กัณฑ์ที่ ๓๙๘        ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒

 

การลงทุนที่ดีที่สุด

 

 

 

งานสำคัญของพวกเราก็คืองานดับทุกข์ เพราะการได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด ภพของมนุษย์นี้เปรียบเหมือนเพชรนิลจินดา ที่มีคุณค่ามาก เราจึงไม่ควรเอาเพชรนิลจินดาไปแลกกับก้อนหินก้อนกรวด ควรจะเอาไปแลกกับสิ่งที่มีคุณค่าพอๆกันหรือดีกว่า สิ่งเดียวที่ดีกว่าหรือพอๆกัน ก็คือมรรคผลนิพพาน ส่วนลาภยศสรรเสริญสุขนี้เป็นเหมือนก้อนหินก้อนกรวด ที่ไม่มีคุณค่าทางจิตใจ แต่กลับจะทำให้จิตใจมีความทุกข์มากขึ้น ไม่ได้มีน้อยลงไป ความสุขที่ได้ไม่คุ้มกับความทุกข์ที่ได้มา ถ้าอยากเป็นนักลงทุนที่ฉลาด ก็ต้องเลือกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดี ให้เงินปันผลดี มีคุณค่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จึงจะเป็นการลงทุนที่กำไร ชีวิตของเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราให้เวลากับสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ ก็จะเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด ถ้าให้เวลากับสิ่งที่ให้ความทุกข์ให้โทษกับจิตใจ ทำให้จิตใจเสื่อมลงต่ำลง ทำให้จิตใจเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพต่างๆ ก็จะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับภพชาติของมนุษย์ ภพชาติของมนุษย์นี้เหมาะกับการประพฤติปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ เพื่อมรรคผลนิพพาน ถ้าเราใช้เวลาไปกับภารกิจนี้ ก็ไม่ต้องกังวลกับภารกิจอื่น นอกจากจำเป็นจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับเราจริงๆ เช่นบุคคลที่มีพระคุณกับเรา ถ้าเขาเป็นอะไรไป เราต้องไปงานของเขา อย่างนี้ก็ไปได้ แต่ถ้าเป็นแบบสังคม แบบรู้จักกัน ถ้าต้องเสียเวลาของการปฏิบัติเพื่อไปงานอย่างนี้ ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ นี่พูดถึงนักปฏิบัตินักบวช พวกนี้ควรจะให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติมากกว่างานอื่น

 

ถ้าบวชแล้วหรือเป็นนักปฏิบัติ ที่ไม่ได้โกนหัวห่มผ้าเหลืองผ้าขาว ก็ควรเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่กับการปฏิบัติ ให้มากกว่าการไปทำภารกิจอย่างอื่น ที่ทำไปมากน้อยเพียงไร ก็ไม่ได้ทำให้ภาวะของจิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ภพชาติความทุกข์น้อยลงไป ต้องแน่วแน่ต่อการปฏิบัติ ให้เวลากับการปฏิบัติให้มาก จนได้เต็มที่เลย ถ้ายังมีภารกิจด้านอื่นอยู่ ก็ควรพยายามตัดให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ภารกิจที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ควรจะตัดไปเลย เอาเวลาที่ใช้กับสิ่งเหล่านี้มาใช้กับการปฏิบัติจะดีกว่า ดูหนังดูละคร ๒ ชั่วโมงสู้นั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมงไม่ได้ มีคุณค่าแตกต่างกันมาก ถ้ามองถึงผลที่จะได้ทางจิตใจ แต่ถ้ามองทางด้านอารมณ์ที่จะได้ คือความสุขที่ได้จากการดูหนัง ก็จะคิดว่าดูหนัง ๒ ชั่วโมงมีความสุขมีความเพลิดเพลินดี ดีกว่านั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง ที่ต้องทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ ใจก็ทุกข์ไม่อยากนั่ง เพราะอยากจะทำอย่างอื่น ร่างกายก็เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แต่ถ้านั่งแล้วได้ผล จิตสงบลง ปล่อยวางความเจ็บปวดของร่างกายได้ ก็จะได้สิ่งที่ดีกว่าการดูหนัง เพราะต้องมีวันเบื่อ หรือดูจนไม่มีอะไรจะให้ดู ก็จะหงุดหงิดไม่มีความสุข แต่ถ้านั่งสมาธิจนติดเป็นนิสัยแล้ว เวลานั่งแล้วสุขสงบเย็นสบายอิ่มเอิบใจ ก็จะนั่งไปได้เรื่อยๆ ไม่มีคำว่าเบื่อ ถ้านั่งจนติดเป็นนิสัยแล้ว จะยินดีกับการนั่ง อยากจะนั่งให้มาก ถ้านั่งแล้วเมื่อยจริงๆก็ควรลุกขึ้นมาเดิน ทำสมาธิต่อเหมือนตอนที่นั่ง เพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งมาเดินแทน เวลาเดินถ้ากำหนดดูลมหายใจไม่ค่อยจะถนัด ก็เปลี่ยนกรรมฐานเครื่องควบคุมใจได้ เปลี่ยนจากลมหายใจ มาเป็นการบริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ หรือดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย คือเท้าที่กำลังก้าวอยู่ เวลาก้าวเท้าซ้ายเท้าขวา ก็กำหนดซ้ายขวาซ้ายขวาไป

 

เป้าหมายของการนั่งสมาธิ ก็เพื่อควบคุมความคิด ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อยไปตามกระแสของอารมณ์ที่มีอยู่ภายในใจ ที่คอยผลักดันให้ไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่เจริญสติไม่ทำสมาธิ อารมณ์จะฉุดลากใจให้คิดทั้งวันทั้งคืน จนเหน็ดเหนื่อยฟุ้งซ่าน ไม่สบายอกไม่สบายใจ นานๆจะมีความสุขสักครั้ง ถ้าคิดไปในทางธรรมะ แต่ส่วนใหญ่ใจของพวกเรา ที่ถูกอำนาจของกิเลสฉุดลากให้คิด จะคิดไปในทางโลภในทางโกรธ ในทางอยากได้อยากมีอยากเป็น ในทางหวาดกลัวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก็ดีหรือกำลังเกิดขึ้นก็ดี ทำให้ใจหวั่นไหวสับสนอลหม่านอยู่ตลอดเวลา ถ้าได้ทำสมาธิได้เจริญสติ ควบคุมใจให้อยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เวลานั่งเวลาเดินเวลายืน ก็กำหนดให้อยู่กับกรรมฐาน ก็จะไม่สามารถไปคิดเรื่องอื่นได้ เพราะการกำหนดกรรมฐานเป็นการบังคับใจไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้บริกรรมพุทโธๆ หรือกำหนดดูเท้าเวลาที่เดินจงกรม ซ้ายขวาซ้ายขวาไป ใจก็จะค่อยๆสงบลง เพราะการเจริญกรรมฐานไม่ได้สร้างอารมณ์ต่างๆให้เกิดขึ้นมา แต่จะทำให้อารมณ์ต่างๆสงบตัวลง ใจจะเย็นสบายลงไปตามลำดับ จะมีความสุขมากขึ้นไปตามลำดับ แล้วก็จะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนี้ไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่อยู่ที่ใจของเรา ความสุขที่ดีที่สุดอยู่ที่ใจที่สงบนี่เอง นี่คือเป้าหมายของการทำสมาธิ เพื่อควบคุมไม่ให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย

 

ใจก็เปรียบเหมือนกับสัตว์ชนิดหนึ่งเช่นม้าป่า ที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม ก่อนจะเอามาใช้งานได้ ต้องฝึกทรมานจนอยู่ภายใต้คำสั่งของผู้ขี่ ถ้าสั่งให้ไปซ้ายกลับไปขวา สั่งให้เดินหน้ากลับถอยหลัง ก็ยังใช้งานไม่ได้ ต้องทรมานจนม้าทำตามคำสั่ง ถ้าไม่ทำก็ต้องลงโทษ เฆี่ยนตีบ้าง ไม่ให้กินอาหารบ้าง ม้าก็จะรู้ว่าถ้ายังดื้ออยู่ ยังทำอะไรตามอำเภอใจอยู่ ก็จะถูกลงโทษ แต่ถ้าทำตามคำสั่งก็จะได้รางวัล ได้น้ำได้อาหาร ก็จะรู้ว่าการทำตามคำสั่งเป็นประโยชน์ ม้าก็จะยอม พออยู่ภายใต้คำสั่งแล้ว ก็ไม่ต้องทรมานม้าอีกต่อไป  ใจก็เช่นเดียวกัน ถ้าฝึกจนหยุดคิดได้แล้ว อยู่ภายใต้คำสั่งแล้ว จะเห็นว่าเป็นความสุขจริงๆ เป็นความสุขอย่างยิ่ง เป็นความสุขที่ดีกว่าการดูหนัง หรือคุยกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย จะเห็นความแตกต่างกัน จะเห็นคุณค่าของการภาวนาทำจิตใจให้สงบ ก็ไม่ต้องบังคับกันแล้ว ตอนทำใหม่ๆต้องบังคับต้องมีตารางต้องมีเวลา เช่นวันหนึ่งจะต้องทำกี่ครั้ง ทำนานเท่าไหร่ แต่พอเห็นคุณค่าของความสงบที่ปรากฏขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ต้องกำหนดตาราง มีแต่จะอยากทำให้มาก เหมือนกับทำงานแล้วได้เงินเดือน ถ้าทำแล้วไม่ได้รับเงินเดือน ก็จะรู้สึกท้อแท้ ไม่อยากจะทำ แต่พอได้รับเงินเดือนแล้วก็อยากจะทำมากขึ้น อยากจะทำให้ดีที่สุด เพื่อจะได้เงินเดือนมากขึ้น

 

ฉันใดการทำงานของใจก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่เห็นผล ใจยังไม่สงบ นั่งแล้วรู้สึกอึดอัด เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ ทนนั่งต่อไปไม่ได้ ก็จะไม่มีกำลังใจ พอลุกขึ้นก็ไปเปิดโทรทัศน์ดูทันที เปิดตู้เย็นหาอะไรมาดื่มมารับประทานทันที อย่างนี้แทบจะไม่ต้องบังคับกันเลย เพราะเห็นผลแล้วว่ามีความสุข แต่ไม่รู้ว่าเป็นความสุขที่มีความทุกข์ตามมา เพราะต้องหามันอยู่เรื่อยๆ ต้องอาศัยมันอยู่เรื่อยๆ เวลาไม่ได้ดูโทรทัศน์ ไม่ได้รับประทานของในตู้เย็น ก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ ตรงนี้ที่มองไม่เห็นกัน เพราะกลัวความหงุดหงิดนี้ จึงต้องเตรียมของกินของดื่มไว้ในตู้เย็นไม่ให้ขาด ต้องหมดเวลากับการไปหาเงินหาทอง ไปทำงานทำการ ก็จะไม่มีเวลานั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ ภพชาติมนุษย์นี้ก็จะหมดไปกับการหาเงินหาทอง หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่มีโอกาสที่จะออกจากวงจรอุบาทว์นี้ได้เลย นอกจากพวกที่มีบุญเก่า  มีเพื่อนฝูงชวนไปปฏิบัติธรรม ไปอยู่ตามสถานที่ที่เหมาะกับการปฏิบัติ มีครูบาอาจารย์คอยสอน คอยแนะแนวทาง คอยให้กำลังใจ ที่จะมีโอกาสหลุดออกจากวงจรอุบาทว์ ของการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวเรา ที่ต้องพยายามผลักดันตัวเราเอง ถ้าไม่มีใครชวน ไม่มีตารางกำหนดไปวัด อย่างที่พวกเรากำหนดกันเดือนละครั้ง ก็ต้องกำหนดขึ้นมาเอง อย่ารอให้ผู้อื่นดึงเราไป

 

เมื่อเรารู้แล้วว่าชีวิตของเรา ไม่ควรหมดไปกับการแสวงหาก้อนหินก้อนกรวด แต่ควรจะหมดไปกับการแสวงหามรรคผลนิพพาน เราก็ต้องมุ่งไปในทางนี้ ไปสู่การศึกษาปฏิบัติธรรม มีเวลาว่างก็ควรฟังเทศน์ฟังธรรม ในเบื้องต้นนี้ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนก่อน เพื่อจะได้รู้ทิศทางที่จะต้องไป จะได้ไม่หลงทาง ถ้าไม่ศึกษาทิศทางก่อน ออกเดินทางเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าจะไปทางไหน แต่ถ้าได้ศึกษาดูแผนที่ไว้ก่อนแล้ว ก็จะรู้ว่าจะต้องไปทางไหน จะได้ไม่เสียเวลา พอออกจากบ้านก็รู้เลยว่าจะต้องเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา พอไปถึงทางแยกก็จะรู้ว่าต้องไปทางไหน ควรใช้เวลาอย่างนี้ ในเบื้องต้นก็ศึกษา ฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์โดยตรงก็ได้ ถ้ามีโอกาสได้อยู่ใกล้ ถ้าไม่มีโอกาสก็มีสื่อที่บันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ สื่อทางวิทยุทางโทรทัศน์ เราก็เปิดฟังเปิดดูได้ หนังสือต่างๆก็อ่านได้ แต่ต้องศึกษาเพื่อไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อให้หลงคิดว่ารู้แล้ว แล้วก็ไม่ออกปฏิบัติ แต่มาถกเถียงกัน หรือไปสอนผู้อื่นเลย เพราะคิดว่ารู้แล้ว แต่ความรู้จากการศึกษานี้ ยังไม่ได้เป็นความรู้ที่แท้จริง เหมือนกับการศึกษาวิธีทำกับข้าวกับปลาอาหาร แต่ยังไม่เคยลงมือทำเลย ก็จะไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาทำจะทำได้หรือไม่ ทำแล้วจะได้ผลตามที่ได้ศึกษามาหรือไม่ ต้องพิสูจน์ก่อนว่าความรู้ที่ได้ศึกษามานี้ เป็นจริงอย่างไร ถ้านำเอาไปปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าเป็นอย่างไร ว่าความสุขที่ดีที่สุดนี้อยู่ตรงไหน พอรู้แล้วก็จะสามารถนำเอาไปสั่งสอนผู้อื่นได้ แต่ในเบื้องต้นนี้ต้องสั่งสอนตัวเองก่อน ให้กำจัดปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไปให้ได้ก่อน ความทุกข์ต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ ถือว่าเป็นปัญหาทั้งนั้น ความไม่สบายใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้ ถือว่าเป็นปัญหาทั้งนั้น ถ้ามีอยู่ภายในใจ แสดงว่ายังเรียนไม่จบ ยังปฏิบัติไม่ถึงจุดสูงสุด ต้องสามารถอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง สัมผัสกับทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างไม่มีปัญหา ถึงจะถือว่าหลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว

 

เราจึงควรใช้เวลาไปกับการศึกษาปฏิบัติธรรม เพราะจะได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ากว่าการแสวงหาลาภยศสรรเสริญ แสวงหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย พอถึงบั้นปลายของชีวิต จะรู้สึกว่าจิตใจไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย จากวันที่เกิดมาในโลกนี้ถึงวันที่จะจากโลกนี้ไป ใจตอนที่มาเป็นอย่างไรตอนที่ไปก็ยังเป็นอย่างนั้น หรือแย่กว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป อ่อนแอลงมากกว่าเข้มแข็งขึ้น มีความทุกข์มากกว่ามีความสุข ถ้าไปแบบนั้นก็ถือว่าขาดทุน เหมือนฝากเงินไว้ในธนาคารแต่ไม่ได้ดอก แล้วยังต้องเสียค่าฝากด้วย เวลาถอนเงินต้นก็เหลือน้อยกว่าตอนที่เอาไปฝาก อย่างนี้เป็นการใช้ชีวิตอย่างขาดทุน แต่ถ้าถึงเวลาตายแล้วรู้สึกว่า ใจมีความมั่นคงมีความสุขมากกว่าเดิม มีความทุกข์น้อยกว่าเดิม หรือไม่มีเลย อย่างนี้ถือว่าได้กำไร ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุด ได้เอาเพชรนิลจินดามาลงทุน ให้เกิดผลตอบแทนมากกว่าต้นทุน เอาเงินก้อนหนึ่งมาลงทุนเพื่อก่อตั้งธนาคารขึ้นมา จนได้ธนาคารเป็นร้อยๆสาขา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า คนที่เริ่มก่อตั้งธนาคารขึ้นมาก็มีเงินอยู่เพียงก้อนหนึ่ง พอกิจการเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ก็ขยายสาขาไปเรื่อยๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีเป็น ๑๐๐ เป็น ๑๐๐๐ สาขา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

 

ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าลงทุนไปกับการศึกษาปฏิบัติธรรม ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ทำจิตใจให้สงบ เจริญปัญญา จนจิตใจมีแต่ความสงบอยู่ตลอดเวลา ก็ถือว่าได้กำไร ถ้าจิตใจยังฟุ้งซ่านสับสนอลหม่าน มีความเศร้าหมอง มีความเครียด มีความวุ่นวายอยู่ อย่างนี้ก็ถือว่ายังไม่ได้กำไร ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับจิตใจ จิตใจถ้าไม่สงบก็จะไม่มีความสุข ถึงแม้จะมีเงินทองกองเท่าภูเขา ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับจิตใจ ไม่สามารถทำให้จิตใจมีความสงบสุขได้ จึงอย่าเสียเวลาไปกับการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข ให้แสวงหามรรคผลนิพพานเถิด เป็นเป้าหมายของเรา เมื่อเช้านี้ก็บอกแล้วว่า การให้ทานต้องเพิ่มให้มากขึ้น มีอะไรที่ทำให้ได้มากขึ้นก็ควรทำไป จากการทำบุญร้อยละสิบ ก็เพิ่มเป็นร้อยละยี่สิบ ร้อยละสามสิบ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ศีลก็รักษาให้มากขึ้น เคยรักษาได้กี่ข้อกี่วันก็รักษาเพิ่มขึ้นไป เช่นวันนี้ถือศีล ๘ เพิ่มจากศีล ๕ขึ้นมาก็ได้ วันไหนมีกำลังใจดี ก็รักษาศีลเพิ่มขึ้นไป ศีล ๘ บ้าง ศีล ๕ บ้าง หรือเพิ่มศีล ๘ ให้มากกว่าศีล ๕ จนสามารถรักษาศีล ๘ ได้ตลอดเวลา การนั่งสมาธิก็เพิ่มเวลานั่งให้มากขึ้น เคยนั่งวันละ ๒ ครั้งก็เพิ่มเป็น ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง เคยนั่งครั้งละครึ่งชั่วโมง ก็เพิ่มเป็นครั้งละชั่วโมง ต้องพยายามขยับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ การฟังเทศน์ฟังธรรมก็ฟังให้มากขึ้น ส่วนที่ต้องลดก็คือความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ดูโทรทัศน์ดูหนังดูละคร ก็ตัดให้น้อยลงไป เคยดื่มเคยรับประทาน เคยหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ตัดให้น้อยลงไป จนไม่ต้องหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้เลย จะได้มีเวลาหาความสงบสุขทางจิตใจมากขึ้น นี่เป็นเรื่องที่เราต้องกำหนดขึ้นมาเอง เพราะเป็นชีวิตของเรา เราเป็นเหมือนคนขับรถ คนอื่นขับแทนเราไม่ได้ เราต้องรู้ทิศทางที่เราจะต้องไปว่าอยู่ในทิศทางใด อย่าขับวนอยู่ตรงวงเวียน เพราะจะไปไม่ถึงไหน ขับไปทั้งวันก็จะวนเวียนอยู่ตรงนั้น

 

เราต้องกำหนดทิศทางชีวิตของเราให้ไปในทางนี้ ต้องทำบุญให้มากขึ้น รักษาศีลให้มากขึ้น ภาวนาให้มากขึ้น อย่าปล่อยให้วนอยู่ในวงเวียนของการหาความสุขกับการหาเงิน ได้เงินแล้วก็เอามาซื้อความสุข พอเงินหมดก็ไปหาใหม่ พอหาเงินได้แล้วก็กลับมาซื้อความสุขอีก อย่างนี้เรียกว่าขับรถรอบวงเวียน ไม่ได้ไปไหน กี่ภพกี่ชาติก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าจะเป็นวงเวียนแบบไหน วงเวียนดีก็มี วงเวียนไม่ดีก็มี วงเวียนดีก็วงเวียนของเทพของมนุษย์ วงเวียนไม่ดีก็ของเดรัจฉานของเปรตของสัตว์นรก ถ้าใฝ่ต่ำก็จะหาเงินอย่างผิดศีลผิดธรรม เช่นลักขโมยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง เพื่อให้ได้เงินทองมาซื้อความสุข พวกนี้จะวนอยู่ในวงเวียนที่ไม่ดี วงเวียนที่มีแต่ความร้อน ส่วนวงเวียนดีก็คือวงเวียนของเทพของมนุษย์ แต่ก็ยังเป็นวงเวียนอยู่ สู้มรรคผลนิพพานไม่ได้ อันนี้เป็นทางตรง ไปสู่จุดหมายปลายทางที่เลิศที่ประเสริฐ คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด สิ้นสุดของความทุกข์ทั้งหลาย เพราะเมื่อไม่เกิดแล้วทุกข์ก็ย่อมไม่มี ทุกข์ย่อมไม่มีต่อผู้ที่ไม่เกิด เพราะผู้ที่เกิดยังต้องแก่เจ็บตาย พลัดพรากจากกัน การเกิดเป็นมนุษย์ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีมากคือ ๑. ได้เป็นมนุษย์ ๒. ได้พบกับพระพุทธศาสนา ๓. มีเวลาศึกษาปฏิบัติ จะใช้โอกาสดีนี้หรือไม่ จะเพิ่มเวลาศึกษาปฏิบัติให้มากกว่าเดิมหรือไม่ วันหนึ่งเรามีเพียง ๒๔ ชั่วโมง ถ้าจะเพิ่มเวลาบำเพ็ญปฏิบัติ ก็ต้องตัดเวลาที่ให้กับสิ่งอื่นไป จะกล้าทำหรือไม่ หรือยังเสียดายเรื่องต่างๆที่ยังผูกพันอยู่ ต้องใช้วิจารณญาณ ต้องดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดูพระสงฆ์สาวก ดูครูบาอาจารย์พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นตัวอย่าง ว่าท่านใช้เวลาอย่างไร เรากับท่านใช้เวลาเหมือนกันหรือไม่ ถ้าไม่เหมือนกัน เราก็ควรปรับให้เหมือนท่าน ถ้าเราไม่ปรับก็จะไม่ได้อย่างที่ท่านได้ ต่อให้ปรารถนาต่อให้อยากได้มากน้อยเพียงไร ต่อให้มาที่นี่อีก ๑๐ ปี อีก ๑๐๐ ปี แต่ไม่ได้ปรับวิถีชีวิตให้เข้าสู่กระแสธรรม ก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่มีใครบังคับตัวเราได้นอกจากตัวเราเอง ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนต้องเป็นผู้บังคับตนเอง เพราะตนเป็นผู้ขับรถชีวิตของตนเอง ผู้อื่นขับรถคันนี้ให้เราไม่ได้ ขับชีวิตของเราไม่ได้ การมาฟังธรรมนี้ ก็เพื่อจะได้กำลังใจได้ความรู้ ว่าควรจะทำอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็ควรเอาไปปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้ว ปฏิเวธคือผลที่ดีที่เลิศที่ประเสริฐ ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีสิ่งอื่นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรที่จะห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้ นอกจากการไม่ปฏิบัตินี้เท่านั้น

 

การปฏิบัตินี้ไม่มีรูปแบบตายตัว อยู่ที่สติเป็นหลัก ต้องมีสติตลอดเวลาถึงจะถือว่าปฏิบัติ ถ้าไปอยู่วัดแต่ไม่มีสติ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติ ถ้ามีสติแต่อยู่ที่ทำงานก็ถือว่าปฏิบัติ จึงควรให้มีสติควบคุมใจไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้อยู่กับพุทโธๆไปก็ได้ หรืออยู่กับธรรมะ เช่นอาการ ๓๒ นี้ก็เป็นธรรมะที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ถ้าเบื่อกับการบริกรรมพุทโธๆ ก็ลองใช้อาการ ๓๒ ก็ได้ มีสีสันมีรสชาติ มีหลายลักษณะ มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก ฯลฯ ถ้าจิตจะไปเที่ยวก็ให้เที่ยวในกายนคร เป็นที่น่าท่องเที่ยวที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าท่องอาการ ๓๒ นี้อยู่ ก็ถือว่าได้ปฏิบัติแล้ว ไม่ต้องไปอยู่วัดนุ่งขาวห่มขาว ขอให้มีอาการ ๓๒ อยู่ในใจไปเรื่อยๆ ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด ถ้าต้องใช้ความคิดจัดการเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็หยุดพุทโธๆไปก่อน หยุดท่องอาการ ๓๒ ไปก่อน พอคิดเสร็จแล้ว เริ่มกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ห่วงคนนั้นคนนี้ ก็กลับมาพุทโธๆต่อ กลับมาท่องอาการ ๓๒ ต่อ ทั้งไปทั้งกลับ อนุโลมและปฏิโลม แล้วจะรู้ว่าวันๆหนึ่งเรามีสติหรือไม่ ถามตัวเองว่าวันนี้อยู่กับอาการ ๓๒ บ้างหรือไม่ อยู่กับพุทโธบ้างหรือไม่ เพราะการเจริญพุทโธก็ดี หรือท่องดูอาการ ๓๒ ก็ดี เป็นการสร้างสติ ทำให้เห็นความคิดปรุงแต่ง ส่วนใหญ่เราจะไม่เห็นความคิดปรุงแต่ง เพราะความคิดปรุงแต่งจะอยู่หลังฉาก ที่คอยผลักดันใจให้ออกไปดูภายนอก คิดถึงคนนั้นคิดถึงคนนี้ ใจคิดไปแล้ว ไปที่รูปคนนั้นรูปคนนี้ ไปที่วัตถุชิ้นนั้นชิ้นนี้ ไปที่ตู้เย็นและของที่อยู่ในตู้เย็น แต่ไม่เห็นความคิดที่ทำให้ไป ถ้าบริกรรมพุทโธๆ หรือท่องดูอาการ ๓๒ อยู่เรื่อยๆ ต่อไปจะเห็นตัวปรุงแต่งว่าอยู่ตรงนี้เอง ที่หลอกเราสั่งเราให้ไปเปิดตู้เย็น ให้ไปกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอเห็นอย่างนี้แล้วแสดงว่ามีสติแล้ว

 

จะเห็นว่าคิดไปได้ ๓ ทาง ไปทางกิเลส ไปทางธรรม หรือตรงกลาง ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่กิเลส ส่วนใหญ่จะไป ๒ ทาง คือไปทางกิเลส หรือไม่ใช่กิเลสไม่ใช่ธรรม น้อยครั้งที่จะไปทางธรรมกัน เพราะไม่มีธรรมอยู่ในใจ แต่ถ้าได้ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะได้ธรรมเข้าไปปลูกไว้ในใจ ต่อไปความคิดในทางธรรมก็จะงอกเงยขึ้นมา ก็จะคิดไป ๓ ทาง ไปทางกิเลสบ้าง ทางธรรมบ้าง ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่กิเลสบ้าง จะเห็นผลที่เกิดขึ้น ว่า เวลาคิดไปในทางกิเลสก็จะฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ คิดไปในทางธรรมก็สุขสงบเย็น คิดไปในทางที่ไม่ใช่กิเลสหรือธรรมก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็อยากจะคิดไปในทางธรรมเรื่อยๆ บริกรรมพุทโธๆไปเรื่อย ก็จะสุขสงบเย็นสบาย ต่อไปก็จะเห็นอริยสัจ ที่อยู่ที่สังขารความคิดปรุงแต่งนี่เอง สังขารที่เป็นได้ทั้งสมุทัยหรือมรรค ถ้าคิดถึงอาการ ๓๒ บริกรรมพุทโธ ก็เป็นมรรค ทำให้จิตสงบ ถ้าคิดถึงอัตตาตัวตน ตัวเราของเรา โลภอยากได้ ก็จะเป็นสมุทัย ก็จะทุกข์รุ่มร้อนขึ้นมา ต่อไปจะไม่ดูข้างนอกอย่างเดียว แต่จะดูสังขารที่อยู่หลังฉากด้วย ที่หลอกให้ไปหลงสิ่งนั้นสิ่งนี้ โลภอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ จะคอยกำจัดความคิดเหล่านี้ไป ด้วยการเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแก้ เพราะความหลงมาจากการไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าระลึกถึงอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ความโลภความโกรธความหลงเบาบางลงไป

 

เวลาโลภอยากได้อะไร ก็จะพิจารณาว่าเที่ยงหรือไม่ ได้มาแล้วจะสุขอย่างถาวรหรือไม่ มีความทุกข์ตามมาหรือไม่ ก็จะได้คำตอบว่าไม่เที่ยง มีความทุกข์ตามมา ไม่ใช่เป็นของเราอย่างแท้จริง สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไปหรือเราจะต้องจากเขาไป ถ้าคิดอย่างนี้แล้วใจก็จะเป็นธรรมมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นธรรมทั้งแท่ง เพราะจะคิดแต่ธรรมตลอดเวลา พอมีธรรมแล้ว ความหลงก็จะไม่สามารถหลอกเราได้ คนที่มีธรรมแล้วมักจะไม่มีสมบัติอะไร พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรเลย ครูบาอาจารย์ก็ไม่มีอะไรเลย เงินทองที่ญาติโยมถวายให้ท่าน ท่านก็ไม่เก็บเอาไว้เลย ท่านเอาไปทำประโยชน์ให้กับโลกต่อ แต่ถ้ายังมีความหลงก็จะเก็บไว้ จะรู้สึกไม่พอด้วย ได้พันล้านก็อยากจะเพิ่มเป็นหมื่นล้าน ได้หมื่นล้านก็อยากจะเพิ่มเป็นแสนล้าน เพราะไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นทุกข์ในเงินทอง มันเป็นภัยนะมีเงินมากๆ อย่าคิดว่าเป็นคุณ จะมีคนคอยจับไปเรียกค่าไถ่ ไปไหนมาไหนก็ต้องมีมือปืนคุ้มครอง อยู่อย่างนี้มีความสุขหรือไม่  ต้องอยู่แบบไม่มีอะไรเลย เช่นพระพุทธเจ้า ไปไหนมาไหนไม่ต้องมีใครมาคอยคุ้มกัน ไม่มีสมบัติอะไร มีเพียงอัฐบริขาร ๘ ชิ้นเท่านั้นเอง ผ้าไตร ๓ ผืน บาตร ๑  รวมเป็น ๔ ประคดเอว ๑ เป็น ๕ ที่กรองน้ำ ๑ เป็น ๖ เข็มกับด้าย ๑ เป็น ๗ ใบมีดโกน ๑ รวมเป็น ๘ เป็นสมบัติพอเพียงกับสมณะแล้ว ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว

 

ถาม  ถ้าไม่สามารถเอาธรรมะฝังเข้าไปในใจเราได้ เวลาตายไปสิ่งที่เรียนรู้ที่เป็นสัญญาความจำ ก็จะหมดไปกับร่างกาย ใช่ไหมครับ

 

ตอบ เหมือนฟังเทศน์วันนี้ เราจำได้มากน้อยเพียงไร จำไม่ค่อยได้ ฟังแล้วก็ผ่านไป ถ้าจำอาการ ๓๒ ได้ ก็ต้องอยู่ในใจตลอดเวลา แต่ไม่อยู่เลย ไม่มีอาการสักอาการเดียวอยู่ในใจเลย เห็นคนก็ไม่เห็นอาการ ๓๒ เห็นแต่นาย ก. นาย ข. มีฐานะอะไร มีตำแหน่งอะไร เห็นแต่สมมุติ ไม่เห็นความจริง ไม่เห็นกายในกาย ถ้าเห็นกายในกายก็ต้องเห็นอาการ ๓๒  นี่คือกายในกาย แต่กลับไปเห็นนาย ก. นาย ข.ในกายนี้ เห็นผู้ว่าฯ  เห็นผอ.ในกาย เห็นหัวหน้า เห็นลูกน้องในกาย เห็นแต่สมมุติ ถ้าเห็นกายในกายก็จะเหมือนกันหมด ไม่มีสูงไม่มีต่ำ ไม่มีน่ารักน่ารังเกียจ มีผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูก ฯลฯ เหมือนกัน มีเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เราฟังแล้วไม่เอาไปพิจารณาต่อ ไม่เอาไปปฏิบัติต่อ ลองทำดูสิ พุทโธๆไปทั้งวัน หรือท่องอาการ ๓๒ ไปทั้งวัน ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่อง เพียงวันเดียวต้องเห็นอะไร ต้องได้อะไรอย่างแน่นอน แต่ไม่ทำกัน พอไปจากที่นี่ก็ลืมกันหมดแล้ว เหมือนควันไฟ จางหายไปหมด เรื่องอื่นเข้ามาแทนที่ พอออกจากที่นี่ก็คิดปรุงแต่งกันว่า จะไปไหนกันต่อ มองไปข้างหน้าแล้ว พรุ่งนี้ต้องไปทำงาน มีธุระกับคนนั้นคนนี้ คิดไปกับเรื่องนั้นแล้ว ส่วนเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง ที่ทำให้เกิดปัญญารู้ทันกิเลสก็หายไปหมด เป็นนิสัย ชอบคิดเรื่องต่างๆ ให้คิดเรื่องธรรมะจะไม่ยินดี ไม่ชอบ จะลืมไป เพราะยินดีคิดเรื่องอื่น

 

เราต้องฝืนต้องบังคับ ไม่มีทางอื่น ต้องบังคับ ต้องกำหนดว่าวันนี้จะต้องภาวนา ทุกชั่วโมงจะต้องพุทโธๆสัก ๕ นาที หรือท่องอาการ ๓๒ พอถึงต้นชั่วโมงก็พุทโธๆไป ๕ นาทีแล้ว  หรือท่องอาการ ๓๒ ไป ๕ นาที จะได้ดึงใจไว้ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย เหมือนกับมีเครื่องกีดขวางบนถนน ที่บังคับให้รถชะลอหยุดก่อนที่จะข้ามไป ถ้าวิ่งเร็วรถจะพังได้ ถ้าภาวนาทุกชั่วโมง จิตจะไม่ห่างจากธรรมะ ทุกชั่วโมงจะมีธรรมะมาเตือนสติ ลองทำดู ทุกชั่วโมงให้เวลากับธรรมะ ๕ นาที ลองดูสิว่าจะทำได้ไหม ยกเว้นขณะที่หลับ ทุกชั่วโมงให้เจริญธรรมะสัก ๕ นาที ปฏิบัติสัก ๕ นาที นั่งหลับตาพุทโธๆไป จงกำหนดลมหายใจเข้าออกไป ท่องอาการ ๓๒ ไป หรือพิจารณาไตรลักษณ์ไป ดูความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของสิ่งต่างๆ พิจารณากรณีญาติธรรมของพวกเราก็ได้ มีใครไปคาดฝันว่าจะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาอย่างกะทันหัน อนิจจา ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ คิดอย่างนี้บ้าง จะได้มีความกระตือรือร้นปฏิบัติ จะได้เห็นคุณค่าของเวลาโอกาสที่มีอยู่ ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา หรือพิกลพิการไป โอกาสที่จะไปฟังเทศน์ฟังธรรม ไปทำบุญ ไปปฏิบัติธรรม ก็จะไม่มี หรือยากขึ้น ขณะที่มีและง่ายยังไม่ทำกัน ถ้าหากไม่มีหรือยากแล้ว จะทำได้อย่างไร

 

วันนี้ฝากการบ้านให้ภาวนาชั่วโมงละ ๕ นาที ยกเว้นเวลาหลับ ในรูปแบบไหนก็ได้ พุทโธๆไปก็ได้ จะได้มีธรรมะคอยสะดุดใจ ไม่อย่างนั้นจะไหลตามกิเลสไป จนลืมธรรมะไปเป็นวันๆเป็นเดือนๆเลย เพราะเรื่องของกิเลสจะเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน เสร็จจากเรื่องนี้ก็จะมีเรื่องนั้นมาต่อ มาเกี่ยวกันไปดึงกันไป แต่ถ้ามีธรรมะคอยเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง เช่นทุกๆชั่วโมง ก็จะทำให้ได้เจริญสติปัญญาบ้าง จะได้พิจารณาบ้างว่า ควรไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เรื่องของเราแล้วอย่าไปยุ่งดีกว่า แต่นิสัยของพวกเราชอบไปยุ่งกัน ไม่ได้เชิญก็ไป ต้องดึงใจเข้าหาธรรมะ ต้องหาอุบายวิธีดึงใจเข้าหาธรรมะ ให้อยู่กับธรรมะให้มาก ให้อยู่เรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยๆ จะได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า จะได้ไม่มาเสียใจในภายหลัง ที่มัวหมดเวลาไปกับเรื่องไร้สาระต่างๆ ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีประโยชน์กับจิตใจ มีเงินกองเท่าภูเขาแต่ใจยังเศร้าสร้อยหงอยเหงา ทุกข์กังวลหวาดกลัวอยู่เหมือนเดิม สู้ไม่มีอะไรเลยจะดีกว่า แต่มีความสงบสุขสบาย ไม่หิวไม่อยากไม่ห่วงไม่หวง ไม่วิตกไม่กังวลไม่กลัวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นก็ดีหรือที่จะเกิดขึ้นก็ดี เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใจไม่ได้เป็นไปอะไรกับสิ่งต่างๆ ไม่ต้องไปเดือดร้อน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่สามารถมาทำลายใจได้ ทำลายได้แต่ร่างกาย ถ้าไม่มีอะไรมาทำลาย มันก็ทำลายตัวมันเอง เพราะเป็นวิถีของมัน เกิดแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายไปเอง

 

ถาม  ที่ท่านอาจารย์ว่าเห็นผลนี้ เห็นผลในรูปแบบไหน

 

ตอบ เห็นความสงบในจิต จิตรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นตอนเป็นเด็ก ทรงประทับอยู่ตามลำพังอยู่ใต้โคนไม้ แล้วจิตก็รวมลง โดยไม่ได้นั่งสมาธิหรือกำหนดอะไร เป็นเรื่องของบารมีของบุญเก่า พอมีปัจจัยคือความสงบวิเวก ก็ทำให้จิตรวมลงเอง เพราะเคยรวมมาแล้ว โดยไม่ต้องนั่งกำหนดพุทโธๆ ถ้าเคยรวมแล้วเพียงบริกรรมพุทโธไป ๕ นาทีจิตก็รวมลงแล้ว จะรู้เลยว่ารางวัลที่แท้จริงของชีวิตอยู่ตรงไหน ไม่ต้องไปถามใคร ถ้าได้สัมผัสความสงบนี้แล้วจะคิดหาทางไปแล้ว เริ่มวางแผนแล้วว่า จะต้องตัดภาระต่างๆให้หมดไปให้ได้ เพื่อจะได้ไปอย่างเรียบร้อย ถ้าไปแล้วยังตะขิดตะขวงใจ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย จะถูกใจหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการทำให้คนอื่นถูกใจเสมอคงทำไม่ได้ ถ้าถูกต้องเป็นธรรม ก็ถือว่าใช้ได้ ไม่ควรเอาความพอใจของคนมาเป็นประมาณ ให้เอาธรรมเป็นประมาณ อย่างที่หลวงตาเคยพูดว่า ท่านเกรงธรรม ไม่เกรงใจคน ถ้าเกรงใจคนแล้วธรรมก็แหลก ต้องเอาธรรมเป็นประมาณ เป็นหลักของการตัดสิน เช่นไปแล้วพ่อแม่ไม่สบายใจไม่พอใจ แต่เขาก็อยู่ได้มีความสุขเหมือนเดิม ไม่เดือดร้อนกับการกินการอยู่ เพียงแต่ไม่ชอบให้ลูกไปบวชเท่านั้นเอง บวชแล้วไม่สบายใจ อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปถือเป็นประมาณ เหมือนกับพ่อของพระพุทธเจ้าไม่อยากให้ลูกบวช อยากให้สืบทอดราชสมบัติ อยากให้เป็นมหาจักรพรรดิ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลกับความรู้สึกของผู้อื่น ควรวิตกกังวลกับความรู้สึกของเรา ถ้าอยู่แล้วจิตใจวุ่นวายฟุ้งซ่าน ไม่มีความสุข อยู่ไปทำไม ถ้าออกบวชแล้วมีความสงบสุข ไม่มีความทุกข์ ทำไมไม่ไป ต้องเอาตรงนี้เป็นตัววัด

 

ถ้าใฝ่ทางนี้แล้ว ไม่มีอะไรมายับยั้งได้ สิ่งที่จะยับยั้งก็คือความลังเลสงสัย เป็นนิวรณ์ เป็นอุปสรรคขวางกั้นความสงบของใจ สงสัยว่าจะทำได้หรือไม่ นิวรณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือกามฉันทะ ความยินดีกับความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส ตัวนี้ก็ตัดยาก ต้องรับประทานอาหารมื้อเดียวจริงๆ แล้วก็ไม่รับประทานหรือดื่มอะไรอีกเลย นอกจากดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว ถึงจะกำจัดความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับประทานการดื่ม ดื่มแต่น้ำเปล่าๆ อย่าดื่มน้ำที่มีรสชาติหวานเปรี้ยว รับประทานอาหารแบบรับประทานยา ครั้งเดียวก็พอ อาหารอะไรก็ได้ รับประทานแล้วอิ่มท้องไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็พอแล้ว ต้องตัดกามฉันทะ การบันเทิงในรูปแบบต่างๆก็ต้องตัดให้หมด ไม่ดูหนังไม่ฟังเพลง ไม่ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ถ้าไปก็ไปหามุมสงบเงียบ ไปนั่งสมาธิ ถ้าปฏิบัติอยู่ในห้องในบ้านนานๆรู้สึกอึดอัด อยากจะออกไปบ้าง ก็ออกไปได้ ไปหามุมสงบที่ไม่มีสิ่งยั่วยวนกวนใจ

 

เราต้องลุยต้องบุก อย่ารอให้กิเลสบุกแล้วค่อยสู้มัน ถ้ามันบุกแล้วจะสู้ไม่ได้ พอกิเลสออกฤทธิ์แล้ว เราจะอ่อนปวกเปียกไปหมดเลย  จะดื่มไอ้นั่นจะกินไอ้นี่ ก็ต้องยอมมัน เราต้องบุกด้วยการกำหนดปริมาณและตารางเวลา ว่าจะกินจะดื่มเท่าไหร่ เช่นกินมื้อเดียว  อยากจะกินอะไรก็กินตอนนั้น เสร็จแล้วก็จบ ถ้าอยากจะดื่มอะไรก็ดื่มตอนนั้น เวลาอื่นก็ดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว ต้องกำหนดอย่างนี้ โทรทัศน์ก็ไม่ดูเลย ขายทิ้งไปเลย ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการบันเทิง อย่าให้อยู่ใกล้ตัว บริจาคให้ทานไปเลย อย่างนี้ถึงเรียกว่าบุก เรียกว่าลุย ถ้านั่งรอเดี๋ยวกิเลสก็จะมาชวนเรา ให้ดูเรื่องนั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวก็เปรี้ยวปากอยากขบเคี้ยว พอเกิดความรู้สึกอย่างนี้แล้ว มันจะสู้ไม่ได้ ถ้าอยากแล้วแต่ไม่มีอะไรให้ขบเคี้ยว ไม่มีอะไรให้ดู ก็จะไม่เป็นปัญหา พวกเรายังไม่เห็นคุณค่าของความสบายใจกัน เพราะไม่ค่อยได้ดูใจ มัวแต่ไปดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีคุณค่าอย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยให้ใจแห้งแล้ง อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว หิวอยาก ไม่ดูที่ใจกัน ดูผิดที่ การบริกรรมพุทโธๆหรือกำหนดกรรมฐานนี้ เป็นการดึงใจให้กลับเข้ามาดูใจ ว่ากำลังเป็นอย่างไร ควรได้รับการดูแลอย่างไร ต้องปฏิบัติให้มาก ถ้าไม่ปฏิบัติจะไม่เห็น

 

ถาม  เตรียมลาออกไปปฏิบัติธรรม แรกเริ่มนี้จะปฏิบัติอยู่ที่บ้าน ต้องกำหนดเป็นเวลาหรือไม่คะ

 

ตอบ พยายามปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้ ควรเจริญสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ หรือพุทโธๆไปก็ได้ ตั้งแต่ตื่นเลย ก่อนจะลุกจากที่นอนก็พุทโธๆไป พอลุกขึ้นก็พุทโธๆไป ให้พุทโธๆพาไป

 

ถาม  เวลาเจริญสติไปมากๆแล้วจะเห็นสภาวะที่ละเอียด เข้าใจการทำงานของจิต แต่ยังไม่ปล่อยวาง รู้สึกว่าปัญญายังไม่พอ

 

ตอบ ยังไม่เห็นทุกข์ ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ให้ได้ เห็นว่ากำลังทุกข์กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะความอยาก ถ้าเห็นความอยากที่ทำให้ทุกข์ ก็จะตัดได้ จะหายทุกข์

 

ถาม  จิตคืออะไรครับ

 

ตอบ จิตคือผู้รู้ ผู้คิดปรุงแต่ง แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆตามมา

 

ถาม  บางครั้งรู้สึกว่า จิตไม่ใช่ตัวเรา

 

ตอบ เป็นสภาวธรรม

 

ถาม  ตัวเราคืออะไรครับ

 

ตอบ ตัวเราคือความหลง

 

ถาม  เราปรุงขึ้นมาเองหรือครับ

 

ตอบ เราปรุงขึ้นมาเอง จนฝังลึกอยู่ในความรู้สึก ตัวเราก็คือตัวรู้

 

ถาม  คือใจ

 

ตอบ ใจที่ถูกอวิชชาครอบงำ ทำให้คิดว่ากายกับใจเป็นตัวเรา เราต้องแก้ให้เป็นตัวรู้ ให้สักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่เรารู้เราเห็น เป็นเพียงแต่ความรู้ความเห็น รู้ว่าเป็นอย่างนั้นรู้ว่าเป็นอย่างนี้ แต่ไม่มีตัวเราไปรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ สักแต่ว่ารู้ ไม่ได้ไม่เสียกับสิ่งที่รู้ ไม่ดีใจไม่เสียใจกับสิ่งที่รู้ที่เห็น ถ้าดีใจเสียใจแสดงว่าหลงแล้ว

 

ถาม  นอกจากดูมันไปเรื่อยๆแล้ว ต้องทำอะไรอีกหรือเปล่าครับ

 

ตอบ การดูเป็นการฝึกเบื้องต้น วันๆหนึ่งเราต้องเจอกับอารมณ์ต่างๆที่ต้องกำจัดให้ได้ เช่นความห่วงใย ความกังวล ความหวาดกลัว ความหิว ความอยาก ความต้องการ  

 

ถาม  ถ้าดูไปเรื่อยๆแล้ว เวลามีอารมณ์โกรธ จะเบาบางลงไปเรื่อยๆ

 

ตอบ แต่ไม่หายไปหมด เดี๋ยวก็กลับมาใหม่ ถ้าไม่ใช้ปัญญาตัด เวลาปกติอารมณ์ต่างๆจะอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไปพบกับสภาพที่ร้ายแรง อารมณ์ก็จะร้ายแรงตาม เรายังไม่รู้ว่าจะหยุดมันได้หรือไม่ จึงอย่าไปคิดว่ามีสติตามรู้แล้วจะพอ ยังไม่พอ ต้องฝึกทำใจไม่ให้วุ่นวายกับการเกิดดับของสิ่งต่างๆ อะไรจะเกิดก็เกิดไป อะไรจะดับก็ดับไป ไม่ยินดียินร้ายกับการเกิดดับ

 

ถาม  ทำอย่างไรถึงจะได้แบบนั้น

 

ตอบ ต้องเฝ้าดูใจว่า เวลาเกิดอะไรขึ้นมา จะนิ่งเฉยได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ไม่ได้เป็นตัวตน ไม่ได้เป็นนาย ก. นาย ข. ไม่มีคุณค่า เป็นไตรลักษณ์ เป็นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ไม่ได้เห็นความจริงของสิ่งที่เห็น แต่เห็นสมมุติของสิ่งที่เห็น ยังหลงติดอยู่กับสมมุติ หลงคิดว่าเป็นพ่อเป็นแม่เรา ความจริงเขาเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ แต่เราไม่เห็นตรงนี้ ไม่เห็นอาการ ๓๒ ร่างกายของทุกคนมาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เราไม่เห็นกัน เห็นว่าเป็นพ่อเป็นแม่เรา เป็นพี่เป็นน้องเรา เป็นสามีเป็นภรรยาเรา ก็เลยเกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เกิดอารมณ์ เวลาสิ่งนั้นเกิดอะไรขึ้น ก็จะดีใจเสียใจไปกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น นี่คือการพิจารณาเพื่อให้ใจปล่อยวางสิ่งต่างๆ เพราะเป็นแค่ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง เราไปหลงเขาเอง นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ เพื่อให้จิตนิ่ง ไม่กระเพื่อม ต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔

 

ถาม  เห็นเองหรือต้องใช้ปัญญา

 

ตอบ ต้องใช้ปัญญาแยกแยะวิเคราะห์ เหมือนของในกระเป๋านี้ เรามองไม่เห็นข้างใน ต้องเปิดดูว่าในกระเป๋ามีอะไรบ้าง

 

ถาม  ต้องใช้ปัญญาจากการได้ฌานก่อนหรือไม่

 

ตอบ ไม่ พิจารณาได้ตลอดเวลา ถ้าได้ฌานก่อนจะพิจารณาได้นานและต่อเนื่อง จึงควรมีความสงบก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีอารมณ์อื่นมาฉุดลากไป พิจารณาได้เดี๋ยวเดียว กำหนดอาการ ๓๒ ได้ครั้ง ๒ ครั้งก็ไปแล้ว พิจารณาอย่างนี้ไม่พอ ต้องพิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก จะทำอย่างนี้ได้ จิตจะต้องได้สมาธิก่อน พอจิตนิ่งแล้ว จะไม่มีอารมณ์มาคอยหลอกล่อ มาฉุดลากให้ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าจะให้เป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่กำจัดกิเลสได้ ต้องมีสมาธิก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรเจริญปัญญาเลย ควรฝึกเจริญไปก่อน ท่องอาการ ๓๒ ไปก่อน เพราะการท่องอาการ ๓๒ นี้ จะทำให้จิตเป็นสมาธิ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ พอมีสมาธิแล้ว ก็จะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น จนสามารถพิจารณาทุกลมหายใจเข้าออกเลย เวลามองใครจะไม่ได้เห็นเพียงนาย ก. นาย ข. แต่จะเห็นอาการ ๓๒ ด้วย จะเห็นอวัยวะที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง จะไม่หลงกับความสวยงามภายนอก ไม่หลงยินดี ไม่อยากได้มาเป็นคู่ครอง

 

ถาม  หลังจากที่ได้สวดมนต์ไหว้พระแล้วนั่งสมาธิ รู้สึกว่ากายเบาจิตเบา พยายามจับดูว่าจิตอยู่ที่ไหน ก็จับไม่ได้  จำเป็นต้องไล่ตามหรือไม่

 

ตอบ ไม่ต้องไล่ตาม เหมือนตะครุบเงา ถ้าไปตามตัวรู้มันก็จะปรุงแต่ง ต้องหยุดความปรุงแต่ง แล้วตัวรู้จะปรากฏขึ้นมาเอง

 

ถาม  สังเกตดูว่าตอนนั้น กายเบาใจเบาแล้ว

 

ตอบ ตัวรู้ก็อยู่ที่กายเบาใจเบา ให้รู้อยู่ตรงนั้น ไม่ต้องไปตามหาตัวรู้ ให้อยู่กับกรรมฐาน เราใช้อะไรควบคุมใจ ก็ให้อยู่กับตัวนั้น ตัวรู้จะปรากฏขึ้นมาตรงนั้นเอง อย่าไปตาม ถ้าไปตามก็เหมือนกับตะครุบเงา เงาจะขยับไปข้างหน้าเราอยู่เรื่อยๆ ตัวรู้จะปรากฏต่อเมื่อใจหยุดคิด นิ่งสงบ สักแต่ว่ารู้ บังคับตัวรู้ให้ปรากฏไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือพุทโธๆไปอย่างเดียว หรือดูลมไปอย่างเดียว แล้วตัวรู้จะปรากฏขึ้นมาเอง

 

ถาม  กลัวว่าจะขาดสติ

 

ตอบ ถ้าขาดสติก็แสดงว่าสติยังไม่ดีพอ สัปหงกหลับไปได้

 

ถาม  เสียงก็ยังได้ยินอยู่เบาๆ แต่ไม่รู้ความหมายของเสียงที่พูดมา

 

ตอบ ถ้ารู้เสียงก็แสดงว่ายังมีสติอยู่ แต่ยังไม่สงบเต็มที่ ถ้าสงบเต็มที่แล้วเสียงก็จะไม่ได้ยิน ถ้าได้ยินใจก็จะไม่ไปเกาะกับเสียง จะอยู่กับตัวรู้ อยู่กับความสงบ ต่างกับเวลาที่ใจไม่สงบ เวลาได้ยินเสียงใจจะปรุงแต่งกับเสียงนั้นด้วย แต่เวลาที่ใจสงบแล้ว ถึงแม้จะได้ยินเสียง แต่ใจจะไม่ปรุงแต่ง ไม่สนใจกับเสียง มันต่างกัน

 

ถาม  หลักสำคัญก็คือ เสียงจะเป็นอย่างไรไม่ต้องสนใจ

 

ตอบ ถ้ายังบริกรรมอยู่ ก็บริกรรมไป ถ้าอยู่กับลมก็อยู่กับลมไป อยู่ไปจนกว่าจะนิ่ง พอนิ่งแล้วลมก็จะหายไป การบริกรรมก็จะหายไป จะเหลือแต่ความว่า สักแต่ว่ารู้ นี่คือตัวจิต เป็นอย่างนี้ ไม่ได้เป็นจุดเป็นอะไรนะ เป็นความว่าง ความเบา ความสบาย ความสุข ส่วนใหญ่จะเป็นตอนที่วูบลงไป เหมือนตกหลุมตกบ่อ แล้วก็นิ่งไป พอดูลมไปดูลมไป ลมจะวูบหายไปเหมือนขาดใจตาย เหมือนกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย แล้วก็จะนิ่งสงบ ถ้าดูลมจะเป็นอย่างนี้ ถ้าบริกรรมก็จะวูบตกลงไปในเหวในบ่อ แล้วก็จะนิ่งไป คำบริกรรมก็หายไป

 

ถาม  ถ้าเจอแล้วต้องทำอย่างไรต่อ

 

ตอบ ปล่อยให้นิ่งอยู่อย่างนั้นให้นานที่สุด อย่าไปยุ่งกับมัน ถ้าถึงตรงนั้นแล้วไม่ต้องถามใคร จะรู้ว่า นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง เป็นอย่างไร สุขอื่นที่เหนือกว่าความสงบนี้ไม่มี ตอนต้นจะเป็นชั่วนกกระจอกกินน้ำ แค่ขณะเดียวแล้วก็ถอนออกมา เป็นขณิกสมาธิ แต่จะประทับใจอย่างไม่ลืมเลือน จะคอยกระตุ้นฉุดลากให้ทำให้มากขึ้น จะรู้ว่าทำไมจะต้องเร่งความเพียร ทำไมจะต้องตัดความสุขอย่างอื่นไป เพื่อเอาเวลามาสร้างความสุขแบบนี้ให้มีมากยิ่งขึ้นไป จะเริ่มปลีกวิเวกออกจากสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ จะหาที่สงบเพื่อภาวนา เพื่อให้มีความสงบมากขึ้นบ่อยขึ้น พอถึงจุดนั้นแล้วก็ควรสลับกับการเจริญปัญญาไปด้วย เวลาออกจากความสงบแล้วก็ให้พิจารณาอาการ ๓๒ ไป พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายไป ทั้งของตัวเราและของผู้อื่น ดูอาการ ๓๒ ของเราและของผู้อื่น ดูเวลาที่ร่างกายตายเป็นซากศพไปแล้วเป็นอย่างไร ดูภาพที่ถ่ายให้ดูก็ได้ ว่าร่างกายของเราและร่างกายของคนอื่น ที่เราหลงรักแสนจะหวงแหนเป็นอย่างไร พอเห็นแล้วก็จะไม่อยากได้ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี คลายความยึดติด เวลาเขาเป็นอะไรไป เราก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องเป็น เราจะไม่วิตกกังวลหวาดกลัวเลย การปฏิบัติทั้งหมดนี้ก็เพื่อดับทุกข์ในใจ ให้ใจสบาย ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อนกับสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้น หรือกำลังเกิดขึ้น

 

ผลที่ต้องการก็คือใจที่ไม่กระเพื่อม เวลาสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม ให้รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ไม่เสียกับเหตุการณ์ต่างๆ เวลาดูอะไร ไม่ต้องไปรักไปชัง เพราะเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่เป็นอย่างนี้ไปตลอด มีการเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไม่ใช่ตัวตน มาจากดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ เพราะโลกนี้เป็นโลกธาตุ มาจากธาตุ ๔ ผสมกันให้มีรูปร่างลักษณะต่างๆ นี่คือไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ให้พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วใจจะเป็นกลาง จะไม่รักไม่ชังไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ นี่ต่างหากที่เราต้องการ ผลก็คือใจที่สงบไม่กระเพื่อมกับสิ่งต่างๆที่ได้สัมผัสรับรู้ ต้องคอยสอนใจให้รู้ว่าสิ่งต่างๆที่ไปสัมผัสรับรู้นี้ เป็นอะไรกันแน่ ตอนนี้ใจไม่รู้ ยังหลงอยู่ ยังคิดว่าเป็นพ่อเป็นแม่เรา เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนเรา เป็นของเรา แต่ความจริงมันไม่ใช่ เป็นความหลงทั้งนั้น ต้องรู้ว่าเป็นเพียงอาการ ๓๒ เป็นดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย รู้อย่างนี้แล้วต่อไปเวลาแก่เจ็บตาย ใจจะไม่กระเพื่อม

 

ถาม  วัดผลการปฏิบัติของเราด้วยสิ่งนี้

 

ตอบ ดูที่ใจเรา ใจกระเพื่อมหรือไม่

 

ถาม  ตัดอะไรออกไปได้มากน้อยแค่ไหน วางเฉยได้แค่ไหน ปล่อยวางได้แค่ไหน เราประเมินได้เอง

 

ตอบ ถ้ายังมีความยินดีมีความอยาก ก็จะต้องกังวลกับสิ่งนั้น เช่นอยากกาแฟนี้ ก็ต้องกังวลว่าถ้ากาแฟหมดจะทำอย่างไร ต้องคิดสต๊อกกาแฟไว้ก่อนแล้ว

 

ถาม  ถ้ามีเรื่องค้างคาใจอยู่ เวลาออกจากสมาธิก็หยิบเรื่องนั้นมาพิจารณา ซ้ำไปซ้ำมา

 

ตอบ จนปล่อยวางได้ ไม่เป็นปัญหากับใจ

 

ถาม  หยิบมาทีละเรื่องแล้วก็ค่อยๆปล่อยวางไป

 

ตอบ เรื่องที่เป็นปัญหาคาใจ ก็ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ ใช้ไตรลักษณ์เข้าไป ให้เห็นไตรลักษณ์ในเรื่องนั้น ถ้าเห็นอริยสัจคือตัณหาความอยากว่า เราไปอยากเขาเอง ถ้าไม่อยากเขาก็ไม่มีความหมายอะไร พออยากเขาก็มีคุณค่าขึ้นมา ถ้าอยากสูบกัญชา กัญชาก็มีคุณค่าขึ้นมา ถ้าไม่อยากสูบ กัญชาก็ไม่มีคุณค่า กลับเห็นเป็นโทษเสียอีก ต้องพิจารณาอย่างนี้ เพื่อสอนใจให้ใจฉลาดรู้ทัน เพราะใจยังหลงอยู่กับสิ่งต่างๆ ว่าดีว่าชั่ว ว่าละเอียดว่าหยาบ มันเป็นสมมุติทั้งนั้น ความจริงแล้วมันก็มาจากธาตุ ๔ ทั้งนั้น ไม่เที่ยง ไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง ให้ความทุกข์มากกว่าให้ความสุข ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะปล่อยวางได้ อยู่แบบไม่มีอะไรได้ ไม่ต้องมีอะไร อยู่อย่างนี้แสนจะสบาย อยู่คนเดียวไม่ว้าเหว่ ไม่เปล่าเปลี่ยวใจ จิตสงบแล้วจะไม่ปรุงแต่ง ความว้าเหว่ความเปล่าเปลี่ยวใจนี้เกิดจากความปรุงแต่งของจิตเอง สังขารความคิดปรุงแต่งนี้มันละเอียดมาก การปรุงแต่งอารมณ์ต่างๆให้เกิดขึ้นนี้ มันละเอียดมาก จนเราไม่รู้เลย บางวันตื่นขึ้นมารู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมาโดยไม่รู้สาเหตุเลย บางวันตื่นขึ้นมาก็สดชื่นแจ่มใส มันมาจากความคิดปรุงแต่งทั้งนั้น แต่มันละเอียดมาก

 

ถาม  จริงแล้วมันมีสาเหตุใช่ไหมคะ

 

ตอบ เป็นนิสัยที่ชอบคิดปรุงแต่ง

 

ถาม  ถ้าวันหนึ่งตื่นมาแล้วรู้สึกหงุดหงิดจัง ควรค้นหาว่าอะไรเป็นเหตุ

 

ตอบ ถ้ามีปัญญาค้นได้ก็ค้นไปดู ถามตัวเองว่า ร่างกายไม่สบายหรือเปล่า ปวดท้องหรือเปล่า ปวดหัวหรือเปล่า หรือกำลังห่วงเรื่องอะไร กังวลกับเรื่องอะไร

 

ถาม  หาเหตุที่ทำให้เกิด

 

ตอบ ถ้าหาไม่ได้ก็พุทโธๆไป ระงับมันก่อน หรือใช้ปัญญาว่ามันก็เป็นอนิจจังเหมือนกัน อารมณ์ไม่ดีก็รู้ว่าไม่ดี ไม่ต้องไปจัดการอะไรกับมันก็ได้ ดูว่าอารมณ์นี้ก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ไม่เป็นอย่างนี้ไปตลอด อารมณ์ดีก็ไม่เป็นอย่างนี้ไปตลอด วันไหนอารมณ์ดีก็อย่าไปอยากให้ดีไปตลอด เพราะจะเกิดทุกข์ในอริยสัจขึ้นมาในใจ เพราะมีความอยาก พอมันจะหายไปก็จะวุ่นวายใจขึ้นมา ก็ต้องรู้ว่า ดีเดี๋ยวมันก็หมด ไม่ดีเดี๋ยวมันก็หมด ใจมีหน้าที่รู้ก็รู้ไป รู้เฉยๆไม่ปรุงแต่ง ต้องปฏิบัติดูถึงจะรู้

 

อารมณ์นี้มีเหตุทำให้มันเกิด มีได้หลายเหตุ มาทางตาหูจมูกลิ้นกายก็ได้ เห็นอะไรสัมผัสกับอะไรก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ อากาศร้อนอากาศหนาวก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ ร่างกายหิวก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ นอนไม่พอก็เกิดอารมณ์ได้ เคยดื่มอะไรแล้วไม่ได้ดื่มก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ มาหลายทาง อะไรที่เราตัดได้ก็ต้องตัด เคยติดอะไร เคยดื่มอะไร เคยอยากอะไร ก็ต้องตัดให้หมด จะได้ไม่มีอารมณ์ตามมา แต่เรื่องที่เราห้ามไม่ได้ เช่นรูปเสียงกลิ่นรส ที่เราต้องเห็นต้องฟังนี้แล้วเกิดอารมณ์ ก็ต้องใช้ปัญญาสอนว่า มันเป็นแค่ไตรลักษณ์ เป็นแค่ดินน้ำลมไฟ ถ้ายังมีอารมณ์ที่หาสาเหตุไม่ได้ก็ดูมันไป ว่ามันเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน อารมณ์ดีก็เป็นไตรลักษณ์ อารมณ์ไม่ดีก็เป็นไตรลักษณ์ เดี๋ยวก็หายไปเอง ไม่ต้องไปจัดการกับมันก็ได้ ไม่ต้องไปใช้ปัญญาไปแยกแยะว่ามันเกิดจากอะไรก็ได้ ถ้ามีปัญญาใช้ได้ก็ดี เพราะจะได้หายอย่างถาวร ถ้าไม่อย่างนั้นก็ยังจะกลับมาใหม่ได้ ถ้าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็เพียงแต่รู้ว่ามันเป็นไตรลักษณ์ก็พอ รู้ว่ามันเกิดแล้วดับ แต่จะไม่หายไปอย่างถาวร เพราะไม่ได้ไปแก้ต้นเหตุของปัญหาคือความหลง มีความหลงยึดติดอยู่ ที่ยังรู้ไม่ทัน

 

ถ้าไปหลงติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้ววิเคราะห์ดูว่าเป็นเพียงไตรลักษณ์ เป็นดินน้ำลมไฟแล้ว ต่อไปเรื่องนั้นอารมณ์เหล่านั้นก็จะไม่มาอีกต่อไป ส่วนใหญ่ก็หลงในอัตตาตัวตนนี้แหละ หลงในตัวนี้ มีมานะถือตัว ถือว่าเราดีกว่าเขาสูงกว่าเขาเด่นกว่าเขา ถ้าเขาดีกว่าเราเด่นกว่าเราๆก็ไม่พอใจ ต้องแก้ตัวนี้ให้ได้ แก้การถืออัตตาตัวตน ว่าเราก็คือธาตุรู้เท่านั้นเอง ร่างกายเป็นธาตุ ๔ เหมือนกัน เขาก็ธาตุ ๔ ใจเขาก็ธาตุรู้ ใจเราก็ธาตุรู้ ร่างกายเราก็ธาตุ ๔ เหมือนกัน ไม่มีอะไรสูงกว่ากัน ไม่มีอะไรดีกว่ากัน อนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน คิดอย่างนี้แล้วต่อไปก็จะไม่สนใจ เขาจะเด่นก็เรื่องของเขา เด่นก็เป็นเด่นในทางด้านสมมุติ เขาอาจจะมีความสามารถทำตัวให้เป็นนายกฯได้ ก็เป็นไป บวชเป็นพระอรหันต์ได้ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องไปดีใจเสียใจไปอิจฉา เราทำตัวเราให้ดีก็แล้วกัน เรื่องของคนอื่นก็เรื่องของเขา ถ้าดีก็อนุโมทนามุทิตาจิต อย่าไปอิจฉาริษยา ถ้าด้อยก็ให้มีความสงสาร ช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันไป เขาจะชื่นชมยินดีสำนึกในบุญคุณหรือไม่นี้ อย่าไปหวังเป็นผลตอบแทน เพราะจะทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นมา ทำแล้วก็ให้ขาดไปจากใจ ทำเพื่อเขาเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อเรา ไม่ต้องการอะไรจากเขา

 

ถาม  จะไปภาวนาครั้งแรก ขอคำแนะนำ

 

ตอบ ให้มีสติอยู่เรื่อยๆ อย่าส่งไปอนาคตไปอดีต เราอยู่ตรงไหนให้จิตอยู่ตรงนั้น อย่าไปปรุงแต่ง ถ้าปรุงแต่งแล้วรีบดึงกลับมาหาพุทโธๆไป หยุดความคิดปรุงแต่ง อย่าไปคลุกคลี อย่าคุยกันมากจนเกินไป พยายามปลีกวิเวก แยกกันอยู่

 

ถาม  มานะที่ถือตนว่าดีกว่าเขานี้กับอัตตานี้ ความจริงมันก็ตัวเดียวกัน

 

ตอบ ถ้ามีตัวตนก็จะถือว่าดีกว่าเขาแย่กว่าเขา เห็นเขาเด่นกว่าเรา ก็ทำให้เรารู้สึกด้อย ใจก็ไม่สบาย เพราะอยากจะเด่นกว่าเขา