กัณฑ์ที่ ๓๙๖ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
คิดถึงธรรมะอยู่เรื่อยๆ
การปฏิบัติธรรมนี้ไม่ยากหรอก อยู่ที่เราจะปฏิบัติหรือไม่เท่านั้นเอง เพราะไม่ได้แบกของหนักๆเลย เพียงแต่ให้คิดถึงธรรมะอยู่เรื่อยๆเท่านั้นเอง พอไม่ได้คิดก็จะลืมจะหลง พอคิดก็รู้ทัน ก็ตัดได้ เหตุที่เราไม่ได้คิดถึงธรรมะกันบ่อยๆ ก็เพราะเราไม่มีกำลัง ที่จะดึงใจให้มาคิดทางธรรมะ ถูกกำลังของกิเลส ความหลง ความโลภ ความอยาก ดึงให้ไปคิดตาม ก็เลยต้องแบกกองทุกข์ไป ถ้าดึงมาคิดในทางธรรมะ ก็จะปล่อย อะไรที่เคยแบกไว้ ก็จะปล่อยไป ใจก็เบา เบาอกเบาใจ ที่หนักอกหนักใจก็เพราะไปแบกเอาไว้ เวลาเราหนักใจกับเรื่องอะไร แสดงว่าเรากำลังแบกเรื่องนั้นอยู่ ปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ ตัดไม่ได้ กิเลสมันปิดกั้นไม่ให้เราเห็น ว่าเรากำลังหนักอกหนักใจ บางทีเรารู้ว่าเรากำลังหนักอกหนักใจ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้มันหายหนักอกหนักใจ เพราะเราอยากจะทำหรืออยากจะได้สิ่งที่ทำให้เราหนักอกหนักใจ ก็เลยปล่อยไม่ได้ พออยากจะได้อะไร อยากจะเป็นอะไร ก็พยายามทุกวิถีทาง ที่จะให้เป็นไปตามความต้องการ พอไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เราก็เสียใจ เราก็ทุกข์ ถ้ายอมรับความจริง ก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร แต่ความอยากของเรามักจะสวนทางกับความจริง ทำให้เกิดความทุกข์หนักอกหนักใจขึ้นมา ถ้าความอยากเป็นไปตามความจริง เราก็จะสบายใจ เช่นเวลามันร้อน ถ้าเราอยากให้มันร้อนเราก็สบายใจ เวลามันหนาว ถ้าเราอยากให้มันหนาวเราก็สบายใจ เวลาฝนตก ถ้าเราอยากให้ฝนตกเราก็สบายใจ ถ้าฝนตกแต่เราอยากให้มันหยุด เราก็จะไม่สบายใจ ถ้าไม่อยากให้ฝนตก พอฝนตกเราก็ไม่สบายใจ ปัญหาอยู่ที่ใจ เราไม่ค่อยดูความจริงกัน ไม่ศึกษาความจริง พอเกิดมาก็อยากมาตลอด อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากมีนั่นอยากมีนี่ อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ทั้งๆที่เห็นอยู่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็ยังอยากอยู่ เช่นอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่พลัดพรากจากกัน แต่มันก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่เกิดกับคนนั้น ก็เกิดกับคนนี้ เกิดกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องเกิดกับเรา กับคนใกล้ตัวเรา ถ้าเรายังอยากไม่ให้เขาจากเราไป เราก็ต้องวุ่นวายใจ ทุกข์ใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราอยากให้เขาไป พอเขาไปเราก็ดีใจ มีบางคนที่เราไม่อยากจะให้เขาอยู่ พอเขาไปเราก็สบายใจ อยู่ที่ความอยากว่ามันตรงกับความจริงหรือไม่ ถ้าตรงกับความจริงก็สบาย เวลาอยากให้ลมพัดถ้ามันพัดก็สบายใจ เวลาอยากให้ลมหยุดพัด แต่มันไม่หยุดเราก็วุ่นวายใจ
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราดูความจริงกัน ให้ดูความจริงที่เกี่ยวข้องกับใจเรา สิ่งที่ใกล้ใจเราที่สุดก็คือร่างกาย แล้วก็อารมณ์ต่างๆที่มีอยู่ในใจ เช่นเวทนาความรู้สึก ที่ใจสัมผัสอยู่ตลอดเวลา เวทนาก็มีอยู่ ๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่อยู่นิ่ง ไม่สุขไปตลอด ไม่ทุกข์ไปตลอด ไม่สุขไม่ทุกข์ไปตลอด เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนกับวันเวลา กลางวันก็ไม่เป็นกลางวันตลอด กลางคืนก็ไม่เป็นกลางคืนตลอด เขาเปลี่ยนไปตามเรื่องของเขา เราไม่ทุกข์กับวันเวลา เพราะเราไม่ไปขัดความจริง เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงของวันเวลา แต่เราไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของเวทนา เวลาสุขก็อยากจะให้มันสุขไปเรื่อยๆ เวลาทุกข์ก็อยากจะให้มันหมดไปเร็วๆ พอไม่เป็นตามที่ใจปรารถนาก็ทุกข์ขึ้นมา ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราศึกษา ก็ศึกษาเรื่องเหล่านี้ เรื่องใกล้ใจ ก็คือขันธ์ ๕ รูป(ร่างกาย) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัวที่มีบทบาทเด่นมากก็คือเวทนาความรู้สึก ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ส่วนสัญญาสังขารวิญญาณทำหน้าที่ผลิตความรู้สึกต่างๆออกมา เรารู้สึกสบายใจก็เพราะเราคิดไปในเรื่องที่ทำให้เราสบายใจ ถ้าคิดไปในเรื่องที่ทำให้เราไม่สบายใจ ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ตัวที่แสดงผลก็คือเวทนานี้ การกระทำต่างๆของเราทุกวันนี้ ก็ทำเพื่อสุขเวทนากัน แต่ไม่คิดเลยว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มันสุขไปตลอด ถ้าใจยังเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ เช่นขันธ์ ๕ นี้เป็นสิ่งที่ไม่ถาวรไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รูป(ร่างกาย) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ รับรู้เรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา มีเรื่องต่างๆเข้ามาตลอดเวลา เข้ามาทางวิญญาณ เข้ามาทางสัญญา สังขารก็นำเอาไปคิดเอาไปปรุง ทำให้เกิดความอยากได้บ้าง ไม่อยากได้บ้าง รักบ้างกลัวบ้างชังบ้าง ทำให้ใจกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา
พวกเราไม่รู้กันว่าความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ในขันธ์ ๕ ไม่ได้อยู่ในรูป(ร่างกาย)เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แต่อยู่ในใจ ใจที่นิ่ง ที่เป็นอุเบกขา นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นใด เป็นสุขที่เราต้องทำให้มีอยู่ตลอดเวลาให้ได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายทำได้แล้ว ท่านรักษาใจอย่างเดียว รักษาความนิ่งสงบของใจ ใจจะนิ่งจะสงบได้ ก็ต้องรู้ทันสิ่งที่ใจไปเกี่ยวข้องแล้วปล่อยวาง ไม่มีความอยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง ที่เรียกว่าสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด จะมีอะไรจะเป็นอะไรก็ยินดีพอใจ สรรเสริญก็พอใจ นินทาก็พอใจ เจริญลาภยศสรรเสริญสุขก็พอใจ เสื่อมลาภยศสรรเสริญสุขก็พอใจ นี่คือวิธีที่จะทำให้ใจมีความสุขอย่างแท้จริง เป็นอุเบกขา ปล่อยวาง นิ่ง ไม่กระเพื่อม เราจึงต้องศึกษาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับใจ ใกล้ตัวก็ขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไกลตัวออกไปก็บุคคลอื่นสิ่งอื่น เหตุการณ์ต่างๆ สมบัติข้าวของต่างๆ ที่ทำให้ใจกระเพื่อมได้ เศรษฐกิจขึ้นเศรษฐกิจลงใจก็กระเพื่อม รายได้ลดรายได้เพิ่มขึ้นใจก็กระเพื่อม เราต้องศึกษาทำความเข้าใจ สอนใจอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่มีอะไรแน่นอน เวลาได้มาก็อย่าไปดีใจ เวลาได้มาก็สะกิดใจหน่อยว่ามันมาเพื่อไป ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เราก็ไม่ได้อยู่ไปตลอด เรามาอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวเราก็ไป จึงไม่ควรสะสมมากเกินความจำเป็น เอาเท่าที่จำเป็น มีมากก็หนักไปเปล่าๆ เหมือนรถยนต์ที่เติมน้ำมันแค่เต็มถังก็พอ ไม่ต้องเอาใส่ถังถึง ๑๐ ถัง ไปข้างหน้าก็มีที่เติมอีก
สำหรับร่างกายนี้เอาเท่าที่จำเป็นก็พอ อาจจะอดอยากขาดแคลนบ้าง ก็ถือเป็นคติธรรมดา มีมากมีน้อยถึงเวลาที่ร่างกายจะหยุดทำงานมันก็หยุด มีอาหารมีปัจจัย ๔ พร้อมบริบูรณ์ก็ตายได้ อดอยากขาดแคลนก็ตายเหมือนกัน จึงไม่ต้องวิตกกังวลกับเรื่องปัจจัย ๔ มากเกินกว่าเหตุ สะสมไว้พอประมาณ พอหมดก็หาใหม่ หาได้ก็ดี หาไม่ได้ก็อดไป ถ้าต้องอดตายก็ยอมรับว่าต้องตายกันทุกคน คิดอย่างนี้จะได้ไม่วิตกกังวล ใจจะไม่กระเพื่อม จะมีความสุขตลอดเวลา เป็นความสุขที่เหนือความสุขความทุกข์อื่นๆ ความสุขใจกลบได้หมด กายจะทุกข์อย่างไร จะไม่กระทบกระเทือนความสุขใจเลย พระพุทธเจ้าพระอรหันต์นี้ เวลาท่านตาย ท่านเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ ท่านไม่ได้เดือดร้อนเลย ใจของท่านมีความสุขอยู่ตลอดเวลา ปรมังสุขังอยู่ตลอดเวลา ถ้าใจไม่ดีเสียอย่างแล้ว ใจทุกข์เสียอย่างแล้ว ต่อให้มีความสุขอย่างอื่นมากน้อยเพียงไร ก็จะถูกความทุกข์ใจกลบหมด เวลาร่างกายเป็นปกติ ไม่เป็นอะไรเลย ถ้าใจไม่สบายนี่ ก็ทุกข์นะ อยู่ตรงนี้ ใจจึงเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ความสุขความทุกข์ของใจนี้ มีอิทธิพลมากกว่า ความสุขความทุกข์ของสิ่งอื่นๆ ถ้าทำใจให้เป็นสุขได้แล้ว ความสุขอย่างอื่นจะไม่มีความสำคัญเลย ถ้าเป็นธนบัตรก็เป็นใบละ ๑๐๐๐ พวกใบละ ๑๐๐ ใบละ ๑๐ จะไม่มีความหมายเลย ความสุขความทุกข์ของใจก็เป็นอย่างนั้น มีความรุนแรงมากกว่าความสุขความทุกข์ของสิ่งอื่นๆ
สิ่งที่ทำให้ใจสุขหรือทุกข์ก็คือกิเลสกับธรรมนี้เอง ถ้ามีธรรมก็จะทำให้ใจสุข ถ้ามีกิเลสก็จะทำให้ใจทุกข์ กิเลสก็คือความหลง ที่หลงไปหาความสุขภายนอกใจ ความสุขจากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จากขันธ์ ๕ จากรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่ทำให้ใจทุกข์ เพราะต้องคอยรักษาสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะไม่สามารถรักษามันได้ เช่นร่างกายนี้เราก็พยายามรักษาให้มันหนุ่มให้มันสาว ให้มีกำลังวังชาแข็งแรงไปตลอด แต่มันเป็นไปไม่ได้ สักวันหนึ่งมันก็ต้องแพ้เวลา ที่จะกัดกินทุกสิ่งทุกอย่าง สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าสัตว์หรือบุคคลหรือวัตถุ จะต้องถูกเวลาทำลายไปหมด เปลี่ยนไปหมด การหลงไปกับสิ่งต่างๆภายนอกใจ เพื่อบำรุงบำเรอให้ความสุขกับใจ จึงเป็นทางที่ผิด เป็นความหลง เห็นผิดเป็นชอบ มิจฉาทิฐิ เป็นกิเลสโมหะอวิชชา ส่วนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือธรรมะนี้เป็นความจริง สอนให้มองเห็นความจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ มีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ๑. ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าอนิจจา ๒. ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตน ไม่เป็นสมบัติของใครทั้งนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างออกมาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็ต้องกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ ๓. ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้เป็นทุกข์หรอก มันเป็นแค่อนิจจากับอนัตตา ตัวที่ทุกข์คือใจต่างหาก ที่ไปหลงกับสิ่งต่างๆ เพราะไม่เห็นอนิจจาไม่เห็นอนัตตานี้เอง พอไม่เห็นอนิจจาไม่เห็นอนัตตา ก็คว้ามับเลย คิดว่าเป็นขนมหวาน แต่ที่ไหนได้กลับเป็นยาขมเคลือบน้ำตาล หวานเดี๋ยวเดียว ได้อะไรมาก็ดีอกดีใจ เสร็จแล้วก็ต้องมาทุกข์ด้วยวิธีต่างๆ ต้องคอยดูแลรักษา ต้องหวงต้องห่วง ต้องเสียใจเมื่อมันจากไปหรือเปลี่ยนสภาพจากดีเป็นไม่ดีไป
สิ่งที่เราต้องศึกษาก็คืออนิจจาการเปลี่ยนแปลง อนัตตาไม่มีตัวตน ไม่ใช่สมบัติของใครทั้งนั้น เป็นของธรรมชาติ เหมือนกับฝนฟ้าอากาศ ไม่ได้เป็นสมบัติของใคร เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย ร่างกายของเราก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย ข้าวของเงินทองก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าศึกษาแล้วจะเข้าใจ จะไม่หลงยึดติด จะไม่พึ่งสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ความสุขกับเรา จะไม่เสียเวลาแสวงหา ไม่เสียเวลาดูแลรักษา จะรักษาอย่างเดียวเท่านั้นก็คือใจของเรา จะแสวงหาอย่างเดียวคือความสงบของใจ ใจจะสงบได้ก็ต้องปล่อย ต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ใจไปหลงยึดติดว่าเป็นความสุข ก็คือลาภยศสรรเสริญสุข และขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ถ้าปล่อยแล้วจะไม่ทุกข์ จะเป็นอย่างไรก็รับได้ แก่ก็รับได้ เจ็บไข้ได้ป่วยก็รับได้ ตายก็รับได้ เวทนาจะทุกข์ก็รับได้ นั่งแล้วเจ็บปวดก็ปล่อยให้เจ็บไป ใจไม่ไปแบกไม่ไปอยากกับเวทนา ไม่ไปอยากให้เวทนาหาย จะเจ็บจะปวดอย่างไรก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เอาใจไปคิดเรื่องอื่น คิดพุทโธๆไปก็ได้ เพื่อให้ใจลืมเรื่องเวทนานี้ไป คิดแต่พุทโธๆไป เดี๋ยวก็ลืมเรื่องเจ็บปวดของร่างกาย เพราะใจจะไม่มีโอกาสไปอยากให้ความเจ็บปวดหายไป เหมือนเวลานั่งทำอะไรเพลินนี่ จะไม่เจ็บเท่าไหร่ เพราะใจไม่ได้อยู่กับความเจ็บ แต่อยู่กับเรื่องที่กำลังทำ ถ้านั่งเฉยๆไม่มีอะไรทำนี่ นั่งเพียง ๕ นาทีก็จะอยากลุกแล้ว เช่นนั่งสมาธิใหม่ๆนี้ ยังนั่งไม่เป็น นั่งเพียง ๕ นาทีก็เจ็บแล้ว ใจเจ็บแทนร่างกาย เพราะใจดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา พอไม่ได้ทำตามใจก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้ ก็เพื่อให้เราได้เข้าสู่จุดนี้ จุดที่ทำให้เกิดสติปัญญา ด้วยการดึงใจมาคิดเรื่องอนิจจากับอนัตตานี้เอง แล้วก็เรื่องทุกขัง ที่เกิดขึ้นเพราะไม่เห็นอนิจจาไม่เห็นอนัตตา พอไม่เห็นอนิจจาไม่เห็นอนัตตา ก็เกิดความหลงยึดติดทันที ว่าเป็นนิจจาเป็นตัวตน เช่นร่างกายนี้จะอยู่ไปนานๆ เป็นตัวเราของเรา คิดอย่างนี้แสดงว่าหลงแล้ว ทุกขังก็เกิดขึ้นมาทันที พอร่างกายเริ่มแก่ก็ไม่สบายใจ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่สบายใจ พอเห็นคนอื่นตายไปก็ไม่สบายใจ ทุกขังเกิดขึ้นมา ถ้ามีอนิจจามีอนัตตาอยู่ในใจอยู่เสมอ รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา รู้ว่าร่างกายเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป กลายเป็นดินไป ก็จะไม่เดือดร้อน ถึงเวลาก็ให้มันเป็นไป ใจก็ตั้งอยู่ในความสงบ ปล่อยวางตั้งแต่ยังไม่ตาย พอถึงเวลาตายก็ไม่มีปัญหา สังเกตดูสิ่งใดที่เราไม่ได้สนใจแล้ว มันจะเป็นอะไร จะเป็นจะตายอย่างไร เราไม่เดือดร้อน แต่สิ่งใดที่เรายังให้ความสำคัญ ยังให้ความสนใจอยู่ เราจะทุกข์กังวล กินไม่ได้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อยู่ที่เราให้ความสำคัญให้ความสนใจกับมันหรือไม่ ถ้าให้ความสนใจความสำคัญก็จะเป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่ให้ความสำคัญความสนใจกับมัน ปล่อยมันไปตามเรื่อง ก็จะไม่ทุกข์ จะทำอย่างไรเพื่อจะได้ไม่ให้ความสำคัญความสนใจ เรื่องนี้มันยาก เพราะนิสัยเราชอบให้ความสำคัญความสนใจกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอเห็นปั๊บอารมณ์อยากได้หรืออยากหนีก็เกิดขึ้นทันที เห็นอะไรที่ต้องใจก็อยากได้ทันที เห็นอะไรที่ไม่พอใจก็อยากจะหนีทันที ที่มันยาก เพราะมันฝังลึกเป็นนิสัย ได้ยินได้ฟังธรรมนี้แล้ว ก็ยังไม่สามารถเอาความรู้นี้ไปหยุดมันได้ เพราะความรู้ที่ได้ยินได้ฟังนี้ยังไม่มีกำลังมากพอ
ความรู้ที่จะหยุดมันได้นี้ ต้องอยู่ในระดับที่มีสมาธิกำกับ คือภาวนามยปัญญา เป็นความรู้ที่ตั้งอยู่บนฐานของจิตที่สงบ จิตที่นิ่ง จิตที่หยุดแล้ว แต่ยังกระเพื่อมไปตามสิ่งที่ใจสัมผัสรับรู้ ส่วนใจที่กำลังได้ยินได้ฟังอยู่นี้ถ้ายังไม่นิ่ง ถึงแม้จะรู้ว่าไม่ควรให้ความสนใจ ไม่ควรให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะตัวที่ให้ความสำคัญนี้มันไม่นิ่ง มันไม่ได้ถูกฉีดยาสลบ มันจะทำหน้าที่ทันที พอเห็นอะไรปั๊บ จะมีปฏิกิริยาทันที ถ้าชอบก็วิ่งเข้าหา ถ้าไม่ชอบก็วิ่งหนี ถ้าทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ ตัวชอบกับตัวชังนี้จะถูกฉีดยาสลบ เวลาที่อยู่ในสมาธิมันจะไม่แสดงตัวเลย เหมือนหายไปเลย พอออกจากสมาธิมันก็จะออกมาแสดงตัว แต่เรามีกำลังของสมาธิที่จะหยุดมันได้ พอมันจะไปรักไปชัง เราดึงกลับมาที่สมาธิได้ กลับมาที่อุเบกขาได้ ทั้งๆที่ไม่ได้นั่งอยู่ในสมาธิก็ดึงกลับมาได้ ถ้าเราชำนาญในสมาธินี้แล้ว เราสามารถกลับมาได้เสมอ ต้องการให้สงบเมื่อไหร่ก็สงบได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นสมาธิจริง สมาธิที่ไม่เสื่อม แต่สมาธิที่ได้แล้ว พอจะให้สงบอีกกลับไม่สงบ อย่างนี้ยังไม่ใช่เป็นสมาธิที่แท้จริง ถ้าเป็นสมาธิที่แท้จริงแล้ว ต้องหยุดได้ตลอดเวลา ต้องการจะให้มันหยุดเมื่อไหร่ก็หยุดมันได้ ส่วนปัญญาเป็นตัวคอยกำราบจิต เวลาออกจากสมาธิ เพราะยังติดนิสัยเดิมอยู่ ยังชอบยังชังอยู่ เวลาชอบหรือชังก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ต่อไปจะไม่ชอบไม่ชัง จะเฉยๆ เพราะเหตุที่ทำให้ชอบหรือชังก็คือความหลง ไม่รู้ความจริงว่าเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง
พอมีปัญญาเห็นความจริงว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ควรไปยุ่งไปเกี่ยวข้องไปให้ความสำคัญ พอรู้แล้วจะเห็นกี่ครั้งก็จะไม่มีอารมณ์กับสิ่งนั้นอีกต่อไป ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่รักไม่ชัง ไม่กล้าไม่กลัว ถ้ามีปัญญาอย่างต่อเนื่องอยู่คู่กับใจ เหมือนกับอาวุธคู่มือ อย่างเวลาที่ตำรวจหรือทหารไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องเอาอาวุธติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าจะต้องใช้เมื่อไหร่ ถ้าเอาไว้ที่บ้าน พอถึงเวลาจะใช้ก็ไม่ทันกาล จะวิ่งกลับไปเอาที่บ้านก็ไปไม่ทันแล้ว ฉันใดปัญญาอย่างที่พวกเราได้ยินกันในขณะนี้ ก็เป็นเหมือนปัญญาที่เก็บไว้ที่บ้าน หรือเก็บไว้ที่ศาลานี้ พอฟังเสร็จก็เอาไว้ที่นี่ ออกไปก็ไม่เอาติดตัวไปด้วย พอออกไปจากศาลานี้ เห็นอะไรก็มีรักชังตามมาแล้ว เพราะไม่มีสมาธิดึงเอาปัญญานี้ติดตัวไปด้วย ถึงแม้อยากจะเอาไปก็เอาไปไม่ได้ เคยสอนให้คิดแต่คำว่าพุทโธอย่างเดียว ๗ วัน ๗ คืน หรือให้คิดอนิจจังทุกขังอนัตตา ๗ วัน ๗ คืนนี้ ก็คิดไม่ได้กัน อย่าว่าแต่ ๗ วัน ๗ คืนเลย ๗ นาทีจะได้หรือเปล่า ให้มันต่อเนื่องสัก ๗ นาที อย่างน้อยจะได้สมาธิ ถ้าบริกรรมพุทโธๆอย่างต่อเนื่องเพียง ๕ นาที จิตก็จะรวมลงได้ ถ้าจิตไม่แวบไปคิดถึงเรื่องอื่นเลย มีแต่พุทโธอย่างเดียวอยู่ภายในใจ แต่ทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่มีสติ สติเป็นเหมือนเชือกที่จะดึงใจไว้ เหมือนจับลิงได้แต่ไม่มีเชือกมัดไว้กับเสา พอปล่อยมือปั๊บมันก็ดิ้นหนีไป ต้องมีเชือกผูกมันไว้ เชือกก็คือสตินี่เอง สติต้องดึงใจไว้อยู่เรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ใจเหม่อลอยคิดเรื่อยเปื่อย ดึงมันไว้ เหมือนกับสมอเรือ ที่ดึงเรือไว้ไม่ให้ลอยไปตามกระแสน้ำ สติเป็นเหมือนสมอเรือของใจ ไม่ให้ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ เวลานั่งอยู่เฉยๆคนเดียวนี้มันไหลไปแล้ว คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ คิดไปได้เรื่อยเปื่อย เป็นชั่วโมงๆก็คิดได้ แต่ให้คิดอยู่กับพุทโธคำเดียวคิดไม่ได้ ถ้าคิดอยู่กับพุทโธคำเดียวได้มันจะไม่ไหลไป มันจะอยู่กับที่ พออยู่กับที่นานๆ ก็จะดิ่งลงสู่ความสงบ จะรวมลง พอทำไปเรื่อยๆจนชำนาญแล้ว ต่อไปไม่ต้องใช้พุทโธ เพราะสติมีกำลังมากพอ เพียงกำหนดให้หยุดคิดหยุดปรุงแต่ง มันก็หยุดนิ่งได้
ในทางปฏิบัติจุดเริ่มต้นต้องอยู่ที่สติ จากสติก็ไปสู่สมาธิและปัญญาตามลำดับ สติก็มีหลายแนวด้วยกัน กรรมฐาน ๔๐ นี้ก็เป็นเรื่องของสติทั้งนั้น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ อานาปานสติ ฯลฯ เห็นไหมมีแต่คำว่าสติทั้งนั้น ในกรรมฐาน ๔๐ นี้ เช่นกายคตาสติ ก็คือการพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายตลอดเวลา มีสติรู้อยู่กับอาการ ๓๒ ของร่างกาย ถ้าดูลมหายใจอยู่ตลอดเวลา ก็มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าพิจารณาความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เรียกว่ามรณานุสติ ถ้ากำลังทำอะไรอยู่ก็ให้อยู่กับการกระทำนั้น กำลังเดินก็ให้อยู่กับการเดิน กำลังยืนก็ให้อยู่กับการยืน นั่งนอนก็ให้อยู่กับอิริยาบถนั้นๆ กำลังเขียนหนังสืออ่านหนังสือ รับประทานอาหาร อาบน้ำอาบท่า ก็ให้มีสติอยู่กับการกระทำนั้นๆ ต่อไปจะมีสติ จะสามารถควบคุมใจได้ ไม่ให้ใจเหม่อลอย ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อยอย่างที่เคยเป็น พอไม่คิดเรื่อยเปื่อยแล้ว จะให้คิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะคิดได้อย่างต่อเนื่อง จนเห็นชัดเจนว่าเป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่นดูว่าร่างกายนี้เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ก็ดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นของร่างกายว่ามาจากอะไร จะเห็นว่ามันมาจากอาหาร ถ้าไม่มีอาหารร่างกายจะเจริญเติบโตขึ้นมาได้หรือไม่ อาหารมาจากไหน อาหารก็ต้องมาจากดินน้ำลมไฟ ข้าวก็ต้องมีดินมีน้ำมีลมมีไฟมีแสงแดด สัตว์ก็ต้องกินผัก ผักก็มาจากดินน้ำลมไฟ มาเป็นทอดๆ พอเข้ามาในร่างกาย ก็เปลี่ยนเป็นผมเป็นขนเป็นเล็บเป็นฟันเป็นหนัง เป็นอาการ ๓๒ พอตายไปก็แยกออกจากกันไป คนตายแล้วน้ำในร่างกายก็จะไหลออกมา ความร้อนก็ระเหยออกไป ลมก็ระเหยออกไป ทิ้งไว้นานๆเข้ามันก็เหลือแต่กระดูก หนังที่แข็งกรอบ เนื้อที่แห้งกรอบ ทิ้งไว้นานๆก็กลายเป็นฝุ่นกลายเป็นดินไป ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนรู้ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใจ
ทีนี้ถ้าอยากจะรู้ว่ารู้จริงหรือไม่ ก็ต้องไปเข้าห้องสอบ หาที่พิสูจน์ดู หาที่ปลงร่างกายนี้ หาที่ๆท้าทายต่อความเป็นความตาย ที่ไหนที่เรากลัวตายไปที่ตรงนั้น ป่าช้าก็ได้ ถ้ากลัวผีก็ไปที่ป่าช้า อย่างมากก็แค่ตาย ผีจะทำร้ายได้แค่ร่างกาย ใจไม่มีอะไรทำลายได้ ระเบิดนิวเคลียร์ก็ไม่สามารถทำลายใจได้ เพราะใจไม่ได้เป็นรูปธรรม ไม่ได้เป็นวัตถุ เหมือนแสงแดด ระเบิดนิวเคลียร์ก็ทำลายไม่ได้ อากาศก็ทำลายไม่ได้ ฉันใดใจก็เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นวัตถุ ส่วนร่างกายก็ต้องแยกสลายไปตามธรรมชาติ มันทำลายตัวมันเอง เพราะมันมีสัญญาว่าจะอยู่เพียงแค่นี้ๆ พอถึงเวลาดินน้ำลมไฟก็แยกทางกันไป เหมือนทำสัญญากันไว้ว่า เรามาอยู่ที่บ้านจนถึงเวลานี้นะ พอถึงเวลาแล้วเราก็ไปคนละทางนะ พอถึงเวลาเขาก็แยกกันไป ถ้ารู้ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้แล้ว จะไปสงวนไปเสียดายไปหวงมันไว้ทำไม เพราะเวลาหวงนี้จะเกิดความทุกข์ใจหวาดกลัวทรมานใจขึ้นมาทันที ถ้ายอมให้เป็นไปตามความจริง ใจจะนิ่งสบาย ดูมันไป ถึงเวลาไปก็ให้มันไป จะทำได้ก็ต้องเริ่มที่สติ แล้วก็ตามด้วยสมาธิ แล้วก็มาที่ปัญญา พอมีสมาธิแล้วจะคิดได้อย่างต่อเนื่อง ๗ วัน ๗ คืนก็พิจารณาได้ จะไม่คิดอย่างอื่นเลย พอนั่งสมาธิแล้ว ก็จะเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใน ๗ วันก็จะได้ผลอย่างแน่นอน อย่างช้าก็ ๗ ปีจะต้องสำเร็จ ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเป็นอย่างน้อย จะต้องได้ขั้นอนาคามีขึ้นไป
มันไม่ได้อยู่ที่ใครนะ อยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่มีใครทำแทนเราได้ คนอื่นกินข้าวแทนเราไม่ได้ คนอื่นปฏิบัติธรรมแทนเราไม่ได้ เรากินข้าวได้ ทำไมเราปฏิบัติธรรมไม่ได้ คนอื่นเขากินข้าวได้ เขาปฏิบัติธรรมได้ เราก็ต้องกินข้าวได้ปฏิบัติธรรมได้ อยู่ที่ว่าเราจะกำหนดเป้าหมายของชีวิตของเราหรือไม่ ตั้งเข็มทิศหรือไม่ หรือจะปล่อยให้เป็นแบบเดิมๆ เพราะยังห่วงยังหวงยังเสียดายสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ยังรักยังชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ยังสุขกับสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ก็จะไม่มีทางไปตามทางที่พระพุทธเจ้าไปได้ ต้องดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ท่านก็เคยมีความสุขเหมือนกับพวกเรา มีมากกว่าพวกเราเสียด้วยซ้ำไป ท่านเป็นถึงราชโอรส ความสุขทางด้านรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้มีพร้อมบริบูรณ์ มีปราสาท ๓ ฤดู มีทุกสิ่งทุกอย่างที่คนรวยหรือคนมีฐานะสูงๆจะมีได้ พวกเรามีไม่เท่าท่าน เรากลับหวงมากกว่าท่านอีก ท่านมีมากขนาดนั้น แต่ท่านไม่หวง ท่านไม่ห่วง ท่านไม่เสียดาย เพราะท่านพิจารณาด้วยปัญญาว่ามันเป็นความสุขชั่วคราวเท่านั้นเอง แล้วในบั้นปลายของชีวิตมันจะทุกข์ทรมานใจ เพราะจะไม่สามารถหาความสุขแบบนั้นได้อีก พอร่างกายชราภาพไปแล้ว หูตาก็ไม่ดี จะหาความสุขจากรูปเสียงเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้แล้ว ร่างกายก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ จะร้องรำทำเพลงเหมือนเมื่อก่อนก็ทำไม่ได้แล้ว จะไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆก็ทำไม่ได้แล้ว ต้องอยู่แต่ในบ้าน ก็มีแต่ความเศร้าสร้อยหงอยเหงา พระพุทธเจ้าทรงเห็นจุดหมายปลายทางของชีวิตว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ จึงยอมทนทุกข์ทรมานออกปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้ไม่ต้องมาทุกข์ตอนปลายของชีวิต ถ้าเอาชนะกิเลสได้ ถ้าปราบความอยากในความสุขต่างๆในโลกนี้ได้ พบความสุขที่แท้จริงที่มีอยู่ในใจได้แล้วก็จะสบาย ท่านก็สบายตั้งแต่อายุ ๓๕ ปีไป มีความสุขในใจตลอดเวลา แต่ความสุขภายนอกไม่มีเลย เพราะไม่ได้หา ไม่ต้องการ เพราะไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง มันสุขน้อยแต่ทุกข์มาก สุขเพียง ๑ ส่วนแต่ทุกข์ถึง ๙๙ ส่วน ก็เลยไม่สนใจกับความสุขภายนอก เอาความสุขภายใน เวลาร่างกายเป็นอะไรไป จะแก่จะเจ็บจะตาย ก็ไม่ได้มาลบล้างความสุขภายในใจ ที่เด่นอยู่ตลอดเวลา สุขอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ตัวพวกเราเอง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ครูบาอาจารย์ท่านก็ทำหน้าที่ของท่านแล้ว ทำตามสัญญาแล้ว คือสั่งสอนแล้ว พวกเราก็ต้องทำส่วนของเรา ต้องปฏิบัติ สุปะฏิปันโน อุชุปะฏิปันโน ญายะปะฏิปันโน สามีจิปะฏิปันโน อย่าสักแต่ว่าฟัง ฟังเข้าหูซ้ายออกหูขวา ลืมไปหมดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง คนสอนก็เบื่อก็เหนื่อย พูดซ้ำๆซากๆ กลับมาทีไรก็เหมือนเดิม ไม่มีข่าวดีมาเล่าให้ฟังเลย
ถาม ท่านทราบได้อย่างไร
ตอบ ถ้ามีอะไรดีๆ มันปิดไม่อยู่หรอก หน้าตาท่าทางจะเปลี่ยนไป ไม่แน่กลับมาคราวหน้าอาจจะปลงผมไปแล้วก็ได้ ใส่ชุดขาวมาแล้วก็ได้ อย่างนี้ก็รู้แล้ว ใช่แล้ว นี่กลับมาก็ยังชุดเดิม ผมก็ยังทรงเดิมอยู่ เคยแต่งหน้าทาปากก็ยังแต่งหน้าทาปากอยู่ ถ้าได้ผลแล้ว เรื่องภายนอกจะเปลี่ยนไป จะไม่สนใจกับความสวยงามทางร่างกาย จะไม่เห็นความสำคัญ ผมก็จะสั้นลงไปเรื่อยๆ ดูแลรักษาง่ายกว่าสบายกว่า ผมยาวเวลาจะสระก็ลำบากลำบน แต่ยังยึดติดในผมอยู่ ยังหวงยังเสียดาย
ถาม เมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อนที่ผ่านมา มีเรื่องวุ่นวายในชีวิต มีญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต แล้วก็พี่ชายถูกรถชนเข้าไอซียู ต้องวิ่งไปวัดไปโรงพยาบาลไปสถานีตำรวจ แต่เวลาไปวัดไปเห็นโลงศพนี่ ทุกครั้งจะต้องคิดขึ้นมาก่อนว่า สุดท้ายก็คือความตาย ชีวิตเราก็จะต้องเป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป มันขึ้นมาเอง ไม่ต้องพยายามคิด เห็นพี่ชายในห้องไอซียู ก็นึกขึ้นมาเองเลยว่า กรรมมันจำแนกชีวิตคนจริงๆนะ ถึงแม้จะผูกพันกันถึงแม้จะหาเงินมาได้มาก เราก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาเอาไว้ได้ วันหนึ่งเราก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน มันผุดขึ้นมาเอง แล้วมันก็นิ่ง ไม่รู้สึกดิ้นรนอย่างไร ในระหว่างที่วุ่นวายอยู่กับ ๓ แห่งนี้ มีความรู้สึกว่า ถ้าเรามีสติรู้ปัจจุบัน ตามดูกายดูใจในปัจจุบัน มันเบามันเย็น มันไม่ร้อนรน แต่ถ้าเมื่อไหร่เผลอจะเริ่มปรุงทันที แล้วก็จะทุกข์ เห็นเลยว่าถ้ามีสติเมื่อไหร่ หยุดมันได้เลย แต่มันยังเข้าๆออกๆอยู่ แต่เห็นการทำงานของสติชัดเจนขึ้น ไม่ค่อยได้ภาวนาช่วงที่ชีวิตวุ่นวาย มีวันหนึ่งรู้สึกว่าเหนื่อยมาก ก็เลยบอกตัวเองว่าต้องนั่งให้ได้ ก็นั่งใช้อานาปานสติ ช่วงแรกสงบดี แต่พอสักระยะหนึ่ง มันเหมือนมีตัวรู้ขึ้นมา เห็นจิตวิ่งออกจากตัวเอง ไปคิดเรื่องอุบัติเหตุ ตัวรู้มันเห็นๆชัดเลยว่า จิตมันทำงานของมันเอง ในขณะที่เราบอกให้กายนั่งอยู่ตรงนี้ นั่งดูลมหายใจ มันเหมือนมีตัวรู้ตัวหนึ่ง เห็นกายนั่งอยู่แล้ว จิตก็ออกไปคิด แล้วตัวรู้มันก็ขึ้นมาในใจ ว่านี่ไงเราบังคับอะไรไม่ได้เลย ต่างคนต่างทำหน้าที่ ก็รู้ขึ้นมาต่อว่า ถ้ามีสติจะสามารถควบคุมใจให้ทำตามที่เราต้องการได้ มันรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาเอง มันต้องเป็นอย่างนี้ใช่ไหมคะ อย่างนี้ถูกต้องไหมคะ
ตอบ ถูกแล้ว เพราะเรากำลังดูใจของเรา เราเห็นใจเรา เห็นการทำงานของใจว่ามี ๒ ฝ่าย ฝ่ายธรรมกับฝ่ายกิเลส ถ้าฝ่ายกิเลสทำงาน ก็ทำให้เกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจ พอฝ่ายธรรมทำงาน มันก็จะสงบ ต่อไปเราก็จะสนับสนุนให้ทำงานในทางธรรมะมากขึ้น ให้พิจารณามากๆ พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย พิจารณาไตรลักษณ์ให้มากขึ้น ให้ถี่ขึ้น ให้แผ่ไปกับทุกสิ่งทุกอย่างทุกคน เห็นอะไรก็เอาไตรลักษณ์นี้ไปตีตราเอาไว้เลย เหมือนกับวัวควายที่จะเอาเข้าโรงเชือด จะตีตราไว้ ตัวนี้ลำดับนี้ๆ เราเจอใครเห็นใครที่ไหน ก็ตีตราไว้หมดเลย พอตีตราแล้วก็จะไม่กังวลไม่ยึดติดไม่ยุ่งด้วย แต่พอเผลอปุ๊บก็จะคิดตรงกันข้าม จะอยากให้คนที่เรารักเราเคารพอยู่ไปนานๆ จะคิดอย่างนี้ขึ้นมาทันที ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที
ถาม เวลาเผลอไปคิดปั๊บ เราเห็นว่ามันปรุง พอดึงกลับมามันก็จะสงบ
ตอบ ใช่ ต่อไปจะสามารถควบคุมความคิดได้ทุกขณะเลย ให้คิดแต่ธรรมะอย่างเดียว หรือไม่ให้คิดเลย ให้อยู่นิ่งอยู่เฉยๆ ให้สักแต่รู้ได้ ถ้าคิดก็ให้คิดทางธรรมะ ถ้าจะไปทางกิเลสก็ดึงกลับมาทางไตรลักษณ์ทันที ต่อไปจะไม่ไปทางกิเลส จะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ภายนอก แต่อยู่ภายในใจ ที่ต้องพิจารณาภายนอกในเบื้องต้นก็เพราะใจออกไปยุ่งเอง พอใจถอยเข้ามาภายในแล้ว จะรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ใจ ที่ไปคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้เอง พอรู้แล้วหยุดตัวนี้ได้แล้ว ก็จะไม่กังวลกับเรื่องภายนอก จะไม่ออกไปแล้ว รู้แล้วว่าปัญหาอยู่ที่ใจเรา ไม่ได้อยู่ที่คนนั้นคนนี้ คนนั้นคนนี้เขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น เขาดีเขาชั่วเขาก็เป็นอยู่อย่างนั้น เขาแก่เขาเจ็บเขาตายเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น แต่เราไปยุ่งกับเขาเอง เพราะไม่สามารถควบคุมใจให้อยู่ข้างในได้ พอมีสติมีสมาธิมากขึ้น ก็จะดึงให้อยู่ข้างในได้มากขึ้น ต่อไปก็จะเฉยๆกับเรื่องภายนอก ใครจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ใครจะทำอะไรก็เรื่องของเขา ร่างกายของเขาจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา ดูแลได้ก็ดูแลไป ซ่อมได้ก็ซ่อมไป รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ มันจะเป็นอะไรก็ต้องปล่อยให้เป็นไป แต่ใจนี้จะนิ่งสบาย ต้องทำต่อไป ให้ดูที่ข้างใน เรารู้แล้วว่าปัญหาไม่ได้อยู่ข้างนอก อยู่ข้างใน
ใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่ ปัญหาต่างๆเกิดที่ใจ อริยสัจ ๔ ก็อยู่ในใจนี้แหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหน ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ถ้ามีมรรคมันก็เข้าข้างใน ถ้ามีสมุทัยมันก็ออกไปข้างนอก อย่างที่หลวงปู่ดุลย์ท่านเทศน์ ถ้าจิตส่งออกนอกก็เป็นสมุทัย ถ้าจิตเข้าข้างในก็เป็นมรรค จิตจะเข้าข้างในได้ ก็ต้องมีไตรลักษณ์ มีสติดึงเข้ามา มีกรรมฐานดึงเข้ามา พุทโธก็ได้ อานาปานสติก็ได้ มรณานุสติก็ได้ เป็นมรรคทั้งนั้น กรรมฐานนี้เป็นมรรค ดึงจิตเข้ามาข้างใน ถ้าเผลอไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เป็นสมุทัยไป ทีนี้จะจับประเด็นได้แล้วว่า จุดที่จะต้องปฏิบัติอยู่ตรงไหน เวลาสัมผัสอะไรรับรู้อะไร เราจะดูที่ตัวใจนี้เป็นหลัก ว่ามีปฏิกิริยาอย่างไร เห็นแล้วดีใจเสียใจ ทุกข์กังวลใจหรือเปล่า หรือเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ถ้าดีใจก็ไม่ดี ดีใจก็แสดงว่ายังรักยังชอบอยู่ ถ้าเสียใจก็ไม่ดี ถ้าเฉยๆสักแต่ว่ารู้ถึงจะดี ด่าก็ไม่เสียใจ สรรเสริญก็ไม่ดีใจ กล้าก็ไม่กล้ากลัวก็ไม่กลัว ถ้ากล้าก็ยังบ้าอยู่ ถ้ากลัวก็ยังบ้าอยู่ แต่ก่อนจะหายกลัวนี้ต้องกล้าก่อน เช่นกลัวอะไรก็บุกไปเลย กลัวป่าช้าก็ไปป่าช้า กลัวเสือก็ไปหาเสือ วิ่งเข้าหาเสือ ต้องบ้าอย่างนั้นก่อน พอหายกลัวแล้วก็จะหายบ้า ไม่ต้องไปหาป่าช้าไปหาเสืออีก เพราะไม่มีปัญหาแล้ว ไม่กลัวแล้ว ความกล้าเป็นเหมือนยาแก้ความกลัว พอหายกลัวแล้วก็ไม่ต้องแก้แล้ว ก็อยู่อย่างธรรมดา การทรมานต่างๆเป็นวิธีแก้กิเลสเท่านั้นเอง พอกิเลสหมดไปแล้วก็ไม่ต้องทรมาน เมื่อก่อนต้องอดอาหารทีละ ๓ วัน ๕ วัน เดินจงกรมเป็นเวลานาน นั่งเป็นเวลานานให้มันเจ็บมันปวด แต่พอไม่มีกิเลสแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทรมานกายอีกต่อไป ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับใจ เหมือนกับยารักษาโรค พอโรคหายแล้วจะกินยาต่อไปทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร
การภาวนาของพระขีณาสพ ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์นี้ ไม่ได้ภาวนาเพื่อกำจัดกิเลส แต่เป็นการอยู่อย่างสบายของกายและจิต เป็นการพักผ่อนของพระอริยเจ้า ท่านพักผ่อนด้วยการภาวนา ด้วยการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ไม่ได้ทำเพื่อกำจัดกิเลส เพราะไม่มีกิเลสให้กำจัดแล้ว ถ้าร่างกายมีแต่นั่งแต่นอนอย่างเดียวก็จะไม่ไหว จะอ่อนแอ ต้องเดินออกกำลังกายบ้าง เดินจงกรมมากๆมีอานิสงส์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีอายุยืนยาวนาน ในการปฏิบัติเราจึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ในเบื้องต้นจะใช้การนั่งเป็นหลักเสียส่วนใหญ่ เพราะต้องการหยุดจิตให้มันสงบ ท่านั่งเป็นท่าที่เหมาะที่สุดกับความสงบ พอได้ความสงบแล้ว ต่อไปจะต้องเดินสลับกับนั่ง เพราะร่างกายเวลานั่งไปนานๆจะเจ็บจะเมื่อยได้ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เดินบ้าง เวลาเจริญปัญญาไม่ต้องนั่งก็ได้ เดินก็พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายได้ในทุกอิริยาบถเลย ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นที่เราสัมผัสได้ตลอดเวลา จนติดเป็นนิสัย เห็นอะไรสัมผัสอะไร ก็จะเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่ยินดีไม่อยากได้ จะไม่กลัวอะไร
ถาม เวลาเดินจงกรมเราทำสมาธิไปด้วย ได้ไหมเจ้าคะ
ตอบ ได้ ถ้าไม่เจริญปัญญา ก็พุทโธอย่างเดียวก็ได้ หรือดูเท้าก็ได้ ซ้ายขวาซ้ายขวาไป
ถาม ใช้ความรู้สึกที่เท้าสัมผัสกับดิน
ตอบ ได้
ถาม พอเดินไปสักพัก ช่วงแรกจิตจะวุ่นมาก เพราะไม่ได้นั่งหลับตา มันเห็นนั่นเห็นนี่ ได้ยินเสียงรถเสียงสุนัข แต่พอสักพักหนึ่งรู้สึกว่าพวกนั้นไม่เข้ามาในใจเรา เหมือนใจไม่รับ สักแต่ว่าได้ยิน รู้สึกว่ามันโล่งมันว่าง
ตอบ เพราะจิตอยู่กับการเคลื่อนไหวของเท้า
ถาม นี่คือการทำสมาธิ
ตอบ ทำจิตให้นิ่ง แต่ไม่นิ่งแบบร่างกายหายไป นิ่งเป็นอุเบกขา แต่ยังรับรู้เรื่องต่างๆ แต่ไม่สนใจหรือให้ความสำคัญ
ถาม ได้ยินแต่ว่าไม่ได้เข้ามาในใจ
ตอบ ใช่ เป็นสมาธิแบบหนึ่ง
ถาม ควรทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือควรทำวิปัสสนาต่อ หรือว่าแล้วแต่มันจะออกไปเอง
ตอบ ต้องสลับกัน ถ้าทำสมาธิอย่างเดียวจะไม่ได้ปัญญา ถ้าทำปัญญาอย่างเดียวจะฟุ้งซ่านได้ ถ้าทำมากเกินไป
ถาม มีครั้งหนึ่งเดินไปเห็นปลายเท้าตัวเอง เป็นกระดูกขาวโพลนขึ้นมา แล้วก็ตกใจ ก็เลยกลับมาได้ยินเสียงสุนัขเสียงรถใหม่
ตอบ ไปตกใจทำไม เป็นของจริงไม่ใช่หรือ ใต้ผิวหนังมีกระดูกไม่ใช่เหรอ ใต้ผิวหนังใต้เนื้อมีอะไร ก็มีกระดูกที่ถูกหุ้มห่อด้วยเนื้อด้วยหนัง ควรจะให้มันเห็นนานขึ้น ควรจะกำหนดขึ้นมาบ่อยๆ ให้เห็นทั้งร่างเลย ตั้งแต่ศีรษะลงไปถึงเท้า กำหนดดูทั้งของเราทั้งของคนอื่น จนเหมือนกับพระรูปหนึ่งที่เจริญโครงกระดูกเป็นอารมณ์ จนไม่เห็นใครเลย เห็นแต่โครงกระดูก มีคนมาถามว่าเห็นคนนั้นเดินมาทางนี้ไหม ก็บอกไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูก ไม่รู้ว่าเป็นใครไม่สนใจว่าเป็นใคร เห็นทีไรก็เห็นแต่โครงกระดูก ดูความไม่สวยงามเพื่อตัดกามราคะหรือกามตัณหา
ถาม ไม่ได้ตั้งใจ
ตอบ การพิจารณาอสุภะความไม่สวยงามนี้ เพื่อตัดความหลงในความสวยงามของร่างกาย ให้เห็นว่าไม่สวยงามอย่างที่คิดกัน มีโครงกระดูก มีอวัยวะต่างๆ มีลำไส้อย่างนี้ ถ้าผิวหนังเป็นเหมือนพลาสติกคงไม่หลงกันเท่าไหร่ เห็นตับไตไส้พุงกัน เห็นกะโหลกศีรษะอยู่ภายใต้ใบหน้า ก็จะไม่หลง แต่ไม่เห็นกัน ต้องเห็นด้วยปัญญา เพราะปัญญามองทะลุหนังเนื้อได้ แต่ตาเนื้อมองไม่ทะลุ ปัญญานี้เบื้องต้นต้องนึกขึ้นมาก่อน ดูของจริงของคนอื่นก่อน เช่นรูปภาพของคนตาย รูปภาพของโครงกระดูก แล้วก็เอามานึกอยู่ในใจ เดินจงกรมนั่งสมาธิก็นึกอยู่ในใจไป จนติดตาติดใจ เวลามองใครก็เอาภาพนี้ไปประกบ จนเห็นชัดเจนตลอดเวลา จนไม่รู้สึกกำหนัดยินดี ต่อให้เป็นดาราภาพยนตร์ ไม่ว่าหญิงหรือชายก็เหมือนกัน กรรมฐานหรือธรรมะนี้ เป็นยาแก้กิเลสต่างๆ กิเลสมีหลายชนิด ธรรมะก็ต้องมีหลายชนิด อสุภะก็แก้พวกกามราคะกามตัณหา ส่วนภวตัณหาหรือวิภวตัณหา ก็ต้องพิจารณาความไม่เที่ยง อยากจะเป็นใหญ่เป็นโตก็เป็นได้ไม่นาน เป็นข้าราชการอายุ ๖๐ ก็เกษียณแล้ว เป็นนายกฯก็ได้แค่ ๔ ปี อาจจะไม่ถึง เป็นอะไรก็มีจุดจบทั้งนั้น ถ้าเป็นโดยถูกภาวะบังคับก็ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่ได้อยากเป็น เป็นพระบวชไปนานๆก็เป็นหลวงพ่อหลวงตาไป ไม่อยากเป็น เป็นไปเอง อย่างนี้ไม่เป็นกิเลส ตอนบวชใหม่ๆก็เป็นพระบวชใหม่ ก็นั่งปลายแถวไปก่อน พอบวชไปนานๆก็ขยับขึ้นไปตามลำดับ จนมานั่งหัวแถว เดี๋ยวก็ต้องขยับให้พระที่นั่งปลายแถวขึ้นมา ต้องเข้าโลงไป เป็นไปตามภาวะ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามภาวะ ไม่มีความอยากเป็น ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร จะให้เป็นสังฆราชก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไม่ได้อยากเป็นเสียอย่าง ให้เป็นก็เป็นไป พอถูกปลดก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้อยากเป็น
ถาม เมื่อครู่นี้ที่พระอาจารย์พูดถึงบรรลุภายใน ๗ ปี ในส่วนของฆราวาสนี่ต้องปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ต้องปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ทำงานอื่น พระสูตรนี้ทรงแสดงให้กับพระภิกษุ ที่เป็นนักปฏิบัติแล้ว เป็นฆราวาสก็ปฏิบัติได้ ถ้าไม่ทำงานอื่น อยู่บ้านก็ปฏิบัติได้ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ เดินจงกรมนั่งสมาธิ ทำ ๒ อย่างนี้ อย่างต่อเนื่องสลับกัน ไม่ได้อยู่ที่เพศ ไม่ได้อยู่ที่วัย ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ อยู่ที่การปฏิบัติเท่านั้น ผู้หญิงก็ปฏิบัติได้ ฆราวาสก็ปฏิบัติได้ นักบวชก็ปฏิบัติได้ เพียงแต่ว่านักบวชมีโอกาสได้ปฏิบัติมากกว่า เพราะไม่มีภาระอย่างอื่น ถ้าเป็นฆราวาสก็มักจะมีภาระอื่นผูกพันอยู่ ยกเว้นฆราวาสที่มีบุญมาก มีบารมีมีเงินมีทอง สามารถตัดภาระต่างๆได้ อยู่อย่างนักบวช เพียงแต่ว่าไม่ได้อยู่ที่วัดไม่ได้บวช แต่ใจบวชแล้ว ตัดความสุขทางโลกได้แล้ว ไม่หาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่มีคู่ครอง อยู่คนเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร อยู่คนเดียว ภาวนาตลอดเวลา ยกเว้นขณะที่หลับ ถ้าทำอย่างนี้ ๗ วันหรือ ๗ ปีก็บรรลุได้ พระพุทธเจ้าทรงไปโปรดพระราชบิดาตอนใกล้จะสวรรคต ท่านก็บรรลุได้ ๗ วันก่อนจะสวรรคต บรรลุเป็นพระอรหันต์
ถาม ถ้าฆราวาสทำอย่างที่พระอาจารย์พูดนี่ ยังต้องมีอาจารย์คอยช่วยอยู่ด้วยหรือไม่คะ
ตอบ อาจารย์ก็มีหลายรูปแบบ อาจารย์ที่ปฏิบัติผ่านมาแล้ว มีความรู้มีประสบการณ์ หรือหนังสือธรรมะดีๆของครูบาอาจารย์ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นอาจารย์ได้ ขึ้นอยู่ว่าจะมีแบบไหน ถ้าไม่มีก็ยาก เพราะทางนี้ต่อให้เก่งขนาดไหนก็หลงได้ ถ้ามีครูบาอาจารย์ก็จะสะดวกรวดเร็ว มีคนคอยบอกทาง พอมาถึงทางแยกก็เหมือนมีป้ายบอกไว้เลย เลี้ยวซ้ายนะ เลี้ยวขวานะ ตรงไปนะ ไม่ต้องเสียเวลา ถ้าไม่มีป้ายก็ต้องลองไปทางซ้ายก่อน ไปสักพักถ้า ไม่ใช่ก็ถอยกลับมา ไปทางขวาดู ถ้าไม่ใช่ก็ต้องตรงไป ก็จะเสียเวลา หรือไม่เช่นนั้นก็หลงทางได้ คิดว่าไปทางนี้ถูกแล้ว ก็ไปเรื่อยๆ การปฏิบัติต้องมีครูบาอาจารย์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนนั้นคนนี้เสมอไป หนังสือธรรมะดีๆก็ได้ ถ้ามีสติปัญญาแกะความหมายของคำสอนได้ ถ้ามีอาจารย์ที่เป็นคนมีประสบการณ์ ก็จะว่องไวกว่า มีปัญหาติดขัดอะไร ไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านให้คำตอบได้ทันที ถ้าท่านผ่านมาแล้ว ถ้ายังไม่ผ่านก็ช่วยเราไม่ได้ เพราะท่านก็ยังไปไม่ถึง ถ้าท่านผ่านไปแล้ว พอพูดออกมาปั๊บ ท่านก็รู้แล้วจะต้องแก้อย่างไร สรุปแล้วต้องมีอาจารย์
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ๓ ขั้นตอนด้วยกันคือ ๑. ปริยัติ ๒. ปฏิบัติ ๓. ปฏิเวธ ขั้นแรกก็คือปริยัติ ต้องศึกษาก่อน ศึกษาแนวทางว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องมีคนสอน อย่างวันนี้เรามาฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นปริยัติแล้ว กำลังฟังแนวทาง ฟังว่าจะต้องปฏิบัติต้องทำอะไรอย่างไร พอฟังแล้วขั้นต่อไปก็เอาไปปฏิบัติ ที่สอนให้เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ก็เอาไปทำดู ให้อยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับเกิดแก่เจ็บตายตลอดเวลา จนกว่าจิตจะสงบนิ่ง สามารถให้นิ่งได้ทุกเวลาที่ต้องการ จากนั้นก็มาพิจารณาดูอนิจจังทุกขังอนัตตาในขันธ์ ๕ ในสิ่งต่างๆที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย เพื่อปล่อยวาง เพื่อตัด เพื่อละ มีสมบัติเหลือกินเหลือใช้ก็ยกให้คนอื่นไป จะให้ใครก็ได้ให้ลูกให้สามี หรือจะเอาไปทำบุญ ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ที่ไหนก็ได้ แล้วแต่ศรัทธา ถ้าไม่มีความจำเป็นจะเก็บไว้ทำไม ไม่ต้องพึ่งมันแล้ว ไม่หาความสุขจากมันแล้ว เพราะมีความสุขที่ดีกว่าแล้ว ถ้าจิตสงบจริงๆแล้ว จะเห็นว่าไม่มีอะไรมีคุณค่ายิ่งกว่าความสงบนี้ ไม่ต้องอาศัยเงินทอง อาศัยสิ่งต่างๆให้ความสุขเหมือนเมื่อก่อนนี้ เราก็จะให้ได้ มีอะไรก็อยากจะให้ เพราะมีไว้ก็หนักอกหนักใจเปล่าๆ เป็นภาระทางจิตใจ ต้องคอยดูแลรักษา
นี้คือการปฏิบัติ พอเจริญก้าวหน้าจะตัดไปเรื่อยๆ จะปล่อยวางไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรเหลือ นอกจากสมบัติไม่กี่ชิ้นที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อย่างพระก็มีแค่ ๘ ชิ้นเท่านั้นเอง เรียกว่าอัฐบริขาร มีบาตร ๑ ใบ จีวร ๓ ผืน ประคดเอว มีดโกน ที่กรองน้ำ เข็มกับด้ายไว้ปะชุนจีวร มีแค่นี้ก็พอแล้วสมบัติของนักบวชนักปฏิบัติ มีแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว มีบาตรไว้หาอาหาร ทุกเช้าเดินเข้าไปในหมู่บ้านก็มีคนใส่บาตร ที่อยู่อาศัยก็ตามมีตามเกิด ถ้าไม่มีกุฏิก็อยู่ตามโคนไม้ตามถ้ำ ถ้าใจมีสิ่งที่ดีอยู่ในใจแล้ว จะไม่กังวลกับเรื่องของร่างกาย จึงอย่าไปเสียดายสิ่งต่างๆที่เรายังรักยังสงวนอยู่เลย พยายามพิจารณาอนิจจังความตายอยู่เรื่อยๆว่า สักวันหนึ่งก็ต้องทิ้งเขาไปหรือเขาต้องทิ้งเราไป ถ้าจะอยู่ด้วยกันควรอยู่แบบไม่หวงไม่กังวลไม่ยึดไม่ติด ปล่อยให้เขาเป็นไปตามความจริง จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป อย่าไปหวังพึ่งเขาให้ความสุขกับเรา ให้พยายามสร้างความสุขที่มีอยู่ในตัวเราให้ได้ ถ้ามีความสุขนี้แล้ว จะปล่อยทุกอย่างได้ ถ้ายังไม่มีความสุขทางสมาธิ ก็จะอยากหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย
มันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่เราจะสร้างความสุขนี้ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้ายังสร้างไม่ได้ ก็ยังต้องต่อสู้กัน ระหว่างความหลงที่จะคอยฉุดลากให้ไปหาความสุขภายนอก กับการปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขภายในใจ จนกว่าจะได้พบกับความสุขภายในใจ พอได้พบแล้วก็จะไปเร็ว จะมุ่งไปทางนี้อย่างเดียว ถ้ายังไม่พบก็ยังไปไม่ได้ ถึงแม้อยากจะไปก็ไปไม่ได้ บางคนบวชแล้วไม่มีความสุข ในที่สุดก็ต้องสึกออกมา ความอยากถึงแม้จะเป็นความอยากที่ดี เช่นอยากจะบวช อยากจะปฏิบัติธรรม ถ้าไม่มีอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจให้อยู่ในเพศของนักบวชได้ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะใจยังหิวอาหารของฆราวาสอยู่ อยู่ไปก็ทรมานจนทนไม่ไหว ก็ต้องสิกขาลาเพศไป ถ้าได้พบกับความสุขภายในใจแล้ว ถ้าเป็นนักบวชก็จะอยู่ต่อไป ถ้าเป็นฆราวาสก็จะออกบวช จะบวชแบบไหนเท่านั้นเอง จะบวชแบบที่เขาบวชกัน คือโกนศีรษะห่มผ้าเหลืองหรือห่มผ้าขาวก็ได้ หรือบวชแบบฆราวาสอยู่บ้าน แต่อยู่แบบนักบวชก็ได้ ไม่ต่างกัน ถ้าทำงานภายใน ทำให้มีความสงบมากยิ่งขึ้นไปและต่อเนื่อง จนมีตลอดเวลา นี้แหละเป็นหน้าที่ของสติสมาธิและปัญญา ที่จะช่วยกันทำให้ใจมีแต่ความสงบสุขภายในใจตลอดเวลา ถ้ามีแต่สติสมาธิก็จะสุขสบายในขณะที่จิตสงบอยู่ในสมาธิ พอออกจากสมาธิมาเห็นอะไรได้ยินอะไร มันก็จะกระเพื่อมขึ้นมาได้ เพราะกิเลสยังไม่ได้ถูกทำลายไป กิเลสเกิดจากความหลง ที่ยังไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆที่ใจไปโลภไปโกรธด้วยนั้น ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นความสุข ไม่เที่ยง ไม่สามารถบังคับควบคุมให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ตลอด พอเห็นอย่างนี้แล้วก็จะไม่ยินดีไม่ยินร้าย จะเฉยๆกับทุกสิ่งทุกอย่าง จะไม่กระเพื่อม จะสักแต่ว่ารู้เฉยๆ
การจะปฏิบัติให้ได้ผลดี ไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรค ก็ต้องอยู่คนเดียว อยู่ที่สงบสงัด ถ้าอยู่ในที่ๆมีรูปเสียงกลิ่นรสมาคอยรบกวนใจ ตบะจะแตก เวลาคนอื่นเปิดวิทยุฟังเปิดโทรทัศน์ดู เราก็อดอยากจะดูไม่ได้ การปฏิบัติที่บ้านในเพศของฆราวาสจึงยากมาก ยากกว่าการปฏิบัติของนักบวช นอกจากเป็นฆราวาสที่มีบารมี สามารถสร้างวัดไว้ในบ้านของตน ทำบ้านของตนเป็นวัดได้ อยู่คนเดียวในบ้านไม่มีใครมายุ่ง อย่างนี้ก็พอจะทำได้ ถ้าอยู่ในบ้านที่มีคนมาก มีลูกมีหลานเต็มไปหมด ปฏิบัติไม่ได้หรอก ต้องออกไปหาที่สงบสงัดวิเวก ออกมาแล้วก็ยังต้องคอยสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ ไม่ดูไม่ฟังอะไร ไปอยู่ป่าพอได้ยินเสียงนก ชอบเสียงนกก็นั่งฟังเสียงนก ไม่ภาวนา หรือเดินเที่ยวชมป่าไป อย่างนี้ก็ไม่ได้ ต้องสำรวม ให้เข้าแต่ทางจงกรม ให้นั่งแต่สมาธิ ถ้าจำเป็นต้องทำกิจอื่น ไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นแล้วรีบดึงใจกลับมา เห็นคนนั้นเห็นคนนี้แล้วก็รีบดึงใจกลับเข้ามา อย่างพระทุกเช้าต้องออกไปบิณฑบาตนี้ก็ต้องสำรวม ไม่ดูบ้านนั้นบ้านนี้ คนนั้นคนนี้ ให้เดินสำรวม เพราะพอไปเห็นอะไรเข้าแล้วจะจำได้ กลับมาถึงวัดยังไม่ลืม มานั่งคิดอยู่ทั้งวัน ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้อยู่เฉยๆเบื่อ ภาวนาไม่ได้
ถาม ท่านบอกว่าเป็นผู้ชายได้บวชในพระพุทธศาสนานี้ดีที่สุด แล้วผู้หญิงละคะ บวชแล้วจะหาที่ปลีกวิเวกอย่างนี้ได้ที่ไหน
ตอบ คุณแม่แก้วท่านก็หาได้ ทำไมเราจะหาไม่ได้ เป็นเพราะเรายังไม่อยากจะหาเอง ไปถึงเมืองนอกเมืองนายังไปได้เลย หาวัดปฏิบัติไม่ได้ให้มันรู้ไป วัดของครูบาอาจารย์ที่เรารู้จักเคารพก็มีหลายวัดด้วยกัน วัดของพระอาจารย์องค์ไหนก็ไปได้ทั้งนั้น อาจจะต้องใช้เวลาทำความรู้จักกับท่าน ให้ท่านทำความรู้จักกับเราก่อน พอท่านรู้ว่าเรามุ่งมั่นเราตั้งใจจริงๆ ท่านก็จะส่งเสริมเราเอง ท่านจะสนับสนุนช่วยเหลือเรา แต่ใหม่ๆต้องไปทำความรู้จักก่อน ไปบ่อยๆ ให้ท่านทดสอบจิตใจ ว่านอนสอนง่ายหรือดื้อรั้น ถ้าดื้อรั้นก็ยาก ถ้าว่านอนสอนง่ายก็ง่าย เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ อยากจะไปอยู่สำนักไหน ขอให้เป็นคนว่านอนสอนง่าย เข้ากับคนอื่นได้ ไม่มีปัญหากับใคร ยอมรับสภาพ จะให้อยู่ตรงไหนให้ทำอะไร ก็รับไปก่อนทำไปก่อน อย่าบ่นจู้จี้จุกจิก ขอโน่นขอนี่ อย่าสร้างปัญหา ถ้าไปแบบมักน้อยสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด ให้อยู่ตรงไหน มีหน้าที่ทำอะไร ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงไปก็ทำไปอยู่ไป ต่อไปจะได้ของดีเอง ตอนต้นจะโยนของไม่ดีให้ก่อน พอรู้ว่าเราดีแล้วก็จะมีแต่ของดีประเคนให้เรา
ถ้าเราพร้อมแล้วเราก็จะออกหาเอง ถ้ายังไม่มีอินทรีย์ที่แก่กล้าพอ ศรัทธาสติสมาธิวิริยะปัญญายังไม่แก่กล้าพอ ก็ยังออกบวชไม่ได้ ถ้าแก่กล้าพอแล้วจะผลักให้ออกไปเอง ตอนนี้พยายามเจริญให้มากขึ้น ให้มีศรัทธาความพากเพียรสติสมาธิปัญญามากขึ้น พออินทรีย์ ๕ ได้กลายเป็นพละ ๕ แล้ว ก็จะเป็นเหมือนรถยนต์ที่สตาร์ทเครื่องติดแล้ว จะวิ่งไปเอง แต่ตอนนี้สตาร์ททีไรเครื่องยังไม่ติด สตาร์ทแล้วก็ดับ เพราะเราไม่ให้เวลากับการปฏิบัติเท่าที่ควร ให้เวลากับเรื่องอื่นมากกว่า ถ้าจะให้สตาร์ทแล้วติด เครื่องไม่ดับเลย ก็ต้องทิ้งงานอื่นให้หมดเลย มีเงินพอก็ลาออกจากงานเลย ใช้เงินก้อนนี้สนับสนุนการปฏิบัติ อยู่ตรงนี้ อยู่ที่การสร้างอินทรีย์ให้แก่กล้า ทำอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕ ถ้าเป็นอินทรีย์ ๕ ยังอ่อนแอ พอเป็นพละ ๕ แล้วจะแข็งแกร่ง จะปฏิบัติได้ เป็นเครื่องยนต์ที่ติดแล้ว ไม่ดับแล้ว ต้องศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมให้มากแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ เจริญสติให้มาก
เรื่องทานก็ทำไปตามฐานะของเรา อย่าไปทำตามคนอื่น เขามีมากก็ทำมาก เรามีน้อยก็ทำน้อย ถ้าไม่มีเลยก็ไม่ต้องทำก็ได้ ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเงินไว้สนับสนุนในการปฏิบัติ ก็เก็บไว้เถิด ไม่ต้องให้ทานหรอก ตอนสมัยเป็นฆราวาส เราไม่เคยใส่บาตรพระเลย ไม่เคยเข้าวัดเลย ตอนนั้นไม่รู้จักวัด รู้จักแต่ธรรมะจากหนังสือ ก็เลยไม่ได้ทำทาน เพราะไม่มีจะทำ มีสำหรับเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้นเอง ไม่ได้วิตกที่ไม่ได้ทำทาน เพราะเคยทำมาตลอด เห็นใครเดือดร้อนเราก็ยินดีช่วยเหลือ ใครต้องการอะไร พอจะให้กันได้ก็ให้ ไม่เคยหวง เรารู้ว่ามีทานอยู่ในใจอยู่แล้ว ไม่หวงไม่ยึดไม่ติดไม่มีสมบัติมาก มีเสื้อผ้าไม่กี่ชุดที่เป็นสมบัติของเราในตอนนั้น จึงไม่กังวลกับการให้ทาน ศีลก็มีอยู่ในใจ ไม่กล้าทำบาป ไม่กล้าลักขโมย ไม่กล้าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พูดปดมดเท็จ เราไม่กล้าทำ เวลาทำแล้วไม่สบายใจ ทำอยู่อย่างเดียวก็คือภาวนา เจริญสติ พยายามทำจิตให้สงบ พยายามพิจารณาให้รู้ไตรลักษณ์ให้มาก พอรู้มากเข้าก็รู้ว่าทุกอย่างไม่มีความหมายเลย สิ่งที่เราไปชอบไปยินดีมันเหมือนยาเสพติด ต้องมีไว้เสพ พอมีแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้เราดีกว่าเดิม สู้คนที่ไม่ติดยาไม่ได้ เวลาไม่มีเสพก็ไม่เดือดร้อน ถ้าติดแล้วไม่ได้เสพจะเดือดร้อนจะทุกข์ ก็เลยตัดไปหมดรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ไม่ไปเที่ยวหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย บางวันอยากจะออกก็ข่มใจไว้ นั่งสมาธิเดินจงกรมไป ในที่สุดก็ฟันฝ่ามาได้ เหมือนคนที่ไม่ติดยาแล้ว แสนจะสบาย คนที่ติดเหล้าติดบุหรี่นี้ลำบาก ต้องดื่มอยู่เรื่อย ต้องสูบอยู่เรื่อย คนที่ไม่ติดแล้วสบาย สุขภาพก็ดี ไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินเสียทอง ที่พูดเรื่องทานนี้ก็หมายความว่า ต้องเก็บสิ่งที่จำเป็นไว้ ถ้ามีเหลือเกินความจำเป็นก็เอาไปทำทานเสีย แต่อย่าทำเพื่อสวรรค์ ทำเพื่อปลดเปลื้องความผูกพัน ในวัตถุข้าวของเงินทอง ไม่พึ่งพาอาศัยเงินทองให้ความสุขกับเรา มีไว้สำหรับดูแลอัตภาพร่างกายเพื่อปฏิบัติธรรม
หน้าที่หลักของเราก็คือการปฏิบัติธรรม เจริญสติ ตื่นขึ้นมาก็ให้เจริญสติจนถึงเวลาหลับ คอยดึงใจไว้ ผูกใจไว้ให้อยู่กับกรรมฐาน อยู่กับกายก็ได้ อยู่กับอานาปานสติก็ได้ อยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับอาการ ๓๒ ก็ได้ อยู่กับไตรลักษณ์ก็ได้ แล้วแต่จะถนัด ทำจิตให้นิ่งให้สงบให้เป็นสมาธิ พอนิ่งสงบแล้วจะมีความสุขใจสบายใจ พอออกจากสมาธิก็อย่าปล่อยให้จิตคิดเรื่อยเปื่อย เพราะจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ดึงจิตเข้ามาเจริญปัญญา เจริญอนิจจังทุกขังอนัตตาพิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย สลับกับการนั่งสมาธิ จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนผ่านร่างกายไปได้ พอปล่อยร่างกายแล้วก็เข้าไปสู่ธรรมที่ละเอียดขึ้นไปอีก คือพวกนามขันธ์ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พอผ่านเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณไปแล้ว ก็ไปเข้าสู่จิต ไปเจออวิชชา พอผ่านอวิชชาไปได้ ก็จบ นี่คือแผนที่ ทางเดินของการปฏิบัติ จะเข้าไปข้างใน ลึกเข้าไปเรื่อยๆ จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จากทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง จากลาภยศสรรเสริญสุข ก็เข้ามาที่กาย จากกายก็เข้าไปที่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จากนั้นก็เข้าไปที่จิต กิเลสจะถูกต้อนเข้าไปเรื่อยๆ ถูกขับไล่เข้าไปเรื่อยๆ ถ้ากิเลสมีแรงมากกว่าก็จะผลักใจให้ออกมา ออกมาที่นามขันธ์ ออกมาที่กาย ออกมาที่รูปเสียงกลิ่นรส ออกมาที่ลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าธรรมะมีกำลังมากกว่าก็จะผลักกิเลสเข้าไป นี่คือการต่อสู้ของ ๒ ฝ่าย ระหว่างธรรมกับกิเลส ถ้าธรรมมีกำลังมากกว่าก็จะเข้าข้างใน ถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่าก็จะออกมาข้างนอก เวลาหลวงตาเดินตรวจวัดนี่ ถ้าเห็นพระออกมาทำโน่นทำนี่ ท่านรู้แล้วว่ากิเลสออกมาแล้ว ท่านก็จะขนาบไล่ให้เข้าทางจงกรมให้ไปนั่งสมาธิ พระเณรเวลาเห็นหลวงตานี่ต้องรีบกระโจนหลบ ไปอยู่วัดไปนั่งคุยกัน แสดงว่ากิเลสออกมาแล้ว มาทางปาก ถ้าธรรมะก็ต้องปลีกวิเวก ไปอยู่แถวทางเดินจงกรม หรือไปนั่งสมาธิที่มุมสงบ ธรรมะเป็นอย่างนั้น คนที่ผ่านมาแล้วจะรู้ว่าคนนี้กำลังปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ กิริยาอาการสถานที่ๆอยู่นั้น มันบอกอยู่แล้วว่าเป็นธรรมหรือเป็นกิเลส
ถ้ามีครูบาอาจารย์อย่างหลวงตานี้จะช่วยได้มาก แต่ต้องเคารพท่าน ต้องเชื่อฟังท่าน ต้องเกรงกลัวท่าน ท่านจะช่วยเราได้มาก แต่อย่ากลัวจนไม่มีสติสตัง พอเห็นท่านก็สั่นไปทั้งตัว ให้เชื่อท่าน ท่านด่าเราท่านว่าเรานี้ ท่านกำลังช่วยเรา เราไม่ชอบด่าตัวเราเองเราไม่ชอบห้ามตัวเราเอง เราต้องให้ท่านช่วยห้ามช่วยด่าเรา คนอื่นด่าเราไม่ได้ มีคนเดียวที่ด่าเราได้ก็คือครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีความยำเกรงแล้ว ท่านจะไม่มีประโยชน์กับเรา ท่านว่าเราท่านห้ามเรา เราก็ไม่ฟังท่าน อยู่กับท่านก็อยู่แบบทัพพีในหม้อแกง ไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับนายฉันนะ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสงฆ์ไว้ว่า คนนี้ไม่ต้องสอน ปล่อยเขาไปตามเรื่อง คนนี้มันดื้อ ขนาดเรายังไม่ค่อยฟังเลย คนอื่นรับรองได้เขาไม่ฟังแน่นอน เหมือนกับตัดหางปล่อยวัด ปล่อยให้ไปตามยถากรรม นายฉันนะพอได้ยินก็ร้องไห้เลย ทำใจไม่ได้ มีทิฐิมาก จึงควรเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ว่านอนสอนง่าย มีสัมมาคารวะ เป็นคุณธรรมพื้นฐานของนักเรียนนักศึกษา ไม่อวดเก่ง เชื่อฟังครูบาอาจารย์
ถึงแม้จะไม่เข้าใจ ก็ฟังไว้ก่อน ทำตามไปก่อน อย่าไปสวนกับคำสอนของท่าน ถ้าท่านไม่ดีจริง ไม่รู้จริงเห็นจริง ท่านไม่มาเป็นครูบาอาจารย์เราหรอก ถ้าเรารู้จริงเห็นจริงเราก็ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ ถ้าเราเก่งจริงก็ต้องอยู่คนเดียวได้ อย่างพระพุทธเจ้า ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ แต่ก็อย่าไปเก่งแบบนั้น เพราะส่วนใหญ่เก่งแบบหลงกัน บวชไม่กี่วันก็ไปตั้งสำนักเป็นเจ้าอาวาสแล้ว แล้วก็ไปทำอะไรแปลกๆ บวชแล้วไม่ศึกษากับครูบาอาจารย์ คิดว่าเก่งกว่าครูบาอาจารย์ ไม่สามารถรับคำสอนของท่านได้ จึงปลีกไปอยู่ตามลำพัง ไม่นานก็กลายเป็นเจ้าอาวาสเป็นเจ้าสำนักขึ้นมา มีชื่อเสียงโด่งดัง จากนั้นก็ไปทำวิบัติ อาจจะมีความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง แต่ไม่รอบคอบ ไม่ฉลาดพอ ไม่ทันกิเลส พอมีคนกราบไหว้บูชามากก็หลงตัวเอง คิดว่าทำอะไรก็ได้ อยู่เหนือธรรมวินัยได้ เป็นผู้วิเศษแล้ว จนปรากฏเป็นเรื่องเป็นข่าวดัง ส่วนพวกที่ศึกษาปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ ตามรอยครูบาอาจารย์ ไม่แซงหน้าครูบาอาจารย์นี้ ส่วนใหญ่จะไปดีตลอด หลวงปู่มั่นท่านเคยเล่านิมิตที่เห็นว่า มีพระเณรเดินแซงหน้าแซงตาท่านไป ท่านพูดเพื่อเตือนพระเณรว่า อย่าไปแซงหน้าแซงตาครูบาอาจารย์ ให้เดินตามตามลำดับพรรษา ครูบาอาจารย์สายนี้จะไม่แซงหน้าแซงตากัน
ถาม พออนิจจังไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถกำหนดอนิจจังได้แล้ว ควรจะทำอย่างไร
ตอบ ถ้านิ่งแล้วก็ปล่อยให้นิ่งไป ถ้าคิดปรุงแต่งค่อยอนิจจังใหม่ อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ใช้ตัวอนิจจังคอยดึงมันไว้ ถ้าอยากจะให้เกิดปัญญา ก็พิจารณาขยายความว่า อะไรบ้างที่เป็นอนิจจัง ร่างกายของเรา ร่างกายคนนั้น ร่างกายคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ งานที่เราทำ ทุกอย่างเป็นอนิจจังหมด
ถาม การฝันถึงหรือไม่ฝันถึงคนใกล้ชิดที่ตายไป มันหมายความว่าอะไร
ตอบ ถ้าฝันถึงก็เป็นเพราะว่า เรามีความผูกพันกับเขามาก ถ้าไม่ฝันถึงก็เพราะเราปล่อยวาง หรืออีกนัยหนึ่งถ้าฝันถึง เพราะเขามาหาเรา อย่างที่หลวงปู่มั่นเข้าไปในสมาธิของคุณแม่แก้ว ตอนที่หลวงปู่มั่นเพิ่งมรณภาพไปใหม่ๆ ก็เป็นได้ ๒ อย่าง เราคิดถึงเขา เราก็เลยปรุงแต่งขึ้นมาเอง หรือเขาคิดถึงเรา วิญญาณเขามาหาเรา เป็นอนิจจังเหมือนกัน มาแล้วก็ไป ต่างคนต่างอยู่ในสภาพที่ต่างกัน จะอยู่ร่วมกันเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับความจริงนี้ ให้ถือความจริงในปัจจุบันเป็นหลัก ตอนนี้เราเป็นอะไรมีอะไร เราก็อยู่ไปตามอัตภาพ อย่าไปอยากให้เป็นเหมือนในอดีต อย่าไปกังวลเรื่องอนาคต
ถาม ช่วยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องภพภูมิเจ้าคะ เคยฟังท่านอาจารย์พูดสอนว่า มีภพของเดรัจฉานกับมนุษย์ที่มีรูปกายหยาบ นอกนั้นเป็นกายทิพย์หมด เช่นเปรตอสุรกายเทวดา แล้วที่หลวงตาเทศน์เรื่องการเปิด ๓ แดนโลกธาตุ ท่านบอกว่า ถ้ามีโอกาสอยากให้พวกเราเห็นว่า ลงไปในนรกมันร้อน เหมือนตกลงกระทะทองแดง เป็นการเปรียบเทียบของการรับกรรมใช่ไหม
ตอบ ความร้อนใจนี่แหละเป็นนรก ความเย็นใจเป็นสวรรค์ ใจนี้แหละเป็นนรก เป็นสวรรค์ เป็นเปรต เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอริยเจ้า เป็นนิพพาน ใจทั้งนั้น เป็นสภาพของใจ
ถาม ที่ว่าปีนต้นงิ้ว เป็นการเปรียบเทียบเท่านั้น
ตอบ ใช่ ให้เห็นภาพของความเจ็บปวดทรมานใจ ว่ามันเป็นอย่างไร
ถาม แต่จริงๆแล้วไม่มีกายหยาบ
ตอบ เป็นความรู้สึกในใจ วันไหนที่เราทุกข์ทรมาน กินไม่ได้นอนไม่หลับ วันนั้นเรากำลังอยู่ในนรก ใจของเรากำลังเป็นนรก ถ้ายังมีร่างกายของมนุษย์มาอยู่ ก็สลับไปสลับมา พอมีเหตุการณ์ทางมนุษย์มากระทบ มีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา เราก็ลืมเรื่องที่ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับไป มีเรื่องที่ดีเข้ามา เช่นมาทำบุญมาฟังธรรมแล้ว จิตสงบจิตสบาย ก็พลิกไปเป็นสวรรค์ แต่ไม่ถาวร จนกว่าร่างกายจะตายจากไปแล้ว บุญกรรมที่ทำไว้แล้วก็จะปรากฏผลขึ้นมา ทำให้ใจเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไป เป็นในขณะนั้นเลย เป็นเทพเป็นเปรตเป็นเดรัจฉานเป็นนรก
ถาม คำว่าสัมภเวสีนี้หมายถึงอะไร
ตอบ พวกเปรต
ถาม อย่างนี้ความเข้าใจที่ว่าสัมภเวสี ยังไม่ได้ขึ้นหรือลงก็ไม่ถูก
ตอบ ไม่ถูก สัมภเวสีเป็นภพหนึ่งแล้ว เป็นเปรต เป็นจิตที่อยู่ในสภาพนั้น สมมุติว่าจิตเป็นเหมือนลูกแก้ว ภพต่างๆเป็นสีต่างๆ พอจิตเป็นสีแดงก็เป็นนรก พอเป็นสีเขียวก็เป็นสวรรค์ จิตจะแดงหรือเขียว อยู่ที่สังขารความคิดปรุงแต่ง ปรุงแต่งไปทางความทุกข์ ก็จะแดงขึ้นมา ปรุงแต่งไปในทางธรรมะ ปล่อยวาง ให้ทาน รักษาศีล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เขียวขึ้นมา เป็นสุคติขึ้นมา อยู่ที่จิต นรกสวรรค์หรือภพภูมิต่างๆนี้ไม่เป็นสถานที่ ยกเว้นภพของมนุษย์กับเดรัจฉาน ที่ต้องมีกายหยาบ จึงเกี่ยวข้องกับสถานที่ เหมือนกับตอนที่เรานอนหลับ ร่างกายก็อยู่เฉยๆ แต่ใจไม่เฉย ถ้าฝันดีก็เป็นสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็เป็นอบาย เป็นนรกเป็นเปรตเป็นเดรัจฉาน พอตื่นขึ้นมาก็กลับมาเป็นมนุษย์ ตอนที่หลับไปนี้เราควบคุมความคิดปรุงแต่งไม่ได้ เป็นไปตามบุญตามกรรม พอตื่นขึ้นมาก็มีสติพอควบคุม อยู่ในสภาพของมนุษย์ได้ แต่บางครั้งก็ไม่ได้เหมือนกัน เวลาที่มีเรื่องราวที่หนักหนาสาหัส ก็ทำให้จิตทรุดลงไป ร้อนเป็นนรกได้ ถ้าได้ทำบุญปฏิบัติธรรม ก็ทำใจให้มีความสุข เป็นสวรรค์ขึ้นมา ความคิดปรุงแต่งเหล่านี้จะสะสมอยู่ในใจ จนเป็นนิสัยไป พอถึงเวลาที่ใจออกจากร่าง ตอนนั้นจะถูกอำนาจของบุญกรรมพาไป ตัวไหนมันมีกำลังมากกว่า ตัวนั้นก็จะบังคับให้จิตเป็นไป ถ้าบุญมีแรงมากกว่าก็จะพาไปสุคติ ถ้าบาปกรรมมีแรงมากกว่า ก็จะพาให้ไปทุคติ ไปอบาย จะผลัดกันทำหน้าที่ จนกว่าจะสามารถทำจิตให้เป็นนิพพาน
ถาม ที่มีการแบ่งชั้นเทวดาเป็นชั้นต่างๆ ในระดับชั้นนั้นมีการฟังเทศน์ฟังธรรม
ตอบ เทวดาที่ใฝ่ธรรมก็มี ไม่ใฝ่ธรรมก็มี
ถาม มีสถานที่ให้เทวดาไปฟังธรรมหรือไม่
ตอบ ถ้ามีพระอริยะที่มีพลังจิตที่จะติดต่อกันได้ ก็ไปฟังได้ เช่นหลวงปู่มั่นนี้ ก็มีเทวดามาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ พระอริยะบางรูปมีอภิญญาติดต่อกับกายทิพย์ได้ บางรูปไม่มีอภิญญาเลย ก็สอนเทวดาไม่ได้ ติดต่อกันไม่ได้
ถาม เทวดาที่ฟังธรรมะแล้ว จะสามารถพัฒนาจิตให้สูงขึ้นได้ไหมคะ
ตอบ ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดพระพุทธมารดา จากปุถุชนให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แต่จะได้แค่ขั้นโสดาบันเท่านั้นเองสำหรับเทวดา ถ้าจะขึ้นไปสูงกว่านั้นจะต้องเปลี่ยนสภาพจากเทวดาไปเป็นพรหม ซึ่งคงจะไม่มีกำลัง เพราะสภาพของเทวดา จะไม่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นไป
ถาม จะเปลี่ยนเป็นพรหมได้ ก็ต้องตกลงมาก่อน
ตอบ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มาบวชชีถือศีล ๘ นั่งสมาธิเจริญปัญญา พิจารณาอสุภะ จนตัดกามราคะได้ จิตก็จะเลื่อนขึ้นไปเป็นอนาคามี เป็นชั้นพรหม
ถาม ไม่ได้หมายความว่า เทวดาจะตกมาเป็นมนุษย์เสมอไป อาจจะลงต่ำกว่านั้นก็ได้ แล้วแต่กรรมจะพาไป
ตอบ ใช่
ถาม เทวดาไม่ดีก็มี
ตอบ เทวดาก็เป็นอย่างพวกเรา ทำทั้งบุญทำทั้งบาป พอถึงวาระของบุญส่งผลก็ไปสวรรค์ เหมือนกับเงินฝากไว้ในธนาคาร ถึงวาระที่จะออกดอกออกผล เราก็ได้ดอกผล ถ้าเป็นหนี้ถึงวาระก็ต้องใช้หนี้แล้วแต่ว่าวาระไหนจะมาก่อน ถ้าเป็นวาระของเงินฝากมาก่อนก็ได้ดอกเบี้ย ถ้าถึงวาระของเงินกู้ก็ต้องส่งดอก บุญกรรมก็เป็นอย่างนี้แล ถ้าถึงวาระของบุญเราก็ได้เสวยผลบุญ ไปเป็นเทพชั้นต่างๆ พอหมดบุญแล้วก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าถ้าเป็นวาระของกรรมเราก็ไปใช้กรรมในทุคติ ไปนรกบ้าง ไปเป็นเปรตบ้าง ไปเป็นเดรัจฉานบ้าง พอหมดกรรมก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ภพมนุษย์นี้เป็นภพที่กลับมาจากการใช้บุญใช้กรรม เพื่อมาสร้างบุญสร้างกรรมใหม่ ภพมนุษย์เท่านั้นที่จะสร้างบุญสร้างกรรมได้ ภพอื่นเป็นที่รับผล ยกเว้นพวกเทพบางพวกที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ แล้วมีอินทรีย์แก่กล้าพอที่สามารถทำจิต ให้เป็นพระอริยะขึ้นมาได้ เช่นพระพุทธมารดานี้ พอมีพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรม ท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นมา
ถาม ลูกอ่านในหนังสือท่านบอกว่า มีเปรตประเภทเดียวเท่านั้น ที่สามารถรับการอุทิศบุญกุศลได้
ตอบ ใช่ บุญที่เราทำนี่ เขารับไม่ได้หมด รับได้เพียงเสี้ยวเดียว เพราะเขามีภาชนะที่จะรับได้เพียงเท่านั้น สมมุติเรามีของให้เขา ๑ รถปิกอัพแต่เขามีกระแป๋งอยู่ใบเดียว ให้ทั้งหมดปิกอัพเขาก็เอาไปไม่ได้ เอาไปได้เพียงกระแป๋งเดียว แต่ก็พอกับความต้องการของเขา ส่วนใหญ่ต้องมีเหตุให้เรารู้ เช่นมาเข้าฝัน หรือมาทำอะไรสักอย่าง ถ้าเราอยากจะทำเผื่อเขาไป ถ้าเขารอรับอยู่ก็ได้รับ อาจจะรับก็ได้ไม่รับก็ได้ เพราะอาจจะไม่ได้เป็นเปรตก็ได้ อาจจะเป็นเทพเป็นมนุษย์อยู่ก็ได้ หรือยังอยู่ในนรกก็ได้ แล้วแต่บุญแต่กรรมของเขา เราก็ทำเผื่อไว้ เป็นธรรมเนียมเวลาเราทำบุญเสร็จแล้ว เราก็กรวดน้ำกัน ทำเผื่อไปอย่างนั้นเอง เผื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรอรับอยู่ ก็จะได้รับไป
ถาม เหมือนในคำอุทิศบุญกุศลที่พิมพ์แจกกัน ก็อุทิศให้กับเทวดาอินทร์พรหม ยมยักษ์ เปรตสัมภเวสี เจ้าที่เจ้าทาง ก็เพื่อความสบายใจ
ตอบ เขียนไปตามเรื่อง อุทิศได้พวกเดียว ก็คือพวกเปรตเท่านั้นเอง เทวดามีบุญมากกว่า เหมือนกับเอาเงิน ๑๐๐ บาทให้มหาเศรษฐี เขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร อย่างมากเขาก็ขอบใจอนุโมทนา ถ้าส่งไปในคุกก็โดนเจ้าหน้าที่เรือนจำเก็บไว้ ไม่ส่งให้นักโทษ พวกเปรตนี้เป็นเหมือนพวกที่ถูกปล่อยออกมาจากคุก ไม่มีเงินติดตัว ไม่รู้จะไปไหน ก็ไปหาเพื่อนเก่า ขออาศัยนอนสักคืน ขอค่ารถเพื่อเดินทางกลับบ้าน หรือไปสู่จุดหมายปลายทางที่เขาจะไป
ถาม พระอนาคามีนี่ต้องถือศีล ๘ เท่านั้นใช่ไหมคะ
ตอบ ธรรมชาติของพระอนาคามี ไม่มีความยินดีกับความสุขทางเพศ เหมือนพวกที่ถือศีล ๘ ศีลข้อ ๓ อพรหมจริยาฯ ท่านเบื่อหน่ายไม่อยากหลับนอนกับซากศพที่ยังหายใจได้ อย่างพวกเรานี่เป็นซากศพที่ยังหายใจได้กัน แต่เรามองไม่เห็นกัน มองไม่เห็นกะโหลกศีรษะไม่เห็นโครงกระดูกของเรา แต่ผู้ที่เจริญอสุภะกรรมฐานนี้ จะเห็นอยู่ตลอดเวลา ต่างกันตรงนั้น จะว่าท่านต้องถือศีล ๘ เท่านั้นไม่ได้หรอก ท่านไม่ได้ถือ แต่เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่หาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสแล้ว นอนกับพื้นได้ ไม่ต้องนอนบนฟูกหนาๆ ไม่หาความสุขจากการหลับนอน จากการรับประทานอาหาร กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน จึงมีศีล ๘ โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปสมาทานกับพระ ไม่ต้องให้พระมาให้ศีล ๘ เพราะใจของท่านมีศีล ๘ โดยธรรมชาติ ศีลทั้งหลายนี่ออกมาจากใจของผู้ที่มีศีลแล้ว เช่นพระพุทธเจ้า แต่ใจพวกเราไม่มีศีล ก็เลยเป็นของแปลกไป แต่คนที่มีศีลอยู่ในใจเป็นปกติแล้ว ไม่ต้องสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ละเมิดศีลแล้ว
ถาม ครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า ถ้าเป็นฆราวาสต้องบวชเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ ถ้าได้นิพพานแล้ว ไม่อย่างนั้นต้องตายภายใน ๗ วัน
ตอบ เรื่องตาย ๗ วันนี้ไม่เคยเห็นมีในพระไตรปิฎก อาจจะเป็นการสรุปจากการที่ได้ยินจากเรื่องของคนที่ได้บรรลุว่า ถ้าเป็นฆราวาสบรรลุไม่เกิน ๗ วันก็ตาย เช่นพระเจ้าสุทโธทนะก็ตายหลังจากที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ๗ วัน ชายที่ถูกวัวขวิดตายก็บรรลุไม่ทันข้ามวันข้ามคืน ก็เลยประมาณกันว่า ถ้าบรรลุธรรมยังเป็นฆราวาสอยู่ ไม่ได้บวชจะต้องตายภายใน ๗ วัน แต่ความจริงบวชไม่บวชกับตายไม่ตายไม่เกี่ยวกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ดี ถ้าไม่อยากตายใน ๗ วันก็บวชกัน ความจริงตอนที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็บวชโดยธรรมชาติแล้ว ไม่ได้บวชที่กาย ตัวที่บวชจริงๆก็คือใจ ใจบวชแล้ว ดีกว่าพวกที่บวชที่กายแต่ใจยังดิ้นเหมือนลิงอยู่ การโกนหัวนุ่งเหลืองห่มเหลือง จะไปห้ามความตายได้อย่างไร เป็นพระอรหันต์ในเพศของฆราวาสแล้วต้องตายใน ๗ ได้อย่างไร อย่างคุณแม่แก้วก็ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุณี แต่เป็นอุบาสิกา เป็นแม่ชี ความจริงต้องเป็นภิกษุณีถึงจะถือว่าบวชจริง ท่านก็อยู่มาได้หลายปี ท่านก็ถือศีล ๘ ไป แต่ความจริงท่านมีศีลโดยธรรมชาติ มากกว่าพระที่ถือศีล ๒๒๗ ข้อเสียอีก ท่านมีศีลข้อเดียว คือศีลที่ใจ ใจนี่แหละเป็นผู้ที่จะละเมิดหรือไม่ละเมิดศีล ถ้ารักษาใจได้แล้ว จะรักษาศีลกี่ ๑๐๐๐ ข้อก็ได้ ถ้าพระพุทธเจ้าอยู่ถึงวันนี้ อาจจะมีศีลมากกว่า ๒๒๗ ข้อก็ได้ แต่ใจที่สงบระงับแล้ว ต่อให้มีกี่ ๑๐๐๐ ข้อก็จะไม่ละเมิด เพราะไม่มีความอยาก พวกที่ละเมิดเป็นพวกที่ใจไม่นิ่ง ควบคุมใจไม่อยู่ พอห้ามข้อนี้ก็ไปออกข้อนั้น หาช่องอื่นออกไปเรื่อยๆ
ตอนแรกๆไม่มีพระวินัยเลย ตอนที่มีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปไปเฝ้าพระพุทธเจ้ายังไม่มีพระวินัย เพราะมีแต่นักบวชที่มีศีลสำรวมระงับอยู่แล้ว พอได้ยินได้ฟังธรรมก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กัน ก็บวชกัน พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าไม่มีเหตุที่ต้องบัญญัติศีลขึ้นมา เพราะมีแต่พระอรหันต์ ต่อมามีพวกชาวบ้านมาบวชกัน ประพฤติไม่เหมาะกับสมณเพศ พระพุทธจึงทรงบัญญัติข้อห้ามต่างๆขึ้นมา ปาราชิกข้อ ๑ นี้บัญญัติขึ้นเพราะมีชายคนหนึ่งมาบวช พ่อแม่มีสมบัติมาก อยากจะได้หลานเพื่อสืบทอดสมบัติ ก็เลยพาภรรยาของพระมาหลับนอนด้วย เพื่อจะได้ผลิตหลานให้ ตอนนั้นไม่มีข้อห้าม ไม่มีปาราชิกข้อที่ ๑ ไม่ให้เสพเมถุน ท่านก็คิดว่าไม่ผิด เพียงนอนคืนเดียว ท่านไม่ได้ทำเพื่อความสุข ท่านก็นอนด้วย พอทำไปแล้วก็ไม่สบายใจ เลยไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าทราบก็ทรงตรัสว่า เป็นนักบวชแล้ว ทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อห้าม จะไม่เอาโทษ หลังจากนี้ไปใครทำอย่างนี้อีก จะต้องถูกปรับปาราชิก ให้พ้นจากการเป็นพระไป จากนั้นก็ปรากฏมีพระวินัยขึ้นมาทีละข้อจนถึง ๒๒๗ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ถ้าทรงอยู่ถึงวันนี้คงจะมีมากกว่า ๑๐๐๐ ข้อ จึงไม่ควรกังวลถ้าเป็นฆราวาสได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะต้องตายภายใน ๗ วัน รับรองไม่ตาย ถ้าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าไม่มีวิบากกรรม ถ้ายังไม่ถึงวาระ จะไม่ตายเพราะเป็นพระอรหันต์ ความจริงถ้าบรรลุแล้ว ไม่รู้จะอยู่เป็นฆราวาสไปทำไม ก็จะบวชอยู่ดี เหมือนชายคนที่บรรลุแล้วจะไปเตรียมตัวบวช แต่ยังไม่ทันบวชก็ตายไปก่อน เพราะหมดบุญ ดีกว่าอยู่อย่างปุถุชนใจมืดบอด มีแต่ความโลภความโกรธความหลงไปอีก ๑๐๐ ปี อยู่อย่างนั้นอยู่ไปทำไม สู้เป็นพระอรหันต์ตอนเช้าแล้วตายตอนเย็นจะดีกว่า ตายอย่างไม่ทุกข์ไม่วุ่นวาย ตายอย่างสบาย ดีกว่าอยู่แบบทุกข์วุ่นวายตลอดเวลา
ถาม มีคนเล่าให้ลูกฟัง ที่ท่านอาจารย์อบรมพระรูปหนึ่ง ลูกจับใจมากเลย เขาบอกว่าไม่เคยได้ยินพระองค์ไหนพูดแบบนี้เลย
ตอบ พูดไปตามความจริง พูดไปตามฐานะของท่าน การทำงานให้กับพระศาสนาก็ดีอยู่ แต่ไม่ดีเท่ากับทำงานให้ตัวเองก่อน งานของตัวเองต้องมาก่อน งานของพระศาสนามาทีหลัง ต้องหลุดพ้นก่อน ต้องเสร็จงานของเราก่อน พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก่อนถึงค่อยสอนผู้อื่น ถ้ายังไม่เสร็จงานของเรา มัวแต่ไปทำงานให้คนอื่น ทำเท่าไหร่ก็ไม่จบ จะมีงานมาให้ทำอยู่เรื่อยๆ งานของเราก็ไม่ได้ทำเสียที อย่างพระอานนท์ต้องอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าถึง ๒๕ ปี ก็ยังดีที่ได้ทำกับพระพุทธเจ้า เพราะได้ยินได้ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ได้สะสมบารมีไปเรื่อยๆ พอสิ้นพระพุทธเจ้าแล้ว ๓ เดือน ท่านก็เสร็จงานของท่าน ท่านควรจะเสร็จตั้งนานแล้ว แต่ท่านไม่เสร็จ องค์อื่นที่บวชพร้อมๆกับท่านเสร็จกันไปหมดแล้ว แต่ท่านไม่เสร็จ เพราะติดภาระอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า แต่ก็จำเป็น ต้องมีผู้ทำงานหน้าที่นี้ พอดีสงฆ์มีมติให้พระอานนท์ทำ พระอานนท์ก็ต้องรับไป อาจจะเป็นวิบากของท่านก็ได้ ที่ต้องรับใช้พระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีความจำเป็น ไม่มีวิบากต้องไปเกี่ยวข้องกับงานอื่น ก็อย่าเสนอตัว ทำงานของเราให้เสร็จก่อน แล้วค่อยไปทำงานอื่น