กัณฑ์ที่ ๔๐๔ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒
นิสัย สันดาน
อะไรที่เราทำมา จะติดเป็นนิสัยมา ทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ถ้าเคยทำด้วยความโลภโมโทสันมา ก็จะมีนิสัยโลภโมโทสันติดมา ถ้าเคยทำด้วยเหตุด้วยผล ก็จะมีเหตุมีผลเป็นนิสัยติดมา จะพิจารณาว่าถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะเกิดผลอะไรตามมา ก็จะเป็นปัญญาบารมี ถ้าปลูกฝังความโลภโมโทสัน ก็จะเป็นนิสัยไม่ดี หรือสันดานไม่ดี ถ้าทำด้วยเหตุด้วยผล ใคร่ครวญด้วยสติด้วยปัญญา ก็จะเป็นปัญญาบารมี ถ้าทำทานอยู่เรื่อยๆ มีอะไรก็ไม่หวงเก็บเอาไว้ มีอะไรที่เกินความจำเป็น มีมากกว่าที่จะใช้ได้ ก็แบ่งให้ผู้อื่นไป ก็จะเป็นทานบารมีติดเป็นนิสัยมา ถ้าให้ทานด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ก็จะทำให้เกิดเมตตาบารมีตามมา ถ้าไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ก็จะได้ศีลบารมีตามมาอีก แล้วก็จะเกิดเนกขัมมบารมีตามมา เพราะเวลามีศีลแล้วใจจะสงบกว่าตอนที่ไม่มีศีล ถ้าไม่รักษาศีลจิตใจจะวุ่นวาย กับการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควร เกิดความวิตกกังวล ถ้ามีศีลก็จะไม่เบียดเบียนไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็จะไม่วิตกกังวลหวาดกลัว จิตใจจะสงบกว่าตอนที่ไม่มีศีล เหตุที่ไม่มีศีลหรือรักษาศีลไม่ได้ เพราะไม่แบ่งปัน ไ่ม่ทำทาน คิดแต่ประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ของผู้อื่น ก็จะขาดความเมตตา บารมีเหล่านี้จึงเกี่ยวข้องกัน ทานบารมี เมตตาบารมี ศีลบารมี แล้วก็จะโยงไปหาเนกขัมมบารมี เพราะเมื่อจิตใจมีความสงบจากทานบารมี จากเมตตาบารมี จากศีลบารมีแล้ว ก็อยากจะเพิ่มความสงบให้มากขึ้น ถ้าได้รับการชี้แนะจากผู้รู้ ก็จะรู้ว่าต้องเจริญเนกขัมมบารมี ต้องสละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางกามสุข แล้วหันมาพัฒนาความสุขที่เกิดจากความสงบ
ศีลเนกขัมมะก็คือศีล ๘ มาจากศีล ๕ อยู่ ๔ ข้อ ส่วนศีลข้อที่ ๓ คือกาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี ก็จะเปลี่ยนเป็นอพรหมจริยาฯ ตอนที่ถือศีล ๕ ก็ยังหาความสุขจากคู่ครองได้อยู่ พอต้องการเอาความสุขที่ดีกว่า ที่เกิดจากความสงบของจิต ก็ต้องตัดศีลข้อกาเมฯไป มาถืออพรหมจริยาฯแทน คือศีลพรหมจรรย์ พรหมจรรย์หมายถึงไม่เสพกามหลับนอนกับคู่ครองของตน แล้วก็เพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ ข้อที่ ๖ ตัดความสุขจากการรับประทานอาหาร ให้รับประทานเพื่อการยังชีพ ไม่ได้เพื่อความสุขของกิเลส เพื่อรสชาติที่ถูกปากถูกใจ รับประทานอย่างไม่มีขอบเขต เวลาไหนก็ได้ ถ้าไม่ถือศีลข้อ ๖ นี้ จะรับประทานตั้งแต่ตื่นจนหลับเลยก็ได้ เป็นความสุขของหมู จะอิ่มหมีพีมัน แต่หมูดีกว่าคนตรงที่เวลาตายไป เนื้อของเขายังขายได้ แต่คนตายไปแล้วเนื้อขายไม่ได้ คับโลงศพ ต้องสร้างโลงพิเศษไว้บรรจุ เสียเงินเพิ่มขึ้นไปอีก สร้างภาระให้แก่ผู้อื่น นี่คือศีลข้อที่ ๖ ไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ตัดความสุขจากการรับประทานอาหารไป ปิดประตูนี้ กิเลสออกช่องนี้ไม่ได้ หาความสุขจากการรับประทานไม่ได้แล้ว ให้รับประทานถึงเที่ยงวันเป็นอย่างมาก ถ้าอยากจะให้เข้มข้นกว่านี้ ก็รับประทานมื้อเดียว ถ้าจะให้เข้มกว่านี้ก็ไม่รับประทานเลย จะทำให้มีสติดี เวลานั่งสมาธิไม่ง่วงเหงาหาวนอน ถ้ารับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ จะนั่งสมาธิไม่ได้ จะสัปหงก เดินจงกรมก็เดินไม่ไหว ขี้เกียจ เพราะท้องหนัก ไม่มีกำลัง จะหาแต่หมอนอย่างเดียว ก็จะเสียเวลากับการหลับนอน นี่คือวิธีสละความสุขจากการรับประทานอาหาร
ศีลข้อที่ ๗ ก็เกี่ยวกับการหาความสุข จากการร้องรำทำเพลง ดูภาพยนตร์ การบันเทิงต่างๆ ที่ให้ความสุขเพลิดเพลินในขณะที่ได้สัมผัส พอผ่านไปแล้วก็เหลือแต่ความว้าเหว่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว อยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องไปอยู่ตามสถานที่ที่มีแสงสีเสียง ไม่กล้าไปภาวนาตามสถานที่สงบสงัดวิเวก เพราะกลัวความเหงาความว้าเหว่ ถ้าถือศีลข้อนี้ก็ต้องละการหาความสุขจากความบันเทิงต่างๆ ไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ใช้เครื่องสำอางหรือน้ำหอม ที่เป็นความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส อาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำที่สะอาดฟอกด้วยสบู่ ชำระสิ่งสกปรกที่ถูกขับออกมา และฝุ่นต่างๆที่มาเกาะ ก็ใช้ได้แล้ว ถ้าไม่มีสบู่อาบน้ำเฉยๆก็ได้ ก็พอที่จะกำจัดสิ่งสกปรกต่างๆคราบต่างๆที่ติดอยู่กับร่างกายได้ เท่านี้ก็พอแล้วสำหรับการรักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่ต้องใช้น้ำยาต่างๆมาเคลือบบำรุงผิวบำรุงผม นี่คือการตัดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ประการสุดท้ายก็คือการตัดความสุขจากการหลับนอน ไม่หลับนอนมากจนเกินไป ถ้านอนบนฟูกหนาๆจะนอนได้นาน ถ้านอนบนพื้นแข็งๆปูด้วยเสื่อหรือผ้า ก็จะหลับไม่นาน หลับเท่าที่ร่างกายต้องการ พอร่างกายได้พักผ่อนเท่าที่จำเป็นแล้วก็จะตื่นขึ้นมา พอตื่นแล้วก็จะไม่อยากจะนอนต่อ เพราะพื้นมันแข็ง ถ้าเป็นฟูกหนาๆก็จะติดกับสัมผัสที่นิ่มนวลของฟูกหนาๆ ก็จะหลับต่อไปอีกรอบหนึ่ง จะเสียเวลาปฏิบัติไป เพราะเวลาไม่หยุดเวลาหลับนอน เวลาจะเคลื่อนไปเรื่อยๆ
นักปฏิบัติจึงไม่ควรหลับนอนเกินวันละ ๔ ชั่วโมง ตามหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมา จะทรงกำหนดเวลาของการปฏิบัติไว้ดังนี้ ตอนค่ำตั้งแต่ ๖ โมงถึง ๔ ทุ่ม ให้นั่งสมาธิเดินจงกรม ๔ ทุ่มถึงตี ๒ ให้พักผ่อนหลับนอน ตี ๒ ให้ตื่นขึ้นมาบำเพ็ญภาวนาต่อ จนถึง ๖ โมงเช้า แล้วก็ออกบิณฑบาต ทรงสอนให้พวกนักบวชพระภิกษุปฏิบัติอย่างนี้ พวกที่เป็นนักปฏิบัตินักภาวนา ก็ต้องถือว่าตนเป็นนักบวชเหมือนกัน ถึงแม้ไม่ได้บวชทางร่างกาย คือไม่ได้โกนศีรษะ ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาว หรือนุ่งเหลืองห่มเหลือง แต่ใจเป็นนักปฏิบัติ ก็ควรใช้หลักการนี้ ควรปฏิบัติตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลังจากฉันจังหันแล้ว กลับไปที่พักก็ไม่ควรนั่งสมาธิ เพราะจะง่วงนอน ควรเดินจงกรมไปถึงประมาณเที่ยงวัน แล้วก็พักสักชั่วโมงหนึ่ง จะนั่งสมาธิหรือจะนอนก็ได้ พอลุกขึ้นมาแล้ว ก็นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมต่อ จนถึงเวลาปัดกวาดฉันน้ำปานะ เสร็จแล้วก็ไปสรงน้ำ พอ ๖ โมงเย็นก็บำเพ็ญต่อ เดินจงกรมนั่งสมาธิไปจนถึง ๔ ทุ่มก็พักหลับนอน ๔ ชั่วโมง พอตื่นขึ้นมาบำเพ็ญต่อ จะเป็นอย่างนี้ไปทุกวัน นักปฏิบัติจะไม่มีเวลาว่างจากการปฏิบัติ ถึงแม้จะบิณฑบาตหรือทำกิจอะไรต่างๆ ก็จะมีสติคอยกำกับจิต ไม่ให้ไปเถลไถลไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับกิจที่กำลังทำอยู่ เหมือนพ่อแม่ส่งลูกไปโรงเรียน ต้องคอยกำกับดูว่าไปโรงเรียนจริงหรือไม่ ไม่ใช่ออกจากบ้านแล้วก็แวบไปตามสถานบันเทิง ไปตามศูนย์การค้าต่างๆ
นักปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องมีสติคอยควบคุมใจ ให้อยู่กับภารกิจที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน กำลังเดินกำลังยืนกำลังนั่งก็ให้มีสติเฝ้าอยู่ ให้อยู่กับการเดินการยืนการนั่ง กำลังบิณฑบาตก็ให้อยู่กับการบิณฑบาต พอกลับมาที่วัดมาเตรียมอาหารเพื่อฉัน ก็ให้มีสติอยู่กับการเตรียมอาหาร ทุกขณะเวลาให้อยู่กับภารกิจการงานที่กำลังทำอยู่ ไม่ปล่อยให้ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ เรื่องดีชั่วต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าจิตยังเล็ดลอดออกไปคิดได้อยู่ ก็จะใช้คำบริกรรมกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งก็ได้ คือมีสติอยู่กับภารกิจที่กำลังทำอยู่ แล้วก็บริกรรมพุทโธไปด้วย จะได้ไม่มีช่องว่างให้เล็ดลอดออกไปคิดได้ ถ้าสติไม่มีกำลังพอ จิตก็ยังสามารถเล็ดลอดออกไปคิดเรื่องอื่นได้ ต้องเอาพุทโธมาปิดช่องว่างนี้ บริกรรมพุทโธๆไป ถ้าทำอย่างนี้ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จะมีสติที่แก่กล้ามีกำลังมาก พอสั่งให้จิตอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นอยู่กับอานาปานสติ อยู่กับลมหายใจเข้าออก จิตก็จะไม่ไปที่อื่นจะไม่เถลไถล เพราะมีสติคุมอยู่อย่างใกล้ชิด ไม่มีช่องว่างให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ถ้ามีสติขนาดนี้แล้วนั่งไม่นานจิตก็จะสงบ เพียง ๕ นาที ๑๐ นาทีจิตก็จะสงบได้
ถ้านั่งสมาธิมาเป็นปีๆแล้วยังไม่เคยสงบเลย ก็ควรพิจารณาเรื่องสติ ว่ามีสติควบคุมบังคับ ให้จิตอยู่กับงานที่กำหนดให้ทำหรือไม่ ถ้าดูลมแล้วยังคิดเรื่องอื่นอยู่ ก็แสดงว่าสติมีกำลังไม่มากพอ ถ้าบริกรรมพุทโธแล้วยังไปคิดเรื่องอื่น ก็ต้องสวดมนต์ไปก่อน หรือฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน เพื่อสร้างสติขึ้นมา เพราะกิเลสไม่ชอบอยู่กับสิ่งที่จำเจ จะเบื่อเร็ว ถ้ามีอะไรให้ได้พิจารณาตาม เช่นการฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังแล้วก็เกิดความสนใจขึ้นมา ก็จะเกาะติดอยู่กับการฟัง จะสร้างสติขึ้นมา เป็นการฝึกภาวนาแบบง่ายๆ เวลาเริ่มต้นภาวนาจิตจะหยาบ จะฟุ้งซ่าน จะให้อยู่กับลม หรืออยู่กับพุทโธ จะอยู่ไม่ได้ ก็ให้ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน ฟังไปจนรู้สึกเย็นสบายก็หยุดฟัง แล้วกลับมาดูลม หรือบริกรรมพุทโธๆ ดูว่าจะแวบไปที่อื่นหรือไม่ ถ้าสงบตัวลงแล้วจะไม่ไป จะอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจเข้าออก ในที่สุดก็จะสงบได้ ถ้าไม่ฟังเทศน์ฟังธรรมจะสวดมนต์ไปก็ได้ สวดพระสูตรที่เราจำได้ จะเป็นคำแปลก็ได้ จะเป็นคำบาลีก็ได้ จะเป็นคำอังกฤษก็ได้ ได้ทั้งนั้น จะเป็นการกล่อมจิตให้หายฟุ้งซ่าน ให้ละเอียดลง ให้สงบตัวลง ถึงแม้จะไม่สงบนิ่ง แต่จะทำให้การแกว่งหรือการหมุนของจิตช้าลงเบาลงไป ก็จะอยู่กับลมได้ ไม่นานก็จะนิ่งจะสงบ
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นที่สติเป็นหลัก สติเป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการภาวนา ของการปฏิบัติ ข้ามขั้นไม่ได้ จะข้ามสติไปไม่ได้ ยกเว้นว่ามีสติแล้ว พอนั่ง ๕ นาทีก็รวมลง นักปฏิบัติบางท่านเป็นอย่างนั้น บางท่านพุทโธๆไปไม่นานจิตก็รวมลง อย่างครูบาอาจารย์บางท่าน พอเริ่มนั่งก็รวมลงได้ เพราะมีสติ ได้พัฒนาสติมาอย่างต่อเนื่อง พอเอามาใช้กับงานภาวนาทำจิตใจให้สงบ จิตก็สงบลงทันที อย่างพระพุทธเจ้าเคยทรงบำเพ็ญความสงบมาหลายภพหลายชาติแล้ว พอมีโอกาสอยู่ตามลำพังพระองค์ ไม่ต้องกำหนดอะไร จิตก็รวมลง เข้าสู่ความสงบได้ ถ้าอยู่กับผู้คนจิตจะต้องคิดปรุงอยู่ตลอดเวลา พอไม่มีคนไม่มีกิจมาเกี่ยวข้อง อยู่เฉยๆตามลำพัง อยู่ในความวิเวก พอกายวิเวกจิตก็จะวิเวกขึ้นมาทันที ถ้าจิตมีความวิเวกอยู่เดิมแล้วก็จะปรากฏขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องบริกรรมพุทโธๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก เป็นเนกขัมมบารมีที่เคยสร้างมาในอดีต ติดมากับใจ การเจริญเนกขัมมบารมีก็เพื่อเจริญความสงบนี้เอง ถ้าตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะได้แล้ว พอภาวนาจิตก็จะสงบ ความสงบนี้ก็จะติดไปกับใจ เกิดภพไหนชาติไหน ก็จะมีนิสัยรักความวิเวก รักความสงบ เบื่อกับพวกแสงสีเสียงต่างๆ
นี่คือเรื่องของบารมีที่ได้บำเพ็ญกันมา พวกเราจึงมีความแตกต่างกันตรงนี้ เป็นบัวต่างเหล่ากัน เพราะบำเพ็ญบารมีมาต่างกัน พวกที่บำเพ็ญบารมีมามากก็เป็นบัวเหนือน้ำ รอแสงอาทิตย์ส่องแสงให้บัวบาน เป็นพวกที่รอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ แล้วมาแสดงธรรมโปรด ซึ่งในระยะ ๗ เดือนแรกของการเผยแผ่ ปรากฏมีพระอรหันต์อย่างน้อย ๑๒๕๐ รูป พวกนี้เป็นพวกบัวเหนือน้ำ ที่รอแสงอาทิตย์ พอแสงอาทิตย์คือพระพุทธเจ้าได้ปรากฏขึ้นมาในโลกนี้แล้ว และได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอน ซึ่งเป็นแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว เป็นเหมือนแสงอาทิตย์ พอส่องไปที่จิตของบัวเหล่านี้ ก็จะบานขึ้นมาทันที อย่างง่ายดาย เราไปเปรียบเทียบกับพวกนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีบารมีระดับนั้น เราฟังเทศน์ฟังธรรมกันไม่รู้กี่ ๑๐ กี่ ๑๐๐ ครั้งแล้ว มันบานหรือยัง จะบานได้อย่างไร เพราะยังอยู่ใต้น้ำ แสงอาทิตย์ไม่สามารถทะลุทะลวงลงไปได้ ถ้าเป็นบัวเหนือน้ำ ก็คงไม่ได้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันแล้ว คงไปสั่งสอนผู้อื่นต่อแล้ว เป็นครูเป็นอาจารย์ไปแล้ว นี่คือความแตกต่างของบุญบารมีของแต่ละบุคคล จึงอย่าไปกังวลกับผู้อื่น ถ้าเขาเร็วกว่าหรือช้ากว่า เราไปทำอะไรให้เขาไม่ได้ นอกจากจะให้กำลังใจเขา หรือหาธรรมะให้เขา เป็นเหมือนปุ๋ยบำรุงบารมีให้เจริญเติบโต
ถ้ายังไม่มีบารมีก็ควรสร้างให้มีขึ้นมา สร้างทานบารมี เมตตาบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ส่วนปัญญาบารมีนี้ ในเบื้องต้นต้องอาศัยการศึกษา การได้ยินได้ฟังจากผู้รู้ทั้งหลาย จะได้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร จะรู้ว่าต้องบำเพ็ญทานบารมี บำเพ็ญเมตตาบารมี บำเพ็ญศีลบารมี บำเพ็ญเนกขัมมบารมี จะรู้ว่าการที่จะบำเพ็ญบารมีเหล่านี้ได้ จะต้องมีอธิษฐานบารมีเป็นผู้นำ อธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ หรือการตั้งเป้าหมายของชีวิต ว่าจะทำอะไรต่อไปนี้ ถ้าตั้งจิตอธิษฐานว่า ต่อไปนี้จะทุ่มเทชีวิตจิตใจต่อการบำเพ็ญบารมีต่างๆ การกระทำต่างๆของเรา ก็จะมุ่งมาทางนี้ทันที ถ้าเราไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะทำอย่างนี้ ก็จะไม่ได้ทำ อย่างพวกเราที่มาที่นี่กันอย่างต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา ๔ ปีกว่าแล้ว ก็เพราะมีอธิษฐานบารมีกัน มีความตั้งใจว่าจะมาที่นี่เดือนละ ๑ ครั้ง ถ้าไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ พอถึงเวลาที่จะมา ก็จะไม่ได้มา เพราะติดธุระติดภารกิจอื่น หรือขี้เกียจ ไม่อยากจะมา อยู่บ้านดูโทรทัศน์ไป เพราะไม่ได้ตั้งใจไว้ แต่ถ้าตั้งใจไว้แล้วก็จะมาได้ การตั้งใจอย่างเดียวก็ยังไม่แน่ว่าจะมาหรือไม่ เพราะอาจจะมีเหตุจำเป็นที่ทำให้มาไม่ได้ก็ได้ เช่นมีธุระอื่นมาดึงเราไป เราจึงต้องสร้างสัจจบารมีมาคอยกับกำ สัจจะคือความจริงใจต่อความตั้งใจ ถ้าได้ตั้งใจอะไรไว้แล้ว จะไม่เลิกความตั้งใจนั้น ถึงจะเรียกว่ามีสัจจะ ถ้าเลิกด้วยการอ้างว่ามีเหตุจำเป็นอย่างอื่น อย่างนี้ก็จะขาดสัจจบารมี การตั้งจิตอธิษฐานตั้งเป้า ก็จะไม่เป็นไปตามที่ได้ตั้งไว้
แต่ถ้ามีสัจจะด้วยมีอธิษฐานด้วยแล้ว ก็เหมือนกับใส่กุญแจล็อกไว้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นอื่นไปได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งสัจจอธิษฐานไว้ ตอนที่ทรงนั่งประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ทรงตั้งสัจจอธิษฐานว่า จะนั่งภาวนาอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์นี้ไปจนกว่าจะตรัสรู้ ถ้าไม่ตรัสรู้ก็ยอมตาย ยอมให้ร่างกายนี้ตายไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ถ้ายังไม่ตรัสรู้ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้ไป นี่คือเรื่องของอธิษฐานบารมีและสัจจบารมี เป็นบารมีที่สำคัญต่อการไปสู่เป้าหมาย ถ้าไม่มีอธิษฐานบารมี ก็เหมือนเวลาขับรถแล้วไม่รู้จะไปไหน ออกจากบ้านถามตัวเองว่าวันนี้จะไปไหนดี แสดงว่าไม่มีเป้าหมาย แต่ไม่อยากจะอยู่บ้าน เบื่ออยู่ที่บ้านก็เลยขับรถออกจากบ้าน ขับไปแล้วก็ยังคิดอยู่ว่าวันนี้จะไปไหนดี ไปเหนือดีหรือไปใต้ดี ไปหาคนนั้นดีหรือไปหาคนนี้ดี แสดงว่าไม่มีอธิษฐานบารมี ไม่มีสัจจบารมี ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ว่าวันนี้จะมาที่นี่ ถึงเวลาก็เดินทางมาที่นี่ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ไม่ว่าจะมีใครมาชวนให้ไปทำอะไรอย่างอื่นก็ไม่ไป ยกเว้นมันสุดวิสัยจริงๆ น้ำท่วมขับรถมาไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลหรือนอนอยู่ที่บ้าน ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียสัจจะ แต่ถ้าตั้งใจจะมาที่นี่แต่พอถึงเวลาแล้วไปที่อื่น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัจจะ แต่ถ้ามีอธิษฐานบารมีมีสัจจบารมีแล้ว ก็ต้องมีวิริยบารมี ที่จะสนับสนุนให้ทำตามที่ได้ตั้งใจไว้ พอถึงเวลาก็เตรียมเนื้อเตรียมตัวออกจากบ้าน เดินทางมาสู่จุดหมายปลายทาง จะยากจะลำบากอย่างไร รถจะติดยางจะแตกหรือมีอุปสรรคอะไรต่างๆ ก็ต้องแก้ไขฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ก็ต้องมีขันติบารมีเป็นผู้สนับสนุน บารมีที่คอยสนับสนุนคือ อธิษฐานบารมี สัจจบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี ไม่ว่าจะสร้างทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี เมตตาบารมี ปัญญาบารมี หรืออุเบกขาบารมี ก็ต้องมีบารมีเหล่านี้คอยสนับสนุน
อุเบกขาบารมีก็คือการทำจิตให้สงบ ให้นิ่ง เป็นอุเบกขา เป็นเอกกัตคตารมณ์ ต้องมีความตั้งใจที่จะอยู่ที่สงบสงัดวิเวก ต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ต้องตัดกามฉันทะความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องตัดการคลุกคลีกัน ไม่สมาคมนั่งคุยกันให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ให้ปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังอย่างต่อเนื่อง เจริญสติอย่างต่อเนื่อง ไม่นานก็จะได้อุเบกขาบารมี ก็จะได้ครบทุกบารมี เมตตาบารมีก็พูดแล้ว ที่โยงกับทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมีก็เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม ศึกษาเล่าเรียนจากผู้รู้ แล้วนำเอามาใคร่ครวญอย่างต่อเนื่อง เอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เช่นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตาย ล่วงพ้นการพลัดพรากจากกันไม่ได้ ให้คิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ได้ยินได้ฟังเท่านั้น ควรจะคิดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเลย เพราะเป็นการเจริญปัญญา ถ้าคิดอย่างนี้ทุกลมหายใจเข้าออก ก็จะเป็นภาวนามยปัญญา ก็จะตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่้นในร่างกายได้ จะไม่กลัวความแก่ความเจ็บความตาย ไม่กลัวความพลัดพรากจากสิ่งต่างๆจากบุคคลต่างๆ ไม่เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ร้องห่มร้องไห้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมา เพราะใจเตรียมรับอยู่ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก ที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครกำหนดเวลาได้ จะตายเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ถึงเวลาก็เกิดขึ้นมา แม้แต่ตัวเราเองจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ เราก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีปัญญาคอยรักษาใจอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว เวลาเกิดขึ้นมาใจจะเป็นเหมือนปกติ ไม่ตื่นเต้น เหมือนกับลมพัดอย่างนี้ ก่อนหน้านี้ลมไม่ได้พัดตอนนี้ลมพัดแล้ว เราก็ไม่ได้ไปตื่นเต้นตกใจแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ความแก่ความเจ็บความตาย ก็เป็นเหมือนลมพัด เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว จะไม่ตกอกตกใจ จะไม่หวาดกลัว จะเป็นปัญญาอย่างแท้จริง
ปัญญาที่ตัดกิเลสได้ดับทุกข์ได้ ต้องเป็นภาวนามยปัญญา ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก ยกเว้นในขณะที่พักจิตในสมาธิ ที่มีความจำเป็นต้องพักตามเวลา เพราะพิจารณามากๆแล้วจิตจะหลง จะฟุ้ง ไม่แหลมคม เหมือนกับมีดถ้าใช้มากๆแล้วจะทื่อ ไม่คม ต้องเอามีดไปลับก่อน จิตก็เป็นเหมือนเครื่องมือของปัญญา เป็นมีด พอใช้ไปมากๆแล้วก็จะทื่อ ต้องเอาจิตไปลับในสมาธิ ไปพักในสมาธิ ตอนนั้นก็ไม่ต้องกำหนดเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย ตอนนั้นต้องการให้นิ่งอย่างเดียว ไม่ให้คิดปรุงแต่งอะไรเลย วิธีไหนที่ถนัดทำจิตให้สงบก็ใช้วิธีนั้น ถ้าถนัดกับพุทโธก็ใช้พุทโธ ถ้าถนัดกับอานาปานสติก็ใช้อานาปานสติ ให้จิตได้พัก พอจิตสงบก็ปล่อยให้พักไปตามที่จิตต้องการ พออิ่มแล้วก็จะถอนออกมาจากสมาธิเอง พอถอนออกมาก็นำเอามาพิจารณา เรื่องความแก่ความเจ็บความตายต่อ ทำไปจนกว่าปัญหาความแก่ความเจ็บความตายจะหมดไปจากใจ ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ไม่วิตกกังวลหวาดกลัวเศร้าโศกเสียใจอีกต่อไป ถ้าอยากจะรู้ว่าหมดจริงหรือไม่ ก็ต้องไปหาสนามสอบดู สนามที่ท้าทายต่อความเป็นความตายดู ดูว่าจะนิ่งเฉย ไม่หวั่นไหวไม่หวาดกลัวหรือไม่ เพราะเวลาที่บำเพ็ญอยู่นี้ อยู่ในสนามที่ไม่ท้าทายต่อความเป็นความตายเท่าที่ควร ก็ยังไม่รู้ว่าจะตัดได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในสภาพที่ท้าทายต่อความเป็นความตาย ทำการบ้านกับเข้าห้องสอบไม่เหมือนกัน ตอนนี้เราพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย อย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก ก็เป็นเหมือนกับการทำการบ้าน เพราะยังไม่ได้เจอความตายใกล้ตัวจริงๆ แต่ถ้าไปอยู่ในสถานที่ ที่มีภัยที่จะคุกคามต่อชีวิตได้ ตอนนั้นจะได้รู้ว่าปล่อยวางได้หรือไม่
ปัญญาบารมีต้องเป็นภาวนามยปัญญา การได้ยินได้ฟังเป็นสุตตมยปัญญา การใคร่ครวญบางครั้งบางคราวบางเวลาเป็นจินตามยปัญญา เช่นพอนึกถึงก็เอามาพิจารณา แล้วก็ไปทำภารกิจอื่น ก็ไม่ได้พิจารณา พอว่างเราก็กลับมาพิจารณาอีก อย่างนี้ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา เป็นเพียงจินตามยปัญญา แต่ถ้าพิจารณาอยู่อย่างต่่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา พอมีภาวนามยปัญญาแล้วก็ไปเข้าห้องสอบดู ดูว่าปล่อยได้จริงหรือไม่ ดับทุกข์ได้จริงหรือไม่ พอปล่อยได้ดับได้แล้ว งานชิ้นนี้ก็หมดไป ไม่จำเป็นต้องทำอีกต่อไป ปัญหานี้ไม่เป็นปัญหาแล้ว เรื่องของร่างกายที่เกี่ยวกับความแก่ความเจ็บความตาย ก็หมดปัญหาไป ทั้งของเราเองและของผู้อื่น ส่วนเรื่องของร่างกายที่ยังต้องวิเคราะห์ต่อ ก็คือเรื่องอสุภะความไม่สวยไม่งาม ที่จะดับราคะตัณหาหรือกามตัณหา การพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ไม่ได้ดับราคะตัณหา ยังมีความอยากในเรื่องของเพศสัมพันธ์อยู่ ถ้าพิจารณาอสุภะจนเห็นอย่างต่อเนื่อง ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าไม่สวยไม่งาม มีสิ่งปฏิกูลต่างๆ มีสิ่งไม่สวยงามต่างๆ มีอวัยวะต่างๆ เช่นตับไตไส้พุงต่างๆอยู่ในร่างกาย มีโครงกระดูกซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง ถ้าเห็นอย่า่งนี้แล้ว ก็จะตัดกามตัณหาหรือราคะตัณหาได้ ถ้าตัดได้แล้วเรื่องของราคะตัณหาก็จะหมดไป ต้องพิจารณาธาตุ ๔ ให้เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เรื่องของร่างกายก็มีอยู่แค่นี้ ข้อสอบของร่างกายก็มี ความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน อสุภะกับปฏิกูล ดินน้ำลมไฟ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา พอผ่านร่างกายไปได้แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาร่างกายอีกต่อไป เพราะได้เรียนจบวิชานี้แล้ว ได้สอบผ่านแล้ว
วิชาที่ต้องเรียนต่อก็คือวิชาจิต เพราะชีวิตมี ๒ ส่วน มีกายมีจิต ปัญหาที่เกิดจากกายนี้ก็หมดไปแล้ว เหลือแต่ปัญหาที่เกิดจากจิต ก็มีเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณและจิตเอง นี่คืองานที่ต้องทำต่อด้วยการเจริญปัญญา พอผ่านจิตไปได้แล้ว งานทั้งหมดก็จะสิ้นสุดลง ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับกายกับจิตก็จะหมดไป การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการก็จะสิ้นสุดลง ได้สัมฤทธิ์ผลแล้ว คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด สิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย อยู่ที่การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ถ้ายังไม่ได้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ บารมีทั้ง ๑๐ ที่ได้บำเพ็ญมาก็ไม่ได้สูญหายไปไหน เพราะติดอยู่กับใจ ไม่ได้อยู่กับกาย เวลากายตายไป บารมีไม่ได้หายไปกับร่างกาย เพราะบารมีอยู่กับจิต จิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย บารมีไม่สูญหายไปไหน พอจิตได้ร่างกายใหม่ ก็สามารถบำเพ็ญต่อ นี่แหละที่ทำให้พวกเรามีบารมี มีความสามารถแตกต่างกัน เพราะบารมีที่ได้บำเพ็ญมาในอดีตแตกต่างกัน ถึงแม้จะมาเกิดพร้อมกันเป็นพี่น้องฝาแฝดก็ตาม จิตแต่ละดวงก็มีบารมีมาไม่เหมือนกัน ยกเว้นเป็นความบังเอิญที่จิตที่ได้ร่างแฝดมีบารมีเท่ากัน เช่นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ แต่ท่านไม่ได้เป็นฝาแฝดแต่เป็นเพื่อนสนิทกัน ได้บำเพ็ญบารมีมาพอๆกัน พร้อมที่จะบรรลุได้พร้อมๆกัน พวกเราจึงอย่าท้อแท้ อย่าเสียดายกับสิ่งต่างๆที่ต้องสละ เพื่อบำเพ็ญบารมี เพราะบารมีไม่สูญหายไป แต่สิ่งต่างๆที่เราเสียดายนั้น สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากเขาไปอยู่ดี สูญเสียไปอยู่ดี จะไม่ติดไปกับใจ ควรเอาสิ่งต่างๆที่เราเห็นว่ามีค่านี้ มาแปลงให้เป็นบารมีจะดีกว่า จะได้ติดไปกับใจ
ถาม ถ้าเป็นนิสัยดีเรียกว่าบารมี ถ้านิสัยไม่ดีเรียกว่าสันดาน
ตอบ การกระทำต่างๆที่เราได้ทำมา ถ้าฝังไม่ลึกก็เป็นนิสัย ถ้าฝังลึกก็เป็นสันดาน แก้สันดานยากกว่าแก้นิสัย นิสัยแก้ง่ายกว่า เหมือนกับปักเสาลงไปในดิน ถ้าไม่ลึกก็ถอนง่ายกว่า ถ้าลึกมากก็ถอนยากกว่า แต่ไม่มีอะไรที่จะถอนไม่ได้
ถาม เรื่องอธิษฐานบารมีกับสัจจบารมี ฟังดูใกล้เคียงกัน สัจจะเป็นเครื่องมือของอธิษฐานหรือเปล่า
ตอบ สัจจะคือความจริงใจ ส่วนอธิษฐานเป็นการตั้งใจ เช่นตั้งเป้าว่าปีนี้จะเกษียณ ถ้ามีสัจจะ จะล่อให้ทำงานต่อ ก็จะไม่ทำ ถ้าไม่มีสัจจะก็เปลี่ยนใจได้ ถ้าขอให้ทำต่อ ก็อ้างว่าเมตตาสงสาร ก็จะทำต่อ อย่างนี้แสดงว่าไม่มีสัจจะ คนบางคนชอบตั้งใจอยู่เรื่อย พรุ่งนี้จะทำนั่นพรุ่งนี้จะทำนี่ พอถึงเวลากลับไม่ทำ แสดงว่าไม่มีสัจจะ มีแต่อธิษฐาน ถ้าทำตามที่ได้ตั้งใจไว้ แสดงว่ามีสัจจะมีอธิษฐาน สัจจะนี้ไม่ได้หมายถึงกับตัวเราเท่านั้น กับผู้อื่นก็ต้องมีสัจจะ รับปากรับคำกับใครไว้แล้ว ก็ต้องรักษาสัจจะ เช่นเวลาแต่งงาน ก็ให้คำสัญญากับคู่ครองว่า จะอยู่กันไปจนวันตาย ถ้าหย่ากันเลิกกันก่อนก็แสดงว่าไม่มีสัจจะ
จึงมีคติเตือนใจว่า ก่อนจะพูดอะไรคิดให้ดีเสียก่อน เพราะก่อนจะพูดเราเป็นนายของคำพูด พอพูดแล้ว คำพูดจะเป็นนายของเรา เช่นเดียวกับความคิดตั้งใจก็แบบเดียวกัน ก่อนที่จะตั้งใจทำอะไรก็คิดให้ดีก่อน ว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าไปตั้ง เช่นหลวงตาท่านตั้งใจจะนั่งตั้งแต่หัวค่ำจนถึงสว่าง นี่ก็เป็นการตั้งอธิษฐานแล้ว ถ้าไม่มีสัจจะ พอเจ็บปวดทนไม่ไหวก็จะเลิกนั่ง ถ้ามีสัจจะ จะปวดหรือจะตาย ก็จะไม่ลุก จนกว่าจะถึงเวลาที่ได้กำหนดไว้ อย่างนี้ถึงจะมีสัจจะ อย่างเวลาเริ่มปฏิบัติกันใหม่ๆ ก็ตั้งนาฬิกากันไว้ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ถ้านาฬิกายังไม่ดัง ก็จะไม่ลุก ถ้าลุกก่อนที่มันดัง ก็แสดงว่าไม่มีสัจจะ มีความตั้งใจแต่ไม่มีสัจจะ ก็เลยล้มเหลว ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ได้ตั้งไว้ สำคัญมากนะเวลาจะทำอะไร ถ้าไม่ปิดประตูตีแมวตีหมา มันก็จะหาช่องออกไปเรื่อยๆ ต้องปิดช่องออก ก็ต้องตั้งสัจจอธิษฐาน จะตั้งสูงตั้งต่ำอย่างไรก็ต้องดูกำลังของเรา อย่าไปตั้งที่สูงกว่าที่จะทำได้ จะท้อแท้ ตั้งทีไรก็ทำไม่ได้ทุกที ไม่รู้จะตั้งไปทำไม ก็จะไม่มีความตั้งใจต่อไป ถ้าตั้งใจแล้วทำได้ ก็จะเกิดกำลังใจ ขั้นต่อไปก็ตั้งให้มากขึ้น ตอนต้นก็ตั้งชั่วโมงหนึ่ง ต่อไปก็ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ตั้งให้มากขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังความสามารถ
อย่าปฏิบัติอยู่กับที่ ปฏิบัติมากี่ปีก็เหมือนเดิม เคยทำเท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น อย่างนี้จะไม่ก้าวหน้า ต้องพัฒนา ต้องเพิ่มการปฏิบัติให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญสติ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด จะปฏิบัติก้าวหน้าหรือไม่ ก็อยู่ที่สตินี้เป็นหลัก ถ้าไม่มีสติแล้วถึงแม้จะนั่งเป็นชั่วโมงๆ ก็นั่งหลับหรือนั่งฟุ้งซ่าน เพราะไม่มีสติกำกับจิตให้อยู่กับงานที่ทำ พอสติเผลอปั๊บก็เริ่มสัปหงกหลับไป นั่งเพื่อให้ได้เวลา พอนาฬิกาปลุกก็ตื่นขึ้นมา อย่างนี้นั่งเพื่อเอาเวลา นั่งอย่างไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้วจะได้ความสงบ พอสงบแล้วถึงแม้จะได้เวลาแล้ว ก็จะไม่ลุก เพราะมันสบาย เวลาจิตสงบแล้วมันเพลิน ไม่รู้สึกความเจ็บปวด นั่งไปได้เรื่อยๆ สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องใช้สติถึงจะทำได้อย่างถูกต้อง ทำได้ผล สติจึงมีความจำเป็นในทุกกรณี
ที่ประเทศศรีลังกา จะถือมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นสูตรที่สำคัญมาก จะท่องกันได้มาก ให้ความสำคัญมากกว่า พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพราะถ้ายังไม่มีสติ พอฟังพระธัมมจักฯก็ทำอะไรไม่ได้ เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ของการปฏิบัติจริงๆก็คือสติ ครูบาอาจารย์เน้นเรื่องสติก่อนเลย เวลาที่ท่านว่ากล่าวตักเตือนพระเณร ก็เป็นการให้สติ พอทำอะไรผิดพลาดท่านจะใส่อย่างแรงเลย ถ้ามีสติจะไม่ผิดพลาด ถ้าผิดพลาดแสดงว่าเผลอสติ ใจกำลังไปคิดเรื่องอื่น ไม่อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ จึงทำผิดๆถูกๆ ถ้ามีสติแล้วจะรู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำถูกหรือไม่ จึงอย่าไปเห็นอะไรสำคัญกว่าสติ ถ้าเข้าสู่การปฏิบัติแล้วต้องเจริญสติก่อน พอได้สติแล้ว สมาธิจะตามมา ปัญญาจะตามมา วิมุตติจะตามมา ถ้าไม่มีสติแล้ว ไม่มีทางที่จะได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้วิมุตติ อย่าปล่อยใจออกไปหาสิ่งต่างๆ ดึงใจไว้ให้อยู่กับร่างกาย ไม่ว่าจะอยู่กับใคร ถ้าไม่ส่งใจออกไปก็เหมือนอยู่คนเดียว อยู่กับร่างกาย อยู่กับความคิด ปล่อยให้คนอื่นพูดไปเรากำกับจิตใจ ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่กับพุทโธ ถ้าฟังเสียงพูด ก็พิจารณาว่าเกิดแล้วดับไป พูดปั๊บก็หายไป ไม่ต้องเอามาคิดมาใคร่ครวญมาปรุงแต่ง พูดปั๊บก็หายไป ถ้ามีสติอยู่ในปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะชั่วขณะเดียว แล้วก็หายไป อย่างที่พูดอยู่นี้ พอพูดเสร็จก็หายไปแล้ว ถ้าไม่เอามาคิดเอามาปรุงต่อ ก็ผ่านไปแล้ว ถ้าเอามาคิดมาปรุงก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา
ถ้าคิดปรุงแต่งไปทางกิเลส เช่นพูดไม่ดี ก็เกิดอารมณ์ไม่ดีตามมา ถ้าพูดดีก็ดีอกดีใจ อยากจะให้พูดอีก ก็เป็นกิเลสขึ้นมา ต้องสักแต่ว่าฟัง คือฟังด้วยสติ ฟังด้วยอุเบกขา ได้ยินแล้วก็ผ่านไป ไม่เอามาใส่ใจ ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องรับรู้ ถ้าไม่ได้พูดกับเรา พูดกับคนอื่น ก็ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องไปสนใจ ดึงใจไว้ให้อยู่ในปัจจุบัน ต่อไปก็จะมีสติ พอมีสติแล้วให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับลมก็อยู่กับลม บางคนชอบใช้ลมกับพุทโธควบคู่กันไป ก็ทำได้ เช่นหายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธก็ได้ แต่บางคนรู้สึกว่าสับสน ก็ไม่ต้องใช้ทั้ง ๒ อย่าง เอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จะเอาพุทโธอย่างเดียว ไม่ต้องไปยุ่งกับลมเลยก็ได้ ก็ให้อยู่กับพุทโธๆไป หรือจะไม่เอาพุทโธ จะเอาลมอย่างเดียวก็ได้ อยู่ที่จริตของเรา อยู่ที่ความละเอียดของจิตด้วย จิตหยาบต้องใช้ลมควบไปกับพุทโธ ถ้าจิตละเอียดแล้วไม่ต้องการพุทโธ ต้องการลมอย่างเดียว หรือต้องการพุทโธอย่างเดียว ต้องสังเกตดูว่าจิตหยาบหรือละเอียด วิธีไหนได้ผลก็เอาวิธีนั้น ถ้ามีสติแล้ว แต่ใช้วิธีนี้แล้วไม่ได้ผล ไม่ถูกจริต ก็ต้องใช้วิธีอื่น ถ้าไม่มีสติ ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็จะไม่ได้ผลทั้งนั้น ต้องแยกแยะว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อยู่ที่กรรมฐาน หรืออยู่ที่มีสติหรือไม่มีสติ มี ๒ ส่วนด้วยกันที่ต้องพิจารณาดู
ถาม มาภาวนาแล้วค่ะ มาอยู่ร่วมกัน ๒ คน
ตอบ มาแล้วอย่าคุยกัน พอมีเพื่อนคุยจะไม่ได้ภาวนา อยู่ด้วยกันต้องอยู่เหมือนกับทะเลาะกันเกลียดกัน เหมือนกับเวลาไปวัดป่าเห็นพระไม่คุยกันเลย ทำอะไรก็ต่างคนต่างทำ ไม่พูดไม่คุยกัน ก็จะคิดว่าพระทะเลาะกันหรือเปล่า
ถาม ไม่มีมนุษยสัมพันธ์
ตอบ นักภาวนาไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ จิตต้องเข้าข้างใน จิตเข้าข้างในเป็นมรรค จิตออกข้างนอกเป็นสมุทัย พอออกไปก็จะฟุ้ง จะคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนต้นก็คุยธรรมะไปก่อน แล้วก็กลายเป็นธรรมเมาไป
ถาม การจะได้ครูบาอาจารย์ดี มันเกี่ยวกับวาสนาหรือเปล่า เคยทำมาด้วยกันใช่ไหม
ตอบ มีส่วน น้ำจะรวมตัวกับน้ำ น้ำมันจะรวมตัวกับน้ำมัน ลองเอาน้ำกับน้ำมันใส่ลงไปในขวดเดียวกันดู จะเขย่าอย่างไรก็ตาม จะไม่ปนกัน พอหยุดเขย่า น้ำมันก็จะรวมตัวกับน้ำมัน น้ำก็จะรวมกับน้ำ คนที่ชอบอย่างเดียวกันก็จะเกาะติดกัน ชอบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็จะไปทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ชอบเลขชอบเบอร์ก็จะไปทางเลขทางเบอร์ ไปตามความชอบ ชอบธรรมก็จะไปหาธรรม
ถาม ถ้าผมชอบน้ำ ผมก็จะได้แต่น้ำ ใช่ไหมครับ
ตอบ ชอบน้ำก็จะไปหาน้ำ ชอบสีแดงเวลาซื้อเสื้อผ้าก็จะเลือกเอาแต่สีแดง ชอบเข้าบ่อนก็จะไปหาบ่อน ชอบสุราก็จะไปหาสุรา ชอบเที่ยวก็จะไปเที่ยวอยู่เรื่อยๆ ติดมาเป็นนิสัยเป็นสันดาน ชอบอะไรก็จะไปหาอย่างนั้น เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดหาครูบาอาจารย์ ตอนเรียนหนังสือก็เรียนอีกศาสนาหนึ่ง ไปเรียนต่อก็ไปอยู่อีกซีกโลก แต่ทำไมยังมาทางนี้ได้ เพราะที่ไปมานั้นไม่ถูกใจ ไปเพราะหน้าที่ ต้องไปเรียนหนังสือ พอหมดหน้าที่แล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเองได้ พอได้หนังสือธรรมะมาเล่มเดียวก็ติดใจเลย ก็เขียนไปขอมาอีกหลายเล่ม พอได้อ่านก็รู้ว่าต้องปฏิบัติ พอปฏิบัติได้ผลปั๊บ ก็รู้ว่าต้องหาที่ปฏิบัติ เพราะชอบความสงบ เวลาจะบวชก็กำหนดไว้เลยว่า ต้องบวชวัดที่สงบ ไม่มีกิจกรรมต่างๆ ไม่มีงานบุญบังสังสวด
โชคดีได้หนังสือที่ชาวต่างประเทศ ไปสำรวจวัดปฏิบัติต่างๆในประเทศไทย ว่าวัดนี้มีอาจารย์ชื่อนี้ มีพระกี่รูป ปฏิบัติอะไรเป็นหลัก สถานที่เป็นอย่างไร สงบไหม อาหารการกินเป็นอย่างไร ที่อยู่เป็นอย่างไร ก็พอจะรู้คร่าวๆว่ามีวัดที่ไหนบ้าง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปวัดไหน พอไปบวชที่วัดบวรฯ ก็ได้พบกับพระชาวต่างประเทศที่ได้ไปวัดป่าบ้านตาดมา ท่านก็บอกว่าวัดนี้สงบดี ก็เลยเขียนจดหมายขออนุญาตไป มันก็ไปของมันเอง ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยได้ยินวัดป่าบ้านตาดมาก่อน ตอนที่ปฏิบัติตามลำพังก็ไม่รู้จักวัดต่างๆ ไม่รู้จักครูบาอาจารย์ต่างๆ พอถึงเวลาที่จะบวชก็รู้ว่าจะต้องหาวัดที่สงบ วัดที่ไม่มีกิจกรรมภายนอก เช่นการก่อสร้างหรืองานบุญต่างๆ ก็ต้องถามคนนั้นถามคนนี้ จนรู้ว่ามีวัดป่าสายหลวงปู่มั่น ที่เป็นวัดปฏิบัติจริงๆ มีหลายวัดหลายอาจารย์ ที่ตัดสินใจเลือกวัดป่าบ้านตาด เพราะมีพระชาวต่างประเทศแนะนำ ถ้าอยากจะไปก็ให้เขียนจดหมายไปขออนุญาต ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปอยู่ จะไปดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่อยู่ ถ้าถูกใจก็อยู่ ถ้าให้อยู่ ถ้าถูกใจแต่ไม่ให้อยู่ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้ยึดติดอะไรมากจนเกินไป เพียงแต่ต้องการสถานที่สงบ ให้ได้มีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่เท่านั้น เป็นเป้าหมายที่ไป ไม่ได้คิดพึ่งพาครูบาอาจารย์เป็นหลัก เพราะมีหนังสือธรรมะพอเป็นแนวทางได้
แต่ก็สู้ครูบาอาจารย์ไม่ได้ เพราะท่านเป็นเหมือนหมอ แต่หนังสือเป็นเหมือนตำรารักษาโรค ไม่เหมือนกัน ถ้าบอกหมอบอกว่าเป็นอะไร หมอจะบอกวิธีรักษา บอกยาให้รับประทานเลย ถ้าเป็นตำราก็ต้องไปค้นหาดู กว่าจะพบว่าโรคนี้ ควรจะใช้ยาชนิดไหนจะรักษาแบบไหน ก็จะนาน หรือรักษาผิดๆถูกๆก็ได้ ถ้ามีหมอจะง่ายกว่า ครูบาอาจารย์ก็เป็นเหมือนหมอ ส่วนหนังสือธรรมะเป็นเหมือนตำราที่หมอเขียนไว้ แต่เขียนไว้หลายโรคด้วยกัน เวลาเรากว่าจะไปเปิดหาเจอ ว่าโรคนี้รักษาด้วยวิธีไหน ก็ต้องเสียเวลาไปพอสมควร แต่โดยเจตนารมณ์เดิมที่ไปนั้นไม่ได้ไปหาครูบาอาจารย์ นี่ไม่ได้ประมาทนะ เพียงแต่เล่าให้ฟังตามความเป็นจริง เพียงแต่อยากจะหาสถานที่ปฏิบัติ โชคดีที่ได้ทั้งสถานที่ได้ทั้งครูบาอาจารย์ด้วย ยิ่งทำให้การปฏิบัติไปได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างง่ายดาย เหมือนได้พบทางเดิน เพียงเดินตาม ผลเป็นไปโดยไม่คาดฝัน อยู่ที่บารมี ถ้าสะสมมามาก จะผลักเราไปเอง
ถาม ท่านอาจารย์นั่งทุกครั้งสงบทุกครั้งไหม
ตอบ ไม่ทุกครั้ง แต่ไม่ยากเหมือนปีนขึ้นเขา ถ้าไม่สงบก็หาอุบายอื่นแทน เช่นท่องมหาสติปัฏฐานสูตรไปก่อน ถึงแม้จะไม่สงบ แต่ไม่ฟุ้งซ่าน นั่งเฉยๆได้ จะเห็นว่าความฟุ้งซ่านเกิดจากความอยาก อยากอะไรก็ต้องฝืน ตอนที่อยากถึงแม้จะแสนทรมานใจ ก็อย่าไปทำตามความอยาก พอความอยากหยุดปั๊บจะสงบเอง ถ้ารู้ว่าความทุกข์ความวุ่นวายใจเกิดจากความอยาก อยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้ อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็อย่าไปทำตามความอยาก เช่นอยากดื่มกาแฟก็ไม่ดื่ม อยากดื่มเป๊บซี่ก็ไม่ดื่ม ยอมอดจนกว่าจะหายอยาก พอหายอยากก็จะสงบหายฟุ้งซ่านทันที อยากจะลุกก็ไม่ต้องลุก นั่งไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะนั่งขัดสมาธิไม่ได้ก็นั่งบนเก้าอี้ก็ได้ จะขยับเปลี่ยนท่าก็ได้ แต่ไม่ต้องลุก นั่งไปจนกว่าไม่อยากจะลุกแล้วค่อยลุก แต่มันจะทรมานใจ ใจกวัดแกว่งจะเป็นจะตายให้ได้ แต่พอรู้ว่าลุกไม่ได้ ทำตามความอยากไม่ได้ ก็จะหายอยากไปเอง จิตจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย จากที่กำลังฟุ้งซ่านจะสงบตัวลง เหมือนกับเล่นยูโด พอเราทุ่มคู่ต่อสู้ลงได้ปั๊บ เขาก็หยุดสู้เลย
จิตก็เป็นอย่างนี้ เวลาอยากได้อะไรจะแผลงฤทธิ์เต็มที่เลย มีลวดลายมากน้อยก็จะแผลงออกมาหมดเลย สร้างความทุกข์ทรมานใจอย่างสุดๆเลย ถ้าไม่ยอมเสียอย่าง ปล่อยให้แผลงฤทธิ์ไป เดี๋ยวหยุดเอง พอหมดแรงแล้วหยุดเอง อยู่ที่ว่าจะมีขันติทนความทุกข์ทรมานใจได้หรือไม่ เป็นการดับความอยากโดยไม่ได้ใช้อุบายของปัญญา สู้ด้วยขันติ ถ้าใช้ปัญญาจะง่ายกว่า จะทรมานน้อยกว่า คือสอนจิตด้วยเหตุด้วยผล ชี้ผิดชี้ถูก ชี้โทษของสิ่งที่อยาก ชี้โทษของความอยาก ว่าไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนี้จะไม่ทุกข์ทรมานใจมาก พอยอมรับเหตุผล ก็จะสงบตัวลง ถ้าไม่มีปัญญาก็ต้องอาศัยขันติ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ขันตี ปรมัง ตโป ตี ติกขา ขันติเป็นตบะเครื่องแผดเผากิเลสอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีขันติจะสู้กิเลสไม่ได้ การปฏิบัติจึงมีอุบายหลายอย่าง บางทีก็ใช้สติ บางทีก็ใช้สมาธิ บางทีก็ใช้ปัญญา อยู่ที่ว่าอะไรจะเหมาะสมในตอนนั้น หรือคิดอะไรได้ก่อนก็คว้ามาใช้ก่อน สติก็สู้ได้ สมาธิก็สู้ได้ ปัญญาก็สู้ได้ แต่ถ้าได้ทั้ง ๓ พร้อมกันยิ่งมีกำลังมาก ถ้าได้ทั้งสติทั้งสมาธิทั้งปัญญา กิเลสจะตายอย่างราบคาบเลย ถ้าไม่ได้ทั้ง ๓ ก็จะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ถ้าใช้สติกับขันติข่มจนความอยากหายไป ก็ชนะไปรอบหนึ่ง ถ้าใช้สมาธิก็ชนะไปอีกรอบหนึ่ง ถ้าใช้ปัญญาด้วยก็จะหายขาดไปเลย จะเข็ดไปเลย จะไม่อยากดื่มกาแฟดื่มเป๊บซี่อีกเลย เพราะรู้ว่าเวลาไม่มีดื่มจะทรมานใจ
หลังจากนั้นถ้ามีคนเอามาให้ดื่มก็ดื่มได้ ถ้าไม่ได้ดื่มจากความอยากจะไม่ติด เช่นบุหรี่ที่ครูบาอาจารย์ท่านสูบกัน ท่านไม่ได้หามาด้วยความอยาก มีคนเอามาถวาย ท่านก็สูบไป ถ้าไม่มีใครถวาย ท่านก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้อยาก ที่สูบเพราะมันมาเอง อย่างนี้ไม่เป็นปัญหา พอเลิกเป๊บซี่เลิกกาแฟได้แล้ว ใครเอามาให้ดื่มก็ดื่มได้ ไม่เป็นปัญหาแล้ว ถ้าไม่มีก็จะไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย คิดถึงกาแฟคิดถึงเป๊บซี่แต่อย่างใด ขอให้เลิกให้ได้ก่อน ความอยากเป็นอริยสัจ ถ้าเห็นความอยากเป็นต้นเหตุของปัญหาแล้ว จะเข้าใกล้ความจริง เข้าใกล้กับการดับทุกข์ได้ เพราะเป็นตัวที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา อยู่ที่ว่าจะใช้อะไรมาสู้กับมัน ถ้าใช้สติกับขันติก็ได้เป็นยกๆไป ได้เป็นครั้งเป็นคราวไป สมาธิก็เช่นเดียวกัน ถ้าใช้ปัญญาก็จะได้อย่างถาวร ต้องเห็นโทษ เห็นว่าเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข เหมือนเห็นโทษของยาเสพติด พวกเราไม่เสพยาเสพติดกัน เพราะรู้ว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ แต่คนที่เสพเขาจะเห็นว่าเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ เหมือนกับเห็นว่าเป๊บซี่เป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ เห็นว่ากาแฟเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ ก็จะดื่มกาแฟดื่มเป๊บซี่กัน ถ้าเห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ก็จะเลิกดื่มทันที เอาไปปฏิบัตินะ เป็นของใกล้ตัว อย่าไปมองว่าธรรมะอยู่ไกลตัว แต่อยู่ใกล้ตัว อยู่ในชีวิตประจำวันนี้แหละ ฆ่าตัวเล็กๆน้อยๆนี้ก่อน อย่าพึ่งไปฆ่าตัวใหญ่เลย
เวลาทำอะไรถ้าถูกบังคับให้ทำ จะสู้ทำด้วยความสมัครใจไม่ได้ เพราะจะทำด้วยความพอใจ ความขยัน ความตั้งใจ ถ้าถูกบังคับจะต่อต้าน จะรู้สึกอึดอัด จะไม่ค่อยได้ผล พระพุทธศาสนาไม่บังคับให้คนเข้าหาศาสนา ไม่เรียกให้คนนั้นคนนี้มาฟังเทศน์ฟังธรรม พระภิกษุมีหน้าที่ธุดงค์จาริกไปตามที่ต่างๆ ถ้ามีคนสนใจถามก็ตอบเขาไป ถ้าอยากรู้ว่ามาทำอะไร ก็ตอบไปว่ามาหาที่สงบภาวนา หาความสงบภายในจิตใจ ถ้าถามว่าภาวนาเป็นอย่างไร ก็อธิบายไป ว่าดีกว่าความสุขอย่างอื่น ถ้าไม่สนใจก็ไม่เรียกไม่ชวน นี่คือหลักของการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาไม่ได้ต้องการสาวก แต่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นเหมือนหมอ ที่ไม่เรียกให้คนไข้มารักษา มีแต่คนไข้จะมาหาหมอเอง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่มีความทุกข์ใจก็จะเข้าหาพระหาศาสนา ถ้ายังไม่มีความทุกข์ ไปบอกให้เข้าหาศาสนา ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับคนที่ร่างกายยังปกติอยู่ ไปหาหมอมาทำไม ถ้าเป็นโรคต้องรักษา ก็วิ่งหาหมอเอง ถ้าไม่เป็นอะไรจะรักษาอะไร จะให้คนที่มีความสุข เข้าหาพระหาศาสนาเพื่ออะไร ในเมื่อไม่มีความทุกข์ ถ้ามีความทุกข์ค่อยเข้าหาศาสนา ควรเข้าหาศาสนา เพราะศาสนาจะช่วยรักษาความทุกข์ได้ จึงไม่ต้องลากคนที่ยังไม่สนใจเข้าหาศาสนา จะเหนื่อยเปล่าๆ เหมือนลากวัวลากควาย ให้มาเอง ไม่ต้องลาก จะสบายกว่า เราจึงไม่ค่อยอยากไปเทศน์ที่อื่น เพราะเหมือนไปลากวัวลากควาย คนที่นิมนต์เรานี้แหละเป็นคนลาก ลากพระไปเทศน์ ลากคนมาฟัง จะไม่ได้เรื่องทั้งคู่ คนฟังก็ไม่ได้อยากฟัง ฟังเพราะถูกบังคับ เพราะเจ้านายสั่งให้มาฟัง องค์กรอยากให้พัฒนาทางด้านจิตใจ ก็เลยนิมนต์พระมาเทศน์ แล้วก็สั่งให้ลูกน้องมาฟัง ก็ฟังแบบจำใจฟัง ฟังไปคุยกันไป เสียเวลาเปล่าๆ ฟังไม่รู้เรื่อง เสียเวลา จึงไม่รับนิมนต์ไปเทศน์ตามสถานที่ต่างๆ เพราะไม่อยากฟังจริงๆ ถ้าอยากจริงๆจะไปหาฟังเอง ถ้าไม่รู้ก็ถามได้ว่าที่ไหนมีธรรมะ จะไปหาเอง ถ้าไปอย่างนี้จะไปด้วยความตั้งใจ เวลาสอนก็ง่าย ถ้าถูกลากจูงมา จะเถียงในใจ จะต่อต้าน
ศาสนาถึงแม้จะดีจะวิเศษอย่างไร ก็เหมาะกับผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของศาสนาเท่านั้น ถ้าไม่เห็นคุณก็อย่าไปเสียเวลายัดเยียดให้เขาเลย เหมือนกับเทน้ำใส่หลังสุนัข เทปั๊บก็สลัดทิ้งหมด ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นพ่อเป็นแม่ก็ห่วงลูกเป็นธรรมดา อยากจะให้ลูกได้มีอะไรดีๆไว้ สำหรับดูแลรักษาจิตใจ ในยามที่มีความทุกข์จะได้มียารักษาใจ ก็อยากจะดึงเข้าหาศาสนา เป็นความเมตตาของพ่อของแม่ อยู่ที่ลูกว่าจะมาได้หรือไม่ ถ้าไม่มาพ่อแม่ก็อย่าไปโกรธ อย่าไปเสียใจ คิดว่าเขายังไม่พร้อมก็แล้วกัน อย่างน้อยก็ได้บอกเขาแล้ว ว่ามียารักษาใจนะ ถ้าสนใจก็มารับไป เพราะยานี้ไม่ใช่ถึงเวลาจะใช้ได้ทันที ถ้าไม่ศึกษาไม่ซ้อมการใช้ยานี้ก่อน พอถึงเวลาจะใช้จะไม่ทันกาล ถ้าได้ศึกษาได้ซ้อมอยู่เรื่อยๆ ก็จะใช้รักษาใจได้ทันที เหมือนกับเจ้าหน้าที่ดับไฟ ที่ต้องซ้อมการดับไฟอยู่เสมอๆ พอไฟไหม้ขึ้นมาก็จะดับไฟได้ทันที ถ้าไม่ซ้อมเลยพอถึงเวลาดับไฟก็จะหาน้ำกัน น้ำอยู่ตรงไหน สายยางอยู่ตรงไหน รถสตาร์ทไม่ติด พอไปถึงที่ไฟก็ไหม้หมดแล้ว ไม่ทันกาลแล้ว ถ้ารอให้ทุกข์ก่อนแล้วค่อยหายามารักษา จะไม่ทันการ จะฆ่าตัวตายไปก่อนก็ได้ ถ้ามีใครชวนก็น่าจะไปลองดู ถ้าจะช่วยรักษาความทุกข์ใจได้ ถ้ายังไม่เคยสัมผัสกับศาสนามาก่อน ก็ไปลองดู ไปพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปอีกก็ได้ ถ้าไปแล้วทำให้มีความสบายใจมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง ก็จะได้รับประโยชน์ จะได้ตักตวงประโยชน์นี้ให้มีมากขึ้นไปเรื่อยๆ
เมื่อก่อนนี้เราก็ไม่เคยสนใจศาสนา เป็นคนหัวทันสมัย คิดว่าศาสนาเป็นเรื่องของคนล้าสมัย กลัวจะหลงงมงาย เพราะเห็นคนเข้าหาศาสนาเป็นคนงมงาย เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งศาสนาบางศาสนาก็เป็นอย่างนั้น แต่ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ศาสนาพุทธสอนนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้ ศาสนาพุทธสอนว่า ความทุกข์เกิดจากความอยากต่างๆ ถ้าอยากจะดับความทุกข์ก็ให้ดับความอยาก พอนำไปปฏิบัติดู พอดับความอยากได้ ความทุกข์ก็หายไป จะรู้เลยว่านี้เป็นคำสอนที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ที่ช่วยเราได้จริงๆ ช่วยดับความทุกข์ภายในใจของเราได้ เพราะเวลาศึกษาศาสนานี้ ต้องดูที่ใจเราเป็นหลัก ว่าคำสอนมีผลอย่างไรต่อจิตใจ ถ้าทำให้ใจทุกข์น้อยลงได้ ก็ใช้ได้ แต่จะให้หายหมดเลยหรือไม่นี้ ก็อยู่ที่ความสามารถของแต่ละศาสนา ศาสนาส่วนใหญ่จะช่วยทำให้ความทุกข์ใจเบาบางลง แต่จะให้หมดไปเลย มีเพียงแต่ศาสนาพุทธนี้เท่านั้น ที่จะทำให้ความทุกข์หมดไปได้ เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เวลาจะหยิบยื่นให้กับใคร เราต้องดูว่าเขาพร้อมหรือไม่ ยินดีหรือไม่ เช่นหนังสือที่เอาไปแจก ก็ต้องดูว่าเขาสนใจหรือไม่ ถ้าไม่สนใจ ก็จะเสียหนังสือไป คนที่สนใจจะไม่ได้รับ คนที่ไม่สนใจกลับได้รับแล้วก็เอาไปวางไว้เฉยๆ
ถาม ความศรัทธานี้ต้องสร้างใช่ไหม แล้วสร้างอย่างไร
ตอบ สร้างจากการประพฤติของเรา ทำเป็นตัวอย่าง ประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีศีล มีธรรม มีสัจจะ มีความสงบ มีสติ มีความเมตตากรุณา พอคนอื่นเห็นการกระทำ ที่น่าเลื่อมใสน่าศรัทธา ก็อยากจะปฏิบัติตาม อย่างพวกเราไปกราบครูบาอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม มีปัญญาความรู้ความสามารถ ที่ปลดเปลื้องความทุกข์ในใจของเราได้ ก็จะทำให้เราเกิดศรัทธาขึ้นมา ถ้าไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม มีแต่กิเลสโลภโมโทสัน ไม่ได้ทำให้ความทุกข์ในใจน้อยลงไป ความสงสัยเบาบางลงไป กลับสร้างความสงสัยมากขึ้น ก็จะไม่ศรัทธา ผู้เผยแผ่ศาสนาื จึงต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ที่เป็นตัวอย่างได้ เช่นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระรัตนตรัยนี้ เป็นผู้สร้างศรัทธาให้แก่ผู้ไม่มีศรัทธาได้ จึงต้องมุ่งไปหาท่าน คำว่าพระสงฆ์ไม่ได้หมายถึงพระที่บวช บวชวันแรกก็เป็นพระสงฆ์แล้ว ไม่ใช่ หมายถึงพระภิกษุ ผู้บวชในพระพุทธศาสนา โกนศีรษะนุ่งเหลืองนี้ เราเรียกว่าพระภิกษุหรือพระภิกขุ แต่ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ในพระรัตนตรัย พระสงฆ์ในพระรัตนตรัยหมายถึงพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ถึงจะเป็นแบบฉบับที่ดีได้ เพราะพระโสดาบันอย่างน้อยก็มีศีล ๕ อย่างถาวร จะไม่ทำผิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด แต่พระที่พึ่งมาบวชนี้ อย่างที่หลวงตาท่านเทศน์ว่า เวลาบวชมันบวชแต่ร่างกายนะ แต่กิเลสมันไม่ได้บวชด้วย ไม่ใช่พอนุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วกิเลสจะตายไปจากใจ กิเลสก็ยังมีอยู่ ยังทำผิดศีลผิดธรรมได้อยู่ เพียงแต่ว่ามีเจตนารมณ์ที่จะมาชำระ มากำจัดพวกกิเลสตัณหาต่างๆเท่านั้นเอง ต้องรอดูความประพฤติของท่านไปก่อน ว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว สามารถสั่งสอนธรรมะให้เราเข้าอกเข้าใจ ให้ปลดเปลื้องความทุกข์ภายในใจของเราได้ เราก็จะเกิดศรัทธาในตัวของท่านเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุพรรษาด้วยซ้ำไป เพราะในสมัยพระพุทธกาล แม้แต่สามเณรก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติและคำสอนของท่าน ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หรือเป็นแบบแม่ปูสอนลูกปู สอนให้ลูกอย่าสูบบุหรี่อย่าดื่มเหล้า แต่ตัวแม่เองกลับสูบบุหรี่กลับดื่มเหล้าเอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สิ่งใดที่พระพุทธองค์ทรงสอน สิ่งนั้นได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ไม่ทรงสอนในสิ่งที่ทรงปฏิบัติไม่ได้ จะเป็นครูก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะสอนให้คนอื่นภาวนาเราก็ต้องภาวนาให้ได้ก่อน สอนให้รักษาศีลก็ต้องรักษาศีลให้ได้ก่อน ถึงจะเป็นครูที่แท้จริง ถึงจะสร้างศรัทธาได้ ถ้าครูสอนอย่างแล้วทำอีกอย่าง จะไม่มีใครมีศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ก็เช่นเดียวกัน พ่อแม่สอนลูกให้เป็นคนดี แต่พ่อแม่กินเหล้าเมายาอยู่ตลอดเวลา ลูกจะไม่ศรัทธา
ถาม ที่ท่านอาจารย์บอกว่าปฏิบัติง่าย มันง่ายมาตั้งแต่ทีแรกเลยหรือ
ตอบ ไปได้เรื่อยๆ จะง่ายแบบปอกกล้วยเข้าปากเลยก็ไม่ใช่ ต้องบังคับต้องต่อสู้กัน แต่ไม่ถึงกับท้อแท้ เป็นเหมือนกับการทำงานที่ยาก แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทำให้มีกำลังใจที่อยากจะทำมากขึ้นไปตามลำดับ แต่ไม่ง่าย ต้องทุกข์ทรมานใจ เวลาขังตัวเองอยู่ในบ้าน ไม่ออกไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จิตจะพยศมาก แทบจะขาดใจ เพียงแต่รู้ว่าออกไปแล้วไม่ดีกว่าเดิม อยู่ทนสู้กับมันจะดีกว่า พอชนะมันแล้วจะสบาย มันเชื่ออย่างนี้ ก็เลยยอมทุกข์ทรมาน เพราะอินทรีย์ไม่แก่กล้าพอ มีปัญญาที่เกิดจากการอ่านหนังสือธรรมะ แต่ไม่มีสมาธิที่มั่นคง จึงต้องทุกข์ทรมานใจ ถ้ามีสมาธิที่มั่นคงแล้ว พอฟังเทศน์ฟังธรรมก็บรรลุได้เลย ถ้ายังตัดความทุกข์ไม่ได้หมด ก็ยังต้องทุกข์ทรมานไปก่อน จนกว่าเหตุที่สร้างความทุกข์ คือความอยากสงบตัวลง ความทุกข์ก็จะหมดไป ต้องล้มลุกคลุกคลานไป แต่ก็ไปได้เรื่อยๆ