กัณฑ์ที่ ๔๐๓ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒
ทุกข์เกิดจากความอยาก
ในสมัยพระพุทธกาลมีผู้เรียนธรรม ได้บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก บางคนเรียนเพียงวันเดียว ฟังครั้งเดียวก็บรรลุธรรมได้ ส่วนใหญ่พวกนักเรียนรุ่นแรกๆของพระพุทธศาสนา จะเรียนอยู่ในระดับปี ๓ ปี ๔ กัน ติดอยู่ที่ปี ๓ ปี ๔ มาหลายกัปหลายกัลป์ หลายภพหลายชาติแล้ว ได้ทานแล้ว ได้ศีลแล้ว ได้สมาธิแล้ว แต่ยังไม่ได้ปัญญา ไม่ได้อริยสัจ ๔ ที่เป็นความรู้จำเพาะของพระโพธิสัตว์ ที่จะศึกษาจนทะลุปรุโปร่งได้ด้วยตนเอง จนหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายได้ จบวิชาทางด้านจิตใจได้ สมัยแรกๆที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา ทรงมุ่งไปสอนพวกที่มีทานมีศีลมีสมาธิแล้ว เช่นนักบวชในลัทธิต่างๆ กลุ่มแรกก็คือพระปัญจวัคคีย์ ทานท่านได้สละหมดแล้ว สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง บุตรธิดาภรรยา แล้วก็มาบำเพ็ญรักษาศีล เจริญสมาธิจนได้ฌานขั้นต่างๆ ขั้นรูปฌานและอรูปฌาน แต่ไม่มีความรู้ทางปัญญาทางวิปัสสนา ไม่รู้ว่าความหลงที่เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดความทุกข์เป็นอย่างไร จะแก้ความหลงนี้ได้อย่างไร รู้อยู่ว่าใจยังมีความทุกข์อยู่ เวลาจิตอยู่ในสมาธิ ไม่มีความทุกข์เลย แต่พอออกจากสมาธิ ใจก็เริ่มกระสับกระส่ายกระวนกระวาย มีอารมณ์ไปกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส จึงรู้ว่ายังไม่หลุดพ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร กับอาการกระสับกระส่ายกระวนกระวาย อาการทุกข์ของใจ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ในเบื้องต้นก็ไม่ทรงทราบเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไร หลังจากออกจากสมาธิแล้ว พระทัยของพระองค์ก็ยังมีความทุกข์ มีความกระวนกระวาย มีความหวาดกลัวกับความเป็นไปของร่างกาย ร่างกายของคนอื่นก็พอจะตัดได้ ได้ตัดมาแล้ว ทรงตัดญาติพี่น้องภรรยาลูกแล้ว แต่ยังติดพระวรกายของพระองค์ ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ยังไม่รู้จักวิธีทำให้ใจปล่อยวางร่างกายได้
ในเบื้องต้นทรงคิดว่า ทุกข์อยู่ที่ความอยากรับประทานอาหาร ทรงคิดว่าถ้าอดอาหารแล้วจะปล่อยวางร่างกายได้ หลังจากได้ทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วันแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถปล่อยวางร่างกายได้ ยังมีความกังวล มีความกลัว กับความแก่ความเจ็บความตายอยู่ ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า การอดพระกระยาหารอย่างเดียว ไม่สามารถดับความทุกข์ ที่อยู่ภายในใจได้ ไม่สามารถปล่อยวางร่างกายได้ ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะปล่อยวางร่างกายได้ ก็ทรงใช้การบำเพ็ญจิตตภาวนา เข้าไปดูภายในใจว่า ใจกระวนกระวายกระสับกระส่าย ทุกข์กับร่างกายได้อย่างไร ทรงพิจารณาเห็นว่าเกิดจากความอยากต่างๆ เช่นอยากไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้ตาย สาเหตุที่ทำให้เกิดความอยากต่างๆนี้ ก็เกิดจากการไม่รู้ความจริงของร่างกาย ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ พอทรงพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็ทรงเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวเราของเรา มาจากดินน้ำลมไฟ พอทรงเห็นอย่างนี้ก็ดับความหลง ที่คิดว่าร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเราได้ ถ้าคิดว่าเป็นตัวเราของเรา ก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ แต่มันฝืนความจริง เป็นเหตุสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ก็เลยเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก อยากไม่ให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้ร่างกายตาย แต่ร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าคิดว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะไม่สนใจว่า จะแก่จะเจ็บจะตายหรือไม่อย่างไร ก็จะไม่เป็นปัญหา พอเห็นร่างกายว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็ปล่อยวางได้ ทุกข์ก็ดับไป นิโรธแปลว่าความดับของความทุกข์ พอพิจารณาเห็นว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็รู้ว่าต้องปล่อยวาง ถ้าปล่อยวางแล้วจะไม่ทุกข์ ที่ทุกข์ก็เพราะไม่ปล่อย เพราะหลง เพราะอยาก พอหลงก็จะคิดว่าเป็นตัวเราของเรา ก็จะเกิดความอยาก เป็นสมุทัย ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า ไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา การพิจารณานี้ก็คือมรรค คือปัญญา
ปัญญาเป็นสุดยอดของมรรค เป็นเหมือนหัวหอก หอกนี้มีส่วนประกอบหลายส่วนด้วยกัน มีทั้งหัวหอก มีทั้งด้าม มีทั้งคนใช้หอก ส่วนประกอบสำคัญที่สุดก็คือ หัวหอกที่ต้องแหลม เมื่อพุ่งหอกไปแล้วจะทะลุทำลายเป้าได้ เวลาเจริญมรรคไปเรื่อยๆแล้ว จะไปถึงยอดถึงหัวหอกนี้เอง ตอนต้นก็เจริญส่วนอื่นก่อน เช่นเจริญการกระทำทางกายทางวาจาที่ถูกต้อง การมีอาชีพที่ถูกต้อง มีความเพียรที่ถูกต้อง มีสมาธิมีสติที่ถูกต้อง ส่วนประกอบที่สนับสนุนหัวหอก ที่สำคัญที่สุดก็คือสติ พอมีศีลมีสมาธิมีสติแล้ว ปัญญาก็จะตามมาต่อไป พอได้ใช้ปัญญาพิจารณาความจริงของสิ่งที่ใจไปทุกข์ด้วยแล้ว ก็จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราของเรา พอเห็นอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะตัดความอยากได้ เพราะเมื่อไม่เป็นของเราแล้ว เราก็ไม่ให้ความสนใจอีกต่อไป ถ้ายังเป็นของเราอยู่ เช่นเป็นสามีของเรา ก็จะอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอหย่ากันแล้ว ไปเป็นสามีของคนอื่นแล้ว เราก็จะไม่สนใจเขา ไม่ได้อยากอะไรกับเขาแล้ว เขาจะดีจะชั่วจะทำอะไรอย่างไร เราก็ไม่ทุกข์กับเขาแล้ว เพราะไม่มีความอยาก เพราะรู้ว่าไม่เป็นสามีของเราแล้ว พออะไรเป็นของเราขึ้นมา ก็จะเกิดความอยากทันที อยากให้ดี อยากให้อยู่กับเราไปนานๆ พอไม่เป็นของเราแล้วก็จะไม่สนใจ เวลาซื้อรถมาใหม่ๆ ก็จะห่วงจะหวง อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีไปเรื่อยๆ พอไม่เป็นดังใจอยากก็จะทุกข์วุ่นวายใจ ถ้ากระจกรถถูกค้อนทุบใจก็ปวดร้าวขึ้นมา พอขายรถไปแล้วใครจะทำอะไร ใจก็จะไม่หวาดผวา ถ้ายังเป็นของเราอยู่ เวลาจอดรถทิ้งไว้ก็จะเป็นห่วงรถ ตอนกลางคืนตื่นขึ้นมาต้องลงมาดูว่ายังอยู่หรือเปล่า เพราะเป็นของเรา พอเป็นของเราปั๊บ ก็จะเกิดความผูกพัน เกิดความอยากทันที
ความจริงแล้วไม่มีอะไรเป็นของเรา สัพเพ ธัมมา อนัตตา เวลาเรามาเกิด เราก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาด้วยเลย แล้วจะมีอะไรเป็นของเรา ก็มีใจเท่านั้นแหละที่เป็นของเรา มีกรรมที่ติดมากับใจที่เป็นของเรา บุญกรรมนี้แลที่เป็นของเราแท้ๆ กรรมทางภาษาพระเป็นคำกลางๆไม่ได้เป็นบุญหรือเป็นบาป กรรมมี ๓ ชนิดด้วยกันคือ กรรมที่เป็นบุญ กรรมที่เป็นบาป กรรมที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป แต่ภาษาไทยเรามักจะใช้คำว่ากรรมแทนคำว่าบาป เวลาพูดถึงกรรมก็จะคิดว่าบาปกัน แต่คนพูดไม่ได้หมายถึงบาป แต่หมายถึงการกระทำ ที่มีทั้งบุญ มีทั้งบาป มีทั้งไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ฉะนั้นเวลาฟังต้องฟังให้เข้าใจ ตามรสนิยมที่ใช้กันมา มักจะใช้กรรมแทนบาปกัน แต่บางเวลาก็ใช้กรรมเป็นการกระทำ กรรมนี้แลเป็นของเราที่แท้จริง เรามีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น กรรมเป็นสิ่งที่เราเอาติดตัวมา พระพุทธเจ้าก็ทรงมีกรรมดีติดตัวมา เรียกว่าบารมี ๑๐ คือทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี อธิษฐานบารมี สัจจบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี เมตตาบารมี ปัญญาบารมี อุเบกขาบารมี นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญได้ทรงสะสมมาทุกภพทุกชาติ บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้จะเป็นผู้สนับสนุน ผู้ผลักดันให้ไปสู่การตรัสรู้โดยถ่ายเดียว ไม่ไปทางอื่น ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ได้มีการพยากรณ์ว่าจะเป็นได้ ๒ อย่างด้วยกันคือ ถ้าอยู่ทางโลกก็จะเป็นพระมหาจักรพรรดิ ถ้าออกบวชก็จะได้เป็นศาสดาของโลก มีโหรอยู่รูปเดียวที่ทำนายว่าจะต้องเป็นพระศาสดาเพียงอย่างเดียว รู้สึกว่าจะเป็นอัญญาโกณฑัญญะ ที่ต่อมาได้เป็นพระอริยสงฆ์สาวกรูปแรกของพระพุทธศาสนา นี่คือสมบัติของเราที่แท้จริง อย่างอื่นไม่ใช่สมบัติของเรา เพราะฉะนั้นอย่าไปตู่ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเราเป็นตัวเรา อย่าไปตู่เอาร่างกายว่าเป็นตัวเราของเรา อย่าไปตู่ว่าสามีภรรยาเป็นของเรา ลูกหลานเป็นของเรา เขาไม่ได้เป็นของเราหรอก เขาเพียงแต่เกี่ยวข้องกับเราทางด้านสายพันธุ์ ทางด้านเหตุการณ์เท่านั้นเอง เมื่ออยู่ด้วยกันอย่างสามีภรรยา ก็ถือวิสาสะเป็นของกันและกัน สามีก็ว่าเป็นภรรยาของฉัน ภรรยาก็ว่าเป็นสามีของฉัน แต่ความจริงเป็นเพียงสมมุติเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง เพราะเวลาหย่าเลิกกันไป ก็ไม่ได้เป็นสามีภรรยากันแล้ว ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องอย่างนี้ ต้องเห็นว่าทุกอย่างเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา สรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคลล้วนเป็นอนัตตาทั้งนั้น ไม่เป็นตัวเราของเรา
นี่แลเป็นความรู้พิเศษของพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่ทรงมีพระปัญญาบารมีที่แหลมคม ที่สามารถมองทะลุเห็นความจริงนี้ได้ ด้วยการพิจารณาดูทุกสิ่งทุกอย่าง ว่ามาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่เราเห็นด้วยตานี้ มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ผสมกันแล้วก็แปรรูปออกมาเป็นรูปลักษณะต่างๆ ร่างกายของเราก็มาจากดินน้ำลมไฟ ต้นไม้ต้นหญ้าก็มาจากดินน้ำลมไฟ ภูเขาทะเลก็มาจากดินน้ำลมไฟ ภูเขาก็เป็นส่วนดิน ทะเลมหาสมุทรก็เป็นส่วนน้ำ ความร้อนต่างๆก็เป็นส่วนไฟ ลมที่เราหายใจเข้าออกก็เป็นส่วนลม ก็มีแค่นี้แหละ เมื่อมารวมกันภายใต้เหตุปัจจัยที่ต่างกัน ก็ทำให้มีรูปร่างลักษณะที่ต่างกันไป ต้นไม้มีนานาชนิด แต่ก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน คนมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน มีผิวขาวผิวดำผิวเหลือง ผมยาวผมสั้นผมหยิกผมงอก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน แล้วก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอะไรจะต้องมาจากธาตุทั้ง ๔ นี้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีส่วนไหนมากน้อยต่างกัน พวกวัตถุต่างๆจะมีส่วนของดินมากกว่า แต่ก็มีส่วนของไฟผสมอยู่ด้วย เช่นไม้ที่ใช้ปลูกศาลาหลังนี้ ถ้าจุดไฟเผาก็จะปล่อยธาตุไฟออกมา ส่วนน้ำก็ระเหยออกมา ส่วนน้ำมีอยู่น้อยมากจนมองไม่เห็น จึงเห็นว่าเป็นส่วนดิน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีทั้ง ๔ ส่วนถึงจะรวมตัวกันขึ้นมาได้ ร่างกายก็มีทั้ง ๔ ส่วน ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาแล้วว่าร่างกายมี ๓ ใน ๔ ส่วนที่เป็นน้ำ ถ้าดูดส่วนน้ำออกมาหมด ร่างกายก็จะแฟบลงไป เหมือนกับยางรถยนต์ ส่วนใหญ่มีแต่ลมเป็นองค์ประกอบ พอปล่อยลมออก ยางรถยนต์ก็จะแฟบลงไป เหลือแต่ส่วนดินคือตัวยาง นี่คือเรื่องของส่วนต่างๆในโลกนี้
สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนมีธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น แล้วดินน้ำลมไฟมาเป็นตัวเราเป็นของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ตั้งแต่ตอนที่เราไปตู่เขาว่าเป็นตัวเราของเรา ตอนที่เราไปได้ร่างกายในท้องแม่ ใจนี่แลที่ไปสถิตอยู่ในร่างกายที่แม่พึ่งตั้งครรภ์ขึ้นมา พอคลอดออกมาก็อยู่ติดกันมา แล้วก็ตู่มาตลอดว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา พอเป็นตัวเราเป็นของเราแล้วก็อยากให้ดีอยู่เรื่อยๆ อยากให้สวยอยากให้งาม อยากให้แข็งแรง อยากให้อยู่ไปนานๆ ไม่อยากให้ตาย ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้เจ็บ แต่ความอยากเหล่านี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงความจริงของร่างกายแต่อย่างใด เขาต้องเป็นไปตามวาระของเขา แต่ไปกระทบกับใจ ไปสร้างความทุกข์ให้กับใจ ความอยากเป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับใจ ความอยากมีอยากเป็น เป็นตัวสร้างความทุกข์ เช่นเดียวกับความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เรียกว่าความอยากในกาม หรือความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากร่ำอยากรวย อยากเป็นใหญ่เป็นโต ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้เป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ของใจ นี่คือความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ในขณะที่ทรงนั่งประทับอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเจริญสมถะในเบื้องต้นทำจิตใจให้สงบ พอจิตถอนออกจากความสงบแล้ว ก็จะมีพลังมีความเย็นมีความสบาย ก็ทรงพิจารณาร่างกายจนเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา แล้วก็พิจารณาส่วนที่ละเอียดเข้าไปคือนามขันธ์ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา และสภาวธรรมที่อยู่ในจิตก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา ทรงพิจารณาจนปล่อยวางได้หมด ก็ทรงได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเห็นว่ากายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ และสภาวธรรมในจิตนี้ ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ปัญญาต้องพิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะปล่อยวางได้ จะไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าอยากแล้วก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าไม่อยากถ้าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่อง ความทุกข์ก็จะไม่เกิด เมื่อไม่มีความอยาก เขาจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่ไปกระทบกับใจ
ตัวที่กระทบกับใจไม่ใช่นามขันธ์ หรือสภาวธรรมที่มีอยู่ในจิต แต่ตัวความอยากความหลง ที่ไปคิดว่าเป็นตัวเราของเรา อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ตัวนี้ต่างหากที่เป็นตัวไปกระทบกับจิตใจ ไปสร้างความทุกข์ให้แก่จิตใจ พอตัวนี้ถูกระงับดับไป ความทุกข์ก็ระงับดับตามไปด้วย จากนั้นอะไรจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่ไปกระทบกับใจ ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตาย ของเราก็ดีของคนอื่นก็ดี จะไม่ไปกระทบ เพราะใจไม่ได้มองว่าเป็นตัวเราของเราแล้ว มองว่าเป็นของดินน้ำลมไฟ เหมือนกับมองแดดลม ไม่ยึด ไม่ว่าแดดลมฝนฟ้าเป็นของเรา เขาจะตกไม่ตกเราก็รู้ว่าเราไปอยากไม่ได้ อยากก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถึงแม้จะเป็นพิษเป็นภัยก็ไปห้ามเขาไม่ได้ มีแต่ต้องเตรียมตัวรับเท่านั้นเอง เขาทำได้อย่างมากก็คือทำลายร่างกาย ในเมื่อร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ไม่ได้ไปทำให้จิตใจกระทบกระเทือนแต่อย่างใด นี่คือการตรัสรู้ หรือการเรียนจบวิชาทางจิตใจ จบตรงที่อริยสัจ ๔ จบตรงที่มรรคมีองค์ ๘ ที่มีปัญญาเป็นหัวหอก ที่พิจารณาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง จนเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วก็ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ ตั้งแต่ภายนอกคือร่างกายของผู้อื่น เข้ามาสู่ร่างกายของเรา เข้ามาสู่ความรู้สึกนึกคิด เข้ามาสู่อารมณ์ที่มีอยู่ในจิต ว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา พอปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมดแล้ว ใจก็หลุดพ้นจากความทุกข์ เพราะใจไม่ได้อยากให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามความอยากเหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา จะเป็นอย่างไรก็รับได้หมด ไม่เดือดร้อนอะไร
นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ ของการทำใจของเราให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เป้าหมายของพระพุทธศาสนาก็มีอยู่เพียงเท่านี้แล คือมาปลดเปลื้องดวงจิตดวงใจของสัตว์โลกทั้งหลาย เช่นพวกเรานี้ ให้ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากความหลง ที่ไม่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราของเรา แล้วก็ไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สอนให้นำเอาไปพินิจพิจารณา พอเห็นดังที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว ก็จะปล่อยวางได้เอง แล้วพอปล่อยวางได้ความทุกข์ทั้งหลายก็จะหมดไป นี่คือหน้าที่หรืองานของพุทธศาสนิกชน ผู้ปรารถนาความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย จะต้องบำเพ็ญจะต้องปฏิบัติ เริ่มต้นจากการทำบุญให้ทานเสียสละ ลดละสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ เอาเก็บไว้เพียงเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แล้วก็ควบคุมการกระทำทางกายทางวาจา ไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แล้วจะส่งความเดือดร้อนกลับมาที่ใจของตน ถ้ายังไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แล้วนำเอาความเดือดร้อนนั้นกลับมาสู่ใจ เวลาจะทำใจให้สงบก็จะทำไม่ได้ ในเบื้องต้นจึงต้องมีศีลก่อน ใจต้องไม่วุ่นวายกับการกระทำผิดต่างๆ พอไม่มีความวุ่นวายต่อการกระทำผิดแล้ว เวลาจะทำจิตให้สงบก็จะง่าย จะทำให้สงบได้ก็ต้องมีสติ ก็ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา
สติก็คือการระลึกรู้ ให้ใจระลึกรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นร่างกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม มีอยู่ ๔ สิ่งด้วยกัน ที่สามารถเอาใจกับสติไปผูก สตินี้อยู่กับใจ ถ้าสติอยู่ตรงไหน ใจก็ต้องอยู่ตรงนั้น ถ้าบังคับให้อยู่กับร่างกาย ก็ต้องอยู่กับร่างกาย ถ้ามันดื้อมันไม่ยอมอยู่ ก็จะไปอยู่กับเรื่องอื่น ส่วนใหญ่มันชอบไปอยู่กับเรื่องของกิเลส เรื่องของตัณหา เรื่องของสวยๆงามๆ เรื่องที่ชอบที่ชัง เวลาชอบอะไรก็จะติดอยู่กับเรื่องนั้น เวลาชังก็จะติดอยู่กับเรื่องนั้น ต้องต่อสู้กับมัน ดึงมันมาให้อยู่กับร่างกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม ให้อยู่ใน ๔ ส่วนนี้ ถ้าสามารถแย่งมาจากกิเลสได้ ต่อไปก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา พอเราต้องการให้อยู่กับอารมณ์เดียว เช่นอยู่กับพุทโธ มันก็จะอยู่กับพุทโธ มันจะไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไม่คิดเรื่องอื่น อยู่กับพุทโธได้ ไม่นานก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะยุติชั่วคราว ร่างกายไม่เคลื่อนไหวไม่เดินไม่ทำอะไร ความรู้สึกนึกคิด เช่นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็จะหยุดไป เหลืออยู่แต่ความสงบ ที่เต็มไปด้วยความสุข ที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน พอได้พบกับความสุขแบบนี้แล้ว จะทำให้ความสุขอย่างอื่นไร้ความหมายไป ไร้ค่าไป จะไม่สนใจกับความสุขแบบอื่นอีกต่อไป เมื่อก่อนยังติดอยู่กับความสุขแบบนั้นแบบนี้อยู่ พอได้พบกับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจแล้ว ก็จะไม่สนใจอีกแล้ว จะเอาเวลาทั้งหมดมาสร้างความสุขแบบนี้ให้เกิดขึ้นนานๆ เพราะตอนได้ครั้งแรกนั้น ได้เดี๋ยวเดียว ชั่วนกกระจอกกินน้ำ ที่เรียกว่าขณิกสมาธิ รวมลงปั๊บเดียวก็ถอนออกมา แต่ตอนที่รวมอยู่นั้น มันแสนจะวิเศษแสนจะมหัศจรรย์ใจ ทำให้อยากจะได้พบกับความสุขแบบนี้มากๆยิ่งๆขึ้นไป แล้วก็รู้ว่าเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้นได้นี้คืออะไร
ก็คือการมีสติอยู่กับกรรมฐานที่ถูกจริต ถ้าถูกจริตกับพุทโธ ก็ให้มีสติกำหนดควบคุมจิต ให้อยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ พอทำได้ครั้งหนึ่งแล้วต่อไปก็จะง่าย เพราะจับเคล็ดได้แล้ว รู้วิธีทำแล้ว สิ่งที่ต้องมีก็คือเวลาปฏิบัติ ถ้ายังมีภารกิจอย่างอื่นอยู่ ยังทำมาหากิน ยังแสวงหาเงินหาทอง หาตำแหน่งอยู่ พอได้พบกับจิตรวมแล้ว ทีนี้ก็ไม่อยากได้อย่างอื่นแล้ว เงินทองไม่อยากได้แล้ว ตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆไม่อยากได้แล้ว ก็จะเตรียมตัวลาออกจากงาน เพื่อจะได้มีเวลามาทำจิตให้สงบมากขึ้น เพราะการไปทำงานนี้มันไปเขย่าจิต ไม่ได้ไปกล่อมจิตให้สงบ ทำงานแล้วก็จะเกิดความฟุ้งซ่านต่างๆตามมา พอกลับจากทำงานจะมาทำจิตให้สงบก็ยาก เพราะมันฟุ้งอยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าเงินทองที่ได้มา ตำแหน่งที่ได้มา ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ได้มานี้ ไม่คุ้มค่ากับความสงบที่เสียไป ถ้าได้พบกับความสงบแล้ว รับรองได้ว่าจะต้องทิ้งความสุขแบบอื่นไปหมด แล้วก็มุ่งมาสู่ความสุขแบบนี้ เพราะความสุขแบบนี้ดีที่สุด เพียงแต่ว่ายังไม่ถาวรเท่านั้นเอง สุขตอนที่สงบนิ่ง แต่พอออกมาก็ยังกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ก็ต้องใช้หลักการเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา ก็คือต้องเจริญปัญญา
ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ถ้าไปยึดไปติดก็จะเป็นทุกข์ พอเห็นว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ก็จะไม่ยึดไม่ติดไม่อยาก ก็จะไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตาก็จะอยาก พออยากมันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา พอพิจารณาจนเห็นแล้วว่าเป็นธาตุ ๔ เป็นดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการรวมตัวกัน แล้วก็แยกกันออกไปตลอดเวลา ก็ปล่อยวาง หย่าขาดจากกัน เมื่อก่อนหลงว่าเป็นของเรา เป็นสามีเรา เป็นภรรยาเรา เดี๋ยวนี้หย่ากันแล้ว หย่ากันทางใจ ถึงแม้จะอยู่ด้วยกัน ก็อยู่แบบไม่มีความทุกข์ ไม่มีความผูกมัด ความผูกพัน แต่ดูแลกัน หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันก็ยังมีอยู่ แต่จะไม่อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เขาจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เรารู้แล้วว่าเราไปอยากไม่ได้ พออยากแล้วมันจะทุกข์ขึ้นมาทันที ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจะรู้ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ตอนที่ฟังอยู่นี้ก็รู้อยู่เข้าใจอยู่ พอหยุดฟังปั๊บก็ลืมไปทันที กลับไปอยากใหม่เหมือนเดิม ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะสอนใจให้รู้อยู่อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ต้องพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ก็หมายถึงการพิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตา ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าทำได้รับรองวันนี้ก็บรรลุได้ ประเด็นอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การปฏิบัติ สอนใจให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ได้ทุกลมหายใจเข้าออกหรือไม่ ถ้าเห็นได้ ก็หลุดได้หลุดพ้นได้อย่างแน่นอน
ตอนนี้มีความตื่นเต้นกับการสอนแนวใหม่ หรือแนวเก่าแต่นำมาเผยแผ่ใหม่ มีคนดีอกดีใจว่าปฏิบัติง่ายเหลือเกิน คือการสอนให้ดูจิตตามรู้จิต ให้ตามรู้จิตอย่างเดียว จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องอดน้ำอดข้าวอดอาหาร ไม่ต้องควบคุมบังคับตัวเอง ให้อยู่อย่างสบาย อยู่อย่างปกติ ให้ดูจิต ตามดูจิตไป แล้วความทุกข์ต่างๆก็จะหมดไปเอง จะหลุดพ้นเอง คนที่ได้ปฏิบัติก็ว่าดีกว่านั่งหลับตาพุทโธที่แสนจะยาก ทำไม่ได้ แต่ให้ตามดูจิตนี้สบายมาก เขาว่าเขาตามดูได้ แต่เขาอาจจะไม่เข้าใจว่า ดูแล้วได้อะไรก็ได้ อาจจะระงับความรู้สึกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นในบางเวลา พอเห็นว่ากำลังโกรธ ก็ทำให้ความโกรธเบาลงไป หรือหยุดไปชั่วคราว แต่เดี๋ยวก็กลับมาโกรธใหม่ ไปโกรธเรื่องอื่นอีก เหมือนกับตัดกิ่งไม้ สักพักหนึ่งก็งอกออกมาใหม่ ไม่ได้ตัดที่ต้น ไม่ได้ถอนรากถอนโคน การดูจิตตามรู้จิตก็เป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ ให้รู้ว่าจิตเป็นอะไรขณะนี้ จิตหยาบจิตละเอียด จิตฟุ้งซ่านจิตสงบ จิตโลภจิตโกรธ ถ้ารู้แล้วมันดับก็ใช้ได้ แต่จะไม่ดับถาวร ถ้าจะให้ดับอย่างถาวร จะต้องเข้าไปวิเคราะห์เหตุ ที่ทำให้เกิดความโลภ เกิดความโกรธ สิ่งที่ทำให้โลภให้โกรธ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะดับได้อย่างถาวร ถ้ายังไม่ได้วิเคราะห์ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ยังเป็นเราเป็นของเราอยู่ เดี๋ยวก็มีอารมณ์กับสิ่งนั้นอีก เช่นรักรถมาก พอคิดถึงรถก็เกิดมีอารมณ์ขึ้นมา ใครมาแตะรถหน่อยก็เกิดมีอารมณ์ขึ้นมา พอดูจิตก็ระงับอารมณ์นั้นได้ แต่เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาใหม่ พอมีใครมาทำอะไรกับรถ ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาอีก หรือคนที่เรารักมาก พอคิดถึงเขาไม่เห็นเขาก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา ห่วงกังวล ถ้ามีสติก็หยุดได้ชั่วคราว พอไม่เห็นหน้าอีก คิดถึงอีกก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาอีก
ดูอย่างนี้อย่างเดียวยังไม่พอ ดูแล้วต้องวิเคราะห์ต่อ ว่าสิ่งที่ไปมีอารมณ์ด้วย เป็นอะไรกันแน่ เป็นเราเป็นของเราหรือไม่ อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเราได้หรือไม่ ถ้าวิเคราะห์อย่างนี้ถึงจะเป็นปัญญา พอรู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะตัดได้เลย ถ้ายังไม่มีกำลังที่จะตัด เช่นรู้ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่ยังตัดความกลัวความแก่ความเจ็บความตายไม่ได้ ทั้งๆที่รู้อยู่ แต่ไม่มีกำลังตัด ทุกครั้งที่นึกถึงเวลาที่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย จิตก็เกิดความกลัวขึ้นมา ถ้ามีสติดูจิตก็หยุดความกลัวได้ เพราะความคิดเกี่ยวกับเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยได้หยุดไปแล้ว มีสติอยู่ที่ความกลัว ความกลัวก็ดับไป แต่พอไปคิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาอีก ความกลัวก็กลับขึ้นมาอีก ถ้าวิเคราะห์ว่าต้องเป็นอย่างนี้ แต่ก็ยังรับไม่ได้อยู่ดี เพราะไม่มีกำลังที่จะปลง สิ่งที่เป็นกำลังของการปลงนี้ ก็คือการรวมของจิตนี่เอง ถ้าจิตรวมลงแล้วจะปล่อยทุกอย่าง ขณะที่รวมลงเป็นการปล่อยชั่วคราว ตอนที่จิตรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์แล้ว ตอนนั้นจะปล่อยหมด ร่างกายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง สามีภรรยาบุตรธิดา อะไรต่างๆ ปล่อยหมด จิตอยู่เป็นเอกเทศตามลำพัง ถ้าปล่อยแล้ว ต่อไปจะรู้วิธีปล่อย รู้จุดที่จะปล่อย เหมือนกับพวกคนเก็บขยะ ที่รู้ที่ๆจะเอาขยะไปทิ้ง พอเก็บขยะมาแล้วก็เอาไปทิ้งกองขยะได้เลย ถ้าไม่รู้ว่ากองขยะอยู่ที่ไหน ก็จะไม่รู้ว่าจะเอาขยะไปทิ้งที่ไหน รู้ว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย รู้ว่าจิตใจมีความหวาดกลัวกับความแก่ความเจ็บความตาย แต่ไม่สามารถปลงได้ ไม่สามารถปล่อยวางร่างกายได้ ถ้ายังปล่อยไม่ได้ก็ยังมีความกลัวอยู่เรื่อยๆ
จึงอย่าไปเข้าใจว่าการดูจิตอย่างเดียวจะไปถึงพระนิพพานได้ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ของการปฏิบัติ เป็นการสร้างสติ ให้มาบังคับจิตให้เข้าสู่ความสงบ ให้เข้าสมาธิให้ได้ก่อน ถ้าเข้าสมาธิได้แล้ว ต่อไปเวลาจะปลงอะไรก็จะปลงในสมาธินั้นแหละ ทำจิตให้สงบแล้วก็ปล่อยวางได้ แต่ถ้าไม่รู้จุดของความสงบอยู่ตรงไหน ก็ไม่รู้จะปลงอย่างไร ก็ยังต้องแบกอยู่ แบกร่างกาย แบกความกลัวความแก่ความเจ็บความตาย ทีนี้คนที่ปฏิบัติใหม่ๆก็เล่าว่า ง่ายเหลือเกิน สบายเหลือเกิน ไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องถือศีล ๘ ไม่ต้องบังคับ ทำอย่างสบาย จะไปไหนก็ไปได้ ให้ดูจิตอยู่ตลอดเวลาก็แล้วกัน ไปเที่ยวก็ได้ ไปทำอะไรก็ได้ ก็ทำได้ควบคุมได้ในเหตุการณ์แบบนั้น แต่ชีวิตของเราไม่ได้มีเหตุการณ์แบบนั้นอย่างเดียว เหตุการณ์อื่นที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็มีอยู่ เช่นเวลาสูญเสียสิ่งที่รักไป ยังทำใจดูใจให้เป็นปกติได้หรือเปล่า ไม่ให้เศร้าโศกเสียใจท้อแท้เบื่อหน่าย จะทำได้หรือเปล่า ในชีวิตประจำวันที่เป็นสภาพปกติก็ทำได้ แต่ถ้าอยู่ในสภาพที่อัตคัดแร้นแค้นเสี่ยงต่อความเป็นความตาย ยังรักษาจิตให้เป็นปกติได้หรือเปล่า สติตัวเดียวไม่พอหรอก นอกจากสติของพระอรหันต์เท่านั้นถึงจะพอ ของผู้อื่นนี้ยังไม่พอ ต้องมีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญาควบคู่กันไป ถึงจะทำจิตให้ปลงได้ ปล่อยได้วางได้ การดูจิตอย่างเดียวไม่พอ ก็อยากจะเล่าให้ฟังเท่านั้นเอง เพราะเดี๋ยวนี้มีคนมาเล่าให้ฟังมาก ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ง่ายแสนง่าย ถ้าสนใจก็ลองไปศึกษาดูก็ได้ จะได้มาเล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ง่ายอย่างที่เขาพูดกันหรือเปล่า
ถาม ช่วงนี้ปฏิบัติไม่ดี หมกมุ่นกับเรื่องงานมากไป ไม่อยู่กับพุทโธ ชอบอยู่กับอนาคต พรุ่งนี้จะทำอะไร ไม่อยู่ในปัจจุบัน
ตอบ ถ้าจำเป็นต้องคิดก็คิดไป แต่ควรมีขอบเขต มีเวลา ไม่ควรปล่อยให้คิดเลยเถิด ถ้าหมดความจำเป็นแล้ว ก็ควรกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน มาสร้างความสงบใจให้ได้ ถ้าไม่กลับมาสร้างความสงบ ทำให้จิตรวมลงได้ ก็จะวนอยู่ในอ่างอย่างนี้ จะไปไม่ถึงไหน พอร่างกายแก่ลงไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะปฏิบัติไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องหมกมุ่นกับการงาน ก็ให้เป็นชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่าให้เลยเถิด พอเสร็จแล้ว ก็ต้องดึงจิตกลับมาภาวนาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่คืบหน้า จะไม่สำเร็จลุล่วงเพราะเถลไถล ไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติเท่ากับงานอื่น ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องทำไปก่อน แต่ไม่มีอะไรที่จำเป็นตลอดเวลา ถ้าต้องทำงานเพื่อเก็บเงินเก็บทองไว้ใช้กับการปฏิบัติ ก็ต้องทำไปก่อน พอบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ควรจะหยุดหรือทำให้น้อยลงไป มาทำงานทางจิตให้มากขึ้น
ถาม อยากทราบตรงที่ว่าร่างกายเราเป็นเพียงธาตุ ๔ นี้ เวลาฟังก็เข้าใจ แต่ยังไม่รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรานี้ มันจะเกิดขึ้นตอนไหนคะ
ตอบ ตอนที่เรานั่งสมาธิ แล้วเกิดอาการเจ็บปวดต่างๆตามร่างกาย ถ้าเชื่อว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็ควรปล่อยให้นั่งไป ถ้าเชื่อว่าเวทนาไม่ใช่ตัวเราของเรา ความเจ็บปวดไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็ปล่อยให้เจ็บปวดไป ให้สมมุติว่าความเจ็บปวดเป็นเหมือนไฟที่กำลังเผาร่างกาย เช่นเวลาเผาศพ ร่างกายคนเป็นกับคนตายก็เหมือนกัน ต่างกันตรงที่หายใจหรือไม่หายใจ มีส่วนประกอบต่างๆเหมือนกัน ผมก็ยังเป็นผมอยู่ ขนก็ยังเป็นขนอยู่ ตอนที่เป็นศพทำไมปล่อยให้ไฟเผาได้ ถ้าจิตเชื่อว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เชื่อว่าเวทนาเป็นเหมือนไฟที่กำลังเผาร่างกายอยู่ จิตก็ดูมันไปสิ เผามันไป ดูเวทนาที่เป็นเหมือนไฟเผาร่างกาย จนเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป แล้วก็จะเห็นเองว่า ร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ จิตกับร่างกายจะแยกออกจากกัน เพราะตอนนั้นจิตจะปล่อย พอปล่อยแล้วก็จะรู้ว่า ร่างกายเป็นส่วนเดียวกันกับพื้นที่กำลังนั่งอยู่ จะรวมเป็นอันเดียวกัน ส่วนจิตผู้ที่ดูอยู่นี้ ก็รวมลงเข้าสู่ความสงบ ไม่มีทุกข์ ไฟที่เผาร่างกายก็มอดหายไปหมด เวทนาก็ดับไปหมด จะเห็นอย่างนี้
ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะไม่สงสัย แต่ตอนนี้ยังเป็นจินตนาการอยู่ ยังเป็นสัญญาอยู่ แต่ต้องอาศัยสัญญาเป็นตัวสอนจิตไปก่อน พอเข้าสู่เหตุการณ์จริง เช่นในขณะที่นั่งแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา ก็เอาความจริงที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายและเวทนามาใช้ ว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรามา ร่างกายเป็นเหมือนซากศพ เวทนาเป็นเหมือนไฟที่กำลังเผาซากศพ จิตก็เป็นผู้ดูก็ดูมันไป เหมือนกับไปงานศพ งานศพตามชนบทเมื่อก่อนนี้ ไม่มีเมรุ เอาโลงศพตั้งไว้บนกองฟืน ให้นั่งดูได้ เราก็นั่งดูร่างกายของเรา ที่กำลังถูกไฟของความเจ็บปวดเผา ดูไปเรื่อยๆเพราะกำลังพยายามปลง พยายามทำใจว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ แล้วมันจะแยกออกจากกันเอง พอไฟเผาร่างกายจนกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านแล้ว ตอนนั้นร่างกายกับจิตจะแยกออกจากกัน ร่างกายก็จะไปรวมกับพื้นที่กำลังนั่งอยู่ ส่วนจิตก็จะเข้าสู่ความสงบ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะเห็นชัดเจน จะไม่สงสัย จะปล่อยได้ เพราะรู้ว่าปล่อยแล้วสบาย ถ้าไปยึดไปติดจะทุกข์ พอปล่อยแล้วจิตจะสงบ ไม่ทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย จะเห็นอย่างนี้
ถาม ขอคำแนะนำวิธีการระงับความโกรธความไม่พอใจ
ตอบ ความโกรธเป็นผลที่เกิดจากความโลภ หรือความอยาก พอโลภหรืออยากได้อะไร แล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา ส่วนความโลภก็ออกมาจากความหลง ที่ไม่รู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะให้ความสมอยากได้ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะไม่อยากไม่โลภ
ถาม เราไม่ได้โลภอย่างนั้น เขามาว่าเรา
ตอบ นั่นแหละกำลังโลภแล้ว เพราะอยากให้เขาชมเรา ไม่อยากให้เขาด่าเรา นั่นก็อยากแล้ว
ถาม เราไม่ได้อยากให้เขาชม
ตอบ เราไม่อยากให้เขาด่าเรา ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่ง ต้องยอมให้เขาด่าให้เขาว่า ก็จะสมใจ เราจะได้ไม่โกรธ ความโกรธเกิดจากความอยาก แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังอยาก เป็นความอยากในมุมกลับ ถ้าอยากให้เขาชม ก็จะไม่อยากให้เขาด่า ถ้าไม่อยากให้เขาชมและให้เขาด่า ก็ยังเป็นความอยากอยู่ พอเขาชมหรือเขาด่าก็จะโกรธขึ้นมา ต้องทำใจให้เป็นกลาง ทำใจให้เป็นอุเบกขา ปล่อยวางให้ใช้ปัญญาสอนใจว่า อยู่ในโลกนี้มีทั้งสรรเสริญมีทั้งนินทาเป็นธรรมดา มีการเกิดมีการดับเป็นธรรมดา มีการเจริญลาภเป็นธรรมดา มีการเสื่อมลาภเป็นธรรมดา มีการเจริญยศมีการเสื่อมยศเป็นธรรมดา มีสรรเสริญย่อมมีนินทาเป็นธรรมดา เป็นของคู่กัน มีสุขย่อมมีทุกข์เป็นธรรมดา ถ้ายินดีกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พอสิ่งนั้นหายไปเปลี่ยนไป ก็จะเกิดความทุกข์เกิดความโกรธขึ้นมา
ถาม แสดงว่าต้องมีขันติเยอะใช่ไหมคะ
ตอบ ต้องอย่าไปอยากกับอะไร อย่าไปอยากได้อะไร ให้ยินดีตามมีตามเกิด วันนี้เขาชมก็ได้ พรุ่งนี้เขาด่าก็ได้ ให้รับได้ทุกอย่าง ใจของพวกเราอยากได้การเจริญในลาภยศสรรเสริญสุข พอเสื่อมปั๊บก็จะโกรธขึ้นมาทันที
ถาม แสดงว่ายังปฏิบัติได้ไม่ดีใช่ไหมคะ
ตอบ ยังไม่รู้เป้าหมายของการปฏิบัติ เพียงแต่รู้การบริกรรมพุทโธๆ เวลานั่งสมาธิไปเท่านั้น ส่วนใหญ่จะรู้เท่านั้น แต่จะไม่รู้เรื่องปัญญา ว่ามีความจำเป็นต่อการระงับดับความโลภความโกรธความหลง อันนี้เป็นขั้นละเอียดมาก สอนเท่าไรพูดเท่าไร ก็ฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วก็ลืมไป แล้วก็กลับมาถามคำถามเดิมๆอีก เพราะไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้คิดอย่างต่อเนื่อง ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากความหลง ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ได้เป็นไปตามความอยากความต้องการ แต่ก็ยังอดที่จะอยากไม่ได้ อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้สมใจอยาก ก็เกิดความโกรธเกิดความเสียใจขึ้นมา ประเด็นอยู่ตรงนี้ แต่เราไม่เกาะติดกับประเด็นนี้ พอเห็นอะไรสวยๆงามๆก็อยากจะได้แล้ว มีความรู้สึกฝังลึกอยู่ในใจ ไม่อยากให้คนมาตำหนิเรามาว่าเรา พอใครมาตำหนิมาว่าเรา ก็เกิดความโกรธขึ้นมา
ความโกรธเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์จะใช้สอนลูกศิษย์ลูกหา ท่านจะยั่วยุแหย่โทสะลูกศิษย์อยู่เรื่อย ลูกศิษย์ก็รู้ว่าโกรธครูบาอาจารย์ไม่ได้ ก็โกรธอยู่ข้างในนั้นแหละ แต่ในที่สุดก็ดับได้ เพราะท่านช่วยคุ้ยเขี่ยให้เรา บางคนพอได้สมาธิแล้ว ก็คิดว่าบรรลุแล้วไม่โกรธแล้ว บางคนฟังเทศน์ฟังธรรมจนซาบซึ้งจิตใจแล้ว ก็คิดว่าไม่มีความโกรธแล้ว เหมือนนิทานเรื่องคุณหญิงคุณนาย ที่ฟังเทศน์ฟังธรรมกับหลวงพ่อองค์หนึ่ง ฟังจนซาบซึ้งใจจนจิตสงบ กิเลสสงบราบ ความโลภความโกรธไม่มีเหลืออยู่ในใจ ก็เลยดีใจไปเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ตั้งแต่หนูได้ฟังเทศน์ฟังธรรมหลวงพ่อแล้ว เดี๋ยวนี้จิตใจหนูเย็นสบาย ไม่โกรธไม่แค้นเลย หลวงพ่อตอบไปว่า อีตอแหล เท่านั้นความโกรธก็โผล่ขึ้นมาเลย เหมือนเวลาไปกราบหลวงปู่เจี๊ยะ ต้องทำใจมากๆ พอไปถึงท่านจะถามว่ามาทำไมวะ เมื่อก่อนเวลาใครไปกราบหลวงตา ท่านจะพูดว่ามายุ่งทำไม มาไม่ได้เรื่องได้ราว ท่านจะไล่ใหญ่เลย นั่นแหละอุบายของครูบาอาจารย์ สอนเราตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในวัด ท่านจะแย็บใส่เราก่อนเลย
ให้ดู ๓ ตัวนี้ โลภโกรธหลง ตัวสำคัญก็คือตัวหลง เรายังมีความหลงอยู่มาก ต้องพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ ให้สอนใจว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรที่จะสมใจอยาก พอรู้อย่างนี้จะได้ไม่อยาก จะปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิด แต่ก็ไม่ได้ปล่อยหมด ส่วนไหนที่ทำได้ก็ทำไป มีงานมีการก็ทำไป มีหน้าที่อะไรก็ทำให้ดีที่สุด จะอนุโมทนาหรือไม่ จะด่าหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของเขา เขาจะดีกับเราหรือไม่ จะชั่วกับเราหรือไม่ ก็เรื่องของเขา เราไปบังคับเขาไม่ได้ ดูเขาเหมือนเป็นลมเป็นฝนเป็นแดด ปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา ฝนจะตกก็ปล่อยให้ตกไป แดดจะออกก็ปล่อยให้ออกไป ถ้าอย่างนี้แล้วก็จะไม่วุ่นวายใจ
ถาม ถ้ามีปัญหากับหัวหน้าที่ทำงาน
ตอบ เหมือนกัน อย่าไปหวังอะไรจากเขา
ถาม ถ้าย้ายไปทำที่อื่นจะดีกว่าไหม
ตอบ มีอยู่ ๒ ประเด็น ถ้าไปเพราะทนเขาไม่ได้ แสดงว่าเราแพ้ทางด้านปฏิบัติ ต้องอยู่ต่อถ้าจะเอาชนะทางด้านปฏิบัติ ต้องชนะใจเรา ใจเราต้องปล่อยวาง ให้เขาทำอะไรก็ได้ อย่างที่พระอานนท์กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงย้ายไปที่อื่น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าปัญหาอยู่ที่นี่ ก็ต้องแก้ที่นี่ ถ้าไปที่อื่นก็เจอปัญหาเดิมอีก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เขา ปัญหาอยู่ที่เรา ถ้าแก้ปัญหาของเราได้แล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าเป็นปัญหาใจก็ต้องแก้ที่ใจ อย่าย้ายไปที่อื่น แต่ถ้าเป็นปัญหาเงินเดือนน้อยไป จะย้ายไปที่อื่นที่มีรายได้มากขึ้นก็ไป ได้ อันนั้นเป็นคนละประเด็นกัน ต้องแยกประเด็นให้ออกว่าไปเพราะอะไร เราไม่ได้แพ้เขา แต่แพ้กิเลสเรา ถ้าเรายอมแพ้เขา เราชนะกิเลสเรา ยอมให้เขาทำอะไรตามความต้องการของเขา ใจของเราก็จะสงบจะสบาย ไม่เดือดร้อน เขาเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นเหมือนแดดลมฝนฟ้า ต้องมองเขาอย่างนั้น เวลาฝนตกแดดออกเราโมโหหรือไม่ หงุดหงิดใจหรือไม่ เวลาเขาแสดงอาการอะไรออกมา เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง เราไม่มองเขาเป็นดินน้ำลมไฟ ไปมองว่าเขาเป็นคนเป็นเจ้านาย อันนั้นเป็นสมมุติ ความจริงเขาเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ดูจิตต้องดูอย่างนี้
ถาม พยายามอย่างที่พระอาจารย์บอก ไม่ไปสนใจ เขาก็จะถามว่าทำไมถึงเงียบ เราก็ไม่ไปตอบ
ตอบ บอกเขาไปว่า คุณจะทำอะไรก็ทำไป ไม่เป็นปัญหาอะไรทั้งนั้น ปัญหาอยู่ที่ใจเรา ใจมีความอยาก อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ยอมรับเขา ไม่ยอมรับความจริง
ถาม ก็คิดแบบนี้ แต่ก็ยังเป็นอีก
ตอบ ถ้าความหลงเร็วกว่าปัญญา พออยู่ในเหตุการณ์ความหลงจะออกมาก่อน ความอยากออกมาก่อน ไม่ทันมัน เพราะไม่ได้ฝึกจิตอยู่เรื่อยๆ สติปัญญาไม่เร็วพอ ไม่มีสมาธิที่จะหยุดจิต ไม่มีแรงต้าน นี่ก็เป็นการทดสอบจิตใจ ว่าปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว ต้องขึ้นเวที ถ้าเป็นนักมวยก็ต้องขึ้นเวที ถึงจะรู้ว่าได้แชมป์หรือยัง เวลาต่อยกับกระสอบทรายมันง่าย เพราะมันไม่ตอบโต้เรา เราต่อยมันอย่างไรก็ได้ เวลาฝึกซ้อมพิจารณาเราก็ทำใจได้ แต่พอขึ้นเวทีโดนแย็บ ก็งงเป็นไก่ตาแตกเลย ที่ฝึกที่ซ้อมมาหายไปหมดเลย
ถาม ก็คิดเหมือนกันว่า ถ้าไปก็แสดงว่าเราแพ้
ตอบ ถ้าอยู่ไม่ได้จริงๆ อยู่แล้วถึงกับจะเป็นบ้า ก็ต้องยอมถอยไปตั้งหลักก่อน ถอยเพื่อสู้ต่อ ไม่ใช่ถอยไปเรื่อยๆ พอเจอปัญหาอีกก็ถอยอีก อย่างนี้ไม่ควร ควรถอยไปตั้งหลัก ไปเสริมสร้างพลังจิต เพื่อจะรับกับเหตุการณ์ต่อไป เวลาปฏิบัติก็ต้องปลีกวิเวกก่อน เพื่อสร้างกำลังจิต สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จะสร้างไม่ได้ เพราะต้องคอยรับกับเหตุการณ์ ต้องปลีกตัวไปหาที่สงบ เพื่อไปสร้างพลังขึ้นมา พอมีพลังพอแล้วก็กลับมาทดสอบดู กลับมาขึ้นเวทีดู ว่าเป็นอย่างไร จิตนิ่งเฉยได้ไหมกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือจะชั่ว อยู่เหนือเหตุการณ์นั้นได้หรือไม่ จะได้รู้ว่าผ่านหรือไม่ ดีขึ้นหรือเลวลง ในเบื้องต้นเวลาจะสร้างปัญญา สร้างสมาธิสร้างสติ ต้องปลีกวิเวกไปอยู่ที่สงบสงัด เหมือนคนไข้ต้องไปอยู่โรงพยาบาล ที่เป็นสถานที่เหมาะต่อการรักษาร่างกาย สถานที่วิเวกต่างๆก็เป็นสถานที่เหมาะต่อการรักษาใจ พอใจมีพลังมีกำลังแล้ว ก็ออกมาเผชิญกับโลกต่อไปได้ ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมทั้ง ๘ พระพุทธเจ้าทรงปลีกวิเวกถึง ๖ ปี ต้องออกจากวังเพราะรู้ว่าอยู่ในวังไม่มีทางที่จะหลุดพ้นได้ เพราะมีเรื่องต่างๆเข้ามากระทบอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่คอยรับเรื่องก็เหนื่อยแล้ว ไม่มีเวลาปลูกฝังให้มีสติมีปัญญามีสมาธิเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเสด็จออกจากพระราชวังไป เพื่อไปเสริมสร้างสติปัญญา จนจิตมีกำลังเต็มที่แล้ว ทีนี้ใครนิมนต์ไปไหนก็ไปได้ ไปได้ทุกหนทุกแห่ง พระราชบิดาส่งสารให้ไปโปรดที่พระราชวัง ก็ทรงเสด็จกลับไปโปรด ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ติดด้วย ถ้าอยากจะเสริมสร้างกำลังจริงๆ ก็ออกจากงานไปปฏิบัติเลย
ถาม เวลาภาวนาพุทโธจะซึม รู้สึกง่วง บางทีก็ร้อน ไม่ทราบว่าปฏิบัติผิดอย่างไรเจ้าคะ
ตอบ ปฏิบัติยังไม่ได้ผล สติไม่มีกำลังพอ พอบริกรรมไป ถ้าสติอ่อนก็จะเข้าภวังค์หลับ เกิดอาการเคลิ้มหลับขึ้นมา จะไม่ได้ผล ถ้าจะให้ได้ผลก็ต้องไปอยู่ในที่ๆน่ากลัว สติจะดี ถ้าไม่สามารถไปอยู่ที่น่ากลัวได้ ก็ต้องผ่อนอาหาร เช่นรับประทานอาหารมื้อเดียว จะทำให้ร่างกายเบาขึ้น ความง่วงเหงาหาวนอนน้อยลงไป ควรฝึกเจริญสติอยู่ทุกเวลานาที ควรจะฝึกตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย พอตื่นขึ้นมาก็ตั้งสติเฝ้าดูกายเป็นหลัก กายจะลุกขึ้นก็ให้เฝ้าอยู่ที่กาย อย่าไปที่อื่น กายยืนขึ้นมา เดินไปทำอะไร ก็ให้อยู่กับการกระทำของกาย อย่าไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามีสติอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว เวลานั่งภาวนาพุทโธเพียง ๕ นาทีก็รวมลงได้ เพราะจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว ไม่ไปที่อื่น มีอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง ๕ นาทีก็รวมลงได้ ถ้าไม่มีอารมณ์เดียว อยู่ได้เพียง ๒ - ๓ วินาที แล้วก็แวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็กลับมาอีก ๒ - ๓ วินาที แล้วก็ไปอีก ถ้าเป็นอย่างนี้นั่งทั้งวันก็จะไม่สงบ จะเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน เกิดอาการรุ่มร้อนขึ้นมาได้ เป็นนิวรณ์ การปฏิบัติที่จะได้ผล ต้องเจริญสติเป็นงานประจำ ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ไม่ว่าจะอยู่ในภารกิจการงานใด ให้อยู่กับภารกิจการงานนั้น อย่าไปคิดเรื่องอื่น ในขณะที่กำลังทำภารกิจต่างๆ ให้อยู่กับภารกิจนั้น ให้ใจจดจ่อเฝ้าดูอยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าอยู่อย่างนี้แสดงว่ามีสติ แต่ส่วนใหญ่เวลาเริ่มทำจะทำไม่ได้ อยู่ได้เดี๋ยวเดียวก็ออกไปคิดเรื่องอื่น แปรงฟันอยู่ตรงนี้ ก็ยังออกไปคิดเรื่องงานเรื่องการ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ได้ แสดงว่าเผลอสติแล้ว ถ้ามีสติต้องอยู่กับการแปรงฟันทุกจังหวะของการแปรงเลย ถึงจะมีสติ ถ้ามีสติอย่างต่อเนื่องแล้ว การทำจิตให้สงบนี้ ไม่ยากเย็นเลย
ปัญหาของพวกเราส่วนใหญ่ เกิดจากการไม่มีสติ ที่จะดึงใจไว้ให้อยู่กับอารมณ์เดียว ใจชอบอยู่กับหลายอารมณ์ ชอบอยู่กับหลายเรื่อง ชอบคิดเรื่อยเปื่อย ทำให้จิตหมุน พอหมุนแล้วจะสงบได้อย่างไร ถ้าอยู่กับเรื่องเดียวแล้วจิตจะหยุดหมุน จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ ในการปฏิบัติปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือสติ ที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า บรรลุได้ ๗ วันหรือ ๗ ปีนี้ ก็อยู่ที่สติเป็นหลัก ถ้าได้สติแล้ว ๗ วันก็บรรลุได้ ถ้าได้สติแล้วเวลาทำอานาปานสติจิตจะสงบลงรวมลง ก็จะมีพลัง พอออกจากสมาธิมาพิจารณาไตรลักษณ์ เดี๋ยวเดียวก็หลุดได้ สติจะควบคุมจิตให้อยู่กับงานที่ต้องทำ เวลาทำสมาธิก็จะอยู่กับการทำสมาธิ เวลาเจริญปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ ก็จะอยู่กับการพิจารณาไตรลักษณ์นี้ จะไม่เถลไถลไปคิดเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง จะจดจ่ออยู่กับงาน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วไม่นานก็จะหลุดได้ ๗ วันก็หลุดได้ ฟังหนเดียวก็หลุดได้ พระอัญญาโกณฑัญญะฟังครั้งแรกก็หลุดได้ เพราะจิตจดจ่ออยู่กับการฟัง แล้วก็พิจารณาตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ พอเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ความอยาก ก็ตัดความอยากปั๊บ จิตก็รวมลงเข้าสู่ความสงบ ปล่อยวางร่างกายได้ ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายก็ถือว่าเป็นธรรมดา เพราะท่านมีสติอยู่แล้วมีสมาธิอยู่แล้ว ขาดแต่ปัญญา
แต่พวกเราเป็นตรงกันข้ามกับท่าน เราขาดสติ มีปัญญามาก ฟังเทศน์ฟังธรรมกันไม่รู้กี่ ๑๐๐ กัณฑ์ แต่ไม่เป็นภาวนามยปัญญา เป็นสุตมยปัญญา ไม่ได้เข้าไปในใจ ไม่ได้พร่ำสอนอยู่ทุกเวลานาที ใจไปคิดเรื่องอื่น ไม่ยอมคิดเรื่องธรรมะ คิดแต่เฉพาะเวลาฟังเท่านั้น พอออกจากที่ฟังเทศน์แล้ว ก็ไปคิดเรื่องอื่นทันที คิดเรื่องเพื่อนฝูง เรื่องเที่ยว เรื่องทำภารกิจการงานต่างๆ ไม่คิดธรรมะเหมือนกับตอนที่ฟังเทศน์ฟังธรรม ยังไม่เป็นปัญญาที่แท้จริง ที่ต้องพิจารณาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มีสติคอยควบคุมให้พิจารณาอยู่ตลอดเวลา ถึงจะได้ผล ธรรมะที่ต้องเจริญให้มากที่สุดในตอนนี้ก็คือสติ พอมีสติแล้วจะพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ จะพิจารณาร่างกายก็จะอยู่กับการพิจารณา จะเข้าสู่ความสงบ สู่การปล่อยวาง อยู่ที่การเจริญสติ จึงอย่ามองข้ามการเจริญสติไป พยายามฝึกไว้ให้มาก สอนมาหลายครั้งแล้วว่า ตื่นขึ้นมาให้ตั้งสติ ให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ถาม การฝึกสตินี้ ควรฝึกให้ทำอะไรช้าๆหรือเปล่าคะ
ตอบ ทำภารกิจตามปกติ เดินไปไหนมาไหนก็เดินตามปกติ สติไวกว่าร่างกายหลาย ๑๐๐ เท่า ให้มีสติรู้อยู่กับร่างกาย ให้รู้ว่ากำลังอยู่กับร่างกายหรือเปล่า หรือกำลังคิดเรื่องอื่นแล้ว ถ้าคิดเรื่องอื่นก็ดึงกลับมาที่ร่างกาย ดึงกลับมาเรื่อยๆ ส่วนการทำงานของร่างกายก็ทำอย่างปกติ ไม่ต้องช้า ไม่เหมือนกับที่สอนกัน ให้ยกหนอ ก้าวหนอ วางหนอ ไม่จำเป็นต้องทำช้าขนาดนั้น
ถาม เวลาทำงานมีความรู้สึกว่า ทางโลกกับทางธรรมจะสวนกัน ทางธรรมให้ปล่อยวาง จะเสร็จหรือไม่เสร็จไม่เป็นไร แต่ทางโลกให้มีความรับผิดชอบ ต้องทำให้เสร็จ
ตอบ ทำด้วยสติ จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่ผิดพลาด ที่ผิดพลาดเพราะไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ มัวไปกังวลกับเป้าหมาย ก็เลยไม่ได้อยู่กับงาน ทำแบบผิดๆถูกๆ ยิ่งรีบก็ยิ่งผิด ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ขัดกันหรอกทางธรรมกับทางโลก ต้องมีสติทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม ถึงจะสำเร็จลุล่วงได้ ถ้าไม่มีสติก็จะผิดพลาด จะพลั้งเผลอ ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าทำถูกหรือไม่ ทางธรรมกับทางโลกถ้าเกี่ยวกับสตินี้ ไม่ขัดกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติมีความจำเป็นในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการงานทางโลกหรือการงานทางธรรม ต้องมีสติเสมอ ถึงจะทำได้อย่างไม่ผิดพลาด ถ้าไม่มีสติก็ทำไม่ได้ เวลาเมาเหล้าแล้วเย็บผ้าได้ไหม เย็บไม่ได้หรอก ต้องมีสติ
ถาม เวลากลับบ้านมาเหนื่อยๆ ควรเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ
ตอบ แล้วแต่จะพอใจ การเดินหรือการนั่งไม่ได้เป็นตัวปฏิบัติ ตัวที่ปฏิบัติก็คือตัวจิต จิตปฏิบัติได้ทั้งเดินหรือนั่ง ตัวที่จะทำให้ปฏิบัติได้ก็คือสติ ถ้าทำงานทั้งวันด้วยสติ พอกลับมาบ้านจะพุทโธได้ทันที จะสงบได้ทันที เพราะงานอื่นจะหายไปจากจิต เพราะเป็นอดีตไปหมดแล้ว จิตจะอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอย่างนั้น กลับมาบ้านแล้วยังเอางานมาที่บ้านด้วย เอาอดีตเข้ามาในปัจจุบัน ก็เลยภาวนาพุทโธไม่ได้ เพราะยังคิดถึงงาน เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติร่างกายอยู่ตรงไหนจิตก็อยู่ตรงนั้น ถ้ามีสติแล้วจะมีแต่ปัจจุบันอย่างเดียว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เกิดปั๊บก็ผ่านไปเลย สติจะดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปอดีต ไม่ให้ไปอนาคต เพราะปัจจุบันเป็นที่เกิดของเหตุและผล ผลไม่เกิดในอดีต ไม่เกิดในอนาคต เหตุก็ไม่เกิดในอดีต ไม่เกิดในอนาคต เหตุจะต้องเกิดในปัจจุบัน ผลก็จะต้องเกิดในปัจจุบัน เหมือนกับที่พระอานนท์ที่มีปัญหากับเรื่องอดีตเรื่องอนาคต อดีตก็คือคำทำนายของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสว่า อานนท์เธอจะบรรลุภายใน ๓ เดือน พระอานนท์ก็คิดถึงคำทำนายอยู่เรื่อยๆ แล้วก็มากังวลถึงเรื่องอนาคตว่า นี่ใกล้จะครบ ๓ เดือนแล้วยังไม่บรรลุเลย
พยายามเร่งความเพียรใหญ่ ก็ยังไม่สำเร็จ ใจก็เลยกลับไปกลับมาระหว่างอดีตกับอนาคต ตอนต้นก็เชื่อในคำทำนายของพระพุทธเจ้าว่าแม่นยำ แต่พอใกล้เวลาแล้วยังไม่บรรลุ ก็เลยเกิดความลังเลสงสัย จิตไม่ได้ภาวนา ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ทำจิตให้สงบเพื่อปล่อยวาง มัวแต่กังวลกับอดีตกับอนาคต พอใกล้จะสว่างก็เลยปลงว่า ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่มีทางบรรลุแล้ว ก็เลยหยุดปฏิบัตินอนดีกว่า พอจะนอนตอนนั้นก็หลุดเลย พอปล่อยอดีตปล่อยอนาคต กลับมาอยู่ในปัจจุบัน ก็ปล่อยหมด ก็หลุดได้ สติจะเป็นตัวดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นที่เกิดของทั้งเหตุและผล จะทำอะไรก็ต้องทำในปัจจุบันนี้เท่านั้น มรรคผลนิพพานก็อยู่ในปัจจุบันนี้ การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานก็อยู่ในปัจจุบันนี้ อริยสัจ ๔ ก็อยู่ในปัจจุบันนี้ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคก็อยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้อยู่ในอดีต ไม่ได้อยู่ในอนาคต ทุกอย่างอยู่ในปัจจุบันหมด แม้กระทั่งพวกเราก็อยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่น ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ที่ไหน อดีตของเราก็ไม่มี อนาคตของเราก็ไม่มี เราอยู่ตรงนี้ แต่เราส่งไปคิดถึงอดีต ส่งไปคิดถึงอนาคต
ถาม มันเร็วมากปัจจุบันจิต พอปุ๊บหนึ่งก็เป็นอดีตแล้ว
ตอบ ปัจจุบันไม่เร็ว ปัจจุบันมันนิ่ง แต่เหตุการณ์กับเวลามันเคลื่อนไปเร็วมาก พอจิตไม่นิ่ง จิตตามไปกับเหตุการณ์ ก็เลยเหมือนกับว่าปัจจุบันมันเร็ว พอจิตนิ่งแล้ว ก็จะรู้ว่าปัจจุบันมันนิ่ง เหตุการณ์ต่างๆต่างหากที่ไม่นิ่ง มันผ่านมาผ่านไป พอจิตไม่นิ่งมันก็วิ่งไปวิ่งมา ระหว่างปัจจุบันอดีตอนาคต สับสนไปหมด ก็เลยไม่สงบ ก็เลยไม่เห็นภาพจริง ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา แต่ถ้านิ่งแล้ว จะเห็นว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา เราไปบังคับไปควบคุมเขาไม่ได้ เขามาเขาไป เหมือนนั่งอยู่ที่ริมน้ำเห็นสิ่งต่างๆที่ลอยมากับกระแสน้ำ เรือก็ลอยมา ขยะก็ลอยมา อะไรต่างๆก็ลอยมา เราก็ได้แต่นั่งดูเท่านั้น เขาก็ลอยมาลอยไป ถ้าดูเฉยๆแล้วไม่ไปมีอะไรกับเขา ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าดูแล้วไปชอบเข้า ก็จะเสียดายที่มาแล้วก็ไป เกิดความอาลัยอาวรณ์ เกิดความโหยหวนอยากจะเห็นอีก ก็เป็นความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าใจอยู่นิ่งๆ ปล่อยให้ทุกอย่างมาแล้วไป ก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร ถ้าจิตเป็นสมาธิมันจะปล่อยวาง ถ้ากิเลสจะดึงจิตให้ไปยึดติด ก็ต้องใช้ปัญญาตัด