กัณฑ์ที่ ๓๙๔ ๘ มกราคม ๒๕๕๒
บวชชี
การบวชพระหรือบวชชีนี้ เป็นการก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ สู่ร่มโพธิ์ร่มไทร สู่มรรคผลนิพพาน ที่พระบรมศาสดาได้ทรงดำเนิน และเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลก ผู้ได้สะสมบุญบารมีมาพอเพียง ถ้าไม่ได้สะสมมาพอเพียง ถึงแม้อยากจะบวชก็จะไม่สามารถบวชได้ ผู้บวชได้จึงถือว่ามีบุญมีวาสนามีบารมีมาก จึงควรให้ความสำคัญต่อการบวช ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักบวช ตอนที่เป็นฆราวาสหน้าที่หลักก็คือ การให้ทานกับการรักษาศีล ๕ พอบวชแล้วหน้าที่หลักก็คือศีล ๘ และภาวนา ทานก็ให้หมดแล้ว ในบรรดาวัตถุข้าวของเงินทองบุคคลต่างๆ จึงไม่ควรกังวลกับการให้ทาน นอกจากว่ามีเหลือกินเหลือใช้ ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพก็ให้ได้ แต่หน้าที่หลักของนักบวชอยู่ที่การรักษาศีล ๘ และการภาวนา ทำจิตใจให้สงบและเจริญปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย ว่าไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา นี่คือหน้าที่หลักของนักบวช อยู่ตรงนี้ งานของนักบวชที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้ เรียกว่ากรรมฐาน เวลาบวชพระอุปัชฌาย์ต้องสอนกรรมฐาน ๕ คืออาการ ๕ ส่วนของร่างกายที่เห็นด้วยตา ได้แก่ผมขนเล็บฟันหนัง ที่มีอยู่ในร่างกายของทุกคน แต่ไม่ได้ทรงให้พิจารณาเพียง ๕ อาการนี้เท่านั้น แต่ทรงให้พิจารณาทั้ง ๓๒ อาการเลย เพียงแต่ว่าในเบื้องต้นทรงให้สอนแบบสั้นๆไปก่อน เริ่มต้นที่ผมขนเล็บฟันหนัง ต่อไปก็ให้พิจารณาเข้าไปข้างในใต้ผิวหนัง เช่นเนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ปอด หัวใจ ลำไส้ อาหารใหม่ อาหารเก่า และพวกน้ำต่างๆ เช่นน้ำเลือดน้ำหนองเป็นต้น เพราะอาการ ๓๒ เป็นความจริงของร่างกาย ไม่สวยไม่งาม ที่สัตว์โลกมักจะมองไม่เห็นกัน ที่ทำให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดในกามภพ ก็คือความหลงติดอยู่ในรูปของร่างกายนี้เอง ว่าสวยว่างาม
นักบวชผู้ปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จึงต้องพิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นปฏิกูล มีสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ถูกขับถ่ายออกมาตามทวารต่างๆ เป็นอสุภะ ไม่สวยงาม น่าขยะแขยง มีผิวหนังปกปิดหุ้มห่อไว้ จึงทำให้มองไม่เห็น สัตว์โลกจึงมองเห็นว่าสวยงามน่ารักน่ายินดี จึงเกิดความกำหนัดยินดี เกิดราคะเกิดตัณหาขึ้นมา ทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาร่างกายมาเสพ มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว ถ้าไม่ได้เจริญกรรมฐานพิจารณาอาการ ๓๒ นี้ ก็จะหลงติดไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด หน้าที่หลักของนักบวช คือการพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย ให้เห็นว่าไม่สวยงามสกปรก มีสิ่งปฏิกูลขับออกมาตามทวารต่างๆตลอดเวลา นี่คืองานหลัก เป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง ก่อนที่จะพิจารณาก็ให้ทำจิตใจให้สงบก่อน ด้วยหลักของสมถภาวนา จะใช้การสวดมนต์ไปก็ได้ จะนั่งหลับตาบริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ หรือจะพิจารณาอาการ ๓๒ ไปก็ได้ เบื้องต้นก็กำหนดชื่อไปก่อน ท่องไปในใจ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกปอดหัวใจตับลำไส้ฯลฯ ใช้เป็นอารมณ์ของสมถะคือความสงบได้ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ทำอะไร เราสามารถเจริญกรรมฐาน ๓๒ ได้อย่างต่อเนื่อง อย่าส่งจิตไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับกรรมฐาน ๓๒ นี้ อยู่กับพุทโธๆก็ได้ อยู่กับไตรลักษณ์ คืออนิจจังทุกขังอนัตตาก็ได้ หรืออยู่กับดินน้ำลมไฟก็ได้ เพราะร่างกายก็มาจากดินน้ำลมไฟ ในที่สุดก็จะต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ถ้าคิดพิจารณาอย่างนี้จะสงบเย็นสบาย จะเกิดปัญญา จะปลงจะปล่อยวาง จะดับกิเลสดับตัณหาได้ นี่คือเหตุที่พระบรมศาสดา ได้ทรงมอบให้พระอุปัชฌาย์ทุกรูปสั่งสอนกรรมฐาน ๕ ให้แก่กุลบุตรผู้ออกบวช ผู้ปรารถนาการหลุดพ้นจากความทุกข์ ให้ถือเป็นงานหลักของนักบวช คือการภาวนาและรักษาศีล
ศีล ๘ มีไว้เพื่อสนับสนุนการภาวนา ถ้ามีศีล ๘ แล้วใจจะสงบในระดับหนึ่ง ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวกับการแสวงหา รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ เช่นศีลข้อที่ ๓ อพรหมจริยาฯ ต่างจากของฆราวาสผู้ครองเรือน ที่ถือกาเมสุมิจฉาจาราฯแทน คือละเว้นจากการเสพกามกับผู้ที่ไม่ใช่คู่ครองของตน แต่อพรหมจริยาฯนี้ ละเว้นจากการเสพกามเลย ไม่นอนกับใครอีกต่อไป และไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เช่นรับประทานอาหารก็รับเพียงแต่เพื่อให้ร่างกายได้อาหาร เหมือนกับรับประทานยา ไม่ได้รับประทานเพราะรสชาติ เพราะความสวยงามของอาหาร รับประทานเพื่อเยียวยารักษาร่างกายให้อยู่ได้ รับประทานพอประมาณ ไม่มากจนเกินไป ไม่น้อยจนเกินไป รับประทาน ๒ มื้อก็ได้ แต่ไม่เกินเที่ยงวันไปแล้ว ถ้าจะปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้นไป ก็จะรับประทานมื้อเดียว หรือในบางเวลาอาจจะงดอาหารสัก ๒ หรือ ๓ วันก็ได้ เพื่อเร่งความเพียร ถ้าร่างกายไม่รับประทานอาหารมาก จิตจะมีสติดีกว่า จะไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เกียจคร้าน มีความขยัน ที่จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ศีลข้อที่ ๗ ให้ละเว้นจากการหาความสุขจากเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องสำอางต่างๆ น้ำหอมต่างๆ เพราะไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ฉาบฉวย เป็นความสุขที่ไม่จีรังถาวร ให้หาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ ดับกิเลสดับตัณหา และให้ละเว้นจากการหาความสุขจากทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เช่นดูหนังฟังเพลง หรือออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ถ้าจะออกไปนอกที่อยู่อาศัยก็ควรจะไปเฉพาะกรณีที่จำเป็น ถ้าจะไปเพื่อไปดูไปฟังไปเที่ยวเพื่อให้คลายความหงุดหงิดรำคาญใจ อย่างนั้นไม่ใช่เป็นวิธีคลายความหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะจะคลายได้เพียงชั่วคราว เวลาออกไปก็ดีอกดีใจ ไปเหมือนไก่บิน พอกลับมาเหมือนถูกห่ากิน กลับมาแล้วหน้าตาซึมเศร้า เหมือนถูกจับขังไว้ในกรง
วิธีที่จะดับความหงุดหงิดรำคาญว้าเหว่ให้ถูกต้อง ต้องเจริญกรรมฐาน ๕ หรือเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้สงบ พอจิตสงบแล้วอารมณ์ต่างๆเหล่านี้จะหายไป จะมีความสุขพอใจกับการอยู่เฉยๆ อยู่เป็นสุขด้วยธรรมะ ด้วยสมถภาวนา เวลาจิตสงบก็ปล่อยให้สงบไป จนกว่าจะถอนออกมาเอง ไม่ต้องไปทำอะไร อย่าไปดึงจิตออกมาในขณะที่จิตสงบ ปล่อยให้สงบไป พออิ่มตัวแล้วจะถอนออกมาเอง พอเริ่มคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ให้ดึงมาคิดทางกรรมฐาน ทางไตรลักษณ์ ทางดินน้ำลมไฟ ธาตุ ๔ สลับกับการทำจิตให้สงบ พิจารณาไปสักระยะหนึ่งแล้วรู้สึกเมื่อยล้าอยากจะหยุด หรือไม่เห็นชัด เพราะมีอารมณ์คอยขัดขวาง ก็ให้หยุดการพิจารณา แล้วกลับมาทำจิตให้สงบ ด้วยพุทโธๆก็ได้ ด้วยการสวดมนต์ก็ได้ ด้วยการบริกรรมผมขนเล็บฟันหนังก็ได้ ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว รับรองได้ว่าจิตจะเจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ จนถึงจุดสูงสุด ก่อนที่จะยุติการให้กรรมฐานนี้ ขอฝากธรรมะ ๓ ประการไว้เป็นเครื่องเตือนใจ
ธรรมะประการแรกเรียกว่า ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ อย่างคือ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ ๑ เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ ๑ เป็นไปเพื่อความสะสมกองกิเลส ๑ เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ ๑ เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ยินดีด้วยของมีอยู่ คือมีนี่แล้วอยากได้นั่น ๑ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ๑ เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ๑ ธรรมเหล่านี้พึงรู้ไว้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ๑ เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์ ๑ เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกองกิเลส ๑ เป็นไปเพื่อความอยากอันน้อย ๑ เป็นไปเพื่อความสันโดษ ยินดีด้วยของมีอยู่ ๑ เป็นไปเพื่อความสงบสงัดจากหมู่ ๑ เป็นไปเพื่อความเพียร ๑ เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ๑ ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา
ธรรมะประการที่ ๒ เรียกว่า กถาวัตถุ ถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่าง คือ ๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย ๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัดกายสงัดใจ ๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร ๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล ๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้สงบ ๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา ๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส ๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ ความเห็น ในความที่ใจพ้นจากกิเลส นี่คือกถาวัตถุ ถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่าง
ธรรมะประการที่ ๓ ที่จะขอฝากไว้ในวันนี้ก็คือ ธรรมะที่นักบวชควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่างคือ ๑. บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆของสมณะนักบวช เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ๒. ความเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ๓. อาการกายวาจาอย่างอื่น ที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีกไม่ใช่เพียงเท่านี้ ๔. ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่ ๕. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่ ๖. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง ๗. เรามีกรรมเป็นของตัวเรา ทำดีจะได้ดี ทำชั่วจะได้ชั่ว ๘. วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙. เรายินดีในที่สงัดหรือไม่ ๑๐. คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน ในเวลาที่ผู้อื่นถามในกาลภายหลัง
นี่คือคุณธรรม ๓ ประการที่นักบวชควรพิจารณาอยู่เนืองๆ เพื่อจะได้เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ประพฤติตนอยู่ในแนวทางที่พระบรมศาสดาทรงสอนให้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้าในธรรม จึงขอฝากเรื่องกรรมฐานและธรรมะเหล่านี้ ให้ผู้ที่บวชในวันนี้ และผู้ที่ปรารถนาจะบวชต่อไปในวันหน้า ได้นำเอาไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้