กัณฑ์ที่ ๔๐๕       ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒

ดูใจเป็นหลัก

 

 

 

นักภาวนาต้องดูใจเป็นหลัก ดูอย่างอื่นเป็นรอง ให้คอยดูว่าใจมีปฏิกิริยากับสิ่งที่ได้รับรู้อย่างไร ใจนิ่งสงบหรือปั่นป่วน บ่นโน่นบ่นนี่ คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้แสดงว่าไม่ได้มองใจ มองแต่คนนั้นคนนี้ ถ้ามองปั๊บแล้วกลับมามองใจ ถ้าใจปั่นป่วนจะได้ใช้ธรรมะเข้ามาระงับ สอนใจว่าเขาเป็นอย่างนั้นแหละ พวกเรายังติดภายนอกอยู่มาก พอเห็นอะไรภายนอกแล้ว ก็จะมีผลกระทบต่อภายใน มีความยินดียินร้าย ดีใจเสียใจ ถ้าดูข้างนอกน้อยกว่าดูข้างใน ความดีใจเสียใจยินดียินร้ายจะน้อยลงไป และหมดไปได้ ถ้ามีสติมีปัญญารู้ทันอารมณ์ แต่ส่วนใหญ่มักจะถูกกิเลสตัณหาผลักดันให้ออกไปมองข้างนอก กามตัณหาคือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส กามคือกามคุณทั้ง ๕ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตัณหาคือความอยากความยินดี ใจจะถูกกามตัณหานี้ผลักดันให้ออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็ปรุงแต่งทันทีที่ได้สัมผัส ทำให้เกิดสุขเวทนาทุกขเวทนาขึ้นมาภายในใจ เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา เพราะไม่ได้มองใจ มองแต่ภายนอก แล้วก็จะไปกว้านเอาสิ่งต่างๆ ที่ตัณหาหลอกว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ มาเป็นสมบัติของตน แล้วก็ทุกข์กับสิ่งที่ได้กว้านมา เพราะเขามีคุณสมบัติอยู่ ๒ ประการคือ ๑. ไม่เที่ยง ๒. ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา ไม่ใช่เป็นสมบัติของเราที่แท้จริง ต้องจากเราไป หรือเราต้องจากเขาไป ถ้าไม่มีปัญญาดูใจ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 

ความจริงไตรลักษณ์นี่ ๒ ส่วนอยู่ภายนอก อีกส่วนหนึ่งอยู่ภายใน ๒ ส่วนที่อยู่ภายนอกก็คือ อนิจจังกับอนัตตา เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้เป็นอนิจจัง เพราะเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ เป็นอนัตตาเพราะไม่สามารถควบคุมบังคับ ให้เป็นไปตามความต้องการได้ ส่วนทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เขา ทุกข์อยู่ที่ใจเรา ที่ไปหลงอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ความอยากเป็นเหตุสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาภายในใจ คือทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ามีตัณหาเป็นตัวผลักดันใจ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะได้รูปมาแล้วก็เอามาปรุงแต่งต่อ เหมือนกับได้ก๋วยเตี๋ยวมาชามหนึ่ง รับประทานตามที่เขาทำมาให้ไม่ได้ ต้องปรุงแต่งก่อน ต้องใส่น้ำปลาใส่น้ำตาลใส่น้ำส้มใส่พริก ให้ถูกกับตัณหาความอยาก ถ้าชอบเปรี้ยวก็ใส่เปรี้ยวมาก ชอบหวานก็ใส่หวานมาก นี่เป็นเรื่องของตัณหาพาไป ถ้ารับประทานแล้วไม่อร่อยก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าอร่อยก็เกิดความถูกใจ ก็จะติด อยากจะรับประทานอีก ทั้งๆที่อิ่มแล้ว ก็ยังรับประทานต่อ ท้องก็เสียตามมา นี่เป็นเรื่องของตัณหา ถ้าเป็นเรื่องของมรรคของสติของปัญญา เขาทำอะไรมาให้รับประทาน ก็รับประทานไป รับประทานเพื่อร่างกาย ไม่ได้รับประทานเพื่อตัณหาความอยาก เพื่อรสชาติ 

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุทุกรูป ก่อนจะฉันจังหัน ให้พิจารณาปฏิสังขาโยนิโสฯ คือให้พิจารณาถึงเหตุผลของการรับประทานอาหาร ว่ารับประทานอาหารเพื่อระงับดับความหิว ป้องกันความหิวไม่ให้เกิดขึ้น ไม่รับประทานเพื่อรสชาติ เพื่อความสนุกสนานอย่างนี้เป็นต้น คือไม่ได้รับประทานเพื่อกิเลสตัณหา รับประทานเพื่อร่างกาย ร่างกายนี้รับประทานอะไรก็ได้ เขาไม่รู้รสชาติของอาหารที่สัมผัส ลิ้นไม่รู้รสชาติ ใจเป็นผู้รับรู้รสชาติ ลิ้นเป็นเพียงสื่อ เป็นตัวรับรส แล้วส่งไปทางวิญญาณ วิญญาณก็ส่งไปที่จิต ให้จิตรู้ว่าเป็นรสอย่างนี้เป็นรสอย่างนั้น โดยอาศัยสัญญาให้ความหมาย ว่ารสนี้เปรี้ยวเกินไป หรือหวานเกินไป หรือจืดเกินไป หรือกำลังดี ถ้าไม่ดีสังขารก็จะปรุงแต่งขึ้นมาว่า ต้องเติมหวาน เติมเปรี้ยวลงไป นี่คือการรับประทานตามกิเลสตัณหา จะไปในรูปแบบนี้ ถ้ารับประทานตามมรรค ตามสติปัญญา ก็รับประทานเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ ไม่สนใจกับรสชาติ รับประทานเพื่อให้อิ่มท้อง เพื่อดับความหิว และป้องกันความหิวไม่ให้เกิดขึ้นเร็วเกินไป อยู่ได้อย่างน้อยก็ ๒๔ ชั่วโมง อย่างพระฉันมื้อเดียว ท่านก็อยู่ได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง รับประทานเหมือนกับรับประทานยา ยาจะมาในรูปแบบไหนก็รับประทานไปตามที่ได้มา ยาน้ำก็รับประทานได้ ยาเม็ดก็รับประทานได้ จะกลมหรือเหลี่ยมหรือรีหรือรูปไข่ก็รับประทานได้ จะมีสีสันอย่างไรก็รับประทานได้ นี่คือการพิจารณาปฏิสังขาโยนิโสฯ เพื่อดับกิเลสตัณหาความอยาก ในรูปเสียงกลิ่นรสของอาหาร แล้วก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ เพื่อเยียวยาดูแลรักษาร่างกาย และพิจารณาให้เห็นว่าเป็นปฏิกูล ให้ดูสภาพของอาหารที่อยู่ในจาน แล้วก็ให้ดูสภาพของอาหาร ที่อยู่ในปากที่กำลังขบเคี้ยวอยู่ ที่ผสมกับน้ำลาย แล้วก็ดูสภาพอาหารที่อยู่ในท้อง และออกมาจากทวาร ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะดับตัณหาความอยากในอาหารได้ ถ้ารับประทานอาหารเสร็จไปใหม่ๆ จนอิ่มท้องแน่นท้องแล้ว แต่ยังอยากจะรับประทานอีก ก็ต้องพิจารณาปฏิกูลของอาหารมาเป็นเครื่องมือ ดับความอยากรับประทานอาหารมากเกินไป รับประทานให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย นี่ก็คือเรื่องของไตรลักษณ์ เรื่องของอนิจจังทุกขังอนัตตาในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 

ถ้าไม่ได้ปฏิบัติจะแปลคำว่าทุกข์นี้ผิดไป เคยอ่านทุกข์แปลว่าทนอยู่ไม่ได้ ไม่ทราบว่าอะไรทนอยู่ไม่ได้ รูปทนอยู่ไม่ได้ หรือจิตทนอยู่ไม่ได้ ความจริงคำว่าทุกข์ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ใครจะทุกข์ล่ะ รูปทุกข์ไม่เป็น วัตถุต่างๆทุกข์ไม่เป็น ตัวที่ทุกข์ก็คือจิต ที่มีอริยสัจ ๔ อยู่ในตัว ที่เป็นตัวทุกข์ เป็นทุกขสัจ พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทุกข์ในพระอริยสัจ ๔ ทรงตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่คนศึกษาธรรมะกลับไม่เห็นทุกข์นี้กัน กลับมาแปลทุกข์ว่าทนอยู่ไม่ได้ แสดงว่าไม่ได้ปฏิบัติ ยังไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ยังปฏิบัติไม่ถึงไหน ไม่ได้เข้าถึงจุดของปัญหา คืออริยสัจ ๔ ที่อยู่ในจิต ที่มีการต่อสู้ของสัจจะ ๒ คู่ ทุกขสัจจะกับสมุทัยสัจจะคู่หนึ่ง แล้วก็นิโรธสัจจะกับมรรคสัจจะอีกคู่หนึ่ง ถ้ามีสมุทัยเป็นเจ้าอำนาจอยู่ในใจ ทุกข์ก็จะเป็นสัจจะปรากฏอยู่ในใจ เช่นสัตว์โลกทั่วไปนี้ จะมีสมุทัยคือมีตัณหาเป็นเจ้าอำนาจ บงการให้จิตใจไปอยากในสิ่งต่างๆ แล้วก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ในจิตของพระอริยะตั้งแต่ขั้นแรกขึ้นไปจนถึงขั้นสุดท้าย จะมีมรรคเป็นผู้บงการ นิโรธก็จะเป็นผลตามมา เวลาพิจารณาไตรลักษณ์จึงต้องรู้ว่า ๒ ส่วนอยู่ภายนอก อีกส่วนหนึ่งอยู่ภายในใจ

 

ถ้าเห็นอนิจจังเห็นอนัตตา ก็จะดับสมุทัยดับความอยากได้ เช่นเห็นว่าได้สิ่งนี้มาแล้วจะต้องเสียไป ก็ไม่รู้จะเอามาทำไม อุตส่าห์หามาแทบเป็นแทบตาย พอได้มาวันเดียวแล้วหมดไป จะหามาทำไมให้เหนื่อยเปล่าๆ แต่เราไม่รู้กัน กลับมองว่าได้มาแล้วจะอยู่กับเราไปตลอด จะอยู่กับเราไปจนวันตาย จะให้ความสุขกับเราไปตลอด ก็เลยดับตัณหาความอยากในสิ่งที่เป็นอนิจจังเป็นอนัตตาไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้อยากมีอยากเป็น หรืออยากไม่มีอยากไม่เป็นนั้น เป็นสิ่งที่ควบคุมบังคับไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา สิ่งที่เราว่าดีก็หมดไปได้ สิ่งที่เราว่าไม่ดีก็ปรากฏขึ้นมาได้ สิ่งที่เราว่าดีเช่นลาภยศสรรเสริญสุขนี้ ก็อยากจะให้ดีไปตลอด ดีไปนานๆ แต่เขาไม่เป็นอย่างนั้น เขามีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา ส่วนสิ่งที่ไม่ดีที่ไม่อยากให้เกิดกับเรา เราก็บังคับไม่ให้เกิดไม่ได้ เช่นความแก่ความเจ็บความตาย เรายับยั้งเขาไม่ได้ ต้องเป็นไปตามวาระของเขา เดี๋ยวเขาก็แก่ เดี๋ยวเขาก็เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเดี๋ยวเขาก็ตายไป ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใคร จะเป็นของปุถุชน หรือของพระอริยเจ้าของพระพุทธเจ้า ก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้ามีปัญญารู้ทันความจริงนี้ ก็จะไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

 

พอไม่มีความอยาก หรือยอมให้เป็นไปตามความจริง ก็จะรอรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยใจที่สงบ ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา ใจก็จะไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ของผู้อื่นก็ดี ของเราก็ดี จะเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะมีมรรคเป็นผู้บงการจิตใจ ให้มองตามความเป็นจริง เรียกว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบความเห็นที่ถูกต้อง เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ไปยึดไปติดไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้ามีความอยากแล้วจะทุกข์ขึ้นมาทันที เพียงแต่ได้ยินข่าวว่าบุคคลที่เรารักจะต้องมีอันเป็นไป ใจเราก็ทุกข์ขึ้นมาแล้ว ทั้งๆที่เหตุการณ์จริงยังไม่เกิดขึ้นเลย เพราะไม่มีมรรคอยู่ในใจ ไม่คอยสอนใจให้ยอมรับความจริงนี้ พยายามปฏิเสธความจริงนี้ ไม่กล้าที่จะคิดถึงความจริงนี้ กลัวว่าคิดไปแล้วจะทำให้ความจริงนี้ปรากฏขึ้นมาทันที ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด การคิดถึงความจริงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของความจริง ที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เกิดขึ้นในขณะที่ไม่ได้คิดถึงก็ได้ หรือเกิดขึ้นในขณะที่คิดถึงก็ได้ ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้เกี่ยวกัน เขาเกิดขึ้นเพราะถึงวาระของเขาที่จะเกิดขึ้น เช่นความตายนี้ ต่อให้คิดทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่ถึงเวลาตายก็จะไม่ตาย ถ้าไม่คิดเลยแต่ถึงเวลาตายก็ตายได้ จึงไม่ควรกลัวการพิจารณาความตาย อย่าไปคิดว่าเป็นอัปมงคล อย่างที่คนในโลกจะคิดกัน พอพูดถึงความตายก็บอกไม่ให้พูด เรื่องความตายนี้ห้ามพูด ไม่เป็นมงคล แต่ทางศาสนากลับสอนว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นปัญญา เป็นกุศล เพราะเป็นความจริง เป็นสัมมาทิฐิ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังเป็นอนัตตา

 

ผู้ที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ จะต้องรู้ทันอนิจจัง รู้ทันอนัตตาทุกลมหายใจเข้าออก รู้ทันตลอดเวลา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้พิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่คิดปั๊บกิเลสจะเข้ามาควบคุมความคิดทันที จะให้คิดอยากอยู่ไปนานๆ จะทำให้เกิดความกลัวตายขึ้นมา เป็นความทุกข์ขึ้นมา ความกลัวนี้เป็นความทุกข์ เป็นความอยากที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ความอยากไม่ตายทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา เป็นความทุกข์อย่างใหญ่หลวงภายในจิตในใจ ทั้งๆที่ยังไม่ตายเลย เพียงแต่คิดถึงความตายก็กลัวแล้ว คนเราถ้าจะกลัวก็ขอให้กลัวเพียงครั้งเดียว กลัวตอนที่จะตายก็พอ กลัวเดี๋ยวเดียว เวลาตายนี้เพียงเสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้นเอง ระหว่างความเป็นกับความตายนี้ เพียงเสี้ยววินาทีเดียว เหมือนปิดไฟกับเปิดไฟ พอปิดไฟปั๊บ เพียงเสี้ยววินาทีเดียวไฟก็ดับ พอหยุดหายใจ เพียงเสี้ยววินาทีเดียวก็ตายแล้ว แต่ทำไมต้องมากลัวเป็นปีเป็นเดือน กลัวตลอดเวลาทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้กับใจโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่เจริญมรณานุสติ ไม่เจริญอนิจจังอนัตตาอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง ลองตรวจตราดู ว่าวันๆหนึ่งเราคิดถึงความตายสักเท่าไร ตั้งแต่เดือนที่แล้วจนถึงวันนี้คิดบ้างหรือเปล่า หรือพึ่งมาคิดตอนนี้ พอได้ยินก็เลยได้คิดหน่อย ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าประมาทมาก เปิดช่องให้กิเลสมาสร้างความทุกข์ให้กับใจ ยังไม่เห็นคุณค่า ของการพิจารณาไตรลักษณ์อย่างจริงจัง ก็เลยเป็นเป้าของกิเลสของความทุกข์ไป

 

เพราะฉะนั้นเวลามองอะไรภายนอก ให้มองว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา แล้วจะดับตัณหาคือสมุทัยภายในใจได้ นิโรธคือความดับทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมา อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่การเจริญปัญญา จะเป็นปัญญาได้ต้องมีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน ถ้าจิตไม่สงบ จิตจะฟุ้งซ่าน จะคิดเรื่อยเปื่อยอยู่ตลอดเวลา  จะดึงมาคิดทางปัญญาได้แป๊บเดียว แล้วก็จะมีเรื่องอื่นเข้ามาฉุดลากไป ถ้าเป็นฆราวาสที่ต้องทำมาหากิน ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เวลาที่จะคิดทางปัญญาจะไม่มีเลย จะถูกเรื่องราวต่างๆฉุดลากไปตลอดเวลา เป็นเหมือนรถวิ่งลงภูเขา ถ้าไม่มีเบรกก็หยุดไม่ได้ กลับบ้านมาแล้วยังอดคิดถึงเรื่องงานไม่ได้ จิตจะคิดอยู่เรื่อยๆ เราจึงต้องหยุดความคิดด้วยการทำจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้วเรื่องราวต่างๆจะหายไป พอจิตออกจากความสงบแล้ว ก็จะสามารถดึงจิตให้มาพิจารณาอนิจจังอนัตตาได้ แล้วก็จะดับความอยากได้ ปัญหาที่เอามาจากที่ทำงาน ก็จะมองไปอีกมุมหนึ่ง เมื่อก่อนมองแบบสมุทัย คืออยากจะแก้ปัญหาให้เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น แต่พอจิตสงบแล้ว เราจะมองในมุมของอนิจจังของอนัตตา ก็จะปล่อยวาง แก้ได้ก็แก้ไป แก้ไม่ได้ก็ปล่อยไป ใจก็จะไม่ทุกข์กับปัญหาต่างๆ นี่คือความสำคัญของสมาธิ ไม่มีสมาธิแล้วใจจะไม่เป็นกลาง ไม่เป็นอุเบกขา จะแกว่งไปทางสมุทัยตลอดเวลา แกว่งไปตามความอยาก อยากได้อะไรก็ต้องพยายามหามาให้ได้

 

อย่างเมื่อวานนี้มีเด็กคนหนึ่งมาเล่าปัญหาของเธอ เคยเรียนได้ ๔.๐ มาตลอด แล้วต้องย้ายโรงเรียนเพราะมีเพียง ม. ๓ มีอคติต่อโรงเรียนใหม่ คิดว่าไม่ดีพอ ก็เลยไม่ค่อยอยากจะเรียน พอสอบก็เลยได้ ๓.๙ ก็เสียใจใหญ่เคยได้ ๔.๐ มาตลอด ทำใจไม่ได้ เล่าไปก็ร้องไห้ไป เพราะเด็กคนนี้เป็นเด็กอัจฉริยะ อยากจะเป็นเหมือนไอสไตน์หรือไอแซกนิวตั้น นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่สามารถทำ ๔.๐ ได้จะไม่ได้เป็นตามที่เขาต้องการ ก็เลยวิตกกังวลอย่างยิ่ง พ่อแม่ก็เลยพามาคุย ก็บอกเขาไปว่า การอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ก็ดีอยู่ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า จะเป็นได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ที่ความสามารถ ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ได้ผลอย่างไรก็ต้องยอมรับ ถ้ารับไม่ได้ก็จะทุกข์โดยใช่เหตุ ไม่ได้ทำให้ยิ่งใหญ่แต่อย่างใด ตอนต้นคิดว่าปัญหาอยู่ที่โรงเรียน ถ้าไม่ได้โรงเรียนดีจะไม่ได้ไปถึงเป้าหมาย คิดว่าโรงเรียนเป็นเป้าหมาย จึงต้องเอาโรงเรียนที่ดีที่สุด ถ้าได้โรงเรียนไม่ดีจะไม่บรรลุเป้าหมาย เราก็บอกเขาว่า ความจริงโรงเรียนไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงทาง มีทางหลายทางที่พาไปสู่เป้าหมายได้ ถ้าเรียนโรงเรียนในระดับ ๑ ถึง ๑๐ ก็สามารถพาไปได้เหมือนกัน เวลามีความอยากมากๆ แม้จะอยากในทางที่ดีก็เป็นปัญหาได้ ต้องใช้ทางสายกลาง อย่าตึงจนเกินไป อย่าหย่อนจนเกินไป อย่าไปอยากมากเกินไป พอไม่ได้ตามที่ต้องการจะเสียใจ ต้องรู้จักประมาณ ได้เท่าไหร่ก็ควรจะพอใจ ทำให้เต็มที่ก็แล้วกัน

 

ถาม  นักจิตวิทยาสอนให้คิดในเชิงบวก คิดแบบนี้จะละเลยอนิจจังไปหรือเปล่า

 

ตอบ ทางโลกจะไม่มองอนิจจังกับอนัตตากัน จะคิดว่าจะดีไปเรื่อยๆ จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่คิดถึงตอนเสื่อม เช่นร่างกายของคนเรา พอเจริญเต็มที่ก็จะต้องเสื่อมลง ต้องตายไป ทางโลกจะไม่คิดถึงเรื่องนี้กัน ไม่ยอมคิดถึงความตาย พอพูดถึงความตาย ก็จะตะแบงไปว่าคิดอย่างนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร จึงไม่กล้าคิดถึงความตายกัน ถ้าคิดถึงความตายแล้ว จะไม่มีกำลังใจทำอะไร ไม่พัฒนาตนเอง เพราะโมหะอวิชชาครอบงำใจ ทำให้ทุกข์ ไม่มีความสุข ต่อให้ได้เป็นนักปราชญ์ของโลกเช่นไอสไตน์ ก็จะไม่มีความสุข ความรู้ทางโลกไม่สามารถดับความทุกข์ภายในใจได้ ต้องความรู้ทางธรรมเท่านั้นที่จะดับได้ ต้องเป็นความรู้ในไตรลักษณ์ รู้อนิจจังอนัตตา ที่สอนอยู่ตลอดเวลาก็สอนตรงนี้ สอนให้คิดถึงอนิจจังอยู่เรื่อยๆ ถ้าคิดถึงอนิจจังอยู่เรื่อยๆจิตจะก้าวหน้า สังเกตดูตัวเรานี้ ตั้งแต่เห็นคนตายครั้งแรกในชีวิต ตอนอายุสัก ๑๒ ขวบ ก็จะคิดถึงเรื่องความตายอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้หดหู่ใจแต่อย่างใด คิดด้วยเหตุผล คิดตามความจริง เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์คิดวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจ ต้องมีขึ้นมีลง แต่ใจของเขาไม่ได้ซึมเศร้าไปกับการวิเคราะห์ เพราะวิเคราะห์ด้วยใจที่เป็นกลาง ทำให้ไม่ยึดติด ตัดตัณหาต่างๆให้เบาบางลงไป แต่ไม่หมดนะ เพราะไม่ได้พิจารณาตลอดเวลา

 

        ถึงต้องกระเสือกกระสนไปเรียนต่อ ไปทำงานหาเงินเก็บเงิน พอมีเงินพอแล้วก็ติดต่อหาโรงเรียน ยังอยากจะไปเมืองนอกเมืองนา ไปสัมผัสกับโลกที่ไม่เคยเห็น แต่ไม่ได้อยากอย่างสุดๆ จะต้องไปให้ได้ ไปได้ก็ดี ไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เวลาไปเรียนก็ไม่ได้คิดจะพึ่งทางบ้าน คิดว่ามีเงินก้อนนี้ไปเริ่มต้น ก็จะเรียนไปทำงานไป ถ้าจบก็ดี ถ้าไม่จบก็ถือว่าได้กำไรแล้ว ดีกว่าไม่ได้ไป ถ้าไม่ได้ไปก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ถ้าได้ไปก็จะได้เรียนรู้ทั้งในห้องเรียน และเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสถ้าไม่ได้ไป ถ้าไปก็จะได้พบกับสิ่งแปลกๆใหม่ๆ ถึงแม้จะอยู่ได้ปี ๒ ปี ก็จะไม่เสียใจ ดีกว่าไม่ได้ไป ไม่อยากจะรบกวนทางบ้าน สงสารพ่อแม่ หาเงินหาทองมาด้วยความยากลำบาก ก็เลยหาเงินเอง หาโรงเรียนเอง ซื้อตั๋วเครื่องบินเอง ใช้เงินของเราทั้งหมด ถึงวันจะไปก็บอกพ่อแม่ว่าจะไปแล้วนะ จะส่งเงินไปให้หรือไม่ ก็ไม่ได้ถือเป็นอารมณ์ แต่ก็ส่งไปให้ทุกเดือน แต่จำนวนที่ส่งไปให้ ก็ประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่าย อีกครึ่งหนึ่งต้องหาเองด้วยการทำงาน ช่วงปิดเทอมบ้าง ช่วงเรียนบ้าง ก็พอถูไถไปจนเรียนจบได้ พอจบกลับมาก็ไม่ได้กระตือรือร้นหางานทำ อยากจะพักผ่อน เหนื่อยจากการเรียนและการทำงาน ทำให้คิดว่าชีวิตของเรามีแค่นี้เองหรือ ต้องตะเกียกตะกายอยู่ตลอดเวลา ตอนต้นก็ตะเกียกตะกายทำงานหาเงินไปเรียน เวลาเรียนก็ต้องตะเกียกตะกายเรียน แล้วก็ต้องทำงานอีกด้วย พอเรียนจบมาแล้วก็ต้องตะเกียกตะกายหางานใหม่อีก ต้องทำไปอีก ๓๐ กว่าปีถึงจะเกษียณ แล้วก็รอความตาย ชีวิตของเรามันช่างบัดซบเหลือเกิน ไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้แล้วหรือ

 

พอดีช่วงนั้นมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ก็เลยไม่ต้องทำงานอยู่เกือบปี ได้อยู่อย่างสบายๆ อาบน้ำอาบแดดอ่านหนังสือต่างๆ ได้หนังสือจากคนที่รู้จักกัน บางทีก็แลกหนังสือกับพวกนักท่องเที่ยว บางทีก็ไปอ่านตามร้านหนังสือ ขอเขาอ่านไม่ได้ซื้อ ก็ได้ความรู้ เป็นนิยายที่แทรกไปด้วยปรัชญาของชีวิต ทำให้รู้ว่าชีวิตของคนเรามีทางเลือก จะทำตามคนส่วนใหญ่ทำกัน คือทำงานหาเงินหาทองมีครอบครัว หรืออยู่แบบฤๅษีชีไพรหาความจริงของชีวิตก็ได้ แต่ก็ยังไม่รู้จักทางจนกระทั่งได้หนังสือธรรมะมาเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มเล็กๆ ๒๐ กว่าหน้า ที่เกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง คัดจากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พออ่านแล้วหูตามันสว่างขึ้นมา นอกจากอนิจจังแล้วก็ทรงสอนมรรคด้วย คือวิธีที่จะปฏิบัติกับความไม่เที่ยงต่างๆ ถึงรู้ว่าต้องภาวนา นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ เพื่อให้จิตใจรับกับความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าจิตใจไม่สงบเวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงจะรับไม่ได้ ถ้าจิตสงบแล้วจะรับได้ จะได้ไม่เดือดร้อน ก็เลยเขียนไปขอหนังสือมาเพิ่ม ก็ได้หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรมาเป็นคัมภีร์คู่มือปฏิบัติ

 

ตอนต้นก็ท่องไปก่อน เวลานั่งสมาธิถ้าอยู่กับลมหายใจไม่ได้ ยังฟุ้งซ่านอยู่ ก็ท่องพระสูตรนี้ไปก่อน ใช้เวลาประมาณสัก ๔๐ นาที นั่งท่องไปจนเพลินจนสงบสบาย เหมือนกับฟังเทศน์ เวลาฟังเทศน์จะไม่รู้สึกอึดอัด แต่เวลานั่งบริกรรมพุทโธหรือดูลมหายใจจะอึดอัด เพราะไม่เป็นเรื่องเป็นราว แต่เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมมันเป็นเรื่องเป็นราว ฟังไปแล้วก็เพลิน เวลาท่องพระมหาสติปัฏฐานสูตรก็เป็นเรื่องเป็นราว ทรงสอนให้เจริญสติในร่างกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในร่างกายก็มีหลายรูปแบบ เช่นในอิริยาบถ ๔ ก็ให้มีสติตามรู้ร่างกาย ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่้ง หรือกำลังนอน หรือจะพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายก็ได้ หรือจะตามรู้การกระทำต่างๆของร่างกายก็ได้ ไม่ว่าจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ให้ตามรู้ ให้รู้อยู่กับกิจกรรมของร่างกาย กำลังเดินบิณฑบาต กำลังฉัน กำลังสรงน้ำ กำลังพูด กำลังหันหน้าไปทางซ้าย หันหน้าไปทางขวา ก็จะมีสติขึ้นมา

 

พอมีสติแล้วก็จะสามารถควบคุมความคิดได้ ให้อยู่กับลมหายใจ ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆได้ จะไม่ไปไหน ถ้าไม่มีสติแล้วอยู่ได้เพียง ๒ หรือ ๓ วินาทีก็ไปแล้ว ดูลมได้ ๒ หรือ ๓ วินาที ก็มีเรื่องอื่นสอดแทรกเข้ามา แล้วก็เผลอคิดตามไป จนลืมลม ลืมบริกรรมพุทโธไป ถ้ามีสติแล้วจะไม่เป็นอย่างนั้น เวลาว่างจากภารกิจอื่นหามุมสงบนั่งบริกรรมพุทโธ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็จะอยู่ ทำให้จิตค่อยๆสงบตัวลงไปทีละเล็กทีละน้อย จนสงบเต็มที่ พอสงบแล้วก็จะพบกับความสุขที่มหัศจรรย์ใจ เป็นความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน ก็จะสามารถละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ ละกามฉันทะได้ จะเห็นว่าความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายเป็นเหมือนยาเสพติด สุขเฉพาะเวลาที่ได้เสพได้สัมผัส พอเวลาไม่ได้เสพก็จะรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจ ต้องหามาเสพอยู่เรื่อยๆ ต้องวิ่งตะครุบเงาอยู่เรื่อยๆ วิ่งหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่วันเกิดมาจนถึงวันนี้ก็ยังวิ่งหากันอยู่ ถ้าตราบใดยังไม่ได้พบกับความสงบของจิต พอได้พบแล้วก็จะไม่ไปหารูปเสียงกลิ่นรส จะหาแต่ความสงบ อะไรที่เป็นอุปสรรคก็จะตัดไป เวลาทำงานจิตจะฟุ้งซ่าน ต้องคิดต้องปรุงอยู่ตลอดเวลา ทำจิตให้สงบยาก ก็เลยรู้ว่าการทำงานเป็นอุปสรรค เป็นนิวรณ์ ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ก็ต้องตัดไป ถ้ายังต้องพึ่งพาอาศัยการทำงานอยู่ เพื่อมีรายได้มาจุนเจือ ก็ต้องพยายามสะสมเก็บเงินทองไว้ ให้มีพอกับการใช้จ่าย พอมีพอแล้วก็จะออกจากงานได้ ตอนนั้นทำงาน ๖ เดือน เก็บเงินได้ประมาณสัก ๖๐๐๐ บาท ก็คิดว่าน่าจะมีเสบียงอยู่ได้ปีหนึ่ง ก็เลยลาออกจากงาน

 

แล้วก็ตั้งเป้าไว้ว่า ในหนึ่งปีนี้จะไม่ไปทางกามฉันทะ ไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จะภาวนาอย่างเดียว จะเจริญสติตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ อย่างเดียว ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ จะนั่งสมาธิเดินจงกรมอ่านหนังสือธรรมะเป็นหลัก การอ่านหนังสือธรรมะก็เป็นการเจริญธัมมานุสติ เวลามีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็เป็นกายคตาสติ เวลานั่งแล้วเกิดอาการเจ็บขึ้นมา ก็ปล่อยวางความเจ็บปวด ให้รับรู้ความจริงของเขา จะรับรู้ด้วยวิธีของสมาธิก็ได้ ถ้าเจ็บมากๆจนรู้สึกทนไม่ได้ ก็บริกรรมไป บริกรรมอย่างถี่ยิบไป ไม่นานความเจ็บก็หายไป ความฟุ้งซ่านความทุกข์ทรมานใจก็หายไป ก็เลยรู้ว่า การปฏิบัติมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ เป็นวิธีที่จะต่อสู้กับความเจ็บปวดของร่างกายได้ ทำให้จิตใจมีความอดทนเข้มแข็ง เพราะความจริงแล้วจิตไม่ได้เป็นอะไร เป็นที่ร่างกาย แต่จิตมีอคติกับความเจ็บของร่างกาย มีสมุทัยคือความอยากให้มันหายไป ก็เลยสร้างความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ พอเอาจิตมาบริกรรม ก็จะไม่มีเวลาไปมีอคติ พอไม่มีอคติ ทุกข์ในใจก็ดับไป ความเจ็บปวดของร่างกายอาจจะดับไปด้วย ถ้าไม่ดับไปด้วยก็จะไม่รู้สึกรุนแรง บางทีก็ดับไปพร้อมกับทุกข์ภายในใจ บางทีไม่ดับแต่ไม่ทุกข์ทรมานใจจนทนไม่ได้ ที่ทนไม่ได้เป็นเพราะตัณหาคือสมุทัย ไม่อยากจะสัมผัสรับรู้ อยากจะให้มันหายไป พอบังคับไม่ให้ลุกขึ้นมาก็จะทุกข์ทรมานใจ โดยปกติแล้วพอเจ็บก็จะเปลี่ยนอิริยาบถทันที คือแพ้อำนาจของตัณหา ความมีอคติต่อความเจ็บของร่างกาย ถ้ารู้ทันแล้วบริกรรมพุทโธๆไปถี่ยิบเลย ไม่ให้มีโอกาสไปคิดถึงความเจ็บเลย ก็จะดับความทุกข์กระวนกระวายทรมานใจได้ ส่วนความเจ็บในร่างกาย จะมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ก็จะไม่เป็นปัญหา มีอยู่ก็อยู่ด้วยกันได้ ถ้าดับไปก็ยิ่งสบาย ทำให้เห็นความอัศจรรย์ของการบริกรรม ว่าสามารถทำให้ผ่านทุกขเวทนาทางกายไปได้

 

ถ้าจะใช้อีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่าปัญญา ก็ต้องพิจารณาความเจ็บของร่างกาย ว่าเจ็บจนทนไม่ได้จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงสภาวธรรมที่ใจรับรู้ แต่ไปมีอคติกับเขา เช่นเวลาเห็นรูปที่ไม่ชอบก็เกิดอคติขึ้นมา อยากให้รูปหายไป อยากจะหนีจากรูปนั้นไป ก็จะสร้างความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา แต่ถ้าทำใจว่าต้องอยู่กับเขา ไม่มีอคติ ยอมรับความจริงของเขา เขามาปรากฏให้เห็นก็เห็นไป ถ้าทำใจให้นิ่งได้ก็จะไม่ทรมานใจ ยอมรับความจริงของเขา ต้องใช้ปัญญาสอนใจ ให้รับความจริงของเวทนาที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา ก็เป็นอนิจจังเป็นอนัตตาเหมือนกัน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถ้าสุขเวทนา หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆได้ แต่กับทุกขเวทนาเฉยไม่ได้ ชอบไม่ได้ ทำไมจะชอบไม่ได้ เป็นเวทนาเหมือนกัน ถ้าชอบได้หรือเฉยได้ก็จะไม่ทุกข์ใจ นี่คือการใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อปล่อยวางเวทนาทั้ง ๓ ปล่อยให้เขาเป็นไป ปล่อยให้เขาเปลี่ยนไป จะเปลี่ยนเป็นสุขก็ได้ จะเปลี่ยนเป็นไม่สุขไม่ทุกข์ก็ได้ จะเป็นอย่างไรก็รับได้ทั้งนั้น ถ้าทำได้ก็จะดับความทุกข์ที่เกี่ยวกับเวทนาได้อย่างถาวร ไม่ต้องใช้การบริกรรม ถ้าไม่ฉลาดพอที่จะแยกแยะ ที่จะวิเคราะห์ได้ ก็ต้องอาศัยการบริกรรมไปก่อน เพราะง่ายกว่า บริกรรมพุทโธๆไปให้ถี่ยิบเลย อย่าให้มีช่องว่างไปคิดถึงความเจ็บเลย แล้วดูว่าจะเป็นอย่างที่เล่านี้หรือไม่ ในสติปัฏฐานสูตรทรงสอนให้พิจารณาทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์หมด เพื่อจะได้ปล่อยวาง เพราะจิตไม่ได้เป็นสิ่งที่พิจารณา ไม่ได้เป็นไตรลักษณ์ แต่ไปพัวพันกับไตรลักษณ์ ไปหลงติดอยู่กับไตรลักษณ์ เหมือนไปยุ่งกับงู ถ้าไม่ยุ่งกับงูก็จะไม่ถูกงูกัด ไปเล่นกับงูเอง ที่พวกเราทุกข์กัน เพราะไปยุ่งกับสิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ ไปยุ่งกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไปยุ่งกับขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น ต้องพิจารณาให้รู้ทัน พอเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ก็จะปล่อยวางได้ พอปล่อยวางได้ ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์

 

นี่คือการปฏิบัติตามแนวของมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ค้นคว้าศึกษามาเองโดยไม่มีอาจารย์ ปีนั้นทั้งปีปฏิบัติอยู่คนเดียว เอาหนังสือเล่มนี้เป็นอาจารย์ ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ว่ามีหรือไม่มี ไม่เคยสงสัย เวลาอ่านหนังสือธรรมะ จะรู้สึกว่าพระพุทธเจ้ากำลังตรัสสอนเราโดยตรง คำสอนของท่านแม้จะผ่านมากว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้วก็ตาม แต่เป็นความจริง จึงเหมือนกับได้ฟังจากพระโอษฐ์ ก็เลยมีความมั่นใจ สิ่งที่ขาดอยู่ก็คือความกล้าหาญความอดทนความขยัน ที่จะทำให้เสร็จภายในปีนั้นเลย บางเวลาก็ยังแพ้กิเลสอยู่ บางทีนั่งแล้วเจ็บทนไม่ไหวก็เปลี่ยนอิริยาบถก็มี แต่บางครั้งก็ฮึดสู้ บางเวลาก็ทรหด บางเวลาก็อ่อนแอ บางทีอยากจะยอมแพ้ เป็นเรื่องธรรมดาของการต่อสู้ เวลาทำอะไรที่ยากลำบากมากๆ ก็ท้อแท้เหมือนกัน แต่รู้อยู่ว่าถอยไม่ได้ เลิกไม่ได้ มาทางนี้แล้วต้องไปต่อ ถ้ายังไม่ตายก็ต้องไปเรื่อยๆ มันก็ไปได้ เวลาท้อแท้ก็หยุดบ้าง ไปเที่ยวบ้าง แต่ไม่ได้ไปเที่ยวตามสถานบันเทิง ออกไปชายทะเล ไปดูอะไรให้เพลินหูเพลินตาบ้าง แล้วก็กลับมาทำต่อ จนครบปีก็ต้องตัดสินใจว่าจะบวชหรือไม่ รู้ว่าต้องบวช ถ้าไม่บวชจะปฏิบัติไม่ได้เต็มที่ เพราะต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็เลยต้องหาวัดบวช

 

มีพระแนะนำให้ไปบวชกับสมเด็จพระญาณสังวรฯที่วัดบวรฯ ท่านอนุญาตให้ไปศึกษากับครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ที่ทางภาคอีสาน บวชแล้วก็ได้ไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด อยู่ได้ ๙ พรรษา ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ - ๒๕๒๖ ประมาณ ๘ ปี ๘ เดือน เข้าไปเมษาฯ ๒๕๑๘ ออกธันวาฯ ๒๕๒๖ ก็ไม่ได้ไปไหนตลอด ๘ ปี ๘ เดือน อยู่ที่นั่นตลอด ขอลากลับมาเยี่ยมบ้านอยู่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกก็ ๕ ปีผ่านไปแล้ว เหมือนกับติดคุกนะ ติดในกรงเสือ ทำให้ต้องฟิตอยู่ตลอดเวลา ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ปัญญาอยู่ตลอดเวลา เวลาไปใหม่ๆเห็นพระตัวสั่นเวลาอยู่ต่อหน้าหลวงตา ก็คิดว่าเราจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ตอนต้นก็ไม่สั่น รู้สึกเฉยๆ เพราะยังไม่ถูกตะปบ พอโดนตะปบสัก ๒ – ๓ ครั้ง พอเห็นท่านเดินมาก็เดินหนีแล้ว ท่านดีท่านเก่งกว่าเราตั้งหลาย ๑๐๐ เท่า ทำให้เราไปได้อย่างรวดเร็ว ท่านให้ทั้งกำลังใจ ให้ทั้งความรู้ ให้อุบายต่างๆ ที่เราไม่สามารถรู้ได้เอง กว่าจะรู้ได้ก็จะต้องเสียเวลาไปมาก ท่านคอยชี้บอกเป็นจุดๆเลยว่า มาถึงตรงนี้จะต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ไปตรงนั้นแล้วจะต้องทำอย่างไร จึงไม่ต้องลังเลสงสัย ไปได้อย่างราบรื่น

 

 

ถาม  ท่านถูกตะปบด้วยเรื่องอะไร

 

ตอบ ไม่รู้วิธีปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ ไม่รู้ว่าตามธรรมเนียมลูกศิษย์ย้อนถามอาจารย์ไม่ได้ ถ้าท่านไม่เปิดโอกาสให้ถาม ท่านพูดอะไรก็ครับอย่างเดียว หรือเฉยอย่างเดียว 

 

ถาม  มีน้องอยู่ที่อเมริกาฝากเรียนถามว่า นั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าร่างกายของเขาเหลือแต่ท่อนบน ท่อนล่างหายไป เป็นอย่างนี้ ๒ ครั้ง อีกครั้งหนึ่งเหลือแค่ศีรษะ แต่ยังได้ยินเสียงรอบข้าง ก็เลยรู้สึกกลัว เขาควรจะทำอย่างไร

 

ตอบ เวลานั่งแล้วมีความรู้สึกอย่างไร ก็ให้รู้ไว้เฉยๆ ไม่ต้องมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่รับรู้ ให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจังแล้วปล่อยวาง ผลที่ต้องการ จากการนั่งคือความสงบ ใจเป็นกลางเป็นอุเบกขา ผลอย่างอื่นเช่นนั่งแล้วตัวพองขึ้น ตัวลอยขึ้น ซึ่งแต่ละคนมักจะมีไม่เหมือนกัน ก็อย่าไปถือว่าเป็นผลที่ต้องการ เป็นเพียงผลพลอยได้ ที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ไม่เกิดขึ้นก็ได้ ถ้าเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็ปล่อยวางไป อย่าไปวิตกกังวล อย่าไปกลัว ให้รู้ทัน เป็นเหมือนกับภาพยนตร์ ดูแล้วก็จบ จบแล้วก็หายไป ขณะที่นั่งจะเป็นอย่างไรก็รู้ไว้ ถ้าเห็นอวัยวะต่างๆของร่างกาย เห็นอสุภะ เห็นปฏิกูล ก็เอามาพิจารณาต่อ หลังจากที่ออกจากสมาธิแล้ว เพราะจะตัดราคะตัณหาได้ เป็นวิปัสสนา ถ้าทำได้ต่อเนื่องก็จะตัดกิเลสได้ ถ้ายังทำไม่ต่อเนื่องก็ตัดได้เป็นช่วงๆ เวลานึกถึงภาพเหล่านั้นก็จะเกิดอาการเบื่อหน่าย พอเผลอก็เกิดอาการอยากขึ้นมา ถ้าต้องการตัดความอยากในกาม ก็ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่อง อย่างนักบวช ถ้าเผลอจะทำให้จีวรร้อนขึ้นมา จะอยู่ในสมณเพศไม่ได้ แต่เป็นฆราวาสยังไม่มีศีลบังคับถึงขนาดนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็น ถ้าจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ให้หมด ก็ต้องพิจารณาส่วนนี้ด้วย ฆราวาสส่วนใหญ่ต้องการเพียงสมาธิ ทำจิตให้สงบ ให้สบายใจ เพื่อจะได้มีกำลังต่อสู้กับปัญหาต่างๆ เพื่อรับใช้กิเลสตัณหาความอยากต่างๆ ยังอยากไปเที่ยวไปดื่มไปรับประทาน ยังอยากดูอยากฟังอยู่ ถ้ามีสมาธิบ้างจะทำให้ความอยากไม่รุนแรงจนเกินไป จนถึงกับต้องไปทำบาปทำกรรม ถ้าจะตัดความอยากให้หมด ก็ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็ต้องพิจารณาว่าไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง มีความสงบของจิต ความเป็นอุเบกขา ที่เป็นที่พึ่ง

 

การปฏิบัติในเบื้องต้นต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ในทุกอิริยาบถ พยายามดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่กับร่างกายเป็นหลัก จะอยู่กับจิตบ้างก็ได้ แต่จิตละเอียดกว่าร่างกายมาก เร็วกว่าสติมาก จะไม่ทัน จะไม่ได้ผลเท่ากับดูที่ร่างกาย ให้เกาะติดที่ร่างกาย ไม่ให้ลอยไปตามอารมณ์ความคิดปรุงแต่งต่างๆ แล้วจิตจะว่างจะสงบไปตามลำดับ ถ้าไม่มีสติอยู่กับร่างกายจะคิดเรื่อยเปื่อย จะเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านขึ้นมา พอนั่งสมาธิก็นั่งไม่ได้ เพราะคิดอยู่ตลอดเวลา พอจะให้หยุดคิดก็หยุดไม่ได้ ก็ต้องฟังเทศน์ไปก่อน ถ้ามันอยู่กับลมไม่ได้ อยู่กับพุทโธไม่ได้ ฟังธรรมะไปก่อน หรือสวดมนต์ไปก่อน สวดกลับไปกลับมา จนกว่าความคิดปรุงแต่งจะเบาบางลงไป แล้วค่อยมาดูลมต่อ มาบริกรรมต่อ แล้วลมหรือพุทโธนี้ก็จะพาเข้าสู่ความสงบ ขณะที่จิตสงบก็อย่าไปรบกวน อย่าไปกังวลว่าจะต้องไปทำภารกิจนั้นภารกิจนี้ ปล่อยให้จิตสงบเต็มที่ก่อนแล้วถอนออกมาเอง เหมือนคนนอนหลับสนิท อย่าไปปลุก พอปลุกขึ้นมาแล้วจะหงุดหงิดงัวเงีย จะไม่มีกำลัง ปล่อยให้สงบให้เต็มที่ ถ้านอนหลับก็หลับให้เต็มที่ ตื่นขึ้นมาแล้วจะสดชื่นเบิกบาน มีกำลังจิตกำลังใจไปทำภารกิจต่างๆต่อไป

 

ถ้าจิตสงบแล้วออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ เช่นไปเห็นเทวดา เห็นกายทิพย์ เห็นเรื่องอดีตที่ผ่านมา ให้ดึงกลับมาก่อน อย่าปล่อยออกไป เพราะจะทำให้จิตไม่มีพลัง ไม่มีกำลัง ไม่มีความสุข ไม่มีความสดชื่น จะเป็นเหมือนเวลานอนหลับแล้วฝันไป ตื่นขึ้นมาจะไม่สดชื่น ไม่ได้พักผ่อน เหมือนกับเวลาหลับสนิทไม่ฝัน สมาธิก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิต้องนิ่งอยู่ในอุเบกขา สักแต่ว่ารู้อย่างเดียว ไม่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในหรือเรื่องภายนอก ถึงแม้จะมีวาสนาในทางนี้ ในตอนที่เริ่มพัฒนาสมาธินี้ ต้องบังคับไม่ให้ออกไป ต่อไปเมื่อชำนาญเรื่องสมาธิ มีฐานของสมาธิแล้ว ถ้าอยากจะออกไปเที่ยวก็ไม่เป็นปัญหาอย่างไร ในตอนต้นนี้ให้สร้างฐานของสมาธิให้มั่นคงก่อน ให้สามารถเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ ให้อยู่นิ่งให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ออกจากสมาธิแล้ว ก็มาทำงานวิปัสสนาต่อ มาพิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพื่อปล่อยวาง พอปล่อยวางได้แล้วจะทำอะไรต่อไปก็ไม่เป็นปัญหา งานหลักเสร็จแล้ว จะไปทำงานอดิเรกต่อก็ได้ อยากจะไปเที่ยวสวรรค์ ไปเที่ยวนรกก็ไปได้ อยากจะไปคุยกับเทวดาก็ไปได้ อยากจะระลึกชาติก็ทำได้ ถ้ามีวาสนามีความสามารถที่จะทำได้ก็ทำไป ถ้าไปทำตอนที่ยังไม่เสร็จภารกิจหลัก ภารกิจหลักจะไม่เสร็จ อย่างพระเทวทัต ท่านก็มีอภิญญามีฤทธิ์ แต่ไม่เจริญวิปัสสนา จิตจึงมีตัณหาความอยากเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ จนพาให้ท่านต้องไปทำบาปทำกรรมถึงกับพยายามปองร้ายพระพุทธเจ้า เพราะหลงติดอยู่ในมิจฉาสมาธิ หลงติดอยู่กับอิทธิฤทธิ์กับอภิญญา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ จิตสงบเป็นหนึ่ง เป็นเอกกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา ให้จิตนิ่งให้นานที่สุด เพราะจะทำให้จิตมีกำลังมากที่สุด พอออกมาแล้วก็จะพุ่งไปสู่การพิจารณาได้อย่างเต็มที่ จะมีกำลังต่อสู้กับกิเลสตัณหา ตัดกิเลสตัดตัณหาได้อย่างเต็มที่ 

 

สมาธิทำหน้าที่ให้อาหารให้กำลังกับจิตใจ เพื่อสนับสนุนปัญญา แต่สมาธิโดยลำพังจะไม่กลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง มีความเข้าใจอย่างนี้ในบางท่าน ที่คิดว่าพอมีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดขึ้นมาเอง หลวงตาท่านบอกว่าสมาธิก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญา สมาธิจะกลายเป็นปัญญาไม่ได้ สมาธิเพียงสนับสนุนจิตให้พิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง ให้เป็นปัญญา ไม่ให้เป็นสัญญา ถ้าไม่มีสมาธิแล้วจะไม่พิจารณาอยู่กับความจริง จะอยู่กับความจำความคาดคะเน ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วก็ไปคาดว่าเราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ บรรลุขึ้นมาโดยไม่มีเหตุไม่มีผล คิดว่าเห็นแล้วความแก่ความเจ็บความตายเป็นธรรมดา เราหลุดพ้นจากความแก่ความกลัวแล้ว แต่ใจยังมีความกลัวอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เพราะยังไม่ได้ไปพิสูจน์ในห้องสอบ ผู้ที่ได้พิจารณาแล้วมั่นใจแล้วว่าไม่กลัว ก็ยังไม่นอนใจ ยังอยากเข้าห้องสอบ อยากเจอของจริง จึงต้องไปอยู่ที่น่ากลัวตามสถานที่ ที่มีสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิต เพื่อจะทดสอบดูว่าดับกิเลสคือความกลัวนี้ได้แล้วหรือยัง

 

สมาธิจึงเป็นเพียงสมาธิ มีประโยชน์มาก แต่จะให้สมาธิผลิตปัญญาขึ้นมาเองย่อมเป็นไปไม่ได้ ปัญญาต้องเกิดจากการพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในขันธ์ ๕ ในรูปคือร่างกายของเราแล้วปล่อยวางรูป พิจารณาเวทนาแล้วก็ปล่อยวางเวทนา พิจารณาสัญญาสังขารวิญญาณแล้วก็ปล่อยวาง ถึงจะดับความทุกข์ดับอุปาทานในขันธ์ ๕ ได้ การปฏิบัติเบื้องต้นจึงต้องเจริญสติก่อน เพื่อให้ได้สมาธิ เมื่อได้สมาธิแล้วก็นำมาใช้เจริญวิปัสสนาเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ พอพิจารณาจนรู้สึกว่าจะฟุ้งซ่านแล้วก็หยุด กลับมาพักในสมาธิก่อน พักจนจิตสงบเย็นสบาย เหมือนกับทำงานเหน็ดเหนื่อยแล้ว ก็กลับมาบ้าน อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร แล้วก็หลับนอน พอตื่นเช้าขึ้นมาสดชื่นมีกำลังวังชา ก็อาบน้ำอาบท่าแต่งเนื้อแต่งตัว แล้วก็ออกไปทำงานต่อ ถ้าทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็จะไม่ได้ผลงาน พอเมื่อยพอเหนื่อยแล้วก็จะไม่อยากทำ ทำแบบผิดๆถูกๆ เกิดความเสียหายมากกว่าเกิดผลดี การปฏิบัติทางสมาธิและทางปัญญาต้องมีความพอดี มีประมาณ ทำสมาธิอย่างเดียวก็จะได้แต่ความสงบ กิเลสยังไม่ตายจากใจ กิเลสสงบตัวลงขณะที่จิตสงบ พอออกจากสมาธิก็ออกมาเพ่นพ่านเหมือนเดิม ถ้าเจริญแต่ปัญญาอย่างเดียวก็จะฟุ้งซ่านได้ จึงต้องสลับกัน

 

คงไม่สงสัยเรื่องมรรคแล้วใช่ไหม ว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง นอกจากทานกับศีลที่รู้กันอยู่แล้ว การภาวนาต้องมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา แล้วก็จะมีวิมุตติหลุดพ้น มีนิโรธความดับทุกข์ตามมา ถ้าดับทุกข์ได้หมดก็เป็นพระนิพพาน ถ้ายังไม่หมดก็เป็นขั้นอริยะต่างๆ ขั้นโสดาบันบ้าง ขั้นสกิทาคามีบ้าง ขั้นอนาคามีบ้าง พอดับทุกข์ได้หมดก็เป็นขั้นพระอรหันต์ เป็นพระนิพพาน พอถึงขั้นนั้นแล้วก็ไม่มีงานทำอีกต่อไป ไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องทำบุญ ไม่ต้องทอดกฐิน ไม่ต้องไปทอดผ้าป่า ไม่ต้องสมาทานศีล เพราะมีศีลโดยธรรมชาติ จะไม่ทำอะไรที่เสียหายแก่ผู้อื่น เพราะไม่มีความอยากกระตุ้นให้ไปทำ ที่ยังทำบาปกันอยู่เพราะความอยาก พออยากจะได้อะไรมากๆแล้ว ถ้าทำด้วยวิธีที่สุจริตไม่ได้ ก็ต้องทำด้วยวิธีทุจริต เพราะยังอยากได้อยู่ เวลาไม่ได้จะทุกข์ทรมานใจ

 

ถ้าอยากจะเลื่อนขั้นก็ต้องพยายามทำขั้นต่อไป ถ้าไม่ทำก็ขึ้นไปไม่ได้ จะรอให้ขึ้นไปเองไม่ได้ ไม่เหมือนเรียนหนังสือ พอเรียนจบ ป.๑ เขาก็ดันให้ขึ้น ป.๒ แต่การปฏิบัติธรรมดันไม่ได้ ต้องปีนขึ้นไปเอง พอทำทานแล้วก็ต้องปีนขึ้นไปขั้นศีล ต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ให้ครบบริบูรณ์ ไม่ใช่รักษาเฉพาะตอนที่มาถวายทาน พอออกจากศาลาไปก็ฝากไว้ที่ศาลา ไม่เอากลับไปด้วย ต้องเอาติดตัวไปด้วย เหมือนเสื้อผ้าที่สวมใส่ ศีลนี่แหละคือเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจ ถ้าไม่มีศีลก็เป็นเหมือนคนไม่มีเสื้อผ้าใส่  ใจที่ไม่มีศีลก็เป็นใจที่ไม่สวยงาม ต้องก้าวขึ้นไปเอง ต้องปีนขึ้นไปเอง ทำทานมานานแล้ว ต้องปีนขึ้นไปขั้นศีลแล้ว ให้เป็นนิจศีล คือเป็นปกติ เป็นศีลประจำตัว เป็นเหมือนเสื้อผ้าที่สวมใส่ เราไม่เคยออกจากบ้านโดยไม่ใส่เสื้อผ้าใช่ไหม เวลาออกจากบ้านก็ควรมีศีลติดตัวไปด้วย พอมีศีลแล้ว ก็จะปีนขึ้นไปขั้นสมาธิได้ง่าย ศีลจะคอยสนับสนุนสมาธิ ถ้าไม่มีศีลจะปีนขึ้นไปไม่ได้ ต้องมีศีลเป็นบันไดเชื่อม ทำทานแล้วจะทำให้ใจมีศีล ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น มีความเมตตากรุณา ทำให้รักษาศีลได้ง่าย พอมีศีลแล้วจิตใจจะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวจากการกระทำบาปต่างๆ ถ้าทำบาปจะไม่สบายใจ เช่นโกหกแม่ โกหกสามี หรือโกหกภรรยา จะรู้สึกไม่สบายใจ จิตจะสงบได้ยาก ถ้าไม่โกหกใจจะนิ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่กลัวใครจะมาจับผิด เวลาทำสมาธิก็จะง่าย

 

ท่านถึงสอนว่าเป็นบันไดสนับสนุนกัน ทานสนับสนุนศีล ศีลสนับสนุนสมาธิ สมาธิสนับสนุนปัญญา ปัญญาสนับสนุนวิมุตติความหลุดพ้น จะข้ามขั้นไปไม่ได้ ถ้าคิดว่าฟังธรรมแล้วจะบรรลุธรรมได้เลยเหมือนในพุทธกาล ไม่ต้องทำอะไรเลย ฟังธรรมอย่างเดียว บรรลุไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีทาน ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิมาก่อน ไม่มีทางบรรลุได้ คนที่บรรลุได้เขามีหมดแล้ว เช่นพระปัญจวัคคีย์ ทานท่านก็ให้หมดแล้ว แล้วก็ออกบวชรักษาศีล สมาธิก็ได้ขั้นฌานแล้ว ขาดเพียงปัญญา พอได้ปัญญาจากพระพุทธเจ้าก็หลุดพ้นได้เลย อย่าไปมองคนอื่นว่าเขาไม่ต้องนั่งสมาธิ ฟังธรรมก็บรรลุได้เลย ถ้าเราฟังแล้วยังไม่บรรลุก็แสดงว่า เรายังไม่มีสมาธิ ไม่มีศีล ไม่มีทาน ครบทั้ง ๓ ส่วน จึงต้องตรวจตราดูตัวเองว่าเป็นอย่างไร  ยังหวงแหน ยังคิดเบียดเบียนผู้อื่นอยู่หรือเปล่า หรือใจกว้างยินดีช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ใจสงบนิ่งหรือวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ไม่ได้ฟังอย่างต่อเนื่อง ฟังได้คำ ๒ คำก็ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว อย่างนี้จะบรรลุได้อย่างไร เพราะฟังแบบทัพพีในหม้อแกง ไม่รู้รสชาติของแกงเลย ต้องฟังแบบลิ้น เพียงสัมผัสรสของแกงเพียงหยดเดียว ก็จะรู้ว่ารสเป็นอย่างไร ถ้าจะฟังแบบลิ้นต้องฟังด้วยสติด้วยสมาธิ ถึงจะบรรลุได้

 

ปัญหาอยู่ที่ตัวเรา ต้องแก้ที่ตัวเรา อย่าไปแก้ที่อื่น แก้ที่อื่นแก้เท่าไหร่ก็จะไม่หมด แก้ที่เราหมดแล้วจะหมดเลย เพราะตัวปัญหาก็คือตัวเรา ไม่ใช่ใครหรอก ถ้าเราไม่มีปัญหาแล้ว เราจะมองทุกอย่างว่าไม่มีปัญหา เพราะรู้ว่าปัญหาต่างๆในโลกนี้ เราแก้ไม่ได้หมด แก้เท่าไหร่ก็ไม่หมด เป็นปกติของโลกที่จะเป็นอย่างนี้ ความจริงทุกอย่างดีอยู่แล้ว ไม่เป็นปัญหา แต่ตัณหาของเราไปอยากให้เป็นอย่างอื่น ก็เลยเป็นปัญหาขึ้นมา อย่างตอนนี้ก็อยากจะให้ฝนหยุด ถ้าอยากให้หยุดก็เป็นปัญหา เมื่อไหร่จะหยุดสักที ถ้าปล่อยให้ตกไป ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่เราชอบสร้างเงื่อนไขกัน ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอดับเงื่อนไขแล้วก็ไม่เป็นปัญหาต่อไป จึงต้องดูใจเรา ที่เป็นตัวสร้างปัญหา สิ่งต่างๆที่เราเห็นที่เราสัมผัสนี้ไม่เป็นปัญหา เขาเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น ถ้าเห็นว่าเขาเป็นอย่างนั้นก็หมดปัญหาไป ถ้าต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็ต้องแก้กัน เวลาไม่สบายก็ต้องหาหมอ วุ่นกันไปหมด ถ้าคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น ไม่สบายก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา ไม่ต้องไปหาหมอก็ได้ ปล่อยให้เขาเป็นไป หายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย ให้เป็นไปตามเรื่องของเขา เวลาป่วยไปหาหมอรักษาก็หาย แล้วก็กลับมาเป็นใหม่อีก มีใครไม่ป่วยอีก มีใครรักษาโรคให้หายไปได้อย่างถาวร ไม่มีหรอก หายวันนี้แล้วอีก ๒ วันก็กลับมาใหม่ จะกลับมาเรื่อยๆ จะหายไปหมดก็ต่อเมื่อตายเท่านั้น พอตายแล้วก็จะหายอย่างถาวร ไม่ต้องกลัวโรคภัยไข้เจ็บ ต้องหายแน่ๆ ไม่ต้องรักษาก็ได้ หายแน่ๆ ให้มีความสุขกับโรคภัยไข้เจ็บดีกว่า

 

แต่โลกไม่เข้าใจกัน ไม่เข้าใจพระปฏิบัติ ทำไมท่านปล่อยปละละเลย ท่านไม่ได้ปล่อยปละละเลย ท่านรักษาใจท่านอย่างเต็มที่ พวกเราต่างหากที่ปล่อยปละละเลยใจของเรา ให้ทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว กลับไปว่าท่านปล่อยปละละเลยร่างกาย ไปทำสิ่งที่ทำไม่ได้ทำไม สิ่งที่ทำได้กลับไม่ทำกัน ใจนี้รักษาได้ กลับไม่รักษากัน ไปรักษาร่างกายกันทำไม รักษาอย่างไรก็ไม่หาย แต่ใจนี่รักษาหายแล้วจะหายเลย ไม่กลับมาเป็นอีกเลย พอหายทุกข์แล้วก็จะไม่กลับมาทุกข์อีกเลย เราจึงต้องรักษาใจกัน ถ้าจิตสงบแล้วจะไม่เป็นปัญหาเลย กับความเจ็บป่วยของร่างกาย กับความเป็นความตายของร่างกาย จะไม่กระทบกระเทือนใจเลย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน อยู่ตรงนี้ ใจเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา แต่เรากลับให้ความสำคัญกับใจนี้น้อยมาก ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่มีความสำคัญกับชีวิตเรามาก ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ให้ความทุกข์กับเรามาก ร่างกายนี้เป็นกองทุกข์แท้ๆ ก็ยังพยายามเหนี่ยวรั้งไว้ ให้สร้างควา่มทุกข์ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แทนที่จะปล่อยให้ไป เมื่อถึงเวลาที่จะไป ถ้าไม่ฟังธรรมะจะไม่ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ จะทุกข์วุ่นวายกับร่างกายไปจนวันตาย เหมือนคนที่ไม่มีธรรมะวุ่นวายกัน

 

ถาม  ถ้าใจฟุ้งซ่าน ไม่สามารถนั่งทำสมาธิได้ ควรพิจารณากายใช่ไหม

 

ตอบ ถ้านั่งทำสมาธิไม่ได้ ก็ฟังเทศน์ไปก่อน หรือสวดมนต์ไปก่อน จะพิจารณาก็ได้ ถ้าพิจารณาแล้วไม่ฟุ้งซ่าน พิจารณาไตรลักษณ์ไป ใช้การพิจารณาข่มใจให้สงบ การฟังธรรมก็เหมือนการพิจารณา เพียงแต่เราไม่ได้พิจารณาเอง เราฟังการพิจารณาของผู้แสดงธรรมแทน เพราะเราพิจารณาไม่เป็น ทำได้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าพิจารณาแล้วใจสงบก็ทำไป เป้าหมายคือความสงบ

 

ถาม  เวลาฟังธรรมนี่เราควรจับที่ไหนคะ

 

ตอบ จับที่เสียง ไม่ต้องพุ่งใจไปหาผู้แสดง ไม่ต้องดูหน้าท่าน เหมือนกับคนรักษาประตูฟุตบอล ให้ยืนเฝ้าอยู่ตรงหน้าประตู ให้คอยรับลูกที่จะเตะเข้ามา เราก็คอยรับเสียงที่มาสัมผัสกับหูแล้วรับรู้ด้วยใจ ให้รู้อยู่ตรงเสียงนั้น ถ้าฟังแล้วพิจารณาตาม ก็จะเกิดความเข้าใจ เกิดปัญญา ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจแต่ยังฟังต่อ ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ใจยังเกาะติดอยู่กับเสียง ก็จะทำให้ใจสงบเป็นสมาธิได้ ฟังได้ ๒ ลักษณะ ถ้าฟังเพื่อความเข้าใจก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความสงบ พอเข้าใจแล้วก็จะสงบ ในขณะที่ฟังก็คิดตามพิจารณาตาม พอเข้าใจแล้วก็จะโล่งอกโล่งใจ เบาอกเบาใจ หายสงสัย หายทุกข์ หายกังวลได้ อย่างนี้เรียกว่าฟังเพื่อปัญญา ถ้าฟังแล้วพิจารณาตามไม่ทันไม่เข้าใจ เพราะเป็นธรรมที่ลึกซึ้งกว่าที่จะเข้าใจ ก็จับที่เสียงอย่างเดียว ให้รู้อยู่กับเสียงที่มาสัมผัส เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับเสียง ก็จะทำให้สงบได้ ถ้าไม่สงบเต็มที่ อย่างน้อยก็จะหายฟุ้งซ่าน พอหายฟุ้งซ่านแล้ว ถ้าอยากจะดูลมหายใจหรือบริกรรมพุทโธ ก็ปิดเสียงเทศน์ แล้วก็บริกรรมต่อไปหรือดูลมต่อไป ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเข้าสู่ความสงบ ที่ลึกกว่าการฟังเทศน์ฟังธรรม ความสงบมีเป็นขั้นๆ ธรรมแต่ละชนิดจะทำให้จิตสงบตามขั้นของเขา การฟังเทศน์ฟังธรรมหรือการสวดก็จะทำให้สงบในขั้นหนึ่ง การบริกรรมหรือดูลมหายใจก็จะทำให้สงบได้อย่างเต็มที่ บางคนไม่เข้าใจเวลาฟังธรรมก็ยังพุทโธๆไป ไม่ต้องบริกรรม ใช้บริกรรมพุทโธเวลาอยู่คนเดียว

 

ถาม  ถ้าภาวนาพุทโธแล้วมีเสียงอื่นแทรกขึ้นมา

 

ตอบ อย่าไปสนใจ ให้อยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างเดียว อะไรจะแทรกเข้ามาไม่ต้องไปสนใจ เหมือนฟังวิทยุแล้วมีคลื่นอื่นแทรกเข้า เราก็ต้องปรับคลื่นให้อยู่กับสถานีที่เรากำลังฟัง เวลาภาวนาก็ให้อยู่กับกรรมฐานที่เราใช้อยู่ จะมีอะไรแทรกเข้ามาก็อย่าไปสนใจ เวลามีคนมาเคาะประตูหรือโทรศัพท์ดัง หรือคันตรงนั้นคันตรงนี้ เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ ก็อย่าไปสนใจ ให้เกาะติดอยู่กับกรรมฐานที่เราใช้เป็นเครื่องผูกใจ ไม่นานเสียงก็จะหายไป ใจไม่ให้ความสำคัญ ปล่อยวางได้ ก็จะไม่รบกวนการภาวนาของเรา

 

ถาม  เวลาบริกรรมพุทโธนี่ ต้องออกเสียงหรือไม่

 

ตอบ ไม่ออกเสียง ให้ระลึกอยู่ในใจ เป็นความคิด คิดพุทโธๆไป ถ้าคิดไม่ได้ ก็ออกเสียงเบาๆไปก่อนก็ได้ แล้วค่อยพุทโธไปภายในใจ บางคนใช้ลมกับพุทโธ หายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธ ถ้าถูกจริตก็ทำได้ ถ้าไม่ถูกจริตก็ทำไม่ได้ จะสับสนวุ่นวาย บางคนชอบบริกรรมก็บริกรรมอย่างเดียว บางคนชอบดูลมก็ดูลมอย่างเดียว  ให้ดูว่าอย่างไหนเหมาะกับเราและได้ผล ชอบอย่างไหนก็ใช้อย่างนั้น ไม่ต้องทำตามคนอื่น เขาชอบกินข้าวผัด แต่เราชอบกินก๋วยเตี๋ยวผัด ไม่ต้องกินเหมือนกัน แต่ผลที่ได้รับเหมือนกัน คือความอิ่ม การทำจิตให้สงบก็เหมือนกัน จะทำด้วยวิธีใด ผลก็คือความสงบเหมือนกัน

 

ถาม  ถ้าบริกรรมพุทโธแล้วง่วงซึม ควรจะทำอย่างไร

 

ตอบ ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้านั่งก็ควรลุกขึ้นมาเดินแทน ถ้าเดินไปข้างหน้ายังง่วงอยู่ก็ให้เดินถอยหลัง ในสมัยพุทธกาลเวลาง่วงพระจะเดินถอยหลัง เดินลงไปในน้ำ ถ้ายังไม่หาย ก็เอาหญ้าจุ่มน้ำมาโพกไว้บนศีรษะ การอดอาหารก็ช่วยแก้ความง่วงได้ นั่งอยู่บนปากเหว นั่งตามที่ที่มีเสือผ่าน มีงูเลื้อยผ่านไปผ่านมา นั่งในป่าช้าก็แก้ได้เหมือนกัน วิธีแก้ความง่วงมีหลายวิธีด้วยกัน ถ้ามีความกล้าหาญก็จะใช้วิธีที่ได้ผลเร็ว ถ้าไม่กล้าหาญก็จะใช้วิธีที่ได้ผลช้าหรือไม่ได้ผลเลย จะปฏิบัติแบบสบายๆไม่ต้องลำบากไม่ต้องทุกข์นี่ไม่มีทาง เหมือนคนสมัยนี้คิดกันว่าปฏิบัติแบบสบายๆ ไม่ต้องทรมานตนให้เสียเวลาก็บรรลุได้ บรรลุแบบกิเลสหัวเราะอยู่ในใจ บรรลุด้วยสัญญา ว่าเราถึงขั้นนั้นแล้ว ถึงขั้นนี้แล้ว แต่ยังไม่เคยเข้าห้องสอบดูเลย เหมือนนักมวยแค่ชกกับกระสอบทราย ก็ว่าเป็นแชมป์แล้ว ได้เหรียญทองแล้ว แต่ยังไม่เคยขึ้นเวทีเลย ปฏิบัติแบบสบายๆจะเป็นอย่างนั้น เป็นสัญญา ไม่ได้เป็นแบบความจริง