กัณฑ์ที่ ๓๙๕ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๒
สงสารตัวเองเถิด
สงสารตัวเองเถิด อย่ามัวแต่สงสารคนอื่น จนลืมสงสารตัวเอง เพราะเราแต่ละคนก็ต้องไปด้วยกันทั้งนั้น ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยกันทั้งนั้น สงสารเขาก็ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้น สู้สงสารตัวเราดีกว่า เพื่อเราจะได้รีบหาที่พึ่ง พอมีที่พึ่งแล้วจะไม่เดือดร้อน แยกใจออกจากกายได้แล้วจะสบาย ทุกวันนี้มันติดกันเป็นเหมือนปาท่องโก๋ กายเป็นอย่างไรใจก็เป็นไปด้วย เป็นหนักกว่ากายเสียอีก ถ้าพิจารณาอยู่เนืองๆอย่างที่ได้ทรงตรัสสอน ว่าเราเกิดมาแล้ว ย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ล่วงพ้นจากความแก่ความเจ็บความตาย จากการพลัดพรากจากกันไม่ได้แล้ว ใจจะสงบ จะไม่ดิ้นไม่ฝืน การฝืนนี้มันผิดธรรมชาติของความจริงและของใจ ถ้าฝืนธรรมชาติแล้ว ใจจะรับเคราะห์กรรม จะทุกข์ขึ้นมา ถ้าใจรับความจริงได้ ใจจะไม่ต่อต้าน ไม่ต่อสู้ ใจจะสงบ สงบแล้วก็มีความสุข นี่คือเหตุที่เราจะต้องพิจารณาสัจธรรม คือพระอริยสัจข้อที่ ๑ ทุกขสัจ การเกิดแก่เจ็บตาย สอนใจให้รู้ว่าเป็นความจริงที่ฝืนไม่ได้ ต่อต้านไม่ได้ มีความจริงหลายอย่างที่พวกเรายอมรับกันได้ ในชีวิตประจำวันของเรา เราจึงไม่ค่อยทุกข์มากนัก ถ้าเราต่อต้านกับทุกอย่างในโลกนี้แล้ว เราจะทุกข์อยู่ตลอดเวลา เช่นเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงของวันเวลา พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก เรายอมรับ เราไม่ต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงของฤดู หนาวเป็นร้อน ร้อนเป็นฝน ฝนเป็นหนาว เราไม่ต่อต้านแต่อย่างใด ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เราจึงไม่ทุกข์กัน
ถ้าเราต่อต้าน อยากจะให้หนาวไปตลอด เราจะเดือดร้อนทันที คนมีสตางค์จึงต้องบินไปหาที่เย็นอยู่เรื่อยๆ อยู่ที่ร้อนไม่ได้ คนมีสตางค์จะทำอย่างนี้กัน เวลาหนาวมากๆก็บินไปที่ไม่หนาวมาก พอร้อนมากๆก็บินไปที่ไม่ร้อนมาก ไม่ยอมรับความจริง เห็นคนรวยแล้วพวกเราอาจจะอิจฉา คิดว่าเขามีความสุข บินไปโน่นบินมานี่ หนีความร้อนได้ หนีความหนาวได้ ถ้ามองตามหลักธรรมะแล้ว เขากำลังทุกข์กำลังวุ่นวาย อยู่ไม่เป็นสุข รับความจริงไม่ได้ ส่วนคนจนนี่แหละกลับสบายกว่าคนรวยในเรื่องอย่างนี้ เพราะคนจนรู้จักทำใจ ร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป ไม่มีเงินซื้อเครื่องปรับอากาศมาติด หนาวก็ผิงไฟไปหรือห่มผ้าไปตามมีตามเกิด ไม่มีเงินที่จะบินไปที่ไม่หนาว การเดินทางแต่ละครั้งมันสนุกที่ไหน จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเตรียมสิ่งต่างๆ ทำหนังสือเดินทาง ทำหนังสือขออนุญาตเข้าเมือง ฉีดยาวัคซีน เวลาขึ้นเครื่องบินไปก็ไม่รู้ว่าจะลงมาในรูปแบบไหน เป็นความทุกข์ทั้งนั้น แต่มองไม่เห็นกัน เพราะถูกอำนาจของความอยาก ของอวิชชาของความหลง ที่ต่อสู้ต่อต้านกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ชีวิตจึงกลิ้งไปกลิ้งมา ไม่มีโอกาสพบกับความสงบสุขของใจ เพราะใจไม่มีโอกาสที่จะสงบตัวลง ถูกความอยากคอยปั่นหัวอยู่ตลอดเวลา เหมือนจิ้งหรีดที่ถูกปั่นให้ส่งเสียงร้องอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าจึงต้องสอน ให้เรากำหนดรู้สัจธรรมความจริงของชีวิต ก็คือทุกขสัจนี้เอง เป็นความจริงตายตัว เป็นความจริงที่ต้องเป็นกับทุกๆคนที่มาเกิด เกิดแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ทรงสอนว่าพิจารณาแล้วจะทำให้ใจสงบ จะทำให้ใจไม่ทุกข์ ถ้าไม่พิจารณาจะถูกความหลงหลอกให้ต่อต้าน ให้หลบหลีก ให้หนี แต่หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น เพราะมันเป็นเงาตามตัว จะหนีไปอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ความแก่ความเจ็บความตายก็จะตามไป ทำให้ตนเองรวยขนาดไหน มีอำนาจวาสนายิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่สามารถหนีจากความแก่ความเจ็บความตายไปได้ จะต้องทุกข์ตลอดเวลา ผู้ที่พิจารณาอริยสัจข้อที่ ๑ นี้อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง จนใจยอมรับกับความจริงนี้ได้แล้ว จะไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย จะไม่ทุกข์กับการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆเลย นี่คืออานิสงส์ของการศึกษาหรือการสั่งสอนใจ ให้รู้ถึงความจริงที่มาเกี่ยวข้องกับใจ คือร่างกายที่ใจได้มาครอบครอง มาหลงมายึดมาติด ว่าเป็นตัวตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา ให้รู้ว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง มีแก่มีเจ็บมีตาย เมื่อรู้ว่าเป็นอย่างนี้และยอมรับมันได้ ใจก็จะสงบ ความอยากให้มันอยู่ไปนานๆ ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้ตาย ก็จะไม่สามารถทำงานได้ ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิดตามมา นี่คือการทำงานของมรรค การศึกษาการสั่งสอนใจ ในเรื่องของความเกิดแก่เจ็บตายนี้ เรียกว่ามรรค
คือให้สร้างสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ให้เห็นว่าความเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลของวันเวลา เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลของวันเวลาได้ ทำไมเราจะรับกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไม่ได้ มีคนที่รับได้ทำได้มาแล้ว เช่นพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ท่านรับความจริงนี้ได้ เมื่อท่านรับได้ท่านก็สบาย เหมือนกับพวกเรา ที่สบายกับการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เราไม่ต้องดิ้นรนหนีจากมัน ไม่ต้องเดินทางเวลาที่อากาศไม่ถูกใจเรา เราไม่ต้องไปไหน เราก็อยู่ตรงนี้แหละ เราเพียงปรับใจปรับกายให้รับกับมันไป แล้วเราจะมีความสุข เพราะความสุขนั้นเกิดจากความสงบของใจ ใจจะสุขจะสงบได้ ก็ต่อเมื่อตัณหาความอยากต่างๆถูกระงับไป ด้วยการยอมรับความจริง หลังจากที่ได้ศึกษาความจริงแล้ว ว่าเป็นความจริงที่ตายตัว เปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่เปลี่ยนได้ก็คือความอยาก อย่าไปอยากมันเสียอย่างเดียว ปัญหาก็จบ จะไม่ทุกข์ นี่คือการทำงานของอริยสัจ ๔ ที่มีอยู่ในใจของเรา และทำงานอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะทำไปในทางที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ทุกครั้งที่เราคิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย ถ้าเราไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่ได้เจริญปัญญา ไม่ได้สอนใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะเกิดความอยากขึ้นมาทันที คืออยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย อยากไม่พลัดพรากจากสิ่งต่างๆ พอเกิดความอยากนี้ขึ้นมาก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เกิดความวิตกกังวลว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา แล้วก็นำพาไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิด คือจะต้องรีบไปหาวิธีป้องกันร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ใช้ยาบ้าง ใช้ศัลยกรรมบ้าง ถ้าอยากจะให้สาวให้หนุ่มไปเรื่อยๆ ถ้าผมหงอกก็ต้องย้อมอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ดำเข้มเหมือนคนหนุ่มคนสาว ถ้าหนังยานก็ดึงให้ตึง แต่ก็ทำได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่กี่ปีก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม จนในที่สุดก็จะไม่สามารถไปทำอะไรมันได้ จะทุกข์กังวลอยู่ตลอดเวลา
ถ้ายอมรับความจริงได้แล้ว จะไม่ทุกข์เลย จะสบายอกสบายใจ แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย ไม่วุ่นวายไปกับมัน พวกเราจึงควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เป็นการเจริญมรรค ที่ต้องเจริญให้มากให้สมบูรณ์ให้เต็มที่ ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ คือศึกษาทุกขสัจ ศึกษาเรื่องเกิดแก่เจ็บตายพลัดพรากจากกัน ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดังที่ทรงสอนพระอานนท์ให้พิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก นี่แหละคือการเจริญมรรคด้วยการกำหนดรู้ทุกขสัจ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย หายใจออกก็ว่า ถ้าไม่หายใจเข้าก็ตาย หายใจเข้าก็ว่า ไม่หายใจออกก็ตาย ถ้ารู้อย่างนี้แล้วใจจะน้อมรับความจริง จะเกิดความสงบสุข ดับความกังวลความวุ่นวายกระสับกระส่าย กินไม่ได้นอนไม่หลับได้ พอเห็นผลแล้วจะติดใจ จะพิจารณาตลอดเวลา จนไม่มีความอยากที่จะอยู่ไปนานกว่าความจริง จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง มันแก่ก็ให้มันแก่ไป มันเจ็บก็ให้มันเจ็บไป มันตายก็ให้มันตายไป ผู้พิจารณาไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตายไปกับร่างกายเสียอย่าง จะไปเดือดร้อนทำไม เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆแล้ว ผู้พิจารณากับสิ่งที่ถูกพิจารณาจะแยกออกจากกัน จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่กำลังถูกพิจารณากับผู้พิจารณานี้ เป็นคนละคนกัน ผู้พิจารณาเป็นเหมือนคนดูหนัง ส่วนสิ่งที่ถูกพิจารณาเป็นเหมือนตัวแสดง คนดูก็ดูไป อย่าไปได้ไปเสียกับคนแสดงเสียอย่าง ก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร
ถ้าดูภาพยนตร์แบบไม่เข้าข้างใคร เราจะไม่เดือดร้อนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ แต่ส่วนใหญ่เวลาดูภาพยนตร์ เรามักจะเข้าข้างพระเอกนางเอก มักจะคิดว่าเราเป็นพระเอกนางเอกกัน พอมีอะไรเกิดขึ้นกับพระเอกนางเอก ก็อดที่จะตื่นเต้นหวาดกลัวหวาดเสียวขึ้นมาไม่ได้ เพราะใจไปผูกติดกับพระเอกนางเอก ร่างกายก็เหมือนกัน เป็นเหมือนตัวแสดง ใจเป็นเหมือนคนดู พอใจไปผูกติดกับร่างกายว่าเป็นตัวเรา พอร่างกายเป็นอะไร ก็เกิดความหวาดกลัว วิตกกังวลขึ้นมาทันที ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆแล้วจะรู้ว่า เราไปหลงมันเอง ร่างกายเขาไม่รู้เรื่องหรอก เขาก็แสดงไปตามบทที่ธรรมชาติให้เขาแสดง เขาเป็นเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ร่างกายก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ร่างกายมีใจคอยควบคุมดูแลสั่งการ ให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ส่วนต้นไม้ไม่มีใจนอกจากคนไปเอามาเป็นสมบัติ ปลูกต้นไม้แล้วยึดติดว่าเป็นของตน เวลาปลูกบ้านมักจะปลูกต้นไม้ด้วย แล้วก็จะมีความผูกพันกับต้นไม้ เวลาต้นไม้เป็นอะไรไป ใจก็วุ่นวายไปด้วย เพราะธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้ ใจที่มีความหลงครอบงำอยู่นี้ เวลามีอะไรแล้วจะยึดติด จะอยากให้ดีอยู่เสมอ อยากให้อยู่ไปนานๆ ให้มีแต่ความเจริญ ไม่อยากให้เสื่อม ไม่อยากให้ตายไป เป็นความอยากที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโง่ ไม่ได้ศึกษาความจริงของธรรมชาติ ของสิ่งต่างๆว่าเป็นอย่างไร ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า ทุกอย่างมีจุดเกิดและมีจุดดับทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เกิดมาแล้วจะไม่ดับไป จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นเอง บางอย่างก็เกิดปั๊บแล้วก็ดับไป เช่นเสียงที่เราได้ยินแต่ละครั้งนี้ ปรากฏขึ้นมาปั๊บแล้วก็หายไป มันเร็วมาก แต่ถ้าเป็นวัตถุนี้จะช้า บางอย่างก็เร็วบางอย่างก็ช้า มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือมีเกิดมีดับ
เราจึงต้องศึกษาความจริงเพื่อให้รู้ทัน จะได้ปล่อยวาง ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ส่วนเราก็อยู่กับความจริงของเรา เราคือใคร เราก็คือคนดูนี่แหละ ดูเฉยๆ อย่าไปได้ไปเสียกับสิ่งที่เราดู ถ้าไม่ได้ไม่เสียกับสิ่งที่ดูแล้ว เวลาเสียก็ไม่เสียใจ เวลาได้ก็ไม่ดีใจ จะรู้สึกเฉยๆ เพราะไม่ต้องมีเขาเพื่อให้เรามีความสุข เพราะความสุขของเราเกิดจากการปล่อยวาง เกิดจากความสงบของใจ ที่ปล่อยวางสิ่งต่างๆนี้เอง ถ้าไม่มีความอยากแล้วใจจะนิ่งสงบอยู่ตลอดเวลา จะมีความสุขตลอดเวลาเป็น ปรมัง สุขัง ตัวที่มาทำให้ใจไม่มี ปรมัง สุขัง ก็คือความอยากต่างๆนี้เอง การเจริญมรรค ด้วยการพิจารณาด้วยการศึกษาทุกขสัจนี้ จะทำให้ละสมุทัยคือตัณหาทั้ง ๓ เหตุที่ทำให้ใจทุกข์ได้ ทำให้เกิดนิโรธ คือการดับของทุกข์ทั้งหลายในใจได้ นี่คือการทำงานของอริยสัจ ที่พระสาวกที่พระพุทธเจ้าทำกัน แต่ปุถุชนจะทำตรงกันข้าม แทนที่จะพิจารณาทุกขสัจ กลับไม่พิจารณา ไม่สอนตนเองเลย ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย พอไม่สอนปั๊บความหลงก็เข้ามาครอบงำ ทำให้เกิดความอยากอยู่ไปนานๆ อยากไม่เจ็บไม่แก่ไม่ตาย ไม่พลัดพรากจากสิ่งต่างๆไป แล้วก็จะเกิดความอยากอย่างอื่นตามมา อยากจะอยู่นานๆก็เพราะอยากจะมีความสุขกับการเสพกามนั่นเอง เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ โดยอาศัยอายตนะของร่างกาย คือตาหูจมูกลิ้นกายเป็นเครื่องมือ ก็เกิดกามตัณหาขึ้นมา อยากหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส แต่หารู้ไม่ว่าเป็นการหาความทุกข์มาใส่ตัวเอง เพราะเป็นเหมือนยาเสพติด
ยาเสพติดนี้เราก็รู้ว่าเมื่อเสพแล้วเป็นอย่างไร ยาเสพติดก็เป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาเสพยาต้องใช้อะไรเสพล่ะ ต้องใช้ปากใช้ลิ้นลิ้มรส พอเข้าไปในร่างกายมันก็ทำให้ร่างกายมีความสุขขึ้นมา แล้วก็ติดกับความสุขนั้น เวลาขาดความสุขนั้น ก็เกิดอาการลงแดง ต้องหามาเสพอยู่เรื่อยๆ การเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาเสพติดก็เป็นแบบเดียวกัน ต่างกันตรงที่ความรุนแรง อย่างอื่นพอจะทนได้ถ้าไม่ได้เสพ แต่ยาเสพติดนี้มันทรมานมากกว่าเวลาที่จะเลิกมัน แต่มันก็อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ต่างกันตรงที่น้ำหนักของความทรมาน ถ้ายาเสพติดนี้จะทรมานมาก ติดแล้วเลิกยาก รองลงมาก็พวกสุรายาเมาบุหรี่ รองลงมาก็พวกกาแฟ พวกเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลาย รองลงมาก็คือการดูหนังฟังเพลง การไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ อยู่ไม่ติดบ้าน อยู่ไม่ได้ อยู่แล้วอกจะระเบิด ต้องออกไประบาย ก็ระบายได้ชั่วขณะที่ออกไป พอกลับมาก็อึดอัดเหมือนเดิม กลับมาบ้านเพื่อพักผ่อนหลับนอน พอได้กำลังแล้ว ก็ไปเสริมกำลังของลูกระเบิดที่อยู่ภายในใจ ให้มีแรงดันออกมาอีก ก็ต้องออกไปอีก ออกไปอยู่เรื่อยๆ พอเหนื่อยพอหมดแรงก็กลับมา เป็นเรื่องของความหลงพาไป พาไปหาความทุกข์ ความอยากต่างๆพาไปสู่ความทุกข์ ไม่เคยรู้จักคำว่าพอ ทำตามความอยากแล้ว ไม่ได้ทำให้ความอยากหายไปหรือหมดไป แต่กลับทำให้มีความอยากเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นเหมือนลูกโซ่ พออยากลูกนี้แล้วก็มีอยากอีกลูกหนึ่งเกี่ยวติดมา ไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่จะหยุดความอยากนี้ได้ก็คือปัญญา ต้องเห็นว่าความอยากไม่ได้สร้างความสุขอย่างที่คิดกัน ให้ความสุขน้อยกว่าให้ความทุกข์ เหมือนกับยาเสพติด คนที่ไม่เสพไม่ติดยาเสพติดจะเห็นชัดเลยว่า ยาเสพติดให้ทุกข์มากกว่าสุข ไปเสพทำไม เพราะเวลาเสพแล้วก็ติด มีความสุขเพียงในขณะที่เสพ แต่ทุกข์มากเวลาอยากแล้วไม่ได้เสพ คนที่ไม่มีความอยากในกามจะไม่เดือดร้อนเลย อยู่ติดบ้านได้ อยู่บ้านอย่างมีความสุข บ้านเป็นที่ปลอดภัย เป็นสถานที่อำนวยความสุขความสบายได้อย่างเต็มที่ แต่กลับอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ มาบำรุงบำเรอความอยากของกามตัณหานี้เอง ถ้าไม่มีกามตัณหาแล้ว จะไม่อยากออกจากบ้านเลย ไม่รู้จะออกไปทำไม ไปที่ไหนก็มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหมือนกัน ที่บ้านก็มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหมือนกัน พอไม่ติดกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปที่ไหน อยู่บ้านอย่างมีความสุข เช่นเดียวกับความอยากมีอยากเป็น ก็เป็นลักษณะเดียวกันกับกามตัณหา เพียงแต่วัตถุต่างกัน แทนที่จะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็เป็นสถานภาพ เช่นอยากรวยอยากมีอำนาจวาสนา มีตำแหน่งสูงๆ อยากจะให้คนยกย่องสรรเสริญ นับถือกราบไหว้บูชา ก็เป็นตัณหาอีกแบบหนึ่ง พอได้เป็นแล้วก็ไม่พอ อยากจะใหญ่โตขึ้นไปอีก ถ้าไม่ใหญ่โตอย่างน้อยก็ให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ ศึกษาทางประวัติศาสตร์ดู จะใหญ่โตขนาดไหน ถึงเวลาก็หมดไป เวลาหมดนั้นแหละจะทุกข์ทรมานใจ เวลายังเป็นอยู่ก็ทุกข์ทรมานใจอีกแบบหนึ่ง เพราะกลัวจะหมด กลัวจะถูกผู้อื่นมาแย่งไป เป็นความทุกข์ตลอดเวลา ความทุกข์ชนิดที่ ๓ ก็คือความไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากจากสิ่งต่างๆไป
ความอยากนี้เป็นเชื้อโรคของใจ ถ้ามีเชื้อโรค ๓ ตัวนี้อยู่ในใจแล้ว ก็จะมีโรคใจคือความทุกข์ใจ ยาที่จะรักษาโรคใจก็คือมรรคนี้เอง มรรคเป็นธรรมโอสถ มีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโปเป็นต้น คือสติปัญญาสมาธิศีล เป็นตัวกำจัดเชื้อโรคคือความอยากทั้ง ๓ เมื่อไม่มีความอยากทั้ง ๓ นี้แล้วโรคใจก็หาย คือทุกข์ก็หายไปจากใจ ใจอยู่อย่างปกติสุขไปตลอด พวกเราจึงควรกินยานี้บ่อยๆ หมอสั่งให้กินทุกเวลาเลย พระพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอน ให้พิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ใช่วันละ ๓ หรือ ๔ เวลาอย่างที่พระอานนท์กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงถามว่า อานนท์วันหนึ่งเธอพิจารณาความตายสักกี่ครั้ง พระอานนท์กราบทูลว่า ๔ ครั้ง เช้ากลางวันเย็นและก่อนนอน พระพุทธเจ้าทรงตรัสกลับไปว่า อานนท์เธอยังประมาทอยู่ พิจารณาเท่านี้ยังไม่พอ ยังไม่สามารถกำจัดความอยาก ที่เป็นเหตุสร้างความทุกข์ได้ เพราะความอยากทำงานอยู่ตลอดเวลา พอเห็นอะไรปั๊บจะอยากขึ้นมาทันที ไม่อยากได้ก็อยากหนี น้อยนักที่จะเฉยๆ ที่จะพอใจ เห็นอะไรก็สักแต่ว่าพอใจ ดีชั่วก็พอใจ ไม่ใช่เรื่องของเรา เราเป็นคนดูหนังก็ดูไปเท่านั้นเอง หนังดีก็เรื่องของหนัง หนังไม่ดีก็เรื่องของหนัง คนดูไม่ต้องไปเต้นแร้งเต้นกาไปกับหนังที่ดู ใจที่มีปัญญาจะเป็นอย่างนี้ จะสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ แก่ก็รู้ว่าแก่ เจ็บก็รู้ว่าเจ็บ ตายก็รู้ว่าตาย ก็เท่านั้นเอง ถ้ายังทำไม่ได้ก็ต้องทำการบ้าน สอนใจว่าตัวเองแก่ลงไปเรื่อยๆ ถ้ามีเครื่องคอมฯก็เอารูปของเราไปแต่งหน้า ให้มันแก่ลงดู ทาผมด้วยสีขาวดู เครื่องคอมฯนี้ก็มีประโยชน์ทางธรรมถ้ารู้จักใช้มัน แปลงร่างกายเราให้เป็นคนแก่ เป็นคนเจ็บ เอาสายโยงสายยางเสียบเข้าไป เอาโรงศพมาวางไว้ข้างๆ จับมันเข้าไปในโลงศพ จับเข้าไปในเมรุ จุดไฟเผา ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ รับรองได้ว่าจะทำให้ใจยอมรับความจริงนี้อย่างแน่นอน ถ้าสอนมันอยู่เรื่อยๆ จะไม่ลืม
ส่วนใหญ่มักจะลืมกัน เพราะใจทำงานได้ทีละอย่าง ถ้าทำเรื่องนี้ก็จะทำเรื่องนั้นไม่ได้ ส่วนใหญ่เราจะเอาใจไปทำเรื่องอื่น เรื่องทำมาหากิน เรื่องของคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จึงลืมสอนใจเรื่องความจริงของกาย พอได้ข่าวว่าคนนั้นเจ็บคนนั้นตายก็ตื่นเต้นกัน เหมือนเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ เหมือนมีมนุษย์ต่างดาวมา ทั้งๆที่แก่เจ็บตายด้วยกันทุกคน มีอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะทุกเวลา ถ้าไม่เชื่อลองไปวัดที่มีเมรุดู ไปโรงพยาบาลดู มีคนแก่คนเจ็บคนตายอยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นจะน่าตื่นเต้นตรงไหนเลย เพราะอะไร เพราะเราไม่ศึกษาไม่สอนใจนั่นเอง ความจริงนี้ก็เลยกลายเป็นของประหลาดไป เป็นเหมือนมนุษย์ต่างดาว พอใครตายสักคนหนึ่งนี่ตื่นเต้นกันใหญ่ วิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่ หวาดวิตกกันใหญ่ พอสักพักก็ลืมไป เพียงไม่กี่นาที พอคุยเรื่องอื่นคิดเรื่องอื่นปั๊บ ก็หายไปเลย พอมีเรื่องตายให้คิดอีกก็ตกใจกัน ลองไปคิดทุกวันทุกเวลาดู ภายใน ๗ วันรับรองได้ว่าจะต้องเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง จะรู้ว่ากลัวหรือไม่กลัว จะแพ้หรือไม่แพ้ ใครจะแพ้หรือใครจะชนะ ลองพิจารณาความตายดูสัก ๗ วัน ตั้งแต่ตื่นมาจนหลับ พิจารณาไปเถิด รับรองได้ว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะเป็นการเจริญมรรค ถ้าเจริญอย่างนี้ ๗ วัน ๗ คืน รับรองจะต้องได้ผลอย่างแน่นอน อย่างที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้เปล่งวาจาว่า สิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา จะร้องอ๋อ เข้าใจแล้ว เมื่อก่อนมันเกิดภายนอก ไม่ได้เกิดในใจ ใจห่างเหินจากความจริงอันนี้ ตอนนี้เราเอาเข้ามาสู่ในใจ มาประกบกับความคิด จนไม่กล้าอยาก ไม่รู้จะอยากไปทำไม อยากแล้วก็ไม่ได้เป็นไปตามความอยาก
อยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย ก็ไม่เป็นไปตามความอยาก มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับตนเองโดยเปล่าประโยชน์ นี่แหละคือเรื่องของอริยสัจ ๔ ที่มี ๒ ฝ่าย ฝ่ายผูกกับฝ่ายแก้ ฝ่ายผูกก็คือสมุทัย สมุทัยจะผูกแล้วสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ด้วยความอยากต่างๆ ฝ่ายแก้ก็คือมรรคที่จะสอนใจให้ยอมรับความจริง จะได้ไม่ต้องไปอยากกับอะไร พอไม่อยากแล้วก็จะไม่มีความทุกข์ใจ สัจธรรม ๒ ข้อแรกเป็นฝ่ายผูก คือทุกข์กับสมุทัย สัจธรรม ๒ ข้อหลัง คือมรรคกับนิโรธเป็นฝ่ายแก้ เป็นการต่อสู้เป็นการชักเย่อของ ๒ ฝ่าย ฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าก็จะชนะ ถ้าสมุทัยมีกำลังมากกว่า ทุกข์ก็เกิดขึ้นมา ถ้าฝ่ายมรรคมีกำลังมากกว่า นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา ทุกข์ก็ดับไป ใจทำงานอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าจะทำให้ฝ่ายไหน ถ้าอยากแล้วทุกข์ก็ปรากฏขึ้นมาทันที ถ้าปลงได้นิโรธก็ปรากฏขึ้นมาทันที เวลาใครเป็นอะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ ทำอะไรได้ก็ทำไป ช่วยได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริง จะไปตีโพยตีพาย ไปร้องห่มร้องไห้ ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น มีแต่จะทำให้ใจเศร้าหมอง นี่คืองานของพวกเรานะ ขอให้พยายามทำกัน พยายามพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ลองทำดูสัก ๗ วันไม่ได้หรือ พิจารณาความตายตั้งแต่ตื่นถึงหลับเลย ลองทำดู ใครมีความสามารถที่จะทำได้ลองทำดู
ตั้งแต่สอนมานี่ก็ได้ผลอยู่คนหนึ่ง มาฟังเทศน์ฟังธรรมจนเดี๋ยวนี้ได้บวชชีไปแล้ว มาศึกษาปีกว่าๆเท่านั้นเอง เมื่อก่อนไม่เคยเข้าวัดเลย ครั้งแรกๆมาวัดเพื่อปล่อยปลาอย่างเดียว ต่อมามีคนแนะนำให้มาฟังเทศน์ดูบ้าง ก็เลยมาฟังเทศน์อาทิตย์ละครั้ง หลังจากนั้นก็ฟังทั้งเสาร์อาทิตย์ จากนั้นก็ฟังทั้งเสาร์อาทิตย์กับวันพระ เริ่มตัดไปเรื่อยๆ มีสมบัติข้าวของเงินทองที่ไม่จำเป็น ก็แจกจ่ายให้คนอื่นไป จนในที่สุดก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็เลยบวชชี โกนศีรษะ แต่ไม่ได้อยู่วัด มีบ้านอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่สงบพอสมควร ดีกว่าอยู่วัดที่มีคนมากไม่สงบ ในเบื้องต้นของการปฏิบัตินี้ ขอให้มีที่สงบพอสมควร จะเป็นวัดหรือเป็นบ้านก็ได้ ถ้าเป็นวัดแต่ไม่สงบ มีคนพลุกพล่านมาก สู้อยู่บ้านคนเดียวไม่ได้ อยู่บ้านปฏิบัติไปก่อนก็ได้ ทำการบ้านไปก่อน เมื่อพร้อมที่จะเข้าห้องสอบแล้วค่อยไปหาห้องสอบ ไปอยู่วัดที่เปลี่ยวที่น่ากลัวดู ถ้าพร้อมที่จะเข้าห้องสอบ เบื้องต้นต้องทำการบ้านให้พร้อมก่อน การพิจารณาเกิดแก่เจ็บตายนี้ เป็นเหมือนการทำการบ้าน ทำจนคิดว่าพร้อมแล้ว พร้อมที่จะตายแล้ว ก็อยากจะรู้ว่าจริงหรือไม่ ปลงได้หรือไม่ ก็ไปหาที่น่ากลัวๆอยู่ ดูว่ายังกลัวอยู่หรือเปล่า ถ้าปลงได้แล้วตัดได้แล้วจะไม่กลัว ถ้ายังกลัวอยู่ก็แสดงว่ายังทำไม่สำเร็จ ยังไม่ผ่าน ก็ต้องกลับมาทำการบ้านใหม่ หรืออยู่ในห้องสอบไปเรื่อยๆจนกว่าจะผ่าน ในเบื้องต้นนี้อยู่ที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ให้ปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับเลย ให้มีแต่การเจริญมรรค เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไปตลอดเวลาที่ตื่น รับรองได้ว่าจะต้องก้าวหน้าอย่างแน่นอน จะต้องไปได้ จะช้าหรือจะเร็วก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ที่มีอยู่ในตัวเรา คือศรัทธาสติสมาธิปัญญาวิริยะ ถ้ามีมากก็ไปเร็ว ถ้าขาดปัญญาก็ต้องหาปัญญาจากผู้อื่น ไปหาผู้รู้ ไปศึกษาจากผู้รู้ จากครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้ว ฟังเทศน์ฟังธรรมของท่านอยู่เรื่อยๆ จะทำให้รุดหน้าไปได้ เพราะปัญญาเป็นตัวสำคัญที่สุดในอินทรีย์ทั้ง ๕ เพราะต้องหลุดพ้นด้วยปัญญา
สมาธิสนับสนุนให้เกิดปัญญา ศีลสนับสนุนให้เกิดสมาธิ สติต้องมีอยู่ทุกขณะ ในขณะที่รักษาศีลก็ต้องมีสติ ถึงจะรู้ว่ารักษาอยู่หรือไม่ สตินี้จำเป็นต่อธรรมทุกขั้น ต้องมีสติเกี่ยวข้องอยู่ทุกขั้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมาธิ หรือขั้นปัญญา ต้องมีสติควบคู่ไปกับธรรมทุกขั้น ปัญญาเป็นตัวที่จะตัดกิเลสได้ ถ้ามีเพียงศีลกับสมาธิ จะยังตัดกิเลสไม่ได้ เช่นพระปัญจวัคคีย์ ตอนที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ ก็หลุดพ้นไม่ได้ ได้แค่สมาธิได้แค่ฌานเท่านั้น พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว มาสั่งสอนเพียงครั้งเดียว ปัญญาก็ปรากฏขึ้นมา ทำให้หลุดพ้นได้ บรรลุธรรมขั้นแรกขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีผู้สอน มีครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็อาศัยหนังสือของท่าน หรือหนังสือที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ มาเป็นอาจารย์ไปก่อนก็ได้ เพราะโดยลำพังแล้ว พวกเราไม่มีปัญญาพอที่จะสอนให้หลุดพ้นเองได้ พวกเราเป็นพวกสาวกภูมิ ไม่ใช่พวกพุทธภูมิ พวกสาวกภูมิต้องมีครูมีอาจารย์ ไม่เช่นนั้นจะหลงทางได้ จะเป็นวิปัสสนูได้ เพราะทางนี้ค่อนข้างลึกลับสลับซับซ้อน จะติดได้ทุกขั้นของการปฏิบัติ อยู่ในขั้นไหนมักจะติดอยู่ในขั้นนั้น ถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยชี้บอกว่ากำลังติดอยู่ ก็จะหลงติดไปนาน ถ้ามีครูอาจารย์จะรู้เลยว่า เมื่อได้ขั้นนี้แล้วก็ต้องก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง พอให้ทานจนหมดแล้ว ก็ขยับขึ้นสู่ขั้นศีล พอรักษาศีลได้แล้ว ก็ต้องเจริญสมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็ต้องเจริญปัญญา จะไม่ติดอยู่ในขั้นใดขั้นหนึ่ง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ถ้าอยู่ในขั้นทานก็อยากจะทำทานอย่างเดียว ไม่อยากจะรักษาศีล ไม่อยากจะภาวนา ถ้าติดอยู่กับการทำบุญทำทาน ก็จะมัวแต่หาเงินหาทองมาทำบุญทำทาน จะวนอยู่ในอ่าง ให้ทานเพื่อปลดเปลื้องการยึดติดกับเงินทองข้าวของ ที่เหลือกินเหลือใช้ ทำให้รักษาศีลได้ง่าย
คนที่ให้ทานจะรักษาศีลได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ให้ทาน เพราะคนที่ไม่ให้ทานยังมีความตระหนี่ มีความโลภ อยากจะได้มากขึ้น อยากจะมีมากขึ้น ก็จะแสวงหาทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มากขึ้น ถ้าต้องผิดศีลก็เอา ขอให้ได้ก็แล้วกัน แต่คนที่ให้ทานอยู่เรื่อยๆแล้ว จะไม่โลภกับสมบัติข้าวของเงินทอง มีแต่อยากจะให้มีน้อยลงไปเรื่อยๆ เหลือไว้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ก็จะรักษาศีลได้ง่าย เพราะมีความเมตตาคิดถึงผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดูแลผู้อื่น ไม่ว่าจะทำอะไร จะคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นก่อนเสมอ ก็จะรักษาศีลได้ มีศีลขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เป็นผลต่อเนื่องจากการให้ทาน ส่วนผลต่อเนื่องของศีลก็คือ จิตที่มีศีลจะสงบกว่าจิตที่ไม่มีศีล จิตที่มีศีลไม่ต้องกังวลกับการกระทำที่เสียหาย เพราะไม่ได้ทำ จิตที่ไม่มีศีลจะกระวนกระวายกระสับกระส่าย เป็นเหมือนวัวสันหลังหวะ จิตใจไม่สงบ ก็จะไม่เห็นคุณค่าของความสงบ คนที่มีศีลจะเห็นว่าจิตสงบสบาย ก็อยากจะให้สงบมากขึ้น อยากจะทำจิตให้เป็นสมาธิ เพราะเวลามีสมาธิแล้ว จะยิ่งสงบและมีความสุขมากขึ้น แต่พอออกจากสมาธิแล้ว จิตก็กระสับกระส่ายได้ วุ่นวายได้ เวลาไปเห็นไปสัมผัสไปได้ยินอะไร ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ ก็จะรู้ว่าสมาธิยังไม่พอ ต้องมีปัญญาด้วย เพราะปัญญาจะรักษาใจ เวลาได้ยินได้ฟังอะไร ไม่ให้กระสับกระส่าย ไม่ให้กระวนกระวาย ไม่ให้ดีใจเสียใจ เพราะจะสอนใจให้รู้ว่า สิ่งต่างๆในโลกนี้ เขาเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่อยากกระสับกระส่าย ก็อย่าไปได้เสียกับเขา ถ้ามีปัญญาประกบตลอดเวลา จิตจะสงบตลอดเวลา ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ จะสงบอย่างถาวร พอเข้าใจแล้วจิตจะถอยเข้ามาข้างใน จะปล่อยวางข้างนอกหมด ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างทุกคนเป็นไปตามเรื่องของเขา ไม่ว่าจะเป็นลูก เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นใครก็ตาม ต้องเป็นไปตามบุญตามกรรมของเขา เราไปทำอะไรให้เขาไม่ได้หรอก สิ่งที่เราทำได้ก็เพียงเล็กๆน้อยๆ สนับสนุนส่งเสริมให้เขาได้แก้ปัญหาของเขาเองเท่านั้น แต่ปัญหาของเขา บุญกรรมของเขานี้ ไม่มีใครไปแก้ได้ นอกจากตัวเขาเอง ด้วยการละทำกรรมชั่ว ทำแต่กรรมดี ต่อไปก็จะมีแต่ผลของกรรมดีปรากฏ ก็จะหลุดพ้นได้ ปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
พระอริยสัจ ๔ นี้แหละคือหินลับปัญญา ทำให้ปัญญาของสัตว์โลกแหลมคม จนสามารถตัดภพตัดชาติ ตัดกิเลสตัดความอยากให้หมดไปจากจิตจากใจได้ ธรรมอื่นตัดไม่ได้ สมาธิตัดไม่ได้ ศีลตัดไม่ได้ ทานตัดไม่ได้ สติตัดไม่ได้ ต้องปัญญาในอริยสัจ ๔ ปัญญาในไตรลักษณ์เท่านั้น ไม่มีใครรู้ปัญญานี้นอกจากพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ถ้ามาเกิดในยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนา จะไม่มีทางหลุดพ้นได้เลย ยกเว้นพระโพธิสัตว์ ผู้ได้บำเพ็ญบุญบารมีมามาก จนสามารถสอนตัวเองได้ เช่นพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนพระองค์เอง ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่รู้กี่แสนล้านคนที่จะทำอย่างนี้ได้ พวกเราเป็นคนธรรมดาสามัญชน ต้องอาศัยคนฉลาดเอกบุรุษ อย่างพระพุทธเจ้าเป็นครูเป็นอาจารย์ ชาตินี้ได้มาเจอคำสอนของเอกบุรุษแล้ว ถ้าไม่ตักตวงก็ช่วยไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะได้มาเจออีกเมื่อไหร่ ยากมาก ศาสนานี้คำสอนนี้ มีอายุไม่เกิน ๕๐๐๐ ปี ดังที่ได้ทรงทำนายไว้ หลังจากนั้นแล้วก็จะเป็นช่วงที่ปราศจากคำสอน ที่เรียกว่าพุทธันดร ก็ไม่รู้กี่กัป จะต้องกลับมาเกิดมาตาย ไม่รู้อีกกี่ล้านชาติกี่ล้านภพ กว่าจะได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้าอีก อาจจะไม่ได้พบกับองค์หน้าก็ได้ คือพระศรีอารย์ อาจจะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในช่วงนั้นก็ได้ อาจจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในช่วงคำสอนของท่านหายไปแล้วก็ได้ ก็จะไม่ได้เจอพระศรีอารย์ พระศรีอารย์ก็จะเป็นเหมือนกับพระพุทธเจ้าในอดีต ที่เราได้ยินได้ฟังจากพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน ว่าก่อนหน้านี้มี ๓ พระองค์ ที่มาตรัสรู้มาสั่งสอนสัตว์โลก หลังจากนี้ก็จะมีอีกพระองค์หนึ่งชื่อพระศรีอารย์ เราอาจจะพลาดทั้งหมดเลย
พวกเราโชคดีที่ได้เจอพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ถ้าไม่ศรัทธาไม่ปฏิบัติก็ช่วยไม่ได้ มันไม่ยากนะ แค่ ๗ วัน ๗ คืนเท่านั้นเอง เราทนนั่งเครื่องบินหลายชั่วโมงไปรอบโลกได้ แค่นั่งพิจารณาความตาย ๗ วัน ๗ คืนไม่ได้ให้มันรู้ไป นี่คือการบ้าน แล้วคราวหน้ามาเล่าให้ฟัง วันเวลามันผ่านไปเร็วนะ นี่ปีใหม่ก็หมดเข้าไปเกือบเดือนแล้ว ชีวิตก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ชีวิตเราเป็นเหมือนเทียน พอจุดแล้วก็มีแต่จะสั้นลงๆไปเรื่อยๆ อายุยาวขึ้นแต่ชีวิตมันสั้นลง ตัวเลขมันยาวขึ้น ตอนนี้ ๔๐ นะ ๕๐ นะ มันยาวขึ้น แต่ชีวิตมันสั้นลง คือส่วนที่เหลืออยู่นี้จะน้อยลงสั้นลงไปเรื่อยๆ เวลาที่จะได้บำเพ็ญได้เจริญมรรคนี้ จะน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง ควรรีบหันเข้ามาทางนี้ มีภารกิจการงานอะไรที่ปลดเปลื้องได้ ตัดได้ ก็ปลดเปลื้องมันไปเถิด ตัดมันไปเถิด ทำงานนี้ดีกว่า งานนี้เป็นงานที่แท้จริง งานอื่นทำไปก็เท่านั้นแหละ งานหลักของเราก็คือ คันถธุระกับวิปัสสนาธุระ งานในศาสนามี ๒ งานมี ๒ ธุระนี้ คันถะก็คือการศึกษาพระธรรมคำสอน ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายอยู่เรื่อยๆ ทำบุญให้ทานให้หมด เก็บไว้เท่าที่จำเป็น อย่าไปหวง ศีลก็รักษาให้ดี สมาธิก็ทำให้มาก ปัญญาก็พิจารณาสลับกับสมาธิ ถ้าอยู่ในสมาธิก็อย่าไปพิจารณา ให้พักจิต ให้จิตมีความสงบให้นานที่สุด ให้นิ่งให้นานที่สุด พอจิตออกมาจากความสงบออกมาจากความนิ่งแล้ว ก็เอามาพิจารณาความตาย เกิดแก่เจ็บตาย ลุกขึ้นมาเดินจงกรม ท่องไปก่อนก็ได้ เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเกิดแก่เจ็บตายไปไม่ได้ เราก็ต้องเกิดแก่เจ็บตาย เขาก็ต้องเกิดแก่เจ็บตาย คนนั้นก็ต้องเกิดแก่เจ็บตาย คนนี้ก็ต้องเกิดแก่เจ็บตาย คิดไปอย่างนี้ให้ติดไปกับใจ พอเหนื่อยพอเมื่อยก็หยุด กลับเข้ามานั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบให้เย็นให้สบาย พอมีกำลังพอถอนออกมา ก็พิจารณาต่อ ไม่ว่าจะทำอะไร ในขณะที่ไม่อยู่ในสมาธิ ให้มีเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในใจตลอดเวลา
เห็นอะไรก็ต้องเกิดแก่เจ็บตาย คนนั้นคนนี้ก็ต้องเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจะติดเป็นนิสัย ไม่ต้องบังคับ เบื้องต้นเป็นเหมือนรถที่สตาร์ทไม่ติด ต้องเข็นก่อน เข็นให้วิ่ง พอวิ่งแล้วก็ใส่เกียร์เครื่องก็ติด พอเครื่องติดแล้วก็ไม่ต้องเข็น จะวิ่งไปเอง ปัญญาจะหมุนไป จนกลายเป็นปัญญาอัตโนมัติ เป็นมหาสติมหาปัญญา จะพิจารณาตลอดเวลา จะไม่คิดเรื่องอื่น จะคิดเท่าที่จำเป็น พอเข้าสู่งานนี้แล้ว จะปล่อยงานอื่นหมด งานที่จำเป็นก็คืองานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นพระก็ไปบิณฑบาต แล้วก็ฉัน ฉันเสร็จก็เข้าทางจงกรม เดินจงกรมพิจารณา แล้วก็นั่งสมาธิ สลับกับการทำกิจวัตร ปัดกวาดตอนบ่าย สรงน้ำตอนเย็น แล้วก็เดินจงกรมนั่งสมาธิสลับกันไป จนถึงเช้าก็ออกบิณฑบาต ในใจมีแต่พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายไปเรื่อยๆ แล้วความหลงจะมาหลอกได้อย่างไร ความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย จะไม่มีโอกาสออกมาได้ อยู่ที่การทำงานนี้ ส่วนใหญ่พวกเราไม่ค่อยเอางานนี้กัน ถูกความหลงดึงให้ไปทำงานอื่นแทน ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ แล้วก็แก้ปัญหาของเขาไม่ได้อยู่ดี เขาก็แก่ไปเจ็บไปตายไปอยู่ดี เราก็แก่ไปเจ็บไปตายไปอยู่ดี แล้วก็ทุกข์ไปกับการแก่การเจ็บการตาย ถ้าทำงานนี้เราจะไม่ทุกข์ แก่เจ็บตายก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ไม่มีในใจเรา นี่คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เกิดจากการทำธุระทั้ง ๒ นี้คือ คันถธุระกับวิปัสสนาธุระ เราต้องศึกษาต้องฟังอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่ฟังอยู่เรื่อยๆแล้วจะลืม พอออกจากที่นี่ไปปั๊บ ก็จะไปคิดเรื่องอื่นกัน ไปทำเรื่องอื่นกัน เรื่องที่ได้ยินได้ฟังก็จางหายไป ลืมไปหมดเลย ว่าวันนี้ได้รับการบ้านอะไรไปบ้าง
ถ้าฟังอยู่เรื่อยๆ จะมีธรรมคอยเตือนใจอยู่เรื่อยๆ ว่านี่คือการบ้านที่เราต้องทำ พอมีอะไรเตือนใจอยู่เรื่อยๆ ก็จะได้ทำ ถ้ายังไม่ทำ ก็ต้องถามตัวเราว่า มีอะไรเป็นอุปสรรค ถ้าแก้ได้ก็แก้ไป ปลดเปลื้องได้ ก็ควรปลดเปลื้องไป เพราะไม่มีงานอะไรสำคัญเท่ากับงานของจิตใจ งานอื่นไม่สำคัญเลย ทำเพื่อสนับสนุนงานนี้เท่านั้นเอง ถ้าไม่สนับสนุนงานนี้ก็อย่าไปทำเลย ทำงานที่สนับสนุน ก็คืองานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ให้ร่างกายนี้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีกำลังวังชาเดินจงกรมนั่งสมาธิ งานอื่นไม่สำคัญ ทำไปก็เท่านั้น ถ้าไม่มีคันถธุระวิปัสสนาธุระ ก็จะไม่มีวิมุตติหลุดพ้น มรรคผลนิพพานก็จะเป็นแต่ชื่อ เป็นเหมือนโฆษณาในจอโทรทัศน์ รถเบ็นซ์ราคา ๑๐๐ ล้าน บ้านราคา ๑๐๐๐ ล้าน จะเป็นเพียงโฆษณาที่เราได้เห็นได้ยิน แต่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของ เพราะไม่มีเงินซื้อ ถ้าไม่มีคันถธุระวิปัสสนาธุระ ก็เหมือนไม่มีเงินซื้อมรรคผลนิพพาน ถ้าอยากได้มรรคผลนิพพาน ก็ต้องมีคันถธุระวิปัสสนาธุระ ฟังเทศน์ฟังธรรมสลับกับการปฏิบัติ ฟังหลายๆองค์ก็ได้ ครูบาอาจารย์ก็มีอุบายวิธีแตกต่างกันไป องค์ไหนถูกจริตกับเรา เป็นประโยชน์ ก็ฟังองค์นั้นไปเป็นหลัก
ถาม ปัญญาอบรมสมาธิกับสมาธิอบรมปัญญานี้ ทำสลับกันได้หรือเปล่า
ตอบ การทำสมาธินี้ทำได้ ๒ วิธี วิธีหนึ่งก็คือการกล่อมใจด้วยการบริกรรม ด้วยการกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ให้ใจลอยไปสู่อารมณ์อื่น ให้อยู่กับเรื่องนี้เรื่องเดียว เช่นให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติ ให้อยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ ก็เป็นพุทธานุสติ ทำให้จิตเข้าสู่สมาธิรวมลงเป็นหนึ่งได้ เป็นเอกัคคตารมณ์ อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ปัญญาข่มใจสอนใจ ถ้าไม่ถูกกับการบริกรรมหรือดูลมหายใจ แต่ถูกกับการพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ก็พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายไป จนจิตรวมลงเป็นหนึ่ง
ถาม ปกติเวลานั่งสมาธิจะกำหนดลมหายใจ ถ้านิ่งดีก็จะสงบไปเลย แต่บางวันจิตฟุ้งมาก ก็จะดึงเอาศพคุณแม่มาดูบ้าง เอาศพคนอื่นมาดู แล้วก็พิจารณาไปเรื่อยๆ ใจก็จะสลดลง แล้วก็เข้าสู่สมาธิ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือในคนๆเดียวกัน สามารถเลือกใช้ได้ใช่หรือไม่
ตอบ ใช่ เลือกได้ วิธีไหนก็ได้ใน ๒ วิธีนี้ ปัญญาอบรมสมาธิ ก็คือการพิจารณาอริยสัจข้อแรกคือทุกขสัจ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอสุภะ หรือพิจารณาเวทนาความเจ็บปวดในขณะที่นั่งก็ได้ พิจารณาจนปล่อยวางเวทนาได้ จิตก็รวมลงสู่ความสงบได้ ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เวทนาที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ได้อยากให้มันหาย หรือกลัวมัน ปล่อยมันไปตามเรื่อง
ถาม บางทีกำหนดลมหายใจแล้วเอาไม่อยู่ ก็เลยดึงศพคุณแม่มาดู
ตอบ เป็นการทำสมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็ต้องเจริญปัญญา เพื่อละอุปาทานความยึดติดในขันธ์ ๕ เช่นยึดติดในร่างกาย ตอนที่ทำปัญญาอบรมสมาธินี้ เป็นปัญญาเฉพาะกิจ ทำเพื่อให้จิตสงบ แต่มีผลพลอยได้ตามมาด้วย คือได้ปัญญาละอุปาทานในขันธ์ ถ้าพิจารณาร่างกายและเวทนา ยิงทีเดียวได้นกถึง ๒ ตัว ได้ทั้งสมาธิได้ทั้งปัญญา ปล่อยวางเวทนาได้ แต่ยังมีกิเลสที่ละเอียดกว่า ที่ต้องใช้ปัญญาเข้าไปขุดคุ้ย หลวงตาท่านเทศน์ว่า ตอนต้นกิเลสจะออกมาเพ่นพ่าน พวกนี้จับง่าย พอพวกที่ออกมาเพ่นพ่านหมดไปแล้ว เหลือพวกที่ซ่อนอยู่ ต้องขุดคุ้ย เหมือนไก่ขุดคุ้ยหาตัวไส้เดือนตัวหนอนที่ซ่อนอยู่ในดิน ต้องวิเคราะห์ดูความรู้สึกในใจ ถ้าเศร้าหมองแสดงว่าเป็นปัญหา ต้องแก้ด้วยปัญญา
ถาม ดูใจไปเรื่อยๆ
ตอบ ต้องดูใจเป็นหลัก ว่าเป็นกลางเป็นอุเบกขา หรือเป็นทุกข์ ใจดีใจเสียใจกับอะไร ต้องกำจัดความดีใจเสียใจ ให้ใจเป็นอุเบกขา
ถาม ต้องคอยเตือนตัวเองให้ใจเป็นเพียงผู้ดู มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้วก็ดับไปเอง พยายามบอกตัวเองแบบนี้
ตอบ ให้ดูจิตเป็นหลัก ดูการเปลี่ยนแปลง เศร้าหมองบ้าง สดชื่นเบิกบานบ้าง สงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง แต่เป็นความฟุ้งซ่านลึกๆในจิต ไม่ใช่ฟุ้งซ่านในนิวรณ์ ที่เป็นความฟุ้งซ่านอย่างหยาบ ความฟุ้งซ่านในจิตลึกๆยังมีอยู่ เป็นความฟุ้งซ่านที่ละเอียด ต้องผ่านร่างกายไปแล้วถึงจะเห็น เป็นสังโยชน์เบื้องบน คือรูปราคะ อรูปราคะ ติดอยู่ในรูปฌานในอรูปฌาน ติดในความสงบ พอออกจากรูปฌานหรืออรูปฌาน ก็จะเกิดความเศร้าหมองขึ้นมา เพราะติดในความสงบ ต้องทำความเข้าใจว่า รูปฌานกับอรูปฌานไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ เวลามีก็รู้ว่ามี เวลาไม่มีก็รู้ว่าไม่มี อย่าไปดีใจเสียใจเวลามีหรือไม่มี สังโยชน์เบื้องบนมีอยู่ ๕ ตัวด้วยกันคือ รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ อวิชชา มานะคือการถือตน ถือว่าเท่าเขาสูงกว่าเขาหรือต่ำกว่าเขา พอมีมานะก็จะอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับตนให้สมกับฐานะ ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เช่นเราคิดว่าเราสูงกว่า ญาติโยมไม่กราบเรา ใจเราก็เศร้าหมอง ต้องทำความเข้าใจว่า เราไปบังคับเขาไม่ได้ ใครจะปฏิบัติกับเราอย่างไรก็เรื่องของเขา จะด่าหรือสรรเสริญก็เรื่องของเขา เราอย่าไปดีใจเสียใจกับคำพูดกับการปฏิบัติของผู้อื่นกับเรา ว่าสมกับฐานะหรือไม่ เราต้องรู้ว่าฐานะนี้เป็นเพียงสมมุติ สูงกว่าต่ำกว่าเท่ากันนี้เป็นเพียงสมมุติ จิตเป็นตัวรู้เท่านั้น เวลาไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ก็มีสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องเคารพสมมุตินี้ ต้องรู้ทันสมมุติ อย่าไปยึดติดสมมุติ เจอครูบาอาจารย์ก็ต้องกราบไหว้ มีพระผู้น้อยมากราบ ก็ต้องรับกราบ ในใจก็รู้ว่าเป็นการเล่นละครกัน ใจก็เล่นไปตามสมมุติ
อย่างที่หลวงตาได้เขียนไว้ในประวัติของหลวงปู่มั่น ที่มีพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมให้กับหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็ถามว่า เวลาที่พระอรหันต์มาประชุมกันนี้ ท่านนั่งกันอย่างไร ก็ทรงแสดงตอบไว้ ๒ ลักษณะ ถ้ามีสมมุติมาเกี่ยวข้องก็ว่าไปตามสมมุติ ว่าไปตามอายุพรรษา ผู้มีพรรษามากก็นั่งอยู่ข้างหน้า ผู้มีพรรษาน้อยก็นั่งอยู่ข้างหลัง ถ้าไม่เกี่ยวกับสมมุติ ใครมาก่อนก็นั่งข้างหน้า มาหลังก็นั่งข้างหลัง เรื่องมานะนี้ต้องรู้ทัน ถ้าไม่รู้ทัน ก็จะเกิดอาการหงุดหงิดขึ้นมา ส่วนอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านที่ละเอียด เกิดจากการพิจารณาธรรม ขุดคุ้ยเขี่ยหากิเลสต่างๆ อย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน อยากจะฆ่ามันให้หมด แต่ไม่มีกำลังเพราะจิตฟุ้งซ่าน ต้องทำสมาธิ พักจิตให้สงบ ให้เย็นสบายก่อน เมื่อสบายแล้วถอนออกมา ทีนี้ก็จะมีกำลังพิจารณาดูว่า อะไรเป็นปัญหาในจิต เกิดจากมานะ หรือรูปราคะ หรืออรูปราคะ หรืออวิชชา เป็นสังโยชน์ที่จะต้องแก้ให้ได้
ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมะของครูบาอาจารย์อยู่เรื่อยๆก็จะรู้ เพราะท่านจะเขียนป้ายบอกไว้ มาถึงตรงนี้แล้วจะเจออะไรบ้าง จะติดอยู่กับอะไรบ้าง เช่นจะติดกับแสงสว่าง จะติดกับความว่าง แต่ไม่ได้ว่างจริง แล้วก็จะไปหลงยึดติด ไปคอยรักษามัน มันเป็นไตรลักษณ์ ไปรักษาไตรลักษณ์ไม่ได้ ต้องปล่อยวาง ถึงจะผ่านไปได้ นี่บุญคุณของครูบาอาจารย์ก็อยู่ตรงจุดนี้แหละ เพราะส่วนใหญ่พอมาถึงจุดนี้ ก็จะต้องติดกัน เพราะคิดว่าถึงแล้ว ในคัมภีร์ก็แสดงไว้ว่า จิตเดิมเป็นประภัสสร สว่างไสว แต่เป็นความสว่างไสวของอวิชชา ไม่ใช่จิตบริสุทธิ์ ไม่ใช่ ปรมัง สุญญัง ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติที่ผ่านมาแล้วคอยบอก ก็จะติดกันตรงนี้ จะคิดว่าจิตประภัสสรคือนิพพาน นั่นแหละคือตัวอวิชชา ก็จะไปปกป้องรักษาจิตประภัสสรนี้ ใช้สติปัญญาคอยรักษาให้ประภัสสรอยู่เรื่อยๆ คอยขัดให้สว่างไสวอยู่เรื่อยๆ พอมันแสดงอาการอับเฉาขึ้นมา ก็รีบใช้สติปัญญา ไปขัดให้มันใสสว่างขึ้นมาใหม่ ก็ยังต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา ถ้ายังมีงานต้องทำอยู่ จะเป็น วุสิตัง พรหมจริยัง ได้อย่างไร วุสิตัง พรหมจริยัง แปลว่างานในพรหมจรรย์นี้ได้เสร็จสิ้นแล้ว งานของมรรคได้เสร็จสิ้นแล้ว สติปัญญาไม่ต้องทำงานแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในจิตแล้ว ไม่มีสว่างไม่มีเศร้าหมอง ทะลุไปแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แล้ว สว่างก็ไม่มี เศร้าหมองก็ไม่มี แล้วจะมีอะไรให้ทำอีก ก็รู้อยู่แก่ใจว่า วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์นี้เสร็จสิ้นลงแล้ว ไม่มีกิจอื่นใดที่จะต้องทำอีกต่อไป
การพิจารณาของปัญญาจะละเอียดเข้าไปๆ ในเบื้องต้นก็พิจารณาร่างกายที่เป็นส่วนหยาบก่อน เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องอสุภะ เรื่องปฏิกูล เรื่องธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่จะต้องเห็นอย่างชัดเจน ว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ เกิดแก่เจ็บตาย ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เป็นอสุภะไม่สวยงาม เป็นปฏิกูลสกปรก พอผ่านร่างกายไปได้แล้ว ก็เข้าไปสู่ตัวเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็จะเห็นว่าเป็นอาการ เป็นสภาวธรรม ที่เกิดดับเกิดดับ สังขารปรุงขึ้นมาแล้วก็ดับไป เวทนาเกิดขึ้นตามความคิดปรุงแต่งแล้วก็หายไป เหมือนแสงหิ่งห้อย พอเข้าไปถึงตัวจิตก็จะเห็นอาการต่างๆที่เกิดดับในจิต สว่างไสวบ้าง อับเฉาบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง สงบบ้าง ปัญญาจะเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ ละเอียดลงไปเรื่อยๆ แหลมคมขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับเข็มอย่างนี้ กิเลสก็ละเอียดลงไปเรื่อยๆ พอปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว จะไม่มีอะไรมาหยุดสติปัญญา ที่หมุนไปโดยอัตโนมัติแล้ว เมื่อก่อนนี้เวลาจะใช้สติปัญญาพิจารณา เหมือนกับสตาร์ทรถ ต้องคอยเข็นกัน ถึงจะพิจารณา พอถึงขั้นนี้แล้ว เป็นเหมือนรถที่ติดเครื่องอยู่ตลอดเวลา มีแต่ต้องคอยเบรกมันไว้ เพราะจะพิจารณาอย่างไม่หยุดไม่ยั้ง จนเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมาในจิต ต้องหยุดแล้วเข้ามาพักในสมาธิ พอได้กำลังแล้วก็ออกมาพิจารณาใหม่ นี่คืองานของพุทธศาสนิกชน คันถธุระและวิปัสสนาธุระ
ถาม จิตประภัสสร จิตเดิมเป็นอย่างไร
ตอบ จิตเดิมหมายถึงจิตที่สงบอยู่ในฌาน แต่ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฌานไม่ได้ทำลายกิเลส ต้องทำลายกิเลสด้วยปัญญาในอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาในไตรลักษณ์ จะทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ ต้องมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอน ตอนที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ จิตของพระพุทธเจ้าก็เป็นประภัสสรอยู่แล้ว แต่เป็นประภัสสรของสมาธิ จิตเวลาสงบก็เป็นเหมือนนิพพาน แต่เป็นนิพพานชั่วคราว กิเลสยังครอบงำจิตอยู่ ถ้าเป็นตะเกียงก็ยังมีโป๊ะครอบอยู่ แต่เป็นโป๊ะที่ได้รับการชำระขัดจนใสแจ๋ว เหมือนกับไม่มีโป๊ะ เหมือนกับกระจกแว่นตาที่ได้รับการเช็ดจนใสสะอาด จนเหมือนกับไม่มีกระจกแว่น จิตประภัสสรเป็นอย่างนี้ เป็นจิตที่ได้รับการขัดชำระด้วยศีลและสมาธิ
ถาม ได้ยินว่าจิตเดิมนี้ประภัสสร แต่มีกิเลสจรเข้ามา
ตอบ เวลาออกจากสมาธิ กิเลสก็ออกมา เวลาอยู่ในสมาธิก็เป็นประภัสสร พอออกจากสมาธิกิเลสก็โผล่ออกมา โคจรนี้เป็นภาษา ความจริงไม่ได้โคจรมาจากที่ไหน มันอยู่ในจิตเรา สัตว์โลกทุกตัวมีกิเลสฝังอยู่มาตลอด พระพุทธเจ้าทรงพยายามย้อนกลับไปดูว่ามันเริ่มต้นที่ตรงไหน ก็ไม่พบจุดเริ่มต้น จิตมีกิเลสฝังอยู่ทุกดวง มีพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์เท่านั้น ที่กำจัดกิเลสให้หมดไปจากจิตจากใจได้หมด จนเป็นจิตบริสุทธิ์ จิตประภัสสรกับจิตบริสุทธิ์เป็นคนละอย่างกัน จิตประภัสสรคือจิตที่สงบ ที่ยังมีกิเลสสงบตัวอยู่ ไม่ทำงาน เช่นจิตของพระอนาคามี ที่พิจารณาเห็นว่าดูเศร้าหมองบ้างสว่างไสวบ้าง นี่ก็แบบเดียวกัน กิเลสอันละเอียดคืออวิชชายังไม่หมดไป พ่อของกิเลสก็คืออวิชชานี้ ยังไม่ได้ถูกถอนไป ยังอยู่ในจิต จิตประภัสสรเป็นอย่างนี้ เป็นจิตที่สงบละเอียด แต่ยังมีกิเลสอยู่ จึงมีกิเลสโคจรเข้ามา เป็นประภัสสรแล้วก็เฉาลง กิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง ถ้าไม่มีอาจารย์คอยสอนคอยเตือน จะไม่รู้วิธีปฏิบัติกับจิตดวงนี้ อาจจะหลงคิดว่าเป็นพระนิพพานแล้ว เป็นจิตบริสุทธิ์แล้ว แต่ไม่ใช่ ปัญญาที่จะกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นสุด ต้องปัญญาขั้นสูงสุด ขั้นของพระอรหันต์เท่านั้น ถึงจะกำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ขั้นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีนี้ กำจัดได้บางส่วน แต่ไม่หมด
ถาม ที่แบ่งคนเป็นปทปรมะ เป็นเนยยะนี่ พวกปทปรมะถ้าสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นเนยยะได้ จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆได้ไหม
ตอบ คงจะยาก เพราะจะกลายเป็นอาหารของปูปลาไปก่อน
ถาม ถ้าพยายามสะสม ก็สามารถพัฒนาขึ้นไปได้
ตอบ ถ้าพยายามก็ไม่ใช่พวกปทปรมะ แต่เป็นพวกเนยยะ เพราะพวกปทปรมะจะไม่พยายามเลย จะปฏิเสธเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องบุญกรรม ไม่รับธรรมโอสถ เป็นพวกคนไข้ที่ไม่รับยา
ถาม ถ้าพยายามเอาเทปเอาซีดีให้ฟัง
ตอบ พยายามได้ ถ้ารับก็แสดงว่าไม่ใช่ ถ้าไม่รับก็แสดงว่าใช่
ถาม อย่างพวกเรา อย่างน้อยก็เนยยะใช่ไหมคะ
ตอบ พวกปทปรมะก็คือพวกที่ชวนมาวัดก็ไม่มา
ถาม ขอส่งการบ้าน รู้สึกว่าตัวเองนิ่งขึ้น แล้วเย็นเบา แต่ไม่ถึงขั้นสว่าง
ตอบ ต้องปฏิบัติเชิงรุก ต้องพิจารณา อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย อย่าไปตามรู้ เราต้องรุก บุกมันเลย คิดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องไตรลักษณ์ หรือบริกรรมพุทโธตลอดเวลา มันถึงจะเป็นเชิงรุก ถ้ารอให้ถึงเวลาแล้วค่อยปฏิบัติ ยังเป็นเชิงรับอยู่ ปล่อยให้มันรุกเรา ๑๐ ชั่วโมง แล้วเรารุกมันแค่ ๒ ชั่วโมง ก็จะไปไม่ถึงไหน เราต้องลุยตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย ต้องปฏิบัติเชิงรุก อย่าปฏิบัติเชิงรับ ถ้าเชิงรับก็เช้านั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง เย็นก็นั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง ส่วนเวลาอื่นก็ปล่อยให้มันรุกตลอด
ถาม ตอนนี้ก็พยายามทำในอิริยาบถต่างๆ
ตอบ อยู่ในอิริยาบถไหนก็ให้คิดถึงไตรลักษณ์ คิดถึงเกิดแก่เจ็บตายตลอดเวลา เรารุกมันแล้ว มันต้องถอย ต้องแพ้เราแน่ๆ
ถาม เวลาเกิดความรู้สึกว่าเราขุ่น ควรพิจารณาว่ามันเป็นอนิจจัง เกิดแล้วดับ ใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ต้องถามว่าเราขุ่นกับอะไร ต้องมีเรื่องที่ทำให้เราขุ่น อาจจะเป็นเรื่องภายนอก สิ่งที่เราเห็น หรือเป็นเรื่องภายใน คืออารมณ์บูด เป็นเรื่องของวิบากกรรม เคยทำอะไรไว้ พอถึงเวลามันก็โผล่ขึ้นมา เช่นบางวันตื่นขึ้นมา อยู่ดีๆก็อารมณ์บูดขึ้นมา ทั้งๆที่ยังไม่ได้ไปเห็นไปรับรู้อะไรจากภายนอก แสดงว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากภายใน เราก็พิจารณาดูว่าแก้ได้ไหม ถ้าแก้ไม่ได้ก็ยอมรับมันไป บูดก็บูดไป อย่าไปต่อต้าน บูดไปไม่ตลอดหรอก เดี๋ยวมันก็ต้องหยุดเอง ยอมรับมันเหมือนกับฝนตกอย่างนี้ ตื่นขึ้นมาเจอฝนตกก็ให้มันตกไป ออกไปทำงานไม่ได้ก็นั่งรอไปก่อน รอจนกว่ามันจะหยุดแล้วค่อยไป บูดก็ให้บูดไป เรามีหน้าที่อะไรเราก็ทำไป ถ้ามีสติรู้ทัน มันก็ดับ ถ้าไม่ดับก็ปล่อยให้มันเป็นไป หรือจะเบี่ยงเบนก็ได้ อย่าไปดูมัน พุทโธๆไป ขับมันออกไป ด้วยพุทโธๆก็ได้
ถาม ถ้าเราไม่คิด มันก็ไม่มี ไม่อยู่กับเรา
ตอบ ถ้าเราไม่ไปสนใจมัน เราจะไม่ขุ่น
ถาม ไม่ได้มีวิธีเดียวเฉพาะใช่ไหมคะ
ตอบ แล้วแต่อุบายของแต่ละคน จะบริกรรมพุทโธๆขับไล่มันไปก็ได้
ถาม บางทีก็พิจารณาว่า มันขุ่นเพราะเรามีตัวตนหรือเปล่า
ตอบ ใช่ ตัวตนไปรับมัน ไปยินดียินร้าย ถ้ารับรู้เฉยๆ ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร ทุกข์ใจจะไม่เกิด อารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสภาวธรรมภายในจิต เป็นเหมือนสภาวธรรมภายนอก เช่นรูปเสียงกลิ่นรส ส่วนอารมณ์บูด อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดีนี้ เป็นสภาวธรรมภายใน ถ้าใจไม่ฉลาดไม่มีปัญญา ก็จะขุ่นตาม จะเกิดทุกข์ในอริยสัจขึ้นมา เกิดสมุทัยขึ้นมา เหมือนกับที่เราขุ่นกับเรื่องภายนอก ถ้ารู้ทันด้วยปัญญา ว่าเราห้ามมันไม่ได้ จัดการมันไม่ได้ มันเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังเป็นอนัตตา เราจะไม่ทุกข์ ถ้าไปยุ่งกับมันก็จะทุกข์ขึ้นมาในใจ ถ้าปล่อยวาง เราจะไม่ทุกข์ เช่นตื่นขึ้นมาวันนี้รู้สึกไม่สบาย ก็พิจารณาว่า วันนี้อารมณ์ไม่ดีแล้วนะ ให้รู้แค่นี้ก็พอ ไม่ต้องมีปฏิกิริยาว่า ไม่เอา ไม่ชอบ ให้สักแต่ว่ารู้ กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งส่วนหยาบและส่วนละเอียด ภายในนี้ละเอียดกว่าภายนอกมาก ต้องเป็นสติปัญญาขั้นละเอียดถึงจะรู้ทัน
ถาม เวลาที่มีคนถามคำถามท่านอาจารย์ จิตเราจะนึกคำตอบไปล่วงหน้า แล้วก็จะรอฟังท่านอาจารย์ตอบ ถ้าตอบตรงกับที่เราคิดไว้ก่อน ก็จะรู้สึกดีใจ เป็นอัตตาหรือเปล่า
ตอบ ไม่หรอก เป็นการยืนยันความเข้าใจของเราว่าตรงกัน
ถาม ถ้าตอบคนละแนว เราก็จะว่า เรายังไม่ได้เรื่อง
ตอบ ต้องพิจารณาใหม่ ในใจเรามีทั้งสัมมาทิฐิและมิจฉาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามความจริง กับความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามความจริง ถ้าเราพิจารณาด้วยมิจฉาทิฐินี้ เวลาไปคุยกับคนที่มีสัมมาทิฐิจะไม่ตรงกัน ถ้ามิจฉาทิฐิกับมิจฉาทิฐิเจอกันก็จะตรงกัน คนชอบดื่มเหล้าเจอกัน ก็จะว่าดื่มเหล้าดี เราต้องมีมาตรฐานวัดความคิด ต้องมีสัมมาทิฐิ ต้องมีคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นมาตรฐาน ถ้าสงสัยอะไร ต้องศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าดูว่า ท่านห้ามหรือไม่ เช่นท่านห้ามดื่มสุรา แล้วคนอื่นบอกว่าดื่มสุราไม่ผิดไม่เสียหาย เราก็ต้องยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นมาตรฐาน ความคิดที่ขัดกับพระพุทธเจ้าเป็นมิจฉาทิฐิทั้งนั้น เช่นพวกที่จะให้เปิดบ่อนกาสิโน ว่าจะนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ พวกนี้ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า เจริญทางวัตถุ แต่เสื่อมทางจิตใจ เป็นภัยมากกว่าการเสื่อมทางวัตถุ เสื่อมทางวัตถุไม่ทำให้คนเสื่อม แต่เสื่อมทางจิตใจจะอยู่กันอย่างไม่เป็นสุข จะไม่มีศีลไม่มีธรรม จะฆ่าฟันกัน เอารัดเอาเปรียบกัน โกงกัน
เวลาเล่นการพนันแล้วสูญเสียก็อยากจะได้คืน ต้องไปลักเล็กขโมยน้อย ไปฉ้อโกง เพื่อเอาเงินมาเล่นต่อ ทำให้จิตใจทำให้สังคมเสื่อมลงไป แต่เขาไม่เห็นส่วนนี้ เห็นแต่เงินที่จะได้จากการสร้างบ่อน คนจะได้มีงานทำ แต่ไม่ดูผลเสียทางจิตใจและสังคม ผลกระทบกับสังคมส่วนรวมจะเป็นอย่างไร สังคมจะอยู่อย่างไร้ศีลธรรม เขามองไม่เห็น เพราะมีมิจฉาทิฐิ เราจึงต้องมีมาตรฐานเป็นเครื่องวัด เหมือนกับเวลาจะวัดอะไร ต้องมีเครื่องวัด น้ำหนักก็มีกิโลกรัมไว้วัด ความกว้างยาวก็มีไม้เมตรไว้วัด ฉันใดสัมมาทิฐิก็มีคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องวัด ถ้าอยากจะรู้ว่าเป็นสัมมาทิฐิหรือมิจฉาทิฐิ ให้ดูที่คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ดูที่การประพฤติของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ดูที่ความประพฤติของพระอริยสงฆ์สาวกเป็นหลัก นั่นแหละเป็นมาตรฐานที่ถูกต้องของสัมมาทิฐิ ท่านแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข หรือท่านละลาภยศสรรเสริญสุข ให้ดูตรงนั้น ท่านโลภโกรธหลง หรือว่าท่านไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ดูที่การประพฤติและคำสอนของท่านเป็นหลัก นั่นแหละออกมาจากสัมมาทิฐิทั้งนั้น ท่านถึงเจริญท่านถึงได้รับบรมสุข ปรมัง สุขัง
ส่วนพวกเราได้รับแต่การเวียนว่ายตายเกิด ได้รับความทุกข์จากความแก่ความเจ็บความตาย จากการพลัดพรากจากกัน เป็นผลของมิจฉาทิฐิทั้งนั้น ถ้าเราแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข เราก็จะต้องทุกข์กับการสูญเสียลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าไม่แสวงหา เราจะไม่ทุกข์กับการสูญเสียของลาภยศสรรเสริญสุข เพราะไม่ได้อาศัยลาภยศสรรเสริญสุขให้ความสุขกับเรา เราอาศัยความสงบให้ความสุขกับเรา นี่คือมาตรฐานของสัมมาทิฐิ อยู่ตรงนี้ เป้าหมายของสัมมาทิฐิก็พุ่งมาที่จิตที่สงบ ระงับจากความอยากความโลภทั้งหลาย จากความโกรธความหลงทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติทานศีลภาวนา ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา เวลาคุยกับใคร เขาว่าดีอย่างไร เราอย่าพึ่งไปเชื่อเขา ต้องถามพระพุทธเจ้าก่อนว่า ท่านสอนอย่างนี้หรือเปล่า สนับสนุนหรือเปล่า ถ้าไม่สนับสนุนก็แสดงว่าไม่ดี อย่าเอาเสียงส่วนมากเป็นหลัก เพราะพวกกิเลสมีมากกว่าพวกธรรมะ เหมือนเขาวัวกับขนวัว ธรรมะมีเพียง ๒ กิเลสมีนับไม่ถ้วน วัวตัวหนึ่งมีเขาเพียง ๒ เขา แต่มีขนเต็มไปหมด เอาประชาธิปไตยมาตัดสินลักษณะคุณธรรมไม่ได้ ต้องดูว่าเป็นไปเพื่อการระงับดับกิเลส เพื่อความสงบของจิตใจหรือไม่ ถ้าใช่ถึงจะเป็นธรรม เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าเป็นไปเพื่อความโลภความโกรธความหลง เพื่อความวุ่นวายความฟุ้งซ่าน อย่างนี้ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สัมมาทิฐิ
ต้องศึกษามากๆ หรือศึกษาแล้วแต่เข้าหูซ้ายออกหูขวา ไม่เข้าไปในใจ จึงไม่เข้าใจ ถ้าอยู่ในใจแล้ว ปัญหาจะไม่ค่อยมี เพราะรู้หมดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ลี้ลับ ไม่ปกปิด ความจริงที่เราควรรู้นี้ ท่านสอนหมด แสดงหมด เปิดเผยหมด อยู่ที่เราศึกษาแล้ว มันเข้าไปในใจหรือไม่ เข้าใจหรือไม่ หรือศึกษาแล้วก็ผ่านไป ศึกษาแล้วต้องปฏิบัติด้วย ถึงจะเข้าใจจริงๆ ถ้ายังไม่ปฏิบัติ จะยังเป็นสัญญาอยู่ เป็นจินตนาการอยู่ ยังไม่แน่ใจว่าเป็นจริงอย่างที่คิดหรือไม่ แต่ถ้าปฏิบัติแล้วจะยืนยันกัน ว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ พยายามปฏิบัติให้มากๆ พยายามปลีกวิเวก ปลีกวิเวกที่บ้านก็ได้ ขังตัวเองไว้ในห้อง ไม่ต้องออกมายุ่งกับใคร ถ้าไม่มีกิจธุระอะไร ก็เขียนป้ายไว้ที่หน้าห้องว่า ห้ามรบกวน โรงแรมเขายังมีป้ายแขวนไว้เลย ห้ามรบกวน เราก็เขียนติดไว้ที่หน้าห้อง ห้ามรบกวน ตอนนี้ไปวัด วัดอยู่ที่ใจที่วิเวกสงบ ไม่ยุ่งกับเรื่องภายนอก ถ้าใจอยู่กับธรรมะ อยู่กับสติ อยู่กับปัญญา อยู่กับสมาธิ จะได้รับผลที่ไม่คาดฝัน อยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ตรงไหน ครูบาอาจารย์ท่านจะเก่งขนาดไหน ท่านก็เพียงแต่ชี้ให้เรากลับมาหาที่ตัวเรา ท่านเป็นเหมือนกระจก สะท้อนให้เรากลับมาที่ใจ ไปหากี่องค์ท่านก็บอกให้เจริญสติ ให้ทำสมาธิ ให้เจริญปัญญา ให้มีความพากเพียร ให้ปลีกวิเวก ให้สำรวมอินทรีย์ ตาหูจมูกลิ้นกาย แต่เราไม่ค่อยปฏิบัติตามที่ท่านสอนกัน ชอบไปหาท่านเรื่อย ไปหาทีไรท่านก็บอกให้กลับไปภาวนา เราก็กลับไปหาท่านอีก ลองขังตัวเองในห้องดูสัก ๕ ชั่งโมง ๖ ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นได้ยิ่งดี ไม่ต้องมีอะไรมาบำรุงบำเรอ ไม่ดูไม่ฟังอะไรทั้งนั้น มีแต่สติสมาธิและปัญญา เป็นเครื่องมือต่อสู้กับกิเลส กับความอยากต่างๆที่อยู่ในใจ
พอมันสงบตัวลงจะเบาอกเบาใจ มีความสุขแบบไม่รู้จะพูดอย่างไร เมื่อก่อนนี้เราแพ้มันมาตลอด มันสั่งให้เราไปโน่นมานี่ได้เสมอ แต่วันนี้มันสั่งเราไม่ได้แล้ว เป็นความสุขใจอย่างยิ่ง ใจที่ได้รับการปลดเปลื้อง จากความกดดันของความอยากต่างๆ ด้วยกำลังของสติสมาธิปัญญา วิริยะความพากเพียร ขันติความอดทน อยู่ตรงนี้ การปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่การขังตัวเรา ให้อยู่ในที่สงบ แล้วก็ต่อสู้กับความอยากในใจ ให้ยุติลงให้ได้ พอยุติแล้วจะไม่คิดอยากออกจากห้อง อยู่ในห้องแสนจะสบาย ถ้าทุกข์ทรมานก็แสดงว่าความอยากยังไม่ยุติ ยังทำงานอยู่ ก็จะทำให้ทุกข์ทรมานใจ เคยได้ยินประวัติของพระภิกษุรูปหนึ่ง สมัยที่ท่านปฏิบัติ ท่านไปปฏิบัติที่กาญจนบุรี วันหนึ่งท่านไปนั่งภาวนาในป่า แล้วให้หมู่เพื่อนเอาเชือกมามัดตัวท่าน ทิ้งให้ท่านอยู่ในป่า ๓ วัน ท่านจะต่อสู้กับความอยาก เพราะถ้าไม่ผูกไว้เดี๋ยวจะต้องลุกขึ้นมา แล้วท่านก็อยู่ได้ นี่คืออุบายต่อสู้กิเลสของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน แต่เด็ดๆทั้งนั้น ถึงจะได้ผล พระพุทธเจ้าพระอริยสงฆ์เป็นแบบฉบับที่ดี ถ้าอยากจะได้ผลอย่างที่ท่านได้ ก็ต้องเอาท่านมาเป็นแบบฉบับ ท่านปฏิบัติอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น
ถาม ภาวนาอยู่ที่บ้าน ให้มีสติพิจารณา แต่ความคิดมันแวบไปเรื่อย มันแวบถี่ๆ ต้องอยู่กับพุทโธ แต่ก็ยังหลุดอยู่เรื่อย
ตอบ บริกรรมพุทโธหรือพิจารณาเกิดแก่เจ็บตายไป ท่องไปก่อนก็ได้ ท่องว่าเกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา อย่าให้จิตคิดเรื่องอื่น กิเลสกับธรรมจะแย่งความคิดกัน แล้วแต่ว่าใครจะเอามาคิด ถ้ากิเลสเอามาคิดก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเอาธรรมะมาคิด ก็จะทำให้จิตสงบ ถ้าท่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดแก่เจ็บตายไว้ ความคิดอยากในกาม อยากมีอยากเป็น ห่วงนั่นห่วงนี่ ก็จะไม่มีโอกาสได้คิด
ถาม บางทีความคิดไหลมาอย่างไม่ปะติดปะต่อกัน
ตอบ ถ้าเราไม่แย่งความคิดมาใช้ทางธรรม มันก็ไปคิดเรื่องอื่นทันที
ถาม เมื่อก่อนไม่ได้ดูตรงนี้ ไม่รู้ว่าวันหนึ่งคิดกี่เรื่อง
ตอบ ส่วนใหญ่จะถูกกิเลสเอาไปใช้เสียหมด เหมือนมีรถอยู่คันหนึ่ง แต่มีคน ๒ คนแย่งกันขับ ส่วนใหญ่กิเลสจะแย่งไปขับ เพราะเราไม่บุก เราไม่แย่ง เขาอยากจะได้ก็ให้เขาไป ปล่อยเขาคิดไป เขาก็คิดไปทางความทุกข์ ต่อไปนี้ไม่ได้แล้ว ต้องบังคับให้คิดในเรื่องธรรมะ คิดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ตอนต้นก็บริกรรมไปก่อนก็ได้ ถ้าไม่มีกำลังที่จะแยกแยะ ก็ท่องไปก่อน เกิดแก่เจ็บตาย ดินน้ำลมไฟ อนิจจังทุกขังอนัตตา พอมีกำลังเราค่อยแยกแยะรายละเอียด ขยายความออกไป คำว่าอนิจจังเป็นอย่างไร อนัตตาเป็นอย่างไร เกิดแก่เจ็บตายเป็นอย่างไร ใครบ้างที่เกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอย่างนี้ไป ให้เป็นเรื่องเป็นราว ในเบื้องต้นก็เหมือนกับท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ไปก่อน ฝึกให้อยู่กับอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดแก่เจ็บตาย ดินน้ำลมไฟ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯ ท่องไป ต่อไปพอจิตมีกำลัง กิเลสอ่อนกำลังลง ไม่ฉุดลากไปคิดเรื่องอื่น เราก็จะได้วิเคราะห์ได้ว่า ผมอยู่ตรงไหน ขนอยู่ตรงไหน เล็บอยู่ตรงไหน มีลักษณะอย่างไร ฟันเป็นอย่างไร เนื้อหนังเอ็นกระดูกเป็นอย่างไร วิเคราะห์ไป ต่อไปจะติดเป็นนิสัย จะพิจารณาวิเคราะห์ไปเรื่อยๆ เจอใครแทนที่จะดูว่าเขาชื่ออะไร ก็ดูแต่ผมเขา หนังเขา เนื้อเขา กระดูกเขา ดูทางธรรมะดูอย่างนี้ ถ้าดูทางกิเลสก็จะดูว่า เป็นคุณหญิงคุณนาย เป็นลูกใครพ่อใครแม่ใคร นามสกุลอะไร เรียนจบที่ไหน มีการศึกษาสูงหรือไม่ เป็นเรื่องของกิเลสพาไปทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องของสมมุติ ถ้าเรื่องของธรรมะแล้วจะดู อาการ ๓๒ ดูผมขนเล็บฟัน ดูเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ว่าจะรวยขนาดไหน เดี๋ยวก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ได้วิเศษกว่าใครเลย คิดอย่างนี้ เงินทองเขามีมากขนาดไหน ก็หนีความแก่ความเจ็บความตายไม่ได้
ถาม เพราะเรามีธรรมแล้วใช่ไหมคะ
ตอบ ถ้าเราไม่สร้างธรรมขึ้นมา กิเลสจะแย่งไปตลอดเวลา เราไม่บุกมัน เราไม่แย่งความคิดมาคิดในทางธรรมกัน เราปล่อยให้มันคิดไปตามเรื่องของมันอยู่เรื่อย
ถาม คิดสะเปะสะปะ บางทีไม่รู้ว่าคิดอะไรด้วย
ตอบ ต้องเอามาคิดในทางธรรมะ ต้องบังคับต้องดึงต้องลากมันมา