กัณฑ์ที่ ๔๐๒ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ใจไม่มีอายุขัย
เรื่องของสังขารร่างกายก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นธรรมดา เป็นไปตามเวลาของเขา แต่ใจไม่ได้เป็นเหมือนร่างกาย ใจไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายตามร่างกาย ใจยังเป็นใจอยู่เหมือนเดิม ใจจะเปลี่ยนเฉพาะคุณสมบัติที่มีอยู่ในใจ จากการมีกิเลสไปสู่การไม่มีกิเลส จากการมีกิเลสน้อยไปสู่การมีกิเลสมาก จากการมีกิเลสมากไปสู่การมีกิเลสน้อย การเปลี่ยนแปลงของใจอยู่ในลักษณะนี้ แต่ใจไม่มีอายุขัย ไม่มีวันแก่ ไม่มีวันตาย แต่ยังมีวันทุกข์มีวันเจ็บอยู่ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ในใจ ก็ยังมีความทุกข์ทรมานใจอยู่ ถ้าไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ในใจแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์ทรมานใจ จะมีแต่ความสุขอย่างเดียว จึงควรให้ความสำคัญแก่ใจมากกว่าร่างกาย เพราะทำอะไรร่างกายไม่ได้ เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา ส่วนที่ทำได้เป็นเพียงส่วนปลีกย่อย เช่นให้อาหาร ให้น้ำให้ยา เวลาที่เขาต้องการ ก็พอพยุงให้อยู่ได้ไปตามขั้นตอนของเขา ถ้าขาดสิ่งที่ควรจะได้ ก็จะไปเร็ว จะเจ็บไข้ได้ป่วยเร็วขึ้น แล้วก็ตายเร็วขึ้น ไม่ว่าจะดูแลรักษาเขาอย่างไร ความจริงของเขาก็ยังเป็นเช่นเดิม เขายังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปในที่สุด แต่ใจที่มาเป็นเจ้าของร่างกายนี้ ไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายตามร่างกาย แต่จะทุกข์ตามร่างกายถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ให้เกิดปัญญา ให้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าร่างกายไม่ได้เป็นใจ จึงต้องศึกษาความสัมพันธ์ของใจและกาย ดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ใจและกายมาพบกัน ก็ตอนที่อยู่ในครรภ์ ตอนที่มีการปฏิสนธิ ตอนที่มีเชื้อของพ่อของแม่มาผสมกัน แล้วก็มีปฏิสนธิวิญญาณคือใจ มาจับจองเป็นเจ้าของ อยู่คู่กันมาจนถึงเวลาคลอด แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นมา เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้ชรา เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ แล้วในที่สุดร่างกายก็หยุดทำงาน ใจที่ได้มาพบปะได้อยู่คู่กับร่างกายก็จากไป ใจก็ไปต่อ
กายก็ไปส่วนของกาย ไปสู่ดินน้ำลมไฟ ใจก็ไปตามอำนาจของบุญของบาป ไปตามอำนาจของธรรม ถ้าใจมีธรรมอยู่เต็มดวง มีธรรมเต็ม ๑๐๐ ก็ไปสู่พระนิพพาน ไปสู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าใจไปตามอำนาจของบุญก็ไปสู่สุคติ ไปเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์มาสร้างบุญสร้างบาปใหม่ ถ้าไปตามอำนาจของกรรมก็ไปสู่อบาย ไปสู่นรกเปรตเดรัจฉานอสุรกาย นี่คือเรื่องของใจและกาย เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ร่างกายก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดหนึ่งของใจเท่านั้นเอง จึงไม่ควรให้ความสำคัญต่อร่างกายมากจนเกินไป เหมือนกับที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าอาภรณ์ของร่างกาย เท่ากับที่ให้ความสำคัญต่อร่างกาย เราซื้อเสื้อผ้าอาภรณ์มาสวมใส่ เวลาขาดก็โยนทิ้งไป แล้วก็ซื้อชุดใหม่มาใส่ ตราบใดที่ร่างกายยังหายใจอยู่ ก็ยังต้องมีเสื้อผ้าอาภรณ์ไว้สวมใส่ เราจึงดูแลรักษาร่างกายมากกว่าดูแลรักษาเสื้อผ้าอาภรณ์ เพราะร่างกายมีความสำคัญกว่าเสื้อผ้าอาภรณ์ เช่นเดียวกับกายกับใจ ก็เป็นอย่างนั้น กายเป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจ แต่ใจมีความสำคัญกว่าเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจ คือร่างกาย ปัญหาของพวกเราส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความเห็นผิดเป็นชอบ ขาดสัมมาทิฐิความเห็นที่ถูกต้อง จึงไปให้ความสำคัญต่อร่างกาย คือเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจ มากกว่าให้ความสำคัญต่อใจ ใจจึงขาดการดูแลรักษา ใจจึงต้องทุกข์ทรมานไปกับความเป็นไปของร่างกาย เวลาคิดถึงความแก่ก็ไม่สบายใจ คิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่สบายใจ คิดถึงความตายก็ไม่สบายใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าใจขาดการดูแลรักษาให้มีสัมมาทิฐิ ให้เห็นว่ากายไม่ใช่ใจ ให้เห็นว่ากายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครยับยั้งได้ นอกจากการไม่มีกายเท่านั้น ถ้าใจไม่ไปไขว่คว้าเอาร่างกายมาครอบครอง ใจก็ไม่ต้องมาทุกข์ทรมานกับร่างกาย
ใจนี้อยู่ได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องมีร่างกาย เช่นใจของพระพุทธเจ้าใจของพระอรหันต์ หลังจากที่ร่างกายของท่านดับไปแล้ว ได้ปรินิพพานแล้ว ใจของท่านไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ไม่ได้หายไปไหน ใจของท่านก็ยังเป็นใจอยู่ แต่เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นใจที่ปราศจากความโลภความโกรธความหลง เมื่อไม่มีความโลภโกรธหลง ใจของท่านก็ไม่มีความอยากจะมีร่างกาย อยากจะมีภพมีชาติ ท่านจึงไม่ได้ไปไขว่คว้าไปจับจองเอาร่างกายมาเป็นสมบัติ ใจของท่านอยู่อย่างสุขสบาย ไม่มีความทุกข์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ถ้าได้ดูแลรักษาใจ อบรมสั่งสอนใจ ให้เห็นโทษ ของการมีร่างกาย มีภพมีชาติแล้ว แต่ถ้ายังมีการเกิดอยู่ ย่อมมีการแก่ มีการเจ็บ มีการตายเป็นธรรมดา เหตุที่ทำให้ไปเกิดก็คือความอยาก อยากได้รูปเสียงกลิ่นรส อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น ท่านจึงปฏิบัติเพื่อตัดความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ คือกามตัณหาความอยากในกาม ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหาความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เมื่อได้ตัดความอยากทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ใจก็ไม่มีอะไรผลักดันให้ไปจับจองร่างกาย จับจองภพชาติอีกต่อไป ใจจึงไม่มีความทุกข์ทรมานเกี่ยวกับร่างกาย นี่คือวิธีรักษาใจให้อยู่เหนือความทุกข์ ต้องรู้ว่าใจอยู่ตามลำพังได้ การไม่มีอะไรเลยนี้ดีที่สุด เพราะว่าได้อะไรมาก็เท่ากับได้ความทุกข์มา มีอะไรก็เท่ากับมีความทุกข์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ ที่ใจได้มาครอบครองนั้น ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ทุกขังก็แปลว่าเป็นกองทุกข์ เวลาได้อะไรมาก็เท่ากับได้ความทุกข์มา ในทางตรงกันข้ามเวลาเสียอะไรไปก็เท่ากับเสียความทุกข์ไป ผู้มีปัญญามีสัมมาทิฐิจะเห็นอย่างนี้ จะไม่อยากได้อะไรเพราะได้อะไรมาก็เท่ากับได้ความทุกข์มา จะไม่เสียดายเวลาที่เสียไปเพราะเท่ากับเสียความทุกข์ไป นี่คือความจริงที่พวกเรามองไม่เห็นกัน
เนื่องจากเราถูกความหลงครอบงำใจ ทำให้เห็นตรงกันข้าม เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นว่าได้อะไรมาเท่ากับได้ความสุขมา เห็นว่าเวลาเสียอะไรไปเท่ากับเสียความสุขไป เวลาได้อะไรมาจึงดีอกดีใจ เวลาได้ลูกมาดีอกดีใจกันใหญ่ พอเวลาเสียลูกไปหรือเสียคนนั้นคนนี้ไปก็ร้องห่มร้องไห้กัน แทนที่ควรเป็นตรงกันข้าม คือเวลาได้ลูกมาต้องร้องไห้ เพราะได้บ่วงมา เป็นนักปราชญ์ต้องร้องอย่างนั้น เพราะได้กองทุกข์มา บ่วงเป็นเครื่องพันธนาการ ที่จะผูกจิตให้ตกอยู่ในกองทุกข์ พอรู้ว่าได้ลูกปั๊บก็ร้องเลยว่าบ่วง ต้องหนีแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่เสียดายเลยเวลาหนีไป เพราะมีปัญญามีสัมมาทิฐิ เห็นว่าเป็นกองทุกข์ หนีจากกองทุกข์ไป แต่คนที่ไม่มีปัญญาจะเห็นตรงกันข้าม เวลาได้ลูกมาก็ดีอกดีใจคิดว่าได้ความสุขมา พอสูญเสียลูกไปก็เสียอกเสียใจ คิดว่าเสียความสุขไป แต่ความจริงเป็นการเสียความทุกข์ไปมากกว่า เพราะไม่ต้องทุกข์กับลูกอีกต่อไป ตราบใดที่ยังมีลูกอยู่ ก็ยังต้องทุกข์กับลูกต่อไป ถึงแม้จะเจริญเติบโตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่มีครอบครัวแล้วก็ตาม ใจก็ยังอดที่จะทุกข์ไปกับเขาไม่ได้ เพราะความหลง เพราะอุปาทานความยึดติดในตัวเขา ว่าเป็นของเราเป็นลูกเรา เมื่อเป็นเราเป็นของเราก็จะมีตัณหาความอยาก อยากให้สิ่งที่เป็นเราเป็นของเรานี้ดีไปตลอด ไม่อยากให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น แต่ธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่ใจอยากให้เป็นกัน สิ่งต่างๆในโลกนี้มีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา มีดีมีไม่ดีเป็นธรรมดา เป็นของคู่กันเสมอ ผู้มีความมืดบอดด้วยโมหะความหลง จะไม่ยอมมองหรือมองไม่เห็นกัน จะเห็นแต่ส่วนที่ดีแล้วก็อยากจะให้ดีไปตลอด จะไม่ยอมมองในส่วนที่ไม่ดี เช่นเวลาพูดเรื่องความตายนี้ทุกคนจะต่อต้าน ว่าเป็นความคิดที่อัปมงคล ไม่ควรคิด เป็นผลงานของความมืดบอด ของความหลง ของอวิชชา ที่ไม่ยอมมองความจริงที่ไม่ชอบมอง ชอบมองความจริงในส่วนที่ดีที่เจริญ ไม่ชอบมองความจริงในส่วนที่เสื่อมในส่วนที่ดับ จึงเหมือนกับว่าส่วนที่ไม่เจริญส่วนที่เสื่อมส่วนที่ดับนี้ไม่มี พอมีเกิดขึ้นมาก็ตกอกตกใจ เสียอกเสียใจ เศร้าโศก กินไม่ได้นอนไม่หลับ นี่เป็นเพราะใจไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ให้รู้ถึงสภาพความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ที่ใจได้มาสัมผัสได้มาครอบครอง
การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นการจุดประกายแห่งสัมมาทิฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมจะได้ยินเรื่องของอนิจจังทุกขังอนัตตาเสมอ เพราะเป็นความจริง ที่จะทำให้จิตมีภูมิคุ้มกัน เพราะเมื่อจิตรู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น จิตก็จะปรับตัวให้รับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ โดยไม่มีความสะทกสะท้านหวาดกลัวแต่อย่างใด แต่ถ้าจิตไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ความจริงที่จะต้องพบจะต้องประสบ พอพบแล้วก็จะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ จะเกิดการต่อต้านขึ้นมา ไม่ยอมรับความจริงที่ได้เปลี่ยนไป จากการมีชีวิตอยู่สู่ความตาย ถ้าไม่ได้รับการอบรมให้รับรู้ไว้ล่วงหน้า ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ก็จะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ พอถึงเวลาที่จะก้าวสู่ความตาย ก็จะทุกข์ทรมานใจ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเคยอยู่กับการมีชีวิตจนติดเป็นนิสัย จนคิดว่าจะมีชีวิตไปตลอด พอจะต้องพบกับความตาย ต้องสูญเสียชีวิตไป จะไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร เหมือนกับเวลาที่มีน้ำท่วม ถ้ารู้ล่วงหน้า ก็จะเตรียมตัวรับกับเหตุการณ์ได้ ข้าวของต่างๆที่จะถูกน้ำท่วม ก็ขนย้ายไปเก็บไว้ในที่สูงที่ปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน ไปไหนมาไหน ก็เตรียมเรือพายไว้ อาหารการกินต่างๆก็เตรียมไว้ พอน้ำท่วมก็อยู่ได้ เพราะได้เตรียมรับเหตุการณ์ไว้แล้ว ไม่เดือดร้อน เช่นเดียวกับเรื่องของความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย การพลัดพรากจากสิ่งต่างๆหรือบุคคลต่างๆ การประสบกับสิ่งต่างๆที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าไม่ได้รู้ไว้ล่วงหน้าก่อนว่าจะเกิดขึ้น ก็จะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ พอถึงเวลาก็จะไม่รู้จะทำอย่างไร จะเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา ถ้ารู้ล่วงหน้าแล้ว ก็จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน จะรู้จักวิธีรับกับเหตุการณ์ต่างๆ
เพราะใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป แต่ใจยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่จะอยู่ในสภาพไหน อยู่ในสภาพนับ ๑๐ ยืนอยู่บนลำแข้งลำขาของตนได้ เหมือนกับนักต่อสู้บนสังเวียน ที่ไม่ว่าจะโดนหมัดมากมายขนาดไหน ก็จะไม่ล้ม จะไม่ถูกนับ ๑๐ เพราะมีความแกร่งพอที่จะรับกับหมัดทุกชนิดได้ จะหนักจะเบาอย่างไรจะไม่เป็นปัญหา จะไม่ล้มลงนอนกับพื้นให้นับ ๑๐ เพราะไม่มีอะไรทำลายใจได้ ความแก่ความเจ็บความตายของร่างกายทำลายใจไม่ได้ ลูกระเบิดนิวเคลียร์ก็ทำลายใจไม่ได้ สิ่งที่จะทำลายใจได้ก็คือความมืดบอด ความโง่เขลาเบาปัญญา พอไม่มีปัญญาก็จะไม่รู้วิธีที่จะทำใจ ไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้ทุกข์ทรมานไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น การรักษาใจจึงต้องเป็นการอบรมสั่งสอนใจ ให้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะตอนนี้ใจไม่ได้อยู่ลำพัง ถ้าใจอยู่ลำพังใจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไร ก็ไม่ต้องรู้อะไรก็ได้ แต่ตอนนี้ใจมาเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องหลายสิ่งด้วยกัน มาเกี่ยวข้องกับร่างกายในเบื้องต้น พอคลอดออกมาก็มาเกี่ยวข้องกับบิดามารดาปู่ย่าตายายญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย มาเกี่ยวข้องกับสามีภรรยาบุตรธิดาหลานเหลน มาเกี่ยวข้องกับสมบัติต่างๆ มาเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ มาเกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร ไม่เคยคิดไม่เคยรู้ คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ไปตลอด ถ้ารู้ว่าจะไม่เป็นอย่างนี้ก็ไม่ยอมคิด แต่กลับภาวนาขอให้ไม่ให้เปลี่ยนไป ขอให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ให้ดีกว่านี้ ไม่ให้เลวกว่านี้ แต่ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของใจ สิ่งต่างๆต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามเวลาของเขา
จึงต้องฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อให้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฟังแล้วก็ต้องนำเอาไปสั่งสอนใจต่อ เพราะการได้ยินได้ฟังเพียงระยะเวลาสั้นๆนี้ ถ้าไม่นำเอาไปขยายผลงานต่อ ไม่เอาไปพิจารณาต่อ เดี๋ยวก็จะลืม เพราะใจต้องคิดหลายเรื่องด้วยกัน พอคิดเรื่องอื่นแล้ว เรื่องที่ได้ยินได้ฟังมานี้ก็จะค่อยๆถูกกลบไปหายไป แล้วก็จะลืมไป เหมือนกับไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ถ้าอยากจะให้เป็นปัญญาที่สามารถดูแลรักษาใจได้ ก็ต้องเอาไปบำเพ็ญต่อ เอาไปเจริญต่อ มี ๓ เรื่องนี้ที่ควรจะจำไว้คือ ๑. อนิจจังไม่เที่ยง ๒. เป็นทุกข์ ๓. ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ท่องจำไปทุกวันทุกเวลา ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นถ้าไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นก็คิดไป พอคิดเสร็จก็กลับมาคิดเรื่องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเราต่อ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะปล่อยวางได้ จะมีความสุขมีความสบายใจมากขึ้น จะเห็นว่าได้แบกกองทุกข์มาด้วยความหลง เพราะไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตานี่เอง พอเห็นแล้วก็รู้ว่าฝืนความจริงไม่ได้ ยังไงๆก็ต้องไม่เที่ยงต้องหมดไปต้องเปลี่ยนไป ถ้าไปยึดไปติดไปหวงไปห่วงก็จะต้องทุกข์ทรมานใจ เพราะไม่ใช่ของเราไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน ตัวเราที่พูดอยู่นี้ก็คือใจ แต่พอพิจารณาไปปฏิบัติลึกเข้าไปแล้ว แม้แต่ตัวเราก็รู้ว่าไม่ใช่เป็นตัวเรา เป็นเพียงสมมุติที่ใจสมมุติขึ้นมาเอง สมมุติว่าเราคิดเรารู้ แต่ความจริงไม่มีเรา มีแต่ความรู้หรือผู้รู้ ไม่มีเราคิด มีแต่ความคิด เป็นสภาวธรรม เหมือนกับมีเสียง แต่ไม่มีเสียงของคนนั้นคนนี้ เป็นเหมือนเสียงลมที่พัดใบไม้กิ่งไม้แล้วปรากฏเป็นเสียงขึ้นมา ไม่มีตัวตนที่ทำให้เกิดเสียงนั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตัวที่ทำงานในจิตคือความคิด ความรู้สึก ความจำได้หมายรู้ ความรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เป็นธรรมชาติ ไม่มีตัวเรา มีแต่ความรู้หรือผู้รู้ ตัวเราเกิดจากความหลงของใจ ที่สมมุติว่ามีเรามีตัวเรา แต่ความจริงเป็นเพียงสมมุติ
ถ้าปฏิบัติจนเห็นไตรลักษณ์ในส่วนภายนอกแล้ว เห็นไตรลักษณ์ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ในสิ่งของต่างๆ ในบุคคลต่างๆ ในร่างกายแล้ว ก็จะปล่อยสิ่งเหล่านั้นไปหมด เมื่อปล่อยแล้วใจก็จะเข้ามาข้างใน จะไม่สนใจกับเรื่องภายนอก จะสนใจเรื่องภายใน ที่ยังสร้างปัญหาสร้างความทุกข์ให้กับใจอยู่ ด้วยเรื่องตัวเราของเรา ยังรู้สึกว่ามีตัวเราของเราอยู่ในใจ ก็ต้องเข้าไปแยกแยะตัวเราของเราให้ออกจากใจ ให้ใจว่างจากตัวเราของเรา อะไรที่เป็นตัวเราของเรา ก็ต้องเอาอนัตตาเข้าไปแก้ เพราะไม่มีอะไรเป็นตัวเราของเรา ข้างนอกไม่มีตัวเราของเราแล้ว ข้างในก็ไม่มีตัวเราของเราเช่นกัน แต่ในเบื้องต้นถ้ายังเกี่ยวข้องกับเรื่องข้างนอกอยู่ ก็ยังต้องใช้สมมุติคือตัวเรา ว่าใจเป็นเราไปก่อน เพื่อการแยกแยะเปรียบเทียบ ว่าใจเป็นเรา ส่วนร่างกายไม่ใช่เราอย่างนี้เป็นต้น พอเข้าไปถึงในใจแล้ว ใจก็ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน ไม่มีเรา เราเป็นความเพ้อฝัน เกิดจากการปรุงแต่งของอวิชชาของโมหะความหลง ถ้ายังมีตัวเราของเรา ความสุขที่มีอยู่ภายในใจก็จะว่าเป็นความสุขของเรา ความทุกข์ก็จะเป็นความทุกข์ของเรา ก็จะเกิดตัณหา อยากจะให้สุขอย่างเดียว อยากไม่ให้ทุกข์ เป็นภวตัณหาและวิภวตัณหา ถ้าไม่มีตัวเราของเราแล้ว พิจารณาว่าสุขทุกข์เป็นสภาวธรรม เป็นของคู่กัน มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา สุขเกิดขึ้นได้สุขก็ดับได้ ทุกข์เกิดขึ้นได้ทุกข์ก็ดับได้ ถ้าไม่มีตัวตนแล้วก็จะไม่มีตัวไปรับความสุขหรือความทุกข์ ก็จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อปล่อยแล้วมันก็จะหายไป เพราะเกิดจากตัวหลงที่ไปสร้างมันขึ้นมา เมื่อตัวสุขตัวทุกข์ที่มีในใจหายไปหมดแล้ว ก็จะเหลืออยู่แต่ความว่างของใจ เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจ ซึ่งเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความสุขที่ไม่มีเกิดไม่มีดับ ไม่มีเสื่อม ที่เรียกว่าปรมังสุขัง เพราะเป็นปรมังสุญญัง ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง ว่างจากไตรลักษณ์ ว่างจากอนิจจังทุกขังอนัตตา ว่างจากอัตตาตัวตน ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสมมุติ
ตัวตนนี้เป็นสมมุติ อนัตตาก็เป็นสมมุติ ที่ลบล้างตัวตนที่เป็นสมมุติเช่นเดียวกัน เมื่อตัวตนถูกทำลายด้วยอนัตตาแล้ว ก็หายไปด้วยกันทั้งคู่ เหมือนยากับเชื้อโรค เมื่อเชื้อโรคถูกทำลายไปแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป เมื่อตัวตนในใจหายไปแล้ว ก็ไม่ต้องเจริญสัพเพธัมมาอนัตตาอีกต่อไป เพราะอนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นเพียงเครื่องมือหรืออาวุธ ที่ใช้ทำลายความหลงเท่านั้นเอง ความหลงที่ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เมื่อได้ทำลายไปหมดแล้ว อาวุธอันเลิศอันประเสริฐนี้ก็ไม่ต้องใช้อีกต่อไป เหมือนกับยาที่ได้ทำลายเชื้อโรคจนหมดไปแล้ว ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหลงเหลืออยู่ในร่างกายแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป ฉันใดเมื่อปัญญาคือไตรลักษณ์นี้ ได้ทำลายความหลงทุกชนิดที่มีอยู่ในใจจนหมดไปแล้ว เป็นความว่างเป็นความสุขล้วนๆแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาอีกต่อไป ปัญหาต่างๆที่เคยสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ใจก็หายไปหมด ทีนี้มองอะไรก็จะสักแต่ว่ามอง เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน สัมผัสอะไรก็สักแต่ว่าสัมผัส แต่จะไม่มีตัณหาความอยากกับสิ่งต่างๆที่ได้สัมผัสรับรู้ รู้ตามความเป็นจริงของเขา แต่ถ้าต้องมีการตอบโต้หรือปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ก็จะปฏิบัติไปตามเหตุตามผล ไปตามความจำเป็น แต่จะไม่มีความวิตกกังวล มีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอะไรได้ก็ทำไป เห็นเขาเดือดร้อนช่วยเหลือเขาได้ก็ช่วยเหลือเขาไป แต่จะไม่มาวิตกกังวลเวลาช่วยเขาไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ช่วยไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ เขาจะตายก็ตายไป แต่จะไม่มาวิตกกังวลหรือเสียอกเสียใจ เพราะใจก็รู้อยู่แล้วว่าในที่สุดก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ต่อให้ช่วยกันกี่ครั้งกี่รอบในที่สุดก็ต้องมีรอบสุดท้าย หนังยังมีรอบสุดท้ายเลย แล้วชีวิตของเราทำไมจะไม่มีรอบสุดท้ายบ้าง ก็ต้องมีรอบสุดท้ายเช่นเดียวกัน งานเลี้ยงย่อมมีการสิ้นสุด ไม่มีงานเลี้ยงไหนที่จะเลี้ยงกันไปตลอด นั่นแหละคือชีวิตของพวกเรา เป็นอย่างนั้น ชีวิตของพวกเราเป็นเหมือนงานเลี้ยง เลี้ยงกันไปเรื่อยๆ เลี้ยงวันนี้แล้ว พรุ่งนี้ก็เลี้ยงต่อ มะรืนนี้ก็เลี้ยงต่อ สักวันหนึ่งก็ต้องไปถึงวันสุดท้ายของงานเลี้ยง นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องศึกษา สรุปแล้วสิ่งที่เราต้องจำให้แม่นอยู่ตลอดเวลาก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขอให้จำ ๓ คำนี้ไว้ แล้วนำเอาไปปฏิบัติเถิด จะอยู่อย่างปลอดภัยจากความทุกข์ทั้งหลาย
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจนไปไหนไม่ได้ ความจริงน่าจะได้ประโยชน์ ถ้าเป็นนักภาวนาแล้วจะได้ประโยชน์มาก เพราะบังคับเราในตัวให้ภาวนาเพราะไปไหนไม่ได้ เมื่อก่อนกิเลสมีข้ออ้างอยู่เรื่อย ไปงานครูบาอาจารย์บ้าง ไปงานคนนั้นคนนี้บ้าง ไปได้หมด ตอนนี้ไปไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นนักภาวนาก็จะฉวยโอกาสภาวนาอย่างเต็มที่เลย เพราะการภาวนาอยู่ที่ใจ แต่อาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ ถ้าร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้ก็ยังภาวนาได้อยู่ สติอยู่ที่ใจ กิเลสอยู่ที่ใจ ปัญญาอยู่ที่ใจ สร้างสติสร้างปัญญาขึ้นมาเพื่อทำลายกิเลสที่มีอยู่ภายในใจ ร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด สำหรับคนที่ยังหยุดไปไหนมาไหนไม่ได้นี้ การเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเป็นอุบายช่วยบังคับให้ภาวนาไปในตัว เหมือนกับคนจนตรอกไปทางไหนไม่ได้ ก็ต้องสู้อย่างเดียว ถ้าไม่สู้ก็โดนเขาต่อยอย่างเดียว ถ้าไม่ภาวนาแล้วอยากไปโน่นมานี่ก็จะทุกข์ทรมานใจ เพราะไปไม่ได้ พอภาวนาแล้วก็ตัดความอยากได้ พอความอยากดับปั๊บก็จะอยู่อย่างสุขสบาย ยิ่งกว่าได้ออกไปตามความอยาก บางทีก็ต้องอาศัยเหตุการณ์อย่างนี้เป็นอุบาย เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราต้องสู้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ก็จะถูกกิเลสหลอกล่ออยู่เรื่อยๆ ให้ผัดวันประกันพรุ่ง ทำพรุ่งนี้ก็ได้ ตอนนี้ทำเรื่องนี้ก่อน แต่พอทำอย่างอื่นไม่ได้แล้วก็ต้องทำเรื่องภาวนาเรื่องเดียว พอเริ่มเห็นผลแล้วต่อไปไม่ต้องบังคับแล้ว รู้แล้วว่าการภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสภายในใจ เป็นงานที่วิเศษที่สุด เป็นรางวัลที่ดีที่สุด เป็นรางวัลที่ ๑ ส่วนการไปทำอะไรภายนอกเกี่ยวกับคนนั้นคนนี้ ถึงแม้จะเป็นทานเป็นบุญก็ตาม ก็ไม่ได้เท่ากับการฆ่ากิเลสภายในใจ ความเบาอกเบาใจจะมีมากขึ้น การไปทำบุญให้ทานยังไม่ได้ตัดกิเลส เป็นเพียงฉีดยาสลบหรือตีหัวมันที ๒ ที ไม่ให้มันกล้าหาญมากจนเกินไป แต่มันไม่ตาย แล้วก็มีกิเลสตัวอื่นที่อาศัยการทำบุญนี้ เป็นช่องให้มันเจริญเติบโต คือกิเลสที่เรียกว่ากามฉันทะ เพราะเวลาได้ออกไปข้างนอกก็จะได้เห็นรูปได้ยินเสียงได้สัมผัสรับรู้อะไรต่างๆ ได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทำให้กามฉันทะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า มีแต่กิเลสคือความตระหนี่ความเห็นแก่ตัวที่จะลดน้อยลงไปบ้าง เพราะทำบุญให้ทานเพื่อเสียสละ เพื่อตัดความยึดติดในสมบัติข้าวของเงินทอง ได้ตัดส่วนนี้ไป แต่กิเลสคือกามฉันทะเหมือนกับได้น้ำ จะเจริญงอกงามตามไปด้วย
นักภาวนาจึงต้องมีความเข้มงวดกวดขันมากกว่านักแสวงบุญ นักแสวงบุญยังต้องไปที่ต่างๆ ไปอินเดีย ไปวัดนั้นไปวัดนี้ นักภาวนาต้องตัดแล้ว ไม่ต้องไปไหนแล้ว ต้องปิดประตูเข้าออกของกิเลส คือทวารทั้ง ๕ ตาหูจมูกลิ้นกาย ที่เป็นทางเข้าออกของกิเลสคือกามฉันทะ ถ้ากิเลสยังเข้าออกได้อยู่ก็จะเจริญงอกงาม จะปราบมันยาก ถ้าปิดทวารทั้ง ๕ มันก็ออกไม่ได้ ก็จะวิ่งอยู่ภายในใจ จะสร้างความทุกข์ทรมานใจ ก็ต้องใช้สมถภาวนาใช้วิปัสสนาภาวนาปราบทำลายมัน เหมือนเวลาจะจับวัวมาฆ่า ถ้าไม่มีคอกล้อมมันไว้ ปล่อยให้มันวิ่งไปในป่าในทุ่ง จะตามจับมาฆ่าก็จะยาก ถ้าจับขังไว้ในคอกเวลาจะจับมันมาฆ่า ก็จะไม่ยาก ถ้าคอกยิ่งเล็กยิ่งแคบก็ยิ่งจับง่าย ถ้าคอกกว้างก็จับยากหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีคอกเลย คอกที่จะกักกิเลสไว้ก็คืออินทรีย์สังวรนี้เอง การสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายนี้เป็นคอก ถ้าเป็นคอกใหญ่ก็ศีลสังวร ถ้าเป็นคอกที่แคบเข้ามาก็เป็นอินทรีย์สังวร อยู่ในป่าในเขา ไม่ต้องไปรับรู้เรื่องต่างๆของทางโลกเขา กิเลสก็ไปไหนไม่ได้ ก็จะเพ่นพ่านอยู่ในใจ ถ้ามีสติก็จะเห็นทันทีเวลามันออกมาเพ่นพ่าน ก็ต้องกำจัดมันทันที ถ้าฟุ้งซ่านก็ต้องภาวนาทำจิตใจให้สงบ ถ้าสงบด้วยอุบายแห่งสมาธิไม่ได้ ก็ต้องสงบด้วยอุบายแห่งปัญญา วิเคราะห์เข้าไป ถามดูว่ากำลังฟุ้งซ่านกับเรื่องอะไร เอาปัญญาเอาไตรลักษณ์เข้าไปสกัด เรื่องต่างๆไม่อยู่เหนือกรอบของไตรลักษณ์ เรื่องต่างๆต้องจบของมันเอง จะไปแก้หรือไม่ไปแก้ จะไปทำไม่ไปทำ ในที่สุดก็จะต้องจบลงไปเอง เช่นห่วงพ่อห่วงแม่ สมมุติเราเป็นนักบวชไปอยู่ในป่า เกิดวิตกกังวลเรื่องพ่อเรื่องแม่ ก็พิจารณาไปว่า กลับไปช่วย ก็ช่วยได้ชั่วคราว ในที่สุดเขาก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าเราไม่ไปเขาจะได้มีโอกาสพึ่งตัวเขาเอง ต่อสู้กับสิ่งต่างๆด้วยตัวเขาเอง ถ้าไปก็ควรไปเพื่อสอนให้เขารู้จักวิธีต่อสู้ที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้เรายังไม่มีความรู้นั้นเราก็อย่าเพิ่งไป ตอนนี้เรารีบมาสร้างความรู้นี้ดีกว่า
เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงขังพระองค์ไว้ถึง ๖ ปีด้วยกัน ขังอยู่ในป่า ๖ ปี ไม่เคยกลับไปในวัง ไม่ทรงห่วงพระราชบิดาหรือพระมเหสีหรือพระราชโอรส เวลาห่วงก็ทรงใช้ไตรลักษณ์เข้ามาสกัด แต่หลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้วพระองค์ก็ทรงกลับไปโปรด เพราะมีสิ่งที่ดีไปโปรดแล้ว สิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ แต่ตอนภาวนานี้ถ้าฟุ้งซ่านกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ต้องใช้สมถะหรือวิปัสสนาทำให้สงบให้ได้ ถ้าทำให้สงบไม่ได้ก็จะต้องแหกคอกไปจนได้ เพราะทนอยู่ไม่ได้ เวลาเป็นห่วงใครมากๆก็ต้องไปดูแลเขาจนได้ ถ้าใช้ไตรลักษณ์สกัดก็ไม่ต้องไป สมมุติว่าเราตายไปแล้วเขาอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ไม่ได้เขาก็ต้องตายอยู่ดี ถึงแม้จะอยู่ได้ ต่อไปก็ต้องตายเหมือนกัน เพราะไม่มีใครหนีความตายไปได้ พอใช้ไตรลักษณ์ใช้ปัญญาเข้ามาสกัด ก็จะสงบตัวลงได้ พอสงบแล้วก็สบาย พอออกมาจากความสงบก็เริ่มห่วงอีกแล้ว กิเลสไม่ยอมหยุด เหมือนกับสงครามที่ข้าศึกศัตรูบุกมาเป็นระลอกๆ ส่งชุดที่ ๑ มาพอถูกฆ่าตายหมด ก็จะส่งชุดที่ ๒ มา จะส่งมาเรื่อยๆจนกว่าจะหมดกำลัง เราก็ต้องสู้ทุกระลอก หยุดไม่ได้ แต่เราจะไม่กลัว เพราะรู้วิธีฆ่ามันแล้ว รู้วิธีต่อสู้กับมันแล้ว เรามีอาวุธที่ประเสริฐที่ไม่มีมาก่อน ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนานี้เราจะสู้มันไม่ได้ ไม่มีใครสู้กิเลสได้ ก่อนที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ไม่มีใครฆ่ากิเลสให้ตายหมดได้ ได้แต่ฉีดยาสลบหรือทุบให้มันสลบไปเท่านั้นเอง เดี๋ยวมันก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ไม่มีใครบรรลุถึงพระนิพพานได้ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสวงหาพระนิพพาน ก็ไม่มีใครสอนได้ เพราะไม่มีใครรู้ แต่พอพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้พบกับอาวุธวิเศษแล้ว ก็ทรงมอบให้กับพวกเรา จึงเป็นโชคเป็นวาสนาของพวกเราที่ได้รับอาวุธที่เลิศนี้มา ทีนี้เราสู้มันได้แล้ว จะมากี่ ๑๐๐ ระลอก มากี่ ๑๐๐๐ ครั้ง ก็ไม่กลัวมัน เราฆ่ามันได้หมด
กิเลสสู้ไตรลักษณ์ไม่ได้ กิเลสทุกตัวไม่ว่าจะหยาบหรือละเอียด แพ้ไตรลักษณ์หมด จึงไม่ต้องกลัวกิเลส เรามีอาวุธที่ยอดเยี่ยมแล้ว อย่าไปเสียดายกิเลส เรื่องกลัวก็ไม่กลัว แต่เสียดาย จะขาดเพื่อนอย่างนี้ ก็เป็นกิเลสอีกแบบหนึ่ง ไปอยู่คนเดียวก็คิดว่าเรานี้เห็นแก่ตัวหรือเปล่า ทิ้งเพื่อนฝูงไปหรือเปล่า เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น อยู่กับเพื่อนแล้วเป็นอย่างไร จมไปด้วยกัน จมไปในกองทุกข์ พอหนีออกมาแล้วได้หลุดพ้น คนที่จะหลุดพ้นได้ ส่วนใหญ่หลุดพ้นด้วยการอยู่คนเดียว อยู่ตามลำพัง ไม่ได้หลุดพ้นด้วยการอยู่ร่วมกัน ต้องปลีกวิเวก ต้องอยู่ตามลำพัง จึงอย่าไปกลัวกับการปลีกวิเวกอยู่ตามลำพัง เป็นการอยู่ที่ดีที่สุดของนักปฏิบัติ จะมีความรื่นเริงบันเทิงใจกับความสงบความวิเวก จิตสงบแล้วจะไม่คิดถึงใคร จะไม่รู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาเป็นผลงานของกิเลส ที่สร้างอารมณ์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นมา ด้วยการคิดถึงอดีตที่หวานๆ กับคนนั้นคนนี้ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนนี้ไม่มีแล้วจึงรู้สึกว้าเหว่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจ เป็นความคิดปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ที่กิเลสปลุกขึ้นมา ไม่ใช่ความจริง แต่ทำให้ทุกข์ทรมานใจ เพราะขาดสติ เรากำลังดูหนังในใจ แล้วก็เคลิ้มไปกับหนัง พอได้สติก็จะปลุกให้ตื่นขึ้นมา ว่าเป็นความฝัน ไม่เป็นความจริง ไปคิดบ้าบอคอแตกอย่างนั้นทำไม ทำไมไม่คิดพุทโธๆไป ทำไมไม่พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาไป นักปฏิบัติจะมีปัญหาตรงนี้เวลาอยู่คนเดียว บางครั้งเวลาเผลอนี่มันไหลไปเลย ไหลไปตามอารมณ์ คิดถึงอดีตอันแสนหวานแสนสวยงาม พอดูปัจจุบันรู้สึกแสนว้าเหว่ ไม่ว่าใครก็ตาม พอออกไปอยู่วิเวกแล้ว จะเจอเรื่องอย่างนี้กันทั้งนั้น
จึงควรเตรียมตัวรับกับมันไว้ ให้รู้ทัน คิดว่าความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขในบ้านที่ไฟกำลังไหม้ ความสุขของทางโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เที่ยง ของความแก่ของความเจ็บของความตาย เหมือนกับอยู่ในบ้านที่ไฟกำลังไหม้ ไปจัดปาร์ตี้ทำไมในบ้านที่ไฟกำลังไหม้ เดี๋ยวก็ถูกไฟเผาหรอก เวลาออกมาปลีกวิเวก ก็เท่ากับออกจากบ้านที่ไฟกำลังไหม้ ต้องตัดใจ อย่ากลับเข้าไปในบ้านที่ไฟกำลังไหม้อยู่ เพราะจะถูกไฟเผา ให้คิดอย่างนี้ จะมีกำลังใจ จะภาวนาพุทโธๆเดินจงกรมต่อได้ พอจิตสงบแล้วก็จะรู้ว่า ใจไปคิดเอง ใจไปปรุงแต่งขึ้นมาเอง ต่อไปก็จะไม่คิดแล้ว จะพยายามทำจิตให้สงบอยู่เรื่อยๆ จนมีความสงบเป็นฐานไปเลย ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็จะสงบ จะไม่สงบเป็นช่วงๆเหมือนตอนต้น เวลากิเลสปะทุขึ้นมาจะเป็นเหมือนภูเขาไฟระเบิด เวลาสัมผัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะปะทุขึ้นมา ถ้าไม่ได้สัมผัสก็จะสงบไปเรื่อยๆ อย่างนี้แสดงว่ามีสมาธิแล้ว แต่กิเลสที่สร้างปัญหายังไม่ตาย แต่ไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนนี้จะอยู่เต็มไปหมดทุกแห่งทุกหน แต่พอมีสมาธิแล้วกิเลสจะหลบซ่อนตัว จะหลบในมุมนั้นมุมนี้ซอกนั้นซอกนี้ นานๆจะโผล่ขึ้นมา เวลาไปเห็นรูปได้ยินเสียงที่สะเทือนใจก็จะปรากฏขึ้นมา ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปแก้เข้าไปตัด ต้องละตัวตน ที่ทำให้กิเลสสร้างความทุกข์ เช่นคิดว่าทำไมเขาไม่ปฏิบัติกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีเราไม่ใช่หรือ ทำไมจะต้องปฏิบัติกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ จะปฏิบัติกับดินน้ำลมไฟอย่างไร ก็เรื่องของเขา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จะยกมือไหว้ร่างกายหรือไม่ ก็เรื่องของเขา จะยิ้มให้กับร่างกายหรือไม่ ก็เรื่องของเขา ไม่เป็นปัญหาอะไร ต้องมองอย่างนี้ อย่าไปมองว่ามีตัวมีตน ในร่างกายหรือในใจก็ดี ใจเป็นเพียงผู้รับรู้ ก็รู้ไป รู้ว่าเขาไม่ยิ้ม รู้ว่าเขาไม่ไหว้ ต้องใช้ปัญญาเข้าไปสกัด
เวลาเกิดอารมณ์ไม่สบายใจขึ้นมา แสดงว่ากิเลสยังทำงานอยู่ แต่จะเห็นเรื่องของกิเลสได้ชัดเวลาที่มีสมาธิแล้วเท่านั้น เวลาไม่มีสมาธิมีกิเลสเต็มไปหมดเลย จึงไม่รู้อะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส เพราะส่วนใหญ่เป็นกิเลสไปทั้งหมด แต่พอเวลาสงบแล้วถึงจะรู้ว่า เวลาสงบนิ่งเฉยๆนี้เป็นธรรม พอเกิดอารมณ์ขึ้นมาปั๊บรู้เลยว่าเป็นกิเลส จึงต้องคอยกำจัดอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ต้องไปแหย่ให้เกิด ไปแหย่รังแตน ถ้าไม่ออกมาก็ต้องแหย่มัน ไม่อย่างนั้นจะไม่ออกมา ก็จะฆ่ามันไม่ได้ ต้องไปแหย่มัน เช่นกลัวอะไรก็ต้องไปหามัน กลัวเสือก็ต้องไปหาเสือ กลัวผีก็ต้องไปหาผี ไปแหย่รังแตน ให้ความกลัวออกมา พอออกมาแล้วจะได้ใช้ปัญญาเข้าไปสกัด เช่นกลัวความตาย กลัวกับการที่จะต้องพบเห็นสิ่งที่ไม่อยากจะพบเห็น ต้องใช้ปัญญาเข้าไปดับมัน ให้คิดว่าถ้ามันจะเกิดเราไปห้ามมันได้ที่ไหน ถ้าเห็นก็ให้สักแต่ว่าเห็น จะน่าเกลียดน่ากลัวขยะแขยงอย่างไร ก็ให้สักแต่ว่าเห็น ห้ามมันได้ที่ไหน สิ่งที่จะให้เราเห็น ถ้าทำใจกล้าไม่กลัวในสิ่งที่จะเห็นแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไร อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้นอยู่ดี ก็ให้มันเกิดไป เราก็สักแต่ว่ารู้ตามความจริงเท่านั้นเอง มีสมาธิรักษาใจให้สงบ มีปัญญาคอยสอนใจไม่ให้ผวาไม่ให้ตื่นเต้น ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่มีสมาธิจะทำไม่ได้ ใจจะกระโดดโลดเต้น จะไม่นิ่ง พอไม่นิ่งจะใช้ปัญญาไม่ได้ อารมณ์จะเข้ามาก่อน พอได้ยินเสียงเสือก็จะวิ่งแล้ว พอคิดว่ามีผีมาก็จะเผ่นหนีแล้ว ไม่มีสติปัญญามาคิดเลยว่า เห็นก็เห็นสิวะ ตายก็ตาย ถ้าไม่มีสมาธิจะทำไม่ได้ ถ้ามีสมาธิแล้วจะทำได้ ถ้าปฏิบัติได้สมาธิแล้ว แต่ไม่มีอะไรผุดโผล่ขึ้นมาก็อย่าตายใจ ต้องไปพิสูจน์ ต้องไปหารังแตนแหย่ อะไรที่เรากลัวก็ต้องไปหามัน อะไรที่เราชอบก็ต้องตัดมัน แล้วดูว่าแตนจะออกมาหรือเปล่า ถ้าออกมาจะได้ใช้ไตรลักษณ์ยิงให้ตายไปหมดเลย คนที่ติดสมาธิก็จะคิดว่าหมดปัญหาแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว แต่เวลามีก็ไม่รู้สึกตัว ไม่ได้สังเกต ไม่ได้ดู เวลามีความทุกข์มีความวุ่นวายใจ ก็ไม่รู้ว่ากำลังทุกข์กำลังวุ่นวายใจ เพราะไปคิดว่าจิตเราสงบเราสบายแล้ว ส่วนเรื่องอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติ ความจริงไม่ใช่เรื่องปกติหรอก ต้องไม่มีอารมณ์ถึงจะเป็นเรื่องปกติ
ถาม อัตตากับมานะ คือตัวเดียวกันใช่ไหม
ตอบ ตัวเดียวกัน
ถาม การที่เรายังมีอัตตานี้เกี่ยวเนื่องกับการต้องพิจารณากายด้วยไหม
ตอบ ถ้ามีความรู้สึกว่ามีตัวตนฝังลึกอยู่ในใจ เป็นอวิชชา ตัวที่ทำให้รู้สึกว่ามีเรา พอมีอะไรก็จะเป็นของเราขึ้นมา จิตเป็นของละเอียดมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า พอจิตได้ร่างกายก็เลยคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา เพราะจิตเข้าไปอยู่ในร่างกาย ใช้ร่างกายเป็นตัวแทนจิต
ถาม แต่ถ้าเราพิจารณากาย จนเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ที่รวมกันมาเป็นร่างกาย ก็จะไม่มีตัวเราในร่างกาย
ตอบ แต่ความรู้สึกว่ามีตัวเรายังมีอยู่ในใจ
ถาม การพิจารณากายจะช่วยแยกให้เห็นชัดขึ้น
ตอบ ถ้ามีตัวเราหลบซ่อนอยู่ในร่างกายก็ต้องตัดตัวนี้ไปก่อน พอซ่อนในร่างกายไม่ได้ มันก็ไปอยู่ซ่อนในใจ ก็ต้องเข้าไปดูในใจต่อ ความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเรายังมีซ่อนอยู่ในใจ ยังรู้สึกว่าเราเจ็บ เราทุกข์ เราสุขอยู่
ถาม ทีนี้เราก็ตามเข้าไปดูข้างใน
ตอบ ว่ามีเราหรือเปล่า
ถาม มันก็ละเอียดขึ้นไปอีก
ตอบ ละเอียดเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง ตอนต้นเรามองไม่เห็นใจ เพราะอัตตามาอยู่ที่ร่างกาย ต้องแยกที่ร่างกายก่อน พอตัวเราที่ร่างกายหมดไปแล้ว ก็จะหลบเข้าไปอยู่ในใจ เรียกว่ากิเลสหดตัวเข้าไปข้างใน ก็พิจารณาตามเข้าไป เข้าไปแยกในนามขันธ์ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็เข้าไปแยกในจิต ลึกเข้าไปเรื่อยๆ จะข้ามขั้นตอนไม่ได้ เวลายังอยู่ข้างนอกจะเข้าไปดูจิตเลยไม่ได้ เหมือนที่เขาว่าดูจิตอย่างเดียว แต่อัตตาอยู่ที่ร่างกาย ไปดูจิตจะไม่รู้เรื่อง ต้องพิจารณาร่างกายเพื่อถอนอุปาทานในร่างกายก่อน ให้จิตปล่อยวางกายก่อน เพื่อจะได้เข้ามาข้างในจิต ถ้าดูจิตไม่พิจารณาร่างกาย ก็จะปล่อยร่างกายไม่ได้ ถ้าดูจิตก็จะเพียงแต่รู้ว่า จิตมีความสุข มีความทุกข์ มีความวุ่นวาย มีความสงบ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นอย่างนี้ ดูไปจนวันตายก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจิตวุ่นวายกับร่างกาย ก็ต้องไปดูที่ร่างกาย ไปแก้ปัญหาที่ร่างกาย พิจารณาว่าไปวุ่นวายกับร่างกายทำไม มันไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องทำย่างนี้ พอเข้าใจก็จะหายวุ่นวาย ที่ดูจิตก็ให้รู้ว่าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว แต่ดูจิตเฉยๆยังไม่พอ ดูจิตแล้วต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ปัญหาหายไป ต้องใช้ไตรลักษณ์แก้ มีปัญหากับอะไรก็ต้องไปแก้ตรงนั้น ถ้ามีปัญหากับคนนั้นก็ต้องไปแก้คนนั้น เช่นคนนั้นเป็นคู่อริกับเรา เห็นเขาทีไรแล้วใจเราวุ่นวาย ก็ต้องแก้ไม่ให้วุ่นวายให้ได้ ว่าทำอย่างไรให้สักแต่ว่าเห็น ต้องดูว่าเขาเป็นของเขาอย่างนั้น ไปห้ามเขาไม่ได้ ปล่อยเขาไป ถ้าปล่อยแล้วเขาจะด่าจะชมจะทำอะไรก็เรื่องของเขา เราอย่าไปให้ความสำคัญ ให้ความสำคัญกับใจ ให้มันสงบ ให้มันนิ่ง ให้มันสักแต่ว่ารู้ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ถาม บางทีมันปล่อยของมันไปเอง
ตอบ จะปล่อยอย่างถาวรโดยไม่เห็นไตรลักษณ์ไม่ได้
ถาม พอเราเห็นคนที่เราเหม็นขี้หน้า เราก็เอาไตรลักษณ์มาตัด จนกว่าจะเห็นจริงตามนั้น
ตอบ จนไม่มีปัญหาต่อไป สักแต่ว่าเห็น ถ้ามีเรื่องอื่นที่เป็นปัญหาก็ต้องแก้ต่อไป ปัญหาอยู่ที่จิต จิตไปยุ่งกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้เอง เราก็ต้องพิจารณาเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ ว่าเป็นไตรลักษณ์ พอเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์จิตก็จะปล่อย ก็จะหมดปัญหาไป ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ก็จะยุ่งอยู่อย่างนั้น พอปล่อยข้างนอกแล้วก็จะไม่สนใจเรื่องภายนอก สักแต่ว่าเห็น ใครจะทำอะไร ใครจะพูดอะไร ก็ปล่อยเขาไปตามเรื่อง
ถาม พอเห็นข้างนอกปุ๊บเราก็กลับมาดูใจของเรา
ตอบ ต้องดูว่าใจเป็นอย่างไร สักแต่ว่ารู้ว่าเห็น หรือมีปฏิกิริยา
ถาม แต่ก่อนจะว่าทำไมเขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เราส่งออกไปข้างนอกไปตำหนิคนข้างนอก แต่จริงๆเราควรจะกลับมาดูใจ
ตอบ ต้องดูทั้ง ๒ ส่วน แต่ดูใจเป็นหลัก ดูว่าใจเฉยหรือเปล่า ถ้าเฉยก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไม่เฉยก็ต้องแก้ ปัญหาอยู่ที่ใจ แต่ส่งไปที่สิ่งนั้นคนนั้น ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งนั้นคนนั้นเป็นไตรลักษณ์ ที่ส่งออกไปเพราะหลง ไม่เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ พอเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ปั๊บ มันก็จะหดเข้ามา จะปล่อยสิ่งนั้นคนนั้นไป แต่ส่วนใหญ่เราไม่ดูที่ใจกัน เราดูที่คนนั้น แล้วก็ตอบโต้ทันที ไปแก้ที่ตัวเขา คุณทำไมพูดอย่างนี้ คุณทำไมทำอย่างนี้ แล้วก็มีเรื่องมีราวกัน เป็นเวรเป็นกรรมกัน เพราะไม่ดูที่ใจ ว่าใจเกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว ต้องแก้ที่ใจ ต้องดับไฟที่ใจ นักปฏิบัติจะดูใจเป็นหลัก แต่ดูข้างนอกด้วย เพราะยังต้องเกี่ยวข้องกับข้างนอก ดูแล้วก็ต้องว่าใจมีปฏิกิริยาอย่างไร ถ้าเฉยเป็นอุเบกขาก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไม่เฉยเริ่มมีอาการหงุดหงิดรำคาญใจ ไม่พอใจหรือชอบอกชอบใจ ก็ไม่ได้ ต้องสอนใจว่า ถ้าชอบอกชอบใจแล้ว พอเขาเปลี่ยนไปก็จะต้องเสียใจ ต้องสอนอย่างนี้ พอสอนแล้วก็จะเฉย พอเฉยแล้วก็ใช้ได้ นี่คือการดูใจดูจิต ไม่ใช่ดูเฉยๆ ดูเฉยๆไม่พอ ดูว่ามันเกิดมันดับ ถ้ามันไม่ดับล่ะ มันโกรธนานๆ จะทำอย่างไร ต้องหาวิธีดับความโกรธ ต้องใช้ไตรลักษณ์ ต้องใช้วิปัสสนา ต้องใช้สมถะเป็นเครื่องมือ ถ้าพิจารณาไม่ได้ ยังขาดสติปัญญา บางคนคิดไม่เป็น ก็ต้องอาศัยอุบายของสมถภาวนาไปก่อน ดึงใจออกจากเรื่องนั้น เข้าหาพุทโธ บริกรรมพุทโธๆไป หรือท่องคาถาอะไรก็ได้ เกิดแก่เจ็บตาย ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯ ท่องไป อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้น พอลืมปั๊บอารมณ์ก็จะหายไป จิตก็จะสงบตัวลง แต่พอเห็นปั๊บก็จะกลับขึ้นมาใหม่ เพราะสมาธิยับยั้งได้ชั่วคราว ไม่หายไปอย่างถาวร ถ้าพิจารณาทางปัญญาเป็น พิจารณาทางไตรลักษณ์เป็น พอใช้ไตรลักษณ์มันจะหายไปอย่างถาวรเลย สมาธิจึงตัดกิเลสไม่ได้ ต้องใช้ปัญญา สมาธิจึงไม่เป็นอริยมรรค
ตัวอริยมรรคที่แท้จริงก็คือปัญญา ปัญญาเป็นตัวที่จะทำให้จิตเข้าสู่อริยภูมิได้ อย่างพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตรัสรู้ก็มีสมาธิแล้ว พระปัญจวัคคีย์ก็มีสมาธิแล้ว พระอาจารย์ ๒ รูปที่พระพุทธเจ้าไปทรงศึกษาด้วยก็มีสมาธิขั้นรูปฌานอรูปฌาน แต่ไม่ได้เป็นอริยมรรคอริยผล เพราะยังตัดภพตัดชาติไม่ได้ เพราะกิเลสไม่ได้ตายไปแม้แต่ตัวเดียว เพียงแต่ถูกฉีดยาสลบ ให้หยุดทำงานชั่วคราวเท่านั้นเอง พอกำลังของสมาธิอ่อนลงปั๊บ กิเลสก็ฟุ้งขึ้นมา จะฉุดลากใจให้ไปเวียนว่ายตายเกิดใหม่ เช่นไปเกิดชั้นพรหมแล้วพออำนาจของสมาธิชั้นพรหมอ่อนลง ก็จะทำให้เกิดกามฉันทะขึ้นมา ก็จะฉุดลากให้ลงมาชั้นเทพ พออำนาจของกามฉันทะแรงขึ้น จากการยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสที่เป็นระดับทิพย์ ก็จะต้องการรูปเสียงกลิ่นรสระดับหยาบ ที่ต้องใช้ตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะเลื่อนลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อมาหากามสุขในส่วนหยาบต่อไป กิเลสก็จะมีอำนาจมากขึ้นมากขึ้น พอเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ควบคุมกามฉันทะ ก็จะไปทำผิดศีลธรรม ก็จะไปเป็นเดรัจฉานต่อไป อยากได้สามีภรรยาใคร อยากจะหลับนอนกับใคร ก็ไม่ต้องแต่งงานกันให้ถูกต้องตามประเพณี เหมือนกับสมัยนี้ เอาความพอใจเป็นที่ตั้ง ไม่ต่างจากสุนัขเดือน ๙ เคยเห็นสุนัขเดือน ๙ ไหม เขาเดินตามกันเป็นฝูงเลย มีตัวเมียอยู่ตัวหนึ่ง มีตัวผู้ ๔ - ๕ ตัวเดินตาม เห่ากัดกันไล่กัน เพราะปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ ไม่รู้ผิดถูกดีชั่ว ไม่รู้บาปบุญ พอศีลธรรมเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ก็จะพาให้ไปสู่อบายที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ
นี่คือเรื่องของสมาธิ ของการรักษาศีล ของการทำบุญให้ทาน เป็นโลกิยธรรม ไม่ใช่โลกุตรธรรม ถ้าจะเข้าสู่โลกุตรธรรม จะต้องเจริญไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจซึ่งเป็นไตรลักษณ์นี้ อริยสัจก็คือทุกขสัจ ที่เป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วก็ทรงแสดงอนิจจังด้วยเกิดแก่เจ็บตาย ในทุกขสัจก็มีอนิจจัง คือเกิดแก่เจ็บตาย พอทรงแสดงปั๊บ พระอัญญาโกณฑัญญะผู้มีสมาธิ มีจิตตั้งมั่นในความสงบอยู่แล้ว พอรับฟังคำสอนแล้วพิจารณาตามไป ก็รู้ว่าปัญหาอยู่ที่จิตไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ถึงเป็นทุกข์ขึ้นมา เกิดสมุทัยขึ้นมา เกิดภวตัณหา เกิดวิภวตัณหาขึ้นมา พอเข้าใจแล้วก็ยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา จิตก็เลยหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในระดับหนึ่ง ได้โสดาปัตติผลขึ้นมา ภพชาติเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีปัญญาของพระพุทธเจ้าคือไตรลักษณ์แล้ว ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวัฏจักรได้ ต่อให้ภาวนาได้ถึงขั้นมีฤทธิ์มีเดช ก็ได้เพียงโลกิยธรรมเท่านั้นเอง โลกิยมรรคโลกิยผล แต่ไม่เป็นโลกุตรมรรคโลกุตรผล อันนี้ต้องมีปัญญาคือไตรลักษณ์
จะมีปัญญาระดับไตรลักษณ์ได้ ต้องมีศีลมีสมาธิก่อน บางคนสอนว่าไม่ต้องทำสมาธิเจริญปัญญาไปเลย จะเอาอะไรมาเจริญ เอาจิตที่เต็มไปด้วยกิเลส ที่ว้าวุ่นขุ่นมัวกับเรื่องของกิเลส มาพิจารณาเรื่องไตรลักษณ์ได้อย่างไร พิจารณาไม่ได้ พิจารณาได้ปั๊บเดียวก็ไปแล้ว บางทีไม่อยากจะพิจารณาด้วยซ้ำไป กิเลสไม่ชอบความแก่ความเจ็บความตาย เวลาสอนใจเรื่องความแก่ความเจ็บความตายนี้แสนยากลำบากเหลือเกิน ทั้งๆที่เป็นความจริง ทั้งๆที่เห็นอยู่กับตาทุกวี่ทุกวัน เห็นคนแก่อยู่ทุกวัน เห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ทุกวัน ได้ยินเรื่องของคนตายอยู่ทุกวัน แต่ยังไม่สามารถเอาเข้ามาสู่ใจได้ เพราะกิเลสคอยสกัดไว้ ให้เป็นเพียงสัญญาเท่านั้นเอง ให้เป็นเพียงความจำ ความจำกับปัญญาต่างกันตรงที่ว่า ความจำนี้จำแล้วหายไป นานๆก็นึกขึ้นมาทีหนึ่ง ถ้าเป็นปัญญามันจะต่อเนื่อง จะรู้อยู่ตลอดเวลา รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า เธอต้องกำหนดพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเป็นปัญญา ถึงต้องบอกว่าฟังแล้วต้องเอาไปทำต่อ เอาไปขยายผล เอาไปทำการบ้าน แล้วก็เอาไปเข้าห้องสอบ
ถาม สัมมาสมาธิในมรรค ๘ เป็นสมาธิในอริยมรรคหรือเปล่า
ตอบ ถ้าเป็นสมาธิเพื่อสงบนิ่ง ไม่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็เป็นสมาธิที่จะสนับสนุนในการเจริญปัญญาต่อไป แต่ถ้าเป็นสมาธิที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ มีนิมิตนั้นนิมิตนี้ ไปรู้เรื่องนั้นรู้เรื่องนี้ ไปเที่ยวที่นั่นไปเที่ยวที่นี่ สมาธิแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา เพราะออกมาแล้วจิตจะไม่สงบไม่เย็นไม่นิ่ง เหมือนกับไม่ได้ทำสมาธิ ถ้าหลับนอนก็หลับไม่สนิท หลับแล้วฝันไป ถ้าฝันเรื่องไม่ดีตื่นขึ้นมาก็เหนื่อย ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะไปทำงานต่อ แต่ถ้าหลับสนิทไม่ฝัน พอตื่นขึ้นมาจะมีชีวิตชีวาสดชื่น มีกำลังจิตกำลังใจที่จะไปทำอะไรต่อไปได้ สมาธิก็เช่นเดียวกัน ถ้าสงบนิ่งสักแต่ว่ารู้เป็นอุเบกขา เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตรวมลงแล้วปล่อยวางทุกอย่าง ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปล่อยวางร่างกาย ถึงแม้จะยังได้ยินหรือยังรับรู้อยู่ แต่ไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย พักอยู่ในความสงบนั้นไป เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเวลาจะพิจารณาปัญญาจิตจะได้ไม่วอกแวก จะพิจารณาเรื่องอะไรก็จะอยู่เรื่องนั้น ถ้าไม่มีสมาธิก็เหมือนกับเด็กที่ไม่มีสมาธิ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง เพราะใจจะคิดถึงเรื่องเล่น เรื่องเที่ยว เรื่องอะไรต่างๆ อ่านหนังสือก็ไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับจิตที่ไม่มีสมาธิ พอพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะแวบไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะพิจารณาไม่ต่อเนื่อง ไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เวลาเข้าสมาธิแล้วควรให้สงบนิ่ง
ถ้าจิตเป็นชนิดโลดโผนเหมือนของคุณแม่ชีแก้ว เวลาจิตสงบแล้วไม่อยู่กับที่ จะถอนออกมาแล้วไปรับรู้เรื่องต่างๆ ตอนที่ท่านปฏิบัติใหม่ๆท่านก็คิดว่าเป็นสมาธิ เป็นวิธีที่ปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่หลังจากหลวงตาสอนว่าไม่ใช่ ต้องหยุด ไม่ให้ออกไปรับรู้ แต่มันก็ยาก เพราะเป็นนิสัย พอนิ่งแล้วก็ออกไปทันที พอออกจากสมาธิแล้วก็ไม่มีกำลังที่จะไปเจริญปัญญาต่อ เจริญก็เจริญไม่ได้เพราะมันไม่นิ่ง ท่านถึงสอนว่าอย่าออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ถึงกับต้องขู่ว่า ต้องเลิกกันเลยถ้าไม่เชื่อฟัง ไม่สอนอีกต่อไป คุณแม่ชีแก้วจึงยับยั้งจิตไม่ให้ออกไปรับรู้ ให้นิ่งสงบเป็นอุเบกขา พอออกมาท่านก็สอนให้พิจารณาร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอสุภะ พิจารณาปฏิกูล พิจารณาดินน้ำลมไฟ จนในที่สุดก็ปล่อยวางร่างกายได้ ถ้าไม่พิจารณา ต่อให้มีสมาธิระดับไหนก็ตาม ขั้นนิโรธสมาบัติก็ทำอะไรกิเลสไม่ได้ รูปฌานอรูปฌานก็ทำลายกิเลสไม่ได้ ระงับกิเลสไว้ได้ชั่วคราว พอออกมามันก็ทำงานต่อ พอออกจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาต่อเลย ถ้าเป็นนักปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่พอออกจากสมาธิแล้วก็เอาจิตไปทำงานอื่น ไปทำขนม ไปทำกับข้าว ไปทำเรื่องไร้สาระทั้งหลาย ถ้าเป็นพระก็เอาไปทำเรื่องบาตรบ้าง เรื่องจีวรบ้าง เรื่องกลดบ้าง ถ้าเอาไปทำอย่างนี้แล้ว จะเสียเวลาไปเปล่าๆ พอเสร็จจากงานก็กลับเข้ามาทำสมาธิใหม่ ก็จะอยู่แต่ขั้นสมาธิเท่านั้น จะไม่ก้าวเข้าสู่ขั้นปัญญา
เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆจิตจะนิ่งจะสงบ ควรใช้เวลานั้นมาเจริญปัญญา พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายอยู่เรื่อยๆ จนไม่นิ่งไม่สงบแล้วค่อยหยุด กลับเข้าไปทำสมาธิใหม่ให้นิ่งใหม่ พอนิ่งแล้วออกมาก็พิจารณาต่อ การปฏิบัติพอถึงขั้นปัญญาแล้ว สมาธิกับปัญญาจะสลับกันทำงาน แต่ในเบื้องต้นต้องสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง วิธีของสมถะก็ได้ บริกรรมพุทโธหรือดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้าไม่ถูกจริตก็ต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาพิจารณาข่มใจให้สงบลง พอออกจากสมาธิก็เอามาพิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณารูปขันธ์ก่อน พิจารณาร่างกายก่อน สลับกับการกลับพักในสมาธิ จนร่างกายหมดปัญหาไป อุปาทานในร่างกายหมดไป จากนั้นก็พิจารณานามขันธ์ต่อไป เข้าไปสู่กิเลสและธรรมที่ละเอียด จากนามขันธ์ก็เข้าไปสู่ตัวจิต ที่เป็นศูนย์บัญชาการของกิเลส อวิชชาอยู่ในนั้น จิตตอวิชชาอยู่ในนั้น ตัวอวิชชาไม่ค่อยออกมาเพ่นพ่านภายนอก ทางรูปเสียงกลิ่นรสฯลฯ มันส่งบริวารส่งลูกน้องออกมา ตัวมันบงการอยู่ข้างใน การปฏิบัติจึงปราศจากสมาธิไม่ได้ แม้แต่ขั้นเริ่มต้นก็ต้องมีสมาธิให้ได้ก่อน พอได้สมาธิแล้วเวลาเจริญปัญญา ก็ต้องพักในสมาธิสลับกับการเจริญปัญญา เพราะสมาธิเป็นที่พักเป็นที่ให้อาหารใจ ทำสลับกันไปจนถึงขั้นสุดท้าย ถ้ามีใครสอนว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องนั่งหลับตานี้ ก็อย่าไปฟังให้เสียเวลา พระพุทธเจ้าทรงสอนไตรสิกขาทำไม ทรงสอนศีลสมาธิปัญญาทำไม ทรงสอนสัมมาสมาธิทำไม ตัดมันออกไปก็ได้ มรรค ๘ ก็เอาแค่มรรค ๗ ก็พอ ไตรสิกขาก็เอาแค่ศีลกับปัญญาก็พอ ยกเว้นคนที่มีสมาธิแล้วก็ไม่ต้องทำสมาธิ อันนี้ยอมรับอยู่ถ้ามีสมาธิแล้ว เช่นพระปัญจวัคคีย์ ท่านมีสมาธิอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ ทรงสอนเรื่องปัญญาเลย ครั้งแรกทรงสอนเรื่องอริยสัจ ทรงสอนเรื่องมรรค ๘ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ต่อมาก็ทรงสอนอนัตตลักขณสูตร ทรงสอนเรื่องขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา เป็นปัญญาล้วนๆ เพราะมีสมาธิกันอยู่แล้ว
สำหรับพวกที่ยังไม่มีสมาธิก็ต้องสอนให้ทำสมาธิไปก่อน สวดมนต์ก็ดี บริกรรมพุทโธก็ดี ก่อนหน้านั้นก็ต้องเจริญสติไปก่อน ถ้านั่งสมาธิแล้วจิตไม่สงบ ก็ต้องเจริญสติไปก่อน ให้มีสติอยู่ในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหวของร่างกาย ให้อยู่ในปัจจุบัน อย่าส่งจิตไปที่นั่นที่นี่ พอมีสติดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบันได้แล้ว พอให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ พออยู่กับพุทโธอย่างต่อเนื่อง ก็จะรวมลงสู่ความสงบ เรื่องของการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ คนสอนอาจจะไม่ได้สอนเป็นขั้นเป็นตอน สอนขั้นนั้นบ้างขั้นนี้บ้าง คนฟังก็เลยสับสน แปลความหมายผิดไป มรรค ๘ ก็มีศีลมีสมาธิมีปัญญา สัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโปเป็นปัญญา สัมมากัมมันโตสัมมาวาจาสัมมาอาชีโวเป็นศีล สัมมาสมาธิเป็นสมาธิ สัมมาสติและสัมมาวายาโมความเพียรชอบเป็นของทุกส่วน ต้องมีสติมีความเพียรในการรักษาศีลในการทำสมาธิในการเจริญปัญญา นี้คือองค์ประกอบที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ สู่การบรรลุธรรม มรรค ๘ ต้องมีครบองค์ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาของปริพาชก ที่เข้าเฝ้าเป็นคนสุดท้าย ก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่กราบทูลถามว่า มีลัทธิมีคำสอนอยู่มากมาย จะแยกแยะได้อย่างไร ว่าคำสอนไหนเป็นคำสอนที่ถูกต้อง พระองค์ทรงตอบว่าคำสอนใดที่มีมรรคเป็นองค์ ๘ คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง ถ้ามีแค่ ๗ องค์ไม่มีสัมมาสมาธิก็ยังไม่ถูกต้อง คนที่ไม่ชอบนั่งสมาธิ ควรเปลี่ยนใจได้แล้ว ชอบถามปัญหานี้กันเหลือเกิน เวลานั่งต้องหลับตาหรือเปล่า ลืมตาไปทำไม เวลานั่งสมาธิจะไปดูอะไร ต้องปิดทวารทั้ง ๕ ต้องสำรวมอินทรีย์ จะไปเปิดตาดูอะไรอีก ต้องขังกิเลสไว้ข้างใน เพื่อจะได้ฆ่ามันได้ ไม่ใช่เปิดตาให้มันออกไปข้างนอก
ถาม ลาออกจากงานแล้ว กำลังเริ่มต้นภาวนา ทีนี้ก็สู้อยู่กับการอยู่คนเดียว บางทีฟุ้งซ่านก็พยายามกลับไปทำสมาธิ
ตอบ ต้องรีบภาวนาทันทีเวลาฟุ้งซ่าน สวดมนต์ไปนั่งสมาธิไป ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อนก็ได้ ให้มันสงบ อะไรก็ได้ที่จะช่วยระงับความฟุ้งซ่าน
ถาม การทำสมาธินี้ต้องทำ ๓ เวลาหรือไม่คะ
ตอบ มากกว่านั้นได้ยิ่งดี สลับกับการเดินจงกรม ทั้งวันเลยก็ได้ พอไม่นั่งก็เดิน พอไม่เดินก็นั่ง
ถาม เวลาเบื่อก็แก้โดยการฟังเทศน์ฟังธรรม
ตอบ ฟังเทศน์อ่านหนังสือธรรมะบ้างก็ได้
ถาม ขอพร
ตอบ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ
ฟังธรรมมา ๔ ปีแล้วคงจะเข้าใจกันแล้ว ว่าต้องปฏิบัติเท่านั้น ที่เป็นอุปสรรค ความสงสัยในเรื่องต่างๆไม่สงสัยแล้ว รู้หมดแล้วว่าต้องกลับมาที่ตัวเรา เมื่อก่อนก็คิดว่าไปหาครูบาอาจารย์ที่วิเศษแล้ว ท่านจะเสกจะเป่าให้เรา ท่านก็ชี้กลับมาที่ใจเรา ชี้กลับมาที่ตัวเรา ชี้กลับมาที่การปฏิบัติของเรา ชี้มาที่การตัดการลดการละของเรา จึงอย่าไปเสียดายกับสิ่งต่างๆเลย เพราะสิ่งที่เราเสียไปก็เท่ากับเสียความทุกข์ไปเท่านั้นเอง สิ่งที่เรามีอยู่นี้ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เป็นกองทุกข์ที่เราแบกหามกันอยู่ทุกวัน อย่าไปคิดอยากได้อะไรมา เพราะเป็นการได้กองทุกข์มาเพิ่ม ให้คิดถึง ๓ คำนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีทุกข์อยู่ด้วย ให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันทุกข์ทั้งนั้น เพียงแต่เรามองไม่เห็น เราเห็นแต่สุข ที่เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล ความทุกข์ที่เรามีกันนี้ มันถูกความสุขเคลือบไว้อยู่ ความสุขเล็กๆน้อยๆ จากการได้ทำอะไรตามความอยาก ก็เกิดความสุขขึ้นมา แล้วก็เกิดความทุกข์ตามมา ที่จะต้องหาความสุขใหม่ ที่เกิดจากเวลาหาไม่ได้ ที่จะต้องคอยรักษาความสุขนี้ไว้ เป็นความทุกข์ทั้งนั้น แต่เรามองไม่เห็นกัน เราเห็นแต่ความสุข พอได้อะไรมาก็ดีอกดีใจ แต่ไม่คิดถึงเวลาที่ผิดหวัง เวลาที่อยากแล้วไม่ได้ดังใจ จะเกิดอะไรขึ้นมา เวลาเสียสิ่งที่ได้มา จะรู้สึกอย่างไร ไม่คิดกัน ถ้าคิดว่ามันเป็นความทุกข์ ก็จะไม่อยากจะได้ ก็จะสบายใจ จะไม่เสียดายสิ่งที่เสียไป เพราะรู้ว่าเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข
จะรู้ได้จริงๆก็ต้องเกิดจากการภาวนา ทำจิตให้สงบให้ได้ก่อน ถ้าจิตไม่สงบจะไม่มีความสุขที่ดีกว่า มาทดแทนความสุขที่เป็นยาขมเคลือบน้ำตาล จะทุกข์ขนาดไหนก็ยอมทุกข์ เพื่อความสุขเล็กๆน้อยๆนี้ เหมือนคนที่ยอมทุกข์กับยาเสพติด ทุกข์กับสุรายาเมา แต่ถ้าได้พบกับความสุขที่เกิดจากการภาวนาแล้ว ความสุขอื่นๆจะเป็นเหมือนกองขยะไป ไม่มีคุณค่าเลย จะโยนทิ้งไปได้อย่างง่ายดาย ถ้ายังติดสุราก็เลิกได้ ยังติดการเที่ยวก็เลิกได้ ติดอะไรก็เลิกได้หมด แล้วจะทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างความสุขแบบนี้ ตอนนั้นแหละถึงจะเป็นการภาวนาจริงๆ ภาวนามยปัญญาจริงๆ ตอนนี้เราก็รู้อนิจจังทุกขังอนัตตา แต่มันตัดกิเลสไม่ได้เพราะขาดสมาธิ ขาดความสุขทดแทน ก่อนที่เราจะเสียความสุขเหล่านี้ไป ต้องมีอะไรมาทดแทนก่อน เหมือนกับมีแฟน เรายังรักแฟนเราอยู่ พอได้แฟนใหม่แล้ว แฟนเก่าจะไปก็ไม่เสียใจ เพราะมีแฟนใหม่ทดแทนแล้ว เขาจะไปก็ไปได้เลย แต่ถ้าไม่มีแฟนทดแทนนี้ ไปไม่ได้ หัวเด็ดตีนขาดใครอย่ามาแย่งไปเป็นอันขาด นี่ก็แบบเดียวกัน เรายังติดความสุขทางโลกอยู่ เพราะยังไม่มีความสุขทดแทน ยังไม่ได้ความสุขทางสมาธิ ถ้าได้แล้วจะออกบวชได้เลย ไปอยู่วิเวกได้ ไปที่ไหนก็ไปได้ จึงควรพยายามสร้างความสุขแบบนี้ให้เกิดขึ้นเถิด พอได้ความสุขแบบนี้แล้ว จะสบาย จะไม่ต้องการอย่างอื่น
เรานี้โชคดีจริงๆเกิดมาไม่คิดว่าจะทำได้ อยู่ๆก็มาเอง นั่ง ๑๐ นาที ๑๕ นาทีมันก็สงบ แล้วก็ไม่มีอาจารย์ไม่มีครู อ่านจากหนังสือ แล้วก็ลองทำดู แต่ก่อนจะได้ทำก็หลายเดือนอยู่นะ อ่านหนังสืออยู่หลายเดือน อยู่มาวันหนึ่งก็เอะใจขึ้นมาว่า นี่ยังไม่เคยทำสักที อ่านเรื่องทำสมาธิมาตั้งหลายเดือนแล้ว ยังไม่เคยนั่งสักที เอามันเดี๋ยวนี้เลย ก็เลยเอามันเดี๋ยวนั้นเลย พอนั่งไปสัก ๒ - ๓ ครั้งมันก็สงบ ไม่นานเดี๋ยวเดียว พอนั่งแล้วมันเจ็บมันปวดขึ้นมา ก็บริกรรมไปเรื่อยๆ ปั๊บเดียวความเจ็บความฟุ้งซ่านก็หายไป พลิกหน้ามือเป็นหลังมือไป แล้วมันก็นิ่ง แต่ยังรับรู้อะไรได้ทุกอย่าง รู้ว่าใจข้างในไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย ความเจ็บก็หายไป ก็เลยเกิดความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจขึ้นมา ว่าใจของเราเป็นอย่างนี้ได้นะ มันพลิกจากอย่างนี้ไปเป็นอย่างนั้นได้ ด้วยการทำอย่างนี้ พอนั่งครั้งต่อไปก็ไม่เป็นอย่างนี้อีก แต่จะค่อยๆสงบลงไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่เป็นแบบวูบลงไป ขาดผึงลงไป แต่นั่งได้นานขึ้น ตอนนั้นนั่งได้ ๑๐ นาที ๑๕ นาทีก็เจ็บแล้ว แต่เราไม่ยอมลุก เราก็บริกรรมต่อ พอบริกรรมไปเดี๋ยวเดียว มันก็ขาดไปเลย หายไปเลยความเจ็บ
ถาม ฟังดูง้ายง่าย แต่ทำย๊ากยาก
ตอบ อยู่ที่สติตัวเดียว สติอยู่กับงานที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ไปคิดเรื่องอื่น
ถาม เกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะบวช
ตอบ ได้หนังสือธรรมะมาอ่านก่อน ประมาณสัก ๒ - ๓ เดือน จึงลองนั่งดู พอนั่งแล้วได้ผลก็ติดใจ ก็ลาออกจากงานเลย พอดีมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ก็เลยคิดว่าจะลองปฏิบัติอยู่สักปีหนึ่งไม่ทำอะไร นั่งสมาธิ เดินจงกรม อ่านหนังสือธรรมะเท่านั้น ไม่ออกไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง แต่มีบ้างนานๆสู้กิเลสไม่ได้ก็แวบออกไปบ้าง แต่พอไปก็รู้ว่าไม่ได้ท่า เสียท่า ก็ทำอยู่ได้ปีหนึ่ง ก็รู้ว่าบวชได้ ก็เลยหาวัดบวช มันไปของมันเอง ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ เหมือนกับไฟเก่าได้เชื้ออย่างนั้นนะ มันรุกไปของมันเอง มันหาทางของมันไปเอง พอได้หนังสือธรรมะมาเล่มแรกเท่านั้นก็ไปเลย ไปทางนี้เลย ตั้งแต่เด็กก็เห็นคนตาย ตอนอายุสัก ๑๒ ขวบได้ มันฝังตาฝังใจอยู่ตลอดเวลา มันพิจารณาอยู่ตลอดเวลา ว่าเราก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คนที่เรารักเราเคารพ เช่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน มันคิดของมันเอง คิดอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เศร้าสร้อยหงอยเหงาจากความคิดนี้ คิดด้วยเหตุด้วยผล แต่มันไม่หยุดยั้งชีวิตของเรานะ ยังต้องเรียนหนังสือก็เรียนไป ยังเที่ยวยังเล่นกับเพื่อนอยู่ แต่มันมีกรอบของมัน จะไม่ไปทำผิดศีล ไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ใครจะชวนไปยิงนกตกปลาจะไม่เอา ไปลักขโมยก็ไม่เอา มันไม่สบายใจ เวลาโกหกหลอกลวงจะไม่สบายใจ มันรู้อยู่ในใจของมันอย่างนั้น
ถาม ต่างจากพี่จากน้องไหมคะ
ตอบ ต่างกัน มีน้องสาวคนเดียว เขาไม่ค่อยรู้เรื่องธรรมะ เขาไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ มาจากบุญจากกรรมที่ได้สะสมมาแต่ละคน ไม่ได้เป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริงหรอก เพียงแต่อาศัยครรภ์เดียวกันมาเกิด ออกมาจากท้องแม่คนเดียวกัน แต่ที่มานี้มาจากคนละที่
ถาม ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรามีกรรมเป็นของตนเอง
ตอบ ใช่ ตอนที่ใจกับกายมาเจอกัน ใจไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ มันมาจากภพก่อน มันตายจากภพก่อน พอถึงเวลาที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็หาครรภ์ พอได้ครรภ์ก็เข้าไปอยู่ในครรภ์นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพ่อกับแม่เจ้าของครรภ์ หรือกับพี่กับน้องที่เกิดก่อนหรือเกิดหลัง ยกเว้นถ้ามีอะไรกันในอดีตชาติ นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง อาจจะมาเกิดเป็นพี่เป็นน้องกันก็ได้ อย่างนี้ก็มีอยู่ อาจจะเคยเป็นญาติกันมาก่อนก็ได้ ไม่ใช่ว่าพอเป็นพี่เป็นน้องกันแล้ว จะต้องเป็นเหมือนกัน พ่อแม่เป็นอย่างนี้แล้วลูกจะต้องเป็นอย่างนี้ด้วย ก็ไม่ใช่ แต่ก็เป็นได้ในบางกรณี พอดีพ่อแม่ก็เป็นแบบนี้ จิตของลูกก็เป็นแบบนี้ด้วย แต่ไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ มาจากบุญกรรมที่ทำไว้ในอดีต และที่กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน ที่จะติดไปกับเรา ถ้าใฝ่ธรรมไปเกิดชาติหน้าก็จะใฝ่ธรรมต่อ
ถาม มีคำแนะนำให้คนที่ฟังท่านอาจารย์ ๔ ปีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน
ตอบ แยกเป็นบัว ๔ เหล่า ในห้องเรียนก็เหมือนกัน มีเด็กเรียนเก่งกับเด็กเรียนไม่เก่งผสมกันไป เด็กที่ไม่เก่งชอบอยู่ท้ายห้อง เด็กเรียนเก่งมักชอบอยู่หน้าห้อง เพราะไม่กลัวอาจารย์ถาม จะตอบได้เสมอ จะเกเรไม่ได้ ถ้านั่งอยู่ข้างท้ายห้องนี้เล่นกันได้ แต่เด็กที่อยู่หน้าห้องนี้จะต้องมีสมาธิฟังครูอย่างเดียว จึงเรียนเก่งกัน เด็กที่เรียนเก่งจะชอบนั่งอยู่ข้างหน้าห้อง เพราะชอบฟังคำสอนของครูของอาจารย์ เขาตั้งใจเรียน แต่เด็กที่ไม่ชอบฟัง จะหลบไปนั่งอยู่ข้างหลังห้องกัน จะได้เล่นกันได้ มีพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าว่า ตถาคตเป็นผู้สอนให้ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติ ได้ไปถึงมรรคผลนิพพาน แต่ทำไมสาวกของท่าน บางคนก็ไปถึง บางคนก็ไปไม่ถึง พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบไปว่า เราเป็นคนสอน เราไม่ได้เป็นคนปฏิบัติ เขาต้องปฏิบัติด้วยตัวเขาเอง จะไปถึงไม่ถึงอยู่ที่การปฏิบัติของเขา ไม่ได้อยู่ที่คนสอน คนสอนก็ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่แล้ว อยู่ที่คนฟังจะนำเอาไปขยายผลต่อได้หรือไม่ อยู่ที่ความสามารถของเขา ที่เรียกว่าบุญบารมี ถ้าได้สะสมปัญญาบารมีมามาก พอฟังปั๊บก็จะเข้าใจทันที อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านมีปัญญาบารมีมากกว่ารูปอื่น รู้เร็วกว่า พอฟังแล้วบรรลุก่อนเลย อีก ๔ รูปยังไม่เข้าใจ เรื่องของลูกศิษย์ลูกหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของอาจารย์ อาจารย์อาจจะวิตกกังวลบ้าง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลามากหน่อย เพราะเป็นเด็กปัญญาอ่อน คนบางคนพอบอกคำเดียวก็เข้าใจ บางคนต้องขยายความ บางคนต้องวาดภาพให้เห็น คนเรามีปัญญาระดับต่างกัน จึงควรพยายามสร้างปัญญาไว้เรื่อยๆ ปัญญาเกิดได้ด้วยการได้ยินได้ฟัง เกิดได้ด้วยการนำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปใคร่ควรพิจารณา จนสามารถพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก แต่ต้องทำจิตให้สงบก่อนถึงจะทำได้ ขอให้นำเอาไปปฏิบัติกัน