กัณฑ์ที่ ๓๙๙       ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒

 

มีใจใฝ่ธรรม

 

 

 

เป็นสิ่งที่ดีที่พวกเรามีใจใฝ่ธรรมยินดีในธรรมกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการยินดีในธรรมชนะการยินดีทั้งปวง เพราะไม่มีอะไรจะมีคุณค่ากว่าธรรม ธรรมเป็นปัจจัยที่จะแปลงใจของพวกเรา จากปุถุชนให้เป็นอริยบุคคล ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้วมาสั่งสอนธรรมให้แก่สัตว์โลก โอกาสที่ใจของพวกเราจะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลนี้ จะมีน้อยมากหรือไม่มีเลยก็ว่าได้ พวกเราจึงควรยินดีในธรรม ถ้ามีฉันทะความยินดีแล้ว จะมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร มีจิตตะใจจดจ่อ มีวิมังสาคิดใคร่ครวญแต่เรื่องของธรรม เหมือนกับเวลาเราชอบใครสักคนหนึ่ง ใจของเราจะจดจ่อคิดถึงแต่คนนั้นอยู่ตลอดเวลา ยินดีที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในเบื้องต้นที่ต้องมีก็คือฉันทะความยินดี จะเกิดความยินดีได้ ก็ต้องรู้คุณค่าของธรรมะ เราจึงต้องเข้าหาผู้ที่มีธรรมะ เพราะเป็นผู้ที่รู้คุณค่าของธรรมะ เป็นผู้ยกย่องเชิดชูโฆษณาคุณค่าของธรรมะ พอเราได้ฟังแล้วก็จะเห็นคุณค่าของธรรมะ ทำให้เกิดความยินดีที่อยากจะได้ธรรมะมาเป็นของเรา เหมือนกับตอนที่เราเกิดมาใหม่ๆนี้ เราจะไม่รู้คุณค่าของเพชร พอมีผู้ใหญ่บอกว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ เราก็จะเกิดความยินดีอยากได้เพชรขึ้นมา เราจึงต้องเข้าหาผู้ที่มีธรรมะ เข้าหาพระสุปฏิปันโน ถ้าไม่สามารถหาพระสุปฏิปันโนได้ ก็อ่านหนังสือของพระสุปฏิปันโนไปก่อนก็ได้ หรืออ่านหนังสือที่คัดมาจากพระไตรปิฎกก็ได้

 

วันนี้เป็นเรื่องแปลกตอนเช้าก็เป็นตอนบ่ายก็เป็น เกี่ยวกับเครื่องขยายเสียง ก็มองว่าเป็นสภาพไม่เที่ยงก็แล้วกัน ต้องปรับตัวปรับใจของเรา ถ้าเป็นปัญหาก็ต้องแก้ แก้ได้ก็แก้ไป ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับกับสภาพความจริง ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ชีวิตของเราจะมีอุปสรรคมีปัญหาให้เราคอยแก้อยู่เรื่อยๆ แต่อุปสรรคปัญหาต่างๆที่มีเข้ามาให้เราแก้นี้ ไม่ได้ใหญ่เท่ากับอุปสรรคปัญหาที่เกิดตามมาในใจเรา ปัญหามีอยู่ ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ภายนอก พอมีปัญหาภายนอกแล้วก็เกิดปัญหาภายในใจตามมา ใจไปทุกข์กับปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าใจมีสติมีปัญญารู้ทัน ก็จะไม่มีปัญหาภายในใจตามมา เช่นเราเคยทำอะไรแล้วไม่สามารถทำได้ ถ้าใจไม่รู้จักปรับ ไม่รู้ว่าความจริงได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ยังอยากจะทำอยู่ ไอ้ตัวอยากนี่แหละเป็นตัวปัญหา เช่นมีฝนตกจนออกไปข้างนอกไม่ได้ แต่ยังอยากจะออกไปอยู่ ก็จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย อยากจะให้ฝนหยุดเร็วๆ แต่ฝนไม่สนใจ ก็ตกไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่สบายใจ ถ้าเปลี่ยนใจว่าไม่ออกไปก็ได้ ยอมรับความจริง ปัญหาภายในใจก็จะไม่มี

 

การยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับเรานี้ เป็นวิธีที่แก้ไขปัญหาภายในใจได้เสมอ แต่บางทีเราไม่มีสติปัญญาพอ ไม่ได้มองปัญหาของใจ มัวแต่ไปมองปัญหาภายนอก พยายามแก้ทุกวิถีทาง ถ้าแก้ได้ก็จะไม่มีปัญหาภายใน ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาในใจด้วย เพราะใจอยากจะแก้ให้ได้ ถ้าแก้แล้วเห็นว่าสุดวิสัย ไม่มีทางที่จะแก้ได้ ยอมรับความจริง ปัญหาภายในใจก็จะไม่เกิดขึ้น เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็รักษาอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่หาย ก็ต้องยอมรับกับสภาพ ถ้ายอมรับได้ ปัญหาในใจก็จะไม่มี ใจจะนิ่งสงบเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงแม้ร่างกายจะเป็นอะไรไป แต่ใจจะเป็นปกติ เหมือนตอนที่ร่างกายเป็นปกติ นี่คือเรื่องของธรรมะ มีคุณประโยชน์กับจิตใจ เพราะจะรักษาใจให้อยู่เหนือความทุกข์ได้ เราจึงควรยินดีกับการศึกษาปฏิบัติธรรม เพราะเป็นวิธีที่จะนำธรรมเข้ามาสู่ใจ มาดูแลรักษาใจ ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ยังไม่เป็นธรรมที่แท้จริงสำหรับเรา ถึงแม้จะเป็นธรรมที่แท้จริงสำหรับพระพุทธเจ้าก็ดี สำหรับพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายก็ดี แต่สำหรับพวกเราธรรมยังไม่ได้เข้ามาในใจ หรือเข้ามาแล้วแต่ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา อยู่สักระยะหนึ่งแล้วก็จางหายไป เพราะเราเอาสิ่งอื่นมากลบธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา พอไปคิดเรื่องอื่น เวลาทำงานทำการต้องใช้ความคิด ธรรมที่ได้ยินได้ฟังมาก็จะถูกความคิดอื่นกลบหายไปหมด ไม่มีเหลืออยู่ในใจเลย พอเกิดปัญหาขึ้นมา ธรรมก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาในใจได้ ไม่สามารถคุ้มครองใจไม่ให้ทุกข์วุ่นวายได้

 

หน้าที่ของเราก็คือ ต้องทำให้มีธรรมะอยู่ในใจตลอดเวลาจนเป็นนิสัย จะคิดอะไรก็คิดด้วยธรรมะ ตอนนี้นิสัยของเราจะคิดด้วยโมหะอวิชชา อวิชชา ปัจจยา สังขารา คิดด้วยความหลง แล้วก็สร้างความทุกข์ขึ้นมาให้กับเรา จะมีความอยากต่างๆซึ่งมักจะสวนทางกับความจริง เช่นอยากจะอยู่ไปนานๆ อยากจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งไม่ตรงกับความจริง เพราะร่างกายมีอายุขัย ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ถ้าเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า มาคอยเตือนใจอยู่เรื่อยๆจนฝังอยู่ในใจแล้ว ก็จะดับความหลงความอยากต่างๆได้ เหมือนกับการท่องสูตรคูณ หรือท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ ถ้าท่องได้แล้ว เวลาเห็นตัวอักษรจะรู้ทันทีว่าเป็นตัวอะไร ถ้าจำความหมายของตัวอักษรได้ เวลาเห็นตัวอักษรในหนังสือ ก็จะเข้าใจความหมายทันทีเลย ไม่ต้องมาสะกดมาคิดว่ามีความหมายอย่างไร เพราะถูกฝังไว้อยู่ในใจแล้ว พอสัมผัสด้วยตาปั๊บก็จะรู้ขึ้นมาในใจทันที ฉันใดธรรมะก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่พวกเราไม่ค่อยได้เอาธรรมะเข้าสู่ใจ เหมือนที่เราเอา ก.ไก่ ข.ไข่หรือสูตรคูณเข้ามาสู่ใจกัน พอเวลาที่ต้องใช้ธรรมะก็เลยไม่มีธรรมะให้ใช้ มีแต่โมหะอวิชชาที่สร้างความอยากต่างๆขึ้นมา แล้วก็สร้างความทุกข์ตามมา

 

เราจึงควรเอาเวลาอันมีค่าของมนุษย์นี้ มาเอาธรรมะเข้าสู่ใจ ถ้าทำอย่างจริงจังก็ไม่ต่างจากการเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ จนอ่านออกเขียนได้ เพราะเราทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนกัน ตั้งแต่ ป.๑ ถึง ม.๖ ก็ ๑๒ ปีเข้าไปแล้ว ถ้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยก็อีก ๔ ปี รวมเป็น ๑๖ ปี ถ้านับอนุบาลอีก ๓ ปี และก่อนอนุบาลอีก ๑ ถึง ๒ ปี ก็ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนทางโลกอย่างน้อยก็ ๒๐ ปี ถ้าทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนธรรมะ ๒๐ ปี ก็จะหลุดพ้นได้อย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าทรงรับประกันไว้แล้ว ไม่เกิน ๗ ปี  พระพุทธเจ้าทรงเอาพระราหุลไปบวชเณร ตอนที่เสด็จกลับไปโปรดพระราชวงศ์ แล้วพระนางยโสธราพิมพาก็เอาพระราหุลมาขอมรดกจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยสั่งให้พระสารีบุตรเอาพระราหุลไปบวชเณร ตอนนั้นอายุประมาณ ๗ ขวบ บวชแล้วก็ไม่สึก เพราะเรียนจบแล้วบรรลุแล้วก็ไม่รู้จะสึกไปหาอะไร ที่สึกกันเพราะยังเรียนไม่จบ ยังไม่บรรลุกัน พวกที่เรียนจบแล้วจะไม่สึกกัน เพราะไม่มีความอยากเหลืออยู่ในใจ พวกที่สึกยังมีความอยากกับเรื่องต่างๆทางโลกอยู่ เช่นยังมีกามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ หรือความอยากมีอยากเป็น อยากเป็นสามีอยากเป็นภรรยา อยากจะเป็นเจ้านาย อยากเป็นใหญ่เป็นโต พวกนี้จะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ในอดีตที่ไม่นานมานี้ก็จะบวชประมาณ ๓ ถึง ๔ เดือนกัน เป็นธรรมเนียมของชายไทยอายุ ๒๐ ปีจะบวชกัน ๑ พรรษา พอออกพรรษารับกฐินแล้วก็ลาสิกขาไป แต่สมัยนี้พวกบวช ๓ ถึง ๔ เดือนนี้จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ พวกบวช ๑๕ วัน ๗ วันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ บวชแล้วยังไม่ทันได้เรียนได้ปฏิบัติก็สึกเสียก่อนแล้ว

 

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า การเรียนทางธรรมะกับการเรียนทางโลกนี้ไม่ต่างกัน ต้องมีเวลา ถ้าเรียนธรรมะแบบเรียนทางโลก ต้องบรรลุขั้นใดขั้นหนึ่งอย่างแน่นอน แต่เสียดายที่ไม่นิยมทางธรรมกัน ครูบาอาจารย์ที่จะสั่งสอนก็มีไม่มาก ก็เลยไม่มีการบรรลุธรรมกัน จึงควรคิดดูให้ดีว่า อะไรจะมีคุณค่ากว่ากัน การหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือการติดอยู่กับความทุกข์บนกองสุขของลาภยศสรรเสริญ ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่เป็นความสุขที่คลุกเคล้าไปด้วยความทุกข์ ความสุขที่มีความทุกข์ตามมาทีหลัง หรือจะเอาความสุขที่ทุกข์ในเบื้องต้น ที่เกิดจากการต่อสู้กับความอยากต่างๆ จากการตัดความสุขต่างๆ เพื่อความสุขที่ดีกว่า ที่ถาวร ที่ไม่มีความทุกข์ตามมา ก็มีทางเลือกอยู่ ๒ ทางอย่างที่เห็นกันอยู่ ทางโลกกับทางธรรม ถ้ายังเสียดายทางโลกอยู่ ให้เวลากับทางธรรมไม่มากเท่าที่ควร ก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร คือผลที่จะรับประกันไม่ให้จิตเสื่อมลงไปได้อีกเลย ก็คืออริยมรรคอริยผลนั่นเอง ถ้ายังไม่ได้เข้าสู่ขั้นมรรคผล ตั้งแต่ขั้นโสดาปฏิมรรคโสดาปฏิผลไปนี้ ถึงแม้จะได้บำเพ็ญบุญกุศลมามากน้อยเพียงไรก็ตาม บุญกุศลต่างๆก็จะเสื่อมหมดไปได้ จิตยังจะขึ้นๆลงๆเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ภพสูงภพต่ำอยู่ แต่ถ้าได้ขั้นโสดาปฏิมรรคโสดาปฏิผลแล้ว การที่จะต้องไปเกิดในอบายก็ตัดออกไปได้เลย ภพชาติที่เวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีจำนวนจำกัด ก็จะถูกลดเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก กลับมาเกิดในภพของมนุษย์ไม่เกิน ๗ ชาติก็จะได้บรรลุถึงพระนิพพานอย่างแน่นอน ถ้าปฏิบัติถึงขั้นสกิทาคามี ก็จะตัดภพชาติลงเหลือเพียงชาติเดียว จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุ ถ้าได้ขั้นพระอนาคามี ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะจิตของพระอนาคามีอยู่ในระดับพรหมโลก จะสามารถปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ในขณะที่อยู่ในสวรรค์ชั้นพรหมโลกได้ จึงไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะจิตของพระอนาคามีรู้ทันเรื่องของร่างกายหมดแล้ว รู้ว่าร่างกายเป็นกับดักของความทุกข์ จะไม่อยากมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะไม่ยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆแล้ว

 

ถ้ายังตัดกามตัณหาไม่ได้ก็ยังต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เช่นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ยังไม่สามารถตัดกามตัณหาหรือราคะตัณหาได้อย่างสิ้นเชิง เพราะยังไม่ได้เจริญอสุภกรรมฐานได้อย่างเต็มที่ ยังไม่ได้พิจารณาความไม่สวยงามของร่างกายในรูปแบบต่างๆ ยังไม่ได้พิจารณาส่วนที่ถูกซ่อนไว้ใต้ผิวหนัง ยังไม่ได้พิจารณาสภาพที่ตายไปแล้ว ถ้าเห็นสภาพของร่างกายว่าเป็นอสุภะ ไม่สวยงามน่าเกลียดน่ากลัวแล้ว ก็จะไม่ยินดีกับการเสพกามต่อไป ถ้าตัดได้อย่างราบคาบแล้ว จิตจะไม่แสวงหาร่างกายมาเสพสุขอีกต่อไป ถ้าไม่หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ไม่ต้องมีตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ต้องมีร่างกาย นี่คือเรื่องของพระอนาคามีที่ตัดกามตัณหาได้แล้ว แต่ยังติดอยู่กับภวตัณหา ยังอยากมีอยากเป็น ยังมีอัตตาตัวตน ยังอยากเป็นใหญ่ ยังอยากจะให้ผู้อื่นยกย่องเคารพสรรเสริญ ยังติดกับความสุขที่ละเอียดที่อยู่ในใจ เป็นความสุขที่เป็นไตรลักษณ์ ที่ยังเปลี่ยนแปลงได้ สุขแล้วก็ยังทุกข์ได้ เป็นความสุขภายในใจ เวลาจิตสงบนิ่งก็สุข พอจิตคิดปรุงแต่งก็จะเกิดทุกข์ขึ้นมาได้ ถ้าคิดปรุงแต่งไปในทางกิเลส ในทางอัตตาตัวตน แต่จะไม่ต้องกังวลกับเรื่องของร่างกาย เพราะเข้าใจหมดแล้ว ทุกสัดทุกส่วน ไม่หลงอยากได้ร่างกายของใครมาเป็นคู่ครองอีกต่อไป ท่านจึงสามารถเจริญธรรม เพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในสวรรค์ชั้นพรหมโลกได้เลย ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

 

นี่คือการปลูกฝังธรรมะให้อยู่กับใจ จนกลายเป็นมรรคผลขึ้นมา ป้องกันไม่ให้ใจไหลกลับไปสู่กระแสของโลก เพราะคำว่าโสดาบันนี้ก็มาจากคำว่าโสตะ ภาษาบาลีแปลว่ากระแส ก็คือกระแสสู่พระนิพพานนั่นเอง เหมือนกับขับรถ พอขึ้นทางด่วนได้แล้ว ก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วและแน่นอน เพราะไม่มีไฟแดง ไม่มีทางแยก ที่จะหลอกให้หลงทางได้ การปฏิบัติธรรมจึงต้องทุ่มเทเวลาให้มาก เหมือนกับการทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาทางโลก ทางโลกเราทุ่มเทให้ได้ตั้ง ๒๐ ปี ทางธรรมเพียง ๗ ปีเท่านั้น ทำไมจะทุ่มเทให้ไม่ได้ เป็นการเรียนเหมือนกัน ต้องหาโรงเรียนที่มีครูมีอาจารย์ที่รู้เรื่องทางนี้จริงๆ สอนแต่เรื่องธรรมะอย่างเดียว อย่างสมัยที่ไปอยู่วัดป่าบ้านตาด ก็เหมือนกับได้ไปโรงเรียนอย่างที่พูดนี้เลย เพราะที่นั่นจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับการศึกษาและการปฏิบัติเท่านั้น จะไม่มีภารกิจอย่างอื่นให้ทำ ไม่มีการก่อสร้าง ไม่มีการเกี่ยวข้องกับศรัทธาญาติโยม ที่จะมาทำบุญบังสังสวดต่างๆ เช่นบังสุกุล สังฆทาน ทำบุญวันเกิด หรือสวดสะเดาะเคราะห์ ภารกิจเหล่านี้จะไม่มีที่วัดป่าบ้านตาด จะมีแต่งานของพระคือบิณฑบาต ทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณวัดให้สะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วก็เข้าทางจงกรมหรือนั่งสมาธิ ปลีกวิเวกอยู่ในป่า ทุก ๔ ถึง ๕ วันพระอาจารย์จะเรียกไปอบรมสัก ๑ ครั้ง อบรมเรื่องธรรมะ วิธีของการปฏิบัติต่างๆ ปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น วิธีที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ท่านจะคอยสอนอยู่ตลอดเวลา เราก็สบายไปเลย ไม่ต้องทำอะไร เพียงทำตามที่ท่านสอน ไม่นานก็เรียนจบ

 

สมัยหลวงปู่มั่นก็เป็นแบบนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ไปศึกษากับหลวงปู่มั่นก็เรียนจบกันเป็นจำนวนมาก ประวัติของท่านเราก็ได้ยินได้ฟังกันแล้ว อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ เป็นเครื่องยืนยันว่าได้เรียนจนสำเร็จแล้วจากโรงเรียนของพระพุทธศาสนา เพราะปฏิบัติกันจริงๆ เพียงไม่กี่ปีก็ได้ขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว ส่วนจะได้ถึงขั้นสุดท้ายเมื่อไหร่ จะช้าหรือจะเร็ว ก็อยู่ที่อินทรีย์ของท่านคือ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ถ้ามีมากก็จะไปเร็ว ถ้ามีน้อยก็ไปช้า อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ๗ วันก็ดี หรือ ๗ เดือนก็ดี หรือ ๗ ปีก็ดี ต้องบรรลุอย่างแน่นอน เพราะความแตกต่างกันในอินทรีย์นี้เอง ศรัทธาอาจจะมีมากเท่าๆกัน แต่วิริยะความอุตสาหะพากเพียรสติสมาธิปัญญาจะไม่เท่ากัน ทำให้การสำเร็จการศึกษาในทางพระพุทธศาสนานี้ มีความแตกต่างกัน หรืออาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามา ทำให้ไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ เช่นพระอานนท์ที่มีภาระอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า จึงไม่มีโอกาสปลีกวิเวกไปบำเพ็ญได้อย่างเต็มที่ ก็เลยเหมือนต้องพักเรียนไปชั่วคราว ต้องไปช่วยงานทางบ้าน ก็เลยต้องพักเรียนไปก่อน ไปช่วยงานทางบ้าน พอเสร็จแล้วค่อยกลับไปเรียนต่อ  พระอานนท์นี้โชคดีที่ภาระเป็นการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เพราะจะได้ศึกษาตลอดเวลา เพราะหนึ่งในเงื่อนไขที่รับภาระนี้ก็คือ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าไปทรงแสดงธรรมที่ไหนก็ตาม ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ตามเสด็จไปด้วย พระพุทธเจ้าต้องกลับมาแสดงธรรม ให้พระอานนท์ได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เพราะท่านถือว่าการที่ได้รับใช้พระพุทธเจ้านี้ ก็เพื่อการได้ยินได้ฟังธรรมะนั่นเอง เพราะพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะตรัสอะไรก็เป็นธรรมะทั้งนั้น ลูกศิษย์ลูกหาพระเณรต่างๆ จึงแย่งกันอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับท่าน จะได้รับการอบรมอย่างใกล้ชิด เวลาอยู่ใกล้ท่าน ท่านจะดูกิริยาอาการตลอดเวลา ถ้าเห็นออกไปนอกลู่นอกทาง ออกไปทางกิเลสเมื่อไหร่ ท่านจะดึงกลับมาทันที จะมีคติธรรมสอนอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรจะเป็นคติธรรมเป็นอุบาย ที่จะปลูกฝังให้เกิดสติปัญญาขึ้นมา

 

การได้รับใช้อุปถัมภ์อุปัฏฐากครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิดนี้ จึงเป็นเรื่องที่แย่งกันทำ อยากได้กันมาก แต่ไม่อยากแบบทางโลก คืออยากได้ลาภสักการะที่ครูบาอาจารย์ได้รับจากญาติโยม นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขของพระอานนท์ จะไม่ขอรับลาภสักการะต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าจะประทานให้แก่พระอานนท์ เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่ารับใช้พระพุทธเจ้าเพื่อลาภสักการะ  พระอานนท์ขอธรรมะอย่างเดียว ถ้าไม่ได้ตามเสด็จไปด้วยเวลาไปแสดงธรรมที่ไหน ก็ขอให้กลับมาแสดงให้กับพระอานนท์ด้วย ท่านแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าทำเพื่อธรรมะอย่างเดียว เพราะเรื่องลาภสักการะนี้ท่านมีมามากแล้ว ท่านเป็นเจ้าชายเหมือนพระพุทธเจ้า ท่านเบื่อสิ่งเหล่านี้แล้ว เพราะเห็นแล้วว่าเป็นทุกข์ไม่ใช่สุข เป็นกับดักที่จะดักใจของสัตว์โลก ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ท่านจึงต้องดิ้นออกจากกับดักนี้ เมื่อออกมาแล้วจะกลับไปหากับดักนั้นอีกทำไม ถ้าพระเณรไปห้อมล้อมเพราะลาภสักการะ ก็เป็นความหลงของพระเณร แต่สำหรับผู้ที่เข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อธรรมะจริงๆจะไม่เป็นอย่างนั้น พระเณรที่อุปัฏฐากครูบาอาจารย์เพื่อลาภสักการะนี้ หลังจากที่ท่านจากไปแล้ว มักจะลาสิกขากันไป เพราะไม่มีธรรมะอยู่ในใจ ที่จะดึงใจให้อยู่ในสมณเพศได้ พอไม่มีลาภสักการะแล้ว ก็ไม่มีกะจิตกะใจที่จะอยู่ต่อไป ก็เลยลาสิกขากันไป

 

จึงควรสำรวจดูใจของเราว่ายินดีกับอะไร ยินดีกับธรรมะหรือยินดีกับลาภยศสรรเสริญสุข ถ้ายินดีในลาภยศสรรเสริญสุข ก็ต้องพยายามตัดให้ได้ เพราะเป็นยาพิษ ไม่ใช่ธรรมโอสถ ควรยินดีกับธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นธรรมศึกษาหรือธรรมปฏิบัติ ทุกครั้งที่จะฟังอะไร ควรถามตนเองว่ากำลังจะฟังอะไร ฟังยาพิษหรือฟังอาหารที่มีประโยชน์แก่จิตใจ พอมีสติอย่างนี้แล้วก็จะเปลี่ยนใจได้ เมื่อเช้านี้ก็มีคนสารภาพว่า ฟังแต่ยาพิษ ดูแต่ยาพิษ ไม่ได้ฟังได้ดูธรรมะเลย นี่ก็แย่มากที่กล้าสารภาพ ไม่อายเลย แทนที่จะคิดว่าเราควรรีบกลับตัวกลับใจ กลับรับหน้าชื่นตาบานว่าไม่ได้ฟังธรรมเลย ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย ดูแต่โทรทัศน์ ฟังแต่วิทยุ นี่ไม่ได้ว่ากันนะ พอดีพูดเรื่องอุปสรรคของการปฏิบัติ ความหลงมันร้ายกาจขนาดนั้นนะ มันทำให้เห็นว่าไม่เป็นโทษเลย คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้ามองจากมุมธรรมะแล้ว จะเห็นว่าเรานี้แย่มาก ไม่เห็นคุณค่าของเวลา ไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ ต้องเรียนไปอีกหลายชาติกว่าจะจบ หรือไม่จบเลย เพราะใจไม่ใฝ่ธรรมไม่ยินดีในธรรม ยินดีแต่รูปเสียงกลิ่นรส ติดอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรส การได้ยินได้ฟังธรรมเป็นประโยชน์อย่างนี้ ได้สติเตือนใจ ได้ข้อคิดไปเป็นการบ้าน คราวที่แล้วฝากการบ้านไปทำ ก็บ่นว่ายาก คราวนี้จะให้อย่างง่ายหน่อย ให้คิดดูอยู่เรื่อยๆว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังยินดีกับอะไร กับลาภยศสรรเสริญสุข หรือกับธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้ายินดีกับลาภยศสรรเสริญสุข ก็ควรถอนตัวออกมา เพราะเป็นเหมือนกับดักสัตว์ สัตว์ฉลาดที่รู้ทันจะไม่เข้าไปใกล้ แต่สัตว์ที่ไม่ฉลาดจะเข้าไปกินอาหารในกับทันที ก็จะถูกจับไปทันที

 

ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้เป็นตัวสำคัญมาก ที่จะผูกจะจับสัตว์โลกให้เวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น คือกามสุข กามตัณหาความอยากในกาม จึงต้องเห็นว่าเป็นเหมือนอสรพิษ อย่าไปคิดว่าเป็นเพื่อนดี เวลามันมาชวนเรา อย่าไปกับมัน เพราะจะหลอกเราไปเชือดอย่างไม่รู้สึกตัว ให้ยินดีในธรรม พยายามคิดถึงธรรมะ คิดถึงการฟังเทศน์ฟังธรรม คิดถึงการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยๆ นี่เป็นการบ้านสำหรับอาทิตย์นี้ ไม่ได้ว่ากันนะ เพราะเป็นความจริงของชีวิต เป็นเหตุทำให้ได้ยกขึ้นมาเป็นเครื่องเตือนสติ เวลาบ่นว่าทำไมไม่ก้าวหน้าเลย จะได้ไม่ต้องไปโทษใคร โทษความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรส ไม่ยินดีในธรรม จึงไม่ได้ให้เวลากับธรรมเท่าที่ควร เอาเวลาไปให้กับรูปเสียงกลิ่นรสเสียหมด เวลาของพวกเรามีจำกัด วันหนึ่งมีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง จะแบ่งไปทางไหนดี ถ้าไปทางนั้นก็จะไม่ได้มาทางนี้ ถ้ามาทางนี้ก็จะไม่ไปทางนั้น จึงควรลดเวลาที่ให้กับรูปเสียงกลิ่นรสลง เอาเวลามาเพิ่มกับความยินดีในธรรมะ เวลาจะดูโทรทัศน์ดูหนังก็เปิดเทปธรรมะฟังแทน หรือเปิดซีดีธรรมะดูก็ได้ ดูสารคดีทางธรรมะก็ได้ ดูอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับธรรมะ เพื่อจะได้มีธรรมะไว้เหนี่ยวรั้งจิตใจ พอดูบ่อยๆก็จะเห็นคุณค่าของธรรมะ จะทำให้เกิดมีความยินดีมากขึ้น ตอนต้นก็ยินดีกับการดูการฟัง พอได้ดูได้ฟังแล้วก็จะยินดีกับการปฏิบัติ เพราะรู้แล้วว่าดีอย่างนี้ดีอย่างนั้น แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เหมือนยังไม่ได้รับประทานอาหาร ดูสาธิตการทำอาหาร ดูการรับประทานอาหาร ดูการโฆษณาคุณค่าและรสชาติของอาหาร ว่าดีอย่างไร ดูแล้วก็น้ำลายไหล แสดงว่าเกิดความยินดีที่จะรับประทานแล้ว ก็ต้องไปหาอาหารมารับประทาน

 

พอได้ยินได้ฟังเรื่องธรรมะ เรื่องของความสุข เรื่องของมรรคผลนิพพาน เรื่องของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์แล้ว ก็จะเกิดความยินดีจะเป็นบ้าง ก็จะได้ออกปฏิบัติกัน ทำบุญทำทานให้มากขึ้น เงินทองที่จะเอาไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆก็เอาไปทำทานเสีย ศีลที่ไม่ค่อยมีก็รักษาให้มีมากขึ้น ให้บริสุทธิ์มากขึ้น สมาธิที่ไม่มีก็พยายามนั่งให้มากขึ้น ให้มีมากขึ้น ปัญญาที่ไม่มีก็พยายามที่จะพิจารณาให้มีมากขึ้น พอได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วจิตก็จะเจริญก้าวหน้า มรรคผลเกิดจากการปฏิบัติ ไม่ได้เกิดจากอย่างอื่น ต่อให้เกาะชายผ้าเหลืองของครูบาอาจารย์หรือของพระพุทธเจ้าไป ก็จะไม่ได้มรรคผลถ้าไม่ได้ปฏิบัติ เวลาไปวัดก็ไปแย่งที่นั่งข้างหน้ากัน ให้ท่านแผ่บารมีให้ แต่ธรรมไม่ได้เข้าไปสู่ใจ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับเกาะชายผ้าเหลือง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ต่อให้ได้เกาะชายผ้าเหลืองของพระพุทธองค์ แต่ถ้าจิตไม่ใฝ่ธรรม ไม่เจริญสติไม่เจริญปัญญา ก็เหมือนกับไม่ได้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า ส่วนผู้ที่อยู่ห่างไกลเป็นโยชน์จากพระพุทธเจ้า แต่หมั่นเจริญสติหมั่นเจริญปัญญาหมั่นเจริญธรรมอยู่เรื่อยๆ ผู้นั้นแลคือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า เพราะผู้นั้นจะเป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม จะเป็นผู้เห็นธรรม พอเห็นธรรมแล้วก็จะเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นแลคือผู้ที่เห็นตถาคต ผู้ที่เห็นตถาคตก็คือผู้ที่เห็นธรรม ส่วนสรีระร่างกายของตถาคตนี้ไม่ใช่ตัวตถาคต ต่อให้นั่งใกล้ชิด ต่อให้จ้องมองดูอยู่ทุกวัน ก็จะไม่เห็นตถาคต ตถาคตอยู่ที่ธรรมะคำสอน เวลาอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ก็ต้องมีสติจดจ่อกับการฟัง อย่าไปนั่งคิดว่าอยากจะให้ครูบาอาจารย์อยู่กับเราไปนานๆ อยากจะได้เข้ามากราบท่านทุกวัน ความคิดอย่างนี้ดีแต่ไม่พอ อยากจะอยู่ใกล้ชิดกับท่านก็ดี อยากจะให้ท่านอยู่กับเราไปนานๆก็ดี แต่ต้องมีเหตุผล อยู่เพื่อให้ท่านแสดงธรรมให้แก่พวกเรา จะได้เกิดฉันทะวิริยะที่จะปฏิบัติธรรมกัน

 

การฟังธรรมต้องเป็นอย่างนี้ ฟังเพื่อให้เกิดฉันทะวิริยะที่จะปฏิบัติ เมื่อมีฉันทะวิริยะแล้วเวลาปฏิบัติไม่ต้องนั่งอยู่ใกล้ท่านแล้ว ต้องไปปลีกวิเวก ไปหาที่สงบสงัด พอธรรมะจะจางหายไปจากใจ ก็กลับมาหาท่านใหม่กลับมาฟังเทศน์ฟังธรรมต่อ แล้วก็กลับไปปฏิบัติใหม่ ครูบาอาจารย์ถึงต้องคอยอบรมพระเณรที่อยู่กับท่านอย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีภารกิจทางอื่นบางที ๓ ถึง ๔ วันก็จะเรียกประชุมอบรม ถ้ามีภารกิจมากก็ต้องห่างออกไป สมัยแรกๆไปอยู่กับท่านทุก ๔ ถึง ๕ วัน ก็จะอบรมครั้งหนึ่ง ต่อมาก็ ๗ วันบ้าง ต่อมาก็ห่างมากขึ้น เพราะมีภารกิจมากขึ้น มีปัญหาทางด้านสุขภาพบ้าง จนบางครั้งก็ห่างเป็นเดือนเลยก็มี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นว่า ได้มีการบันทึกเสียงธรรมะของท่านไว้เป็นจำนวนมากแล้ว พระทุกองค์สามารถหาฟังได้ จึงไม่ค่อยวิตกกังวลกับการอบรมสั่งสอน เทคโนโลยีหรือเครื่องใช้ไม้สอยสมัยใหม่นี้ เอามาใช้ประโยชน์ในทางธรรมะได้ เอามาเปิดฟังธรรมได้ เวลาที่อยากจะฟังก็เอามาเปิดฟังได้ ไม่ต้องไปพบท่านเสมอไป เพราะธรรมะที่ฟังแต่ละครั้งนี้ จะได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ท่านพูด ๑๐๐ คำอาจจะได้เพียง ๑๐ คำเท่านั้นเอง หรือเข้าใจเพียง ๑๐ คำ เพราะจิตของเราวันนั้นอยู่ในระดับนั้น รับได้เพียงส่วนนั้น แต่ส่วนที่เหนือความสามารถของเราที่จะเข้าใจได้ ก็จะไม่เข้าใจ พอได้ปฏิบัติธรรมได้ขยับขึ้นไปอีกหน่อย พอกลับมาฟังกัณฑ์เดิม ก็เหมือนได้ฟังกัณฑ์ใหม่ เหมือนไม่เคยได้ฟังมาก่อน คราวที่แล้วก็ฟังมาแล้วแต่ทำไมไม่เหมือนกับคราวนี้ ได้อะไรใหม่ที่ไม่ได้ในคราวที่แล้ว

 

จึงอย่าไปคิดว่าธรรมะที่ได้ฟังแล้วนี้ จะซ้ำซากจำเจหรือไม่มีอะไรใหม่ มันมีแต่เราไม่รู้ ควรฟังธรรมสลับกับการปฏิบัติ ให้ยึดเป็นแนวทางของการดำเนิน เวลาเข้าหาครูบาอาจารย์ไม่ได้เข้าเพื่อเห็นหน้าเห็นตาท่าน ไปเพื่อฟังธรรม ฟังแล้วจะได้ประเด็นไปปฏิบัติต่อ มีการบ้านไปทำ ธรรมที่ท่านแสดงที่เรายังทำไม่ได้ เป็นการบ้านของเรา ถ้าทำได้แล้วก็หมดปัญหาไป การเข้าหาครูบาอาจารย์ต้องเข้าอย่างนี้ เวลาไปวัดถ้าไม่ได้นั่งข้างหน้า ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ถ้ามีระบบเสียงที่เราสามารถได้ยินได้ฟัง เหมือนกับนั่งใกล้ชิดกับท่านก็ใช้ได้ ไปเพื่อธรรมะ เพราะท่านมีธรรมะ ไม่ต้องการอย่างอื่นจากท่าน ไม่ต้องการขนม ไม่ต้องการให้ท่านยิ้มหรือทักทายเรา ส่วนนั้นถือเป็นของแถมก็แล้วกัน เหมือนกับไปเติมน้ำมัน ถ้าแจกอะไรก็รับไว้ แจกผ้าขนหนูแจกปากกาแจกดินสอแจกสมุดก็รับไว้ แต่เราไม่ได้ไปปั๊มเพื่อสิ่งเหล่านี้ เราไปเติมน้ำมันเพื่อจะได้ขับรถไปสู่จุดหมายปลายทาง ไปหาครูบาอาจารย์ก็ไปหาธรรมะ ซึ่งเป็นเหมือนน้ำมัน ที่จะขับจิตใจของเราให้ไปสู่มรรคผลนิพพาน

 

มันเป็นไปได้ แต่เราไม่ทำกันเท่านั้นเอง จึงต้องเข้าห้องปฏิบัติกัน ต้องทำการบ้านกัน ไปทดสอบดูว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ของผู้สอนก็บอกทางแล้ว ถ้าไม่ชัดเจนก็ถามได้ ข้องใจตรงไหนติดตรงไหนก็ถามได้ ไม่เคยห้าม ถ้าทุ่มเทเวลาให้อย่างเต็มที่ ลาออกจากงานสักปีหนึ่งถ้าลาได้ ออกปฏิบัติจริงๆสักปีหนึ่ง ต้องได้อะไรสักอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน เราก็ทดลองอยู่ปีหนึ่ง ก็รู้ว่าบวชได้ ตอนต้นก็ไม่แน่ใจว่าจะบวชได้หรือไม่ ตอนนั้นยังรักความสุขทางโลกอยู่ ยังเสียดายอยู่ ต้องลองอยู่อย่างพระสัก ๑ ปี ตัดความสุขทางโลกไปหมด ถือศีล ๘ แต่ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาว ไม่มีใครรู้ว่าเราถือศีล ๘ แต่เรารู้ รู้ว่าศีล ๘ เป็นอย่างไร เราศึกษาอยู่ รู้วิธีการปฏิบัติจิตตภาวนา ใช้สติปัฏฐาน ๔ เป็นคัมภีร์หลักของการปฏิบัติ ทั้งสมถะและวิปัสสนา อยู่ตรงนี้ อยู่ที่สติปัฏฐาน ๔ อานาปานสติก็อยู่ในนี้ เป็นบทแรกเลยของพระสูตร ให้ไปหาที่สงบ นั่งอยู่โคนไม้หรืออยู่ในเรือนร้าง หาสถานที่สงบสงัดวิเวก ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสมารบกวนใจ ตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจ ตั้งตัวให้ตรง นั่งขัดสมาธิ ไม่ต้องเกร็ง ตั้งตัวให้ตรง แต่ไม่ต้องเกร็ง พอภาวนาแล้วก็ไม่ต้องไปสนใจกับอิริยาบถของร่างกาย จะรู้สึกว่าเอนไปทางซ้ายขวา ไปทางหน้าหลัง ก็อย่าไปสนใจ หลังไม่ตรงก็ไม่เป็นไร ขอให้คิดว่าได้ตั้งไว้ตรงแล้ว เพราะถ้ามัวพะวักพะวนกับอิริยาบถของร่างกาย ก็จะไม่ได้ภาวนา

 

พอเริ่มภาวนาแล้ว ถ้าใช้อานาปานสติก็ให้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว หายใจเข้าก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่ากำลังหายใจออก หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น ลมหยาบก็รู้ว่าลมหยาบ ลมละเอียดก็รู้ว่าลมละเอียด ลมหายไปก็รู้ว่าลมหายไป ให้รู้ความจริงของลม ไม่ต้องไปจัดการกับลม ปล่อยให้ลมเป็นไปตามเรื่องของเขา ถ้าลมหายไปก็อย่าตกใจ อย่าไปคิดว่าลมหายไปแล้วจะตาย เพราะไม่มีลมหายใจ ความจริงขณะนั้นลมละเอียดมากจนไม่สามารถจับมันได้ ตราบใดยังมีตัวรู้อยู่ ไม่ตายแน่นอน ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ให้อยู่กับตัวรู้นี้ ถ้าไม่มีลมก็ให้อยู่กับตัวรู้นี้ แล้วมันจะรวมลงเข้าสู่ความสงบเอง ตอนนั้นร่างกายก็จะหายไป ลมก็จะหายไป เหลือแต่สักแต่ว่ารู้อยู่ตามลำพัง ขณะที่มันสงบก็อย่าไปยุ่งกับมัน ปล่อยให้สงบให้นิ่งไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะความสงบของจิตนี้จะเป็นฐานของวิปัสสนาของปัญญาต่อไป เป็นอาหาร เวลาจิตมีความสงบนี้จะมีความอิ่ม กิเลสจะไม่มีกำลังมาฉุดลากให้อยากได้สิ่งนั้นอยากทำสิ่งนี้ เวลาออกจากสมาธิแล้ว จะไม่ค่อยอยากเหมือนกับตอนที่ไม่มีความสงบ แต่ยังไม่หมดไป เพราะกิเลสความอยากไม่ได้ถูกทำลายด้วยอำนาจของสมาธิ เพียงแต่ถูกฉีดยาสลบ ทำให้มันอ่อนกำลังลงไป

 

พอออกจากสมาธิแล้วก็ยังมีความอยากอยู่ แต่ไม่รุนแรงเหมือนตอนที่ไม่มีความสงบ ตอนนั้นเราก็จะสามารถเอาจิตนี้มาทำงานทางด้านวิปัสสนาได้ มาคิดทางธรรมะได้ ถ้าจิตมีกิเลสมีความหิว มันจะไม่ยอมให้เราคิดทางธรรมเลย มันจะให้เราคิดทางลาภยศสรรเสริญ ทางรูปเสียงกลิ่นรส จะคิดถึงโทรทัศน์วิทยุ คิดถึงเครื่องบันเทิงต่างๆ นี่แหละคือกิเลส คือความอยากทางกาม มันจะให้เราคิดแต่เรื่องเหล่านี้ แต่ถ้าได้สมาธิแล้วพอถอนออกมา ความอยากเหล่านี้เหมือนจะหายไป แต่พอไปเห็นหรือสัมผัสอะไรเข้า ก็จะกระตุ้นให้กิเลสตัณหาเกิดขึ้นมา เช่นเห็นคนนั้นคนนี้ ก็จะไปกระตุ้นกิเลสที่ยังมีอยู่ให้ออกมา ถ้าอยู่ในป่าในเขาในที่สงบสงัดที่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะไม่มีอะไรมากระตุ้นให้เกิดกิเลสตัณหา เราก็สามารถเดินจงกรมพิจารณาธรรมไปได้อย่างเพลิดเพลิน จนกว่ากำลังของสมาธิจะหมด แล้วกิเลสเริ่มออกมารบกวน ตอนนั้นก็ต้องกลับเข้าไปพักในสมาธิใหม่ ฉีดยาสลบให้กิเลสใหม่ ทำจิตให้สงบ ถ้าเคยใช้อานาปานสติก็กลับไปทำอานาปานสติต่อ ดูลมไปจนจิตรวมลงสงบนิ่ง พักอยู่ในความสงบ พักให้พอ พอแล้วก็ถอนออกมา ก็ออกมาพิจารณาธรรมต่อ ธรรมนี้ต้องเป็นไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ในรูปก็ได้ ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณก็ได้ เพราะใจยังหลงยึดติดอยู่ ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ยังเห็นว่ารูปนี้เที่ยง ยังเห็นว่ารูปนี้ให้ความสุข ยังเห็นว่ารูปนี้เป็นตัวเราของเรา ก็ต้องพิจารณาแยกแยะว่าเป็นเพียงสภาวธรรม เหมือนกับลมที่พัดมาแล้วก็พัดไป ไม่มีตัวตน ไม่อยู่นิ่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ พิจารณาไปจนรู้ทันความหลง ก็จะไม่คิดอยากให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด ถ้ายังคิดอยากจะให้เป็นอย่างนี้ไปตลอดอยู่ ก็จะคิดไม่อยากให้ร่างกายแก่ ถ้าเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ไม่อยากจะให้แก่ ถ้ามีสุขภาพดีก็จะไม่อยากให้เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามีชีวิตอยู่ก็จะไม่อยากให้ตาย นี่คือความคิดของกิเลส จะคิดไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย

 

ถ้าพิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาความจริงของร่างกายนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะรู้ว่าต้องแก่ไปเรื่อยๆ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บบ้างหายบ้าง แล้วในที่สุดก็จะต้องตายไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะจะกลายเป็นดินน้ำลมไฟไป เอาไปเผาก็จะเหลือแต่ขี้เถ้ากับเศษกระดูกไม่กี่ชิ้น กระดูกก็เป็นวัตถุ ทิ้งไว้หรือเอาไปบดก็จะกลายเป็นดินไป ต้องพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เวทนาก็เช่นเดียวกัน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สุขไปตลอด ไม่ทุกข์ไปตลอด แต่จะสลับกันไป เวลาเวทนาเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ยอมรับความจริงของมัน สุขก็อย่าไปอยากให้สุขไปตลอด ทุกข์ก็อย่าไปอยากให้หายไปเร็วๆ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน วิธีปล่อยวางเวทนาก็คือนั่งให้มันเจ็บ แล้วก็ปล่อยให้มันเจ็บไป อย่าไปอยากให้มันหาย อย่าไปอยากหนีจากมันไป อยู่กับมันไป มันเป็นเหมือนเงาตามตัวเรา มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป มันจะเปลี่ยนเป็นสุขก็ให้มันเปลี่ยนไป มันจะเปลี่ยนเป็นทุกข์ก็ให้มันเปลี่ยนไป เราไปห้ามมันไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นอย่างนั้น นี่คือการพิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ พิจารณาไปเรื่อยๆ ต่อไปจะปล่อยวางขันธ์ ๕ ได้ ปล่อยเขาไปตามธรรมชาติของเขา ร่างกายจะเป็นอะไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป ถ้าไม่สามารถดูแลรักษาได้ก็ต้องปล่อยไป ถ้ายังดูแลรักษาได้ก็รักษาไป เวทนาก็เหมือนกันถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริงของเขา ถ้าไม่ไปหลงไปอยากกับเขาแล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไร สังขารความคิดปรุงแต่งก็เหมือนกัน คิดแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ทำตามความคิดก็ไม่เป็นปัญหา คิดโกรธเกลียดแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ไปโกรธเกลียดตามก็ไม่เป็นปัญหาอะไร จะโกรธใครก็รู้ว่าโกรธ รู้ว่าเป็นเพียงความคิด เราอย่าไปโกรธตามมันก็แล้วกัน มันคิดอยากได้โน่นได้นี่ เราอย่าไปอยากตาม ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร รู้ว่าเป็นเพียงความคิด เหมือนคนมากระซิบว่าทำอย่างนั้นสิทำอย่างนี้สิ ถ้าเราไม่ทำตามก็ไม่เป็นปัญหาอะไร นี่คือการเจริญวิปัสสนา

 

ต้องใช้ไตรลักษณ์ตลอดเวลาถึงจะเป็นปัญญา ถึงจะดับความหลงได้ ถึงจะดับอวิชชาได้ เพราะความหลงจะเห็นสวนทางกับความจริง ความจริงก็คือไตรลักษณ์ เป็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ ๕ ก็ดี รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ดี ตาหูจมูกลิ้นกายก็ดี ลาภยศสรรเสริญสุขก็ดี เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้ว ก็จะไม่หลงยึดติด ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะใจไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยสิ่งเหล่านี้ เวลาปล่อยวางได้แล้ว จะได้สิ่งที่ดีกว่าที่มีอยู่ในใจ ที่ถูกสิ่งเหล่านี้บดบังไว้ คือความสงบนี่เอง พอปล่อยวางได้แล้วใจจะสงบ จะโล่ง จะเบา จะเย็น จะอิ่ม ไม่หิวไม่อยากกับอะไร พอมีความหลงปั๊บ ก็จะหิวขึ้นมาทันที อยากขึ้นมาทันที พอมีปัญญาก็จะดับความหลงได้ ความอิ่มก็เกิดขึ้นมาทันที ต้องใช้ปัญญาถึงจะดับทุกข์ได้อย่างถาวร ดับกิเลสได้อย่างถาวร ต้องใช้ปัญญา ใช้วิปัสสนา ใช้ไตรลักษณ์ตลอดเวลา ในขณะที่ใจไปเกี่ยวข้องกับอะไร ใช้ไตรลักษณ์คอยคุมตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่ไปคิดในทางตรงกันข้ามกับไตรลักษณ์ ไม่คิดให้เป็นนิจจังเป็นสุขังเป็นอัตตา ต้องคิดว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะหลุดได้ ถ้ามีสติตามรู้อย่างเดียว หรือมีสมาธิอย่างเดียว จะไม่พอ ดับได้ชั่วคราว ถ้ามีสติเวลากิเลสเกิดขึ้นมาก็รู้ทันมัน มันก็หายไป พอเผลอก็กลับมาใหม่ เหมือนลิงหลอกเจ้า ถ้ามีสมาธิก็เหมือนถูกฉีดยาสลบ พอออกจากสมาธิเดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมาใหม่ ไม่ตายอย่างถาวร แต่ถ้ามีปัญญาจะไม่กลับมาอีก ทุกครั้งที่มันจะกลับมาไตรลักษณ์ก็จะตัดทันที 

 

นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ ต้องไปอยู่ที่สงบสงัดวิเวก พอมีปัญหาไม่เข้าใจอะไร ติดอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าไปถึงไหนแล้ว ก็ไปเล่าให้ผู้ที่มีประสบการณ์ฟัง อย่างหลวงตานี่จะเข้าไปกราบเรียนหลวงปู่มั่นอยู่เรื่อยๆ ตอนที่ท่านได้สมาธิท่านก็ไม่ออกทางปัญญา หลวงปู่มั่นท่านก็บอกว่าสมาธิเป็นเหมือนเศษเนื้อติดฟัน พอหลวงปู่มั่นบอกให้ออกทางปัญญา ก็พิจารณาจนไม่หลับไม่นอน หลวงปู่มั่นก็บอกว่าติดสังขาร พิจารณามากเกินไป ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกก็จะไม่รู้ ท่านติดสมาธิเป็นปีๆ จนคิดว่าบรรลุแล้ว เพราะสมาธิเป็นเหมือนนิพพานชั่วคราว เวลาจิตสงบนิ่งก็จะมีความสุข พอออกมาสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา ถ้าไม่มีสติปัญญาคอยเฝ้าดูใจ ก็จะไม่รู้ว่าเกิดอารมณ์ขึ้นมา ยังคิดว่าหลุดพ้นแล้วสบายแล้ว เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาคือตัวความหลง ที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ยังไม่ได้เจริญไตรลักษณ์ ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ถึงจะตัดความหลงได้ ถ้ามีผู้ที่มีประสบการณ์คอยสอนก็จะช่วยได้มาก หนังสือนี้ช่วยไม่ค่อยได้ เพราะเป็นเหมือนยาในตู้ เราต้องการยาเม็ดเดียว แต่ไม่รู้ว่าเม็ดไหน มียาเต็มตู้ ถ้ากินยาผิดก็จะไม่ได้ผล แต่ถ้ามีหมอหยิบยาให้ ก็จะได้ผลเร็ว ครูบาอาจารย์ก็เป็นเหมือนหมอ เวลามีปัญหาอะไรพอไปเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟัง ท่านก็จะบอกว่าต้องทำอย่างไร ที่ทำมาแล้วถูกหรือไม่ถูก ถ้าไม่ถูกก็ต้องแก้ ถ้าถูกแล้วก็ก้าวไปต่อ เพราะยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าติดอยู่ตรงนั้นก็จะไม่คืบหน้า

 

การมีครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์คอยสอน จึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง พระเณรจะแสวงหาครูบาอาจารย์กัน อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์แล้วมีความสุขความสบาย แต่ต้องปลีกวิเวกบ้าง ถ้าอยู่ที่วัดไปนานๆก็จะผูกพันกับภารกิจทางวัด จนไม่มีเวลาปฏิบัติ จะเป็นเหมือนพระอานนท์ อยู่พอสมควร ถึงเวลาก็ต้องออกไปหาที่สงบสงัดอยู่ตามลำพัง ไปภาวนา พอติดอะไรหรือไม่ก้าวหน้าก็ค่อยกลับมา ควรเข้าๆออกๆไปเรื่อยๆ แต่มาอยู่ไม่นาน มาฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังแล้วก็กลับไปปฏิบัติต่อ สมัยหลวงปู่มั่นมีพระเณรมาลงปาฏิโมกข์กับหลวงปู่มั่น พระเณรที่ปฏิบัติอยู่รอบบริเวณที่หลวงปู่มั่นพักอยู่ ในรัศมี ๑๕ กิโลเมตร ที่สามารถเดินมาได้ ก็จะเดินมาในวันปาฏิโมกข์ เพราะหลังจากฟังพระปาฏิโมกข์แล้ว หลวงปู่มั่นจะเทศน์ให้ฟัง พระเณรจะมาฟังธรรมกันทุก ๑๕ วัน ฟังแล้วก็กลับไปปฏิบัติไปตามสถานที่ของตน แล้วก็กลับมาฟังใหม่ ส่วนพระเณรที่อยู่ในวัดกับท่านก็ได้ฟังบ่อยหน่อย ได้ฟังถี่หน่อย ท่านอาจจะอบรมทุกคืน หรือ ๒ ถึง ๓ คืนสักครั้งหนึ่ง ก็จะได้มากหน่อย แต่มีที่จำกัด อยู่ได้ไม่กี่องค์ ถ้าอยู่กันมากๆก็จะไม่วิเวก ไม่สงบสงัด จึงต้องจำกัดจำนวนของพระเณรไว้ สมัยที่ไปอยู่บ้านตาดใหม่ๆนี่ ท่านรับพระเณรประมาณ ๑๗ รูปเท่านั้น ใครเป็นลำดับที่ ๑๘ ก็อยู่ไม่ได้ ต้องออกไป แต่ตอนหลังท่านก็เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เพราะมีผู้สนใจมาก ครูบาอาจารย์ที่ให้การอบรมสั่งสอนได้ก็ชราภาพลงไปมาก มีน้อยลงไป ท่านก็เลยต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้น คุณภาพก็ด้อยลงไปด้วย พอมีพระเณรมากขึ้นก็จะไม่สงบเหมือนเมื่อก่อน เพราะถ้ามีพระเณรที่ไม่มีธรรมมาก ก็จะดึงไปในทางที่ไม่ใช่ธรรม ถ้ามีจำนวนน้อยแต่มีธรรมก็จะไปในทางธรรมกัน เวลารับพระรับเณรท่านถึงต้องดูคุณสมบัติว่าใฝ่ธรรมหรือไม่ สนใจที่จะปฏิบัติธรรมจริงๆหรือไม่ จะดูว่ามีสติหรือไม่ ถ้ามีสติแสดงว่าใฝ่ธรรมแล้ว ถ้าไม่มีสตินี้แสดงว่าไม่ใฝ่ธรรม ถึงแม้จะใฝ่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ ถ้าทำอะไรผิดๆถูกๆสะเปะสะปะ แสดงว่าไม่มีสติอยู่กับตัว ดูก็รู้ ท่านจึงเลือกพระเณรพอสมควร 

 

ถาม  ญาติโยมที่อยู่ที่บ้านมาไม่ได้ ไม่มีคำถาม เพียงแต่คิดถึงท่านอาจารย์

 

ตอบ  ไม่ควรคิดถึงตัวบุคคล ควรคิดถึงธรรมะจะดีกว่า เพราะบุคคลตายได้ แต่ธรรมะไม่ตาย ธรรมะเป็นอกาลิโก ถ้าจะติดอะไรก็ให้ติดกับธรรมะไว้ จะได้ไม่เสียใจ เพราะธรรมะจะอยู่กับเราไปตลอด ติดตัวบุคคลไม่ดี เวลาเขาตายไปหรือเป็นอะไรไป เราก็จะเสียใจ อย่าไปสนใจบุรุษไปรษณีย์ ให้สนใจจดหมายที่บุรุษไปรษณีย์นำมาให้ พอได้รับจดหมายแล้วรีบเปิดอ่านเลย รีบเอาธรรมะมาใส่ใจ เพราะไม่มีอะไรจะมีคุณค่ามีประโยชน์เท่ากับธรรมะ มีธรรมะเท่านั้นที่คู่ควรกับใจอย่างยิ่ง อย่างอื่นล้วนเป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจทั้งนั้น ธรรมะเท่านั้นที่จะรักษาปกป้องใจ ให้อยู่เหนือความทุกข์ทั้งหลาย ส่วนสิ่งอื่นๆนั้นมีแต่จะดึงใจให้เข้าสู่กองทุกข์ เพราะพอเรามีแล้วเราก็จะติดกับสิ่งเหล่านั้น พอสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนไปหรือหมดไปเราก็ต้องทุกข์ใจ เช่นร่างกาย เวลาได้ร่างกายมาก็ดีใจกัน แต่เราก็ต้องมาทุกข์กับร่างกาย ทุกข์ทั้งส่วนที่เรามองไม่เห็นกัน คือภาระที่ต้องอาบน้ำอาบท่า ต้องหายใจ รับประทานอาหาร รับประทานยา เหล่านี้ล้วนเป็นภาระทั้งนั้น เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่อาบน้ำก็ไม่ได้ ไม่อาบน้ำก็อยู่กับคนอื่นไม่ได้ ส่วนความทุกข์ที่เห็นกัน ก็คือความแก่เจ็บตาย สู้ไม่มีร่างกายจะดีกว่า แต่เราไม่รู้กัน ไม่รู้ว่าใจสามารถอยู่ได้โดยไม่มีร่างกาย ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ผู้ที่มีความสงบแล้วจะไม่ใช้ร่างกายหาความสุข เวลารับประทานอาหารก็ไม่ได้รับประทานเหมือนกับคนที่ไม่มีความสงบ ที่รับประทานเพื่อความสุขจริงๆ จะต้องเลือกอาหาร อาหารที่ไม่ถูกใจก็จะไม่รับประทาน แต่คนที่ใจมีความสงบสุขแล้ว รับประทานอะไรก็ได้ รับประทานตามมีตามเกิด ได้อะไรมาหรือมีอะไรก็รับประทานไปเพราะรับประทานเพื่อร่างกาย ไม่ได้รับประทานเพื่อจิตใจ เหมือนกับเวลาเติมน้ำมันรถ จะเป็นตราไหนก็ได้ ตราดาวตราหอยตราอะไรก็ได้

 

ถ้าใจมีธรรมะมีความสงบมีความสุขแล้ว จะไม่พึ่งพาอาศัยร่างกาย ร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร อยู่ได้อย่างสุขอย่างสบาย อยู่กับความสงบนั้นแหละ ไม่ได้อยู่กับอะไร แต่ถ้ายังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ ก็ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ให้พาไปที่นั่นที่นี่ ให้ไปรับประทานไปดื่ม พอทำไม่ได้ก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าทำใจไม่ได้ ถ้าหักห้ามความอยาก ที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากจะไปที่นั่นที่นี่ แต่ไม่สามารถไปได้ อยู่บ้านก็จะมีแต่ความเศร้าสร้อยหงอยเหงา อิดหนาระอาใจ เบื่อหน่าย แต่ถ้ามีความสงบแล้วจะมีแต่ความสุข จะไม่อยากไปไหน เวลาดื่มก็ดื่มเพื่อร่างกาย ดื่มน้ำเปล่าๆก็ได้ ไม่ต้องมีรสชาติอะไร ถ้าจะรับประทานเพื่อร่างกาย ก็รับประทานอย่างที่ท่านเจ้าคุณนรฯรับประทาน เวลาท่านรับประทาน ท่านให้เอาผักเอาถั่วเอาอาหารมาตำมาบดมาผสมกันก่อน แล้วค่อยรับประทานเข้าไป เพราะท่านไม่ได้รับประทานเพื่อความสุข ท่านรับประทานเพื่อร่างกายจริงๆ เหมือนรับประทานยา เพราะใจของท่านไม่ได้หิวกับความสุขจากการรับประทาน ถ้ายังหิวท่านก็ทำเพื่อกำราบกำจัด ถ้าทำไปเรื่อยๆแล้ว ความอยากได้ความสุขจากการรับประทานอาหาร ก็จะถูกตัดไปโดยปริยาย อย่างพระที่ฉันในบาตร อาหารคาวหวานต่างๆก็ใส่ลงไปในบาตรหมดเลย ถ้ายังไม่พอใจก็จะคลุกมันด้วย เพื่อตัดกิเลสที่มีอยู่ในใจ ว่าอาหารชนิดนั้นอร่อย อาหารนี้ดี ต้องกินอย่างนี้ก่อน ต้องกินอย่างนี้ทีหลัง เพราะเดี๋ยวก็ไปรวมกันในท้องอยู่ดี ให้รวมกันในบาตรนี้เลย นี่คือการกำราบกำจัดกิเลส ที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ต้องทำอย่างนี้

 

พวกเราควรลองทำกันดู ถ้ามีปัญหากับการรับประทานอาหาร เอาอาหารดีๆชนิดต่างๆ มาใส่ชามหรือกะละมังแล้วก็คลุกมันเลย ให้เป็นเหมือนกับผัดข้าวผัด เป็นอะไรไป เดี๋ยวก็เข้าไปรวมกันในท้องอยู่ดี ทั้งคาวทั้งหวาน ทั้งผลไม้ทั้งผัก ลองทำดู แล้วจะรู้ว่าหลงมานาน รสชาติก็ยังเหมือนเดิม เปรี้ยวหวานมันเค็มก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ทำให้ท้องเสียหรอก เพราะอาหารไม่ได้บูด ยังดีเหมือนเดิม การคลุกมันไม่ได้ทำให้อาหารเสียหรือบูดแต่อย่างใด แต่ไปทำลายอารมณ์ความสุข ที่เกิดจากการรับประทานเท่านั้นเอง อยู่ตรงนี้ ถ้าไม่มีมาตรการเหล่านี้ ไม่ทำสิ่งเหล่านี้แล้ว การปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า จะตัดกิเลสต่างๆที่คอยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เจริญก้าวหน้าไปไม่ได้ ต้องอาศัยมาตรการเหล่านี้ ครูบาอาจารย์ท่านทำมากันแล้วทั้งนั้น ท่านถึงเอามาสอนพวกเรา ที่เราได้ยินได้ฟังก็เพราะว่าได้รับการรับรองแล้ว ว่าเป็นเครื่องมือที่จะตัดกิเลสได้ ทำให้การปฏิบัติคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว เช่นฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว เป็นธุดงควัตร เป็นเหมือนน้ำมันพิเศษ แทนที่จะใช้ ๙๑ ก็ใช้ ๙๕ รถก็จะวิ่งเร็วขึ้น มีพลังมากขึ้น ถ้าไม่มีธุดงควัตรก็เหมือนใช้น้ำมันธรรมดา ศีล ๒๒๗ เป็นเหมือนน้ำมัน ๙๑ ถ้าถือธุดงควัตรก็จะเป็นน้ำมัน ๙๕ จะมีพลังมากขึ้น ทำให้รถวิ่งเร็วขึ้น ทำให้การปฏิบัติคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว

 

ที่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาเป็นประจำ ก็คือฉันในบาตร อาหารคาวหวานต่างใส่รวมเข้าไปในบาตร แล้วก็ฉันมื้อเดียว พอต่อความต้องการของร่างกาย ถ้าฉันมากกว่า ๑ มื้อก็แสดงว่าฉันเพื่อกิเลส ยังติดอยู่กับรสชาติของอาหาร ถ้าจู้จี้จุกจิกเลือกอาหารก็ต้องทรมานมัน ด้วยการคลุกอาหาร  ทำไม่นานหรอก ไม่ต้องทำไปตลอด ทำไปจนกว่าจะหายจู้จี้จุกจิก มีอะไรก็กินได้ ข้าวคลุกน้ำปลาก็กินได้ หรือจะอดอาหารบ้าง ฉันมื้อเดียวแล้วยังจู้จี้จุกจิก อยู่ ก็อดอาหารสัก ๓ วัน ๕ วัน ความจู้จี้จุกจิกก็จะน้อยลงไป เวลาอดอาหารไป ๓ วันนี้ ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาก็อร่อย เครื่องดื่มต่างๆก็อย่าไปดื่ม ดื่มแต่น้ำเปล่าๆ หรือไม่ต้องดื่มเลย ให้มันหิวกระหายเต็มที่ก่อน เหมือนกับจะตายแล้วค่อยดื่ม ตอนนั้นดื่มน้ำเปล่าๆก็อร่อย มาตรการแก้กิเลสต้องเป็นอย่างนี้ ที่ท่านทำกันมาก็คือ ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร หรืออดอาหาร ลองเอาไปทำดู เริ่มที่อาทิตย์ละวันก่อนก็ได้ วันพระก็มื้อเดียว หรืออดอาหารเลยก็ได้ วันนั้น ถือศีลอดสักวัน ไหนๆจะอดรูปเสียงทางตาหูแล้ว ก็อดทางลิ้นทางจมูกไปด้วยเลย ไม่ต้องไปสัมผัสกับกลิ่นรส ไม่ตายหรอก ร่างกาย ขาดอาหารวันเดียวไม่ตาย มีเสบียงสะสมไว้ในร่างกายเพียงพอ ไม่ขาดสารอาหารหรอก มีอยู่มากแล้ว สำหรับบางคนกลับจะเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำไป น้ำหนักจะได้ลดลง หุ่นจะได้ดีขึ้น มีโค้งมีเว้าบ้าง ไม่อย่างนั้นจะเป็นตุ่มตลอดเวลา

 

ถาม  ขอส่งการบ้าน ได้ไปภาวนาที่หนองคาย ช่วงวันแรกๆที่ไปก็นึกว่าจะสงบเหมือนที่เคยเป็น ตั้งใจว่าจะพยายามดำรงสติให้จิตสงบ ปรากฏว่าทำไม่ได้ จิตใจมันวอกแวกวุ่นวายฟุ้งซ่าน ก็เลยหงุดหงิดว่าเคยทำได้ ทำไมตอนนี้ทำไม่ได้ เป็นอยู่วัน ๒ วัน ก็เลยมานั่งดูว่าที่มันวุ่นวายเกิดจากอะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมเรื่องบางเรื่องเมื่อวานนี้เราพอใจ วันนี้เราไม่พอใจ เป็นเพราะไม่ได้ดังใจ ทั้งๆที่สิ่งแวดล้อมก็เรื่องเดิมเรื่องเดียวกัน ก็มานั่งค่อยๆคิด ขบคิดปัญหาไปในทางธรรมะว่าไปยึดติดอะไร ไปคิดว่าคนนู้นคนนี้ไม่ถูกใจเพราะคิดว่าเราดีกว่าหรือเปล่า ก็ค่อยๆคิดไป ก็คิดได้ว่าเพราะเรามีอัตตามีตัวตน ถ้าไม่มีตัวตน เราก็จะไม่คิดว่าเราดีกว่าหรือแย่กว่าคนอื่น มันก็ค่อยๆออกมาทีละนิด หลังจากนั้นก็เริ่มสงบลงบ้างแต่ไม่เหมือนครั้งก่อนๆที่เคยทำ ก็คิดว่าจะเหมือนไม่ได้ ก็เลยค่อยๆปฏิบัติต่อไป แบบวิธีคิดปัญหา สลับกับการดำรงสติให้จิตสงบ สลับกันไปเป็นระยะๆ ลูกสังเกตว่า ถ้าเครียดเกินไป หรือปักใจว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะไม่ค่อยสำเร็จอย่างที่คาดคิด

 

ตอบ  เป็นวิธีที่ถูกแล้ว ต้องดูปัญหาของเรา ว่าเป็นอะไร ใจไปผูกพันติดกับอะไร ถ้ามีสติปัญญาดีก็ถามเลยว่า เราอยู่กับปัจจุบันหรือเปล่า อยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่งหรือเปล่า ที่ไม่สงบก็เพราะไม่อยู่ในปัจจุบัน ไม่อยู่กับกรรมฐาน ถ้าอยู่กับพุทโธอย่างเดียว ไม่คิดถึงเรื่องต่างๆ เดี๋ยวเดียวก็สงบ ใจชอบคิด แต่ไม่คิดแบบนี้ จะให้อยู่กับพุทโธก็ไม่ยอมอยู่ ก็จะรู้สึกเครียดได้ เพราะยังอยากจะคิด ก็ต้องมาคิดในทางปัญญา วิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล ต้องเป็นสมุทัยตัวใดตัวหนึ่ง อยากในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ หรือไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้ ต้องมีตัวนี้แน่นอน เพียงแต่ว่าจะหามันเจอหรือไม่ ถ้าหาเจอจะได้ปรับใจได้ ว่าไปอยากทำไม ในเมื่อกำลังเป็นอย่างนี้ แล้วเราบังคับให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวเรา ตั้งตัวเราไว้สูงไปหรือเปล่า เขาไม่ยอมรับว่าเราสูงกว่าก็ได้ ก็เลยต่อต้านเรา ก็ต้องปรับลงมาให้ในระดับที่ไม่ทำให้ใจวุ่นวาย ปรับลงให้ต่ำกว่าเขา ยอมรับเขา เขาจะเป็นอย่างไรก็ยอมรับ ปรับจากเป็นเจ้านายมาเป็นลูกน้อง ถ้าเป็นลูกน้องแล้วรับได้ทุกอย่าง หัวหน้าจะว่าอย่างไรเราไม่กล้าหือ เรานิ่งเฉยได้ ถ้าทำตัวเป็นหัวหน้า พอเขาไม่ทำตามคำสั่ง เราก็จะเดือดร้อนขึ้นมาทันที ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง เขาไม่ได้เห็นว่าเราเป็นหัวหน้า ไปหวังให้เขาทำตัวเป็นลูกน้อง แต่เขาไม่ทำ ก็จะวุ่นวายใจ พอเราปรับตัวใหม่ เราไม่มีอำนาจวาสนาสั่งให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ก็ปล่อยเขาไปตามเรื่อง ใจก็เย็นลง ต้องพิจารณาดู เวลาอากาศร้อนมากๆ ถ้าไม่พอใจก็เป็นปัญหาได้ ต้องสอนใจว่าเราบังคับอากาศไม่ได้ มันร้อนก็ปล่อยให้มันร้อนไป ยอมรับความร้อน ปัญหาก็จะหายไป

 

พอสงบแล้ว ก็ต้องกลับมาทำงานกรรมฐานทันทีเลย เพราะยังสงบไม่ลึกพอ เพียงแต่กลับมาอยู่ในระดับปกติ ไม่ฟุ้งซ่าน แต่ยังไม่เข้าสู่ความสงบนิ่งของสมาธิ ต้องภาวนาด้วยกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง จะพุทโธไปก็ได้ ท่องอาการ ๓๒ ไปก็ได้ ดูลมหายใจเข้าออกไปก็ได้ ทำจิตให้นิ่งก่อน ถ้าพิจารณาปัญญาในขณะที่จิตไม่นิ่ง จะไม่เป็นปัญญา จะพิจารณาไม่ได้นาน จะถูกกิเลสลากไปคิดเรื่องอื่นโดยไม่รู้สึกตัว ที่พูดเมื่อสักครู่นี้เป็นการใช้ปัญญาทำจิตให้กลับเข้าสู่สภาพปกติ ให้หายวุ่นวายใจ ยังไม่เป็นความสงบลึกของสมาธิ ถ้าจะให้สงบลึกลงต้องใช้กรรมฐานกล่อมใจ ใช้กรรมฐานที่เราชอบ เช่นอสุภะก็ได้ ถ้าถูกจริตก็ใช้ได้ จนกว่าจะรวมลงสงบลง ตอนนั้นก็จะสุขสบายเบาใจอิ่มใจ พอออกจากความสงบแล้ว จะมีกำลังพิจารณาไตรลักษณ์ ควรพิจารณาร่างกายเป็นเป้าหมายแรก พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายอยู่เรื่อยๆ สอนใจอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับท่องสูตรคูณจนติดอยู่ในใจ ต่อไปเวลาคิดกลัวความแก่ความเจ็บความตาย จะมีธรรมนี้มาตัดทันทีเลย กลัวก็ต้องแก่ กลัวก็ต้องเจ็บ กลัวก็ต้องตาย กลัวไปทำไม กลัวแล้วได้อะไร ก็จะตัดได้ ความกลัวความแก่เจ็บตายก็จะหายไปหมด ถ้าพิจารณาว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ก็จะปล่อยได้เช่นเดียวกัน ถ้าเห็นว่ากำลังแบกก้อนดินน้ำลมไฟอยู่ สักวันหนึ่งก็ต้องแยกทางกันไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องจนฝังลึกอยู่ในใจ จนจำได้ตลอดเวลา พอจำได้แล้วก็ไม่ต้องมาพิจารณา เพราะเวลาจะคิดไปในทางกิเลสเมื่อไหร่ ธรรมจะเข้ามาตัดทันที พอคิดว่าเป็นตัวเรา ธรรมที่ว่าไม่ใช่ตัวเราก็จะมาตัดทันที จนไม่คิดว่าเป็นตัวเราอีกเลย จะไม่กลัวความแก่ความเจ็บความตายอีกต่อไป

 

ปัญหาทางร่างกายก็จะหมดไปส่วนหนึ่ง เหลือส่วนที่เรียกว่าสุภะ ยังเห็นร่างกายว่าสวยว่างามอยู่ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอสุภะ เป็นซากศพเดินได้ที่ยังหายใจอยู่ พอหยุดหายใจแล้ว ก็จะเน่าพองเปื่อยยุบสลายไป พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนไม่เห็นความสวยความงามของร่างกาย ก็จะไม่อยากเสพสุขกับร่างกาย ปัญหาทางร่างกายก็จะหมดไป เหลือแต่ปัญหาทางความรู้สึกนึกคิด ยังรู้สึกนึกคิดไปทางอัตตาตัวตนอยู่ ยังมีมานะอยู่ ยังติดอยู่กับความสุขละเอียดที่มีอยู่ในใจ อยากจะให้สุขไปตลอด แต่ความสุขแบบนี้ยังเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงที่เปลี่ยนได้ สุขแล้วเดี๋ยวก็หายไปได้ ต้องปล่อยความสุขแบบนี้ จะสุขหรือไม่สุขก็ให้รู้ตามความเป็นจริง จนกว่าจะหายไปหมด จิตก็จะว่างไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เป็นปรมังสุญญัง เป็นความสุขที่แท้จริง ซ่อนอยู่ข้างใต้ของความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นความสุขที่เกิดจากการปล่อยวางสิ่งต่างๆทั้งหมด ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและร่างกาย ภายในก็คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณกับความสุขที่มีอยู่ภายในจิต พอไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะเหลือแต่ความว่าง ที่เต็มไปด้วยปรมังสุขัง

 

การปฏิบัติจะขยับจากข้างนอกเข้ามาข้างใน ปล่อยข้างนอกก่อนถึงจะเข้าข้างในได้ ตอนต้นก็ต้องปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปล่อยลาภยศสรรเสริญสุขก่อน ออกจากงาน แล้วก็ปล่อยร่างกาย ปล่อยเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็มาปล่อยความสุขที่มีอยู่ภายในจิต ความสุขความสว่างไสวของจิตนี่ยังไม่เที่ยง ยังเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พอปล่อยความสุขนี้แล้ว ก็จะแตกกระจายหายไปหมด ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว จะว่างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงตรงนั้นก็รู้ว่าจบแล้ว อย่างที่ทรงตรัสว่า วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์นี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว กิจที่ยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว เกิดจากการใฝ่ธรรมเป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็ให้เวลากับธรรมะให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ เบื้องต้นก็ฟังให้มากศึกษาให้มาก แล้วนำไปปฏิบัติ เอาเวลาที่ไปใช้กับสิ่งอื่น มาใช้กับการฟังธรรม ใช้กับการปฏิบัติธรรม จนไม่มีเวลาให้กับสิ่งอื่นเลย มีแต่เวลาให้กับธรรมอย่างเดียว ถึงจะได้มรรคผล ถ้ายัง ๒ จิต ๒ ใจ รักพี่เสียดายน้อง ก็จะไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง เวลาแก่ก็จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ เที่ยวก็เที่ยวไม่ได้ ก็จะน้ำตาตก อยู่กับความทุกข์ ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวใจ คนที่เคยมีความสุขทางโลก พอแก่อยู่บ้านคนเดียว ซึมเศร้าไม่มีความสุข แต่คนที่มีธรรมะนั้น แก่ขนาดไหนก็มีความสุข หัวเราะได้ยิ้มได้ตลอดเวลา จะแก่แบบไหน

 

ถาม  ขอส่งการบ้าน มีปัญหาตรงที่พยายามจะแยกกาย เวลานั่งสมาธิเราได้กำลัง จิตนิ่งแล้ว แล้วเดินจงกรม ก็พยายามที่จะแยกจิตกับกาย มันก็นิ่งสักระยะหนึ่ง แล้วก็ถามตัวเองว่า ลองพิสูจน์ดูว่าใช่ไม่ใช่ ลองตัดขาสักข้างหนึ่ง มันก็ไม่ต่าง จิตก็ยังอยู่ เพราะกายกับจิตมันคนละตัวกัน จนกระทั่งตัดขา ๒ ข้างไป เหลือครึ่งตัว จิตก็ยังอยู่ ตัดมือ ๒ ข้างไป จิตก็ยังอยู่ ตัดคอมันก็เสียว จิตก็ยังอยู่ ก็บอกตัวเองว่ากายกับจิตไม่ใช่ตัวเดียวกันแน่นอน พอมาเล่าให้เพื่อนที่เรียนอภิธรรมฟัง เขาบอกว่าจะเป็นพวกที่ไม่มีร่าง ก็เลยอยากจะถามว่าพิจารณาผิดหรือเปล่า

 

ตอบ  ไม่ผิด เพราะการพิจารณาไม่ได้ทำให้ไม่มีร่าง การมีร่างก็ไม่ดี จิตของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไม่มีร่าง ร่างกายของท่านเป็นร่างกายสุดท้าย พอร่างกายตายไปแล้ว ท่านไม่ไปหาร่างใหม่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องกลัวเรื่องมีร่างไม่มีร่าง ไม่เป็นประเด็นสำคัญ

 

ถาม  เขาบอกว่าถ้าฝึกไปอย่างนั้น จะหาที่อยู่ไม่ได้

 

ตอบ  พระอนาคามีก็ไม่มีร่าง ท่านไม่ต้องการร่างกายแล้ว เพราะท่านเห็นด้วยปัญญาว่าร่างกายนี้เป็นกับดักของกองทุกข์ ที่เป็นเหมือนกองไฟ เอาร่างมาทำไม เอามาทำให้จิตใจรุ่มร้อนเปล่าๆ รุ่มร้อนไปกับความแก่ความเจ็บความตาย รุ่มร้อนกับการเลี้ยงดู ไม่มีร่างกายนี้สบายกว่ามาก สำหรับใจที่มีความสงบแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยร่างกาย แต่ใจที่ยังไม่มีความสงบ จะถูกกิเลสหลอกว่าร่างกายสำคัญมาก ตาต้องดี หูต้องดี จะได้ดู จะได้ฟังได้ ร่างกายต้องแข็งแรง ต้องอยู่ไปนานๆ

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นก็ยังพิจารณาอย่างนี้ได้อยู่

 

ตอบ  ได้ ถูกแล้ว ต้องตัดร่างกายให้มันหายไป หรือเอาไปเผาจนกลายเป็นขี้เถ้าไปเลย จะได้เห็นว่าจิตกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน เวลาพิจารณาร่างกายจนกลายเป็นขี้เถ้าแล้ว ใจจะปล่อยร่างกาย เวลาเกิดเหตุการณ์จริงๆใจจะเฉย ถ้าถูกตัดแขนตัดขา เพราะเป็นเบาหวาน ตัดก็ตัดไป จิตก็ยังเหมือนเดิมอยู่ จิตไม่ได้แหว่งไปกับแขนกับขา ความสุขของจิตก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ทำจิตให้สงบเมื่อไหร่ก็สุขเมื่อนั้น เวลาหูหนวกตาบอดจิตก็ยังสงบได้ยังสุขได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับร่างกาย ขึ้นอยู่กับอริยสัจ ๔ ถ้ามีสมุทัยก็ยังจะมีทุกข์ ถ้ามีมรรคก็จะมีนิโรธ มีสุข ที่เราพิจารณานี้เป็นการเจริญมรรค เป็นการเจริญพิจารณาอริยสัจข้อที่ ๑ คือเกิดแก่เจ็บตาย การตัดแขนตัดขานี้ ก็เป็นเรื่องของแก่เจ็บตายนี้เอง คนที่กลัวไม่กล้าพิจารณาก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นคนที่มีปัญหา เวลาเกิดเหตุการณ์จริงๆกับร่างกายจะรับไม่ได้ สมุทัยจะเกิดขึ้น จะเกิดความกลัวคือวิภวตัณหา กลัวที่จะถูกตัดแขนตัดขา กลัวจนอาจจะฆ่าตัวตายไปก่อน แต่คนที่พิจารณาอยู่เรื่อยๆ พอถึงเวลาก็จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ธรรมก็คือรักษาจิตนี่เอง รักษาจิตให้เป็นปกติ ให้สงบให้นิ่งให้เย็นให้สบาย จึงต้องทำการบ้านอยู่เรื่อยๆ ต้องฝึกไปเรื่อยๆ จนไม่หวั่นไหวกับอะไรเลย ร่างกายจะเป็นอะไรไป ไม่เป็นปัญหาแล้ว รู้อยู่แก่ใจว่าปล่อยได้แล้ว เรื่องของความแก่ความเจ็บความตาย อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ อยู่คนเดียวที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่กลัวอะไร อย่างมากก็แค่ตาย พิจารณาอยู่ตลอดเวลา 

 

ถาม  ไม่รู้ใครสอนให้ใจพิจารณาเรื่อยๆว่า ร่างกายพอถึงเวลาจะแปรเปลี่ยนไป ไม่สามารถบังคับมันได้ เป็นดินน้ำลมไฟ ต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน

 

ตอบ  พอธรรมะเข้าไปในใจแล้ว มันจะสอนเรา พอพิจารณาไปเรื่อยๆแล้ว จะเป็นเหมือนเชื้อที่ติดไฟ จะทำหน้าที่ของมันไปเอง เพราะรู้ว่าถ้าปล่อยให้กิเลสทำหน้าที่แล้ว มันจะเผาผลาญจิตใจเรา ถ้าพิจารณาธรรมะก็จะดับกิเลส

 

ถาม  คราวที่แล้วหนูถามท่านอาจารย์ว่า ปฏิบัติธรรมอย่างไร ตอนที่จะไปปฏิบัติธรรมครั้งแรก หนูจดไปด้วย แล้วทำตามที่พระอาจารย์สอนทุกอย่าง ไม่ส่งจิตออกนอก รู้สึกว่าดีมากๆค่ะ ขอรายงาน

 

ตอบ  จิตเข้าข้างในเป็นมรรค จิตออกข้างนอกเป็นสมุทัย หลวงปู่ดุลย์ท่านสอนอย่างนั้น

 

ถาม  การพิจารณานี้เป็นการซ้อมจินตนาการ เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ให้คิดอยู่เรื่อยๆใช่ไหมคะ ถึงแม้จะไม่มีพื้นฐานทางสมาธิก็ทำได้

 

ตอบ  ใช่ แต่จะทำไม่ได้ต่อเนื่อง ทำไม่ได้มากพอ

 

ถาม  แต่ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ

 

ตอบ  ทำไป แต่จะไม่ได้ผลเป็นกอบเป็นกำ เหมือนกับที่ได้สมาธิแล้ว เพราะจะทำได้อย่างต่อเนื่องจนฝังลึกอยู่ในใจ ถ้ายังไม่มีสมาธินี่จะทำได้แป๊บเดียว แล้วก็ไปทำอย่างอื่น พอจะพิจารณาก็ไปดูทีวีเสียก่อน แล้วก็มาสารภาพ เพราะไม่มีสมาธิ ถ้ามีสมาธิจะไม่ไปทางรูปเสียงกลิ่นรส ถ้ามีใครว่าพิจารณาได้มรรคผลโดยไม่ต้องมีสมาธิ แสดงว่าคนนั้นยังไม่มีสมาธิ ยังไม่เห็นคุณค่าของสมาธิ หลวงปู่มั่นเวลาสอนหลวงตาครั้งแรก ตอนที่หลวงตาไปขออยู่กับท่าน หลวงปู่มั่นก็สอนว่า ความรู้ต่างๆที่ท่านมหาฯได้ศึกษามาถึงระดับมหาเปรียญนี้ ยังไม่มีประโยชน์กับจิตใจ ยังตัดกิเลสไม่ได้ ยังทำให้จิตสงบไม่ได้ ต้องพยายามทำจิตให้สงบให้ได้ก่อน เอาความรู้ที่เรียนมาวางไว้บนหิ้งก่อน ไม่ได้ประมาทความรู้นี้ มีประโยชน์ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าจิตมีความสงบเมื่อไหร่แล้ว ความรู้นี้จะเข้ามาประสานเอง จะทำหน้าที่ของมันทันที ถ้าไม่มีความรู้นี้ มันก็จะไม่มา เราจึงต้องเตรียมไว้ก่อน แต่ตอนนี้ยังขาดความสงบอยู่ พอมีความสงบแล้ว ความรู้ที่เรียนมาจะไหลเข้าไปในใจทันที เข้าไปปราบกิเลส ปราบสมุทัยที่มีอยู่ในใจทันที ถ้าไม่มีก็จะไม่ไหลเข้าไป ตอนที่ทำจิตให้สงบต้องลืมความรู้ที่ได้เรียนมา ให้มีสติรู้อยู่กับกรรมฐาน จะเป็นอานาปานสติ อสุภกรรมฐาน มรณานุสติ หรืออาการ ๓๒ กายคตาสติ ก็ได้ทั้งนั้น แต่จะเป็นการทำจิตให้สงบนิ่ง ให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราว พอออกมาจากความสงบแล้ว ควรคิดทางปัญญาเพื่อดับกิเลส อย่าคิดเรื่องอื่น

 

สมาธิจะเป็นบาทฐานของอริยสัจ ๔ จะทำให้เห็นอริยสัจ ๔  ถ้าจิตสงบแล้วพอกิเลสเริ่มทำงาน ทุกข์จะปรากฏขึ้นมาทันที ความสงบที่มีอยู่จะหายไปทันที จะรู้ในใจทันทีเลย ว่าอริยสัจ ๔ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรานี่เอง แต่ตอนที่จิตไม่สงบนี้จะไม่เห็น เพราะมีเรื่องอื่นมากลบหมด เหมือนกับเสียงนกนี้ ถ้าเอาเครื่องปั่นไฟมาปั่น เอาเครื่องขยายเสียงมาเปิด เสียงนกเหล่านี้จะหายไปหมด ความจริงมีอยู่ แต่เราไม่ได้ยิน เพราะถูกเสียงอื่นกลบไปหมด พอปิดเครื่องปั่นไฟปิดเครื่องขยายเสียง ก็จะได้ยินเสียงนกทันที จิตก็เช่นกัน ที่ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ก็เพราะรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆมากลบมาบังไว้หมด เรื่องราวต่างๆที่สังขารความคิดปรุงแต่งแต่งขึ้นมา จะมาบดบังไว้หมด จนไม่เห็นอริยสัจ ๔ พอจิตสงบแล้ว ถ้ามีสติดูที่จิตอยู่เรื่อยๆ จะเห็นอริยสัจ ๔ ที่ปรากฏอยู่ เวลาเกิดความอยากขึ้นมา จะรู้เลยว่าทุกข์แล้ว ทุกข์เพราะความอยาก ก็จะตัดความอยากทันที ถึงจะเป็นปัญญา ปัญญาที่ตัดกิเลสได้ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน แต่การพิจารณาไว้ล่วงหน้าก่อนก็ต้องทำ เพื่อเตรียมรับกับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น เหมือนเวลาทำงาน ต้องสอนเราก่อนว่า ในกรณีถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ จะต้องทำอย่างไร พอเกิดเหตุการณ์จริงจะได้ทำได้ทันที ก็เหมือนกับในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วหมอรักษาเราไม่ได้ จะทำอย่างไร ต้องซ้อมไว้ก่อน ซ้อมวิธีปฏิบัติทุกขเวทนา ความเจ็บปวดของร่างกาย ซ้อมทำจิตให้สงบนิ่ง จะเจ็บจะปวดอย่างไรก็ปล่อยมันไป อย่าไปสนใจ อย่าไปอยากให้มันหาย ถ้าไม่อยากให้หายแล้ว ความทุกข์ใจจะไม่เกิดขึ้น ใจจะสงบ จะรับความเจ็บของร่างกายได้อย่างสบาย แบบไม่ต้องทน เพียงแต่รับรู้เท่านั้นเอง ความตายก็เช่นเดียวกัน ซ้อมตัดคอตัดแขนตัดขา เอาไปเผา

 

ถาม  หลังจากนั้นมันจะเฉยๆ

 

ตอบ  ไม่กลัวเหมือนเมื่อก่อน ขั้นต่อไปก็ไปหาที่ท้าทายต่อความตาย ดูว่ายังกลัวอยู่หรือเปล่า ถ้าใจนิ่งก็แสดงว่าหมดปัญหา ต้องหาที่ทดสอบจิตใจ ทดสอบปัญญา

 

ถาม  งูเข้ามาในกุฏิในวันสุดท้าย ยาว ๒ เมตร ตอนที่ไม่รู้ รู้สึกไม่กลัว แต่พอรู้แล้วก็กลัว

 

ตอบ  แสดงว่ายังไม่ปล่อยวาง ยังกลัวความตาย ยังกลัวงูอยู่

 

ถาม  แต่พอพิจารณาว่าตายก็ตาย ก็จะไม่กลัว งูตัวอื่นก็จะไม่กลัว เพราะรู้ว่างูต้องมีอยู่ทั่วไป ความกลัวก็หายไปเอง แต่กว่าจะหายก็ นานมาก หลายนาที ทำให้รู้ว่า ถ้าไม่ปรุงแต่งมันก็แค่นั้นเอง

 

ตอบ  คืบหน้าไปมาก แสดงว่าได้เอาไปปฏิบัติจริง สมาธินี้สำคัญมาก อย่ามองข้ามสมาธิ อย่าไปเชื่อคนที่บอกว่าสมาธิไม่จำเป็น ในมรรค ๘ จะมีสัมมาสมาธิไว้ทำไม ในไตรสิกขาศีลสมาธิปัญญา จะมีสมาธิไว้ทำไม ในทานศีลภาวนา ก็มีสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา จะไปลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้าทำไม หลวงปู่มั่นก็สอนหลวงตามหาบัวให้ทำจิตให้สงบก่อน ยืนยันกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จะหักล้างไปทำไม อย่าไปสนใจ คนที่ทำสมาธิไม่ได้ ก็จะบอกว่าไม่ต้องทำ ให้ทำวิปัสสนาไปเลย ที่บางคนไม่ต้องทำสมาธิก่อนเพราะเขามีแล้ว เช่นพระปัญจวัคคีย์ เวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แสดงอริยสัจ ๔ ก็เจริญวิปัสสนาตามได้เลย เพราะมีสมาธิกันทุกคนอยู่แล้ว สิ่งที่ยังไม่ได้ก็คือปัญญา ไม่ได้อริยสัจ ๔ จึงทรงสอนอริยสัจ ๔ เลย พอสอนเสร็จก็บรรลุเลย เพราะมีศีลมีสติมีสมาธิแล้ว แต่ไม่มีปัญญาที่จะเห็นอริยสัจ ๔ ที่มีอยู่ในใจ ความทุกข์นี้อยู่ในใจ เกิดจากสมุทัย ดับได้ด้วยมรรค เวลาที่ได้ยินได้ฟังว่าคนนั้นคนนี้บรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องทำสมาธิเลย ก็อย่าไปคิดว่าเขาไม่มีสมาธินะ เขามีอยู่แล้ว เขาทำมาแล้ว อย่างองคุลีมาลนี้ ฆ่าคนตั้ง ๙๙๙ คนยังบรรลุได้เลย พวกเราลองไปฆ่าดูสิ จะบรรลุได้หรือไม่ เอาคนอื่นเป็นตัวอย่างได้อย่างไร ไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ละคนมีความเป็นมาไม่เหมือนกัน ต้องดูตัวเราเป็นหลัก

 

        เราไม่มีอะไร ก็ต้องทำให้มี ศีลเราครบถ้วนหรือยัง จาคะหรือทานเราทำเต็มที่หรือยัง หรือยังหวงยังเสียดายสมบัติอยู่ ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องมีไว้เลย เก็บไว้ทำไม ส่วนที่จำเป็นก็ต้องเก็บไว้ ส่วนที่ไม่จำเป็นเก็บไว้ให้เกะกะทำไม ต้องสำรวจตัวเรา อย่าให้กิเลสหลอกว่ามีทานมีศีลมีสมาธิแล้ว วิปัสสนาเลย จะกลายเป็นวิปัสสนูไป ได้ขั้นนั้นได้ขั้นนี้แล้ว เป็นอรหันต์นกหวีดไป เกิดจากความคิดปรุงแต่ง จินตนาการไปเอง ไม่ใช่ความจริงของจิต วิธีที่จะวัดความจริงของจิต ให้ดูว่าจิตนิ่งไหม กระเพื่อมไหม เวลาสัมผัสอะไร จิตกระเพื่อมหรือเปล่า ตกใจหรือเปล่า หวาดกลัวหรือเปล่า ยังหิวยังอยากหรือเปล่า ตัวนี้ต่างหากเป็นตัววัด ไม่ใช่ตัวจินตนาการ ที่คิดว่าศีลก็มีแล้ว สมาธิก็มีแล้ว ปัญญาก็มีแล้ว ได้โสดาฯแล้ว ไม่สงสัยแล้ว ว่าไปตามจินตนาการ เป็นโสเดา หลวงปู่แหวนท่านว่าเป็นธรรมเมา ไม่ใช่ธรรมะ เถียงกันปากเปียกปากฉีก หน้าดำคร่ำเครียด เอาแพ้เอาชนะกัน  ต้องเอานิโรธเป็นตัววัด เอาความสงบนิ่งของจิตเป็นตัววัด นิโรธก็คือความสงบนิ่งของจิตนั่นเอง ไม่ทุกข์ ไม่หวั่นไหว ไม่วิตกว้าวุ่นขุ่นมัว ว่างเหมือนท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก  ต้องว่างอย่างนั้น

 

ถาม  มีความรู้สึกว่าถ้าไปบวชอยู่วัดแล้ว ต้องทำกิจกรรมต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเลย ถ้าไม่ได้บวชกลับได้ปฏิบัติมากกว่า

 

ตอบ  ถ้าได้บวชก็จะตัดปัญหาเรื่องภาระเลี้ยงดู มีคนอื่นเลี้ยงดู การบวชที่แท้จริงก็คือการปฏิบัติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเอื้อต่อการปฏิบัติก็ดี ถ้าไม่เอื้อก็ควรเปลี่ยนสถานที่ ไม่สัปปายะ เรื่องบวชไม่บวชนี้เป็นเรื่องเฉพาะตน บวชได้จะดีกว่า ถ้าหาวัดดีๆได้ก็ดีไป วัดป่าบ้านตาดเมื่อก่อนนี้สุดยอดเลย ครูก็ดี สถานที่ก็ดี ปัจจัย ๔ ก็พร้อมทุกอย่าง เหลืออยู่ที่เราว่าจะปฏิบัติมากน้อย ถ้าขับรถก็เหมือนอยู่บนทางด่วนแล้ว จะเหยียบเท่าไหร่เท่านั้นเอง ไม่มีอุปสรรคอะไรแล้ว ผู้หญิงอาจจะลำบากกว่า หาสำนักได้ยากกว่า ถ้าคุณแม่แก้วยังอยู่ก็ไปบวชอยู่กับท่านเลย ไม่ต้องกังวลเรื่องทำมาหากิน จะได้มีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่

 

ถาม  กามราคะ กามตัณหา กามกิเลสเหมือนกันไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  เหมือนกัน เป็นสรรพนาม ใช้แทนกันได้ วัตถุของความอยากจะต่างกัน ติดเหล้าติดบุหรี่ก็เป็นกามตัณหาแบบหนึ่ง กามคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ วัตถุของกามจะต่างกัน อยากเหล้า อยากบุหรี่ อยากผู้หญิง อยากผู้ชาย เป็นกามตัณหาทั้งนั้น

 

ถาม  แล้วการติดกาแฟติดน้ำผลไม้

 

ตอบ  เป็นกามตัณหาเหมือนกัน แต่มีความหนักเบาต่างกัน ติดกาแฟไม่หนักเท่ากับติดเหล้า ติดเหล้าติดบุหรี่ไม่หนักเท่ากับติดยาเสพติด แต่ก็ติดเหมือนกัน นักปฏิบัติต้องไม่ติดอะไรเลย

 

ถาม  ถ้าขอคาเฟอีนสักนิดหนึ่ง จะได้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

 

ตอบ  ไม่ได้ ถ้าจะง่วงเหงาหาวนอน ก็ให้อดอาหารแทน หรือไปอยู่ที่น่ากลัวๆ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ถ้าดื่มคาเฟอีนก็จะติดคาเฟอีน วันไหนไม่ได้ดื่มก็จะปฏิบัติไม่ได้ ไม่ควรอาศัยสิ่งภายนอกมาแก้ปัญหา ต้องใช้ธรรมะ ถ้าง่วงเหงาหาวนอนก็อดอาหารถ้าถูกจริต ถ้าไม่ถูกจริตก็ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ หรือไปนั่งที่ปากเหว ถ้าสัปหงกหลับไป หัวจะได้ทิ่มลงเหวไปเลย อย่างนี้จะไม่ง่วงแน่นอน ต้องแก้อย่างนี้

 

ถาม  ถ้าติดบุคคลติดสัตว์เลี้ยง เช่นคนที่รักหมารักแมวรักสัตว์

 

ตอบ  รักสัตว์รักคนรักตุ๊กตาก็เหมือนกัน แม้แต่รักที่นั่ง เวลานั่งสมาธิต้องมีเบาะมีที่พิง ในสติปัฏฐานสูตรไม่ได้บอกให้นั่งบนเบาะทำอานาปานสติ แต่บอกให้นั่งตามโคนไม้ ตามเรือนร้าง

 

ถาม  ถ้าได้สถานที่นั่งปฏิบัติแบบนั้นแล้วกลัวแมลงมากัด เป็นนิวรณ์ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  กลัวยุงกัดก็หามุ้งมากาง นั่งในมุ้งก็ได้ ในเบื้องต้นจิตจะไม่แข็งพอ ที่จะทนกับการรบกวน ต่อไปพอจิตแข็งแรงมีสมาธิแล้ว ถ้าต้องการปล่อยวางร่างกาย ก็ปล่อยให้มันกัดไป เป็นขั้นวิปัสสนา ร่างกายเวลาตายไป ถ้าทิ้งในป่าช้าก็ต้องถูกแมลงสัตว์ต่างๆมากัดกิน ตอนที่ยังไม่ตายจึงต้องทดสอบดูว่าทำใจได้หรือไม่ เวลานั่งภาวนามดมากัดก็ปล่อยให้กัดไป

 

ถาม  เวลาภาวนาถ้ามีสัญญาความจำมารบกวนมาก แล้วเราใช้ไตรลักษณ์พิจารณาว่าสัญญาไม่เที่ยงเป็นทุกข์

 

ตอบ  ได้ ถ้าทำให้จิตสงบได้ก็ใช้ได้ ถ้าคิดถึงใครห่วงใครอย่างนี้ ก็คิดว่าสักวันเขาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ดูแลดีขนาดไหนถึงเวลาก็ต้องตาย ถ้าห่วงเขา เขาอยู่ตรงนั้นเราอยู่ตรงนี้ ก็ช่วยเขาไม่ได้ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาตอนนี้ เราก็ช่วยเขาไม่ได้อยู่ดี ต้องปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม จะทำให้ตัดสัญญานี้ได้ กลับมาอยู่ในปัจจุบันได้

 

ถาม  ถ้าเป็นสัญญาอารมณ์อกุศล ประเภทไม่พอใจ โกรธ

 

ตอบ  ถ้าโกรธท่านก็สอนให้ใช้เมตตา ให้อภัยไม่จองเวร ให้คิดว่าเป็นการใช้หนี้เก่า คิดว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว แก้วแตกแล้ว ไปโกรธอย่างไรก็ไม่ทำให้แก้วกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ควรลืมมันไป อย่าไปคิดถึงมัน จะใช้อุบายบริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ ไม่ให้คิดถึงเรื่องที่ทำให้เราโกรธ ถ้าจะใช้ปัญญา ก็ต้องคิดว่าการจองเวรจองกรรมไม่ใช่เป็นการระงับเวรกรรม แต่ทำให้มีเวรกรรมเพิ่มมากขึ้น คิดอย่างนี้ก็จะตัดได้ หรือคิดว่าตอนนี้เขาเลวกว่าเราเพราะเขาทำเรา ถ้าเราไปทำเขา เราก็เลวพอๆกับเขาหรือเลวกว่าเขา ถ้าเราอยากจะดีอยากจะสงบ ไม่เป็นยักษ์เป็นมาร ก็ต้องให้อภัยหรือลืมเรื่องนั้นไป การแก้ปัญหาใจมีธรรมะให้ใช้หลายชนิดด้วยกัน ถ้ามีกามราคะคิดถึงแฟน ก็ต้องพิจารณาดูอาการ ๓๒ ของเขา ดูเวลาที่เขาเป็นศพ ก็จะตัดได้ ถ้าสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็ให้เจริญบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ต้องใช้ยาให้ถูกกับโรค

 

ถาม  ตอนเช้าสมาทานศีล ๘ ตอนบ่ายเผลอสติหยิบอาหารใส่ปาก ทราบว่าเสียประโยชน์ แต่จะเป็นโทษหรือเปล่า

 

ตอบ  จะติดเป็นนิสัย ถ้าอยากจะแก้ก็ต้องลงโทษตัวเอง ต้องรักษาศีลชดใช้ไปอีกวันหนึ่ง จะได้เข็ดหลาบ ถ้าทำผิดแล้วไม่มีโทษตามมาก็จะทำอีก อย่างหลวงตาท่านเคยเล่าตอนที่ท่านบวชใหม่ๆ ท่านฉันเสร็จแล้วล้างบาตรเช็ดบาตรยังไม่ทันแห้ง ก็อยากจะกินอีกแล้ว ท่านก็เลยว่าถ้าหิวอย่างนี้ต้องอด ๓ วัน ทรมานมันแล้วต่อไปจะไม่กล้าหิว ถ้ามีบทลงโทษต่อไปจะไม่กล้าทำผิด ถ้าทำผิดแล้วไม่มีโทษมีแต่นิรโทษกรรม ก็จะทำใหม่ นิรโทษกรรมกันอยู่เรื่อยๆ แล้วก็กลับมาทำใหม่ ไม่มีที่สิ้นสุด มีโทษไว้ทำไม มีไว้เพื่อกำราบเพื่อป้องกันไม่ให้ทำอีก ทำผิดแล้วควรจะลงโทษตัวเอง ไม่กินข้าวสัก ๓ วัน จะได้ไม่กล้าทำผิดอีก พยายามตัดรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ พยายามทำจิตให้สงบให้ได้ ต้องทำทั้ง ๒ ส่วนถึงจะก้าวหน้า ถ้าเดินขาเดียวก็ต้องเดินเขย่งไป ควรใช้ทั้งเท้าซ้ายเท้าขวา สิ่งที่ต้องตัดก็ต้องตัด สิ่งที่ต้องเจริญก็ต้องเจริญ จะได้สนับสนุนกัน การตัดจะทำให้เจริญสมาธิได้ง่าย มีสมาธิก็ยิ่งทำให้ตัดได้ง่ายขึ้น อย่าทำอย่างเดียว เช่นพอออกจากสมาธิก็เปิดตู้เย็นหาของกิน เปิดโทรทัศน์ดู ก็จะไม่ไปถึงไหน

 

ถาม  บางวันเราคิดฟุ้งไปเรื่อยๆ แล้วมีพุทโธแทรกเข้ามา แต่เข้ามาได้ไม่กี่ครั้งแล้วก็ฟุ้งใหม่ อย่างนี้แสดงว่าสติยังอ่อนใช่ไหม

 

ตอบ  สติมีกำลังไม่มากพอ ที่จะทำให้มีพุทโธอย่างต่อเนื่อง หรือมีอย่างอื่นเข้ามาแทรกน้อย ถ้าอยู่กับพุทโธมากกว่าอยู่กับความคิดอื่น แสดงว่ามีสติมากขึ้นแล้ว ถ้ายังมีความคิดอยู่กับเรื่องอื่นมากกว่ามีพุทโธก็แสดงว่าสติยังมีน้อย ถ้ามีสติมากๆแล้วจะมีพุทโธอยู่กับเราเป็นส่วนใหญ่ จะคิดเรื่องอื่นเฉพาะเวลาที่จำเป็นต้องคิดเท่านั้น หรือไม่คิดอะไรเลย ปล่อยให้จิตว่างๆได้ แสดงว่ามีสติ ไม่ต้องใช้พุทโธก็ได้ ถ้าสติมีกำลังมากพอที่จะหยุดความคิดได้ พอคิดอะไรปั๊บก็หยุดได้ อย่างนี้แสดงว่าสติดี การมีสตินี้จิตต้องอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา ถ้าจิตไปอดีตไปอนาคต แสดงว่าไม่มีสติ จิตต้องอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อยู่กับสิ่งที่กำลังทำ กำลังคิดอะไรก็ให้อยู่กับความคิดนั้น คิดเท่าที่จำเป็นต้องคิด เช่นกำลังจ่ายเงินก็ต้องคิดว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ ถ้าอยู่กับความคิดนี้เรียกว่ามีสติ ไม่ใช่คิดว่าถ้าเงินหมดแล้วจะทำอย่างไร ให้คนอื่นจ่ายแทนดีไหม คิดกังวลกับอนาคตคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ต้องอยู่กับเรื่องในปัจจุบันเท่านั้น ถ้าจะคิด ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องคิดเลย ให้รู้เฉยๆ รู้ว่ากำลังเดินกำลังยืนกำลังนั่ง กำลังดื่มน้ำ กำลังรับประทานอาหาร ให้รู้เท่านั้น อย่างนี้เรียกว่ามีสติ ถ้ารับประทานอาหารแล้วก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ แสดงว่าไม่มีสติแล้ว จิตไม่นิ่ง วอกแวกไปที่นั่นมาที่นี่ การเจริญสติก็เพื่อหยุดความคิด เพื่อให้จิตนิ่ง เมื่อจิตนิ่งแล้วก็จะเป็นสมาธิตั้งมั่น จะสงบจะสบาย การเจริญสติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นงานที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาเลย ถ้าเป็นนักปฏิบัติจริงๆ ต้องทำตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับเลย ทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว ต้องมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำไปเรื่อยๆต่อไปจะติดเป็นนิสัย จิตจะไม่ไปไหน เวลาจะให้อยู่กับเรื่องอะไรก็จะอยู่ ให้นิ่งก็จะนิ่ง ให้อยู่กับการพิจารณาธรรม ก็จะอยู่กับการพิจารณาธรรม มรรคผลก็จะตามมา

 

ถาม  สติจะช่วยให้รักษาศีลได้ดี

 

ตอบ  แน่นอน เพราะศีลที่รักษาโดยไม่มีสติไม่มีปัญญานั้น เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะตัวที่จะละเมิดศีลก็คือตัวจิตนี้ จิตที่มีกิเลสก็จะละเมิดศีลได้ แต่จิตที่มีสติมีธรรมะคอยคุมอยู่ พอคิดจะทำผิดศีลก็หยุดได้ทันที การมีศีลหรือไม่มีศีลไม่ได้อยู่ที่การสมาทาน อยู่ที่มีสติควบคุมจิตไม่ให้ละเมิดได้หรือไม่ อยู่ตรงนั้น พระอาจารย์บางท่านถึงสอนให้รักษาศีลข้อเดียว คือรักษาจิตนี้เอง ถ้ารักษาข้อนี้ได้แล้ว ก็จะรักษาได้หมดทุกข้อ 

 

ถาม  ถ้าศีลเราละเอียด ก็ทำให้เราละเอียดขึ้นด้วย อย่างเวลาก้าวเดิน ถ้าเห็นมดข้างหน้าก่อนที่จะเหยียบ ก็จะก้าวข้ามไป ซึ่งแต่ก่อนไม่ได้สนใจ

 

ตอบ  ใช่ เป็นอธิศีล มีศีลธรรมดาแล้วก็มีอธิศีล มีจิตธรรมดาแล้วก็มีอธิจิต จิตของปุถุชนศีลของปุถุชนเป็นแบบธรรมดา แบบล้มลุกคลุกคลาน มีบ้างไม่มีบ้าง แต่ศีลและจิตของผู้ที่บรรลุธรรม จะเป็นอธิศีลเป็นอธิจิต จะมีสติคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา จะเป็นศีลแบบธรรมชาติไป ถ้าจะผิดก็เฉพาะในเวลาที่สุดวิสัย ขับรถไปแล้วหมาวิ่งมาตัดหน้าอย่างนี้ แล้วชนมันตายไป อย่างนี้เป็นเรื่องของสุดวิสัย ไม่มีเจตนา ไม่เป็นการละเมิดศีล เพราะไม่ได้ทำด้วยเจตนา จิตต้องมีความตั้งใจจะทำ ถึงจะเป็นการละเมิดศีล

 

ถาม  ถ้าไม่มีเจตนาแต่ทำเขาตาย เราแผ่เมตตานี้ เขาจะได้รับไหม

 

ตอบ  ความตายของเขาเป็นเรื่องบุญเรื่องกรรมของเขา ถ้าส่งผลกลับมาหาเรา ก็เป็นเรื่องบุญเรื่องกรรมของเรา ถ้าเราตายแบบเดียวกับที่เราทำเขาตาย ถึงแม้เขาไม่มีเจตนา ก็ยังทำให้เราตายได้ เป็นเรื่องของการอยู่ในโลกที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อะไรก็เกิดได้ ถึงแม้จะไม่มีเจตนา มันไม่แน่นอน จะไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน ถ้าไม่มีเจตนา

 

ถาม  ทำไปแล้วก็ต้องรับกรรม

 

ตอบ  ขับรถชนสุนัขที่วิ่งมาตัดหน้ารถ สุนัขจะไม่โกรธเราหรอก เพราะเราไม่ได้มีเจตนาไปไล่ชนมัน มันก็รู้ว่าความผิดไม่ได้อยู่ที่เรา ความผิดอยู่ที่มัน เหมือนกับเราเดินไปแล้วถูกรถชน เพราะเราเผลอสติมองไม่รอบคอบ จะโกรธคนที่ชนเราก็ไม่ใช่เรื่อง เวรกรรมอยู่ที่เจตนาเป็นหลัก ถ้ามีเจตนาก็จะเป็นเวรเป็นกรรมกัน ถ้าทำร้ายเขาด้วยความตั้งใจ เขาก็รู้ว่าเราตั้งใจทำร้ายเขา เขาก็ต้องแก้แค้นเรา ก็จะเป็นเวรเป็นกรรมกัน

 

ถาม  อย่างศีลอทินนาฯ เวลาไปร้านกาแฟจะมีของให้หยิบเอง เช่นน้ำตาล กระดาษทิชชู หลอดดูด ถ้าหยิบเกินจำนวนที่ต้องใช้ ไม่เป็นอทินนาฯใช่ไหม

 

ตอบ  เป็นความโลภ ไม่ผิดศีล เพราะเขาเปิดโอกาสให้หยิบได้เต็มที่ อย่างหนังสือธรรมะนี้เราก็เปิดโอกาส อยากจะเอาไปกี่เล่มก็เอาไปได้ ถ้าเปิดโอกาสแล้วก็ไม่ผิดศีล แต่จะผิดธรรม คือไม่มักน้อยสันโดษ ยังโลภอยู่ รู้ว่าของฟรีเลยหยิบเอาไว้มากๆก่อน 

 

ถาม  ถ้าหยิบมาใช้งานจริงก็ไม่เป็นไรใช่ไหม อาจจะมากหน่อย

 

ตอบ  ไม่เป็นไร ถ้าเขาอนุญาต อทินนาฯคือการเอาของที่เขาไม่อนุญาต ถ้าอนุญาตแล้วจะเอาไปหมดเลยก็ได้

 

ถาม  เวลาฟังพระอาจารย์เทศน์ เราก็พิจารณาตามไปด้วย

 

ตอบ  ถ้าฟังแล้วพิจารณาตามไปด้วย ก็เป็นการฟังที่ถูกต้อง ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่จะไม่สามารถพิจารณาตามได้ทุกเรื่อง พอท่านแสดงเรื่องนี้เสร็จ ท่านไปพูดเรื่องอื่นต่อ แต่เรายังพิจารณาเรื่องเก่าอยู่ เรื่องใหม่ที่ท่านพูดเราก็จะตามไม่ทัน จะไม่เข้าใจ อย่างที่ได้พูดไว้ตอนต้นว่า เวลาฟังธรรมในแต่ละครั้งนั้น เราจะฟังได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ใน ๑๐๐ ส่วน เราอาจจะฟังได้เพียง ๑๐ หรือ ๒๐ หรือ ๓๐ ส่วนเท่านั้น ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเราว่าจะเร็วหรือช้าและอยู่ในระดับไหน ถ้าธรรมที่แสดงอยู่ในระดับที่สูงกว่าปัญญาของเรา ที่จะพิจารณาตามได้ เราก็จะไม่เข้าใจ อย่างนี้ก็ไม่ต้องไปกังวล เพราะการแสดงธรรมนี้ แสดงให้กับคนกลุ่มใหญ่ซึ่งมีระดับจิตที่ต่างกัน ระดับสติปัญญาที่แตกต่างกัน ท่านมักจะแสดงจากขั้นต่ำขึ้นไปสู่ขั้นสูง ขั้นทานขั้นศีลขั้นภาวนาไปตามลำดับ เหมือนรอรถอยู่ตามสถานีต่างๆ เราอยู่สถานีที่ ๓ เราก็รอให้รถมาถึงสถานีที่ ๓ เราก็กระโดดขึ้นไป ทีนี้พอไปถึงสถานีที่ ๔ ถ้าไม่มีตั๋วก็จะถูกเชิญลง เพราะตีตั๋วไปสถานีเดียว อยู่ที่กำลังสติปัญญาของเราว่าจะตามไปได้ถึงขั้นไหน

 

        การฟังธรรมแต่ละครั้งจึงมีโอกาสที่จะขยับสูงขึ้นไปได้อีก ฟังครั้งหนึ่งก็อาจจะก้าวขึ้นไปได้อีกขั้นหนึ่ง ก้าวขึ้นไปได้เรื่อยๆตามลำดับ ถ้าแสดงจากขั้นต่ำไปถึงขั้นสูงสุดตามลำดับ ถ้าแสดงเพียงขั้นเดียว ก็อาจจะได้หรือไม่ได้ประโยชน์ ถ้าตรงหรือไม่ตรงกับระดับของเรา ก็ต้องอาศัยการถามปัญหาแทน เพราะท่านไม่ได้พูดตรงจุดที่เรากำลังติดอยู่ ทรงแสดงไว้ว่า การฟังธรรมเป็นมงคลอย่างหนึ่ง การสนทนาธรรมก็เป็นมงคลอีกอย่างหนึ่ง การสนทนาธรรมก็คือการถามตอบปัญหานี่เอง ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เก่งในการแสดงธรรมนี้ ไม่ต้องสนทนาก็ได้ ฟังอย่างเดียวก็พอ เพราะท่านจะแสดงทุกขั้นทุกตอน ทุกรูปทุกแบบของปัญหาต่างๆ จนไม่ต้องถามปัญหา ไม่ต้องสนทนาเลย ถ้าแสดงไม่ละเอียดพอ ก็ต้องหาโอกาสไปกราบเรียนถามท่าน ถ้าฟังแล้วยังไม่ขจัดความสงสัย ก็ต้องถามท่าน ถ้าตอบได้ก็ดีไป ถ้าตอบไม่ได้ ก็ต้องไปหาผู้ที่ตอบได้ ครูบาอาจารย์บางท่านถึงแม้จะบรรลุแล้ว แต่ไม่สามารถตอบปัญหาของเราก็ได้ ถ้าไม่เกี่ยวกับมรรคผล