย่าไปหวังชิงเหรียญทอง ต้องออกบวช ปฏิบัติล้วนๆ ต้องลาออกจากงาน ถึงจะมีเวลาพอ
ถาม ถ้าอย่างนั้นจิตรวมจึงยากมากสิคะ
ตอบ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย อยู่ที่บารมีที่ได้บำเพ็ญมา
ถาม อยู่ที่เทคนิคหรือไม่คะ
ตอบ อยู่ที่สติ ถ้าได้บำเพ็ญสติมามากก็ง่าย นั่งปั๊บก็ได้เลย คุณแม่แก้วนั่งเพียง ๕ นาทีก็ได้แล้ว พอเห็นผลแล้ว จะรู้เลยว่านี่คืองานของเรา งานอย่างอื่นไม่ใช่แล้ว ติดงานอะไรอยู่ ก็หาวิธีตัดให้ได้ เพื่อจะได้ทำงานนี้อย่างเต็มที่
ถาม ท่านอาจารย์จิตรวมครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปท่านทำแบบไหนเพื่อให้จิตรวมอีก
ตอบ ส่วนใหญ่จะไปทางปัญญา ไม่ค่อยจะเข้าสมาธิ คอยดึงใจที่ชอบอยากโน่นอยากนี่ไว้ พยายามฝืนความอยาก อยากจะไปที่โน่น ก็ไม่ไป ฝืนจนหายอยากไปเอง ตอนที่อยากก็ทุรนทุราย ทรมานจิตทรมานใจมาก พอหยุดปั๊บก็โล่งใจเบาใจ จะใช้วิธีนี้เป็นหลัก ใจชอบเพ่นพ่าน ไปโน่นมานี่ ไม่มีเหตุมีผล พออยากจะไป ไม่ได้ไปก็จะหงุดหงิด ทุกข์ทรมานใจ เราก็ใช้สติดูมันไป ไม่ไปตามความอยาก พอรู้ว่าไปไม่ได้มันก็หยุดอยากหายอยากไปเอง หายขาดไปเลย แล้วก็สงบลงไป จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเกิดความคิดว่า วันๆหนึ่งเราไม่เคยนั่งอยู่กับที่เลย ทำไมวันนี้เราไม่นั่งอยู่กับที่ดูบ้าง หาเก้าอี้สบายๆมานั่งสักตัวหนึ่ง เอาน้ำมาวางไว้ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดูไม่ต้องฟังอะไร จะนั่งสมาธิก็ได้ จะพิจารณาธรรมก็ได้ ถ้าเมื่อยจะลุกขึ้นยืนก็ได้ จะเข้าห้องน้ำก็ได้ นอกจากนั้นจะไม่ให้ไปจากเก้าอี้ เริ่มนั่งตั้งแต่ตอนสายๆ หลังจากรับประทานอาหารแล้ว จะนั่งจนมืด จนต้องเปิดไฟ ถึงจะลุกไปจากที่นั่ง ต่อสู้กับความอยาก ที่อยากจะไปทำโน่นทำนี่ สู้กับความอยากไป ด้วยสมาธิด้วยพุทโธบ้าง ด้วยการพิจารณาธรรมบ้าง แต่ไม่อ่านหนังสือ ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น สู้กับความอยาก ส่วนใหญ่เราจะปฏิบัติอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นก็จะนั่งดูลมหายใจบ้าง พิจารณาร่างกายบ้าง พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาซากศพ พิจารณารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ทำอยู่อย่างนี้ พิจารณาแล้วปฏิบัติตาม พอรู้ว่าเป็นทุกข์ก็ไม่ไปแสวงหา ไม่ไปดูไม่ไปฟัง ไม่ไปเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เสพแต่สิ่งที่จำเป็นกับร่างกาย รับประทานก็รับประทานเพื่อร่างกาย มีอะไรก็รับประทานไป เครื่องดื่มต่างๆก็ไม่ดื่ม ดื่มแต่น้ำเปล่า
ถาม เวลาลงครั้งหนึ่งแล้วอยากจะลงอีก
ตอบ อย่าไปอยาก ถ้าอยากจะไม่ลง ภาวนาไป บริกรรมไปเรื่อยๆ เหมือนกับไม่เคยรวมลงเลย อย่าไปอยากให้รวมลง ไม่รวมก็ไม่เป็นไร ถ้าจะลงก็ต้องนั่งจนเจ็บปวดแล้วบริกรรมไปอย่างเดียว ไม่คิดเรื่องอื่น ถึงจะลงได้ หรือไปอยู่ที่น่ากลัวๆมากๆ แล้วก็บริกรรมอย่างเดียว ไม่ส่งจิตไปหาความกลัว ถึงจะลงได้ ส่วนใหญ่จะลงครั้งแรกครั้งเดียว ถ้าอยากจะลงอีกต้องเปลี่ยนเหตุการณ์ หรือบริกรรมแบบมีสติอย่างต่อเนื่องเต็มที่ เช่นคุณแม่แก้วที่ลงได้ทุกครั้ง ถ้าชำนาญแล้วจะลงได้ทุกครั้ง ให้เกาะติดอยู่กับการบริกรรม อย่าไปคาดถึงผล หรือคิดถึงผลที่ได้รับมาแล้ว ถ้าไปคิดอย่างนั้นปั๊บ ก็จะไม่ได้บริกรรมแล้ว ต้องบริกรรมไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่รวม ก็จะมีความสบายใจ เพลิดเพลินกับการบริกรรม เป็นอุเบกขาอีกแบบหนึ่ง ไม่สนใจกับเรื่องราวต่างๆ จะอยู่กับการบริกรรมอย่างเดียว จึงควรบริกรรมในขณะที่กำลังทำงาน ทำงานไปก็บริกรรมไป ไม่วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ ไม่บ่นเรื่องนั้นบ่นเรื่องนี้ บริกรรมไป มีหน้าที่อะไรก็ทำไป จิตจะสงบตลอดเวลา จะไม่ยุ่งกับใคร จะอยู่กับงานอย่างเดียว
ถาม จำเป็นหรือไม่ที่ต้องผ่านด่านนี้ จิตต้องรวม ถึงจะไปต่อได้
ตอบ จำเป็น รวมแล้วจะเกิดกำลังใจ เกิดฉันทะวิริยะ เหมือนกับทำงานแล้วไม่ได้เงินเดือน ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร แต่พอได้เงินเดือนแล้วก็ไม่ต้องบังคับ จะยินดีทำอย่างยิ่งเลย
ถาม การมีสติในชีวิตประจำวัน บางทีอยู่ที่กาย บางทีอยู่ที่ใจ
ตอบ ได้
ถาม ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะอยู่กับบ้าน ใช้วิธีตามรู้กายรู้ใจ แล้วแต่ว่าอะไรจะเด่น บางทีมีสภาวธรรมเข้ามา เอาไม่อยู่ ก็พยายามปลงลงที่ไตรลักษณ์ ก็จะหยุดนิ่ง จะใช้ลมหายใจ ไม่ได้นั่งภาวนานานๆหรือเดินจงกรมเป็นชั่วโมงๆ แต่พยายามดึงกลับมาตลอดทั้งวัน อย่างนี้ก็ได้ใช่ไหมเจ้าคะ ไม่ต้องนั่งภาวนานานๆ
ตอบ ที่นั่งนานๆก็เพื่อให้มันเจ็บ จะได้ผ่านความเจ็บได้ ผ่านเวทนาได้ปล่อยวางเวทนาได้
ถาม ถ้าทุกวันนี้ เรารู้สึกสงบดี มีความสุขดี ความอยากได้อยากมีอยากเป็นน้อยลงไปเรื่อยๆ เราก็ทำตามนี้ต่อไป หรือควรจะเพิ่ม
ตอบ อยากจะให้ตัดไปให้มากๆ ตัดไปเรื่อยๆ ไม่ให้หาความสุขจากสิ่งภายนอกเลย ให้หาความสุขจากในตัวเรา เหมือนที่ให้นั่งอยู่กับเก้าอี้สัก ๗-๘ ชั่วโมงไม่ต้องไปทำอะไร
ถาม การนั่งภาวนานี่จำเป็นไหม
ตอบ การภาวนาไม่ได้อยู่ที่การนั่ง อยู่ที่สติกับปัญญา ส่วนอิริยาบถทั้ง ๔ นี่ ก็สับเปลี่ยนกันไป เพราะอิริยาบถเป็นเรื่องของร่างกาย การภาวนาเป็นเรื่องของจิต จิตภาวนาได้ทั้ง ๔ อิริยาบถ เพียงแต่อิริยาบถนอนจะไม่ได้ผลเท่าไหร่ เพราะสบาย จะเผลอสติ จะหลับไปเสียส่วนใหญ่ ท่านถึงนิยมใช้ ๓ อิริยาบถ คือเดินยืนนั่ง ร่างกายต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่เช่นนั้นจะพิกลพิการได้ ถ้านั่งนานๆแล้ว ก็ควรจะยืนบ้าง ควรจะเดินบ้าง เดินนานๆก็กลับมานั่งบ้าง ในอิริยาบถทั้ง ๓ นี้ ให้มีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ ไม่ให้จิตออกไปสู่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไปสู่เรื่องต่างๆ ให้อยู่กับไตรลักษณ์ อยู่กับสติปัฏฐาน ๔ อยู่ที่กายก็พิจารณากาย อยู่ที่เวทนาก็พิจารณาเวทนา เวทนาเป็นอย่างไรก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็รู้ตามความจริง ไม่ต้องปรับเวทนา เช่นร้อนก็ไปติดเครื่องปรับอากาศ ไม่ต้องไปปรับ ปล่อยให้ร้อนไป เราปรับใจ หนาวก็ปรับใจ สำหรับร่างกายก็ใช้ผ้าห่มกันหนาว เพราะอาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยได้ ปรับอย่างนี้ไม่ได้ปรับกิเลส ปรับเพื่อร่างกายปรับได้ เพราะจำเป็น ถ้าจะปรับเพื่อกิเลสก็อย่าไปปรับ เช่นร้อนก็ทนไป นั่งแล้วเจ็บปวดก็ทำใจให้เป็นอุเบกขา ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป
หรือพิจารณาดูความเจ็บปวด ว่ามันเจ็บจริงๆหรือเปล่า หรือเราไปอุปาทานว่ามันเจ็บเอง มีกิเลสไปรังเกียจมัน อยากให้มันหาย ถ้าไม่อยากแล้ว จะไม่ทุกข์ใจ ซึ่งรุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายหลายร้อยเท่า ถ้าทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ ยอมรับความเจ็บของร่างกายได้ ความเจ็บทางใจ คือความทุกข์ในอริยสัจจะไม่เกิด พอไม่เกิดใจก็ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องกินยาแก้ปวด ต่อไปไม่ต้องกินยาแก้ปวด อยู่ที่ร่างกายนี้ มันไม่ได้ปวดที่ใจ ส่วนใหญ่ที่กินยาแก้ปวดนี้มันเป็นจิตวิทยา พอได้กินยาแล้วรู้สึกว่ามันเบาขึ้นก็สบายใจขึ้นมา เพราะไม่เคยฝึกใจให้รับกับความเจ็บปวดของร่างกาย พอร่างกายเจ็บปวดขึ้นมาก็มีปฏิกิริยาซ้อนขึ้นมา ความทุกข์ซ้อนขึ้นมา ถ้าเราฝึกดับปฏิกิริยาทางใจได้แล้ว ความเจ็บปวดทางกายก็จะไม่รุนแรง จะกินก็ได้ไม่กินก็ได้ มันไม่ไปกระทบกับใจ ที่ทนไม่ได้ก็เพราะความทุกข์ทางใจที่ทนไม่ได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ไม่เดือดร้อนกับความเจ็บไข้ได้ป่วย กับความตาย เพราะใจไม่มีปฏิกิริยา กับความเจ็บไข้ได้ป่วย กับความตาย ใจเป็นอุเบกขา เพราะมีทั้งสติ มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา เป็นเครื่องมือรักษาใจให้เป็นอุเบกขา ให้ปล่อยวางได้ จึงต้องภาวนา เจริญสมาธิกับปัญญาสลับกันไป สติก็เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่อยากจะมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่ต้องการอะไรเลย อยากจะอยู่คนเดียว
ถาม ในชีวิตประจำวันถ้าเราเห็นอารมณ์ เห็นจิตออกไปข้างนอกมากขึ้น แสดงว่าเรามีสติมากขึ้นหรือไม่
ตอบ มี ถ้าไม่มีจะไม่เห็น เพียงแต่เห็นอย่างนี้ยังไม่พอ เป็นเพียงขั้นเริ่มต้น เห็นแล้วต้องกำจัดอารมณ์ให้ได้ จนเห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็ไม่เกิดอารมณ์
ถาม ถ้าจะให้เห็นแล้วเฉย ต้องลงไปที่ไตรลักษณ์
ตอบ ใช่
ถาม เมื่อก่อนโกรธจนจบไปแล้วถึงรู้ตัว แต่เดี๋ยวนี้พอโกรธปั๊บจะรู้ มันเหมือนไวขึ้นๆ
ตอบ ต้องลงไปที่อนัตตา มองอะไรเห็นอะไร ต้องพิจารณาว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เวลาลมพัดเสียงดัง โกรธลมหรือเปล่า เวลาเปียกฝนโกรธฝนหรือเปล่า แต่เวลาโดนคนสาดน้ำกลับโกรธ มันก็น้ำเหมือนกัน คนสาดก็เป็นดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ต้องเห็นถึงขั้นนั้น ถึงจะว่าง ถึงจะเฉย
ถาม เป็นอัตโนมัติไปแล้ว
ตอบ ต้องถูกเคี่ยวเข็ญ ต้องถูกครูบาอาจารย์ด่า
ถาม ต้องละสักกายทิฐิ ละตัวตน
ตอบ ละอัตตาตัวตน ทั้งภายนอกและภายใน ให้ว่างจากตัวตน จิตก็ไม่ใช่ตัวตน ผู้รู้ก็ไม่ใช่ตัวตน สังขารความคิดปรุงแต่งก็ไม่ใช่ตัวตน เวทนาก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาวธรรมหมด เหมือนกับดินน้ำลมไฟ ภายนอกเป็นดินน้ำลมไฟ ภายในเป็นสภาวธรรม ที่เกิดดับ เกิดดับ เหมือนกับแสงหิ่งห้อย เวทนาก็เหมือนแสงหิ่งห้อย สัญญาก็เหมือนแสงหิ่งห้อย สังขารก็เหมือนแสงหิ่งห้อย วิญญาณก็เหมือนแสงหิ่งห้อย
ถาม ลูกได้อ่านมาว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า มัชฌิมาปฏิปทาก็เป็นสมมุติ เมื่อถึงวิมุตติแล้ว มันเหนือทุกอย่าง
ตอบ วิมุตติไม่มีภาษา มันว่างหมด ว่างจากสัตว์จากบุคคล จากสมมุติบัญญัติทั้งหมด สักแต่ว่ารู้ ถ้าจิตว่างจะรู้เฉยๆ สมมุติก็รู้ แต่ไม่หลงสมมุติ ไม่ติดสมมุติ รู้ว่าคนนั้นเป็นนายกฯ คนนี้เป็นอาจารย์ แต่ก็รู้วิมุตติด้วยว่า เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ต้องปฏิบัติให้เหมาะกับสมมุติ ผู้ใหญ่ก็กราบ ผู้น้อยก็รับไหว้ แต่เหมือนกันทางวิมุตติ เป็นดินน้ำลมไฟเหมือนกันหมด มาจากดินน้ำลมไฟด้วยกันทั้งนั้น เป็นซากศพด้วยกันทั้งนั้น มีใครไม่ตายบ้าง ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้วก็หายหลง เรื่องตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ เรื่องความสูงความต่ำนี้มันไม่มี มันเป็นสมมุติ เป็นบทละคร ที่โลกเขามีกัน เขาถือกัน เราอยู่กับโลกก็ต้องเคารพสมมุติ ไม่ใช่ไม่เคารพ มีพระบางรูปมีทิฐิไม่ยอมไหว้พระผู้ใหญ่ เพราะว่าไม่มีคุณธรรม ท่านว่าพรรษาไม่สำคัญ สำคัญที่คุณธรรม
ถาม คุณธรรมวัดกันตรงไหน มันวัดลำบาก
ตอบ คุณธรรมก็วัดกันได้ คุยกันก็รู้ แต่ก็ต้องเคารพสมมุติ มีพรรษามากกว่าก็ต้องกราบ ถ้าไม่อยากกราบก็อย่าไปเจอท่าน ท่านมาทางนี้เราก็เดินไปอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เสียมารยาท ถ้าต้องแสดงคารวะก็ต้องแสดงกันไป แต่ใจไม่ได้คารวะด้วย คารวะตามกฎของสมมุติ เหมือนกับเล่นฟุตบอล มีกติกาที่ต้องเคารพ ทำงานในบริษัทก็ต้องเคารพกติกา เขาเป็นเจ้านาย แต่คุณธรรมอาจจะต่ำกว่าเราก็ได้ เขาไม่รักษาศีล ๕ เรารักษาศีล ๕ แต่ก็ต้องไหว้เขา เพราะเขาเป็นคนจ่ายเงินเดือนให้เรา ก็ทำไป เป็นบทละคร
ถาม เหมือนกับคำพูดที่ว่า ใช้สมมุติเดินเข้าไปสู่วิมุตติ
ตอบ ใช้ธรรมะเพื่อปล่อยวางสมมุติ สมมุติก็มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ฝ่ายดีก็เป็นธรรม ฝ่ายไม่ดีก็เป็นกิเลส กิเลสจะยึดติดในอัตตาตัวตน ธรรมะก็สอนว่าไม่มีตัวตน มาแก้กัน อนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นสมมุติฝ่ายดี พอหลุดแล้ว ทั้งอนิจจังทุกขังอนัตตา ทั้งกิเลสก็หมดปัญหาไป ไม่ต้องพิจารณาไตรลักษณ์อีกต่อไป ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป หายจากโรคภัยแล้ว เมื่อจิตสักแต่ว่ารู้แล้ว เห็นอะไรก็สักแต่ว่า ก็หมดปัญหาไป ไม่ต้องพิจารณาอีกแล้ว
ถาม พอจิตเคยสงบแล้ว ก็พยายามปฏิบัติแบบที่เคยทำให้สงบอีก แต่ไปได้แค่ครึ่งทาง จะไม่สุดเหมือนกับที่เคยเป็น อาจจะเป็นเพราะไปคาดหวัง หรือจิตไปจดจ่อกับว่าจะต้องให้ได้ผลอย่างนั้นอีก ครั้งแรกไม่ได้คิดว่าจะเจอ เพียงแต่ว่านึกถึงคำที่ท่านอาจารย์สอนว่า การเกิดดับของจิตมันเร็วมาก ปื้ดเดียวก็วืบลงไปเลย บอกไม่ถูก มันไปได้เองและเร็วมาก ท่านอาจารย์บอกให้ทำการบ้านก็ทำ ทุกทีก็ทำแต่ก็ทำไปเรื่อยๆ วันนั้นก็คิดว่า ไหนลองดูซิว่าทำได้ไหม ก็เลยทำไปเรื่อยๆ ท่านบอกว่าวิถีจิตนี้มันเร็วมาก ถ้าไม่คุมอยู่ตรงนั้นก็ไม่สามารถที่จะนิ่งได้ ก็เลยบริกรรมเร็วๆๆๆ จนแบบไม่รู้ว่าเร็วได้ขนาดนั้น แล้วก็พรึบหายไปเลย หายไปแป๊บเดียว ก็รู้ว่าเวทนาหายไป พอจะมาทำอีกครั้งหนึ่ง มันเหมือนกับว่าเราเร่งไปได้ครึ่งทางแล้วก็หมดแรง จบอยู่แค่นั้น ไม่ปึ้ดไปเหมือนหนแรกที่ไปแล้วไปได้ตลอด อยากจะทำให้เป็นอีก
ตอบ ทำใหม่ แต่อย่าให้มีความอยาก
ถาม เป็นเพราะเราไปคาดคิด แต่ครั้งแรกเราไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเป็นอย่างไร มันก็เลยไปได้
ตอบ ใช่ อย่าไปคาด ทำไปเรื่อยๆ พุทโธๆไป ทีนี้ต้องนั่งไปยาว ถ้าสติดีก็จะสงบเร็ว แต่จะไม่เจอความเจ็บปวด ถ้าสติไม่ค่อยดีนั่งไปจะเจอความเจ็บปวด ตอนนั้นก็ต้องใช้การบริกรรม เพื่อให้ผ่านความเจ็บปวดไปให้ได้
ถาม แต่ของลูกที่ทำ มันหายไปนี่ มันไม่เจ็บนะคะ แวบหนึ่ง แล้วสักพักหนึ่งก็กลับมาอยู่ในสภาพปกติ คือเวทนาก็เริ่มเกิดแต่ยังทนได้ พออีกสักพักก็กลับมาใหม่ ทีนี้เริ่มปวดเหมือนเดิมแล้ว ทีนี้ลูกรู้แล้วว่า ต้องเจ็บอีกแน่ๆ ก็เลยพยายามภาวนาบริกรรมไป ถ้าจิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมโดยใช้ความเร็วพอสมควร เพิกเฉยต่อทุกอย่าง ก็จะหายไปช่วงหนึ่ง แต่จิตของลูกตามไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ปุ๊บหนึ่งมันก็กลับมาใหม่ ไปได้ครึ่งหนึ่ง เริ่มแล้วแต่ไปไม่ได้ตลอด
ตอบ ต้องพยายามทำต่อไป เราไปหมดแรงก่อน
ถาม ใช่ค่ะ ทำไมมันหมดแรงง่ายอย่างนั้น
ตอบ เพราะมีเท่านั้น ต้องพยายามฝืนทำไป
ถาม ตอนที่เริ่มเร่งขึ้นมา รู้ว่ากำลังลุ้น ว่ามีสิทธิ์ไปได้อย่างที่เจอหนแรก แต่พอไปได้แค่ครึ่งเดียว มันก็เฉย จบ เหมือนวิ่งๆไปแล้วก็หยุดกึก บอกไม่ถูก ทำไมให้มันค่อยๆไป ไม่ต้องออกแรงมาก แต่ไปให้ถึงจุดหมายอย่างนี้ไม่ได้หรือ
ตอบ ได้ แต่เราไปรีบร้อนเอง รีบร้อนแล้วไม่มีแรงพอ ต้องทำไปตามกำลังของเรา ใจเย็นๆ มีเวลาทำอีกเยอะ อย่ามักง่าย อย่าอยากทำให้เสร็จเร็วๆ ควรทำไปเรื่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง
ถาม ตอนที่มันเกิดหนแรกมันเกิดเพราะความเร็ว ก็เลยคิดว่าต้องใช้ความเร็ว
ตอบ เวลาเจอความเจ็บอย่าไปถอยเท่านั้นเอง ทำต่อไป ทำเหมือนที่เคยทำ อย่าไปอยากให้ความเจ็บหาย เหมือนคราวก่อน อย่าไปคิดถึงมัน อยู่กับคำบริกรรมไปเรื่อยๆ
ถาม เคยใช้วิธีนี้แล้วมันได้ผล พอจะใช้ใหม่อีกมันไม่ได้แล้ว
ตอบ ต้องเริ่มต้นใหม่
ถาม อยู่บ้านแล้วอยากมาฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์ เป็นกิเลสไหม
ตอบ เป็นกิเลสก็ได้ เป็นธรรมก็ได้ ถ้ายังต้องอาศัยการฟังอยู่ ก็เป็นธรรม ถ้าปฏิบัติได้แล้วแต่อยากจะไป ก็จะเป็นกิเลสได้ เพราะอยากจะหนีจากการปฏิบัติ
ถาม แล้วคนที่ชอบหนีมาบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นกิเลส
ตอบ แล้วแต่สภาวะจิต ถ้าจบ ป.๓ แล้ว แทนที่จะขึ้น ป.๔ แต่อยากจะลงมาเรียน ป.๒ ก็เป็นกิเลส เพราะถอยหลัง ไม่ก้าวหน้า
ถาม เหมือนใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติ ใช่ไหมคะ
ตอบ จะได้นั่งรถเที่ยว ดูนั่นดูนี่ ไม่ต้องภาวนา ความจริงถ้าอยากจะฟังธรรม เทปก็มีให้ฟัง หนังสือก็มีให้อ่าน มีเยอะแยะ
ถาม ทำไมไม่มีองค์ที่บรรลุแล้ว เขียนเป็นขั้นๆไว้ เป็น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕
ตอบ เขียนไว้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงมรรค ๘ ไว้เป็นขั้นๆแล้ว
ถาม ยังกว้างมาก
ตอบ จะเอาละเอียดถึงขนาดไหน ขั้นแรกก็สติ ตื่นขึ้นมาก็ให้ตั้งสติก่อนเลย ก่อนจะลุกก็ต้องรู้ว่ากำลังคิดว่าจะลุกแล้ว แล้วก็เฝ้าดูความคิดกับการกระทำของเรา กำลังลุกแล้วนะ กำลังยืนแล้วนะ กำลังเดินแล้วนะ นี่ขั้นแรกก็สอนแล้ว ไม่ทำกันเอง
ถาม แนวทางถึงโน่นเลยค่ะ
ตอบ สอนหมดแล้ว สติไปสู่สมาธิ สมาธิไปสู่ปัญญา ปัญญาไปสู่การหลุดพ้น ชัดแจ้งแดงแจ๋อย่างนี้แล้ว จะให้ละเอียดถึงขนาดไหน ขั้นที่ ๑ ก็คือสติ ขั้นที่ ๒ ก็คือสมาธิ ขั้นที่ ๓ ก็คือปัญญา บอกอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เราไม่ทำกัน ตลอดเวลา ๓ ปีนี้ก็พูดแต่เรื่องนี้ หลวงตาเคยเทศน์ให้ฟังว่า สมัยที่ฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่นนี่ เหมือนท่านเปิดตู้พระไตรปิฎกให้ดู ดูมรรคผลนิพพาน พอท่านเทศน์เสร็จเหมือนท่านปิดตู้ พอปิดตู้ปั๊บมันหายไปหมดเลย ตอนฟังก็เข้าใจ พอออกจากที่นี่ไปแล้ว หายไปหมดเลย ไปคุยเรื่องอื่นกัน มากลบหมดเลย ไม่ได้เอาไปทำ พอไม่ได้ไปทำก็เป็นสัญญา จะลืมง่าย ถ้าเอาไปทำ เอาไปปฏิบัติจะเป็นความจริง จะไม่ลืม มีคนถามพระอรหันต์ว่าพระอรหันต์ลืมได้ไหม ท่านตอบว่าลืมได้ สัญญาอนิจจา มีอะไรที่ท่านไม่ลืมบ้าง ท่านตอบว่ามี คือพระอริยสัจ ๔ เป็นความจริง
ถาม ลูกไม่เข้าใจจนเห็นตอนที่หลวงตาแก่ เวลาเทศน์ไม่ลืมเลย เรื่องอื่นท่านถามซ้ำถามซ้ำอยู่ตลอด
ตอบ ชื่ออะไร เรื่องอะไร พรุ่งนี้จะไปทำอะไร เมื่อวานนี้ทำอะไรไปแล้วก็ลืมได้ บางทีมีนัดกับใครไว้ก็ลืมได้ พอไม่ไปคิดถึงก็ลืม เหมือนพวกเรานี้พอไม่คิดถึงธรรมะเดี๋ยวก็ลืม เพราะธรรมะที่ฟังนี้ยังเป็นความจำอยู่ ยังเป็นสัญญาอยู่ ยังไม่เป็นความจริง พอปรากฏขึ้นในจิตแล้ว จะไม่ลืม
ถาม อันนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า จิตกับสมองเป็นคนละส่วนกัน
ตอบ คนละส่วนกัน สมองเป็นวัตถุ ทำหน้าที่ในส่วนของร่างกาย เป็นเหมือนส่วนประกอบของรถยนต์ แต่คนขับกับรถยนต์เป็นคนละส่วนกัน คนขับสั่งให้รถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ให้วิ่งเร็ววิ่งช้า จิตก็เป็นตัวสั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ร่างกายมีสมองเป็นตัวประสานกับการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ
ถาม สมัยที่ลูกไม่ได้รักษาศีล ๕ จะเถียงว่าจิตไม่มี ทั้งหมดมีสมองเป็นตัวสั่งการ
ตอบ เอาแต่ความรู้สึกนึกคิดมาเถียง พอได้ปฏิบัติเรียนรู้ ก็ทราบทันที ว่าแยกจากกัน จิตสงบมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นชัดเลยว่า ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกาย
ถาม ถ้าอย่างนั้น จิตของพวกเปรตผีที่ไม่มีร่างกาย จึงไม่มีเครื่องมือที่จะทำความดี หรือทำได้คะ
ตอบ เวลาตายไปแล้วถ้าดวงจิต มีความโลภเป็นตัวเด่นตัวนำ ก็เป็นเปรตไป ไม่สามารถทำความดีได้ ตอนนั้นมีแต่ความหิว อยากจะได้อยากจะกินอย่างเดียว ถ้าจิตมีความสงบสุขก็เป็นเทพไป มีรูปทิพย์เสียงทิพย์ให้สัมผัส เหมือนตอนที่นอนหลับฝันดี ตอนนั้นจิตก็เป็นเทพ เวลานอนหลับฝันร้ายจิตก็เป็นเปรตเป็นนรก ตอนนั้นไม่ได้ใช้ร่างกาย ไม่มีร่างกายจิตก็ยังทำงานได้ ร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือ ไว้เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดหยาบ ซึ่งมีอยู่ ๒ ภพคือมนุษย์และเดรัจฉาน ส่วนภพอื่นจะเสพของทิพย์ที่ดีและไม่ดี พวกเปรตเสพของทิพย์ที่ไม่ดี คือความหิวความกระหาย พวกนรกเสพความร้อน ความเกลียด ความชัง ความอาฆาตพยาบาท พวกอสุรกายก็เสพความหวาดกลัว พวกเทพเสพรูปทิพย์เสียงทิพย์ พวกพรหมเสพความสงบ ถ้าได้ฌานจิตจะเป็นพรหม ส่วนพระอริยเจ้ามีปัญญามีวิปัสสนามีไตรลักษณ์ จะเสพความสงบแบบปัญญาอบรมสมาธิ ตัดกิเลสทำจิตให้สงบได้ด้วยปัญญา ละสักกายทิฐิได้ ละความสงสัยวิจิกิจฉา ละสีลัพพตปรามาส ความหลงติดในพิธีกรรมต่างๆ ที่คิดว่าทำให้พ้นจากเคราะห์กรรมหรือเจริญก้าวหน้าได้ เช่นพิธีบวงสรวงเทพเจ้า บูชาราหู เป็นสีลัพพตปรามาส ไม่รู้ว่าความเจริญความเสื่อมอยู่ที่กรรม คือการกระทำ ทำดีก็เจริญ ทำชั่วก็เสื่อม ส่วนที่กำลังเสื่อมหรือเจริญอยู่ในขณะนี้ เป็นวิบากกรรม คือผลของการกระทำความดีความชั่ว ที่ได้ทำมาในอดีต จึงไม่ต้องไปบวงสรวง ไม่ต้องไปหาหมอดู ไม่ต้องไปเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนนามสกุล ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ