กัณฑ์ที่ ๔๐๐ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒
ตายแล้วไปเกิดใหม่
เวลาที่คนตายแล้วไปเกิดใหม่ ก็เพราะใจยังไม่หยุด ร่างกายหยุดแต่ใจไม่หยุด ใจยังอยากอยู่ ยังอยากในกาม คือกามตัณหา อยากมีอยากเป็น คือภวตัณหา อยากไม่มีอยากไม่เป็น คือวิภวตัณหาอยู่ ถ้าดับตัณหาทั้ง ๓ นี้ได้แล้ว พอกายหยุดใจก็หยุด พอไม่มีตัณหาความอยากแล้ว ถึงแม้ร่างกายยังไม่ตาย ใจก็จะขี้เกียจไปไหนมาไหน ไปดูไปฟัง ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพราะไม่มีตัณหาตัวที่คอยผลักดันให้ไป ที่เหมือนกับพยาบาลที่เข็นรถคนไข้ ถ้าไม่มีพยาบาลช่วยเข็น คนไข้ที่นั่งอยู่บนรถเข็น ก็จะไปไหนมาไหนไม่ได้ ถ้าคนเข็นไม่อยากจะเข็นแล้ว คนไข้ก็ไปไหนไม่ได้ ถ้าใจไม่เข็นแล้ว คือใจไม่มีตัณหาแล้ว ร่างกายก็จะไม่ไปไหน จะอยู่กับที่เหมือนรถที่เข้าเกียร์ว่าง จะอยู่อย่างนั้น ถ้าจะไปก็เพราะมีเหตุการณ์มีเหตุผลให้ไป อย่างตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ใจของท่านอยู่ในเกียร์ว่าง ไม่อยากจะสั่งสอนใคร ไม่เหมือนคนสมัยนี้ เรียนได้ไม่กี่เดือนก็อยากจะสอนแล้ว อยากจะเป็นอาจารย์กันแล้ว แต่คนที่ปฏิบัติผ่านมาแล้ว เห็นความยากลำบากในการปราบกิเลสตัณหา ก็จะไม่อยากจะสอนใคร เพราะสอนตนเองก็เต็มกลืนแล้ว ถ้าไปสอนคนอื่นไม่รู้ว่าจะรับได้หรือไม่ ใจก็ไม่ได้อยากเป็นครูเป็นอาจารย์ ไม่ได้อยากให้เขารู้อย่างที่ตนรู้เลย จึงมีความรู้สึกท้อแท้ ไม่อยากจะสอนใคร อยู่เฉยๆก็สบายอยู่แล้ว ไม่ได้อยากเด่นอยากดัง อยากมีชื่อมีเสียง อยากมีลูกศิษย์มีลูกหามีบริษัทบริวาร เพราะหลังจากปฏิบัติจนตัวที่ผลักดันจิต คือตัณหาความอยากต่างๆได้หมดไปแล้ว อยู่ตรงไหนก็มีความสุข มีความอิ่มมีความพออยู่ตลอดเวลา
เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไปไหนมาไหนไม่ได้ แต่ถ้าใจยังอยากจะไปอยู่ ก็จะพยายามตะเกียกตะกายไปจนได้ เพราะตัณหาความอยากจะพาไป ความอยากก็มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ฝ่ายดีก็คือความอยากในธรรม เช่นอยากไปทำบุญ อยากไปฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นความอยากเหมือนกัน แต่เรียกว่าฉันทะคือความยินดีในธรรม เป็นฝ่ายดี สำหรับผู้ที่ได้ตัดความอยากทั้งหมดแล้ว ความอยากในการทำกรรมดีก็ไม่มี ดังที่เคยได้ยินว่า ผู้ที่บรรลุแล้วละได้ทั้งบุญทั้งบาป ใจของท่านไม่ได้คิดอยากจะทำบุญ ส่วนเรื่องทำบาปนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่อยากจะทำอย่างแน่นอน แต่เรื่องทำบุญเราอาจจะคิดว่าท่านยังอยากจะทำอยู่ ถ้าทำก็ไม่ได้ทำด้วยความอยากทำ แต่ทำเพื่อเป็นอุบายให้ผู้อื่นได้ทำบุญ เช่นหลวงตาจัดงานทำบุญเปิดโลกธาตุ ท่านไม่ได้ทำเพื่อตัวท่านเอง ไม่ได้ทำด้วยความอยากได้บุญ แต่อาศัยวันมรณภาพของมารดาของท่านเป็นเหตุ ให้ได้ชักจูงผู้ที่ยังต้องทำบุญอยู่ ที่ยังต้องอาศัยบุญซึ่งเปรียบเหมือนกับน้ำมันรถ ที่จะพาจิตให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง จะได้ทำบุญกัน ถ้าไม่มีเหตุก็มักจะไม่ทำกัน คนที่ยังไม่ได้ทำบุญจนติดเป็นนิสัย เป็นเหมือนเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ จะไปไหนมาไหน ต้องให้เรือที่มีเครื่องลากไป ถึงจะไปได้ ลากให้ไปทำบุญที่นั่นทำบุญที่นี่ ในโอกาสนั้นโอกาสนี้ ท่านไม่ได้ทำเพื่อตัวท่านเอง เพราะท่านได้บุญเต็มแก้วแล้ว บาปก็ละได้หมดแล้ว ท่านละได้ทั้งบุญและบาปแล้ว ไม่ได้ทำบุญด้วยความอยากทำ ไม่ได้ติดบุญแต่อย่างใด แต่พวกที่ทำบุญจนติดเป็นนิสัยก็จะติดบุญ อยากจะทำบุญ ถ้าทำไปจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ความอยากทำก็จะหายไปเอง เหมือนกับอยากรับประทานอาหาร พอรับประทานจนอิ่มเต็มที่แล้ว ก็จะไม่อยากรับประทานต่อ เพราะอิ่มเต็มที่แล้ว เรื่องของจิตเป็นอย่างนี้
จิตของปุถุชนยังเต็มไปด้วยความอยากต่างๆ ความอยากที่เป็นสมุทัยก็มี ความอยากที่เป็นมรรคก็มี ความอยากที่เป็นสมุทัยก็จะสร้างความทุกข์ ความกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ไม่สบายอกไม่สบายใจ อึดอัดใจเบื่อหน่ายขึ้นมา เกิดจากความอยากที่เป็นสมุทัย ความจริงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ต้องไปไหน อยู่บ้านเฉยๆแสนจะสบาย มีคนดูแลให้ทุกอย่าง ถึงเวลารับประทานก็มีอาหารรับประทาน ต้องการดื่มน้ำก็มีน้ำให้ดื่ม ต้องการเข้าห้องน้ำก็มีคนคอยช่วยทำให้ทุกอย่าง น่าจะมีความสุข แต่ใจถ้ายังมีความอยากผลักดันอยู่ ก็จะรู้สึกว่าอยู่บ้านเฉยๆนี้น่าเบื่อ เศร้าสร้อยหงอยเหงา อยากจะออกไปข้างนอก ถ้าติดนิสัยทำบุญ ก็อยากจะออกไปทำบุญ แต่ก็ยังเป็นความอยากอยู่ เพราะถ้าจะทำบุญจริงๆไม่ต้องไปก็ได้ ฝากเงินไปก็ได้ ถ้าจะฟังเทศน์ฟังธรรมก็เปิดเทปฟังก็ได้ ก็ได้บุญเหมือนกัน ถ้ายังอยากไปอยู่ก็จะรู้สึกว่าไม่พอ ต้องไปเองถึงจะพอใจ แต่เป็นความพอใจที่เกิดจากการดิ้นรนของตัณหาความอยาก เพราะอยู่เฉยๆแล้วอึดอัดทรมานใจ เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ เกิดจากความอยากที่เป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ถ้าเป็นความอยากที่เป็นมรรค จะไม่อึดอัดใจ เช่นอยากนั่งสมาธิ หรือพิจารณาวิปัสสนา พิจารณาไตรลักษณ์ก็ทำได้เลย ไม่ต้องออกไปไหน เวลาอยู่ในห้องคนเดียวก็เหมือนได้ปลีกวิเวกแล้ว สามารถเจริญมรรคได้เลย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดาไปเรื่อยๆ จนจิตยอมรับความจริงของร่างกาย ตอนนี้เจ็บไข้ได้ป่วย ไปไหนไม่ได้ก็อยู่มันอย่างนี้ ไม่ดิ้นรนไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น ไม่ได้อยากให้มันหาย มันเป็นอย่างนี้ก็ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไป มีหน้าที่รักษาก็รักษาไป หายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย ใจก็จะอยู่ในเกียร์ว่าง ไม่อึดอัดใจ ไม่เบื่อหน่าย รู้สึกเฉยๆสบายๆ มีความสุข
ความสุขของใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปของร่างกาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก แต่ขึ้นอยู่กับมรรคหรือสมุทัยเป็นหลัก ถ้ามีสมุทัยก็จะไม่มีความสุข จะมีแต่ความทุกข์ ถ้ามีกามตัณหา มีภวตัณหา มีวิภวตัณหา จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ต้องทำตามคำบงการของตัณหา ถ้าไม่ทำก็จะยิ่งทุกข์ทรมานใจ ถ้าทำก็ทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง ต้องถ่อสังขารร่างกายไปทำตามคำสั่งของตัณหา ถ้าร่างกายไม่อยู่ในสภาพที่พร้อม เช่นเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะไปด้วยความยากลำบาก ก็ทุกข์อีกแบบหนึ่ง ถ้าเป็นความอยากทางธรรมที่เป็นมรรค ก็จะไม่ทุกข์ จะมีแต่สุข เช่นอยากทำสมาธิก็นั่งทำสมาธิไป อยากเจริญวิปัสสนาก็พิจารณาเรื่องเกิดแก่เจ็บตายไป เรื่องอสุภะ เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอนัตตา ร่างกายไม่ใช่ตัวของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ พิจารณาไปเรื่อยๆซ้ำๆซากๆ กำหนดดูร่างกายในสภาพต่างๆ ที่จะต้องเป็นไปและที่เคยเป็นมาด้วย เช่นกำหนดตั้งแต่อยู่ในท้อง ตอนที่เชื้อของพ่อและของแม่มาผสมกัน พ่อแม่เขาพบกันแล้ว ใจเราก็มาพบกับร่างกายในท้องแม่ อาศัยเชื้อของพ่อเชื้อของแม่มาผสมกัน เหมือนแต่งงานกันอีกครั้งหนึ่ง แต่งงานกันในท้องเพื่อให้ใจได้ร่างกายนี้มา พอร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็จะถูกขับออกมา เป็นทารกเป็นเด็กแรกเกิด แล้วก็รับอาหารรับอากาศรับน้ำ ก็คือดินน้ำลมไฟเข้าไปในร่างกาย แล้วก็แปลงเป็นอาการ ๓๒ แปลงเป็นผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯ ร่างกายก็ค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นมาตามลำดับ จากทารกก็เป็นเด็ก จากเด็กก็เป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่ก็เป็นผู้ชรา จากผู้ชราก็เป็นผู้เจ็บไข้ได้ป่วย จากผู้เจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเป็นผู้ตาย อาบน้ำชำระร่างกายให้เป็นครั้งสุดท้าย แต่งกายใส่เสื้อผ้าให้ แล้วก็เอาเข้าโลงเอาเข้าเตาเผา เผาจนกลายเป็นขี้เถ้ากับเศษกระดูกไป อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา
ให้พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อจิตจะได้รู้ความจริงของร่างกาย จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับความจริงของร่างกาย พอจิตรับความจริงได้แล้ว พออะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายก็จะรู้ทัน เหมือนกับได้ดูหนังเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว รู้แล้วว่าตอนต้นตอนจบเป็นอย่างไร เรื่องของร่างกายจึงไม่สงสัย ไม่ตื่นเต้นหวาดกลัว รู้ว่าจะต้องจบอย่างไร จะเชียร์อย่างไรก็ต้องตายเหมือนกัน เชียร์อย่างไรพระเอกในที่สุดก็ต้องแพ้อยู่ดี แต่คนดูไม่แพ้ คนดูเพียงแต่ดูเฉยๆ ถ้าไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน พอพระเอกตายในตอนจบคนดูจะเสียใจ จะทุกข์เศร้าโศก ถ้ารู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว เคยดูมาแล้วหนังเรื่องนี้ พอดูครั้งที่ ๒ จะมีอารมณ์ไม่เหมือนครั้งแรก ครั้งแรกจะคอยเชียร์พระเอกนางเอก ให้ชนะให้อยู่ไปนานๆ แต่พอรู้แล้วว่าพระเอกนางเอกในตอนจบต้องตาย ก็จะไม่รู้สึกอะไร เพราะรู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น ร่างกายของเราก็เป็นอย่างนี้ นี่คือวิปัสสนา พิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ สลับกับการทำจิตให้สงบ เพราะถ้าพิจารณามากๆแล้ว กิเลสที่ได้รับการข่มให้สงบตัวลงด้วยกำลังของสมาธิ ก็จะค่อยๆมีกำลังมากขึ้น เพราะกำลังของสมาธิจะอ่อนตัวลง กิเลสก็จะมีกำลังมากขึ้น การพิจารณาแทนที่จะทำให้จิตสงบลง ก็จะกลับฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ เพราะกิเลสจะแทรกเข้ามา จะมีอารมณ์เข้ามา มีปฏิกิริยาต่อต้าน มีความรู้สึกเบื่อหน่ายหวาดกลัว จิตไม่นิ่ง ควรหยุดพิจารณา เพราะจะเกิดวิภวตัณหาขึ้น พิจารณามากๆแล้วก็จะคิดว่าอยู่ไปทำไม อยู่ไปก็ไม่ได้อะไร ตายดีกว่า ก็เลยเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากจะอยู่ ก็จะเป็นวิภวตัณหา
การพิจารณาไม่ได้พิจารณาเพื่อให้อยากตายหรืออยากอยู่ พิจารณาเพื่อให้ปล่อยวางร่างกาย ให้ยอมรับความจริงของร่างกาย เวลาอยู่ก็อยู่ไป เวลาจะตายก็ให้ตายไป ไม่มีความอยากจะอยู่หรือกลัวตาย ให้เฉยๆกับความเป็นไปของร่างกาย อยู่ก็ได้ ตายก็ได้ เท่ากัน ถ้าพิจารณาแล้วเกิดความเบื่อไม่อยากจะอยู่ ก็จะเป็นวิภวตัณหา แสดงว่ากิเลสเข้ามาแทรกในขณะที่เจริญปัญญา ก็ต้องหยุดพิจารณา กลับมาทำสมาธิ ด้วยอุบายที่ถนัด ถ้าถนัดพุทโธก็พุทโธๆไปจนจิตสงบนิ่ง กิเลสก็จะสงบตาม อารมณ์เบื่อหน่ายก็จะหายไป พอถอนออกจากสมาธิแล้วก็จะรู้สึกสดชื่นเบิกบาน มีกำลังจิตกำลังใจที่จะพิจารณาเรื่องของร่างกายต่อไป จนกว่าจะปล่อยวางร่างกายได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย หรืออสุภะ หรืออนัตตาไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ นี่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะเป็นมรรค ไม่เป็นสมุทัย จิตจะมีพลังมีความรู้ความฉลาด รู้ทันความหลง ที่คอยหลอกให้หลงยึดติดกับร่างกาย แล้วก็อยากให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง เช่นอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย อย่างนี้ก็เป็นกิเลสเป็นตัณหา นี่คือพูดถึงความอยาก ๒ แบบ ความอยากที่เป็นมรรคกับความอยากที่เป็นสมุทัย
ความอยากที่เป็นสมุทัยก็มี ๓ อย่าง คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ส่วนความอยากหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อยากให้จิตมีความสงบ มีความสุขใจ อย่างนี้ก็เป็นมรรค เกิดจากการบำเพ็ญจิตตภาวนา เจริญสติทำจิตให้สงบด้วยอุบายของสมาธิ สลับกับการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในขันธ์ ๕ ในร่างกายในเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ และในจิต ขันธ์ ๕ กับจิตนี่เป็นคนละส่วนกัน รูปขันธ์นี่ก็เข้าใจกันดีคือร่างกาย ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ นามขันธ์คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นอาการของจิตแต่ไม่ใช่ตัวจิต ถ้าเปรียบเทียบจิตเป็นน้ำ ฟองน้ำหรือคลื่นในน้ำนี้ก็เป็นอาการของน้ำ ฉันใดเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นอาการของจิต แต่ไม่ใช่ตัวจิต ตัวจิตเป็นตัวรู้ที่ยังมีอารมณ์ดีมีอารมณ์ไม่ดี มีสุขมีทุกข์ที่ละเอียด ที่ต้องพิจารณาให้รู้เท่าทัน เหมือนกับการพิจารณาเวทนาที่มีทั้งสุขมีทั้งทุกข์มีทั้งไม่สุขไม่ทุกข์ แต่เวทนาในจิตจะละเอียดกว่า พิจารณาไปก็จะเห็น ขึ้นอยู่กับกำลังของสติปัญญา ถ้าสติปัญญาเร็วในระดับมหาสติมหาปัญญา ก็จะทันกับความละเอียดของสภาวธรรมที่มีอยู่ภายในจิต พิจารณาจนเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด ไม่เที่ยง ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ถ้าไปยึดติดเวลาที่เปลี่ยนไป ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เป็นสมุทัยเป็นความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะอยากอยู่กับความสุขที่ละเอียดนี้ เป็นสังโยชน์เบื้องบน คือรูปราคะกับอรูปราคะ ความยินดีในรูปฌานและอรูปฌาน เป็นความสุขที่ละเอียด ตอนนั้นจิตสงบนิ่งอยู่ในฌาน เสพความสุขของรูปฌานและอรูปฌาน ถ้ามีกิเลสมีตัณหาก็จะติดอยู่กับความสุขนี้ เป็นสังโยชน์ของพระอนาคามี
ส่วนสังโยชน์เบื้องล่าง ๓ ข้อแรกที่พระโสดาบันละได้ก็คือ ๑. สักกายทิฐิความเห็นว่ามีตัวตนในขันธ์ ๕ ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ว่ามีจริงหรือไม่ พอมีดวงตาเห็นธรรมก็จะเห็นพุทธะ ผู้มีดวงตาเห็นธรรมก็คือสังฆะ คือพระโสดาบัน ผู้เป็นอริยบุคคล เป็นอริยสงฆ์ ผู้ละสังโยชน์เบื้องล่างได้ ๓ ข้อ แต่อีก ๒ ข้อยังละไม่ได้ คือ กามราคะกับปฏิฆะ กามราคะคือความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรส พระโสดาบันยังรักที่จะมีครอบครัว มีสามีมีภรรยาอยู่ ยังติดในกามรสอยู่ พอติดในกามรส เวลาอยากจะเสพกามรส แล้วไม่ได้เสพก็เกิดปฏิฆะ ความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมา เช่นอยากจะไปเที่ยวแต่ไม่ได้ไป แต่ถ้าได้พิจารณาอสุภะ พิจารณารูปเสียงกลิ่นรส ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาจนปล่อยวางได้ ไม่ยึดติดกับกามรสแล้ว สังโยชน์ทั้ง ๒ ข้อนี้ก็จะหมดไป ก่อนหน้านี้ได้พูดถึงสังโยชน์อยู่ ๒ ข้อ ยังมีอีกข้อหนึ่งที่พระโสดาบันละได้ ก็คือ ๓. สีลัพพตปรามาส ความยึดติดในพิธีกรรมต่างๆ พระโสดาบันเห็นแล้วว่า พิธีกรรมไม่ใช่เหตุที่ทำจิตให้เจริญหรือเสื่อม ให้สุขหรือทุกข์ เหตุที่จะทำให้เจริญหรือเสื่อม ให้สุขหรือทุกข์ คือกรรมการกระทำทางกายวาจาใจ เช่นการรักษาศีล ๕ เป็นเหตุป้องกันไม่ให้จิตเสื่อม พระโสดาบันจึงไม่ละเมิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด เพราะเห็นกฎแห่งกรรมแล้วว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ท่านจึงไม่ละเมิดศีล ๕ ถ้ามีครอบครัวศีลข้อ ๓ ก็จะบริสุทธิ์ตลอดเวลา จะไม่นอกใจภรรยา ไม่นอกใจสามีโดยเด็ดขาด จะไม่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่างๆ บูชาราหู ฆ่าแกะฆ่าแพะ เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนชื่อ นอนในโลงศพ ที่ไม่ใช่เหตุของความเจริญหรือเสื่อม
ความเจริญหรือเสื่อม อยู่ที่กรรมคือการกระทำ ดีหรือชั่ว ดีก็เจริญ เหตุที่ทำดีแล้วยังไม่เจริญ เพราะกำลังรับผลของบาปกรรมเก่าที่ทำมาในอดีต ที่มาส่งผลในตอนนี้ ส่วนกรรมดีที่ทำในวันนี้ยังไม่ออกดอกออกผล ก็เลยคิดว่าทำดีไม่ได้ดี เห็นคนทำชั่วแล้วได้ดีก็เลยสับสน ถ้าเป็นพระโสดาบันจะไม่สงสัยหลักกรรม ทำดีได้ดี เพียงแต่ว่าผลจะปรากฏเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ทำดีทำชั่ววันนี้ผลยังไม่ปรากฏ ผลที่ปรากฏในวันนี้เป็นผลของกรรมในอดีต ก็เลยคิดว่าทำชั่วแล้วได้ดี ทำดีแล้วได้ชั่ว ก็เลยคิดว่าทำดีไปทำไมให้เหนื่อยเปล่าๆ นี่เป็นเพราะยังไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างแท้จริง แต่พระโสดาบันเข้าใจแล้ว จะไม่ไปสะเดาะเคราะห์ด้วยพิธีกรรมต่างๆ ถ้าตอนนี้ตกระกำลำบากก็รับมันไป เดี๋ยวก็หมดไปเอง แต่จะรักษาความดีไว้ต่อไป เวลาตกทุกข์ได้ยากขาดเงินขาดทอง ก็จะไม่ไปฉ้อโกง ไม่ไปลักขโมย ไม่ไปทำผิดศีล เพื่อจะได้เงินทองมา อดอยากขาดแคลนไม่มีอาหารรับประทาน ก็จะไม่ไปยิงนกตกปลามาเป็นอาหาร เก็บผักกินไป มีอะไรกินได้ก็กินไป กินไม่ได้ก็อดไป นี่คือเรื่องสีลัพพตปรามาส ยังยึดติดอยู่กับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ที่จะแก้ความตกต่ำได้ แก้ไม่ได้ มีแต่จะทำบาปมากขึ้น เช่นเอาแกะเอาแพะมาฆ่า
ส่วนความสุขละเอียดที่อยู่ในจิต เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตสงบ เป็นความสุขของรูปฌานหรืออรูปฌาน แต่ก็เป็นความสุขที่ไม่เที่ยงเช่นเดียวกัน เพราะสมาธิยังเสื่อมได้ ถ้าติดความสุขที่ละเอียดนี้ ก็จะอยากให้สุขไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเกิดความทุกข์ที่ละเอียดขึ้นมาในจิต ก็ต้องเข้าใจว่ามันเปลี่ยนได้ อย่าไปยึดไปติด ถ้าสุขก็ให้รู้ว่าสุข ไม่สุขก็ให้รู้ว่าไม่สุข อย่าไปรักษาความสุขที่ละเอียดนี้ เพราะยิ่งพยายามรักษาก็จะยิ่งทุกข์ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ พอปล่อยแล้วก็จะหายไปเอง เหลือความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง ที่ถูกความสุขที่ละเอียดปิดบัง พอปล่อยความสุขนี้ไป ก็จะเหลือแต่ความสุขที่เป็นปรมังสุึขัง เป็นความสุขที่แท้จริง ที่ไม่มีวันเสื่อม ความสุขของจิตนี้ไม่ขึ้นกับกาลและสถานที่ สามารถสร้างความสุขนี้ได้ทุกแห่งทุกหน ถ้าจิตมีกำลังพอที่จะแหวกว่ายฟันฝ่านิวรณ์ต่างๆ ที่ขวางกั้นความสงบของจิต เช่นกามฉันทะ ความอยากในกามรส ถ้าอยากไปเที่ยวจะนั่งสมาธิไม่ได้ อยากจะดูหนังฟังเพลง อยากจะกินนั่นกินนี่ อย่าไปคิดถึงเรื่องนั่งสมาธิให้เสียเวลา ทำไม่ได้ ต้องตัดกามฉันทะก่อน ถ้าจิตมีพลังมากแล้ว พอผลักเบาๆเท่านั้น นิวรณ์ต่างๆก็จะล้มระเนระนาดไปหมดเลย แต่ถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ผลักอย่างไรก็ไม่ล้ม มีแต่จะผลักกลับหรือลากเราไป ผู้ที่ต้องการพบกับความสุขภายในจิตจะต้องข้ามนิวรณ์ทั้ง ๕ ไปให้ได้ ถ้าเป็นวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ในความสามารถของตนว่าจะปฏิบัติได้หรือไม่ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ต้องเปรียบเทียบตัวเรากับพระพุทธเจ้าและพระสาวก ท่านก็เป็นคนธรรมดามีอาการ ๓๒ เหมือนเรา ท่านทำได้เราก็ต้องทำได้ ท่านมีใจเราก็มีใจ ท่านมีกายเราก็มีกาย ต้องหาอุบายคิดขึ้นมา เราสบายกว่าท่านเสียอีก เพราะท่านไม่มีใครสอน พระพุทธเจ้าต้องหาทางเอง เรามีคนคอยบอกคอยสอนคอยลากคอยจูง เราเพียงทำตามเท่านั้นเอง ความลังเลสงสัยก็จะหายไป ถ้าเป็นกามฉันทะ ก็ต้องสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย อย่าไปดูอย่าไปฟังในสิ่งที่อยากดูอยากฟัง เหมือนกับคนที่จะอดเหล้าอดบุหรี่ อย่าไปอยู่ใกล้เหล้าใกล้บุหรี่ อยากจะอดบุหรี่ก็ไปอยู่ในป่า ไปอยู่วัดที่ไม่มีบุหรี่ เวลาอยากสูบก็ข่มใจเอาไว้ ไม่ได้สูบบุหรี่ไม่ตายหรอก ไม่หายใจต่างหากที่ทำให้ตาย คนอื่นเขาอยู่ได้ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ ไปอยู่กับกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีบุหรี่ให้สูบเดี๋ยวก็เลิกได้ ต้องไปปลีกวิเวก อยู่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรส ที่ยั่วยวนกวนใจ ที่ต้องไปอยู่ที่วัดกัน เพราะอยู่บ้านปฏิบัติไม่ได้ เพราะใจไม่มีกำลังพอที่จะฝืนความยั่วยวน ของรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ แต่ถ้ามีกำลังพอไม่ต้องไปวัดก็ได้ ไม่กินไม่ฟังไม่ดูเสียอย่าง ก็หมดปัญหาไปเอง
ถ้าเป็นถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ก็อย่ากินมาก กินพอประมาณ ถ้ายังง่วงอยู่ก็ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ อยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าเปลี่ยว ถ้าเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องใช้ปัญญาระงับ พิจารณาความตาย ความพลัดพรากจากกันว่าเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรอยู่กับเราไปตลอด ไม่เสียวันนี้ก็ต้องเสียวันหน้า ถ้าไม่สามารถรักษามันได้ มันก็ต้องจากเราไป อะไรที่จะอยู่กับเรามันก็จะอยู่ อะไรที่จะไม่อยู่มันก็จะไม่อยู่ คิดอย่างนี้ความฟุ้งซ่านก็จะหายไป ถ้าอยากได้นั่นได้นี่ก็ทำให้ดีที่สุด ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ยอมรับความจริง ความฟุ้งซ่านก็จะหายไป ถ้าเป็นพยาบาท ไม่พอใจ เวลาเห็นคนทำนั่นทำนี่ เช่นจะนั่งสมาธิคนอื่นเปิดโทรทัศน์เปิดวิทยุเสียงลั่น ก็อย่าไปโกรธ อย่าไปถือสา เป็นปกติของเขา ไปบังคับไปห้ามเขาไม่ได้ ให้คิดอย่างนี้ พยายามทำตัวเป็นแจ๋วไว้ ถ้าเป็นแจ๋วแล้วอยู่ที่ไหนก็จะไม่มีปัญหา ถ้าทำตัวใหญ่ พอใครทำอะไรไม่ถูกใจก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ ต้องยอมรับกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ฝนจะตกแดดจะออกก็อย่าไปโกรธ ใครจะเปิดวิทยุ ใครจะส่งเสียงดัง ก็อย่าไปโกรธ ถ้านั่งตรงนี้ไม่ได้ก็ไปนั่งที่อื่นก็ได้ ถ้าผ่านนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ได้ จิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้ ต้องมีสติคอยดึงจิตไว้ด้วย ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ นิวรณ์เกิดจากการไม่มีสติ ทำให้คิดเรื่องกามฉันทะ ทำให้คิดลังเลสงสัยในความสามารถของตน ให้โกรธคนนั้นโกรธคนนี้ เกิดจากการขาดสติเป็นหลัก ถ้ามีสติดีๆแล้วก็จะดึงอยู่ บริกรรมพุทโธๆๆอย่างเดียวทุกอย่างก็จบ ถ้าเกาะอยู่กับกรรมฐานได้ อยู่ที่ไหนก็ภาวนาได้ อยู่ในโรงหนังในโรงละครในผับก็ภาวนาได้
นี่คือเรื่องของการเข้าสู่ความสงบของใจ เข้าสู่ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากตัณหาความอยากต่างๆ ความสุขทางตัณหามีเงื่อนไขมาก ไหนจะต้องมีร่างกายที่สมบรูณ์ สิ่งต่างๆที่ต้องการก็ต้องได้ดังใจ ถ้าตาบอดก็จะดูอะไรไม่ได้ อยากจะดูหนังก็ดูไม่ได้ ส่วนความสุขใจนี้ ตาบอดก็ยังมีได้ หูหนวกก็ยังมีได้ ไม่มีร่างกายก็ยังมีได้ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระพุทธเจ้าเวลาปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีร่างกาย แต่จิตของท่านก็ยังเป็นปรมังสุขังอยู่ จิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย จิตไม่ต้องอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ จิตมีความสุขอยู่ในตัว ด้วยการแหวกว่ายนิวรณ์ ๕ ด้วยการดับตัณหาดับกิเลสต่างๆ ถ้าร่างกายเป็นอะไรไปก็ขอให้คิดถึงเทศน์กัณฑ์นี้ อย่าไปกระเสือกกระสนหากามสุข รีบภาวนา รีบทำจิตให้สงบ ไม่ต้องออกไปข้างนอก ใครจะไปไหนมาไหนก็เรื่องของเขา ถ้าฉลาดจะรู้ว่าอยู่บ้านดีกว่าออกไป ออกไปแล้วเหนื่อย ต้องอาบน้ำอาบท่าแต่งเนื้อแต่งตัว ต้องเดินทางไป ไม่เหมือนกับความสุขที่ได้จากการทำจิตให้สงบ ไม่ต้องอาบน้ำอาบท่า ไม่มีเงิน ไม่มีรถ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำได้ ถ้าหาความสุขทางโลก ก็ต้องมีหลายปัจจัยด้วยกัน เงินทองต้องพร้อม ร่างกายต้องพร้อม รถต้องพร้อม สิ่งที่ต้องการก็ต้องพร้อม ต้องมีหนังดีๆให้ดู มีละครเด็ดๆให้ดู ถึงจะมีความสุข มีอาหารรสอร่อยให้รับประทาน แสนจะเหนื่อยยาก สู้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจดีกว่า พอชนะมันแล้วมันก็จะแพ้เราไปตลอด อย่าไปยึดติดกับร่างกาย อย่าไปอาศัยร่างกายหาความสุข อย่าไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้หาความสุขจากการทำจิตให้สงบ ด้วยการขัดเกลากิเลสให้หมดไปจากใจ จะได้ความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ ที่ทรงตรัสไว้ว่า นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง สุขที่เหนือกว่าความสงบของจิตนี้ไม่มี
ถาม ท่านอาจารย์พูดถึงขันธ์ ๕ ตัวรูปนี่ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ๔ อย่างนี้ เป็นอาการของจิต ประเด็นมีอยู่ว่าทั้ง ๔ อย่างนี้ยังทำงานอยู่หรือไม่ ถ้าร่างกายดับไป
ตอบ ถ้าเป็นเวทนาที่มีร่างกายเป็นที่ตั้ง ก็จะไม่มีถ้าไม่มีร่างกาย สมมุติว่าร่างกายเจ็บ เวทนาก็จะแสดงขึ้นมา เป็นทุกขเวทนา ถ้าเป็นทุกข์ในอริยสัจ จะไม่เกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายไม่เจ็บแต่ทุกข์ในอริยสัจ ก็ยังเกิดขึ้นได้ เช่นเวลาโกรธใครขึ้นมานี้ เป็นความทุกข์ใจ ร่างกายเป็นปกติไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อยู่ในห้องปรับอากาศเย็นสบายแต่ใจรุ่มร้อน อย่างนี้เป็นทุกข์ที่เกิดจากตัณหาความอยาก เป็นสมุทัย เช่นอยากจะออกจากบ้าน แล้วไม่ได้ออก ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่เป็นทุกขเวทนา เป็นทุกข์ในอริยสัจ สุขทุกข์ที่เกิดจากการสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกายเป็นเวทนา เวลาสัมผัสกับความร้อน ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา สัมผัสกับความเย็นก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมา เป็นเวทนาที่มาจากตาหูจมูกลิ้นกาย ทุกข์ในอริยสัจเกิดจากความชอบหรือไม่ชอบ
ถาม ที่อยู่ในจิต
ตอบ เช่นเห็นภาพที่ไม่ชอบก็จะทุกข์ ถ้าชอบก็จะไม่ทุกข์
ถาม สัมผัสธรรมารมณ์แล้วเกิดทุกข์สุขอย่างนั้นหรือเปล่า
ตอบ ถ้าชอบก็จะไม่ทุกข์ เช่นอาหารชนิดเดียวกัน คนหนึ่งกินได้อีกคนกินไม่ได้ คนที่กินได้เพราะเขาชอบ คนที่กินไม่ได้เพราะเขาไม่ชอบ เวลาชอบหรือไม่ชอบก็จะเกิดตัณหา เกิดความทุกข์ในอริยสัจ คนที่ไม่ชอบก็จะทุกข์ถ้าต้องกิน คนที่ชอบก็จะทุกข์ถ้าไม่ได้กิน
ถาม สงสัยว่าถ้าร่างกายตายไป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณจะดับตามร่างกายหรือไม่
ตอบ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นส่วนของจิต ไม่ได้เป็นส่วนของร่างกาย เวลาร่างกายดับไป ส่วนนี้ไม่ได้หายไปกับร่างกาย พอเกิดใหม่ได้ร่างกายใหม่ก็จะทำหน้าที่ต่อ ไม่มีร่างกายก็ยังทำหน้าที่ได้อยู่ เช่นวิญญาณรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสที่ละเอียด ที่ไม่ได้มาจากทางร่างกาย ที่เรียกว่ารูปทิพย์เสียงทิพย์ เช่นเวลานอนหลับไป ไม่ได้ใช้ร่างกาย แต่ใจก็ฝันถึงรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ มีความสุขความทุกข์กับรูปเสียงกลิ่นรส ที่เป็นส่วนละเอียดนี้ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ร่างกายจะเกี่ยวกับรูปเสียงกลิ่นรสที่หยาบ ส่วนรูปเสียงกลิ่นรสที่ละเอียดจะผ่านมาทางจิต ไม่ผ่านทางร่างกาย
ถาม ส่วนละเอียดที่ดีและเลว ที่ปนกันอยู่ในจิต ใช่ไหมครับ
ตอบ ใช่ เวลาฝันร้ายก็เป็นส่วนที่ไม่ดี ฝันดีก็สุข ฝันร้ายก็ทุกข์ ตื่นขึ้นมาเหงื่อแตกทั้งตัว นี่ไม่ได้เกี่ยวกับร่างกาย แต่เกี่ยวกับจิต อาจจะเป็นเรื่องที่มีอยู่ภายในจิตเอง หรือเรื่องที่จิตไปสัมผัสรับรู้ จากกระแสจิตของผู้อื่น เป็นนิมิตนอกนิมิตใน นิมิตในก็เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในจิต นิมิตนอกก็เป็นเรื่องที่มาจากภายนอก เช่นบางท่านนั่งสมาธิแล้ว ก็สามารถติดต่อกับดวงวิญญาณของผู้นั้นของผู้นี้ได้ เป็นนิมิตนอก เวลานอนหลับแล้วมีนิมิตที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตมาปรากฏ จิตก็เอาเหตุการณ์นั้นมาปรุงแต่ง ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆในขณะที่นอนหลับฝันไป
ถาม ซึ่งอาจจะเป็นจริงหรือเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาก็ได้
ตอบ ใช่ เวลาเห็นอะไรได้ยินอะไร ที่หยาบหรือละเอียดก็ตาม ท่านก็สอนให้พิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ไว้ก่อน คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าไปยึดไปติดก็จะทุกข์ ให้รู้ไว้ แต่อย่าไปแบกหาม รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ถ้าเป็นการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็รอดูไปก่อน ว่าจะตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงกันก็จะได้รู้ว่า เรารู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ ถ้าไม่ตรงกันก็แล้วไป หรือยังไม่เกิดขึ้น ก็อย่าไปยึดติดก็แล้วกัน ให้สักแต่รู้ไว้แล้วปล่อยวาง อย่าไปยึดติด เพราะไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่สมุทัยกับมรรค ถ้าจิตไปทางสมุทัยก็ต้องหยุดให้ได้ ให้มาทางมรรค พิจารณาไตรลักษณ์เพื่อปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้
เมื่อสักครู่นี้ได้พูดเรื่องเวทนา ที่สัมผัสกับร่างกาย ถ้าเหมาะกับเราก็จะเป็นสุขเวทนา ถ้าไม่เหมาะก็จะเป็นทุกขเวทนา แต่ความเหมาะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฝรั่งสัมผัสกับอากาศหนาวแล้วรู้สึกไม่หนาว พวกเราเวลาสัมผัสอากาศร้อนก็ว่าไม่ร้อน แต่ฝรั่งกลับว่าร้อนมาก พวกเราจะไม่ทุกข์ทรมานใจ แต่เขาจะทุกข์ทรมานใจ อย่างนี้เป็นปฏิกิริยาของจิต ที่เป็นสมุทัยหรือเป็นมรรค ถ้าสัมผัสความร้อนที่รับไม่ได้ แต่เราปรับใจให้รับได้ ยอมรับว่าเป็นอย่างนี้ สมุทัยก็จะดับไป ร้อนก็ยอมรับว่าร้อน รู้ว่าเป็นทุกขเวทนา แต่ไม่ทุกข์กับทุกขเวทนา
ถาม ยอมรับสัจธรรมความเป็นจริง
ตอบ ถ้ารับความจริงทุกข์ในอริยสัจก็จะไม่เกิด ถ้าไม่ยอมรับ มีสมุทัย ก็จะเกิดทุกข์ในอริยสัจ ส่วนทุกขเวทนาเป็นด้วยกันทุกคน ร้อนก็ร้อนเหมือนกัน เย็นก็เย็นเหมือนกัน แต่จะทุกข์หรือไม่ทุกข์นี้ อยู่ที่ว่าจะปรับใจได้หรือไม่
ถาม ขอสรุปความเข้าใจนิดนะคะ ที่ท่านพูดเมื่อสักครู่ว่า รูปขันธ์กับนามขันธ์เป็นคนละส่วนกัน พอร่างกายแตกดับรูปขันธ์ไม่มี แต่นามขันธ์ยังมีอยู่ ถูกไหมเจ้าคะ ส่วนทุกข์ในอริยสัจก็ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะมีร่างกายที่หยาบหรือละเอียด ถูกไหมเจ้าคะ
ตอบ ทุกข์ในอริยสัจขึ้นอยู่กับตัณหาเป็นหลัก คือสมุทัย ถ้าไม่มีสมุทัยก็จะไม่มีทุกข์ในอริยสัจ ไม่มีตัณหาแล้วก็ยังมีนามขันธ์อยู่ เพราะขันธ์เป็นอาการของจิต ดังที่ได้เปรียบเทียบไว้ว่า ฟองน้ำกับคลื่นในน้ำเป็นอาการของน้ำ ตราบใดยังมีน้ำอยู่ ก็ยังมีฟองน้ำอยู่ นอกจากว่าถ้าน้ำนิ่งจริงๆ ฟองน้ำก็ไม่มีคลื่นก็ไม่มี จิตถ้านิ่งจริงๆนามขันธ์ก็จะไม่ทำงาน เพราะนามขันธ์ออกมาจากการกระเพื่อมของจิต พอจิตกระเพื่อมสัญญาสังขารก็จะทำงาน ก็จะเกิดเวทนาตามมา ถ้าวิญญาณไปรับรูปเสียงกลิ่นรสมาจากทางใดทางหนึ่ง ทางหยาบหรือทางละเอียด ก็จะทำให้เกิดสัญญาสังขารเวทนาตามมา พอเห็นรูปปั๊บสัญญาก็จะทำงานแล้ว รูปอะไร ดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็สุขเวทนา ถ้าไม่ดีก็ทุกขเวทนา สังขารก็จะปรุงแต่ง ถ้าไม่ดีก็ต้องหนี อยู่ใกล้ไม่ได้ ถ้าดีก็วิ่งเข้าหา ถึงแม้ไม่มีร่างกายก็ยังรับรูปเสียงกลิ่นรสที่ละเอียดได้ พวกรูปทิพย์เสียงทิพย์ รับด้วยจิตโดยตรง ไม่ผ่านทางร่างกาย พวกที่ตกนรกนี้ไม่มีร่างกาย แต่ยังรับรูปเสียงกลิ่นรส ที่น่ากลัวน่าเกลียดน่าชัง น่าอาฆาตพยาบาท น่าเคียดแค้นอยู่ ที่ฝังอยู่ในจิต สัญญายังทำงานอยู่ คิดถึงคนที่เราโกรธเราเกลียดเราอาฆาตพยาบาท ก็จะทำให้มีแต่ความรุ่มร้อนภายในจิตใจ เผาผลาญใจให้ทุกข์ทรมาน เป็นทุกข์ในอริยสัจ
เรื่องนามขันธ์นี้ไม่ค่อยสำคัญ สำคัญที่มรรคหรือสมุทัยมากกว่า ให้ดู ๒ ส่วนนี้ ว่าจิตกำลังไปในทางสมุทัยหรือมรรค ในทางปฏิบัติควรอยู่ตรงนี้ ส่วนเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็รู้ว่ามันเกิดดับเกิดดับ ให้รู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง เพราะสมุทัยกับมรรคก็อาศัยนามขันธ์นี้เป็นเครื่องมือ สมุทัยกับมรรคต้องอาศัยสังขารความคิดปรุงแต่ง อาศัยสัญญา คิดถึงอาหารน้ำลายก็ไหล เกิดความอยากขึ้นมา สังขารก็ปรุงแต่งว่าต้องไปหาอาหารมารับประทาน ให้ดูตรงนี้ว่าจะไปทางไหน ถ้าไปทางมรรคก็ดี เช่นกำหนดการรับประทานอาหารให้เป็นเวลา นอกเวลาจะไม่รับประทาน นอกจากดื่มน้ำอย่างเดียว น้ำก็ต้องเป็นน้ำเปล่าๆ ไม่มีรสชาติไม่มีกลิ่นไม่มีสี เพราะดื่มเพื่อร่างกาย ไม่ได้ดื่มเพื่อจิตใจ รับประทานอาหารเพื่อร่างกาย ไม่ได้รับประทานเพื่อจิตใจ รับประทานตามเวลา ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็จะไม่รับประทาน ถ้ารับประทานก็รับประทานให้กิเลส ตัณหาความอยาก ถ้าจะดื่มพวกน้ำอัดลมก็ดื่มได้ แต่ต้องดื่มพร้อมกับอาหารเลย อย่าดื่มเพราะอยากดื่ม ดื่มเพราะคนอื่นให้มา ถ้าดื่มอย่างนี้ไม่เป็นตัณหา ต้องไม่ติดด้วย ไม่คอยรอให้เขาเอามาให้
ถาม มีคนอยากให้เราช่วย พอช่วยไปแล้วไม่ถูกใจ ก็เลยไม่รู้ว่าจะช่วยดีหรือไม่ช่วยดี ถ้ามาขอให้ช่วยอีก ยังคิดไม่ตก
ตอบ ถ้าช่วยแล้วเขาได้ประโยชน์ก็ช่วยไป ข้อสำคัญขออย่าไปหวังอะไรจากเขา จะสำนึกในบุญคุณหรือไม่ พอใจหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา อย่าเอามาเป็นประมาณ ถ้าช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ให้เขาทุกข์น้อยลง ก็ช่วยเหลือไป ถ้าเขาไม่พอใจก็เป็นเรื่องของเขา ครั้งต่อไปจะช่วยหรือไม่ช่วยก็อยู่ที่ความเมตตาของเราก็แล้วกัน ถ้ามีความเมตตาก็จะไม่ถือสา ถึงแม้ในคราวที่แล้วเขาทำให้เราไม่สบายใจ เป็นความผิดของเราที่ไม่สบายใจ ถ้าไม่ยึดติดกับการกระทำของเรา ก็จะรู้สึกเฉยๆ ควรจะดูที่ผลที่เกิดจากการช่วยเหลือมากกว่า ว่าทำแล้วได้ผลดีหรือไม่ ถ้าได้ผลดีก็ทำไปเถิด ถ้าไม่ได้ผลดีก็อย่าไปทำ อย่าไปช่วยให้เสียเวลา ควรเล็งดูผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น อย่าเอาความรู้สึกของเขามาเป็นประมาณ
ถาม ถ้าเราคิดว่ามันดีสำหรับเขา แต่เขาไม่คิดว่ามันดี คือคุณแม่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ทีนี้เราอยากให้ใช้เวลาที่ถูกต้อง คุณแม่ก็ไปเร่งนาฬิกา อยากจะทำอะไรให้เร็วขึ้นให้ทันใจ เราก็เถียงกันเรื่องเลื่อนนาฬิกาไปกลับ ถ้าให้ผิดเวลามันก็ไม่ถูกสำหรับร่างกาย ทำอย่างนี้ก็ทำให้แม่เครียด เราก็เครียด ไม่รู้ว่าสายกลางอยู่ตรงไหน
ตอบ ต้องเลือกเอา เราต้องการให้แม่เครียดหรือไม่เครียด
ถาม เวลามันผิด ทานยาก็ผิดเวลา ทานข้าวก็ผิดเวลา อย่างนี้ไม่น่าจะดี แต่ก็ไม่รู้ว่าที่เครียดนี้ มันหนักกว่าทานข้าวผิดเวลาหรือเปล่า
ตอบ ถ้าผ่อนผันไม่ได้ ก็ไม่ต้องผ่อนผัน ถ้าผ่อนผันแล้วเกิดโทษกับเขา เช่นกินยาผิดเวลา ทำให้การรักษาไม่เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ อย่างนี้ก็ผ่อนผันไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าหมอสั่งอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเขาดื้อ ก็ต้องปล่อยเขาไป เป็นชีวิตของเขา เขาพอใจที่จะกินอย่างนี้ก็ปล่อยเขาไป อย่างนี้เราจะได้ไม่เครียด เขาก็ไม่เครียด ต้องบอกเขาก่อนว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก จะไม่หาย จะเป็นโทษกับร่างกาย เพราะไม่ทำตามที่หมอสั่ง ถ้าเขายืนยันจะทำ ก็ทำไป
ถาม แม่เป็นโรคสมอง ใช้เหตุผลไม่ได้
ตอบ ต้องหาอุบายให้เขาทำตามให้ได้ เขาตั้งนาฬิกาให้เร็วขึ้น เราแอบตั้งใหม่ หรือซื้ออีกเรือนที่เหมือนกัน พอเขาเผลอก็สลับเปลี่ยนนาฬิกากัน ต้องใช้อุบายใช้ปัญญาให้ทันกัน ข้อสำคัญอย่าไปเครียด อย่าไปโกรธ ต้องเข้าใจสถานภาพของท่าน ต้องปรับใจให้รับกับสภาพเหตุการณ์ให้ได้ ถ้าให้กินตามเวลาไม่ได้ อยากจะกินก่อนเวลาก็กินไป เท่านั้นก็จบ แต่ต้องดูใจเราเป็นหลัก อย่าเป็นทุกข์กับเหตุการณ์ต่างๆ ใช้สติปัญญาเพื่อปรับรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปรับได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ต้องมองภาพรวมด้วยว่า ทำอย่างไรในที่สุดท่านก็ต้องตายอยู่ดี มาเครียดกันทำไม เราก็เพียงแต่ประวิงเวลาหรือยืดเวลาออกไปเท่านั้นเอง ในที่สุดก็ตายเหมือนกัน ตายช้าตายเร็ว ถ้ามองภาพรวมแล้วก็จะปล่อยวางได้ ทำได้ก็ทำไป ทำไม่ได้ก็ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไป จะไม่เครียด จะสบายใจอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่เราจะหลงไปกับร่างกาย ทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับร่างกาย ปล่อยให้ใจเครียดทุกข์ทรมานใจกับเรื่องของร่างกาย ถ้ามีธรรมะคอยสอนใจว่าร่างกายนี้ไม่ใช่สาระที่สำคัญ สาระสำคัญคือใจ ต้องรักษาใจมากกว่ารักษาร่างกาย ใจรักษาได้ แต่ร่างกายรักษาไม่ได้ รักษาได้เพียงชั่วคราว ในที่สุดก็รักษาไม่ได้
แต่ใจนี้เรารักษาให้เป็นปกติให้อยู่อย่างสุขสบายได้ตลอดเวลา แต่เราไม่รักษากัน เรากลับสร้างความทุกข์สร้างความเครียดให้กับใจอยู่ตลอดเวลา เพราะหลงไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่สามารถจะรักษาได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่นก็รักษาไม่ได้ สมบัติข้าวของเงินทองสถานภาพต่างๆ เราก็รักษาไม่ได้ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเราเสมอไป มันเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลไปอยู่เรื่อยๆ เหมือนปลาไหลจับแล้วก็ลื่นหลุดมือไป ได้ลาภยศสรรเสริญสุขมาแล้วก็ลื่นหลุดไป ต้องไปจับตัวใหม่ พอจับมาแล้วก็ลื่นหลุดมือไปอีก ก็ไปจับใหม่อีก เก้าอี้นายกฯก็วิ่งจับกัน ได้นั่งแล้วเดี๋ยวก็ลื่นตกลงมา ตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน อย่าไปรักษาพวกนี้เลย ได้มาก็ดูแลไปตามอัตภาพ จะอยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไป ต้องรักษาใจให้สบาย ให้รับกับทุกสภาพให้ได้ จะรับได้ก็ต้องรู้ทัน รู้ว่าจะต้องจากไป จะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน พอเตรียมตัวเตรียมใจแล้ว เวลาจากไปก็ไม่เดือดร้อน พอมันทำท่าจะไปก็ไม่เดือดร้อน ต้องรู้วิธีที่จะรักษาใจให้สุขให้สบาย ต้องรู้ทันกับสิ่งต่างๆที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย อย่าไปยึดอย่าไปติด ต้องรู้ว่าต้องจากเราไปไม่ช้าก็เร็ว ถ้ารู้อย่างนี้แล้วจะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การไปการมาของทุกสิ่งทุกอย่าง
ถาม ในการทำงานเราถูกตำหนิติติงเรื่องตัวสะกดเล็กน้อย เรารู้สึกว่าเขาไม่ควรจะมายุ่งกับเรื่องนี้ ก็เลยกะว่าจะส่งเรื่องกลับ แต่มาคิดอีกทีหนึ่ง ว่าการกระทำแบบนี้สร้างเวรกรรมหรือเปล่า ถ้าไม่ทำนี่เขาก็จะคิดว่าเราไม่มีปากมีเสียง ก็จะถูกรังแก แต่ถ้าปากจัดเขาจะไม่กล้า ก็เลยต้องแสดงให้เขาเห็น ส่งเรื่องคืน
ตอบ จะทำอะไรให้ใช้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์ ถ้าการตำหนิของเขามันถูกต้อง ถึงแม้เราจะไม่ชอบก็ควรจะยอมรับ ดีกว่าไปมีปฏิกิริยาไม่พอใจเขา ถ้าการตำหนิเป็นเรื่องไร้สาระ ก็นิ่งเฉยไปเสียก็หมดเรื่อง ไม่ต้องส่งคืนก็ได้
ถาม บันทึกจะต้องส่งต่อ เขาบอกว่าเขียนอย่างนี้ไม่ถูก ต้องอย่างนี้อย่างนั้น รู้สึกว่าก้าวก่ายมากไป ต้องแสดงให้เขาเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขา
ตอบ อาจจะเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมได้ เพราะเขาคงจะไม่พอใจ เมื่อเขาไม่พอใจ จะเป็นเพื่อนรักกันก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเรื่องคาใจอยู่ ถ้าเราวางเฉย เขาจะว่าอะไรก็ทำเป็นหูทวนลมไป ไม่ทำตามที่เขาสั่ง ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูด ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ทำไป จะนิ่มนวลกว่าการตอบโต้สร้างเวรกรรม แต่เราไม่ต้องทำตาม ถ้าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง ถ้าผิดเราก็ควรแก้ เราอย่าถือทิฐิ ว่าเขาตำหนิเราไม่ได้ จะเป็นโทษกับเรา ให้เรารับได้ทั้งการสรรเสริญชื่นชมยินดี และการตำหนิติเตียนดุด่าว่ากล่าวนินทาครหา ให้ทำใจรับทั้ง ๒ ส่วนนี้ ให้ถือหลักความจริง เวลาใครตำหนิให้ดูว่าจริงหรือไม่ เพราะการตำหนินี้ เหมือนเอากระจกมาส่องหน้า เราไม่สามารถมองเห็นหน้าของเราเองได้ เวลาเราจะแต่งหน้าทาปาก หวีเผ้าหวีผม เราต้องมีกระจก ถึงจะรู้ว่าเราทำถูกหรือไม่ คนที่ชี้ความผิดของเราเป็นเหมือนกระจก เป็นเหมือนคนชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา เราควรพิจารณาดู ว่าเป็นอย่างที่เขาพูดหรือไม่ ถ้าผิดอย่างที่เขาพูดเราก็ควรแก้ไข ควรยกมือไหว้เขา ที่มีเมตตาชี้ความผิด ถ้าไม่มีคนบอกเราแล้ว เราจะทำผิดอยู่เรื่อยๆ
การไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ก็เพื่อให้ท่านได้ชี้ความผิดของเรา เพราะเรามีความผิดมากกว่าความถูก ท่านมีความถูกมากกว่าความผิด ก็เลยต้องอาศัยความถูกของท่านเป็นมาตรฐาน ไม่ว่าใครจะสรรเสริญหรือนินทาตำหนิติเตียน อย่าไปถือคำพูด ให้ถือความจริง ถ้าจริงตามที่เขาสรรเสริญ ก็แสดงว่าเขาไม่ตอแหล ไม่ได้ยกยอเพื่อเอาอกเอาใจเรา พูดความจริง ถ้าไม่จริง เราก็รู้ว่าเขาตอแหล การตำหนิก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่จริงก็แสดงว่าเขาเกลียดเรา ไม่พอใจเราโกรธเรา เขาพูดด้วยอารมณ์ เราก็อย่าไปถือสา เพราะเวลาเขาโกรธเขาเกลียดนี้เหมือนมีไฟเผาใจเขา เราควรจะสงสารเขาเสียมากกว่า ปล่อยให้เขาพูดไป ถ้าพูดแล้วเขาสบายใจ คิดว่าเป็นการทำบุญให้ทาน ยกโทษให้เขาไป ให้อภัยเขาไป เป็นอภัยทาน ให้ดูตรงนี้เป็นหลัก อย่าไปดูอารมณ์ของเรา เพราะอารมณ์จะไม่ยอมรับการตำหนิ พระพุทธเจ้าจึงต้องกำหนดวันปวารณาขึ้นมา ให้พระสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้พระรูปอื่นตำหนิตนได้ โดยปกติทุกกึ่งเดือนจะลงประชุมเพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ แต่ในวันสุดท้ายของพรรษา ให้เป็นวันปวารณาแทน อยู่กันมา ๓ เดือนแล้ว เห็นธาตุแท้ของกันแล้ว ถ้าจะเมตตาชี้บอกว่าทำอะไรผิดพลาดจะได้เอาไปแก้ไข แม้แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงยกเว้นพระองค์เอง ทรงเปิดโอกาสให้พระเณรทุกรูปตำหนิพระองค์ได้ นี่คือที่มาของวันปวารณา ให้ยอมรับการตำหนิของผู้อื่น จะถูกหรือจะผิด เราวิเคราะห์ดูอีกที การปวารณานี้ท่านให้กล่าวว่า การกระทำของเรา ที่ท่านเห็นก็ดี ได้ยินก็ดี สงสัยก็ดี ว่าไม่เหมาะไม่ควร ขอให้ท่านว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้าด้วยเถิด แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ก็จะไม่ได้ปวารณากันแบบจริงๆจัง ปวารณากันเป็นพิธี ต่างคนก็ต่างกล่าวคำบาลีไป เสร็จแล้วก็สาธุกันไป
ถาม สมัยที่ท่านอยู่บ้านตาด หลวงตาท่านร่วมปวารณาด้วยหรือไม่
ตอบ ท่านปวารณาด้วย เริ่มจากพระอาวุโสก่อน
ถาม ท่านมีตำหนิติเตียนลูกวัดไหมครับ
ตอบ ตำหนิติเตียนเสมอ หลักของพระปฏิบัติถือว่าเมื่อเข้าอยู่ในหมู่คณะแล้ว ต้องปวารณาตัวตลอดเวลา แต่ที่ทำนี้เป็นเพียงพิธีกรรม ความจริงต้องปวารณาตั้งแต่วันบวชเลย ต้องพร้อมที่จะรับการว่ากล่าวตำหนิติเตียน บวชเรียนเพื่อพัฒนาตน จะพัฒนาได้ก็ต้องรู้ว่าตนได้ทำผิดอย่างไร จะได้แก้ไข จึงต้องมีการว่ากล่าวตักเตือนกัน ถ้าสังคมมีการปวารณากัน โลกนี้จะไม่มีปัญหาอะไร ผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องคิดให้ดีก่อน ว่าสิ่งที่พูดนั้นจริงหรือไม่ ออกมาจากจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้ากำลังโกรธกำลังเกลียดก็อย่าพึ่งไปว่ากล่าวตักเตือน รอให้ใจสบายก่อน แล้วค่อยว่ากล่าวตักเตือนกัน แต่ในเชิงปฏิบัตินี้จะมีคนเดียวที่ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ก็คือครูบาอาจารย์ หรือพระเถระที่น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส ถ้าไม่น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใสไปว่ากล่าวตำหนิติเตียน จะรับไม่ได้ ผู้ว่ากล่าวตำหนิติเตียนผู้อื่น ต้องดูสถานภาพของตนก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นโทษได้ เป็นเวรเป็นกรรมได้
ถาม แต่ในสังคมฆราวาสจะไม่มีการปวารณากัน เพื่อนฝูงไม่กล้าที่จะติเตียนกัน กลัวจะขุ่นข้องหมองใจกัน
ตอบ ในสังคมพระทุกวันนี้ ก็ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนกัน ปวารณากันไปพอเป็นพิธี ในวงพระปฏิบัติเท่านั้น ที่จะว่ากล่าวตักเตือนกันได้
ถาม วันหนึ่งๆเราควรจะภาวนาสักกี่ชั่วโมง
ตอบ ถ้าเป็นนักภาวนามืออาชีพ ก็ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย แต่ก็ทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย อย่างพระนี้ก็บิณฑบาตได้ ปัดกวาดลานวัดได้ ทำอะไรก็ได้ แต่ทำในเชิงปฏิบัติ คือมีสติอยู่กับงานในปัจจุบัน ไม่คิดถึงเรื่องอดีตเรื่องอนาคต จิตรู้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ทำเท่าที่จำเป็น พอไม่มีงานจำเป็นต้องคิดต้องทำ ก็จะเจริญวิปัสสนา เจริญมรณานุสติ เจริญอสุภะ สลับกันไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่ากำลังติดอยู่กับธรรมขั้นไหน ก็จะทุ่มเวลาให้กับธรรมขั้นนั้น พอผ่านไปแล้วก็ไม่ต้องพิจารณา เพราะอยู่ในใจแล้ว ต้องการจะใช้ก็จะมาทันที ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องเจริญแล้ว ถ้าไม่มีกิเลสที่จะต้องทำลายก็ไม่ต้องเจริญ ปัญญาเป็นเหมือนยารักษาโรค ยาฆ่าเชื้อโรค ถ้าไม่มีเชื้อโรคแล้วก็ไม่ต้องกินยา ยามีไว้เพื่อทำลายเชื้อโรค ปัญญามีไว้เพื่อทำลายกิเลส เมื่อกิเลสคือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหาหมดไปแล้ว ก็ไม่ต้องเจริญปัญญาอีกต่อไป ไม่ต้องพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา เพราะไม่มีอะไรมาก่อกวนจิตใจ ไม่มีอะไรมาหลอกล่อให้เกิดตัณหาต่างๆ ถ้าคิดว่าหมดแล้ว แต่กลับโผล่ขึ้นมา ก็ต้องจัดการ แสดงว่ายังไม่หมด เราคิดว่ามันหมด แต่มันยังไม่หมด มันยังชอบเป๊บซี่ ยังอยากทำนั้นทำนี่อยู่ ก็รู้ว่ามันไม่หมด ต้องลองหยุดมันดู หยุดแล้วเดือดร้อนไหม ถ้าไม่เดือดร้อนก็ใช้ได้
อย่างครูบาอาจารย์ที่ถูกตำหนิว่า ทำไมยังเคี้ยวหมากยังสูบบุหรี่อยู่ เป็นตัณหาไม่ใช่หรือ เป็นตัณหากับพวกเราแต่ไม่ได้เป็นกับท่าน ท่านเคี้ยวไปตามสภาพ มีให้เคี้ยวก็เคี้ยว มีให้สูบก็สูบ ไม่ได้สูบไม่ได้เคี้ยวอย่างไม่มีขอบเขต อย่างหลวงปู่มั่นนี่ ได้ยินได้ฟังมาว่าท่านสูบวันละ ๓ ถึง ๔ มวน ตอนเช้าฉันจังหันเสร็จแล้วท่านก็จะสูบสักมวนหนึ่ง ตอนบ่ายฉันน้ำชาก็จะสูบอีกมวนหนึ่ง ตอนค่ำก็จะสูบอีกมวนหนึ่ง เป็นบุหรี่ที่เขาถวายไว้ให้ท่านสูบ ท่านไม่เคยไปสั่งไปบอกให้ใครไปซื้อบุหรี่มา ถ้าไม่มีก็ไม่สูบ ถ้าถามว่าสูบไปทำไม ก็สูบไปอย่างนั้นแหละ ไม่เดือดร้อนอะไร คนอื่นไปเดือดร้อนแทนท่านทำไม ตอนที่หลวงตาไปต่างประเทศ ไปกรุงลอนดอน ตอนที่ท่านจะขึ้นเครื่องนี้ ญาติโยมขนหมากมาให้มากมาย กลัวท่านจะไม่มีหมากฉัน แต่ท่านบอกว่าพอขึ้นเครื่องแล้วท่านจะหยุดทันที ท่านไม่เอาไปเลย ไปลอนดอนประมาณสัก ๒ อาทิตย์ ท่านไม่ได้ฉันหมากเลยแม้แต่วันเดียว ถ้าติดก็จะต้องทุกข์ทรมานใจ สำหรับท่านจะหยุดเมื่อไหร่ก็หยุดได้ทันที ไม่มีปัญหา ได้ยินว่าเคี้ยวหมากเพื่อรักษาฟัน หมากช่วยรักษาฟันได้ คนที่สงสัยนี้พูดไปจากความรู้สึกของตน เพราะยังติดอยู่ ยังอยากอยู่ พอคนอื่นทำเหมือนตน ก็คิดว่าอยากเหมือนตน ติดเหมือนตน แต่สำหรับท่านมันเป็นเพียงกิริยา การรับประทานของท่านก็ไม่เหมือนการรับประทานของเรา เรารับประทานด้วยความเอร็ดอร่อยกับรสกับชาติ กับอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ แต่ท่านรับประทานเหมือนกับรับประทานยา รับประทานเพื่อร่างกาย ไม่เหมือนกัน แต่เราไม่รู้ จิตของท่านกับจิตของเราไม่เหมือนกัน จิตของท่านไม่มีความอยาก ไม่มีกามตัณหา จึงไม่ได้ฉันด้วยความเอร็ดอร่อย ฉันไปตามสภาพที่มี มีอะไรก็หยิบฉันได้ เลือกได้ แต่ไม่ไปสั่งให้หาอาหารชนิดนั้นชนิดนี้มา ถ้ามีหลายอย่าง ฉันไม่ได้ทุกอย่าง ก็เอาอย่างนี้บ้าง เอาอย่างนั้นบ้าง อย่างอื่นที่ไม่ได้เอาก็มีบ้าง ไม่เสียหายอย่างไร ถ้าเพื่อฉลองศรัทธาท่านก็หยิบใส่ไปในบาตรให้ทุกคน จะฉันหรือไม่ก็เรื่องของท่าน
บางคนถวายอาหารให้พระเพื่อคนตาย เขาก็ทำอาหารที่คนตายชอบ ไม่ได้ถวายอาหารที่พระชอบ คนที่กลัวว่าตายแล้วชาติหน้าจะไม่ได้กินอาหารชนิดนี้ ก็ถวายชนิดนี้ไป เป็นการทำบุญที่ไม่ถูกหลักธรรม ทำบุญด้วยความโลภ ทำบุญจริงๆแล้วจะต้องไม่ปรารถนาผลตอบแทน ถึงแม้จะมีผลตอบแทนก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือการให้ทานนี้มีอานิสงส์ มีสิ่งนั้นสิ่งนี้รอเราอยู่ข้างหน้า แต่เราไม่ควรให้เพราะเหตุนั้น ควรให้เพื่อปลดเปลื้องภาระที่ต้องรักษาสมบัติก้อนนั้น ถ้าไม่มีความจำเป็นกับเงินทองก้อนนี้แล้ว ก็อย่าไปเก็บไว้ให้เป็นภาระ ควรปลดเปลื้องให้ผู้อื่นไปเป็นการตัดอุปาทาน เป็นการปล่อยวาง เพราะในที่สุดเราก็ต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งร่างกายนี้เราก็ต้องตัด ก็ต้องตัดของที่ง่ายกว่าร่างกายไปก่อน ของที่เรายังยึดติดแต่ตัดง่าย อย่างเงินทองบางส่วนนี้ เงินก้อนเดียวกันนี้ ถ้าตั้งใจจะทำบุญให้ทานไป เวลาให้ไปแล้วจะสุขใจ ถ้าไม่ได้คิดจะให้ แล้วหายไปนี้ จะเดือดร้อนจะวุ่นวายใจขึ้นมาทันที เพราะยังมีความผูกพัน ยังยึดติดกับเงินก้อนนั้นอยู่ การให้ที่แท้จริงต้องให้เพื่อตัดอุปาทานความยึดติดในสิ่งต่างๆ ถ้าให้สิ่งที่รักมากก็จะได้ความสุขมาก เพราะจะได้หมดภาระหมดความกังวลกับสมบัติชิ้นนั้นไป ถ้าอยากจะได้บุญมากๆ มีความสุขมากๆ ก็ต้องให้ของที่รักมากที่สุดไป ไม่มีอะไรที่เรารักมากเท่าร่างกาย ถ้ายอมให้ร่างกายนี้ตายได้ จะมีความสุขใจมาก จะไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนกับอะไรอีกต่อไป ถ้าให้สามีหรือภรรยาที่รักมากได้ ให้ในใจไม่ต้องไปบอกเขา จะไปอยู่กับใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ยินดีเสมอ จะมีความสุขมาก เป็นความสุขที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากสามีหรือภรรยา ความสุขที่ได้จากสามีหรือภรรยา เป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความทุกข์คอยรออยู่เสมอ ไม่รู้เขาจะจากเราไปเมื่อไหร่ แต่ความสุขที่ยินดีให้เขาไปตั้งแต่บัดนี้ จะทำให้ใจเราสุขสบาย ไม่ต้องทุกข์กับเขาอีกต่อไป แต่ก็ยังอยู่ด้วยกันยังมีความรู้สึกที่ดีต่อกันเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีอุปาทานเท่านั้นเอง ที่จะคอยสร้างความห่วงกังวล ความหวงความเสียใจ พอตัดได้แล้ว จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ต้องการจะทำอะไรก็ทำไปเลย ถ้ายังมีอุปาทานอยู่ก็จะคอยว่าเขาอยู่เรื่อยๆ ทำไมทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ทำไมกลับบ้านช้า เป็นปัญหาระหองระแหงกันไป ถ้าตัดอุปาทานได้แล้ว จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
นี่คือเรื่องของการให้ ให้โดยไม่ต้องการผลตอบแทนจากผู้รับ หรืออานิสงส์จากการให้ ให้เพื่อตัดอุปาทานความยึดติด กับวัตถุข้าวของเงินทองบุคคลต่างๆ เพราะไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง ก็ต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป ถ้าตัดได้แล้วจะไปอย่างสบายหายห่วง ถ้ายังตัดไม่ได้ก็จะไปเหมือนติดอยู่กับกาว ต้องใช้กำลังฉุดลากแยกกันออกไป ตอนนั้นจะทุกข์ทรมานใจมาก ในขณะที่พลัดพรากจากสิ่งที่ยังปล่อยไม่ได้ ยังยึดติดอยู่ ที่ทุกข์กันก็เพราะเสียดาย ถ้าอยากจะแยกกันอยู่แล้ว พอได้แยกกันก็ดีใจ ถ้าต้องอยู่กับคนที่เราเกลียดขี้หน้า พอเขาจากไปจะรู้สึกโล่งเลย เพราะไม่มีอุปาทานในตัวเขา ถ้ามีอุปาทานเวลาที่จากกันนี้ จะทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่ง จึงควรเห็นโทษของอุปาทาน การตัดอุปาทานนี้ไม่ได้ตัดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยังมีความเมตตากรุณาต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน ยังรักกันเหมือนเดิม อยู่กับอะไรอยู่กับใคร ก็อย่าไปมีอุปาทาน พร้อมที่จะจากกันเสมอ อย่างพวกเรามาที่นี่ก็ไม่มีอุปาทาน พอถึงเวลาเราก็พร้อมที่จะจากกัน
ถาม มีครั้งหนึ่งลูกมีปัญหากับบุคคล จิตใจยึดติดกับปัญหา กังวลหงุดหงิดหนักใจมาก มีช่วงหนึ่งรู้สึกปล่อยทุกอย่างได้ รวมทั้งความยึดติดนั้นด้วย เป็นชั่วขณะจิตเดียว รู้สึกว่ามันเบามากจนจำความรู้สึกนั้นได้ นี่คือสมถะใช่ไหมคะ ไม่ใช่ว่าเราเข้าใจอะไร เพียงแต่เราดึงจิตหลุดออกมา
ตอบ เป็นเพราะทนไม่ไหว ก็เลยปล่อยไป ปล่อยแบบจำยอม ไม่ได้ปล่อยด้วยปัญญาที่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอุปาทาน ถ้าเห็นว่าเป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอุปาทาน ก็จะไม่กลับมาเป็นอีก ถ้าปล่อยเพราะทนไม่ได้ก็จะกลับมาเป็นอีก ถ้าพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลด้วยปัญญา เห็นไตรลักษณ์ ว่าเป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่ไปควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้ ปล่อยดีกว่า ก็จะไม่เป็นปัญหาอีก จึงควรเจริญไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ เวลาเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ต้องติดป้ายไว้ว่านี่เป็นไตรลักษณ์ อย่าไปยึดติด รับงานนี้มาแล้วก็ทำไป ได้ผลอย่างไรก็ยอมรับ ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เป็นปัญหา ไม่ต้องไปทะเลาะกับผู้ร่วมงาน เขาจะเอาอย่างนั้น เราจะเอาอย่างนี้ พูดกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วก็สรุปกันเลยว่าจะเอาอย่างไร ถ้าเสียงข้างมากจะเอาอย่างนั้นก็ยอมรับ เราคิดว่าทางนี้ดีกว่า แต่เขาไม่มาทางนี้ ก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่ยอมรับก็จะไม่สบายใจ บางทีก็ลาออกจากงานนี้ไปเลย เพราะรับไม่ได้ ก็ทำได้ถ้าคิดว่า ไปทางนั้นแล้วจะเสียหาย ไม่อยากมีส่วนร่วมสร้างความเสียหายนั้น เราก็ถอนตัวออกมา ถ้าทำด้วยเหตุด้วยผลก็จะไม่ทุกข์ ถ้าทำด้วยอารมณ์เอาแพ้เอาชนะกันก็จะทุกข์ ต้องยอมรับเหตุผล ยอมรับความจริง ถ้าเหตุผลของเขามีน้ำหนักมากกว่า ก็ต้องยอมรับเหตุผลของเขา ถ้าเหตุผลของเรามีน้ำหนักมากกว่า แต่เสียงเขามากกว่า ก็ต้องยอมรับ เรื่องจะได้จบ ควรพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ จะปล่อยวางได้เรื่อยๆ จนติดเป็นนิสัย ต่อไปเวลาเห็นอะไร จะเห็นไตรลักษณ์ก่อนเลย จะไม่มีปัญหาเลย แต่ตอนนี้ไตรลักษณ์ของเรายังไม่ต่อเนื่อง บางเรื่องบางเวลาก็มี บางเวลาก็ไม่มี เวลาที่มีก็สบายใจ ทำอะไรก็ทำได้อย่างเบาใจสบายใจ เวลาเผลอปั๊บอุปาทานก็เข้ามา ก็จะหนักอกหนักใจ ต้องดูที่ใจว่าปล่อยหรือยึดติด คำว่าปล่อยก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลย หมายความว่าปล่อยอุปาทาน ปล่อยความยึดมั่นถือมั่น แต่ยังทำงานที่ต้องทำอยู่ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น
ถาม ปฏิบัติคราวก่อนมีอสุภะปรากฏขึ้นมาเอง ตอนนี้มันหายไป มีแต่จิตที่คอยดูเขา ว่าทำไมอสุภะหายไป ควรจะดูจิตไปเรื่อยๆใช่ไหมคะ หรือต้องปรับการปฏิบัติ
ตอบ เราเจริญอสุภะเพื่อตัดกามตัณหา ความยินดีอยากในกาม การอยากเสพกาม อยากมีคู่ครอง ถ้ายังอยากอยู่ ก็ต้องเจริญอสุภะต่อไป
ถาม เวลามองใครจะมองเป็นอสุภะ จึงไม่เคยมีปัญหากับเรื่องพวกนี้
ตอบ อยู่คนเดียวได้ ไม่รู้สึกว้าเหว่ ไม่ได้อยากจะมีคู่ครองคู่นอน
ถาม ไม่ มองอะไรชอบมองเป็นอสุภะ แต่พอถึงตรงนี้ ไม่ได้มองตรงนั้นแล้ว ไปมองที่จิตเรา
ตอบ ถ้าไม่เป็นปัญหาก็ไม่ต้องใช้อสุภะ ยาได้รักษาโรคจนหายแล้ว ก็ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป
ถาม ไม่แน่ใจ
ตอบ ไม่เป็นไร ตอนนี้พักไว้ก่อน ดูว่าจะมีกามารมณ์เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าเจริญอสุภะยังไม่พอ ก็กลับมาเจริญอสุภะต่อ ตอนนี้ถ้ามีปัญหากับเรื่องอื่นก็แก้เรื่องอื่นไปก่อน มีเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นในจิตที่เป็นปัญหาก็ต้องแก้มัน แก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนหนึ่ง แล้วก็เตรียมแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกส่วนหนึ่ง เช่นความเจ็บไข้ได้ป่วยความตาย เตรียมตัวเข้าห้องสอบ ต้องทำการบ้านไว้ก่อน
ถาม ตอนนี้หนูพยายามดูอนิจจังทุกขังอนัตตาของจิต ที่เกิดขึ้นแล้วก็หายไป แต่บางทีก็ไม่ทัน ไม่ทราบเป็นเพราะว่า ไม่ได้เจริญอสุภะหรือเปล่า สติเรารู้สึกค่อนข้างจะอ่อน
ตอบ สติปัญญายังไม่เร็วเท่ากับกิเลสที่อยู่ในจิต เราอาจจะปฏิบัติข้ามขั้นไปก็ได้ ควรอยู่ในขั้นกายก่อน ขั้นจิตนี้ละเอียดกว่าขั้นกาย คือความเจ็บความแก่ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ การตัดรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ เป็นขั้นที่ต้องผ่านให้ได้ก่อน ถึงจะเข้าสู่ขั้นจิตได้ ตอนนี้เราตัดรูปเสียงกลิ่นรสได้ไหม หรือยังหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส ยังดูหนังฟังเพลง ยังเลือกอาหารชนิดนั้นชนิดนี้รับประทานอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องมาแก้พวกนี้ก่อน พวกนี้เป็นส่วนหยาบ ที่สติปัญญาส่วนหยาบแก้ได้
ถาม อย่างวันพระเราทานอาหารมื้อเดียวได้ แต่พอวันที่ไม่ใช่วันพระกิเลสเข้ามาเต็มที่เลย
ตอบ ลองทำดู ลองเพิ่มวันพระดู อาทิตย์ละ ๒ วัน ๓ วัน ต้องทำไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการความก้าวหน้า ทำไปจนสามารถรับประทานมื้อเดียวได้ทุกวัน แล้วก็ตัดการรับประทานระหว่างมื้อไปให้หมดเลย รับประทานมื้อเดียวแล้วก็จบ นอกนั้นก็ดื่มน้ำเปล่าทั้งวัน ตอนนี้อย่าไปตามรู้จิต มันละเอียดกว่า ยากกว่านี้มาก ทำในสิ่งที่ทำได้ไปก่อน แล้วจิตก็จะสงบลงตามลำดับ สติปัญญาก็จะเร็วขึ้น จิตสงบลงไป สติปัญญาก็จะเร็วขึ้นตาม เอาส่วนหยาบก่อน รูปเสียงกลิ่นรส สมบัติข้าวของเงินทองวัตถุเสื้อผ้าอะไรต่างๆเหล่านี้ เรามีเสื้อผ้ามากเกินความจำเป็นหรือเปล่า ซื้อเสื้อผ้ามาใส่เพราะความสวยงาม หรือใส่เพราะความจำเป็น ต้องใช้เหตุใช้ผล ถ้ายังอยากได้เสื้อผ้าสวยงามอีก ทั้งๆที่มีอยู่เต็มตู้แล้ว ยังซื้อมาอีก แสดงว่าแพ้กิเลสแล้ว ไม่ใช้เหตุผล ถ้าใช้เหตุผลก็ต้องมีเสื้อผ้าไว้เพื่อปกปิดร่างกาย เพื่อใส่ไปทำงานตามความจำเป็นเท่านั้น ถ้ามีพอแล้วก็ไม่ต้องซื้อใหม่ ตัดพวกนี้ไปก่อน ตัดส่วนหยาบไปก่อน
ถาม ติดเรื่องอาหารอย่างเดียว
ตอบ กินตามมีตามเกิด อย่าไปจู้จี้จุกจิก เจอร้านอาหารก็เข้าไปกินเลย ไม่ต้องไปร้านนั้นร้านนี้ นอกจากมีคนชวนไปพาไป เราก็ตามเขาไป แต่อย่าออกจากสังขารความคิดปรุงแต่งของเรา อย่าออกอุบายให้คนอื่นพาไป อยากจะกินร้านนี้ก็พูดว่าเธอเคยกินร้านนี้มาหรือยัง อร่อยนะ เอาส่วนหยาบก่อน ส่วนในจิตก็ดูได้ แต่อย่าไปหวังมาก บางทีก็ทัน บางทีก็ไม่ทัน ยังไม่มีทางที่จะทันมันได้ตลอดเวลา เพราะส่วนหยาบยังไม่ทันเลย เรื่องอาหารเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสนี้ยังไม่ทันมัน จะไปทันความละเอียดภายใน เรื่องอารมณ์ต่างๆภายในใจได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ ทันบางเวลา ตอนต้นต้องเอาส่วนหยาบก่อน ส่วนภายนอก รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ข้าวของเงินทองต่างๆ ตัดพวกนี้ไปก่อน ถือศีล ๘ ให้ได้ก่อน เพื่อตัดกามารมณ์ ความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส กินอาหารก็กินเพื่อร่างกาย ไม่ได้กินเพื่อกิเลส นอนก็ไม่ได้นอนเพื่อกิเลส นอนบนพื้นไม้ ปูเสื่อปูผ้านอน ไม่ต้องนอนบนฟูกหนาๆ แต่งเนื้อแต่งตัวก็ธรรมดา ไม่ต้องแต่งหน้าทาปาก ล้างหน้าล้างตาให้สะอาดก็พอ หวีผมให้เรียบร้อยก็พอ ถ้าต้องการก้าวหน้าก็ต้องตัดเรื่องเหล่านี้ไปก่อน จะได้ของที่ดีกว่า ของพวกนี้ไม่มีคุณค่าอะไร ตอนที่เราเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ก็ไม่คิดว่าจะต้องโกนหัว ตอนนั้นเราก็ไว้ผมยาว แต่พอได้ความสงบนี้แล้ว ไม่เสียดายอะไรเลย เป็นภาระเปล่าๆ ต้องคอยสระคอยหวี เหม็นด้วย ไม่ได้สระสัก ๒ ถึง ๓ วัน แล้วก็เหนียวเหนอะหนะ โกนหัวแล้วแสนจะสบาย
ถาม ลูกทานมื้อเดียวมาหลายวันแล้ว บางครั้งจะมีภาระ ทางครอบครัวหรือที่ทำงานให้เราต้องทาน ๒ มื้อ ทำให้ไม่สบายใจ
ตอบ คิดว่าเป็นอุปสรรคของชีวิตก็แล้วกัน เหมือนกับขับรถบนถนนที่มีสี่แยกไฟแดง มีรถที่วิ่งช้ากว่าอยู่ข้างหน้า เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ จนกว่าถนนจะว่าง ก็จะไปได้เต็มที่ ตอนนี้ก็ทำเท่าที่ทำได้ไปก่อน ถ้าไปรู้สึกไม่สบายใจก็จะเป็นสมุทัยขึ้นมาโดยใช่เหตุ ให้รู้ว่าเรายกเว้นเพราะกิเลสหรือเพราะเหตุการณ์
ถาม บางทีก็อยากทาน บางวันสอนตั้งแต่ ๑๐ โมงถึงเกือบบ่าย ๔ โมง สอนเสร็จแทบจะเป็นลม เลือดจาง
ตอบ ถ้าร่างกายขาดอาหารก็ต้องให้อาหารให้พอเพียง ต้องยอมรับว่าอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ ถ้าเป็นรถก็ไม่สามารถเหยียบเต็มคันเร่ง เหยียบได้แค่ครึ่งเดียว ก็ดีกว่าไม่ได้เหยียบเลย ทำเท่าที่เป็นมัชฌิมากับเราก็แล้วกัน ที่เหมาะกับเรา เหมาะกับสภาพแวดล้อมของเรา ก็ทำได้เท่านั้น ก็ทำไปก่อน จนกว่าจะเปลี่ยนสถานภาพ ที่สามารถปฏิบัติได้เข้มกว่านี้ ค่อยเพิ่มขึ้นไป เหมือนกับขับรถบนถนนที่มีรถมาก ไปเร็วไม่ได้ ถ้าเป็นถนนที่ว่างไม่มีรถเลย ก็จะไปได้เร็ว ฆราวาสเวลาปฏิบัติถึงจุดหนึ่งแล้วจะเห็นว่า ชีวิตฆราวาสนี้มันวุ่นวายหนอ จึงอยากจะออกบวชกัน ในพระไตรปิฎกเวลาที่มีฆราวาสออกบวช เขาจะเปล่งวาจาว่า ชีวิตของฆราวาสนี้มันวุ่นวายหนอ ต้องออกบวชถึงจะได้ไม่มีอุปสรรคมาเหนี่ยวรั้ง จะได้ปฏิบัติอย่างเข้มข้น เป็นเหตุที่ออกบวชกัน เพราะอยากจะเจริญก้าวหน้าในธรรม จะไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ ถ้าอยู่ในเพศของฆราวาส ไม่มีใครอยากจะออกบวชหรอก เพราะกิเลสมันครอบคลุมหัวใจของเราอยู่ทุกคน แต่พอได้ธรรมะมากขึ้นแล้ว จะมีฉันทะวิริยะมากขึ้น จะทำให้อยากจะออกบวช เพราะรู้ว่าอยู่ในสภาพนี้ก็จะได้เท่านี้ เหมือนขับรถบนถนนธรรมดากับขับรถบนทางด่วน ถ้าขึ้นทางด่วนจะไปเร็วกว่า เพราะไม่มีสี่แยกไฟแดง ไม่มีอุปสรรคทำให้เสียเวลา ถ้าขับบนถนนธรรมดา ก็จะเจอสี่แยก เจอรถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ก็จะไปเร็วไม่ได้ ชีวิตฆราวาสก็เหมือนขับรถบนถนนธรรมดา ชีวิตของนักบวชก็เหมือนขับรถบนทางด่วน ไปได้เร็วกว่าและไกลกว่า พยายามขึ้นทางด่วนกันนะ อย่าไปเสียดายทางธรรมดาเลย