กัณฑ์ที่ ๓๙๗ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒
สาวก
การฟังนี้สำคัญ คำว่าสาวกแปลว่าผู้ฟัง มาจากคำบาลี ฟังจากผู้รู้ ผู้รู้มีคนเดียวในตอนต้น คือพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เมื่อทรงรู้แล้วก็ทรงนำเอามาสั่งสอนให้แก่ผู้อื่น ผู้ฟังจึงเป็นสาวก เมื่อฟังแล้วก็สามารถรู้ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นได้ ด้วยการนำเอาไปปฏิบัติ จนปรากฏเป็นธรรมขึ้นมาภายในใจ บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พระพุทธเจ้าทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยพระองค์เอง มีพระฉายาว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนผู้ฟังที่ปฏิบัติตามจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ มีฉายาว่าพระอรหันตสาวก ต่างกันที่ฉายาแต่ความบริสุทธิ์ของใจ ของพระสาวกและของพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์เท่ากัน เหมือนเสื้อผ้าที่นำเอาไปซักด้วยน้ำด้วยผงซักฟอก พอซักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สะอาดหมดจดเหมือนกัน ของพระพุทธเจ้าก็สะอาดบริสุทธิ์ ของพระอรหันตสาวกก็สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ปราศจากความโลภความโกรธความหลงเหมือนกัน ความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้ากับของพระสาวกนี้ไม่แตกต่างกัน สะอาดเท่ากัน มีพระนิพพานเป็นที่สถิตของใจเหมือนกัน มีปรมังสุขังเหมือนกัน มีปรมังสุญญังเหมือนกัน คือว่างจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ไม่มีความโลภความโกรธความหลง แต่บารมีที่ได้สร้างมานั้นมีแตกต่างกันไป แต่ละองค์จะมีวาสนาบารมีที่ได้สะสมมาไม่เท่ากัน บางองค์มีวาสนาไปทางอิทธิฤทธิ์ เช่นพระโมคคัลลานะ ก็ทรงยกย่องให้เป็นพระอัครสาวกด้านซ้าย เก่งทางด้านอิทธิฤทธิ์ รองลงจากพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว ส่วนพระสารีบุตรก็มีวาสนาไปทางปัญญา ไปทางการแสดงธรรม ก็ทรงยกย่องให้เป็นพระอัครสาวกด้านขวา เพราะปัญญามีความสำคัญกว่าอิทธิฤทธิ์ ที่ไม่สามารถปราบกิเลสได้ ปัญญาเท่านั้นที่จะปราบกิเลสได้ ที่จะฟอกใจให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ อิทธิฤทธิ์มีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ พวกฤๅษีชีไพรต่างๆ ที่ได้บำเพ็ญฌานสมาบัติ ก็จะมีอิทธิฤทธิ์ติดมาด้วย เพราะอิทธิฤทธิ์เกิดจากฌานสมาบัตินี่เอง แต่การหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายนั้น หลุดพ้นด้วยปัญญา ด้วยวิปัสสนา ความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง ว่าไม่มีตัวตน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ส่วนที่สัตว์โลกทั่วไปพอจะเห็นกันได้ก็คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ของสภาวธรรมทั้งหลาย แต่ไม่สามารถเห็นความไม่มีตัวตนในสภาวธรรมทั้งหลายได้ มีพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ ที่ได้บำเพ็ญเพียรเพื่อมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้ เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่มีปัญญาสามารถพิจารณาจนเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงปราศจากตัวตน นี่คือความรู้ความเห็นของพระพุทธเจ้า ที่แตกต่างจากปุถุชนธรรมดาอย่างพวกเราทั้งหลาย ที่ยังเห็นว่ามีตัวมีตนอยู่ในขันธ์ ๕ ในรูปคือร่างกายของพวกเรานี้ ยังเห็นว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ เราเห็นว่ามันไม่เที่ยง เห็นว่ามันเป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าเราเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน เพราะจะไม่ยึดติดกับของที่ไม่ใช่ของเรานั่นเอง ของคนอื่นจะเป็นอย่างไร ร่างกายของคนอื่นจะเป็นอย่างไร เราไม่ทุกข์กับเขา เขาจะแก่จะเจ็บจะตาย เขาจะเป็นอะไรไปเราไม่เดือดร้อน แต่พอร่างกายของเราเป็นอะไรไป เราเดือดร้อนขึ้นมาทันที เพราะยังหลงยึดติดอยู่กับร่างกายนี้ว่า เป็นตัวเราของเรานั่นเอง ฉะนั้นการฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ก็ต้องหลุดด้วยหลักธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตานี้ ต้องเห็นว่าไม่มีตัวตนในสภาวธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสภาวธรรมภายนอกใจ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ลาภยศสรรเสริญสุข ตาหูจมูกลิ้นกาย หรือสภาวธรรมที่ใกล้ใจเข้ามา ก็คือขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เหมือนแดดเหมือนลมเหมือนฝน เหมือนฟ้าเหมือนเมฆ ลอยไปลอยมา ผ่านไปผ่านมา ไม่อยู่กับที่ ไม่อยู่ภายใต้ความควบคุมบังคับของผู้ใด เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ผู้ใดไปปรารถนาให้เป็นอย่างอื่นไป จะต้องทุกข์ทรมานใจ เพราะจะไม่ได้ดังใจนั่นเอง
อยากให้ร่างกายอยู่ไปตลอด ก็เป็นไปไม่ได้ อยากไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ก็เป็นไปไม่ได้ อยากไม่ให้แก่ ก็เป็นไปไม่ได้ เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา อยากจะให้เวทนาสุขไปตลอด ก็เป็นไปไม่ได้ เวทนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยากจะให้สังขารความคิดปรุงแต่งคิดแต่เรื่องดีๆ ก็ไม่สามารถควบคุมให้คิดแต่เรื่องดีๆได้ ต้องคิดไปตามอำนาจของบุญกรรมที่ได้สะสมมา คิดเรื่องดีก็สบายอกสบายใจ คิดเรื่องไม่ดีก็ทุกข์ใจร้อนใจ แต่ถ้าได้บำเพ็ญได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ต่อไปจะคิดดีขึ้นไปเรื่อยๆ จะคิดไปในทำนองคลองธรรม คิดตามความเป็นจริง คิดตามหลักของสัมมาทิฐิ คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น ก่อนที่จะคิดอย่างนี้ได้ในเบื้องต้นต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังจากผู้รู้ก่อน จากพระพุทธเจ้าผู้รู้องค์แรก เมื่อพระองค์ทรงรู้แล้วก็ทรงนำเอาความรู้นี้เอาสัมมาทิฐินี้ มาเผยแผ่กับผู้ที่สามารถรับไปปฏิบัติได้ ตอนต้นก็เป็นพวกนักบวชทั้งหลาย ผู้ที่ได้บำเพ็ญบุญบารมีมามากพอ ที่จะน้อมเอาสัมมาทิฐิที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นนี้มาสอนใจ จนหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาเพียง ๗ เดือนแรกของการประกาศพระศาสนา ตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ ที่เรียกว่าวันอาสาฬหบูชา ที่ทรงแสดงธรรมครั้งแรกให้แก่พระปัญจวัคคีย์ และทรงแสดงไปเรื่อยๆ พอถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ที่เรียกว่าวันมาฆบูชา ก็ปรากฏมีพระอรหันตสาวก ๑๒๕๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า จากทิศต่างๆโดยไม่ได้นัดหมายกัน นี่เพียงระยะ ๗ เดือนของการสั่งสอนเท่านั้น ก็ปรากฏมีพระสาวกขึ้นมาเป็นจำนวนมาก อย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูปที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ส่วนที่ไม่ได้มากราบก็คงจะมีอีกหลายรูปด้วยกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่ที่การฟังเป็นหลัก ฟังจากผู้รู้ ฟังจากพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ฟังจากพระสาวกตามลำดับ ฟังจากพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย พระสุปฏิปันโนทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่เรากราบไหว้บูชา ท่านก็ฟังมาก่อนพวกเรา ฟังแล้วก็น้อมนำเอาไปปฏิบัติ
ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้เป็นเหมือนกันหมด คือเกิดมาในฐานะของปุถุชน แล้วก็อาศัยการได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จากผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือจากการอ่านหนังสือธรรมะ เวลาเราอ่านก็เท่ากับได้ยินได้ฟัง เพียงแต่ว่าแทนที่จะเข้ามาทางหู ก็เข้ามาทางตา พอเข้าไปในใจแล้วก็ปรากฏเป็นสัมมาทิฐิเช่นเดียวกัน จะมาทางตาก็ได้มาทางหูก็ได้ อ่านหนังสือก็ได้ ฟังธรรมะก็ได้ ได้ประโยชน์เท่ากัน อยู่ที่ความสันทัดของแต่ละคน บางคนฟังแล้วจิตใจสงบสบาย เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมา บางคนอ่านแล้วก็เกิดความเข้าอกเข้าใจดีขึ้น ก็ได้ทั้ง ๒ แบบ เป็นสื่อที่จะนำธรรมะ คือปัญญาหรือความเห็นที่ถูกต้องเข้าสู่ใจ พอมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว ความคิดที่ถูกต้องก็ตามมา เวลามีความเห็นที่ไม่ถูกต้องมีมิจฉาทิฐิ ก็จะมีความคิดที่ไม่ถูกต้อง ก็จะโลภจะโกรธจะหลง เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ออกมาจากความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้เป็นสุข ควรจะอยู่กับเราไปตลอด เป็นตัวเราเป็นของเรา นี่เป็นความเห็นผิด พอเกิดความเห็นผิดแล้ว ก็จะคิดไปในทางที่ผิด แล้วก็จะทำไปในทางที่ผิด เพื่อแสวงหาทุกสิ่งทุกอย่างมาบำรุงบำเรอตัวเรา พอได้มาแล้วก็ถือว่าเป็นของเรา เวลาพลัดพรากจากเราไป ก็เกิดความโกรธขึ้นมา เกิดการกระทำที่ไม่ดีการพูดที่ไม่ดีตามมา เป็นเวรเป็นกรรมเป็นบาปตามมา เป็นเหตุให้ไปใช้บาปใช้กรรมในภพชาติต่างๆ ถ้าเกิดความโลภขึ้นมา เห็นอะไรก็ชอบ เห็นอะไรก็อยากได้ ก็จะต้องหามาอยู่เรื่อยๆ ได้มาเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ ได้คืบก็อยากจะได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา ได้ตำแหน่งนี้แล้ว ก็อยากจะได้ตำแหน่งที่สูงกว่านี้ ได้เงินกองเท่านี้แล้วก็อยากจะได้กองเท่านั้น ได้อำนาจขนาดนี้แล้วก็อยากจะได้อำนาจมากขึ้นไป จะอยากไปเรื่อยๆ แม้ในเวลาร่างกายจะตายไป ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ความอยากที่ฝังอยู่ในใจก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ความอยากนี้จึงเป็นตัวผลักดันให้ใจไปหาร่างใหม่ ไปแสวงหาสิ่งต่างๆใหม่อีกรอบหนึ่ง เป็นอย่างนี้มาเป็นเวลาอันยาวนาน กว่าจะได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ที่ได้มาตรัสรู้แล้วประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่สัตว์โลก
ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ในช่วงที่มีพระศาสนา มีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ ก็จะมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้ตักตวงผลประโยชน์คือสัมมาทิฐินี้ เพื่อจะได้เปลี่ยนความคิดที่ไม่ดีให้เป็นความคิดที่ดี เปลี่ยนการกระทำเปลี่ยนการพูดที่ไม่ดี ให้เป็นการพูดที่ดี เป็นการกระทำที่ดี พอได้ทำอย่างนี้แล้วก็จะตัดภพตัดชาติ ตัดความโลภตัดความโกรธตัดความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจได้ เมื่อใจสะอาดบริสุทธิ์แล้ว ก็ไม่มีตัวที่จะผลักดันให้ใจไปไขว่คว้าหาภพชาติใหม่อีกต่อไป พระนิพพานก็เกิดขึ้นภายในใจนั้นแหละ ไม่ได้เกิดที่ไหน ใจเป็นที่สถิตของพระนิพพาน ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ที่ได้รับการชำระ ด้วยทานศีลภาวนา ด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้เกิดจากใครทั้งนั้น ผู้อื่นให้ได้เพียงความรู้ที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนผู้ที่จะทำให้ใจสะอาดบริสุทธิ์ต้องเป็นใจเอง ผู้อื่นทำแทนไม่ได้ ถ้าทำได้พวกเราก็สบายไปกันหมดแล้ว ให้พระพุทธเจ้าให้ครูบาอาจารย์มาซักฟอกใจของพวกเรา พวกเรานั่งประนมมือเฉยๆ เดี๋ยวเดียวก็สะอาดบริสุทธิ์แล้ว แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านให้ได้เพียงความรู้ที่เราต้องนำเอาไปใช้ซักฟอกใจของเราเอง ซึ่งเรารู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร เราก็ต้องสอนใจของเราอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะพอไม่สอนให้คิดให้รู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ความเห็นผิดก็จะทำหน้าที่แทนทันที เราจึงต้องเจริญสัมมาทิฐิอยู่ตลอดเวลา เช่นพระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้พิจารณาความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะเวลาใดที่ไม่คิดปั๊บ ก็จะคิดอยู่ไปนานๆทันที จะอยากอยู่ไปนานๆทันที ไม่สนใจกับความจริงว่าร่างกายนี้จะอยู่ได้หรือไม่ได้ ความอยากนี้จะออกมาทันที พอมีความอยากจะอยู่ไปนานๆ ก็เกิดกลัวความตายขึ้นมาทันที เพราะสวนกับความอยากความต้องการนั่นเอง แต่ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ให้มีช่องว่างไปคิดอย่างอื่น ความคิดอื่นก็จะเข้ามาไม่ได้ พอพิจารณาไปจนชำนาญแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสแทรกเข้ามาได้ ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องพิจารณา เพราะได้ปิดกั้นช่องทางของความเห็นผิด ไม่ให้ปรากฏขึ้นมาในใจได้ตลอดเวลา เมื่อไม่ปรากฏขึ้นมาก็ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป ไม่ต้องพิจารณาความตายอีกต่อไป เพราะความกลัวตายไม่มีแล้ว เพราะรู้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่คิดอยากให้เป็นอย่างอื่น ผลของการปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ปฏิบัติไปจนวันตาย ปฏิบัติไปจนวันตายของกิเลสเท่านั้น ของความหลงเท่านั้น พอความหลงตายแล้ว ยอมรับความจริงแล้ว ก็ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไป งานก็เสร็จ ทีนี้ก็อยู่อย่างสุขอย่างสบาย จนสิ้นอายุขัยของร่างกาย ร่างกายจะเป็นอะไรก็รู้อยู่ล่วงหน้าแล้ว เตรียมพร้อมกับความเป็นไปของร่างกายแล้ว ใจไม่เดือดร้อน เพราะใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ใจเป็นเพียงผู้รู้ รู้เรื่องความเป็นไปของร่างกาย
เมื่อก่อนนี้ถูกสอนให้หลงคิดว่าร่างกายนี้ควรอยู่ไปนานๆ ควรให้ความสุขไปนานๆ เพราะเป็นตัวเราของเรา แต่พอได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็รู้ว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ได้ให้ความสุขกับเรา แต่ให้ความทุกข์มากกว่า เพราะต้องดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา ต้องให้อาหารให้น้ำ ต้องอาบน้ำอาบท่าทำความสะอาด ต้องหาหยูกหายาหาหมอมาดูแลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นภาระทั้งนั้น ถ้าไม่มีร่างกายใจกลับจะสบายกว่า ไม่ต้องดูแลไม่ต้องมาทุกข์กับร่างกาย พอรู้อย่างนี้แล้วก็ไม่หวง ไม่อยากให้อยู่ไปตลอด ไม่พึ่งร่างกายอีกต่อไป เมื่อก่อนนี้ต้องพึ่งร่างกาย เพราะอยากดูรูปอยากฟังเสียงอยากดมกลิ่น อยากลิ้มรสอยากสัมผัสสิ่งต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วว่า มันเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ และมีสิ่งที่ดีกว่าที่เหนือกว่ารออยู่ในใจ คือความสงบสุขของใจนั่นเอง ความสุขที่เกิดจากการตัดการปล่อยวางความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ความสุขที่ได้จากร่างกาย พอรู้อย่างนี้แล้วก็ปล่อยวางร่างกายได้ ใจหาความสุขภายในใจ เพียงไม่โลภไม่อยากไม่หลงก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องคิดปรุงแต่ง ให้อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากมีนั่นอยากมีนี่ อยากสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสชนิดต่างๆ ใจก็มีความสุขอยู่ภายในใจ ไม่ต้องไปหาความสุขจากสิ่งภายนอกอีกต่อไป เป็นปรมังสุขัง ความสุขที่ไม่มีความทุกข์เจือปน ไม่มีหมดสิ้น ต่างกับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ที่มีเพียงขณะที่ได้เสพได้สัมผัสเท่านั้น พอไม่ได้เสพไม่ได้สัมผัสก็เกิดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว เกิดความหิวกระหายความอยากที่จะเสพสัมผัส พอไม่ได้เสพไม่ได้สัมผัสก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ต่างกันตรงนี้ สุขภายนอกกับสุขภายใน สุขภายในนี้สุขไปตลอด ไม่ต้องกังวลกับการแสวงหาสิ่งต่างๆมาบำรุงบำเรอ ไม่เหมือนกับสุขภายนอกที่ต้องแสวงหาปัจจัยต่างๆมาบำรุงบำเรอ ต้องหาเงินหาทองเพื่อจะได้ไปซื้อ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆมาบำรุงบำเรอ พอไม่มีเงินมีทอง เงินทองขาดมือขึ้นมาก็วุ่นวายกัน เดือดร้อนกัน อยู่เฉยๆไม่ได้ เพราะติดนิสัย ติดความโลภติดความอยาก ก็จะคิดแต่โลภอยากหาความสุข ทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ตลอดเวลา นี่คือความทุกข์ของความสุขภายนอก
ส่วนความสุขภายในใจก็จะทุกข์ในตอนต้น ตอนที่ต้องต่อสู้กับกิเลส ที่จะหลอกให้ไปหาความสุขภายนอก ต้องพยายามเอาชนะกิเลสให้ได้ ตอนที่ต่อสู้กับกิเลสก็จะเป็นความทุกข์ เพราะจะต้องอดทนอดกลั้น จะต้องละจะต้องตัดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย อยากจะดื่มน้ำที่มีรสชาติก็จะต้องตัด อยากจะรับประทานอาหารขนมนมเนยตามความอยากของกิเลสก็ต้องตัด ให้รับประทานให้ดื่มตามความต้องการของร่างกาย เช่นให้รับประทานไม่เกินเที่ยงวันไปแล้ว ถ้าจะให้เข้มข้นยิ่งขึ้นก็ให้รับประทานวันละ ๑ ครั้ง ถ้าจะให้เข้มข้นกว่านั้นก็ ๓ วันค่อยรับประทานสัก ๑ ครั้ง ร่างกายก็อยู่ได้ แต่กิเลสจะตาย ก็ดีเพราะเป็นสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการฆ่ากิเลส ต่อไปกิเลสจะไม่สามารถบังคับเราสั่งเราให้ทำตามความอยากของมันได้ พอกิเลสไม่ทำงานแล้วก็จะสบาย ไม่มีใครมาคอยสั่งให้ไปดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ ไปรับประทานขนมชนิดนั้น ไปหาอาหารชนิดนั้นมารับประทานอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น วันหนึ่งรับประทาน ๓ ถึง ๔ เวลา จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปถ้ากิเลสตายไปแล้ว รับประทานวันละ ๑ ครั้งก็พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย ไม่มีกิเลสที่จะมาสั่งให้ไปดูสิ่งต่างๆ ฟังสิ่งต่างๆ ไปตามสถานที่ต่างๆได้อีกต่อไป แต่ตอนต้นนี้ต้องทุกข์ทรมานหน่อย เพราะเป็นการฝืนใจ ฝืนนิสัยเดิม ที่ชอบหาความสุขจากสิ่งต่างๆ เหมือนกับติดยาเสพติด เวลาจะเลิกต้องทุกข์ทรมานไปก่อน เวลาอยากแล้วไม่ตอบสนองความอยาก แต่ทุกครั้งที่สามารถเอาชนะความอยากได้ ความอยากจะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ จะสู้กับความอยากได้ง่ายขึ้นไปเรื่อยๆจนหายไปหมด
เราไม่ต้องต่อสู้กับความอยาก ด้วยความอดทนอดกลั้นเพียงอย่างเดียว เพราะพระพุทธเจ้าทรงมีอุบาย มีอาวุธให้พวกเราไว้ต่อสู้กับกิเลส ก็คือสติสมาธิและปัญญานี่เอง ทรงสอนให้เจริญสติอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ควบคุมกิเลสได้ กิเลสเป็นเหมือนลิง สติเป็นเหมือนเชือก ถ้าเอาเชือกไปคล้องคอลิงแล้วผูกไว้กับเสาหรือต้นไม้ ลิงก็จะไปไหนไม่ได้ ถ้าเชือกมีกำลังมากกว่า ถ้าสติมีกำลังน้อยกว่าสติก็ขาดได้ กิเลสกระตุกทีเดียวก็ขาด กำหนดพุทโธได้ ๒ คำก็หายไปแล้ว ไปหารูปไปหาเสียงหากลิ่นหารสแล้ว ไปเปิดตู้เย็น เปิดโทรทัศน์ เปิดวิทยุ เปิดหนังสือดูรูปภาพต่างๆ อ่านนิยายต่างๆ แสดงว่าไม่มีสติพอที่จะดึงกิเลสไว้ ถ้ามีสติพอก็จะอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลม อยู่กับพุทโธ อยู่กับภารกิจที่กำลังทำอยู่ กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้อยู่กับภารกิจนั้นๆ ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปสติจะมีกำลังมากขึ้น จนสามารถสั่งให้กิเลสหยุดได้ พอหยุดได้แล้วก็จะพบกับสิ่งมหัศจรรย์ คือความสงบของจิต พอรู้แล้วว่านี่แหละคือความสุขที่แท้จริง ต่อไปก็จะพยายามรักษาความสงบนี้ พยายามทำให้มีมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ พอออกจากความสงบแล้ว ถ้ากิเลสจะไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ต้องใช้ปัญญาหรือวิปัสสนาสกัดทันที ต้องบอกเลยว่ามันไม่สุขนะ มันทุกข์นะ เป็นเหมือนยาเสพติด ถึงแม้จะสุขในตอนที่เสพ แต่ต้องจำไว้ว่าพอเวลาอยากแล้วไม่ได้เสพนี้มันทุกข์ทรมานมาก พอติดแล้วมันทรมานถ้าไม่ได้เสพ สุรายาเมาบุหรี่เครื่องดื่มที่เราชอบเราโปรด ก็เป็นแบบเดียวกัน เราติดในรสชาติ ความจริงร่างกายต้องการเพียงน้ำสะอาดที่ไม่มีรสไม่มีชาติ แต่กิเลสชอบรสชาติที่ผสมกับน้ำ แล้วก็อ้างว่าหิวน้ำ ความจริงเป็นข้ออ้างของกิเลส ถ้าหิวน้ำก็ดื่มน้ำเปล่าสิ ร่างกายต้องการน้ำเปล่า มีประโยชน์ไม่มีโทษกับร่างกาย แต่ถ้าดื่มน้ำที่มีรสชาติมีกลิ่นมีสีผสมด้วย กลับเป็นโทษกับร่างกาย ทำให้ตายก่อนวัยได้ เช่นสุรายาเมามีสิ่งอื่นผสมเข้าไปในน้ำด้วย ดื่มสุราไปมากๆร่างกายก็จะตายเร็วขึ้น ตับไตไส้พุงจะถูกพิษสุรากัดตายได้ แต่เราไม่เห็นกัน เพราะไม่ใช้ปัญญากัน ดังนั้นต่อไปนี้เวลาอยากได้อะไรภายนอกนี้ เราต้องหยุด ต้องบอกว่าเป็นทุกข์นะ เป็นโทษนะ เป็นอันตรายนะ เป็นเหมือนยาพิษนะ อย่าไปเอามัน กลับเข้ามาหาความสุขภายในใจดีกว่า พออยากจะไปดูอะไรก็บริกรรมพุทโธๆไปเลย ภาวนาไปเลย นั่งขัดสมาธิหลับตาภาวนาไปเลย ถนัดกับกรรมฐานไหนก็ใช้กรรมฐานนั้นไป พุทโธก็ได้ อานาปานสติก็ได้ พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายไปก็ได้ มีหลายวิธีด้วยกัน หรือจะพิจารณาด้วยปัญญาจนเห็นอย่างถ่องแท้ว่ามันเป็นโทษ เป็นเหมือนอสรพิษก็ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นอสรพิษแล้ว จะไม่กล้าไปหามันอย่างแน่นอน นี่คือวิธีที่จะสามารถเอาชนะความทุกข์ที่เกิดจากการปฏิบัติได้ แล้วเราจะได้ความสุขภายในใจ
เรามีทางเลือก ถ้าเอาความสุขภายนอกก็ต้องมีความทุกข์ตามมาทีหลัง ถ้าเอาความสุขภายในก็ต้องมีความทุกข์มาก่อน ไม่มีใครได้ความสุขภายในใจโดยไม่ต้องทุกข์ นอกจากผู้ที่ได้บำเพ็ญมามากพอแล้ว ได้ทุกข์มามากพอแล้วในอดีต มาถึงขั้นสุดท้ายเพียงแต่ได้ยินได้ฟังก็เข้าอกเข้าใจ อย่างพระปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเพียง ๒ ถึง ๓ ครั้ง ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ก่อนที่จะถึงขั้นนั้นได้ก็ต้องตะเกียกตะกายทรมานตน ตัดรูปเสียงกลิ่นรสออกบวชเป็นฤๅษีชีไพร ควบคุมจิตใจให้อยู่ภายใต้การดูแลของสติ จนสามารถทำให้จิตสงบนิ่งได้ แต่ไม่มีปัญญาหรือสัมมาทิฐิที่จะดับความอยากความโลภได้เท่านั้นเอง ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า พอมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏ ก็เหมือนกับต้นไม้ที่รอน้ำ พอฝนตกปั๊บก็ออกดอกออกผลได้เลย นี่แหละคือความสุขที่มีอยู่ในโลกนี้ ที่ใจสามารถสัมผัสได้ มีอยู่ ๒ รูปแบบด้วยกัน คือความสุขภายนอกกับความสุขภายใน ถ้าเอาความสุขภายนอกก็ต้องทุกข์ไปตลอด เวียนว่ายตายเกิดไปตลอด ถ้าเอาความสุขภายใน ก็ทุกข์ตอนต้น ตอนที่ต่อสู้กับกิเลส พอกิเลสตายหมดแล้วก็จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย จะมีความสุขไปตลอด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เพราะไม่มีกิเลสชักจูงไป ทั้งหมดนี้เริ่มจากการฟัง ถ้ามีระบบเสียงที่ดี ฟังได้อย่างชัดเจน ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ ฟังแล้วจะได้นำเอาไปพินิจพิจารณา นำเอาไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป
ปีนี้เป็นปีที่ ๔ แล้วนะ เกือบจะจบปริญญาตรีแล้ว เตรียมตัวสอบได้แล้วนะ เตรียมหาห้องสอบได้แล้ว ไม่อย่างนั้นก็เรียนกันไม่จบสักที อ่านในพระไตรปิฎกมีแต่บรรลุตรงนั้นบรรลุตรงนี้กัน พวกเราไม่คิดเลยหรือว่าเขาบรรลุกันได้อย่างไร พวกเราทำไมจึงยังไม่บรรลุกัน เพราะเราไม่ปฏิบัติตามที่ได้ยินได้ฟัง ฟังแล้วก็หายไป เข้าหูซ้ายออกหูขวา ฟังแบบทัพพีในหม้อแกง ทำแต่ทานอย่างเดียว ศีลก็ยังขาดอยู่ ภาวนานี้แทบจะไม่ได้ภาวนาเลย สติไม่ค่อยได้เจริญกัน แล้วจะไปถึงไหนกัน อย่าไปโทษใครเวลาเราทุกข์ เวลาเราเดือดร้อน ต้องโทษตัวเราเอง ที่ไม่หาที่พึ่ง ที่ไม่รีบสร้างที่พึ่ง พอมีเรื่องอะไรมากระทบก็ทุกข์วุ่นวายกัน ถ้าได้สร้างสติสร้างสมาธิสร้างปัญญาแล้ว ไม่ว่าอะไรจะมากระทบกับใจ จะไม่เป็นปัญหาเลย ขันธ์ ๕ จะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา เวทนาจะเป็นชนิดไหนก็ไม่เป็นปัญหา เรื่องราวต่างๆของคนนั้นคนนี้ก็จะไม่เป็นปัญหา ต้องตัดลาภยศสรรเสริญสุขให้ได้ อย่าไปอยากรวยอยากมีตำแหน่งสูงๆ อยากให้ผู้อื่นสรรเสริญยกย่องเยินยอ อย่าหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่ให้อยากทำบุญให้ทานอยากรักษาศีล อยากหาที่สงบสงัดวิเวกอยู่คนเดียว ให้ยินดีในสิ่งที่ควรยินดี คือยินดีในธรรม ไม่มีอะไรน่ายินดียิ่งกว่ารสแห่งธรรม ไม่มีอะไรจะชนะรสแห่งธรรม การยินดีในรสแห่งธรรมนี้เป็นการยินดีที่เลิศที่สุด อย่าไปยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้ยินดีกับความสงบของใจ ถ้าตั้งใจทำจริงๆไม่ยากหรอก เพียงไม่กี่วันก็น่าจะได้ผล
ถาม เวลาภาวนามากๆเข้า จะเห็นความทุกข์มากขึ้น จะเห็นความไม่พอ ความอยากได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลงในแต่ละวัน จะเห็นชัดขึ้นไปเรื่อยๆ
ตอบ การภาวนาเป็นการดูใจเรา ที่เป็นที่ตั้งของความโลภความโกรธความหลง ถ้าดูใจอยู่เรื่อยๆจะเห็นการทำงานของความโลภความโกรธความหลง ถ้าเผลอไปมองข้างนอกก็จะไม่เห็น เวลาเห็นอะไรภายนอก เกิดความยินดี เกิดความโลภขึ้นมา จะไม่รู้ จะรีบไปเอาสิ่งที่อยากได้ทันที ถ้าโกรธไม่พอใจอะไร จะไปปฏิบัติกับสิ่งที่โกรธทันที ไม่เห็นความโลภความโกรธที่อยู่ในใจ ถ้าดูใจอยู่พอโลภปั๊บ จะรู้ปั๊บความโลภก็ดับ เพราะความโลภนี้เป็นแบบเดียวกับเสียงรถ เกิดปั๊บแล้วก็หายไป ถ้าไม่เฝ้าดูที่ใจพอเกิดปั๊บก็ทำตามทันที พอโลภปั๊บก็ไปเลย สั่งให้ไปเอามา ก็ไปเลย
ถาม เมื่อก่อนเราเป็นผู้เล่นเต็มตัว แต่ตอนนี้เราเป็นผู้ดูบ้าง
ตอบ เราเปลี่ยนบทจากผู้เล่นมาเป็นผู้ดู ดูแล้วก็ไม่ทำตาม ถ้าจะทำก็ต้องใช้เหตุผลเป็นตัวตัดสิน เช่นยังต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ยังต้องได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาอยู่ ก็ทำไปได้ ถึงเวลารับประทานอาหารก็ต้องรับประทานอาหาร ถึงเวลาที่เสื้อผ้าเก่าขาดใส่ไม่ได้แล้ว ปะไม่ได้แล้ว ก็ไปซื้อชุดใหม่มาใส่ อย่างนี้ไม่เป็นความโลภ
ถาม ความสงบที่เกิดจากการนั่งสมาธิในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน
ตอบ เหมือนกับยิงปืน บางทีก็เข้าตรงกลางเป้าก็ได้ ๑๐ คะแนน บางทีไม่เข้าตรงกลางเป้า ได้ ๕ คะแนนบ้าง ได้ ๓ คะแนนบ้าง ได้ ๑ คะแนนบ้าง ภาวนาแต่ละครั้ง บางทีก็สงบน้อย บางทีก็สงบมาก ขึ้นอยู่กับสติว่ามีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงไร ถ้าต่อเนื่องมากก็จะสงบมาก เหมือนกับเดินเข้าไปในถ้ำ ถ้าเข้าไปลึกมากก็จะห่างไกลจากเสียงภายนอกมาก เข้าไปสุดถ้ำเลยก็จะไม่ได้ยินเสียงภายนอกเลย ถ้าอยู่แถวปากถ้ำก็จะได้ยินเสียงนั้นเสียงนี้อยู่ ถ้าสติยังไม่แน่นอนยังไม่ชำนาญ ความสงบก็จะเป็นแบบนี้
ถาม บางวันถ้าภาวนาดี ลมหายใจก็จะสั้นลง แล้วก็ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆจนหายเงียบไปเลย แต่บางวันก็จะมีทุกขเวทนา ก็จะพิจารณาด้วยอุบายของท่านอาจารย์ ทุกขเวทนาก็หายไปเป็นพักๆ แล้วก็กลับมาดูลมหายใจใหม่ ทำเป็นรอบๆไป สุดท้ายก็แพ้มันทุกที แต่ว่าระยะเวลาที่นั่งจะได้นานขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะตั้งเป้าที่จะเอาชนะมันให้ได้ หรือทำไปให้ดีที่สุด
ตอบ ทำให้ดีที่สุดจนได้ชัยชนะ ถ้าไม่ยกนี้ก็ต้องยกต่อไป เหมือนนักมวยที่ชกไปเรื่อยๆจนกว่าจะชนะ ถ้ายังไม่ชนะก็จะไม่หยุดชก เราก็ต้องภาวนาไปเรื่อยๆ เจริญสติไปเรื่อยๆ พิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะชนะ
ถาม เวลาทุกขเวทนามา เราจัดการมันได้เป็นพักๆ แล้วกลับมาที่ลมหายใจใหม่ หรือควรพิจารณายาวไปเลย คือพอเวทนาเริ่มจางลงหรือเริ่มหายไปนี่ ก็จะกลับมาที่ลมหายใจใหม่ สักระยะหนึ่งเวทนาก็กลับมาใหม่
ตอบ พิจารณาใหม่
ถาม พอหายไปแล้วก็กลับมาที่ลมหายใจใหม่
ตอบ ได้
ถาม หรือควรจะพิจารณากายต่อเนื่องยาวไปเลย จนเงียบหายไปเลย
ตอบ ลองทำดู
ถาม ส่วนใหญ่จะกลับมาที่ลมหายใจ ทุกขเวทนาที่มาจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ตอบ ถ้าอยู่ที่ลมหายใจมันจะไม่ได้ปัญญาที่กว้างขวาง จะรู้แต่เกิดดับ เกิดดับ รู้ระหว่างตายกับเป็นเท่านั้น ถ้าพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย แยกกาย แยกธาตุ จะได้ความรู้ที่ลึกละเอียด รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นปฏิกูล สกปรก เป็นอสุภะ ไม่สวยงามน่ารังเกียจ มีประโยชน์มากกว่าดูลมหายใจ อยู่ที่ว่าจะทำได้หรือไม่ เรื่องของร่างกายที่ต้องรู้ก็คือ เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ปฏิกูล อาการ ๓๒ อสุภะไม่สวยไม่งาม เรื่องดินน้ำลมไฟ
ถาม เวลามีปัญหาในใจ จะเอาธรรมะเข้ามาพิจารณา สุดท้ายจะลงมาที่ความตาย ที่ร่างกายเป็นแค่ธาตุ ๔ มารวมกัน แล้วก็เงียบไป แต่ไม่ได้ทำตอนที่นั่งสมาธิ
ตอบ ทำได้ตลอดเวลา แต่ในขณะที่สงบในสมาธิไม่ต้องทำ เพราะต้องการพักจิต เหมือนตอนนอนหลับ ไม่ทำงานทำการ ต้องการพักผ่อน จิตก็เช่นเดียวกัน จะพิจารณาไปตลอดไม่ได้ จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เวลาทำสมาธิก็ไม่พิจารณา ทำเพื่อให้สงบนิ่ง นอกจากพิจารณาแบบปัญญาอบรมสมาธิ เพื่อให้จิตปล่อยวางเรื่องต่างๆ แล้วสงบตัวลง พอนิ่งอยู่เฉยๆไม่คิดไม่ปรุง ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้นิ่งสงบจนกว่าจะถอนออกมาเอง พอเริ่มคิดเริ่มปรุง เราก็เอามาคิดปรุงทางด้าน อนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาร่างกาย ของเราก็ได้ของคนอื่นก็ได้ ใช้ปัญญาเอ็กซเรย์เข้าไปใต้ผิวหนังเลย ดูโครงกระดูกที่กำลังเดินอยู่ ดูลำไส้ ดูหัวใจ ดูตับ ดูปอดที่กำลังทำงานอยู่ หรือจะดูอนาคตก็ได้ เดี๋ยวก็ต้องแก่ ผมก็ขาวหนังก็เหี่ยว หลังก็งอ นอนอยู่ในห้องไอซียู นอนอยู่ในโลง กลายเป็นขี้เถ้า เหลือแต่เศษกระดูก ดูอย่างนี้ได้ตลอดเวลา ดูทั้งของเราและของคนอื่น อย่าดูแต่ของเราหรือดูแต่ของคนอื่น จะไม่เสมอภาค ต้องดูทั้งของคนอื่นและของเราสลับกันไป หรือดูพร้อมๆกันไป ว่าคนอื่นก็เป็นอย่างนี้ เราก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปก็จะเห็นแต่กายว่าเป็นอย่างนี้ จะไม่เห็นนาย ก. นาย ข. อยู่ในร่างกายนี้ จะเห็นแต่ดินน้ำลมไฟ เห็นอาการ ๓๒ เรียกว่าดูกายในกาย
ให้ดูกายในกายนี้ ไม่ให้ดูนาย ก. นาย ข. ในกายนี้ พวกเรามักจะดูนาย ก. นาย ข. ในกายนี้ เห็นร่างกายนี้ก็คิดถึงชื่อคนนั้นคนนี้ขึ้นมาทันที คุณแดง คุณเขียว นายกฯ ผอ. ไม่เห็นกายเลย เห็นแต่สมมุติที่อยู่ในกาย เราต้องเปลี่ยนการมองของเราใหม่ ให้มองเห็นแต่กายจริงๆ ให้เห็นความจริงของกาย อย่าไปเห็นสมมุติของกาย พอเห็นสมมุติแล้วก็จะเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา จะนึกถึงอดีตขึ้นมา คนนี้เคยด่าเราเคยทำร้ายเรา ก็จะเกิดความเกลียดความอาฆาตพยาบาทขึ้นมา แต่ถ้าเห็นแต่กาย เห็นอาการ ๓๒ เห็นว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ใจก็จะเป็นอุเบกขา ไม่โกรธเกลียด ไม่รู้ว่าไปเกลียดทำไมกับอาการ ๓๒ ไปเกลียดผมทำไม ไปเกลียดขนทำไม ไปเกลียดเล็บทำไม ไปเกลียดฟันทำไม ไปเกลียดหนังทำไม ไปเกลียดกระดูกทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆสลับกับการทำสมาธิ พอพิจารณาไปจนรู้สึกว่าเริ่มฟุ้งซ่านแล้วก็หยุด กลับมาทำสมาธิใหม่ ทำจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้วพักได้นานเท่าไหร่ก็ปล่อยให้พักไป พออิ่มตัวแล้วก็จะถอนออกมา เราก็มาพิจารณาต่อ จนเป็นสัญชาตญาณไป พอเห็นใครแล้วไม่เพียงเห็นนาย ก. นาย ข. แต่เห็นอย่างอื่นด้วย เห็นอาการ ๓๒ ด้วย เห็นแก่เจ็บตายด้วย เห็นซากศพด้วย
ถาม เห็นเป็นหุ่นยนต์ ที่มีจิตเป็นตัวเข้าไปควบคุมเขาอยู่
ตอบ ขั้นต่อไปก็ต้องพิสูจน์ดูว่าเห็นจริงหรือเปล่า ไปอยู่ใกล้ๆเสือดู ว่าเป็นหุ่นยนต์จริงหรือไม่ ไปอยู่ป่าช้าดู ไปอยู่ในป่าดู เพื่อจะได้รู้ว่าความเห็นของเรานี้เป็นทฤษฎีหรือเป็นปฏิบัติ ถ้าเป็นปฏิบัติก็ต้องวางเฉยได้ ตอนต้นทำการบ้านไปก่อน ซ้อมไปก่อน เหมือนทหารที่ซ้อมรบไปก่อน ซ้อมวิธีรบกับข้าศึกศัตรู ซ้อมใช้อาวุธชนิดต่างๆ พอพร้อมแล้วก็ออกศึกได้ ออกไปหาที่ๆท้าทายต่อความเป็นความตาย ดูว่าปล่อยได้ตามทฤษฎีหรือไม่ ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ต้องตายอย่างแน่นอน เราพร้อมที่จะให้เป็นไปตามความจริงหรือไม่ ถ้าพร้อมแล้วจะไม่หวั่นไหว จะไม่กลัว จะรู้สึกเฉยๆ จะรู้ว่าเราผ่านแล้ว ถ้าไปแล้วยังตัวสั่นกลับมาเหมือนผีเข้า ก็รู้ว่ายังไม่ผ่าน
ถาม เวลาที่ชีวิตเราราบเรียบ หรือเวลาที่ภาวนาราบเรียบดี รู้สึกว่ากิเลสราบเรียบๆไปด้วย ไม่ค่อยมีกำลังเท่าไหร่ แต่พอเกิดภาวะคับขันนี่ไม่รู้ว่ากิเลสเอากำลังมาจากไหน มันเหนือกว่าเรามากเหลือเกิน ไม่ทันมันเลย พิสูจน์ให้เห็นว่าเรายังไม่ได้อะไรเลย
ตอบ กิเลสเหมือนภูเขาไฟ เวลาไม่ปะทุก็น่ารักดี มีควันออกมานิดๆหน่อยๆ
ถาม แต่พอปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่ากำลังมันมาจากไหน กลายเป็นว่ากำลังเราอ่อนไปทันที
ตอบ เหมือนน้ำเดือด เวลาไม่เดือดนี่ไม่มีปัญหาอะไร พอเดือดขึ้นมานี่กาน้ำแทบจะระเบิด
ถาม พูดถึงปัญญาอบรมสมาธินี่ เวลาพิจารณาไปแล้วจนเข้าถึงสมาธินี่ จิตจะรวมลงเลย ใช่ไหมครับ ไม่กลับไปที่พุทโธก่อน
ตอบ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็ไม่ต้องใช้พุทโธ ถ้าทำสมาธิจนชำนาญแล้ว เวลาต้องการจะพักจิตไม่ต้องใช้ปัญญาหรือพุทโธ เพียงใช้สติกำหนดปั๊บ จิตก็จะนิ่ง ถ้าไม่นิ่งก็ใช้คำบริกรรมกำกับไป หรือใช้ปัญญาข่มจิตก็ได้ แล้วแต่จะถนัด เป็นเหมือนสวิทช์ไฟ ปัญญาก็ดี พุทโธก็ดี เวลาต้องการดับไฟเราก็ต้องปิดสวิทช์ก่อน เวลาจะให้จิตนิ่งสงบ เราก็ต้องใช้ปัญญา ใช้พุทโธ ใช้อานาปานสติ หรือใช้สติกำหนด ถ้าสติมีกำลังมากก็ไม่ต้องใช้อย่างอื่น เพียงแต่บอกว่าหยุดคิดได้แล้ว มันก็หยุด เพราะสติมีกำลังมากพอที่จะคุมไม่ให้คิดได้ขึ้นอยู่กับสตินี้ ว่าจะมีกำลังมากน้อยเพียงไร ถ้าไม่พอก็ต้องใช้การบริกรรม หรือใช้ปัญญาข่มใจ แต่ปัญญานี้เป็นปัญญาเฉพาะกิจ ใช้เวลาข่มใจให้สงบ แต่ปัญญาที่ใช้เพื่อดับกิเลส ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก จนกว่าจะชนะกิเลสตัวนั้นได้ พอชนะแล้วปัญญาตัวนั้นก็ไม่ต้องทำงานอีกต่อไป เช่นพิจารณาความตายไปจนไม่กลัวตายแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป พิจารณาอสุภะจนไม่มีกามราคะแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอสุภะอีกต่อไป เป็นปัญญาที่ต่างกัน เวลาพิจารณาเพื่อทำจิตให้สงบ เราก็ถามว่าตอนนี้กำลังฟุ้งกับเรื่องอะไร เราก็เอาปัญญาไปสกัด เพื่อให้ตัดเรื่องนั้นให้ได้ เพื่อจะได้สงบตัวลง เช่นห่วงลูกห่วงภรรยาห่วงงาน ก็ตัดด้วยปัญญา ว่าของพวกนี้ไม่เที่ยง ควบคุมบังคับไม่ได้ พอเข้าใจปั๊บก็ปล่อย พอปล่อยใจก็สงบ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ
ถาม ปัญญามี ๒ แบบ คือปัญญาเฉพาะกิจที่ควบคุมจิตให้สงบ กับปัญญาพิจารณาตัดกิเลสเพื่อหลุดพ้น พื้นฐานให้เกิดสติก็คือสมาธิ
ตอบ ไม่ใช่ สติเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ สติต้องมีอยู่ตลอดเวลา ต้องดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปในอดีต ไม่ให้ไปในอนาคต ทำอะไรก็ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ให้อยู่กับร่างกายนี้ ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ก็ให้อยู่กับร่างกาย หรือใจกำลังคิดอะไรอยู่ก็ให้อยู่กับความคิดนั้น ดูกายก็ได้ ดูใจก็ได้ แต่ใจนี้ดูยากกว่าดูกาย ตอนเริ่มต้นนี้ดูใจไม่ออก ไม่รู้ว่าใจอยู่ตรงไหน แต่กายนี้มันชัดกว่าเห็นด้วยตา ก็เลยเอากายนี้เป็นที่ตั้งของสติ ท่านแสดงไว้ว่า ที่ตั้งของสติมีอยู่ ๔ จุดด้วยกันคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ในเบื้องต้นให้ตั้งไว้ที่กายก่อน ส่วนเวทนาจิตธรรมจะตามมาทีหลัง เหมือนกับเรียนหนังสือต้อง ก.ไก่ ข.ไข่ก่อน ก่อนที่จะอ่านออกเขียนได้ ต้องท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ไปก่อน สติในเบื้องต้นก็ต้องอยู่ที่กายก่อน เช่นเวลาทำสมาธิก็ให้มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก เป็นส่วนหนึ่งของกาย ให้ดูลมเข้าลมออก ในมหาสติปัฏฐานสูตรท่านแสดงไว้อย่างนั้น ในเบื้องต้นทำจิตให้สงบ นั่งขัดสมาธิตั้งตัวให้ตรง แล้วก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบังคับลม เพียงแต่เอาลมเป็นที่ตั้งของสติ ให้สติดูลมเข้าลมออกนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ไปรู้เรื่องอื่น เวลาลมเข้าก็รู้ว่าลมเข้า เวลาลมออกก็รู้ว่าลมออก ไม่ใช่ลมเข้าแล้วก็รู้ว่าคนนั้นกำลังทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ใช่ ต้องมีแต่เรื่องของลมเพียงอย่างเดียว ไม่มีเรื่องของผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ไม่ต้องบังคับลมให้ละเอียด ให้หยาบ ให้หายใจสั้น หายใจยาว ปล่อยไปตามธรรมชาติ ถ้าจิตละเอียดเข้าไปสงบเข้าไปลมก็จะละเอียดตาม ตอนต้นลมก็จะหยาบ ต่อไปลมก็จะละเอียด จนถึงจุดที่รู้สึกว่าลมหายไป ก็ให้รู้ว่าลมหายไป อย่าไปตกใจกลัว เพราะพอตกใจกลัวแล้วจะทำให้จิตถอยออกมา ไม่สามารถเข้าสู่ความสงบได้ ให้รู้ว่าตราบใดมีสติอยู่ไม่ตาย เท่านี้ก็พอ คนส่วนใหญ่เวลาลมหายไปนี่ จะตกใจ คิดว่าไม่มีลมหายใจแล้วเราตายแน่ๆ ก็เลยรีบถอยออกมาหาลม พอถอยออกมาหาลมที่หยาบ จิตก็หยาบตาม จิตกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เกือบจะสงบแล้ว พอถึงจุดนั้นก็กลัว ก็ถอยออกมา ถ้าปล่อยให้รู้ตามความจริงจิตก็จะวูบลงไป จะนิ่งสงบเย็นสบาย เหมือนขาดใจไป เวลารวมลงตอนนั้นเหมือนขาดใจไป วูบลงไป แล้วก็นิ่งสงบ สักแต่ว่ารู้ อยู่เฉยๆ เย็นสบายมีความสุข ถ้าดูลมอย่าไปกลัว เวลาถึงจุดนั้นแล้ว ให้รู้ตามความจริงของลม ตอนนี้ไม่มีลมก็รู้ว่าไม่มีลม ให้มีสติรู้อยู่อย่างนั้น จิตจะเข้าไปสู่ความสงบเอง แต่อย่าไปอยากให้มันเข้า พอนั่งถึงตรงนั้นแล้ว ก็คิดว่าเมื่อไหร่จะเข้าเสียที เคยฟังมาว่าจะเข้า ทำไมยังไม่เข้าเสียที อย่างนี้มันก็จะไม่เข้า
ถาม ถ้ามันจะเข้าก็ปล่อยให้มันวูบไปเอง
ตอบ อย่าไปอยากนะ ให้ดูเฉยๆ
ถาม มีน้องถามว่า เขาเพิ่งภาวนา พอภาวนาไปลมจะหายไปเลย เขากลัวก็เลยถอย เขาไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้ ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร
ตอบ ในหนังสือที่หลวงตาเขียน ท่านว่าเวลาลมหายไปนี่จะกลัวกัน ภาวนาทีไรก็มาติดตรงนี้กัน ให้สักแต่ว่ารู้ก็แล้วกัน ให้รู้ว่าตอนนี้ไม่มีลม ไม่มีลมก็ไม่เป็นไร เรารู้เราไม่ตาย แต่อย่าไปคาดว่าทำไมยังไม่สงบ อย่าไปคิด ต้องรู้เฉยๆ
ถาม ถึงจุดนั้นแล้ว จิตนิ่งแล้ว ควรที่จะพิจารณาไหม
ตอบ ไม่ ตอนที่จิตนิ่งไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้นิ่งไปเรื่อยๆ กำลังสุขสบาย ไม่อยากจะทำอะไร อยากอยู่อย่างนั้นไปนานๆ แต่พออิ่มตัวแล้วจะถอนออกมาเอง พอมันถอนออกมาแล้วเริ่มคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนนั้นต้องพิจารณา จะพิจารณาร่างกายก็ได้ ว่าร่างกายนี้เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย มีอาการ ๓๒ เช่นผมขนเล็บฟัน ฯลฯ ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด กำหนดดูสภาพต่างๆ เวลาสาวเวลาหนุ่มเป็นอย่างไร เวลาแก่แล้วเป็นอย่างไร เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเป็นอย่างไร เวลาตายแล้วเป็นอย่างไร ก็ดูไปอย่างนี้ ดูตามความจริง ศึกษาความจริงของร่างกาย ว่าเป็นอะไรกันแน่ เป็นตัวเราของเราหรือ หรือเป็นเพียงการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ มาเป็นอาการต่างๆ เช่นผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูก ฯลฯ พอถึงเวลาแยกออกจากกัน ก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ พิจารณาจนรู้สึกว่า ชักจะโลเลชักจะเผลอเลอ ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็กลับมาทำสมาธิใหม่ แสดงว่าสมาธิหมดกำลังที่จะดึงจิตให้อยู่กับธรรมะ กิเลสเริ่มออกมาเพ่นพ่าน มาชวนคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว เริ่มห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ กลับมาทำสมาธิใหม่ ทำจิตให้สงบ พอออกจากความสงบแล้ว สั่งให้คิดอะไรก็จะคิดตาม เพราะไม่มีกิเลส กิเลสถูกฉีดยาสลบไว้ชั่วคราว แต่พอหมดฤทธิ์ของยาสลบแล้ว กิเลสก็เริ่มออกมา เริ่มห่วง เริ่มกังวล เริ่มอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าไม่สกัดด้วยปัญญา ก็ต้องกลับมาทำสมาธิ บริกรรมพุทโธๆไป จนกว่าจะนิ่ง เวลาจิตนิ่งกิเลสก็นิ่งตาม เหมือนหมอที่จะผ่าคนไข้ พอยาสลบจะหมดฤทธิ์ก็ต้องเติมยาสลบ ไม่อย่างนั้นคนไข้สะดุ้ง เวลาตัดตรงนั้นผ่าตรงนี้ จะสะดุ้งจะเจ็บ เพราะคนไข้เริ่มรู้สึกตัวแล้ว หมอวางยาจึงต้องคอยดูอยู่ตลอดเวลา ว่ายายังทำงานอยู่หรือไม่ ไม่ใช่หมอผ่าไปครึ่งทางยาเกิดหมดฤทธิ์ขึ้นมานี่จะยุ่ง
ปัญญากับสมาธิทำหน้าที่สลับกัน ท่านเปรียบเหมือนเท้าซ้ายกับเท้าขวา เวลาเดินเราไม่ได้ก้าว ๒ เท้าพร้อมกัน เท้าซ้ายก้าวเท้าขวาก็ยันไว้ พอเท้าขวาก้าวเท้าซ้ายก็ยัน สลับกันทำหน้าที่ ถ้าก้าวทั้ง ๒ เท้าพร้อมกัน ก็ต้องกระโดดไป ก็จะไม่รวดเร็วเท่ากับการก้าวสลับเท้ากัน ซ้ายขวา ซ้ายขวาไป สมาธิกับปัญญาก็จะทำหน้าที่สลับกัน จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติ โดยมีสติเป็นตัวกำกับ สติเป็นธรรมที่ใหญ่กว่าสำคัญกว่าสมาธิและปัญญา เหมือนรอยเท้าช้างที่ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์อื่นทั้งหมด ปัญญามีความสำคัญที่สุดในการดับกิเลส แต่ปัญญาจะไม่เป็นปัญญาถ้าไม่มีสติ เหมือนพวกเราถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ก็ไม่มีทางที่จะเกิดมาได้ ฉะนั้นพ่อแม่ต้องใหญ่กว่าเราเสมอ เราอย่าไปใหญ่กว่าพ่อแม่ อย่าไปใหญ่กว่าครูบาอาจารย์ ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดเรามา สติก็เป็นผู้ให้สมาธิกับปัญญา ในเบื้องต้นนี้เราต้องเจริญสติให้มาก ทำได้ทุกวันทุกเวลา ไม่ว่าอยู่ที่ไหน สติอยู่กับใจ ใจก็อยู่กับเราตลอดเวลา แต่พวกเราไม่ค่อยชอบเจริญสติกัน ชอบทำตามนิสัยเดิม ชอบทำ ๒ อย่างควบคู่กันไป ทำเรื่องนี้แล้วก็คิดเรื่องนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ ทำเรื่องไหนก็ต้องคิดเรื่องนั้น ให้อยู่กับเรื่องนั้น ถึงจะเรียกว่ามีสติ พอมีสติแล้วต่อไปก็จะเห็นใจ จะเห็นกิเลส เวลาโลภก็จะเห็น เวลาโกรธก็จะเห็น ถ้าไม่มีสติจะไม่เห็น จะเห็นแต่สิ่งภายนอก เห็นว่าสิ่งนั้นดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสออกมาแล้ว เห็นสิ่งนั้นไม่ดี ก็ไม่รู้ว่ากิเลสออกมาแล้ว แต่ถ้าดูที่ใจจะรู้ เวลากิเลสว่าอะไรดีหรือไม่ดีจิตจะกระเพื่อมขึ้นมา การกระเพื่อมของจิตก็คือความทุกข์ จะไม่เห็น ถ้าจิตไม่สงบ จิตที่ไม่สงบจะกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา จึงไม่เห็นความแตกต่าง พอจิตสงบแล้วนี่พอกระเพื่อมนิดเดียวจะรู้เลยว่าจิตกระเพื่อมแล้ว สมาธิจึงเป็นตัวสำคัญมากในการดูจิต จิตต้องนิ่งก่อน ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตได้ พอจิตนิ่งแล้ว เวลากิเลสทำงานปั๊บ ก็จะกระเพื่อมขึ้นมาทันที จะรู้เลยว่านี่เป็นผลงานของกิเลส แต่ถ้าเป็นความคิดของธรรมจะไม่กระเพื่อม จิตยังเย็นสบายเหมือนเดิม คิดถึงไตรลักษณ์อนิจจังทุกขังอนัตตา คิดถึงอสุภะนี้ จิตจะไม่กระเพื่อม พอคิดไปถึงความสวยงามน่ารักน่ายินดีปั๊บนี่ จิตจะกระเพื่อมขึ้นมาทันที ถ้าจิตไม่มีสมาธิจะไม่เห็น จะไม่เห็นความกระเพื่อมของจิต ถ้าจิตไม่สงบเวลาดูจิตด้วยสติ จะไม่รู้ว่ากิเลสกำลังทำงานอยู่ เพราะจิตเป็นเหมือนทะเลที่มีคลื่นใหญ่ นอกจากกิเลสที่ระเบิดเหมือนภูเขาไฟที่ระเบิดจากใต้น้ำขึ้นมา ถึงจะเห็นว่าเป็นกิเลส เหมือนกับทะเลที่สงบนิ่ง พอโยนก้อนหินก้อนเล็กๆลงไปก็จะเห็นน้ำกระเพื่อมทันที มันต่างกัน ผู้ที่เจริญสติอย่างเดียวโดยไม่มีสมาธิ แล้วคิดว่าจะบรรลุได้ คิดว่าคงจะยาก เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส จะรู้แต่เฉพาะกิเลสที่ตัวใหญ่ๆระดับภูเขาไฟเท่านั้น แต่กิเลสที่ละเอียดลงไปจะมองไม่เห็น ก็จะตามรู้แล้วก็ระงับได้ชั่วคราว ความโลภความโกรธส่วนหยาบเท่านั้นเอง แต่กิเลสที่ละเอียดที่ทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ อยู่ๆก็ไม่สบายใจขึ้นมานี้ จะดับไม่ได้ เพราะมันละเอียดกว่าสติปัญญาที่ไม่มีสมาธิสนับสนุน
ถาม บางครั้งมีอารมณ์หยาบๆ เสียใจน้อยใจโกรธเกลียดกลัวประชดกังวลยึดถือ เห็นอยู่แต่ไม่สามารถจัดการได้ ต้องทำอย่างไรดี
ตอบ เพราะขาดปัญญา ไม่รู้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา เพราะยังหลงยึดติดดีชั่วอยู่ ไม่รู้ว่าความจริงมันไม่ดีไม่ชั่ว มันเป็นกลาง เป็นดินน้ำลมไฟ เราเห็นตอนที่ดินน้ำลมไฟรวมตัวเป็นนั่นเป็นนี่แล้ว เช่นร่างกายนี้ เราเห็นว่าเป็นนาย ก. นาย ข. น่ารักสวยงาม น่าเกลียดน่ากลัว แต่ไม่รู้ว่ามาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็จะกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่ว่าจะน่าเกลียดน่ากลัวน่ารักน่าชังอย่างไร จะกลับกลายเป็นดินน้ำลมไฟไปในที่สุด ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ก็จะตัดความรักความชังได้ แต่เราไม่เห็น หรือไม่เห็นอาการที่ตรงกันข้ามกัน เห็นส่วนที่สวยแต่ไม่เห็นส่วนที่ไม่สวยที่ซ้อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นส่วนที่ดีแต่ไม่เห็นส่วนที่ไม่ดีที่ซ่อนอยู่ เห็นว่าดีแต่ไม่รู้ว่าจะไม่ดีไปตลอด ทุกอย่างต้องเสื่อมต้องหมดไป ถ้าเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆแล้ว จะไม่มีอารมณ์ เราไม่ได้ศึกษาดูความจริงทั้งหมด ตั้งแต่ปรากฏขึ้นมาจนดับไป ทุกสิ่งมาจากการรวมตัวกันของดินน้ำลมไฟ แล้วสักวันหนึ่งก็จะแยกจากกันไป ศาลาหลังนี้ก็เกิดจากการเอาวัตถุต่างๆมารวมตัวกัน มาสร้างให้เป็นอย่างนี้ ทิ้งไว้สัก ๑๐๐ ปีก็จะผุพังไป
ถาม เพราะฉะนั้นถ้าเห็นอารมณ์เหล่านี้ ให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ทั้งหมดใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ต้องพิจารณาก่อนที่อารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น ต้องทำการบ้านไว้ก่อน ถ้าไม่ทำพอเกิดขึ้นมาจะไม่ทัน ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา พอเห็นแล้วจะไม่มีอารมณ์กับสิ่งต่างๆ จะไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่เกลียดเพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็ตายไปเอง ไม่อยู่ไปตลอด ไม่รักเพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องจากไป จะรู้สึกเฉยๆเป็นกลาง สักแต่ว่ารู้ รับได้หมด น่าเกลียดก็รับได้ น่ารักก็รับได้ แต่จะไม่อยากให้อยู่หรือไป ถ้ายังอยู่ก็อยู่ไป ถ้าจะไปก็ให้ไป ปัญหาอยู่ที่ใจที่ไปหลง ไปมีปฏิกิริยา เขาเป็นของเขาอยู่อย่างนี้ เราไม่เข้าใจเขาเอง เราไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอเขาไม่เป็นเราก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา
ถาม ถ้าในกรณีที่ปัญญายังไม่ทัน พอเกิดอารมณ์ สติจับได้ว่าเกิดแล้ว ค่อยใช้ปัญญาประกบ
ตอบ จะดับอารมณ์ได้ช้าถ้าไม่ซ้อมไว้ก่อน ควรฝึกไปเรื่อยๆก่อน ต่อไปปัญญาจะเร็วมาก พอเกิดปั๊บก็ดับปั๊บเลย ต่อไปจะไม่เกิดเลย เพราะถอนรากถอนโคนของต้นเหตุของอารมณ์เหล่านี้ คือความหลงได้แล้ว
ถาม ถ้าไม่มีสติไม่มีปัญญาก็หลงไปเลย
ตอบ ถ้าไม่มีสติก็เป็นคนบ้า ถ้าไม่มีปัญญาเป็นคนโง่ ไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ต้องอาศัยจิตแพทย์ ให้ยากล่อมประสาท
ถาม อย่างที่ฟังซีดีของท่านอาจารย์ ที่โยมใส่บาตรแล้วทะเลาะกัน คือตามไม่ทันแล้ว
ตอบ สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่เราสัมผัสอยู่นี้ มันเกิดดับเกิดดับ เปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่เราไม่รู้ว่ามันเปลี่ยน มันไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของเรา ที่จะไปกำหนดให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ บางทีเราก็เห็นภาพที่เราพอใจ บางทีเราก็เห็นภาพที่เราไม่พอใจ ถ้าพิจารณาจะรู้ว่าความพอใจกับความไม่พอใจมันอยู่ที่เราเอง เราไปพอใจไม่พอใจเอง เขาเป็นของเขาอยู่อย่างนี้ ของบางอย่างตอนต้นเราก็ไม่ได้ไปชอบไปอยากด้วย แต่พอมีคนมาสอนบอกว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ก็เกิดความอยากขึ้นมา แต่เราไม่รู้ว่ามันไม่มีประโยชน์กับใจของเราเลย ความจริงทุกอย่างเป็นโทษทั้งนั้น พอได้มาแล้วถึงแม้จะมีค่ามีราคาตามสมมุตินิยม เช่นเพชร ๑๐๐ กะรัต พอได้มาก็จะตื่นเต้นดีใจกันใหญ่ แต่ไม่คิดถึงว่าจะต้องดูแลรักษา กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา เอาไปไหนมาไหนด้วยก็จะโดนจี้โดนฆ่า ไม่คิดอย่างนี้เลย ไม่เห็นโทษ เห็นแต่คุณ จริงๆแล้วต้องเห็นทั้ง ๒ ส่วน ทุกอย่างมีทั้งคุณมีทั้งโทษ
ถาม ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้เอาสติตั้งไว้ที่กายเวทนาจิตธรรม เวลาตั้งสติที่เวทนาตั้งอย่างไร ช่วยขยายความ
ตอบ ดูความรู้สึก ตอนนี้เราสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ต้องดูอยู่เรื่อยๆ ว่ามันสุขมันทุกข์ไปตลอดหรือไม่ หรือว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ให้มีสติรู้ทันความรู้สึกเหล่านี้ ตอนนี้มีความรู้สึกอย่างนี้ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็รู้ไปตามความจริง อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด อย่าไปอยากให้หายไป นั่งแล้วรู้สึกเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็ให้รู้แล้วปล่อยวาง ปล่อยให้มันเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ไป ไม่ต้องไปทำอะไร อย่างนี้เรียกว่าดูด้วยสติดูด้วยปัญญา ถ้าไม่มีสติไม่มีปัญญา พอเจ็บตรงนั้นปั๊บก็ขยับเปลี่ยนท่าทันที แสดงว่าไม่ได้ดูเวทนาด้วยสติด้วยปัญญา ดูด้วยกิเลส พอมันเจ็บจะเกิดตัณหา คือวิภวตัณหาขึ้นมา ไม่อยากเจ็บขึ้นมา ก็เลยเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้จิตไม่สามารถตั้งอยู่ในอุเบกขา ตั้งอยู่ในความสงบได้ จะกลิ้งไปกลิ้งมาเหมือนลูกฟุตบอล พอเตะไปทางโน้น ก็ถูกเตะกลับมาทางนี้ พอนั่งไปแล้วเกิดทุกขเวทนาก็เปลี่ยนทันที พอเจอสุขเวทนาก็อยากให้อยู่ไปนานๆ พอหายไปก็เดือดร้อน เป็นความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าไม่อยากจะทุกข์ใจ อยากให้ใจสงบนิ่งเป็นอุเบกขา ก็ต้องปล่อยเวทนาไปตามเรื่องของเขา สุขก็รู้ว่าสุข แต่ก็รู้ว่าสุขนี้ไม่เที่ยง ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ รู้ว่าทุกข์นี้ไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ แล้วก็รู้ว่าไม่เที่ยงเหมือนกัน ปล่อยไปตามเรื่องของเขา เขาเป็นอนัตตา เราไม่สามารถไปบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้ ถ้าปล่อยวางได้ด้วยสติปัญญาก็จะไม่ทุกข์ จะเป็นเพียงอนิจจากับอนัตตา แต่จะไม่เป็นทุกข์กับเรา ถ้าไม่มีสติปัญญาก็จะเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทันที ที่ปฏิบัตินี้ก็เพื่อกำจัดตัวทุกข์ที่อยู่ในไตรลักษณ์นี่เอง ทุกข์ในไตรลักษณ์นี้เรากำจัดได้ เพราะทุกข์ในไตรลักษณ์ก็คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ ในใจเราเอง ที่เกิดจากตัณหาความอยาก พอใจไม่อยากกับเวทนาแล้ว คือปล่อยให้เวทนาเป็นไปตามเรื่องของเขา เขาจะเป็นอย่างไรก็ได้ อย่างนี้ก็จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจของเรา
ถาม ต้องพยายามให้อยู่ตรงกลางมากที่สุด ไม่ซ้ายไม่ขวา
ตอบ อุเบกขา ไม่อยาก ไม่มีภวตัณหาวิภวตัณหาหรือกามตัณหา ไม่มีความอยากกับเวทนา เวลาสุขก็ไม่ได้อยากให้สุขไปนานๆ ทุกข์ก็ไม่ได้อยากให้หายไปเร็วๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่อยากจะหนีจากหรืออยากจะเปลี่ยนให้เป็นอื่น เวลาไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่พอใจ อยากจะสุข มันก็ทุกข์แล้ว เวลาทุกข์แล้วอยากจะให้มันหาย มันก็ทุกข์แล้ว แต่ถ้ามันทุกข์แล้วเรารับมันได้ มันก็จะไม่ทุกข์ในใจ มันสุขเราก็ไม่ได้อยากให้มันอยู่ไปตลอด พอมันหายไปเราก็ไม่ทุกข์
ถาม ถ้ามาถึงตรงจุดนี้ จะได้วิปัสสนาที่จะถอดถอนตัณหา
ตอบ จะได้อริยสัจ ๔ จะเห็นอริยสัจ จะมีดวงตาเห็นธรรม การเห็นธรรมก็คือเห็นอริยสัจ ๔ สมาธิกับปัญญาเป็นเพียงเครื่องมือ ที่จะทำให้เห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคที่มีอยู่ในใจ ว่าตอนนี้ใจเรามีสมุทัยหรือมีมรรค ถ้ามีสติมีปัญญามีมรรคใจก็ไม่ทุกข์ ถ้ามีสมุทัยมีความอยากใจก็จะทุกข์ จะรู้ว่าปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ใคร แต่อยู่ที่อริยสัจ ๔ ในใจเรานี่เอง ถ้าใจอยากปั๊บก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที แล้วก็ไปโทษคนนั้นคนนี้ เช่นอยากให้สามีซื่อสัตย์กับเรา แต่เขาชอบไปหาของนอกบ้าน อย่างนี้เราก็จะทุกข์ แล้วก็จะไปโทษว่าเขาไม่ดี ความจริงเราต่างหากที่ไม่ดี เราไปทุกข์กับเขาเอง ถ้าเราปล่อยเขาไปตามเรื่อง จะซื่อสัตย์หรือไม่ก็เรื่องของเขา เราก็จะไม่ทุกข์ เราก็จะไม่แก้ปัญหาผิดจุด จะมาแก้ปัญหาที่ใจ เพราะความทุกข์เกิดจากความอยากของเราเอง ที่มันเกิดความอยากก็เพราะไม่มีปัญญาไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากนี้ มันไม่เป็นไปตามความอยากของเราเสมอไป อยากให้คนนั้นคนนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอเขาไม่เป็นก็ทุกข์ขึ้นมาทันที ปัญหาอยู่ที่เราไปอยากเขาเอง ที่เราไม่สบายใจ ไม่ใช่เพราะเขาหรอก แต่เรากลับไปโทษเขา
ถาม จะพิจารณาถึงตรงนี้ได้ สติต้องมีกำลังเข้มข้นสุดเลย ใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ถ้าทำได้ก็แสดงว่ามี ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่มี จะเข้มข้นหรือไม่ไม่สำคัญเอาความจริงเอาสันทิฐิโกนี่เป็นหลัก อย่าไปเอาทฤษฎีมาว่าต้องมีเท่านั้นเท่านี้ เอาความจริงว่าทุกข์หรือไม่ ถ้าทุกข์ก็แสดงว่ายังไม่มี ถ้าไม่ทุกข์ก็แสดงว่ามีแล้ว ถ้ายังทุกข์อยู่ก็แสดงว่าสติปัญญาไม่พอ
ถาม ถ้ายังไม่มีก็ฝึกให้มันเข้มข้นเพื่อสู้กับมัน
ตอบ อยู่ที่การปฏิบัติ แต่ไม่ชอบปฏิบัติกัน
ถาม ถ้าพิจารณาเวทนาจนข้ามเวทนาไปได้แล้ว ต้องดูอะไรต่อไป
ตอบ สบายแล้วก็อยู่เฉยๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจ็บปวดใหม่ ก็แก้มันใหม่ ทำไปจนกว่าจะไม่กลัวความเจ็บอีกต่อไป
ถาม แต่ตอนนั้นมันจะสุข
ตอบ ถ้าสุขก็อยู่เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ไป นั่งต่อไป อย่างที่หลวงตาท่านเล่าว่าต้องผ่านเวทนา ๓ ตัวด้วยกัน นั่งตลอดคืนตั้งแต่เย็นจนถึงเช้ามืด ประมาณ ๘ ชั่วโมง ท่านบอกจะผ่านเวทนา ๓ ขั้น ขั้นหนู ขั้นเป็ดไก่ แล้วก็ขั้นช้าง พอผ่านขั้นแรกไปก็จะสงบสักระยะหนึ่ง แล้วก็เริ่มเจ็บปวดขึ้นมาใหม่ จะรุนแรงกว่าขั้นแรก ก็ต้องพยายามผ่านไปให้ได้ ผ่านขั้นนี้ได้แล้วก็ไปขั้นที่ ๓ ขั้นสุดท้าย ถ้าผ่านขั้นนี้ได้แล้ว จะไม่กลัวความเจ็บปวดที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่เกิดจากความตาย
ถาม เพื่อนที่เดนมาร์คอ่านหนังสือท่านอาจารย์ ปัญหาคาใจเล่ม ๕ แล้วเขาสงสัย คือเขาอยากให้ท่านขยายความตรงที่บอกว่า เวลาเกิดเวทนาแล้วพิจารณาเรื่องอื่นได้ไหม แล้วท่านอาจารย์บอกว่าเป็นการเบี่ยงเบนจิต เขาเลยไม่แน่ใจว่า ให้พิจารณาอย่างอื่นไม่ได้เลยหรือคะ
ตอบ ได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถาวร ถ้าไปคิดเรื่องอื่นก็ทำให้เราลืมเรื่องเจ็บปวดได้ เช่นเวลานั่งดูหนังเป็นชั่วโมง ก็ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ทั้งๆที่มันก็เจ็บปวดอยู่ แต่เราไม่สนใจกับความเจ็บปวด เพราะมีเรื่องอื่นมาดึงความสนใจ เวลานั่งเล่นไพ่ทั้งคืนก็นั่งเล่นได้ แต่ให้นั่งสมาธินี้นั่งไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรให้จิตทำ จะดูแต่ความเจ็บ พอเกิดความเจ็บก็จะเกิดตัณหา อยากหนีความเจ็บทันที ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาในใจ จนทนที่จะนั่งต่อไปไม่ได้
ถาม พอเจ็บแล้ว ควรจะทำอย่างไร
ตอบ ควรพิจารณาดูว่าความเจ็บเป็นอย่างไร เจ็บจริงหรือไม่
ถาม แบบที่ท่านอาจารย์อธิบายเมื่อครู่นี้
ตอบ เช่นมันทุกข์ มันจะทุกข์ไปตลอดหรือไม่ มันเที่ยงหรือไม่ เราบังคับมันได้หรือไม่ เราสั่งให้มันหายไปได้หรือไม่ ถ้ามันไม่หายไปเราอยู่กับมันได้หรือไม่ คนอื่นเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้ พระพุทธเจ้าอยู่ได้ ครูบาอาจารย์อยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ ถ้าเราไม่ไปอยากกับมัน ก็จะไม่เป็นปัญหากับเรา จะไม่เกิดความทุกข์ใจ ถ้าอยากจะหนีมันหรืออยากจะให้มันหายไป ก็จะทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะมันยังอยู่ พิจารณาเพื่อปล่อยวาง เพื่อยอมรับความจริงของเขา เขาเป็นอย่างนี้ก็ให้เขาเป็นไป อย่าอยากให้เขาเป็นอย่างอื่น เป็นกล้วยก็อย่าไปอยากให้เป็นส้ม พออยากให้เป็นส้มขึ้นมาก็จะวุ่นวายใจ
ถาม เขาคิดว่าห้ามพิจารณาดินน้ำลมไฟ
ตอบ ไม่ได้ห้าม ทำได้ เป็นอุบายของสมาธิ เป็นการเบี่ยงเบนจิตไปเรื่องอื่น ไม่ได้พิจารณาแก้ปัญหาที่ราก คือความหลง ไปหลงคิดว่าเราเจ็บ ถ้าแยกแยะดูแล้ว จะเห็นว่าไม่มีเราอยู่ในความเจ็บนั้น มีแต่ความเจ็บกับตัวรู้เท่านั้นเอง ตัวรู้ก็ไม่ได้เจ็บ แต่กิเลสไปผูกตัวเราไว้กับเวทนา ว่าเราเจ็บ ตัวนี้ที่ต้องแก้ให้ได้ คือตัวหลงนี้ ไปหลงว่าเราเจ็บ ต้องถามว่าแล้วเราอยู่ตรงไหน ลองไล่ดู เราอยู่ตรงกระดูกหรืออยู่ที่ขนอยู่ที่เล็บอยู่ที่ฟัน อยู่ตรงไหนกันแน่ ไล่ดูไปทั้ง ๓๒ อาการ แล้วก็จะเห็นว่าไม่มีเรา ก็จะรู้ว่าตัวเรานี้เกิดจากความหลง เมื่อไม่มีเราก็จบ มีแต่ตัวรู้ รู้ตามความจริงไป คนเรามีจริตไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญญามาก รู้จักวิเคราะห์พิจารณาแยกแยะ พวกนี้พิจารณาได้เร็ว บางคนคิดไม่เป็น แยกแยะไม่เป็น ก็ต้องใช้อุบายของสมาธิไปก่อน พุทโธไปเรื่อยๆก่อน เวลาเจ็บปวดขึ้นมาก็พุทโธๆไป ไม่ให้คิดถึงความเจ็บปวด พอจิตไม่มีช่องที่จะไปอยากให้ความเจ็บหายไป ก็จะไม่ทุกข์ใจ สงบตัวลงได้ แต่เป็นการแก้ด้วยอุบายของสมาธิ ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ในใจ คือทุกข์เกิดจากสมุทัยความอยาก และทุกข์ที่ดับด้วยมรรคคือสติปัญญา ยังไม่เห็น ก็ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม ก็ยังอยู่ในขั้นโลกียะอยู่ สมาธิเป็นขั้นโลกียะ ถ้าได้ขั้นนั้นแล้วก็สบายพอควร เวลาเจ็บปวดมากๆไม่ต้องหายาแก้ปวดก็ได้ พุทโธๆไปอย่างเดียว ร่างกายจะเจ็บก็เจ็บไป แต่ใจไม่ไปเจ็บกับมันก็แล้วกัน มันก็จะไม่เจ็บมาก ถ้าพิจารณาจนเห็นอริยสัจในใจ ว่าทุกข์นี้มี ๒ ชั้น ทุกข์ที่กายแล้วก็ทุกข์ที่ใจ ทุกข์ที่กายนี้ไปห้ามเขาไม่ได้ ดับเขาไม่ได้ แต่ทุกข์ที่ใจนี้เราดับได้ เพราะใจไปอยากมัน ถ้าสอนใจไม่ให้ไปอยากให้ความทุกข์ที่กายดับไป ทุกข์ที่ใจก็ดับทันที จะเจ็บเพียงครึ่งเดียว คือเจ็บที่กายแต่ไม่เจ็บที่ใจ ใจไม่ได้อยากให้ความเจ็บกายหายไป ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง พอใจยอมก็จะสงบลง ความทุกข์ภายในใจหายไปหมด ความเจ็บปวดหายไป ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นส่วนของร่างกาย ความทุกข์ใจรุนแรงกว่าความทุกข์ของกายหลายเท่าด้วยกัน ที่พิจารณานี้เพื่อดับความทุกข์ใจ พอความทุกข์ใจไม่มีแล้ว ความทุกข์ของร่างกายนี้นิดเดียว เหมือนกับหมอฉีดยา ถ้าไม่กลัวแล้วฉีดเข้าไปเถิด มันเจ็บนิดเดียว แต่ถ้ากลัวนี้ ยังไม่ทันฉีดเลยก็ทุกข์แล้ว นี่คือการมีดวงตาเห็นธรรม เห็นทุกข์ในใจ เห็นอริยสัจ ๔ ในใจ
ไม่มีอะไรมีคุณค่ายิ่งกว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้ นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ต่อให้มีอะไรวิเศษขนาดไหนก็ตาม เราก็ยังติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาประกาศพระธรรมคำสั่งสอน พวกเราจะไม่มีทางโผล่ขึ้นมาจากน้ำได้เลย ตอนนี้เรามีโอกาสแล้ว เราจะโผล่หรือไม่ก็อยู่ที่ตัวเรา ถ้ายังอยากจะเป็นอาหารของปูของปลา ถ้ายังติดความสุขเล็กๆน้อยๆก็ตามใจ แต่อย่ามาบ่นทีหลังว่าเสียใจ ต้องพยายามละ อยู่แบบเรียบง่าย อย่าหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายมากจนเกินไป พยายามลดละไปเรื่อยๆ ตัดไปเรื่อยๆ หูตาก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ ถ้าตาไม่ดีก็ดูอะไรไม่ได้ หูไม่ดีก็ฟังอะไรไม่ได้ ตอนนั้นจะไม่ค่อยมีความสุข ถ้าไม่มีความสงบภายในใจ ถ้ามีถึงแม้ร่างกายจะพิกลพิการไป หูตาจมูกจะเสื่อมไปก็ไม่เดือดร้อน ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์มาก รักษาไว้ในใจนี่แหละดีที่สุด ถ้าอยู่ในใจแล้วจะไม่มีวันเสื่อม ไม่ว่าจะไปเกิดในภพไหน ถ้ายังต้องเกิดอยู่ ก็จะมีธรรมะหล่อเลี้ยงจิตใจ ผลักดันให้ไปในทางที่ดีเสมอ อย่างที่พวกเรามาทำบุญกันนี่ ก็เป็นเพราะธรรมะที่ได้สะสมไว้ภายในใจ ผลักดันให้มาทำกันต่อ พวกที่ไม่ได้มา พวกที่ไม่ทำบุญให้ทาน ไม่รักษาศีล ไม่ปฏิบัติธรรม เป็นพวกที่ไม่มีธรรมะอยู่ในใจ ถึงแม้ธรรมะภายนอกจะสำคัญมากเพียงไร จะเก็บรักษาไว้ดีอย่างไร ก็ไม่ดีเท่ากับการเก็บธรรมะไว้ภายในใจ ธรรมะภายนอกเราก็เก็บไป ดูแลรักษาไป แต่ไม่สำคัญเท่ากับธรรมะภายในใจ ถ้ามีธรรมะภายนอกอยู่เต็มบ้าน แต่ไม่มีอยู่ในใจ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อะไรมากระทบหน่อยก็จะวุ่นวายใจขึ้นมาทันที จึงต้องสะสมธรรมะภายในใจไว้เป็นประการสำคัญ ส่วนธรรมะภายนอกก็มีไว้สำหรับผู้อื่น ผู้ที่ยังไม่มีธรรมะภายใน จะได้อาศัยธรรมะภายนอกทำให้เกิดธรรมะภายในเกิดขึ้นมา ธรรมะนี้ก็เป็นเหมือนยา ถ้าอยู่ข้างนอกร่างกายก็ยังไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับร่างกายได้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยถ้าไม่รับประทานยา ยาก็จะไม่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้ ฉันใดโรคภัยไข้เจ็บของใจก็ต้องอาศัยธรรมโอสถ เราจึงต้องน้อมเอาธรรมโอสถเข้าสู่ใจ ด้วยการศึกษาคือปริยัติ แล้วก็ปฏิบัติ ศึกษาแล้วก็นำเอามาปฏิบัติ จนปรากฏเป็นปฏิเวธ คือเกิดผลขึ้นมา หายจากทุกข์ต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ ต้องทำทั้ง ๒ อย่าง คือปริยัติการศึกษา ฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะ แล้วก็นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ
วันนี้ก็สอนอยู่หลายเรื่อง เรื่องสติ เรื่องปัญญา เรื่องสมาธิ ขอให้เอาไปปฏิบัติ ปัญญาก็ให้พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอสุภะ พิจารณาปฏิกูล พิจารณาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ พิจารณาไปเรื่อย จนมั่นใจแล้วก็เอาไปทดสอบดูว่าปล่อยได้ไหม ปล่อยให้เป็นไปตามความจริงได้ไหม ปล่อยให้ร่างกายแก่เจ็บตายได้ไหม ปล่อยให้เวทนาเป็นไปตามเรื่องของเขาได้ไหม เขาจะสุขก็ไม่ไปอยากให้เขาสุขไปตลอด เขาจะทุกข์ก็ไม่ไปอยากให้เขาหายไปเร็วๆ ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา ถ้าทำได้แล้วใจจะเป็นอุเบกขา จะสงบ จะสักแต่ว่ารู้ รู้ว่าเป็นอย่างนี้ ไม่มีความอยาก จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป แล้วเราจะมีแต่ความสุขความสบายใจ ไม่ต้องไปแสวงหาอะไร เพราะความสุขที่แท้จริงอยู่ในใจเรานี่เอง ความสุขที่เกิดจากปริยัติและปฏิบัติจนปรากฏเป็นปฏิเวธขึ้นมา นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง อยู่ในใจเรา ไม่ต้องรวยก็ทำได้ ไม่มีเงินให้ทานก็ไม่ต้องให้ ทานมีไว้สำหรับคนที่มีเหลือกินเหลือใช้ คนที่ไม่มีเหลือกินเหลือใช้ก็ไม่ต้องให้ หมดหน้าที่ ทานมีเพื่อปลดเปลื้องความยึดติดกับทรัพย์สมบัติข้าวของต่างๆ ถ้ามีมากเกินไปก็จะเป็นเครื่องมือของกิเลสไป จะเอาเงินทองไปซื้อความสุขกัน ไปเที่ยวไปดื่มไปรับประทานกัน ถ้าไม่มีก็ต้องอยู่บ้าน กินข้าวกับไข่เจียว ก็อยู่ได้ ก็อิ่มเหมือนกัน แต่มีเวลาปฏิบัติธรรม จิตก็จะสงบระงับจากความฟุ้งซ่านต่างๆ จากความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ก็จะได้พบกับความสุขภายในใจ ไม่ต้องไปดิ้นรนหาเงินหาทองให้เสียเวลา หาได้มามากเกินไปก็ต้องเอาไปให้ทานอยู่ดี ถ้าไม่ให้ตายไปก็เป็นของคนอื่นไป เอาไปไม่ได้ หามาทำไม ไม่คิดกันบ้าง หาสิ่งที่เราเอาติดตัวไปได้ หาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับใจสิ ด้วยการให้ทาน ถ้ามีเงินทองเหลือเฟือ ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา เจริญสติสมาธิปัญญา อยู่ตรงนี้หน้าที่ของเรา เกิดมาถ้าไม่ได้ทำอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็เสียชาติเกิด ขาดทุน ไม่มีชาติไหนที่จะดีเท่ากับชาตินี้ ภพของมนุษย์นี้เป็นภพเดียวเท่านั้นที่จะปฏิบัติธรรมจนหลุดพ้นได้ ต้องอยู่ในยุคที่มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่ด้วย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ในช่วงที่ไม่มีพระธรรมคำสอน ก็จะไม่สามารถปฏิบัติจนหลุดพ้นได้ ปฏิบัติได้เต็มที่ก็แค่สวรรค์ชั้นพรหม ได้แค่ฌานสมาบัติเท่านั้นเอง
ตอนนี้เราเป็นมนุษย์เราปฏิบัติได้ มีแสงสว่างแห่งธรรม คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านำทาง ถ้าไม่ใช้โอกาสนี้ตักตวงประโยชน์ ก็จะเสียโอกาสที่มีค่าอย่างยิ่งไป ไม่รู้ว่าจะได้พบกับโอกาสอย่างนี้อีกเมื่อไหร่ ทรงตรัสไว้ว่า ไม่ใช่เป็นของง่ายที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นของง่ายในการดำรงชีพของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นของง่ายในการได้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เป็นของง่ายในการปรากฏของพระธรรมคำสอน เป็นของยากทั้งนั้น วันนี้เราได้พบกับของยากนี้แล้ว เป็นเหมือนถูกรางวัลที่ ๑ แล้ว ถ้าไม่ไปขึ้นเงินก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร พวกเราถูกรางวัลที่ ๑ กันแล้ว ได้เป็นมนุษย์แล้ว ได้พบพระธรรมคำสอนแล้ว ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ได้ดำรงชีวิตของมนุษย์อยู่ได้ ตอนนี้เรามีปัจจัยครบถ้วนบริบูรณ์ ที่จะเอื้อต่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ถ้าไม่ไปขึ้นรางวัลก็ไม่มีใครว่า แต่อย่าไปโทษใครก็แล้วกัน โทษความโง่ของเราเอง เหมือนกับไก่ได้พลอย ไม่รู้จะเอาพลอยไปทำอะไร ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้มาเจอพระพุทธศาสนา แต่ไม่ตักตวงประโยชน์ กลับไปหาไส้เดือนตัวหนอน ในรูปแบบของรูปเสียงกลิ่นรส ในรูปแบบของลาภยศสรรเสริญ แล้วก็แบกความทุกข์ของสิ่งเหล่านี้ไปจนวันตาย พยายามก้าวไป ทุกข์ยากลำบากอย่างไร ก็ควรดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดูครูบาอาจารย์ทั้งหลายเป็นตัวอย่าง ที่ต้องทุกข์ยากลำบาก ออกจากบ้านจากเรือน ไปอยู่ในป่าในเขา ห่างไกลความสุขความสบาย แต่สิ่งที่ท่านได้มานี้มันวิเศษกว่าสิ่งที่ท่านจากไปตัดไปทิ้งไป ท่านได้สิ่งที่เลิศกว่าหลาย ๑๐๐๐ เท่า ถ้าไม่ตัดก็จะไม่สามารถได้สิ่งที่วิเศษกว่า ขอให้พยายามต่อสู้ พยายามปฏิบัติ พยายามทำให้มาก
ถาม ปฏิบัติไปมากเท่าไหร่ ถึงจะต้องเข้าห้องสอบ
ตอบ เหมือนเรียนหนังสือ เรียนแล้วก็ต้องไปเข้าห้องสอบ หรือรอให้ห้องสอบมาหาก็ได้ เช่นรอให้เกิดมีปัญหาขึ้นมาแล้วฟันฝ่ามันไป สูญเสียสิ่งที่รักไปแล้วใจยังเป็นปกติอยู่หรือไม่ หรือเป็นบ้าเป็นบอไป เสียสติไป มีเหตุการณ์ต่างๆเป็นข้อสอบ ถ้าใจร้อนก็ไปหาข้อสอบเอง อย่างพระป่าทั้งหลาย ท่านไปหาข้อสอบเอง ไม่รอให้ข้อสอบมาหา พวกเรารอให้ความแก่ความเจ็บความตายมาหากัน แต่ท่านไม่รอ ท่านไปหาความเจ็บความตาย ไปหาความทุกข์ความลำบากกัน เพื่อทดสอบดูว่าใจของท่านอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้หรือไม่
ถาม อย่างที่ท่านอาจารย์ให้ไปทดสอบในป่าช้า
ตอบ ถามตัวเราเองว่าเรากลัวไหม สิ่งใดที่เรากลัวก็ต้องไปหาสิ่งนั้น
ถาม ถ้าเราคิดว่าเราไม่กลัว เราก็ไม่ต้องไปทดสอบ
ตอบ เราโกหกตัวเองหรือเปล่า โกหกตัวเองร้ายแรงกว่าโกหกคนอื่นนะ เพราะเราเป็นผู้รับโทษรับผล ถ้าเราว่าเราไม่กลัว ก็ต้องไปพิสูจน์ดู ว่าไม่กลัวจริงหรือเปล่า
ถาม ลูกถึงกราบเรียนถามว่า ถ้าเราคิดว่าเราไม่กลัว ก็ไม่ต้องทดสอบ
ตอบ จะไม่รู้ว่าไม่กลัวจริงหรือเปล่า เพราะยังไม่เจอของจริง เรารักสิ่งใดเราตัดได้หรือเปล่า ให้คนอื่นไปได้หรือเปล่า เรากลัวอะไรเราเข้าหาสิ่งที่เรากลัวได้หรือเปล่า กลัวความเหงาความว้าเหว่อยู่คนเดียวได้หรือเปล่า อยากกินนั่นกินนี่เราตัดได้หรือเปล่า สิ่งที่เราอยากเราชอบก็ต้องละ สิ่งที่เราไม่อยากไม่ชอบก็ต้องรับมันให้ได้
ถาม เวลาภาวนามาถึงขั้นกายเบาใจเบา จะมีความรู้สึกหดเข้ามา แล้วก็คาอยู่ตรงนั้น ไม่หดปุ๊บ
ตอบ อย่าไปดูตรงนั้น เราดูตรงกรรมฐานที่เราใช้เป็นตัวพาเข้าไป เราใช้อะไรอยู่ ใช้พุทโธหรือใช้อะไร
ถาม ตอนแรกใช้อานาปานสติ
ตอบ กลับไปดูที่อานาปานสติ อย่าไปสนใจเรื่องอื่น ถ้าดูตัวนั้นมันจะไม่เข้า ให้ดูที่ลมไปเรื่อยๆ ดูที่อานาปานสติไปเรื่อยๆ อย่าไปดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าดูก็จะไม่ได้ดูกรรมฐานที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา จะไม่ก้าวหน้า จะติดอยู่ตรงนั้น ถ้าอยู่กับลมอย่างเดียวเดี๋ยวก็เข้าไป พอไม่ดูลมก็จะติดอยู่ตรงนั้น
ถาม ตอนนั้นหนูคิดว่า ถ้าหยุดจากลมแล้วมันจะวาง
ตอบ ดูที่ลมอย่างเดียว อย่าไปดูอย่างอื่น
ถาม ไม่ต้องสนใจผล ทำเหตุให้สมบรูณ์ เมื่อเหตุสมบรูณ์แล้วผลจะตามมาเอง
ตอบ เหมือนนั่งอยู่ในรถ ให้ถึงที่ก่อนแล้วค่อยลงจากรถ อย่าลงจากรถกลางทาง อย่าหยุดรถกลางทาง ให้รถวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทาง รถก็คืออานาปานสติ ให้อยู่กับอานาปานสติไปจนจิตรวมลง แล้วอานาปานสติก็จะหมดหน้าที่หายไปเอง
ถาม ให้นิ่งเฉยอยู่ตรงนั้นไป
ตอบ ตอนนั้นจะไม่อยากไปไหนแล้ว อยากอยู่ตรงนั้นนานๆ เพราะมันสุขเหลือเกิน
ถาม สุขตรงนั้นต้องนานขนาดไหนหรือแล้วแต่
ตอบ ใหม่ๆก็แค่นกกระจอกกินน้ำ เรียกว่าขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะเดียว วูบแล้วก็ถอนออกมา ถ้าอยู่นานก็เป็นอัปปนาสมาธิ
ถาม อุปจารสมาธิเป็นอย่างไร
ตอบ อุปจารสมาธิเป็นอีกอย่างหนึ่ง จิตรวมแล้วถอยออกมาหน่อย เข้าไปก่อนแล้วถอยออกมาเห็นมารับรู้เรื่องราวต่างๆ เรื่องกายทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ อิทธิฤทธิ์ จะอยู่ในขั้นอุปจาระ
ถาม ขณิกสมาธิกับอัปปนาสมาธิ ต่างกันที่ระยะเวลา
ตอบ รวมเหมือนกัน รวมแป๊บเดียวก็ขณิกะ รวมนานก็อัปปนา ถ้ารวมแป๊บเดียวแล้วถอยออกมาหน่อย แล้วไปรู้เรื่องต่างๆก็อุปจาร
ถาม ถ้าฝันแล้วเป็นจริง
ตอบ ให้ใช้ปัญญาวิเคราะห์แยกแยะ เพราะสิ่งที่เห็นเป็นข้อมูลดิบ มีทั้งจริงและไม่จริง มีทั้งคุณมีทั้งโทษ ถ้าไม่มีปัญญาก็อย่าไปสนใจ รู้แล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปวิเคราะห์ ถ้าวิเคราะห์ตามกิเลสก็จะคิดว่าเราวิเศษ สิ้นกิเลส เป็นอริยะแล้ว ให้รู้ไว้เฉยๆ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ อย่าไปวิเคราะห์ จนกว่าจะมีข้อพิสูจน์ว่าเป็นอย่างนี้จริง
ถาม ถ้าเรารู้ล่วงหน้า เราจะแก้ไม่ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้หรอก เพราะเป็นเรื่องของบุญของกรรม
ถาม ถ้าสมมุติว่าทำได้ จะเป็นกรรมกับเราหรือเปล่าคะ
ตอบ ไม่มีใครห้ามวิบากกรรมได้ อย่างมากก็คือแค่เลื่อนเวลาออกไป แต่เมื่อถึงเวลากรรมก็จะให้ผลอยู่ดี อย่างพระอรหันต์ที่มีฤทธิ์มีเดช แต่ท่านไม่ใช้ฤทธิ์เดชเพื่อป้องกันวิบากกรรม ท่านบอกว่าหนีได้วันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ตามมาใหม่อยู่ดี เป็นเหมือนเงาตามตัว ใจของท่านไม่ยึดติดกับร่างกายแล้ว ไม่กลัวความตายแล้ว พร้อมให้มันไปเสมอ ก็เลยอยู่เฉยๆดีกว่า สบายใจกว่า ถ้าคอยหนีก็ต้องวุ่นวายอยู่กับการหนีอยู่เรื่อยๆ อย่าไปติดอย่าไปชอบกับสิ่งที่รู้ที่เห็น เพราะไม่ใช่ทาง ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่มรรค ถ้าติดแล้วจะเสียเวลาไปเปล่าๆ จะไม่ได้เจริญวิปัสสนา ไม่ได้พิจารณาไตรลักษณ์ มัวเล่นกับสิ่งเหล่านี้ พอเห็นอะไรก็จะไปเล่นกับมัน ไปแก้มัน ไปช่วยคนนั้นช่วยคนนี้ ทำโน่นทำนี่ จนกลายเป็นหมอดูไปก็ได้ ไม่ภาวนาแล้ว เป็นหมอดูดีกว่า ใครมีปัญหาอะไรก็ดูให้เขาแก้ให้เขาไป กิเลสในใจกลับมีมากขึ้น เพราะเกิดความโลภ มีรายได้ก็อยากจะให้ลูกค้ามาบ่อยๆ
ถาม พอเกิดเวทนาเราอยู่กับพุทโธๆ อย่างนี้เป็นสมถภาวนา ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์ในเวทนา อย่างนี้เป็นปัญญา
ตอบ ใช่
ถาม ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์ในเวทนา ก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธๆ
ตอบ ให้พิจารณาไตรลักษณ์อย่างนี้ เวลาฝนตกเราหยุดมันได้หรือไม่ ถ้าหยุดไม่ได้ แต่อยากจะให้หยุด ก็จะทุกข์ทรมานใจ ถ้ายอมรับว่าจะตกก็ตกไป ก็จะสบายใจ เวทนาก็เหมือนกัน ยอมรับมันได้หรือไม่ ถ้ายอมรับได้ ปล่อยให้มันเป็นไป ไม่อยากให้มันหายไป ใจก็สงบไม่วุ่นวาย นิ่งเป็นอุเบกขา
ถาม อุเบกขาที่ว่านี้ คือทนดูมันไปเรื่อยๆ
ตอบ ไม่ทน สักแต่ว่ารู้ มีความสบาย ถ้าทนแสดงว่ายังทุกข์ทรมานอยู่ นี่ไม่ต้อง ถ้าปล่อยเขาไป อยากจะเป็นอย่างนั้นก็เป็นไป ใจไม่เดือดร้อน
ถาม ถ้ายังต้องทนดูมันอยู่
ตอบ แสดงว่ายังไม่ได้ใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาวิเคราะห์แล้ว จะดับความทุกข์ทรมานใจได้
ถาม ยังไม่ได้เข้ามรรค
ตอบ ยังไม่ได้เจริญมรรค ยังไม่เห็นสมุทัย คือความอยาก ที่อยากจะให้มันหาย พอเห็นแล้วว่าปัญหาอยู่ที่อยากให้มันหาย ที่ทำให้กระวนกระวายกระสับกระส่าย พอยอมรับว่าจะเจ็บก็เจ็บไป ใจก็หายกระสับกระส่ายกระวนกระวาย นิ่งสบาย เป็นอุเบกขา จะเป็นได้ ๒ ลักษณะ แบบที่เวทนายังมีอยู่ แต่ใจไม่ทุกข์ หรือแบบที่เวทนาหายไปเลย ส่วนใจรวมลงสู่อัปปนา เหลือสักแต่ว่ารู้อยู่อย่างเดียว เป็นได้ ๒ ลักษณะ จะเป็นอย่างไหนก็ได้ จะเห็นอริยสัจขึ้นมาในใจ ว่าอยู่ในใจเรานี่เอง ต่อไปก็จะพยายามควบคุมความอยาก ไม่ให้ไปอยากกับอะไร ยินดีตามมีตามเกิด ก็จะไม่ทุกข์
ถาม นี่คือการเจริญมรรค เพื่อเห็นทุกข์กับสมุทัย
ตอบ เห็นทุกข์เห็นสมุทัย เห็นนิโรธเห็นมรรค จะเห็นหมดเลยทั้ง ๔ สัจจะนี้ ที่ทำงานพร้อมกัน แต่เวลาแสดงก็ต้องแสดงทีละสัจจะ ความจริงทำงานพร้อมกันไปเลย
ถาม ถ้ายังต้องทนอยู่ก็ต้องมีอุบายให้ผ่านตรงนี้ไปให้ได้ ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็ไม่ใช่มรรค
ตอบ การทนก็คือการบังคับใจ ไม่ให้หนีจาก แต่ยังไม่ได้ถอดรหัสคือ ความอยากให้หายไป ต้องถอดตัวนี้ให้ได้ ถ้าไม่มีความอดทนก็จะไม่สามารถใช้ปัญญาถอดรหัสนี้ได้ ต้องทนไปก่อน เจ็บก็ทนเจ็บไปก่อน ไม่เป็นไร ตอนที่หาอุบายวิธีแก้ความเจ็บ จนกว่าปัญญาจะเห็นว่าเวทนาเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา บังคับเขาไม่ได้
ถาม ช่วยขยายความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา
ตอบ ความจริงร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา เหมือนกับร่างกายของอาตมานี้ ไม่ใช่ร่างกายของโยม อย่างนี้เห็นได้ชัด ใช่ไหม เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ได้เป็นของโยม แต่โยมไม่เห็นร่างกายของโยม ว่าไม่ได้เป็นของโยม เพราะยังแยกใจออกจากกายไม่ได้ ถ้าจิตรวมลงก็จะเห็นว่าจิตเป็นตัวหนึ่ง กายเป็นตัวหนึ่ง
ถาม ถ้าพิจารณาไปว่า มันเจ็บที่ขา ไม่ได้เจ็บที่ใจ เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาอนัตตาไหมคะ
ตอบ เป็นการพิจารณากายเวทนา ถ้าเป็นอนัตตาก็เป็นเหมือนฝนตกแดดออก เป็นสภาวธรรมเป็นปรากฏการณ์ภายนอก เวทนาเป็นปรากฏการณ์ภายใน แต่ก็ไม่ต่างกัน คือบังคับเขาไม่ได้ ไปสั่งให้หายไปไม่ได้ สั่งให้เกิดขึ้นมาไม่ได้ สั่งให้สุขเวทนาเกิดขึ้นมาไม่ได้ สั่งให้ทุกขเวทนาหายไปไม่ได้ เหมือนกับสั่งฝนไม่ได้ เมื่อสั่งไม่ได้ก็อย่าไปสั่ง ยอมความจริง ก็จะดับความทุกข์ภายในใจได้ อนัตตาคือไม่มีใครเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นของเราๆก็ต้องสั่งได้ เช่นร่างกายนี้ส่วนใหญ่เราก็พอสั่งมันได้ เช่นสั่งให้มันยกมือมันก็ยกมือ สั่งให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวามันก็ทำตาม แต่สั่งได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เวลาเป็นอัมพาตจะสั่งให้ขยับมันก็ไม่ทำตามสั่ง ทีนี้เรายังไม่เห็นตอนนั้นเห็นแต่ตอนที่สั่งได้ จึงคิดว่าเป็นตัวเราของเรา เรามองแต่ส่วนที่โมหะความหลงชอบมอง มองแต่ส่วนที่คิดว่าเป็นตัวเราของเรา ที่สั่งมันได้ สั่งให้ความสุขกับเรา จึงคิดว่ามีชีวิตอยู่ดีกว่าตาย ความจริงตายมันดีกว่า เพราะไม่ต้องคอยดูแลรักษา แต่ความหลงจะเห็นว่ามีร่างกายนี้ดี ไม่เห็นความทุกข์ ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา ถ้าเห็นแล้วจะไม่อยากมีร่างกาย ถ้ายังมีร่างกายอยู่ ถ้ายังใช้ประโยชน์ได้ ก็ใช้ไป ถึงแม้มันจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์กับใจก็ไม่เป็นปัญหา ปล่อยให้อยู่ไป ไม่ต้องฆ่ามัน ผู้ที่บรรลุธรรมจริงไม่ฆ่าตัวตาย ผู้ที่คิดว่าบรรลุจะคิดฆ่าตัวตายได้
ถาม เวลาพิจารณานี่จะดูกายกับจิตไปพร้อมกัน เวลาทุกข์ก็ดูทุกข์ในจิตและทุกข์ในกาย เคยแยกว่ากายกับจิตเป็นคนละส่วนกัน แยกอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ไม่ได้แยกอย่างเดียว ดูไปด้วย อย่างกายก็ดูว่าเป็นส่วนประกอบของธาตุ บางทีก็ดูว่าไม่สวยไม่งาม แต่จดจำจากในหนังสือมา จากการฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์ แล้วก็ดูว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไม่เห็นอะไร อยู่มาวันหนึ่งไปล้างป่าช้า ได้ไปดูโครงกระดูกจริงๆ แล้วก็ไปดูศพสดๆ ดูตอนที่หนอนขึ้นแล้ว ตัดเป็นชิ้นๆแล้ว ดูน้ำเหลืองแล้วก็จับกระดูกขึ้นมาดู ตอนกลับมาก็มีความกลัว แล้วก็ดูว่าสุดท้ายก็ไม่เหลืออะไร เหลือแค่กระดูก ทุกคนจะเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด สักพักหนึ่งก็จะหดเข้ามาข้างใน เห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละส่วนกัน สักพักหนึ่งก็จะปล่อย แล้วก็สบายไปหมดเลย
ตอบ ไม่มีอารมณ์กับสิ่งที่เราดู
ถาม ไม่รู้สึกอะไร แต่เป็นอยู่ไม่นาน ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะเป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ไม่รู้ว่าเอาสัญญาขึ้นมาพิจารณาบ่อยๆได้ไหมเจ้าคะ
ตอบ ต้องใช้สัญญาไปก่อน เป็นเครื่องดับกิเลส เวลามีปัญหากับใคร เราก็เอาความรู้นี้มาดับได้ ถ้าห่วงกังวลกลัวเขาจะตายจากเรา ก็เอานี้มาใช้ จะดับความกังวลได้ ในที่สุดเขาก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไปหลงรักใคร ก็ดูความไม่สวยไม่งามของร่างกาย ก็จะคลายความหลงความรักได้
ถาม ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถูกแล้วใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ทำอย่างนี้เป็นการทำการบ้าน พอกิเลสออกมาก็ต้องเอาความรู้นี้มาดับกิเลสให้ได้
ถาม เดี๋ยวนี้ความรู้สึกจะอยู่ตรงนี้ เวลามองไปก็จะคิดว่าทุกอย่างออกมาจากจิต ร่างกายไม่มีความหมายอะไรเลย ทุกอย่างเราไปให้ความหมายเขาหมด พอคิดอย่างนี้ก็จะหดเข้ามาแล้วนิ่งสบาย อย่างนี้ถูกไหมเจ้าคะ
ตอบ ถูกต้อง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเห็นร่างกายของใคร ในสภาพไหน ต้องมีปัญญามาแก้ให้ได้ ไม่ให้ไปหลงรักยินดีหรือเกลียดชัง
ถาม บางคนบอกต้องเห็นเหมือนตาเนื้อเห็น เห็นจริงๆในสมาธิ ต้องเห็นเป็นร่างขึ้นมาจนสลายไป หนูไม่เห็นอย่างนั้น เพียงแต่เข้าใจ
ตอบ เห็นแบบไหนก็ได้ ถ้าดับกิเลสได้ ก็ใช้ได้
ถาม ทุกครั้งที่พิจารณา พอเข้าใจปั๊บจิตก็จะนิ่งสบาย ไม่มีร่างกาย เป็นอยู่แค่แป๊บเดียว แล้วก็ถอยออกมา ถูกไหมเจ้าคะ
ตอบ ถูกแล้ว ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนมั่นใจว่าไม่มีอารมณ์กับร่างกายเหลืออยู่เลย ไม่ว่าของเราหรือของคนอื่น ไม่ว่าจะแก่จะเจ็บหรือจะตาย ไม่เห็นว่าสวยงามน่ารักน่ายินดี อย่างนี้ก็ใช้ได้
ถาม ยังมีอารมณ์ที่กระเพื่อมอยู่ในจิต ที่ต้องคอยดู
ตอบ ยังมีกิเลสชนิดอื่นอยู่ ที่ไม่เกี่ยวกับร่างกาย ต้องถามว่าเรากระเพื่อมกับเรื่องอะไร ต้องมีเหตุทำให้กระเพื่อม วิเคราะห์ดูว่าอะไรที่ทำให้จิตกระเพื่อม แล้วก็ใช้ไตรลักษณ์เข้าไปดับ ต้องเห็นว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์เหมือนกันหมด ไปยุ่งกับเขาไม่ได้ เราไปยุ่งเอง ถ้าจิตกระเพื่อมแสดงว่ายังมีได้มีเสียกับสิ่งนั้นอยู่ ยังมีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้อยู่ ต้องใช้ไตรลักษณ์เข้าไปดับ ว่าเขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา เราไปอยากไม่ได้ พออยากแล้วจะทำให้ใจกระเพื่อมขึ้นมา พอเข้าใจแล้วก็จะปล่อยวาง ก็จะหายกระเพื่อม