กัณฑ์ที่ ๔๐๑ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒
อริยสัจ
สัจธรรมก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นอริยสัจ เกิดแก่เจ็บตาย ต้องคิดถึงเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ จะทำให้มีภูมิคุ้มกัน เวลาเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย จะได้ไม่ตกใจ เพราะรู้ว่าต้องเกิด รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ใจผู้พิจารณาไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย พอเข้าใจแล้ว ใจจะรู้สึกเฉยๆ ถ้ายังไม่เฉยๆก็แสดงว่ายังหลงคิดว่าร่างกายเป็นใจ พอร่างกายเป็นอะไร หรือเพียงแต่คิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย ก็จะไม่สบายใจ เพราะหลงคิดว่าร่างกายเป็นใจ จึงต้องวิเคราะห์ดูการเกิดขึ้นมาของร่างกายกับใจ ว่ามาเกี่ยวข้องกันตอนไหน ก็เริ่มเกี่ยวข้องกันตอนที่มีการผสมเชื้อของพ่อของแม่ในครรภ์ พอเชื้อของพ่อของแม่มาผสมกัน ใจที่เป็นดวงวิญญาณก็มาร่วมด้วย จึงเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา ถ้าไม่มีใจมาครอบครองการตั้งครรภ์ก็ไม่เกิด ใจที่เข้าคิวรอเกิดเป็นมนุษย์มีเป็นจำนวนมาก พอที่ไหนมีการผสมพันธุ์กัน ก็จะมีการตั้งครรภ์ขึ้นมาทันที นี่คือที่มาของร่างกายกับใจ ร่างกายมาจากพ่อกับแม่ ใจมาจากดวงวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ที่มีบุญมีปัจจัยพอ ที่จะครอบครองร่างกายเป็นสมบัติได้ แต่มาด้วยความหลง มาด้วยอวิชชา มาด้วยความมืดบอด พอร่างกายคลอดออกมา พอเริ่มมีสติรับรู้ ก็คิดว่าเป็นตัวเราของเรา อย่างที่พวกเราคิดกัน แล้วก็มีความผูกพันกับร่างกายมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีใครบอกเลยแม้แต่คนเดียวว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา มีแต่บอกว่าเป็นตัวเราของเรา จึงเกิดความผูกพันเกิดความยึดติด จนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เห็นว่าร่างกายกับใจเป็นอันเดียวกัน
ใจเป็นผู้คิดว่าร่างกายเป็นใจ ร่างกายคิดไม่เป็น ร่างกายไม่รู้เรื่อง ร่างกายเป็นเหมือนวัตถุ เป็นเหมือนต้นไม้ แต่ใจนี่แหละเป็นผู้รู้ผู้คิด แต่รู้ไม่จริง คิดไม่ถูก รู้ด้วย อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาหลอกให้ปรุงแต่งคิดว่าร่างกายเป็นใจ จึงเกิดความผูกพัน เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เกิดการหวงแหน เกิดตัณหาความอยาก อยากให้ร่างกายอยู่อย่างปลอดภัย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่แก่ได้ก็ดี ถ้าไม่ตายได้ก็ยิ่งดีใหญ่ ถึงแม้จะรู้ว่าจะต้องแก่จะต้องตาย แต่ก็ไม่ยอมรับความจริงนี้ พยายามที่จะไม่คิดถึงมัน ปัญหาหลักของพวกเราอยู่ตรงนี้ ที่พยายามไม่คิดถึงมัน เรากลัวมันมาก เรื่องความแก่ความตายความเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งไม่คิดก็ยิ่งหลงใหญ่ ยิ่งไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีปัญญาแยกแยะให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร จึงต้องอยู่กับความหลง อยู่กับอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น อยู่กับตัณหาความอยาก พอมีตัณหาก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะตัณหาเป็นสมุทัย ได้แก่กามตัณหาความอยากในกาม ภวตัณหาอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหาอยากไม่มีอยากไม่เป็น อยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย ถ้าเป็นภวตัณหาก็อยากจะอยู่อย่างมีความสุข อยากจะอยู่ไปนานๆ ก็เลยสร้างความกระวนกระวาย ความทุกข์ความกังวลต่างๆ ให้แก่ใจของผู้ที่ไม่สามารถเจริญปัญญา เพื่อดับความหลงความยึดติดความอยากได้
ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมีหน้าที่สอนใจ ให้ได้เห็นความจริง ว่าใจไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นอนิจจังเกิดแก่เจ็บตาย เป็นทุกข์ ถ้าอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะไม่ได้เป็นตามความอยาก ถ้าจะไม่ให้ทุกข์ ก็ต้องอยากให้เป็นตามความจริง เช่นอยากแก่อยากเจ็บอยากตายอย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปทำตัวเองเจ็บ หรือทำตัวเองตาย หมายถึงว่าพร้อมที่จะแก่พร้อมที่จะเจ็บพร้อมที่จะตาย ถ้ายังไม่แก่ยังไม่เจ็บยังไม่ตาย ก็ปล่อยไปตามความจริง ตอนนี้ยังสาวยังหนุ่มก็ปล่อยให้สาวให้หนุ่มไป แต่ต้องรู้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องแก่ลงไป ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายไป นี่คืออริยสัจข้อที่ ๑ คือทุกขสัจ ความจริงของร่างกายกับจิตใจ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ศึกษาข้อที่ ๑ นี้ ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ต้องกำหนดรู้เรื่องของกายกับใจ ที่เป็นที่ตั้งของกองทุกข์ ใจก็ทุกข์ไปอย่าง กายก็ทุกข์ไปอย่าง กายก็ทุกข์เพราะความแก่ความเจ็บความตาย ใจก็ทุกข์เพราะตัณหา ความไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย ถ้าศึกษาวิเคราะห์แล้วก็จะมีปัญญา ที่จะพลิกความอยากให้เป็นตรงกันข้าม เวลามีความหลงก็อยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย พอมีปัญญาแล้วก็ปล่อยให้แก่ปล่อยให้เจ็บปล่อยให้ตาย ยอมรับความแก่ความเจ็บความตาย พอรับได้แล้วตัณหาที่เป็นสมุทัยก็จะดับไป พอตัณหาดับไป นิโรธคือการดับของความทุกข์ก็เป็นผลตามมา ดับเพราะมรรค มรรคก็คือปัญญาที่พิจารณาอริยสัจข้อที่ ๑ นี้เอง
อริยสัจทั้ง ๔ ข้อนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้ ข้อที่ ๑ ต้องศึกษา การจะศึกษาก็ต้องใช้ข้อที่ ๔ คือการเจริญมรรค เช่นนั่งสมาธิ เจริญปัญญา พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายอยู่เรื่อยๆ เป็นการเจริญมรรค เป็นการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดรู้ความจริงของร่างกายและจิตใจ เมื่อรู้ความจริงแล้วความหลงก็หายไป ความอยากที่เกิดจากความหลงก็หายไป เพราะเห็นแล้วว่าถ้าเป็นความอยากที่ฝืนความจริง ก็จะไม่ได้ดังใจ จะทุกข์ทรมานใจ จิตก็วางเฉยกับเรื่องของร่างกาย มีหน้าที่ดูแลก็ดูไป อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร แต่งเนื้อแต่งตัว เจ็บไข้ได้ป่วยก็หาหมอหายารักษากันไป แต่ใจจะสดชื่นเบิกบานแจ่มใสตลอดเวลา ใจไม่หลงไม่ยึดติดกับร่างกาย ไม่คิดว่าเป็นตัวเราของเรา ไม่อยากให้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ตาย เมื่อไม่มีความคิดเหล่านี้อยู่ในใจแล้ว ใจก็สบาย นี่คือการทำหน้าที่หรือทำกิจในอริยสัจ ๔ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ทุกขสัจที่ต้องกำหนดรู้ที่ต้องศึกษา พระองค์ได้ทรงกำหนดรู้ได้ศึกษาแล้ว ได้ทำกิจข้อที่ ๑ แล้ว สมุทัยที่ต้องละก็ทรงละแล้ว นิโรธที่ต้องทำให้แจ้งก็ทรงทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ต้องเจริญให้สมบูรณ์ ก็เจริญอย่างสมบูรณ์แล้ว มีสติปัญญาเต็มที่ ที่สามารถนำไปละสมุทัยได้แล้ว ทุกข์ที่มีอยู่ในใจก็ดับโดยสิ้นเชิง เป็นนิโรธขึ้นมาในใจ หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ อยู่ที่กิจในพระอริยสัจ ๔
แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหัวใจ หรือรากของพระศาสนาได้ ก็ต้องเข้ามาทางกิ่งทางต้นก่อน หัวใจของพระพุทธศาสนาก็คือการพิจารณาอริยสัจ ๔ ให้เกิดสติปัญญา ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องเจริญสมาธิก่อน ถึงจะเข้าสู่สติปัญญาขั้นนี้ได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็ต้องรักษาศีลไปก่อน ถ้าไม่มีศีลก็ต้องให้ทานไปก่อน เพราะจะสนับสนุนกันเป็นเหมือนขั้นบันได ทานจะสนับสนุนให้การรักษาศีลเป็นไปได้ง่ายดาย ศีลจะทำให้การทำสมาธิเป็นไปได้ง่ายดาย สมาธิจะทำให้การเจริญสติปัญญาเป็นไปได้ง่ายดาย สติปัญญาก็จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างง่ายดาย เป็นขั้นต่อเนื่องกัน เรื่องพระอริยสัจ ๔ เป็นขั้นสุดท้าย ขั้นสติปัญญา ถ้าสามารถเจริญสติปัญญาได้ในขณะที่ฟัง ก็สามารถตัดตัณหาที่มีอยู่ในใจได้เลย อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ ครั้งแรกให้แก่พระปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ปรากฏมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ร่างกายนี้มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา พอจิตเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะตัดความกลัวตายได้ รู้อยู่ในใจว่าไม่กลัวตายแล้ว ร่างกายของใครจะตาย จะไม่รู้สึกอะไร ร่างกายของคนที่เรารักเคารพบูชาเช่นของครูบาอาจารย์ ก็รู้ว่าเป็นเพียงส่วนประกอบของท่านเท่านั้น ไม่ใช่ตัวท่าน ตัวท่านคือใจของท่าน ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย รู้ว่าร่างกายของท่านและของเรา ไม่อยู่เหนือกฎของอนิจจัง
อนิจจังก็คือการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ใจที่จะรับความจริงนี้ได้ต้องเป็นใจที่มีสมาธิ ตั้งอยู่ในอุเบกขาธรรมแล้ว พอได้ยินได้ฟังแล้วก็ไม่เกิดความสะทกสะท้านต่อความตายแต่อย่างใด จะรู้สึกเฉยๆ เป็นกับตายเท่ากัน เพราะใจปล่อยวางร่างกายได้ ใจไม่ได้เป็นร่างกาย รู้ว่าร่างกายมาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ นี่คืออานิสงส์ของการได้เข้าหาพระพุทธศาสนา ได้ตรงนี้ ได้ที่ใจ ไม่ได้ลาภยศสรรเสริญสุข พวกเราไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญสุข เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้อะไรมาเดี๋ยวก็ต้องจากไปหมด แต่สิ่งที่เราต้องการคือการหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ จะไม่หมดไปจากใจ เมื่อหลุดแล้วหลุดเลย ไม่กลับไปหาความทุกข์อีก ไม่เหมือนการเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกาย ที่รักษาหายแล้ว ก็ยังกลับไปเจ็บไข้ได้ป่วยได้อีก วันนี้หายจากโรคนี้ พรุ่งนี้ก็มีโรคใหม่ให้รักษาอีก แต่ถ้าใจหายจากทุกข์ด้วยปัญญา ด้วยการเห็นสัจธรรมความจริง เห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์แล้ว จะไม่กลับไปทุกข์กับอะไรอีกต่อไป เพราะความทุกข์ของใจเกิดจากความหลง ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นไตรลักษณ์นั่นเอง เหมือนกับคนที่ถูกเอาผ้าปิดตาแล้วปล่อยให้เดินไป ก็จะเดินไปชนนั่นชนนี่ เหยียบนั่นเหยียบนี่ พอเอาผ้าที่ปิดตาออกแล้ว ก็จะไม่ไปชนไม่ไปเหยียบอะไรอีกแล้ว เพราะเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าอยู่ข้างหลังอยู่รอบตัวแล้ว ดวงตาเห็นธรรมก็เป็นแบบนี้ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เมื่อเห็นแล้วก็จะไม่เข้าใกล้
สิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาจะไม่ยินดี ลาภยศสรรเสริญสุขเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่ยินดี พระขีณาสพผู้หลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว จะไม่กลับไปหาลาภยศสรรเสริญสุขอีกเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้กลับไปอยู่ในวัง คนที่ออกบวชแล้ว ครูบาอาจารย์พระอริยสงฆ์ที่ออกบวชแล้วบรรลุแล้ว ท่านไม่กลับไปครองเรือนอีกเลย เพราะเห็นชีวิตของผู้ครองเรือน เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์นั่นเอง เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในการครองเรือน ถ้ากลับไปก็จะกลับไปในรูปแบบใหม่ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ถ้าต้องไปเกี่ยวข้องกับทางบ้าน เช่นทางบ้านนิมนต์ไป ท่านก็ไปอย่างแขกอย่างอาคันตุกะ ไม่ได้คิดว่าเป็นบ้านของท่าน เป็นสมบัติของท่านแต่อย่างใด ถึงแม้เขาจะมอบให้ ก็ไม่ได้มีความยินดี อาจจะรับไว้เพื่อนำเอาไปทำประโยชน์ต่อไป เอาไปสงเคราะห์โลกต่อไป ถ้าพ่อแม่แบ่งมรดกให้ก็รับไว้เพื่อให้เขาสบายใจ เขาจะได้ทำบุญ ผู้รับก็จะได้เอาไปทำประโยชน์ต่อไป แต่ไม่ได้ทำเพื่อบุญแต่อย่างใด เพราะมีบุญอยู่เต็มหัวใจแล้ว บุญที่เกิดจากการให้ทานเป็นบุญส่วนย่อยเมื่อเปรียบกับบุญที่ได้จากสติปัญญา จากการหลุดพ้นจากความทุกข์ ต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน ต่อให้ได้เงินทองกองเท่าภูเขามา ก็จะไม่มีความหมายอะไรกับใจ กลับจะเป็นภาระเสียมากกว่า เพราะต้องเอาไปจำหน่ายจ่ายแจกให้เหมาะสม ต้องเจอปัญหาต่างๆจากคนที่มีความอยาก เมื่อรู้ว่าเราแจกข้าวแจกของแจกเงิน ก็จะมารุมล้อม มาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล พอปฏิเสธไปก็เสียใจหรือโกรธ แต่ก็ช่วยไม่ได้ อยู่ในโลกของกิเลสตัณหาก็ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ใจไม่สะทกสะท้าน
ให้ดูพระอริยสัจ ๔ เป็นหลักเสมอ ถ้าเห็นพระอริยสัจ ๔ ในใจแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันความทุกข์ ดูอะไรก็ให้ย้อนกลับมาดูที่ใจ ว่ากำลังอยู่ทางฝ่ายมรรคหรือฝ่ายสมุทัย เพราะทุกครั้งที่เห็นรูปได้ยินเสียง ใจจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นทันที ถ้าเกิดความรักความชังนี้ ก็ไปทางสมุทัย ไปตามความหลง ถ้าเห็นแล้วปล่อยวาง สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน ก็ไปทางมรรค ถ้าจะต้องตอบโต้หรือปฏิบัติต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้เห็น ก็ใช้สติปัญญาเป็นตัวนำ ว่าควรจะพูดอย่างไร ควรจะทำอย่างไรในแต่ละกรณี แต่จะไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ รักหรือชัง ดูข้างนอกแล้วต้องรีบหันกลับเข้ามาดูข้างในทันที เพราะใจทำงานอยู่ตลอดเวลา ต้องดูว่าทำไปทางด้านไหน ถ้าไปทางสมุทัยก็ต้องใช้สติปัญญาใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตัดทันที พอยินดีก็ต้องใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตัด ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ อย่าไปอยากได้ เห็นอะไรสวยๆงามๆชอบอกชอบใจ อยากได้ก็ต้องใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตัด ถ้าร่างกายเจ็บก็รู้ว่าเป็นธรรมดา ให้เจ็บที่กาย อย่าให้ลามเข้ามาที่ใจ ถ้าใจไม่อยากให้หายหรืออยากให้เป็นอย่างอื่นแล้ว ใจจะไม่เจ็บ ปล่อยให้เจ็บไป เจ็บได้เดี๋ยวก็หายได้ เวทนาก็เป็นอนิจจาเหมือนกัน เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเหมือนกัน การเจ็บไข้ได้ป่วยถ้ามันยังไม่ได้เป็นโรคชนิดที่ ๓ ที่เป็นแล้วไม่หาย ตายอย่างเดียว ก็จะต้องหาย ช้าหรือเร็วก็ต้องหาย ถ้าเป็นโรคชนิดที่ ๓ ก็ต้องปล่อยให้ตายไป
ถาม เวลามีอารมณ์อยากไปกราบครูบาอาจารย์แต่ไปไม่ได้ จะรู้สึกเศร้าหมอง พอรู้ทันมันก็จะวางลงได้ จะยอมรับมันได้ ไม่ทราบว่ายอมรับเพราะความจำยอมหรือเปล่า
ตอบ รับแบบไม่ถาวร ขณะใดที่มีสติมีปัญญาทันก็รับได้ แต่สติปัญญาของเรายังไม่ต่อเนื่อง พอเผลอก็จะไม่ยอมรับ ต้องพยายามทำให้มีสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง
ถาม ได้พยายามจุดไฟเผาร่างกายอย่างที่ท่านอาจารย์สอน แต่ในขณะเดียวกันมันจะถามว่าถ้าเผาหมดแล้วจะได้อะไร
ตอบ จะได้พระในใจ ไปหาพระก็เพื่อไปหาพระในใจ พระภายนอกไม่ได้เป็นของเรา พระของเราอยู่ในใจเรา ถ้าเผาร่างกายจนปล่อยวางร่างกายได้แล้ว จะปรากฏพระในใจขึ้นมา ที่ไปหาพระอาจารย์ต่างๆนี้ ก็เพื่อให้ท่านสอนให้เราเข้าหาพระภายใน พอเจอพระภายในแล้ว จะไปหาพระภายนอกให้เสียเวลาทำไม พระภายนอกเป็นเหมือนแผนที่ แต่พระภายในเป็นจุดหมายปลายทางที่เราต้องการจะไป เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว จะไปหาแผนที่ให้เสียเวลาทำไม เรารู้ทางแล้ว ตราบใดที่ยังอยากจะไปหาท่านอยู่ แสดงว่ายังไม่รู้ทาง ยังไม่ได้พระภายใน ถ้าได้พระภายในแล้วจะไม่อยากไปไหน ให้คิดว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีของเรา ที่จะได้ปฏิบัติธรรมให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม จะได้เห็นธรรมมากขึ้น คนเราต้องอยู่ในสภาพจำยอมถึงจะเห็นธรรม ถ้ายังดิ้นได้กิเลสจะดิ้นอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่จนมุมจะไม่สู้ พอจนตรอกจนมุมแล้ว หลังชิดฝาแล้วถอยไม่ได้แล้ว ก็ต้องสู้ ถ้าไม่สู้จะทุกข์ทรมานใจมาก เช่นตอนนี้ร่างกายเจ็บป่วย ไปไหนไม่ได้ ถ้าอยากจะไปไหน จะทุกข์ทรมานใจทันที ถ้ามีปัญญาพิจารณาว่า ความทุกข์ทรมานใจนี้ เป็นเพราะความอยาก เราก็ดับความอยากไปเสีย เปลี่ยนใจไม่อยากไปไหน อยู่เฉยๆ อยู่บ้านไป ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไป ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะเห็นอย่างถาวร เพราะเห็นอริยสัจ เห็นสมุทัย เห็นเหตุของความทุกข์มาจากใจ มาจากความอยากของเรา ถ้าตัดความอยากได้ ก็จะหายทุกข์ทรมานใจ ต่อไปจะเข็ดกับความอยากไปไหนมาไหน
ถาม ที่อยากจะไปนั้น อยากจะไปทำความดีให้มากขึ้น
ตอบ ความดีอย่างนั้นไม่ดีเท่ากับความดี ที่เรากำลังทำในปัจจุบัน ที่เป็นสุดยอดของความดี ความดีส่วนอื่นเหมือนกิ่งกับลำต้น ไม่ใช่รากไม่ใช่หัวใจของความดี คือการปฏิบัติกิจในอริยสัจทั้ง ๔ ประการ นี่คือหัวใจของความดี การไปทำบุญให้ทานไปเป็นส่วนย่อยของการทำความดี เหมือนกับตัดกิ่งไม้ตัดลำต้น แต่ไม่ได้ขุดรากถอนโคนต้นไม้ออกมา ตัดกิ่งไป ตัดต้นไป ทิ้งไว้ไม่นาน ก็งอกกลับมาอีก ทำบุญให้ทานรักษาศีลนั่งสมาธิไป กิเลสก็ดับไปชั่วคราว แล้วก็งอกกลับมาใหม่ ถ้าเจริญวิปัสสนาภาวนา ทำกิจในอริยสัจ ๔ ได้แล้ว กิเลสจะไม่งอกกลับขึ้นมาอีก เพราะถอนรากถอนโคนเลย การเจ็บไข้ได้ป่วยจึงเป็นโอกาสที่ดีของเรา คนเราถ้าไม่ถูกบังคับจะไม่อยู่กับที่ จะไปอยู่เรื่อยๆ กิเลสจะหลอกให้ไปทำความดีที่ไม่สะเทือนมัน ทำบุญให้ทานรักษาศีลไปนั่งสมาธินี้ ยังไม่สะเทือนเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับการเจริญวิปัสสนา ที่ถอนรากถอนโคนมันเลย ฆ่ามันตายเลย การนั่งสมาธิรักษาศีลทำบุญให้ทานนี้ เป็นเพียงฉีดยาสลบ พอฤทธิ์ของยาสลบหมดไป ก็ฟื้นกลับขึ้นมาอีก กิเลสไม่กลัวอะไรเท่ากับวิปัสสนา ไม่มีวิปัสสนาในศาสนาอื่น มีแต่ของพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ศาสนาอื่นสอนได้ถึงขั้นสมาธิเท่านั้น ไม่สามารถสอนเรื่องวิปัสสนาได้ ไม่มีใครรู้อริยสัจ ๔ ไม่มีใครรู้ไตรลักษณ์ มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่รู้
ถาม พยายามอยู่ค่ะ แต่ลูกยังเป็นคนกิเลสหนา เวลาที่ได้มากราบฟังธรรมจากปากท่านอาจารย์แล้ว มีความปีติอย่างสูงสุดเลย
ตอบ ปีติยังไม่พอ ต้องนิโรธถึงจะพอ ต้องนิโรธให้ได้ ต้องตัดตัณหาทั้ง ๓ ให้ได้ กามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา เพราะการออกไปแสวงบุญจะเป็นเครื่องมือของกามตัณหาไปในตัว ญาติโยมแถวนี้เวลาออกพรรษาแล้ว จะชอบไปทอดกฐินที่ต่างจังหวัดกัน จะได้ไปเที่ยวด้วย ไปเชียงใหม่จะได้ไปเที่ยวไปซื้อของด้วย กิเลสแฝงไปด้วย แต่ก็ยังดีกว่าที่ไปเที่ยวอย่างเดียว คนบางคนไม่ไปทอดผ้าป่าไม่ไปทอดกฐินเลย ไปทัวร์อย่างเดียว ถ้าดื่มเหล้าก็แบบไม่ผสมโซดา ดื่มเพียวๆเลย ถ้าทำบุญแล้วไปเที่ยวด้วย ยังผสมโซดาหน่อย ดื่มแล้วไม่ค่อยเมา เหมือนไปทัวร์ล้วนๆเลย ไปกินไปเที่ยวไปอยู่โรงแรม ๕ ดาว เที่ยวระดับ ๕ ดาวอย่างเดียว ไม่คิดถึงเรื่องการไปทำบุญให้ทานเลย ขอเที่ยวอย่างเดียว นี่ถ้าพวกเราไปเที่ยวอเมริกาก็ควรแวะไปตามวัดไทยทำบุญบ้าง จะได้ทำให้จางๆหน่อย ไม่เมามากจนเกินไป ไปอินเดียก็ไปทำบุญที่โรงพยาบาลนะ หลวงตาท่านไม่พาพระเณรไปทำวัตรครูบาอาจารย์เลย ท่านไปองค์เดียว ท่านรู้ทัน ถ้าพาพระเณรไป ก็จะกระดี๊กระด๊าดีอกดีใจ ได้ออกไปดูนั่นดูนี่
ถาม เห็นพระเดินธุดงค์แถวเขาใหญ่ พอรถใกล้เข้ามาท่านก็ทำทีขอน้ำ ทำอย่างนั้นไม่ได้ใช่ไหมคะ
ตอบ ท่านไม่รู้ธรรมวินัย ทำไม่ได้ ถ้าใครสงสารเขาก็หยุดถามเอง
ถาม เราไปตำหนิได้ไหมครับ
ตอบ อย่าไปตำหนิ วางเฉย เป็นเรื่องของท่าน เราก็อยู่ส่วนของเรา
ถาม ไม่กลัวศาสนาจะเสื่อมหรือครับ คนอื่นเห็นแล้วมันไม่ดี เราน่าจะเตือนท่านบ้าง
ตอบ ก็ลองดู ดูว่าท่านจะฟังเราหรือเปล่า
ถาม เหมือนกับว่าปล่อยให้ศาสนาเสื่อม ไม่คิดจะป้องกัน
ตอบ ถ้าอยากจะทำก็ทำไป ทำได้ ผลจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็ลองทำดู ถ้าคิดว่าทำแล้วทำให้ศาสนาดีขึ้น
ถาม ผมก็เคยเตือนพระที่ไปบ้านหม้อไปซื้อซีดี ผมเห็นว่าไม่สมควร
ตอบ ก็ดี แล้วผลเป็นอย่างไร พระไปน้อยลงไปหรือเปล่า
ถาม ถ้าเราไม่ทำบ้าง คนจะเสื่อมศรัทธา แทนที่จะนับถือ
ตอบ ผู้ใหญ่ทุกระดับเขาก็พยายามกันทุกคน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ท่านก็พยายาม ถึงกับแยกออกมาเป็นอีกนิกายหนึ่ง แต่สู้กำลังของกิเลสไม่ไหว เหมือนกับเราเป็นกองร้อย แต่กิเลสเป็นกองพล เสียเวลาเปล่าๆ มาสู้กิเลสของเราดีกว่า หน้าที่ของเราจริงๆแล้ว อยู่ที่การต่อสู้กิเลสของเรา เมื่อชนะกิเลสแล้ว ค่อยไปช่วยคนที่อยากจะต่อสู้กับกิเลสของเขา แต่พวกที่ไม่อยากจะต่อสู้ เราอย่าไปต่อสู้ให้เขาเลย จะเหนื่อยเปล่าๆ เขาจะไม่รับ จะไม่ฟัง จะมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับเรา อาจจะเป็นภัยกับเรา ช่วยคนที่อยากจะต่อสู้กับกิเลสดีกว่า เวลารบในสงคราม หมอต้องแยกคนไข้ไว้รักษา คนที่รักษาไม่ได้ก็ปล่อยให้เขาตายไป รักษาคนที่ยังรักษาได้ มีโอกาสหาย คนที่ไม่มีโอกาสหายอย่าไปเสียเวลารักษาเลย เสียยาเสียเวลา ในที่สุดศาสนาก็ต้องเสื่อมไปตามสภาพ พระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้แล้วว่าไม่เกิน ๕๐๐๐ ปี ศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกยุคทุกสมัย ก็หมดไปตามกาลตามเวลา ระยะเวลาของศาสนากับระยะเวลาที่ว่างจากศาสนานี้มันต่างกันมากจน การรักษาศาสนาให้อยู่ต่อไปอีก ๑๐๐ ปีนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย เช่นศาสนาของเรานี้ยาวแค่ ๕๐๐๐ ปี แต่ช่วงว่างจากศาสนานี่ยาวเป็นกัป กัปนี่ก็ยาวกว่าล้านๆๆปี รักษาไปอีก ๕๐๐ ปีก็เท่านั้น
ถาม จะใส่บาตรทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ นิมนต์พระมารับบาตร แต่บางครั้งพระที่มารับบาตรไม่สำรวม แต่ก็ต้องใส่ทุกวัน เพราะความรับผิดชอบที่นิมนต์ท่านมา
ตอบ ถ้าจะทำบุญเพื่อตัวเรา อยากจะใส่บาตรทุกวัน ถ้าไม่สามารถหาพระที่ทำให้เราสบายใจได้ ก็เอาเงินที่จะซื้อกับข้าวนี้ใส่ไปในกระปุกก่อนก็ได้ เวลาไปหาพระที่เรามีความมั่นใจ ก็ถวายท่านไป ตราบใดที่เราไม่ถือว่าเงินที่ใส่กระปุกนั้นเป็นของเรา ถือว่าเป็นของพระ เพียงแต่รอเวลาเอาไปถวายท่าน
ถาม ที่ไม่สบายใจเพราะไปนิมนต์ท่านไว้
ตอบ ถ้านิมนต์มันก็เป็นกรรมของเรา
ถาม ตอนแรกมีเพื่อนบ้านหลายคนมาใส่ พอท่านเสียไปก็เลยไม่มีพระมารับ เพื่อนบ้านก็รอใส่บาตรกัน ลูกก็เลยโทรไปนิมนต์ ท่านก็มา
ตอบ คิดว่าเป็นการให้ทานก็ได้ ให้ขอทาน เราก็ยังได้บุญจากการให้อยู่ดี อย่าไปหวังอะไรจากท่านที่เป็นไปไม่ได้ ท่านเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องปรับความเข้าใจว่า ท่านยังไม่ได้เป็นพระในระดับที่เราคิดว่าควรจะเป็น แต่ท่านก็เป็นคน ที่ต้องกินข้าว ถ้าเรามีความสงสาร ก็ให้ข้าวท่านไป เราก็จะได้ทานบารมี การให้นี้เป็นการตัดความยึดติดในเงินทองของเรา ถ้าให้ได้จะยึดติดน้อยลง ทำให้เรามีความสบายใจเบาใจสุขใจ ให้สุนัขก็ยังมีความสุขใจได้
ถาม ถ้าไม่ให้ก็ไม่ผิด
ตอบ ไม่ได้บุญเท่านั้นเอง ไม่ได้ทานบารมี ไม่ได้ให้อาหารกับใจ การทำบุญให้ทานเป็นการให้อาหารกับใจ ให้แล้วจะอิ่มเอิบใจสุขใจพอใจ ก็ดีอย่าง จะได้สอนให้เรารู้จักให้โดยไม่เลือกคน การให้แบบเลือกคนนี้ยังไม่เป็นสัพเพสัตตา ถ้าเป็นสัพเพสัตตาแล้ว ไม่สนใจว่าจะเป็นคนหรือเป็นเดรัจฉานก็ให้ได้ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องให้ก็ให้ได้ แม้แต่ศัตรูที่แย่งสามีภรรยาเราไปนี้ ก็ให้เขาได้ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีอาหารรับประทาน ก็ให้เขาได้ อย่างนี้ถึงจะเป็นสัพเพสัตตา
ถาม จะรู้สึกมีความสุขที่คนใส่บาตร
ตอบ ถือว่าเป็นอุบายให้คนได้ทำบุญใส่บาตร ส่วนพระจะดีหรือไม่ดีก็เรื่องของท่าน ท่านก็ยังเป็นพระอยู่ เพราะไปเห็นพระที่เป็นเพชรแล้ว พอเห็นพระที่เป็นพลอยก็เลยดูไม่ดีไป ถ้าไม่เคยเห็นก็จะไม่รู้สึกอะไร อย่าไปคิดอะไรมาก คิดว่าเป็นการให้ทานก็แล้วกัน
ถาม โยมที่ไม่สบายให้กราบเรียนท่านว่าเขาพยายามปฏิบัติ ถ้าไม่ป่วยครั้งนี้ก็จะไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา
ตอบ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโอกาสที่จะได้เห็นอริยสัจ พระราชบิดาของพระพุทธเจ้าก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนสวรรคต ไม่มีทางดิ้นแล้วก็เลยต้องสู้อย่างเดียว ถ้ามีโค้ชคอยบอกคอยสอน อย่างพระพุทธเจ้าคอยสอนคอยแนะให้คิด พอคิดตามก็บรรลุได้เลย
ถาม เวลาป่วยเป็นแบบทดสอบที่สำคัญยิ่ง เพราะสติมักจะเผลอทุกครั้งที่เกิดทุกขเวทนา
ตอบ เป็นเวลาที่ต้องเข้าห้องสอบ ไปเที่ยวไม่ได้แล้ว ต้องรีบดูหนังสือแล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีเวลาก็ผัดไปก่อน ทำนั้นทำนี่ไปก่อน แต่นี่ใกล้แล้ว พรุ่งนี้จะสอบแล้ว คืนนี้ต้องดูหนังสือทั้งคืนเลย นี่ก็เหมือนกันพอเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ก็รู้ว่าไปไหนไม่ได้แล้ว
ถาม ตอนหัดใหม่ๆ ได้เห็นว่ายังติดท่าอยู่เยอะ
ตอบ ทำสมาธิไม่ได้ทำที่ร่างกาย ทำที่จิต ร่างกายอยู่ในอิริยาบถไหนก็สามารถทำได้ แต่ผลที่ได้จะต่างกัน เช่นท่านอนจะเผลอสติได้ง่ายจะหลับได้ง่ายกว่า ท่านั่งจะเผลอสติได้ยากกว่า แต่ถ้ามีสติแล้วอยู่ในอิริยาบถไหนก็ทำได้ พระพุทธองค์ก็ทรงเข้าฌานตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน ทรงประทับในท่าสีหไสยาสน์ แต่พระจิตมีสติปัญญาครบถ้วนบริบูรณ์ อยู่ในท่าไหนก็ไม่หลับ สามารถทำสมาธิได้ทุกท่า พวกเราจะทำในท่าไหนก็ได้ แต่ผลจะต่างกัน อย่าไปฝืนร่างกาย ต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติ ฝืนแล้วก็เป็นโทษกับร่างกาย การภาวนาไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย อยู่ที่ใจ อยู่ที่จิต อยู่ที่สติเป็นหลัก จะได้ผลมากน้อยอยู่ที่สติ ควรพยายามเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่อยากจะพิจารณาธรรมก็ให้บริกรรมพุทโธๆไป ฝึกไปภายในใจ หรือดูลมหายใจเข้าออก ไม่ควรปล่อยให้คิดฟุ้งซ่าน ไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้อยู่กับธรรม ถ้าไม่อยู่กับวิปัสสนาก็ให้อยู่กับสมถะ อยู่กับพุทโธ อยู่กับบทสวดมนต์ หรือฟังเทศน์ไป ทำสลับกันไป อยู่คนเดียวในบ้านอยู่ได้ ถ้ามีธรรมจะไม่รู้สึกเดือดร้อน ถ้าไม่มีจะฟุ้งซ่านจะไม่สบายใจ จะกระทบกับการฟื้นฟูของร่างกาย ทำให้หายช้า
ถาม เวลานั่งสมาธิกระดูกตรงส่วนที่หักจะปรากฏให้เห็น ตอนที่หักแล้วทิ่มออกมา ตรงนี้จะขึ้นตลอดเลย เห็นเลยว่ามันห้อยอยู่ ก็พยายามทำอย่างที่ท่านอาจารย์สอน เอาไฟเผาส่วนที่หัก รู้สึกว่าปวดมาก
ตอบ ให้เผามันไปเรื่อยๆ เอาความปวดนั้นเป็นเหมือนความรู้สึกที่เกิดจากการถูกไฟเผา เผาจนกลายเป็นขี้เถ้าไป พอไฟดับไปแล้วความปวดก็จะหายไป ถ้าเผาจนจิตปล่อยวางแยกออกจากร่างกาย ตอนนั้นความเจ็บปวดของร่างกายจะหายไป แต่บังคับไม่ได้นะ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ
ถาม ก่อนที่ขาหักนี่ อวัยวะส่วนต่างๆจะปรากฏให้เห็น แต่ตั้งแต่ขาหักมานี่ จะเกิดส่วนนี้ส่วนเดียว เพราะเราไปฝังอยู่กับอันนี้หรือเปล่า
ตอบ กำหนดดูส่วนอื่นไปก็ได้ เราดูอาการ ๓๒ ได้ตลอดเวลา ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯ หรือดูสภาพที่เสื่อมสลายไป ตายไป ๓ วัน ตายไป ๕ วัน ถูกแร้งกากัด อวัยวะส่วนต่างๆกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง เป็นการดูหนังตัวอย่าง ซ้อมไว้ก่อน พอเกิดขึ้นใจจะได้ไม่ผวา ใจรู้แล้วว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องพิจารณาทุกส่วนก็ได้ ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ พิจารณาจนปลงได้ก็ใช้ได้แล้ว ทำให้คิดได้ว่าอย่างไรๆในที่สุดเราก็ต้องตัวคนเดียว คนอื่นก็ช่วยอะไรเราไม่ได้เมื่อถึงเวลานั้น ถึงเวลาที่ร่างกายกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป ต้องไปตามบุญตามกรรมของเรา
ถาม ค่อนข้างยากระหว่างความเป็นอุเบกขากับความมีน้ำใจ
ตอบ มีอุเบกขาก็มีน้ำใจได้ อุเบกขาที่ไม่มีน้ำใจนี่จะไม่ใช่อุเบกขา เป็นความขี้เกียจเห็นแก่ตัวตระหนี่ หรือเป็นความเกลียดลึกๆก็ได้ ไม่ได้เป็นอุเบกขาถ้าไม่มีน้ำใจ ต้องเป็นเองในใจถึงจะรู้ ความรู้สึกของพวกเราเวลาเราเฉยนี่ มันเฉยเมยเสียมากกว่า แต่เฉยแบบอุเบกขานี่ไม่ได้เฉยแบบนั้น มีสติปัญญาสมบูรณ์ รับรู้วิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่าง ดูว่าควรจะทำควรจะพูดอย่างไร
ถาม ในความเฉยมีความสงสารอยู่
ตอบ มีเมตตากรุณาอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าตัวไหนจะออกมาเป็นตัวนำเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีเหตุที่จะเอาตัวสงสารออกมาตัวสงสารก็อยู่ข้างใน บางทีก็ใช้เมตตาเป็นตัวนำ เช่นเวลาเจอกันก็ทักทายกันยิ้มแย้มแจ่มใส ส่งความสุขให้กันไป เรียกว่าเมตตา ถ้าเดือดร้อนเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีใครดูแลเราก็รับเขามาดูแล อย่างนี้สงสารก็เป็นตัวนำ ถ้าเขาได้ดิบได้ดีมีความสุขเราก็ยินดีด้วย เช่นใครจะไปเที่ยวไหนก็ยินดี มีความสุขไปกับเขา ไม่ใช่อิจฉาเพราะไม่ได้ไปกับเขา ถ้ามันไม่มีความจำเป็นต้องเมตตากรุณาหรือมุทิตา ก็เฉยๆ อุเบกขาก็เป็นตัวนำ
จิตที่ไม่มีกิเลสหรือเวลาที่จิตสงบ จะมีพรหมวิหาร ๔ ปรากฏขึ้นมา เป็นธรรมชาติของจิตที่สงบ พอได้สมาธิก็มีพรหมวิหาร ๔ แล้ว แต่มีในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น พอออกจากสมาธิแล้ว ถ้าจิตไปเห็นอะไรที่ไม่ชอบก็จะหายไปได้ แทนที่จะเมตตาก็โกรธได้ เช่นไปเห็นคู่อริคู่แค้นอย่างนี้ เวลานั่งในสมาธิก็สบาย พอออกจากสมาธิมาเห็นคู่อริ ก็เกิดความรู้สึกเกลียดชังขึ้นมา เพราะไม่มีปัญญา ไม่เหมือนสงบด้วยปัญญา เวลาเห็นใครจะไม่มีอารมณ์ เพราะมีสติปัญญาคอยคุมอยู่ พอมีอารมณ์ก็จะรู้ว่าเป็นกิเลส ต้องกำจัดกับมันทันที จะว่าพรหมวิหาร ๔ นี่เป็นส่วนที่เป็นธรรมชาติของจิตที่สงบก็ว่าได้ ถ้าจิตสงบแล้วจะมีพรหมวิหาร ๔ ถ้าสงบด้วยปัญญาอย่างของพระอริยะนี้ จะมีตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งสมาธิหรือไม่ก็ตาม เวลาสัมผัสรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็มีพรหมวิหาร ๔ อยู่ตลอดเวลา มีอยู่ตามขั้น
ขั้นแรกจะมีไม่ครบบริบูรณ์ ไม่เหมือนกับขั้นสุดท้ายที่มีครบบริบูรณ์ เพราะขั้นแรกยังมีกิเลสที่ออกมาทำลายพรหมวิหารได้ เช่นยังมีราคะมีปฏิฆะ พระโสดาบันนี่ ท่านยังโกรธได้ถ้าใครไปแตะต้องสิ่งที่ท่านรัก แต่ท่านจะไม่ทำร้ายผู้อื่น ท่านมีศีลพอที่จะระงับการกระทำที่ไม่ถูกต้องได้ แต่ภายในใจของท่านก็คงยังขุ่นมัวอยู่ เวลาใครไปคุยกับแฟนของท่าน ถ้าถึงขั้นอนาคามีแล้ว ท่านก็จะไม่สนใจเรื่องแฟนเรื่องร่างกาย ใครอยากจะเอาซากศพไปก็เอาไป ท่านเห็นซากศพอยู่ตลอดเวลา เวลาเห็นนางงามจักรวาลนี้ท่านไม่ได้เห็นอย่างที่พวกเราเห็น ท่านเห็นซากศพเดินได้ แต่ท่านก็ยังมีความหงุดหงิดใจในเรื่องอื่น เป็นเรื่องภายในจิต จิตของท่านก็ยังมีกิเลสที่ละเอียด ท่านก็ยังไม่มีพรหมวิหารครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เวลาความสุขในจิตหายไปก็จะหงุดหงิดใจขึ้นมา เป็นความสุขของความสงบที่ละเอียด แต่ยังเป็นอนิจจังไม่เที่ยง พอผ่านขั้นนี้ไปแล้วก็จะไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย ทีนี้ก็จะเป็นพรหมวิหาร ๔ ตลอดเวลา ใครจะด่าใครจะว่าอย่างไรก็เฉยๆ กลับสงสารเขาเสียอีก ที่เขากำลังสร้างนรกให้กับตัวเขาเอง เพราะกรรมอยู่ที่ผู้กระทำ ทำกรรมอันใดไว้ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น ผู้ที่ถูกกระทำไม่ต้องรับผลกรรม แต่เป็นการรับผลของกรรม ที่มาเกิดอยู่ในโลกของสรรเสริญนินทา แต่ใจหลุดจากการสรรเสริญนินทาแล้ว ไม่เป็นปัญหาอะไร อย่างที่ลูกศิษย์ลูกหาบางท่านอาจจะโกรธแค้นโกรธเคือง เวลาใครไปว่าครูบาอาจารย์ แต่ตัวท่านเองท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไร ใครจะว่าก็ว่าไป ปากของเขา แต่พวกลูกศิษย์ยังเดือดร้อนแทนท่านอยู่ เพราะยังไม่ได้ปล่อยวาง
ถาม ถ้าได้ยินแล้วเราไม่แก้ เหมือนเราไม่เคารพครูบาอาจารย์หรือเปล่าคะ หมายความว่าได้ยินเขาว่าอย่างนี้ ถ้าไม่จริงเราก็ต้องปกป้องครูบาอาจารย์ของเรา
ตอบ ถ้าจะพูดด้วยเหตุด้วยผล ก็พูดได้ กลัวจะไปทะเลาะกันไปตีกัน ฟังแล้วก็พูดกับเขาดู ทำความเข้าใจกัน ว่าสิ่งที่พูดมานี้ เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเขายืนยันจะเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ก็ต้องเคารพในสิทธิของเขา เราไม่มีสิทธิไปโกรธเขา ความโกรธเป็นความร้ายกาจของเรา เพราะสร้างความทุกข์ให้กับเรา ไม่ได้สร้างความทุกข์ให้กับเขาหรอกเวลาเราโกรธ เหมือนกับทุบศีรษะเรา คนอื่นเขาเจ็บไหม มีโอกาสชี้แจงก็ชี้แจงไป ถ้าเขาไม่สนใจรับการชี้แจงจะทำอย่างไรได้ ก็ต้องอุเบกขา เพชรย่อมเป็นเพชรอยู่ดี ทองย่อมเป็นทองอยู่ดี แล้วก็ไม่เกี่ยวกับเราเลย ฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์ก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องคนไปด่าท่านไปว่าท่าน ก็อีกเรื่องหนึ่ง คนละเรื่องกัน เรื่องของลูกศิษย์กับอาจารย์ก็คือ ลูกศิษย์ต้องเชื่อฟังอาจารย์ อาจารย์ต้องสั่งสอนลูกศิษย์ นี่คือความสัมพันธ์ แต่เรามักจะมีอุปาทานไปยึดว่าท่านเป็นตัวเราของเรา ใครมาแตะต้องไม่ได้ อย่างนี้เป็นกิเลสแล้วรู้หรือเปล่า เหมือนกับศาสนานี่ พวกคุณก็บอกว่าศาสนาเป็นของเรา ต้องรักษา ใครมาเป็นหนอนเป็นแมลงมากัดมาแทะ ก็ต้องกำจัด เราไม่มีหน้าที่ปกป้องศาสนาแบบนั้น การปกป้องศาสนาก็คือ การศึกษาให้รู้อย่างถ่องแท้ แล้วนำเอาความจริงของศาสนา ไปทำความเข้าใจกับผู้ที่เห็นผิด ไม่ได้ให้ไปทำร้ายผู้ที่มาทำลายศาสนา การไปทำร้ายผู้อื่นไม่ใช่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า การไม่เบียดเบียนกัน การไม่ทำร้ายกัน เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงสอนให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม ไม่ให้ไปฆ่าเพื่อรักษาชีวิตเราหรือรักษาศาสนาเรา เพราะการฆ่านี้เป็นความผิด ไม่ว่าจะฆ่าด้วยเหตุผลกลไกใด ผิดทั้งนั้น มีผลเสียต่อผู้กระทำ การพูดก็เช่นเดียวกัน ไปด่าไปตอบโต้ด้วยวาจาหยาบคาย ก็พอกัน
ถาม โยมที่ไม่สบายก็พยายามดูอย่างที่ท่านอาจารย์สอนให้ดูทุกข์ พอดูทุกข์มันก็จะทุกข์ไปหมดทุกเวลา
ตอบ ดูไม่เป็น เพราะไปดูทุกข์ที่ร่างกาย ไม่ดูทุกข์ที่ใจ ทุกข์ที่ร่างกายเราดับไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าดูทุกข์ที่ร่างกายแล้วอยากจะให้มันหาย ก็จะไปสร้างทุกข์ที่ใจ ถ้าเห็นว่าทุกข์ที่ใจเกิดจากความอยากให้ทุกข์ที่กายหายไป ก็จะดับทุกข์ที่ใจได้ ทุกข์ที่กายเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ เหมือนกับถูกลงโทษ ทำผิดแล้วก็ต้องถูกหวดถูกตี การเจ็บไข้ทางด้านร่างกายเป็นเหมือนกับการรับโทษ ถูกโบยอย่างนี้ เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องยอมรับผิด เราดำเนินชีวิตของเรามาแบบนี้ ก็ส่งผลมาให้เป็นอย่างนี้ ก็ต้องรับผลไป ถ้ายอมรับความจริงของร่างกาย ทางจิตใจก็จะไม่ต้องรับโทษอีกชั้นหนึ่ง ไม่ต้องทุกข์ทรมานไปกับร่างกาย
ถาม แต่เจ็บมากๆจิตใจก็ไม่ไหวเหมือนกัน
ตอบ ใจไม่ได้เป็นอะไรเลย เหมือนเป็นความเจ็บของคนอื่น รู้ว่าเขาเจ็บแต่คนที่รู้ไม่ได้เจ็บไปกับเขา
ถาม ถ้ารักษาใจ ปล่อยวางร่างกาย อายุจะยืนขึ้นหรือไม่
ตอบ ผลพลอยได้มักจะเป็นอย่างนั้น คนที่รักษาใจได้ดีอายุจะยืน หลวงตาตอนนี้ก็ ๙๖ ปีแล้ว เพราะใจของท่านไม่ไปกระทบกระเทือนกับการทำงานของร่างกาย